แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
กรรมฐานย่อมเป็นข้อพึงปฏิบัติสำหรับที่จะทำจิตให้สงบ และให้ได้ปัญญารู้แจ้งเห็นจริง สติปัฏฐานย่อมเป็นข้อกรรมฐานที่พึงปฏิบัติ ทั้งเพื่อสงบ ทั้งเพื่อให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริง ฉะนั้น จึงได้ตรัสสอนเอาไว้ให้ทำสติที่เป็นตัว อนุปัสสนา คือตามดูตามรู้ตามเห็น กาย เวทนา จิตธรรม ของตนที่เป็นไปอยู่ ในภายใน ในภายนอก ทั้งภายในทั้งภายนอก ทั้งให้ทำอนุปัสสนาคือตามดูตามรู้ตามเห็นในกายเวทนาจิตธรรมว่ามีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา มีความเสื่อมดับไปเป็นธรรมดา
ทั้งมีความเกิดขึ้นทั้งมีความเสื่อมดับไปเป็นธรรมดา ตั้งสติก็เพื่อให้รู้ให้เห็นว่ากายเวทนาจิตธรรมมีอยู่สำหรับตั้งสติ และสำหรับที่จะให้ได้ปัญญารู้ ไม่ยึดมั่นอะไรๆในโลกดั่งนี้ นี้เป็น หลักของการปฏิบัติกรรมฐาน มิใช่แต่สติปัฏฐานเท่านั้น แม้ในกรรมฐานข้ออื่นก็เช่นเดียวกัน ในเบื้องต้นจะต้องทำสติให้เป็นอนุปัสสนาตามดูตามรู้ตามเห็น ข้อกรรมฐานที่ตั้งกำหนดนั้น
กำหนดว่ามีอยู่
หากว่าตั้งกำหนดในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ก็ให้ตั้งสติกำหนดว่ากายมีอยู่ เวทนามีอยู่ จิตมีอยู่ ธรรมะมีอยู่ หรือหากว่าจะยกขึ้นเป็นตัวอย่างในข้อใดข้อหนึ่ง ที่จำแนกแยกออกไปจาก ๔ ข้อใหญ่นี้เช่น ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เมื่อตั้งสติให้เป็นอนุปัสสนาตามดูตามรู้ตามเห็นลมหายใจเข้าลมหายใจออกของตน ในเบื้องต้นก็ต้องตั้งสติกำหนดว่าลมหายใจเข้าลมหายใจออกมีอยู่ คำว่ามีอยู่นี้หมายถึงว่ามีอยู่ในจิตที่ตั้งกำหนดไม่หายไปจากจิตที่ตั้งกำหนด ต้องให้มีอยู่ในจิตที่ตั้งกำหนด อันความมีอยู่ในจิตที่ตั้งกำหนดนี้จึงหมายถึงตัวอารมณ์ คือเรื่องที่มีอยู่ในจิต ต้องให้เรื่องของลมหายใจเข้าลมหายใจออกมีอยู่ในจิต อารมณ์นี้ไม่หายไปจากจิต ถ้าหายไปจากจิตเสียก็แปลว่ากรรมฐานไม่ตั้งขึ้นในจิต
เพราะเหตุว่า จิตนี้จะสลึมสลือง่วงเหงาไปก็ตาม จะรับอารมณ์อื่นเข้ามาก็ตาม อารมณ์แห่งลมหายใจเข้าหายใจออกก็จะหายไป ถ้าเพราะสลึมสลือง่วงเหงาก็จะหลับไป ดับไป คือหลับไป ดับหรือหลับไปนี้ไม่ใช่เป็นตัวปัญญาที่เห็นดับ ไม่มีตัวปัญญาอยู่ในความสลึมสลือ ในความง่วงเหงา หรือในความที่หลับหรือดับไปนั้น เป็นถีนมิทธะ ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม หรือว่ารับอารมณ์อื่นเข้ามา ก็เช่นคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ที่เป็นกังวลอยู่ หรือที่ใจผูกอยู่ ก็แปลว่าจิตปล่อยอารมณ์แห่งลมหายใจเข้าลมหายใจออก ไปจับเอาอารมณ์ของเรื่องต่างๆเข้ามา เมื่อเป็นดั่งนี้อารมณ์แห่งลมหายใจเข้าลมหายใจออกก็หายไป
ก็แปลว่าจิตไม่ตั้งอยู่ในลมหายใจเข้าลมหายใจออก ก็ไม่ได้อานาปานสติสมาธิ เป็นการได้ความง่วงเหงา ความหลับ หรือว่าได้ความฟุ้งซ่าน เพราะฉะนั้นความที่จิตจะตั้งอยู่ในอารมณ์ของกรรมฐานนั้นก็คือว่าอารมณ์ของกรรมฐานข้อนั้นมีอยู่ในจิต อารมณ์แห่งกรรมฐานคือลมหายใจเข้าลมหายใจออกมีอยู่ในจิต จิตรู้อยู่กับลมหายใจเข้าลมหายใจออก หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ ดั่งนี้ก็คือว่ามีอยู่ มีอยู่ในจิต
กำหนดให้รู้ภายในภายนอก
คราวนี้มีอยู่เพื่ออะไร ก็มีอยู่เพื่อที่จะสำหรับเป็นที่ตั้งของสติ เพราะสตินั้นจำเป็นที่จะต้องมีที่ตั้ง เมื่อตั้งใจที่จะทำอานาปานสติ ก็ต้องให้มีลมหายใจเข้าลมหายใจออกนี่แหละเป็นที่ตั้งของสติ เป็นที่ตั้งของสติกำหนด กำหนดยังไง ก็กำหนดให้รู้ภายใน ให้รู้ภายนอก ให้รู้ทั้งภายในทั้งภายนอก
ความที่ตั้งกำหนดให้รู้ดั่งนี้ก็ไม่ต้องไปขวนขวายค้นหาว่าภายในอยู่ที่ไหน ภายนอกอยู่ที่ไหน ทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ที่ไหน มีอยู่ที่อารมณ์คือลมหายใจเข้าลมหายใจออก กับตัวสตินี่แหละ ที่ตั้งกำหนดอยู่ และเมื่อตั้งกำหนดอยู่ดั่งนี้ ความที่เป็นภายในความที่เป็นภายนอกของลม ก็รู้เอง ก็คือว่าเมื่อเข้ามาก็เป็นภายใน ออกไปก็เป็นภายนอก เท่านี้ หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ เข้ามาก็เป็นภายใน ออกไปก็เป็นภายนอก และก็ต้องให้รู้ทั้งภายในทั้งภายนอก คือทั้งเข้าทั้งออก ไม่สับสนกัน
และละเอียดขึ้นไปกว่านี้ก็ให้รู้ยาว ให้รู้สั้น ให้รู้กายทั้งหมด และรู้แล้วก็ต้องปล่อย ให้สงบ ให้ละเอียด ไม่ยึดถือ ไม่ปรุงแต่ง ก็เป็นความสงบกายสังขารคือเครื่องปรุงกาย ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปทำความสงสัยค้นหาอะไรมากมาย ว่าภายในอยู่ที่ไหน ภายนอกอยู่ที่ไหน เอาแค่นี้แหละ เข้าก็เป็นภายใน ออกก็เป็นภายนอก ให้รู้ ให้รู้ทั้งภายในทั้งภายนอก และเมื่อจิตมีสติกำหนดอยู่ดั่งนี้ ลมหายใจก็มีอยู่ทั้งภายในทั้งภายนอก ทั้งขาเข้า ทั้งขาออก ไม่หายไป หายไปเมื่อไรก็แปลว่าจิตฟุ้งออกไปแล้ว จิตไม่ตั้งแล้ว หรือว่าสติหลงลืมไปเสียแล้ว ฟุ้งแล้ว จึงต้องให้มีอยู่
ฉะนั้นความที่ตั้งสติกำหนดว่ากรรมฐานข้อที่ปฏิบัติมีอยู่เช่นลมหายใจเข้าออกมีอยู่ดั่งนี้ ก็เพื่อสติกำหนด เพื่อเป็นที่ตั้งของสติ และเมื่อเป็นที่ตั้งของสติดั่งนี้แล้วก็รู้เอง รู้ภายในขึ้นมาเอง รู้ภายนอกขึ้นมาเอง คือเข้าก็รู้ ออกก็รู้ ความทำความเข้าใจภายในภายนอกง่ายๆดั่งนี้ปฏิบัติง่าย ไม่ต้องไปค้นหาว่านอกในอยู่ที่ไหน อยู่ที่นี่แหละ เพียงเท่านี้ก็เป็นตัวสติขึ้นมาได้
เกิดดับเป็นธรรมดา
และเพื่อญาณคือความหยั่งรู้นั้น ก็คือว่าเพื่อให้รู้ว่ามีเกิดเป็นธรรมดา มีดับเป็นธรรมดา มีทั้งเกิดทั้งดับเป็นธรรมดา ตอนนี้ก็เข้าขั้นที่จะเป็นวิปัสสนา แต่อันที่จริงนั้นจะเรียกว่าอนุปัสสนาก็ได้ คือเป็นการตามดูตามรู้ตามเห็นเหมือนกัน ก็คือว่าเกิดเป็นธรรมดาดับเป็นธรรมดานั้นก็ปรากฏอยู่แก่ลมหายใจเข้าลมหายใจออกที่มีอยู่นี่แหละ เพราะว่าคำว่ามีอยู่นี้ไม่ใช่หมายความว่าตั้งอยู่เป็นความตั้งอยู่ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่อันที่จริงนั้นก็เข้าออกนั่นแหละเป็นตัวความเกิดความดับ เข้าก็คือว่าเกิด ออกก็คือว่าดับ
แต่ว่ามีสันตติคือความสืบต่อเนื่องไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจึงเหมือนอย่างว่าลมหายใจเข้าออกนี้ไม่มีดับ แต่อันที่จริงนั้นมีเกิดมีดับอยู่ทุกขณะที่หายใจเข้าหายใจออก ความเกิดความดับจึงปรากฏแก่ปัญญาหรือญาณที่กำหนดได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นความตามดูตามรู้ตามเห็นอีกเหมือนกัน คือว่าตามดูในอาการที่เกิดของลมหายใจ ในอาการที่ดับของลมหายใจ และให้รู้จักว่ามีสันตติคือความสืบต่อ ขาดสันตติคือความสืบต่อขาด เช่นว่ากลั้นลมหายใจ หรือว่าจมน้ำ หรือว่าถูกรัดคอเป็นต้น หากว่าสันตติคือความสืบต่อขาดในระยะที่ยังไม่เป็นอันตรายแก่ชีวิต ชีวิตก็ดำรงอยู่ได้ ถ้าขาดไปจนถึงขีดเป็นอันตรายแก่ชีวิต ชีวิตนี้ก็ดับในที่สุด ที่เรียกว่ามรณะคือความตาย
เวทนา ๓ อย่าง
ฉะนั้น ลองกลั้นลมหายใจดูจะเห็นว่าเมื่อสันตติขาดแล้วเป็นยังไง ก็จะพบ ทุกขเวทนา ครั้นเมื่อเลิกกลั้นลมหายใจปล่อยให้หายใจไปตามปรกติเป็นยังไง ก็รู้สึกว่าเกิด สุขเวทนา แต่ว่าในขณะที่ไม่ได้ลองกลั้นลมหายใจ และเลิกกลั้นปล่อยให้หายใจตามปรกติ ก็จะไม่ค่อยรู้สึกว่ามีสุขเวทนาหรือทุกขเวทนาเพราะลมหายใจ เป็นเรื่องที่เป็นไปตามปรกติธรรมดา ก็มีเวทนาเหมือนกัน เรียกว่าเป็นเวทนาที่เป็นกลางๆ ที่ไม่สุขแรงนัก ไม่ทุกข์แรงนัก อันที่จริงก็มีสุขมีทุกข์อยู่แต่ไม่แรงนักจนเป็นที่ปรากฏชัด ก็เป็น อุเบกขาเวทนา ก็จับเวทนาได้อีกอย่างหนึ่งจากลมหายใจเข้าลมหายใจออก
เวทนาทางกาย
อันเวทนานี้เป็นสิ่งที่มีประจำอยู่ในกายและจิตหรือในกายและใจอยู่ตลอดเวลา เป็นลักษณะของความที่ยังมีชีวิตอยู่ของกายใจอันนี้ ซึ่งจะต้องมีเวทนาอยู่เสมอ เป็นเวทนาทางกายเป็นเวทนาทางใจ เพราะฉะนั้นเวทนานี้จึงเป็นตัวนามธรรมชนิดที่หยาบประกอบอยู่ทั้งทางกาย ทั้งทางใจ
เวทนาที่ประกอบอยู่ทางกายนี้ ก็ไม่ใช่กาย เป็นความรู้สึก หรือเป็นความรู้อย่างหนึ่งในขณะที่ร่างกายยังมีประสาททั้งหลายเป็นปรกติ และโดยเฉพาะเวทนาทางกายนี้ย่อมเกิดขึ้น เพราะสัมผัสสิ่งที่ถูกต้องทางกาย อันเป็นอายตนะที่ ๕
อันอายตนะนั้นมี ๖ ภายใน ๖ ภายนอก ๖ คู่กัน กายเวทนาจิตคู่กัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมนะคือใจ เป็นอายตนะภายใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมะคือเรื่องราวเป็นอายตนะภายนอก ตากับรูปก็คู่กัน หูกับเสียงก็คู่กัน จมูกกับกลิ่นก็คู่กัน ลิ้นกับรสก็คู่กัน กายและโผฏฐัพพะ คือสิ่งที่กายถูกต้องก็คู่กัน มนะคือใจและธรรมะคือเรื่องราวก็คู่กัน โดยเฉพาะคู่ที่ ๕ ก็คือกายและโผฏฐัพพะคือสิ่งที่กายถูกต้อง คู่นี้แหละที่ทำให้เกิดเวทนาทางกายทั้งสุขทั้งทุกข์ และทั้งที่เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข
ดังจะพึงเห็นได้ว่ากายที่มีกายประสาทอยู่เป็นปรกติเมื่อได้รับโผฏฐัพพะคือสิ่งที่กายถูกต้อง จะเป็นดินฟ้าอากาศก็ตาม เป็นสิ่งอื่นก็ตาม ที่เกื้อกูลให้เกิดความสุข ก็เกิดสุขเวทนาทางกาย เช่นเวลาที่ร้อนก็ได้รับลมพัดให้เย็น ในเวลาที่หนาวก็ได้รับความอบอุ่น จะจากไฟก็ตาม จากเสื้อผ้าที่สวมใส่ก็ตาม ดั่งนี้ก็เกิดความสุข เป็นความสุขทางกาย
ถ้าหากว่าไม่ได้รับสิ่งที่เกื้อกูลให้เกิดความสุขทางกายได้รับตรงกันข้าม ก็เกิดทุกขเวทนาทางกาย เช่นต้องพบกับอากาศที่ร้อนมาก หนาวมาก หรือว่าต้องประสบกับของแข้นแข็งที่มากระทบกระทั่งให้บอบช้ำลำบาก ตลอดจนถึงต้องศาสตราอาวุธเหล่านี้ ซึ่งเป็นเครื่องทำให้เกิดความทุกข์ ก็เกิดทุกขเวทนาทางกาย ถ้าหากว่าสิ่งแวดล้อมทั้งหลายที่เป็นตัวโผฏฐัพพะมากระทบกระทั่งนั้น เป็นกลางๆ ไม่ให้เกิดทุกข์ไม่ให้เกิดสุขอะไรมากนัก ก็เป็นเวทนาที่เป็นกลางๆ ก็เป็นดั่งนี้อยู่ตลอดเวลา นี่เป็นทางกาย
เวทนาทางใจ
ส่วนว่าสัมผัสที่เกิดจากอายตนะคู่อื่นๆ คือว่าเกิดจากตากับรูปประจวบกัน หูกับเสียงประจวบกัน จมูกกับกลิ่นประจวบกัน ลิ้นกับรสประจวบกัน และมโนคือใจกับธรรมะคือเรื่องราวประจวบกัน ในอีก ๕ ทางนี้ก็ให้เกิดเวทนาทางใจ เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง เพราะฉะนั้น จึงต้องทำความเข้าใจให้รู้เวทนาทางใจนี้อีกสักหน่อยหนึ่ง ดังเช่นตากับรูปประจวบกันก็หมายความว่าเห็นรูป หากว่ารูปที่เห็นนั้นเป็นรูปที่เป็นที่ตั้งของความชอบใจพอใจ ก็ให้เกิดสุขเวทนาทางใจ ถ้าเป็นรูปที่ไม่ทำให้ ที่ๆไม่เป็น ที่เป็นที่ตั้งของความไม่ชอบเกลียดชัง ก็ให้เกิดทุกขเวทนาทางใจ
คำว่าตากับรูปประจวบกันนั้นจึงหมายถึงอย่างนี้ ตาเห็นรูป รูปที่เป็นที่ตั้งของความชอบก็มี ความชังก็มี ก็ให้เกิดสุขเวทนา ให้เกิดทุกขเวทนาทางใจไปตามประเภท แต่ไม่ใช่หมายความว่ารูปที่เป็นวัตถุนั้น เช่นว่าผงเข้าตา ผงเข้าตาก็เกิดความแสบคัน ถ้าเป็นเรื่องเช่นนี้ไม่ใช่หมายความว่าตากับรูปประจวบกันดังกล่าวนั้น แต่ไปเข้าข้อๆที่ ๕ กายและโผฏฐัพพะ เพราะว่าผงเข้าตานั้นหมายถึงตาที่เป็นส่วนกาย ไม่ใช่ประสาทที่ให้เห็น ไม่ใช่เป็นตัวความเห็นรูป และผงนั้นก็เป็นโผฏฐัพพะคือสิ่งที่กายถูกต้อง ก็เกิดแสบคันเจ็บปวดขึ้นดั่งนี้ ก็มาเข้าข้อที่ ๕ ไม่ใช่เข้าข้อที่ ๑ ที่เข้าข้อที่ ๑ คือตากับรูปประจวบกันก็หมายถึงที่ตาเห็นรูป รูปที่เห็นนั้นเป็นที่ตั้งของความชอบหรือไม่เป็นที่ตั้งของความชอบ ก็ให้เกิดสุขให้เกิดทุกข์ไปตามประเภท
แม้ในข้อที่ ๒ ก็เหมือนกัน หูกับเสียงประจวบกันก็หมายถึงว่าได้ยินเสียง เมื่อได้ยินเสียงที่พอใจก็ให้เกิดสุข ที่ไม่พอใจก็ให้เกิดทุกข์ แต่ว่าถ้าเป็นเสียงชนิดที่ว่า เช่นว่าเสียงดังเกินไปทำให้แสบแก้วหู ถ้าเป็นดั่งนี้ก็ไปเข้าข้อที่ ๕ คือกายและโผฏฐัพพะ เพราะว่าอาการที่แสบแก้วหูนั้นเป็นเรื่องของกาย คือส่วนกาย แล้วก็ตัวเสียงนั้นเองก็เป็นตัวโผฏฐัพพะที่มากระทบ อันทำให้แสบแก้วหู หรือจนถึงทำให้หูตึงหูหนวก ก็มาเข้าข้อที่ ๕ คือกายและโผฏฐัพพะ
ส่วนที่เป็นข้อที่ ๒ หูกับเสียงนี้ หมายถึงว่าได้ยินเสียง ได้ยินเสียงที่น่าพอใจ ไม่น่าพอใจ เช่นว่าได้ยินเสียงที่พอใจ ถ้าใครพอใจฟังธรรมะได้ฟังธรรมะที่พอใจ ก็เกิดความสุขเวทนาทางใจ หรือใครที่พอใจจะฟังเสียงอย่างอื่น เมื่อได้ฟังเสียงอย่างนั้นแล้วก็เกิดความสุขขึ้น ก็เกิดสุขเวทนาทางใจ แต่ว่าถ้าเป็นเสียงที่ไม่น่าพอใจ เช่นว่าเสียงด่าเสียงว่าอะไรเป็นต้น มากระทบกระทั่งใจเข้า ก็เกิดทุกขเวทนาทางใจขึ้นมา ดังนี้ให้เกิดทุกขเวทนาทางใจ เกี่ยวแก่อายตนะข้อหูกับเสียงนี้
จมูกกับกลิ่นก็เหมือนกัน ก็หมายถึงกลิ่นที่ชอบหรือไม่ชอบใจ แล้วก็เกิดทุกข์หรือสุขทางใจขึ้น ลิ้นกับรสก็เหมือนกัน ก็หมายถึงว่ารสที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจ ก็เกิดทุกข์หรือสุขทางใจขึ้น และมาถึงข้อสุดท้ายคือมโน ใจกับธรรมะคือเรื่องราวก็เหมือนกัน ก็ถ้าเป็นเรื่องที่พอใจ ก็ทำให้เกิดสุขเวทนา ถ้าไม่พอใจก็ให้เกิดทุกขเวทนา
เพราะฉะนั้นสำหรับที่ให้เกิดเวทนาทางกายนั้นจึงมีข้อเดียวคือข้อกายและโผฏฐัพพะ ส่วนข้อตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส และใจกับธรรมะคือเรื่องราวนั้น ให้เกิดสุขเวทนาหรือทุกขเวทนาทางใจ
ปัจจัยให้เกิดตัณหา
ฉะนั้น บุคคลจึงต้องมีเวทนาทางกายทางใจกันอยู่ตลอดเวลา ที่เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง และเวทนานี้เองที่เป็นต้นทางให้เกิดราคะโทสะโมหะ หรือโลภโกรธหลง หรืออีกอย่างหนึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้ว่า เวทนาปัจจยาตัณหา เพราะเวทนาเป็นปัจจัยเกิดตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก เพราะฉะนั้นอันตัวกิเลสตัณหาก็ดี ราคะโทสะโมหะก็ดี หรือว่าโลภโกรธหลงก็ดี ที่บังเกิดขึ้นในจิตใจของบุคคลนั้น ย่อมสืบเนื่องมาจากเวทนาดังกล่าวมา จะต้องมีเวทนาขึ้นก่อน เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง ซึ่งเวทนานี้เองเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา หรือให้เกิดกิเลสทั้งหลายดังกล่าวนั้น
อันตัวเวทนานั้นอันที่จริงก็เป็นขันธ์ข้อหนึ่งในขันธ์ ๕ ซึ่งขันธ์ ๕ นี้เป็นวิบากคือผลของกรรมและกิเลส ซึ่งเป็นชนกกรรมให้เกิดมา เกิดก่อขันธ์ ๕ ขึ้นมา เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ย่อลงเป็นกายใจอันนี้ เพราะฉะนั้น ตัวขันธ์ ๕ หรือตัวกายใจ หรือนามรูป เป็นวิบากขันธ์ ไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล แต่เป็นตัวกลางๆ ไม่เป็นบุญ ไม่เป็นบาป เป็นตัวกลางๆ เพราะฉะนั้น ตัวขันธ์ ๕ เองนี้จึงเป็นอัพยากตธรรม ธรรมะที่เป็นกลางๆ เป็นตัวผล เป็นตัววิบาก ไม่จัดว่าเป็นบุญ ไม่จัดว่าเป็นบาป ไม่จัดว่าเป็นกุศล ไม่จัดว่าอกุศล เป็นตัววิบากซึ่งเป็นกลางๆ
แต่ว่าบุคคลหรือว่าจิตนี้ก็อาศัยขันธ์ ๕ นี้แหละทำดีบ้างทำชั่วบ้าง ทำบาปบ้างทำบุญบ้าง กุศลบ้างอกุศลบ้าง หรือว่าทำเป็นกลางๆ ไม่ใช่บาปไม่ใช่บุญบ้าง กันอยู่ และเพราะเหตุนี้ จึงกล่าวว่าเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา หรือเกิดกิเลสทั้งหลาย และบรรดาขันธ์ที่จะเป็นปัจจัยดังกล่าวอย่างชัดเจนนั้นก็คือตัวเวทนานี้เอง
สติกำหนดเวทนา
ฉะนั้น พระพุทธเจ้าเมื่อได้ทรงตรัสสอนให้ทำสติกำหนดกายแล้ว ซึ่งนับว่าเป็นหยาบ กำหนดง่าย จึงได้ตรัสสอนให้ทำสติกำหนดเวทนา ตามรู้ตามดูตามเห็นเวทนา และเมื่อมีสติกำหนดเวทนาอยู่ ก็คือว่าทีแรกก็กำหนดว่าเวทนามีอยู่ดังกล่าวนั้นนั่นเอง เพื่อเป็นที่ตั้งของสติ ให้เวทนาเป็นอารมณ์ที่ตั้งอยู่ในจิต ไม่หายไปจากจิต ก็เพื่อเป็นที่ตั้งของสติ ก็กำหนดตามดูตามรู้ตามเห็นภายในภายนอก ทั้งภายในทั้งภายนอก นั่นแหละ
จะกำหนดพร้อมกับลมหายใจเข้าออกก็ได้ แต่ไม่มุ่งที่จะกำหนดลมหายใจดั่งนั้น แต่มุ่งกำหนดตามดูตัวเวทนาที่ได้จากการหายใจ ที่จะบังเกิดขึ้นจากการหายใจ ดั่งนี้ก็ได้ และเวทนาที่บังเกิดขึ้นนี่ก็เป็นภายใน หายไปก็เป็นภายนอก เพราะเวทนานี้ก็มีความเกิดขึ้นและดับไป อยู่เช่นเดียวกับลมหายใจเหมือนกัน หากกำหนดแล้วจะเห็นได้ เช่นว่าสุขเกิดขึ้น ก็ไม่ใช่หมายความว่าจะเกิดขึ้นตลอดไป เช่นว่าเมื่อยืนนานๆก็นั่ง ก็รู้สึกว่าเป็นสุข ครั้นนั่งนานๆแล้วก็รู้สึกว่าไม่เป็นสุขเสียแล้วเป็นทุกข์ ต้องยืนขึ้นมาอีก ดั่งนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นแม้สุขทุกข์นี้ก็มาและไป มาและไป สลับกันไปอยู่เสมอตลอดเวลา
มโน คือ ใจ และธรรมะ คือ เรื่องราวก็เช่นเดียวกัน เมื่อประจวบกันก็ต้องเกิดเวทนาขึ้นก่อน เป็นที่ชอบใจก็สุขไม่ชอบใจก็ทุกข์ ก็เป็นอยู่ดั่งนี้ เพราะฉะนั้นจึงเห็นได้ว่าสุขทุกข์ที่เป็นตัวเวทนานี้ มาและไปอยู่ตลอดเวลา ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางใจบ้าง และทางกายอันเป็นของหยาบนั้นบ้าง ตามอารมณ์ที่มาประสบนั้นเอง เพราะฉะนั้น คนเรานั้นต้องประสบอารมณ์ร้อยแปดอยู่มากมาย ไม่สามารถจะนับถ้วน สุข ทุกข์ หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขซึ่งเป็นตัวเวทนาก็เกิดขึ้นมากมาย นับไม่ถ้วนเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น เมื่อหัดทำสติกำหนดกายแล้ว ก็ให้มาหัดสติกำหนดเวทนา จะได้ให้ทันเวทนามากขึ้น และเมื่อทันเวทนามากขึ้นแล้วก็จะเป็นการระงับกิเลสได้มาก
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป