แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์ พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
พระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาได้ตรัสสอนไว้ว่า จิตที่ตั้งไว้ผิด ย่อมนำให้เกิดบาปวิบัติ ยิ่งไปกว่าบาปวิบัติภัยอันตราย ที่โจรจะพึงกระทำให้แก่โจร หรือว่าที่คนมีเวรจะกระทำให้แก่คนมีเวร ดั่งนี้ เพราะฉะนั้นการตั้งจิตไว้ผิดจึงมีโทษมาก ส่วนการตั้งจิตไว้ถูกย่อมให้คุณอนันต์ตรงกันข้าม ฉะนั้น เมื่อได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา และได้มีโอกาสศึกษาปฏิบัติพระพุทธศาสนา จึงสมควรที่จะรักษาจิตใจของตน อย่าให้ตั้งไว้ผิด แต่ให้ตั้งไว้ถูกอยู่เป็นนิจ
อันจิตที่ตั้งไว้ผิดนั้นย่อมมีได้ตั้งแต่ผิดน้อยจนถึงผิดมาก การตั้งจิตไว้ผิดน้อยๆก็อาจจะมีอยู่แก่ผู้ที่ยังมีกิเลส ยังละกิเลสไม่ได้ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งยังปฏิบัติให้มีสติให้มีปัญญาที่จะรักษาตน รักษาจิตใจให้เพียงพอมิได้ ฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องอบรมสติพร้อมทั้งปัญญา ให้มีรักษาตนอยู่ให้เพียงพอ โดยตรงก็คือรักษาจิตนี้เองให้เพียงพอ มิให้กิเลสนำไปในทางที่ผิดได้
อันผิดหรือถูกนั้นทุกคนผู้ที่ได้รับการอบรมมาโดยลำดับ จากมารดาบิดา จากครูอาจารย์ จนถึงจากพระพุทธเจ้า ก็ย่อมจะมีความรู้ว่าอะไรผิดอะไรถูกกันอยู่พอสมควร เรียกว่าความรู้นั้นก็มีกันอยู่ แต่ว่าถ้าเป็นสักแต่ว่ารู้เพราะมิได้ปฏิบัติ ดั่งนี้ ความรู้นั้นก็ไม่ให้ประโยชน์อะไรมาก และบางทีความรู้นั้นทำให้บังเกิดทิฏฐิมานะ ไม่ยอมรับคำแนะนำตักเตือนที่ถูกที่ชอบ เพราะมีความดื้อดึงถือรั้นว่าจะทำอย่างนี้แหละใครจะว่ายังไง เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็ไม่ได้รับประโยชน์ ความรู้นั้นกลับเป็นความรู้ที่ทำลายตนเอง ที่ท่านเปรียบเหมือนอย่างว่า ขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่ ขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่ ขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่ ฉะนั้น
เพราะฉะนั้น จึงสมควรที่จะไม่ประมาทความรู้ แต่ว่านำความรู้มาพินิจพิจารณา เอาความรู้ที่มารดาบิดาครูบาอาจารย์พระพุทธเจ้าสั่งสอนมาพิจารณา แต่ไม่เอาความรู้ทางอื่นมาปกปิดไว้เหนือกว่า ไม่นิยมชมชอบความรู้ทางอื่นที่ตรงกันข้าม ดั่งเช่นมารดาบิดาครูอาจารย์พระพุทธเจ้าสั่งสอนให้ มีกตัญญูรู้พระคุณท่านผู้มีคุณ และมีกตเวทีตอบแทนพระคุณของท่าน และก็แสดงสั่งสอนว่าใครเป็นผู้ที่มีคุณบ้าง เช่นบิดามารดาเป็นผู้ที่มีพระคุณเป็นต้น ก็เป็นความรู้ที่ทุกคนได้มาด้วยกัน แต่ว่าก็ยังได้ความรู้ทางอื่นที่ตรงกันข้าม เช่นที่แนะนำให้ไม่ต้องมีกตัญญูต่อมารดาบิดาเป็นต้น หรือว่าแนะนำให้เห็นคุณเป็นโทษ คือให้เห็นว่าสิ่งที่นับถือกันมาสั่งสอนกันมาว่าเป็นคุณ ที่คนนั้นๆกระทำนั้น อันที่จริงเป็นโทษไม่เป็นคุณ นี้เป็นเรื่องของคติธรรมดา เมื่อเป็นดังนี้หากไปรับเข้าก็จะทำให้ไม่นับถือธรรมะคือข้อความกตัญญู ดั่งนี้เป็นต้น แต่ตัวอย่างที่ยกมานี้ยังเป็นข้อที่คนโดยมากยังรับสอน ให้มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ และรู้จักพระคุณตามเป็นจริง
ส่วนยังมีอีกข้อหนึ่งที่คนเป็นอันมากมิได้คิด มิได้กำหนดว่าเป็นคุณหรือเป็นโทษ มิได้กำหนดว่าผิดหรือถูก และก็ยังตั้งจิตไว้ผิดกันอยู่เนืองๆ ก็คืออำนาจของกิเลสที่บังเกิดขึ้นในจิตใจ ในอารมณ์คือเรื่องทั้งหลาย อันเข้ามาทางทวารทั้ง ๖ มีทวารตาเป็นต้น ซึ่งก่อให้เกิดราคะหรือโลภะบ้าง ก่อให้เกิดโทสะบ้าง ก่อให้เกิดโมหะบ้าง และก็นำจิตไปตามทางของราคะหรือโลภะ ไปตามทางของโทสะโมหะ ดังที่ปรากฏอยู่ในจิตใจอยู่เป็นประจำ ดั่งนี้ ก็จะพึงเห็นได้ว่าคนเราแพ้อำนาจกิเลส ได้ถูกกิเลสนำจิตใจไปให้ใคร่ให้โลภอยากได้ ให้โกรธให้หลงในอารมณ์ต่างๆกันอยู่เสมอ ก็เป็นนิวรณ์อยู่ในใจ
ฉะนั้นเมื่อมาปฏิบัติตั้งใจไว้ในอารมณ์ของกรรมฐาน จิตใจจึงมักจะไม่ค่อยอยู่ ถูกนิวรณ์ดึงไปอยู่เนืองๆ ก็แปลว่ามีสติคุมใจไม่เพียงพอ มีปัญญาที่จะพินิจพิจารณาไม่เพียงพอ แต่ทุกคนก็จะต้องมีสติต้องมีปัญญาเป็นพื้นกันอยู่ เพราะฉะนั้น ส่วนใหญ่จึงสามารถควบคุมไว้ในใจได้ หรือว่าแสดงออกทางกายทางวาจา ก็ไม่รุนแรงเท่าไรนัก แต่ที่คุมใจไว้ไม่ได้แสดงออกมากทางกายทางวาจา ก็เป็นการก่อสิ่งที่เรียกกันว่าอาชญากรรมขึ้นมา เป็นเหตุให้ได้รับความทุกข์ด้วยกัน ทั้งฝ่ายผู้ที่ถูกกระทำ คือถูกเบียดเบียน ทั้งฝ่ายผู้ที่เบียดเบียนเอง เป็นความเดือดร้อนที่ปรากฏกันอยู่ทั่วไป อันนำให้ต้องทุกข์ต้องโทษกันต่างๆดังที่ปรากฏ
เหล่านี้ล้วนแต่ตั้งจิตไว้ผิดทั้งนั้น และทีแรกก็ตั้งจิตไว้ผิดน้อยๆ แล้วก็มากขึ้นๆ เพราะไม่ได้ควบคุม ถ้าหากว่าได้ควบคุมอยู่เสมอด้วยสติด้วยปัญญาตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน กำลังของสติกำลังของปัญญานั้นก็จะมากขึ้นๆ กำลังของอารมณ์และกิเลส แม้จะต้องเกิดขึ้นตามธรรมดาของคนมีกิเลส แต่ก็แพ้กำลังของสติของปัญญา ฉะนั้น คนที่มีกำลังสติกำลังปัญญาเพียงพอจึงสามารถที่จะป้องกัน มิให้อารมณ์นำกิเลสเข้ามาสู่จิตใจได้ เพราะว่าอารมณ์ก็ตกอยู่แค่ปากประตูตาประตูหูเป็นต้น ไม่ล่วงล้ำเข้ามาสู่จิตใจ ซึ่งจะเป็นทางให้มารคือกิเลสวิ่งเข้ามากับอารมณ์สู่จิตใจ
แปลว่าไม่ทอดสะพานเข้ามา มารก็เข้ามาไม่ได้ ก็คล้ายๆกับว่ามารนั้นก็คอยจ้องอยู่แถวประตูเท่านั้น เข้าไม่ได้ เพราะไม่มีสะพานที่จะเข้ามา ดั่งนี้ก็เรียกว่าเป็นการที่ปฏิบัติป้องกัน ป้องกันให้อารมณ์สักแต่ว่าเป็นอารมณ์ เห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน ให้เรื่องตกอยู่แค่ประตูตาประตูหูเป็นต้น มารก็มาเยี่ยมอยู่แค่นั้น วิ่งเข้ามาสู่จิตไม่ได้ ดั่งนี้เรียกว่าปฏิบัติป้องกัน ถ้าหากว่ามีสติปัญญาป้องกันได้ ดั่งนี้ก็เป็นอันว่าเป็นการปฏิบัติที่มีระดับดีพอสมควร ถือว่าดีมากพอสมควร ป้องกันไว้ได้
คราวนี้ถ้ากำลังของสติของปัญญาที่ป้องกันนั้นไม่พอ การเห็นสักแต่ว่าเห็น การได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน ทำไม่ได้ เกิดไปเห็นจริงๆ ได้ยินจริงๆ คือรับอารมณ์เข้ามาสู่จิตใจ มารก็วิ่งเข้ามาสู่จิตใจ ก็ปรากฏเป็นราคะบ้าง โลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ดั่งนี้ก็ต้องใช้วิธีแก้คือสติปัญญานี้เองเพ่งพินิจพิจารณา ว่าเป็นสิ่งที่เป็นโทษไม่ใช่เป็นคุณ ให้กำลังของสติของปัญญาเพียงพอ ดับลงไปให้ได้ ข่มลงไปให้ได้ ดั่งนี้เรียกว่าสู้ซึ่งหน้า คือเพ่งพินิจพิจารณาลงไปที่ตัวกิเลสที่บังเกิดขึ้นในใจ ว่าเดี๋ยวนี้ราคะหรือโลภะเกิดขึ้นแล้ว โทสะเกิดขึ้นแล้ว โมหะเกิดขึ้นแล้ว กำลังกลุ้มรุมจิตใจอยู่ ทำจิตใจให้ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายร้อนรุ่ม มีโทษไม่มีคุณ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะรักษาเอาไว้ ไม่ใช่เป็นมิตรแต่ว่าเป็นศัตรู ใช้สติปัญญาเพ่งพินิจไปเรียกว่าสู้ซึ่งหน้า ถ้าหากว่ามีกำลังสติปัญญาเพียงพอก็สู้ได้ สงบได้
อีกอย่างหนึ่งไม่สู้ซึ่งหน้าเลี่ยงไปเสีย คือว่าตั้งใจกำหนดอารมณ์ของกรรมฐานทันที เช่นตั้งจิตกำหนดลมหายใจเข้าออก ปล่อยใจเสียจากอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลสเหล่านั้น ยกตัวอย่างเช่นว่าเมื่อความโกรธเกิดขึ้น เป็นความโกรธในบุคคลผู้นี้ที่เขามาว่าอย่างนั้นอย่างนี้ เขามาทำอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ปล่อยจิตจากความคิดถึงอารมณ์นั้นเสีย คือปล่อยจิตจากความคิดถึงบุคคลนั้น และเรื่องเหล่านั้นเสีย มากำหนดในลมหายใจเข้าออก ให้จิตเข้ามาอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก ใช้ปัญญาประกอบ
เช่น พิจารณากำหนดพุทธคุณว่า พุทโธ ประกอบ ดังที่กล่าวมาแล้ว ถ้าจิตปล่อยอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลสได้ กิเลสก็จะตกไป โทสะก็จะตกไปจะสงบไป จิตมาตั้งอยู่ในอารมณ์ของกรรมฐานแทน ดั่งนี้เรียกว่าเลี่ยงไปเสีย เลี่ยงมาจับอารมณ์อื่น ซึ่งเป็นวิธีที่จะเป็นการผลักอารมณ์ของกิเลสให้ตกไป เมื่อผลักอารมณ์ของกิเลสให้ตกไปได้ กิเลสก็ตกไป จิตก็ตั้งอยู่ในอารมณ์ของกรรมฐานได้ ดั่งนี้ไม่ได้พิจารณาโทษของกิเลส แต่ว่าเลี่ยงมาจับอารมณ์ของกรรมฐานแทน ให้กิเลสตกไปเอง
เงื่อนสำคัญของการปฏิบัติ
เพราะฉะนั้น เงื่อนสำคัญของการปฏิบัติที่จะปฏิบัติได้ หรือไม่ปฏิบัติได้นั้น จึงอยู่ตรงที่จะปล่อยอารมณ์เก่าจับอารมณ์ใหม่ได้หรือไม่เท่านั้น ปล่อยอารมณ์เก่าก็คือปล่อยอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลส เป็นที่ตั้งของนิวรณ์ จับอารมณ์ใหม่ก็คือจับอารมณ์ของกรรมฐาน และการจับอารมณ์ของกรรมฐานนี้ ต้องการสมถะคือสงบหรือสมาธิก่อน อันหมายความว่าเมื่อจิตยังจับอารมณ์ของกิเลส กิเลสก็กลุ้มรุมจิต ดั่งนี้ทำสมาธิก็ไม่ได้ เมื่อทำสมาธิไม่ได้ ทำปัญญาก็ไม่ได้ เพราะว่าจิตยุ่งอยู่กับอารมณ์ของกิเลส กับตัวกิเลส จะอ่านจะฟังธรรมะอะไรก็ไม่รับรู้ทั้งนั้น
เพราะฉะนั้น จึงต้องปฏิบัติให้ปล่อยอารมณ์ของกิเลสได้ เมื่อปล่อยอารมณ์ของกิเลสได้ จึงจะมาตั้งอยู่ในอารมณ์ของกรรมฐานได้ หรือว่าพยายามที่จะมาตั้งอยู่ในอารมณ์ของกรรมฐาน เพื่อปล่อยอารมณ์ของกิเลส... (เริ่ม)...และเมื่อตั้งอยู่ในอารมณ์ของกรรมฐานได้ อารมณ์ของกิเลสก็หลุดไปเอง บุคคลจึงต้องมี การปฏิบัติเหมือนอย่างว่าแย่งจิตมาจากกิเลส ให้มาตั้งอยู่ในกรรมฐาน หรือในธรรมะที่เป็นฝ่ายดีฝ่ายชอบ
ในขณะที่จิตตั้งอยู่ในกิเลส หรือในอารมณ์ของกิเลสนั้น เรียกว่าตั้งไว้ผิด มากก็ผิดน้อยก็ผิด ผิดทั้งนั้น แต่ว่าเมื่อมาตั้งอยู่ในอารมณ์ของกรรมฐานได้ ก็เรียกว่าตั้งจิตไว้ถูก เมื่อตั้งจิตไว้ถูกได้แล้วก็ได้สมาธิ แล้วก็ได้ปัญญาต่อไป แต่ว่าก่อนที่จะได้ปัญญานั้นต้องได้สมาธิก่อน คือจิตต้องสงบก่อน และเมื่อจิตสงบ ตัวสงบนี้แหละเป็นตัวสมถะ และอาการที่สงบนั้นก็เพราะตั้งจิตไว้ถูก นั่นคือตัวสมาธิ คือตั้งจิตไว้ได้ เพราะฉะนั้นสมาธิกับสมถะจึงอยู่ด้วยกัน
เพ่งดูให้เห็นเกิดดับ
และเมื่อตั้งไว้ได้แล้วก็กำหนดพิจารณาได้ เช่นลมหายใจเข้าออกซึ่งเป็นอานาปานสตินั้น นำจิตมาตั้งไว้ในลมหายใจเข้าในลมหายใจออก เป็นการที่ดึงจิตจากอารมณ์ของกิเลส มาตั้งไว้ในลมหายใจเข้าออกให้เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน อาการที่ตั้งนั่นแหละคือตัวสมาธิ และเมื่อตั้งไว้ในอารมณ์ของกรรมฐานแล้วกิเลสก็สงบ นิวรณ์ก็สงบ นั่นแหละคือตัวสมถะ และเมื่อจิตได้ความสงบดั่งนี้แล้ว ก็เพ่งดูลมหายใจเข้าลมหายใจออก ก็จะมองเห็นว่าลมหายใจเข้าลมหายใจออกนั้นเป็นตัวรูป ความรู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออกของจิตนั่นเป็นตัวนาม หายใจเข้าหายใจออกเป็นเกิดเป็นดับ ฉะนั้น เมื่อลมหายใจเข้าลมหายใจออกเป็นตัวชีวิต เป็นตัวปราณ เป็นตัวอัตตา ชีวิตหรือปราณหรืออัตตานี้จึงเกิดดับอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก
สันตติ เครื่องกำบังอนิจจตา
แต่ว่าเพราะยังหายใจเข้าออกต่อเนื่องกันไป ยังไม่หยุดทีเดียว ชีวิตจึงดำรงอยู่ ความที่ต่อเนื่องกันไปนี้เรียกว่า สันตติ คือความต่อเนื่อง ที่ท่านแสดงว่าเป็นเครื่องกำบังอนิจจตาคือความไม่เที่ยง เพราะทำให้เห็นว่าเที่ยง แต่อันที่จริงเมื่อพิจารณาแล้วจึงจะเห็นว่า ที่ความไม่เที่ยงยังไม่ปรากฏชัดนั้น ก็เพราะยังมีสันตติคือความสืบต่อนี้เอง เมื่อใดสันตติคือความสืบต่อนี้ขาด หายใจเข้าไม่หายใจออก หายใจออกไม่หายใจเข้าต่อไป หยุด ชีวิตก็สิ้นเพียงแค่นั้น เป็นความดับในที่สุดที่เรียกว่ามรณะคือความตาย ซึ่งทุกคนก็ต้องประสบทั้งนั้นในที่สุด เมื่อมีการเริ่มหายใจเข้าเริ่มหายใจออก อันเป็นความเกิด ก็จะต้องมีความดับลมหายใจเข้าลมหายใจออก ซึ่งเป็นความดับ ฉะนั้นดูเข้ามาให้ใกล้แล้ว จะเห็นว่าความเกิดความดับนี้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออกนี้เอง และความขาดสันตตินั้นจะมีเมื่อไรก็ไม่มีใครรู้
พิจารณาดั่งนี้ก็เป็นอันว่าเป็นการเริ่มจับลมหายใจเข้าออกทางวิปัสสนา ในขณะที่ปฏิบัติจับลมหายใจเข้าลมหายใจออกเพื่อสมถะคือความสงบ นั่นก็เป็นสมาธิหรือเป็นสมถะ แต่ก็ต้องใช้สมาธิอยู่นั่นแหละ คือตั้งใจอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกนั้น ไม่ปล่อย แต่เมื่อได้สมถะคือความสงบเป็นพื้นฐานแล้ว ก็กำหนดพิจารณาดูให้เห็นความเกิดดับ เมื่อเห็นความเกิดดับก็จะเห็นทุกข์คือตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ เมื่อเห็นทุกข์ก็จะเห็นอนัตตา คือบังคับให้เป็นไปตามปรารถนาไม่ได้ ไม่ใช่เป็นตัวเราของเราอย่างแท้จริง การปฏิบัติในขั้นที่ได้ความสงบ และดูต่อไปให้เห็นความเกิดดับอันเป็นอนิจจะ ให้เห็นทุกข์ ให้เห็นอนัตตาดั่งนี้เป็นวิปัสสนา ก็เป็นการอาศัยลมหายใจเข้าออกนี้เองดำเนินไป
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป