แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เวทนานุปัสสนา ๔ ชั้น
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ปัญญาในธรรมนั้นก็ต้องอาศัยศีลเป็นภาคพื้น อาศัยสมาธิเป็นบาท เป็นอันว่า ศีล สมาธิ ปัญญา หรือปัญญาศีลสมาธิ หรือปัญญาสมาธิและศีล ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน อันผู้ปฏิบัติธรรมะจะพึงปฏิบัติให้มีทั้งสาม ดังจะพึงเห็นได้ว่าปัญญานั้นต้องมีเป็นภาคพื้นมาก่อนเหมือนกัน คือปัญญาที่เป็นพื้น จึงทำให้รู้จักพุทธศาสนา รู้จักศีล รู้จักสมาธิ รู้จักปัญญา รู้จักปฏิบัติศีลสมาธิปัญญา นี้ต้องอาศัยปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาเป็นพื้นอยู่เพียงพอก็จะไม่รู้จัก ไม่สามารถปฏิบัติได้
ภัพพบุคคล
ดังจะพึงเห็นได้ถึงสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย ไม่มีปัญญาเพียงพอที่จะรู้จักธรรมะ ที่จะรู้จักปฏิบัติธรรมะ แต่มนุษย์นั้นมีปัญญาเพียงพอที่จะรู้จัก ที่จะปฏิบัติได้ แต่แม้เช่นนั้นก็มีระดับของปัญญาแตกต่างกัน ถ้าหากว่ามีปัญญาน้อยมากเกินไปก็ยากที่จะรู้จัก ยากที่จะปฏิบัติได้เหมือนกัน ต้องมีปัญญาพอสมควรที่เรียกว่า ภัพพบุคคล เป็นบุคคลผู้สมควร ก็คือมีปัญญาพอสมควร และนอกจากนี้ยังจะต้องมีกิเลสเบาบางพอสมควร ไม่ใช่กิเลสหนานัก ถ้าหากว่ามีกิเลสหนานัก ก็ยากที่จะรู้จักธรรมะ รู้จักปฏิบัติธรรมะได้ ดังเช่นที่มีโลภโกรธหลงจัดเกินไป หรือว่ามีทิฏฐิมานะที่รุนแรงเกินไป มีมิจฉาทิฏฐิความเห็นผิดที่ดิ่งลงไปมากที่เรียกว่า นิยตมิจฉาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิที่ดิ่งลงไป ก็ยากที่จะรู้จักธรรมะ ปฏิบัติธรรมะได้ ทำให้ไม่เป็น ภัพพบุคคล คือบุคคลผู้ที่สมควร เรียกว่าเป็นคนอาภัพหรือ อภัพ ไม่สมควร คือไม่อาจที่จะรู้จักที่จะปฏิบัติธรรมะให้บรรลุผลได้
หรือว่ามีกรรมที่ประกอบไว้หนักมากเกินไป ดังที่ยกขึ้นแสดงก็คือ อนันตริยกรรม กรรมที่หนักมาก กรรมนี้เองก็ทำให้ไม่สามารถบรรลุผลของธรรมะที่เป็นมรรคเป็นผลได้ แม้ว่าจะรู้จักธรรมะ และปฏิบัติธรรมะได้ตามสมควร ก็ได้บรรลุผลตามสมควร แต่ที่จะให้ได้มรรคให้ผลให้ได้นิพพานนั้นท่านว่าไม่ได้ ก็เป็นอาภัพหรือ อภัพพบุคคล
ส่วนบุคคลนอกจากนี้ไม่โง่เง่าทึบมืดเกินไป มีปัญญาที่เป็นพื้นอยู่ตามสมควร และก็มีกิเลสที่ไม่หนามากนัก ไม่มีทิฏฐิมานะจัดนัก ไม่มีความเห็นผิดที่ดิ่งลงไป และมิได้ประกอบกรรมที่หนักมากเป็นขั้น อนันตริยกรรม เป็นภัพพบุคคล บุคคลผู้ที่สมควรสามารถที่จะรู้จักธรรมะ ที่จะปฏิบัติธรรมะ จนถึงบรรลุมรรคผลนิพพานได้ด้วยกัน เพราะฉะนั้นบุคคลส่วนใหญ่จึงกล่าวได้ว่าอยู่ในจำพวกภัพพบุคคล
เวไนยนิกร
และภัพพบุคคลนี้เองก็รวมอยู่ในจำพวกที่เรียกว่า เวไนยนิกร หรือ เวเนยนิกร แปลว่าหมู่ของคนที่จะพึงแนะนำดัดอบรมได้ และก็อยู่ในจำพวกที่เรียกว่า ทัมมะปุริ-สะ หรือธรรมปุริสะบุรุษที่ฝึกได้ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงเป็น ปุริสทัมสาระถิ แปลว่าฝึกบุรุษที่พึงฝึกได้ คือฝึกคนที่พึงฝึกได้ ก็หมายถึงที่เป็นเวไนยนิกร หรือที่เป็นภัพพบุคคลดังกล่าวมานี้นั่นเอง และบุคคลที่เป็นภัพพบุคคล เป็นเวไนยนิกร หรือเวเนยยะ หรือเป็นธรรมะบุรุษสตรีดั่งนี้ กล่าวได้ว่าย่อมเป็นผู้ที่มีศีลบารมี สมาธิบารมี ปัญญาบารมี ที่ได้อบรมกันมาตามสมควรแล้ว เพราะฉะนั้น จึงได้มีปัญญาที่รู้จักพุทธศาสนา รู้จักที่จะฟังธรรม เข้าใจธรรม ทรงจำธรรม ปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้นจึงสามารถที่จะเพิ่มเติมศีลสมาธิปัญญา อันเป็นพื้นนี้ให้มากขึ้นไปได้
เวทนานุปัสสนา ๔ ชั้น
พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนอานาปานสติที่จัดเป็นขั้นกายานุปัสสนา ๔ ขั้นหรือ ๔ ชั้น ต่อจากนั้นก็ได้ตรัสสอนที่เป็นขั้นเวทนานุปัสสนาต่อไป คือตรัสสอนให้ศึกษา สำเหนียกกำหนด ว่าเราจักรู้ทั่วถึงปีติหายใจเข้าหายใจออก เป็นขั้นที่ ๑ ต่อไปขั้นที่ ๒ ตรัสสอนว่าเราจักศึกษาคือสำเหนียกกำหนด รู้ทั่วถึงสุข หายใจเข้าหายใจออก ต่อไปขั้นที่ ๓ ตรัสสอนว่าเราจักศึกษาคือสำเหนียกกำหนด ให้รู้จักทั่วถึงจิตตสังขารเครื่องปรุงจิตหายใจเข้าหายใจออก และขั้นที่ ๔ ตรัสสอนว่าเราจักศึกษาสำเหนียกกำหนดให้รู้จัก เราจักศึกษารำงับจิตตสังขารเครื่องปรุงจิต หายใจเข้าหายใจออกดั่งนี้
ในการปฏิบัติทำสติสำเหนียกกำหนด ปีติ สุข จิตตสังขารเครื่องปรุงจิต และรำงับจิตตสังขารเครื่องปรุงจิตนี้ นับเป็นเวทนานุปัสสนา ตามรู้ตามเห็นเวทนา และจะพึงเห็นได้ว่าเป็นเวทนาฝ่ายสุขเวทนา การที่ยกฝ่ายสุขเวทนาขึ้นนี้ก็เพราะว่า เป็นการปฏิบัติที่สืบต่อมาจาก ๔ ชั้น ที่เป็นขั้นกายานุปัสสนา สติที่ตามรู้ตามเห็นกาย ก็เพราะว่าการปฏิบัติทำสติกำหนดลมหายใจเข้าออกมาโดยลำดับตั้งแต่ขั้นแรก มีสติหายใจเข้ามีสติหายใจออก หายใจเข้าออกยาวก็ให้รู้ หายใจเข้าออกสั้นก็ให้รู้
และให้กำหนดสำเหนียกรู้กายทั้งหมด ซึ่งแปลกายว่ากองลมทั้งหมดก็ได้ แปลว่ารูปกายนามกายทั้งหมดก็ได้ ซึ่งรวมความว่าให้ใจกำหนดรู้ทั้งกายและใจทั้งหมด ในการกำหนดรู้กายและใจทั้งหมดนี้ก็ย่อมรวมลมหายใจเข้าออกเข้าด้วย และรวมตัวความกำหนดเองเข้าด้วยกัน เป็นอันว่ารู้กายใจทั้งหมด เหมือนอย่างว่ารู้เห็นตัวนี้ นั่งอยู่ในตัวความรู้ ตัวความรู้ครอบคลุมตัวนี้ทั้งหมด ซึ่งตัวนี้ทั้งหมดก็คือกายใจอันนี้เอง หายใจเข้าหายใจออก และก็ศึกษาสำเหนียกกำหนดที่จะระงับเครื่องปรุงกายที่เรียกว่ากายสังขาร ก็ชี้เอาลมหายใจเข้าออกนี่แหละ ให้ละเอียด สงบยิ่งขึ้นๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว
ปีติ สุข
ในการปฏิบัติในขั้นกายที่กล่าวมาโดยลำดับนี้ย่อมจะได้ปีติ คือความอิ่มใจ อิ่มเอิบใจ ซึ่งบางทีก็มีอาการเป็นขนลุกซู่ซ่าไปทั้งตัว บางทีก็มีอาการซาบซ่าน น้อยบ้างเบาบ้าง อยู่ทั่วกายทั่วใจ ซึ่งเป็นลักษณะของปีติ และได้สุขซึ่งมีอาการเป็นความสบายกายสบายใจ ความสบายกายสบายใจอันเรียกว่าสุขนี้มีลักษณะที่ละเอียดกว่าปีติ อันปีตินั้นย่อมมีอาการที่ซู่ซ่าทั้งกายทั้งใจ ซาบซ่านไปทั้งกายทั้งใจ จึงมีลักษณะที่เหมือนอย่างเป็นฟ้าแลบแปลบปลาบก็มี เหมือนอย่างเป็นคลื่นกระทบฝั่งก็มี หรือบางทีก็ทำให้มีลักษณะเป็นปีติอย่างโลดโผน จนถึงที่ท่านแสดงว่าทำให้กายลอยไปได้ ดั่งนี้ก็มีเป็นลักษณะของปีติ
แต่ว่าสุขนั้น เป็นความสบายกายสบายใจที่สงบกว่าปีติ ละเอียดกว่าปีติ ทั้งปีติและสุขนี้ย่อมเกิดขึ้นตั้งแต่ในขณะที่ปฏิบัติในขั้นกายนี้ เพราะเมื่อจิตรวมเข้ามาได้ความสงบใจสงบกายขึ้นแล้ว ก็จะเริ่มมีปีติและเริ่มมีสุขอันเกิดจากการปฏิบัติในสมาธิ และก็จะมีเรื่อยๆ ไป สำหรับปีตินั้นบางทีมักจะมีในขั้นต้นๆ ทำไม่เท่าไรก็จะได้ปีติ แต่เมื่อคุ้นๆ ไปแล้วปีติก็มักจะเกิดบ้างไม่เกิดบ้าง แต่อันที่จริงนั้นเป็นปีติอย่างละเอียดเข้า เป็นความซาบซ่านที่สงบเข้า และก็เป็นความสุข สบายกายสบายใจ สงบมากขึ้นไปโดยลำดับ
กายสังขาร จิตตสังขาร
และเมื่อทำทีแรกนั้นจะรู้สึกมีความปวดเมื่อยที่โน่นที่นี่ เป็นทุกขเวทนาอยู่มากกว่าสุขเวทนา แต่ว่าเมื่อจิตได้สมาธิขึ้น ได้ปีติได้สุขขึ้น ทุกขเวทนาก็จะลดลงๆ จนถึงเมื่อจิตรวมเข้ามามาก รู้กายทั้งหมด และรำงับกายสังขารเครื่องปรุงกาย ที่ท่านชี้เอาลมหายใจเข้าออกดังกล่าวนั้นได้มากขึ้น ก็มีความปลอดโปร่งมากขึ้น จนความเมื่อยขบจะไม่บังเกิดขึ้นไม่ปรากฏ นั่งอยู่ได้นานเหมือนอย่างไม่มีแข้งไม่มีขาที่จะเมื่อย เป็นความปลอดโปร่ง เพราะเหตุว่าระงับกายสังขารคือเครื่องปรุงกายได้มากขึ้นๆ ที่ยังมีเมื่อยขบอยู่มากนั้น ก็เพราะว่ากายสังขารเครื่องปรุงกายอันนี้เองมีอยู่มาก ก็ทำให้มีทุกขเวทนามาก เมื่อกายสังขารเครื่องปรุงกายลดน้อยลงไป ที่ตั้งของความเมื่อยขบก็จะหายไป ความเมื่อยขบก็จะไม่ปรากฏ ปรากฏเป็นความสุขเป็นความปลอดโปร่งสบายอยู่โดยมาก
แต่แม้เช่นนั้นในขั้นกายนี้จิตก็ยังกำหนดอยู่ที่กาย แต่เมื่อได้พบความระงับกายสังขารเครื่องปรุงกายมากขึ้น กายก็จะละเอียดเข้าๆ เพราะฉะนั้นจึงเลื่อนขั้นขึ้นมากำหนดเวทนา ไม่กำหนดกาย กำหนดตัวปีติที่บังเกิดขึ้น กำหนดตัวสุขที่บังเกิดขึ้น โดยที่มาตั้งการปฏิบัติที่เรียกว่าศึกษา โดยที่ตั้งใจกำหนดปีติหายใจเข้าหายใจออก กำหนดสุขหายใจเข้าหายใจออก เลื่อนขึ้นมาจากกาย ไม่กำหนดกาย แต่มากำหนดปีติหายใจเข้าหายใจออก กำหนดสุขหายใจเข้าหายใจออก สติดูอยู่ที่ปีติ ดูอยู่ที่สุข และก็ต้องหัดศึกษาคือสำเหนียกกำหนดต่อไปด้วย
คือคอยดูว่าปีติสุขที่บังเกิดขึ้นนั้นเป็นจิตตสังขาร คือเครื่องปรุงจิตหรือเปล่า ปรุงจิตให้เกิดความติดใจยินดีที่เรียกว่าราคะ ความติดใจยินดี หรือฉันทะความพอใจอยู่ในปีติในสุขหรือเปล่า หัดกำหนดดูปีติสุขว่ามาเชื่อมกับจิตยังไง ถ้าปีติและสุขมาเชื่อมเข้ากับจิต ทำให้จิตติด ติดในปีติ ติดในสุข มีความเพลินอยู่ในปีติในสุข ก็ให้รู้จักว่านี่เป็นตัวจิตตสังขารเครื่องปรุงจิต และเมื่อดูให้รู้จักว่าปีติสุขมาเชื่อมเข้ากับจิต จิตติดในปีติในสุข กลายเป็นจิตตสังขารเครื่องปรุงจิตขึ้นมาดั่งนี้แล้ว ก็ถึงขั้นที่จะต้องหัดศึกษากำหนดที่จะรำงับความติดในปีติสุข ซึ่งเป็นตัวจิตตสังขารนี้ให้ได้ ไม่ให้จิตไปติดในปีติในสุขเป็นจิตตสังขารขึ้น คอยพรากจิตออกจากความติดใจยินดี ความเพลิดเพลินยินดีอยู่ในปีติในสุข ปีติสุขบังเกิดก็ให้บังเกิดไป ไม่ต้องไปห้ามปราม แต่ว่าคอยระวังไม่ให้มาเชื่อมเข้ากับจิต ไม่ให้จิตไปติดปีติสุขดั่งนี้ เป็นการปฏิบัติในขั้นที่ ๔ อันเกี่ยวกับเวทนา ก็คือรำงับจิตตสังขารเครื่องปรุงจิต
ปัจจัยให้เกิดตัณหา
ในปฏิจจสมุปบาทนั้นได้มีแสดงว่า เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก และในพระสูตรหลายพระสูตรก็มีแสดงว่า สุขเวทนานี้เป็นที่ตั้งของราคะคือความติดใจยินดี เพราะฉะนั้น โดยปรกติกิเลสกองตัณหากองราคะ จึงบังเกิดสืบมาจากเวทนานี้เอง ที่เป็นตัวสุขเวทนา ถ้าหากว่าไม่มีสุขเวทนาแล้วตัณหาหรือราคะก็จะไม่บังเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ความเชื่อมต่อระหว่างขันธ์กับกิเลสจึงอยู่ที่เวทนานี้เอง คือตัวสุขเวทนาก็เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาราคะ หรือเป็นที่ตั้งของตัณหาราคะ ก็เพราะเหตุว่าไม่ได้ทำสติปัฏฐาน คือไม่ได้ปฏิบัติสติที่จะรู้จักระงับจิตตสังขาร ที่จะระงับที่จะพรากสุขเวทนาจากจิต มิให้จิตไปติดบังเกิดเป็นตัณหาเป็นราคะขึ้น
เพราะฉะนั้น การปฏิบัติในขั้นที่ ๔ ของเวทนานี้จึงเป็นขั้นสำคัญ และก็เป็นเรียกว่าขั้นที่สุดของขั้นเวทนานุปัสสนา และในขั้นที่สุดของเวทนานุปัสสนานี้ ก็อย่าไปคิดว่าไม่ใช่เป็นเรื่องสำคัญ ดังที่กล่าวแล้วคือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นความเชื่อมต่อระหว่างขันธ์กับกิเลส ถ้าหากว่ามีสติมาคอยระงับได้ในขั้นนี้ คือระงับจิตตสังขารได้ในขั้นนี้แล้ว กิเลสก็จะไม่บังเกิดขึ้นเพราะสุขเวทนา สุขเวทนาก็บังเกิดขึ้นไปตามธรรมดาของสังขาร ทุกขเวทนาก็บังเกิดขึ้นตามธรรมดาของสังขาร แต่ว่าเมื่อมีสติมาตั้งอยู่ตรงนี้ก็จะทำให้เวทนานี้ไม่ไปเป็นปัจจัย ให้บังเกิดกิเลสเป็นตัณหาเป็นราคะไปต่างๆ เพราะฉะนั้นขั้นนี้จึงเป็นขั้นสำคัญ ผู้ปฏิบัติธรรมต้องรำลึกถึง และตั้งใจหัดที่จะคอยแยกจิตมิให้ไปติดในปีติในสุข ซึ่งรวมเป็นตัวสุขเวทนานี้
ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป