แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้มีพระพุทธภาษิตในธรรมบทคาถาหนึ่งซึ่งแปลความว่า คนไขน้ำย่อมไขน้ำ ช่างศรย่อมถากลูกศร ช่างไม้ย่อมถากไม้ บัณฑิตทั้งหลายย่อมฝึกตน ดั่งนี้ พระพุทธภาษิตในธรรมบทนี้ได้แสดงถึงบุคคลผู้ปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ซึ่งต้องมีการจัดการทำ เพื่อให้สิ่งทั้งหลายที่มีอยู่แล้วในโลก ให้บังเกิดเป็นประโยชน์ตามที่ต้องการ น้ำก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ เป็นน้ำฝนที่ตกลงมา หรือเป็นน้ำในแม่น้ำลำคลอง ในการประกอบเกษตรกรรม กสิกรรม ซึ่งต้องใช้น้ำ บางทีที่ๆ ประกอบกสิกรรมเกษตรกรรมนั้นไม่มีน้ำ ก็ต้องจัดการขุดคลองระบายน้ำเข้ามา หรือว่าจัดการวิธีใดวิธีหนึ่ง ให้ได้น้ำมาสำหรับประกอบเกษตรกรรมกสิกรรมนั้นๆ คือหาทางที่จะระบายน้ำเข้ามา ถ้าที่นั้นมีน้ำมากเกินไปก็ต้องไขน้ำออก เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ประกอบเกษตรกรรมกสิกรรมนั้นๆ ได้
ช่างลูกศรก็ต้องถากลูกศร ก็โดยตัดไม้ที่มีอยู่ในป่ามาถากมาเกลามาดัดต่างๆ ให้เป็นลูกศรตามที่ต้องการ ช่างไม้ที่จะใช้ไม้มาสร้างบ้านเรือน สร้างวัตถุที่ต้องการต่างๆ ตู้โต๊ะเก้าอี้และสิ่งต่างๆ ก็ตัดไม้ที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาถากมาไสเป็นต้น เพื่อประกอบเป็นเครื่องไม้ เช่นเครื่องเรือนตามที่ต้องการ
บัณฑิตย่อมฝึกตน
บัณฑิตทั้งหลายย่อมฝึกตน ก็ฝึกตนที่เกิดมานี่แหละ น้ำที่มีอยู่ในโลก จะเป็นน้ำฝน น้ำแม่น้ำลำคลอง ก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ในโลก ก็ให้ประโยชน์ตามที่น้ำจะพึงให้ประโยชน์ได้ ต้นไม้ที่เกิดอยู่ในป่าก็ให้ประโยชน์ ตามที่ต้นไม้นั้นจะพึงให้ได้ จะนำมาทำเป็นลูกศร หรือนำมาสร้างเป็นบ้านเป็นเรือนเป็นต้น ก็ต้องตัดมาถากมาไสมาปรับปรุงให้เป็นเครื่องไม้นั้นๆ
ตนเองของทุกๆ คนก็เกิดมาในโลก ก็จะต้องฝึกเหมือนกัน ก็เหมือนอย่างต้นไม้ที่เกิดมาในโลก น้ำที่มีอยู่ในโลก ตนเองก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เกิดมาในโลก มีอยู่ในโลก หากว่าจะปล่อยไปตามธรรมชาติ ก็ย่อมจะใช้ประโยชน์ตามที่ต้องการ ที่ให้บังเกิดความสุขต่างๆ ได้ยาก เช่นน้ำถ้าหากว่าปล่อยไปตามธรรมชาติไม่มีการจัดไขน้ำเป็นต้น หรือระบายน้ำเป็นต้น ระบายเข้าตามที่ต้องการ ระบายออกน้ำที่ไม่ต้องการ ไม่ทำเขื่อนทำสระทำบ่อสำหรับขังน้ำไว้ใช้สอย สำหรับหาน้ำ สำหรับใช้ ก็ไม่สามารถที่จะได้น้ำมาใช้ประโยชน์ตามที่ต้องการ ไม้ก็เหมือนกัน ถ้าปล่อยให้อยู่ในป่า หรือตัดมาก็ไม่ถากไม่ไส ไม่มาดัดไม่มาทำต่างๆ ก็จะมาใช้เป็นลูกศร ใช้มาประกอบเป็นบ้านเป็นเรือนเป็นโต๊ะตู้อะไรเป็นต้น ก็ไม่ได้
ตนเองก็เหมือนกัน ก็เกิดมาในโลกเหมือนอย่างต้นไม้ น้ำเป็นต้น เป็นสิ่งที่มีอยู่ในโลกนี่แหละ ถ้าไม่ฝึกก็ไม่สามารถจะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ตามที่ต้องการได้ จึงต้องมีการฝึกตั้งแต่เกิดมา มีการหัดให้รู้จักบริโภค ให้รู้จักที่จะนั่ง จะเดิน จะวิ่ง จะนอน และหัดทำสิ่งต่างๆ หัดเล่าเรียนเขียนอ่าน ให้มือเขียนหนังสือได้ อ่านหนังสือได้ รู้ภาษาที่พูด ก็ต้องฝึกมาทั้งนั้น
และแม้ร่างกายนี้เองร่างกายส่วนที่ฝึกย่อมทำงานตามที่ฝึกได้ ร่างกายส่วนที่ไม่ฝึกทำไม่ได้ เช่นว่าฝึกมือขวาให้เขียนหนังสือ ก็ใช้มือขวาเขียนหนังสือได้ แต่มือซ้ายไม่ได้ฝึกให้เขียนหนังสือก็เขียนไม่ได้ ที่แม้แต่อวัยวะร่างกายเองก็เหมือนกัน เมื่อฝึกจึงทำได้ ถ้าไม่ฝึกก็ทำไม่ได้ ในงานช่างต่างๆ ที่ใช้ร่างกาย เช่นว่าช่างไสไม้เป็นต้น ก็ต้องหัดไสถึงจะไสได้ ถ้าไม่หัดก็ไสไม้ให้ดีไม่ได้ การที่บุคคลเดินได้วิ่งได้นั่งได้นอนได้ตามต้องการ ก็เพราะฝึกมาตั้งแต่เด็ก ถ้าไม่ฝึกเลยปล่อยให้นอนอยู่อย่างนั้น ก็ยากที่จะนั่งคล่องเดินคล่องทำอะไรคล่องเหมือนอย่างที่ฝึกได้
จิตแม้เป็นธาตรู้ก็ต้องฝึก
จิตใจนี้ก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องฝึก เพราะจิตใจนี้แม้เป็นจิตใจที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่าเป็นธาตุรู้ และเป็นธรรมชาติที่ปภัสสรคือผุดผ่อง แต่ก็ยังเป็นจิตใจที่ยังมีอวิชชาคือความไม่รู้ ฉะนั้น จึงมีอุปกิเลสคือเครื่องเศร้าหมองจรเข้ามา ตั้งอยู่ในจิตใจได้ ปรากฏเป็นอาสวะอนุสัยกิเลสอย่างละเอียดที่ดองสันดานอยู่ ก็มีอยู่เป็นอันมาก เมื่อเป็นดั่งนี้ จิตใจนี้จึงเป็นเหมือนอย่างต้นไม้ที่เกิดขึ้นในป่า ก็เป็นไปตามธรรมชาติ
จะพึงเห็นได้จากกิริยาของเด็ก ที่แสดงอาการของจิตใจต่างๆ เด็กอยากจะร้องก็ร้อง หิวขึ้นมาก็ร้อง อยากจะถ่ายก็ถ่าย และเมื่อเริ่มที่จะเดินได้วิ่งได้ อยากจะวิ่งไปไหนก็วิ่ง อยากจะนอนก็นอน เพราะว่าจิตใจเกิดความคิดขึ้นอย่างไรก็ทำอย่างนั้น…(เริ่ม)...อันอาการของเด็กที่แสดงออกนี้ ก็เพราะว่ายังมีสติความระลึกได้ และปัญญาความรู้ยังอ่อน ซึ่งเรียกกันว่ายังไม่เดียงสา เมื่อค่อยรู้เดียงสาขึ้นจึงค่อยอยู่ในระเบียบขึ้น และความรู้เดียงสาขึ้นนี้ก็เพราะว่าได้รับฝึก มาตั้งแต่ฝึกได้ ดังที่บิดามารดาคอยสั่งสอน คอยเตือนคอยหัดให้พูด หรือพูดด้วย ให้บังเกิดความรู้ต่างๆ ดีขึ้น ก็แปลว่าฝึก ถ้าไม่ฝึกเลยปล่อยให้โตขึ้นมาเอง ก็คงจะแสดงกิริยาต่างๆ ไม่ต่างจากดิรัจฉานเท่าไรนัก เหมือนอย่างคนป่าที่แม้ยังมีอยู่น้อยก็เป็นเครื่องแสดงได้ ว่าคงเป็นอยู่แบบสัตว์ป่าเหมือนกัน แต่การที่คนเราประพฤติอยู่ในระเบียบดีขึ้นนั้นก็เพราะการฝึกนี้เอง พ่อแม่เป็นต้นก็ค่อยๆ ฝึกมา ครูบาอาจารย์ก็ฝึกมา และประกอบกับคนเองเกิดมาเป็นคน ก็มีปัญญาที่เกิดมากับชาติคือความเกิดดีกว่าสัตว์เดรัจฉาน จึงรับรู้การฝึก เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่ามนุษย์ที่แปลว่าผู้มีใจสูง มี มนะสูง
กุศล กิจของคนฉลาด
มนะ ใจ ก็คือความรู้นี้เอง มนะ แปลว่าความรู้ เกิดมาเป็นคนจึงเกิดขึ้นมาด้วยอำนาจของกุศล กุศลก็แปลว่ากิจของคนฉลาด ก็คือตัวปัญญานี้เอง คนเราจึงมีปัญญาที่สูงกว่าสัตว์เดรัจฉาน รับการฝึกของบิดามารดา ของครูบาอาจารย์ ตลอดจนถึงรับการฝึกของพระพุทธเจ้า ที่ทรงแสดงสั่งสอน ฉะนั้น เมื่อพิจารณาให้รู้ว่าการฝึกนั้นเป็นสิ่งจำเป็นดั่งนี้ บัณฑิตทั้งหลายคือผู้ที่ประกอบด้วย ปันดา ที่แปลว่าปัญญา จึงได้ฝึกตน ฝึกตนให้ดีขึ้นไปอยู่เสมอตามที่บัณฑิตได้สั่งสอน ก็ฝึกปัญญานี้เองให้เจริญขึ้น และเมื่อปัญญาเจริญขึ้นจิตใจก็เจริญขึ้น ความประพฤติก็เจริญขึ้น แต่ว่าปัญญาที่จะทำให้จิตใจและความประพฤติเจริญขึ้นนี้ ต้องเป็นสัมมัปปัญญา คือปัญญาที่ถูกที่ชอบ ต้องเป็นสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ ปัญญาที่ถูกที่ชอบนี้ เมื่อเป็นบัณฑิต คือเป็นผู้ที่ประกอบด้วยปัญญา ที่รู้ถึงสัจจะคือความจริง ย่อมจะรู้ได้ และหากพิจารณาดูที่ตนเอง อาศัยคำสั่งสอนของพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ พระพุทธเจ้า ก็จะรู้ได้
กุศลมูล อกุศลมูล
ตั้งต้นแต่ที่ได้รับคำสั่งสอนว่าอะไรดีอะไรชั่ว ให้ละความชั่วให้ตั้งอยู่ในความดี ดังที่แสดงไว้ในหน้าที่ของบิดามารดาห้ามไม่ให้ทำความชั่ว ให้ประพฤติความดี ให้ตั้งอยู่ในความดี อะไรเป็นความชั่วอะไรเป็นความดีนี้เป็นหลักสำคัญตั้งแต่เบื้องต้น ต้องให้รู้จัก ความที่หัดให้รู้จักความดีความชั่วนี้ ย่อมจะต้องอาศัยความรู้จักฝึกตน ก็คือฝึกจิตของตน ฝึกจิตของตนก็คือว่าฝึกคือข่มกิเลส ให้รู้จักอกุศลมูล ว่าตัวราคะหรือโลภะโทสะโมหะนี่เป็นอกุศลมูล มูลเหตุรากเง่าของอกุศลทั้งหลาย เป็นตัวอกุศลทั้งหลายด้วย และเป็นรากเง่าของอกุศลบาปทุจริตทั้งหลายด้วย
ส่วนความไม่โลภไม่โกรธไม่หลง หรือไม่ราคะไม่โทสะไม่โมหะเป็นกุศลมูล มูลของกุศลทั้งหลาย เป็นตัวกุศลเองด้วย และเป็นมูลของกุศลทั้งหลายด้วย ต้องฝึกตนให้รู้จักว่านี่เป็นอกุศลมูล นี่เป็นกุศลมูล นี่เป็นบาปเป็นทุจริต นี่เป็นบุญเป็นกุศลเป็นสุจริต อกุศลบาปทุจริตนั้นมีโทษ ส่วนกุศลบุญสุจริตนั้นมีคุณ ฝึกให้รู้จักอกุศลมูล รู้จักกุศลมูล และให้รู้จักที่จะเว้นอกุศลมูล เว้นไม่ทำบาปทุจริตต่างๆ ได้ ให้รู้จักกุศลมูล นิยมชมชื่นในกุศลสุจริตต่างๆ ได้ เหล่านี้เป็นการฝึกทั้งนั้น ซึ่งการฝึกนั้นดังช่างไม้ต้องถากไม้ ก็จะเห็นว่าต้องใช้สิ่วใช้ขวานถาก ต้องใช้เลื่อยต้องใช้ตะไบอะไรเป็นต้น อะไรที่จะต้องตัดออกก็ต้องตัดออก อะไรที่คดก็ต้องทำให้ตรงในที่ๆ ต้องการจะทำให้ตรงเป็นต้น ต้องดัดหรือถาก จิตอันนี้ก็เหมือนกัน หากว่าบังเกิดราคะหรือโลภะโทสะโมหะแรง ก็เป็นจิตที่คดมาก ก็ต้องถากกัน ต้องไสกัน
อย่าให้คนอื่นถากคนอื่นไส ต้องพยายามที่จะให้ตัวเองถากตัวเองไสตัวเอง การที่ให้คนอื่นถากคนอื่นไสนั้น ก็เช่นว่าต้องให้บิดามารดาคอยดุด่าว่ากล่าว ให้ครูบาอาจารย์ต้องดุด่าว่ากล่าว ต้องให้พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนชี้โทษ คือคำสั่งสอนที่ตรัสชี้โทษมากมาย ต้องให้ทางบ้านเมืองลงโทษ จับใส่คุกใส่ตะรางลงโทษต่างๆ เหล่านี้เป็นการที่คนอื่นถากไสทั้งนั้น เพราะเห็นว่าตนเองไม่เป็นบัณฑิต ถากไสตัวเองไม่ได้
ฉะนั้น ผู้เป็นบัณฑิตจึงถากไสตัวเองดัดตัวเอง ไม่ต้องให้คนอื่นมาคอยถากคอยไส คอยหมั่นพิจารณาตัวเอง ให้รู้ดีรู้ชั่วในตัวเอง ปฏิบัติที่จะละชั่วทำดีด้วยตัวเองอยู่ดั่งนี้ แล้วก็หวังได้ว่าจะไม่ต้องถูกคนอื่นถากไส เพราะตัวเองถากไสตัวเองได้ จึงปฏิบัติตนให้อยู่ในมรรยาทขอบเขตอันดีงามได้ ส่งตนให้ดีขึ้นได้โดยลำดับ พระพุทธเจ้าทรงแสดงสติปัฏฐานก็เป็นวิธีที่จะฝึกที่จะถากไสตนเองนี้เอง เพราะเมื่อผู้ปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติย่อมจะเป็นการสร้างสติสร้างปัญญาให้บังเกิดขึ้นในตัวเอง และสติปัญญานี้เองก็เป็นแสงที่จะส่องให้ตัวเองมองเห็น ว่าอะไรเป็นอะไร และจะดำเนินไปในทางที่ถูก สติปัญญาที่เป็นแสงสว่างอันจะส่องตัวเองให้เดินทางถูกนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก แต่ถ้าเป็นโมหะความหลงกับกิเลสต่างๆ แล้วทำให้มืด มองไม่เห็นทางของตัวเองที่จะเดิน หลงผิดไปต่างๆ แต่ถ้าเป็นสติปัญญาที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนแล้วจะเป็นแสงสว่าง ส่องให้ตัวเองมองเห็นทางของตัวเองที่จะดำเนินไปโดยถูกต้อง
อานาปานสติขั้นระงับกายสังขาร
การปฏิบัติทำอานาปานสติที่ว่ามาโดยลำดับ ก็เป็นวิธีที่จะสร้างสติสร้างปัญญา อันเป็นแสงสว่างที่จะส่องใจตัวเองให้มองเห็นทางอันถูกต้อง และดำเนินไปโดยถูกต้องได้ เมื่อตรัสสอนให้ศึกษา คือตั้งสติกำหนดสำเหนียกว่า เราจักรู้กายทั้งหมดหายใจเข้าหายใจออก และเมื่อกำหนดรู้กายทั้งหมดได้ทั้งรูปกายทั้งนามกาย ก็จะมองเห็นรูปกายนามกายของตนนี้ เป็นไปอยู่อย่างไร เช่นว่ารูปกายกำลังนั่งอยู่ วางมือวางเท้าอย่างนี้ นามกายนั้นก็ใส่ใจถึงลมหายใจเข้าลมหายใจออก ก็ได้ความรู้ที่รวมเข้ามาในภายใน ได้รู้ทั้งลมหายใจเข้าลมหายใจออก ยาวหรือสั้น ได้รู้ทั้งรูปกายนามกายอื่นๆ ทั้งหมด ที่รวมกันอยู่เป็นก้อนกายก้อนใจนี้ จิตก็ตั้งสงบอยู่ในภายในไม่ออกไปภายนอก เมื่อเป็นดั่งนี้ กายและใจก็จะละเอียดเข้าโดยลำดับ จึงได้ตรัสสอนสืบไปสำหรับในข้ออานาปานสตินี้ ซึ่งเป็นข้อกายในที่สุดว่า ให้ศึกษาคือตั้งสติสำเหนียกกำหนดว่า เราจะระงับกายสังขาร หายใจเข้าหายใจออก
กายสังขาร
คำว่ากายก็คือรูปกายนามกายดังกล่าวมานั้นๆ เอง สังขารก็คือว่าความปรุงแต่ง หรือเครื่องปรุงแต่งกาย กายสังขารความปรุงแต่ง หรือเครื่องปรุงแต่งรูปกาย ก็คืออาการของกาย อาการของรูปกาย เช่นเมื่ออยู่ในอิริยาบถนั่ง บางทีก็นั่งเอียงไปซ้าย บางทีก็นั่งเอียงไปทางขวา บางทีก็นั่งเอียงไปข้างหน้า บางทีก็นั่งเอียงไปข้างหลัง บางทีก็นั่งเอียงไปเอียงมา ที่เรียกว่ากระสับกระส่าย เหล่านี้เป็นกายสังขารส่วนรูป หายใจเข้าหายใจออกก็เป็นกายสังขาร คือกายนี้เองปรุงแต่งการหายใจ กายส่วนที่หายใจอยู่โดยธรรมชาติ กับกายที่ปรุงแต่ง เช่นที่ปอดปอดก็ปรุงแต่ง ตั้งแต่จมูกไปจนถึงท้องที่พองยุบก็ปรุงแต่ง เหล่านี้ก็เป็นกายสังขาร ปรุงแต่งกายส่วนรูป คราวนี้ถ้าหากว่าปรุงแต่งกายส่วนรูปนี้หยาบ กายก็จะเอียงไปเอียงมา หายใจเข้าหายใจออกก็จะฮืดฮาด หรือบางทีเป็นแบบนั่งปลุกตัว ปุปปับๆ ขึ้นๆ ลงๆ เหล่านี้เป็นการปรุงกายทั้งนั้น ส่วนรูป
คราวนี้มาถึงกายสังขารปรุงกายส่วนนามกายก็เหมือนกัน จิตใจที่คิดโน่นคิดนี่ ตลอดจนถึงจิตใจที่กำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออก ก็เป็นกายสังขารส่วนนามกาย บางทีมีตัณหาเข้ามาปรุงอีกเป็นความอยาก นั่งกรรมฐานอยู่บางทีก็มีตัณหามาปรุง อยากจะให้ได้เร็วๆ ถ้าหากว่าเกิดเมื่อยขึ้นมาก็อยากจะเลิกเร็วๆ ถ้าเพลินขึ้นมาก อยากจะทำต่อไปนานๆ อยากจะตาทิพย์หูทิพย์เห็นนั่นได้ยินนี่ เหล่านี้ก็เป็นกายสังขารปรุงกายส่วนนามกาย และกายสังขารที่ปรุงกายส่วนนามกายนี้ บางทีก็มีนิวรณ์เข้ามาดึงใจให้ออกไป ปรุงอารมณ์ภายนอกต่างๆ อีก
เพราะฉะนั้น ก็ต้องทำความรู้ว่าเราจักระงับกายสังขารเครื่องปรุงกาย อันหมายความว่าระงับจากหยาบไปหาละเอียด รวมใจเข้ามาให้รู้กายทั้งหมด ให้รู้กายทั้งหมดว่ากายเป็นยังไง ปรุงอยู่ยังไง กายเป็นยังไง ใจยังไง กำลังปรุงยังไง แล้วก็กำหนดใจว่าเราจะระงับความปรุงนั้น เมื่อกำหนดอยู่ดั่งนี้แล้ว กายถ้าปรุงก็ย่อมจะรู้ เมื่อรู้ก็ต้องระงับการปรุงนั้น เช่นว่าถ้ากายโยกเยกไปซ้ายไปขวาไปหน้าไปหลัง หรือว่าเต้นพึบๆ พั่บๆ เป็นแบบที่เรียกว่าปลุกตัว ก็ต้องหยุดทันที ว่านี่ไม่ถูก ต้องนั่งให้สงบ จิตก็เหมือนกัน จิตที่ปรุงอย่างโง้น ยังงี้ บางทีก็ปรุงกำหนดแรงไป เมื่อกดกำหนดแรงไปบางทีก็ปวดศีรษะ ก็ต้องคลาย คืออย่าไปยึด ปฏิบัติปล่อย ทำความรู้รูปกายนามกาย รวมจิตเข้ามาในภายใน รู้ปล่อยรู้วาง ไม่รู้ยึด
รวมใจเข้ามากำหนดอยู่ดั่งนี้ จิตก็จะรวมดีขึ้น และความปรุงกายทั้งรูปทั้งนามนั้นก็จะสงบเข้าๆ จนถึงละเอียดที่สุด เหมือนอย่างไม่หายใจ แต่ก็ต้องให้ทำความรู้ว่าความจริงหายใจ แต่หายใจอย่างละเอียด เมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว ก็จะได้อานาปานสติสมาธิ จะได้ในขั้นที่รวมใจเข้ามารู้กายทั้งหมด คือทั้งรูปกายนามกาย รู้กายใจ แล้วก็ระงับการปรุงกาย ทั้งรูปกายทั้งนามกาย โดยที่ทำความรู้กำหนดอยู่ในภายใน แต่รู้ปล่อยรู้วาง ไม่รู้ยึด และไม่ทำความปรารถนาอะไร ให้เป็นความรู้เป็นอุเบกขาอยู่ภายใน ดั่งนี้ จึงจะสำเร็จเป็นอานาปานสติสมาธิได้
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป