แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะอันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านในอาการสงบตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดีเพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจาการฟังตามสมควรแก่เวลา
เมื่อวันจันทร์ที่แล้วนี้เดินทางไปปักษ์ใต้อาทิตย์หนึ่ง เดินทางไปตามคำนิมนต์ของพวกยุวมุสลิมที่นครศรีธรรมราชเพื่อให้ไปอภิปรายกันในหัวข้อเรื่องว่า “นับถือศาสนาอย่างไรจึงจะมีความสุข” เขาตั้งหัวข้อไว้เข้าทีดีเพราะถ้าไปตั้งหัวข้อว่า “ควรจะนับถือศาสนาอะไร” ก็อภิปรายกันไม่ได้ แต่ต่างคนต่างก็ว่าของตัวดีทั้งนั้นเลยทะเลาะกันเสียเปล่า ๆ ในหัวข้อว่า “ควรนับถือศาสนาอย่างไร” นับว่าเป็นเรื่องที่ควรฟัง แต่ก่อนมีคนมาฟังกันอย่างคับคั่งมากมายก่ายกอง ไฟดับก่อนจะพูด พอเดินเข้าไปถึงบริเวณไฟดับทันที แต่ว่า แหม ต้อนรับด้วยความมืดเชียววันนี้ แต่ก็แก้ไขกันต้องใช้เครื่องไฟอื่นมาใช้จึงได้พูดกันในคืนนั้น พูดกันนาน ๓ ชั่วโมง ญาติโยมก็ไม่ถอยฟังกันอย่างสงบเรียบร้อย รู้สึกว่าเป็นประโยชน์ดี
แล้วนี่ในระหว่างศาสนานี่ควรจะได้พบปะกันบ้างเพื่อทำความเข้าใจกันในเรื่องอะไรต่าง ๆ จะได้พูดกันให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เพราะบางทีถือศาสนาจะไม่ค่อยถึงใจความของศาสนา แล้วก็มักจะเอาข้อเล็กน้อยมาเป็นเรื่องเกิดพิพาทกันด้วยประการต่าง ๆ หารู้ไม่ว่าการกระทำเช่นนั้นขัดต่อหลักศาสนาขัดต่อหลักธรรมะ ก็หลักธรรมะนั้นต้องการความสงบเป็นส่วนใหญ่ ต้องการความสะอาดของจิตใจ แล้วจะต้องการให้เกิดความสว่างด้วยปัญญา แต่ว่าผู้ปฏิบัติไม่เข้าใจเพียงแต่นับถือไปตามเรื่องแต่ไม่รู้ว่าจุดหมายนั้นอยู่ที่ตรงไหน
ความจริงจุดหมายของการปฏิบัติธรรมะในศาสนาไม่ว่าจะเป็นศาสนาอะไรย่อมมีจุดหมายเพื่อชำระชะล้างจิตใจให้สะอาดทั้งนั้น แต่ว่าวิธีการของการชำระนั่นแหล่ะอาจจะไม่เหมือนกัน พูดตามภูมิฉันของผู้สอนหรือตามภูมิฉันของผู้คนในยุคนั้นในสมัยนั้น อันนี้เป็นเรื่องที่ควรจะได้เข้ามาหากัน แล้วก็เอาวิธีการลุ่มลึกกว่ากันมาใช้ เช่นว่า ในคำสอนในทางพุทธศาสนามีข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการขูดเกลาอย่างลึกซึ้ง ถ้าเราเอาไปใช้มันก็ได้ประโยชน์ แล้วแต่เขาจะเอาไปใช้ก็ได้เพราะว่าพุทธศาสนาไม่สงวนลิขสิทธิ์ ผู้ใช้นั้นไม่จำเป็นจะต้องเรียกตนเองว่าเป็นพุทธบริษัทเพราะชื่อไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่การปฏิบัติเท่านั้น เมื่อใครเอาไปปฏิบัติแล้วก็เป็นอันว่าใช้ได้เกิดประโยชยน์แก่ผู้นั้น
อาหารดีไม่ต้องรู้จักพูดก็ได้ ใครรับประทานเข้าไปแล้วมันเป็นประโยชน์แก่ร่างกายทำให้จิตใจดีขึ้นก็ใช้ได้ ทางกายดีขึ้น ทางศาสนานี่ก็เหมือนกันเมื่อเราปฏิบัติแล้วทำให้จิตใจของเราดีขึ้น ผู้ปฏิบัติศาสนานั้นควรจะมองดูตัวเองว่า ตั้งแต่เราเริ่มใช้ธรรมะเป็นหลักในการแก้ไขปัญหาชีวิตประจำแล้วนั้นสภาพจิตใจเราเป็นอย่างไร จึงให้เปรียบเทียบระหว่างเมื่อก่อนปฏิบัติกับภายหลังจากการปฏิบัติ คล้ายๆ กับว่าก่อนกินยานี่สุขภาพเป็นอย่างไร ภายหลังการกินยาแล้วสุขภาพทางกายเป็นอย่างไร เราจะต้องเปรียบเทียบกันเอาขึ้นมาพิจารณาดูว่ามันแตกต่างกันอย่างไร เหมือนรูปโฆษณาที่เขียนหลังกินยากับก่อนกินยามันต่างกัน เช่น ยาลดความอ้วน เป็นต้น เขาเขียนภาพว่าก่อนกินยานี่อ้วนตุ๊ต๊ะ แต่หลังกินยาแล้วโปร่งขึ้นอันนี้ใช้ได้ ยานั้นใช้ได้
ในเรื่องเกี่ยวกับจิตใจเรานี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราได้ปฏิบัติตามหลักธรรมะที่เราได้ศึกษาเล่าเรียนไปโดยใช้สติมากขึ้น ใช้ปัญญามากขึ้น ควบคุมจิตใจได้มากขึ้น เราก็จะรู้สึกว่าอะไร ๆ มันลดลงไป เช่น ความใจร้อนหายลดลงไป ใจเร็วหายไป ความโกรธหายไป ความอิจฉาริษยาอะไรหายไป หรือว่าความเข้าใจผิดในเรื่องปัญหาชีวิต อะไร ๆ ต่าง ๆ นั้นมันจางหายไปไม่เหมือนก่อน ใจเย็นขึ้นกว่าเมื่อก่อนสงบขึ้นกว่าเมื่อก่อน มีเหตุมีผลในเรื่องอะไร ๆ เป็นมากขึ้นกว่าแต่ก่อน อันนี้ก็แสดงว่าเราได้ผลแล้ว การปฏิบัตินั้นได้ผล แล้วก็ให้เห็นว่าธรรมะมีให้ประโยชน์แก่เรา เราได้เข้าถึงทางเดินอันถูกต้อง อย่าหยุด เดินต่อไป ๆ เดินต่อไปเรื่อย ๆ เราก็จะถึงจุดหมายปลายทางได้ ทีนี้มันมีบางสิ่งบางประการที่ทำคนไม่ก้าวหน้าแต่ไม่รู้ตัวว่ากำลังติดอยู่ในเรื่องนั้นคือ ความยึดถือในอะไรบางอย่างที่มันไม่ค่อยจะถูกจะตรง หรือว่ากิเลสบางอย่างมันหลอกให้เราเสียหายได้แต่เราไม่รู้ว่านั่นมันเป็นกิเลส ยกตัวอย่างความยึดถือในเรื่องอะไรกฏเกณฑ์ต่างๆ จึงกลายเป็นเรื่องอุปาทานไป เป็นเรื่องยึดมั่นถือมั่นไป แล้วก็เป็นเหตุให้กลุ้มใจไม่สบายใจด้วยประการต่าง ๆ
อ่านหนังสือนิทานของพวกเซนมีเรื่องหนึ่งเข้าทีเหมือนกัน เขาเล่าว่านายคนนั้น ชื่อก็ญี่ปุ่นนั้นชื่ออะไรจำไม่ค่อยได้ ชื่อมันยาก แต่ชื่อก็ว่าชื่อนายคนนั้นก็แล้วกัน อันนี้มีภรรยาที่รักใคร่กันดี ต่อมาภรรยาเจ็บหนักเจ็บถึงแก่กรรม แต่นางภรรยาจะถึงแก่กรรมนี่ก็เรียกสามีเข้ามานั่งใกล้ ๆ แล้วก็บอกว่าเธออย่าจากฉันไป แม้ว่าฉันจากเธอไปแล้วทางร่างกายแต่วิญญาณของฉันจะไม่จากเธอไปเป็นอันขาด ฉันจะมาอยู่ใกล้ ๆ เธอ แล้วก็สัญญาและจะไม่สบายใจถ้าหากว่าเธอไปมีภรรยาใหม่ ฉันจะทำอะไรทุกอย่างให้เธอเกิดความทุกข์ความเดือดร้อนตลอดไป แล้วภรรยาก็ตาย เมื่อตายไปแล้วเขาก็รักษาคำมั่นสัญญาอยู่ได้สัก ๒-๓ เดือน เขาก็คิดว่ามันลำบากอยู่อย่างนี้ ไม่มีแม่บ้าน ไม่มีใครดูแลบ้าน ก็คิดว่าควรจะมีภรรยาใหม่ เลยไปชอบกับคน ๆ หนึ่ง ตกลงปลงใจกันว่าจะแต่งงานกันแล้ว
แต่ว่าเมื่อไปตกลงอย่างนั้นกลางคืนก็มีอาการฝันไปว่า วิญญาณของภรรยาเก่ามาหา โกรธ ดุอย่างนั้นดุอย่างนี้ บอกว่าฉันรู้แล้วนะว่าเธอไม่ซื่อตรงต่อฉัน ไม่ซื่อตรงต่อสัญญา แต่ไปกอดกับแม่คนนั้นที่บ้านนั้นแล้วก็จะแต่งงานกัน ฉันจะไม่ละทิ้งความโกรธทั้งที่ได้สัญญากันไว้ ฉันจะทำให้เธอเป็นทุกข์เรื่อยไป เขาก็มีความทุกข์ ทุกคืนมีความทุกข์อย่างนี้เลยไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ไปบอกกับเพื่อนฝูงมิตรสหาย เพื่อนบอกว่าไปหาพระสิ พระท่านจะได้แนะแนวทางให้ว่าจะแก้ไขอย่างไร เขาได้ไปเล่าเรื่องให้พระฟัง พระท่านก็บอกว่าวิญญาณของภรรยาเธอนี่ช่างรู้ไปเสียหมดทุกสิ่งทุกอย่าง เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ถึงจะเอาใหม่เธอจะต้องกำเมล็ดถั่วไว้สักกำมือหนึ่ง แล้วภรรยาเธอมาก็ถามว่า เธอทายได้ไหมว่าเมล็ดถั่วในกำมือฉันมันมีสักเท่าไร ถ้าหากว่าทายถูกแล้วล่ะก็ฉันจะไม่มีภรรยาใหม่ แต่ถ้าทายไม่ถูกฉันก็จะต้องผิดสัญญากับเธอสักทีนะ เธอมันทรมารฉันมานานแล้ว
แล้วก็เวลาจะนอนเขาก็เอาถั่วใส่ถุงไปวางไว้ใกล้ ๆ พอฝันก็นึกขึ้นได้ เอามือกำถั่วไว้แล้วก็พูดไปเหมือนกันฝันนั่นแหล่ะ พูดไปบอกว่า เธอมันเก่งนักหนานะรู้อะไรไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง วันนี้ฉันอยากจะท้ากันหน่อย เธอรู้ไหมว่าถั่วในถุงที่ฉันถืออยู่นี่มีจำนวนเท่าไร ถ้าเธอตอบได้ฉันจะไม่แต่งงาน แต่ถ้าตอบไม่ถูกนับกันดูแล้วไม่ถูกล่ะก้อ ฉันจะต้องรื้อสัญญากันเสียที ไม่ถือสัญญาต่อไป ไอ้เจ้าผีนั้นก็ตอบไม่ได้เหมือนกันว่าถั่วมีเท่าไร แล้วมันยังรู้ถึงว่าไปหาอาจารย์ด้วยนะ ผีมันหยั่งรู้ด้วย ฉันนี้มันก็ตอบไม่ได้น่ะสิ ว่าตอบไม่ได้ก็เลยรื้อสัญญากัน
ฉันไปหาอาจารย์อีกทีหนึ่ง อาจารย์ก็บอกว่ามันไม่ใช่ผีสางอะไรที่ไหนหรอก มันเป็นความรู้สึกอยู่ในใจของเธอเอง แล้วเธอเองก็ไม่รู้ว่าถั่วมันมีเท่าไรในถุงนั้น เธอผู้ถือถั่วเองยังไม่รู้เลยแล้วผีมันจะรู้ได้อย่างไร ตั้งแต่นี้ต่อไปมันก็หมดพันธะเลยก็นอนหลับสบาย ไม่มีความทุกข์มีปัญหาต่อไป นิทานเรื่องนี้มันก็เป็นเรื่องชี้ให้เห็นว่า อะไร ๆ ที่เกิดขึ้นในใจของเรานั้น มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับว่าการผูกพันไว้ยึดมั่นถือมั่นไว้ในใจ เป็นอุปาทานนั่นเอง อุปาทานเรื่องยึดมั่นอย่างนี้บางทีก็หลอกคนได้เหมือนกัน
ในเรื่องนี้อีกเหมือนกัน เรื่องเซนนี่เหมือนกันบอกว่า แม่ทัพคนหนึ่งต้องยกทัพไปรบกับข้าศึก ข้าศึกมีกำลังมากกว่าแกตั้งมากมาย เรียกว่าหลายเท่าตั้งสิบเท่าว่างั้นนะ หนึ่งต่อสิบว่างั้น จะไปรบกันนี่ แต่แกรู้ว่าทหารนี่มีความเชื่ออะไร มีความมั่นใจในเรื่องอะไร แกก็ต้องปลุกระดมน้ำใจกับทหารให้เกิดความเข้มแข็งสักหน่อย แล้วก็รู้ว่าทหารนี่เชื่ออะไร คนญี่ปุ่นเขาเชื่อในชินโต เขามีศาลชินโต มีเขียนว่าวิญญาณของผู้ตายอยู่ที่นั่น แกก็บอกว่าวันนี้เราจะไปรบกันอีก ต้องไปแวะไหว้พระที่ศาลชินโตเสียหน่อย แล้วฉันจะไปเสี่ยงทายดู ถ้าหากว่าเสี่ยงทายกันในทางชนะล่ะก็ต้องรบกันเต็มที่เลย ก็เลยพาทหารเข้าไปในศาล ยืนเป็นแถวเป็นระเบียบเรียบร้อย หัวหน้าก็สวดมนต์เป็นการใหญ่ สวดมนต์เสร็จแล้วพูดดัง ๆ ว่า ข้าพเจ้าขอเสี่ยงทายต่อเทพเจ้าผู้สิงสถิตย์อยู่ในศาลนี้ ต่อวิญญาณบรรพบุรุษทั้งหลายที่สิงสถิตย์อยู่ในศาลนี้ ข้าพเจ้าจะโชคดีถ้าออกหัวแล้วก็รบชนะ ถ้าออกก้อยแล้วก็หมายความว่ารบไม่ชนะ ออกหางว่าไม่ชนะ มีหัวมีหาง แล้วแกก็เสี่ยงทายโยนลงไป
พอโยนลงไปปรากฏว่าออกหัว เมื่อทหารมาดูใหญ่เลย มาดูสิ ดูสิ เทพเจ้าท่านให้ออกหัวแสดงว่าเราไปรบคราวนี้ชนะแน่ แหม ทหารคึกคักเลย ได้กำลังใจ เทพเจ้าวิญญาณบรรพบุรุษบอกว่าจะชนะ นี่เกิดกำลังใจเกิดขวัญดีก็เลยไปรบชนะ ก็รบชนะแล้วคนใช้ใกล้ชิดเข้ามาบอกว่า แหม เทพเจ้าที่ศาลเจ้าชินโตนี่กำชีวิตของพวกเราทั้งหลายไว้ทำให้เราชนะได้ แม่ทัพก็บอกว่าเธอรู้ไหมว่าที่ชนะน่ะเพราะอะไร มันไม่ใช้เรื่องเทพเจ้าอะไรหรอก มันเรื่องสมมติขึ้นเอง แล้วก็ล้วงเงินนั้นออกมาดู ว่ามาดูสิ ทั้งสองข้างมันมีหัวทั้งนั้นมันไม่มีหางเลย เวลาทอดมันเลยออกแต่หัวน่ะเพราะว่ามันมีหัวทั้งสองข้างใช่ไหม แต่ว่าแกก็สร้างอุบายขึ้นเพื่อความยึดถือและเหตุของคนเหล่านั้น คนเหล่านั้นก็เลยเชื่อมั่นเพราะคำเสี่ยงทายว่าถ้าออกหัวต้องชนะ และออกหัวจริง ๆ ตามที่ได้เสี่ยงทายไว้ ความจริงนี่นั้นมันมีหัวอยู่ทั้งสองข้าง ถ้าเป็นเบี้ยในสมัยก่อนสตางค์แดงก็เรียกว่ามันเหมือนกันทั้งสองข้าง มันก็ว่าแสร้งทำเป็นพิเศษ เพื่อเอาไปปล้นพลทหารทั้งหลายให้มันกล้ารบหน่อยเท่านั้นเอง อย่างนี้เขาเรียกว่ากำลังใจเกิดขึ้นเพราะอุปาทานไม่ได้เกิดขึ้นด้วยปัญญา
ในเมืองไทยเรานี้ก็เหมือนกัน ทำอะไร ๆ ก็ให้เกิดกำลังใจในด้านนั้นอยู่มากเหมือนกัน เช่น ทหารจะออกรบนี่ให้พระมาพรมน้ำมนต์บ้าง แจกตะกรุดบ้าง แจกว่าน แจกยา แจกของต่าง ๆ หรือทำพิธีเขาเรียกว่าตัดไม้ข่มนาม เวลาจะออกทัพนี่ทำพิธีหลายอย่าง สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องปลอบใจคนให้คนได้มีอุปาทานขึ้นในใจว่า เรามีชัยชนะ เรารบเพื่อให้เกิดชัยชนะได้เพราะฤกษ์ดี เพราะอะไรดี อย่างนี้เป็นตัวอย่างที่เขาทำกันอยู่ทั่ว ๆ ไปไม่ได้ใช้ปัญญาให้เกิดขึ้นในการรบ ไม่ได้ใช้กำลังศึกที่ถูกต้อง เขาว่า เราไม่ได้สร้างฐานแห่งปัญญาให้เกิดขึ้นในใจคน แต่ว่าสร้างฐานความหลงผิด ความเข้าใจผิดให้เกิดขึ้นในใจตลอดเวลาด้วยอำนาจความขลังบ้าง ความศักดิ์สิทธิ์บ้าง อะไร ๆ ต่าง ๆ ไม่พยายามที่จะแนะนำแนวทางที่ถูกต้องให้แก่คนเหล่านั้น คนเหล่านั้นก็เชื่อมั่นอยู่ในสิ่งเหล่านั้น ถ้าหากว่าสิ่งนั้นมันไม่ดีเราก็ใจเหี่ยวใจแห้ง ขาดกำลังใจไป
ตอนนั้นเขาเล่าว่า ชายคนหนึ่งเป็นทหารออกรบ อมพระไปองค์หนึ่ง อมไปก็รบกันไปรบกันมา อ้าปากอย่างไรพระกระเด็นหายไป พอกระเด็นหายไป คว้าหมับเอาอะไรมาใส่เข้าไปก็ไม่รู้ พอใส่เข้าไปแหมมันเต้นเร่า ๆ ในปากเลย แต่คนนั้นนึกว่า แหม พระออกฤทธิ์แล้ว จะออกฤทธิ์แข็งแรงแล้ว เต้นเร่า ๆ อยู่ในปากแล้วรบใหญ่ รบชนะเลย พอรบชนะแล้วบอกแหมวันนี้พระออกฤทธิ์เต้นเร่า ๆ ในปาก แล้วทำไมไม่คายออกมาดูสิ กลายเป็นลูกเขียดไปเสียแล้วไม่ใช่พระ กลายเป็นหลวงพ่อเขียดไป เพราะว่าตัวเองไม่รู้ว่าเขียดหรอก มันกำลังชุลมุนวุ่นวาย พระหล่นก็คว้าหมับใส่เข้าไปเลย เขียดมันเข้าไปอยู่ในปากมันก็ต้องเต้นเป็นธรรมดาน่ะ มันเคยอยู่ที่แจ้ง ๆ นี่ พอไปอยู่ในที่มืดก็เต้นใหญ่ เลยเต้นใหญ่ ก็นึกว่า อ่ะ แหม พระออกฤทธิ์แล้ว เรียกว่า เต้นแล้ว พระเต้นแล้ว ไม่ต้องฝึก เต้นเอง เลยรบใหญ่เลย มันเลยความกลัวไป แล้วก็เลยสู้ใหญ่ได้ชัยชนะไป อันนี้ก็เรียกว่ามีอุปาทานในเรื่องนี้อยู่เหมือนกันทำให้เกิดขึ้น แต่เป็นอุปาทานประเภทที่ยังมีอวิชชาอยู่ ยังไม่ใช่ประเภทมีปัญญาหรือมีวิชชาเป็นเครื่องประกอบ ถ้าว่ารบด้วยปัญญารบด้วยวิชชาเป็นเครื่องประกอบแล้ว มันก็ไปกันได้เหมือนกัน อันนี้ความจริงคนโบราณเขาก็ใช้
แม้ในศาสนาฮินดูนี่ก็ใช้ถูกหลักเหมือนกัน คือ ในสมัยที่เมื่อพวกอรชุน พวกปาณฑพกับพวกเการพเขารบกันในหนังสือภารตะยุทธ์ อันนี้เมื่ออรชุนพอออกสนามรบ สมัยก่อนเขารบมีระเบียบรบเฉพาะกลางวัน พอตะวันตกดินก็ตีฆ้องเลิกรบ ทั้งสองฝ่ายกลับไปนอนสบายไม่มีการปล้นทัพเพราะว่าเขารบด้วยธรรมะ เขาไม่ได้รบด้วยกิเลสกัน สู้กันอย่างลูกผู้ชาย สู้กันเฉพาะเวลากลางวัน พอกลางคืนก็ เอ้า หยุดพักนอนกันนะ ต่างคนต่างนอน ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ไม่ลอบตีค่าย ไม่วางระเบิดอะไรต่ออะไรกันทั้งนั้น รุ่งขึ้นไปรบกันใหม่ พอถึงเวลาเย็นก็เลิกรบ หากกลางคืนก็พักกัน
วันนั้นตอนออกรบ ก็วันนี้ขับรถออกไป กฤษณาเป็นผู้ขับรถให้อรชุน อันนี้เมื่อขับรถออกไปถึงทุ่งกุรุเกษตร ซึ่งเป็นทุ่งใหญ่ที่จะรบกัน มันใกล้ทุ่งสัมฤทธิ์ อำเภอพิมาย มันกว้างเหมือนกัน ทุ่งสัมฤทธิ์นั่นก็เจ้าแม่ท้าวสุรนารีก็ปราบเจ้าเวียงจันทร์ล้มราบไปตรงนั้นเอง แพ้ที่ทุ่งสัมฤทธิ์เหมือนกัน ทีนี้พอออกไปถึงอรชุนก็ยืนบนรถมองไปไกล อืม ญาติของเราทั้งนั้น ลูกพี่ลูกน้องกัน หัวหน้าทัพนี่ก็เป็นญาติกันร่วมสกุลร่วมแซ่กันไม่น่าจะรบกันเลย นี่รบกันทำไมมันไม่ได้เรื่องได้ราว เลยก็หันมาบอกกฤษณาบอกว่าไม่เอาล่ะ ไม่รบแล้ว เขาจะเอาบ้านเอาเมืองเอาไปเถอะ ข้าพเจ้าไม่อยากรบแล้ว แล้วขืนรบไปมันก็ไม่ได้เรื่องอะไร ฆ่ากันเองตายกันเสียเปล่า ๆ ไม่ได้สาระ แต่ว่ากฤษณานั้นไม่ยอม ท่านบอกว่าอย่าคิดอย่างนั้น ท่านเป็นทหารนี่ ท่านเป็นกษัตริย์นี่ หน้าที่ท่านต้องรบ กษัตริย์หรือทหารที่ไม่รบก็คือว่าไม่ทำหน้าที่ แต่นี่การรบน่ะจะรบอย่างไร อธิบายเรื่องธรรมะนี่ อธิบายก็ไม่ใช่เรื่องยาว สั้น ๆ ว่ากันหลายนานทีเดียว ยืดยาวเป็นหนังสือเล่ม ๆ
ในหนังสือเล่มนี้ใจความสำคัญก็อยู่ที่ว่ารบเพื่อหน้าที่ รบเพื่อรักษาธรรมะไม่ใช่รบเพื่อตัวเรา ไม่ใช่รบเพื่อลาภเพื่อสรรเสริญ เพื่อความสุขแก่เราเอง แต่ว่ารบเพื่อปราบสิ่งที่ไม่เป็นธรรม รบเพื่อหน้าที่เท่านั้น แล้วก็ให้รบอย่างกล้าหาญ ถึงกับสอนว่าถ้าเจ้าไม่ถูกฆ่าและข้าศึกก็ไม่ถูกฆ่า หมายความว่า ฆ่าแล้วมันฆ่าแต่ร่างกาย ตัวแท้ตัวจริงไม่ถูกฆ่า ก็ในศาสนาฮินดูเขาถืออัตตา เขามีตัว มีตัว ตัวถาวร เรียกว่า วิญญาณที่ถาวรไม่ถูกฆ่า แม้ตัวนี้ตายก็ออกต่อไปเกิดใหม่ต่อไป ร่างกายนี้เหมือนกับเสื้อ มันเก่าถอดทิ้งไปหาเสื้อตัวใหม่ใส่ต่อไป ก็อธิบายไปในรูปอย่างนั้นเพื่อให้เห็นว่าตัวไม่ถูกฆ่า ไม่ต้องสอนให้ถือเครื่องรางของขลังอะไร ก็สมัยนั้นเครื่องรางยังไม่มีเลยก็ให้ให้คิดถึงธรรมะ ให้ถือว่าการรบนี่คือหน้าที่ที่จะต้องทำศึกสงคราม แล้วเราไม่ได้ฆ่าใคร ใครก็ไม่ได้ฆ่าเราเพราะสิ่งที่ถูกฆ่านั้นไม่ใช่ตัวเรา ก็สอนกันในรูปอย่างนั้น ความคิดของทหารก็ขึ้นเก่งขึ้น ออกรบ อรชุนพอได้ฟังเรื่องอย่างนี้แล้ว ขึ้นเขียงเลย รบกันใหญ่ว่างั้นเถอะ ตายกันเลือดนองแผ่นดินแล้วท่วมท้องช้างแล้ว ว่างั้นเถอะ ให้รบกันเป็นการใหญ่ เขาไม่เอาเครื่องอื่นเข้ามาประกอบ
ทีนี้ในทางพระพุทธศาสนาเราจะสอนคนโดยไม่ต้องใช้เครื่องรางได้หรือไม่ ไม่ต้องใช้ของขลังไม่ต้องใช้ความศักดิ์สิทธิ์ในเรื่องอะไร ๆ ได้หรือไม่ ใช้ได้ทำได้แต่ว่าผู้ใช้มันต้องมีปัญญา ต้องมีความรู้ในเรื่องธรรมะอย่างลึกซึ้ง เข้าใจธรรมะถูกต้อง แล้วเอาไปใช้เพื่อให้คนเหล่านั้นได้เห็นธรรม แล้วก็ทำงานเพื่อธรรมะทำงานเพื่อหน้าที่อย่างแท้จริงโดยไม่มีอะไร ทีนี้สิ่งที่ควรจะรู้อย่างนั้นก็คือว่า พระพุทธศาสนาสอนเรื่องอนัตตา เราไม่มีตัวให้ใครฆ่าเหมือนกัน ไม่มีเลยทีเดียว เรียกว่าไม่มีตัวเลย ไม่ชื่อว่าเราถูกฆ่า ไม่ชื่อว่าใครถูกฆ่าได้เหมือนกัน เพราะตัวมันไม่มี สอนไปในรูปอย่างนั้นให้คนเข้าใจ แล้วให้คนรักหน้าที่ เสียสละเพื่อหน้าที่อย่างแท้จริงไม่ต้องมีอะไรปลอบใจ ให้ออกรบเพื่อหน้าที่ เพื่อชาติเพื่อประเทศอย่างแท้จริง โดยไม่ต้องมีอะไรเป็นเครื่องปลุกปลอบใจ เอาหน้าที่มาปลุกปลอบอย่างเดียว ต้องพูดกันบ่อย ๆ ทำความเข้าใจกันบ่อย ๆ จนเขาเกิดความรักในหน้าที่อย่างแท้จริง แล้วการทำงานก็จะทำด้วยความเสียสละเกิดขึ้น
ในเรื่องนี้ถ้าพูดไปแล้ว ขอเอาไปเสียเพื่อที่จะกล่าวว่า คนไทยเราโดยทั่ว ๆ ไปนั้นยังบกพร่องอยู่มาก ยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องหน้าที่กับชีวิตว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร มักจะละเลยเพิกเฉยต่อหน้าที่ที่ตนจะต้องปฏิบัติ ไม่เอาใจใส่ ทำอะไรก็มักแต่ว่าทำพอผ่านพ้นไป ไม่ได้ทำให้ดีให้เรียบร้อยให้อย่างน่าชมจริง ๆ ไม่ว่างานฉันตัวไหนเรียกว่า งาน งานง่าย งานยาก งานอะไรก็ตามใจ เพราะเรายังไม่ได้ฝึกฝนกันในเรื่องนี้ ไม่ได้อบรมกันในเรื่องนี้ หลักการมันมีแต่เราไม่ค่อยเอาไปใช้ เมื่อลูกเล็กเด็กแดงของเราทั้งหลาย เราไม่ได้ฝึกฝนเขาให้รู้จักหน้าที่มาตั้งแต่ตัวน้อย ๆ เขาไม่รู้ว่าเขาควรจะทำอะไร เวลาใดควรจะประพฤติปฏิบัติตนอย่างไรเขาไม่รู้ ถ้าเราไม่ได้บอกเขาอย่างจริงจัง เราเคยบอกแต่เพียงว่า ว่าเขาทำไม่ดีก็ดุเขาว่าอย่างนั้นไม่ถูก อย่างนี้ไม่ถูก แต่ว่าที่ถูกเราไม่บอกให้เขาทราบก่อน แล้วไม่ได้อธิบายให้เขารู้ว่าหน้าที่สำคัญของชีวิตคืออะไร หน้าที่ของชีวิตมันอยู่ที่ตรงไหน บางทีพ่อแม่อาจจะนึกว่ามันเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เด็กมันฟังจะไม่เข้าใจ ค่อยพูดเรื่อย ๆ ไป บ่อย ๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก ความเชื่อความคิดมันค่อยฝังลงไปในจิตใจ จะให้เขาเกิดความสำนึกในเรื่องที่ควรสำนึก เช่น เรื่องหน้าที่ เรื่องการงานจำเป็นจะต้องกระทำ อันนี้ยังบกพร่องกันอยู่ทั่ว ๆ ไปเพราะยังไม่มีการอบรมกันอย่างทั่วถึง
และเมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่แล้วทำงานก็อย่างนั้นแหล่ะไม่ค่อยจะเรียบร้อย ไม่ค่อยรักหน้าที่ ไม่เสียสละเพื่อหน้าที่ อย่างนี้มีอยู่มาก แต่ว่าอยากได้รางวัลอยากได้เลื่อนขั้นเลื่อนเงินเดือน อย่างนี้จะเลื่อนกันได้อย่างไรเมื่อตัวไม่ทำให้ถูกต้อง ต้องเที่ยววิ่งเที่ยวเต้นประจบคนนั้นประจบคนนี้เพื่อให้ตนได้เลื่อนชั้นขึ้นไป ไม่ไปตามสายงานแต่เดินทางลัด อย่างนี้มันก็วุ่นวายกันทั้งบ้านทั้งเมือง นี่คือการให้การอบรมที่ผิดทาง แล้วมีระบบที่เรียกว่าฝากฝังกัน ฝากฝังกันด้วยให้ช่วยมันด้วยอะไรนี้เป็นตัวอย่าง เราไม่ได้สอนให้เด็กรู้จักช่วยตัวเองรู้จักพึ่งตัวเองไปตั้งแต่ตัวน้อย ๆ แล้วมันจะให้ใครจะฝากตลอดเวลา รุ่นพ่อแม่เป็นคนมีชื่อมีเสียงมีเกียรติในสังคม เด็กจะนึกว่าไม่เป็นไรหรอกคุณพ่อฉันกว้างขวางเราคงเข้าทำงานได้ ถึงทำได้มันก็ไม่ดี พ่อตายเขาเอาออกเท่านั้นเองเอาออกด้วย ไอ้นี่ไม่ได้เรื่องเอาออกได้แล้วเพราะว่ามันไม่ช่วยตัวเองไม่พึ่งตัวเอง
ถ้าเราไม่ได้สอนให้ช่วยตัวเองพึ่งตัวเองไปตั้งแต่เบื้องต้น ความเข้าใจผิดในลูกนี้มีอยู่ในเด็กทั่ว ๆไป ก็เราไม่ได้ให้ความคิดถูกแก่เขา สัมมาทิฐิในเรื่องนี้ไม่มี มีแต่เรื่องจะฝากจะฝังกันอยู่ตลอดเวลา บางทีงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ใช่งานใหญ่โตอะไร ก็อุตส่าห์มาวิ่งเต้นให้ช่วยฝากฝังให้ อาตมามักจะเฉย ๆ ในเรื่องอย่างนั้น ใครมาบอกให้ฝากลูกฝากหลาน บอกว่า อืม ไม่ไหว ไอ้ระบบนี้มันควรจะเลิกได้แล้ว ไอ้ระบบฝากแบบนี้ เราจะสอนมันใหม่ให้มันรู้จักช่วยตัวเองรู้จักพึ่งตัวเอง ถ้ามันช่วยตัวเองไม่ได้พึ่งตัวเองไม่ได้ ต่อให้มันรับไปตามเรื่องของมันมันสู้เขาไม่ได้ ให้มันตายเรื่องของมันเถอะ เพราะว่ามันผิดที่พ่อแม่เองที่ไม่สนใจอบรมเขาให้เข้มแข็ง ให้อดทน ให้หนักแน่น ไม่รู้จักช่วยตัวเอง พึ่งตัวเองมันก็ลำบาก แล้วมันจะไปพึ่งใครต่อไป พ่อแม่ตายแล้วเขาจะพึ่งใคร อย่างนี้มันไม่ถูกต้อง
พระพุทธศาสนาสอนให้พึ่งตัวเอง อัตตา หิ อัตตะโน นาโถ พูดกันบ่อยเรื่องอย่างนี้ แต่ว่าเราเป็นพ่อแม่ครูบาอาจารย์ไม่ได้ย้ำในเรื่องนี้ ให้เด็กรู้คิดช่วยตัวเองคิดพึ่งตัวเอง คอยแต่จะคิดพึ่งคนอื่นเชื่อคนอื่นอยู่ตลอดเวลา อย่างนี้มันก็ไปไม่รอด นี่เรียกว่ายังไม่ได้ใช้หลักธรรมของพระพุทธเจ้าหรือปัญญาของพระพุทธเจ้า เพื่อให้เกิดความกระตือรือร้นในทางที่ถูกที่ชอบในทางสร้างสรรค์ชีวิตการงานอย่างแท้จริง มันควรจะได้มีการเปลี่ยนระบบนี้เหมือนกัน เปลี่ยนมาให้รู้จักช่วยตัวเองพึ่งตัวเองให้มากขึ้น เราคอยแต่แนะทางให้เขาเดินแต่ว่าการเดินนั้นเป็นหน้าที่ของเขา ควรแนะให้เขาว่า ควรจะทำอย่างนั้น ควรจะทำอย่างนี้ สมมติว่าเด็กจะทำการบ้าน เราไม่ควรจะบอกมันทั้งหมด แต่เราควรจะตั้งแง่ให้เขาคิดให้เขานึกออก ตั้งปัญหาให้เขาเกิดคิดเกิดนึก
อาจารย์สมัยก่อนนี่บางคนลูกศิษย์นั่งน้ำตาไหลเชียวนะ ไม่บอก ไม่บอกว่าอย่างไร คิดเอา ไอ้นั่นก็คิดไม่ออก ลูกศิษย์นั่งคิดจนน้ำตาไหลก็คิดไม่ออก อาจารย์ก็ไม่บอก ไม่บอกให้ ไอ้นั่นก็นั่งคิดไป ๆ ผลที่สุดมันก็คิดออกของมันเอง อันนี้มันก็แบบของพวกเซนไง พุทธศาสนานิกายเซนในญี่ปุ่นนี่เขาไม่บอกอะไรแก่ศิษย์ แต่ให้ศิษย์ไปนั่งคิดเอาเอง ไปนั่งคิดเอา คิดเอาไปนั่งที่เงียบ ๆ คิดเอา คิดออกว่าอย่างไรมาบอกฉัน จะบอกแล้วไม่ถูกก็กลับไปคิดใหม่ มันต้องคิดต่อไป คิดจนมาบอกอาจารย์ว่าใช้ได้ อย่างนี้การกระทำเช่นนั้นเพื่ออะไร เพื่อให้ลูกศิษย์ไปช่วยตัวเอง ไปนั่งคิดนั่งค้น แล้วขณะคิดค้นในใจมันเกิดเป็นสมาธิ มันมีกำลังใจเกิดขึ้น แต่ถ้าเราบอกให้หมด มันไม่ได้คิดอะไรเลย ไม่ได้ช่วยตัวเองเลย ได้แต่เราอุ้มมันขึ้นไปเสียเลยแล้วมันจะได้อะไร
เห็นเด็กคนหนึ่งกำลังปีนป่ายจะขึ้นที่ไหน เราเห็นว่ามันปีนป่ายลำบากอุ้มมันเสียเลย อ้าว มันไม่ได้ช่วยเด็กคนนั้นเลย แต่เราไปอุ้มอย่างนั้นไม่ได้ช่วย เราควรจะไปยืนข้าง ๆ แล้วก็คอยจ้องดูมัน ถ้ามันจะตกช่วยจับมันหน่อย แต่ถ้าที่มันไม่แข็งเกินไปก็ไม่เป็นไรตกเสียมั่งมันก็ดีเหมือนกัน มันจะได้รู้ว่าถ้าตกแล้วมันเจ็บ ชีวิตมันก็ผิดพลาดแล้วจะเกิดความทุกข์ความเดือดร้อน มันได้ปัญญา มันได้ประสบการณ์แล้วก็ปล่อยให้มันขึ้นไป ถ้ามันขึ้นไปได้เองนี่มันภูมิใจนะ มันภูมิใจว่า แหม กูขึ้นได้สำเร็จไม่ต้องมีใครช่วย
นักเรียนที่สอบไล่ได้ด้วยปรีชาสามารถของตัวเองนั้นเขาภูมิใจ แต่ถ้าได้เพราะคนอื่นบอกนี่เขาไม่ภูมิใจเลย หรือว่าได้เพราะการวิ่งเต้นอะไรเขาไม่ได้ภูมิใจเลย นึกถึงทีไรก็ใจมันใจเหี่ยวใจแห้งไม่ได้ชื่นอกชื่นใจ เราอย่าทำให้เขาใจเหี่ยวใจแห้งแต่ทำให้เขาภูมิใจว่า เขาเป็นเขาทำด้วยตัวเขาเอง เขาสอบไล่ของเขาได้ แล้วเขาก็ทำอะไร ๆ ได้สำเร็จ เราเพียงแต่คอยแนะว่าควรจะทำอย่างไร แนะวิธีการให้ว่าควรจะทำอย่างนั้น ควรจะทำอย่างนี้ แล้วก็ให้เขาทำเอาเองในชีวิตของเขา อย่างนี้ก็เรียกว่าสอนเขาให้รู้จักช่วยตัวเองให้รู้จักพึ่งตัวเอง โตขึ้นก็จะเป็นคนแข็งแกร่งทุกคน เป็นคนก้าวหน้าด้วยตัวเอง ไม่มีใครให้พึ่งเขาก็พึ่งตัวเขาได้ เพราะเขารู้จักพึ่งตัวเองมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย เราจะสร้างชาติสร้างบ้านเมือง เราต้องสร้างจิตใจคนให้มีความเข้มแข็งให้รู้จักช่วยตัวเอง พึ่งตัวเอง
ท่านมหาตมะคานธีแกมีอุดมการณ์แบบพระพุทธเจ้าเหมือนกันคือ แกพยายามที่จะให้คนอินเดียพึ่งตัวเองให้มากที่สุด เช่นว่า ให้ทอผ้าใช้เอง ให้ทำการเพาะปลูก ให้ทำนั่นทำนี้ ตัวแกเองไปอยู่ในอาศรม ตื่นเช้ามืดออกไปปลูกผักเอง รดน้ำพรวนดินเอง ปั่นด้ายเองแล้วก็ทออะไรใช้เอง ผ้าที่นุ่งนี่ท่านคุยกับใคร ๆ เสมอว่านี่ผ้าของฉัน ฉันทำของฉันเอง หมวกใบนี้ฉันสานฉันถักของฉันเอง หมวกแขกขาว ๆ ที่สวมบนหัวน่ะ ฉันเองก็ถักแจกใครต่อใคร อยากให้มีรูสวมอยู่บนหัวอีกใบหนึ่ง คนสำคัญ ๆ แกถักให้ทั้งนั้นล่ะ ถักให้สวมไว้ก็เพื่ออะไร เพื่อบอกว่ามันต้องคิดช่วยตัวเอง
อันนี้คนเราถ้าคิดช่วยตัวเองได้ ต่อมาไปเป็นใหญ่เป็นโตครองบ้านครองเมืองก็คิดไปในแง่ว่า ทั้งทั้งชาติมันต้องช่วยตัวเอง ไม่ต้องไปขอเงินใครมาใช้ เราค่อยก้าวไปทีละนิดทีละหน่อย เมื่อการพึ่งตัวเองช่วยตัวเอง ถ้ามันเหลือบ่ากว่าแรงจริง ๆ จึงจะไปขอให้ใครเขามาช่วยเรา คนที่เขามาช่วย เขาก็ดูเหมือนกันแหล่ะ ดูว่าคนในเมืองนั้นชาตินั้นมันพอช่วยตัวเองได้ไหม ให้อะไรไปแล้วมันใช้เป็นไหม รักษาได้ไหม อยู่ในสภาพเรียบร้อยเป็นประโยชน์ไหม เขามาดูเหมือนกัน ถ้าเห็นว่า เออ ก็ใช้ได้ รู้จักรักษา รู้จักทำให้มันพัฒนาต่อไปก็พอจะช่วยได้ คนช่วยตนเองมันก็ต้องอย่างนั้น อย่างนั้นคนโบราณเขาพูดว่าให้ช่วยเหลือตามฐานะโน่นนี่ หมายความว่า ตามฐานะ ตามความรู้ความสามารถของคนนั้น ไม่ใช่ไปเสกปุ๊บแล้วมันใหญ่มันโตขึ้นทันทีอย่างนั้นไม่ได้ เด็กคนไหน ข้าราชการคนใดที่ผู้ใหญ่อุ้มชูมากเกินไป คนนั้นจะอ่อนแอเลย เวลาที่เราพึ่งผู้ที่เป็นที่พึ่งแล้วหมดจะมาพึ่งเลย เอาตัวไม่รอดเพราะไม่พึ่งตัวเอง ไม่พึ่งปัญญาของตัวเอง ไม่ยืนด้วยตัวของตัวเอง อย่างนี้ก็ไปไม่ไหว แล้วมันก็จะไม่ก้าวหน้าในทางเดินของชีวิตตามสมควร อันนี้น่าคิดเหมือนกัน
ฉะนั้นในหลักคำสอนในทางพุทธศาสนาของเรานั้น ถ้าเรารู้จักเอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์ แล้วการพัฒนาชีวิตครอบครัว ชาติ ประเทศแล้วไม่ขัดข้องอะไร หลักธรรมสอนในทางพระพุทธศาสนานี้ใช้ได้ทั้งนั้น เป็นประโยชน์ทั้งนั้น ไม่มีอะไรที่จะขัดข้องที่จะไปเป็นเครื่องกั้นไม่ให้เกิดความเจริญแม้ในทางวัตถุ เพราะคนเราถ้าจิตใจมันเจริญแล้ว อะไร ๆ ก็พลอยเจริญไปด้วยนั่นแหล่ะ แต่ถ้าจิตใจไม่เจริญแล้ว สิ่งอื่นมันจะเจริญขึ้นได้อย่างไร คนเราฐานไม่ดีแล้วเอาอะไรไปวางก็พังเท่านั้นเอง ฉะนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญกว่าคือเรื่องธรรมะ เรื่องในศาสนา เอาไปใช้ให้มากขึ้น ชีวิตมันจะก้าวหน้าไปในทางที่ถูกที่ชอบ
แล้วเราก็ต้องดูว่าในครอบครัวของเราได้ส่งเสริมหลักการของพระพุทธเจ้าหรือเปล่า หลักการของพระพุทธศาสนา เช่น หลักการพึ่งตัวเอง หลักการช่วยตัวเอง หรือมีอีกหลักการหนึ่งที่ว่า อยู่เพื่อความบริสุทธิ์ เราอยู่ในโลกนี่ต้องอยู่เพื่อความบริสุทธิ์ ไม่ใช่อยู่เพื่อความเศร้าหมอง เพื่อการพอกพูนอะไรต่าง ๆ เช่น หากเราไปดูหลักศีลธรรมวินัยของพระพุทธเจ้ามีอยู่ข้อหนึ่งที่กล่าวว่า ธรรมวินัยนี้เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ดับร้อน ไม่ใช่เป็นไปเพื่อการสร้างความทุกข์ความเดือดร้อนหรือว่าเป็นไปเพื่อความสุขเรา ไม่ใช่เป็นไปเพื่อความพอกพูนสิ่งที่เป็นกิเลสให้เกิดขึ้นในจิตใจ แล้วเราดำเนินชีวิตประจำวันนี่ เราต้องเป็นชีวิตประเภทที่ว่าฝึกเกลาอยู่ตลอดเวลา ไม่พอกพูนอะไร ๆ ขึ้นในจิตใจ เราจะทำงานอะไรไม่ขัดข้อง ไม่ได้ว่าทำไปเถอะตามหน้าที่ แต่ทำอย่าให้มันเป็นการพอกพูนกิเลส อย่าให้เกิดความทุกข์ใจ อย่าให้เกิดความเดือนร้อนใจ อย่าให้เกิดเป็นปัญหาอะไรขึ้นมา
อันนี้เคยพบกับคนบางคนแล้วจะได้สนทนากัน เขาบ่นว่า แหม มันเบื่อเหลือเกินในการทำงานนี่ ทำไมถึงได้เบื่อในการทำงาน อันนี้คนมักจะเบื่อ เบื่องาน เราเคยคิดกันบ้างไหมว่าทำไมมันจึงเบื่องาน เบื่อไม่อยากเป็นสมภารแล้ว เบื่อไม่อยากจะเป็นนั่นไม่อยากจะเป็นนี่แล้ว ข้าราชการบางคนก็เบื่อ บอก แหม ผมเบื่อเต็มทีแล้ว ไม่อยากจะเป็นเจ้านาย แต่ถามว่าจะเป็นอะไรอีกล่ะ ไม่อยากเป็นเจ้านายอยากจะเป็นอธิบดี แล้วยิ้ม ๆ ยังอยากใหญ่อยู่นี่ ไม่ใช่ไม่อยากเป็นเท่านั้น คือไม่อยากอยู่ในตำแหน่งนี้แต่อยากจะไปอยู่ในตำแหน่งโน้น แต่ว่ามันมีความขัดข้องในเรื่องการปฏิบัติงานในหน้าที่อะไรบางสิ่งบางประการ แล้วก็เกิดความเบื่อหน่ายไม่อยากจะทำสิ่งนั้น หรือบางทีก็เบื่อชีวิตเอาเลยทีเดียว มอง ๆ เอาแล้วไม่ห็นได้สาระอะไร ชีวิตไม่เห็นเป็นสาระ ไม่อยากจะอยู่แล้ว
ถ้าเบื่อแบบนี้มันก็ไม่ได้เรื่องแล้ว เรียกว่าไม่ใช่เบื่อด้วยปัญญา ไม่ใช่เบื่อด้วยความคิดชอบตามหลักธรรมะในทางศาสนา แต่เบื่อเพราะอะไร เขาเรียกว่าอึดอัดขัดใจ ภาษาพระ ท่านเรียกว่า กัตติยะนา กัตติยะนา (37.33 ฟังเสียงหลวงพ่อได้ไม่ชัดเจน) นี่แปลว่า อึดอัดขัดใจ มันไม่ใช่นิพพิทา นิพพิทา เป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าท่านใช้ คำว่า นิพพิทา แปลว่าเบื่อหน่ายในภาษาไทยเหมือนกัน แต่ว่าเบื่อหน่ายด้วยปัญญา ด้วยการมองเห็นสิ่งทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริง แต่ว่าไม่ใช่เบื่อหน่ายแล้วไม่ทำไม่ใช่อย่างนั้น หรือเบื่อหน่ายแล้วมันก็เลยไม่เอาแล้ว ไม่ใช่อย่างนั้น เบื่อหน่ายแล้วเขาก็ยังอยู่กับสิ่งนั้น แต่ว่าเมื่อก่อนนี้อยู่ด้วยความหลงอยู่ด้วยความเพลิดเพลิน ด้วยความเข้าใจผิดในเรื่องนั้นด้วยประการต่าง ๆ แต่ต่อมาเกิดความเข้าใจถูกขึ้นในเรื่องนั้น พอเกิดความเข้าใจถูกแล้วมันก็เบื่อแบบเก่า คือเบื่อในการที่จะเป็นเจ้าของสิ่งนั้น ขี้เกียจเข้าไปยึดถือในสิ่งนั้นว่าเป็นตัวเราเป็นของเรา แต่มีความเข้าใจขึ้นว่ามันไม่มีอะไรที่น่าจะเอามาเป็นของเรา แต่มันมีสิ่งที่เราจะต้องทำตามหน้าที่ เพราะเราเกิดมาเพื่อหน้าที่ เพื่อปฏิบัติธรรมะ การปฏิบัติธรรมะ ก็คือ ความรักงาน รักหน้าที่ แต่ไม่ใช่รักด้วยความหลงใหลด้วยความมัวเมา ด้วยความเข้าใจผิดในเรื่องอะไร ๆ รักด้วยปัญญา กับรักด้วยความโง่มันผิดกัน เหมือนคนที่อยู่ด้วยกันในครอบครัว ถ้ารักด้วยกันด้วยปัญญาแล้วมันไม่ยุ่งหรอก ไม่มีปัญหา ไม่มีเรื่องอะไรแม้แต่น้อย
เอ้า เมื่อวานซืนนี้แหล่ะไปนั่งอยู่ที่วัดแจ้ง สงขลา แล้วก็มีแขกมาหาเจ้าคุณสมภาร แขกนั้นก็เป็นแขกคุ้นกับสมภารนะ ผู้หญิงมาก่อน มาถึงก็บอกว่า เอี้ยงเพื่อนเขามาที่นี่หรือเปล่า อ๋อ เห็นเดินอยู่เมื่อตะกี้นี้ สมภาร แหม อิฉันน่ะบอบช้ำเลย หาว่าเขาตี เขาทำให้เจ็บช้ำ แล้วบอกว่าเรื่องอะไรที่ตีกัน ไม่รู้ว่าเรื่องอะไรก็เมาขึ้นมาก็ตีเท่านั้นแหล่ะ เออ เออ กูก็จัดการเสีย เดี๋ยวกูจะเรียกมันมาถาม สมภารก็ว่าอย่างนั้น ประเดี๋ยวก็ผู้ชายขึ้นมาว่า เออ ไอ้เบื๊อก มึงเป็นอย่างไร ตีเมียมึงอีกหรือ สอนมาตรา ????? (39.54 ฟังเสียงหลวงพ่อได้ไม่ชัดเจน) ผัวเมียคู่นี้ มึงตีเมียทำไม มันนั่งนิ่งเลย มันไม่ตอบเลย นั่งเฉย พอเห็นว่าเจ้าผัวนั่งเฉย เมียก็ถือสาจาระนัยเลย มันสงสัยไปด้วยประการต่าง ๆ ดิฉันก็ยิ้มกับใครไม่ได้เวลานี้ พอยิ้มแล้วมันก็นึกว่าอย่างนั้นนึกว่าอย่างนี้ เจ้าคุณบอกว่าไอ้เอี้ยงเอ๋ย ไม่ได้ความล่ะ คนขายของนี่มันต้องยิ้มบ้างสิวะ ไม่ยิ้มแล้วมันจะขายออกหรือ มันหาว่ายิ้มกับคนที่มาแต่งรถอยู่หน้าร้าน ไม่ได้รู้จักมักจี่กันสักหน่อย พอเข้ามาถามซื้อแฟซ่า ๑ ห่อ และบอกว่าไม่มี แล้วเราจะบอกหน้าบึ้งอย่างไรได้ แต่ดิฉันมันก็เสียอยู่อย่างหนึ่งคือว่ามีนิสัยชอบยิ้มเท่านั้นเอง แต่ว่าเฮีย ๆ เขาไม่ค่อยชอบการยิ้มของดิฉัน แต่ว่าอยู่ปกติเขาก็ไม่ทุบไม่ตี แต่พอกินเหล้าเข้าไปจับแก้วแล้วต้องตีขึ้นมาทีเดียวแหล่ะ
ว่าอย่างนั้นเจ้าคุณก็ว่าเจ้าผู้ชายเทศน์ใหญ่โตเลย ผู้ชายนั่งนิ่งไม่พูดไม่จา แกบอกว่านี่มันนั่งนิ่ง ๆ อย่างนี้แสดงว่ามันผิดแล้ว ถ้ามันถูกมันใส่ใหญ่เลย ไอ้นี่ แสดงว่ามันทำผิดแล้ว มันถึงนั่งนิ่ง ๆ ก็เลยพูดจาแนะนำสั่งสอนมันไปตามเรื่อง เสร็จแล้วก็เออ กลับบ้านได้แล้ว มันก็กลับกันไปเดินร่วมกันไป แล้วก็ขอมันอย่าเมาต่อไปนะ ถ้าขืนเมาต่อไปเมียมันไม่อยู่ด้วยนะ มันไม่ใช่เมียไม่อยู่แล้วบ้านมึงมันไม่ได้เรื่องหรอก แล้วมึงเองดูแต่หัวมึงสิรู้จักหวีกับเขาเมื่อไร หวีหัวของตัวก็ยังไม่เป็นแล้วมันจะมีเมียมีลูกกับเขาได้อย่างไร สมภารแกเป็นคนพูดโผงผาง พูดมึงพูดกูเลยกับชาวบ้าน พูดจาแบบลูกทุ่งว่างั้นเถอะ ชาวบ้านเขาก็ไม่โกรธไม่เคืองอะไร แต่แกก็สอนอย่างนั้นให้เขาเลิกทะเลาะกัน
อาตมานี่ก็นั่งฟังกันเรื่องอยู่ตลอดเวลา ฟัง ๆ แล้วก็นึกว่า เออ นี่แหล่ะชีวิตมันบกพร่อง เพราะว่ามันไม่มีธรรมะเป็นเครื่องคุ้มครองจิตใจ มันรักกันโดยไม่ได้ใช้ธรรมะเป็นยา เป็นเครื่องประสาน มันรักกันด้วยอำนาจกิเลส รักกันด้วยความต้องการเนื้อหนังไม่ได้ต้องการอย่างอื่น อันนี้ถ้าต้องสูญเสียวัตถุที่ต้องพึงมีพึงได้ แต่ว่าทำท่าจะสูญเสียใจไม่สบายหวงแหนขึ้นมาทันที เลยได้เหตุได้ผล คนเราเวลาเกิดอารมณ์หึงหวงมันไม่มีเหตุผล มันคิดอะไรไม่ได้ มันมืดมันบอด อย่างนั้นมันไม่มีธรรมะประจำจิตใจ การอยู่กันมันก็ไม่มีความสุข ไม่มีความสบาย ทุกข์เรื่อย เป็นทุกข์เรื่อย ภรรยาจะยิ้มกับใครก็ไม่สบายใจ ใครมาซื้อของต่อรองนาน ๆ ก็ชักจะสงสัย มันเป็นไปเสียอย่างนั้นแล้วมันจะอยู่กันได้อย่างไร อยู่อย่างนี้มันก็เป็นทุกข์ นี่เขาเรียกว่าไม่มีปัญญา ไม่มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน อยู่กันก็ลำบาก มันก็เกิดความรู้สึกไม่สบาย อิดหนาระอาใจ อิดหนาระอาใจแบบนี้มันอิดหนาระอาใจเพราะกิเลส ไม่ใช่อิดหนาระอาใจหรือเบื่อหน่ายด้วยปัญญา
ผู้ที่เบื่อหน่ายด้วยปัญญานั้นเขาไม่ทิ้งงาน เขาไม่เบื่อหน่ายในการกระทำ แต่ว่าเขาทำด้วยอารมณ์สนุกต่อไป ทำด้วยปัญญาต่อไป ไม่เกียจคร้านไม่เบื่อไม่หน่าย อีกอันหนึ่งคนเราเบื่อหน่ายในเรื่องบางอย่างก็เพราะว่า มันได้ไม่สมใจ มันได้น้อยไปหรือว่าขาดอะไรที่เราจะพึงมีพึงได้ไปแล้วก็บ่นว่าไม่เท่าเทียมเขา ได้ไม่เหมือนเขา เขาดีเขาได้มากกว่า เราได้น้อยกว่า เกิดเซ็งขึ้นมาในใจแล้ว เบื่อแล้ว ไม่อยากจะทำแล้ว อะไรอย่างนี้เป็นตัวอย่าง นี่แหล่ะเขาเรียกว่าฐานในใจมันยังไม่สูงพอ ถ้าจิตใจสูงพอแล้วจะไม่มีความเบื่อหน่ายอย่างนั้น แต่ว่าจะมีปัญญาเข้าไปกำกับอยู่ในการคิดการพูดการกระทำอยู่ตลอดเวลา ทำอะไรก็ทำด้วยปัญญา
ถ้าทำด้วยปัญญานี้มันไม่มีสิ่งที่จะน่าเบื่อ เพราะว่าผู้มีปัญญานั้นย่อมบรรเทาความเห็นแก่ตัวให้ลดน้อยลงไป คนขาดปัญญานั้นเพิ่มความเห็นแก่ตัวให้มากขึ้น คนเราก็เพิ่มความเห็นแก่ตัวมาก ความไม่เห็นแก่ตัวมันก็น้อยลงไป ถ้ามีความเห็นแก่ตัวมาก โมหะเกิดมาก โลภเกิดมาก หลงเกิดมาก อะไร ๆ มันก็เกิดมากขึ้นตลอดเวลา แต่ถ้าพอความไม่เห็นแก่ตัวเกิดขึ้นสิ่งนั้นมันเบาลงไป เช่น ความโลภก็น้อยลงไป ความโกรธก็น้อยลงไป ความหลงใหลมัวเมาในเรื่องอะไร ๆ ต่าง ๆ ก็ลดน้อยลงไป เพราะว่าเราไม่เห็นแก่ตัว ไม่มีตัวเราเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยความมืดความโกรธ แต่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยอำนาจปัญญา เราก็อยู่ได้สบายทำอะไรได้เรียบร้อย จิตใจก็เป็นสุขมีอารมณ์สดชื่นรื่นเริงในการปฏิบัติอย่างนั้น
คืนนี้ญาติโยมทั้งหลายอยากจะมีจิตใจในรูปนั้นหรือไม่ ถ้าถามก็อยากจะเป็นอย่างนั้น อยากจะอยู่อย่างสดชื่นรื่นเริงตามโอกาสที่เราได้มีอะไรเกิดขึ้น ไม่ทำให้เราต้องเสียใจ ต้องร้อนใจหรือต้องกลุ้มอกกลุ้มใจ ในเรื่องอารมณ์ประเภทต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในใจเรามันล้วนเป็นทุกข์ทั้งนั้น เรียกว่าเป็นทุกข์ทำลายจิตใจวันละน้อย ๆ ตลอดเวลา ทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ จึงไม่ควรจะเอามาคิดให้มันวุ่นวาย แต่ควรคิดว่าอะไรควรทำทันทีก็ทำลงไป ทำด้วยปัญญา ทำให้งานมันสำเร็จเสร็จเรียบร้อย ไม่ต้องคิดให้มันยุ่งในจิตใจของเรา ไอ้เรื่องจะได้จะมีอะไรนั้นอย่าไปคิดให้มาก มันมาเอง มันเป็นของมันเองตามเรื่อง
เหมือนกับเราใส่ฟืนเข้าไปในเตาไฟ มันก็ไฟก็ลุก ใส่เสร็จแล้วก็พัดหน่อย มันยังไม่ลุกโชนก็พัดมันหน่อย ไม่ต้องไปเร่งร้อนว่าลุกไวไวเสีย หรือว่าเหมือนคนหุงข้าว ตั้งหม้อบนอั้งโล่บนเตาแล้ว เสียบปลั๊กเสร็จแล้ว และก็ไปนั่งนึกว่า ร้อนไว ๆ ร้อนไว ๆ กูหิวเต็มทีแล้ว ร้อนไว ๆ หน่อย อย่างนี้ก็นั่งกลุ้มใจ มันไม่ร้อนไวเหมือนที่เราต้องการ มันเป็นตามเรื่องของมัน ความร้อนค่อยเพิ่มขึ้น ๆ ๆ ตามดีกรีของเครื่อง เสียบเสร็จแล้วก็นั่งเฉย ๆ มีอะไรอื่นก็ไปทำไปตามเรื่อง ประเดี๋ยวได้ยินเสียงน้ำร้อนขึ้นมาทันที เพราะว่ามันร้อนแล้ว มันอยู่ที่ใจ แต่ถ้าไปนั่งคอยว่า เมื่อไรจะร้อน มันก็ไม่สบายใจ แต่นี่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาวุ่นวายใจ ถ้าเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโตก็ยิ่งมากกว่านั้น เราจะต้องคิดมากไปกว่านั้น เรื่องขาดทุนเรื่องได้กำไร เรื่องอะไรต่ออะไรต่าง ๆ ความคิดมันก็แซงขึ้นมาทำให้เกิดอารมณ์ไม่สบายใจ
เวลาใดที่เราเกิดอารมณ์ไม่สบายใจนี่เราต้องหยุดทันที หยุดจัดการมันเสียก่อน เรียกว่าเครื่องกำลังเสีย เครื่องกำลังเสีย ถ้าฝืนต่อไป มันไม่ได้แล้ว เช่น เราขับรถไปไหน ๆ ถ้ารู้สึกว่าเครื่องมันเดินผิดปกติ จะไปกันทำไม ต้องดับเครื่อง จอดก่อน คิดก่อน ลงไปดูเครื่อง ดูแบตเตอรี่ ดูอะไร ถอดหัวเทียนขึ้นมาดูสิ น้ำมันเป็นอะไรมันถึงตึ้กตั้ก ๆ อย่างนี้ ต้องหยุดจอดก่อน จอดเสร็จเรียบร้อย แก้ปัญหาเสร็จ สตาร์ทเดินทางต่อไป การเดินทางก็จะไม่ถูกขัดไปถึงปลายทางได้เรียบร้อยฉันใด
ในเรื่องเกี่ยวกับจิตใจของเรานี่ก็เหมือนกัน เมื่อมันมีอะไรขลุกขลักเกิดขึ้น เรื่องขลุกขลักทางใจคือเรื่องใจร้อน ความร้อนใจ ใจเร็วหรือมีอารมณ์ประเภทเสียมันเกิดอารมณ์หงุดหงิดงุ่นงาน ไม่สบายด้วยปัญหาอะไรร้อยแปด นี่แสดงว่าเครื่องติดขัด เครื่องภายในติดขัดแล้ว ถ้าติดขัดอย่างนี้อย่าขืนปล่อย ขืนปล่อยก็ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะอารมณ์ที่เกิดกับใจนั้น ถ้าเราไม่รู้ว่ามันคืออะไรล่ะก็ มันไปกันใหญ่ มันต้องเกิดแตกแขนงออกไป แล้วก็ดีกรีแห่งความทุกข์ ความร้อนใจ ความกังวล ความมีทุกข์ มันเพิ่มขึ้น ๆ จนเรานั้นกลุ้มใจอยู่คนเดียว ในขณะที่เรานั่งกลุ้มใจอยู่คนเดียวนั้น เรารู้ว่านั่นแหล่ะคืออวิชชา ความไม่รู้เกิดขึ้นแล้วเพราะมันดึงไปตามอำนาจของอวิชชา แล้วมันก็ไปตามแถวของมันเรื่อยไป กลุ้มใจเรื่อยไป ผุดลุกผุดนั่งขึ้นอย่างนั้นแหละไม่จบไม่สิ้น
คืนนี้ถ้าหากว่าเราได้ศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้า เราจะต้องคิดว่าอะไรเกิดขึ้นแล้วแก่เรา เราควรจะจัดการกับสิ่งนี้อย่างไร นี่เป็นปัญหาที่ควรจะคิดก่อนว่าอะไร ๆ ๆ กำลังเกิดขึ้น ใจเราเป็นอย่างไร มันผิดปกติแล้ว ถ้าร้อนใจนี่ผิดปกติแล้ว วิตกกังวลในเรื่องอะไรรุนแรงจนกระทั่งหัวใจทำงานมากล่ะก็ผิดปกติแล้ว อวัยวะในร่างกายผิดปกติ ความคิดความอ่านผิดปกติ เหมือนเครื่องยนต์ผิดปกติแล้ว ตื่นเช้าไปได้หรือ มันจะเสียหายกันใหญ่ เรานั้นต้องหยุดซ่อม หยุดซ่อมกันคืนนั้นเลย นั่งลง ๆ แล้วก็มองดูตัวเอง พิจารณาตัวเองว่ามันเรื่องอะไร
ลองถามตัวเองว่ามันเรื่องอะไร ร้อนใจเรื่องอะไรจ๊ะ ถามตัวเองอย่างนั้นแหล่ะ ร้อนใจเรื่องอะไรจ๊ะ ทำไมมันถึงหลงได้อย่างนี้ ที่ทำไมมันถึงโลภไปอย่างนี้ คิดไปเท่านี้มันก็เบาแล้ว เบาขึ้นมาแล้ว เบาเพราะอะไร เพราะว่าแสงสว่างน้อย ๆ ได้ส่องเข้ามาแล้ว ส่องเข้ามานิดหน่อยคล้ายกับเราอยู่ในห้องมืด เจาะรูสักนิดหนึ่งให้มันสว่างเข้า ขอไฟเท่านี้เสีย ก็เอาเป็นรูสักหน่อย ก็พอมีแสงสว่างพอมีอากาศเปลี่ยน แล้วเราก็ไปยืนหายใจที่ตรงนั้น มันก็ยังสดชื่นฉันใด จิตใจของเรานี้ก็เหมือนกัน พอเรารู้ปั๊บนี่มันแสงสว่างเข้าไปแล้ว รู้สึกตัวแล้ว จงรักษาความรู้สึกนั้นไว้ให้นานหน่อย แล้วจะถามต่อไปว่าเรื่องอะไร เรื่องอะไร คิดไป ๆ เดี๋ยวก็พบเรื่อง เดี๋ยวเราก็ตอบได้ทันที กลุ้มใจโว้ย กลุ้มเรื่องอะไร เราก็ต้องค้นเองกลุ้มเรื่องอะไร จับต้นชนปลายได้ไหม บางทีมันกลุ้มจนจับไม่ถูก ว่ามันเริ่มต้นเรื่องอะไร อันนี้ต้องยึดหลักไว้ว่า สิ่งทั้งหลายต้องมีต้น ต้องมีต้นตอ มีเข้าเงื่อน มีเหตุและผล
พระพุทธเจ้าว่าสิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ แม้มันมาสิ่งนี้แล้ว เหตุมันต้องอยู่ตรงนี้ อยู่ที่เริ่มต้นนี้ เราค่อยสาวไป ๆ ๆ จนกระทั่งว่า อ๋อ ไอ้ตัวนี้นี่เองทำให้ร้อนใจวันนี้ ทำให้กังวลใจ ทำให้เกิดปัญหาขึ้น เราก็ไปเพ่งไอ้ตัวนั้นว่ามันอะไรกันแน่ อะไรกันแน่ มันเกี่ยวข้องอะไรกับเรา และเราเข้าไปเกี่ยวข้องอะไรกับมัน เราเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งนี้ด้วยปัญญาหรือว่าเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งนี้ด้วยความหลงใหลเข้าใจผิด อย่างนี้นะ ถ้าทุกข์มันหลงนะ เข้าใจผิดนะ เนื้อแท้มันเป็นอย่างไร
เอ้า เรามาพิจารณากันหน่อย ยกขึ้นมาตั้งเข้าเฉพาะหน้า เอามีดหั่นมันออก มีดคือปัญญานั่นแหล่ะ หั่นออกเป็นชิ้นเล็กน้อย สับให้ละเอียดเหมือนกับสับบะช่อเลยทีเดียว อะไรหนอทำให้ข้ายุ่งใจหนักหนา เอ็งมันคืออะไร คิดไป ค้นไป ในขณะคิดค้นนั้น มันสบายขึ้นเรื่อย ๆ เพราะอารมณ์ทุกข์มันเบาไปแล้ว อารมณ์กลุ้มมันก็หายไปแล้ว ทำไป ๆ ก็เดี๋ยวเจอต้นตอ แล้วเราก็ถึงบางอ้อเท่านั้นเอง เอ้า อยู่ตรงนี้เอง แหม โง่เสียนาน เกาหัวตัวเองได้บอกตัวเองโง่ไปเสียหน่อย ทีหลังข้าไม่เอากับแกแล้ว แกมาทีไร ทำให้ข้ายุ่งทุกที เราก็จำได้ จำเจ้าพวกนั้นไว้ ขโมยเข้าบ้านครั้งแรกจำหน้าไม่ได้ มาบ่อย ๆ จำหน้าได้ ผลที่สุดก็จับส่งตำรวจได้
อารมณ์ก็เหมือนไอ้ขโมยนั่นเแหล่ะ เผลอไม่ได้ ไม่มียามเฝ้าประตู เดี๋ยวก็มา แหล่ะ ยามคือสติกับปัญญา สองตัวนี้ต้องใช้ สตินั้นคือคอยกำหนดรู้ว่า อะไรเกิดขึ้น อะไรตั้งอยู่ในใจของเรา คอยกำหนดรู้ มีสติไหม ฉันมีปัญหาก็มาช่วยหน่อย มาคิดมาค้นว่าอะไรกันแน่ ศัตรูเหมือนแขกยาม ยืนอยู่ประตูเห็นใครเข้ามากดกระดิ่ง กริ๊ง นายในบ้านรู้ว่าใครมาก็ไม่รู้ นายจะทำอย่างไร แง้มประตูหน่อย ประตูมีช่องไว้ดู ยังไม่หลับทีเดียว เดี๋ยวมันมุดเข้ามาเดือดร้อนอีกเหมือนกัน เปิดกว้าง ๆ ไม่ได้ ขโมยมันแอบเข้ามาทันที ก็มีช่องน้อย ๆ ไว้สักรู สร้างบ้านสร้างช่องก็มีประตูน้อย ๆ ไว้ส่อง รูเล็ก ๆ ไว้มองตาเดียว มองสองตาไม่ต้อง มองตาเดียวข้างหน้า เราจะรู้ว่าผู้ที่มานี่เป็นมิตรหรือเป็นศัตรู ถ้าเป็นมิตร เปิดประตูรับ ถ้าเป็นศัตรูก็ปิดประตูเสีย ไม่ให้เข้า
อารมณ์ภายนอกที่มากระทบเรานี่ก็เหมือนกัน มันมาอย่างมิตรก็ได้ มาอย่างศัตรูก็ได้สุดแล้วแต่อารมณ์ ทีนี้ถ้ามาอย่างมิตรเราต้อนรับ แต่ถ้าด้วยปัญญาเหมือนกัน มิตรนี่ก็ถ้ารักมากมันก็ไม่ได้ เป็นทุกข์เหมือนกัน ส่วนศัตรูนั้นเรารับไม่ได้แต่เราจะต้องมองว่ามันมาอีท่าไหน มันจะมาแสดงนึกคิดเห็นอย่างไร มันจะทำให้เราเกิดอะไรขึ้นในใจต่อไป เราต้องคอยแกล้งมัน พิจารณาโดยละเอียดรอบคอบแล้วเจ้าสิ่งนั้นก็ไม่สามารถจะทำอะไรเราได้ อย่างนี้เรียกว่าเราใช้ปัญญา สติมาก่อน เพราะฉะนั้นสองอย่างนี้ต้องไปด้วยกัน สติทันท่วงที ปัญญาตามมาคิดวิเคราะห์ วิจารณ์ เพื่อให้รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร เสร็จแล้วก็หยุดไว้เพียงนั้น อย่าให้รุกล้ำเสีย อย่ารุกล้ำเนื้อที่ไป สิ่งนั้นมันก็ไม่ทำอะไรเราต่อไป อย่างนี้มันก็สบาย เรียกว่าอยู่ด้วยสติปัญญา
พระพุทธเจ้าท่านจึงบอกว่าให้อยู่ชอบ การอยู่ชอบก็หมายความว่าให้อยู่ด้วยสติปัญญา มีความเห็นชอบเห็นตรงในสิ่งนั้น ถ้าเรารู้เท่ารู้ทันและเราได้วิจัยว่าอะไรเป็นอะไร เรื่องมันก็สงบไปโดยลำดับ สิ่งทั้งหลายไม่รบกวนเรา ไอ้คนเราที่เกิดอะไรนาน ๆ เพราะไม่รู้ตัว ลืมตัวทั้งนั้น ลืมตัวโกรธสัก ๓ ชั่วโมง บางทีลืมตัวโกรธสัก ๓ วันเลย นานเหลือเกิน ๓ วัน บางคนโกรธ ๓ ปี แหมนี่ เหลือเกินนะโกรธตั้ง ๓ ปี มันไม่โกรธแล้ว ๓ ปีก็กลายเป็นพยาบาทไปกันใหญ่ เลยยุ่งกันใหญ่ไม่รู้ว่าตัวกำลังพยาบาท ไม่รู้ว่ากำลังเกลียดคนนั้น ไม่รู้ว่ากำลังริษยาคนนั้น แล้วคนนั้นเขานอนสบาย เขาไม่รู้เรื่อง แต่ตัวนี่ผุดลุกผุดนั่งตลอดเวลา เรื่องอะไรที่มันเป็นอย่างนี้แหล่ะ เพราะว่าไม่ได้ใช้ธรรมะเป็นเครื่องประคับประคองแล้วมันยุ่ง
จึงขอญาติโยมได้พิจารณากันไว้บ่อย ๆ วันนี้พูดมาก็สมควรแก่เวลาแล้ว ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจเป็นเวลา ๕ นาที