แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
แล้วก็มีคำถาม ถามต่อไปว่า ที่มานั่งสมาธิจนจิตรวม แล้วจะสามารถเห็นปรมัตถสัจจะได้หรือไม่ เพราะจากที่พูดเมื่อคืนนี้บอกว่า จิตเงียบจะเกิดปัญญา แล้วทำไมมีหลายๆคนที่นั่งสมาธิแล้วจนได้ฌานชั้นสูงๆก็ยังไม่ได้พบสัจธรรม กลับเกิดเป็นมิจฉาทิฏฐิ อันนี้เกี่ยวกับการวางรากฐานสัมมาทิฏฐิตั้งแต่ต้นไว้ใช่ไหม
ใช่
คือต้องมีความรู้ปริยัติที่ถูกต้อง แล้วโน้มน้าวจิตใจไปในทางเพ่งมองจิตของตนทำนองนี้ใช่ไหม
คำที่ว่า มีปริยัติที่ถูกต้อง นั่นก็คือ ให้ถูกต้องตรงตามหัวใจของคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือเรื่องความทุกข์และการดับทุกข์ ทุกข์เกิดจากความยึดมั่นถือมั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความเป็นตัวตนนี้ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่า เราเห็นจุดนี้ว่านี่คือคำสอน อุปาทานที่ยึดมั่นในอัตตา นี้คือต้นเหตุของความทุกข์ แล้วเราก็พยายามที่จะเรียนรู้และปฏิบัติทุกทาง ที่จะให้ละ ลด ความยึดมั่นถือมั่นในอัตตาลงให้ได้มาก มากยิ่งขึ้นๆๆ จนเหลือน้อยที่สุด จนหมดได้ นี่เป็นวิธีปริยัติที่ถูก แล้วก็นำมาปฏิบัติตามนี้ ให้ตรงไปตรงมา ก็จะเกิดปฏิเวธคือผลของการปฏิบัตินั้น ก็เป็นสิ่งที่ทำให้จิตนี้เบาสบาย สะอาด สว่าง สงบ พร้อมไปด้วยสติ สมาธิ ปัญญา ทีนี้ที่ว่าทำไมบางคนนั่งสมาธิไปแล้วก็เกิดเป็นมิจฉาทิฏฐิ นั่นก็อาจจะตั้งต้นตั้งแต่จุดมุ่งหมายของการมาทำสมาธิ มีความอยาก มีความต้องการที่จะได้มีอิทธิฤทธิ์ มีหูทิพย์ ตาทิพย์สามารถทำนายอะไรๆต่ออะไรต่างๆได้ นี้เรียกว่าพอเริ่มต้นขึ้นมันก็เริ่มต้นด้วยกิเลสเสียแล้ว กิเลสของความอยาก เพราะว่าจุดมุ่งหมายของการทำสมาธิที่ถูกต้องนั้น เพื่อความสุข สงบเย็น เพื่อพัฒนาจิตที่มันขรุขระ มันสกปรก มัวหมองด้วยกิเลสตัณหาอุปาทาน ตั้งใจที่จะมาขูด ขัด ลด ละ สิ่งนี้ไป ผลที่จะพิสูจน์ก็คือว่า ยิ่งปฎิบัติ จิตยิ่งเย็น ยิ่งปฏิบัติจิตยิ่งเย็น ความที่เคยอยากจะได้ อยากจะเอาอะไร มันก็ลดลงๆๆ นี่คือเราจะพิสูจน์ได้ ว่าการปฏิบัตินี้ถูกต้องแล้ว แต่ถ้าปฏิบัติไปจิตมันยิ่งร้อน เมื่อไหร่จะได้ เมื่อไหร่จะมี เมื่อไหร่จะเป็น นี่มันมิจฉาทิฏฐิเสียแล้วตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้นยิ่งปฎิบัติไป มันก็ยิ่งพาจิตนี้ดุ่มไป สู่ความร้อนยิ่งขึ้น จึงพูดว่า ปริยัติที่ถูกต้อง นั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก มันจะช่วยตัด ลัด ย่น หนทางของการปฏิบัติ แทนที่จะต้องอ้อมวกเวียนไปมา มันจะลัด ตัดตรงไปสู่ทิศทางได้เร็วขึ้น
คำถามต่อไปถามว่า จิตคือเรื่องของนามรูปใช่หรือไม่ กล่าวคือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
อันนี้ก็เอ่ยมาในลักษณะของขันธ์ห้า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่เป็นลักษณะของขันธ์ห้า แต่ก็คงทราบแล้วว่ารูป ก็คือรูปหรือกาย ส่วนเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สี่อย่างนี้ เป็นอาการของนาม หรืออาการของจิต ถ้าเราเรียกสั้นๆก็คือนาม รูป หรือ รูป นาม
ทีนี้คำถามๆว่า ถ้าหากว่าใช่แล้วละก็ จะใช้วิธีแยกรูปนามเพื่อพิจารณาอนัตตาได้ไหม
ทำได้ แต่ความจริงไม่ต้องแยก เพราะชีวิตประกอบด้วยกาย จิต มันต้องทำงานอยู่ด้วยกัน แต่ให้เราดูทุกอย่าง ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะผ่านทางไหนก็ตาม ให้มองเห็นความไม่เที่ยง อย่างที่เราพูดเมื่อเช้านี้ถึงเครื่องมือของการศึกษา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หกอย่าง แล้วก็มีวัตถุของการศึกษาคือคู่ของมัน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะหรือสัมผัส และก็ธรรมารมณ์ นี่คือวัตถุของการศึกษา
ให้เราฝึกด้วยการที่ว่า เมื่อตา เห็นรูป หรือเห็นกิริยาท่าทางการแสดง ไม่ว่าในลักษณะไหนก็ตาม ให้จิตนี้ เห็นความเป็นเช่นนั้นเองอยู่เรื่อย จะท่าทางน่าดู ก็เช่นนั้นเอง ท่าทางน่าเกลียด กระด้างไม่น่าดูเลย ก็เช่นนั้นเอง เช่นนั้นเองหรือตถาตาหมายถึงความเป็นธรรมดาอย่างนั้นเอง ธรรมดาก็คือความเกิดดับ เกิดดับ ที่เราเห็นว่ามันไม่ดี ท่าทางไม่ดี ไม่น่ารัก พอมันเกิดแล้วมันก็ดับ คือพอเขาทำแล้วมันก็เสร็จ แล้วมันก็ดับในทันที หรือมันน่ารัก กิริยาท่าทาง ละมุนละม่อมน่าดู พอทำเสร็จแล้วมันก็เสร็จเหมือนกันเห็นไหมคะ มันมีแต่อาการเกิดดับ เกิดดับ หรือเกิดขึ้น แล้วก็ตั้งอยู่นิดนึง แล้วก็ดับไป คือเสื่อมสลายไป เพราะฉะนั้นความเป็นธรรมดาของธรรมชาติคือ เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ ทีนี้จะพูดให้สั้นสรุปลงก็คือตถาตา เช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง
นี่ถ้าเราใช้อุปกรณ์การศึกษาที่ธรรมชาติให้มา ตา เห็นรูป รูปร่างหน้าตาของคนหรือสิ่งมีชีวิตหรือต้นหมากรากไม้ก็ตาม หรืออาคารบ้านเรือนก็ตาม จะถูกใจคือรู้สึกชอบ ก็เช่นนั้นเอง รู้สึกไม่ชอบก็เช่นนั้นเอง ไม่ให้ความยึดมั่นถือมั่นหรือความอยากเกิดขึ้นได้ นี่แหละ เป็นการพิจารณาที่จะนำจิตนี้ โน้มเข้าสู่อนัตตา ได้ทีละน้อย ละน้อย ละน้อย แต่เราจะพรวดพราดไปอนัตตาทีเดียว พอเห็นอะไรก็อนัตตา อนัตตา อนัตตาท่องไว้ก่อนก็ได้เหมือนกัน แต่มันอาจจะนานมาก เพราะมันเป็นการท่องคล้ายนกแก้วนกขุนทองเกินไป เพราะเราไม่ได้ค่อยๆทำความเข้าใจทีละน้อย ถ้าเราเริ่มทำความเข้าใจทีละน้อย จากอนิจจังก่อน ว่าอ๋อทุกอย่างมันต้องเปลี่ยนแปลง คือมันเกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ ไม่มีอะไรคงที่ ให้จิตเราซึมซาบกับสิ่งนี้ และอนิจจังเป็นสิ่งที่เรามองเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ใช่ไหมคะ ของเราเองและก็ของคนอื่น นี่เราดูอันนี้แล้วก็ให้เห็นเช่นนั้นเอง พอหูได้ยินเสียง เช่นนั้นเอง น่าฟังก็เช่นนั้นเอง ไม่น่าฟังก็เช่นนั้นเอง แต่ว่ารับให้มันถูกต้อง ถ้ามันน่าฟัง รับมาใคร่ครวญให้ถูกต้อง ถ้าไม่น่าฟัง ก็รับมาใคร่ครวญให้ถูกต้อง คือแยกแยะให้มันออก ว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง อะไรคือสิ่งที่ไม่ใช่สิ่งที่จะนำมาทำตามหรือปฎิบัติตาม นี่อันนี้ถ้าเราทำอย่างนี้ได้ นี่คือการที่จะฝึกฝนอบรมจิต ให้ค่อยๆเดินไปสู่ ความเข้าถึงอนัตตา ทีละน้อย ละน้อย อย่างมีหลักเกณฑ์และก็อย่างเกิดความเข้าใจด้วย ว่ามันเข้าไปสู่อนัตตาได้อย่างไร เราจะพูดกันต่อไปอีกถึงเรื่องของไตรลักษณ์นะคะ ตอนนี้ขออธิบายเพียงเท่านี้ก่อน
ถ้าหากสามารถลด ละ เลิกความคิดปรุงแต่งเกี่ยวกับสมมติสัจจะหรือของคู่ถึงที่สุดได้แล้ว จะเพียงพอหรือไม่สำหรับการปฎิบัติธรรม
ถ้าละ ลดได้ถึงที่สุดละก็พอแน่นอน นะคะ ข้อสำคัญก็คือว่า จะให้ถึงที่สุดได้เมื่อไหร่ แต่ก็ไม่ต้องเร่งนะคะ ถ้าถึงที่สุดจนกระทั่ง ถ้าพอเห็นของคู่ ก็เช่นนั้นเอง นี่อย่างที่พูดเมื่อกี้ น่ารักก็เช่นนั้นเอง น่าชังก็เช่นนั้นเอง นี่คือเช่นนั้นเองสามารถเช่นนั้นเองกับสิ่งที่เป็นสมมติสัจจะ ใจไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ช้ามันก็จะถึงที่สุดได้
การละของคู่ ได้ต้องเข้าใจเรื่องอิทัปปัจจยตาพอสมควร และความเข้าใจอันนี้จะนำไปสู่ความเข้าใจถึงความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน อย่าใช้คำว่าไม่มีตัวตนนะคะ ใช้ก็ใช้ได้แต่ที่จะชัดมากกว่าคือไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน
ใช่ค่ะ ถ้าละของคู่ก็ต้องเข้าใจเรื่องอิทัปปัจจยตาพอสมควร เพราะเหตุว่าที่เห็นว่าน่ารัก ก็เพราะว่าประกอบเหตุปัจจัยอย่างนั้น ผลก็เป็นอย่างนั้น ได้รับการอบรมมา รู้ว่าการกระทำที่ถูกต้องทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ผลมันก็คือน่ารัก แต่ถ้าหากว่ามันไม่น่ารักน่าชัง ก็เพราะไม่ได้รับการฝึกฝนอบรมมา จึงกระทำเหตุปัจจัยอย่างไม่เข้าเรื่องไม่ถูกต้อง ผลมันก็เลยน่าเกลียดน่าชัง มันคือเรื่องของอิทัปปัจจยตา หรือกฏของธรรมชาติเป็นอย่างนั้นเอง ถ้าเข้าใจแล้ว ก็จะช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดความเข้าใจได้ชัดเจนขึ้น การปฏิบัติก็จะเป็นไปได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น
กิจกรรมที่ส่งเสริมอัตตา จะแก้หรือทำอย่างไรไม่ให้ส่งเสริม
ทำโดยไม่ต้องอยาก ทำโดยไม่ต้องหวัง แน่ใจแล้วว่ากิจกรรมที่ทำนี่ดีแน่เพราะมันเกิดประโยชน์ เกิดประโยชน์กับสังคม เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม ทีนี้ก็ตัวเราแหละว่าจะเกิดประโยชน์หรือเปล่า ตัวเราจะเกิดประโยชน์ก็ตรงที่สามารถทำได้ โดยไม่หวัง โดยไม่อยาก โดยไม่เอา แต่ทำเพราะมันเป็นหน้าที่ หน้าที่ของมนุษย์ที่พึงทำ อย่างที่เราพูดกันเมื่อเช้านี้ เรื่องของชีวิต และก็ทำอย่างถูกต้อง นี่แหละคือการลด ละ อัตตา และการกระทำนั้นจะยิ่งได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้นเลย ทำได้รวดเร็วได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้นด้วย นี่ถามถึงว่าที่เล่าให้ฟัง สำหรับผู้ที่กลุ่มที่มาก่อน เรื่องการพิจารณามรณานุสติ ที่ว่า พิจารณาตั้งสามปี พิจารณาอย่างไร ก็หมายความว่าทุกขณะที่เขาหายใจเข้าหายใจออก เขาจะไม่ให้ความคิดอื่นเข้ามาพ้องพานเลย นอกจากเรื่องของการตาย เขาจะดูในเรื่องของความตาย ก็อาจจะดูในแง่ที่ว่าความตายมันเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ ดูเรื่องของความตายที่อาจจะเกิดขึ้นทุกขณะๆๆ จิตมันก็ไม่ประมาท ที่ประมาทกันอยู่นี่ เพราะคิดว่ายังไม่ตาย ใช่ไหมคะ คิดว่ายังไม่ตาย ยังอีกนานทำอะไรไปก่อนก็ได้ เพราะฉะนั้น ที่ทำอะไร ต่ออะไรต่างๆที่เราเห็นไม่ดีไม่งามต่างๆนาๆ ต้องเรียกว่าเป็นพวกลืมตายทั้งนั้น พอตายปุบขึ้นมาถึงได้นึกได้ โถถ้าฉันยังอยู่นะ ถ้าฉันยังอยู่อีกสักปี ฉันจะไม่ทำอย่างนี้เลย ฉันจะทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์กับคนโน้นคนนี้ จะช่วยเหลือจะไม่เบียดเบียนไม่คดโกง แต่มันแก้ตัวไม่ได้เสียแล้ว เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกว่า เราควรดำรงชีวิตอย่างไม่ประมาท คือพยายามกระทำแต่สิ่งที่ถูกต้องทุกขณะ เพราะฉะนั้นการนึกถึงความตายก็นึกว่า นึกถึงความตายที่มาถึงอยู่ทุกขณะ ทุกขณะหายใจเข้า หายใจเข้าก็นึกถึงความตายที่จะมาถึง หายใจออกก็ความตายที่มาถึง ทั้งเข้าทั้งออกนึกถึงแต่ความตายที่จะมาถึง จิตมันก็จะมีสติเตรียมพร้อมอยู่เสมอ ไม่ว่าจะพูด จะทำอะไรก็จะทำแต่สิ่งที่เชื่อว่าจะเกิดประโยชน์ ตามสัญชาตญาณก็คือว่า พอตายก็อยากตายดีใช่ไหมคะ อย่างน้อยพอตายให้มีคนเขาร้องไห้คิดถึง ดีกว่าที่ตายแล้วคนเขาสาปแช่ง เออตายๆก็ดี แผ่นดินสูงขึ้น เพราะฉะนั้นก็อยากจะทำอะไรให้ดีๆ ให้คนเขารัก ให้คนเขานึกถึง นี่พูดถึงอย่างโลกๆ ฉะนั้นพอเรายิ่งมานึก จะตายเมื่อไหร่ ความตายมาถึง ความตายจะมาถึงอยู่ทุกขณะที่หายใจเข้า ก็นึกถึงตาย ตายเมื่อไหร่ไม่รู้ ออกก็นึกถึงความตาย คือคำนึงถึง แรกๆอาจจะท่องเรื่องความตาย มรณานุสติ ความตายไม่เที่ยงๆ คือมันจะมาถึงเมื่อไหร่ไม่รู้ตัว แล้วก็ต่อไป จิตก็เกิดความไม่ประมาท แล้วพอนึกถึงว่า วันหนึ่งความตายมาถึง จะต้องจากสิ่งที่รักทั้งหลายไปหมดสิ้น คนที่รัก ก็อยู่ด้วยกันไม่ได้ สิ่งที่รัก บ้านช่องข้าวของเงินทองก็เอาไว้ไม่ได้ จิตนี้ก็จะค่อยๆคลาย คลายความยึดมั่นถือมั่น คลายความโลภที่อยากจะเอา มันค่อยๆปล่อยไปเองทีละน้อย เพราะฉะนั้นนี้คือการพิจารณามรณานุสติ นึกถึงความตายที่จะมาถึงตัวอยู่ทุกขณะ ทุกขณะที่หายใจเข้าและหายใจออก เพราะฉะนั้นถ้าหากความคิดฟุ้งซ่าน เวลาจะอยู่กับลมหายใจมันฟุ้งซ่าน ก็ลองนึกถึงความตาย เดี๋ยวตายเสียเดี๋ยวนี้เลยตายไปพร้อมกับมิจฉาทิฎฐิ ไม่ทันที่จิตจะเป็นสัมมาทิฏฐิเลยเชียว เพราะงั้นรีบหน่อย รีบหน่อย รีบกลับมารู้อยู่กับลมหายใจ เดี๋ยวจะตายเสียแล้ว ความตายอาจจะมาถึงแล้ว นั่งๆอยู่นี่ตึงตายไปเลยไม่รู้ตัว นี่คือการช่วยไม่ให้จิตประมาท เป็นการเตือนตัวเองอย่างดีที่สุดทุกลมหายใจเข้าออก
คำถามที่ถามว่า ที่พูดว่าคนที่มีจิตใจอ่อนแอจะไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต จะมีวิธีแก้ไขจิตใจที่อ่อนแอได้อย่างไร สามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้อย่างไร
ต้องดูนะคะ ว่าอะไรคือต้นเหตุของความอ่อนแอ ต้นเหตุของความอ่อนแอของคนนี่ มันก็เกิดจาก คือความที่เรานึกถึงตัวเราเองเป็นสำคัญเพราะฉะนั้น ก็อยากได้สิ่งที่จะทำให้จิตใจชื่นบาน เช่นอยากได้ความรักความอบอุ่น จากคุณพ่อคุณแม่พี่น้องเพื่อนฝูง ตลอดจนผู้ที่เราชอบพอ ไปที่ไหนก็อยากจะได้รับสิ่งนี้ เพราะฉะนั้นพอรู้สึกว่ามันขาดไปนิดหน่อยนี่ จิตใจก็หวั่นไหวง่าย นี้คือลักษณะของความอ่อนแอ ที่มันเกิดขึ้นในจิต ก็เลยทำให้ไม่สามารถที่จะเป็นผู้ที่มีความบากบั่น บากบั่นที่จะทำอะไรให้สำเร็จได้เพราะมันขาดกำลังใจ ความอ่อนแอนี่มันทำให้ใจคนขาดกำลังใจ มันบังคับตัวเองไม่ได้ เพราะว่าพอบังคับเข้า มันจะหวนไปนึกถึงสิ่งที่มันเป็นความกังวลอยู่ในใจตลอดเวลา ฉะนั้นก็อันแรกที่สุด ที่เรามาฝึกอานาปานสติภาวนานี่นะคะ เป็นวิธีขั้นแรกที่คิดว่าได้ประโยชน์มาก เพราะว่าสิ่งหนึ่งที่เราต้องทำก็คือ ต้องดับ ดับความคิดที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้จิตใจอ่อนแอ ที่จะทำให้เราพาลยอมแพ้ไปเสียเรื่อย คือแพ้ไปกับเหตุการณ์นั้นไปเสียเรื่อย ฉะนั้นต้องทำให้จิตสงบเสียก่อน พอสงบคลี่คลายแล้ว มันก็จะเกิดความสว่างที่จะมองหาเหตุหาผล ว่าทางที่ถูก ที่ต้อง ที่ดี ที่จะเกิดประโยชน์ควรจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นการปฏิบัติอานาปานสตินี่ เป็นวิธีแก้ที่ตรงจุดที่สุด แต่มันอาจจะไม่รวดเร็วอย่างใจ แต่ถ้ายอมใจเสียหน่อยแล้วละก็นะมองเห็นผล ได้ผลชัดเจนนะคะ นอกจากนี้ก็ ถ้าเป็นวิธีอย่างโลกๆ ถ้าต้นเหตุของการอ่อนแอนั่นเป็นคน คนที่จะทำให้ใจเราอ่อนแอ แล้วเราก็เกิดความลังเลเศร้าหมอง ที่เราอ่อนแอก็เพราะว่าเราไปยึดมั่นในเขา เราไปยึดมั่นในอะไรเขา ก็คือเราไปมองเห็นความดีความงาม มองแต่อะไรที่เป็นสิ่งบวก ที่คิดว่าถ้าเราได้อยู่กับเขา หรือเขาเป็นของเราแล้วมันจะช่วยให้จิตใจของเรานี่มั่นคงเข้มแข็งขึ้น นี่อย่างโลกๆนะ อย่างโลกๆก็หัดย้อนไปมองดูอะไรที่เป็นจุดอ่อนจุดบกพร่อง ลองนึกดูซิว่าถ้าหากว่า เผอิญเราได้พบบุคคลอย่างนี้บ่อยๆ แทนที่เราจะเข้มแข็งขึ้น เรากลับยิ่งอ่อนแอลงใช่ไหม นี่มันเป็นจุดถ่วง จุดบั่นทอน แล้วเราปรารถนาชีวิตที่พัฒนาอย่างแท้จริง หรือพัฒนาครึ่งๆกลางๆก็ลองนึกดู ถ้าเรามองอย่างนี้แล้วก็น่าจะดีใจเสียอีกที่มีโอกาสที่เราได้ถอยออกมา แล้วก็จะได้ศึกษาแก้ไขสิ่งนั้น แล้วก็หันมามองดูว่า แล้วอะไรล่ะที่จะช่วยส่งเสริม นั่นก็คือความมั่นคงในจิตของเราที่จะเกิดขึ้นมากๆนะคะ ฉะนั้นก็เริ่มต้นด้วยการใช้อานาปานสติ อานาปานสติทำให้จิตสงบและจะมองเห็นลู่ทาง นอกจากนี้ก็มองหาตัวอย่าง ตัวอย่างของคนที่เขาประสบความสำเร็จ ด้วยความมั่นคงเข้มแข็งในจิตใจของเขา ศึกษาไปหาหนังสืออัตถชีวประวัติของบุคคลมาอ่านมากๆ แล้วจะเห็นเลยว่าความเข้มแข็งในจิตของคนเท่านั้น ที่จะช่วยให้คนฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆไปได้ แล้วก็อีกอย่างหนึ่งก็คือ หันไปมองดูคนที่เขามีความทุกข์มีปัญหามีความลำบากมากกว่าเรา และเขาพยายามฝ่าฟันอุปสรรคนั้นๆอย่างไร ก็จะทำให้เราเกิดกำลังใจมากขึ้น ที่จะฝ่าฟันและที่จะกระทำ ดูไปหลายๆอย่าง แต่อย่างแรกจะต้องมีพื้นฐานของการปฏิบัติอานาปานสติไว้เป็นหลักเสมอนะคะ
ข้อที่สอง คนที่คิดว่าตัวเองไม่เก่งอะไรสักอย่าง ทำอะไรไม่ได้เท่าเพื่อน เรียนไม่เก่ง เล่นกีฬาไม่เก่ง ทำอะไรก็ไม่เก่ง นี่เขาเรียกว่าสร้างปมด้อยให้แก่ตนเอง ความเก่งหรือไม่เก่ง มันเป็นเรื่องของความคิด เป็นเรื่องของสมมติสัจจะ ก็เพราะความที่นึกถึงตัวเอง อยากให้เราเก่งมากๆนั่นเอง เพราะฉะนั้นความเก่งหรือไม่เก่งนี่ มันเกิดขึ้นเพราะเรานึกเราคิด และมาสร้างปมด้อยให้เกิดขึ้นกับตัวเอง ฉะนั้นในทางธรรม แทนที่จะมานึกว่าเก่งหรือไม่เก่ง เราศึกษาว่าสิ่งที่เรากำลังเกี่ยวข้องนั้น ถ้าจะทำให้ถูกต้องคือวิธีไหน ทำอย่างถูกต้องมันถึงจะเกิดผล ศึกษาหาวิธีการที่ถูกต้อง เช่นจะต้องหาความรู้ในเรื่องนี้ให้มากขึ้น หาประสบการณ์ให้มากขึ้น แล้วเสร็จแล้วก็ทำตามนั้นทันที แทนที่จะเสียเวลา เสียเวลาเปล่าๆ มานั่งนึกน้อยใจ หรือว่าเปรียบเทียบว่าเราไม่เหมือนเขา ศึกษาหาหนทางที่จะทำให้เก่งให้ดี ว่ามันต้องการคุณสมบัติอะไร ต้องการเหตุปัจจัยอะไร และลงมือทำทันทีโดยไม่ต้องนึกว่าเก่งหรือไม่เก่ง แต่นึกว่าสิ่งที่เราทำนี้เราทำเต็มฝีมือเต็มที่ใช่ไหม ไม่ได้อดออมไว้เลยใช่ไหม ทำอย่างชนิดเพื่อประโยชน์แก่งานที่จะเกิดขึ้นใช่ไหม ถ้าเรานึกอย่างนี้ได้ จิตใจจะมีแต่ความชื่นบานผ่องใส และความรู้สึกที่จะเก่งหรือไม่เก่งมันจะค่อยถอยหายไปเอง ฉะนั้นอย่าเสียเวลาไปคิดกับว่าเก่งหรือไม่เก่ง ลงมือทำทันที และพอจะทำอะไรแล้วไม่รู้ คือรู้ไม่ถึงในสิ่งที่จะทำ ก็ขวนขวายหาความรู้ หาผู้รู้ที่เราจะปรึกษาได้ ไว้ใจได้ให้มาช่วยเหลือ
แก้ปัญหาหงุดหงิดง่าย ตกใจง่าย โกรธง่าย โมโหง่าย ตื่นเต้นง่ายได้อย่างไร อานาปานสติที่เราพูดกันมาแล้วนี่นะคะ ที่พูดมาแล้วทั้งหมดนี้แก้ไขปัญหาทั้งหลายได้ทั้งนั้น
ทำอย่างไรถึงจะนอนหลับ ถ้าหลับตีหนึ่งตีสองหรือไม่ก็ตื่นอีกมาสามคืน อาจจะเป็นเพราะเปลี่ยนที่ อาจจะเป็นเพราะใจที่วิตกกังวลคิดโน้นคิดนี่ คิดโน้นคิดนี่นั่นแหละมันถึงทำให้ไม่หลับ และยังบอกว่าเจริญอานาปานสติด้วยก็ยังไม่หลับ ก็ขอตอบว่า เพราะคิดว่าเจริญอานาปานสติ แต่จริงๆไม่ได้เจริญอานาปานสติ ถ้าใจมันอยู่กับลมหายใจ มันก็จะไม่มีอะไรเข้ามารบกวน ดูใหม่นะคะ ดูใหม่อย่าหลอกตัวเอง ลักษณะของคนที่นอนไม่หลับก็คือความกังวล กังวลอะไรอยู่นิดเดียวเท่านั้น พอเกิดความนึกว่าห้องนี้ปลอดภัยหรือเปล่า จะมีคนเข้ามาได้ไหม หรือจะมีอะไรที่มองไม่เห็นตัวอยู่หรือเปล่าเท่านั้นน่ะ ประสาทมันตื่นทันทีเลย ความวิตกกังวลมันปลุกไม่ให้หลับได้ดีที่สุดเลย เพราะฉะนั้นก็หยุดอันนี้เสีย ด้วยการดึงลมดึงจิตมาอยู่กับลมหายใจให้ได้
ลักษณะของปัญหาที่เกิดขึ้นในใจไม่สามารถค้นหาสาเหตุได้ จะมีวิธีแก้ไขปัญหา หรือตัดใจเลิกคิดได้อย่างไร
ปัญหามันต้องมีต้นเหตุ ก็ต้องทำให้ใจสงบ อานาปานสติก่อนนี่แหละ ถึงจะมองเห็นต้นเหตุของปัญหา แล้วอันนี้เราจะพูดต่อไปถึงเรื่องของนิวรณ์ วันนี้เผอิญไม่มีเวลาพูด อย่างช้าก็วันพรุ่งนี้ เพราะฉะนั้นคอยฟังนะคะแล้วจะมองเห็นวิธีค้นหา ต้นเหตุของปัญหา
มีคำถามเกี่ยวกับเรื่องเวทนาสามแบบ สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ ที่ฟังจากธรรมะท่านอาจารย์ ทั้งสามแบบนี้ถือว่าใช้ไม่ได้ เป็นความโง่โมหะ ทำอย่างไรถึงจะไม่รู้สึกอะไรเลยเมื่อได้รับผัสสะ เป็นได้อย่างไร
ก็บอกอยู่ตลอดเวลาว่าให้ฝึกเห็นเช่นนั้นเองใช่ไหมคะ ถ้าเราฝึกเห็นเช่นนั้นเองพอผัสสะเกิดขึ้นเรารู้ว่าเป็นผัสสะอะไร ไม่ใช่ไม่รู้ เพราะเรามีสติปัญญาเรารู้ผัสสะอันนี้เป็นอะไร คำว่าเป็นอะไรหมายความว่ามันดี ก็รู้ว่าดี ไม่ดี ก็รู้ว่าไม่ดี แต่จิตที่มีสติมันจะเห็นเช่นนั้นเอง ดีก็เช่นนั้นเอง ไม่ดีก็เช่นนั้นเอง น่ารักก็เช่นนั้นเอง ไม่น่ารักก็เช่นนั้นเอง ถ้าทำได้อย่างนี้ก็ไม่มีทั้งสุขเวทนาทุกขเวทนาหรืออทุกขมสุขเวทนา มันจะมีแต่ความรู้ที่อยู่เหนือเวทนา ไม่เข้าไปยึดติด ไม่เข้าไปเป็นทาส ไม่เข้าไปเป็นทุกข์เพราะเวทนานั้น
ที่บอกว่าอย่าตั้งความหวัง และในลักษณะของการทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง จะเอากำลังใจจากไหนมาทำงานให้ลุล่วง การทำงานก็จะไม่กระตือรือร้น มันก็มีอยู่นิดนึงที่เคยบอกแล้ว หวัง แล้วมันจะมีผิดหวังไหม อยากผิดหวังไหม เคยทุกข์เพราะผิดหวังมากี่ครั้งแล้วพอหรือยัง ก็เปลี่ยนจากความหวังมาเป็นการตั้งใจที่ทำให้ดีที่สุด แล้วก็รับเอาความพอใจอิ่มใจที่ได้รับ จากการที่ได้กระทำอย่างถูกต้องดีที่สุดนั้น มาชดเชยกับการที่จะตั้งความหวังมันจะไม่ดีกว่าหรือ เพราะเราจะไม่ต้องเสียพลังไปเลย หวังและ
ก็ทำดีที่สุดผลมันก็เท่านี้ ไม่หวังและก็ทำดีที่สุดผลมันก็เท่านี้ มันจะต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยของการกระทำเสมอ แต่ถ้าหวังแล้วละก็มันก็ต้องเสียแรงไปกับความวิตกกังวล กับความหวัง ว่าจะได้ดังหวังหรือไม่ แล้วมันทำให้เหน็ดเหนื่อย แต่ถ้าไม่หวังไม่ต้องเสียเวลาไปกับการวิตกกังวล จะสามารถทุ่มเทเวลาไปในการทำงานได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วยซ้ำไป
สุญญตาคือความว่างจากตัวตนใช่ไหม แล้วต่างจากอนัตตาอย่างไร
สุญญตาก็คือ ความว่าง หลังจากที่จิตนั้นได้ประจักษ์ในอนัตตาอย่างแท้จริง คือก่อนที่จะไปถึงสุญญตาจะต้องเห็นอนัตตาเสียก่อน
และก่อนที่จะเห็นอนัตตาก็ต้องเริ่มต้นด้วยอนิจจัง คืออนิจจตา เห็นความไม่เที่ยง
เห็นทุกขตา เห็นความทนได้ยาก
เห็นอนัตตาคือความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน
พอจิตมันแน่ มันชัด มันสัมผัสอย่างประจักษ์ ด้วยความรู้สึกอยู่ข้างใน ว่ามันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนให้ยึดมั่นสักอย่างเดียว นั่นแหละจิตมันว่าง มันว่างมันเบาสบายอย่างชนิด รู้สึกเป็นอิสระ ถูกปลดปล่อยจากพันธนาการทั้งหลายหมดเลย พันธนาการนี่มันเป็นพันธนาการที่เป็นนามธรรม คือความรู้สึกที่มันถูกผูกมัดอยู่ด้วยความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความไม่ชอบใจ ความชอบใจต่างๆนาๆ และมันก็ผูกมัดอยู่ มันทำให้จิตหนักอยู่ แล้วไปยึดมั่นคิดว่าเป็นอัตตา แต่พอถึงจุดที่เห็นชัดว่าอ๋อสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นมันเป็นอนัตตา มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนไม่ใช่สิ่งจริงๆซักอย่าง เท่านั้นล่ะมันว่าง มันเบา มันเป็นอิสระอย่างยิ่ง อิสระจากการรบกวนของกิเลสทั้งปวง อิสระจากความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง
มันเหมือนกับจิตที่อยู่บนยอดเขา มันมองลงมาเห็นอะไรต่ออะไรเกิดขึ้นอย่างที่มันควรจะเป็น แต่มันไม่นึกอยากจะกระโดดลงไปคลุกกับเขาด้วย มันมีแต่ความเมตตา ในความว่างของจิตที่เป็นสุญญตานี่นะคะ นอกจากว่างไม่ถูกรบกวนแล้ว มันยังเต็มไปด้วยความรู้สึกเมตตากรุณาที่แท้จริง อย่างอัปปมัญญาคือหมายความไม่มีขอบเขต ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่เลือกว่าคนนั้นเป็นอะไรกับเรา เราเห็นแต่เป็นมนุษย์เป็นคนที่พึงช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นสุญญตานี่มันเป็นภาวะของความว่างที่เป็นอิสระจากความรู้สึกเป็นตัวเป็นตน มันจึงเป็นอิสระอย่างยิ่งจริงๆ
ที่สอนว่าให้เห็นตนเองเป็นสรณะ คือตนเป็นที่พึ่งแห่งตน และทั้งสองอย่างนี้มีความหมายราวกับว่ามีอัตตาในตนเอง ก็รู้สึกเหมือนกับว่ามันค้านกัน หรือน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า ที่ว่าทุกอย่างต้องพึ่งพาอาศัยกันจึงรู้สึกว่าขัดกัน เป็นคนละแง่
ความจริงไม่ขัดกัน การที่เขาบอกว่าอย่างเช่นคำพังเพยที่บอกว่าน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า ก็เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติ ให้เรามีความสามัคคีกลมเกลียวกัน เพราะจะต้องมีความรู้ว่าเกิดมาในโลกนี้มันต้องอาศัยพึ่งกัน อย่างที่เรียกว่ามีความกตัญญูต่อกัน แม้นแต่ต้นหมากรากไม้ ข้าวปลาอาหารที่รับประทานไปทุกวัน เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่เราใช้อยู่ เราก็รู้มันมาจากอะไร กระดาษที่เราใช้อยู่มาจากอะไร เพราะฉะนั้นเราจึงควรจะกตัญญูต่อธรรมชาติ แม้ธรรมชาติจะมองดูเหมือนกับไม่มีชีวิต แต่เราก็ต้องพึ่งมัน นี่น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าสอนในแง่นี้ เพื่อให้คนเรามีความเห็นใจกัน มีความเมตตากรุณาต่อกันมีความช่วยเหลือกัน จนเห็นว่าเป็นเพื่อนกัน แล้วมันก็จะมาแก่งแย่งชิงดีและก็เบียดเบียนกันไม่ได้ ทีนี้ที่บอกว่าตนเป็นที่พึ่งแก่ตน อัตตา หิ อัตตโน นาโถ