แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จิตตภาวนาการอบรมจิต วิธีหนึ่งก็คือสติปัฏฐาน การปฏิบัติตั้งสติในกายเวทนาจิตธรรม ทุกคนย่อมมีกายเวทนาจิตธรรมอยู่ด้วยกัน และก็เรียกชื่อต่างๆ เป็นขันธ์ ๕ บ้าง เป็นนามรูปบ้าง หรือเป็นกายใจบ้าง ฉะนั้น การปฏิบัติตั้งสติในที่ตั้งทั้ง ๔ นี้จึงสามารถทำได้ และเป็นการสะดวกที่จะปฏิบัติได้ ทำได้ด้วย เพราะเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในตนเอง ไม่ต้องแสวงหาที่ไหน แสวงหาแต่ตัวสติที่จะมาตั้ง และเมื่อได้ตัวสติมาตั้งในกาย ก็ย่อมจะติดเวทนาจิตธรรมเข้ามาด้วย แต่ว่ากายเป็นส่วนหยาบ ตั้งสติในกายจึงทำได้สะดวก และเวทนาก็อยู่ที่กายจิตนี้เอง ตั้งสติในเวทนาก็เป็นการสะดวก และเวทนานั้นเล่า ก็เนื่องกับจิต ฉะนั้น ตั้งสติเข้ามาในจิตก็ย่อมทำได้ และเมื่อได้สติในกายในเวทนา มาตั้งสติในจิตก็ย่อมจะทำได้สะดวกขึ้น และแม้ว่าจะเริ่มตั้งสติในจิตเองทีเดียวก็ย่อมจะทำได้
สติตามรู้จิต
พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้ตั้งสติตามรู้จิต ตามเห็นจิต ดังที่ตรัสสอนเอาไว้ว่า จิตมีราคะความติดใจยินดี ก็ให้รู้ว่าจิตมีราคะ จิตปราศจากราคะ ก็ให้รู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะความโกรธแค้นขัดเคือง ก็ให้รู้ว่าจิตมีโทสะ จิตปราศจากโทสะ ก็ให้รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะคือความหลง ก็ให้รู้ว่าจิตมีโมหะคือความหลง จิตปราศจากโมหะ ก็ให้รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ จิตฟุ้ง ก็ให้รู้ว่าจิตฟุ้ง จิตหดหู่ ก็ให้รู้ว่าจิตหดหู่ จิตฟุ้งก็ให้รู้ว่าจิตฟุ้ง จิตกว้างใหญ่ก็ให้รู้ว่าจิตกว้างใหญ่ จิตไม่กว้างใหญ่ก็ให้รู้ว่าจิตไม่กว้างใหญ่ จิตยิ่งก็ให้รู้ว่าจิตยิ่ง จิตไม่ยิ่งก็ให้รู้ว่าจิตไม่ยิ่ง จิตตั้งมั่นก็ให้รู้ว่าจิตตั้งมั่น จิตไม่ตั้งมั่นก็ให้รู้ว่าจิตไม่ตั้งมั่น จิตหลุดพ้นก็ให้รู้ว่าจิตหลุดพ้น จิตไม่หลุดพ้นก็ให้รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น
ตามที่ตรัสสอนไว้นี้เป็นการตรัสสอนจิตทุกระดับ ทั้งที่เป็น กามาวจรจิต จิตที่หยั่งลงในกาม รูปาวจรจิต จิตที่หยั่งลงในรูปฌานสมาธิ อรูปาวจรจิต จิตที่หยั่งลงในอรูปฌานสมาธิ โลกุตรจิต จิตที่เป็นโลกุตรคือพ้นโลก เพราะบุคคลผู้ปฏิบัติย่อมมีภูมิชั้นต่างๆ กัน อันหมายถึงว่าภูมิชั้นของจิตนั้นเอง ภูมิชั้นที่เป็นกามาพจรก็มี รูปาพจรก็มี อรูปาพจรก็มี และที่เป็นโลกุตรก็มี ว่าถึงสามัญชนซึ่งจิตยังเป็นกามาวจรจิต คือจิตที่หยั่งลงในกาม อันหมายความว่ายังละสัญโยชน์กิเลสไม่ได้ เพราะฉะนั้นจิตจึงยังท่องเที่ยวไปในกามารมณ์ อารมณ์ที่เป็นกาม คืออารมณ์ที่ใคร่ที่ปรารถนาทั้งหลาย ดังสามัญชนทั่วไป จิตที่อยู่ในภาวะดั่งนี้ จึงเป็นจิตที่มีราคะบ้าง มีโทสะบ้าง มีโมหะบ้าง เป็นจิตที่หดหู่หรือฟุ้งซ่านบ้าง และเป็นจิตที่ไม่กว้างใหญ่ เป็นจิตที่ไม่ยิ่ง เป็นจิตที่ยังไม่ตั้งมั่น เป็นจิตที่ยังไม่หลุดพ้น
กามาวจรจิต
สำหรับจิตที่ยังมีราคะโมสะโมหะ ที่หดหู่ หรือที่ฟุ้งซ่านนั้น ก็เป็นที่เข้าใจกันอยู่ จิตที่ไม่กว้างใหญ่นั้นก็หมายความว่ายังเป็นจิตที่คับแคบนั้นเอง และจิตที่คับแคบนั้นก็หมายถึงว่าจิตที่ยังท่องเที่ยวไปในกามทั้งหลาย คือในวัตถุกาม อันได้แก่รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย ด้วยอำนาจของกิเลสกาม จิตดั่งนี้เรียกว่าจิตคับแคบ ก็เพราะว่าอันกามาวจรจิตนั้นย่อมประกอบด้วยกามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา คือรักใคร่ปรารถนาพอใจในอารมณ์คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่รักใคร่ปรารถนาพอใจ และดิ้นรนต้องการที่จะเป็นเจ้าเข้าเจ้าของในกาม คือสิ่งที่รักใคร่ปรารถนาพอใจนั้น และก็ดิ้นรนที่จะกำจัดทำลายบุคคลหรือสิ่งที่ขัดขวางทั้งหลาย หรือว่าที่จะแย่งชิงเอาสิ่งที่รักใคร่ปรารถนาพอใจไป
เพราะฉะนั้นบุคลจึงมีมัจฉริยะ คือความตระหนี่เหนียวแน่น หรือว่ามีความหึงหวงต่างๆ เพราะต้องการที่จะรักษาไว้เป็นของๆ ตน ไม่ยอมที่จะให้เฉลี่ยเผื่อแผ่ไป ต้องการที่จะให้เป็นของๆ ตนเท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงคับแคบ ไม่กว้างใหญ่ จำเพาะตน คือจำเพาะตนเท่านั้น เพราะฉะนั้น กามาวจรจิตนี้จึงทำให้อัตตาคือตัวตนนี้คับแคบ ไม่กว้างใหญ่
ตรงกันข้ามกับจิตที่กว้างใหญ่ คือจิตที่มีเมตตากรุณามุทิตาอุเบกขา แผ่ไปในตนเอง และในสรรพสัตว์ทุกถ้วนหน้า การแผ่ไปนี้ของเมตตากรุณามุทิตาอุเบกขา เมื่อแผ่ไปโดยเจาะจงก็แปลว่ากว้างออกไป แต่ว่ายังไม่หมด ต่อเมื่อแผ่ไปโดยไม่เจาะจงเป็นอัปปมัญญา ไม่มีประมาณ จึงจะกว้างขวาง และจะกว้างขวางเท่าไรนั้น ก็สุดแต่ว่าจะสามารถแผ่จิตออกไปด้วยเมตตากรุณามุทิตาอุเบกขา ได้กว้างขวางเป็นไม่มีประมาณเพียงไร
จิตที่เป็นมหัตตา
จิตที่ประกอบด้วยพรหมวิหารธรรมทั้ง ๔ ประการนี้เรียกว่า มหัตตา ก็ได้ แปลว่าตนใหญ่ คือว่าอัตตาตัวตนเรานี้ เมื่อยังมิได้ปฏิบัติแผ่เมตตากรุณามุทิตาอุเบกขาออกไปให้กว้างขวาง ก็เป็นตัวที่คับแคบเท่ากับกายเนื้ออันนี้ เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบเท่านี้
แต่ว่าเมื่อแผ่ออกไปซึ่งพรหมวิหารธรรมได้กว้างขวาง มุ่งให้สรรพสัตว์ทั้งหลายมีความสุข ปราศจากทุกข์ มุ่งให้รักษาสมบัติที่ได้ไม่ให้เสื่อม และมุ่งให้มีความที่มีกรรมเป็นของๆ ตน จึงมีจิตใจที่เที่ยงธรรม ใครทำกรรมดีก็ได้รับผลดี ใครทำกรรมชั่วก็ได้รับผลชั่ว วางใจเป็นกลางลงไปได้ ไม่ว่าในตนเอง ไม่ว่าในบุคคลอื่นที่อยู่ใกล้ก็ตาม อยู่ไกลก็ตาม เมื่อทำดีก็ได้ผลดี ทำชั่วก็ได้ผลชั่ว วางใจลงไปได้ดั่งนี้เป็นกลาง และก็มีเมตตากรุณาที่จะให้พากันละความชั่วประกอบความดี เพื่อที่จะได้มีสุขพ้นจากทุกข์ทั่วกัน และก็ยินดีในความดีและผลดีที่ทุกคนได้รับอีกด้วย เพราะฉะนั้นในตนเองฉันใด ในผู้อื่นก็ฉันนั้น ในผู้อื่นฉันใด ในตนเองก็ฉันนั้น เพราะฉะนั้นจึงมีจิตที่แผ่ไปด้วยเมตตากรุณามุทิตาอุเบกขาในสรรพสัตว์ เหมือนอย่างที่มีเมตตากรุณามุทิตาอุเบกขาในตน เพราะฉะนั้นจึงเท่ากับว่าขยายขอบเขตแห่งความเมตตาในตนออกไปอย่างกว้างขวาง ตลอดจนถึงไม่มีประมาณ คนอื่นหรือตนก็เหมือนอย่างเป็นบุคคลเดียวกัน ไม่แตกต่างกัน
หวังดีต่อตน หวังดีต่อผู้อื่นเหมือนกัน คิดจะช่วยตน คิดจะช่วยผู้อื่นให้พ้นทุกข์เหมือนกัน ยินดีในความสุขความเจริญของตน และในผู้อื่นเหมือนกัน และก็วางใจลงไปเป็นกลางในตนในผู้อื่นเหมือนกันในกรรม เพราะฉะนั้นจึงเท่ากับว่าตนเองและผู้อื่น ทั้งมนุษย์และเดรัจฉานนั้นเป็นคนเดียวกันไปทั้งโลก เพราะฉะนั้นจึงมีตัวใหญ่ครอบไปทั้งโลก เพราะมีเมตตากรุณามุทิตาอุเบกขาครอบไปทั้งโลก
ดั่งนี้ ก็คือว่ามหัตตาตัวใหญ่ ตัวใหญ่ด้วยพรหมวิหารธรรมที่แผ่ครอบออกไปได้ทั้งหมด เป็นการปฏิบัติดับพยาบาท ดับสิเนหาได้ด้วยเมตตา ดับวิหิงสาความเบียดเบียน และโทมนัสความทุกข์ใจเพราะความทุกข์ของผู้อื่นได้ด้วยกรุณา ดับอรติความริษยา และโสมนัสความที่ยินดีอยากจะได้บ้าง ในความสุขความเจริญของผู้อื่นด้วยมุทิตา ดับราคะปฏิฆะคือความชอบความชัง และความวางเฉยด้วยความไม่รู้ได้ด้วยอุเบกขา จิตของผู้ที่ได้ปฏิบัติจนบรรลุถึงภาวะเป็นมหัตตาดั่งนี้เป็นจิตที่กว้างขวาง แต่ว่าถ้าไม่มีพรหมวิหารธรรมก็เป็นจิตที่คับแคบ ถ้ามีพรหมวิหารธรรมไปได้เท่าไหร่ จิตก็กว้างขวางไปได้เท่านั้น
จิตที่เป็นสามัญ
และจิตที่ไม่ยิ่งก็คือเป็นจิตที่เป็นสามัญ จิตของที่เป็นสามัญชนทั่วไป ที่เป็นกามาพจรทั่วไป ไม่มีการปฏิบัติในสมาธิ ที่จะทำจิตให้ได้สมาธิ จะเป็นอุปจาระสมาธิ จนถึงอัปปนาสมาธิก็ตาม เพราะฉะนั้นจิตจึงไม่แตกต่างไปจากจิตสามัญชนทั้งปวง ดั่งนี้เป็นจิตที่ไม่ยิ่ง และจิตที่ไม่ยิ่งนี้ยังหมายตลอดจนถึงที่ยังไม่เป็นโลกุตรจิตด้วย ส่วนจิตที่ยิ่งนั้นตรงกันข้าม นับตั้งแต่จิตที่ได้ทำสมาธิ จิตที่มีสมาธิ ตลอดจนถึงที่เป็นโลกุตรจิต กล่าวคือที่ปฏิบัติในศีลในสมาธิในปัญญาสมบูรณ์ขึ้นไป เป็นจิตที่ครอบงำกิเลสได้ตามภูมิตามชั้น
เพราะฉะนั้นจึงสรุปว่า จิตที่ไม่ยิ่งนั้นคือจิตที่ยังครอบงำกิเลสอะไรไม่ได้ ยังละกิเลสอะไรไม่ได้ จะเป็นการละชั่วคราวก็ตาม จะเป็นการละอย่างเด็ดขาดก็ตาม เป็นจิตที่ยังมีราคะโทสะโมหะอยู่นั้นเองเป็นจิตที่ไม่ยิ่ง แต่จิตที่ยิ่งนั้นคือจิตที่ครอบงำกิเลสได้ตามภูมิตามชั้น เช่นครอบงำกิเลสอย่างหยาบได้ด้วยศีล กิเลสอย่างกลางได้ด้วยสมาธิ และกิเลสอย่างละเอียดได้ด้วยปัญญา ทั้ง ๓ นี้ก็รวมกันช่วยกันสำหรับที่จะครอบงำกิเลสทั้งปวงได้ ดั่งนี้ก็เป็นจิตยิ่งขึ้นไปโดยลำดับ แต่ถ้าหากว่ายังปฏิบัติอะไรไม่ได้ตามสมควร ยังแพ้กิเลสอยู่เรื่อยดั่งนี้ก็ไม่ยิ่ง ชนะกิเลสบ้างตั้งแต่น้อยจนถึงใหญ่นั่นแหละจึงยิ่ง
เพราะฉะนั้นทุกคนก็สังเกตดูจิตของตัวเองได้ เมื่อยังแพ้โลภแพ้โกรธแพ้หลง แพ้ราคะแพ้ตัณหาอยู่ก็เป็นจิตที่ไม่ยิ่งอะไร แต่ว่าถ้าเอาชนะได้แม้แต่น้อยหนึ่งก็ยิ่งขึ้นมาน้อยหนึ่ง ก็ยังดี เพราะฉะนั้นก็หัดปฏิบัติที่จะเอาชนะกิเลสให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ดั่งนี้ก็เป็นจิตยิ่งขึ้นไปโดยลำดับ คราวนี้จิตที่ตั้งมั่นก็คือจิตที่สมาธิ ไม่ตั้งมั่นก็คือเป็นจิตที่ไม่มีสมาธิ จิตที่หลุดพ้นก็คือจิตที่พ้นกิเลสได้ ชั่วคราวก็ตาม ได้เด็ดขาดก็ตาม ที่ไม่พ้นก็ยังพ้นไม่ได้
จิตเป็นอย่างไรก็ให้รู้
เพราะฉะนั้นภาวะของจิตของบุคคลจึงมีต่างๆ ที่พระพุทธเจ้ามาตรัสสอนประมวลเอาไว้ในทางปฏิบัตินั้น ก็ให้เอาปัจจุบันธรรมนี่เป็นประการสำคัญ คือจิตที่เป็นปัจจุบันเป็นอย่างไร ถ้ามีราคะก็ให้รู้ว่ามีราคะ ไม่มีราคะคือยังสงบอยู่ ก็ให้รู้ว่าไม่มี มีโทสะก็ให้รู้ว่ามีโทสะ สงบไม่มีก็ให้รู้ไม่มี มีโมหะก็ให้รู้ว่ามีโมหะ สงบอยู่ก็ให้รู้ว่าไม่มีโมหะ อันหมายถึงจิตที่เป็นไปอยู่ทั่วไป ยังไม่ต้องพูดถึงว่าจะมีกิเลสที่เป็นอาสวะอนุสัยอยู่หรือไม่ เพราะเมื่อยังละสัญโญชน์ไม่ได้ก็ยังเป็นจิตสามัญ แม้จะสงบก็ยังมีราคะอนุสัย มีโทสะอนุสัย โมหะอนุสัย มีอาสวะต่างๆ อยู่ อันเป็นกิเลสอย่างละเอียด เหมือนอย่างมีตะกอนนอนอยู่ก้นตุ่ม แม้น้ำข้างบนจะใส แต่ตะกอนก็ยังอยู่
หลักปฏิบัติที่จะละกิเลสได้
เพราะฉะนั้น ในขั้นปฏิบัติทั่วไปนี้ก็เอาในพื้นจิตสามัญนี่แหละ จิตเป็นอย่างไรก็ให้รู้อย่างนั้น พยายามที่จะให้รู้จิตของตนอยู่ตลอดเวลา ความที่พยายามที่จะให้รู้จิตของตนอยู่ดั่งนี้ เป็นหลักปฏิบัติพุทธศาสนาที่จะละกิเลสได้ เพราะว่าเมื่อพิจารณาดูแล้วก็จะพบว่าโดยมากนั้นไม่ได้ดูจิตของตนว่าเป็นอย่างไร แต่ว่าไปดูยึดถืออารมณ์ที่เข้ามา และก็ติดอยู่ในราคะโทสะโมหะ ในโลภะในตัณหาที่บังเกิดขึ้น ตั้งอยู่ในอารมณ์นั้นๆ แต่ไม่ได้ดูเข้ามาถึงตัวจิต เมื่อเป็นดั่งนี้จึงได้ถูกกิเลสและอารมณ์ครอบงำอยู่เป็นอันมาก เพราะไม่ได้ดูเข้ามา แต่ดูออกไปในภายนอก
เพราะความยึดถือดึงจิตออกไปเกี่ยวเกาะอยู่กับอารมณ์ทั้งปวง และกับกิเลสทั้งปวง เพราะฉะนั้นจึงได้บังเกิดกิเลส และได้บังเกิดความทุกข์ต่างๆ อันทำจิตนี้ให้ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย และให้ดูเหมือนว่ารักษายากห้ามยาก ซึ่งว่าดูเหมือนว่านั้นก็เพราะความจริงไม่ใช่ว่ารักษาไม่ได้ห้ามไม่ได้ แต่เพราะการที่ปล่อยจิตให้เป็นทาสของกิเลสเป็นทาสของตัณหา เมื่อเป็นดั่งนี้จิตนี้จึงมีความเชื่อฟังกิเลสตัณหา แต่ว่าไม่เชื่อฟังคำห้ามปรามตักเตือน พระพุทธเจ้าจะทรงห้ามปรามตักเตือนก็ไม่เชื่อฟัง (เริ่ม)...แต่ว่าไม่เชื่อฟังคำห้ามปรามตักเตือน พระพุทธเจ้าจะทรงห้ามปรามตักเตือนก็ไม่เชื่อฟัง แต่ว่าไปเชื่อฟังกิเลสตัณหาต่างๆ จึงได้ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายไปต่างๆ ดังที่ปรากฏ
เพราะฉะนั้นเมื่อมาหัดปฏิบัติหันเข้ามามองดูจิตเองว่าเป็นยังไงในปัจจุบัน เพราะในเวลาปัจจุบันนี้ก็เห็นอะไรๆ อยู่ ได้ยินอะไรๆ อยู่ ได้ทราบกลิ่นทราบรสทราบโผฏฐัพพะอะไรๆ อยู่ และได้คิดได้นึกถึงเรื่องอะไรๆ อยู่ ก็ดูเข้ามาว่าจิตนี้กำลังคิดอะไร และจิตเป็นยังไง ดูให้รู้ เหมือนอย่างพี่เลี้ยงที่เลี้ยงเด็ก แล้วก็ปล่อยให้เด็กอยู่ข้างหน้า เด็กจะเดินจะยืนจะนอนจะนั่งอย่างไรก็รู้ มองเห็น เด็กจะวิ่งไปทางไหนก็รู้ก็มองเห็น ให้รู้ และความรู้จิตดั่งนี้เองก็เป็นอันนำจิตเข้ามารู้จิตของตนว่าเป็นอย่างไร
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
เมื่อเป็นการนำจิตเข้ามารู้จิตของตนว่าเป็นอย่างไรดั่งนี้ ก็เป็นอันว่าได้ปล่อยความยึดอยู่ในอารมณ์ และในกิเลสทั้งหลาย ซึ่งได้เคยยึดเอาไว้ และดิ้นรนไปอย่างไม่ลืมหูลืมตาว่าตัวเองนั้นดิ้นรนไปยังไง แต่ว่าเมื่อกลับมีสติมาดูจิตว่าจิตตัวเองนั้นดิ้นรนไปยังไง คือมาดูตัวเอง เหมือนอย่างพี่เลี้ยงดูเด็กที่เลี้ยงดูดังที่กล่าวนั้น ก็จะเห็นจิต ว่าคิดยังงั้นคิดยังงี้ รักยังงี้ ชังยังโง้น หลงอย่างนั้นเป็นต้น
และเมื่อจิตได้ถูกดูดั่งนี้ อันหมายความว่ากิเลสและอารมณ์ที่เกิดขึ้นในจิตได้ถูกดูถูกมองดั่งนี้แล้ว ก็จะสงบตัวลงไปเอง และเมื่อสงบตัวลงไปแล้ว อันหมายความว่ากิเลสสงบลง อารมณ์สงบลง จิตสงบลง จิตก็ตั้งมั่นอยู่ในภายใน เหมือนอย่างเด็กที่พี่เลี้ยงๆ ดู วิ่งไปทางโน้นวิ่งไปทางนี้ และเมื่อพี่เลี้ยงดูอยู่ดั่งนี้ในที่สุดเด็กนั้นเหนื่อยเข้าก็นั่งสงบ ทีแรกวิ่ง เหนื่อยเข้าก็เดิน เหนื่อยเข้าก็หยุดยืน เหนื่อยเข้าก็นั่ง เหนื่อยเข้าก็นอน ก็เป็นอันว่าหมดเรื่องกันไป อารมณ์ก็สงบ กิเลสก็สงบ จิตก็ตั้งมั่นอยู่ในภายใน หัดปฏิบัติดูจิตให้ค่อยๆ สงบเข้ามาตั้งมั่นอยู่ในภายในดั่งนี้ ก็เป็นสมาธิได้ เป็นอุปจาระสมาธิก็ได้ เป็นอัปปนาสมาธิก็ได้ ดั่งนี้เป็นการปฏิบัติในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานได้โดยตรงประการหนึ่ง
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป