แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงความแห่งทางปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงโมกขะ คือความพ้น อันหมายถึงพ้นกิเลสพ้นทุกข์ อันเริ่มด้วยปฏิบัติในปาริสุทธิศีลทั้ง ๔ อันได้แก่ความสำรวมในพระปาติโมกข์ ความสำรวมอินทรีย์คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมนะคือ ใจ ความบริสุทธิ์แห่งการเลี้ยงชีพ กับการพิจารณาปัจจัยทั้ง ๔ คือ ผ้านุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัยหรือการนั่งการนอน และยาแก้ไข้ ให้บริโภคเพื่อประโยชน์ที่ต้องการบำรุงเลี้ยงร่างกาย มิใช่เพื่อเพิ่มพูนกิเลสตัณหา เพื่อปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอันเรียกว่าพรหมจรรย์
และเมื่อได้ปฏิบัติในศีลเป็นภาคพื้น ก็ปฏิบัติในอารักขกรรมฐาน คือกรรมฐานที่ควรรักษาไว้ให้มีประจำอยู่ในจิตใจเนืองนิจ คือ พุทธานุสสติ ระลึกถึงพระพุทธเจ้า เมตตา แผ่เมตตาปรารถนาให้เป็นสุข อสุภะ พิจารณากายนี้ว่าไม่งดงาม และ มรณสติ ระลึกถึงความตาย เมื่อจิตใจได้อารักขกรรมฐานนี้รักษา ย่อมเป็นจิตใจที่สงบตั้งมั่นอยู่เป็นอย่างดี ต่อจากนี้จึงควรปฏิบัติกระทำวิปัสสนาคืออบรมปัญญาให้เห็นแจ้งรู้จริงสืบต่อไป
วิปัสสนา
การอบรมปัญญาให้รู้แจ้งเห็นจริงนั้น เริ่มแต่กำหนดดูเข้ามาในตนเอง ให้รู้จักขันธ์ ๕ คือกองทั้ง ๕ อันได้แก่ รูปขันธ์ กองรูป คือรูปกายอันนี้ อันประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔ เวทนาขันธ์ กองเวทนาคือความรู้สุขรู้ทุกข์ รู้ไม่ทุกข์ไม่สุข ทั้งทางกายทั้งทางใจ สัญญาขันธ์ กองสัญญาคือความจำได้หมายรู้ เช่น จำรูปจำเสียงจำกลิ่นจำรสจำโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง และจำเรื่องราวทางใจ สังขารขันธ์ กองสังขารคือความคิดปรุงหรือความปรุงคิด ถึงเรื่องรูปบ้างเสียงบ้างกลิ่นบ้างรสบ้างโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้องบ้าง เรื่องทางใจต่างๆบ้าง ปรุงดีบ้าง ปรุงไม่ดีบ้าง ปรุงเป็นกลางๆบ้าง วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณคือความรู้อันปรากฏเป็นความเห็นรูปความได้ยินเสียง ความทราบกลิ่นรสโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง และความรู้เรื่องราวทางมนะคือใจต่างๆ รวมเข้าเป็นขันธ์ ๕ ซึ่งทุกๆ คนมีอยู่ และขันธ์ ๕ นี้ย่อลงก็เป็นรูปเป็นนาม รูปขันธ์ก็เป็นรูป นามขันธ์ก็คือเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ กำหนดดูให้รู้จักขันธ์ ๕ อันย่อลงเป็นนามรูปที่ตนเอง
อุปาทานขันธ์
และขันธ์ ๕ นี้พระบรมศาสดาตรัสเรียกว่า อุปาทานขันธ์ ขันธ์คือกองอันเป็นที่ยึดถือว่านี่เป็นของเรา เราเป็นสิ่งนี้ สิ่งนี้เป็นอัตตาตัวตนของเรา ย่อลงก็คือเป็นเราเป็นของเรา หรือว่าเป็นอัตตาตัวตนนั่นเอง สามัญชนทุกคนก็ย่อมยึดถือขันธ์ ๕ นี้ หรือที่ย่อลงเป็นนามรูปว่าเป็นอัตตาตัวตน เป็นเรา เป็นของเรา
สังขาร
แต่ว่าขันธ์ทั้ง ๕ นี้ รวมเข้าก็เรียกว่าเป็น สังขาร คือเป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง ซึ่งประกอบด้วยลักษณะของสิ่งผสมปรุงแต่ง คือมีความเกิดขึ้นปรากฏ มีความเสื่อมสิ้นไปปรากฏ เมื่อยังตั้งอยู่ก็มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นปรากฏ เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสสอนให้พิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความแก่เจ็บตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นไปได้ ที่เรียกว่าเราๆนี้ก็เป็นสมมติสัจจะที่ตรัสเรียกสัตว์บุคคลทั้งปวง ตามที่ยึดถือกันว่าตัวเราของเรานี่แหละ โดยตรงก็คือตรัสเรียกขันธ์อันเป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ นี้ของทุกๆ คน ว่าเมื่อเกิดมาแล้วก็จะต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย อันแสดงถึงลักษณะที่มีความเกิด ความเสื่อมสิ้นปรากฏ และเมื่อตั้งอยู่ก็มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นปรากฏ เมื่อลักษณะของสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหลายเป็นดั่งนี้ เมื่อบุคคลยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรา จึงต้องเป็นทุกข์ไปเพราะสังขารที่ยึดถือ คือขันธ์ ๕ ที่ยึดถือนี้อยู่ตลอดเวลา
จึงต้องมีความโศก มีความคร่ำครวญรำพัน มีไม่สบายกายไม่สบายใจ มีความคับแค้นใจ ที่เป็นตัวทุกข์ทางใจต่างๆ อยู่ตลอดเวลา เพราะว่าขันธ์เป็นที่ยึดถือนี้ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป แต่เมื่อจิตใจยังมีความยึดถืออยู่ ก็ย่อมยึดถือไว้ไม่ต้องการจะให้แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป เมื่อพบความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป อันเป็นไปโดยที่ไม่สมปรารถนา จึงต้องเป็นทุกข์ร้อนต่างๆ น้อยหรือมาก ตามแต่ว่าจะยึดถือไว้น้อยหรือมากเพียงไร และความยึดถือนี้เองก็เป็นตัวกิเลส ความทุกข์ต่างๆ ก็เป็นผลของกิเลส และแม้จะยึดถือไว้เพียงไรขันธ์ ๕ นี้ก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายไปตามธรรมดานั้นเอง เพราะฉะนั้นเมื่อไปยึดเอาไว้ที่จะไม่ให้แก่ไม่ให้เจ็บไม่ให้ตาย ก็ต้องเป็นทุกข์
ไตรลักษณ์
เหมือนที่จะยึดถือเวลาที่เปลี่ยนไปทุกขณะไม่ให้เปลี่ยนไป เหมือนดังที่เรียกว่าจะยึดดวงอาทิตย์ไว้ไม่ให้โคจรไป ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงตรัสให้ทำวิปัสสนาคือให้รู้แจ้งเห็นจริง หรือเห็นจริงรู้แจ้ง ในความจริงของขันธ์ ๕ อันเป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง โดยที่ตรัสสอนให้พิจารณาโดยไตรลักษณ์ คือลักษณะที่ไม่เที่ยง ลักษณะที่เป็นทุกข์ ลักษณะที่เป็นอนัตตา เพราะว่าขันธ์ ๕ นี้ ย่อมประกาศลักษณะทั้งสามนี้อยู่ตลอดเวลา หากว่าขันธ์ ๕ จะพูดได้ ขันธ์ ๕ ก็จะต้องบอกอยู่ตลอดเวลาว่า ข้าพเจ้าไม่เที่ยง ข้าพเจ้าเป็นทุกข์ ข้าพเจ้าเป็นอนัตตา ให้ท่านมองดูที่ข้าพเจ้าแล้วก็จะเห็นเองว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นจึงได้มี ... (จบเทป เพียงแค่นี้)