แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จิตตภาวนาการอบรมจิต หรือกรรมฐาน ทั้งที่เป็นฝ่ายสมาธิหรือสมถะ ทั้งที่เป็นฝ่ายปัญญาหรือวิปัสสนา เป็นข้อที่ทุกๆ คนควรฝึกปฏิบัติโดยมีศีลเป็นภาคพื้น และหลักปฏิบัติที่นิยมปฏิบัติกันอยู่ทั่วไป ก็คือหลักปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔ ที่ได้เริ่มสวดและเริ่มแสดงสำหรับในพรรษากาลนี้ตั้งแต่เมื่อวานนี้
สรณะ
แต่ในเบื้องต้นก็มีวิธีปฏิบัติซึ่งได้นิยมใช้กันอยู่ แต่เมื่อรวมเข้ามาแล้วก็คือความตั้งใจถึง พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะคือที่พึ่งอันเอกอุดม แม้ว่าทุกคนผู้เป็นพุทธศาสนิกนับถือพุทธศาสนา ต่างก็ได้ถึงพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะกันอยู่ แม้เช่นนั้นในเวลาที่จะปฏิบัติทุกคราวก็ให้ตั้งใจถึงอีก ด้วยวิธีน้อมใจถึงพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะคือที่พึ่งอันเอกอุดม จะใช้ภาวนาในใจว่า พุทธังสรณังคัจฉามิ ธัมมังสรณังคัจฉามิ สังฆังสรณังคัจฉามิ ทุติยัมปิ... ตติยัมปิ... ก็เช่นเดียวกัน ดั่งนี้ก็ได้
หรือจะใช้บทว่า นัตถิ เม สรณัง อัญญัง ที่พึ่งอย่างอื่นของข้าพเจ้าไม่มี พุทโธ เม สรณัง วรัง พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า ธัมโม เม สรณัง วรัง พระธรรมเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า สังโฆ เม สรณัง วรัง พระสงฆ์เป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า เอเตนะ สัจจะวัจเชนะ ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ โสตถิ เม โหตุ สัพพทา ขอความสวัสดีจงมีแก่ข้าพเจ้าทุกเมื่อ ดั่งนี้ก็ได้
และบท นัตถิ เม ฯ นี้เป็นอันได้ตั้งใจถึงพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะ คือที่พึ่งอันเอกอุดม อันเอกก็คือเพียงอย่างเดียว อันหมายความว่าสรณะคือที่พึ่งอันประเสริฐ หรืออันอุดมคือสูงสุดนี้มีแต่พระรัตนตรัย คือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เพียงอย่างเดียว ไม่มีที่พึ่งอึ่นที่ประเสริฐสูงสุด เป็นอันทำจิตให้เข้าถึงพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ รวมจิตเข้าหาพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ นี้เป็นข้อที่ควรปฏิบัติเป็นขั้นที่หนึ่ง
ศีลอันสืบเนื่องมาจากสรณะ
ขั้นที่สองต่อไปก็ตั้งใจตรวจดูจิตพร้อมทั้งกายวาจา ที่ได้ตั้งใจถึงพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะดั่งนี้ ย่อมจะพบว่าจิตใจพร้อมทั้งกายและวาจามีความสงบเป็นปกติ เพราะว่าเมื่อเข้าไปสู่วัตถุคือที่ตั้งอันสงบอันเป็นปรกติ อันประเสริฐอันสูงสุด ก็ย่อมจะทำให้กายวาจาใจสงบเป็นปรกติ และยังอาจประกอบด้วยปีติโสมนัสในพระรัตนตรัย คือพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ ก็ให้มีความสำนึกว่าอันนี้แหละเป็นตัวศีลที่บังเกิดสืบเนื่องมาจากสรณะ ก็ให้ตั้งใจรักษาศีลคือความสงบเป็นปรกติกายวาจาใจนี้ไว้
ทุกคนแม้ว่าจะได้สมาทานศีล ๕ ศีล ๘ ก็ตาม หรือเข้าบวชเป็นภิกษุสามเณรก็เป็นอันว่าได้สมาทานศีล ๒๒๗ หรือศีล ๑๐ ก็ตาม แต่ว่าเมื่อปฏิบัติก็ให้ทำศีลทั้งปวงที่สมาทานนั้นมาประมวลเข้าในศีลที่ได้จากสรณะนี้ คือความเป็นปรกติ สงบ หรือสงบเป็นปรกติกายวาจาใจ อันสืบเนื่องมาจากถึงสรณะ เป็นศีลที่ได้จากสรณะนี้ด้วย และรักษาศีลอันเป็นตัวศีลดังกล่าวนี้ไว้
ตัวศีลดังกล่าวนี้ไม่มีว่าห้าข้อสิบข้อ หรือกี่ข้อก็ตาม แต่ว่าเป็นความปรกติสงบ หรือสงบเป็นปรกติกายวาจาใจ เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็ชื่อว่าได้ปฏิบัติเตรียมกายวาจาใจพร้อมที่จะทำสมาธิต่อไป โดยที่ได้ตั้งจิตว่าจะปฏิบัติในสมาธิในกรรมฐานข้อไหน และก็ให้น้อมใจไปถึงกรรมฐานข้อที่จะปฏิบัตินั้น และจะอธิษฐานจิตขออำนาจสรณะที่ถึงคือพระรัตนตรัยได้คุ้มครองรักษาจิตของตน และการปฏิบัติของตนให้ดำเนินไปด้วยดี แล้วก็จับปฏิบัติ
กรรมฐานอันเป็นบุพพภาค
ในการจับปฏิบัตินี้ มีวิธีจับปฏิบัติกรรมฐาน ที่ควรถือเป็นบุพพภาคคือเบื้องต้น เพื่อที่จะอบรมจิตให้สงบกิเลสนิวรณ์ และให้น้อมเข้ามาสู่ตัวความสงบจิต อันเป็นฐานที่ตั้งของสมาธิ ก็ย่อมจะทำได้ กรรมฐานอันเป็นบุพพภาค ก็คือพรหมวิหารธรรม
ตั้งจิตแผ่เมตตา แผ่กรุณา แผ่มุฑิตา แผ่อุเบกขา ไปในสรรพสัตว์ทุกถ้วนหน้า ในทิศเบื้องหน้า ในทิศเบื้องขวา ในทิศเบื้องหลัง ในทิศเบื้องซ้าย ในทิศเบื้องบน ในทิศเบื้องล่าง ในทิศเบื้องขวางโดยรอบ ให้เป็น อัปปมัญญาภาวนา คืออบรมแผ่จิตไปด้วยพรหมวิหารธรรมทั้งสี่นี้ในสรรพสัตว์ ไม่มีประมาณ
เมื่อเป็นดั่งนี้จิตก็จะสงบจาก โทสะ พยาบาท จาก สิเนหา ด้วยอำนาจของเมตตา จากสงบจาก วิเหสา หรือ วิหิงสา คือความคิดเบียดเบียน และ โทมนัส คือความเศร้าโศกเสียใจ ด้วยอำนาจของกรุณา จะสงบจากความ ริษยา และ โสมนัส ความพลอยยินดีตื่นเต้นอยากได้ ด้วยอำนาจของมุฑิตา จะสงบจาก ราคะ ความติดใจยินดี และ ปฏิฆะ ความหงุดหงิดกระทบกระทั่ง กับทั้ง อัญญานุเบกขา ความวางเฉยด้วยความไม่รู้ ด้วยอำนาจของอุเบกขา ฉะนั้น จึงเป็นจิตที่อ่อนควรแก่การงาน คือควรที่จะปฏิบัติอบรมกรรมฐานสืบต่อไป การปฏิบัติทำพรหมวิหารธรรมให้มีขึ้นนี้เป็นกรรมฐานที่ควรปฏิบัติเป็นประจำ ในเบื้องต้นเรียกว่าเป็นกรรมฐานที่เป็นบุพพภาคคือเป็นส่วนภาคเบื้องต้น
และอีกข้อหนึ่งก็คือกายคตาสติ สติที่ไปในกาย (เริ่ม ๑๔/๑ ) หรืออสุภกรรมฐาน พิจารณากายนี้ว่าไม่งดงาม คือกำหนดพิจารณาอาการ ๓๑ หรือ ๓๒ หรือเพียง ๕ ข้อ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ว่าเป็นสิ่งปฏิกูล ไม่สะอาด ไม่งดงาม เมื่อปฏิบัติในกรรมฐานข้อนี้จิตจะสงบจากกิเลสกองราคะ คือความติดใจยินดีต่างๆ ในกายตน ในกายผู้อื่นได้เป็นอย่างดี ก็เป็นบุพพภาคอีกเหมือนกัน คือเป็นข้อที่ควรปฏิบัติเป็นเบื้องต้นทุกวัน จะปฏิบัติในอสุภกรรมฐานหรือ กายคตาสติ นี้ก่อนก็ได้ หรือจะปฏิบัติในพรหมวิหารนั้นก่อนก็ได้ สุดแต่ความสะดวกแก่จิตใจของแต่ละบุคคล และก็ให้ใช้เวลาไม่ต้องนานนัก เพราะว่ามีกำหนดกรรมฐานที่จะพึงปฏิบัติ เป็นการปฏิบัติประจำของตนต่อไป
ข้อปฏิบัติประจำ
สำหรับกรรมฐานที่จะปฏิบัติเป็นประจำของตนต่อไปนั้น ก็หมายความว่าข้อที่จะปฏิบัติให้เกิดความชำนิชำนาญ เพื่อจะได้สมาธิจิตที่เป็น อุปจาร เป็น อัปปนา ยิ่งๆ ขึ้นไป อันนี้ก็สุดแต่ผู้ปฏิบัติจะเลือก จะเลือกเอากรรมฐานที่เป็นบุพพภาคนั้น เช่นพรหมวิหารทั้ง ๔ หรือข้อใดข้อหนึ่ง หรือจะเลือกเอาอสุภกรรมฐาน หรือกายคตาสติคือใช้เป็นบุพพภาคนั้นก็ได้ถ้าชอบใจ หรือหากว่าจะเลือกเอาข้ออื่น เช่น อานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก ที่ตรัสยกขึ้นแสดงไว้เป็นข้อแรกในหมวดกายคตาสติ สติที่ไปในกายในสติปัฏฐานทั้ง ๔ นั้นก็ได้
วิธีปฏิบัติในอานาปานสติ
และก็ควรจะทราบวิธีปฏิบัติในอานาปานสติ หากจะเลือกเอาอานาปานสติ เป็นกรรมฐานประจำ และก็ควรจะทราบอธิบายถึงวิธีปฏิบัติในกรรมฐานข้อนี้ และโดยที่อานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออกนี้ ได้มีผู้ปฏิบัติกันเป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้น จึงได้มีพระอาจารย์แสดงอธิบายวิธีปฏิบัติไว้มาก ตรงกันบ้าง แตกต่างกันบ้าง ฉะนั้น ผู้มุ่งปฏิบัติจึงควรจะทราบพระพุทธาธิบาย คืออธิบายที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้เอง ที่ปรากฏในพระสูตรเป็นหลักสำคัญ และต่อจากนั้นก็ควรจะทราบถึงอธิบายของพระอาจารย์ ที่ท่านได้อธิบายไว้ เพื่อช่วยปฏิบัติให้สะดวกขึ้น แต่ก็ควรจะถือว่า อธิบายของพระอาจารย์ที่อธิบายไว้นั้นเป็นข้อประกอบ ซึ่งผู้ปฏิบัติรู้สึกว่า วิธีไหนของพระอาจารย์ถูกแก่จริตอัธยาศัยของตน ก็ถือเอาได้ แต่ข้อสำคัญนั้นต้องให้ถูกต้องกับหลักที่พระพุทธเจ้าได้ทรงอธิบายไว้
ก็ในหลักที่พระพุทธเจ้าได้ทรงอธิบายไว้นั้น เป็นหลักที่สอนให้ตั้งสติกำหนดในลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เป็นอานาปานสติอันบริสุทธิ์ และตรง ดังที่ได้ตรัสอธิบายไว้ในพระสูตรทั้งหลาย ที่เราทั้งหลายก็ได้ยินได้ฟังกันอยู่เป็นอันมาก ซึ่งกล่าวโดยสรุปว่า เข้าไปสู่ป่า ไปสู่โคนไม้ หรือไปสู่เรือนว่าง นั่งคู้บัลลังก์คือนั่งขัดสะหมาด ตั้งกายตรง ทำสติให้ตั้ง ให้รู้รอบด้าน มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก หายใจเข้าหายใจออกยาวก็รู้ หายใจเข้าหายใจออกสั้นก็รู้ ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่าเราจักรู้กายทั้งหมดหายใจเข้าหายใจออก ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่าเราจักระงับกายสังขารเครื่องปรุงกาย หายใจเข้าหายใจออก ดั่งนี้ นี้เป็นพระพุทธาธิบายโดยตรง และก็ได้มีพระอาจารย์ได้แสดงอธิบาย ในพระพุทธาธิบายนี้ออกไปอีกเพื่อให้มีความเข้าใจ
สำหรับในทางปฏิบัติในเบื้องต้นนั้น แม้ว่าจะยังไม่ต้องไปทำความเข้าใจพระพุทธาธิบายนั้นให้ตลอด แต่ว่าถือเอาที่ได้ทรงสั่งสอนเอาไว้ ว่ามีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก หายใจเข้าออกยาวก็ให้รู้ หายใจเข้าออกสั้นก็ให้รู้ เอาเท่านี้ก่อน โดยที่ได้ตั้งสติคือความระลึกรู้เข้ามา ว่าเราหายใจเข้า เราหายใจออก เท่านั้นก่อน สติที่ระลึกรู้ดั่งนี้ ก็ระลึกรู้เข้ามาที่ตัวเอง
ดังในบัดนี้ทุกคนก็นั่งกันอยู่ในที่นี้ และก็อยู่ในอิริยาบถนั่ง เมื่อยังมิได้มาปฏิบัตินั้น ก็มิได้ระลึกรู้ว่าเรากำลังหายใจเข้า เรากำลังหายใจออก ก็ไปนึกถึงเรื่องอื่น กับทั้งบางทีก็โลภ บางทีก็โกรธ บางทีก็หลง อยู่ในเรื่องนั้นๆ ที่นึกถึงนั้น ก็เลยมิได้นึกถึงลมหายใจเข้าลมหายใจออกของตัว หายใจอยู่ก็เหมือนอย่างไม่หายใจ เพราะมิได้ระลึกรู้ เมื่อมิได้ระลึกรู้ก็ไม่รู้ แม้ว่าจะหายใจเข้าหายใจออกอยู่ก็ตาม เพราะฉะนั้น จึงต้องวางเรื่องอื่นๆ ทั้งหมด วางโลภ วางโกรธ วางหลงไว้ก่อน รวมจิตเข้ามาระลึกรู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออกของตน รวมจิตเข้ามาระลึกรู้ตน ดูตนว่าหายใจเข้าหายใจออกอยู่ อันนี้คือ อนุปัสสนา ดูตาม เพราะว่าตนเองนั้นก็หายใจเข้าหายใจออกอยู่เป็นปรกติแล้ว ตนเองจะมาดูหรือไม่ดูว่าตัวเองหายใจ แต่ว่าตนเองนั้นก็หายใจอยู่นั่นเอง
เพราะฉะนั้น จึงนำจิตกลับเข้ามาดูตัว ดูตนเองที่หายใจอยู่ ให้รู้ว่าหายใจเข้า ให้รู้ว่าหายใจออก รวมจิตเข้ามาดั่งนี้ ยังไม่ต้องไปกำหนดที่ไหนก็ได้ กำหนดรวมๆ เข้ามาที่ตัวเอง ก็จะรู้ได้เองว่าหายใจเข้าหายใจออก และเมื่อจิตรวมเข้ามาดู เพราะฉะนั้น เอาง่ายๆ แค่นี้ก่อน
และเมื่อจิตออกไปก็นำกลับเข้ามาดูอีก เพราะว่าจิตนี้จะออกไปอยู่เสมอ สิ่งที่นำจิตออกไปนั้นก็คือนิวรณ์ เมื่อจิตมีนิวรณ์มากนำกลับเข้ามาก็ไม่ค่อยจะยอมอยู่ จะต้องออกไป ก็นำกลับเข้ามาอีก เพราะฉะนั้นเอาเท่านี้ก่อน คอยนำจิตกลับเข้ามาดู คอยตามดูหายใจเข้าหายใจออกของตัวเองให้รู้ ก็จะได้สมาธิในเบื้องต้นได้
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป