แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
(เริ่ม ๑๓/๑ ) บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
วันนี้เป็นวันเริ่มต้นการปฏิบัติทำจิตตภาวนาในพรรษากาลนี้ และก็เป็นวันเริ่มต้นที่จะมีการสวดมหาสติปัฏฐานสูตรตั้งต้นขึ้นใหม่เป็นประจำทุกปี และในเทศกาลเข้าพรรษานี้ทุกๆ ปีก็ได้มีผู้มีศรัทธาเข้ามาอุปสมบทเป็นภิกษุ ศึกษาปฏิบัติพระพุทธศาสนากันเป็นจำนวนมากในวัดทั้งหลายทั่วไป และท่านสาธุชนทั้งหลายก็ได้ตั้งใจปฏิบัติธรรมะกันเป็นพิเศษ เช่นตั้งใจสมาทานศีล ๕ ศีล ๘ หรือตั้งใจงดเว้นอบายมุขข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ ตลอดจนถึงตั้งใจปฏิบัติจิตตภาวนาเป็นพิเศษก็มีเป็นจำนวนมาก ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่าฤดูเข้าพรรษาเป็นเทศกาลปฏิบัติธรรมะกันเป็นพิเศษ ความเจริญแห่งธรรมปฏิบัติงอกงาม เหมือนอย่างต้นไม้ทั้งหลายที่ได้รับน้ำฝนในฤดูฝน คือฤดูเข้าพรรษานี้ แตกกิ่งใบเขียวสดกันทั่วไป ฉะนั้น จึงขออนุโมทนาในกุศลเจตนา และในกุศลสมาทานของทุกๆ ท่าน
จิตตภาวนา ๒ กรรมฐาน ๒
ในที่นี้เป็นสถานที่อบรมจิตตภาวนา หรืออบรมกรรมฐาน ทั้งสองคำนี้มีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน จิตตภาวนาแปลว่าการอบรมจิตให้ได้สมาธิ และได้ปัญญาในธรรม ส่วนกรรมฐานนั้นก็แปลว่าตั้งการงาน คือตั้งการปฏิบัติให้ได้สมาธิ ให้ได้ปัญญาเช่นเดียวกัน จึงแบ่งกรรมฐานเป็น ๒ ได้แก่สมถะกรรมฐาน ตั้งการงาน คือปฏิบัติทำจิตให้สงบด้วยวิธีปฏิบัติทางสมาธิ
คำว่าสมถะแปลว่าสงบ คำว่าสมาธิแปลว่าตั้งมั่นในทางที่ชอบ มีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน สมาธิคือตั้งจิตในทางที่ชอบ ก็คือตั้งจิตไว้ในอารมณ์ของกรรมฐาน เพื่อสงบระงับนิวรณ์ จิตจึงสงบจากนิวรณ์ วิปัสสนากรรมฐาน กรรมฐานคือทำให้ได้ปัญญาเห็นแจ้งรู้จริง ก็เป็นตัวปัญญาคือความรู้เข้าถึงธรรมนั้นเอง กรรมฐานจึงมี ๒ สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน
จิตตภาวนาก็มี ๒ เช่นเดียวกัน ก็คืออบรมจิตให้สงบตั้งมั่น ก็เป็นสมถะเป็นสมาธินั้นเอง อบรมจิตให้ได้ปัญญาเห็นแจ้งรู้จริงในธรรม ก็เป็นตัวปัญญานั้นเอง ปฏิบัติทำจิตตภาวนา หรือปฏิบัติทำกรรมฐานจึงเป็นอย่างเดียวกัน และบางทีก็มักจะชอบเรียกกันว่าทำวิปัสสนา บางทีก็ชอบเรียกกันว่าทำสมาธิ ก็ต้องปฏิบัติกันทั้งสองอย่างนั้นแหละ คือทั้งทำสมาธิและทำวิปัสสนา
คันถธุระ วิปัสสนาธุระ
แต่ว่าบางทีมักจะเรียกกันว่าทำวิปัสสนานั้น ก็โดยที่ได้มีแสดงธุระ คือข้อที่จะพึงปฏิบัติไว้ ๒ อย่าง คือ คันถธุระ และ วิปัสสนาธุระ (๑) คันถธุระ ธุระคือการเรียนพระคัมภีร์ อันได้แก่การเล่าเรียนศึกษาพระพุทธศาสนา ดังที่มีการเล่าเรียนตามหลักสูตรของนักธรรมบาลี หรือแม้ว่าการมาฟังธรรมบรรยายนี้ ก็ชื่อว่าเป็นคันถ-ธุระคือการเล่าเรียนพระคัมภีร์เช่นเดียวกัน เพราะว่าการแสดงธรรมบรรยายก็แสดงไปตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่เดิมผู้ฟังจำกันมา และต่อมาก็จารึกลงเป็นตัวอักษรในใบลานเป็นต้น ตลอดจนถึงมาพิมพ์เป็นเล่มหนังสือดังที่ได้ใช้อ่านเล่าเรียนกันอยู่ แต่แม้เช่นนั้นก็จะต้องมีอาจารย์เป็นผู้บรรยายแสดงอธิบายประกอบอีกด้วย การเล่าเรียนจึงใช้ตาใช้หู เดิมก็ใช้หูเป็นส่วนใหญ่ ในบัดนี้ก็ใช้ทั้งหูทั้งตา หูฟังตาอ่าน ก็เป็นคันถธุระ ธุระคือการเรียนพระคัมภีร์
สมาธิเป็นบาทของปัญญา
(๒) วิปัสสนาธุระ นั้นก็คือการปฏิบัติทำจิตตภาวนา หรือทำกรรมฐานนั้นเอง ซึ่งก็มีทั้งฝ่ายสมถะทั้งฝ่ายวิปัสสนา ทั้งฝ่ายสมาธิทั้งฝ่ายปัญญา แต่ว่ายกเอาวิปัสสนาเป็นประธาน เพราะว่า วิปัสสนาปัญญาเท่านั้นจึงจะกำจัดกิเลสได้เด็ดขาด เป็นเหตุละกิเลสได้เป็นอย่างดี ลำพังสมาธิหรือสมถะนั้น ถ้าไม่มีปัญญาก็ยังละกิเลสไม่ได้เด็ดขาด แต่แม้เช่นนั้นจะได้ปัญญาก็จะต้องมีสมาธิเป็นบาท คือเป็นเท้าให้บรรลุถึงความสำเร็จ เหมือนอย่างที่คนจะไปไหนก็ต้องมีเท้าสำหรับที่จะเดินไปให้ถึง สมาธิก็เป็นบาทอันจะนำให้เกิดปัญญา และเมื่อเกิดปัญญาจึงจะเห็นธรรม ปัญญาที่เห็นธรรมนี้เองเป็นตัวปัญญาที่เป็นส่วนผล หรือเป็นตัวญาณคือความหยั่งรู้ อันเกิดมาจากการปฏิบัติทางวิปัสสนา โดยที่จะต้องมีสมาธิเป็นบาท
ฉะนั้น เมื่อกล่าวโดยย่อจึงยกเอาแต่วิปัสสนาเพียงอย่างเดียว เรียกว่า วิปัสสนาธุระ ซึ่งก็จะต้องประกอบด้วย สมถะธุระ รวมอยู่ด้วย
ศีลเป็นที่ตั้งของกุศลธรรมทั้งหลาย
อนึ่ง ตามที่กล่าวมานี้มิได้กล่าวถึงศีล อาจจะทำให้มีความเข้าใจว่าศีลเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น ศีลไม่สำคัญ แต่ว่าอันที่จริงนั้นจะต้องมีศีลประกอบอยู่ด้วย ศีลได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเปรียบไว้ว่า เหมือนอย่างพื้นดินสำหรับเป็นที่ยืน เดิน นั่ง นอน หรือเป็นที่สถิตย์เป็นที่ตั้งของทุกๆ อย่าง ตามข้อเปรียบเทียบนี้จะเห็นได้ว่าศีลสำคัญ ถ้าไม่มีศีลก็ไม่มีพื้นสำหรับที่จะตั้งขึ้นยืนขึ้น ของกุศลธรรมทั้งหลาย รวมทั้งสมาธิและปัญญา หรือสมถะวิปัสสนา อันรวมเรียกว่าจิตตภาวนาหรือกรรมฐานดังที่กล่าวนั้น ต่อเมื่อมีศีล กุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวงจึงจะเกิดขึ้นต่อไปได้
เพราะฉะนั้นในไตรสิกขาจึงได้แสดงศีลไว้เป็นอันดับที่หนึ่ง คือ สีลสิกขา ต่อขึ้นไปก็เป็น จิตตสิกขา อันหมายถึงสมาธิ และต่อขึ้นไปก็เป็น ปัญญาสิกขา ฉะนั้นหลักปฏิบัติในพุทธศาสนาจึงรวมเข้าในสิกขา ๓ นี้ หรือว่าเรียกอย่างสามัญว่า ศีล สมาธิ ปัญญา
สิกขา
อันคำว่า สิกขา นั้นเป็นภาษาบาลี ตรงกับคำว่าศึกษาที่ไทยเรานำมาใช้จากคำสันสกฤตว่า ศิกษา มาเป็น ศึกษา ภาษาบาลีซึ่งเป็นภาษาจารึกพระพุทธวัจนะใช้คำว่าสิกขา ซึ่งเป็นคำเดียวกัน ซึ่งมีความหมายตั้งแต่การเรียนให้รู้ อันเป็นการเล่าเรียนหรือเรียกว่าปริยัติ ตลอดจนถึงปฏิบัติ ทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น คือความที่ตั้งใจสำเหนียกฟังอ่านทรงจำ พิจารณาให้เข้าใจ อันเป็นการเล่าเรียน แล้วก็นำมาปฏิบัติทางกายทางวาจาทางใจ ทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น รวมทั้งเรียนทั้งปฏิบัติเป็นศึกษาหรือสิกขา ฉะนั้นกิจที่จะพึงทำในพุทธศาสนานั้น จึงต้องศึกษาในศีล เรียนให้รู้จักศีล และปฏิบัติศีลให้มีขึ้น ดังที่ได้สมาทานศีล ๕ ศีล ๘ หรือได้เข้ามาอุปสมบทเป็นภิกษุ หรือเพียงบรรพชาเป็นสามเณร ก็มีวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้จะพึงปฏิบัติ ถ้าเป็นศีลห้าศีลแปด ก็ ๕ ข้อ ๘ ข้อ ถ้าเป็นภิกษุสามเณรก็มากขึ้นตามที่ทรงบัญญัติไว้ เป็น ๑๐ ข้อ เป็น ๒๒๗ ข้อ เป็นต้น การที่มาตั้งใจปฏิบัติวินัยทั้งคฤหัสถ์ทั้งบรรพชิตดังนี้ เรียกว่าเป็นศีล เพราะทำให้กายวาจาใจสงบเป็นปกติ
ศีลในขั้นต้นนั้นก็ปรากฏทางกายทางวาจา ซึ่งเว้นได้จากข้อที่พระพุทธเจ้าทรงห้าม และกระทำตามข้อที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต ปรากฏทางกายทางวาจา แต่ว่าศีลที่บริสุทธิ์จะต้องถึงจิตใจ คือจิตใจต้องเป็นศีล จิตใจต้องมีความปรกติ มีความสงบ อันเริ่มมาจากการตั้งใจงดเว้นตามพระวินัยบัญญัติ ตั้งใจปฏิบัติตามพระวินัยบัญญัติ แต่ว่าความตั้งใจนี้มีเปลี่ยนแปลงได้ ในขณะที่มีกำลังของศรัทธาปัญญาเป็นต้น แรง ความตั้งใจก็แน่วแน่ ทำให้การปฏิบัติทางกายทางวาจาก็ถูกต้อง แต่ว่าเมื่อกำลังของศรัทธาปัญญาอ่อน ความตั้งใจก็รวนเร เมื่อความตั้งใจรวนเร ก็ทำให้การปฏิบัติทางกายทางวาจารวนเร ทำให้เกิดการปฏิบัติผิดพลาดต่างๆ เป็นการละเมิดศีลมากหรือน้อย
เพราะฉะนั้น จิตใจนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ และจิตใจนี้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย รักษายากห้ามยาก ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายนั้น ก็คือดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายไปในอารมณ์ คือเรื่องทั้งหลาย ที่ประสบพบผ่านทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางมนะคือใจเองอยู่ตลอดเวลา อารมณ์คือเรื่องทั้งหลายที่ประสบพบผ่านเข้ามาสู่จิตใจนี้ บางอย่างก็เป็นที่ตั้งของราคะ คือความติดใจยินดี บางอย่างก็เป็นที่ตั้งของโทสะ ความโกรธแค้นขัดเคือง บางอย่างก็เป็นที่ตั้งของโมหะ คือความหลง เพราะฉะนั้นเมื่อมีสติซึ่งเป็นเครื่องรักษาใจ อ่อน อารมณ์เหล่านี้มีกำลังแรง ก็เข้ามาครอบงำจิตใจ ทำให้เกิดราคะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง เมื่อเป็นดั่งนี้หากระงับใจไว้ไม่อยู่ ก็ทำให้ละเมิดออกไปทางกายทางวาจา เป็นการผิดศีลน้อยบ้างมากบ้าง ศีลก็ไม่บริสุทธิ์
สติ จิตตภาวนาข้อแรก
ฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิบัติอบรมจิต อันเรียกว่าจิตตภาวนาข้อแรก เป็นการปลูกสติให้บังเกิดขึ้นแก่จิตใจ ตั้งต้นแต่การที่หัดทำสติ สำหรับรับอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ คือเมื่อได้รับอารมณ์อะไร ก็ทำสติความระลึกได้ รักษาใจอยู่เสมอ ว่าอารมณ์ที่กำลังรับนี้ จะยั่วให้เกิดราคะบ้าง ยั่วให้เกิดโทสะบ้าง ยั่วให้เกิดโมหะบ้าง ระวังมิให้รับอารมณ์เหล่านั้นเข้ามาปรุงใจ มีสติคอยเตือนใจ รักษาใจ (เริ่ม ๑๓/๒) ท่านจึงเปรียบเหมือนอย่างว่ามีนายทวารบาลคือนายประตู รักษาประตูทั้ง ๖ ในบ้านนี้ คือในร่างกายของตน มีสติรักษาตาในขณะที่เห็นอะไรทางตา รักษาหูในขณะที่ได้ยินอะไรทางหู รักษาจมูก รักษาลิ้น รักษากาย ในขณะที่ทราบอะไรทางจมูกทางลิ้นทางกาย และรักษามโนคือใจเองในขณะที่คิดเรื่องอะไร รับเรื่องอะไร มีสติคอยเตือนใจอยู่ รักษาใจอยู่ ไม่ให้อารมณ์กับจิตมาต่อเชื่อมกัน อันนำให้บังเกิดราคะ โทสะ โมหะ อันเป็นตัวกิเลส
ด้วยสติที่ระลึกรู้อยู่ว่านี่เป็นอารมณ์ที่เป็นที่ตั้งของกิเลส นี่อารมณ์กำลังจะมาเชื่อมกับจิต ทำจิตให้เป็นกิเลสขึ้นแล้ว และห้ามมิให้จิตรับเอาอารมณ์เหล่านั้นเข้ามาปรุงจิต มีสติคอยรักษาอยู่ ก็เป็นโอกาสของปัญญาคือตัวความรู้ ที่จะมาช่วยตักเตือนใจร่วมกับสติ ว่านี่ดี นี่ไม่ดี นี่ควรรับ นี่ไม่ควรรับ อะไรที่ไม่ดีไม่ควรรับก็ไม่รับเข้ามา ให้ทิ้งอยู่แค่ตาแค่หูแค่จมูกแค่ลิ้นแค่กายและแค่ใจ ที่รู้เรื่องทีแรกนั้น แต่ไม่รับเข้ามาปรุงใจ ดั่งนี้เป็นตัวสติ
อินทรียสังวร
หัดทำสติให้มีประจำใจรักษาใจ คอยระลึกรู้คอยเตือนใจอยู่เสมอดั่งนี้ นี่แหละเรียกตัว อินทรียสังวร คือความสำรวมอินทรีย์ อินทรีย์แปลว่าสิ่งที่เป็นใหญ่ ในที่นี้หมายถึงตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจ เพราะว่าตาเป็นใหญ่ในการเห็นรูป หูเป็นใหญ่ในการฟังเสียง ลิ้นเป็นใหญ่ในการลิ้มรส จมูกเป็นใหญ่ในการดมกลิ่น ลิ้นเป็นใหญ่ในการลิ้มรส กายเป็นใหญ่ในการถูกต้อง และมโนเป็นใหญ่ในการรู้เรื่องคิดเรื่อง
และนอกจากนี้หากไม่มีสติคอยรักษาอยู่ดังกล่าว ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมนะคือใจ ยังมาเป็นใหญ่ครอบงำจิตใจอีกด้วย ทำให้จิตใจนี้ต้องปฏิบัติไปตามอำนาจของกิเลส เช่นว่าอยากดูอะไรทางตา ก็ต้องไปดู อยากได้ยินอะไรทางหูก็ต้องไปให้ได้ยินได้ฟังเหล่านี้เป็นต้น ก็ยิ่งเป็นใหญ่ครอบงำจิต คนเราจึงต้องปฏิบัติเอาอกเอาใจตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจอยู่ตลอดเวลา ก็ล้วนแต่หาเรื่องต่างๆ มาป้อนให้ตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจทั้งนั้น และเมื่อดูลึกซึ้งเข้าไปอีกแล้ว ก็คือป้อนให้แก่ตัวกิเลสนี้เอง ซึ่งตั้งอยู่ในจิตใจ เพราะเหตุที่รับอารมณ์ทั้งหลายทางตาหูเป็นต้นนั้นเข้ามาปรุงจิตใจให้เป็นกิเลส แล้วก็ต้องไปปฏิบัติเอาอกเอาใจกิเลส มาป้อนกิเลส ตามที่กิเลสต้องการ ให้มีสติพร้อมทั้งปัญญารับรู้ดั่งนี้อยู่เสมอ ในเวลาที่เห็นอะไรได้ยินอะไรทุกอย่างก็เป็นอินทรียสังวร ซึ่งเป็นศีลที่อยู่ในระหว่างของตัวศีลภายนอกเองกับศีลที่เป็นตัวศีลภายใน ตลอดจนถึงสมาธิ
และนอกจากนี้ก็ต้องตั้งสติไว้ในทางที่ดีที่ชอบ อันเรียกว่าสัมมาสติ ในมหาสติปัฏฐานสูตร หรือในสติปัฏฐานที่ตรัสสอนให้ตั้งสติทำสติให้ปรากฏ ตรัสสอนให้หัดทำสติตั้งอยู่ ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ๔ ประการเป็นหัวข้อใหญ่ และได้ตรัสสอนจำแนกออกไป ในข้อกายนั้นก็ตั้งต้นแต่ให้กำหนดลมหายใจเข้าออก
จิตที่เคยคิดไปในเรื่องต่างๆ ภายนอกต่างๆ นั้น ก็ให้นำกลับเข้ามาหัดคิดกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกของตนเอง กล่าวสั้นๆ ในวันนี้ว่า หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ ตั้งต้นแต่ตรัสสอนให้เข้าไปสู่ป่า เข้าไปสู่โคนไม้ เข้าไปสู่เรือนว่าง คือเข้าไปสู่ที่สงบ ดั่งในที่นี้แม้จะอยู่ด้วยกันมาก ก็กล่าวได้ว่าเป็นเรือนว่างได้ เพราะว่าต่างคนต่างตั้งอยู่ในความสงบ ไม่แสดงความไม่สงบทางกายทางวาจา เพราะฉะนั้นก็ชื่อว่าเรือนว่างได้ คือเข้าไปสู่ที่สงบนั้นเอง
และตรัสสอนให้นั่งขัดบัลลังก์คือขัดสมาธิหรือขัดสะหมาด ที่นิยมปฏิบัติกันก็ใช้ขัดสะหมาด เท้าขวาทับเท้าซ้าย และตั้งกายตรง มือทั้งสองวางให้นิ้วหัวแม่มือชนกัน มือขวาทับ มือซ้าย หรือจะวางให้นิ้ว เพียงให้นิ้วชนกันก็ได้ หรือจะวางให้ห่างกันก็ได้ ไม่ได้มีกำหนดไว้ ดำรงสติจำเพาะหน้า กำหนดเข้ามาที่ลมหายใจเข้าออก ที่ปลายจมูกหรือที่ริมฝีปากเบื้องบนอันเป็นจุดที่ลมกระทบ หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้
และหากว่าจะใช้วิธีนับ หายใจเข้านับหนึ่ง หายใจออกนับหนึ่ง เรื่อยไปจนถึงสิบแล้วก็ตั้งต้นใหม่ดั่งนี้ก็ได้ หรือจะไม่ใช้วิธีนับ ใช้วิธีพุทโธ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ก็ได้ เป็นการช่วยทำให้จิตรวมเข้ามาตั้งอยู่ได้ เพราะฉะนั้นในวันแรกนี้จะหัดทำสติเพียงเท่านี้ก่อนก็ได้
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป