แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
แล้วนี่ กระทำ กระทำให้ถูกต้อง เหมือนอย่างเรามาปฏิบัติอานาปานสติ จุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาจิตให้สงบ พร้อมอยู่ด้วยสติ สมาธิ ปัญญา อย่างที่เราทราบกันแล้วอย่างดีนี่ เราก็ชอบ พอใจ อยากจะมีจิตที่พร้อมไปด้วยสติสมาธิ ปัญญา แต่ไม่มีใครทำให้ จะไปขอร้องให้เพื่อนที่รักที่สุดหรือคุณพ่อคุณแม่ที่บอกว่าพร้อมที่จะสละชีวิตให้ลูก และก็อยากจะเห็นลูกมีกายมีจิตที่พร้อมไปด้วยสติ สมาธิ ปัญญา แต่ท่านก็ทำให้ไม่ได้ นี่แหละตนต้องเป็นที่พึ่งแห่งตน เมื่อฟังดูเหมือนกับว่าเป็นตัวเป็นตน แต่นี่เป็นคำกล่าวเพื่อเปรียบเทียบ เพื่อเป็นสื่อความหมาย เพื่อให้เข้าใจชัดเจนว่า ต้องกระทำด้วยการกระทำแห่งตน คือด้วยกายและจิต ด้วยนามและรูปที่ธรรมชาติให้มานี้ ทำอะไรด้วยตนแห่งตนนี่ ด้วยการกระทำแห่งตน ทำไปจนเห็นว่า แม้แต่ตน คือกายจิตที่เราเอามันมาใช้เพื่อการกระทำอันนี้ ผลที่สุดแล้ว มันก็เป็นอนัตตานั่นเอง แต่ถ้าไม่ทำ ก็ไม่มีวันจะมองเห็นใช่ไหมคะ ฉะนั้นจึงไม่ขัดกัน แต่มันพูดในความหมาย คนละลักษณะ คนละที
วัฏฏสงสารคืออะไร ทำไมจึงเปรียบกับทะเลขี้ผึ้ง วัฏฏสงสาร หมายถึงความวนเวียนอยู่ในภาวะแห่งความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป หมุนเวียนอยู่กับกิเลส กรรม วิบาก วัฏฏสงสารคือภาวะของความวนเวียนอยู่ในกิเลส กรรม วิบาก กิเลสก็เกิดการกระทำ ขอโทษกิเลสเกิดความอยาก คือมันมีตัณหาและมีความอยากตามกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ แล้วมันหยุดไม่ได้ มันก็ต้องทำ ก็เกิดเป็นกรรม การกระทำ แล้วมันก็มีวิบากคือผลของการกระทำ แล้วมนุษย์เราก็วนเวียนอย่างนี้ เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวเย็นอย่างที่ว่าแล้วนะคะ นี่มันก็อยู่ในทะเลวัฏฏสงสาร เขาจึงเปรียบว่าโลกเรานี้เหมือนกับทะเลขี้ผึ้ง รู้จักขี้ผึ้งใช่ไหมคะ ขี้ผึ้งประเดี๋ยวก็แข็ง ประเดี๋ยวก็อ่อน หรือประเดี๋ยวก็แข็ง ประเดี๋ยวก็เหลว มันแข็งเมื่อไหร่ เมื่อมันถูกความเย็นใช่ไหมคะ เมื่อได้รับความเย็นขี้ผึ้งนั่นทิ้งไว้ก็แข็ง แต่เมื่อมันถูกความร้อน ประเดี๋ยวมันก็อ่อน เอาแน่อะไรกับมัน มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ถ้าเหตุปัจจัยเป็นความร้อน ขี้ผึ้งมันก็เหลวนี่คือผล ถ้าเหตุปัจจัยเป็นความเย็น ขี้ผึ้งมันก็แข็งนี่คือผล เพราะฉะนั้นมันก็เป็นไปอย่างนี่ตามเหตุตามปัจจัย จะไปเอาอะไรกับมัน จะไปเอาอะไรกับมันก็คือ จะไปยึดมั่นถือมั่นอะไรกับมัน นี่คือสภาวะของโลก นี่คือวัฏฏสงสาร ประเดี๋ยวดีประเดี๋ยวชั่ว ประเดี๋ยวได้ประเดี๋ยวเสีย ประเดี๋ยวรักประเดี๋ยวชัง ประเดี๋ยวสุขประเดี๋ยวทุกข์ นี่คือทะเลขี้ผึ้ง ที่ประเดี๋ยวแข็งประเดี๋ยวเหลว ประเดี๋ยวอ่อนประเดี๋ยวกระด้าง ประเดี๋ยวเย็นประเดี๋ยวร้อน สภาวะของในโลกเป็นอย่างนี้ มันก็เหมือนกับทะเลขี้ผึ้ง ฉะนั้นถ้าหากว่าบุคคลผู้ใดไม่ฝึกฝนอบรมจิต ให้สามารถเห็นความเป็นเช่นนั้นเองได้ ดังที่เราพูดกันมา ก็ต้องตกอยู่ในทะเลของวัฏฏสงสาร ที่เปรียบเสมือนทะเลขี้ผึ้งนี่ตลอดเวลา เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวเย็น เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวเย็น เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวเย็น สลับกันไปสลับกันมา แล้วนึกดูเถอะมันปกติไหม มันก็ไม่ปกติ
ฉะนั้นถ้าอยากถอนใจขึ้น ถอนใจขึ้นมาเสียจากทะเลขี้ผึ้ง จากวัฏฏสงสาร นั่นก็คือด้วยการฝึกปฏิบัติอานาปานสติภาวนาตั้งแต่หมวดหนึ่งไปหมวดสองหมวดสามถึงหมวดสี่ จนจิตนี้เห็นชัดในอนัตตา แล้วก็จะถึงซึ่งสภาวะของสุญญตา นี่ก็จิตนั้นก็อยู่เหนือทะเลขี้ผึ้ง ใครจะร้อนจะหนาว ใครจะเย็นจะแข็ง จะอ่อน ใครจะสุขจะทุกข์ จิตที่พ้นจากสภาวะนั้นแล้ว จะมีแต่ความรู้สึกเป็นเช่นนั้นเอง คือเห็นชัดในความเป็นธรรมดา เช่นนั้นอยู่เสมอ
เวลานั่งภาวนามักจะง่วงนอน ทำได้สักพักก็หลับ แต่ยังมีความรู้สึกตัวอยู่ แต่การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกหายไป ไม่ทราบจะแก้ไขอย่างไร
ก็ลืมตา อันแรก ลืมตา เปลี่ยนจากท่านั่งเป็นท่ายืน แล้วก็นวดเนื้อนวดตัวนวดแขนนวดตา แล้วก็ใช้ผ้าเย็นที่มีอยู่นั่นแหละก็ช่วยตัวเอง แต่การที่ง่วงอันนี้ ถ้ามันเกิดจากการที่นอนไม่เต็มอิ่ม นอนไม่ค่อยหลับ ก็ต้องไปแก้ที่การนอนด้วย ต้องพยายามที่จะนอนอยู่กับลมหายใจให้ได้ก่อนที่จะหลับ ถ้าเรานอนหลับเต็มตื่นแล้ว มันสดชื่นกระปรี้กระเปร่า ถึงเวลาปฎิบัติมันก็จะไม่ง่วงมากนะคะ เพราะฉะนั้นก็แก้ด้วยวิธีนี้ เปลี่ยนอิริยาบททันที แล้วก็ดึงจิตมาอยู่กับลมหายใจให้ได้ ด้วยการใช้หายใจแรง ลมหายใจประเภทหายใจแรง จะแรงหนักแรงเบาแรงลึก จะเป็นสั้นเป็นยาว หรือว่าสั้นถี่ๆๆๆเพื่อบังคับตัวให้มันตื่น เพราะไม่อย่างนั้นมันจะหลับให้ได้ ก็แก้ไขได้ด้วยลมหายใจ เรามาฝึกลมหายใจเพื่อรู้ว่าจะใช้แก้ไขอย่างไร เพราะฉะนั้นลมหายใจที่เราจะใช้มันเฉพาะกิจนี่แหละรู้เอาไว้ สั้นถี่ๆๆๆนี่ มันก็ต้องบังคับให้หลับไม่ได้ มันจะต้องตื่น หรือว่าลึก แรง มันจะไล่ ขับไล่ความง่วงต่างๆเหล่านั้นออกไป เพราะฉะนั้นก็แก้ไขและโดยเฉพาะแก้ไขการนอนให้หลับให้เพียงพอในตอนกลางคืน
การปฏิบัติโดยการนั่งสมาธิ แล้วเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้าก่อนที่จะเกิดขึ้นกับตัวเอง ไม่ทราบเป็นเพราะเหตุใดจึงเห็นเช่นนั้น
มันอาจจะเป็นเหตุประจวบเหมาะ คือเป็นเหตุปัจจัยที่เผอิญประจวบเหมาะเกิดขึ้น ก็เลยเห็น แต่ที่เห็นนั่นนะจะเห็นจริงแค่ไหน เราก็ไม่ทราบนะคะ เราต้องดูให้ดี ว่าสิ่งที่เราเห็นนั่นน่ะเป็นสิ่งที่นึก มันเคยนึก มันเคยคิด มันเคยมี เป็นความทรงจำ ที่ฝังภายในจิตใต้สำนึกหรือเปล่า แม้ว่าจะนานมาแล้วแต่ว่ามันไม่ไปไหน เพราะฉะนั้นพอมีเหตุปัจจัยประจวบเหมาะ มันก็โผล่มาให้เห็น อันนี้ก็ขอให้ลองนึกดูให้ดี
ส่วนที่เราเคยพูดถึงเรื่องจิตเงียบ ถ้าบุคคลใดสามารถพัฒนาจิตเงียบให้เกิดขึ้น ด้วยการปฎิบัติสมาธิ จนกระทั่ง มีความมั่นคงอยู่ในนั้นเป็นเวลานาน จิตเงียบ อย่างที่บอกว่า มันรู้ได้ไกล เห็นได้ไกล มองได้ไกล เพราะฉะนั้นมันก็ดูอะไรลึกไป ลึก เห็นลึก ดูลึก รู้ลึก ฉะนั้นสิ่งต่างๆเหล่านี้มันอาจจะเกิดขึ้นได้ แต่อย่าไปยึดมั่นถือมั่น ว่ามันจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้จริงจังเสมอไป และก็ยังไม่ไปยึดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี่ มันจะต้องเกิด มันจะต้องใช่ มันต้องเป็นจริง เพราะถ้าไปยึดอย่างนั้นจะกลายเป็นมิจฉาทิฎฐิ เพราะเราพูดอยู่แล้วว่าทุกสิ่งเป็นอนัตตา ไม่ว่ารูปธรรมหรือนามธรรม
ความเมตตากรุณาที่มีให้กันซึ่งเป็นสิ่งที่ดีนั้น ต่างจากความสงสารเสียใจเมื่อเห็นคนอื่นเป็นทุกข์ ร้องไห้ไปกับเขาด้วยเมื่อเห็นเขาเสียใจอย่างไร
นี่ก็ความเมตตากรุณาที่จะช่วยเหลือกันนั้น ดี แต่ถ้าไปถึงก็ร้องห่มร้องไห้คร่ำครวญอะไรต่ออะไรต่างๆนั่น นั่นก็เป็นเพราะขาดสติ ไม่สามารถจะควบคุมใจตัวเองได้ จึงได้ไปฝังใจลงไปลึกซึ้ง ก็ต้องฝึกสติให้มากขึ้นนั่นเอง คือฝึกอานาปานสติให้มากขึ้น จิตใจก็จะเข้มแข็งขึ้น เพราะเห็นความเป็นเช่นนั้นเอง หนักแน่นขึ้นทีละน้อย
การสอนทีวีที่บอกว่า สั่งจิตให้สำนึกและก็กลายเป็นสามารถจำสิ่งของได้สามสิบรายการตามลำดับอะไร ต่ออะไรต่างๆเหล่านั้นน่ะ นั่นก็เป็นการฝึกพลังของจิตตามธรรมดา แต่ไม่ใช่ในตามทางพระพุทธศาสนา ถ้าตามทางพระพุทธศาสนานั่นคือ มาฝึกจิตเพื่อให้จิตสงบ พร้อมอยู่ด้วยสติ สมาธิ ปัญญา เพราะสามารถเห็นสิ่งที่เป็นอนัตตา แล้วจิตนี้จะอยู่ขึ้นจะอยู่เหนือ และก็จะมองเห็นว่าแม้แต่การที่จะไปจำอะไรต่ออะไรได้อย่างนั้น แสดงอภินิหารความศักดิ์สิทธิ์ให้เห็นได้อย่างนั้น มันช่วยให้จิตนี่เป็นอย่างไร จิตนั่นเกิดความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นอัตตาความเก่งของอัตตายิ่งขึ้นหรือเปล่า หรือว่าจิตนั้นเกิดความเยือกเย็นผ่องใสมากขึ้น ถ้าหากว่ามันไม่เป็นอย่างนั้นมันก็ไม่มีประโยชน์อะไร ไม่จำเป็น ถ้าเราฝึกจิตด้วยสมาธิจนเกิดสติปัญญาอย่างเต็มที่ สติปัญญาที่เกิดจากจิตอันเป็นสมาธิ อย่างนี้แหละจะช่วยให้สามารถคิด จำ อะไรต่ออะไรต่างๆได้ชัดเจนและก็แม่นยำและเกิดประโยชน์แก่ชีวิต
การกำหนดจิตเงียบระหว่างรับประทานอาหาร ควรกำหนดสติตั้งอยู่ที่ลมหายใจ หรืออาหารที่กำลังเคี้ยว ถ้ากำหนดที่ลมหายใจ เมื่อปฎิบัติจริงรู้สึกเคี้ยวไม่ได้ละเอียด เสียงดัง แล้วยังรู้สึกว่าติดขัดที่ลมหายใจถี่อีกด้วย ควรแก้ไขอย่างไร
อันที่จริงถ้าเรารู้อยู่กับลมหายใจ ก็หมายความว่าจิตนั้นมีสติ ถ้าจิตรู้กับลมหายใจจริงๆนะคะ จิตมีสติ ฉะนั้นการเคี้ยวมันจะเคี้ยวไปตามธรรมชาติ เคี้ยวละเอียด มันไม่ต้องรีบเคี้ยว มันเคี้ยวช้าๆ เพราะจิตมันมีสติ การที่เรารีบเคี้ยว เคี้ยวไม่ละเอียด เคี้ยวไม่แหลก นั่นเพราะมันมีความอยากอยู่ในใจ อยากให้มันเสร็จๆๆไปเสีย และในขณะนั้นจิตไม่มีสติ แต่ถ้าหากว่าเราอยู่กับลมหายใจ จิตมีสติ มันจะพิจารณา ถ้าจิตมันมีสติ แล้วก็เป็นสมาธิที่มั่นคง และก็มีความชำนาญ มันจะพิจารณาไปถึงลักษณะของอาหารที่กำลังเคี้ยว แล้วมันจะเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของคำข้าวนั้นด้วย พูดอย่างนี้เข้าใจไหมคะ จะเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของข้าวคำที่เคี้ยวนั้นด้วย พอเริ่มแรกตักข้าว รูปลักษณะเป็นยังไง พอใส่ปาก รูปลักษณะเป็นยังไง พอเคี้ยวไปๆลักษณะมันเป็นยังไง ถึงเราไม่มองเห็นมัน แต่เราก็รู้ เราสัมผ้ส ถ้าไม่แน่ใจก็คายออกมาในมือ ก็จะเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาของคำข้าวใช่ไหมคะ นี่แหละเรียกว่าถ้ายังอยู่กับลมหายใจเรามีสติ มันจะรู้ครอบไปหมดเลยทุกอย่าง ไม่ว่าทำอะไร เพราะฉะนั้นถ้าเอาใจไปอยู่ที่คำข้าว มันก็จะรู้เฉพาะแค่คำข้าว แต่ถ้าเอาใจอยู่ที่ลมหายใจ ลมหายใจพัฒนาสติให้เกิดขึ้น มันรู้หมดทั่วเลย ว่ากำลังทำอะไรอยู่ มันกว้างขวาง มันครอบคลุมได้มากกว่ากัน
สติสัมปชัญญะ สติคือความระลึกรู้ อย่างที่บอกแล้ว ทีนี้ถ้าสตินั้นพร้อมอยู่ด้วยสมาธิ พร้อมอยู่ด้วยปัญญามันก็จะเกิดสัมปชัญญะ คือความรู้ตัวทั่วพร้อม มันรู้อย่างว่องไว รู้อย่างแหลมคม รู้อย่างมั่นคงหนักแน่น คือมันยิ่งรู้ชัด รู้ตัวทั่วพร้อมนี่ยิ่งชัด ยิ่งทั่วถึง ยิ่งขึ้นไปอีก ทีนี้แต่ละอย่างจะเกิดขึ้นเมื่อใด ต้องเกิดสติก่อน ต้องมีสติมีสมาธิก่อน แล้วสัมปชัญญะจึงจะเกิดขึ้น และถ้าหากในสติสมาธินั้นตามด้วยปัญญา สัมปชัญญะนั้นก็จะรู้ตัวทั่วพร้อมที่ชัดเจน แจ่มแจ้ง และก็ทั่วถึงยิ่งขึ้น มันจะต้องมาทีหลังสติสมาธิ
เวลาปฏิบัติถึงขั้นสาม รู้สึกตัวโงนเงนเหมือนจะหลับ ทั้งที่ตั้งใจปฏิบัติ และก็รู้สึกมือชาด้วย ทั้งๆที่คิดว่าตัวเองไม่ได้เครียด
นี่แหละมนุษย์เรามักจะคิดว่าเราไม่ได้เครียด แต่มันเครียด มันเครียดอยู่ลึกๆเครียดอยู่น้อยๆอย่างที่พูดแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อรู้สึกว่าตัวโงนเงนก็คงเพลียนั่นแหละ เราปฏิบัติมา ตั้งแต่ตื่นตั้งแต่ตีสี่ใช่ไหมคะ มาจนกระทั่งถึงสิบเอ็ดโมง เรามาเริ่มปฏิบัติขั้นที่สามมันก็เกิดความเพลีย เหนื่อย มันก็เลยโงนเงนอ่อนเพลียไปบ้าง ก็พยายามลืมตา หายใจยาว ลึก แรง อย่างที่ว่านั่นแหละ แก้ไขไปทีละเล็กละน้อย
คำว่า คน กับคำว่า มนุษย์ ความหมายต่างกันยังไง
พอเกิดมานี่นะ เขาก็เรียกก็เรียกว่าเป็นคนละ พออกมาก็เป็นคน เป็นสิ่งมีชีวิต หรือถ้าจะพูดอย่างคำรวม เขาจะเรียกว่าเป็นสัตว์โลกชนิดหนึ่ง สัตว์โลกก็มีตั้งแต่สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สี่เท้าสองเท้า ไปจนกระทั่งถึงมนุษย์นี่ล่ะ เพราะฉะนั้นคนก็คือสัตว์โลกชนิดหนึ่ง แต่ทีนี้เรามักจะเรียกบางทีเราเรียกคนบ้างมนุษย์บ้าง แต่ถ้าในความหมายแล้วละก็ มันมีความหมายต่างกัน ถ้าคนนี่ มันมักจะหมายถึงสิ่งมีชีวิตในลักษณะของเราอย่างนี้นะคะ คนนี่เกิดมายังไม่มีการพัฒนา ถ้าจะเป็นมนุษย์เต็มความหมายของมนุษย์ ก็ต้องนึกถึงความหมายของคำนี้
มนุษย์ ก็ มะ-นะ มอนอหนูที่แปลว่าใจ บวกกับอุษย์ อุษย์ก็แปลว่าประเสริฐ ออ-สระอุ-สอบอ-ยอยัก-การัน อุษย์ประเสริฐ เพราะฉะนั้น มะนะบวกอุสสะยะ ก็แปลว่าผู้มีใจอันประเสริฐ มนุษย์ก็คือผู้มีใจอันประเสริฐ ผู้ที่มีใจอันประเสริฐก็ต้องเป็นผู้ที่มีใจเหนือคนธรรมดา นั่นคือมีใจที่เห็นแก่ตัวน้อยลงๆ จนหมดสิ้นเลยยิ่งวิเศษ มีใจที่ไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่น มีน้ำใจที่พร้อมจะให้ ช่วยเหลือ มีการมีน้ำใจที่ตั้งใจจะกระทำสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น แก่งานหรือแก่เพื่อนมนุษย์ นี่คือมนุษย์
แต่ถ้าเราไปเปิดดูปทานุกรม ปทานุกรมนี่ไม่ให้คำอธิบายให้ชัดเจน ไปถึงไปเปิดคน ก็คือมนุษย์ มนุษย์ก็คือคน แต่ความจริงแล้วในความหมายที่แท้จริงมันต่างกัน มันไม่เหมือนกัน คนนี่เรามักจะหมายถึงในความหมายในระดับหนึ่ง คือคนที่ประกอบไปด้วยสติปัญญามันสมอง มีความฉลาดกว่าสัตว์อื่นๆ แต่ว่าในทางใจนั้นน่ะอาจจะยังไม่พัฒนา ยังรกรุงรัง ขรุขระอยู่
เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงคนนี่ เราจะแบ่งออกได้เป็นสามอย่าง
ระดับแรกเราเรียกว่าเป็น ปุถุชน หรือ ปุถุชชน เป็นคนที่เป็นปุถุชนที่เราบอกว่าโอ้ยฉันก็ยังปุถุชนนี่นา คนพูดจะเข้าใจหรือเปล่าว่า เมื่อบอกว่าก็ยังเป็นปุถุชนก็คือหมายความว่ายังเป็นคนหนา ปุถุชนนี่คือคนหนา หนาด้วยอะไร หนาด้วยธุลี ธุลีก็คือผง หมายถึงหนาอยู่ด้วยกิเลสนั่นเอง ยังมีกิเลสครอบคลุมใจอยู่ กิเลสของโลภะ โทสะ โมหะ คือมีธุลีของโลภะ โทสะ โมหะ มีความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน มีความเห็นแก่ตัว จะเอาอะไรให้ได้อย่างใจตัว นี่คือจิตของปุถุชน และมันก็ทุกข์ร้อนไม่รู้แล้วนั่นแหละ
ทีนี้เมื่อพัฒนาใจขึ้น ค่อยๆเห็นแก่ตัวน้อยลง เห็นแก่ผู้อื่นมากขึ้น เบียดเบียนคนอื่นน้อยลง รู้จักที่จะไม่เอาแต่ใจของตัวเอง ก็เรียกว่าเป็นคนดีขึ้น ก็จะเรียกว่า เป็นกัลยาณชน นี่ก็พัฒนาจากปุถุชนที่มันจะเอาอะไรให้ได้ดังใจตัวเอง ต้องการทุกอย่าง อย่างปุถุชน เหมือนอย่างเฮเลน เคลเลอร์ตอนเป็นเด็กเล็กๆที่ยังไม่ถูกปราบ ปุถุชนเต็มที่เลย พอถูกครูแอนนี่ปราบ อบรมเสียดีขึ้นรู้จักเชื่อฟัง รู้จักทำอะไรอย่างถูกต้องขึ้น ก็เป็นคนดีเป็นกัลยาณชน รู้จักกระทำสิ่งที่จะเกิดประโยชน์ ไม่เร่งรัดที่จะเอาเปรียบเอาอย่างใจ ไม่แผลงฤทธิ์อะไร รู้จักช่วยเหลือกันเรียกว่าเป็นคนดีมีศีลธรรมพูดง่ายๆ กัลยาณชนก็คือคนดีมีศีลธรรม แต่นั่นแหละก็อย่างที่เราพูดกันแล้ว การเป็นคนดีมีศีลธรรมพอไหม ก็ยังไม่พอ ก็มันยังทุกข์อยู่ มันยังร้องไห้อยู่ ยังร้อนรนอยู่ พอเราเห็นโทษทุกข์ของความร้อนรน เดือดร้อนต่างๆ ก็มาแก้ไข มาปรับปรุง
มาพัฒนาจิต จนกระทั่งจิตนั้นถึงซึ่งความว่าง หรือว่าลดละความเห็นแก่ตัวออกไป ตอนนี้แหละก็จะเลื่อนจากกัลยาณชน ไปถึงระดับของอริยชน อริยะก็คือประเสริฐ เป็นชนผู้ประเสริฐ ก็หมายความว่าเป็นสภาวะของจิตที่สามารถรักษาจิตนั้นให้อยู่เหนือสภาวะของความเป็นไปในโลก หรือเหนือวัฏฏสงสาร นี่แหละเป็นอริยชน
เพราะฉะนั้นความเป็นมนุษย์มันก็มีหลายระดับและพัฒนาไปเรื่อย เพราะว่าชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาและก็พัฒนาได้ ก็พัฒนาไปเรื่อยจากปุถุชนไปกัลยาณชนแล้วก็ไปอริยชน มันจึงควรมีจุดหมายของการที่จะพัฒนาชีวิต
ทีนี้ส่วนอาสวะ อนุสัยหมายความว่าอย่างไร จะเอาไว้อธิบายเมื่อเราพูดถึงเรื่องของกิเลส
ชีวิต ที่กล่าวว่าชีวิตเหมือนพยับแดด พอจะเอาเข้าจริงๆกลับหามีตัวตนไม่ ใช่หรือไม่
อันนี้ก็หมายความว่า เป็นการเปรียบเทียบ เหมือนอย่างเวลาเรานั่งรถไป อย่างเรานั่งรถยนต์ แล้วกลางแดด เรานั่งข้างหน้าเคยสังเกตไหม พอมองไปข้างหน้า โอ้ยเหมือนกับพยับแดด แล้วบางทีเหมือนกับน้ำนองถนน แต่พอรถไปถึงแล้วไม่มีอะไร นี่ก็เป็นการอุปมาว่า โอ้ยชีวิตนี่มันก็ไม่มีอะไรเป็นแก่นสารให้ยึดมั่นถือมั่นจริงๆเลย มันไม่มี นี่หมายความว่าถ้าเราดูนะคะ ถ้าเราหมั่นย้อน ผลักจิตนี่เข้าข้างใน ผลักความรู้สึกเข้าข้างใน ศึกษามันเรื่อย ดูมันเรื่อย เราจะเห็นชัด พอเห็นชัดเข้า เราก็เลยไม่ยึดมั่นถือมั่น แล้วสภาวะของความเป็นอนัตตามันก็ประจักษ์ชัดขึ้นมาในจิต
จะรู้ได้อย่างไรว่าจิตสงบพอหรือยัง ที่จะนำวิปัสสนามาใคร่ครวญถึงความจริงแท้ของธรรมชาติ หรือจิตต้องสงบขนาดไหนถึงจะเป็นวิปัสสนาได้
ก็หมายความว่าเมื่อจิตมันไม่วอกแวก พอจะใคร่ครวญถึงเรื่องของอนิจจังมันก็อยู่ ที่จะดูเห็นความไม่เที่ยง หรือว่าจะใคร่ครวญถึงเรื่องของอนัตตา มันก็สามารถจะมองดูอยู่แต่เรื่องของอนัตตาตลอดเวลา แต่ถ้าสมมติว่าพอตั้งใจอยากจะดู มีความอยากจะดูอนัตตาสักหน่อย จิตมันก็วิ่งไปคิดโน้นคิดนี่ แสดงว่ามันยังไม่สงบ ก็ต้องหันดึงมา เพื่อพัฒนาสมาธิให้มากเสียก่อน ให้มีสติเตือนใจตนเองได้ พอเสียก่อน อันนี้จะรู้เอง ตอนนี้ก็อย่าเพิ่งใจร้อนนะคะ เราฝึกปฏิบัติในหมวดที่หนึ่ง ให้เพียงพอเสียก่อนซักวันสองวัน แล้วเราถึงค่อยดูพื้นจิตของเราต่อไป ถ้ามันสงบพอที่ว่า มันจะดูอะไรได้ เอาเช่นนั้นเอง ดูเช่นนั้นเองๆๆ แล้วจิตไม่วอกแวกไปไหนเรียกว่าสงบ แต่ถ้าพอตั้งใจอยากจะดู ดูหยุด ดูหยุด ดูหยุด ต้องมาหยุดยุ่งกับความคิด ก็กลับมาพัฒนาให้มันสงบด้วยสติสมาธิก่อน
รู้ลมหายใจเข้าออกแล้ว แต่ยังมีความคิดอยู่ ทำอย่างไรถึงจะติดตามถึงจะตัดความคิดนั้นได้
ถ้าหากว่ารู้ลมหายใจเข้าออกแล้วความคิดจะไม่เข้ามา นี่เป็นความจริง ฉะนั้นถ้าความคิดยังมีอยู่ละก็ขอให้รู้ไว้เถอะว่า ยังไม่รู้หรอกลมหายใจ เพราะใจมันไม่ได้อยู่กับลมหายใจ มันไปอยู่กับความคิด ฉะนั้นอยากจะตัดก็ เมื่อเช้าฝึกแล้วจะเอาลมหายใจอย่างไหนละคะมา ตัดความคิด เอาลมหายใจอย่างไหน อ้าวเราฝึกมาเมื่อเช้านี่จะเอาลมหายใจอย่างไหน แรง (เสียงหายใจแรงๆ) นี่เพราะหายใจอย่างนี้ อะไรความคิดอะไรจะอยู่ อยู่ได้ไหม อยู่ไม่ได้ อย่างน้อยในขณะนั้นมันต้องออกไป อ้าวประเดี๋ยวมันมาอีกก็เอาอีก (เสียงหายใจแรงๆ) มันต้องออกไป แล้วมันก็เหนื่อย พอเหนื่อยแล้วไม่รู้จะคิดอะไรแล้ว มันต้องหยุดคิด เพราะฉะนั้นใช้ลมหายใจนี่แหละให้เกิดประโยชน์ เราเรียนรู้ลมหายใจเพื่อจะเอามาใช้ตรงนี้
เาลาเหนื่อยมากๆ แล้วทำสมาธิ สามารถตามลมหายใจเข้าออกได้ แต่จะมีความคิดผุดขึ้นมา หรือเหตุการณ์ต่างๆลอยเข้ามา โดยเราควบคุมไม่ได้ ทั้งที่พยายามจะตามดูให้รู้ทันแต่ก็ไม่ทัน จะมีวิธีแก้ไขอย่างไร
นี่เพราะไม่เชื่อนะ ไม่เชื่อตัวเอง ว่าขณะนั้นว่าลม จิตไม่ได้อยู่กับลมหายใจ มันถึงได้มีเหตุการณ์ต่างๆมีอะไรต่างๆลอยมาสารพัดเลย ถ้าจิตอยู่กับลมหายใจ รู้อยู่กับลมหายใจอย่างเดียว มันจะไปไม่ได้ เหมือนอย่างเราผูกมันไว้มั่น เจ้าลิงนะลิงป่า เราผูกด้วยโซ่แข็งแรงไว้กับเสา แล้วก็ไม่ปล่อยสายโซ่ยาวเลย สายโซ่ก็ติดอยู่กับเสา ผูกอย่างแน่นหนาเงื่อนมั่นคง ลิงนั่นจะวิ่งพล่านไปไหนได้ ใช่ไหมคะ มันวิ่งไม่ได้ แต่ทีนี้เราชะล่าใจ เราปล่อยสายโซ่ที่ผูกน่ะยาวเชียว แน่นอนพอยาวเข้า มันก็มีบริเวณที่มันจะอาละวาด ไปได้ เดี๋ยวก็ไปมุมนี้ เดี๋ยวก็ไปมุมนั้น อะไรอยู่ใกล้ๆมันก็หยิบมาขว้างมาเล่น นี่เราชะล่าใจ ชะล่าใจมากเข้า เอ้าไหนลองปล่อยมันซิ มันจะไปถึงไหน มันก็ไปเต็มที่เลย นี่ไม่เชื่อตัวเอง ไม่เชื่อความจริงที่เกิดขึ้นกับตัวเองว่า ลม จิตไม่ได้อยู่กับลมหายใจ โปรดดูเสียใหม่ ถ้าอยู่กับลมหายใจจริงๆแล้วจะไม่มีวันที่จะมีอะไรเข้ามาได้
คำถาม เคยอ่านพบว่าการปฎิบัติภาวนา ว่าการทำวิปัสสนาภาวนาจะต้องผ่านสมถะภาวนาอย่างน้อยเกิดปฐมฌาน ต้องการทราบว่าเป็นความจริงหรือจำเป็นเพียงใด
ก็ถ้าสามารถทำได้นะคะ ก็จะยิ่งดี จิตที่เป็นสมาธินั่นจะหนักแน่นมั่นคงมากเลย และก็เมื่อจะใช้เป็นฐาน เพื่อที่จะไปฝึกปฎิบัติต่อไป มันก็จะเป็นไปได้โดยง่าย ที่ให้ได้ถึงฌานเสียก่อน ถ้าเราจะปฎิบัติฌานก็ในขั้นที่สี่ของอานาปานสติ แต่เราก็ไม่มีเวลา เพราะการที่เราจะมาฝึกจนกระทั่งถึงฌาน มีฌานนี่มันต้องใช้เวลานาน เพราะนี่เพียงจะเอาให้อยู่กับลมหายใจ ให้จิตมันสงบเฉยๆ มันเป็นไปไม่ได้เลยใช่ไหมคะ แต่ถ้าทำได้ล่ะดีแน่ แต่ไม่ใช่หมายความว่า ต้อง ยิ่งเราจะต้องการเรียนรู้เพื่อไปไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน อย่างชนิดพอแก้ปัญหาของชีวิตประจำวัน ก็ยังไม่ต้องเอาถึงฌานหรอก เอาแต่เพียงว่าให้มันสงบ และก็สามารถบังคับจิต ให้มองเห็นเช่นนั้นเอง ในผัสสะที่เกิดขึ้น ได้เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว และก็รู้จักจะใช้ลมหายใจแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้องเหมาะสม ก็พอใช้ได้แล้ว
การทำให้ทุกข์เกิดหรือการดับทุกข์ คือการควบคุมผัสสะในทุกขณะจิต เพื่อไม่ให้เวทนาเกิดขึ้นใช่หรือไม่
ใช่ถูกต้องแล้ว พอผัสสะเกิดขึ้นก็เห็นเช่นนั้นเองได้ทัน จิตก็ไม่หวั่นไหว
เมื่อเช้านี้ไปฟังธรรมท่านกล่าวท่านอาจารย์กล่าวถึงปฏิจจสมุปบาท สงสัยอยู่ว่าความอยากที่เกิดจากความโง่นี้เราเรียกว่าตัณหา แล้วความอยากที่จะรู้ในสิ่งที่ดีเรียกว่าสังกัปปะ ถ้าเช่นนี้แล้วความอยากซึ่งเป็นกลางๆ อย่างอยากปัจจัยสี่นี่จะเป็นความอยากแบบใด แล้วที่เราบริโภคปัจจัยสี่นี่จะเรียกว่าเรามีอัตตาหรือไม่
ความอยากนี่นะคะมี ถ้าเราอยากจะใช้คำ คำที่เรียกความอยาก เราก็จะใช้ได้สองคำ
คำหนึ่งคือตัณหา ตัณหานี่เป็นความอยาก ที่พอเกิดขึ้นในใจแล้วมันร้อนรน มันร้อนรน มันเกิดความดิ้นรนเพราะมันกลัวจะไม่ได้ มันอยากจะได้ จิตนี้ก็กระเพื่อม ซัดส่าย ซัดส่ายไปมา อยากมากมันก็ส่ายแรง เหวี่ยงสุดโต่งก็มี เพราะฉะนั้นอย่างนี้เราเรียกว่าตัณหา เพราะมันทำให้จิตเกิดทุกข์ และก็เมื่อเป็นตัณหามันก็โง่นั่นแหละ ถึงได้ทำให้จิตนี้เป็นทุกข์ เรียกว่าเป็นความโง่จึงทำให้จิตนี้เป็นทุกข์
แต่ถ้าเมื่อเรามาฝึกอบรม เราได้มาฟังธรรมะ เราได้เข้าใจว่า จิตที่เป็นตัณหา หรือตัณหามันเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วเราก็พยายามแก้ไขปรับปรุงมันเสียใหม่ แต่เราก็ยังมีความอยากที่จะกระทำสิ่งที่เกิดประโยชน์ อย่างนี้ก็ถือว่าการทำความอยากเพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นนี้ เป็นสังกัปปะ เป็นสัมมาสังกัปปะ คือหมายความว่าเป็นความต้องการที่ถูกต้อง เป็นความต้องการด้วยสติปัญญา คือไม่เป็นความต้องการที่ เมื่อต้องการแล้วใจมันไม่ร้อนรน เพราะมันไม่ได้นึกอยากเอามาเป็นของเรา ถ้าตัณหาละก็มันอยากเอามาเป็นของเรา ถ้าสัมมาสังกัปปะละก็ มันอยากจะกระทำสิ่งที่เห็นว่าเกิดประโยชน์ มันถูกต้อง เป็นสิ่งถูกต้องที่ควรกระทำ เพราะมันจะเกิดประโยชน์ เกิดประโยชน์แก่งาน เกิดประโยชน์แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง เกิดประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ เกิดประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมอย่างนี้เป็นต้น นั่นถือว่าเป็นสังกัปปะเป็นความต้องการที่พอนึกขึ้นมาแล้ว มันมีแต่ความชื่นใจที่จะทำสิ่งนี้ พอใจที่จะได้ทำ ยินดีที่จะเห็นเพื่อนมนุษย์เป็นสุขด้วยกัน นี้เป็นสังกัปปะเพราะจิตนี่ไม่ทุกข์เลย จึงเรียกว่าเป็นความต้องการหรือเป็นอยากด้วยสติปัญญา สังกัปปะก็เป็นองค์หนึ่งในอริยมรรค