แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
[01:00] เจริญพร รายการเล่าเรื่องให้โยมฟัง วันนี้ ก็จะพูดในหัวข้อเรื่องปัญญาอีก ในวันนี้ก็จะเป็นเรื่องแทรกแบบเบาๆ สมองอีก คือปัญญานี่ก็เป็นบารมีอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า เมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ก็จะต้องบำเพ็ญบารมี ซึ่งมีทั้งหมด 10 ประการ ในบรรดาบารมี 10 อย่างนั้น ก็มีข้อหนึ่งคือปัญญา ปัญญานี้เป็นข้อที่ราวๆ 5, 6 ก็มีเริ่มตั้งแต่ทาน ศีล เนกขัมมะ อ้อ ปัญญาก็เป็นข้อที่ 3 ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา ข้อ 4 วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา 10 ข้อด้วยกัน
ที่นี้ปัญญาบารมีของพระโพธิสัตว์นั้นที่เป็นเรื่องเด่น ก็คือสมัยที่เป็นมโหสถ แล้วก็มีชาดกเรื่องหนึ่งชื่อว่ามโหสถชาดก อยู่ในมหาชาติ หรือที่เราเรียกภาษาชาวบ้านว่าพระเจ้า 10 ชาติ มโหสถชาดกนี่ก็เป็นชาดกที่ยาวมาก วันนี้อาตมภาพก็จะปรารภเรื่อง มโหสถชาดก เอามาพูดสั้นๆ เพียงเป็นตัวอย่างประกอบเรื่องเกี่ยวกับการใช้ปัญญา อันนี้เป็นปัญญาของพระโพธิสัตว์ในระหว่างบำเพ็ญบารมี ให้เห็นว่าปัญญานั้นก็เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จำเป็นในการที่จะบรรลุโพธิญาณ แล้วก็เป็นคุณธรรมที่ค่อยๆ เจริญเพิ่มพูนขึ้นไปเรื่อยๆ
สำหรับเรื่องมโหสถชาดกนี้ก็มีเรื่องเล่าบอกว่า เมื่ออดีตกาลนานมาแล้ว มีพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งในชมพูทวีป ชื่อว่าพระเจ้าวิเทหะ ครองแผ่นดินอยู่ที่เมืองมิถิลา พระเจ้าวิเทหะมีบัณฑิตเป็นที่ปรึกษาราชการ แล้วก็เป็นผู้สั่งสอนขนบธรรมเนียมประเพณีกิจการแผ่นดินอยู่ 4 ท่าน หัวหน้าของบัณฑิตทั้งสี่ชื่อว่า เสนกะ อยู่มาวันหนึ่งพระเจ้าวิเทหะบรรทมหลับไป แล้วก็ได้ทรงพระสุบินคือฝัน พระองค์ฝันไปว่าที่พระลานหลวงของพระองค์นั้น มีกองไฟใหญ่ลุกโพลงอยู่ 4 มุม แล้วต่อมาก็มีแสงไฟเล็กๆ เหมือนกับแสงหิ่งห้อยเกิดขึ้นที่ตรงกลางพระลานนั้นท่ามกลางกองไฟทั้งสี่ แสงไฟเล็กๆ นั้นค่อยๆ ลุกโพลงสว่างขึ้น สว่างขึ้น เรื่อยๆ จนในที่สุดก็สว่างเกินกว่ากองไฟใหญ่ทั้งสี่นั้น และสว่างขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งว่าโพลงจ้าไปหมดทั่วทั้งฟ้าและแผ่นดิน แล้วพระองค์ก็ตื่นบรรทมขึ้นมา
เมื่อตื่นบรรทมแล้วก็ทรงวิตกกังวลว่า “เอ ที่เราฝันนี้ ฝันร้ายหรือฝันดี" เพราะฝันเป็นไฟซะด้วย ไฟลุกมาก ก็ไม่สบายพระทัย ต่อจากนั้นก็บรรทมไม่หลับ รอเวลาจนกระทั่งว่าบัณฑิตทั้งสี่คนมาเฝ้า บัณฑิตก็ถามว่า “พระองค์บรรทมหลับสบายดีหรือ” พระเจ้าอยู่หัวก็ตรัสว่า “จะสบายได้ยังไงเล่า ฝันเรื่องสำคัญขึ้นมา ไม่รู้มันจะร้ายหรือดี" ก็เลยเล่าเรื่องที่ฝันให้ฟัง บัณฑิตทั้งสี่คนก็ทูลทำนายฝันว่า “ที่พระองค์ฝันนั้นเป็นฝันดี มีความหมายว่าจะมีผู้มีปัญญายิ่งใหญ่เกิดขึ้นมา กองไฟใหญ่ทั้งสี่กองที่มุมพระลานหลวงนั้นก็คือข้าพระองค์ทั้งสี่นี่แหละ แต่ว่าจะมีคนดีเกิดขึ้น คงจะเกิดในวันนี้ วันที่พระองค์ฝันนี่ แล้วคนมีปัญญาคนนั้นก็จะมีความยิ่งใหญ่ล้ำกว่าข้าพระองค์ทั้งสี่นี้มากมาย” พระเจ้าแผ่นดินก็ดีพระทัย ก็เอาเป็นข้อสังเกตไว้ ก็รอกาลเวลา
ทีนี้ก็กล่าวถึงเหตุการณ์ทางด้านความเป็นจริง ที่ใกล้ประตูเมืองด้านหนึ่งมีหมู่บ้านด้านทิศตะวันออก ที่หมู่บ้านนั้นมีเศรษฐีท่านหนึ่งชื่อว่า สิริวัฒกะ มาถึงตอนนี้ก็พอดีที่บ้านของท่านเศรษฐีนั้น ภรรยาก็ได้ตั้งครรภ์ขึ้นมา แล้วต่อมาก็ได้คลอดบุตร คลอดบุตรคนนี้ตามตำนานก็บอกว่า พระอินทร์นั้นก็มีความดีใจหรือว่าต้องการจะประกาศความยิ่งใหญ่ของเด็กคนนี้ที่เกิดมาจะมีปัญญามาก ก็ได้เหาะเอาขวดยามาใส่มือเด็กนี้ เมื่อตอนที่เกิดใหม่ๆ แล้วก็เลยกลายเป็นว่าเด็กคนนี้เกิดมาก็มีขวดยาติดมาด้วย พ่อก็อาศัยนิมิตจากที่ว่าเด็กนี้มียาติดตัวมาด้วย ก็ตั้งชื่อว่า “โอสถ” แต่ว่าเติมคำว่า “มหา” เข้าไปก็เป็น “มหาโอสถ” รวมกันเป็น “มโหสถ ”
มโหสถก็แปลว่า ยาขนานใหญ่ หรือยาที่มีคุณเป็นอันมากมีประโยชน์มาก
เด็กชายมโหสถก็เติบโตขึ้นมาจนกระทั่งอายุได้ 7 ขวบก็มีเพื่อนเล่นมากมาย มีความสามารถมีสติปัญญาสูง ตอนหนึ่งก็มีความคิดว่าที่เด็กๆ มาเล่นกันนี้ถ้ามีศาลาหลังหนึ่งไว้ก็จะดี ก็ให้ช่างมาสร้าง เมื่อช่างมาสร้างแล้วเด็กคนนี้มีสติปัญญามาก เห็นช่างสร้างแล้วรู้ดีกว่าที่ช่างสร้าง กลับไปสอนช่างว่า “ที่ท่านทำอย่างนั้นทำอย่างนี้จะดีกว่า” อะไรอย่างนี้ ก็แนะนำช่าง ช่างทำตามก็ได้ผลดี ก็สร้างศาลาจนเสร็จ ก็เป็นศาลาใหญ่ มีเป็นที่พักคนเดินทาง มีที่สงเคราะห์ในด้านการรักษาพยาบาลอะไร เป็นต้นด้วย แล้วก็มีขุดสระโบกขรณีอะไรต่างๆ เป็นที่ที่รื่นรมย์ ก็คงจะคล้ายๆ เป็นศาลาในปาร์ค ในอุทยาน ทีนี้ เพราะเหตุที่เป็นคนมีปัญญามาก มีคนเชื่อถือมาก มีเรื่องอะไรมาปรึกษา เด็กชายมโหสถก็เลยได้กลายเป็นผู้วินิจฉัยเรื่องราวต่างๆ ที่คนไปมาที่ศาลานี้ เอามาปรึกษาความด้วย แกก็ใช้ศาลานี้เป็นศูนย์กลาง เป็นที่พักผ่อนและก็คล้ายๆ ว่าทำงานไปด้วย
ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินพระเจ้าวิเทหะนั้น เมื่อเวลาผ่านมาได้ 7 ปีแล้ว ก็มาหวนระลึกถึงความหลังครั้งที่ได้ทรงพระสุบินนั้น ก็เลยคิดว่าน่าจะหาตัวเด็กคนนี้ได้แล้ว ว่าถ้าเป็นคนมีปัญญาก็คงจะมีอะไรแสดงออกมาแล้วถึง 7 ปี อายุเด็ก 7 ขวบจะมีความสามารถแสดงออกได้ ก็เลยส่งอำมาตย์ออกไปลองไปหาดู ไปค้นหาดูตัวเด็กชายที่มีสติปัญญามาก ว่าอยู่ที่ไหน อำมาตย์ก็แยกย้ายกันออกไป ก็มีคนหนึ่งมาทางด้านนี้ ก็มาถึงที่ศาลานี้ แล้วก็มาพักแล้วก็เห็นสถานที่ดีงาม แล้วก็ถามคนแถวนั้นว่า “ศาลานี้ใครสร้าง” คนแถวนั้นก็เล่าให้ฟังถึงความอัศจรรย์ของเด็กชาย 7 ขวบนี้ที่เป็นผู้อำนวยการสร้างศาลา
อำมาตย์คนนั้นก็เลยมีความมั่นใจว่าคงจะต้องเป็นเด็กคนนี้ ก็ถามว่าเขาเกิดเมื่อไร พอถามสืบความก็ได้ความว่าเมื่อ 7 ปีมาแล้ว ก็เลยยิ่งมั่นใจใหญ่ว่าวันเวลาก็ตรงกันก็คงจะใช่แน่ๆ ก็นำความไปกราบทูลพระเจ้าอยู่หัวว่าเด็กคนนี้ ลูกชายสิริวัฒกะเศรษฐีนั้นเป็นคนมีปัญญามากและอายุก็ 7 ขวบ ได้แสดงความสามารถให้ปรากฏในการที่สร้างศาลาหลังใหญ่ และมีสถานที่ มีสิ่งประกอบที่สวยงามรื่นรมย์ พระเจ้าแผ่นดินก็ปรึกษากับอำมาตย์บัณฑิตทั้งสี่นั้น ตอนนี้บัณฑิตทั้งสี่ชักจะเกิดความอิจฉาแล้ว ชักจะไม่พอใจ ไม่อยากจะให้ใครมาล้ำหน้ากว่าตน ก็เลยทูลพระเจ้าอยู่หัวว่า “เอ้ย ศาลาแค่นี้ใครๆ ก็สร้างได้ ไม่แสดงว่าเป็นบัณฑิตหรอก ฉะนั้นก็ให้รอไว้ก่อน” พระเจ้าอยู่หัวก็รอต่อไป และส่งอำมาตย์กลับไปให้ เอ้า ไปสังเกตดูซิ ดูพฤติกรรมเด็กคนนี้ต่อไปว่าจะแสดงความ สามารถอย่างไร
เรื่องราวต่อจากนี้มา ก็เป็นการที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ซึ่งแสดงถึงการใช้สติปัญญาความสามารถของมโหสถมีมากมายหลายอย่าง อาตมาก็จะยกมาเล่าเป็นตัวอย่างบ้าง เช่นเรื่องหนึ่ง วันหนึ่ง เหยี่ยวตัวหนึ่งก็ไปเฉี่ยวเอาชิ้นเนื้อที่เขียงของคนขายเนื้อแล้วก็บินไปในอากาศ พวกเด็กๆ ทั้งหลาย เด็กๆ ในบ้านนอกชอบไล่นก พอเห็นเหยี่ยวบินคาบเนื้อไปก็พากันวิ่งไล่ เด็กเหล่านั้นก็วิ่งมองดูเหยี่ยวบนอากาศ วิ่งกันไปก็สะดุดตอไม้บ้าง พลัดลงหลุมบ้าง หกล้มหกลุกเจ็บช้ำไปตามๆ กัน ฝ่ายเด็กชายมโหสถไม่ทำอย่างนั้น วิ่งตามเหยี่ยว แต่ก้มมองที่แผ่นดิน คือมองดูตามเงาเหยี่ยวไม่ต้องมองดูฟ้าเลย วิ่งตามเงาไปเรื่อย พอทันเงาเท้าเหยียบทันเงาก็เอามือปรบเสียงดังร้องพร้อมกันไป ร้องตะโกนเพื่อจะให้เหยี่ยวปล่อยเหยื่อ เหยี่ยวนั้นตกใจก็ปล่อยชิ้นเนื้อลงมา เด็กชายมโหสถก็เอามือรับทันด้วย ประชาชนที่ได้มาเห็นเหตุการณ์ก็พากันโห่ร้องปรบมือให้ แสดงความยินดี อัน นี้ก็เป็นเหตุการณ์ครั้งหนึ่งซึ่งแสดงถึงความมีสติปัญญา
อีกตัวอย่างหนึ่ง วันหนึ่งมีคนเป็นเจ้าของวัวนำวัวไปไถนาแล้วเหนื่อย ก็ไปนั่งใต้ต้นไม้ เพราะความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าก็เลยหลับไป ตอนนั้นก็พอดีมีโจรมากัน 2 คน มาเห็นเจ้าของวัวหลับอยู่ก็ได้โอกาสเลยจูงเอาวัวนี้ไป จูงเอาวัวไปเจ้าของวัวก็ตื่นขึ้นมา เมื่อตื่นขึ้นมาก็รีบวิ่งติดตามไปทัน ก็ไปแย่งวัว ฝ่ายโจรนั้นก็บอกว่า “วัวของข้า แกจะมาเอาไปยังไง” ทางนี้ก็บอกว่า “วัวของฉัน ฉันนอนหลับ ผูกไว้ แกเอาไป” ก็เถียงกันอยู่อย่างนี้ตกลงไม่ได้ ก็มาจนกระทั่งมาเจอเด็กชายมโหสถนี้ ซึ่งมีชื่อเสียงร่ำลือ ก็เลยให้เด็กชายมโหสถ เด็กชายมโหสถก็รับอาสาตัดสินให้
เด็กชายมโหสถก็ถามทั้งสองฝ่าย ถามฝ่ายโจรก่อนว่า “เออนี่ ท่านเอาอะไรให้วัวกิน” ฝ่ายโจรก็บอกว่า “ข้าพเจ้าเอางา เอาขนม ขนมชาวอินเดียเขาเรียกขนมกุมมาส ให้มันกินที่เป็นอาหารดี” ก็กะว่าต้องพูดให้เห็นว่าได้เลี้ยงอย่างดี แล้วมโหสถก็หันมาถามเจ้าของวัวที่แท้บ้างว่า “เออ ท่านล่ะเอาอะไรให้วัวท่านกิน” เจ้าของวัวก็ตอบว่า “ข้าพเจ้าเป็นคนจนจะมีอาหารดีๆ อย่างนั้นที่ไหน ข้าพเจ้าเอาหญ้าให้มันกิน” เด็กชายมโหสถก็ให้คนของตัวเองไปเอาใบประยงค์มา เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่งชื่อประยงค์ แล้วก็เอามาตำโขลกเข้า ขยำกับน้ำให้วัวกิน วัวกินใบไม้ชนิดนี้แล้วจะอาเจียน วัวกินเข้าไปแล้วก็อาเจียนออกมา ก็อาเจียนออกมาเป็นหญ้า เด็กชายมโหสถก็ให้ประชาชนตัดสินเองว่าใครเป็นเจ้าของวัวที่แท้จริง ก็เป็นอันได้ความว่าประชาชนก็ตัดสินได้ถูกต้อง โดยจากประจักษ์พยานที่ปรากฏนั้น เจ้าของวัวเดิมก็ได้วัวกลับคืนไป แล้วเด็กชายมโหสถก็สั่งสอนโจรให้ตั้งตัวอยู่ในความดีให้กลับตัวเสีย อันนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง
ตัวอย่างต่อไป เล่าสัก 3-4 ตัวอย่าง ตัวอย่างต่อไปก็เรื่องแย่งลูกกัน คือ แม่คนหนึ่งก็พาลูกของตัวไปที่สระน้ำ สระน้ำอย่างดีสมัยก่อนเขาเรียกว่าสระโบกขรณี พาไปถึงก็เอาลูกลงอาบน้ำ เสร็จแล้วก็เอาผ้าปูให้ลูกของตัวนั่ง ลูกยังเล็กๆ ยังเด็กกินนมอยู่ แล้วตัวเองก็ลงไปล้างหน้าบ้าง นี้ท่านบอกว่าเป็นยักขินี นางยักขินีตนหนึ่งมาเห็นเด็กก็อยากจะกิน ก็แปลงตัวเป็นผู้หญิง เข้ามาใกล้ๆ แล้วก็ทำท่าแสดงมีความเมตตากรุณารักเด็ก ก็มาถามแม่เด็กบอกว่า “เออ นี่ลูกของท่าน ของคุณใช่ไหม” ก็บอก “ใช่” บอก “แหมน่ารักจังเลยนะ ขออุ้มสักหน่อย” ทางนี้ก็ให้อุ้ม พออุ้มได้ ก็เล่นๆ กับเด็กไปสักครู่ก็พาหนี พอนางยักขินีแปลงนี้พาหนี แม่เด็กก็ตกใจก็วิ่งไล่ตาม วิ่งไล่ตามแล้วก็ไปยื้อยุดฉุดแย่งกัน ฝ่ายนางยักขินีก็บอกว่า “นี่ลูกของฉัน” ฝ่ายแม่ก็บอกว่า “นี่ลูกของฉัน” ต่างคนก็ต่างแย่ง ไม่รู้ลูกของใครแน่ เรื่องก็ไปถึงเด็กชายมโหสถอีกตามเคย
เด็กชายมโหสถก็เลยช่วยตัดสิน ว่า “เอานะ ถ้าท่านยอมรับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็จะช่วยตัดสินให้” เขาก็ยอมรับ เด็กชาย มโหสถก็ขีดเส้นลงที่พื้นดินเส้นหนึ่ง แล้วก็เอาเด็กวางที่ตรงกลางเส้น บอก “เอ้า ท่านทั้งสองดึงกัน ใครดึงชนะก็เป็นแม่” ทีนี้ก็ให้ทางแม่จับทางเท้า แล้วทางนางยักขินีแปลงนั้นจับทางมือ สองฝ่ายก็ฉุดกัน นางยักขินีก็ฉุดเต็มที่ เพราะว่าต้องการจะเอาไปกิน พอฉุดกันแรงๆ เด็กก็มีความเจ็บปวดก็ร้องไห้จ้าขึ้น พอเด็กร้องไห้จ้าขึ้นมา ฝ่ายแม่นั้นมีจิตใจอ่อนโยนมีความรักลูกมากก็หัวใจแทบจะแตก ก็ทนไม่ไหวต้องปล่อย ปล่อยแล้วก็ยืนร้องไห้ พอแม่ปล่อยยืนร้องไห้ เด็กชายมโหสถก็บอกว่า “หยุดได้แล้ว” นางยักขินีจะเอาไป ก็บอกว่า “หยุดก่อนๆ เดี๋ยวๆ ตัดสินเรื่องให้เสร็จเสียก่อน”
แล้วมโหสถก็ถามประชาชนว่า “ธรรมดาจิตใจของผู้หญิงคนไหนจะใจอ่อนต่อลูกมากกว่ากัน แม่หรือว่าคนอื่น” ประชาชนก็บอกว่า “ก็แม่สิ แม่ก็ย่อมรักลูกมาก” มโหสถก็บอกว่า “นี่แสดงว่า คนนี้ คนที่ยอมปล่อยเป็นแม่ เพราะว่ามีความรักลูกมาก ถึงอยากจะได้ลูกก็จริง แต่ว่ากลัวลูกจะตายกลัวลูกจะเจ็บก็ยอมปล่อย ทนไม่ไหวที่จะให้ลูกเจ็บปวด” ในที่สุดก็ถามซักไปมา นางยักขินีก็ต้องยอมรับว่าตัวเองเป็นฝ่ายมาลักลูกเขาไป เรื่องก็ยุติลงด้วยดี
ต่อมาก็มีเรื่องอื่นอีก อาตมาก็เล่าอีกสักเรื่องสองเรื่อง นี้พระเจ้าแผ่นดินต้องการทดสอบว่ามโหสถมีปัญญาจริงหรือไม่ ทีนี้จะทดสอบเองแล้ว ไม่เอาเรื่องที่เขาเล่า พระองค์ได้ไม้ตะเคียนมาท่อนหนึ่ง ก็ให้เขากลึงอย่างดี เหลือแต่ข้างใน มองดูไม่ออก ให้เป็นท่อนยาวๆ สักหน่อย แล้วก็ส่งไปที่หมู่บ้านนี้ ส่งไปให้คนทั้งหมู่บ้านเลย บอกว่า “ท่อนไม้ท่อนนี้พระเจ้าแผ่นดินส่งมา ให้ชาวบ้านในหมู่บ้านทั้งหมดนี้ บอกพระองค์ให้ได้ว่าท่อนไหนเป็นท่อนโคน ท่อนไหนเป็นท่อนปลาย ถ้าไม่มีใครบอกได้ จะปรับชาวบ้านร่วมกันนี้ทั้งหมด 1,000 เหรียญ” ชาวบ้านก็มาประชุมกัน หาวิธีว่าจะทำยังไงจะบอกได้ว่าท่อนไม้ท่อนนี้ที่กลึงเรียบร้อยแล้ว อันไหนเป็นท่อนหัวท่อนหาง ท่อนโคนท่อนปลาย ก็บอกไม่ได้สักคน
เรื่องก็มาถึงมโหสถอีก มโหสถก็ให้ไปเอาเชือกมา แล้วผูกตรงกลาง ผูกเสร็จก็เอาหย่อนลงน้ำ พอหย่อนลงน้ำ ท่อนโคนก็จมน้ำ ท่อนปลายก็กระดกขึ้นมา มโหสถก็ถามชาวบ้านบอกว่า “ธรรมดาท่อนไม้เนี่ย ท่อนโคนหรือท่อนปลายหนักกว่ากัน” ประชาชนก็บอกว่า “ท่อนโคนต้องหนักกว่าท่อนปลายก็เบากว่า” ก็บอกว่า “นี่ท่านเห็นไหม แล้วท่านบอกได้หรือยังว่าท่อนไหนเป็นท่อนโคน ท่อนไหนเป็นท่อนปลาย” ประชาชนก็บอกว่า “ได้ ก็ที่จมน้ำก็เป็นท่อนโคน ท่อนที่โผล่ขึ้นมาก็เป็นท่อนปลาย” ก็ส่งเรื่องกลับไปให้พระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินก็พอพระทัย ระหว่างนี้พระเจ้าแผ่นดินพอพระทัยหลายหนแล้ว ก็จะพยายามจะให้เอามโหสถเข้ามาในวัง ก็ถูกเสนกะบัณฑิต เป็นต้น คัดค้านทุกทีด้วยความอิจฉาว่า “ อ้ย ยังหรอกยัง แค่นี้ยังไม่แสดงว่าเป็นบัณฑิต” ก็ค้านกันเรื่อยมา จนกระทั่งตอนนี้พระเจ้าแผ่นดินก็พยายามที่จะเอาเข้ามาให้ได้ ในที่สุดพวกบัณฑิตสี่คนก็คัดค้านไม่สำเร็จ พระเจ้าแผ่นดินก็เอาเข้ามาในวังจนได้ เมื่อเข้ามาในวังแล้ว จึงจะให้อยู่เหมือนว่ารับให้อยู่เหมือนกับลูก ก็ยังไม่ได้รับราชการโดยตรง เพราะว่ายังต้องให้ได้รับความเห็นชอบ ปรึกษาบัณฑิตเหล่านี้อีก
ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่จะเล่า ตอนที่มาอยู่ในวังแล้ว คราวหนึ่งก็มีคนไปเห็น เป็นแก้วมณีอยู่ในกลางสระในพระราชวัง สุกปลั่งรัศมีล้วนงดงาม พระเจ้าแผ่นดินก็บอกว่า “เอ้า ถ้าใครสามารถเอาแก้วมณีนี้ขึ้นมาได้จะให้รางวัล” แล้วก็ปรึกษากับบัณฑิต บัณฑิตทั้งสี่คนก็ให้คนมาช่วยกันวิดน้ำออกจากสระ จนกระทั่งแห้งจนถึงโคลนถึงตม ก็ยังไม่ได้แก้วมณี ไม่พบด้วย พอเอาน้ำกลับเข้ามาก็เห็นแก้วมณีอย่างเดิมอีก วิดไปก็ไม่ปรากฏอีก ก็เลยไม่สำเร็จ
พอเรื่องถึงมโหสถบ้าง มโหสถมาเห็นก็บอกว่า “แก้วมณีไม่ได้อยู่ในกลางสระแต่อยู่ข้างบน คือบนยอดไม้” พระเจ้าแผ่นดินปรึกษาถามว่า “เธอรู้ได้ยังไง” มโหสถก็ให้ไปเอาภาชนะมาอันหนึ่งแล้วใส่น้ำ แล้วให้พระเจ้าแผ่นดินดู บอกว่า “ในภาชนะนี้ก็จะมีแก้วมณีเหมือนกันใช่ไหม ไม่ใช่มีเฉพาะในสระเท่านั้น” พระเจ้าแผ่นดินก็เห็น ก็ยอมรับ ก็บอกว่า “นี่แก้วมณีไม่ได้อยู่ในน้ำหรอก แต่มันอยู่บนยอดไม้ข้างบน” ก็ค้นต้นไม้ข้างบน ก็ได้ว่าอยู่บนต้นตาลยอดตาลโน่น อยู่ในรังกา เข้าใจว่ากาคงจะไปคาบเอาอะไรมา แล้วมันติดมา ก็เลยเห็นปัญญาของมโหสถ ผลที่สุดบัณฑิตทั้งสี่คนนั้นก็คัดค้านไว้ไม่ไหว มโหสถก็ได้เข้ารับราชการ และต่อจากนั้นก็ได้ช่วยการแผ่นดิน ได้ช่วยในการสงครามด้วยสติปัญญาเป็นอันมาก
อาตมภาพก็ยกเรื่องนี้มาเล่าเป็นตัวอย่างถึงการใช้สติปัญญาที่ช่วยเหลือ ทำให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน ทำให้เขาหายความเดือดร้อนต่างๆ นี่เป็นปฏิปทาอย่างหนึ่งของพระโพธิสัตว์ เป็นผู้มีปัญญา แต่เป็นการใช้ปัญญาในทางที่ดีงาม ไม่ได้ใช้ในทางเสียหาย ไม่เหมือนอย่างเรื่อง นายยอดบัณฑิตหรือนายยอดฉลาด ที่ว่าใช้ปัญญาในการที่จะโกงคนอื่น แต่นี่เป็นการใช้ปัญญาในทางที่ดีงาม เป็นการบำเพ็ญบารมี แต่ว่าส่วนนี้ก็ยังเป็นเพียงแสดงให้เห็นปัญญาตอนที่มโหสถยังเป็นเด็กอยู่ ส่วนตอนที่แกเป็นผู้ใหญ่แล้ว ตอนที่รับราชการทำประโยชน์อย่างไรนั้น ก็เป็นเรื่องยืดยาว ก็จะไม่นำมาเล่าในที่นี้
ปัญญาก็มีคุณประโยชน์อย่างที่กล่าวมานั้น เพราะฉะนั้นเราก็ควรที่จะได้สั่งสมเจริญปัญญา ดำเนินตามพุทธปฏิปทา ซึ่งการที่จะเจริญปัญญานั้น ก็เหมือนกับที่อาตมภาพได้กล่าวเมื่อวานนี้ ถึงทางเกิดปัญญา 3 ทางคือ
“สุตะ” การสดับตรับฟังเล่าเรียน อ่าน
แล้วก็ “จินตะ” การคิดการใช้ความคิดพินิจพิจารณา
แล้วก็ “ภาวนา” การลงมือทำหรือปฏิบัติ
อาจจะใช้ 3 อย่างนี้มาร่วมกัน ฟังเล่าเรียนอ่านให้มากด้วย แล้วก็ใช้ความคิดไปด้วย รู้จักคิดให้ถูกวิธีด้วย แล้วก็ลงมือมา นำมาใช้ นำมาปฏิบัติ เพื่อให้เห็นด้วยตนเองว่ามันจะเกิดผลจริงจังอย่างไร แล้วสติปัญญาก็จะเจริญยิ่งขึ้นไปตามลำดับ
อาตมาก็คิดว่าสำหรับวันนี้ เล่าเรื่องมาก็ยาวมากพอสมควรแก่เวลา และพอดีวันนี้เป็นวันที่คุณแอนก็จะเดินทางไปประเทศอังกฤษ แล้วก็ได้มานั่งฟังอยู่ในที่นี้ด้วย ก็เลยถือโอกาสตั้งเมตตาจิตอวยชัยให้พรไปด้วย ขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ แล้วก็ทำกิจที่มุ่งหมายได้สำเร็จสมความปรารถนา จะได้กลับมาช่วยงานพระศาสนา ทำประโยชน์สุขให้เกิดเพิ่มยิ่งๆ ขึ้นไป ให้มีความสุขกายสบายใจตลอดกาลนานเทอญ.