แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
[00:57]
คำถาม : อยากให้พระเดชพระคุณได้ให้คติธรรมเนื่องในวันปีใหม่ให้กับประชาชน อันนี้อันหนึ่ง อันที่สองคือเมื่อไม่นานมานี้ กระผมได้ดูทีวีช่องหนึ่ง มีสุภาพสตรีท่านหนึ่งบอกว่าเดิมทีไม่ชอบเลี้ยงสุนัข แต่ต่อมาเลี้ยงสุนัข แล้วมีสุนัขเป็นร้อย ๆ เขาพูดกับผู้ชม แล้วพิธีกรก็ถามว่า เพราะเหตุใดจึงได้เลี้ยงมากขนาดนั้น สตรีผู้นี้ก็ตอบว่าเลี้ยงสุนัขนี้ได้บุญร้อยเปอร์เซ็น ถ้าหากว่าไปทำบุญเลี้ยงพระอาจจะ 50-50 ในประเด็นนี้ พระเดชพระคุณคิดว่า ชาวพุทธควรจะทำความเข้าใจเรื่องนี้อย่างไร เพราะว่าถ้าพูดออกไปอย่างนั้น รู้สึกว่าเสียหายมาก
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ : ก็ไม่เสียอะไรหรอก เราจะได้รู้ว่าแกเข้าใจแค่ไหน คือ เราจะได้รู้ตัวคนนั้น และรู้กว้างออกไปว่าสังคมไทยเป็นอย่างนี้กันหรือไม่ แล้วก็รู้ด้วยว่าการเข้าใจต่อเรื่องพุทธศาสนาหลักธรรมสังคมไทยเรามีแค่ไหน แล้วเราจะได้เอามาเป็นฐานในการคิดแก้ปัญหา แกว่าทำบุญให้หมาดีกว่าถวายพระใช่หรือไม่ มันอยู่ที่ว่าจะเอาอะไรเป็นเกณฑ์ตัดสิน
1. แกเข้าใจความหมายของคำว่าบุญว่าอย่างไร
2. แกใช้เกณฑ์อะไรตัดสินในความเป็นบุญนั้น
มันโยงอยู่ด้วยกัน ถ้าเข้าใจความหมายของบุญ แกนึกว่าบุญเป็นอะไรเป็นก้อน ๆ พอไปทำอะไรแล้วได้บุญอันนั้นคือหมา เป็นชิ้นเป็นอัน แกไม่ได้นึกว่าบุญเป็นคุณสมบัติที่ดีที่เกิดขึ้นในชีวิตจิตใจของคน คุณสมบัติอันนี้ก็มาเป็นตัวเราที่จะเรียกว่าปรุงแต่งก็ได้ ก็มาสร้างสรรค์ชีวิตของเราให้เจริญงอกงามขึ้นไป มีคุณสมบัติดียิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นบุญก็มีหลายด้าน บุญด้านจิตใจ ด้านความมีเมตตากรุณาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ บุญด้านความมีจิตใจเข้มแข็ง การมีสติสมาธิ การมีความเข้มแข็งเพียรพยายาม ความขยันอดทน และบุญด้านปัญญาความรู้ความเข้าใจต่อโลกต่อชีวิต อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ อันนี้ก็คือบุญที่เป็นคุณสมบัติในชีวิตที่ทำให้ชีวิตของเราเจริญงอกงามไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งว่าตัวบุญไปเด่นที่ปัญญา แล้วปัญญาก็เป็นตัวพัฒนาบุญ ทำให้คุณสมบัติในตัวเราเป็นพื้นฐานของการที่จะเจริญก้าวหน้าจนไปเป็นพระพุทธเจ้าได้ เป็นพระอรหันต์ได้
อันนี้มองในแง่ภายใน คือว่า ตัวเองนี้ทำบุญแล้ว มีคุณสมบัติอะไรดีเกิดขึ้นในตัวเอง แล้วตัวเองได้พัฒนาเจริญงอกงามไปแค่ไหน แล้วไปเลี้ยงหมาแล้วตัวเองพัฒนาอย่างไรบ้าง มีคุณสมบัติอะไรดีขึ้นมาบ้าง คิดดู แต่ได้อันหนึ่งคือได้ปิติปลาบปลื้มใจเพราะคนเรารักอะไรชอบอะไร ทำให้แก่สิ่งนั้นได้ตามใจตนสนองความต้องการก็เกิดความสุข แล้วก็มาพร้อมด้วยปิติความปลาบปลื้มใจ ก็ได้บุญในแง่นั้น ก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ว่าต้องมีปัญญาด้วย แล้วเราได้มองเห็นไหมว่า ที่เราทำนี้จะเกิดประโยชน์แก่ชีวิตของเราแก่ครอบครัวแก่สังคมอย่างไร การทำบุญเลี้ยงหมานี้ต่อไปแล้วมีผลดีต่อสังคมอย่างไร ทำให้ชีวิตมนุษย์ดีขึ้นอย่างไรบ้างไหม
ทีนี้ถ้าเราทำบุญถวายพระ พระท่านไม่มีกำลังศึกษาเล่าเรียน เราก็เกื้อกูลแก่ชีวิตพระนั้น พระท่านก็มีชีวิตที่เจริญงอกงาม แล้วท่านก็อาจจะไปสั่งสอนผู้คน ธรรมะก็ขยายออกไป สังคมรู้ทิศรู้ทางว่าจะทำอะไรถูกต้องดีงามประพฤติถูกต้องใช้ธรรมะให้เป็นประโยชน์ สังคมนั้นก็จะเจริญก้าวหน้า มีความร่มเย็นเป็นสุข นี่แหละคือบุญที่มีผลออกไป การที่ไปทำบุญเลี้ยงหมาจะเป็นอย่างไร จะเกิดผลต่อชีวิตต่อสังคมอย่างไรบ้าง ซึ่งที่เราถวายพระก็เพราะว่าพระท่านเป็นผู้ดำรงธรรม รักษาธรรม เผยแผ่ธรรม ทำให้ธรรมะนี้อยู่ในโลกต่อไป แล้วก็เผยแพร่ออกไปเป็นประโยชน์ต่อชีวิตและสังคมมนุษย์ ฉะนั้นเราก็ไปเลี้ยงพระเพื่อให้ท่านมีกำลังที่ท่านจะไปปฏิบัติศาสนกิจ เป็นการเล่าเรียนก็ตาม เป็นการศึกษาปฏิบัติก็ตาม แล้วก็เป็นการเผยแผ่ธรรมคำสอนก็ตาม แล้วประโยชน์ก็ออกไปเป็นประโยชน์สุขของชาวโลก รวมแล้วก็คือว่า ทำให้โลกนี้ดี ทีนี้ การเลี้ยงหมาก็ใช่ ทำให้โลกนี้ดีส่วนหนึ่ง แต่ดีในวงแคบมากเหลือเกิน อธิบายแค่นี้ไม่ทราบพอหรือไม่ แต่ก็จะบอกว่า ดี ได้บุญ อนุโมทนาด้วยในแง่ว่า ถ้าคุณรักหมา คุณก็ได้ความปลาบปลื้มใจ แต่ถ้าพูดแรงก็จะเสีย คือ
"คนเรา พอจิตไปผูกพันอะไร รักมากก็จะยึดติด ต่อไปในแง่หนึ่งของจิตใจ จะเกิดสิ่งที่ตรงข้ามกับบุญคือบาปได้ง่าย"
พอใครมาทำอะไรต่อสุนัขของคุณ คุณจะโกรธแล้วบาปก็เกิดขึ้นใช่หรือไม่ ทีนี้ เรื่องวุ่นวายก็เกิดขึ้น ต่อไปถ้าเกิดจิตใจคุณเกิดยึดเรื่องหมาเข้าไป รักหมามาก ถ้าเอาในแง่เชื่อเรื่องตายแล้วเวียนว่ายตายเกิด จิตยึดหมา ตายแล้วก็ไปเกิดเป็นหมาอีก แล้วจะทำอย่างไร คนเรานี้จะไปเกิดไปเป็นอะไรอยู่ที่ภูมิจิต คุณสมบัติของจิต แล้วก็ความผูกพัน จิตไปยึดติดอะไร ก็จะไปหาสิ่งนั้น มันเป็นเรื่องธรรมดา ระดับจิตหนึ่ง และสิ่งที่จิตเกาะเกี่ยวยึดหน่วงหนึ่ง เหมือนกับที่พูดกันถึงเรื่องหลวงปู่โสมเฝ้าทรัพย์ แกยึดติดผูกพันกับทรัพย์นั้นก็เลยตายแล้วไม่ไปไหน ก็เลยไปเฝ้าทรัพย์อยู่นั้น จะไปเกิดเป็นตัวอะไรสักตัวที่ไปอยู่ใกล้ ๆ กับขุมทรัพย์นั้น เหมือนกับในเรื่องโบราณที่มีในคัมภีย์ที่มีการฝังทรัพย์ไว้ ซึ่งรู้คนเดียว ต่อมาพอจะตายก็ไม่ทันบอกใคร จิตก็ห่วงขุมทรัพย์นั้น ก็เลยตายไปเกิดเป็นตัวอะไรจำไม่ได้แล้วเฝ้าขุมมรัพย์อยู่ที่นั้น ซึ่งไม่ดี ฉะนั้นก็ต้องระวัง คือต้องมีปัญญาเยอะ ๆ
คนที่ทำบุญยิ่งมีปัญญามากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งสามารถพัฒนาบุญขึ้นไป เพราะบุญนี้เป็นด้านจิตใจ แล้วในจิตใจนี้ตัวประกอบหนึ่งที่ทางพุทธศาสนาแยกออกไปเลย แยกไปเป็นตัวสำคัญมากก็คือ ปัญญา ปัญญาอาศัยใจอยู่ เป็นคุณสมบัติของจิตใจ แต่ว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก เป็นแดนหนึ่ง ซึ่งทางพุทธศาสนาแยกออกเป็นแดนหนึ่ง เพราะฉะนั้น ตอนแรกจะพูดรวม ๆ ว่า บุญ ต่อไปพอเป็นบุญขั้นสูงจะเอาปัญญามาเป็นตัวใหญ่ ปัญญาจะเป็นตัวใหญ่เป็นตัวของบุญ แล้วปัญญาจะมาพัฒนาบุญให้ได้ผลดียิ่งขึ้น แล้วก็เอาไปใช้ประโยชน์ แล้วปัญญาก็จะเป็นตัวที่เอาบุญไปใช้ประโยชน์ได้ คนที่มีแต่บุญไม่มีปัญญา มีบุญมีคุณสมบัติดี ๆ แต่เอาไปใช้ไม่เป็นใช่หรือไม่ ไม่ต้องพูดถึงทรัพย์ภายในที่มีคุณสมบัติดี ๆ ในใจเรา ทรัพย์ภายนอกยังใช้ไม่เป็นเลยทีนี้คุณสมบัติภายในที่ดีก็คือ ทรัพย์ภายใน ถ้าคนมีปัญญาก็รู้จักใช้ รู้จักพัฒนาคุณสมบัติที่เป็นทรัพย์ภายในของตัวเองพัฒนาไปได้อีก แม้แต่เอาร่างกายไปใช้จะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์หรือสิ่งที่เป็นโทษก็อยู่ที่ปัญญาเหมือนกัน
[09:00]
ตกลงว่า ต้องให้แกเข้าใจเรื่องบุญให้ครบ เราจะแยกในแง่ว่า ทาน ศีล ภาวนา ก็ได้ เป็นระดับที่เรียกว่า ขั้นพฤติกรรมทั่วไปในการอยู่ร่วมกัน ในการอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ ในการอยู่กับสิ่งแวดล้อม และเรื่องของบุญในด้านจิตใจของตัวเอง คุณสมบัติภายในซึ่งมีทั้งด้านความสุข และด้านของความเข้มแข็ง มีสมรรถภาพ และด้านของคุณธรรมความดีงามต่าง ๆ และในที่สุดก็ปัญญาอย่างที่ว่า ถ้าคุณคลุกอยู่กับสุนัข คุณจะได้อะไรขึ้นมา จิตใจ บางทีกลายเป็นว่าแคบลง ๆ วกวน แล้วก็จม แล้วก็เลยหมกตัวอยู่ แล้วตัวก็หมกอยู่ ใจก็หมกอยู่ แล้วปัญญาก็พลอยหมกไปด้วย พอหมกก็เลยแคบ ก็เลยจม ก็ต้องคิดให้ดี ถ้าเราปฏิบัติไม่ดีต่อสุนัขที่มีมาก ๆ พฤติกรรมชิวิตก็หมกอยู่กับเจ้าชีวิตเหล่านี้ จิตใจก็หมกหมุนเวียนอยู่นี้ ปัญญาก็ไม่คิดเรื่องอื่น ก็อยู่แค่นี้ ก็จะแย่เลย เพราะฉะนั้น บุญเหล่านี้ต้องระวังให้ดี มันได้มาก แต่ได้ด้านเดียว และก็ดิ่ง พร้อมกันนั้นก็ทำให้เกิดปฏิกิริยา พอบุญแบบนี้ที่ไม่มีปัญญาพอ ซึ่งมีมาก ก็จะเกิดปฏิกิริยาบาปมากด้วย
อย่าลืมว่ากุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศลได้ อกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศลได้ ใช่หรือไม่ ทีนี้ กุศลในที่นี้คือบุญนี้ ถ้าเราปฏิบัติไม่เป็น กุศลบุญนี้ก็เป็นปัจจัยแก่บาป ก็หมายความว่า ทั้ง ๆ ที่มีบุญแล้ว ก็เอาบุญนี้มาเป็นปัจจัยให้เกิดบาปขึ้นมา อย่างเช่นว่า เรามีโลภะ เราชอบเรารักยึดติดอะไรขึ้นมา พอสิ่งนั้นถูกกระทบ เราเกิดปฏิกิริยาเกิดโทสะ เพราะฉะนั้น จากโลภะก็ทำให้โทสะเกิดขึ้น จากโทสะเพราะเกลียดในคนนี้ ใครไปเกลียดในคนนี้ด้วย เราก็เกิดโลภะชอบราคะชอบในคนนั้นใช่หรือไม่ ฉะนั้น ท่านก็บอกว่า โลภะเกิดจากโทสะได้ โทสะจากโลภะได้ อันนี้เป็นเรื่องของระบบเหตุปัจจัย เป็นระบบความสัมพันธ์ที่ต้องรู้เข้าใจ เพราะฉะนั้น ก็ต้องบอกคุณคนนั้นว่า ก็ดีแล้วแต่ว่าอย่าลืมว่า ต้องพัฒนาปัญญาด้วย ต้องเข้าใจอะไรต่าง ๆ ให้ถูกต้อง ให้บุญนี้มาเป็นคุณสมบัติที่พัฒนาชีวิตของเราขึ้นไปอีก ต่อไปบางทีไปถึงระยะหนึ่ง เขาหมกตัวอยู่ ใจแกติดอยู่แค่นั้นแล้ว ไม่รู้ตัวหรอก
"สุขก็เป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์ เพราะเป็นสุขธรรมดาใช่หรือไม่ แล้วต่อไปก็กลายเป็นว่าจากสุขที่มาก ก็ยิ่งทุกข์มาก เมื่อไม่มีปัญญามาแก้ไข"
ถ้าคนมีปัญญาแก้ไข สุขมาก พอสุขหมด ก็ทำจิตหลุดพ้นไปได้ ก็ไม่ทุกข์ใช่หรือไม่ เพราะฉะนั้น คุณต้องหาปัญญาแน่ ๆ ไม่เช่นนั้นคุณสุขมากตอนนี้ คุณจะทุกข์มากต่อไป แต่อันที่จริงคนไทยเรานี้ จะเพลินเหลือเกินกับเรื่องเหล่านี้ เพลินแล้วก็ไม่คิดที่จะทำ ที่จะปฏิบัติ ไม่พัฒนาตัวเอง คือเป็นวัฒนธรรม คนไทยเรานี้ วัฒนธรรมทางจิตใจเราดี แต่ขาดวัฒนธรรมแห่งปัญญา และหย่อนในเรื่องวัฒนธรรมแห่งการทำ วัฒนธรรมแห่งการกระทำนี้ไม่ค่อยมี ซึ่งคู่กันระหว่างวัฒนธรรมแห่งปัญญา และวัฒนธรรมแห่งการกระทำ ชอบเป็นฝ่ายรับฝ่ายเสพฝ่ายบริโภค ถ้าต้องลงมือทำไม่ค่อยเอา ที่นี้เด็กสมัยนี้ ถ้าติดเพลินก็เรื่องเสพบริโภค เขาก็จะไม่มีนิสัยในการทำ นิสัยในการทำก็ออกหลายทาง เช่น การผลิต ถ้าออกทางเศรษฐกิจ ก็ไม่มีนิสัยในการผลิต เป็นนักเสพบริโภคอย่างเดียว ถ้าออกในทางอื่นก็คือ ไม่ทำการสร้างสรรค์อะไรทั้งนั้น คิดแต่เสพบริโภคหาความสุขไป ถ้าอย่างนี้ ชีวิตและสังคมจะเจริญงอกงามได้อย่างไร ฉะนั้น วัฒนธรรมแห่งการกระทำนี้ต้องพัฒนา ซึ่งก็เข้ากับการพูดเรื่องความคิดเมื่อสักครู่ “ใฝ่ทำ” ใฝ่รู้ เมื่อใฝ่ทำได้ดีแล้ว ก็จะมา“สู่ธรรม” เพราะว่าโยงกันอยู่
“ใฝ่ทำ” จะทำให้สำเร็จต้อง “อาศัยธรรม” ถ้าไม่อาศัยธรรมก็จะทำไม่สำเร็จตั้งแต่ธรรมะข้อปัญญาเป็นต้นไป ปัญญาก็เป็นธรรมะข้อหนึ่ง และธรรมะข้ออื่น ๆ เช่น สมาธิ สติ ความเพียร ความขยันอดทน เป็นต้น รวมแล้วก็คือธรรม เพราะเราใฝ่ทำที่จะทำให้สำเร็จ เราก็จะทำ แล้วก็จะนำไปสู่การใฝ่ธรรม ทีนี้ ธรรมนี้เป็นเหตุปัจจัยมากมาย พอมาเป็นคุณสมบัติในตัวเราได้ เราก็เอาธรรมที่ทำนั่นแหละ เอาธรรมมาทำด้วยธรรม พอทำตามธรรม ก็จะเกิดผลสำเร็จที่เราต้องการขึ้น ชีวิตและสังคมก็พัฒนาไปได้ ฉะนั้น ในปีใหม่นี้ คนไทยเรานี้จะต้องคิดกันให้มากว่าสังคมของเราเวลานี้ เป็นสังคมที่เพลิดเพลิน ลุ่มหลง จะเรียกได้ว่า ชักจะมัวเมากับเรื่องของการเสพบริโภค แล้วก็เลยไม่ค่อยมีความคิดในการที่จะทำ ในการที่จะผลิต ในการที่จะสร้างสรรสิ่งต่างๆ ไม่อยากใช้เรี่ยวแรง แม้กระทั่งเห็นว่าการกระทำเป็นความทุกข์ โดยเฉพาะเด็กสมัยปัจจุบัน ถ้าไม่ได้รับการศึกษาอบรมให้ดี ก็จะรู้สึกว่าจะสุขเมื่อได้เสพ แล้วจะต้องทุกข์เมื่อทำ เมื่อไหร่จะต้องทำ ทุกข์ทันที
แต่ถ้าเด็กที่ได้รับการฝึกอบรมดี มีความใฝ่รู้ใฝ่ทำ การกระทำนั้นจะนำมาซึ่งความสุข เพราะเขาอยากทำ เมื่ออยากทำก็คือต้องการทำ เมื่อต้องการทำได้ทำ ก็คือได้สนองความต้องการของตน เมื่อได้สนองความต้องการก็มีความสุข เพราะฉะนั้น คนที่มีความสุขจากการทำจะเป็นคนที่เราต้องการในสังคมนี้ในปัจจุบัน เรากำลังมีปัญหากับคนหาความสุขจากการเสพบริโภค ถ้าหาสุขจากเสพ ตัวเองก็จะไม่พัฒนา แล้วก็จะต้องแย่งชิงกัน สังคมก็จะยิ่งเกิดปัญหาเดือดร้อน มีการเบียดเบียนกันมากก็จะเสื่อมโทรม แต่ถ้าหากคนมีความสุขจากการกระทำแล้ว ชีวิตของคนนั้นก็จะเข้มแข็งพัฒนาก้าวหน้าไป พัฒนาทุกด้าน ทั้งพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา แล้วก็จะทำให้สังคมพัฒนาก้าวหน้าไปด้วย การผลิตการอะไรต่าง ๆ การสร้างสรรประดิษฐ์คิดค้นก็จะเดินหน้าไป เพราะฉะนั้น ตอนนี้ต้องมาเน้นเรื่องวัฒนธรรมแห่งการทำ และสังคมไทยของเราเวลานี้ก็เป็นสังคมที่เน้นเศรษฐกิจ รัฐบาลก็เน้นเรื่องเศรษฐกิจมาก ตั้งเป้าไว้ว่าจะให้ประเทศนี้ได้พัฒนาเศรษฐกิจ ได้ตัวเลขต้องไปกี่จุดไม่รู้ได้ หรือหกใช่หรือไม่ ประมาณนั้น ก็ดีอยู่ถ้าพัฒนาเจริญเศรษฐกิจ แต่ว่าต้องมองกันมากเช่นกัน
หนึ่งก็คือเศรษฐกิจเป็นปัจจัย พูดบ่อย ปัจจัยก็คือว่า เศรษฐกิจไม่จบในตัวของมันเอง เศรษฐกิจนั้นเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้เราพัฒนาด้านอื่นไปได้ เราอาศัยอาหาร เราไม่ใช่เพื่อจะมาหาความสุขจมอยู่กับอาหาร เรากินอาหารเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง จะได้เอาร่างกายนี้ไปใช้ประโยชน์ ไปทำการทำงาน ไปทำการสร้างสรรค์ เพราะฉะนั้น มองในภาพรวมทั้งประเทศทั้งโลกก็เหมือนกัน เศรษฐกิจเป็นสิ่งจำเป็นเป็นปัจจัย แต่เป็นสิ่งเกื้อหนุนเราจะต้องเอามาใช้และมีจุดหมายที่สูงขึ้นไปไม่ใช่จบที่วัตถุ ไม่ใช่ว่าเศรษฐกิจดีมีสิ่งบริโภคกินใช้บริบูรณ์แล้วก็จบ พออยู่แค่นั้น พอเศรษฐกิจจบอยู่ในตัวก็ลุ่มหลงมัวเมาเพลิดเพลินแล้วก็เสื่อม เพราะฉะนั้น ก็ต้องเอาเศรษฐกิจความเจริญทางด้านเศรษฐกิจนี้มาเป็นปัจจัยเกื้อหนุนในการที่จะพัฒนาทางด้านปัญญา ทางด้านจิตใจ สร้างวัฒนธรรม สร้างภูมิธรรมภูมิปัญญาให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป ต้องคิดกันให้มากในเรื่องนี้ แต่ว่าในแง่หนึ่งเราเน้นเรื่องเศรษฐกิจนี้ก็เข้ากับพรพระเหมือนกัน
[18:05]
พรพระนี้เราได้ยินบ่อย ๆ ก็คือ จตุรพิตรพร ซึ่งมี 4 ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ แต่ว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้อีกชุดหนึ่ง เราอาจจะลืม ชุดนี้ พระพุทธเจ้าเน้นด้วย คือ ปัญจพิตรพร หรือ เบญจพิตรพร ประกอบด้วย อายุ วรรณะ สุขะ โพคะ พละ ข้อที่ 4 ตอนนี้เปลี่ยนมาเป็นโพคะ แล้วพละย้ายไปเป็นข้อที่ 5 โพคะคืออะไรก็คือทรัพย์สมบัติ ซึ่งเข้ากับนโยบายของรัฐปัจจุบันก็ว่าได้ คือมาเน้นเรื่องโพคะ เพราะฉะนั้น ตอนนี้ถ้าจะต้องหย่อนลดเรื่องการให้จตุรพิตรพร ให้เน้นเรื่องการให้เบญจพิตรพร ถ้าบอกว่าโยมปีนี้ก็จะขอให้เจริญงอกงามด้วยเบญจพิตรพรชัย ซึ่งจะมีอายุ วรรณะ สุขะ โพคะ พละ ซึ่งโพคะก็คือความร่ำรวยนั่นเอง พูดง่าย ๆ คือ มีโพคะมีทรัพย์สมบัติกินใช้มาก โพคะเองก็คือการบริโภค ก็คือมีสิ่งบริโภคมาก แต่ว่าอย่าลืมว่าเอาสิ่งบริโภคเป็นปัจจัยเหมือนเรากินอาหารบริโภคเข้าไป ไม่ใช่หลงมัวเมาอร่อยกันอยู่แค่นั้น แต่ว่าต้องบริโภคเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง แล้วเอาร่างกายนี้ไปใช้ทำสร้างสรรค์สิ่งดีงามเป็นประโยชน์ต่อไป ก็เอาเศรษฐกิจ โพคะนี้มาเป็นปัจจัยต่อไป เป็นตัวเกื้อหนุนประเทศชาติให้พัฒนาในทางภูมิธรรมภูมิปัญญาให้ได้
ประเทศเราขณะนี้ที่เจริญทางเศรษฐกิจ ถ้าไปดูแล้วด้านอื่นสำคัญกว่า อย่างประเทศอเมริกาที่เจริญมากเราต้องก้าวไปให้ได้ จะมาอยู่ที่โพคะไปไม่ได้หรอก ทีนี้ โพคะนี้เราก็ต้องคิดหลายอย่าง เช่นว่า โพคะก็คือรวย ก็มีว่ารัฐบาลก็อยากให้เรารวยง่ายและรวยไว ซึ่งก็ดีเหมือนกัน แต่ว่าต้องรวยง่ายรวยไวด้วยพร้อมกับจิตใจก็ต้องเข้มแข็ง ทีนี้ถ้ารวยง่ายรวยไวที่ไม่ดี ต้องระวัง จิตใจมันอ่อนแอ มันได้ง่ายๆ และไม่พัฒนาไม่ฝึกนิสัยให้เข้มแข็ง เพราะฉะนั้น ท่านก็ต้องหาทางที่จะทำให้คนมีความเข้มแข็ง ก็ต้องสร้างนิสัยในการกระทำและวัฒนธรรมแห่งการทำ วัฒนธรรมแห่งปัญญาที่ว่ามาก่อนหน้านี้ ให้คนมีความขยันหมั่นเพียร สร้างผลสำเร็จด้วยเรี่ยวแรงแห่งความเพียร ด้วยความพยายามของตนให้ได้ อย่าไปคิดว่า ได้ลาภลอย รวยทางลัด ได้อะไรมาง่าย ๆ อย่าไปเอาแค่นั้น ถ้าเอาแค่นั้น รวยง่ายรวยไว ก็จะไม่ช่วยให้ประเทศได้พัฒนาจริงในระยะยาว ฉะนั้นถ้าต้องการให้ประเทศได้พัฒนาจริงในระยะยาว จะต้องเอารวยง่ายรวยไวมาเป็นแค่อุบายชั่วประเดี๋ยว แล้วจะต้องคิดวางฐานให้ดีในการพัฒนาระยะยาวในการที่จะสร้างคนให้เข้มแข็ง พัฒนาเนื้อแท้ของตัวคนให้ได้ คือคุณสมบัติภายในของเขาที่ทางพระเรียกว่าบุญ ทั้งทางด้านพฤติกรรมความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ทั้งทางด้านจิตใจและด้านปัญญา
แล้วก็กลับเข้าไปหาเรื่องที่พูดไปแล้วก็คือ พัฒนาวัฒนธรรมแห่งการแสวงหาปัญญาให้ได้ แล้วเอาปัญญานี้มาใช้ในการกระทำ ก็มาหนุนวัฒนธรรมแห่งการทำ แล้วพอปัญญาและการทำนี้มาบรรจบกันได้เมื่อไหร่ แล้วเราจะเจริญแน่นอน เพราะปัญญาจะบอกว่าให้ทำอะไร รู้ว่าจะทำอะไร แล้วจะทำอะไรก็จะทำไปด้วยปัญญา แล้วก็มาสนองจิตใจ จิตใจก็ต้องมีเจตนาที่ดี เจตนาที่ดีประกอบด้วย เมตตา กรุณา เป็นต้น ใฝ่ดี ปรารถนาดีต่อเพื่อนร่วมชาติ ต่อประชาชน ต่อโลกมนุษย์นี้ แล้วเราก็เอาปัญญามานำทางแก่การกระทำ ทำการให้สำเร็จด้วยปัญญา นำไปสู่การสนองวัตถุประสงค์ที่มีเจตนาดีมีจิตมุ่งหมายเพื่อความดีงามความร่มเย็นเป็นสุขร่วมกัน แล้วอันนี้ก็เป็นความสำเร็จ
พรปีใหม่ก็คิดว่าก็อยู่ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ซึ่งให้ มองสิ่งทั้งหลายเป็นระบบความสัมพันธ์ อย่าไปมองขาดตอนเป็นเรื่องเดี่ยว ๆ แยกส่วนหรือสุดโต่ง พอเราแยกส่วนก็มีแนวโน้มว่าจะไปสุดโต่ง เพราะฉะนั้นก็ไม่สุดโต่งด้วย ไม่แยกส่วนด้วย แล้วเราก็เอาระบบสัมพันธ์เข้ามาใช้ มองสิ่งทั้งหลายให้สัมพันธ์กัน ต้องมองให้ชัดว่า โพคะด้านเศรษฐกิจนี้จะไปสัมพันธ์กับด้านอื่นอย่างไร จึงจะทำให้เกิดการพัฒนาที่จะนำไปสู่จุดหมายแห่งสันติสุขที่แท้จริง แล้วอันนั้นก็คิดว่าจะทำให้ประเทศชาติบรรลุจุดมุ่งหมายแห่งการพัฒนาที่แท้จริง ก็ถึงวาระขึ้นปีใหม่แล้ว รัฐบาลก็บอกว่าคิดใหม่ทำใหม่ ก็จะต้องคิดใหม่ทำใหม่ที่ใหม่เสมอด้วย คือใหม่บางอย่างเดี๋ยวก็เก่า ทีนี้ใหม่อะไรที่ไม่เก่า มีใหม่ชนิดหนึ่งที่ไม่มีวันเก่า คือใหม่ที่เป็นความจริงแท้อยู่ตลอดกาล อะไรที่เป็นสัจธรรมเป็นตัวความจริงแล้ว จะใหม่ตลอดไม่มีเก่า หรือจะเก่าก็เก่าตลอด หรือใหม่ก็จะใหม่ตลอด จนกระทั่งความเก่าความใหม่เป็นอันเดียวกัน ก็เรียกว่าไม่ใหม่ไม่เก่าก็ได้ เพราะฉะนั้น ตกลงว่าคิดใหม่ ทำใหม่ก็ขอให้ไปถึงคิดที่ยืนยงเป็นใหม่ตลอดกาลคือ คิดให้ตรงให้ถูกต้องกับความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลาย แล้วอันนั้นก็คือคิดเป็นธรรม ก็คือว่า อะไรที่เป็นของใหม่ตลอดเวลาไม่มีเก่าก็คือธรรมะนั่นเอง คิดได้ถูกต้องตามความเป็นจริงตามเหตุปัจจัยเป็นต้นแล้ว ก็ใหม่เสมอ
"เพราะฉะนั้นก็คิดเป็นธรรม ทำเป็นธรรม แล้วก็เลยคิดธรรม ธรรมทำ ก็ขอให้การคิดใหม่ทำใหม่ก็มาตรงประโยคของการคิดธรรม ธรรมทำ นำไปสู่จุดหมายของความเจริญผาสุกตลอดกาล ยั่งยืนนานสืบไป"
ขออนุโมทนา