แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
หัวเรื่องชื่ออะไรไม่รู้เพราะมาไม่ทัน บรมธรรมกับการแก้ไขสถานการณ์ของโลก เมื่อตะกี้นี้ไม่อยู่เพราะว่าไปกรมประชาสัมพันธ์ ไปอัดเสียงสำหรับออกวันอาทิตย์ที่ ๖ ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ต้นเดือน กลับมาถึงก็เห็นอ่านไปครึ่งหนึ่งแล้ว
วันนี้ก็มาพูดต่อกันไปอีกหน่อย เพื่อจะได้เป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจ ให้เกิดความคิดนึกในทางที่มั่นคงเข้มแข็ง เพื่อต่อสู้กับอุปสรรคในชีวิตประจำวันของเราต่อไป เพราะว่าเรากำลังจะออกไปสู่สภาวะแห่งความเป็นชาวบ้าน การไปอยู่กับชาวบ้านนั้นเรื่องมันหนัก จะเล่าเรื่องชาดกให้ฟังสักเล็กน้อยคือ
เรื่องพระฤาษีแต่อยู่ในป่าแล้วก็มีลูกชายอยู่คนหนึ่ง ก็อยู่ตามแบบพระฤาษีไม่เคยเห็นเพศตรงกันข้าม ตั้งแต่เกิดมานี้ไม่ได้เห็นเพศตรงกันข้าม แม้แม่ตัวก็ไม่รู้จักเพราะว่าแม่ตายเสียก่อนแล้ว เหลือแต่พ่อซึ่งมีชีวิตแบบฤาษี เขาเลี้ยงลูกมาตามแบบของฤาษี ทีนี้ต่อมาลูกฤาษีนี่จะเข้าบ้านเข้าเมือง พ่อก็สั่งเตือนไปข้อหนึ่งว่า ระวังสัตว์ที่มีเขาอยู่ที่หน้าอกให้ดี มันจะทำอันตรายแก่เจ้าว่างั้น ลูกก็จำไว้ในใจ แต่ว่าไม่เคยเห็นว่าสัตว์มีเขาที่หน้าอกมีรูปร่างหน้าตาเป็นยังไงมีแต่มีเขาบนหัวทั้งนั้น เช่น กวาง เก้ง วัว ควาย พวกนี้มีเขาที่หัว ไอ้มีเขาที่อกนี้มันเป็นยังไงก็ไม่รู้
ทีนี้วันหนึ่งพ่อไม่อยู่ให้อยู่เฝ้าอาศรมแล้วก็บอกว่า “ระวังกองไฟให้ดี เจ้าหมั่นบูชาไฟ อย่าให้ไฟดับเสียเป็นอันขาด” เพราะว่าการติดไฟนี้มันยาก สมัยก่อนนี้ไม่มีไม้ขีดไฟ กว่าจะติดได้มันต้องเอาไม้สองอันมาสีกันจนมันร้อน เหงื่อไหลไคลย้อย เสร็จแล้วมันเกิดไฟขึ้นมา ก็กองไว้ เอาไม้ฟืนมาสุมไว้ อย่าให้มันดับมันมอด สั่งลูกชายไว้อย่างนั้น ลูกชายก็ได้ทำตามพ่อทุกประการ
แต่ว่าในขณะที่เฝ้าบูชาไฟอยู่นั้นในตอนเช้าวันหนึ่ง มีผู้หญิงเดินมาคนหนึ่ง ก็เป็นผู้หญิงสมัยก่อนแต่งตัวไม่ค่อยจะเรียบร้อย เพราะว่าไม่มีผ้านุ่งมากนะแหละ แล้วก็เข้ามา เขาก็มองๆ “อือ! อะไร ไม่เคยเห็นรูปร่างเป็นยังไง” นี่ก็เดินเข้ามา ใกล้เข้ามา เขาก็มองใหญ่ มองๆแล้วก็ “ไอ้นี่เองแหละสัตว์มีเขาที่หน้าอก ก็มันมีเขาแหลมๆตุ่มๆออกมา” ก็เดินเข้ามาใกล้ มันก็เข้าไปถึงก็คลำเลย คลำเขาหน้าอก ไปคลำเข้า พอคลำแล้วปล่อยไม่ได้ มันเหมือนกับว่ามีอะไรดูดเอาไว้อย่างนั้นแหละ ยิ่งคลำใหญ่ “เอ! เขาไอ้นี่มันไม่เหมือนเขาสัตว์ทั้งหลาย มันอ่อนนุ่มนิ่มยังไงพิกล” ในชั้นแรกคลำมือเดียว ทีหลังเอามือซ้ายคลำด้วย คลำกันใหญ่เลย ไอ้คนที่มีเขาหน้าอกมันก็ไม่หนีเหมือนกัน ให้มันคลำเรื่อยๆไป คลำมากไปๆ มันก็เลยเถิดไปทีนี้ มันไม่คลำแล้วทีนี้ มันขุดหัวมันกินแล้ว เห็นไหมมันก็เลยไปกันใหญ่ทีนี้ มีเครื่องมืออยู่อันหนึ่งสำหรับขุด มันก็ขุดใหญ่เลย เลยก็ลืมกองไฟที่พ่อสั่งให้เฝ้า
พ่อกลับมาไฟดับปึบเลยถามว่า “ทำไมไม่ดูกองไฟ?” อ้อ!ได้พบสัตว์ที่มีเขาที่หน้าอกเข้าวันนี้ แล้วก็สนุกกันใหญ่ว่างั้น มันแปลกประหลาด ไปคลำกันแล้วมันรู้สึกตื่นเต้นอย่างนั้นอย่างนี้เล่าให้พ่อฟัง ความจริงพ่อก็มีประสบการณ์ในเรื่องนี้มาแล้วนะ แต่ก็อุตส่าห์เล่าให้พ่อฟังอีก พ่อว่า “นั่นแหละไอ้สัตว์ที่พ่อว่าไว้นะ เจ้าอย่าเข้าไปยุ่ง นี่ไปยุ่งกันจนไฟดับไปหมดแล้ว”
เรื่องนี้มันก็เป็นคติสอนใจหมายความว่า ไฟนี้คือแสงสว่างได้แก่ “ปัญญา” นั่นเอง เพราะว่ามันสว่าง เมื่อมีไฟแล้วเราก็มองเห็นวัตถุอะไรชัดเจนแจ่มแจ้ง คล้ายกับปัญญา แต่ถ้าเมื่อใดเราไปหลงใหลมัวเมาในสิ่งใดก็ตาม ไฟมันดับ คือปัญญามันดับไป เมื่อปัญญามันดับไป เราก็อยู่ในความมืดมองอะไรไม่เห็น แล้วก็ไม่ได้นึกถึงปัญญานั้นต่อไป ทิ้งปัญญาเลย ทิ้งกองไฟก็เหมือนกับทิ้งปัญญา ทิ้งแสงสว่างสำหรับชีวิต นตฺ ถิ ปญฺญา สมาอาภา(นาทีที่ 05:23) แสงสว่างที่เสมอด้วยปัญญาหามีไม่ เขาก็เลยทิ้งกองไฟก็เท่ากับทิ้งความสว่าง ทิ้งสิ่งที่เป็นสิ่งให้ประโยชน์แก่ชีวิตไป ก็ตกอยู่ในความมืดความบอด
คตินิทานเรื่องนี้ก็หมายความว่า เราออกไปอยู่ในโลก อย่าอยู่ด้วยความหลง อย่าอยู่ด้วยความมัวเมา อย่าอยู่ด้วยความประมาท แต่จะต้องอยู่ด้วยปัญญา พูดภาษาง่ายๆว่า “อยู่อย่างลืมหูลืมตา อย่าอยู่อย่างหลับหูหลับตา” หลับหูหลับตามันก็ไม่รู้เรื่องอะไร ทำอะไรแบบหลับหูหลับตา คล้ายๆกับที่เขาพูดว่า หมีกินผึ้ง ไอ้ผึ้งนี้มันต่อยเจ็บนัก แต่ว่าหมีนี้ก็ชอบน้ำผึ้งเหมือนกัน อยู่บนต้นไม้สูงๆนะหมีมันขึ้นต้นไม้ได้นะ ต้นไม้โตๆเนี่ยคนขึ้นลำบากต้องใช้ไม้ไผ่ เอาไม้ไผ่แก่ๆมาทำลูกทอยตอกแล้วปีนป่ายขึ้นไป คดเคี้ยวขึ้นไปจนถึงยอด ไปถึงกิ่งยอดไปเอาน้ำผึ้งได้ นี้มันก็ขึ้นได้โดยไม่ต้องใช้ลูกทอยตอกเลย เล็บมันจับขึ้นไปจนถึงรังผึ้ง
ทีนี้เมื่อถึงรังผึ้ง ผึ้งมันก็ต่อยหมีไง หมีไม่กลัวเพราะขนมันยาว ต่อยเท่าใดเหล็กในของผึ้งไม่ถึงผิวหนัง หมีกลับหัวเราะซะด้วยซ้ำไปว่า กูให้มึงต่อย กูไม่แคลนอะไรว่างั้น แต่ว่าหมีมันระวังอยู่เรื่องเดียว ลูกตานี่มันไม่ให้ต่อย เพราะฉะนั้นมันหลับตาเลย เพราะฉะนั้นหลับตาแล้วก็เอามือล้วงเข้าไปในรังผึ้ง คว้าน้ำหวานมากินสบาย ไม่ต้องดู คว้ามากินเรื่อยไป หลับตากิน หมีหลับตาอย่างนี้เขาเรียกว่า หลับตากินผึ้ง
อันนี้คนเราอยู่ในโลกเรียกว่า “เสพกาม” คำว่ากามในที่นี้อย่าเข้าใจแคบๆ อย่าเข้าใจแต่เพียงว่ากิจกรรมระหว่างเพศเท่านั้น มันรวมไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง สิ่งต่างๆที่เรากินเราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวันนี้มันเรียกว่ากามทั้งนั้น เสื้อผ้าที่เรานุ่งห่ม รถยนต์ที่เราใช้ บ้านเรือนที่เราอยู่อาศัย รวมไปทั้งเกียรติยศ ชื่อเสียง คุณงามความดี ที่เราอยากจะมีอยากจะได้ มันก็เป็นพวกเดียวกันในสิ่งเหล่านี้ หากเป็นเรื่องที่เราต้องการเป็นเรื่องกามทั้งนั้น
ทีนี้การอยู่ในโลกเราก็ต้องอยู่กับกาม มันเป็นเรื่องธรรมดาหนีไม่พ้น เพราะเราอยู่ในสภาพเช่นนั้น แต่ต้องมีหลักว่า เราจะอยู่อย่างผู้ลืมหูลืมตา ไม่ใช่อยู่อย่างคนหลับตา คนหลับตานั้นคือว่า มัวเมา หลงใหล ยึดมั่น ในเรื่องอะไรๆต่างๆ ทีนี้เราลองคิดดูว่า ความมัวเมานี้มันทำให้เกิดทุกข์ หลงใหลก็เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ยึดมั่นอยู่ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งมันก็เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ขึ้นแก่ตัวเราผู้กระทำ การทำตนให้เป็นทุกข์นั้น แสดงว่า เราไม่ฉลาด คนฉลาดจะต้องทำอะไรทุกอย่าง อันจะก่อให้เกิดความสุขสงบในชีวิตประจำวันทั้งตนเองและผู้อื่น แต่ถ้าเราไม่ฉลาดเราก็ทำด้วยความโง่ความเขลา สร้างปัญหาให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนแก่บุคคลอื่น นี่มันเกิดความเสียหาย
สังคมมนุษย์เราในยุคปัจจุบันนี้มักจะอยู่ในสภาพเช่นนั้น คือทำกันด้วยความหลง ความยึดมั่นถือมั่นในเรื่องบางสิ่งบางประการ ผู้มีปัญญามองดูแล้ว บางทีก็รู้สึกว่า มันเป็นเด็กไป การกระทำเช่นนั้นมันเป็นเด็กไป เหมือนกับเด็กทะเลาะกัน แย่งอะไรตุ๊กตากันบ้าง แย่งอะไรเล็กๆน้อยๆ ทะเลาะกัน ตีกัน ต่อยกัน ไปตามเรื่องของเด็ก แต่ว่าเด็กมันดีอยู่อย่างหนึ่งนะ แม้ว่ามันจะตีจะต่อยกัน จะโกรธจะเคืองกัน มันไม่พยาบาท ไม่ผูกใจเจ็บแค้น เกิดขึ้นตรงไหน ประเดี๋ยวมันก็หายไป โกรธกัน ด่ากัน ตีกัน ประเดี๋ยวก็หันหลังให้กัน ประเดี๋ยวเดียวหันหน้าเข้าหากันยิ้มกันต่อไป แล้วมันก็เล่นกันต่อไป สนุกกันต่อไป ไม่มีเรื่องอะไร เด็กมันไม่พยาบาท ไม่มีอารมณ์เจ็บแค้นพยาบาท เพราะยังไม่มีใครสอนให้ยึดมั่นถือมั่นในเรื่องอะไรมากเกินไป แล้วก็ยังไม่สอนให้เรียนรู้เรื่องการพยาบาท
คนเราบางทีสอนให้เกิดการพยาบาท อาฆาตจองเวร จะยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ เราสอนประวัติศาสตร์หรือพงศาวดาร เช่นว่า เมืองไทยเรานี้ เราพาเด็กไปเที่ยวกรุงศรีอยุธยา เราก็มักจะสอนไปในทางสร้างอารมณ์ หรือความพยาบาทอาฆาตจองเวร เจ็บแค้นกันในใจบอกว่า “นี่ดูสิ พระนครศรีอยุธยาซึ่งเป็นเมืองใหญ่โต เจดีย์ระดับแทงเสียดยอดว่างั้นเถอะ มีมากมายก่ายกอง วัดวาอารามเยอะแยะ บ้านช่องใหญ่โตมโหฬาร เรือบินมาเดี๋ยวก่อน ถูกข้าศึกคือพม่ามาเผาผลาญจนหมดจนสิ้น มันทำเราเจ็บนัก เราทั้งหลายจะต้องจำใส่ใจไว้” นี่คือการสอนให้เกิดความเกลียด สอนให้เกิดการพยาบาท
ถ้าพูดกันในแง่ธรรมะแล้ว มันก็ผิดหลักธรรมะ แต่ว่าเขาสอนกันทั่วไปอย่างนั้น ทุกชาติทุกประเทศ สอนแล้วก็สอนให้โกรธกันให้เกลียดกัน ไอ้คนเยอรมันก็สอนให้โกรธชาวฝรั่งเศส ฝรั่งเศสให้โกรธชาวเยอรมัน ชาวญวณโกรธชาวจีน จีนโกรธญวณ เขมรโกรธญวณ ญวณโกรธเขมร เพื่ออะไร จนกระทั่งบัดนี้ ตีหัวกันอยู่บัดนี้ยังไม่จบไม่สิ้น ตายกันไปทั้งสองฝ่าย แต่ว่าเขมรจะตายมากหน่อย เพราะว่าลำบากยากแค้น นี่คือการสอนให้โกรธเกลียดกัน เป็นการสอนที่ผิดหลักบรมธรรมไม่ถูกต้องถ้าเราจะสอนให้ถูกต้องควรจะสอนว่าอย่างไร สอนว่า
“นี่ดูสิ่งทั้งหลาย สมัยก่อนนั้นบ้านเมืองเจริญมั่งคั่ง วัดวาอารามมีมากมาย แต่ว่ามีข้าศึกมาโจมตี สิ่งเหล่านี้ก็แหลกลาญไป การแหลกลาญของสิ่งเหล่านี้เกิดจากอะไร เกิดจากกิเลสของมนุษย์ เกิดจากความโลภ เกิดจากความโกรธ เกิดจากความหลง ที่เข้าไปสิงสู่อยู่ในใจของมนุษย์เรา”
มนุษย์เราผิดความเป็นมนุษย์ไปก็เพราะถูกกิเลสครอบงำ กิเลสนี้มันเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้สิ่งเหล่านี้ต้องบุบสลายเสียหายไป เราทั้งหลายจึงควรจะจำใส่ใจไว้ ว่าสิ่งน่ากลัวที่สุด เป็นข้าศึกกับเรา เป็นผู้ที่เราจะต้องต่อสู้เพื่อทำลายมัน สิ่งนั้นคือกิเลส ไม่ใช่ไปโกรธคนพม่า และพอเห็นพม่าแล้วก็จะทำลายมัน ว่าอูนุมากรุงศรีอยุธยา ก็บอกว่าชาวอยุธยาโกรธหนักโกรธเคือง บางคนก็ไม่ไปรับอูนุ ความจริงอูนุไม่รู้เรื่อง ไอ้พม่าที่มาตีกรุงศรีอยุธยามันเป็นขี้เถ้าไปนานแล้ว ไอ้นี่เกิดชั้นหลังไม่ได้มีส่วนรู้เห็นเป็นใจอะไรสักน้อย แต่ว่าเขาสอนให้โกรธให้เกลียดกัน สืบสายโลหิตกันไปเลยทีเดียว
นี่เรียกว่าสอนให้เกิดกิเลส มันไม่ถูกต้อง เราควรจะสอนให้ระงับกิเลส ให้รู้ต้นตอของเรื่องว่า สิ่งทั้งหลายที่มันเกิดการเสียหายย่อยยับลงไปนี้เพราะอะไร เพราะความโลภ ความโกรธ ความหลงของมนุษย์ เพราะไฟคือราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ ที่มันเกิดขึ้นในใจของคน แล้วคนขาดปัญญา ไม่ดับไฟในตัว แล้วไฟนั้นก็ลุกลามมาเผาสิ่งอื่นให้ย่อยยับลงไป นี่แหละคือข้าศึกสำคัญ ข้าศึกที่เราจะต้องต่อสู้ ข้าศึกที่เราจะต้องทำลาย แล้วก็บอกต่อไปว่าข้าศึกนั้นมันเกิดที่ไหน ก็มันเกิดในตัวของเราแต่ละคนนั่นเอง มันเกิดในใจของเรา ใจของเรามันถูกครอบงำด้วยกิเลส จึงเป็นเหตุให้เกิดความยุ่งยากเสียหาย อย่างนี้เรียกว่าสอนเด็กถูกต้อง ให้สัมมาทิฐิเป็นพื้นฐานในจิตใจมาตั้งแต่ตัวน้อยๆ ไม่ให้ผูกความโกรธเกลียดกันต่อไป กระทั่งไม่รู้จักจบจักสิ้น เวรไม่เคยระงับด้วยการจองเวร แต่ระงับได้ด้วยการไม่ผูกเวรกัน
ทีนี้ทำไมเราจะสอนให้จองเวรแก่กัน ก็ดูสังคมในยุคปัจจุบัน มันฆ่ากันขนาดไหน ตระกูลนี้ไปฆ่าตระกูลโน้น ตระกูลโน้นมาฆ่าตระกูลนี้ ฆ่ากันไปฆ่ากันมา หมดไม่มีเหลือ ตายกันหมดเกลี้ยงไม่มีเหลือ ระหว่างประเทศก็เหมือนกัน เรียกว่าเป็นศัตรูกันอย่างถาวรกันเลยทีเดียว ฆ่ากันไปฆ่ากันมาก็หมด นี่คือความเขลาของมนุษย์ ความรู้เท่าไม่ถึงการ หากจิตใจตกอยู่ในอำนาจของพยามารคือ “กิเลส” แล้วก็เป็นเหตุให้ทำตามมันจึงเกิดความทุกข์ความเดือดร้อน
ในฐานะที่เราเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าของเราเชิดชูบูชาธรรมะ มีถ้อยคำที่เราสวดอยู่ทุกวันบ่อยๆ ว่า เย จะ อะตีตา สัมพุทธา ว่าพระพุทธเจ้าในอดีตก็ดี ในอนาคตเบื้องหน้าก็ดี ที่เป็นผู้เกิดมาระงับความทุกข์ความโศกของมหาชนในบัดนี้ก็ดี พระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้นทรงเคารพธรรม ถือธรรมเป็นเรื่องสำคัญ ถือธรรมเป็นเรื่องใหญ่ เคารพธรรม บูชาธรรม เราในฐานะเป็นสานุศิษย์ของพระพุทธเจ้า เราก็ต้องถือธรรมะเป็นเรื่องสำคัญ จะพูดอะไรกับใคร จะสอนอะไร ก็ต้องมุ่งไปในทางส่งเสริมศีลธรรม ส่งเสริมสัจธรรม ให้เกิดขึ้นในใจของคนเหล่านั้น นั่นเป็นการช่วยเพื่อนมนุษย์ เป็นการช่วยโลกอย่างแท้จริง อันนี้แหละมันถูกต้อง
เวลานี้เราจะได้กล่าวว่า นักเรียนยกพวกตีกันบ่อยๆ นี่คือการสอนผิด สอนให้รักหมู่รักคณะ แล้วก็สอนว่าต้องช่วยเหลือกัน ต้องสามัคคีกัน แต่ไม่ได้ย้ำลงไปว่าช่วยกันอย่างไร สามัคคีกันในรูปใด ทีนี้เด็กมันก็รับไปตามคำสอนว่า รักกัน เรามันสีเดียวกันเรามันอยู่ในโรงเรียนเดียวกัน ต้องรักกัน ทีนี้มีเรื่องอะไรเกิดขึ้น สมมุติว่าเพื่อนคนหนึ่งไปถูกเขาตีหัวแตกกลับมา พอมาถึงบอกเพื่อนว่า เราถูกตีหัวแตก ไม่ได้ฟังอีร้าค้าอีรมไม่ต้องคิดต้องกรองแล้ว “มึงถูกตีที่ไหนวะ? เอ้า! ที่สนามกีฬา ไปกันเลย ไอ้พวกนั้นมาตี ยกพวกไปเลย” ไปตีกันใหญ่ความจริงคนตีมาคนเดียว แต่ว่ายกพวกไปตีกัน ตีกันจนกระทั่งว่าตำรวจต้องจับกุมกันไป
นี้มันเกิดจากเรื่องอะไร เกิดจากความรักพวกรักหมู่นั่นเอง ไม่ใช่เรื่องอะไร แต่ว่ารักเช่นนั้นมันรักไม่ถูกต้อง ที่รักไม่ถูกต้องก็เพราะว่า ผู้สอนจริยธรรม ไม่เข้าใจสอน ไม่รู้จักเพาะคุณธรรมให้เกิดขึ้นในใจ ไม่รู้จักเพาะความสามัคคีที่ถูกต้อง ความรักเพื่อนพ้องที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นในใจ มันเป็นความรักประเภทที่เรียกว่า งมงายไปสักหน่อย หรือว่า รักจนลืมไป แล้วก็ไปทำแก้แค้นกัน บาดเจ็บกันทั้งสองฝ่าย บางทีถึงตายไปก็มีเหมือนกัน ยกพวกตีกันอย่างนี้เป็นความเสียหายเพราะการสอนไม่ถูก
แต่ถ้าเราบอกให้เขารู้ว่า ความรักนั้นมันต้องเป็นไปในทางที่ถูกที่ชอบ เช่นเราจะรักเพื่อน ก็ต้องช่วยเพื่อนให้ดีขึ้น ช่วยยกระดับจิตใจของเพื่อนให้สูงขึ้น ให้สะอาดขึ้น ให้สงบ ให้สว่างขึ้น ในทางดีทางงาม ไม่ช่วยเพื่อนในทางทำลายกัน เช่นว่า พอเพื่อนถูกตีมาเราก็ไปยกพวกไปตีกัน ไม่ได้ช่วยอะไร ไม่ได้ช่วยเพื่อนให้ดีขึ้น แล้วก็ทำให้เกิดปัญหาขึ้นในสังคมมากมายก่ายกอง อันนี้เป็นเหตุการณ์มีอยู่ในปัจจุบัน แล้วก็ที่ว่าบางเมืองที่ยิงกันฆ่ากันหมดโคตรว่างั้น ก็เพราะเรื่องอย่างนี้ คือสอนให้พยาบาท
บางทีพ่อใกล้จะตายเรียกลูกไปกระซิบสั่งว่า “จำไว้ลูกเจ้าต้องแก้แค้นแทนพ่อ เมื่อพ่อตายไปแล้ว เจ้าต้องแก้แค้นแทนพ่ออย่าลืมเป็นอันขาด” นี่คือฝากจิตที่เป็นอกุศลไว้ในจิตของลูก ฝังความคิดที่ไม่ดีไว้ในจิตใจ แล้วลูกก็คิดอยู่ตลอดเวลา กูยังไม่ได้แก้แค้น กูยังไม่ได้ทำตามคำสั่งของพ่อ มันรักพ่อนะ แต่มันรักไม่ถูกพ่อ มันไปรักอะไรก็ไม่รู้ รักกิเลสของพ่อนะ ไม่ได้รักคุณธรรมของพ่อ แล้วพ่อเองก็ไม่ได้สอนคุณธรรมให้แก่ลูก แต่ให้ลูกสืบทอดเจตนารมณ์แห่งความนึกคิดในทางชั่ว เพื่อเอาไปใช้ต่อไป ไอ้ลูกชายมันก็จะเหมือนกัน พอโตเป็นหนุ่มเป็น ก็สืบหาคนที่ทำร้ายพ่อมันอยู่ที่ไหน แบกปืนไปกดเปรี้ยงๆ อ้าว! ตายไปอีกรายหนึ่งอย่างนี้เป็นตัวอย่าง นี่คือการสืบทอดเจตนารมณ์ในทางชั่วทางร้าย เป็นทางทำลาย ไม่ใช่ทางสร้างสรรค์
อ่านเรื่องบทละครของเชกสเปียร์ ( Shakespeare) เชกสเปียร์กับเบอร์นาร์ด ชอว์ (Bernard Shaw) เป็นนักปราชญ์ของอังกฤษ แต่ว่าคนละยุค ยุคเชกสเปียร์นั้นมันเก่าแก่ ไปอังกฤษนี้ก็ไปเที่ยวบ้านเชกสเปียร์เหมือนกัน บ้านแกยังอยู่บ้านเมียแกก็ยังอยู่เขารักษาไว้ โต๊ะที่ม้านั่งที่เชกสเปียร์เรียนหนังสือเขาก็รักษาไว้ แต่ว่าบนโต๊ะนะขีดเขียนกระยุกกระยิกไปตามประสาเด็กซนนั่นเอง เขาวางไว้ให้คนดู แล้วบริเวณบ้านเชกสเปียร์นี่ดอกไม้มากมายก่ายกอง ดอกไม้ที่มีชื่ออยู่ในบทละครเชกสเปียร์นี่เขาเอามาปลูกไว้หมด ปลูกไว้เป็นสวนใหญ่เลย ให้คนได้ไปดูไปชม
เมืองนั้นมันเป็นเมืองที่เรียกว่า เกี่ยวกับเชกสเปียร์ทั้งนั้น ถนนก็เอ่ยชื่อบทละคร ชื่อตัวละคร ชื่อเรื่องละคร โรงละครก็เกี่ยวกับเรื่องเชกสเปียร์ เขาแสดงเป็นเดือน เป็น ๒ เดือน ๓ เดือน แสดงเรื่องเดียวนี่แสดงกันนาน เขาเรียกว่าเมือง สแตรทฟอร์ด-อัพพอน-อาวอน (Stratford-upon-Avon) ชื่อเมืองสแตรทฟอร์ด มันอยู่บนฝั่งแม่น้ำอาวอนเลยก็ไปดู ไปดูบ้านเชกสเปียร์ เชกสเปียร์นี่เขียนบทละครทุกเรื่อง ลงท้ายด้วยการประนีประนอม ด้วยการไม่ผูกเวรกัน แม้จะโกรธกันเกือบล้มเกือบตาย แต่ว่าพอจบเรื่องนี่สองฝ่ายมาคืนดีกัน นี่แหละจุดยอดมันอยู่ตรงนี้ เรียกว่ามีสปิริตชวล (Spiritual) ของเชกสเปียร์อยู่ตรงนี้
เบอร์นาร์ด ชอว์ เขียนอะไรเยอะแยะ แต่คนอังกฤษว่าเบอร์นาร์ด ชอว์ เขียนไม่มีสปิริตชวล (Spiritual) เลย เขียนเล่นๆไป สนุกๆไป ในเชิงปรัชญา ขบขัน อะไรไปอย่างนั้นแหละ ไม่มีเนื้อแท้ที่เป็นธรรมะ อันจะเป็นการสร้างนิสัยใจคอของคนให้เจริญงอกงาม แต่ว่าของเชกสเปียร์นั้นมีคติสอนใจ
เรามีเวลาว่างลองไปอ่าน พระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๖ เช่นว่า เรื่องตามใจท่าน (As You Like It) เราลองไปอ่านดูมันมีคติ มีธรรมะ เป็นเครื่องสอนจิตสะกิดใจ มีเรื่องสอนให้สันโดษ ให้พอใจในสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ เช่นว่า ในละครเรื่องนั้นว่าพวกหนึ่งต้องหนีไปอยู่ป่า แล้วก็ไปอยู่อย่างมักน้อย อย่างสันโดษ อยู่ด้วยความสุขในป่านั้น เวลาคนมาหาก็บอกเขาว่า เชิญมาที่นี่ ไม่มีลมร้าย ไม่มีคนร้าย มีแต่พระพรายพัดท่านอุรา เขาก็ชวนเพื่อนให้มานั่งมาคุยกัน สนทนาพาทีกัน แล้วก็เรื่องไปเป็นมีคติสอนใจมากมายในเรื่องนั้น
ในหลวงรัชกาลที่ ๖ ท่านก็ส่งเสริมธรรมะ ท่านพูดธรรมะมากเวลาอบรมเสือป่านี่พูดธรรมะทั้งนั้น เทศนาเสือป่าพวกเราลองไปค้นอ่านดู ท่านสอนธรรมะ สอนเรื่องอริยสัจ เรื่องอะไรต่ออะไรมากมาย เป็นหนังสือธรรมะที่น่าอ่านบทหนึ่งเล่มหนึ่งอีกเหมือนกัน นี้ท่านแปลเรื่องนี้มาเพราะเห็นว่า มันมีข้อธรรมะ เป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจ ให้เกิดความคิดนึกในทางที่ถูกที่ชอบ จึงเอามาแปลเป็นภาษาไทยให้คนได้อ่านกัน
เชกสเปียร์มีชื่อมีเสียงก็เพราะว่า แต่งบทละครที่มีคติสอนใจแล้วก็ลงท้ายด้วยการไม่จองเวรกัน คืนดีกัน รักกัน สามัคคีกัน เรียกว่า แฮปปี้เอนดิ้ง (Happy Ending) ของเชกสเปียร์มันไปในรูปอย่างนั้น นับว่าดี เราก็ควรจะมาพูดกันในรูปอย่างนั้น อย่าไปยุให้เกิดความพยาบาท อาฆาตจองเวรกันในกรณีใดๆ
คนบางคนชอบยุชอบแหย่ ชอบก่อเรื่อง ให้เกิดระหองระแหงกันในที่นั้นที่นี้ นึกว่าเป็นการสร้างคติที่ดีแก่เด็ก มันไม่ใช่ สอนอย่างนั้นมันไม่ถูก มันไม่ใช่ถูกต้องตามหลักธรรมะ แต่เราควรสอนให้ไม่จองเวร ไม่โกรธตอบ เอาชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ ชนะความไม่ดีด้วยความดี ชนะคนไม่มีสัจจะด้วยความมีสัจจะ ชนะคนตระหนี่ด้วยการให้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
พูดสั้นๆว่า “เอาความดีชนะความชั่ว” ถ้าเราเอาความดีชนะความชั่ว เรื่องมันจบเท่านั้นเองไม่มีอะไร และเราพยายามที่จะทำดีกับเขา พยายามจะยิ้มกับเขา แผ่เมตตาไปยังเขา แม้ว่าจะพบคนนั้นไม่ได้ กลางค่ำกลางคืนก่อนหลับก่อนนอน นั่งสมาธิ ทำใจให้เป็นอันหนึ่งอันเดียว เรียกว่า เป็นสมาธิตั้งมั่น มีความสงบตั้งมั่นแล้ว ส่งกระแสจิตไปยังบุคคลนั้น ขอให้บุคคลนั้นมีความสุข มีความสงบ มีความเจริญก้าวหน้า เราไม่มีภัยไม่มีเวรกับคนนั้นต่อไป พบใครที่เราพอจะพูดให้ฝากไปได้ เราพูดไปว่า “แหม! ผมไม่โกรธไม่เคืองคนนั้นแล้ว ผมให้อภัย อยากจะพบเขาเหลือเกิน ถ้าพบแล้วอยากจะสารภาพว่าผมมันผิดไปหน่อย” คือต่างคนต่างรับผิดแล้วมันก็ไม่มีเรื่องอะไร
แต่ถ้าไม่ยอมรับผิดมันก็ไปกันใหญ่ เช่น คนสองคนในครอบครัวนี่ คือสามีภรรยา ต่างคู่อยู่กันอย่างนั้นแหละ ทะเลาะกันทุกวัน ตีกัน ก็ทะเลาะกัน เถียงกัน อะไรกันบ่อยๆ เพราะอะไร ต่างคนต่างแข็ง ต่างคนต่างแรง ไม่ยอม ไม่ได้ เราไม่ยอม อีกคนหนึ่งก็ข้าก็ไม่ยอมเหมือนกัน ต่างคนต่างแข็ง แล้วมันได้เรื่องอะไร อยู่กันด้วยความสุขที่ไหน ไม่มีความสุข แต่ถ้าหากว่าคนหนึ่งรู้สึกตัวขึ้นมา “เอ๋! อยู่กันอย่างนี้มันไม่ดี เรารับผิดเสียดีกว่า เข้าไปขอโทษ ว่าไอ้สิ่งที่ผ่านมาแล้วนั้นมันเป็นความคิดไม่ดี กิเลสมันครอบงำ เวลานี้รู้สึกตัวแล้ว” คนที่ยอมรับผิดคนแรกนั้นแหละคือ คนที่สร้างสรรค์ขึ้นในสมาคม ในครอบครัว ในระหว่างมิตรต่อมิตร ระหว่างอะไรต่ออะไร คนที่นึกได้ว่าเราเป็นผู้ผิดและไปสารภาพผิดนี่ คือคนที่สร้างความสุขให้เกิดขึ้น
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ในหมู่คนที่กำลังทำเรื่องยุ่งๆ ถ้ามีใครซักคนหนึ่ง เกิดความรู้สึกขึ้นในใจว่า พวกเราจะฉิบหายกันแล้ว ความสงบจะเกิดจากบุคคลนั้น” บุคคลที่เกิดความคิดขึ้นว่า เราจะฉิบหายกันแล้วนั้น มันจะคิดขึ้นทำให้เกิดความสงบ ทีนี้คนมันก็รู้เหมือนกันนะว่า คนมันจะสงบเพราะอะไร เพราะฉะนั้นเวลามีอะไร เขาจะต้องมีคนขึ้นไปพูด พูดปลุกใจ ไม่ใช่ปลุกใจให้ตื่น ไม่ใช่ปลุกใจให้หลับให้มัวเมาให้ยึดถือ ให้ก่อเรื่องราวไม่ดีไม่งามต่อไป ปลุกใจไว้ระดมไว้ เรียกว่า ปลุกพรึบปลุกระดมให้เกิดอารมณ์ตื่นเต้นไว้ จนไม่มีโอกาสที่จะสงบใจ ไม่มีโอกาสที่จะเกิดปัญญาที่จะคิดขึ้นได้ว่า
“เอ! นี่เราทำเพื่ออะไร ทำไปทำไม แล้วอะไรมันจะเกิดขึ้นในหมู่ของเรา ในครอบครัวของเรา ในชาติ ในประเทศของเรา”
มันไม่มีใครนึกได้เขาเรียกว่า เลือดเข้าตาเวลานั้น ต่างคนต่างคิดแต่ว่า อย่างนั้นอย่างนี้เป็นการถูกต้องเวลาใครพูดอะไรก็ เฮๆๆๆ กันอยู่ตลอดเวลาเลยไปกันใหญ่โต เกิดเรื่องเกิดราวกันใหญ่โต เพราะไม่มีใครนึกได้ว่า เรากำลังจะฉิบหายจากการทำกันในรูปอยู่อย่างนี้ ไม่มีใครนึก นี่แหละคือบ่อเกิดแห่งความวุ่นวายในสังคม เพราะฉะนั้นถ้าเราใช้ปัญญาเสียบ้าง คิดนึกกันเสียบ้าง ในเรื่องอะไรต่ออะไร ให้มันเกิดเข้าใจเหตุผลถูกต้อง เรื่องอะไรมันจะไม่เกิดขึ้น เพราะว่าคนเรามันพูดกันได้ เช่นว่า
กรรมกรกับนายจ้างนี่ก็พูดกันได้ พูดกันรู้เรื่อง ไม่ใช่พูดกันไม่รู้เรื่อง แม้ว่าจะพูดครั้งแรกไม่เข้าใจ เอ้า! ก็พูดกันต่อไป ทำความเข้าใจกันต่อไปให้รู้เรื่องกัน พอทำความเข้าใจกันได้ ไม่ยากลำบากอะไร มันไม่แข็งเป็นเหล็กหรอกคนเรานี่ พูดกันไปพูดกันมามันก็โอนอ่อนผ่อนตามกัน ที่มันเสียอยู่ตรงที่ว่า ไม่ค่อยพบกันนั่นเอง คนที่ทำงานด้วยกันนี่ไม่ค่อยพบกัน เช่นว่า นายทุนกับกรรมกรนี่ไม่ค่อยพบกัน นึกว่าเราทำงานกันไปตามเรื่อง ต่างคนต่างมาทำไม่ค่อยพบกัน ไม่มาคุยกันเสียบ้าง ไม่มีบุคคลากรที่คอยประสานความแตกร้าวระหว่างคนเหล่านั้น ไม่มีบุคคลากรประเภทที่ว่า ไปเยี่ยมเยียนถามสารทุกข์สุกดิบ การเจ็บการป่วยของครอบครัว ของลูกของคนเฒ่าคนแก่ มีอะไรพอจะช่วยเหลือเจือจุนได้ เข้าไปช่วยเหลือ เมื่อทำอย่างนี้มันก็เกิดความรักความเมตตาขึ้น เพราะว่าได้รับสวัสดิการด้วยการกระทำในรูปเช่นนั้น
อันนี้ความจริงมันเป็นเรื่องนิสัยของคนไทยเรา โบร่ำโบราณนี่เขาทำมากันอย่างนั้น เขาหมั่นเอาใจใส่ ไต่ถามสารทุกข์สุกดิบกัน ด้วยการปฏิบัติตามหลักธรรมะ ๔ ประการของพระพุทธเจ้า เขาเรียกว่า เป็นวิชามนุษย์สัมพันธ์ของพระพุทธเจ้ามี ๔ ข้อไม่มากไม่มายอะไร มนุษย์สัมพันธ์นี้เขาเรียนกันเล่มโตๆ แต่ของพระพุทธเจ้านิดเดียว ๔ ข้อเท่านั้นเอง ถ้าใครเอาไปใช้แล้วมันจะเกิดความผูกพันทางจิตใจขึ้นมา
เรื่องแรกคืออะไร ก็คือเรื่องการให้ทานเรียกว่า “ทานะ” ทานะคือการให้ การให้แก่กันและกัน คนเราอยู่ด้วยกันต้องให้กันบ้าง ให้วัตถุ ให้สิ่งของ ให้น้ำใจ ให้ความยิ้มแย้มแจ่มใสต่อกันและกัน เรียกว่าให้ มีวัตถุก็ควรให้ แต่ว่าการให้มันต้องรู้เหมือนกันนะ ไม่ใช่ให้พร่ำเพรื่ออย่างนั้นไม่ใช่ ให้พร่ำเพรื่อไม่มีบุญคุณ ทำให้เห็น “อูย! เรื่องธรรมดา” ไม่เกิดความรู้สึกสำนึกในบุญคุณ
คนเราต้องเลือกให้ ให้ในเวลาที่เขาเกิดความต้องการขึ้นมาอย่างแท้จริงในสิ่งนั้นๆ และเราเข้าไปช่วยทันที การช่วยนั้นจะประทับใจ เช่น เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยนี่ ต้องไปโรงพยาบาล เงินทองก็ไม่มี อะไรก็ไม่มี เราเข้าไปให้ตรงนั้นมันประทับใจ แล้วจะผูกใจไว้ได้ ททํ มิตฺตานิ คนฺถติ (นาทีที่ 30:27) การให้สมานมิตรไมตรีไว้ได้ แต่ถ้าให้ไม่เป็นก็เป็นทุกข์ต่อเราซะเลย นี่คือทำไม่เป็นนั่นเอง เขาจึงไม่เกิดความกตัญญู ไม่รู้จักเวลาควรให้ ไม่รู้จักเหตุการณ์ที่ควรจะให้ อันนี้เราต้องคอยดูคอยศึกษาชีวิตของคนเหล่านั้นที่มีความเกี่ยวข้องกัน
ต้องมีคนๆหนึ่งที่เขาเรียกว่าบุคคลากรนะ ต้องคอยไปสืบเสาะไต่ถามสารทุกข์สุกดิบ เห็นคนไหนนั่งซึมๆเงื่องหงอย อะ! มีเรื่องแล้ว มีความทุกข์แล้ว คนนั้นต้องมีหน้าที่ “เป็นยังไง ดูรู้สึกว่า ไม่ค่อยสบายรึ มีความทุกข์ร้อนอะไรมั่ง มีอะไรผมพอจะช่วยเหลือมั่ง” คนนั้นพอได้ยินเช่นนั้นก็ใจมันมาเป็นกอง เราก็ไปไต่ถามเรื่องอะไรต่ออะไร รู้เรื่องแล้วก็ต้องไปบอกเถ้าแก่ว่า คนๆนั้นมันมีปัญหา มีความทุกข์ในเรื่องอย่างนั้นอย่างนี้ เราเข้าไปช่วยเหลือเล็กน้อย ไม่มากมายอะไร ขนหน้าแข้งมันก็ไม่ร่วง เข้าไปช่วยไว้ แต่ผลมันไพศาล มันจะเกิดเป็นผลในกาลต่อไปข้างหน้า คือจะทำให้เกิดการผูกพันทางน้ำใจ มีความรักต่อกัน นี่เป็นอุบายของพระพุทธเจ้า
ให้ๆกัน มีอะไรควรให้กัน แล้วบางเช่นว่า วันปีใหม่ เดือนใหม่ อะไรๆต่ออะไร หรือว่าวันเกิดของใคร ควรจะรู้ไว้ นิดๆหน่อยๆ เอาของไปให้ในวันเกิด กรรมกรเมื่อนายเอาของมาให้ในวันเกิด “อูย! นายรู้จักวันเกิดของเรา” มันผูกพันน้ำใจ ลงทุนน้อย แต่ว่าได้ผลมาก แต่ไม่มีใครค่อยกระทำกัน เพราะไม่ได้นึกในข้อธรรมะ คิดแต่เรื่องเงินท่าเดียว ผลิตเอามากูขายเอากำไร แล้วก็ไม่คิดว่าคนผลิตก็ควรจะให้อะไรแก่เขาบ้างไม่ได้คิด แต่ถ้าเอาธรรมะเตือนอย่างนี้เข้าไปใช้ในโรงงานองค์การแล้วมันจะดีขึ้น แม้ในรัฐวิสาหกิจของราชการก็เหมือนกันแหละ ผู้ใดเป็นผู้ใหญ่ต้องไปเยี่ยมคนงานบ้าง ไปพูดไปคุย ไต่ถามสารทุกข์สุกดิบ เกิดความสัมพันธ์กันทางด้านจิตใจ นี่เรียกว่า ให้เหมือนกัน คือให้ความเป็นกันเอง เวลามีเรื่องอะไรมันพูดง่าย ถ้าว่าไม่คุ้นหน้ากันจะพูดกันยังไง ไม่เคยเห็นกัน ไม่เคยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน พูดมันก็ไม่มีน้ำหนักนี่มันหลักการมันเป็นอย่างนี้ นี่เรื่องให้สำคัญ
ประการที่สอง “ให้พูดจาอ่อนหวานต่อกัน” ใช้ถ้อยคำที่ว่า รื่นหู ไม่บาดหู จะพูดอะไรก็ตามใจ ให้มันรื่นหู เย็นหู พูดแล้วมันประทับใจไปนานๆ เวลาใดใจขุ่นมัวใจเศร้าหมองไม่ควรจะพูดอะไร ควรนั่งนิ่งๆพูดกับตัวเองให้มันเบาให้มันขึ้นมาในทางดีเสียก่อน แล้วค่อยพูดอะไรต่อไป เพราะถ้าพูดด้วยความโกรธมันเสียหาย พูดด้วยความเกลียดมันก็เสียหาย ไม่ดีทั้งนั้น ไม่ควรจะพูด นั่งเฉยๆก่อน สงบอารมณ์ พอใจสบายแล้วค่อยพูดค่อยจา พูดจาอ่อนหวานสมานใจอันนี้ช่วยได้
ประการต่อไปนั้นเขาเรียกว่า “สมานัตตา” ทำตนให้เสมอหมายความว่าไม่ถือเนื้อถือตัว ไม่เหยียดหยาม ว่าคนชั้นนั้นคนชั้นนี้ ไม่มีชั้น ถือว่าคนเหมือนกัน มันต่างกันที่ผลจากการกระทำเท่านั้น การงานมันทำให้คนแตกต่างกัน แต่สภาวะความเป็นอยู่ก็แล้วมันก็เหมือนกัน เราไม่ควรจะถือเอาเป็นเรื่องให้เกิดความแตกต่างกัน เป็นชนชั้น เป็นชั้นนั้นเป็นชั้นนี้ เป็นเขาเป็นเรา อันจะสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นแก่ชีวิต เป็นเรื่องยุ่งยากเสียหาย แต่เราควรจะนึกว่าคนเหมือนกัน รักสุขเหมือนกัน เกลียดทุกข์เหมือนกัน มีอะไรก็เข้าไปคลุกคลีเป็นกันเอง พูดจากันเป็นกันเอง สมาคมกันบ่อยๆ พบปะกันบ่อยๆ มันเกิดความเห็นอกเห็นใจกัน คิดอะไรขึ้นมาก็ “อือ! เรามันจะเสียไมตรีกัน รักกันมานานแล้ว จะทำอย่างนั้นมันก็ไม่เหมาะไม่ควร” เรื่องจะคิดจะทำมันก็ไม่มีอะไร แม้คนอื่นจะมายุมาแหย่ เขาก็ทำไม่ได้เพราะมีข้อผูกพันทางด้านจิตใจ เป็นเรื่องสำคัญอยู่ทำไม่ได้ ให้ใครยุเท่าไหร่ก็เป็นไปไม่ได้ นี่หลักใหญ่
ประการสุดท้ายที่เรียกว่า “อัตถจริยา” หมายความว่าทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่กันและกัน ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ พูดสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่กันและกัน อย่าทำลายประโยชน์กัน อย่าริษยากันๆ อย่าตระหนี่เกินไปในเรื่องอะไรต่างๆ
อยู่กันอย่างนี้มันก็สบายใจ เรียกว่า “หลักสังคหวัตถุ” ของพระพุทธเจ้า พูดตามภาษาวัดเขาเรียกว่า สังคหวัตถุ ธรรมเป็นเครื่องสงเคราะห์แก่กันและกัน แต่ถ้าพูดในสมัยใหม่เขาเรียกว่า “มนุษย์สัมพันธ์” เพราะเมื่อประพฤติอย่างนี้แล้ว มันเกิดความยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจ เราไปอยู่ที่ใด เป็นหัวหน้านี่ต้องใช้สิ่งเหล่านี้ไว้ หรือไม่เป็นหัวหน้าก็ใช้ไปเถอะ แต่ว่าอย่าจูงไปในทางเสีย อย่าให้เรื่องเสีย เช่นให้เหล้าเขาดื่ม นี้ไม่ได้เรื่องอะไร เรียกว่า เออ!หลวงพ่อท่านสอนว่าให้ เห็นเพื่อนมา “เอ้า! เอาดื่มกันหน่อย” อันนี้มันให้ไม่ได้เรื่อง ของเป็นพิษอย่าให้ ของไม่เป็นประโยชน์อย่าให้ ให้แต่ของที่เป็นประโยชน์ เป็นคุณแก่ร่างกาย แก่จิตใจ สิ่งใดจะทำลายสุขภาพทางกายทางจิตเราจะไม่ให้ แล้วเราก็จะไม่เอาสิ่งนั้นด้วย อยู่กันอย่างนี้มันก็อยู่ด้วยธรรมะ อยู่ด้วยธรรมะมันก็เจริญงอกงามก้าวหน้าชีวิตไม่ลำบากเดือดร้อน จึงขอฝากไว้ ให้เรานำไปเป็นหลักประจำ ในชีวิตประจำวันต่อไป
วันนี้พูดมาก็พอดีสมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติไว้แต่เพียงนี้
(นาทีที่ 36:33)
กาลทีนี้ มันก็วุ่นวายสับสนทำให้เกิดเป็นปัญหายุ่งยากลำบากเปล่าๆ แต่ถ้าเราเชื่อกฏกรรมของพระพุทธเจ้า ไม่มีอะไร เราทำได้ทุกเมื่อ “จะสร้างบ้านสร้างเรือน เอ้า! ช่างมีพร้อม ไม้มีพร้อม แรงมีพร้อม เอ้า! ยกได้เลย ไม่ต้องรอ” ไม่ต้องรอขึ้นเดือนพฤษภาคม มิถุนายน ทำเดือนเมษายนก็ได้ บางคนนี้มีคนหนึ่งมาบอกว่า ดิฉันกำลังสร้างบ้าน คือพร้อมแล้ว เดือนเมษายนนี้หมอบอกว่าทั้งเดือนไม่มีวันดีเลย ไอ้เดือนฉิบหาย ทั้งเดือนมันไม่มีวันดีกันเสียเลย มันยังไง เลยต้องรอไปจนพฤษาคม ไอ้เดือนพฤษภาคมฝนตกมันจะดียังไง เมษายนมันแห้ง ขุดหลุมตอกเข็มอะไรมันก็สะดวกสบาย ไม่เดือดร้อน สมัยก่อนตอกเข็มไม้ ขุดหลุมสะดวก เดือนเมษายนมันไม่ลำบาก ฝนตกขุดก็ลำบาก มันเปียกขุดง่าย แต่ว่ามันมีน้ำ มันต้องวิดอะไรลำบาก หน้าแล้ง ขุดง่าย ตอกเข็มก็ง่าย อันนี้ต้องรอไปเชื่อหมอดู
บอกว่านี่ไม่มาวัดเสียบ้างก็อย่างนี้แหละ ไม่ฟังท่านปัญญามันก็อย่างนี้ ไปเชื่อสิ่งเหลวไหลทำให้ชักช้า พระพุทธเจ้าจึงบอกว่าคนพาล มัวไปนั่งดูดาวดูเดือนอยู่ ประโยชน์มันก็ผ่านพ้นไปเสีย ประโยชน์มันเป็นฤกษ์อยู่ในตัวแล้ว ดวงดาวดวงเดือนในท้องฟ้าจะช่วยอะไรได้ ธรรมนี้ว่า นักขัตตัง ปติมาเนนตัง อัตโถ พาลัง อุปัจจะคา อัตโถ อัตถัสสะ นักขัตตัง กิง กริสสันติ ตารกา (นาทีที่ 38:00) บอกว่าคนพาลมัวไปนั่งดูดาวดูเดือนอยู่ ประโยชน์มันก็ผ่านพ้นไปเสีย ประโยชน์มันเป็นฤกษ์อยู่ในตัวแล้ว ดวงดาวในท้องฟ้าจะช่วยอะไรได้ นี่ทำให้ชักช้า ทำให้เสียเวลา แต่ถ้าเราถือหลักพุทธศาสนา ยกเสาตอนบ่ายก็ได้ ตอนเช้าก็ได้ ตอนไหนก็ได้ ถ้าช่างพร้อม เอ้า ยกได้เลย ไม่ลำบากอะไร สร้างกุฏิหลังหนึ่ง
ช่างเขามาถามว่า “หลวงพ่อจะให้ตอกเข็มเมื่อไหร่”
หลวงพ่อ “เอ้า! แล้วเครื่องตอกมาหรือยัง”
ช่าง “พร้อมแล้ว”
หลวงพ่อ “เอ้า! ตอกเลยๆ”
ตอกแล้วมันก็จะสร้างทีเดียวก็เสร็จไม่ต้องรอฤกษ์ ถ้ารอฤกษ์ไปถามหมอ โอ เดือนนี้วันตอกเข็มไม่มีต้องรออีกเดือน ช้าไปเดือน เสียเวลาเปล่าๆ ไม่ได้เรื่องอะไร เพราะงั้นเราอย่าไปเที่ยวดูให้มันวุ่นวาย
นี่จะสึกนี่ไม่ต้องไป ไม่ต้องไปถามหมอว่า จะสึกวันไหน ฤกษ์ไหนดี เวลาไหนดี ตามหลวงพ่อก็แล้วกัน หลวงพ่อสึกแต่ตอน ๕ ตี ๕ ครึ่ง ขนาดตี ๕ ครึ่งนะ เรียกว่ามาให้ทันนะมาก่อนเวลาหน่อย ใครจะสึกก็มาตี ๕ มากันที่กุฏิก็แล้วกัน สึกแต่ตอนนั้นแหละ สึกออกไปแล้วหลายชุดแล้ว เรียบร้อยไม่มีใครตายโหงตายห่าเลยสักคนเดียว ยังมีชีวิตอยู่ทั้งนั้น ไม่ได้ดูฤกษ์ดูยามอะไร เพราะว่าได้สอนได้เตือนไว้พอแล้ว เทศน์กันมาตั้ง ๙๐ วันแล้ว วันหนึ่ง ๒ ครั้งๆ มันไม่ใช่น้อยเลย นี่พอแล้วไม่ต้องดูฤกษ์ดูยามก็สึกไปเรียบร้อย ไม่ลำบากยากเข็ญอะไร
เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องไปดู มาถามหลวงพ่อก็แล้วกัน ว่าจะสึกวันไหน ใช้ได้แล้ว วันไหนมันก็ได้ วันที่เราสะดวกสบาย มีอะไรที่จะต้องไปจับไปทำ เช่นว่า จะรีบร้อนจะไปทำงาน สึกตอนเช้าก็ได้ ตอนสายก็ได้ กลางเที่ยงก็ได้ เย็นก็ได้ กลางคืนก็ได้ ถ้ามีเรื่องจำเป็นจะต้องไป สึกได้ทั้งนั้น เพราะมันไม่ได้อยู่ที่เวลาสึก มันอยู่ที่ว่ามีสติมีปัญญาในการประคับประคองชีวิตประจำวัน ไม่ทำอะไรให้เกิดความเสียหาย แล้วก็เป็นอันใช้ได้ หลักการมันเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นไม่ต้องวุ่นวายกับเรื่องอย่างนั้น
ต่อไปอยู่บ้านก็เหมือนกัน จะทำอะไรก็ต้องดูจังหวะดูเวลาให้มันเหมาะ ไม่ต้องไปถามหมอดูวัดไหน ว่าจะทำอะไรอย่างนั้นอย่างนี้ เช่นจะแต่งงานนี่ ก็ตกลงกันทั้งเจ้าบ่าวเจ้าสาว เรามันเจ้าบ่าวทั้งนั้นไม่ได้เป็นเจ้าสาวหรอก อันนี้เราก็ต้องไปถามว่า เจ้าสาวว่าพร้อมได้เมื่อไหร่ ถ้าพร้อมเมื่อไหร่ก็กาวันเลย วันแต่งงาน กาวันนั้นวันนี้ว่ากันไป อย่าให้มันชักช้าเสียเวลา ถ้านิมนต์พระไปเกี่ยวข้อง ก็ไปเช้าๆ นิมนต์ ๖ โมงไป ตี ๕ ครึ่งก็ได้ ระยะทางไกลก็ตี ๕ ครึ่งมารับไปสวดมนต์ให้ สอนสั่งแนะนำตักเตือนทั้งเจ้าบ่าวเจ้าสาวว่าควรจะอยู่กันอย่างไร มันก็อยู่กันเรียบร้อยถ้ามันรักกัน ถ้ามันไม่รักกัน ไอ้ฤกษ์วิเศษซักเท่าใด ก้นหม้อไม่ทันดำก็แตกกันเหมือนกัน เรื่องมันเท่านี้ มันไม่ยากอะไร
เราไม่ได้ถืออย่างนั้น สิ่งศักดิ์สิทธิ์เราก็ไม่เกี่ยวข้อง เพราะความศักดิ์สิทธิ์มันอยู่ในความคิดของเรา ถ้าเราคิดถูกแลัวมันศักดิ์สิทธิ์ มันดี มันประเสริฐ แต่ถ้าเราคิดผิดแล้ว มันไม่ได้เรื่อง ไม่มีอะไรจะมาช่วยเราได้ เพราะเราทำผิด ชีวิตอยู่กับการกระทำของเรา กรรมมันลิขิต กรรมของเรานะ มันลิขิตตัวเราเอง ไม่ใช่พระพรหมที่ไหน ไม่ได้ลัทธิเชื่อพระผู้เป็นเจ้า สุดแล้วแต่พระผู้เป็นเจ้า ชาวอินเดียนี้เมาที่สุดเลย เมาพระผู้เป็นเจ้า อะไรๆก็สุดแล้วแต่เบื้องบน สุดแล้วแต่พระผู้เป็นเจ้าจะบงการมา ตัวว่าตัวไม่คิดทำตามความคิดของตัว สุดแล้วแต่พระผู้เป็นเจ้า ไอ้นั่นมันง่าย มันเหมาะสำหรับเด็กปัญญาอ่อน แต่คนที่มีปัญญามีความรู้มีความฉลาดต้องช่วยตัวเอง ต้องพึ่งตัวเอง ตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า
ทีนี้การพึ่งตัวเองนี้ก็เหมือนกันแหละ เราต้องพึ่งธรรมะ คือ เราประพฤติธรรมนี้มันช่วยตัวเองได้ ถ้าไม่ประพฤติธรรมก็ช่วยตัวไม่ได้ เราได้ยินแต่พระพุทธภาษิตว่า “อัตตาหิอัตโนนาโถ” นั่นมันสั้น เอามาบทเดียวบาทเดียวแต่ความจริงนั้นยังมีสอนต่อไปว่า ตนเป็นที่พึ่งของตน คือการพึ่งธรรมะ พึ่งธรรมะก็หมายความว่า เราประพฤติธรรม ถ้าเราประพฤติธรรม เราพึ่งตัวได้ เราช่วยตัวได้ มันไม่ยากเข็ญอะไร แต่ถ้าหากว่าไม่ประพฤติธรรม มันพึ่งตัวก็ไม่ได้ ช่วยตัวก็ไม่ได้ เราชาวพุทธจึงช่วยตัวด้วยการประพฤติธรรม เอาธรรมะไปใช้ ในชีวิตประจำวันของเรา เพื่อให้เราอยู่ด้วยความถูกต้อง ชีวิตจะเรียบร้อย จะก้าวหน้า เป็นไปด้วยดี ในทางที่ถูกที่ชอบ
อะ เอาไว้เพียงเท่านี้ก่อน ตอนเย็นต่อ ตอนนี้ก็พอสมควรแก่เวลา