แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์ พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
สติปัฏฐาน ตั้งสติจนสติปรากฏในกายเวทนาจิตธรรม ย่อมเป็น เอกายนมรรค คือทางไปอันเอก ทางไปอันเดียว เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย คือของผู้ปฏิบัติทั้งปวง ดั่งที่พระพุทธองค์ได้ตรัสแสดงไว้ และได้ทรงจำแนกแจกธรรมในทุกๆหมวดไว้ หลายข้อหลายประการ สำหรับให้เหมาะแก่ชั้นของผู้ปฏิบัติ จริตอัธยาศัยของผู้ปฏิบัติ ซึ่งจะเลือกยกเอาข้อใดข้อหนึ่งขึ้นเป็นอารมณ์ในการปฏิบัติก็ย่อมได้ทั้งสิ้น
และอันทุกๆคนนั้นย่อมมีจริตอัธยาศัยเนื่องด้วยราคะโทสะโมหะอยู่ด้วยกัน เพราะฉะนั้น จะฝึกปฏิบัติไว้หลายๆข้อก็ย่อมเป็นการดี ดั่งเช่นฝึกหัดปฏิบัติในข้อให้กำหนดลมหายใจเข้าออก ฝึกหัดปฏิบัติทำความรู้ในอิริยาบถทั้ง ๔ และในอิริยาบถเล็กน้อยทั้งหลาย หัดกำหนดพิจารณากายนี้ว่าเต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ๓๑ หรือ ๓๒ อาการ และฝึกปฏิบัติกำหนดธาตุทั้ง ๔ ดั่งที่ได้ตรัสสอนไว้
ในวันนี้จะได้แสดงอธิบายวิธีกำหนดพิจารณาแยกธาตุทั้ง ๔ ที่ตรัสสอนเอาไว้ในข้อว่าด้วยธาตุ กล่าวคือกายนี้ย่อมเป็นที่ยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรา จึงปรากฏ สัตตสัญญา อัตตสัญญา ความสำคัญหมายว่าสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาอยู่ในกายนี้ ฉะนั้นจึงได้ตรัสสอนให้พิจารณาแยกกายนี้ออกไปเป็นธาตุทั้ง ๔ คือส่วนที่แข้นแข็งก็เรียกว่าปฐวีธาตุ ธาตุดิน ส่วนที่เหลวไหลเอิบอาบก็เรียกว่าอาโปธาตุ ธาตุน้ำ ส่วนที่อบอุ่นก็เรียกว่าเตโชธาตุ ธาตุไฟ ส่วนที่พัดไหวก็เรียกว่าวาโยธาตุ ธาตุลม
ธาตุดิน
และในหลายพระสูตรที่ได้ทรงแสดงวิธีพิจารณาแยกธาตุนี้ไว้อย่างพิสดาร คือได้ตรัสสอนให้พิจารณาอาการทั้งหลายในกายนี้ ส่วนที่แข้นแข็งก็เป็นธาตุดินเป็นต้น และได้ตรัสแนะนำให้พิจารณาว่าส่วนใดบ้างเป็นส่วนที่แข้นแข็งเป็นต้น บรรดามีในกายนี้ ดั่งที่ได้ตรัสสอนเอาไว้ ให้พิจารณาจำแนกออกไปดั่งนี้ ส่วนที่แข้นแข็งบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ คือ เกสา ผม โลมา ขน นขา เล็บ ทันตา ฟัน ตโจ หนัง มังสัง เนื้อ นหารู เอ็น อัฏฐิ กระดูก อัฏฐิมิญชัง เยื่อในกระดูก วักกัง ไต หทยัง หัวใจ ยกนัง ตับ กิโลมกัง พังผืดปิหกัง ม้าม ปัปผาสัง ปอด อันตัง ไส้ใหญ่ อันตคุณัง สายรัดไส้ อุทริยัง อาหารใหม่ กรีสัง อาหารเก่า และได้มีเติมอีก ๑ คือ มัตถเกมัตถลุงคัง ขมองในขมองศีรษะ ก็รวมเป็น ๒๐ อาการ และอาการอื่นใดอันเป็นส่วนที่แข้นแข็งซึ่งมีอยู่ในกายนี้ ก็รวมเรียกว่าปฐวีธาตุ ธาตุดิน ทั้งหมด
ธาตุน้ำ
อนึ่ง ส่วนที่เอิบอาบเหลวไหลบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ คือ ปิตตัง น้ำดี เสมหัง น้ำเสลด ปุพโพ น้ำหนองน้ำเหลือง โลหิตัง น้ำเลือด เสโท น้ำเหงื่อ เมโท มันข้น อัสสุ น้ำตา วสา มันเหลว เขโฬ น้ำลาย สิงฆาณิกา น้ำมูก ลสิกา ไขข้อ มุตตัง มูตร และสิ่งอื่นบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ อันเป็นของเอิบอาบเหลวไหล ก็รวมเรียกว่าอาโปธาตุ ธาตุน้ำ
ธาตุไฟ
อนึ่ง ส่วนที่อบอุ่นที่ร้อนบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ กล่าวคือ เยน จ สนฺตปฺปติ ไฟที่ทำร่างกายให้อบอุ่น เยน จ ชิรติ ไฟที่ทำให้ร่างกายแก่ชำรุดทรุดโทรม เยน จ ปริฑยฺหติ ไฟที่ทำให้ร่างกายเร่าร้อน เยน จ อสิตปีตขายิตสายิตํ สมฺมา ปริณามํ คจฺฉติ ไฟที่ทำให้อาหารที่กินที่ดื่มที่เคี้ยวที่ลิ้มถึงความย่อยไปได้โดยชอบ และส่วนที่อบอุ่นที่ร้อนอื่นบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ ก็รวมเรียกว่าเตโชธาตุ ธาตุไฟ
ธาตุลม
อนึ่งส่วนที่พัดไหวบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ก็คือ อุทฺธงฺคมา วาตา ลมที่พัดขึ้นเบื้องบน อโธคมา วาตา ลมที่พัดลงเบื้องต่ำ กุจฺฉิสยา วาตา ลมที่อยู่ในท้อง โกฏฺฐสยา วาตา ลมที่อยู่ในไส้หรือในกระเพาะอาหาร องฺคมงฺคานุสาริโน วาตา ลมที่พัดไปในอวัยวะน้อยใหญ่ทั้งหลาย อสฺสาโส ลมหายใจเข้า ปสฺสาโส ลมหายใจออก และสิ่งที่พัดไหวอื่นใดบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ ก็รวมเรียกว่าวาโยธาตุ ธาตุลม
อากาสธาตุ
ในพระสูตรนี้ได้แสดงธาตุไว้ ๔ ดั่งนี้ แต่ในพระสูตรอื่นได้มีแสดงเพิ่มไว้อีก ๑ คืออากาสธาตุ ธาตุอากาศได้แก่ช่องว่าง กล่าวคือบรรดาช่องว่างบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ คือ กณฺณจฺฉิทฺทํ ช่องหู นาสจฺฉิทฺทํ ช่องจมูก มุขทฺวารํ ช่องปาก เยน จ อสิตํ ปีตํ ขายิตํ สายิตํ อชฺโฌหรติ ช่องที่กลืนอาหารที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม ลงไป ยตฺถ จ อสิตํ ปีตํ ขายิตํ สายิตํ สํติฏฺฐติ ช่องที่อาหารที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม ตั้งอยู่ เยน จ อสิตํ ปีตํ ขายิตํ สายิตํ อโธภาคา นิกฺขมติ ช่องที่อาหารเก่าออกไปในภายล่าง และช่องว่างอื่นใดบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ทั้งสิ้นก็รวมเรียกว่า อากาสธาตุ ธาตุอากาศ
ตรัสสอนให้พิจารณาแยกกายนี้ออกเป็นธาตุทั้ง ๔ หรือธาตุทั้ง ๕ เมื่อเป็นดั่งนี้ ธาตุสัญญา ความสำคัญหมายว่าธาตุจะบังเกิดขึ้น สัตตสัญญา อัตตสัญญา ความสำคัญหมายว่าสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาก็จะหายไป
เครื่องกำจัดวิจิกิจฉา
ท่านแสดงว่าธาตุกรรมฐานนี้เป็นเครื่องกำจัดนิวรณ์ข้อวิจิกิจฉา คือความเคลือบแคลงสงสัย อันวิจิกิจฉาคือความเคลือบแคลงสงสัยนั้น ย่อมมีมูลฐานตั้งอยู่บนตัวเรา ของเรา และเมื่อมีตัวเราก็ย่อมจะมีความเคลือบแคลงสงสัยในตัวเราของเรา ในอดีตบ้าง ในอนาคตบ้าง ในปัจจุบันบ้าง ฉะนั้น ตัวเราของเรานี้เอง จึงเป็นที่ตั้งแห่งความเคลือบแคลงสงสัยทั้งหลายเป็นส่วนมาก หรือเป็นส่วนใหญ่ซึ่งเป็นนิวรณ์ และตัวเราของเรานี้ก็ตั้งขึ้นที่กายนี้นั้นเอง กล่าวคือยึดถือกายนี้ว่าเป็นตัวเราของเราก็คือยึดถือว่าเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขานั่นเอง…(เริ่ม)... และโดยเฉพาะก็คือเป็นตัวเราของเรา
ฉะนั้นเมื่อมาพิจารณาแยกธาตุออกไปเสียว่าโดยที่แท้แล้ว ความที่สำคัญหมายยึดถือว่าเป็นก้อนเป็นแท่ง จนถึงเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวเราของเรานั้นหาได้มีไม่ มีสักแต่ว่าธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม และธาตุอากาศ ทั้ง๕ นี้เท่านั้น และเมื่อธาตุทั้ง๕ นี้ประกอบกันอยู่ ชีวิตก็ย่อมตั้งอยู่และเมื่อชีวิตตั้งอยู่จึงหายใจเข้าหายใจออกได้ เดินยืนนั่งนอนได้ และก้าวไปข้างหน้า ถอยไปข้างหลังเป็นต้นได้ อาการทั้งหลายในร่างกายนี้ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนังเป็นต้น ต่างก็ปฏิบัติหน้าที่ของตนๆ และยังดำรงอยู่
แต่เมื่อธาตุที่ประกอบกันเข้าเป็นกายอันนี้แตกสลาย ดังที่ปรากฏ ดับลม ลมหายใจเข้าออกนั้น หายใจเข้าแล้วไม่ออก หายใจออกแล้วไม่เข้า ขาดสันตติคือความสืบต่อ ดับลม เมื่อความดับลมปรากฏขึ้น ธาตุไฟก็ดับ เมื่อธาตุไฟดับ ธาตุน้ำธาตุดินก็เริ่มเน่าเปื่อยเหือดแห้งเสื่อมสลายไป เพราะฉะนั้นความสิ้นชีวิตก็ปรากฏ และเมื่อความสิ้นชีวิตปรากฏ ร่างกายนี้ที่เป็นร่างกายที่มีชีวิตก็กลายเป็นศพ
ป่าช้า ๙
และศพนั้นเมื่อเป็นศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้าดังในสมัยโบราณ เมื่อพิจารณาดู หรือเมื่อนึกดูถึงสภาพของศพ ก็ย่อมจะปรากฏว่า เมื่อเป็นศพที่ตายวันหนึ่ง สองวัน สามวัน ก็ย่อมจะมีสีเขียวน่าเกลียด และจะมีสัตว์ต่างๆมาจิกมากัดกิน และเมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะเป็นศพที่เป็นโครงร่างกระดูก มีเนื้อเหลือติดอยู่ มีเส้นเอ็นรึงรัด และเมื่อปล่อยทิ้งไปยิ่งไปกว่านี้ก็จะไม่มีเนื้อเหลือ แต่ยังเป็นโครงร่างกระดูกที่มีเส้นเอ็นรึงรัด และต่อจากนั้นเส้นเอ็นที่รึงรัดก็จะหมดไป เน่าเปื่อยไป โครงกระดูกที่ประกอบกันอยู่นั้นก็จะเริ่มกระจัดกระจาย กระดูกขาก็จะไปทางหนึ่ง กระดูกแขน กระดูกตัว กระดูกบั้นเอว กระดูกซี่โครง กระดูกบ่า กระดูกคอ ฟัน ศีรษะ ก็จะไปทางหนึ่ง จึงกลายเป็นกระดูกหรือเป็นอัฏฐิที่มีสีขาว และกระดูกนั้นเมื่อนานไปๆก็จะมารวมกันป่นเข้าเป็นกองๆ พ้นปีออกไป และเมื่อนานไปๆ นั้น ก็จะผุป่นละเอียดไปหมด ก็เป็นอันว่าร่างกายอันนี้ก่อนแต่มาประชุมกันเป็นชาติคือความเกิด ก็ไม่มี
และเมื่อธาตุทั้งหลายมาประชุมกันเข้า คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศคือช่องว่าง และวิญญาณธาตุคือธาตุรู้ มาประกอบกันเข้า ความตั้งครรภ์ของมารดาก็ปรากฏขึ้น และก็เริ่มชาติคือความเกิด จนถึงเมื่อคลอดออกมาเป็นชาติ คือความเกิดที่ปรากฏ ดำรงชีวิตอยู่ก็โดยที่ธาตุทั้ง ๖ นี้ประกอบกันอยู่ และก็แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปในทางเจริญ คือเป็นวัยเด็กเล็ก เด็กโต เป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นผู้ใหญ่ แล้วก็แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อม ก็เป็นความแก่ที่ปรากฏ
จนถึงในที่สุดวิญญาณธาตุคือธาตุรู้ ก็จุติคือเคลื่อน เมื่อเป็นดั่งนี้บรรดาธาตุ ๕ ที่ไม่รู้นั้น ที่รวมกันอยู่ก็แตกสลาย ดังที่ปรากฏเป็นความดับลมเป็นต้น ดั่งที่กล่าวแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ ร่างกายอันนี้ก็เริ่มแตกสลาย แล้วก็ไปจนเป็นกระดูก แล้วก็เป็นกระดูกผุป่นในที่สุดก็เป็นอันว่าก็ถึงภาวะที่เรียกว่าไม่มีเหมือนอย่างเดิม เดิมก็ไม่มี และเมื่อมีชาติคือความเกิด ตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิขึ้นในครรภ์ของมารดา จนถึงสิ้นชีวิตในที่สุด แล้วในที่สุดเมื่อกระดูกผุเปื่อยไปหมดแล้วก็กลับไม่มีเหมือนอย่างเดิม
อนิจจะ ทุกขะ อนัตตา
เพราะฉะนั้น จึงเป็นสิ่งที่ตรัสสอนให้พิจารณา ว่านี้คืออนิจจะคือความไม่เที่ยง ที่ปรากฏเป็นความเกิดเป็นความดับ จึงปรากฏเหมือนอย่างว่าเป็นสิ่งที่ขอยืมเขามาตั้งอยู่ชั่วกาล และปรากฏว่า เดิมก็ไม่มี แล้วก็มีขึ้น แล้วก็กลับไม่มีเหมือนอย่างเดิม ดั่งนี้เป็นอนิจจะคือความไม่เที่ยง และเพราะความไม่เที่ยงดั่งนี้จึงชื่อว่าเป็นทุกข์ เพราะเหตุว่าถูกความไม่เที่ยงคือความเกิดดับนี้บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา จึงตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปจากเกิดจนถึงดับ และเมื่อเป็นดั่งนี้จึงเป็นอนัตตา คือไม่ใช่เป็นตัวเราของเรา เพราะบังคับให้เป็นไปตามความปรารถนามิได้
เมื่อบังคับให้เป็นไปตามปรารถนามิได้ เพราะเหตุว่าต้องเกิดต้องดับ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปดั่งนั้น จึงขัดแย้งต่อความเป็นอัตตาที่ยึดถือ และเพราะเหตุที่ตนบังคับให้เป็นไปตามความปรารถนามิได้ต้องเกิดดับ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป จึงเป็นของที่ว่างเปล่าจากสาระแก่นสาร เป็นของที่ว่างเปล่าจากความเป็นตัวเราของเรา ความเป็นตัวเราของเรานั้นเป็นความยึดถือไว้เท่านั้น ไม่ใช่เป็นสัจจะคือความจริง ความจริงนั้นก็คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
สามัญลักษณะของสังขารทั้งปวง
เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานแม้ในข้อกายานุปัสสนา พิจารณากาย ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้นี้ เมื่อตรัสสอนให้กำหนดพิจารณาดูลักษณะของกาย กำหนดลักษณะ หรือเรียกว่ากำหนดรูปธรรมก็ได้ กำหนดรูปลักษณะของลมหายใจเข้าออก ของอิริยาบถใหญ่ อิริยาบถน้อย ของอาการ ๓๑ หรือ ๓๒ ของธาตุ ตลอดจนถึงของศพ ตั้งแต่เริ่มตาย จนถึงเสื่อมสลายไปหมดในที่สุด เป็นการตรัสสอนให้กำหนดรูปลักษณะ
เมื่อตรัสสอนให้กำหนดรูปลักษณะ ดั่งนี้ ย่อมจะทำให้มองเห็นสัจจะคือความจริง ซึ่งเป็นสามัญลักษณะ คือเป็นลักษณะที่ทั่วไปของสังขารทั้งปวง อันได้แก่ อนิจจลักษณะ ลักษณะที่ไม่เที่ยง ทุกขลักษณะ ลักษณะที่เป็นทุกข์ อนัตตลักษณะ ลักษณะที่เป็นอนัตตามิใช่ตัวตน ทำให้ อนิจจตา ความเป็นของไม่เที่ยง ทุกขตา ความเป็นทุกข์ และ อนัตตตา ความเป็นอนัตตา ปรากฏขึ้น ดั่งนี้จึงเป็นตัวปัญญาวิปัสสนา ปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง ในอนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะ อนัตตลักษณะ ในอนิจจตา ทุกขตา อนัตตา
เมื่อเป็นดั่งนี้ จึงเป็นไปเพื่อวิปัสสนาปัญญา อันตั้งขึ้นจากสมาธิที่กำหนดรูปลักษณะของกาย สมาธิที่ตั้งกำหนดรูปลักษณะของกายตามที่ตรัสสอนนี้ จึงเป็นวิธีที่ให้ได้วิปัสสนาปัญญา ในสามัญลักษณะ เป็นตัวปัญญาดังที่ตรัสเอาไว้ว่า ตามเห็นเกิด ตามเห็นดับเป็นธรรมดา ตามเห็นทั้งเกิด ตามเห็นทั้งดับเป็นธรรมดา ดั่งนี้
ฉะนั้นการปฏิบัติในสติปัฏฐานตั้งสติเบื้องต้น กำหนดรูปลักษณะของกาย ก็ทำให้ได้สมาธิ และทำให้ได้วิปัสสนาปัญญา อันเป็นตัวปัญญาที่ให้ได้วิมุติความหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ แม้จะชั่วระยะหนึ่ง เร็วหรือช้า มากหรือน้อย ตามสมควรแก่กำลังปฏิบัติ
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป