แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยม พุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะอันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา วันอาทิตย์นี้ เกิดท้องฟ้าครึ้มจัดไปด้วยเมฆ ฝนตกมาตั้งแต่เมื่อคืน กลางวันก็ดูเหมือนว่าจะเป็นแบบนี้ตลอดไป เวลาฝนตั้งเค้ามาครึ้มๆ เรารู้สึกไม่สบายใจ มนุษย์นี่มันแปลก ถ้าหากว่าแล้ง ไม่มีฝน ก็บ่นว่าอะไรฝนไม่ตกกันซะบ้างเลย แต่พอฝนตั้งเค้าทำท่าจะตกนี่ไม่มีใครร่าเริงยินดี ยิ่งตกจั๊กจั๊กด้วยแล้วก็รู้สึกว่าไม่สบายใจ เวลาฝนไม่ตกก็ไม่สบายใจ เขาจึงพูดว่า มนุษย์นี่ฝนตกก็ว่า แดดออกก็ว่า อะไรเรื่อยไป เพราะไม่พอใจนั่นเอง ไม่ใช่เรื่องอะไร ความไม่พอใจมันก็เป็นทุกข์อย่างนี้ เช่น เวลาเช้านี้เราอาจจะอึดอัดใจว่าฝนตกจะไปวัดลำบาก แต่ก็มาได้ ถ้ามีความตั้งใจที่จะไป อะไรๆ ของธรรมชาติหน่ะมันก็เป็นอยู่อย่างนั้น ฝนตกบ้าง แดดออกบ้าง มีลมพายุบ้าง มีอะไรต่ออะไรบ้าง มันเป็นเรื่องธรรมดา เราควรจะพอใจในสภาพที่มันเกิดขึ้น เพราะความพอใจนั้นเป็นเหตุให้สบายใจ ความไม่พอใจนั้นเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ทางใจ ทีนี้มันเรื่องอะไร ที่เราจะนั่งเป็นทุกข์ ในเมื่อสิ่งนั้นๆ เราห้ามไม่ได้ เราขอร้องวิงวอนก็ไม่ได้ เช่นฝนจะตก ยกมือไหว้ท่วมหัวอย่าตกเลยพ่อเจ้าประคุณ มันก็ไม่ได้ แดดเปรี้ยงๆ จะไปขอร้องเบาแสงหน่อยดวงอาทิตย์เอย มันก็ไม่ได้ มันเรื่องธรรมดาที่จะต้องเป็นอย่างนั้น
ทีนี้เราต้องเห็นจิตใจของเราให้เหมาะแก่เรื่อง แล้วเราก็สบาย เช่นเวลานี้ฝนตก เราก็นึกว่าดีเหมือนกัน เพราะว่าประเทศไทยทำนา ต้องการน้ำ ถ้าฝนตกน้ำจะได้มากหน่อย ปีกลายน้ำน้อย ปีนี้น้ำมาก พอจะได้ชดเชยกัน นึกอย่างนี้แล้วก็สบายใจ จะไม่วุ่นวายเดือดร้อนอะไร ทีนี้งานการที่เราจะกระทำนั้น แม้ว่าฝนตกแดดออกเราก็ต้องทำ ตามหน้าที่ที่เรามีอยู่ ถ้าเราไม่ทำเพราะไปวิตกกังวลด้วยเรื่องดินฟ้าอากาศ มันก็กลายเป็นอุปสรรคไปหมด ทำให้การงานชะงักงันไม่ก้าวหน้า เพราะฉะนั้นไม่ควรคิดถึงเรื่องอย่างนี้ให้วุ่นวายใจ แต่ว่าเรามาคิดในแง่ธรรมะ เพื่อเอามาเป็นเครื่องเตือนจิตสถิตใจ ให้เกิดการนึกคิดในทางที่ถูกที่ชอบจะดีกว่า เมื่อนึกถึงเรื่องฝน ก็นึกถึงพระพุทธภาษิตบทหนึ่งในคัมภีร์ธรรมบทที่ท่านกล่าวไว้ว่า ยถา อคารํ ทุจฺฉนฺนํ วุฏฐิ สมติวิชฺฌต เอวํ อภาวิตํ จิตฺตํ ราโค สมติวิชฺฌติ นั่นคำบาลีเค้าว่าอย่างงั้น ฟังบ้างก็ดีเหมือนกัน บอกว่า
[04:22] เรือนที่บนบังไม่ดี เมื่อฝนตกมันก็รั่วรดเราทำให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนฉันใด จิตที่เราไม่ได้รับการอบรมบ่มนิสัย กิเลสก็ย่อมรั่วรดได้ฉันนั้น เรือนที่บนบังดีแล้ว ฝนตกก็ไม่รั่วรดฉันใด จิตที่ควบคุมดีแล้ว กิเลสก็ย่อมจะไม่รั่วรดฉันนั้น
อันนี้เป็นคาถาพระบาลีมีอยู่ในคัมภีร์ที่เรียกว่าธรรมบท คัมภีร์ธรรมบทนี่เป็นคัมภีร์เล็กๆ แต่ว่ามีคาถาคำสอนอยู่ ๔๐๐ กว่าคาถา เป็นคำภีร์ที่ดีมาก เพราะมีคำสอนสั้นๆ ย่อๆ เป็นเครื่องเตือนจิตสถิตใจ ชาวไทยเราไม่ค่อยจะได้อ่าน เพราะไม่ค่อยมีคำแปล สมัยโบราณนั้นคำภีร์นี้อยู่ในใบลาน แล้วก็มีเรื่องต่อๆที่พระอรรถคาถาจารย์ท่านแต่งขึ้นต่อไว้ด้วยผ้า เก็บไว้อยู่ในตู้ ญาติโยมมีความทุกข์มีความเดือดร้อนใจ มักจะไปวัด เรียกว่าไปเสี่ยงทายกับคัมภีร์ธรรมบท พระสมภารก็ยกคำภีร์มาวางบนโตกสมภาร ให้จุดธูปจุดเทียนบูชา แล้วก็เอาไม้แหลมๆ ซึ่งทำไว้เสี่ยงทาย ก็แทงชุปลงไป เมื่อแทงลงไปแล้ว ก็เปิดอ่านให้ฟัง ถูกเรื่องอะไร สมมติว่าไปถูกเรื่องเทวทัตตัดงาช้าง ช้างถูกตัดงา ท่านก็ทายว่า มันไม่ค่อยจะดี จะมีความทุกข์ มีความเดือดร้อน จะเสียลาภ เสียนั้น เสียนี้ ว่ากันไปตามที่แทงถูก ถ้าไปแทงถูกที่ดีๆ เช่นแทงถูกที่พระเจ้าปเสนทิโกศลขึ้นนั่งบัลลังก์ นั่นเค้าบอก เออ ดีมาก ดวงชะตาจะดี จะมีโชคมีลาภ แหน่ะ เอากันไปอย่างนั้น ของดีๆ มีประโยชน์ เอาไปใช้เละทะหมด คือไม่อ่านข้อความในพระคัมภีร์ให้เกิดประโยชน์ในทางสร้างสรรค์ ในทางปัญญา แต่ไปอ่านแล้ว ไปคิดในทางที่ไม่เกิดปัญญา อย่างนี้ก็ไม่ได้เรื่องอะไร เพราะว่าไปใช้คล้ายๆ กับว่าแทงศาสตรา ที่คนแก่ๆ เที่ยวสะพายใส่กระเป๋าแล้วก็ไปไหนมาไหน เอาไปเรื่อยๆเก็บสตางค์ ใครทายแล้วก็ได้สตางค์
ไปที่หาดใหญ่ โยมคนแก่คนหนึ่ง แกอุตส่าห์มาแต่บ้านไกลเพื่อจะมาฟังเทศน์ เลยถามว่าโยมนี่อาชีพอะไร เป็นหมอดู แล้วก็มีศาสตราให้คนแทงด้วย เราบอกว่าไหน ลองเอามาดูซิ แทงอย่างไร แกก็หยิบหนังสือมาให้ บอกไม้นี้ เจ้าคุณแทงไปเหอะ ถ้าแทงลงไป ก็ได้ที่ดีหน่ะ แกบอกว่าเจ้าคุณนี่ชะตาดีเหลือเกิน ไปไหนไม่เดือดร้อน มีคนคอยช่วยเหลือ อาตมาก็บอกว่า มันไม่ใช่ดีเพราะดวงหรอก มันดีเพราะทำดีมานานแล้ว ทำมาตั้งแต่อายุ 20 นู่นจนอายุ 68 แล้ว ไปไหนคนก็กราบไหว้บูชา ไม่ใช่เพราะแทงศาสตราถูกที่ดี ไม่ใช่ เลยว่าเอ้า ให้เจ้าคุณวัดหาดใหญ่แทงดูมั่งดิ พอไปแทงดูเข้า ดวงไม่ดี แหม เจ้าคุณนี่แย่ ก็มันมีหน้าดีบ้าง ไม่ดีบ้าง แทงลงไปมันก็ถูกดีบ้างไม่ดีบ้าง เจ้าคุณก็หัวเราะคิกคิก บอกว่าแทงใหม่ดีกว่า ไอ้นี่ไม่ดี เลยแทงอีกทีก็ดีเท่านั้นเอง พอแทงดี หมอบอกว่า 2 ทีพอแล้วว่างั้น ไม่ให้แทงต่อ เดี๋ยวจะถูกที่ไม่ดีอีก ว่างั้น นี่มันเป็นซะอย่างนี้ เอ่อ คนเรามันก็เป็นแบบนั้นแหล่ะ ไม่ได้คิดถึงอะไรที่เป็นเรื่องถูกต้อง แต่ไปคิดถึงเรื่องไม่ดี จึงเกิดปัญหา
ทีนี้เมื่อตะกี้ที่ยกเอาบาลีมาพูดให้ฟังว่า เรือนที่บนบังไม่ดี ฝนรั่วรดได้ฉันใด ใจที่ควบคุมไม่ดี กิเลสย่อมรั่วรดได้ฉันนั้น อันนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า ในชีวิตของคนเรานั้น คำว่าชีวิตนี่มันหมายถึงอะไร หมายถึงเครื่องประกอบที่รวมกันเข้า แล้วก็เป็นอยู่ได้ เรียกว่ามีชีวิต มีชีวิตก็มีลมหายใจเข้า-ออกหน่ะเห็นง่าย ถ้ายังมีลมหายใจเข้า หายใจออกอยู่แล้วก็เรียกว่ามีชีวิต ไม่มีลมหายใจเข้า-ออกก็เรียกว่าไม่มีชีวิต ซึ่งเราเรียกกันว่าตาย ชีวิตที่มีลมหายใจเข้า-ออกนี้ มันประกอบด้วยร่างกายแล้วก็จิตใจ จิตนั้นเป็นคำภาษาบาลี ใจนั่นเป็นคำภาษาไทย คนไทยเรามันชอบพูดทั้ง 2 ภาษาหน่ะ จิตใจว่ากันไปเรื่อย นี่โยมฟังกันไหมล่ะว่า เอ๊ะ ไอ้จิตกับใจนี่มันจะเหมือนกันรึเปล่า ขอให้เข้าใจว่าเหมือนกัน คำว่าจิตใจ มโน วิญญาณคำเหล่านี้เหมือนกัน ใช้แทนกันได้ เพราะฉะนั้นเวลาได้ยินคำเหล่านี้ อย่างง อย่าไม่เข้าใจ แต่ให้เข้าใจว่ามันเป็นคำเดียวกัน
คนเราทุกคนมีกายซึ่งอยู่ข้างนอก ตั้งแต่ปลายผมถึงปลายเท้า ยาววา หนาคืบ กว้างหนึ่งศอก อันนี้เรียกว่าร่างกาย ร่างกายของคนเรานั้น ประกอบขึ้นด้วยธาตุมีมากมายหลายอย่าง แต่ว่าพระผู้มีพระภาคไม่ต้องการให้เราเรียนธาตุอย่างนักวิทยาศาสตร์ ให้เรียนแต่พอรู้ว่ารูปนี้มันประกอบขึ้นด้วยธาตุต่างๆ เอาแต่เรื่องใหญ่ๆ ก็ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม ธาตุดินหน่ะหมายถึงของแข็ง ธาตุน้ำก็คือของเหลว ธาตุลมก็คือแก๊สที่มีอยู่ในร่างกาย ธาตุไฟก็คือความร้อนที่มีอยู่ในร่างกายของเรา เพราะฉะนั้นคนเป็นนี่จึงมีความอบอุ่นทางกาย ถ้าทำร่างกายยังอุ่นล่ะก็ยังไม่ตาย ถ้าเย็นชืดล่ะก็หมายความว่าตายแล้ว ร่างกายที่ยังเป็นนั้นอาศัยธาตุทั้ง 4 พร้อมเพรียงกันอยู่จึงอยู่ได้เพราะสิ่งนั้นยังพร้อม แต่ถ้าหากว่าธาตุทั้ง 4 ไม่พร้อม ร่างกายเกิดไม่สบาย เจ็บไข้ได้ป่วยปวดหัวตัวร้อน อ่อนเพลีย เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อันเป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นแก่ใครเมื่อใดก็ได้ เพราะร่างกายนี้มันไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาตามสภาพของสิ่งปรุงแต่ง และยังเปลี่ยนแปลงเพราะสิ่งแวดล้อม เช่น เรื่องดินฟ้าอากาศ บางทีแดดร้อน บางทีฝนตก เมื่อฝนตกมันมีความชื้น เราหายใจเอาความชื้นเข้าไป ร่างกายต้านทานไม่ไหว ก็เกิดอาการเป็นหวัดคัดจมูก หรือว่าเรารับประทานอาหารไม่พิจารณา เป็นอาหารไม่สะอาดแล้วเราก็กินเชื้อโรคเข้าไปด้วย ทำให้ท้องเสียไม่สบาย เหตุที่จะให้ไม่สบายนั้น มันมีมาก เพราะร่างกายนี้ก็เป็นรังรูปอยู่เหมือนกัน เป็นเรือนรูปอยู่เหมือนกัน
เราอาจจะเกิดการเจ็บไข้ได้ป่วยเมื่อใดก็ได้ อันเป็นเรื่องธรรมดา อันนี้เขาเรียกว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติ ของสรรพสิ่งทั้งหลาย
ในทางพระพุทธศาสนาจึงสอนให้เราเรียนรู้เหมือนกัน เรียกว่าเรียนรู้เรื่องธรรมชาติของร่างกาย ของสิ่งต่างๆ ที่แวดล้อมเพื่อจะได้ป้องกันแก้ไขให้สิ่งทั้งหลายอยู่ในสภาพปกติ เราจึงต้องทำการศึกษา เรื่องอาหาร เรื่องน้ำ เรื่องที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม สถานที่ที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องว่าสถานที่เหล่านั้นเป็นสถานที่อะไร มีโรคภัยไข้เจ็บอยู่รึเปล่า คนที่เราไปเกี่ยวข้องเราก็ต้องพิจารณาว่าคนนั้นเป็นคนมีโรครึเปล่า เช่น คนเป็นวัณโรค ไอออกมา เชื้อโรคกระเด็นกระจายไปทั่วๆ ไป เราไปนั่งอยู่ใกล้รัศมีของที่เขาไอออกมา เราสูดเอาเข้าไปในปอดของเราได้ ถ้าร่างกายอ่อนแอไม่แข็งแรง เราก็เป็นโรคได้ หรือว่าเราไปกินอาหารที่มีแมลงวันตอม วางขายอยู่ข้างถนน ขี้ฝุ่นบ้าง แมลงบ้าง ลงไปสวนสนามอยู่ในขนมนั้น เรากินเข้าไปมันก็เกิดทุกข์ เกิดโทษ หรือว่าเราไปคบคนบางประเภทที่มีโรคติดต่อ เรารู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความอยากมันรุนแรง ลืมนึกถึงอันตราย แล้วก็เป็นอันตรายขึ้นมา โรคภัยไข้เจ็บบางอย่างเกิดเพราะความประมาท ไม่ระมัดระวัง
แต่ว่าบางอย่างนั้นมันเกิดโดยไม่รู้สาเหตุ ไอ้โรคที่เกิดโดยไม่รู้สาเหตุนั้นคือโรคมะเร็ง อันนี้ไม่รู้ หมอค้นกันตายไปหลายคนแล้ว ตัวหมอเองหน่ะตายไปหลายคนแล้ว ก็ยังไม่รู้ว่าไอ้เจ้าโรคนี้มาอย่างไร ไปอย่างไร จะใช้ยาอะไรเป็นเครื่องแก้ยังไม่สามารถจะทำได้ ก็ยังค้นกันอยู่ มะเร็งมันคงจะยิ้มอยู่เหมือนกัน ยิ้มว่าเออค้นไม่พบ ยังไม่พบกูก็เล่นงานแกเรื่อยไปล่ะ ฉะนั้นคนเราจึงต้องเจ็บต้องตายด้วยโรคนี้เป็นจำนวนมาก เพราะมันเกิดขึ้นเองในร่างกายโดยไม่มีสาเหตุ ไม่รู้เรื่อง แต่ว่ามนุษย์เราก็เที่ยวซักไปตามเรื่องนั้นเรื่องนี้ เช่น ซักไปว่าสูบบุหรี่มากไป ดื่มเหล้ามากไป อะไรๆ มากไป นั่นก็เพราะว่าคนที่เป็นนั้น ส่วนมากสูบบุหรี่ ส่วนมากก็เป็นคนดื่มเหล้า เลยก็ต้องบอกว่า เหล้าเป็นเหตุ บุหรี่เป็นเหตุอะไรก็ว่านั้นไปตามเรื่อง ทีนี้คนที่สูบไม่เป็น ก็บอกว่า เฮ้ย ผมสูบไม่เห็นเป็น เป็นอย่างนั้นไปซะอีก ความจริงควรจะยอมรับเสียหน่อย จะได้เลิกสูบบุหรี่ ยอมรับเสียหน่อยก็จะได้เลิกเหล้า ไม่เปลืองสตางค์ ไม่เสียเงินโดยไม่ได้สาระ อย่างนี้มันก็ดีขึ้น
แต่ว่าคนเรามันอย่างนั้นแหล่ะ มักจะเป็นคนขี้แพ้จนกระทั่งตาย ไม่คิดเอาชนะกับเขามั่งเลย เราจะต้องเสียเงินเสียทองไปเรื่อยๆ เพราะการไปติดอยู่ในสิ่งเหล่านั้น ร่างกายของมนุษย์เรามันเป็นอย่างนี้ นี่เป็นเรื่องของรูปคือร่างกาย มีสาเหตุให้เกิดปัญหามากมายก่ายกอง เราจึงต้องระมัดระวังเค้าหน่อยเพื่อให้ใช้นานๆ เป็นประโยชน์นานๆ ในร่างกายของเรานั้น มีสมองซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายนั่นแหล่ะ แต่ว่าสมองนี้เป็นเครื่องประกอบในการคิด การนึก การกำหนดจดจำ ในเรื่องอะไรๆ ต่างๆ ทุกประเภท ไม่ว่าอะไรมันสำคัญอยู่ที่สมองทั้งนั้น เมื่อสมองที่มีอยู่ในกระโหลกศีรษะของเรานั้นได้ทำหน้าที่เป็นเครื่องประกอบการปรุงแต่ง ความคิด การจดจำอะไรต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ถ้าสมองส่วนใดชำรุดไปมันก็ใช้ไม่ได้ เช่น สมองส่วนที่เป็นความจำชำรุด เราก็จำอะไรไม่ค่อยได้ คนแก่ๆ บางคนก็จำอะไรไม่ค่อยได้ แต่ว่าไม่ค่อยยอมรับว่าตัวจำไม่ได้
มีคนเข้าไปหาคนแก่คนนึง อายุท่านก็ตั้ง 92 แล้ว เราถามว่าเป็นยังไงลุง ความจำดีหรือ เออยังดี จำอะไรได้อยู่ แหน่ะ นั่งๆ กัน 3 คน นี่ก็คุย เอ๊ะ แกนี่ มันอายุเท่าไหร่ พอคนนั้นบอกเสร็จแล้ว นั่งๆอยู่ประเดี๋ยว เออ แกนี่อายุเท่าไหร่ ถามมาต้อง 3 หนแต่บอกว่าความจำดีอยู่ ความจำดี ทำไมถามถึง 3 หน ไอ้ที่ถาม 3 หนหน่ะเพราะไม่จำ คือไม่รู้ว่าไอ้นั่นคือถามแล้ว แล้วก็ถามซ้ำอีก แล้วไม่รู้สึกตัวว่าถามแล้วด้วยซ้ำไป อันนี้แสดงว่าความจำเป็นอื่น ไอ้ความจำเลือนนั้นเป็นเรื่องธรรมดา สมองคนแก่นั้นมันลีบลงไป เล็กลงไป โลหิตติดในเนื้อสมองก็น้อยลงไป ความจำก็เสื่อม ถ้าเรารู้สึกว่าความจำเสื่อม ให้ยอมรับเสีย ยอมรับว่าชั้นแก่แล้ว สบายดี อะไรที่เรายอมรับหน่ะ มันสบาย อย่าไปฝืนมัน อย่าไปบอกว่า เฮ้ย ยังเรียบร้อย อย่างนี้มันก็ลำบาก ทำไมจึงไปพูดเช่นนั้น คือไม่ยอมแก่นั่นเอง คนเราที่ไม่ยอมแก่มีเยอะแยะ พอใครบอกว่าแก่นี่ไม่ค่อยชอบอยากเป็นหนุ่มกระชุ่มกระชวยอยู่ตลอดเวลา
[20:02] เราอย่าไปฝืนธรรมชาติ ถ้ามันแก่ก็บอกว่าแก่แล้วยอมรับเสีย แล้วก็พยายามควบคุมจิตใจเพื่อให้สมกับความเป็นคนแก่ อย่างนี้เราก็สบาย
ความนึกความคิดกำหนดจดจำนี้ มันอยู่ที่สมอง อาการที่ออกมานั้น เราเรียกว่าเรื่องจิต จิตนั้น มันไม่มีแน่แท้ ไม่มีตัว ถ้าเราจะไปถามใครๆ ว่าจิตคืออะไร ตอบไม่ได้ ไม่มีใครสามารถจะตอบได้ว่า จิตคืออะไร เพราะมันเป็นแต่เรื่องผสมกันเข้า แล้วก็เกิดอะไรขึ้นมา ในรูปต่างๆ อย่างนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อเพศก็ไม่มี แต่เราดูแล้วนึกว่ามันมี ที่นึกว่ามีนั้นก็เพราะว่ามันอัศจรรย์แปลกประหลาด เรื่องเก่าๆ ตั้งแต่สมัยเป็นเด็กโน่น เราได้พบได้เห็นอะไร เรายังจำได้ ยังนึกได้ เอามาเล่าสู่กันฟังได้ ว่ามีอะไรบ้าง ในสมัยนั้นเรื่องเก่าๆ นี่มักจะจำมาก ติดสมอง ติดใจอยู่ทีเดียว
ญาติโยมลองสังเกตว่า อะไรเก่าๆ นั้นเราจำแม่น แต่เรื่องใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นเมื่ออายุมากนี่ไม่ค่อยจะแม่น จำไม่ค่อยจะดีแล้ว ไม่เหมือนเมื่อเป็นเด็ก ทำไมเป็นเด็กจึงจำมาก เพราะว่าจิตใจของเด็กนั้นยังไม่วุ่นวาย ยังไม่สับสน มีปัญหาน้อยมีเรื่องที่จะทำให้วุ่นวายน้อย จิตอยู่ในสภาพสะอาดอยู่ เพราะฉะนั้นอะไรเข้าไปก็ประทับแน่นแล้วก็ติดต่อมา ยังจำได้ เรื่องเก่าๆ สมัยเป็นเด็ก หลับตานึก ยังเห็นภาพอันนั้น เห็นภาพตลอดเรื่อง แล้วเอาไปเขียนบรรยายลงเป็นตัวหนังสือได้อย่างเรียบร้อย เรื่องสมัยเป็นหนุ่มก็ยังจำได้ แต่ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อปี สองปีมานี้ มันไม่ค่อยประทับเท่าใดแล้ว ที่ไม่ประทับนั้น มันมีสาเหตุหลายประการ ประการหนึ่ง รู้ว่าอะไรควรจำ อะไรไม่ควรจำ สิ่งใดที่จะให้มันรกสมอง เราก็ไม่เอา สิ่งใดจำไว้แล้วจะเป็นประโยชน์แก่ชีวิต เป็นเครื่องเกื้อกูลแก่การศึกษา เราก็จำสิ่งนั้นไว้ รู้จักเลือกว่าอะไรควรจำ อะไรไม่ควรจำ เพราะฉะนั้นจึงจำไม่ได้ทั้งหมด เราอย่าเป็นทุกข์ในเรื่องนี้ เช่น โยมแก่ๆ นี่อย่าเป็นทุกข์ว่า แหม จำอะไรไม่ค่อยได้ ช่างมันเถอะ อะไรเกิดขึ้นแล้ว ให้มันผ่านพ้นไป ผ่านพ้นไป อย่าไปเที่ยวจำให้มันวุ่นวายเลย สร้างปัญหาแก่ชีวิตเปล่าๆ
เราเพียงแต่คอยกำหนดรู้ ว่าอะไรเป็นอะไร แล้วก็ตัดมันทิ้งไป ทิ้งไป ไม่ต้องเก็บมาจำไว้โดยเฉพาะเรื่องบางประเภทไม่ควรจำเลย คือเรื่องอะไร เรื่องที่ทำให้เกลียด ทำ ให้โกรธ ทำให้เกิดความพยาบาท ขุ่นแค้นในใจ เรื่องประเภทนี้ไม่ควรจำเป็นอันขาด มันเกิดขึ้นที่ใด ก็ให้มันดับไปที่นั่น ให้มันจบไปที่นั่น อย่าเอามาคิดนึกตรึกตรองให้เป็นความวุ่นวาย ทำให้เกิดกลุ้มใจ บางคนไม่รู้จักปล่อย ไม่รู้จักวาง ชอบเอามาคิดนึก ตรึกตรองให้วุ่นวาย แล้วก็นั่ง เจ็บใจจริงๆ หน่ะมันเรื่องอะไร ที่นั่งเจ็บใจ นั่นแหล่ะคือความทุกข์ล่ะ คือความเดือดร้อนใจ สร้างอารมณ์ไม่ดีขึ้นให้แก่ตัวเอง เราจึงควรจะหัดลืมมันเสียบ้าง ในเรื่องที่มันไม่ได้ประโยชน์อะไร ทิ้งไว้เสีย อะไรที่มันไม่เป็นประโยชน์ก็ทิ้งไว้ที่นั่น จะเอามาทำไม เอามาเฉพาะสิ่งที่ควรคิดนึกตึกตรอง คิดแล้วมันเกิดปัญญา อย่างนี้แล้วจิตใจจะได้สบาย ไม่วุ่นวายไม่เดือดร้อน ในชีวิตของคนเรานั้น อะไรๆ ที่เกิดขึ้น มันก็เกิดตรงนี้ทั้งนั้น เกิดที่ใจของเราทั้งนั้น หรือพูดว่าจิตก็ได้ มันเกิดขึ้นที่นี่
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สิ่งทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า สำเร็จจากใจ การทำการพูดทุกอย่างมาจากใจ สุขทุกข์มาจากใจ ความเสื่อมความเจริญก็มาจากใจ อะไรๆ ในชีวิตของเรานั้นเกิดจากใจของเราทั้งนั้น ลำพังกายนั้นมันไม่มีอะไร ไม่มีใจเข้าไปเกี่ยวข้องแล้ว กายมันก็ไม่ได้เรื่องอะไรหรอก แต่พอใจเข้าไปเกี่ยวข้องก็มีเรื่อง มีเรื่องขึ้นมา ใจเราที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับอะไรนั้น ถ้าเกี่ยวข้องด้วยปัญญาไม่มีเรื่อง ถ้าเกี่ยวข้องด้วยความหลง ความเข้าใจผิดก็มีเรื่อง เพราะฉะนั้นความทุกข์ ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันนี่ เกิดจากความไม่รู้ ไม่เข้าใจ ดั่งที่พระท่านสอนว่าอวิชชา อวิชชาหน่ะคือความไม่รู้ ไม่เข้าใจในสิ่งที่มากระทบกับตัวเรา เราไม่รู้ว่ามันคืออะไร มันเป็นมาอย่างไร เมื่อไม่รู้ ไม่เข้าใจ ก็เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน และเมื่อไม่รู้นานเท่าใด ทุกข์ยิ่งนานเท่านั้น ทรมานตัวเองมากขึ้น แต่ถ้าเมื่อใดเรารู้ขึ้นมาทันทีว่าสิ่งนั้นคืออะไร เราก็หายไป พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า
[26:23] เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฎแก่พราหมณ์ผู้นั่งเพียรพยายามเพื่อให้หลุดพ้นอยู่ เมื่อนั้นความหลุดพ้นจะเกิดแก่พราหมณ์นั้น
เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฎแก่พราหมณ์ผู้นั่งบำเพ็ญเพียรอยู่ เมื่อนั้นความสงสัยทั้งหลายของพราหมณ์นั้นก็หมดสิ้นไป
คำว่าพราหมณ์ในที่นี้ ไม่ใช่พราหมณ์นุ่งขาวห่มขาวอะไร แต่หมายถึงบุคคลผู้ใช้ความเพียรเพื่อกระทำตนให้หลุดพ้นจากความทุกข์ แล้วก็ไปนั่งคิดนั่งค้นอยู่ในที่เงียบๆ มีความเพียรนั่งคิดค้นอยู่ในที่เงียบๆ คิดไปค้นไป เมื่อใดธรรมปรากฎแก่เขา คือความจริงมันปรากฎขึ้นแก่ใจ รู้ความจริงนั้น พอรู้ความจริงนั้น ความสงสัยทั้งหลายก็จะหายไป เขาก็พ้นไปจากความทุกข์ ความเดือดร้อน อันนี้แหล่ะเป็นเรื่องสำคัญอยู่เหมือนกัน พุทธศาสนาเราเชื่อว่า สิ่งทั้งหลายเกิดจากการคิด การค้น แต่ในศาสนาอื่นนั้น เขาว่าพระผู้เป็นเจ้ามาบอก ทำไมจึงว่าเช่นนั้นก็เพราะว่าฐานของความเชื่อดั้งเดิมมันมีมาก่อนอย่างนั้น ว่ามีอะไรๆ อยู่เบื้องบน มีอะไรๆ ที่ศักดิ์สิทธิ์มีฤทธิ์มีเดช จะดลบันดาลให้ตนเป็นอย่างนั้นให้เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อไปนั่งทำความเพียร คิดค้นอะไร เกิดรู้เรื่องนั้นขึ้น เขาก็ทึกทักเองว่าพระผู้เป็นเจ้ามาบอก มาดลบันดาลให้รู้
แต่ในทางพุทธศาสนาไม่ยอมรับหลักการเช่นนั้น แต่ยอมรับว่า สิ่งทั้งหลายปรากฎขึ้นแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งพิจารณาอยู่ คือธรรมะปรากฎ ความรู้แจ้งเห็นจริงปรากฎขึ้น ค้นพบความจริง แล้วความสงสัยนั้นก็จะหายไป พระพุทธศาสนาสอนคนให้ทำความเพียร ให้คิดก้าวหน้า ให้ช่วยตัวเอง ให้พึ่งตัวเอง แล้วให้ทำสิ่งนั้นด้วยตัวเอง อย่าไปเที่ยวนึกว่าอะไรจะมาช่วยตัวเรา เราต้องช่วยตัวเอง พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้อย่างนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อไปทำความเพียรก็ย่อมจะรู้จะเข้าใจ เมื่อใดเกิดความรู้ความเข้าใจ เมื่อนั้นความมืดหายไป ความหลงหายไป ความเข้าใจผิดต่างๆ หายไปจากใจของเรา เรากลายเป็นผู้รู้ กลายเป็นผู้ตื่น กลายเป็นผู้มีความเบิกบานแจ่มใสซึ่งเรียกว่า เป็น พุทธะ ขึ้นมา อันนั้นคือสิ่งที่เราต้องการ
แต่ว่าปกติธรรมดานั้น เรายังไม่ถึงจุดนั้น เรายังเวียนว่ายกันอยู่ เวียนว่าย เวียนว่ายอยู่ในอะไร เวียนว่ายอยู่ในกระแสของความทุกข์ ที่พระพุทธศาสนาสอนว่าสังสารวัฏ สังสารวัฏคือการเวียนว่ายของชีวิตในจิตของเรานั่นเอง จิตมันว่ายอยู่ในความคิด คิดไม่ถูก คิดไม่เป็น คิดไม่เข้าใจ ยังมีความรู้ ความหลงใหล เข้าใจผิด แล้วก็ไปติดอยู่ในอะไรต่างๆ เราก็วนเวียนอยู่ในสิ่งเหล่านั้น เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน เรียกว่าเป็นสังสาระ คือเวียนว่าย เราเกิดแล้วเกิดอีก เกลียดแล้วเกลียดอีก รักแล้วรักอีก ริษยาแล้วริษยาอีก เผลอทำอะไรซ้ำแล้วซ้ำอีก นั่นแหล่ะคือการเวียนอยู่ในสังสารวัฏ ในวงจรของกิเลสที่วนอยู่ตลอดเวลา ไม่หักวงจรนั้นออก ไม่แหกวงล้อออกไป เราก็ตกอยู่ในสภาพความทุกข์ ความเดือดร้อน
ไอ้วงจรของความเวียนว่ายตายเกิดนั้น มันก็อยู่ในใจของเรานี่เอง อยู่ด้วยความเขลา ความเข้าใจผิด คล้ายกับมดหน่ะ ท่านเคยเห็นมดมันไต่ขอบอ่างไหม มันวนอยู่อย่างนั้น ขอบอ่างหน่ะ อ่างกว้างแต่ในวงกลม มันวนอยู่นั่นแหล่ะ มันไม่ตกลงไปในอ่าง มันวนอยู่อย่างนั้น มันจะกินน้ำผึ้งในอ่างแต่มันกินไม่ได้ มันเที่ยววนอยู่อย่างนั้น มันจะขึ้นไปจากนั้นก็ไม่ได้ วนไป นั่งดูๆ แล้วก็เห็นว่า อ่อ ไอ้นี่มันวนอยู่ตรงนี้ไม่ได้ประโยชน์ซักที นั่นเค้าเรียกว่า มันวนอยู่อย่างนั้นฉันใด จิตใจเรานี่ก็เหมือนกันแหล่ะ ลองสังเกตุตัวเราเอง ว่าสภาพจิตใจของเรามันวนเวียนอยู่ในเรื่องอะไรบ้าง ซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่ตลอดเวลา บางวันหน่ะใน 10 นาทีหน่ะ เราเวียนไม่รู้จักกี่รอบ เวียนอยู่ในเรื่องเกิดก็ได้ ในเรื่องรักก็ได้ ในเรื่องเกลียดก็ได้ ในเรื่องริษยา ในเรื่องความพยาบาท ในเรื่องขุ่นๆ มัวๆ อะไร ๆ ต่างๆ วนไปเวียนมาอยู่ในเรื่องนั้น บางทีมันหายไปซักหน่อย ประเดี๋ยวมันวกกลับมาอีกแล้ว เจ็บใจขึ้นมาอีกแล้ว แค้นขึ้นมาอีกแล้ว นี่แหล่ะ เขาเรียกว่ามันวนเวียนไม่จบไม่สิ้น ไม่รู้ว่าจะหมดกันเมื่อใด มันหมดไม่ได้ ถ้าเราไม่ศึกษา เราไม่พิจารณามันหมดไม่ได้
ทีนี้ที่ไม่ศึกษาก็เพราะว่า ไม่รู้เหมือนกัน ไม่รู้ว่าตัวเองนี่กำลังวนเต็มทีแล้ว เวียนอยู่ในเรื่องที่ไม่เป็นสาระแล้ว เราไม่รู้ไม่เข้าใจ เมื่อไม่รู้ไม่เข้าใจ ก็วนไปเวียนมา ไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น แต่ถ้าเมื่อใด เกิดความสำนึกขึ้นในตัวว่า เอ๊ะ กูนี่มันไม่ไหวแล้วนะ แหน่ะ เกิดทุกข์ใจขึ้นมาแล้วก็พูดกับตัวเองว่า มนุษย์เรานะ มันแย่แล้วนะ เมื่อนั้นแหล่ะจะเกิดการพิจารณาว่าทำไมจึงเป็นอย่างนี้ เวลาเป็นอย่างนี้สภาพความรู้สึกเป็นอย่างไร มันร้อนหรือเย็น สงบหรือวุ่นวาย มืดหรือสว่าง เราก็พอจะมองเห็นด้วยปัญญา เมื่อใดเกิดเห็นด้วยปัญญาขึ้นมา สิ่งนั้นหยุด หยุดเลย เพราะเรารู้มันแล้ว มันก็หยุดเท่านั้นเอง หยุดเท่านั้นเอง แต่ว่ารู้อย่างนี้มันชั่วครั้งชั่วคราว เราอาจจะเผลอขึ้นมาอีกเมื่อใดก็ได้ แล้วก็เกิดอีกเพราะงั้นเมื่อรู้แล้วก็ต้องหมั่นพิจารณาไว้บ่อยๆ รักษาไอ้เจ้าความรู้นั่นไว้ อย่าให้มันเปลี่ยน รักษาความตื่นไว้ อย่าให้มันเปลี่ยนเป็นความหลับใหลซบเซา รักษาความสว่างไว้ อย่าให้มันเกิดมืดบอดขึ้นมาเป็นอันขาด อันนี้จะช่วยให้เราก้าวไปข้างหน้าตามลำดับๆ จนกระทั่งว่าอยู่ในสภาพสงบ ไม่วุ่นวาย ไม่เร่าร้อน จิตใจก็เป็นปกต ในเรื่องนี้นี่เราจะต้องรู้ธรรมชาติของจิตเราเล็กน้อย พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า
จิตนี้ ดิ้นรน กลับกลอก รักษายาก ห้ามยาก แต่ว่าไม่ใช่ว่าห้ามไม่ได้ ไม่ใช่ว่าหยุดไม่ได้
พระองค์บอกว่า บัณฑิตผู้มีปัญญาเพื่อห้ามจิตที่ดิ้นรนกลับกรอกรักษายากนี้ไว้ได้ พระองค์บอกว่าทำได้ และมีการทำให้ดูเป็นตัวอย่างด้วย คือพระองค์ทำแล้ว ทำมาแล้ว ได้ผลแล้ว จึงมาบอกให้คนอื่นทำต่อไป ไม่ใช่เพียงแต่บอกให้เขาทำ แล้วพระองค์ไม่เคยทำ ไม่ใช่อย่างนั้น พระองค์ได้ทดสอบปฏิบัติด้วยพระองค์เอง มาเป็นเวลาพอสมควร แล้วก็พ้นจากความทุกข์ พระองค์จึงนำวิธีการนั้นมาบอกแก่พวกเราต่อไป บอกให้เรารู้ว่า สภาพจิตหน่ะมันเป็นอย่างไร ดิ้นรน กลับกลอก มันว่องไวคล้ายกับวานร ลิงหน่ะมันว่องไว อยู่ไม่เป็นสุข ซุกซนอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราไปนั่งดูสภาพของลิงแล้ว ไม่มีหยุดแม้แต่ซักอึดใจเดียว ไม่มือก็เท้า ไม่ตาก็หู ไม่งั้นก็ปาก หรือว่าร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง ต้องขะยุกขะยิกอยู่ตลอดเวลา นั่นคืออาการของลิง มันเป็นเช่นนั้น กลับกรอกดิ้นรนอย่างนั้น แต่ว่าคนที่ฉลาด เขายังหัดลิงให้แสดงละครได้ เขาหัดให้ลิงแสดงละครได้ วิธีการหัดหน่ะเขาทำอย่างไร ได้เคยสนทนากับผู้หัดลิงแล้ว เธอบอกว่าชั้นต้นนี่ต้องให้มันหยุดก่อน ให้มันหยุด ให้มันเชื่อฟังเรา ให้มันหยุดตามคำสั่ง
ไอ้เรื่องทำให้หยุดตามคำสั่งนี่ เรียกว่าเป็นพื้นฐานของการฝึกฝน ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เป็นคนเหมือนกัน เช่น ฝึกคนก็ต้องให้หยุดก่อน ให้เชื่อฟัง ให้เชื่อฟังและหยุดก่อน ฝึกสัตว์ก็ต้องให้เชื่อฟัง แล้วก็หยุดก่อน ถ้ามันไม่เชื่อไม่ฟังไม่ได้ บอกให้ทำอะไรก็ไม่ได้ เพราะมันไม่เชื่อ เพราะงั้นเบื้องต้นของการหัดลิงนี่ ต้องให้หยุดเสียก่อน ให้มันฟังคำสั่งก่อน การทำอย่างไร นึกเข้า เอาหวายมาอันนึง เล่มเล็กๆ ใหญ่นักมันก็เกินไป คอยหวดไว้ มือแกว่งตีเข้า ขาแกว่งตีเข้า หน้าเหลียวตีเข้า ตัวเคลื่อนไหวตีเข้า มันเจ็บ มันหยุด พอหยุดไม่ตี ไม่ตีแล้วยังให้ของกินด้วย แหน่ะ มันชอบอะไร ชอบผลไม้ พอหยุดปั๊บ ให้กินเลย แหน่ะ มันกินเลย มันเรียนรู้แล้ว อ๋อ ถ้าทำอย่างนี้คือได้กิน ถ้าทำอย่างนี้แล้วก็ไม่ถูกตี หน่ะมันเรียนรู้ มันเรียนรู้จากสิ่งที่มันเกิดขึ้น อย่างนี้ต่อไปทำอย่างนั้น พอยกไม้ มันหยุดปั๊บไม่ต้องตีแล้ว พอยกไม้มันหยุดแล้ว แล้วก็ให้กิน ให้รางวัล มันก็พอใจ
มนุษย์ก็เหมือนกันหน่ะ ไปดูทหารที่ปากช่อง ถามว่าหัดอย่างไร ก็หัดอย่างนี้ให้เชื่อฟังก่อน พอฟังซักครั้ง ให้กินแล้ว เตรียมพร้อม อาหารนี่เตรียมไว้พร้อม พอมันเชื่อให้กินทันที มันก็รู้ว่าถ้าเขาพูดอย่างนั้น เราหยุดมัน เขาก็ให้กิน ก็กินเข้าๆ ทีละเรื่อง ทีละเรื่อง ผลที่สุดมันก็อยู่ในอำนาจของผู้ฝึก สุดแล้วแต่ผู้ฝึกจะสั่งให้ทำอะไร มันทำตาม คนฝึกลิงก็อย่างนั้น ฝึกจนมันหยุดดีแล้ว สงบแล้ว เขาก็บอกมันให้ ละทีนี้ ทำท่าอย่างไร ทำมือทำไม้ทำอะไร อย่างไรมันก็ทำทุกอย่าง หัดลิงได้ หัดม้าได้ หัดช้างได้ คนบางคนนี่เก่งมาก หัดม้า หัดช้าง หัดลิงได้ แต่มันก็ยังไม่เก่งตรงนี้ ไม่เก่งตรงที่หัดตัวเองไม่ได้ นี่ สำคัญตรงนี้ หัดลิงได้ หัดอะไรได้ แต่หัดตัวเองไม่ได้ หัดตัวเองไม่ได้ มันก็ไม่เก่งหน่ะดิ เช่น คนหัดลิงได้ พอละครเลิก เลือกเหล้าแล้ว ยังหัดตัวเองให้เลิกเหล้าไม่ได้ แต่หัดลิงให้ดีได้ หัดม้าก็ได้ แต่ว่าพอเสร็จแล้ว ต้องไปกินเหล้า ต้องไปเล่นการพนัน ต้องไปประพฤติเหลวไหว มันไม่เก่งตรงนี้
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า คนที่เป็นสารถีฝึกหัดสัตว์ทุกประเภทได้ แต่ถ้ายังฝึกตัวเองไม่ได้ คนนั้นยังไม่เก่งอะไร คนเก่งนั้นคือคนที่ฝึกตัวเองได้ ฝึกจิตของตนเองได้เพราะฉะนั้นเมื่อเรารู้ว่าสภาพจิตของเรานั้นมันดิ้นรนกลับกลอก รักษายาก ห้ามยาก เราก็ต้องควบคุมให้มันหยุด คุมให้มันหยุดเสียก่อนและก็ค่อยว่าอะไรกันต่อไป ต้องคอยควบคุม ผู้ใดควบคุมจิตไว้ได้ กิเลสจะไม่เกิดขึ้นแก่ผู้นั้น เหมือนเรือนที่บนบังดีแล้ว ฝนไม่รั่วรดคนที่อยู่ในเรือนนั้นฉันใดก็ฉันนั้น เพราะฉะนั้นเราจึงต้องมีการฝึกจิต ในการปฏิบัติธรรมในทางพระพุทธศาสนานั้น ขอให้เรารู้ไว้ว่า ไม่ว่าทำอะไร เป็นบทฝึกจิตทั้งนั้น การรักษาศีลก็เป็นเรื่องฝึกจิต การฝึกสมาธิแน่นอนฝึกจิต 100 เปอร์เซ็นต์ การคิดค้นเพื่อให้เกิดปัญญาก็เป็นการฝึกจิตอยู่ในตัว เราจึงมีหน้าที่สำคัญในเรื่องนี้ ให้ถือว่าเรื่องการฝึกฝนอบรมจิตใจนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องทำสม่ำเสมอตลอดไป ทำอะไรนี่ต้องทำให้สม่ำเสมอตลอดเวลา ทำบ้างไม่ทำบ้าง มันไม่เกิดอะไรที่เป็นประโยชน์ เพราะงั้นว่าทำแล้วถึงเวลาก็ต้องทำ จิตมันค่อยชินกับสิ่งเหล่านั้นขึ้น ทำทุกวันๆ เค้าเรียกว่าเป็นนิสัย ทำชั่วทุกวันๆ ก็เป็นนิสัยชั่ว ทำดีทุกๆ วัน ก็เป็นนิสัยในทางดี
อะไรๆ ในชีวิตของเรานั้น มันอยู่ที่เราทำทั้งนั้นหน่ะ เราสร้างมันขึ้นอันนี้เป็นเรื่องสำคัญอยู่เหมือนกัน ญาติโยมต้องรู้ไว้อีกอันหนึ่งว่าเดิมมันไม่มี ความเกิดไม่มี ความรักไม่มี ความเกลียดไม่มี ริษยาไม่มี มันไม่มีอยู่ในตัวเรา เดิมมันไม่มี มันเกิดขึ้นเป็นครั้งๆ คราวๆ ตามอารมณ์ที่มากระทบ เช่นรูปมากระทบตา เสียงมากระทบหู กลิ่นมากระทบจมูก รสมากระทบลิ้น สิ่งต่างๆที่เรียกว่าโผฎฐัพพะมากระทบร่างกาย แล้วมันเกิดอะไรขึ้นมา เช่นเกิดความเกลียดขึ้นมา เกิดความโกรธ เกิดความรัก เกิดความอยากได้ พออกพอใจอะไรต่างๆ นี่มันมาทีหลังทั้งนั้น ไม่ใช่ของเดิมของเรา ไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่ตลอดเวลาในตัวเรา อันนี้สำคัญที่สุด ที่ญาติโยมจะต้องสำเหนียกไว้ เพราะเรามักจะเข้าใจผิด คือเข้าใจว่ามันเป็นของเรา เป็นตัวเราไปเลย เช่น ความโกรธนึกว่าเป็นตัวเราไปเลย ความรักก็นึกว่าเป็นตัวเรา อะไรๆ ก็นึกว่าเป็นตัวเรา เป็นของเราไปเลย นี่คือความหลงผิด ในเรื่องนี้ที่ญาติโยมหลงผิดก็เพราะผู้สอนเหมือนกัน สอนให้เข้าใจผิด สอนว่าไอ้นี่มันติดมาตั้งแต่เกิดแล้วหน่ะ ว่ากันลึกไปขนาดนั้น ติดตั้งแต่เกิด ติดมาตั้งแต่ชาติก่อนโน่น ว่ากันมาซะเหลือเกินนะ สันดานเกิดนิสัยตั้งแต่ภพก่อนชาติก่อนโน้น ทำไมจึงว่าอย่างนั้น มันไกลเกินไป มันห่างเกินไป เราอย่าเอาไปให้มันไกลไปขนาดนั้นเลย เอาแต่เพียงว่า
เมื่อเราเกิดมานั้นมันยังไม่มีอะไร เมื่อเรานั่งอยู่เดี๋ยวนี้มันก็ไม่มีอะไร
เวลานี้โยมไม่มีความโกรธ ไม่มีความเกลียดอะไร ไม่มีความรักอะไร จิตใจเวลานี้เป็นอย่างไร สงบอยู่กับธรรมะ อยู่กับเสียงพระ ไม่มีสิ่งรบกวนจิตใจอะไรให้เกิดความวุ่นวาย จิตใจสงบเวลานี้ ไอ้ความสงบนั่นแหล่ะ ควรจะเรียกว่าเป็นตัวเอง ถ้าจะมีตัวซักหน่อย ก็มีตัวกับเค้าซักหน่อย ก็ให้ถือเอาว่าความสงบนั้นเป็นตัวเรา ความสะอาดนั้นเป็นตัวเรา ความสว่างของจิตใจของด้วยปัญญานั่นเป็นตัวเรา ถ้าเป็นตัวเราในรูปนี้มันไม่แย่ แต่ถ้าไปเอาความโกรธเป็นตัว เอาความรักมาเป็นตัว เอาความริษยามาเป็นตัวเราแล้ว มันวุ่นตลอดเวลา จิตใจวุ่นอยู่ตลอดเวลา โกรธเรื่อยไป รักเรื่อยไป ชังเรื่อยไป มันไม่จบเพราะเราไปเที่ยวนึกว่านั่นเป็นตัวเรา มันเป็นอยู่อย่างงี้ แก้ไม่ได้ ว่าอย่างนั้นซะอีกแหน่ะ บางคนบอกว่า ผมมันไม่รู้ มันไม่ใช่ มันไม่ใช่อย่างนั้น มันเพิ่มเติม เพราะเราไม่รู้ เราไม่เข้าใจในเรื่องนั้น แล้วก็นึกว่ามันเป็นอยู่อย่างนี้ นึกว่ามีมาตั้งแต่เกิดคล้ายๆ กับว่ามีบาปดั้งเดิมอย่างนั้น ไม่มี
พุทธศาสนาถือว่าไม่มีบาปดั้งเดิม ตามแบบที่เค้าถือกันในที่อื่นว่ามีบาปดั้งเดิมมา ต้องล้างบาปออก แล้วที่ถูกล้างก็ไม่ประสีประสาอะไร ทำพิธีเท่านั้นเอาหัวจุ่มน้ำ 3 ครั้งล้างบาป มันล้างขี้ฝุ่น นี่มันไม่ใช่ล้างบาป อันนี้คงจะเอามาจากแม่น้ำคงคา เค้าล้างบาปแบบนั้น โบราณเค้าล้างอย่างนั้น ไปทางแถวซีเรีย ปาเลสไตน์ ในอาหรับก็ล้างอย่างนั้น พระเยซูก็ไปล้างบาปที่แม่น้ำจอร์แดน นักบวชโยฮันอะไรหน่ะ กินน้ำผึ้ง กับตั๊กแตน แล้วก็มาช่วยล้างให้ลงไปในแม่น้ำ ดำผุดดำว่าย เพราะฉะนั้น คนไปถือคริสต์เตียนบางคนเขาก็จับลงไปใส่ลงในน้ำ เรียกว่า รับศีลล้างบาป นึกว่าบาปมันอยู่ที่เส้นขนอย่างนั้นหน่ะ หรือว่าอยู่ผิวหนังอย่างนั้น มันไม่ใช่ บาปมันไม่ได้อยู่ที่นั่น มันอยู่ที่ใจแต่ไม่ได้อยู่นาน เกิดดับเกิดดับเกิดดับอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่มันมาตั้งถิ่นฐานบ้านช่องครองบ้านครองเรือน ไม่ใช่อย่างนั้น มันมาเป็นครั้งคราว เพราะเราไม่รู้ ไม่เข้าใจในเรื่องนั้นและเรารับไว้ผิดคือรับว่าเรามันเป็นอย่างนั้น นี่สร้างฐานผิดแล้ว พอสร้างฐานผิด ไอ้ผลที่เกิดขึ้นมันก็ผิด ต้นก็ผิด ดอกก็ผิด ผลก็ผิด กินเข้าไปก็เป็นพิษเจียนตายกันไปทั้งนั้นแหล่ะ มันผิดเบื้องต้น ทีนี้เราอย่าไปตั้งให้ผิดอย่างนั้น
เรานึกว่าสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นในใจของเรานั้น มันเป็นเรื่องของจากการปรุงแต่ง เกิดขึ้นเพราะการปรุงแต่ง ปรุงแต่งจากอะไร จากสิ่งภายนอกที่มากระทบตัวเรา รูปมากระทบตา เสียงกระทบหู กลิ่นกระทบจมูก รสมากระทบลิ้น โผฎฐัพพะมากระทบกาย โผฎฐัพพะนี่เป็นศัพท์เทคนิคเฉพาะ เรียกว่าโผฐฐัพพะมากระทบร่างกาย แล้วเกิดความรู้สึกขึ้นที่ใจเรียกว่าธรรมารมณ์ เกิดขึ้นในใจ ถ้าอยู่เฉยๆ ไม่มีอะไร เว้นไว้แต่ว่า เราคิดถึงเรื่องเก่าๆ ด้วยความเขลา ด้วยความหลง อยู่ดีไม่ดีไปคุ้ยเรื่องเก่า อย่างนี้ก็เรียกว่าฟื้นฝอยหาตะเข็บ แกว่งเท้าหาเสี้ยนให้มันตำเล่นๆ ฟื้นฝอยหาตะเข็บให้มันมากัดเจ็บเล่นๆ แหน่ะเป็นงั้น
ญาติโยมบางที ก็นั่งเปล่าๆ ฟื้นเรื่องเก่าเอามานั่งโกรธกัดฟันกรอดๆ อยู่คนเดียว บางทีเป็นเรื่องน่าดู ฟุ้งอยู่คนเดียว นึกว่าสบายใจจังแล้ว แต่ว่าไอ้ความสบายใจแบบนั้นเดี๋ยวหายไป เพราะสิ่งทั้งหลายเกิดแล้วมันก็ดับไป มันหายไป นึกถึงตอนที่สบาย ก็ยิ้มออกล่ะ แต่พอนึกถึงตอนไม่สบาย แหม เสียใจแล้วน้ำตาไหลออกมา นี่มันเรื่องอะไร นี่แหล่ะเค้าเรียกว่าแกว่งเท้าหาเสี้ยน ฟื้นฝอยหาตะเข็บไปนั่งคิดถึงเรื่องเก่าให้มันเศร้าใจ ไม่สบายใจ อันเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง จึงควรจะเข้าใจเสียใหม่ว่า อะไรๆ ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นตัวปัจจุบันทั้งนั้น เป็นตัวปัจจุบัน เกิดขึ้นในปัจจุบัน ดับไปในปัจจุบัน แต่ว่าทำไมมันดับไม่หมด เพราะเราไปสร้างเพิ่มขึ้นตลอดเวลา เอาเชื้อไปใส่ลงไฟ ไฟมันก็ไม่ดับ ถ้าเชื้อหมด ไฟมันดับ แต่เราเติมเชื้อ เชื้อที่เราเพิ่มนั้นคืออะไร คือความไม่รู้ ไม่เข้าใจในเรื่องนั้นถูกต้องตามสภาพที่เป็นจริง เพราะไม่รู้ไม่เข้าใจ เราจึงไปผูกผันอยู่กับสิ่งนั้น พอใจในสิ่งนั้น หรือว่าหลงยึดเอาสิ่งนั้นไว้
คล้ายคนหาปลาล้วงเข้าไปในรู จับได้นึกว่าปลาไหล ดีอกดีใจ ตะโกนบอกเพื่อน กูได้แล้วเว้ย ความจริงไม่ใช่ปลาไหล งู แต่ก็จับออกมา ล้วงออกมา พอพ้นน้ำเห็นเป็นงูแล้ว พอเห็นเป็นงูก็ตกใจ ตกใจก็ทำยังไง ถ้าหากว่างูนั้นถูกจับตกกลาง มันแว้งกัดเราได้ เพราะหัวมันยังอยู่ แต่ถ้าจับตรงหัวไม่เป็นไร เพราะเราบีบมันไว้ มันไม่สามารถจะแว้งกัดได้ ทีนี้บางทีจับเอาตรงกลาง มันก็กัดมือให้ ได้รับความทุกข์ ความเดือดร้อน เพราะหลงว่างูนั้นเป็นปลา เห็นเชือกเป็นงู เห็นงูเป็นเชือก เห็นงูเป็นปลาไหล นึกว่าปลาไหลเป็นงูอะไรอย่างนั้น นั่นคือสิ่งที่เป็นมายาหลอกให้เราหลงไปชั่วขณะหนึ่ง เราจึงเป็นทุกข์ แต่ถ้าเมื่อใดเรามองเห็นว่างูก็คืองู ปลาก็คือปลา เชือกก็คือเชือก งูก็คืองู ไม่เห็นงูเป็นเชือก ไม่เห็นเชือกเป็นงู เห็นงูเป็นเชือกมันก็ไม่ได้ เห็นเชือกเป็นงูมันก็ไม่ได้ ผิดทั้งนั้น ยุ่งทั้งนั้น ไอ้ที่เห็นถูกนั้นเห็นอย่างไร เห็นว่าเชือกก็คือเชือก งูก็คืองู รู้ชัดตามสภาพที่เป็นจริง
สิ่งที่มากระทบ อายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราหลงผิดว่าเป็นสิ่งที่น่ารัก น่าพอใจ น่าเอามาไว้ ก็เป็นทุกข์ แต่ถ้าเราไม่หลง เรานึกแต่เพียงว่า สิ่งหนึ่งเกิดขึ้น สิ่งหนึ่งตั้งอยู่ และสิ่งนั้นดับไป มันไม่มีอะไรคงทนถาวร ไม่มีอะไรที่เราควรจะเข้าไปยึดไปจับไว้ ว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรา เป็นของเขา ใจที่อยู่ในสภาพอย่างนี้ล่ะก็จะไม่ถูกอะไรรดมันอีกต่อไป เพราะมันตื่นอยู่ตลอดเวลา ตื่นไปด้วยสติ และก็มีปัญญากำกับขึ้นตามอยู่ตลอดเวลา สติปัญญา ปัญญาสติ พัวพันกันอยู่ตลอดเวลา อะไรมากระทบก็มองเห็นทะลุปรุโปร่งไป รูปมากระทบก็รู้ว่าเป็นอะไร เสียงมากระทบก็รู้ว่าเป็นอะไร ทุกสิ่งสัมผัสมากระทบ ก็รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร สภาพความจริงของสิ่งนั้นเป็นอย่างไร มันไม่มีตอนใดที่เรียกว่าน่ารัก น่าชม น่ายึดน่าถือเอามาเป็นของเรา เราเข้าใจอย่างนั้น ถ้าเข้าใจอย่างนั้นเมื่อใดล่ะก็หมายความว่าจิตสงบ ตัดวงจรได้ ไม่ทำให้เกิดปัญหาแก่ชีวิตของเราต่อไป เราก็จะอยู่ได้ด้วยความสุข ความสงบอย่างนี้ นี่คือเรื่องเกี่ยวกับจิตของเราทั้งนั้น เราจึงต้องคอยควบคุมด้วยการฝึกตัวเราเอง
ทีนี้การฝึกเบื้องต้นก็คือว่า คอยกำหนดมันไว้ อย่าให้มันเปลี่ยนแปลง เช่นกำหนดลมหายใจเข้าออก อย่างนี้เป็นเรื่องที่ทำได้ทุกวันเวลา นั่งคนเดียว เอ้า นั่งกำหนดลม อะไรมากระทบก็ไม่รู้ เรากำหนดลมของเราอยู่กับลมเข้าลมออก เจริญอาณาปาณสติที่ไหนก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ ทำได้ทั้งนั้น ไม่ใช่ว่าต้องไปนั่งที่นั่นที่นี่ แต่ว่าเบื้องต้นคนใหม่ต้องไปหาที่เงียบๆ ไม่มีอารมณ์รบกวนจิตใจ อย่างนั้นเป็นเรื่องที่เรียกว่าเบื้องต้น แต่ถ้าเราทำไปจนกระทั่งว่าเกิดความแคล่วคล่องชำนาญแล้ว ทำเมื่อไหร่ก็ได้ ที่ไหนก็ได้ คอยกำหนด หรือว่ามีอะไรเกิดขึ้นแล้วมากำหนดลมเข้าลมออก จิตใจจะอยู่ในสภาพที่สงบเรียบร้อย ไม่วุ่นวาย ไม่สร้างปัญหาให้เกิดขึ้นแก่ตัวเราต่อไป อันนี้เป็นเรื่องที่ญาติโยมควรจะได้กำหนดพิจารณา เพื่อความหลุดพ้นจากความทุกข์ ความเดือดร้อน ในชีวิตประจำวัน
ดั่งที่แสดงมาก็พอสมควรแก่เวลาแล้ว ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจเป็นเวลา 5 นาที