แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เจริญพรโยมวันนี้รายการเล่าเรื่องให้โยมฟัง คิดว่าจะพูดเรื่องอานิสงส์ศีลสักนิดหน่อย เวลาพระให้ศีลจบนี่ ท่านก็จะสรุป โยมก็จะได้ยินอยู่เสมอว่า สีเลนะ สุคะติง ยันติ สีเลนะ โภคะสัมปะทา สีเลนะ นิพพุติง ยันติ ตัสมา สีลัง วิโสทะเย นี้ตามคำแปลก็บอกว่า คนย่อมไปสุคติด้วยศีล ศีลเป็นเหตุให้มีโภคทรัพย์พรั่งพร้อม แล้วก็ไปนิพพานได้ด้วยศีล เพราะฉะนั้นพึงชำระศีลให้หมดจด อันนี้เป็นคำแปล อันนี้ก็ต้องมีการอธิบายกันว่า อนิสงส์ศีลที่ว่านะเป็นอย่างไร
สำหรับในข้อที่หนึ่งที่บอกว่าศีลเป็นเหตุให้ไปสุคติอันนั้นก็ไม่ยาก ทีนี้ข้อที่สองที่บอกว่าศีลทำให้มีโภคทรัพย์พรั่งพร้อมอันนี้มักจะมีความสงสัยกันว่า เอ๊ะ รักษาศีลแล้วก็จะมีทรัพย์บริบูรณ์ได้ยังไง ก็อธิบายกันไปต่างๆ อันนี้ว่าที่จริงแล้วในเวลาพระท่านสรุปศีลที่ให้ต่อท้ายเนี่ย ท่านว่าเป็นคาถา คาถานั้นเป็นคำประพันธ์หรือคำร้องกรอง มันมีเนื้อที่จำกัด เนื้อจำกัด ถ้อยคำ สำนวนคำ ว่าต้องมีกี่คำ กี่คำ เอาแต่สาระสำคัญจะมาบรรยายอะไรก็ไม่ได้ ฉะนั้นคนก็จะไปงง ว่าเอ๊ะ ทำไมศีลจะทำให้มีโภคทรัพย์พรั่งพร้อม ความจริงนั้นเป็นเพราะว่าท่านมีที่จำกัด หรือว่ามีจำนวนคำที่จะมาแต่งคำประพันธ์ได้แค่นั้น ท่านจะบอกอธิบายโดยละเอียดไม่ได้ เราก็ต้องไปหาคำอธิบายที่อื่น
ถ้าไปดูพุทธพจน์ในพระไตรปิฎกเอง ก็จะมีตรัสถึงอนิสงส์ศีล ตรัสเป็นข้อความร้อยแก้ว หรือตรัสเป็นคำพูดธรรมดา ตรัสว่ามีอนิสงส์ห้าประการด้วยกัน ถ้าไปในดูอานิสงส์ที่พระพุทธเจ้าตรัสแล้วก็จะชัดเจนขึ้นมา ว่าจะร้องอ้อ ที่ว่าศีลเป็นเหตุให้โภคทรัพย์พรั่งพร้อมนั้นมันเป็นอย่างนี้เอง อานิสงส์ศีลที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ 5 ประการ นั้นนะขึ้นข้อหนึ่งทีเดียว ก็บอกว่าบุคคลผู้มีศีลสมบูรณ์ด้วยศีลแล้วอาศัยความไม่ประมาทเป็นเหตุย่อมประสบโภคทรัพย์เป็นอันมาก หมายความว่า มีคำอธิบายขยายความอีก คือต้องมีความไม่ประมาทด้วย
ฉะนั้นจะมีศีลเฉยๆ ก็ไม่ใช่ว่าจะนำทรัพย์มาให้ทันที การมีศีลนี่ทำให้พร้อมที่จะมีโภคทรัพย์ เพราะว่าคนมีศีลประพฤติดีงามแล้ว ก็ไม่มีช่องทางให้เกิดความเสื่อมเสียแก่โภคทรัพย์หรือช่องทางรั่วไหล แล้วก็ทำให้สามารถที่จะทำการทำงานที่จะสร้างโภคทรัพย์ได้ เพราะว่าคนที่มีศีลประพฤติดีงามแล้ว ไม่ทำให้ทรัพย์รั่วไหลไปด้วยสุรายาเมาหรือการพนันอะไรพวกนี้ ทรัพย์ที่เกิดขึ้นจะสั่งสมไว้ได้ เพราะฉะนั้นไม่เอาเวลาไปใช้ในการอบายมุขต่างๆ ที่เป็นเรื่องทำให้เสียศีล ก็มีเวลาที่จะมาทำการทำงาน แล้วเป็นคนประพฤติดีงานก็ตั้งใจทำการทำงานก็คือขยัน ขยันไม่ปล่อยปละละเลยไม่ทอดทิ้งโอกาส แล้วก็ไม่ทำอะไรที่เป็นทางเสียหาย อย่างนี้เรียกว่าความไม่ประมาท นั่นมีความไม่ประมาทตั้งใจทำหน้าที่การงานของตนเอง มันก็เกิดโภคทรัพย์ขึ้นมา เพราฉะนั้นศีลก็ทำให้เกิดโภคทรัพย์ได้อย่างนี้
เพราะฉะนั้นในการอธิบายก็จะต้องเอาพุทธพจน์นี้มาไขความให้กระจ่างแจ้งขึ้น นี่ในพุทธพจน์นั้นตรัสไว้ข้อสองบอกว่า อนิสงส์ศีลข้อสองก็คือว่ากิติศัพท์อันดีงามย่อมฟุ้งขจรไป บางคนมีศีลประพฤติดีงามก็มีชื่อเสียงดี คือไม่เสียชื่อเสียง ถ้าประพฤติไม่ดีไม่งามก็ชื่อเสียงก็เสียไป อันนี้ก็เข้าใจได้ไม่ยาก ประการที่สามท่านบอกว่า คนที่มีศีลจะเข้าสู่ที่ประชุมใดๆ ก็มีความกล้าหาญไม่ครั่นคร้าม เพราะมีศีลประพฤติดีงามไม่หวาดหวั่นกลัวภัย แล้วก็ไม่มีความเดือดร้อนใจตัวเอง ไม่ต้องระแวงใครเขาจะว่ากล่าวติเตียน ไปเข้าที่ไหนก็มีความกล้าหาญ ก็มีความสบายใจที่จะเข้าไป คือเข้าสู่ที่ประชุมหรือที่ชุมนุมได้ด้วยความมั่นใจตนเอง อันนี้เป็นประการที่สาม
ประการที่สี่ตรัสบอกว่า อะสัมมุฬโหกาลัง กะโรติ บอกว่าเวลาตายก็มีสติไม่หลงไหลฟั่นเฟือน คนที่ทำผิดทำความชั่วร้ายไว้มากเป็นคนไม่มีศีล หรือเป็นคนทุศีลนั้น จิตใจจะมีความระลึกในเรื่องสิ่งไม่ดีไม่งาม เพราะถ้าไม่สามารถจะมีธรรมะที่เข้มแข็งมาเป็นหลักให้ใจแล้ว ก็จะดำรงสติไว้ไม่อยู่จิตใจก็จะหลงไหลฟั่นเฟือน ก็จะทำกาลกิริยาหรือทุชีวิต โดยที่จิตใจหลงไหลไร้สติ ถ้าหากว่าประพฤติดีงามมีศีลแล้วจิตใจก็ตั้งมั่นมีสติได้ง่าย ก็ไม่หลง อันนี้ก็ข้อสำคัญในตอนบั้นปลายของชีวิต แล้วประการสุดท้ายก็ตรัสบอกว่า คนที่มีศีลเมื่อสิ้นชีวิตแล้วก็ไปสู่สุคติโลกสวรรค์ อันนี้ก็มาเข้ากับหลักพุทธศาสตร์ นี่ก็คืออานิสงส์ศีลตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้
ทีนี้ในข้อความอานิสงส์ศีลที่พระกล่าวก็ยังมีข้อสุดท้ายอีกข้อหนึ่งที่บอกว่า สีเลนะ นิพพุติง ชนทั้งหลายย่อมไปสู่นิพพานได้ด้วยศีล อันนี้ก็เช่นเดียวกันก็อาจจะนึกว่า ถ้าอย่างนั้นก็ประพฤติศีลให้ดีอย่างเดียวก็ได้ไปนิพพาน ความจริงท่านไม่ได้หมายความอย่างนั้นทีเดียว ที่ว่าศีลนั่นจำเป็นต้องมีจึงจะไปนิพพานได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าศีลอย่างเดียวพอแล้ว เพราะว่าไตรสิกขาต้องมีครบทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญาด้วย คือนอกจากประพฤติดีแล้วก็ต้องทำจิตให้ดีได้ด้วย แล้วก็ต้องมีปัญญาที่จะรู้เข้าใจความจริงของสังขารเนี่ยที่เรียกว่าวิปัสสนาด้วย แต่ว่าถ้าขาดศีลก็ไปไม่ได้เหมือนกัน เหตุใดจึงไปไม่ได้ก็เพราะว่าศีลนั้นเป็นรากฐานเบื้องต้น ทำให้จิตใจจะมีความเป็นปกติหรือแม้แต่จะมีความสุขถ้าหากว่ารักษาศีลดี
คนที่รักษาศีลได้ประพฤติดีงามแล้วนี่จะมีความแช่มชื่นใจตลอดจนกระทั่งมีสติ มีความเอิบอิ่มใจว่าตนได้ประพฤติดีงามได้รักษาศีลแล้ว จะทำปิตินั้นก็ทำให้มีความสุขจิตใจก็สบายเป็นสมาธิได้ง่าย เมื่อเป็นสมาธิได้ ไตรสิกขาในข้อที่สองแล้วก็เป็นทางให้เกิดปัญญาได้ด้วย เพราะว่าลำพังจะมีศีลอย่างเดียวแทบประมาทเสีย ไม่บำเพ็ญไม่ทำสมาธิไม่เจริญปัญญาก็ไม่ได้ ถ้าจะอุปมาก็เหมือนอย่างที่ว่า เหมือนกับคนที่ว่าจะเด็ดผลไม้ ผลไม้ก็อยู่ที่สูง ตัวเองก็หยิบเอาไม่ได้ ทีนี้ศีลนั่นก็เปรียบเหมือนกับว่ามีพื้นดินหรือที่ยืน ถ้าไม่มีที่ยืนหรือไม่มีพื้นเหยียบ ไอ้ที่จะไปหยิบผลไม้นั้นก็ไม่มีทางทำได้
แต่ว่าลำพังมีพื้นมีที่เหยียบอย่างเดียวก็หาพอไม่ จำเป็นต้องมีอุปกรณ์เครื่องมือที่สอย หรือฉะนั้นก็ต้องมีบันไดหรือมีอะไรที่จะเหยียบยันขึ้นไปตลอดจนกระทั่งแม้ปืนต้นไม้ขึ้นไปเอาต้นไม้นั่นเองเป็นที่เหยียบ และพอถึงเอื้อมมือแล้วก็เอามือจับผลไม้เด็ดมา มือ กำลังที่กำลังแขนที่จะจับยื่นไปจับแล้วไปเด็ดเนี่ยเปรียบเหมือนกับสมาธิ แล้วก็เครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ในการสอยตลอดจนกระทั่งมือตนเองคือเด็ดมันเหมือนกับปัญญาจนตัวทำให้สำเร็จ ต้องอาศัยปัญญาเป็นขั้นสุดท้าย
ที่ศีลนั้นก็มีความจำเป็นในการที่จะเด็ดผลไม้นี้หรือเหมือนกับพื้นนั่นแหละ เพราะถ้าไม่มีพื้นไม่ทีที่เหยียบแล้วก็ทำไม่ได้เลย ฉะนั้นมีสมาธิมีปัญญาก็มาไม่ได้เพราะว่าไม่มีพื้นฐานเป็นที่รองรับ แต่ว่าเมื่อมีพื้นมีที่เหยียบแล้ว ก็สามารถทำกิจทำการงานที่ตนประสงค์ได้ ศีลจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นแต่มาใช่หมายความว่าพอแล้วแค่นั้น จำเป็นจะต้องสร้างสมอบรมไตรสิกขาข้ออื่นขึ้นไปด้วย ตกลงว่าต้องมีพร้อมทั้งสามประการแต่ศีลนั้นเป็นพื้นฐานเป็นเหมือนบันไดขั้นต้น
พระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้ในที่บางแห่งว่าศีลนี้เปรียบเหมือนพื้นแผ่นดิน เป็นที่เหยียบยันเป็นที่ทำให้คนทั้งหลายสามารถทำกิจการงานอื่นได้ ถ้าหากว่าไม่มีศีลเป็นรากฐานแล้วก็ไม่สามารถเจริญงอกงามในการบำเพ็ญสมาธิในการบำเพ็ญปัญญาต่อไป ตกลงว่าศีลจะว่าสำคัญก็สำคัญมาก แต่จะว่าสำคัญที่สุดก็ไม่ได้ เพราะว่าก็ต้องอาศัยคุณธรรมข้ออื่นด้วย ตกลงว่าหลักธรรมหรือข้อปฎิบัติต่างๆนั้นต้องประกอบกันต้องมีให้พร้อมบริบูรณ์ แม้แต่เมื่อเรากล่าวถึงว่าเป็นมรรค มรรคก็ต้องมีพร้อมทุกองค์ประกอบกันบริบูรณ์จึงจะให้สำเร็จผล ถ้าหากว่าไม่พร้อมมันก็ไม่เป็นธรรมสามัคคี ไม่ใช่ธรรมสามัคคีก็ทำงานไม่สำเร็จ
เหมือนอย่างที่กล่าวเมื่อกี้ว่าจะเด็ดผลไม้ก็ต้องมีพร้อมทั้งพื้นที่เหยียบที่ยัน ต้องมีทั้งกำลังแรงของแขนของร่างกายที่จะใช้ในการยกแขนขึ้นไปหรือยกเอาไม้สอยขึ้นไปแล้วก็ต้องมีอุปกรณ์หรือมือของตนเองในการที่จะเด็ดผลไม้นั้น ดังที่กล่าวมานี้ แต่ว่าท่านที่ประพฤติศีลดีก็พึงพอใจหรือว่ามีความเอิบอิ่มใจได้ว่าศีลที่ประพฤติไว้อย่างดีเนี่ยเป็นพื้นฐานของความเจริญก้าวหน้าต่อไป แล้วถ้าหากว่าได้ระลึกถึงศีลของตนที่ประพฤติดีงามแล้วก็ให้มันมีปิติมีความเอิบอิ่มใจ การที่ระลึกถึงสิ่งที่ตนได้ประพฤติดีงาม เมื่อมีปิติจิตใจ เอิบอิ่ม แช่มชื่น เบิกบานแล้ว ก็ให้เกิดความสุขแล้วก็จะเป็นฐานของสมาธิต่อไป
ฉะนั้นการรักษาศีลนั้นก็จะใช้เป็นอุบายอย่างหนึ่งในการที่มาระลึกถึงศีลของตนที่ประพฤติดีงามนั้น ที่ท่านว่าสีลานุสสติ เมื่อระลึกแล้วก็จะได้นำเข้าสู่สมาธิได้อาศัย เอาปิติความอิ่มใจและความสุขนั้นมาเป็นตัวเชื่อม แล้วก็จะเจริญในการบำเพ็ญสมาธิเป็นทางของความงอกงามในมรรคผลต่อไป วันนี้อาตมาภาพก็พูดเรื่องศีล เรื่องอานิสงส์ของศีลก็อาจจะเป็นเรื่องที่หนักสักหน่อยแต่ว่าเพราะว่าพระได้กล่าวบ่อยๆ ในเวลาให้ศีลจบก็เลยนำเอาเรื่องนี้มากล่าวในวันนี้ก็พอสมควรแก่เวลาก็ขออนุโมทนาโยม.