แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ลมหายใจเข้าออกของทุกๆ คนนี้เป็นแหล่งบังเกิดขึ้นแห่งสมาธิและปัญญา ซึ่งพระพุทธเจ้าเองตามที่ปรากฏในพระสูตรก็ได้ทรงจับปฏิบัติกำหนด ตั้งแต่เป็นพระราชกุมารดังได้กล่าวแล้ว และเมื่อจะทรงพบทางอันเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ก็ได้ทรงหวนระลึกถึงสมาธิที่ทรงได้จากการกำหนดลมหายใจเข้าออก ที่เคยทรงได้สมาธิ ด้วยทรงกำหนดในขณะเป็นพระราชกุมารนั้น จึงมาทรงจับกำหนดลมหายใจเข้าออก และก็เป็นอันว่าได้ทรงพบทางที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางกลาง เป็นการเริ่มแรก จึงได้กล่าวว่า เหมือนกับทรงได้พระองค์เองขณะเมื่อเป็นพระราชกุมารน้อยนั้น มาเป็นพระอาจารย์บอกทางปฏิบัติแก่พระองค์ ในขณะที่เสด็จออกทรงผนวชแล้วนั้น เพราะฉะนั้น ในสติปัฏฐานสูตร จึงได้ตรัสแสดงอานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออกไว้เป็นข้อแรก
และก็ได้กล่าวแล้วว่าผู้ปฏิบัติควรจะได้ถือเอาหลักที่ทรงสั่งสอนไว้ด้วยพระองค์เอง ในการทำอานาปานสติเป็นหลักสำคัญ พิจารณาให้เข้าใจในแนวปฏิบัติที่ได้ตรัสสอนไว้ ส่วนแนวปฏิบัติของพระอาจารย์ทั้งหลาย เลือกปฏิบัติมาประกอบเข้า ตามที่เหมาะสมแก่อัธยาศัยของตน
ข้อปฏิบัติที่ตรัสสอน
และแนวที่ได้ตรัสอธิบายไว้เองนั้นก็ได้กล่าวแล้ว แต่ก็ให้ทำความเข้าใจว่า ให้ปฏิบัติตามที่ทรงแนะนำไว้ตั้งแต่ในขั้นต้น ที่ตรัสสอนให้ไปสู่ที่อันสงบสงัด เป็นป่า โคนไม้ หรือเรือนว่าง ซึ่งรวมความเข้ามาก็คือที่อันสงบสงัด และได้กล่าวแล้วว่า แม้ในที่นี้ซึ่งมีผู้มาประชุมกันเป็นจำนวนมาก แต่ว่าก็มุ่งมาปฏิบัติจึงตั้งอยู่ในความสงบก็ชื่อว่าเป็นเรือนว่างได้ เพราะว่าว่างจากความเอะอะ ความไม่สงบทั้งหลาย แม้จะรวมกันอยู่มากก็อยู่ด้วยความสงบไม่มีเรื่องที่จะทำให้ไม่สงบแต่อย่างไร เหมือนอย่างเป็นเรือนว่างเหมือนกันก็ใช้ได้ และก็ใกล้(ใคร่)ที่จะชี้แจงต่อไปอีกว่าแม้ว่าจะหาที่อันสงบสงัดจริงๆ ไม่ได้ (เริ่ม ๑๕/๑)... เช่นในบ้านเรือนของตน แต่แม้เช่นนั้นก็พยายามที่จะทำจิตให้สงบ ไม่ส่งจิตออกไปรับเสียงเป็นต้นในภายนอก แต่รวมจิตเข้ามาในภายใน ไม่สนใจต่อสิ่งที่ทำให้เกิดความไม่สงบทั้งหลาย ซึ่งมีเป็นประจำอยู่ในบ้านเรือนเป็นปรกติ หัดเข้าบ่อยๆ ดั่งนี้ก็จะพอทำได้ขึ้นบ้าง แม้ไม่ดีนักก็ยังดีกว่าที่จะทอดทิ้งเสีย ไม่ทำเสียเลย
และที่ตรัสสอนให้นั่งขัดบัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่น รวมจิตเข้ามากำหนดหายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ แม้ว่าจะนั่งขัดบัลลังก์หรือขัดสะหมาดไม่สะดวก จะนั่งเก้าอี้ก็ใช้ได้ และการตั้งกายตรงไม่พิงนั้น ถ้าทำได้ก็เป็นการดี แต่ถ้าทำไม่ได้ก็พิงได้ แต่ว่าการตั้งสติไว้จำเพาะหน้า คือไม่ส่งสติไปข้างไหนเป็นสิ่งที่ต้องทำ รวมใจเข้ามานั้นเอง เมื่อรวมใจเข้ามาดั่งนี้ ลมหายใจเข้าลมหายใจออก ก็จะปรากฏแก่ความรู้ เพราะว่าจิตนี้เป็นธาตุรู้ จิตอยู่ที่ไหนก็รู้ที่นั่น
เมื่อจิตเกาะอยู่กับอารมณ์ภายนอก ก็รู้อารมณ์ภายนอกนั้น เมื่อจิตปล่อยอารมณ์ภายนอก เข้ามาตั้งอยู่ในลมหายใจเข้าลมหายใจออก ก็ย่อมรู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออกได้ นี้เป็นความรู้ขั้นแรก แล้วก็หัดทำความรู้เพิ่มเติมว่า หายใจเข้าออกยาว หายใจเข้าออกสั้น อันที่จริงยาวหรือสั้นนั้นอยู่ที่ระยะทางของลมหายใจ และระยะทางของลมหายใจนั้น สำหรับในทางปฏิบัติกรรมฐาน ย่อมกำหนดได้ที่ปลายจมูก หรือที่ริมฝีปากเบื้องบน เมื่อลมเข้าก็กระทบที่นี่เมื่อขาเข้า ลมออกก็กระทบที่นี่เมื่อขาออก คราวนี้เมื่อหายใจเข้าลมหายใจเข้านั้นเดินทางไปถึงไหน ตามหลักสรีรวิทยาปัจจุบันนั้น ย่อมไม่อาจกำหนดได้ แต่ว่าอาจกำหนดได้ในอาการเคลื่อนไหวของร่างกาย ที่ปรากฏอยู่ในขณะที่ทุกคนหายใจ ดังหายใจเข้านาภีก็พอง หายใจออกก็ยุบ
กำหนด ๓ จุด
เพราะฉะนั้น จึงมาถึงท่านพระอาจารย์ที่สอนวิธีกำหนด ที่ท่านสอนว่าในขาเข้านั้น ลมหายใจกระทบปลายจมูกหรือริมฝีปากเบื้องบน นับว่าเป็นต้นทาง และนาภีที่พองก็เป็นปลายทางของลมหายใจ ส่วนในขาออกนั้น นาภีที่ยุบก็เป็นต้นทาง ปลายจมูกหรือริมฝีปากเบื้องบนก็เป็นปลายทาง เพราะฉะนั้น พระอาจารย์ท่านจึงสอนให้กำหนดปลายจมูกหรือริมฝีปากเบื้องบนจุดหนึ่ง กับนาภีอีกจุดหนึ่ง เป็น ๒ จุด เป็นต้นทาง เป็นปลายทางของลมหายใจ และก็สอนให้กำหนดที่อุระอีกจุดหนึ่ง สมมติว่าให้เป็นกลางทาง หรือเป็นกึ่งกลางทั้งขาเข้าทั้งขาออก เพื่อให้ตั้งสติกำหนด นี้เป็นข้อที่ท่านอาจารย์สอนไว้ แต่ที่เป็นพระพุทธภาษิตเองไม่ได้ตรัสอธิบายออกไปดั่งนี้ ตรัสไว้แต่เพียงว่า มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก หายใจเข้ายาวก็ให้รู้ว่ายาว หายใจออกยาวก็ให้รู้ว่ายาว หายใจเข้าสั้นก็ให้รู้ว่าสั้น หายใจออกสั้นก็ให้รู้ว่าสั้น ตรัสสอนไว้เพียงเท่านี้ แต่ว่ากำหนดลมหายใจที่ไหน และยาวหรือสั้นนั้นมีระยะทางอย่างไรไม่ได้ตรัสสอนไว้
แต่พระอาจารย์ท่านมาอธิบายสอนให้กำหนดดั่งนี้ แต่ก็พึงเข้าใจว่า เป็นแหล่งสำหรับกำหนดตั้งสติเท่านั้น ส่วนความจริงที่ลมหายใจเข้าไปไหน และออกจากไหน ไม่จำเป็นที่จะต้องไปคิดกำหนดในการปฏิบัติทำสมาธิ เพราะว่ามุ่งผลเพื่อให้จิตเป็นสมาธิ คือเพื่อให้เป็นที่ตั้งของจิต ก็เอาเป็นจุดสมมติเอาบ้าง แต่ว่าจุดจริงนั้นก็คือปลายจมูกหรือริมฝีปากเบื้องบน ที่เมื่อลมเข้าก็ไปกระทบที่นั่นจริง ลมออกก็ไปกระทบที่นั่นจริง และที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้ แม้ว่าจะมิได้ทรงอธิบาย ผู้ปฏิบัติเมื่อกำหนดจิตเข้ามา กำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ให้รู้ตั้งแต่เบื้องต้นรวมๆ ว่าหายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ และเมื่อจิตรวมอยู่ดั่งนี้ หายใจเข้าออกยาวก็รู้เอง หายใจเข้าออกสั้นก็รู้เอง
และในการที่จะรู้เองได้นี้ทุกคนก็ย่อมทราบได้ว่า โดยปรกตินั้นก็จะต้องว่า หายใจเข้าหายใจออกยาวก่อน ในเมื่อการหายใจนั้นเป็นการหายใจสะดวก เราจึงเรียกกันว่าหายใจทั่วท้อง ซึ่งมีอาการท้องที่พองหรือยุบไปตามธรรมดา ก็เป็นหายใจสะดวก หายใจเป็นปรกติ ก็เป็นอันว่ายาวก่อน แต่ว่าแม้การหายใจปรกติ หรือหายใจสะดวกดั่งนี้ จะถือว่ายาวก็ตามก็อาจจะมีบางคนที่มีการหายใจยาวไม่เท่ากัน ความที่ยาวไม่เท่ากันนั้นเมื่อมาเทียบกันเข้า ก็จะต้องว่าสั้นไปกว่าบ้าง หรือยาวไปกว่าบ้าง แต่ว่าไม่จำเป็นที่จะต้องไปคิดเทียบกัน เอาของตนเองนี่แหละ เมื่อหายใจอยู่เป็นปรกติเหมือนอย่างที่มิได้ปฏิบัติ ก็เป็นอันถือว่ายาวเป็นปรกติ หรือใครจะสั้นกว่านั้นก็สั้นกว่าเป็นปรกติ ก็เป็นอันว่ายาว แต่เรียกว่ายาวไม่เท่ากันก็แล้วกัน ดั่งนี้ ก็เมื่อตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออก ก็ให้รู้หนึ่งเข้า หรือออกสอง เข้าหรือออกยาวเป็นปรกติ คือให้รู้การหายใจที่เป็นปรกติของตนเองนี่เอง
คราวนี้เมื่อตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออกอยู่ดั่งนี้ จิตก็จะสงบเข้า กายก็จะสงบเข้า เมื่อจิตและกายสงบลง การหายใจเข้าหายใจออกก็จะสงบเข้า เมื่อสงบเข้าดั่งนี้ ก็ดูเหมือนจะสั้นเข้า ที่ว่าดูเหมือนนั้นก็คืออาการที่หายใจเมื่อตนเองสังเกตที่ตนเอง ก็จะรู้สึกว่าความเคลื่อนไหวของร่างกาย ของอวัยวะที่กระทำการหายใจ ที่ปรากฏแก่ความกำหนด เช่นนาภีที่พองหรือยุบนั้นก็จะน้อยลง เมื่อกายและจิตสงบยิ่งขึ้น อาการของร่างกายที่หายใจก็จะยิ่งน้อยเข้า ผู้ปฏิบัติย่อมจะรู้ได้เองในเมื่อจับปฏิบัติไป
การหายใจอย่างละเอียด
จนถึงอาการที่หายใจของนาภีที่พองหรือยุบนั้นสงบเหมือนอย่างไม่พองไม่ยุบ ลมหายใจคล้ายกับหายใจอยู่ในระหว่างจมูกกับอุระเท่านั้น หายใจเข้าก็ลงไปคล้ายๆ แค่ถึงอุระ ออกก็ออกจากอุระ และเมื่อละเอียดยิ่งขึ้น ก็ยิ่งสงบยิ่งขึ้น เหมือนกับหายใจอยู่แค่ปลายจมูกเท่านั้น และเมื่อสงบยิ่งขึ้น อาการที่รู้สึกเหมือนอย่างหายใจอยู่แค่ปลายจมูกก็จะสงบหายไปอีก เหมือนกับคล้ายไม่หายใจ แต่อันที่จริงนั้นหายใจ แต่ว่าเป็นการหายใจอย่างละเอียด เมื่อร่างกายและจิตละเอียดที่สุด คือสงบมากที่สุด การหายใจก็จะสงบมากที่สุด เหมือนอย่างไม่หายใจ
แต่อันที่จริงนั้นลมหายใจนั้นก็ยังเข้าออกอยู่ แต่อวัยวะที่ทำการหายใจนั้นสงบละเอียด จึงเหมือนอย่างไม่หายใจ เพราะว่า ที่เข้าใจว่าหายใจนั้น เราไม่เห็นลมที่เข้าออก รู้ได้จากการกระทบเท่านั้น คือสิ่งที่มากระทบปลายจมูกหรือริมฝีปากเบื้องบนเมื่อหายใจเข้าเมื่อหายใจออก และอวัยวะของร่างกายที่ทำการหายใจที่เคลื่อนไหวอยู่ ก็กำหนดรู้ได้ดั่งนี้ แต่ลมนั้นมองไม่เห็น และเมื่อร่างกายสงบ สงบที่สุด จิตสงบที่สุด อวัยวะต่างๆ ที่เคลื่อนไหวก็จะสงบ เมื่อเป็นดั่งนี้ลมหายใจที่เข้าออกอยู่ก็ไม่ปรากฏ จึงเข้าใจว่าไม่หายใจ ความจริงนั้นหายใจ การหายใจนั้นไม่ได้อยู่ที่อวัยวะที่ทำการหายใจ แต่อยู่ที่ลมซึ่งเข้าออกได้ ไปเลี้ยงร่างกายได้ เพราะฉะนั้นจึงรู้สึกเหมือนอย่างว่าไม่หายใจ
ในเมื่อจิตสงบ ผู้ทำอานาปานสติย่อมจะรู้สึกดั่งนี้ แต่ว่าการที่จะปฏิบัติถึงขั้นนี้ได้นั้น ก็จะต้องอาศัยความตั้งใจปฏิบัติติดต่อกันไป ให้ทุกวันๆ และเมื่อได้ความสงบมากขึ้นเพียงใด ความสามารถในการที่ปฏิบัติสมาธิ ก็จะทำได้นานยิ่งขึ้นเพียงนั้น โดยที่จะไม่รู้สึกขบเมื่อยที่ร่างกาย ไม่รู้สึกเป็นเหน็บอะไรทั้งหมด จะมีความสบายทั้งกาย มีความสบายทั้งใจ อันเป็นตัวความสุข
อุปการธรรมในการปฏิบัติ
ในการปฏิบัติดั่งนี้พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ ๑ อาตาปี มีความเพียร คือมีความเพียรปฏิบัติ ไม่ทอดทิ้งความเพียร ๒ สัมปชาโน มีสัมปชัญญะคือความรู้ตัว ๓ สติมา มีสติคือความระลึกได้ และ ๔ วินยโลเก อภิชฌา โทมนัสสัง กำจัดความยินดีความยินร้ายต่างๆ ในโลกที่เข้ามา ทั้ง ๔ ประการนี้เป็นหลักที่ผู้ปฏิบัติจะต้องมี ขาดความเพียรเสีย ก็ไม่บังเกิดการกระทำการปฏิบัติขึ้นมา ขาดความรู้ตัวเสีย ขาดสติเสีย ก็ปฏิบัติให้เป็นสติให้เป็นสมาธิขึ้นไม่ได้ และถ้ายังมีความยินดีความยินร้ายอยู่ ก็ทำให้ทำสติ ทำสัมปชัญญะในลมหายใจเข้าออกนี้มิได้
ความยินดียินร้ายในการปฏิบัติ
ความยินดีความยินร้ายนั้น ก็เป็นต้นว่าความยินดีในอารมณ์ภายนอกที่เข้ามา และดึงใจออกไปไม่ให้ตั้งกำหนดอยู่ ความยินร้ายในอารมณ์ภายนอกที่เข้ามา แล้วดึงใจให้ออกไปยินร้ายอยู่ อันนับว่าเป็นพวกนิวรณ์ ทั้งที่เป็นฝ่ายยินดี ทั้งที่เป็นฝ่ายยินร้าย และทั้งที่เป็นฝ่ายหลงต่างๆ หรือว่าแม้ในการปฏิบัติเอง เช่นเมื่อเริ่มปฏิบัติทีแรก ย่อมไม่ได้ความสุขในการปฏิบัติ
จิตก็รวมไม่ได้ ร่างกายเริ่มจะเมื่อยขบ ปวดนั่นปวดนี่ ก็เป็นความยินร้าย เมื่อยินร้ายขึ้นดั่งนี้แล้ว ก็ทำให้ต้องเลิกการปฏิบัติ เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดความยินร้ายขึ้นในการปฏิบัติเพราะเหตุต่างๆ ดั่งนี้ ก็ต้องพยายามระงับเสีย ในเมื่อตั้งใจว่าปฏิบัตินานเท่านั้นเท่านี้ก็ตั้งใจ ก็ทำไป ทนเอาไป โดยมีขันติความอดทนเข้าช่วย เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็จะทำให้การปฏิบัติคืบหน้า คือจิตจะเริ่มสงบ เมื่อจิตเริ่มสงบ กายก็สงบตาม ความทุกข์ต่างๆ ที่เกิดจากการปฏิบัติก็ลดลงไป กลับเป็นความสุข
บางทีเมื่อได้ความสุขในการปฏิบัติก็เลยติดสุข ทำกันเรื่อยจนไม่ยอมที่จะหยุด จะพักจะเลิกในเวลาที่ควรหยุดควรพักควรเลิก ดั่งนี้ก็ไม่ได้อีกเหมือนกัน ต้องระงับความยินดีที่จะเป็นเหตุให้เกิดการปฏิบัติเกินไปดั่งนี้เสีย เพราะว่าบุคคลผู้ปฏิบัตินั้นย่อมมีขอบเขตของการปฏิบัติ ถ้าเป็นบรรพชิตก็ย่อมสามารถปฏิบัติได้มาก แต่ถ้าเป็นฆราวาสคฤหัสถ์จะต้องมีขอบเขต ของการปฏิบัติให้พอเหมาะพอสมอีกด้วย เพราะมีกิจการที่จะต้องประกอบกระทำ หรือแม้บรรพชิตเองที่มีกิจการที่ต้องประกอบกระทำ ต้องเล่าเรียนศึกษา ก็จะต้องไม่ให้เสียกิจการที่พึงประกอบกระทำนั้นๆ เพราะฉะนั้นก็ต้องมีความรู้ประมาณ
ยินร้ายในการปฏิบัติก็เลิกเสียเลย ยินดีในการปฏิบัติก็ทำกันเรื่อย เกินขอบเขตไปดั่งนี้ก็ใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องละความยินดีความยินร้าย มาปฏิบัติให้พอเหมาะพอดี หลักปฏิบัติ ๔ ประการนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ปฏิบัติจะต้องมี และเมื่อมีแล้ว ก็จะเจริญในการปฏิบัติยิ่งๆ ขึ้นไป และไม่มีโทษ มีแต่คุณโดยส่วนเดียว
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป