แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์ พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
พระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาได้ตรัสไว้ว่า บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ ชื่อว่ารักษาตนด้วย รักษาผู้อื่นด้วย เพราะฉะนั้นการปฏิบัติสติปัฏฐานทั้ง ๔ จึงชื่อว่าเป็นการปฏิบัติรักษาตน ทั้งรักษาผู้อื่น และได้ตรัสสอนไว้อีกว่าท่านทั้งหลายจงเป็น ผู้มีตนเป็นที่พึ่ง มีธรรมะเป็นที่พึ่ง โดยปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติสติปัฏฐานทั้ง ๔ จึงเป็นกิจอันสำคัญ ที่ทุกคนผู้มุ่งความบริสุทธิ์ มุ่งพ้นทุกข์ จะพึงปฏิบัติ จึงใคร่ที่จะได้กล่าวถึงเรื่องที่พึ่ง และเรื่องรักษาตน อันที่พึ่งนั้นเราทั้งหลายต่างก็ได้ถึงพระรัตนตรัย คือพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะคือที่พึ่ง ดังที่ได้เปล่งวาจาถึงกันอยู่ทุกคราวที่รับศีล และก็ได้สวดกันอยู่ว่า
พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะคือที่พึ่งดั่งนี้ และก็ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสสอนไว้ดังที่ได้ยกขึ้นมาแสดงแล้ว ว่าตรัสสอนให้มีตนเป็นที่พึ่ง ให้มีธรรมะเป็นที่พึ่ง ฉะนั้น จึงเป็นอันว่าตรัสสอนให้เพิ่มตนเป็นที่พึ่งเข้าอีกอย่างหนึ่ง และก็ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้อีกว่า อัตตาหิ อัตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน ดั่งนี้ ฉะนั้นจึงสมควรพิจารณาว่า จะไม่ขัดแย้งกันหรือ
เมื่อพิจารณาแล้วก็จะเห็นได้ด้วยตนเองว่าไม่ขัดแย้งกัน โดยที่พึงทำความเข้าใจในที่พึ่งทั้งปวงนี้ว่าเป็นอย่างไร... (เริ่ม)…จะพึ่งทางไหน พระพุทธเจ้านั้นทรงเป็นสรณะคือที่พึ่งในฐานะที่ทรงแสดงธรรมะสั่งสอน ซึ่งมีอุปมาเหมือนอย่างว่าเป็นผู้ที่ชูประทีปคือแสงสว่างในที่มืด เพื่อให้บุคคลผู้มีดวงตาได้มองเห็นทางที่จะเดิน และธรรมนั้นเป็นที่พึ่งในฐานะที่เป็นทางเดิน หรือเป็นทางที่จะดำเนินที่พระพุทธเจ้าทรงส่องประทีปให้มองเห็น พระสงฆ์นั้นเป็นสรณะคือที่พึ่งในฐานะที่ได้เป็นผู้ที่มีดวงตา และลืมตาขึ้นมองเห็นทาง ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงชูดวงประทีปส่องให้มองเห็น และก็ได้ดำเนินไป ในทางที่พระพุทธเจ้าทรงส่องประทีปให้มองเห็นนั้น บรรลุถึงความสวัสดีแล้ว อันเป็นพยานหลักฐานที่ทำให้มีความอุ่นใจ ว่าทางที่พระพุทธเจ้าทรงส่องประทีปให้มองเห็นนั้น เป็นทางนำไปสู่ความสวัสดีจริง และเป็นทางที่มีผู้ได้เดินไปแล้วจริง บรรลุถึงความสวัสดีจริง เป็นตัวอย่าง ทำให้มีความอุ่นใจ ทำให้เกิดฉันทะในอันที่จะเดิน พระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะคือที่พึ่งในฐานะดังที่กล่าวนี้
ส่วนตนเองเป็นที่พึ่งของตนเองนั้น ก็คือตนเองจะต้องลืมตาขึ้นมองดูทางที่พระพุทธเจ้าได้ทรงส่องประทีปให้มองเห็น และตนเองก็ต้องเดินทางที่พระพุทธเจ้าทรงส่องให้มองเห็นนั้น ไปด้วยตนเอง จึงจะบรรลุถึงความสวัสดีด้วยตนเอง เหล่านี้ต้องพึ่งตัวเองทั้งนั้น ถ้าหากว่าตนเองมีจักษุบอด เพราะความเป็นอันธพาลที่แปลว่าเป็นผู้เขลา เหมือนอย่างตาบอด ก็เป็นอันว่าไม่สามารถจะมองเห็นทางได้ ก็ไม่ได้รับประโยชน์ จากความบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า เพราะความเป็นอันธพาลของตนเอง แต่ว่าถ้าละความเป็นอันธพาลได้ จึงจะสามารถมีจักษุคือดวงตาที่จะมองเห็นทาง และแม้ว่าบุคคลที่ตาดี มีจักษุคือดวงตาที่สามารถจะมองเห็นทางได้ แต่ถ้าหลับตาเสียไม่มอง ก็ไม่สามารถจะเห็นทางที่พระพุทธเจ้าทรงส่องประทีปให้เห็นได้เช่นเดียวกัน ก็เป็นอันว่าไม่ได้รับประโยชน์จากความบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า
ส่วนบุคคลที่มีตาดีและไม่หลับตา ลืมตามองดูทางที่พระพุทธเจ้าทรงส่องให้มองเห็น เห็นทาง และก็ได้เห็นได้รู้ว่าเป็นทางที่มีความสวัสดี มีผู้ที่เดินทางไปแล้วบรรลุถึงความสวัสดีคือพระสงฆ์ เป็นพยานหลักฐาน จึงดำเนินไปตามทางที่พระพุทธเจ้าทรงส่องให้มองเห็นนั้น ดั่งนี้เรียกว่าพึ่งตน และพึ่งพระธรรมด้วย ก็คือดำเนินไปตามทางอันถูกต้องที่พระพุทธเจ้าทรงส่องให้มองเห็น และก็ได้ชื่อว่าพึ่งพระพุทธเจ้าด้วย เพราะว่าได้อาศัยประทีปที่พระพุทธเจ้าทรงส่องให้มองเห็น คือคำสั่งสอนของพระองค์ และได้ชื่อว่าพึ่งพระสงฆ์ด้วย เพราะว่าพระสงฆ์เป็นผู้ที่ได้เดินทางไป บรรลุถึงความสวัสดีแล้ว เท่ากับว่าพระสงฆ์ได้เดินนำหน้าอยู่ในทางอันสวัสดีนั้น ก็เดินไปตามที่พระสงฆ์ได้เดินไปนั้น นั้นเอง
ฉะนั้นจึงต้องพึ่งพระพุทธเจ้า ต้องพึ่งพระธรรม ต้องพึ่งพระสงฆ์ และต้องพึ่งตนเองดังกล่าว ทุกคนจึงจำเป็นจะต้องมีที่พึ่งเหล่านี้ มีพระพุทธเจ้าเป็นสรณะคือที่พึ่ง มีพระธรรมเป็นที่พึ่ง มีพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง และมีตนเองเป็นที่พึ่ง เมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว จึงจะดำเนินไป คือปฏิบัติดำเนินไป ในทางที่พระพุทธเจ้าทรงส่องประทีป คือทรงแสดงสั่งสอน เดินทางไปใน เอกายนมรรค คือทางไปอันเอก ทางไปอันเดียว เพื่อความบริสุทธิ์หมดจดของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อล่วงทุกข์โทมนัส เพื่อล่วงโสกะปริเทวะ เพื่อบรรลุธรรมที่พึงบรรลุ เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน อันเป็นความดับทุกข์
อ เพราะฉะนั้น ที่พึ่งดังกล่าวนี้จึงเป็นที่พึ่งอันสำคัญของผู้ปฏิบัติธรรมทุกคน และเมื่อได้มีที่พึ่งซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสสรุปเข้ามาโดยตรง ซึ่งแปลความว่าให้ท่านทั้งหลายมีตนเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นที่พึ่ง คือปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔ อันเป็น เอกายนมรรค ทางไปอันเอก ย่อมชื่อว่ารักษาตนเองด้วย รักษาผู้อื่นด้วย
อานาปานสติ “พุทโธ”
ได้แสดงสติปัฏฐานในข้ออานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก จะได้แสดงถึงวิธีปฏิบัติของพระอาจารย์ที่สอนกันในภายหลังนี้ โดยที่วิธีหนึ่งก็ให้กำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออกไปกับ พุทโธ พุท หายใจเข้า โธ หายใจออก
ว่าถึงลมหายใจเข้าลมหายใจออกก่อน อันลมหายใจเข้าลมหายใจออกนี้ เรียกว่าลมปราณก็มี เป็นเครื่องหมายของความมีชีวิตของบุคคล และทั้งสัตว์เดรัจฉานทั่วไป เพราะเมื่อหายใจเข้าหายใจออกอยู่ ก็แสดงว่ามีชีวิต และเมื่อมีชีวิตก็มีความดำรงอยู่ เป็นสัตว์บุคคลผู้มีชีวิต จึงได้เรียกสัตว์บุคคลที่มีชีวิตว่า ปาโณ แปลกันว่าสัตว์มีชีวิต หมายถึงได้ทั้งคนทั้งสัตว์เดรัจฉาน และ ปาโณ ที่แปลว่าสัตว์มีชีวิตนี้ ตามศัพท์ก็แปลว่า สัตว์มีปราณ สัตว์มีปราณก็คือว่ามีลมหายใจ ลมหายใจเข้าลมหายใจออกนี้เอง เพราะฉะนั้นจึงได้เรียกและยึดถือสัตว์บุคคลผู้ที่มีลมปราณ คือมีชีวิตอยู่ว่า อัตตา หรืออาตมัน ซึ่งแปลตามศัพท์ว่าผู้หายใจมาแต่ดั้งเดิม ความเป็นสัตว์บุคคลที่ดำรงชีวิตอยู่นี้ ก็เห็นได้ง่ายว่าหายใจเข้าหายใจออกอยู่ จึงได้เรียกว่าอัตตาหรืออาตมัน ตัวตน ซึ่งตามศัพท์แปลว่าผู้หายใจ ผู้หายใจเข้าผู้หายใจออกนั้นเอง และเนื่องด้วยในสัตว์บุคคลผู้ดำรงชีวิตอยู่นี้ ยังมีความรู้สุข รู้ทุกข์ รู้เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ซึ่งเรียกว่าเวทนา อันเป็นอาการของจิตใจ
ฉะนั้น สัตว์บุคคลที่ยังหายใจเข้าหายใจออกอยู่ ก็ย่อมมีเวทนา คือความรู้สุขรู้ทุกข์ หรือรู้เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข และเพราะเหตุที่มีเวทนาอยู่นี้ จึงเรียกว่าอัตตาหรืออาตมัน ซึ่งมีคำแปลอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นผู้กิน เป็นผู้เสวย ก็คือกินสุขกินทุกข์ กินกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข หรือเสวยสุขเสวยทุกข์ เสวยกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข ฉะนั้นจึงมีคำแปลเวทนากันว่า เสวยสุข เสวยทุกข์ หรือเสวยเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ก็มาจากคำว่า อัตตา หรือ อาตมัน ซึ่งมีคำแปลอีกอย่างหนึ่งว่า ผู้กินหรือผู้เสวยนั้นเอง โดยที่มีความสังเกตลึกเข้าไปอีกชั้นหนึ่งถึงอาการทางจิตใจ ว่าในบุคคลทุกๆ คนนี้ เมื่อดูผิวเผินภายนอก ก็เห็นหายใจเข้าหายใจออกกันอยู่เท่านั้น อันเป็นความหมายว่ายังมีชีวิตอยู่ ดำรงอยู่ มีชีวะอยู่ ฉะนั้นจึงได้แปล อัตตาอาตมัน หรือตั้งชื่อว่า อัตตาอาตมัน เอาแค่ความหมายว่าหายใจเท่านั้น
ต่อเมื่อได้มีความสังเกตลึกเข้าไปอีกว่า ไม่ใช่หายใจเท่านั้น ยังรู้จักเป็นสุขเป็นทุกข์ เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข หรือว่ายังมีความรู้จักกินสุขกินทุกข์ หรือกินกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขอยู่ด้วย และที่ว่ากินหรือเสวยนี้ก็ส่องเข้ามาว่า มีความรู้ลึกเข้ามาถึงภาวะทางจิตใจ เพราะฉะนั้นความเป็นอัตตาหรืออาตมันนั้น จึงไม่ใช่เพียงว่าหายใจเข้าหายใจออกได้เท่านั้น ยังรู้จักกินสุขเสวยสุข กินทุกข์เสวยทุกข์ กินเสวยสิ่งที่เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขอีกด้วย นี้เป็นที่มาของศัพท์ว่าอัตตาหรืออาตมัน ที่เราแปลกันว่าตัวตน แต่อย่างไรก็ดี ย่อมส่องความว่าหายใจเข้าหายใจออกนี้ เป็นตัวสำคัญของชีวิต นี้เป็นที่ตั้งไว้ส่วนหนึ่ง
อีกส่วนหนึ่งคือ พุทโธ ซึ่งหมายถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย เมื่อนำคำว่า พุทโธ มาประกอบกับลมหายใจเข้าลมหายใจออก จึงสมควรที่จะเจริญพุทธานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าไปด้วย ในเบื้องต้นจับตั้งแต่คำว่า พุทโธ ที่แปลว่าผู้รู้ผู้ตื่น ผู้สอนให้รู้สอนให้ตื่น หรือปลุกให้ตื่น ผู้เบิกบาน
ฉะนั้นเมื่อหายใจเข้า พุท หายใจออก โธ อันหมายถึงว่ากำหนดจิต ในลมหายใจเข้าพร้อมกับ พุท กำหนดจิตในลมหายใจออกพร้อมกับ โธ ไม่ใช่หมายความว่ากล่าวด้วยวาจา หรือเปล่งเสียงออกมาว่า พุทโธ หมายความว่ากำหนดด้วยใจ กำหนดด้วยใจว่าหายใจเข้าพร้อมกับ พุท กำหนดด้วยใจว่าหายใจออกพร้อมกับ โธ ก็ให้พิจารณาด้วยว่า พุทโธแปลว่าผู้รู้ ผู้ปฏิบัติจึงต้องรู้ ตั้งต้นแต่รู้ว่าหายใจเข้า รู้ว่าหายใจออก ถ้าไม่รู้ว่าหายใจเข้า ไม่รู้ว่าหายใจออก ด้วยส่งใจไปในที่อื่น ถึงแม้ว่าจะปรากฏถ้อยคำว่า พุท อยู่ในใจก็ยังไม่บังเกิดผล ส่งใจไปในที่อื่น ก็ไม่รู้ลมหายใจออก ถึงจะมีกำหนดอยู่ในใจว่า โธ ก็ยังไม่สำเร็จผล
เพราะฉะนั้น แม้จะรู้อันเป็นความตรัสรู้ไม่ได้ ก็ให้ผู้ปฏิบัติรู้ลมหายใจเข้ารู้ลมหายใจออก โดยไม่ส่งใจไปในที่อื่น ให้กำหนดจิตอยู่ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก หายใจเข้า พุท หายใจออก โธ ก็แปลว่าได้รู้ อันเนื่องมาจากพระคุณของพระพุทธเจ้าว่าพุทโธ และก็ต้องเป็นผู้ตื่น อันหมายความว่าต้องไม่ง่วง ไม่ง่วงเหงาหาวนอน มีจิตใจตื่น ตื่นอยู่ด้วยความรู้ หรือรู้ด้วยความตื่น หายใจเข้า พุท หายใจออก โธ ใจตื่น ใจไม่ง่วงเหงา ดั่งนี้จึงจะได้ประโยชน์
และจะต้องเบิกบาน พุทโธ ผู้เบิกบาน เมื่อหายใจเข้า พุท หายใจออก โธ จะต้องทำใจให้เบิกบาน ไม่ให้ใจห่อเหี่ยว ฟุบแฟบ เกียจคร้าน เบื่อหน่าย ระอา เกลียดชังในการที่ต้องมากำหนดปฏิบัติ ต้องทำใจให้เบิกบาน และพุทโธซึ่งแปลว่าผู้เบิกบานนั้น ท่านอธิบายว่าเบิกบานด้วยคุณธรรมทั้งหลายอย่างเต็มที่ เหมือนอย่างดอกบัวบานอย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้น ก็ต้องคอยปฏิบัติชำระจิตใจ อย่าให้นิวรณ์เข้ามาทำให้จิตเศร้าหมอง จิตฟุ้งซ่าน จิตห่อเหี่ยว จิตเบื่อหน่าย จิตระอา จิตเกลียดชังในการปฏิบัติ เหล่านี้ไม่เป็นคุณธรรมทั้งนั้น คุณธรรมจะต้องเป็นความที่มีสติ มีสัมปชัญญะคุมจิตใจ มีฉันทะความพอใจ มีปราโมทย์ความบันเทิงเหล่านี้ จึงจะเป็นความเบิกบาน ฉะนั้น เมื่อหายใจเข้าพุท หายใจออกโธนั้น ต้องให้จิตรู้ ให้จิตตื่น ให้จิตเบิกบาน เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจึงจะได้พุทโธเข้ามาตั้งอยู่ในใจ
และที่ได้ พุทโธเข้ามาตั้งอยู่ในใจนั้น ก็คือได้พระคุณของ พุทโธเข้ามาตั้งอยู่ในใจ คือได้ความรู้ ได้ความตื่น ได้ความเบิกบาน แม้ว่าความรู้ความตื่นความเบิกบานจะไม่ใกล้พระพุทธเจ้า ไม่ต้องว่าเหมือน เอาแค่ว่าไม่ใกล้พระพุทธเจ้า จะยังไกลจากความรู้ความตื่นความเบิกบานของพระพุทธเจ้ามากก็ตาม แต่ว่าก็ยังเป็นอันว่าได้ความรู้ความตื่นความเบิกบาน อยู่ภายในรัศมีแห่งความรู้ความตื่นความเบิกบานของพระพุทธเจ้า ได้สักนิดหนึ่งเหมือนอย่างแค่แสงของหิ่งห้อย ก็ยังดีกว่ามืดมิดไม่ได้อะไรเลย ไม่ได้รู้ ไม่ได้ตื่น ไม่ได้เบิกบาน อะไรเลย… (เริ่ม)…ฉะนั้น เมื่อหายใจเข้า พุท หายใจออก โธ แล้ว ก็ให้ตั้งจิตที่จะน้อมรับรัศมีแห่งพระพุทธคุณของพระพุทธเจ้า รับรัศมีแห่งแสงสว่างแห่งดวงประทีปของพระพุทธเจ้า เข้ามาให้เป็นความรู้ความตื่นความเบิกบาน ตั้งต้นแต่ให้รู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออก
ให้ตื่นในลมหายใจเข้าลมหายใจออก ให้เบิกบานในลมหายใจเข้าลมหายใจออก และกำหนดให้ความรู้ความตื่นความเบิกบานในลมหายใจเข้าลมหายใจออกนี้ มาตั้งอยู่ในภายใน ภายในกายนี้ และให้ตั้งอยู่อย่างสงบ กายใจก็จะสงบเป็นตัวอานาปานสติสมาธิ โดยมีลมหายใจเข้าลมหายใจออก และพระพุทธคุณบทว่า พุทโธเป็นผู้นำ
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป