แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะอันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
พวกเราทั้งหลายที่มาฟังปาฐกถาธรรมะอยู่เป็นปกติทุกวันอาทิตย์นั้น ก็เป็นเครื่องแสดงอยู่ในตัวว่า การฟังธรรมะเป็นประโยชน์ การนำธรรมะไปใช้ในชีวิตประจำวันก็ได้ประโยชน์ ประโยชน์ที่เกิดขึ้นแก่เรานั้นก็คือการสงบใจ สบายใจ ไม่วุ่นวาย ไม่เดือดร้อนด้วยปัญหาต่าง ๆ และถ้าสังเกตดูพฤติการณ์ในชีวิตของเราเอง ก็จะพบว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไป เมื่อก่อนเข้าศึกษาธรรมะ สภาพชีวิตเป็นอย่างหนึ่ง ครั้นมาศึกษาธรรมะเข้า สภาพชีวิตก็เปลี่ยนแปลงไป โดยอาศัยธรรมะเป็นเครื่องมือปรับปรุงชีวิตจิตใจให้ก้าวหน้าในทางที่ถูกที่ชอบ อันนี้เป็นคุณค่าที่เราได้รับจากธรรมะ สมดังที่คำพระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ธัมโม หเว รักขติ ธัมมจารี ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม”
ผู้ประพฤติธรรมย่อมได้รับความคุ้มครองจากธรรมะ อย่างแรกก็คุ้มครองชีวิตเราให้พ้นจากบาปจากอกุศล ให้มีชีวิตอยู่อย่างสดชื่น เรียบร้อย ไม่วุ่นวาย การปฏิบัติธรรมะจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตของเราแต่ละคน แต่ว่าคนบางพวกบางประเภทก็มองไม่เห็นผลประโยชน์ของสิ่งนี้ คือไม่เห็นประโยชน์ของธรรมะและไม่ได้ใช้ธรรมะในชีวิตประจำวัน มักจะปล่อยตัวปล่อยใจไปตามอารมณ์และสิ่งแวดล้อมด้วยประการต่าง ๆ ชีวิตจะต้องขึ้น ๆ ลง ๆ ตามอารมณ์ที่มากระทบ บางทีก็เป็นสุข บางทีก็เป็นทุกข์ บางทีก็เสียใจ บางทีก็ดีใจ เป็นไปในรูปอย่างนี้บ่อย ๆ ในชีวิตประจำวัน อาการที่สภาพชีวิตเป็นไปในรูปเช่นนั้น มันไม่ได้เป็นความสุขอะไร ไม่ได้เป็นความสงบอะไร และไม่เป็นการแสดงว่าเราเป็นผู้ฉลาดในการดำรงชีวิตอะไรเลยแม้แต่น้อย แต่ถ้าเราได้หันเข้าหาธรรมะ สภาพชีวิตก็จะดีขึ้น เพราะฉะนั้น จึงควรจะได้ขวนขวายสนใจในเรื่องอย่างนี้ให้มากขึ้นเป็นพิเศษ
เรามีเพื่อนฝูงมิตรสหายที่คุ้นเคยกัน รักชอบกัน ถ้าจะเอาอะไรให้เป็นของขวัญแก่เขาแล้ว เราก็ควรจะคิดว่าต้องให้สิ่งที่ดีที่สุด ประเสริฐที่สุดแก่บุคคลผู้นั้น ของขวัญที่ประเสริฐที่สุดแก่เพื่อนมิตรของเรานั้นก็คือธรรมะนี่เอง พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “สัพพทานัง ธัมมทานัง ชินาติ การให้ทานธรรมะเป็นการให้ที่ชนะทั้งปวง” คือเราให้ธรรมะนั้นหมายความว่าอย่างไร ให้ความรู้ความเข้าใจแก่เขา อย่างนี้เรียกว่าให้ธรรมะแก่เขา พูดจาชัดเจนให้เห็นประโยชน์ของการปฏิบัติธรรม นำเพื่อนคนนั้นมาพบกับธรรมะโดยการฟังบ้าง โดยการปฏิบัติบ้าง พูดตัวอย่างให้เขาเห็นว่าชีวิตของบุคคลผู้ปฏิบัติธรรมะนั้นมีสภาพอย่างไร มีความสุขความสงบทั้งส่วนตัว ครอบครัว ตลอดจนถึงการงานที่ปฏิบัติอยู่อย่างไร เราพยามพูดจาแนะนำเขา จนกระทั่งว่าให้เขาเข้าใจเลือก แล้วเขาเริ่มหันหน้าเข้าหาธรรมะ เมื่อเพื่อนของเราได้หันหน้าเข้าหาธรรมะ นำธรรมะไปใช้ในชีวิตประจำวันก็นับว่าเราเป็นผู้สงเคราะห์เพื่อนอย่างแท้จริง
การสงเคราะห์เพื่อนมนุษย์นั้น ถ้าสงเคราะห์แต่เพียงด้านวัตถุนั้นไม่เพียงพอ เพราะวัตถุนี้ไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ ไม่รู้จะให้สักเท่าไหร่จึงจะพอแก่ความต้องการ แต่ถ้าเราให้ธรรมะแก่เขาแล้ว จะเป็นการเพียงพอแก่ชีวิตของเขา เพราะเมื่อเขาได้รู้ธรรมะ ได้ปฏิบัติตามธรรมะ ได้ดำเนินชีวิตชอบตามแนวทางของธรรมะแล้ว อะไร ๆ ก็จะสมบูรณ์ขึ้น ไม่มีความบกพร่องต่อไป ครั้นเราสังเกตง่าย ๆ ชีวิตของคนบางคนตกต่ำเหลือเกิน ตกต่ำไปในทางที่เสียหาย เช่น เป็นนักเลงสุราบ้าง เป็นนักเลงการพนันบ้าง หรือว่าเป็นคนประพฤติชั่วในรูปอย่างอื่นบ้าง อันเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน สร้างปัญหาให้แก่ตน แก่ครอบครัว ด้วยประการต่าง ๆ กระทั่งชีวิตต้องหม่นหมอง ไม่เฉพาะแก่ตัวผู้เดียว แต่ว่าทำคนอื่นให้พลอยเศร้าหมองเป็นทุกข์เดือดร้อนไปด้วย อันนี้ก็เพราะว่าเขาไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ถ้าเราเห็นคนประเภทอย่างนี้ก็ให้นึกว่าเป็นคนที่มีความยากจนทางด้านจิตใจ ยากจนทางใจนี้มันร้ายนักหนา ยิ่งกว่ายากจนในทางวัตถุ ข้าวของเงินทอง ความยากจนในทางวัตถุนั้น แม้ว่าจะลำบากก็ลำบากแต่เพียงส่วนร่างกาย แต่ว่ายากจนในด้านจิตใจนี้มันจะลำบากตลอดไป ไม่รู้จักจบ ไม่รู้จักสิ้น บุคคลประเภทที่คิดว่าทางใจนี้แหละควรจะได้รับการอนุเคราะห์สงเคราะห์ตามโอกาสที่เราจะช่วยได้ การสงเคราะห์แก่คนเหล่านั้นไม่มีอะไรจะดีไปกว่าแจกทรัพย์ภายในให้แก่เขา ทรัพย์ภายในนี้เรียกว่า อริยทรัพย์ เป็นทรัพย์อันประเสริฐ เป็นทรัพย์ติดเนื้อติดตัว ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ มันจะติดอยู่กับตัวเขาตลอดไป และตามคุ้มครองรักษาบุคคลผู้นั้นอยู่ตลอดเวลา
เพราะฉะนั้น เวลาที่พระราหุลโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งต่อมาพระองค์ได้เป็นพระพุทธเจ้า เข้าไปขอทรัพย์สมบัติตามคำแนะนำของพระมารดาคือพระนางพิมพา พระราหุลเป็นเด็กน้อย ๆ ก็เข้าไปพูดประจ๋อประแจ๋กับพระพุทธเจ้าเพื่อจะขอทรัพย์สมบัติ พระพุทธองค์ท่านทรงพิจารณาว่า ถ้าเรามอบทรัพย์สมบัติที่เป็นวัตถุให้แก่พระราหุลก็จะเป็นไปเพื่อความทุกข์ เพื่อความเดือดร้อนตลอดไป แต่เราควรจะมอบทรัพย์สมบัติที่ถาวรให้แก่เขาดีกว่า ทรัพย์สมบัติที่ถาวรนั้นก็คืออริยทรัพย์ หรือทรัพย์ภายใน คือธรรมะนั่นเอง แล้วก็ให้พระสารีบุตรบวชพระราหุลให้เป็นสามเณร จนกระทั่งอยู่มาจนกระทั่งเป็นพระภิกษุในพระศาสนาด้วยรูปหนึ่งเหมือนกัน อันนี้พระพุทธองค์ท่านทรงเห็นว่า ทรัพย์อันประเสริฐสำหรับชีวิตนั้นควรจะเป็นหลักธรรมะ
พ่อแม่ที่มีความฉลาดจึงต้องมอบทรัพย์ภายในให้แก่บุตรธิดาของตน ทรัพย์ภายในที่เราควรให้เริ่มแรกนั้นก็คือวิชาความรู้อันศึกษาได้จากโรงเรียนทั่ว ๆ ไป อันนี้เป็นทรัพย์ภายในเหมือนกันที่จะต้องให้แก่เขา เพราะคนไม่มีความรู้มันลำบาก เติบโตขึ้นจะไปทำมาหากินอย่างไร จะทำงานทำการที่ไหนใครเขาก็ไม่รับ เพราะไม่มีความรู้ในวิชาการ พ่อแม่ที่รักลูกจึงต้องให้ลูกทำการศึกษาเล่าเรียน หาวิชาความรู้ใส่ตัวไปตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อเป็นทรัพย์ติดตัว จะได้นำไปใช้ในการเมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ แต่ว่าเราอย่าเข้าใจว่า ให้ความรู้จะเป็นการเพียงพอ เช่น ส่งลูกไปโรงเรียนดี ๆ ให้เล่าเรียนวิชาการประเภทต่าง ๆ สอบไล่ได้ อะไรผ่านไปโดยลำดับ อย่างนี้อย่านึกว่าเพียงพอแล้ว เพราะว่าคนบางคนมีความรู้จริง แต่ว่าไม่มีคุณธรรมประจำจิตใจ ไม่มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีประจำใจ หรือพูดง่าย ๆ ว่าเป็นคนขาดหลักธรรมะประจำใจ อันนี้มักจะเอาตัวไม่รอดเหมือนกัน คนไทยเรารู้ดีในเรื่องอย่างนี้ จึงได้พูดเป็นคำพังเพยไว้ว่า “ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด”
“ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด” ก็หมายถึงคนที่มีความรู้มาก ๆ แต่ว่าขาดคุณธรรมเป็นเครื่องคุ้มครองจิตใจ อันนี้เราจะเห็นได้ง่าย ๆ คนที่ทำงานราชการ มีความรู้ในวิชาการนั้น ๆ เช่น รู้กฎหมาย รู้รัฐศาสตร์ รู้เรื่องอะไรอื่น ได้ไปทำงานตามหน้าที่ แต่ว่างานการไม่ค่อยจะเรียบร้อย ไม่เป็นไปตามตัวบทกฎหมาย ไม่ถูกต้องตามระเบียบแบบแผน มีการประพฤติผิดที่เรียกว่า Corruption ด้วยประการต่าง ๆ การที่ได้เป็นไปเช่นนั้นเพราะอะไร ก็เพราะว่าคนนั้นไม่มีคุณธรรมเป็นเครื่องค้ำจุนจิตใจ ไม่มีหลักธรรมะประจำใจก็มองเห็นแต่เรื่องวัตถุ มัวเมาแต่ในเรื่องสิ่งที่เป็นวัตถุตลอดเวลา แสวงหาแต่รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันเป็นเรื่องภายนอก แต่ไม่หาความสุขทางจิตใจ ไม่รู้ว่าความสุขทางจิตใจนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ต้องซื้อ ไม่ต้องหา ไม่ต้องลงทุนมากมายอะไร เราก็สามารถจะสร้างให้เกิดขึ้นในใจได้ แต่ว่าเรื่องของวัตถุนั้นต้องวิ่งเต้นขวนขวายแสวงหา ถ้าเราอยากจะมีรถยนต์กับเขาสักคันหนึ่ง ต้องมีเงินสองสามแสนจึงจะซื้อรถยนต์ได้ หรืออย่างน้อยก็แสนหนึ่ง หรือว่าสองแสน เมื่อคืนไปเทศน์นครปฐม เขาเอารถมารับก็ดูยังใหม่อยู่ ก็เลยถามว่ารถนี้ราคาเท่าไหร่ คนขับบอกว่าราคาสามแสน นี่รถนี้เพิ่งบรรทุกเดินทางไกลเป็นครั้งแรก เดี๋ยวหลวงพ่อต้องเจิมให้หน่อย เอาไว้ก่อนเรื่องเจิม ไปก่อนเถิด ไปกันจนถึงงานเจ้านาค เทศนาให้ฟังแล้ว เขาก็เอาแป้งมาให้ก้อนหนึ่ง บอกว่าให้หลวงพ่อเจิมให้หน่อย บอกว่าเจิมตรงนี้ไม่ได้ ที่นี่มันไม่เหมาะ ขึ้นรถไป ค่อย ๆ ข้างหน้าดีกว่า แล้วก็พามาจนถึงวัด พอมาถึงวัดก็จะบอกให้เจิมอีก บอกว่าไม่ต้องเจิมแล้ว เพราะคนขับ ๆ เรียบร้อย ถ้าขับอย่างนี้แล้วปลอดภัย ไม่ต้องเจิมก็ได้ ถึงเจิมมันก็ช่วยอะไรไม่ได้ แล้วแกก็ออกรถไป รถนั้นราคามันตั้งสามแสน จึงเอามาใช้ได้
เรื่องของวัตถุนี้มันแพง ต้องลงทุนกันอย่างมากมาย ถ้าเราจะมีรถยนต์ จะมีบ้าน จะมีตู้เย็น จะมีโทรทัศน์ แล้วอยากจะมีอะไร ๆ หลายอย่างที่วิทยาศาสตร์เขามีกันขึ้น ประดิษฐ์กันขึ้น ก็ต้องแสวงหากันเรื่อยไป ไม่จบไม่สิ้น เรื่องมันก็ต้องสิ้นเปลืองเงินทอง ทีนี้คนที่ขาดธรรมะประจำใจมักจะไม่รู้จักความพอดีในสิ่งที่ตนมีตนได้ ความพอดีมันไม่มี หรือความพอไม่มี เมื่อความพอไม่มี มันก็เป็นปัญหา สร้างความทุกข์ความเดือดร้อน แต่ถ้าเมื่อใดเรารู้สึกว่า เท่านี้ก็พอแล้ว เราเป็นเศรษฐีทันที ความเป็นเศรษฐีนั้นมันอยู่ที่ความพอ ไม่ใช่อยู่ที่มีเงินมาก การที่มีเงินมากแล้วเป็นเศรษฐีนั้น คนอื่นเขาให้เป็น คนอื่นเขาว่านั่นเศรษฐี นั่นเศรษฐีร้อยล้าน นั่นเศรษฐีนั้น เศรษฐีนี้ คนอื่นเขาว่ากันอย่างนั้น แต่ว่าใจของคนนั้นอาจจะไม่เป็นก็ได้ ถ้ายังไม่รู้จักพอในทรัพย์สมบัติที่ตนมีตนได้ ยังเร่าร้อนกระวนกระวายอยู่ตลอดเวลา ยังคิดแต่เรื่องที่จะหา บางทีหาในทางที่สุจริตไม่ได้ ก็เลยไปหาในทางที่ทุจริตคิดมิชอบ เช่น ไปค้าฝิ่นเถื่อน ค้าเฮโรอีน หรือว่าทำอะไรต่าง ๆ เบียดบังเอาผลประโยชน์ฉ้อราษฎร์บังหลวง อย่างนี้เป็นต้น ล้วนแต่เป็นเรื่องของคนที่ขาดคุณธรรม ไม่มีธรรมะเป็นหลักคุ้มครองจิตใจ คนพวกนี้ไม่ค่อยจะได้เข้าใกล้พระ ไม่ค่อยจะได้ฟังธรรม ไม่ได้สนทนากับผู้รู้ เหมือนกับว่าคนไม่เคยดูกระจก ไม่รู้ว่าหน้าตาของตัวเป็นอย่างไร ผมเผ้ามีสภาพอย่างไร ตัวเลอะเทอะที่ตรงไหนก็ไม่รู้ไม่เข้าใจ เลยไม่ได้ชำระชะล้าง ถ้าได้ดูกระจกเสียบ้างก็จะรู้สึกตัวขึ้น คำว่า “ดูกระจก” นั้นไม่ได้หมายความว่า เราไปยืนที่กระจกเงาแล้วก็เห็นหน้าตัวเอง แต่หมายความว่าได้เข้าใกล้ผู้รู้ ได้ฟังธรรมคำสอน ก็เหมือนกับว่าได้ดูกระจก เพราะการฟังธรรมนั้นทำให้เกิดความสำนึกบาป ทำให้เกิดความคิดขึ้นในใจว่าเรานี้เป็นผู้อยู่ห่างพระ เป็นผู้ห่างจากธรรมะ ความประพฤติปฏิบัติทั้งหลายในชีวิตประจำวันนั้น ไม่เข้าร่องเข้ารอย ไม่เข้าแบบแผนอะไรกับเขาเลยแม้แต่น้อย ก็เกิดความสำนึกขึ้นบ้าง นิด ๆ หน่อย ๆ แต่ถ้าได้พบกันบ่อย ๆ ได้ฟังธรรมบ่อย ๆ พูดกันบ่อย ๆ ความนึกความคิดจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ละเลิกจากสิ่งเหล่านั้น หันเข้าหาความงาม ความดีต่อไป
ทีนี้มนุษย์สังคมเรานี้มีข้อบกพร่องอยู่ประการหนึ่ง ตามที่อาตมาสังเกตทั่ว ๆ ไป แล้วเห็นว่าเป็นการบกพร่องอยู่ทั่ว ๆ ไปอย่างหนึ่ง คือว่าไม่มีใครค่อยเตือนกัน ไม่มีใครบอกกันในเรื่องอะไร ๆ ต่าง ๆ เมื่อเป็นเพื่อนกัน ก็ไม่ค่อยเตือนกัน คนอยู่ร่วมกันก็ไม่ค่อยตักเตือนแนะนำกัน เขามาคิดเสียว่าธุระไม่ใช่ ไม่ใช่เรื่องของเรา มันเป็นเรื่องของเขา การคิดอย่างนี้มีมากทั่ว ๆ ไป เลยไม่มีการตักเตือน ไม่มีการแนะนำ ทีนี้คนที่มีหน้าที่ตักเตือนคนอื่น เช่น ครูบาอาจารย์ สมัยก่อนนั้นครูบาอาจารย์นี้ท่านทำหน้าที่เรียกว่า เกือบร้อยเปอร์เซ็นก็ว่าได้ ตามไปเตือนถึงบ้าน เตือนตลอดเวลา เห็นอะไรไม่ดีก็เรียกมาเตือน มาแนะ มาสอน พวกเราที่เป็นผู้ใหญ่อายุห้าหกสิบแล้ว คงจะนึกได้ว่าครู ๆ ของเรานั้นท่านขยันอย่างไร คอยแนะนำพร่ำเตือนเราขนาดไหน รู้ว่าไปไหน รู้ว่าทำอะไร ไม่เหมาะไม่ควรแล้ว ครูก็ต้องเรียกมาเตือน บางทีไม่เตือนเปล่า หวดตะพดเสียด้วย ว่าอย่างนั้นเถิด นี่แสดงว่าเขามีความสำนึกในหน้าที่ ในการที่จะแนะนำพร่ำเตือนผู้น้อย หรือว่า (17.23......) ให้เกิดความสำนึกรู้สึกผิดชอบชั่วดี คนในสมัยนั้นจึงมีพื้นฐานทางจิตใจดีงาม ไม่ค่อยจะเหลวไหลกันเท่าใดนัก แต่ว่าในสมัยต่อมานั้น เรามักจะคิดว่า เขารู้แล้วบ้าง นึกว่าเขาโตแล้วบ้าง นึกว่านาน ๆ ไปมันก็รู้เอง การคิดอย่างนี้นี่ไม่ได้ มันเสียหายมากมายทีเดียว ที่นึกว่ารู้แล้วนั้นมันก็ไม่ได้ นึกว่ารู้เองนี่ก็ไม่ได้ นึกว่าเรื่องของมัน ช่างหัวมันก็ไม่ได้ เพราะว่าเขาจะไม่ได้นึกในเรื่องอย่างนั้น คนเราที่กำลังเพลินมันนึกอะไรไม่ได้หรอก เรียกขานมันก็ไม่ได้ยิน แต่เรากำลังเพลิดเพลิน เพลินนัก ที่เลี้ยงมันที่กุฏิมันชื่อไอ้โทนถ้ามันพบเพื่อนแล้วเรียกมัน มันก็ไม่ได้ยิน “ไอ้โทน” เดินเฉย “ไอ้โทน” เดินเฉย ไม่สนใจทั้งนั้น กำลังจะไปหาเพื่อน อาตมาก็นั่งนึกว่าไอ้เด็กหนุ่ม ๆ นี้มันก็เหมือนกับไอ้โทนนี่เอง มันคล้ายกับไอ้โทนที่อยู่บนกุฏิ เรียกมันไม่ได้ยิน แต่ถ้ามันยืนอยู่ตัวเดียว ไม่มีเพื่อนมีฝูงแล้ว ไม่ต้องเรียกหรอก พอเห็นหน้าเท่านั้นแหละวิ่งด๊อกแด๊ก ๆ กระดิกหางมาจะกัดมือกัดขาขึ้นมาทีเดียว แต่พอมันมีเพื่อนหมาแล้วมันไม่สนใจแล้ว เรียกมันก็ไม่ได้ยินแล้ว นี่มันเป็นอย่างนั้นแหละ นี่ก็อย่างนั้นแหละ ถ้าว่ามันพอได้เพื่อนได้ฝูงแล้ว มันก็เพลินไปกับเพื่อนฝูงมิตรสหาย ไม่นึกถึงพ่อแม่แล้ว ไม่นึกว่าพ่อแม่จะคอย จะเป็นห่วง จะกังวลด้วยประการใดประการหนึ่ง เขานึกไม่ได้ เขาไปตามเรื่องของเขา แล้วก็กลับมาตามเรื่องของเขา ไม่ได้นึกว่าข้างหลังจะลำบากอะไรอย่างนั้น สภาพมันเป็นอย่างนี้ ชีวิตของคนเป็นอย่างนั้น ที่ว่าไหลไปเรื่อยไป เหมือนกับกระแสน้ำ มีแต่เชี่ยวเป็นเกลียวไป ไหนเลยจะไหลกลับมาว่าอย่างนั้นแหละ คนเรามันก็อย่างนั้น
ทีนี้ก็มีคนประเภทหนึ่งคอยกั้นไว้ คอยปิดมันไว้ อย่าให้ไหลมากเกินไป คนประเภทนี้ก็คือคนที่มีหู มีตา มีปัญญาจะใช้ แล้วก็ใช้หูฟัง ใช้ตาดู ใช้ปัญญา สะกดชีวิตจิตใจของคนเหล่านั้น คอยเตือน คอยบอกซึ่งกันและกัน ให้เกิดความสำนึก รู้สึกผิดชอบชั่วดี การที่เราทำหน้าที่คอยบอกคอยเตือนเพื่อนผู้หลงผิด ผู้เข้าใจผิดนั่นแหละ คือการกระทำที่ชอบที่ควร เป็นการสงเคราะห์เพื่อนมนุษย์ที่ถูกต้อง เป็นการกระทำป้องกันอาชญากรรมไม่ให้เพิ่มมากขึ้นในสังคมมนุษย์ เพราะอาชญากรรมนั้นเกิดจากคนประเภทหลงผิด เข้าใจผิดในเรื่องชีวิต ในเรื่องปัญหาอะไร ๆ ต่าง ๆ แล้วไม่มีใครคอยเตือน ไม่มีใครคอยบอก เขาจึงได้กระทำเรื่องผิด เรื่องเสียหาย มากมายก่ายกองไป ถ้าเราหวังจะให้คนในหมู่ในคณะของเรามีความสุข ความสบายนั้น เราจะต้องหาวิธีที่จะให้คนเหล่านั้น ได้รับฟัง ได้พบเห็น สิ่งดีสิ่งงาม อันเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนจิตใจ ให้เกิดความคิดนึกในทางที่ถูกที่ชอบเสียบ้าง จะเป็นการช่วยให้ดีขึ้น
คนไทยเราในสมัยโบราณนั้น ท่านมักจะนิมนต์พระไปที่บ้านบ่อย ๆ นิมนต์หาเรื่องเรียกว่า ทำบุญ ถวายอาหารบ้าง ไปเทศน์ไปอะไรตามบ้านบ้าง เพราะว่าในบ้านคนมันมาก อยู่กันมาก ๆ จะทำอย่างอื่นมันก็ไม่ดี เลยนิมนต์พระไป แล้วก็ทำบุญ เวลาทำบุญคนเหล่านั้นก็จะได้พบพระ แล้วก็นิมนต์พระให้เทศน์ ให้คนเหล่านั้นได้สดับตรับฟังกัน ได้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ในข้อธรรมะอะไรต่าง ๆ คนในบ้านก็อยู่กันด้วยความสุข ความสงบ หรือบางทีก็หาเรื่องให้คนที่อยู่ในบ้านด้วยกันนั้นไหว้พระสวดมนต์ เช่น กลางคืนนี่มาไหว้พระกัน ให้มานั่งสวดมนต์กันทั้งหมด ความจริงสวดมนต์ก็ไม่รู้เรื่องอะไร สวดเป็นการท่องคาถาไป แต่ว่าเมื่อมานั่งสวดมนต์นี่จิตมันสงบ แล้วก็ได้คิดถึงพระ คิดถึงหลักคำสอนบ้างพอสมควร เกิดความยับยั้งชั่งใจ มีความละลาย มีความกลัวต่อบาป สังคมในบ้านนั้นก็อยู่กันด้วยความสุข ความสบาย ไม่มีปัญหา
เคยพบนายอำเภอแก่คนหนึ่ง แกเป็นคุณหลวง อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เดี๋ยวนี้ตายไปแล้ว ที่บ้านของท่านนั้นนิมนต์พระไปเทศน์ทุกเพลวันพระ มีคนฟังไม่กี่คน แต่ว่าออกจากราชการนานแล้ว หลาน ๆ ลูก ๆ ก็ออกไป ตัวไปอยู่เอง แต่ว่าเคยฟังมาเป็นประจำ ก็เลยนิมนต์ไปเทศน์ เช้าวันหนึ่งอาตมาไปเทศน์ที่บ้านท่าน เทศน์เสร็จแล้วก็นั่งคุยกัน บอกว่าธรรมาสน์ของคุณโยมตัวนี้ดูมันเก่าเต็มทีแล้ว ท่านบอกว่าธรรมาสน์ตัวนี้มันมีประวัติศาสตร์เก่าแก่ เป็นอำเภอไหนต้องเอาธรรมาสน์ตัวนี้ไปด้วย เป็นนายอำเภอเทิงเอาธรรมาสน์ไปด้วย เป็นนายอำเภอเชียงของก็พาธรรมาสน์ไปด้วย เป็นอำเภอแม่สายก็พาไปด้วย ไปไหนพาธรรมาสน์ไปด้วย เอาไปตั้งไว้ที่อำเภอเลย แล้วก็นิมนต์พระมาเทศน์ที่บนอำเภอทุกวันพระเลย ให้ข้าราชการบนอำเภอได้ฟังกัน แล้วท่านเล่าให้ฟังว่าไปที่อำเภอเทิงนี่ กว่าจะเอาพระออกโรงได้ ว่ากัน ๓ เดือน คือต้องไปฝึกพระให้เทศน์ตั้ง ๓ เดือน ไม่ใช่น้อย ๆ ไม่ได้เทศน์ปฏิภาณอะไร ให้อ่านหนังสือ แต่พระท่านก็อ่านไม่ค่อยคล่อง ต้องเอามาอ่านที่บ้าน เอามาอ่านทุกคืน ๆ ในกัณฑ์เทศน์ เทศน์อ่านหนังสือ ไม่ใช่ว่าเอามาเทศน์เหมือนอย่างอาตมาเทศน์นั้นหามิได้ แต่ต้องหัดถึง ๓ เดือน จึงจะเอาออกโรงกันที่อำเภอได้ ต่อมาก็เป็นตำแหน่งสูงขึ้น ก็ไม่ลืมเรื่องการฟังเทศน์ที่ได้ปฏิบัติมาตลอดมา ออกจากราชการแล้วธรรมาสน์ตัวนี้ถือว่าเป็นสมบัติส่วนตัว ก็เลยเก็บเอาไว้ที่บ้าน ก็ยังนิมนต์ (24.19...... เสียงขาดหายไป) หลานคนหนึ่งเป็นเจ้าของโรงเลื่อยอยู่ที่เชียงใหม่ วันนั้นอาตมาไปเชียงใหม่ เขานิมนต์ไปเทศน์ ไปเจอธรรมาสน์ตัวนั้นเข้า ธรรมาสน์ตัวนี้เหมือนกับเคยเห็น นี่มันเก่าเต็มที แต่ไม้สักอย่างดี เขาก็บอกว่านี่ของคุณตา นี่ยังอยู่หน้าวัดพระสิงห์ ท่านถึงแก่กรรมแล้ว เหลือแต่รับมรดกธรรมาสน์ตัวนี้มา แล้วก็ถามว่ารับมรดกธรรมสาน์แล้วรับธรรมะมาด้วยหรือเปล่า บอกว่าได้รับทุกอย่าง ธรรมะก็รับมา การเทศน์ก็รับมาด้วย ในโรงเลื่อยนั้นมีการฟังเทศน์ทุกเดือน เรียกว่าเดือนละครั้ง จะเอาทุกวันพระมันก็จะมากไป เลยเทศน์เดือนละครั้ง ก็นั่งเทศน์บนธรรมาสน์ตัวนั้น ตอนนั้นกรรมกรที่มาทำงานในโรงเลื่อยนั้นได้ฟังพระเทศน์ทุกเดือน จิตใจเขาก็เข้าถึงพระหน่อย มีอะไร ๆ เรียบร้อย ถามว่าสภาพคนงานเป็นอย่างไร เรียบร้อยดี อยู่กันอย่างพี่น้อง ไม่มีเรื่องวุ่นวาย เพราะชักชวนกันเข้าวัดบ่อย ๆ นั่นเอง ไม่ได้ไปที่วัดก็ยกวัดมาไว้ที่โรงเลื่อย นิมนต์พระมา อันนี้คืออุบายของคนโบราณเขา เขาฉลาด เขาจะสอนเองมันก็ลำบาก คนมันเห็นหน้าเห็นจมูกกันอยู่ทุกวัน พูดกันไม่รู้เรื่องไม่เข้าใจ หรือพูดไปก็หาว่าเป็นพูดเล่นไปเสีย เลยก็เอาพระมา ทีนี้เวลาพระมาเทศน์นี้ก็ผู้ที่เป็นใหญ่เขาก็มากระซิบเหมือนกัน กระซิบว่าให้เทศน์เรื่องนั้น ให้เทศน์เรื่องนี้ คนของผมมันบกพร่องเรื่องนั้น บกพร่องเรื่องนี้ พระท่านก็เทศน์ถูกตามเรื่อง เมื่อเทศน์ตามเรื่อง คนฟังเขาก็นึกว่าท่านองค์นี้มาเทศน์เหมือนกับที่เราเป็นอยู่ตลอดเวลา ท่านเทศน์ตรงเป้าหมายดี ความจริงเขาบอกแล้ว กระซิบให้แล้ว นี่เรียกว่าเป็นอุบายที่จะให้คนได้เข้าถึง
ทีนี้วิธีการอย่างนี้มันหายไป ไม่ปรากฎเหมือนเมื่อก่อน เมื่อก่อนนี้แม้ตามบ้าน ปักษ์ใต้นี่ โดยเฉพาะที่จังหวัดพัทลุง สงขลา มีบางบ้าน ไกลวัดหน่อย หรือไม่ไกลวัด แต่ว่าไปเทศน์ที่วัดด้วยคนไม่ได้ไปฟังทั่วถึง เขามีศาลากลางบ้าน ศาลากลางบ้านนี่เขานิมนต์พระมาเทศน์ มีกลองอยู่ใบหนึ่ง แล้วก็มีธรรมาสน์ พอถึงวันพระ เขาก็นิมตน์พระมาเลย เข้ามาเทศน์ที่นั่น เทศน์ทุกวันพระนอกพรรษา ถ้าเป็นในพรรษาแล้วจะเทศน์ทุกคืนเลยทีเดียว ชาวบ้านใกล้เรือนเคียง เด็กเล็กเด็กน้อยก็ได้มาฟังกัน ได้ยินเสียงพระบ่อย ๆ ทำให้สังคมในบ้านนั้นเขาอยู่กันด้วยความสุขความสบาย แต่เดี๋ยวนี้อาตมากลับไปเมื่อภัยแล้ง หายไปหมด ธรรมาสน์ตามศาลาหายไป อะไรก็หายไป ของดี ๆ ที่เขาเคยทำกันเมื่อก่อนหายไป เช่น หน้าบ้านมีหม้อน้ำ มีขันน้ำให้คนเดินทางกินน้ำ หายไป ถามว่าทำไมหายไป ไม่ได้ กินแล้วมันเอาขันไปเสียด้วย มันเป็นเสียอย่างนี้ เรียกว่าจิตใจคนมันเสื่อม กินแล้วมันเอาขันไปเสียด้วย เดี๋ยวเราก็จะเอาขัน เอากะลามะพร้าว ขูดให้มันเกลี้ยงเลย แล้วรมควันไฟให้มันดำดี จะเอามาวางไว้ ใส่ไม้ตะบวย ทำเป็นตะบวยวางไว้ ก็ว่ามันจะไม่หาย บอกว่าบางทีมันไม่เอาแต่ขัน มันเอาไม้ไปเสียด้วย เลยบอกว่าเลิกกันที ไม่ต้องมีต่อไป นี่คือความเสื่อมโทรมทางด้านจิตใจที่เกิดขึ้นในสังคมต่าง ๆ เพราะขาดการแนะนำพร่ำเตือนกันในเรื่องอย่างนี้ เขาอาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องไม่สำคัญไป ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ไม่เห็นว่าธรรมะเป็นเรื่องสำคัญนั่นแหละทำให้เกิดปัญหาวุ่นวายกันด้วยประการต่าง ๆ เช่น เราเห็นง่าย ๆ ว่าในสำนักงานเดียวกัน มีคนขี้เมานั่งอยู่ในสำนักงานคนหนึ่ง เพื่อนเห็นไม่ได้เมาด้วย แต่ไม่มีใครสักคนหนึ่งที่จะรักคนนั้น ที่จะสงสารคนนั้น แล้วก็พยามเข็น พยามตักเตือน เพื่อให้เขาหายจากความมึนเมา ปล่อยมันตามเรื่อง แล้วบางทีพูดชมมันเสียด้วยว่า “ไอ้นี่มันเก่ง มันดื่มได้มาก ๆ” ไอ้นั่นก็นึกว่ากูนี่มันเก่งแล้ว เพื่อนชม เลยเมาไม่เป็นประสาอยู่ตลอดเวลา เสียงานเสียการ เสียเรื่องที่จะเป็นประโยชน์แก่แผ่นดิน แก่ชาติ แก่บ้านเมือง อันนี้ก็เพราะว่าขาดการแนะนำพร่ำเตือน ไม่บอกให้เขารู้ว่าเป็นการบกพร่อง
เคยมีเจ้าเมืองคนหนึ่งเมื่อหลายปีมาแล้ว ท่านย้ายไปเป็นเจ้าเมือง พอเป็นเจ้าเมืองก็เรียกประชุมข้าราชการ ทีนี้การประชุมนั้นมีการเลี้ยงอาหารด้วย เลี้ยงแต่ข้าว แกงน้ำธรรมดาเท่านั้นแหละ ไม่มีอะไร สุราเมรัยท่านไม่เลี้ยง แต่พอเลี้ยงอาหารเสร็จแล้วท่านบอกว่า พวกท่านคงจะประหลาดใจในการกินเลี้ยงวันนี้ แปลว่าเลี้ยงกันก่อน ๆ นั้น มีสุราเมรัย เลือกวงในการเลี้ยงด้วย แต่วันนี้ข้าพเจ้าไม่เลี้ยงท่านทั้งหลาย ที่ไม่เลี้ยงของมึนเมาแก่ท่านนี้ เพราะข้าพเจ้าสงสารพวกท่าน มีความเอ็นดูกรุณา ก็รู้ว่าพวกเรานี้บางคนก็ติดสุราเป็นนิสัย ดื่มกันมากเหลือเกิน ไม่อยากให้เสียผู้เสียคน จึงไม่เลี้ยงของอย่างนั้น แล้วอีกประการหนึ่งพระพุทธศาสนาก็ห้าม ข้าพเจ้านี้เป็นคนรักธรรมะ รักศาสนา ดังนั้นจึงเลี้ยงไม่มีของมึนเมา แล้วก็ขอประกาศตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าราชการผู้ใดชอบดื่มสุรามึนเมาจะไม่ได้ขึ้นเงินเดือน สำทับไว้เสียเลยในตอนสุดท้าย ปรากฎว่าเรียบร้อย ในยุคนั้นเรียบร้อย ในจังหวัดนั้น พวกขี้เมาก็เมาน้อยลงไป แล้วนาน ๆ ก็สร่างเมาไป แล้วปกติวันพระวันอาทิตย์นี้ท่านมักจะชวนข้าราชการไปวัดกัน วันนี้ไปวัดนี้ พรุ่งนี้ไปวัดนั้น ตามวัดต่าง ๆ การไปอย่างนั้นเป็นอุบายอันประเสริฐในการที่จะพบปะประชาชน เพราะว่าคนเขามาวัดกัน เจ้าเมืองไปวัด สรรพากร สรรพสามิต ก็เลยไปกันหมด ก็ได้ไปคุยกับชาวบ้าน เป็นกันเอง เข้าถึงคนโดยไม่ต้องไปสั่ง เป็นความคิดของท่านผู้นั้นเอง เพราะท่านเป็นนักปกครองชั้นดีคนหนึ่งเหมือนกัน แล้วก็ไปคุยกับชาวบ้าน เวลาไปวัดนี้ไม่ไปนั่งพิเศษกับใคร เขาจัดเก้าอี้ให้นั่งเป็นพิเศษ ท่านไม่นั่ง แอบไปนั่งใกล้ชาวบ้าน ไม่ได้นั่งเก้าอี้อย่างนี้ เขานั่งกับพื้นปูเสื่อ ท่านก็ไปนั่งคุยกับเขาหล่านั้น พอถึงเวลาจะทำกิจศาสนา ไหว้พระสวดมนต์ ท่านเป็นคนนำเสียเอง อาราธนาศีลเอง อาราธนาธรรมเอง ทำเองทุกอย่าง ชาวบ้านกระซิบกระซาบกันเป็นการใหญ่ “โอ้ เจ้าเมืองนี้เก่งโว้ย อาราธนาศีลได้” เจ้าเมืองที่อาราธนาศีลได้นั้นมันมีไม่กี่คนในประเทศไทย โยมรู้หรือเปล่าว่ามีไม่กี่คนหรอก ท่านผู้นั้นอาราธนาศีลได้ ทำอะไร ๆ ได้เรียบร้อย แสดงว่าเป็นคนสนใจธรรมะ แล้วปกติที่บ้านท่านนี้สวดมนต์ทุกวัน เช้า ๆ ไปบิณฑบาตได้ยินเสียงสวดมนต์ทุกที สวดมนต์แปลเสียด้วย สวดมนต์แปลแบบศิษย์วัด สมัยนั้นเขาพิมพ์หนังสือแบบสวดมนต์ศิษย์วัดแจก ท่านก็สวดได้ แล้วเวลาไปสวดงานตรวจการนี่ ต้องนำชาวบ้านสวดมนต์ สวดมนต์เสร็จแล้วค่อยคุยกัน เรื่องสารทุกข์สุกดิบ เรื่องอะไร ๆ ต่าง ๆ นั่นเป็นคนโบราณเขา เขาทำกันอย่างนั้น คนสมัยใหม่เขาไม่ทำอย่างนั้นแล้ว ไปถึงก็ต้องกินเลี้ยงกันอะไรกัน เป็นข้าราชการไปตามตรวจน้ำตรวจการก็กินเลี้ยง บางทีชาวบ้านต้องเอาแม่ไก่ที่กำลังออกไข่อยู่มาแกงให้เจ้านายกินจะได้จำไป แกแกงให้กินด้วยความเต็มใจนั่นแหละ แต่ทีหลังก็บ่นว่า “นายมาทีไรกูหมดไก่ทุกที” มันก็เสียหายอย่างนี้ ถ้าเราไปถึงก็ห้ามไว้เสียก่อนว่าอย่าเลย ไม่ต้องต้อนรับอะไรหรอก กินกันตามมีตามเกิด มีอะไรก็กินกันอย่างนั้น ไม่ต้องพิถีพิถัน มันก็ดีไปอย่างหนึ่ง ผู้ที่มีธรรมะก็ย่อมคิดได้ แต่คนขาดธรรมะ คือขาดความเห็นอกเห็นใจ ขาดความสำนึกผิดชอบชั่วดี ในเรื่องอะไร ๆ ต่าง ๆ แล้วย่อมนึกไม่ได้ คิดไม่ค่อยจะได้ในเรื่องอะไรต่าง ๆ เพราะว่าไม่ได้คิดนั่นเอง ไม่ได้มองอะไรอย่างจริงจัง จริงใจ แล้วก็เลยไม่เกิดปัญญา จึงไม่สามารถจะทำอะไรให้มันดีขึ้น ให้ก้าวหน้าขึ้น ก็เป็นจุดบกพร่อง จุดเสียหายที่คนจะโจมตีได้ง่ายอยู่บ้างเหมือนกันในเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นเราที่เป็นหัวหน้าคนนี้ก็ควรจะได้นัดให้มาพบปะกับพระสงฆ์องค์เจ้าเสียบ้าง คือให้ฟังธรรมเสียบ้าง คนอยู่กันมาก ๆ ได้ฟังก็บางทีจะได้เกิดความนึกความคิด แล้วก็ได้ชื่อว่าร่วมมือร่วมใจกันเผยแผ่ธรรมะแก่ประชาชน สมัยนี้คนกำลังขาดสิ่งเหล่านี้ ถ้าเราได้ช่วยกันทุกวิถีทางแล้ว จะเป็นเหตุให้คนได้เข้าใจขึ้น
ทีนี้ในหมู่คนเหล่านั้น บางคนก็มีความสนใจที่จะรับฟัง แต่มันไม่สะดวก ไม่รู้จะไปฟังที่ไหนบ้าง ไม่รู้จักมักคุ้นกับพระสงฆ์องค์เจ้าบ้าง หรือบางทีงานรัดตัว ไม่สามารถจะไปได้บ้าง เราก็ให้ความสะดวกแก่เขา เอาพระไปพูดไปสอน เพื่อให้เขาได้เกิดความรู้ความเข้าใจ งานใหญ่ๆ นี้ถ้าว่าเอาพระไปพูดบ้างมันก็ดี แต่ว่านั่นแหละบางทีเขาเสียเวลาเขา เวลาที่เสียไปนั้นนึกว่าจะไม่ได้ผลกัน ความจริงจะได้ผลมาก เพราะว่าคนมันดีแล้วงานมันก็ดี เมื่อคนไม่ดีงานจะดีได้อย่างไร แต่นี้ถ้าคนมันดีงานมันก็ดีขึ้น เราลงทุนเพื่อสร้างจิตใจคนเพื่อให้ดี เดือน ๆ หนึ่งสักชั่วโมงอย่างนี้ก็ไม่ขาดทุนอะไร แต่ว่าจิตใจคนเขาดีขึ้น เคารพหน้าที่ เคารพต่อกัน มีความเป็นระเบียบ ไม่เห็นแก่ตัวอะไรอย่างนี้มันก็ดีขึ้นด้วยกันทุกฝ่าย แต่เพราะเหตุว่าคนเหล่านั้นยังไม่เข้าใจในเรื่องธรรมะเหมือนกัน เลยไม่เห็นประโยชน์ของธรรมะ แล้วก็ไม่ช่วยกันประกาศให้คนทั้งหลายได้รู้ได้เข้าใจ
สมัยนี้อาตมาก็อยากแนะนำญาติโยมทั้งหลายว่า ต้องช่วยกันหน่อยในเรื่องอย่างนี้ เพื่อนฝูงมิตรสหายของเราที่เราคุ้นเคยกัน เหมือนกับว่าเราได้กินอะไรที่เอร็ดอร่อย ได้กินผลไม้ที่ดี อาหารประเภทดี มักจะบอกกันภัตตาคารนั้นวิเศษเลย ไก่ย่างอย่างดี กุ้งทะเลอะไร ๆ ต่ออะไรว่าเข้าไปแล้ว จานหนึ่งมันก็แพงอยู่ แต่มันมีข่าวบอกกัน ชักชวนเพื่อนฝูงไปกินกัน กินกันแล้วก็สิ้นเปลืองเงินทองไปตั้งเยอะแยะ ก็ไม่ได้อะไรเท่าไหร่ ได้แต่กำไรทางเนื้อทางหนัง ซึ่งมันก็เท่านั้นแหละ สมมติไม่ได้ไปกินที่นั้นมันก็พออยู่ได้ ไม่เห็นลำบากเดือดร้อนอะไร แต่ว่าเรื่องที่มีคุณมีค่า เป็นประโยชน์แก่ชีวิตแก่จิตวิญญาณนั้น เราไม่ค่อยจะชวนกัน อันนี้จึงเสียหาย จึงอยากจะแนะนำว่ามาชักจูงชักชวนกัน นี่ก็ใกล้ฤดูกาลเข้าพรรษาแล้ว ไม่กี่วันแล้ว แต่เราก็จะถึงฤดูกาลเข้าพรรษา มีเพื่อนฝูงมิตรสหายก็ควรชวนกันมาฟังเทศน์ ให้ได้มาชิมเสียบ้าง ให้มาฟังที่วัดบ้าง เดี๋ยวบอกว่าเวลานั้นวิทยุมี เวลานั้นโทรทัศน์มี ให้เขาได้เปิดฟังที่บ้าน เมื่อไม่ได้มาก็ได้เปิดฟัง ฟังไป ๆ ก็จะเกิดความสำนึกในหน้าที่ ในชีวิต ในการงานขึ้น เราผู้ที่บอกทางแก่เขานั้นได้กุศลเหลือเกิน คือได้คนดีเพิ่มขึ้นในโลกอีกคนหนึ่ง เป็นหน้าที่ที่เราจะต้องช่วยกันในสมัยนี้ ช่วยกันสร้างคนดีขึ้นในสังคม เพราะคนดีเริ่มจะร่อยหรอลงไปทุกวันทุกเวลา ความเสื่อมเตรียมจะครอบงำประเทศชาติบ้านเมือง แล้วเราจะเดือดร้อน ถ้ามีคนชั่วมากเราเดือดร้อน
สมมติว่าในตรอกที่เราอยู่มีคนชั่วอยู่สักบ้านหนึ่งไม่มีการปิดล็อค เพราะเราหวาดระแวง เรากลัว ว่าคนเหล่านั้นจะมางัดบ้านของเรา จะมาจี้มาปล้นของเรา สมัยนี้มันไม่เอาจ่อลับหลังแล้ว มันเอาต่อหน้ากันเลย เห็นหน้าเห็นตาก็ไม่เป็นไรจี้เอาไปเลย พลาดท่ามันก็ยิงทิ้งไปเสียเลย เราเจ้าบ้านก็นอนแอ้งแม๊งเข้าไปเท่านั้นแหละ มันเสียหายเพราะมีคนชั่วอยู่ จึงเป็นหน้าที่ของเราทุกคน ไม่ว่าอยู่ในตำแหน่งฐานะหน้าที่อะไรที่จะต้องหาทางช่วยกันชักจูงโน้มน้าวจิตใจคนให้เข้าหาความงามความดี มีอยู่บางแห่ง คนบางคนมีอย่างนั้น คือเป็นคนที่ชอบช่วยเหลือคนอื่นในทางจิตใจ มักจะไปพูดธรรมะให้เขาฟัง ไปแนะนำชักจูง ถ้าไปเจอคนหนุ่มแล้วก็ต้องนั่งคุยด้วย พูดจาโน้มน้าวจิตใจ แนะนำพร่ำเตือนให้เกิดความสำนึกในชีวิต ในหน้าที่ ในการงาน เป็นคนชอบทำอย่างนั้น ก็ปรากฎว่าไม่มีใครเกลียดชัง มีคนรักใคร่พอใจ เพราะเป็นคนที่หวังดี ใจเมตตากรุณา ไปทำอย่างนั้นด้วยน้ำใจอันงาม เพื่อนฝูงมิตรสหายก็ไม่ใช่จะเกลียดจะชัง เห็นได้ว่าเวลาตายนี้คนไปกันมาก แล้วบ่นว่าเสียดาย ฆ้องแตกเสียแล้วเขาว่าอย่างนั้น ฆ้องแตกเสียแล้ว ตัวแกเป็นฆ้องก็จะตีอยู่ตลอดเวลา ตีฆ้องร้องเปล่า ให้นึกครึ้ม ให้เข้าหาพระ ให้ประพฤติธรรม อย่าเชียว อย่าทำชั่วกันเลย บ้านเมืองจะเดือดร้อนวุ่นวาย คนชอบแก เพราะแกทำอย่างนั้น คนอย่างนี้ค่อยลดน้อยลงไปเหมือนกัน หายากเข้าทุกวันทุกเวลา เพราะฉะนั้นจึงควรจะได้ช่วยกันแก้ไขในเรื่องนื้ ถ้าเราจะสามารถกระทำได้ ต้องทำ ทำกับคนอยู่ใกล้ก่อน แล้วค่อยทำกับคนที่ร่วมงานกัน ทำกับคนที่เรารู้จักมักคุ้น พบใครสนทนากับใครก็พยามคุยเข้าหาหลักเกณฑ์ในด้านดีด้านงาม คือว่าการคุยกับใครนี้ควรจะถือหลักว่า พูดคุยกันให้เขาเกิดความพอใจในธรรมะ เช่น พูดชักจูงให้เสียสละ พูดชักจูงให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย พูดชักจูงให้มีความรักความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ ให้มีความสามัคคีกันในหมู่ในคณะ จะโดยวิธีใด จะอย่างไรก็ตาม หาวิธีเล่านิทานก็ได้ หรือพูดตรงไปตรงมาแนะนำพร่ำเตือนเขา ให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องอย่างนี้ อันนี้แหละจะเป็นเครื่องช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งดีสิ่งงาม การกระทำครั้งแรกอาจจะไม่เป็นที่พอใจก็ได้ เพราะคนบางคนนั้นไม่ชอบให้ใครเตือน แต่ว่าตัวเองก็ไม่เตือนตัวเอง ความจริงคนเราถ้าไม่ชอบให้คนอื่นเตือนนั้น เราต้องหมั่นเตือนตัวเองเสียก่อน ถ้าเราเตือนตัวเองแล้วไม่มีใครมาเตือนเรา เพราะเราไม่มีข้อบกพร่องที่จะให้ใครเขามองเห็นที่เขาจะมาตักเตือนเราต่อไป แต่โดยมากไม่ได้คิดอย่างนั้น ถ้าใครมาเตือนแล้วมองตาเขียว หาว่าอย่างนู้น หาว่าอย่างนี้ เคยได้นึกไหมว่าคนที่มาเตือนเรานั้นเขามีน้ำใจดี ใจงาม เขารักเรา เขาสงสารเรา เขาเห็นว่าเรานี้มันตกบ่อ แล้วเขาก็ดึงเราขึ้นมาให้พ้นจากความเดือดร้อนวุ่นวาย เพราะน้ำเน่าในบ่อนั้น อันนี้มันก็เป็นเรื่องดีประการหนึ่ง
เมื่อวานนี้อ่านหนังสือพิมพ์ พบภาพ ภาพเด็กกอดอยู่ กอดด้วยความรู้สึกสบายใจ แล้วก็มีข้อเขียนว่าภาพนี้เขาตัดส่งมาให้ แต่เด็กคนนี้มันตกบ่อ แล้วก็ไม่มีใครเห็น ต๋อมแต๋ม ๆ อยู่ในบ่อ สุนัขตัวนั้นมันเห็นเข้า มันกระโดดลงไปในบ่อเลย เด็กคนนั้นกระโดดเกาะหลังสุนัขไว้ไม่ตาย ไม่อันตราย ทีหลังคนมาเห็นก็เอาทั้งเด็กทั้งสุนัขขึ้นมา แล้วเด็กคนนั้นก็รักสุนัขตัวนั้นแล้วเหลือเกิน ไปไหนก็พาไปด้วย เลี้ยงดูอย่างดี เพราะเข้าใจว่าเป็นผู้มาช่วยชุบชีวิตนั่นเอง สุนัขตัวนั้นมันช่วยชุบชีวิตเด็กคนนั้น เขาจึงฝึกสอนไว้ให้ช่วยคนตกน้ำ ให้ช่วยคนที่ตกในอันตราย ถ้าเลี้ยงสุนัขเมื่อได้รับการสอนแล้ว มันก็ทำตามที่เขาสอน สัตว์เดรัจฉานนี้สอนง่าย มันตรงไปตรงมา มนุษย์นี้แหละสอนยาก มันพลิกแพลงลูกไม้มันเยอะแยะ แต่สัตว์นั้นสอนง่ายหัดง่าย ไปคุยกับพวกหัดสุนัข ไม่รู้หัดง่ายไหม สุนัขง่ายไม่ลำบาก หัดทหารเสียอีกยาก เกเรเกตุงร้อยแปด สุนัขไม่เกเร บอกว่าทำอะไรมันก็ทำ บอกแล้วมันก็ทำตามสั่งทั้งนั้น ให้เฝ้าของ วางของไว้แล้วบอกเฝ้าคำเดียวเท่านั้น ไม่ต้องพูดมาก มันไม่ไปไหนเลย มันไม่ไปนั่งร้านกาแฟ ไม่ไปดูไอ้นั่น ไม่ไปดูไอ้นี่ มันนั่งเฝ้าของเรียบร้อย ใครที่ไม่ใช่เจ้าของมาเอาไม่ได้ พอมาหยิบพวกงับเลยทีเดียว ไม่กล้าเข้า เพียงเดินเฉียดแล้วมันทำแฮ่เข้าไปแล้ว ตัวมันใหญ่เสียด้วย นัยตามันดุ เลยไม่กล้าแหยมเข้าไป มันเฝ้าด้วยความเรียบร้อย คนนั้นบางทีให้เฝ้ามันไม่เฝ้า มันนอนเสียบ้าง มันไปเที่ยวเสียบ้าง ไปคุยกับใครเสียบ้าง มันเก สัตว์เดรัจฉานนี้มันไม่เก ในหนังสือธรรมะเขาจึงพูดว่าธรรมชาติของสัตว์เดรัจฉานนั้นตรงไปตรงมา แต่ว่าคนนั้นไม่มีสภาพเช่นนั้น อันนี้แสดงว่าสัตว์เดรัจฉานยังมีอะไรดีกว่าคนอยู่บ้างเหมือนกัน สำหรับบางคนทั่ว ๆ ไปเท่านั้น คนบางคนนั้น สัตว์เดรัจฉานจะมีภาษีกว่า เพราะว่ามันมีความคิดนึกที่จดจำมาได้ มันไม่ได้ใช้ปัญญาอะไร มันไม่ได้คิดสงสารเด็กคนนั้นอะไร แต่ว่าเขาหัดไว้อย่างนั้น ว่าเห็นสภาพเช่นนั้นต้องช่วย มันก็ไปช่วย อันนี้เป็นเรื่องสอนใจได้
คนเราก็ควรจะมีความคิดได้อย่างนั้น ตื่นขึ้นเช้านี่เราควรจะคิดถามตัวเอง ว่าวันนี้เรามีโอกาสจะช่วยใครได้บ้าง มีโอกาสที่จะทำอะไร ๆ ที่จะเป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ได้บ้างไหม และถ้ามีโอกาสอะไรเกิดขึ้น อย่าละเลยต่อหน้าโอกาสนั้น ให้ฉวยเอาโอกาสนั้น เหตุการณ์นั้น ทำทันที ทำอย่างนี้บ่อย ๆ ก็เป็นนิสัย คนโบราณเขาจึงสอนว่า เดินไปตามถนนหนทาง เห็นหนามเห็นอะไรมันกีดขวางทาง หยิบทิ้ง ๆ ไปเถิด แล้วต่อไปกินปลาก้างจะไม่ค้างคอ เขาว่าอย่างนั้น หยิบหนามทิ้งบ่อย ๆ ก้างจะไม่ค้างคอ เคยมีอยู่คนหนึ่ง แกไม่ตายเพราะเขายิง เพราะนิสัยนี้เอง คือ แกไปเจออะไรแกก้มลงหยิบ ไปเจออะไรแกก้มลงหยิบอย่างนั้นแหละ แต่แล้วมีคนดักยิงแกอยู่กลางทาง ข้างทาง ไปถึงตรงนั้นบังเอิญมันมีวัตถุอะไรตกอยู่ตรงนั้น แกมันนิสัยก็อย่างนั้น พอไปถึงตรงนั้น (45.45......) ตกใจ ก้มค่อย ๆ หยิบ ช่วงมันระยะพอดีกระสุนรอดพ้นไป แกกระโดดพ้นไปเลย มันยืนไม่ทัน เลยแกรอดตาย แล้วที่รอดตายก็เพราะว่านิสัยชอบเอื้อเฟื้อ ชอบทำอะไร ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นนั้นเอง คนอย่างนี้ก็ปลอดภัยได้
สมัยก่อนนี้เป็นเด็กนักเรียนลูกเสือ ครูก็ให้รายงานทุกวัน ไปถึงโรงเรียนต้องรายงานว่าวันนี้ทำอะไร เก็บเศษแล้วบ้าง เก็บหนามไผ่บ้าง เก็บขยะมูลฝอยบ้าง ช่วยถือของให้คนแก่บ้าง แปลว่าทุกคนต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ต้องไปรายงาน ครูก็อุตส่าห์จดสมุดเล่มใหญ่เลย จดความดีของเด็ก เราก็ต้องหาเรื่องให้ครูจดทุกวัน ต้องหยุดนั่น ต้องหยุดนี่อะไรเรื่อยไป เขาฝึกอย่างนั้น เพื่อเอาเป็นนิสัย ทำอะไร ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่น อันนี้เราควรคิดเหมือนกัน เราเป็นผู้ใหญ่ เป็นวัยไหนก็ตาม เป็นเด็กหนุ่ม เด็กน้อย เป็นอะไรก็ตาม เพาะนิสัยอย่างนี้ไว้ เพาะนิสัยใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น เรียกว่ารับใช้ รับใช้ผู้อื่น คนเราถ้ารับใช้คนอื่นเป็นแล้วก็ใช้คนอื่นเป็นเหมือนกัน คนที่จะใช้คนนี่ต้องรับใช้คนอื่นก่อน ถ้ารับใช้คนอื่นก่อนแล้วจะเป็นคนใช้คนเป็น เพราะมันมีประสบการณ์ มีอะไรผ่านมาในชีวิต เมื่อเรามาเติบโตขึ้น ก็มีทำอะไรได้ เพราะฉะนั้นวิธีการทำราชการสมัยก่อนนี้ เขาจึงให้ไปเป็นนายเวรของเสนาบดี เดี๋ยวก็เป็นนายเวรมหาดเล็กอะไรอย่างนี้ นั่นคือโรงเรียนฝึกคนเป็นนายเวร เสนาบดี นายเวรมหาดเล็กโรงเรียนฝึกคน เพราะว่าจะต้องถูกใช้ วิ่งไปนั่น วิ่งไปนี่ ใช้ตลอดเวลา จะได้รู้จักมักจี่กับคนนั้นกับคนนี้ รู้จักงาน รู้จักการ ยิ่งเป็นนายเวรมหาดเล็กได้แล้ว ใช้ทุกอย่างตั้งแต่ทำเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ จนกระทั่งเรื่องใหญ่ ๆ ทำให้แก่พระองค์พระเจ้าอยู่หัว แล้วก็ได้เข้าใกล้ชิด อยู่ใกล้ชิดในหลวงนี่ไม่ใช่ว่าจะขาดทุนอะไร คนที่เคยอยู่ใกล้ชิดในหลวงรัชกาลที่ ๖ เคยเล่าให้ฟัง บอกว่าเหมือนกับเข้ามหาวิทยาลัย อยู่กับในหลวงนี้เหมือนเข้ามหาวิทยาลัย เพราะว่าท่านสอนทุกวัน สอนทุกเวลา ทำอะไรนี่ถ้าทำไม่ถูกท่านก็เรียกมาสอนมาเตือน นึกว่าพระนิสัยของท่านเหมือนกับพ่อที่รักลูกทีเดียว น้ำพระทัยดี สอนมหาดเล็กอย่างนั้น อย่างนี้ แนะนำทุกอย่าง จัดโต๊ะอาหารไม่เป็น ท่านมาเห็น เรียกมาคอยจัดอย่างนี้ เรียกให้มาสอนอะไรตรงนั้น ไม่ได้ดุ แต่คอยสอน คอยเตือน คอยบอกไม่เคยดุเลย ไม่ ๆ กริ้วอะไรใครเลย ถ้าจะกริ้วบ้างก็มักจะนั่งนิ่ง ๆ เฉย ๆ เท่านี้แหละ ถ้านั่งเฉยล่ะก็กริ้วแล้ว แต่ไม่แสดง ไม่แสดงพระพักตร์บึ้งตึง หรือว่าพูดคำหยาบอะไรแม้แต่น้อย (49.01......) จะนั่งเฉย ถ้านั่งเฉยพวกรู้แล้ว ๆ ในหลวงโกรธแล้วอย่างนี้ โกรธประเดี๋ยวเดียวแหละ ประเดี๋ยวเดียวก็มีพระพักตร์ยิ้มแย้ม แล้วก็คุยแนะนำตักเตือนไป ถ้าจะดุมักจะพูดแต่เพียงคำว่า “ซุ้มซ่าม เดี๋ยวก็หาว่าพระเจ้าแผ่นดินเลี้ยงคนไม่เป็น” เท่านั้นเองแหละ ไม่พูดมาก ไม่ดุ ไม่ว่ารุนแรง พูดแต่เพียงว่า “ซุ้มซ่าม เดี๋ยวก็หาว่าพระเจ้าแผ่นดินเลี้ยงคนไม่เป็น เสียหาย” พูดเท่านั้นเอง นี่เรียกว่าดุจริงหรือ พูดขนาดนั้น ดุเต็มทีแล้ว ไม่ดุอะไรเป็นคำอย่างนั้น แล้วก็สอนแนะนำ ทุกเวลาเย็นนี่ต้องมานั่งประชุมพร้อมกัน แล้วท่านก็จะคุยอะไรให้ฟัง คุยเชิงสอนทั้งนั้น ไม่ได้คุยเฉย ๆ คุยเชิงสอนแนะนำพร่ำเตือน เอาเรื่องเมืองนอกเมืองนามาคุยให้ฟัง เอาประวัติศาสตร์เก่าแก่ตั้งแต่ในสมัยนั้นสมัยนี้มาเล่าให้ฟัง ให้ความรู้ทั้งนั้น ดังนั้นคนอยู่ใกล้นี่เรียกว่า ได้ความรู้ ได้ความเข้าใจในเรื่องอะไรต่าง ๆ แล้วพระองค์ก็รู้ว่านิสัยมันเป็นอย่างไร คนไหนมีนิสัยอย่างไร พออยู่นาน ๆ แล้วส่งออกไป ให้ไปเป็นเลขา จากเทศาบ้าง เป็นเลขาเจ้าเมืองบ้าง ส่งไปให้ไปทำงานต่อไป ส่งไปที่ไหนแล้วไม่ไช่ตัดหางปล่อย ท่านถามถึงบ่อย ๆ ถ้าคนนั้นมาก็ถามว่า “ไอ้นั่นเป็นอย่างไร” เรียกชื่อ “ไอ้” เท่านั้นแหละ “ไอ้นั่น” “ไอ้นี่” เป็นอย่างไร ใช้ได้ไหม ถามงานมันเป็นอย่างไร ท่านก็รับรู้ ถ้าคนไหนได้รับคำตอบว่าไม่ไหว เรียกคืนทันที ไม่ให้อยู่ต่อไป “ไอ้นี่ใช้ไม่ได้” เรียกคืนมา แล้วโดยมากไม่ขึ้นเสียอย่างนั้น ปีกหักไปเลย แต่ว่ามันใช้ไม่ได้แล้ว แต่ถ้าไปอยู่กับใครเขาบอกว่า “โอ้ว งานดี นิสัยเรียบร้อย” ก้าวหน้า จนกระทั่งได้เป็นเจ้าเมือง เป็นเทศา เป็นอะไรต่อไป เพราะเป็นคนใช้ได้ นี่ท่านหัดคนกันอย่างนั้น เอามาใช้ใกล้ชิด เรียนรู้นิสัย สอนให้ทำงานทำการ ก็ได้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร อย่างนี้คือวิธีการของคนโบราณ เขาฝึกคนมาอย่างนั้น ฝึกให้เป็นผู้น้อยก่อน แล้วก็ให้เป็นผู้ใหญ่ต่อไป
เรามีลูกมีเต้าความจริงก็ควรจะอย่างนั้น มันเรียนจบการศึกษาแล้ว ควรจะส่งไปให้อยู่กับใคร ๆ ให้เขาดุ เขาว่า ให้เขาใช้งาน ใช้การ เท่ากับไปฝึกงานนั่นแหละ บางทีมันเรียนจบมันจะไปรู้อะไร รู้แล้ว ตามเท่าที่เรียนมา แต่ประสบการณ์ยังไม่มีอะไร ไปทำอะไรก็ไม่ได้ เหมือนนายควงแกว่า “เรื่องเรียนได้ปริญญาวิศวะมาจากฝรั่งเศส มาจับกล้องสำรวจทางก็ไม่ถูกไม่ต้อง ต้องไปถามไอ้พวกนั้น” นี่เพราะไม่ได้รู้ในเรื่องอย่างนั้น ต้องมาเรียนมาศึกษา คนเราถ้ามีลูกมีเต้า ไปอยู่ด้วยกัน แล้วกำชับกำชาเขาหน่อย บอกว่าช่วยใช้ให้มันทำงาน ดุว่าให้เต็มที่ อย่าให้นึกว่าเป็นลูกของตัวก็แล้วกัน แล้วมันจะเรียนรู้ว่าอยู่กับคนอื่นไม่เหมือนกับพ่อแม่ อยู่กับคนอื่นนี่เขาดุ เขาเตือน เขาว่า เราจะต้องระมัดระวังอะไรให้มันดีขึ้น เด็กบางคนอยู่กับพ่อแม่ ไปไม่รอด แต่พอให้คนอื่นเลี้ยง มันไปได้ เพราะว่าคนอื่นเลี้ยง เขาเลี้ยงไม่เหมือนพ่อแม่เลี้ยง พ่อแม่เลี้ยงนี่มันเสียอยู่อย่างเดียวโยม เสียตรงที่ว่า รักเหลือเกิน กลัวจะบอบช้ำ ต้องเก็บไว้ในร่ม คล้าย ๆ กับต้นไม้ในร่ม เพาะไว้ในร่ม สายแล้วพอปลูกไว้กลางแจ้งแล้วตายเลย มันอ่อนแอ มันไม่ถูกแดดเสียเลย นี่มันอ่อนแอ ลูกเราบางทีก็อย่างนั้น เลี้ยงอย่างแบบทะนุถนอม บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น พอโตขึ้นมันอ่อนแอ ทำอะไรไม่ได้ อย่างนี้มันก็เสียหาย เกิดเป็นปัญหาขึ้นด้วยประการต่าง ๆ สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนในกาลต่อไปข้างหน้า ดังนั้นจึงต้องฝึกในวิธีนั้น มีบางคนต้องฝึกอย่างนั้นเหมือนกัน ส่งไปอยู่ในสำนัก ตนเองให้เขาใช้สักพักก่อน แล้วค่อยเอามาทำงานกับเราต่อไป
เรื่องนี้ก็เป็นวิธีการอันหนึ่ง เราอยู่ด้วยกันนี้ต้องมีน้ำใจต่อกัน เพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียง คุยเรื่องการเรื่องงาน พบปะกัน ยิ้มแย้มแจ่มใสกัน หวังดีต่อกัน เพื่อให้สังคมนี้อยู่ด้วยความสุข ความสงบ แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยปัจจุบันนี้ ขอให้เราช่วยกันเผยแผ่ความงามความดีให้แก่กันและกัน แสดงออกซึ่งน้ำใจอันงามต่อกันและกัน เพราะอะไร ภัยมันมีรอบด้าน ญาติโยมก็รู้กันอยู่แล้ว สิ่งที่จะช่วยแก้ไขอันตรายได้ก็คือธรรมะเท่านั้น ธรรมะอย่างเดียวช่วยได้ ถ้าเราช่วยกันประพฤติธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าให้มากขึ้นยิ่งขึ้นในชีวิตประจำวันแล้ว เราจะเอาตัวรอด ชีวิตจะปลอดภัยด้วยประการทั้งปวง อันนี้เป็นข้อนำมาพูดเสนอแนะแก่ญาติโยมทั้งหลายที่ได้มาประชุมกันในวันนี้ ก็เห็นว่าพอจะสมควรแก่กาลแก่เวลา วันก่อนนี้ที่เรื่องญาติโยมได้ยินได้ฟัง วันนี้แหละเขาบวชนาคกันที่ปราจีนบุรี นาคเพิ่มไปจน ๗๘ นาค มากมาย ก่อนนี้เพียง ๕๐ เพิ่มไปเป็น ๗๘ เจ้าคุณทำท่านไปแล้วเจ้าอาวาส อาตมาไปด้วยไม่ได้ ไปไม่ได้ บวชนาควันนี้ ตอนบ่ายบวชนาค ตอนเช้าต้องเทศน์ให้ญาติโยม ขอให้ไปเถิด อาตมานี่ขอให้หมดทั้งห้องแล้ว เจ้าภาพใครมีเท่าไหร่ หมอนมีเท่าไหร่ อะไร ๆ มีเท่าไหร่ เตรียมไปเลย บอกว่ามันรกห้องมานานแล้วไม่รู้จะให้ใคร พอมีโอกาสให้ หมดเลย สบายใจ ให้แล้วหมดแล้วมันสบาย คนเรามีอะไรมากบางทีมันกลุ้มเหมือนกัน ให้แล้วมันสบายใจ มันเบาไปอย่างนั้น เหมือนกับแบกอยู่บนบ่ามันหนัก พอวางแล้วมันสบายไป เลยก็ได้เอาไปกินไปใช้กันต่อไป ก็นับว่าดี ผู้หลักผู้ใหญ่ช่วยกันแข็งแรง สมเด็จทุกองค์ สมเด็จวัดจักรวรรดิ สมเด็จวัดสระเกตุ สมเด็จวัดสามพระยา ให้ทั้งนั้น ให้สบง จีวร ผ้าไตร ให้อะไรต่ออะไร ให้ทุกอย่าง นายกรัฐมนตรีรู้เข้าก็ให้เหมือนกัน ให้เงินสองหมื่น แล้วก็ยังบอกว่าหากขัดข้องอะไร ให้บอกกับทส. (ทหารคนสนิท) จะได้จัดให้ความสะดวกที่จะนำไปบวชพระเหล่านั้นต่อไป นับว่าดี เป็นการช่วยเพื่อนมนุษย์ที่ตกอยู่ในที่อันตรายให้พ้นจากอันตราย หากเราช่วยกันคนละไม้คนละมือ ใครมีความคิดอย่างไรก็ช่วยกันไปตามเรื่องตามราว มิฉะนั้นแล้วเรือมันจะล่มจะจม จะไปกันไม่รอด จึงบอกให้ญาติโยมสบายใจว่าได้จัดการกันเรียบร้อยแล้วในเรื่องนั้น
ทีนี้เรื่องกุฏินี้เรียบร้อยแล้ว ญาติโยมไปดูชื่อที่เขียนไว้หน้ากุฏิได้ เมื่อตะกี้นี้โยมคนหนึ่งไปดูว่ามันเขียนผิดไปตัวหนึ่ง ตัว “ค” ควาย เป็น ตัว “ก” ไป ไม่รู้ใครผิดกันแน่ อาตมาผิดหรือว่าคนเขียนผิด พูดแล้วมันแก้ลำบากเสียด้วยเจ้าหินนี้ จะจารึกชื่อนี้เสียเข้าไปตั้ง ๗,๐๐๐ หิน ๒ แผ่นจารึกชื่อนี้ ๗,๐๐๐ บาท เอาหินมาตากตรงนั้นเห็นแล้วมันถึงได้แพง บอกว่าแก้ไม่ไหวแล้ว เอาเถิดต่อไปมันถูกเอง เรามันผิดอยู่ อ่านผิดอยู่คนเดียว คนข้างหลังมันอ่านถูก เหมือนกับ (56.54......) ทำรูปหล่อ ไปหล่อรูปพระสมเด็จสังฆราชวัดบวร (57.00......) สมเด็จบอกว่าเขาหล่อรูปตัว ไม่เห็นเหมือนสักหน่อย ต่อไปมันเหมือนเองตอบอย่างนั้น สมเด็จตายแล้วเหมือนเอง เวลานี้ตัวจริงอยู่มันไม่เหมือน พอตัวจริงตายแล้วมันเหมือน บอกว่าต่อไปนี้มันเหมือนเอง อันนี่เราเขียนผิดไว้ก็ไม่เป็นไรเลย ต่อไปมันก็ถูกเอง ใครมาอ่านเขาก็ไม่รู้ว่าชื่ออะไร (57.25......) เป็น (57.26......) ก็ใช้ได้เหมือนกัน (57.28......) มันก็ดีเหมือนกัน ใช้ได้ อันนี้เขียนชื่อไว้ทุกคนแล้วที่บริจาคทรัพย์ได้คนละ ๔๐,๐๐๐ บางคนไม่ถึง แต่ว่าเขียนรวมกับเพื่อนไว้เข้าห้องเดียวกัน ตอนนี้จะไปเขียนหน้าห้องมันก็ไม่ไหว มากเกิน อย่างแผ่นเล็กแผ่นน้อย แล้วอีกอย่างหนึ่งคนก็ไม่ได้เข้าไปอ่าน แต่ว่าในนั้นไม่ให้คนเข้าไปอ่าน ปล่อยมัน แล้วก็อีกอย่างหนึ่งถ้าเขียนไป จริงๆ ถ้าไปเอามันถูกห้องน้ำเข้า แล้วโยมว่า “ดิฉันได้ห้องน้ำ” ตามจริงห้องน้ำมันดี ที่มันสะอาด ไม่มีน้ำจะดีอย่างไร สมัยไหนเขียนไว้หน้าห้อง สบายดี เรียบร้อย นี่ไฟเรียบร้อย อะไรเรียบร้อย จ่ายเงินหมดแล้ว ยัง ๆ นิดหนึ่ง ยังไม่ได้จ่าย แต่ดีแล้ว หามาให้ครบชุดแล้วคุณทัศนีย์ ท่านหามาให้ครบแล้ว เงินค่า (58.19......) อันนี้เรียบร้อย แต่ยังไม่ได้จ่ายเช็คให้ แต่เรียบร้อยพร้อมหมดแล้ว นี่ถ้าใครจ่ายค่ามุ้งลวดเสร็จก็งดบัญชีได้ว่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ที่รับอยู่แล้วรู้ว่าเท่าไหร่ แต่ว่าจ่ายเท่าไหร่ยังไม่รู้ แล้วก็จะประกาศให้ญาติโยมทราบ คราวนี้ญาติโยมบางคนถามว่าจะเปิดไหม มันเปิดอยู่แล้ว เวลานี้เปิดอยู่แล้ว ประตูเปิดให้อยู่แล้ว ไม่รู้ว่าจะชวนใครมาเปิดอีก ก็ว่าจะไปเชิญผู้หลักผู้ใหญ่ เปิดหน้านี้มันก็ไม่ไหว ฝนฟ้ามันตก เดี๋ยวพอมาเสียงจัก ๆ จัก ๆ ลำบากเดือดร้อนวุ่นวาย รบกวนท่านไม่เข้าเรื่อง ก็นึกว่าเราเอาแต่ว่าให้เกิดประโยชน์สำเร็จแก่การพระศาสนา สร้างเสร็จแล้วพระเข้าอยู่ได้ก็เป็นอันว่าใช้ได้ ฉลองไปในตัว แต่ว่านาน ๆ ช้า ๆ ว่าง ๆ จะฉลองสักเวลาหนึ่งก็ได้ ก็โอกาสเหมาะ ๆ หน้านี้อย่าฉลอง ฝนฟ้ามันตกลำบาก มันตกไม่ใช่น้อยเสียด้วย ท่วมเข้าไปในห้องอาตมาที่กุฏิโน่น หนังสือจมน้ำลอยต๋อมแต๋ม ๆ ลุกขึ้นมาดูตายแล้ว ทำไมแกล้งกันขนาดนี้ ถ้าเป็นผู้เป็นคนน่าจะตบปากกันเลย แต่นี่มันเป็นฝนไม่รู้จะว่าอย่างไร ก็ต้องขนออกมาผึ่งแดดกันไปตามเรื่อง
ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจเป็นเวลา ๕ นาที.