แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
พวกเรามาฟังกันทุกอาทิตย์เป็นประจำ ออกพรรษาแล้วก็ฟังกันไปเรื่อย ๆ ยังเทศน์กันไปเรื่อย ๆ มีคนโทรมาถามว่าออกพรรษาแล้วยังเทศน์หรือเปล่า ก็ต้องเทศน์กันตลอด ออกพรรษา ในพรรษา ไม่มีการหยุด มีธุระก็ไป ว่างจากธุระก็มา ฟังไว้เพื่อเป็นข้อเตือนจิตสะกิดใจให้เกิดความคิดนึกในทางที่ถูกที่ชอบ อันจะช่วยให้เกิดความก้าวหน้าในการศึกษา ในการปฏิบัติธรรมตามสมควรแก่ฐานะ
เรื่องที่จะนำมาพูดกันทุกวันอาทิตย์ก็มีการหลายเรื่องหลายประการ บางเรื่องก็เป็นการพูดเพื่อแก้ไขความเข้าใจที่ไขว้เขว ในปัญหาชีวิตด้วยประการต่าง ๆ บางครั้งก็พูดเพื่อแก้ไข ลัทธิประเพณีซึ่งเราเชื่อกันมาแต่ว่าไม่ถูกความหมายก็แนะนำ เพื่อให้ญาติโยมเกิดความรู้ความเข้าใจ จุดมุ่งหมายสำคัญของการแสดงธรรมในวัดชลประธานนี้ ก็เพื่อจะชี้แนะแนวทางที่ถูกที่ชอบให้แก่ญาติโยมทั้งหลาย อันใดผิดก็บอกว่าผิด อันใดถูกต้องก็ไม่แตะต้องเพราะมันถูกต้องดีอยู่แล้ว
ความจริงตั้งแต่เริ่มแสดงธรรมมาเป็นเวลาก็หลายปีแล้ว ตั้งแต่หนุ่มจนกระทั่งแก่บัดนี้ ก็มีจุดหมายอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง คือ จุดหมายเพื่อจะแก้ไขปรับปรุงความเข้าใจการกระทำของญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลายให้ใกล้ต่อคำสอนของพระพุทธเจ้ามากยิ่งขึ้น เพราะว่าในการประพฤติปฏิบัติที่เรากระทำกันมานั้น บางทีก็ทำตามกันมาแต่ไม่รู้จุดหมายว่าทำเพื่ออะไร สาเหตุของเรื่องนั้นเป็นมาอย่างไร ไม่เข้าใจความหมายก็ประพฤติปฏิบัติตาม ๆ กันมา การกระทำในรูปอย่างนั้นไม่เกิดผลในทางละในทางเจริญ จึงต้องทำความเข้าใจกันว่าที่ถูกนั้นเป็นอย่างไร ทีนี้ในการพูดจาแก้ไขบางทีก็กระทบกระเทือนจิตใจของคนที่มีความเชื่อมั่นอยู่ในเรื่องเหล่านั้น ความเชื่อที่ยึดมั่นนั้นกระทบกระเทือนก็เพราะว่า เราเคยทำมาอย่างนั้น เคยประพฤติปฏิบัติมาในรูปอย่างนั้นนานมาแล้ว ก็ไม่ยอมจะเปลี่ยนแปลง อันนี้ก็ลำบากใจอยู่สักหน่อย แต่ถ้าหากว่าเราฟังแล้วมีเหตุมีผลควรแก่การพิจารณา อะไรที่ไม่ถูกต้องก็เปลี่ยนแปลงเสียให้เป็นการถูกต้อง อะไรถูกต้องอยู่แล้วเราก็ประพฤติปฏิบัติสิ่งนั้นต่อไป อันนี้จะช่วยให้เราเข้าใจอะไรดีขึ้น
ให้นึกถึงในสมัยครั้งพระพุทธเจ้าของเรา พระผู้มีพระภาคเจ้าสอนพุทธศาสนาก็เพื่อแก้ไขความเชื่อผิด ๆ ของคนที่มีอยู่ในสมัยนั้น โดยเฉพาะชาวอินเดียในสมัยโบราณ ก็มีความเชื่อตามแบบเก่า ๆ ที่มีมานานแล้วไม่มีการเปลี่ยนแปลง การที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็เพราะว่าไม่มีคนกล้าในการที่จะเปลี่ยนแปลง ไม่มีใครที่จะพูดความจริงยิ่งไปกว่านั้นให้เขารู้ เขาเข้าใจ ก็เลยถือปฏิบัติกันมาในรูปอย่างนั้น พระพุทธเจ้าของเราได้ออกบวชแสวงหาสัจจะธรรม ได้รู้ เมื่อได้ค้นพบธรรมะแล้วก็นำไปสอนประชาชน สิ่งใดที่ไม่ถูกต้องพระองค์ก็บอกว่าอย่างนั้นไม่ถูก พระองค์ก็ใช้ถ้อยคำอย่างชนิดที่เรียกว่านุ่มนวล ไม่กระทบกระเทือนเท่าไหร่นัก เช่น พูดว่า “อริยะชน เขาไม่ทำกันอย่างนี้” เพราะว่าคนอินเดียนั้นเป็นเผ่าอริยะ เพราะอย่างนั้นพระองค์จึงบอกว่า “อริยะชนเขาไม่ทำกันอย่างนี้” เขาก็สงสัยว่าอริยะชนเขาประพฤติอย่างไร พระองค์ก็บอกว่า “ต้องทำอย่างนี้” “ที่ถูกควรจะเป็นอย่างนี้” คนเหล่านั้นก็เข้าใจ แล้วก็เปลี่ยนความคิด เปลี่ยนการกระทำกันให้ถูกตรง
แต่ว่าเวลา ๔๕ ปีที่พระองค์ทรงปฏิบัติงานนั้น ยังน้อยเกินไปสำหรับเรื่องการแก้ไข ความคิดความเห็นของคน ซึ่งเกรอะกรังกันมานานเหลือเกิน แต่ก็ได้พอสมควร แล้วเอกสารการสอนทั้งหลายก็เหลือมาจนกระทั่งถึงพวกเราในสมัยนี้ เราทั้งหลายก็ได้นำมาใช้เป็นหลักปฏิบัติต่อไป คัมภีร์ต่าง ๆ ในทางพระพุทธศาสนานั้นมีอยู่ในภาษาบาลี
สมัยก่อนนี้การศึกษาไม่แพร่หลาย คนรู้บาลีมีน้อยหาได้ยาก เพาะว่าการศึกษาไม่ทั่วถึง แล้วก็คนที่รู้ก็ไม่ค่อยจะศึกษาให้ลึกซึ้ง ไม่นำเอาเนื้อแท้ในพระคัมภีร์นั้นมาพูดให้ญาติโยมชาวบ้านฟัง การที่ไม่พูดไม่ฟังนั้นก็นึกว่าฟังแล้วมันจะไม่เข้าใจ หรือตัวท่านเองก็อาจจะไม่ได้สนใจในเรื่องอย่างนั้นก็ได้ ทำไปตามเรื่องตามราว ตามประเพณีที่เคยประพฤติปฏิบัติกันมา สืบ ๆ ต่อกันมา เพียงสักว่าประเพณี แต่ว่าการกระทำอะไรตามประเพณีนั้น ก็ช่วยรักษาพระพุทธศาสนาส่วนเปลือกไว้ได้มากเหมือนกัน
สมัยพวกเราในยุคปัจจุบันนี้ พูดถึงด้านการศึกษาก็มีความก้าวหน้าพอสมควร และด้านโลกก็ศึกษากันมากจนกระทั่งถึงขั้นมหาวิทยาลัยได้ปริญญาเป็นบัณฑิตกัน ทั้งชั้นต่ำ ชั้นกลาง ชั้นสูง พระสงฆ์องค์เจ้าก็มีการศึกษากว้างขวางขึ้น ได้เรียนบาลีกันมาก ๆ แล้วก็แพร่หลายมากยิ่งขึ้นไปทุกวันเวลา ควรที่จะได้นำข้อความอันถูกตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้ามาพูดให้ญาติโยมทั้งหลายได้เกิดความรู้ความเข้าใจกันบ้าง จึงได้มีการพูดกันในรูปที่เราได้ยินได้ฟังกันอยู่นี้
แต่ว่าการพูดในเรื่องความจริงนั้น ย่อมจะกระทบกระเทือนจิตใจคนที่ยังไม่เข้าใจความจริงอยู่บ้างเป็นธรรมดา ถ้าเราจะกลัวว่าเป็นการกระทบกระเทือนแล้วเลยไม่พูด ก็ไม่มีทางที่ญาติโยมทั้งหลายจะได้รู้ความจริง จะได้เข้าใจความจริง อะไรที่ผิดก็จะต้องผิดเรื่อยไป ไม่สามารถจะเปลี่ยนให้เป็นการถูกต้องได้เพราะการเกรงใจกันนั่นเอง ความเกรงใจในการแก้ไขสิ่งผิดให้กลายเป็นสิ่งถูกนั้น เป็นความเกรงใจที่ใช้ไม่ได้ เพราะจะเป็นเหตุให้เกิดความเสื่อม ความเสียหายต่อสถาบันทางพระศาสนา ซึ่งเราถือว่าสถาบันทางพระศาสนานี้เป็นสิ่งสูงสุด มีคุณค่าต่อชาวโลกมากเหลือเกิน เราก็ต้องมีการปรับปรุงตามสมควร
ความจริงเรื่องการปรับปรุงนั้นไม่ใช่ไปปรับปรุงหลักอะไร เพียงแต่ว่าทำความเข้าใจให้ถูกต้องตรงตามความหมายของเรื่องเท่านั้นเอง เรื่องมันมีอยู่แล้ว เรียบร้อยอยู่แล้ว แต่ว่าไม่ได้เข้าใจตรงตามความหมายหรือตามเป้าหมายของพระผู้มีพระภาค เราก็มาพูดจาทำความเข้าใจ เพื่อให้ญาติโยมได้เข้าใจความหมายนั้นถูกต้องชัดเจนยิ่งขึ้น เป็นการกระทำที่ต้องกระทำในสมัยนี้แล้ว ถ้าไม่ทำจะเสียหายอย่างไร
เดี๋ยวนี้คนในโลกมีคนเป็นสองประเภท คือ คนประเภทหนึ่งนั้นมีความเชื่ออย่างเดียว ไม่ใช้ปัญญาเลย เรียกว่าเอาแต่ความเชื่อ มีศรัทธาเป็นความเชื่อเท่านั้นแต่ไม่มีปัญญาเข้าไปกำกับความเชื่อนั้น ความเชื่อนั้นจึงไม่ค่อยจะเรียบร้อย และอีกพวกหนึ่งนั้นมีปัญญาเข้าไปกำกับด้วย โดยเฉพาะคนที่มีการศึกษาก้าวหน้าในวิทยาการต่าง ๆ ย่อมมีปัญญา มีความคิดความอ่าน มีข้อสงสัย เช่น เห็นเขาทำอะไรก็มักจะสงสัยว่า ทำไมจึงทำอย่างนั้น ทำไมจึงทำอย่างนี้ อันนี้มีคนสงสัยมากขึ้นทุกวัน ทุกเวลา เมื่อสงสัยแล้วมันก็เป็นปัญหาในใจ ถ้าไม่มีใครแก้ข้อสงสัยนั้นอาจจะทำให้เกิดการไม่ก้าวหน้าในการประพฤติธรรมก็ได้ เพราะสงสัยอยู่ ลังเลอยู่ ความสงสัยลังเลนี้มันเป็นนิวรณ์ เขาเรียกว่าเป็นเครื่องกั้นจิตไม่ให้บรรลุคุณงามความดี
ให้เราสังเกตง่าย ๆ ว่า ขณะใดที่เราลังเลใจเราไม่ก้าวหน้า เราทำอะไรไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องส่วนรวม เรื่องอะไรก็ตาม ถ้ามีข้อสงสัยแคลงใจขึ้นมาแล้วทำไม่ได้ ไม่ก้าว หยุดอยู่ตรงนั้น หยุดอยู่เพราะความสงสัย พอเราทำลายความสงสัยนั้นได้ก้าวต่อไป
ไม่ต้องอะไรเราขับรถไปถึงสามแยก ไม่รู้ว่าจะไปแยกไหนดีมันก็งงอยู่ตรงนั้น แล้วคันหลังก็ว่าทำไมไปหยุดอยู่ตรงนั้น เพราะว่าไม่รู้ว่าจะไปทางขวาหรือทางซ้ายหรือจะตรงไปดี นี่คือความลังเล แต่พอรู้ว่าเลี้ยวขวาก็หักเลี้ยวทันที บางทีเลี้ยวไม่ดูขวาเพื่อนชนเอาก็มีเหมือนกัน เดี๋ยวก็ไปได้เพราะว่ามันหายสงสัยแล้ว ในชีวิตของการประพฤติธรรมนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเกิดความสงสัยแคลงใจแล้วก็จะเกิดความเบื่อหน่าย ไม่เข้าหาแนวทางที่ถูกต้อง
จึงเป็นความจำเป็นที่เราจะต้องพูดแก้ความสงสัยของคนสมัยยุคปัจจุบันนี้ ให้คลายไปด้วยการชี้ให้เห็น (06.41 ไฟล์เสียงติดขัด) เมื่อเขาได้ยินได้ฟังแล้วก็เกิดความเข้าใจว่าพระพุทธศาสนาเป็นอย่างนี้ หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้ แล้วจะมองเห็นว่ามันเป็นหลักการที่รับได้ นำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ ไม่ใช่เรื่องงมงาย ไม่ใช่เรื่องที่ใช้ไม่ได้ในสังคมในยุคปัจจุบันนี้ คนเหล่านั้นก็ยินดีรับสิ่งถูกต้องอันเป็นเนื้อแท้ของพระพุทธศาสนา
ถ้าเราไม่พูดกันเสียเลยเขาก็นึกว่ามันอย่างนี้งมงาย ทำอยู่กันอย่างนี้ไม่มีอะไรที่เรียกว่าดีงาม เขาก็ยิ่งเบื่อหน่ายใหญ่ ผลที่สุดจะกลายเป็นคนไม่มีศาสนา ไม่มีหลักประจำใจ ทำอะไรก็ทำไปตามเรื่องตามราว นี่คือผลเสีย แต่ถ้าเราพูดทำความเข้าใจกับเขา เขาก็ได้รู้ว่าเป็นเช่นนั้น เช่น เรามีหนังสือประเภทที่ทำความเข้าใจ เขาซื้อไปอ่าน ความสงสัยนั้นก็หายไป แล้วก็รู้ว่าเนื้อแท้ของพุทธธรรมนั้นคืออะไร เขาก็ไม่ต้องสงสัยต่อไป เขายินดีที่จะนำมาปฏิบัติ
ถ้าพูดถึงสิ่งที่เป็นของจริงของแท้ในพระพุทธศาสนาแล้ว เราไม่ต้องกลัวเลย ไม่ต้องกลัวว่าใครจะมาพิสูจน์ ใครจะมาทำอย่างไรนั้น ไม่มีกลัวทั้งนั้น เพราะทนต่อการพิสูจน์ ทนต่อการทดสอบทุกสิ่งทุกประการ เพราะพุทธศาสนาเป็นสัจจะ เป็นความจริงแท้ ใครจะเอาไปพิสูจน์แง่ใด ในรูปใดก็ได้ทั้งนั้น เราไม่กลัวในเรื่องอย่างนี้ แต่ถ้ามันเป็นของเท็จของเทียมนี่น่ากลัว ถ้าเขาเข้าใจว่าของเทียมนั้นเป็นของแท้ ของไม่ถูกว่าเป็นของถูก ของไม่จริงว่าเป็นของจริงนี่อันตราย เขาเอาไปพิสูจน์แล้วเห็นว่ามันจริงเลยไม่รับ เมื่อไม่รับเขาก็ไม่มีหลักสำหรับจิตใจ นี่มันเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นที่พูดอะไรออกไปในรูปของการแก้ไขเพื่อจุดหมายอย่างนี้ เพื่อให้คนที่มีการศึกษา มีปัญญา สมัยใหม่ได้เข้าใจ และเพื่อแก้ไขความงมงายต่าง ๆ ที่ญาติโยมมีอยู่บ้าง ก็รับมาโปรดจะได้รู้ว่า ที่ถูกนั้นเป็นอย่างไร และเราก็จะได้รับเอาที่ถูกไว้
คนที่เป็นคนมีปัญญามองเราประพฤติปฏิบัติหรือกระทำเขาก็จะดูหมิ่นเราไม่ได้ เขาจะเห็นว่า พุทธบริษัทเป็นผู้มีปัญญา มีความเข้าใจ มีเหตุ มีผล ทำอะไรถูกต้องตามหลักเกณฑ์ ไม่งมงาย ประโยชน์มันได้ทั้งสองฝ่าย เพราะฉะนั้น ญาติโยมได้ฟังอะไรแล้วก็อย่านึกว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ให้นึกว่า สิ่งที่พูดออกไปนั้นเป็นการพูดเพื่อปรับปรุงแก้ไข เพื่อขัดเพื่อเกลาให้สิ่งทั้งหลายถูกต้องดีขึ้น ขอให้ญาติโยมได้เข้าใจอย่างนี้
ตัวอย่างที่จะพูดทำความเข้าใจประการแรก ก็คือว่าเคยได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่ง เขาไปเที่ยวที่สวนโมกข์แล้วก็บอกว่าที่สวนโมกข์นี่ไม่มีสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา คือ มีพระพุทธรูปองค์นิดเดียว หน้าตักกว้าง ๕ นิ้วเท่านั้นเอง แต่ว่ารูปอื่นนั้นใหญ่โตมโหฬาร เขาไม่สบายใจ อ่านแล้วก็รู้สึกว่ายังไม่เข้าใจถูกต้องในเรื่องนี้ จึงอยากจะทำความเข้าใจกับญาติโยมบ้างในเรื่องนี้ เนื่องจากจะมีความเข้าใจที่ไขว้เขว เช่น เราไปในวัด สมมุติว่าในศาลา ไม่มีพระพุทธรูปเราก็ไม่สบายใจ ไหว้แล้วไม่รู้จะไหว้อะไร เพราะเราเคยไหว้พระพุทธรูปติดอยู่ตลอดเวลา พอไม่เห็นก็ไหว้ไม่ถูกไม่ต้อง อย่างนี้ก็เพราะว่าไปติดอยู่ในสิ่งนั้นที่เป็นรูปวัตถุ ติดมานานเพราะมีพระพุทธรูปมานานแล้ว ความจริงอันเป็นเนื้อแท้มันเป็นอย่างไร
พระพุทธรูปนี้เกิดขึ้นเพราะอะไร มีมาในสมัยใด ก็จำเป็นที่จะต้องเล่าให้ญาติโยมฟังสักเล็กน้อยว่า เมื่อพระพุทธเจ้าของเราจะเสด็จปรินิพพานนั้น พระอานนท์ชอบถามปัญหาเรื่องอะไรหลายเรื่องหลายประการ ถ้าไปอ่านในพระสูตรเขาเรียกว่า ปรินิพพานสูตร เป็นสูตรเกี่ยวกับเรื่องก่อนนิพพานของพระพุทธเจ้าแล้วเราจะพบว่า พระอานนท์ถามหลายเรื่องหลายประการ เรื่องเล็กเรื่องน้อยท่านถามทั้งนั้น แล้วพระองค์ก็ตอบทุกอย่าง มีปัญหาหนึ่งที่พระอานนท์ทูลถามว่า เมื่อพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ได้เข้าเฝ้าใกล้ ๆ ได้ฟังธรรม ได้ถือเอาพระองค์เป็นครูเป็นอาจารย์ ในคำบาลีให้คำว่า สัตถา แปลว่าเป็นครูหรือเป็นอาจารย์นั่นแหละ ครั้นเมื่อพระองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว พวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา จะถือเอาใครเป็นตัวแทนพระองค์ต่อไป จะเอาใครเป็น สัตถา เป็นครูแทนพระองค์ต่อไป เมื่อพระอานนท์ถามอย่างนี้พระผู้มีพระภาคตอบอย่างไร
พระองค์ตรัสตอบว่า “โย โว อานนฺท มยาธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา" (17.14) ว่า ดูก่อนอานนท์ ธรรมวินัยอันใดที่เราได้สอนแล้วบอกแล้วแก่เธอทั้งหลาย ธรรมวินัยนั้นแหละจะเป็นครูเป็นอาจารย์แทนเราต่อไป นี่อันนี้ญาติโยมต้องจำไว้ให้ดี จำไว้ให้ดีว่าสิ่งแทนพระพุทธเจ้าที่พระองค์ตรัสไว้คือ ธรรมวินัย ตัวธรรม ตัววินัย เป็นตัวแทนพระพุทธเจ้า เป็นครูเป็นอาจารย์แทนองค์พระพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ไปนิพพานแล้วก็ถือว่าธรรมวินัยเป็นสิ่งแทนองค์พระพุทธเจ้าต่อมา ให้เราจำหลักนี้ไว้ในใจให้มั่น แล้วถ้าเราจะเข้าถึงก็เข้าถึงตรงนี้ เข้าถึงธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ก็คือเอาธรรมวินัยมาเป็นดวงประทีปนำทางชีวิต เอามาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ถ้าเรามีหลักธรรมวินัยอยู่ในใจของเรา เรียกว่าเรามีพระพุทธเจ้า เรามีพระธรรม พระสงฆ์ อยู่ในใจของเรา นี่คือเรื่องแรก เพียงไม่มีวัตถุใดเป็นเครื่องเคารพแทนองค์พระพุทธเจ้า
ครั้นในสมัยต่อมาคือว่าประเทศอินเดียที่ถูกรุกรานจากชาวตะวันตกในสมัยนั้น ชาวตะวันตกนี่รุกรานเอเชียมานานแล้ว รุกรานมาตั้งแต่หลังพุทธปรินิพพานประมาณสัก ๒๐๐ ปี คือ ก่อนพระเจ้าอโศกมหาราชก็เริ่มรุกรานประเทศอินเดีย คนที่มารุกรานนี่เป็นพวกกรีก คนกรีกในสมันก่อนนั้นนับถือเทวรูป นับถือรูปเคารพ เป็นรูปเทวดาทั้งนั้น เทพเจ้านานาชนิด มีมากมายก่ายกอง ในกรุงเอเธนส์ที่เป็นเมืองหลวงสมัยนี้ สมัยก่อนก็เป็นนครหลวง เป็นที่อยู่ของพวกนักปราชญ์ราชบัณฑิต คนสำคัญ ๆ เกิดในกรีกนี่มาก เช่น นักปราชญ์ เพลโต โสกราตีส อะไรเนี่ย เกิดรุ่นเดียวกันกับพระพุทธเจ้าเหมือนกันก็เป็นชาวกรีก ชนชาติกรีกในสมัยนั้นเจริญด้วยปัญญาพอสมควร แต่ว่าเขานับถือเทวดา จึงทำรูปเทวดาไว้กราบไหว้บูชาสักการะ ถ้าใครไปเที่ยวกรุงเอเธนส์ในสมัยนี้จะไปเห็นเทวสถานร้าง ๆ มีอยู่มากมาย กลายเป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยว ก่อนคริสเตียนเข้าไปถึงนี่เขาถืออย่างนั้นเขาว่าอย่างนั้น นับถือมากทีเดียว
ครั้นเมื่อพวกจากกรีกซึ่งมีพระเจ้าแผ่นดินในสมัยนั้นคือพระเจ้าอเล็กซานดอร์มหาราชนั่นเอง ยกทัพมาตีถึงอินเดียตอนเหนือ เมื่อเขามาเขาก็เอาวัฒนธรรมมาด้วย กองทัพกับวัฒนธรรมนี่มันมาด้วยกัน ประเทศใดไปตีประเทศใดได้ก็ต้องนำวัฒนธรรมเข้าไปเผยแผ่ เพราะถือว่าการเผยแผ่นั้นเป็นการครอบงำจิตใจคนทำให้คนต้องตกเป็นทาสได้ในรูปอย่างนั้นเหมือนกัน เขาก็นำวัฒนธรรมรูปเคารพมาด้วย มาให้คนอินเดียเห็น คนอินเดียเห็นเข้าก็นึกว่าดี คนเรานี่ถ้าแพ้ใครก็เห็นว่าที่ผู้ชนะทำมันดีไปทั้งนั้น เห็นดีเห็นงาม ก็อยากจะทำบ้าง
สมัยก่อนนี้แม้ในศาสนาฮินดูนี่ก็ไม่มีรูปเคารพ นับถือเทวดาเหมือนกันแต่ไม่มีรูปเคารพ นับถือพระพราหมณ์ นับถือพระศิวะ นับถือพระวิษณุและเทวดาอื่น ๆ อีกมากมายก่ายกอง แต่ไม่มีรูปสำหรับเคารพ คือยังไม่มีความคิดที่จะทำรูป ครั้นเห็นรูปเคารพของกรีกเข้าคนเหล่านั้นก็เกิดความคิดว่าเราจะต้องทำบ้าง แต่ว่าพอถึงบทจะทำนี่ทำไม่ถูก ไม่รู้ว่าจะทำรูปอย่างไร พระอิศวรหน้าตาเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ จมูกเหมือนคนหรือเปล่าก็ไม่รู้ ไม่รู้ว่าจะปั้นรูปอย่างไร ก็เลยทำเครื่องหมายแทนพระศิวะที่เขาเรียกว่าศิวลึงค์นั่นเอง ศิวลึงค์ที่อยู่วัดโพธิ์อันใหญ่ที่เราไปเห็นคนเอาพวงมาลัยไปสวมไปบูชา เอาทองไปปิด ไปบนบานศาลกล่าว ขอให้ถูกหวย ถูกเบอร์สักทีเถอะ อะไรต่าง ๆ นั่นแหละ อันแรกที่ชาวอินเดียสร้างขึ้น เขาเรียกว่าศิวลึงค์ เอามาไว้เป็นที่บูชาสักการะ ถ้าไปเที่ยวอินเดียโดยเฉพาะที่พุทธคยา พวกมหันต์ที่นับถือพระศิวะ ยังอุตริเอาศิวลึงค์ไปปักไว้ในเจดีย์พุทธคยาด้วย ปักโผล่ขึ้นมานิดหนึ่ง ชาวพุทธอยากจะขุดออกจากตรงนั้นไม่ยอม ขืนขุดเป็นต่อยกันแน่ทีเดียวเลยก็ต้องปล่อยไว้ แขกไปใครมาก็เอาพรมไปปูทับลงไปเสียไม่ให้เห็นอันนั้น แต่ถ้าพอเปิดพรมก็โผล่หัวขึ้นมาอีกแล้ว เอาไม่ออกมันไปฝังไว้แล้ว ถ้าหากว่าไปดูวัดมหันต์ที่อยู่ใกล้พุทธคยานี่เต็มไปหมดเลยศิวลึงค์อันเล็กอันน้อย ไหว้กันเยอะไปหมดเชียว จุดเทียนบูชากันเป็นการใหญ่ นี่คือรูปเคารพอันแรกที่เกิดขึ้นในอินเดีย แล้วต่อมาก็ค่อยแตกแขนงขึ้นมาเรื่อย ๆ เรื่อย ๆ วิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ จนเป็นคนจริง ๆ ปั้นรูปพระศิวะจริง ๆ รูปพระพรหมสี่หน้าจริง ๆ และรูปคนนั้นคนนี้มากมาย
ชาวพุทธก็ยังไม่ทำรูปพระพุทธเจ้า เพราะไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เพราะเขาเคารพต่อพระพุทธเจ้า ทำแล้วจะไม่เหมือนแล้วไม่น่าไหว้ เอาไปทำไว้ในที่ที่ไม่เหมาะก็ไม่สมควรเลยไม่ทำ แต่ว่าอิทธิพลของการไหว้รูปเคารพนี่มันมากขึ้นทุกวันทุกเวลา ความต้องการของประชาชนก็เกิดขึ้น คนเรานี่มีอยู่อย่างหนึ่งนี่ที่เรียกว่าสำคัญ “เอาอย่าง” เขาเรียกว่าลัทธิเอาอย่าง ใครทำอะไรก็ชอบเอาอย่างเขา ลัทธิเอาอย่างนี่แพร่หลายเร็วมากในเมืองไทย ก็เรื่องเอาอย่างหลายเรื่องหลายประการแพร่หลายรวดเร็ว ในสมัยนั้นก็เช่นเดียวกัน เห็นว่าคนฮินดูเขาทำสิ่งไว้เคารพกราบไหว้เช่นนั้น ชาวพุทธน่าจะทำบ้าง แต่ว่าไม่ทำรูปพระพุทธเจ้า ทำเครื่องหมายแทนองค์พระพุทธเจ้า ถ้าโยมไปที่ไชยาจะไปเห็นรูปข้างโรงมหรสพทางวิญญาณ มีมากมาย นั่นที่เอามาปะไว้นั่นเป็นเครื่องศึกษาให้เห็นว่าความเป็นมาของพระพุทธรูปเป็นอย่างไร ไม่ใช่ศิลปะที่ธรรมดา แต่เป็นศิลปะทางตำนาน ทางประวัติศาสตร์ของรูปเคารพ คนที่ไปดู ๆ เผิน ๆ ก็เห็นว่าไปเอารูปโป๊อะไรมาติดไว้ข้างพระวิหารนั่น หรือเอารูปแขกไปติดไว้ข้างวิหาร นั่นไม่ได้ดูด้วยปัญญา ไม่ได้ดูด้วยการศึกษา ดูผ่าน ๆ พ้นไปแล้วก็ไม่ได้เรื่อง ไม่ได้อะไรเกิดขึ้น ความจริงเป็นสิ่งดีที่ได้เอามาทำไว้เพราะว่าต้องไปเที่ยวถ่ายในที่ต่าง ๆ ที่ประเทศอินเดียใช้เวลาหลายเดือน ท่านเจ้าคุณพุทธทาสท่านไปท่านใช้เวลาหลายเดือนเพื่อศึกษาเรื่องต่าง ๆ ไม่ได้ไปเที่ยวเหมือนคนไปชั่วครั้ง ชั่วคราวเหมือนคนไป ๑๕ วันกลับมาได้นิดหน่อย นี่ท่านไปจริง ๆ ไปดูที่หนึ่งก็ต้องดูหลายวัน เช้าขึ้นไปเดินดูพิจารณาว่ามันเป็นมาอย่างไร มีความหมายอย่างไรดูละเอียด เรียกว่าไปเรียนไปศึกษาอย่างแท้จริงแล้วถ่ายรูปมาด้วย ชาวพุทธเราไม่ทำรูปพระพุทธเจ้าก็ทำเครื่องหมายแทนไว้
เช่นว่า ในการประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ เขาไม่ทำรูปเจ้าชาย แต่ว่าทำดอกบัวเป็นดอก เรียงไปหลายดอก นั่นเป็นเครื่องหมายว่าเจ้าชายเกิดขึ้นในโลกแล้ว ทำไมเอาดอกบัวไปแทนการประสูติ เพราะดอกบัวนั้นเป็นดอกไม้สะอาด เป็นดอกไม้ที่สวยงาม คนพออกพอใจ ถือว่าเป็นของสูงเลยทำเป็นดอกบัวแทนเป็นเครื่องหมาย แล้วรูปดอกบัวที่ทำแทนการประสูตินี้ มิใช่รูปอย่างเดียว มีหลายแบบหลายอย่าง ใส่ในแจกันสวยงามก็มี บานเฉย ๆ ก็มี ไม่มีแจกันใส่ ทำเป็นลวดเป็นลายประดับประดาสวยงามก็มี ล้วนแต่เป็นเครื่องหมายแทนการประสูติของเจ้าชายทั้งนั้น แต่รูปนางมายาก็ทำ รูปสาวใช้ก็ทำไว้ รูปเทวดาเยอะแยะมากราบมาไหว้ แต่เจ้าชายไม่มี มีแต่ดอกบัวเป็นเครื่องหมายแทน อันนี้เป็นตัวอย่าง เวลาอสิตดาบสซึ่งเป็นผู้คุ้ยเคยกับพระเจ้าสุทโธทนะมารู้ว่าพระเจ้าสุทโธทนะมีพระโอรสเป็นชายก็ไปเยี่ยม พระเจ้าสุทโธทนะสั่งสาวใช้ให้ยกเจ้าชายมาให้พระฤๅษีดู ถ้าเราไปดูรูปปั้น รูปนี้เอามาจากศาลกรีกในอินเดียเป็นเจดีย์เก่าแก่ที่สุดในโลกก็ว่าได้ สาวใช้ถือดอกมาบนดอกไม่มีอะไร ที่ไม่มีอะไรทำให้คนคิดเอาเอง คิดว่านี่แหละ เจ้าชายนอนอยู่ในเบาะนี้แหละ ถ้าเห็นก็เลยไม่คิด ไม่เห็นเลยจะดีกว่า คือทำให้คิดว่านี่เจ้าชายนอนอยู่ในเบาะนี้ ฝ่ายฤๅษียกมือไหว้ แสดงอาการครั้งแรกก็ยิ้ม ไม่ถึงกับหัวเราะ ยิ้ม แล้วก็ร้องไห้ ยิ้มเพราะว่าดีใจที่ได้เห็นว่าเจ้าชายมีรูปร่างงาม เสียใจว่าอายุมันแก่แล้ว ไม่ได้อยู่ชมบุญเจ้าชายเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ก็เลยร้องไห้ ก็เขียนภาพฤๅษีให้ดูด้วย แต่รูปเจ้าชายไม่มี เพราะเขาไม่ทำรูปเคารพของพระพุทธเจ้าไว้ นี่เป็นตัวอย่าง
ต่อไปจากนั้นเช่นว่าภาพการเสด็จออกบวช เขามีรูปม้ามีเบาะอานพร้อม แล้วก็มีเทวดากางร่มด้วย มีนายฉันนะจูงม้าด้วย แล้วก็บนหลังม้าไม่มีอะไร ทิ้งว่างไว้เฉย ๆ ที่ว่างไว้เฉย ๆ ให้คนคิดว่านี่เจ้าชายสิทธัตถะ นั่งบนหลังม้านี้ออกบวช แล้วม้าก็ออกบวช รูปออกบวชนี่ บางรูปก็ทำถึงขนาดว่า เทวดาเอามือมารับเท้าม้าไว้เลย ที่เทวดาเอามือมารับเท้าม้านี่เป็นเครื่องหมายว่าออกบวชกลางคืน คือว่าไม่มีเสียง เอามือรับเท้าม้ามันยิ่งไม่ดัง ถ้าม้าวิ่งจะดัง กุบกับ ๆ นี่เอามือรับไว้เสีย หมายความว่าม้าไม่มีเสียง ที่ไม่มีเสียงนั้นหมายความว่าออกบวชเวลากลางคืน ไม่ใช่ออกกลางวัน ไม่ใช่ออกต่อหน้าพระเจ้าสุทโธทนะหรือพระราชวงศ์ แต่ว่าออกไปกลางคืนจึงทำม้าให้มีเทวดารองรับไว้อย่างนั้น นั่นก็เป็นเครื่องหมายแทนเหมือนกัน ครั้นเมื่อออกบวชแล้วตอนตรัสรู้ เรามักจะเห็นว่ามีภาพอะไร ก็มีแต่ต้นโพธิ์และบนต้นโพธิ์มีพวงมาลัยดอกไม้เต็มไปหมด คนเอามาไหว้ มาบูชา ใต้ต้นโพธิ์ก็ทำเป็นแท่นไว้เฉย ๆ ไม่มีรูปพระพุทธเจ้าบนนั้น ให้รู้ว่าพระองค์นั่งบนแท่นตรงนี้แล้วได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ ทำเพียงเท่านั้น ๆ เอง แล้วภาพต่อไปคือภาพการแสดงปฐมเทศนา เขาได้ทำรูปเหมือนกัน แต่ได้ทำรูปวงล้อธรรมจักร เป็นเครื่องหมายแทนธัมมจักกัปปวัตตน-สูตร แล้วก็มีกวางหมอบสองตัวแสดงว่าเทศน์ครั้งแรกที่สวนกวางใกล้เมืองพาราณสี ไม่มีรูปใครทั้งหมด ไม่มีรูปใครแต่ว่าในตอนหลังก็มีรูปปัญจวัคคีย์ แต่ไม่มีรูปพระพุทธเจ้าเขาทำไว้เพียงเท่านั้น ภาพที่นิพพานก็เหมือนกัน เขาทำต้นสาละ ๒ ต้น แล้วมีแท่นตรงกลาง บนแท่นนั้นไม่มีใคร ให้ใครมองแล้วก็ให้คิดว่าพระพุทธเจ้านิพพานที่ตรงนี้ และรูปอื่นอีกมากที่เขาทำไว้ ล้วนแต่ไม่มีรูปพระพุทธเจ้าทั้งนั้น อันนี้เรียกว่าครั้งแรกเมื่อยังไม่มีรูปเคารพ ก็ใช้เท่านี้ไปก่อน
ญาติโยมคงจะเคยไปพระแท่นอุตรดิตถ์ เขาเรียกว่าพระแท่นศิลาอาสน์ พระแท่นศิลาอาสน์ที่อุตรดิตถ์นั้น เขาทำขึ้นเลียนแบบสมัยยังไม่มีพระพุทธรูปนั่นเอง จึงได้ทำรูปเช่นนั้นไว้ทำแท่นเช่นนั้นไว้ แต่ว่ามาตอนหลังก็เอาพระพุทธรูปไปวางบนแท่น ทำให้เสียรูปทางโบราณคดีไป เนื้อแท้ไม่มีอะไรบนนั้นควรจะทิ้งว่างไว้อย่างนั้น เพื่อให้คนได้ศึกษาว่าเดิมมันเป็นมาอย่างไร พระแท่นเปล่า ๆ ไม่มีอะไร ครั้นต่อมาเมื่อได้ไปกราบไปไหว้อยู่อย่างนี้ จิตใจคนมันชอบขยาย ชอบทำอะไรให้มันมากขึ้นไป ก็เลยนึกว่าไม่เห็นรูปพระพุทธเจ้า เอาแต่พระบาทก็ยังดี เลยก็ทำพระบาททีนี้ ทำพระบาทไว้ไหว้ พระบาทของพระพุทธเจ้าที่ทำในอินเดียนั้น ไม่มีลวดมีลายอะไร เป็นรอยเท้าธรรมดา ๆ ที่เขาแกะลงไปในแผ่นหินไม่มีลวดลาย แต่พอมาถึงเมืองไทยนี่ลวดลายเต็มไปหมดเลย เช่น พระบาทสระบุรี เป็นต้น มีลวดลายมาก ญาติโยมอาจจะนึกว่าพระบาทที่สระบุรีนี่พระพุทธเจ้ามาเหยียบไว้ในรอยหินนั้น รอยลึกลงไปตั้งครึ่งเมตรเลย ไม่ใช่รอยน้อย ๆ ความจริงหินมันเป็นอยู่อย่างนั้น
แต่ว่าพระเจ้าทรงธรรมเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา ท่านเป็นพระมาก่อนมีความรู้ทางศาสนาอะไรดี ท่านคงจะไปธุดงค์ในป่าในดงไปพบรอยนั้นไว้ ครั้นต่อมาเป็นพระเจ้าแผ่นดินก็นึกว่าต้องสร้างอะไรไว้ให้คนไหว้บ้าง เพื่อให้คนได้กราบได้ไหว้ แล้วอีกประการหนึ่งเรียกว่าท่านออกไปไม่ค่อยจะเรียบร้อย คือลูกศิษย์ทำให้ ลูกศิษย์ ไปปฏิวัติ ไม่ใช่ว่าจะเรื่องอะไร ปฏิวัติเอาพระเจ้าแผ่นดินออกไป แล้วตัวเองจะเป็นเองก็ไม่ดี บอกหลวงพ่อสึกเถอะ เป็นพระมานานแล้ว ไปเป็นพระเจ้าแผ่นดินเถอะ คนมันซุบซิบนินทากัน ข่าวลือก็ลือกันว่าพระเจ้าแผ่นดินองค์นี้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อันนี้ท่านต้องการที่จะกลบข่าวลือให้มันหายไป ก็เลยพบพระพุทธบาทขึ้น กลายเป็นคนบุญหนักศักดิ์ใหญ่ขึ้นมา เพราะว่าก่อนนี้ไม่มีก็เลยไปพบเข้าที่นั่น ให้นายพรานบุญไปพบเข้า ก็เลยเป็นเรื่องเป็นราวไปกราบไปไหว้อยู่ นี่ก็เลียนแบบมาจากสมัยที่ยังไม่มีพระพุทธรูป มีแต่พระบาทเป็นเครื่องหมายแทน
ครั้งแรกก็มีรอยเดียว แต่ต่อมาก็เห็นมีแต่รอยเดียวรอยข้างขวา รอยข้างซ้ายหายไปไหน เลยก็ทำสองรอยขึ้นมา ก็เลยกลายเป็นพระพุทธบาทสองรอย แล้วก็ทำเป็นแข้งขึ้นมาหน่อย เรียกว่าพระยืน ที่อุตรดิตถ์มีวัดสองวัดบนเนินเดียวกัน คือ วัดพระแท่นกับวัดพระยืน วันพระแท่นเป็นของคณะธรรมยุติกนิกาย วัดพระยืนของมหานิกาย เถียงกันอยู่ตลอดเวลาเลยสองวัดนี้ จะต่อยปากกันอยู่ตลอดเวลา ทั้งพระยืน ทั้งพระแท่นนี่ จะต่อยกันอยู่ตลอดเวลา นี่เขาเรียกว่าไม่เข้าถึงพระพุทธเจ้า ไปถึงอะไรก็ไม่รู้ ขณะที่เราคิดจะเถียงจะทะเลาะกันไม่มีพระนะเวลานั้น มีกิเลสเข้ามาอยู่ในใจ ลืมนึกถึงพระพุทธเจ้า ลืมนึกถึงธรรมะ ลืมนึกถึงพระสงฆ์ว่าคืออะไรเลยจะต่อยปากกัน เป็นถ้อยเป็นความถึงโรงถึงศาล ไม่ใช่น้อยนะสมัยนั้น ฟ้องศาลให้ผู้พิพากษาตัดสิน เป็นพระนี่จะให้ผู้พิพากษาตัดสินก็แย่เต็มทีแล้ว เราควรจะตัดสินตัวเองว่ามันผิดหรือถูก พิจารณาตัวเองมากกว่า ได้ข่าวว่าพระไปขึ้นศาลทีไร อาตมานี่ใจไม่สบายเห็นแล้วอายแทน เกิดมานี่ทำไมไม่เอามือลูบหัวเอาเสียบ้างว่าเรานี่มันหัวโลน ไปให้คนหัวรกตัดสินนี่มันเรื่องอะไร ผู้พิพากษาก็ต้องตัดสินไปตามเรื่อง บางทีก็ต้องตัดสินดูเอาบ้างเหมือนกันว่าไม่น่าจะทำอย่างนั้น ในคำพิพากษาว่าอย่างนั้น ตามหน้าที่ก็ทำในนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เราไม่ควรจะเป็นถ้อย เป็นความกันถึงขนาดนั้น นั่นก็ทำแบบนั้น
ครั้นต่อมาเมื่อไหว้กราบอย่างนี้อยู่นาน เป็นเวลาไม่ใช่น้อยนะเจ็ดร้อยปีที่มีรูปมาเป็นลำดับ ๆ นี่ตั้งเจ็ดร้อยปี จึงเกิดมีพระพุทธรูปขึ้นอย่างจริงจัง คราวพระพุทธรูปรุ่นแรก ๆ นี่ในอินเดียเขาทำด้วยหินแกะสลักสวยงามมาก ทำเป็นจีวรเป็นกลีบเลยทีเดียว แล้วก็พระกรรณนี่ยานหน่อย หูยาวหน่อย แล้วก็มีพระเกศ บนพระเศียรนี่ ทำเป็นนูน ๆ ขึ้นไป ไม่เป็นเกลียวสูงขนาดอย่างนี้ แต่ว่าเป็นนูน ๆ ขึ้นไป ที่ทำอย่างนั้นเพื่ออะไร ให้ผิดกับรูปเทวดา เพราะรูปเทวดาเขาทำก่อนแล้ว รูปพระอิศวร พระวิษณุ อะไรเขาทำก่อนแล้ว คือ พวกที่สร้างพระพุทธรูปก็ต้องสร้างต้องทำให้ผิดกับรูปเทวดา คนไปเห็นก็รู้ว่ารูปพระพุทธเจ้าจะทำอย่างไร ก็ให้มีผ้าห่ม รูปเทวดาไม่มีผ้าห่ม ล่อนจ้อนนี่ แล้วทีนี่พระพุทธรูปก็ให้มีผ้าห่ม แล้วพระเศียรก็ให้แปลก พระกรรณให้แปลก อะไร ๆ ก็ไม่ให้เหมือน เขาแกะสลักอย่างสวยงาม ฝีมือดี รูปน่ากราบน่าไหว้ ไปเห็นแล้วก็รู้สึกว่าสวยงามมาก แต่ว่ารูปงาม ๆ เหล่านี้ถูกทำลายพอใช้เหมือนกัน เช่น ต่อยจมูกไปเสียบ้าง ทุบแก้มให้แหว่งไปเสียบ้าง นั่นมันก็แค่ฝีมือของคนพวกหนึ่งที่ชอบทำลาย ไม่ใช่คนชาวฮินดูแต่ว่าเป็นคนอีกประเภทหนึ่ง เขาทำลายสิ่งเหล่านี้ แต่ถึงกระนั้นไปดูแล้วก็ยังเห็นว่าสวยงาม โดยเฉพาะพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาทำด้วยหิน ทำพระหัตถ์อยู่ในรูปอย่างนี้ พระพักตร์สวยงามมาก ไปดูแล้วเสียใจ คือจมูกท่านไม่มี ถูกทุบจมูกหักไปเลย นี่เป็นอย่างนี้ มีอยู่ พระพุทธรูปเกิดขึ้นมาโดยลำดับมาอย่างนี้ ๆ จนกลายเป็นพระพุทธรูปขึ้นมาให้คนได้กราบได้ไหว้
ครั้นเมื่อมีเป็นองค์พระพุทธรูปขึ้นแล้ว ก็ทำตามเรื่องราว เช่นว่า ปางนั้น ปางนี้ เราจะเห็นว่าพระพุทธรูปเขาเรียกว่าปางสมาธิ ปางสะดุ้งมาร ปางห้ามมาร ปางห้ามญาติ ปางอะไรต่าง ๆ คือทำตามตำนานนั่นเอง
เช่นว่า ปางสะดุ้งมารก็คือนั่งขัดสมาธิ เอามือขวานี่ตบหัวเข่าไว้ ทำตามแบบตอนใกล้จะตรัสรู้ว่ามีมารมารบกวน แล้วก็ทำท่าจะลุกขึ้น ลุกขึ้นได้เอามือตบขาไว้ว่าอย่าลุกขึ้น จะต้องทำต่อไปอย่าคลายความเพียร เพราะตั้งใจไว้ว่าจะให้สำเร็จไม่สำเร็จจะไม่ลุกขึ้นจากที่นั่ง โดยก่อนที่จะนั่งลงกระทำความเพียร ปูหญ้าคาแปดกำมือรองแล้วพระองค์ก็ตรัสว่า เลือดเนื้อจะเหือดแห้งไป เหลือแต่หนังหุ้มกระดูกก็ช่างหัวมันเถอะ สิ่งใดที่จะสำเร็จด้วยความเพียร ด้วยความบากบั่นของตน ถ้าไม่สำเร็จสิ่งนั้ เราจะไม่ลุกขึ้นจากที่นั่งนี้เป็นอันขาด อันนี้เรียกว่าอธิษฐานใจอย่างแรงกล้า ยอมตายให้กระดูกผุอยู่ตรงนี้แหละถ้าไม่สำเร็จ แต่พอทำไป ๆ เกิดกิเลสรบกวน พญามารนี่แหละไม่ใช่ใครที่ไหนหรอก แต่ว่าเขาเขียนให้เป็นภาพ พญามารขี่ช้างคีรีเมฆตัวใหญ่ บอกว่าช้างนี้เท้าหน้าอยู่ที่อินเดียพุทธคยา เท้าหลังอยู่ที่ขอบจักรวาลโน้น ไม่รู้อยู่ตรงไหนขอบจักรวาล มันใหญ่โตเหลือเกินช้างตัวนี้แสดงความยิ่งใหญ่ของกิเลสไม่ใช่เรื่องอะไร ว่าเรื่องกิเลสนี้มันยิ่งใหญ่มันครอบงำมนุษย์ไปทั่วโลก ทั่วสากลจักรวาลเลยทีเดียว แล้วก็มีพญามารถืออาวุธครบครันมาผจญพระพุทธเจ้ามาทวงอาสนะ บอกว่านี่มันที่นั่งของเราท่านจะมานั่งไม่ได้เราต้องเอาคืนมาทวงเอาคืน หมายความว่ากิเลสมันมารบกวนนั่นเอง แล้วก็อีกครั้งหนึ่งก็เขียนเป็นภาพมารเหมือนกัน แต่ว่าถือดอกไม้อะไร ๆ กลายเป็นดอกไม้ ข้างใต้ภาพนั้นเขามีนางธรณีบีบน้ำมวยผมให้ไหลไปท่วมมาร จระเข้ทั้งหลายมากินพญามารตายไปตาม ๆ กัน ภาพนางธรณีนั้นคือพระพุทธเจ้าท่านให้แผ่นดินเป็นพยาน หมายความว่าพระองค์นึกถึงความมั่นคงของแผ่นดิน ความอดทนของแผ่นดิน แล้วทำใจให้หนักแน่นประดุจแผ่นดิน ไม่พ่ายแพ้แก่มารมารบกวน เลยก็ชนะมาร นี่เขาทำภาพพระสะดุ้งมารไว้
แล้วก็ภาพอื่น เช่น ภาพทำสมาธิ ขัดสมาธิอย่างนี้เอามือขวาวางบนมือซ้าย เขาเรียกว่า ปางสมาธิ ยังไม่สะดุ้งมารก็นั่งปางนั้น แต่ถ้าเราเห็นพระยืนยกมือข้างเดียวคือมือขวา มือขวานี่ก็ห้ามมารเหมือนกัน บอกว่า เอ็งอย่ามายุ่งกับข้านะ ข้าจะตั้งใจปฏิบัติ เพื่อหลุดพ้นจากความทุกข์ ออกไป ยกมือห้ามมารว่า ออกไป อย่ามายุ่งกับข้า
อันนี้ยกสองมือนี่เขาเรียกว่าพระปางสมุทร ห้ามสมุทร คือ ห้ามญาติ ญาติทะเลาะกันเรื่องน้ำในแม่น้ำโรหิณี ปีนั้นฝนมันแล้งจัด แล้งกว่าที่แล้งในเมืองไทยปีนี้อีก น้ำมันก็น้อยไม่พอใช้ อันนี้ก็เลยทะเลาะกัน แย่งน้ำกัน พระองค์ก็ไปเทศน์ไปสอน ท่านก็ไปยกมือห้ามว่าอย่ารบกันห้ามมาร ภาพนี้ก็ดีที่โต๊ะทำงานของบัณฑิต เนรูห์ จะมีพระองค์นี้วางอยู่บนโต๊ะหันหน้ามาหาแก เวลาไปเที่ยวบอกญาติโยมว่านี่ พระพุทธเจ้าท่านห้ามว่า มุสลิม กับ ฮินดูอย่ารบกัน อยู่กันให้ดี ๆ ฮินดูก็อินเดีย มุสลิมก็อินเดียอย่ารบกันเลย ท่านห้ามอินเดียสองฝ่ายว่าอย่ารบกันเอาไว้ นี่เขาเรียกว่าพระปางห้ามญาติ แล้วก็มีปางอื่น ๆ กันอีกมากมายก่ายกองตามประวัติ ใคร ๆ ก็ทำขึ้นเรื่อย นึกฝันขึ้นมาก็ทำภาพนั้นภาพนี้ขึ้นมา นี่คือตำนาน มันเป็นมาอย่างนี้ พระพุทธรูปจึงเกิดขึ้นในโลก ให้คนได้กราบไหว้บูชา สักการะ
เมื่อเรากราบไหว้พระพุทธรูปนี่ควรจะไหว้อย่างไร ควรจะทำใจอย่างไร เดี๋ยวนี้พระพุทธรูปกลายเป็นวัตถุศักดิ์สิทธิ์ไป เป็นของขลังศักดิ์สิทธิ์ไปในรูปหนึ่ง คนเข้าไปกราบไหว้โดยอาการวิงวอนขอร้องบนบานศาลกล่าว เพื่อให้ได้สิ่งที่ตนประสงค์ การกระทำในรูปเช่นนั้นก็อยากจะบอกญาติโยมอย่างตรงไปตรงมาว่า ผิดหลักการของพระพุทธศาสนา เพราะพระพุทธศาสนาสอนให้ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่สอนให้ไปวิงวอน ขอร้อง บนบานศาลกล่าว เช่น เราไปไหว้หลวงพ่อวัดพนัญเชิง หลวงพ่อวัดโสธร วัดอะไรก็ตามใจเถิด ที่ไหว้กันอยู่ทั่ว ๆ ไปนั้น ก็พูดกันอย่างไม่เกรงใจว่ายังไหว้อย่างเด็กเกินไป ไม่ได้ไหว้กันอย่างคนมีปัญญา คนมีความคิดความอ่าน เป็นเด็กไปหน่อย แล้วเป็นเด็กมาเป็นร้อย ๆ ปีด้วย ไม่ใช่เป็นเด็กมานิดหน่อย นานเหลือเกิน เป็นเด็กอยู่นาน ไม่ยอมเจริญ ไม่ยอมเติบโตในทางจิตทางวิญญาณ ยังเป็นเด็กเรื่อยไป แตะต้องไม่ได้ ถ้าใครไปแตะต้องก็พูดเข้าเลยทีเดียว หาว่ามาดูหมิ่นถิ่นแคลน พระพุทธเจ้าอะไรต่าง ๆ นานา ซึ่งเนื้อแท้ไม่ใช่อย่างนั้น เราไม่ได้ไหว้ในรูปอย่างนั้น เราไหว้เพียงเพื่อให้นึกถึงพระคุณของพระองค์ เช่น เราเข้าไปกราบพระพุทธรูปนี่ก็ต้องเข้าไปกราบ เพื่อเอาภาพนั้นเป็นสิ่งจูงใจ ให้ได้นึกไปถึงจริยาวัตรอันดี อันงามของพระองค์ ให้นึกถึงพระคุณที่มีอยู่ในพระองค์ว่ามีอะไรบ้าง
เช่น เรานึกถึงพระคุณ ๙ ประการที่เราสวดมนต์แปลด้วยนะ อิติปิโส ภะคะวา แม้เพราะเหตุอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น อะระหัง เป็นพระอรหันต์ ดับเพลิงกิเลส เพลิงทุกข์สิ้นเชิง เราต้องนึกไปถึงเรื่องเหล่านั้น พระคุณของท่าน หรือว่านึกย่อ ๆ สั้น ๆ เอาเพียง ๓ เรื่องก็ได้ เพราะว่าพระคุณ ๙ ย่อแล้วก็เหลือ ๓ ก็คือ พระกรุณาคุณ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ เมื่อเราเข้าไปนั่งกราบนั่งไหว้ เราจะนึกถึงพระคุณของท่าน หรือ ถ้าเราเคยอ่านพุทธประวัติ เราก็ไปนั่งนึกทบทวนถึงประวัติของพระพุทธเจ้า เพื่อให้เกิดความรัก ความเคารพต่อพระองค์ เราเห็นความดีเราก็รักมากขึ้น เคารพมากขึ้น ถ้าไหว้เฉยๆ ไม่เกิดอะไรเท่าใด นอกจากว่า ทำใจให้หยุดได้ชั่วขณะหนึ่ง แต่ว่าไม่ก้าวหน้าเท่าใด จึงควรนึกว่าพระองค์ดีอย่างไร เสียสละขนาดไหน มีความเพียรขนาดไหน อดทนขนาดไหน ใช้ชีวิตของพระองค์ให้เป็นประโยชน์ต่อใคร อย่างไร นึกให้ละเอียด ตามประวัติที่เราได้อ่านได้ ศึกษามา
แล้วเราก็ควรอธิษฐานใจว่า เราจะสร้างพระพุทธเจ้าขึ้นไว้ในใจของเรา สร้างพระไว้ในใจ สร้างพระพุทธเจ้าไว้ในใจ สร้างอย่างไรสร้างไว้ในใจ ก็คือ เอาพระคุณของท่านนั่นแหละมาใส่ไว้ในใจของเรา
เช่น พระพุทธเจ้าท่านมีความกรุณาต่อชาวโลก เราก็ทำใจให้มีความกรุณา หัดสงสาร หัดเอ็นดูเพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย ให้นึกอยู่ในใจว่าเพื่อนมนุษย์ทั้งหลายเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน หรือว่า สัตว์ทั้งหลาย เป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน เราไม่คิดจะเบียดเบียนใคร ไม่คิดจะทำใครให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน เรามีใจอิ่มเอิบไปด้วยเมตตา กรุณา เห็นใครเราก็นึกแผ่เมตตา ขอให้เป็นสุข ขอให้มีความเจริญ ขอให้มีความก้าวหน้า
ถ้าใครเจริญเราก็พลอยยินดี เราไม่ริษยาใคร เราไม่คิดจะเบียดเบียนใคร อย่างนี้เรียกว่าเราสร้างพระขึ้นไว้ในใจ พระเมตตา มีพระกรุณาประจำจิตใจ
คนที่มีพระกรุณาประจำใจนี่ ยิงไม่เข้าไม่มีใครมายิงคนประเภทนั้นหรอก เพราะเราไม่เคยคิดจะเบียดเบียนใคร ๆ จะมาเบียดเบียนเรา คนที่ยิงกันตายนี่มีอะไรทั้งนั้นลองศึกษาดูเถิด มันร้ายทั้งคู่นี่แหละ ฝ่ายผู้หญิงก็ร้าย ฝ่ายผู้ชายก็ร้ายเหมือนกันแหละ เรียกว่าร้ายด้วยกันทั้งคู่ ขาดสำนึกด้วยกันทั้งคู่ ไม่มีพระทั้งคู่ คือ ไม่มีพระในใจจึงได้เกิดเรื่องอย่างนั้นขึ้นมา
เราก็สร้างพระคือความกรุณาประจำใจ จะไปไหนเราก็ต้องนิมนต์พระกรุณาใส่ใจไป เราทำอย่างไร เช่น เราลงจากบ้านจากเรือนไป เราก็บอกตัวเราเองว่า เราจะไปด้วยน้ำใจกรุณา เราไปเพื่อประโยชน์ ไปเพื่อความสุขแก่คนทั้งหลาย มีโอกาสใดมีอะไรที่ข้าพเจ้าจะได้ใช้ชีวิตของข้าพเจ้าให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ทั้งหลายได้บ้าง เรานึกอย่างนั้นแล้วคอยหาช่องหาโอกาสที่จะกระทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์
โอกาสที่จะทำประโยชน์นั้นมันมีมากมาย ขับรถไปบนถนนนี่ก็ทำได้แล้ว เช่นว่า เราไม่แซงขึ้นหน้าใคร เราไม่ตัดหน้าใคร เราไม่แย่งใคร เราให้เขา ๆ อยากไปก่อน เชิญพ่อคุณไปตามสบายเถิด เรายิ้มตลอดให้เขาไปสบาย ๆ ไปไว ๆ เถิด ได้ไปโรงพยาบาลกันบ้างละ อันนี้อย่าแถมเข้าไปตรงนั้นไม่ได้ เราให้เขาไปสบาย อย่าให้ไปโรงพยาบาลเลยพ่อคุณเอ๋ย นี่เราแผ่เมตตาให้เขา จิตเราสบายไม่เกิดอารมณ์ขุ่นมัว ไม่เกิดความเศร้าหมองอะไร
แม้ใครจะทำอะไรให้แก่เราในทางร้าย เรายิ้มรับด้วยหน้าชื่นตาบาน เราไม่โกรธแต่เราสงสาร ๆ ว่า ทำไมจึงปล่อยจิต ปล่อยใจ ให้ตกต่ำอย่างนั้น ทำไมจึงให้กิเลสครอบงำอย่างนั้น โตขนาดนั้นแล้วทำไมไม่มีปัญญา ไม่มีความคิดความอ่าน ปล่อยตัว ปล่อยใจ ให้ตกในอำนาจของกิเลส ทำอย่างไรหนอจึงจะช่วยยกจิตใจของคนนั้นให้มันสูงขึ้นสักหน่อย คิดไปในเรื่องอย่างนั้นไม่โกรธใคร ไม่เคืองใคร ไม่ก่อความร้าวรานให้เกิดขึ้นแก่ใคร ๆ นี่เรียกว่าเรามีพระ เราไปกับพระเดินทางไปกับพระ จะทำอะไรก็ต้องทำอย่างคนมีพระ ก็ต้องคิดว่า สิ่งที่เราจะทำนี้จะเกิดอะไรบ้าง กระทบกระเทือนใครบ้าง ใครเดือนร้อนเพราะการกระทำของเราบ้างไหม เราไม่ได้อยู่เพื่อให้ใครเดือนร้อน เราจะไม่ทำอะไรให้ใครต้องได้รับความทุกข์ความเดือนร้อน เราคิดไว้ในใจอย่างนี้ไว้ตลอดเวลา อย่างนี้ก็เรียกว่าเรามีพระอยู่ตลอดเวลา พระกรุณามันฝังแน่นอยู่ในจิตใจ คนมีน้ำใจกรุณาอย่างนี้ไม่โกรธใครเลย ไม่เกลียดใครเลย ไม่ริษยาใครเลย ไม่อยากจะได้ของ ๆ ใคร ๆ เขา แต่เราทำอะไรของเราเอง เป็นคนคิดช่วยตัวเอง คิดพึ่งตัวเอง มันดีหรือไม่ ถ้าเรามีพระถูกต้องก็มีอยู่ในรูปอย่างนี้ เราจะไม่ต้องลำบากใจ
เราสร้างพระขึ้นไว้ข้างใน พระข้างในนี่ไม่หนักไม่ต้องผูกคอ ไม่ต้องใช้สายสร้อยเส้นละสิบสลึงเอามาผูกไว้ สายสร้อยเส้นใหญ่ ๆ นี่อันตรายนะ ขโมยมันก็ชอบเหมือนกันไม่ใช่ชอบหลวงพ่อ มันชอบทองที่ห้อยคอ แต่มันเอาหลวงพ่อไปด้วย เอาทองไปด้วย อันนี้อันตราย ถ้าเราผูกพระไว้ในใจ ขโมยเอาไม่ได้เพราะใจมันไม่รู้จักพระ จะเอาไปได้อย่างไร เราสบายใจดีไม่มีอันตราย เรามีพระไว้ในบ้านญาติโยมเข้าใจว่า มีพระไว้คุ้มครองบ้านเรือน ถ้าเพียงแต่มีพระไว้เฉย ๆ คุ้มครองไม่ได้ ให้มีพระเชียงแสน พระสุโขทัย พระอู่ทอง สามองค์นี้ก็คุ้มครองไม่ได้ คนโบราณเขาถือว่าถ้ามีสามองค์นี้วิเศษเลย เขาว่า แสนสุข อู่ทอง มั่งคั่ง เจริญกันไปตาม ๆ กันเลย ถ้าสมมุติว่าเจ้าของบ้านมีพระเชียงแสน สุโขทัย อู่ทอง แต่เกิดเล่นการพนันทุกวัน ๆ แล้ว จะเจริญได้อย่างไร จะก้าวหน้าไปได้อย่างไร มันไปไม่รอด มันไปไม่ได้ เราไม่ใช่มีอย่างนั้นแล้วจะคุ้มครองได้ เรามีพระองค์หนึ่งก็พอแล้วไม่มาก ถ้ามีมากก็ฟุ้งไปเรียกว่ากลายเป็นของเล่นไป บางทีก็เอาไปประกวดประชันกันว่า เอาพระไปประกวดกันในตลาด แล้วก็มีโบว์ติดเข้าไป หลวงพ่อได้สายสะพายเหลืองไป สะพายแดงบ้าง สีชมพูบ้าง เอามาเป็นของเล่นไป ไม่ใช่ของที่จะเอาไปประกวดประชันกันอย่างนั้น เรามีเก็บไว้ในบ้านไว้สักการะบูชา เวลาใดเรากลุ้มใจเราเข้าห้องพระจุดธูปจุดเทียนบูชานั่งทำจิตใจให้สงบ ภาวนาระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า ว่าพระพุทธเจ้านี่ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์ได้สิ้นเชิง แล้วเราล่ะเราเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า อะไรมันกำลังอยู่ในใจเรา เพลิงกิเลสเพลิงทุกข์กำลังเผาใจอยู่ ทำไม่จึงเป็นอย่างนั้น เราเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า ทำไมเพลิงเผาอยู่ ก็เราไม่เข้าหาพระพุทธเจ้านี่ เพลิงมันก็เผาเอา นี่ถ้าเรามาอยู่ในห้องพระพุทธรูปแล้วแต่นี่เป็นเพียงแต่รูปข้างนอก เนื้อแท้ของพระพุทธเจ้านั้นคืออะไร คือคุณธรรม คือความกรุณา คือปัญญา คือความบริสุทธิ์ เราจะต้องทำใจให้บริสุทธิ์ ใจบริสุทธิ์ก็เรียกว่าใจมีพระ ใจจะบริสุทธิ์ก็ต้องมีปัญญา ไม่มีปัญญาก็บริสุทธิ์ไม่ได้
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ปญฺญาย ปริสุขฺฌติ (52.36) คนย่อมบริสุทธิ์ด้วยปัญญา ปัญญานั้นก็คือเอามาคิดนึกตรึกตรอง แยกแยะ วิเคราะห์ วิจัย ในเรื่องความทุกข์ของเรา ว่าเราทุกข์เรื่องอะไร ทำไมจึงกลุ้มใจ ๆ เพราะอะไร ความกลุ้มมันเกิดขึ้นเพราะอะไร วางได้ไหม ปลงได้ไหม
ความกลุ้มก็เหมือนวัตถุนั้นแหละ เราถือของหนักมันเมื่อยแขนแต่ก็วางได้ ความกลุ้มก็วางได้เหมือนกัน แต่เราไม่วางกลับยึดไว้ มั่นคงเลยทีเดียวไม่ยอมปล่อยแล้วก็กลุ้มต่อไป นี่มันถูกหรือมันผิด มันผิด เป็นความโง่ หรือความฉลาด พระท่านว่ามันโง่นะถ้าทำอย่างนี้ ทำไมไม่เป็นคนฉลาดเสียบ้างล่ะ ทำไมไม่ปล่อยไม่วางเสียบ้างล่ะ ปล่อยไม่ลง เพราะอะไร เพราะไม่รู้ว่ามันคืออะไร
เหมือนกับเราไปขย้ำสิ่งสกปรก แล้วก็นั่งบ่นอยู่ว่าเหม็นจริง ๆ เหม็นจริง ๆ น้ำก็มี สบู่ก็มี แต่ไม่ล้าง แล้วนั่งเหม็นอยู่นั่นมันเรื่องอะไร เราก็ไปนั่งหมดแรง ของที่มันมาเกาะอยู่ในใจเราก็วางลงไปเสีย พระพุทธเจ้าสอนให้ปล่อยสอนให้วางอย่าไปยึดไว้ ใจยึดมันแน่นกว่ามือยึดเสียอีก ใจมันยึดก่อนมือถึงไปยึดทีหลัง พระท่านสอนให้วาง เราไปยึดไว้ ยึดให้มันกลุ้มใจ เราก็ต้องนึกว่ายึดอะไรไว้ ยึดว่าสิ่งนั้นเป็นของเรา แล้วมันเป็นของเราจริงหรือเปล่า เมื่อก่อนเรามีสิ่งนั้นหรือเปล่า ดูให้ดีเถิด คิดไปคิดมาก็ว่าเมื่อก่อนไม่มีนี่ แล้วมันมีเมื่อไหร่ ก็ไม่กี่ปีมานี่เองที่เรามีมา แล้วเวลานี้มันไปไหน ขโมยเอาไปเสียแล้ว ถ้าสมมุติขโมยไม่เอาไปมันจะอยู่กับเรานานไหม เราตายเอาไปด้วยไหม คุณย่าตายเอาไปด้วยไหม คุณยายตายเอาไปด้วยไหม อะไร ๆ ที่คุณย่าคุณยายสร้างไว้นี่เอาไปด้วยหรือเปล่า ลองคิดไปดูก็ไม่เห็นเอาไป ของที่คุณย่ารักคุณย่าก็ไม่เอาไป ของที่คุณยายรักก็ไม่เห็นเอาไป แหวนที่คุณยายสวมเดี๋ยวนี้อยู่ไหน สายสร้อยอยู่ไหน อะไร ๆ ของคุณย่า คุณยาย มันอยู่ที่ไหน ก็อยู่นี่อยู่ในบ้านเราและถ้าเราตายเราจะเอาไปด้วยไหม ไม่ได้ คนที่ตาย ๆ เขาใส่อะไรให้บ้าง เอาเงินใส่ปากให้คาบไปได้ถึงไหน เอาไปถึงป่าช้า สัปเหร่อล้วงเอาไปกินเหล้าเท่านั้นเองมันไม่ใช่เรื่องอะไรไม่คิดบ้าง ถ้าเอามาคิดเสียบ้างก็พอจะปลงพอจะวางลงไปได้ มันเป็นเรื่องธรรมดา
หรือว่าคนเราเคยเป็นใหญ่เป็นโต มีอำนาจวาสนา เช่นว่า เป็นอะไรต่ออะไร ทีหลังไม่ได้เป็น ถ้าไปนั่งคิดกลุ้มใจมันก็ไม่ใช่เรื่อง ไม่ใหญ่จริง คนใหญ่จริงไม่ทุกข์ ใหญ่จริงต้องใหญ่แบบพระพุทธเจ้าไม่ทุกข์อะไร ทีนี้ใหญ่ไม่จริงก็กลุ้มใจนั่งเป็นทุกข์เป็นร้อน ด้วยประการต่าง ๆ แต่ถ้าเราคิดถึงหลักธรรมะเราจะไม่กลุ้ม เพราะคนเรามันไม่ได้ใหญ่ตลอดเวลา เมื่อก่อนเราเป็นเด็กแล้วเราก็โตขึ้น ๆ เป็นผู้ใหญ่ เวลานี้เรากำลังจะเล็กลงไปอีกแล้วกำลังแก่ ไปยืนที่หน้ากระจกแล้วก็มองดูนี่ผมกำลังหงอก แต่ที่ไม่เห็นหงอกก็เพราะเอายาไปทาไว้ก็เท่านั้นเอง ผิวหนังก็เริ่มย่นยู่ ตาก็ชักจะไม่ค่อยดี หูก็ชักจะตึง ๆ อะไร ๆ มันก็เปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว ร่างกายเราก็ยังเปลี่ยนแปลง ตำแหน่งหน้าที่การงานก็เปลี่ยนแปลง ความใหญ่ก็ต้องเปลี่ยนแปลง ประเทศไทยนี่คนใหญ่มากี่ชุดแล้ว ตั้งแต่สมัยสร้างประเทศยุคพ่อขุนรามคำแหงใหญ่อยู่ยุคหนึ่งแล้วก็สิ้นไป พระยาลิไทใหญ่ก็สิ้นไป พระบรมไตรโลกนาถ พระนเรศวรมหาราช พระเอกาทศรถ พระนารายณ์ ไปแล้วทั้งนั้นไม่มีใครใหญ่ค้ำฟ้าสักรายเดียว แล้วเรา ๆ ก็ต้องออกเหมือนกัน ต้องปลดไปเหมือนกัน ความจริงควรจะดีใจที่เขาให้ออก มันสบายไม่ต้องแบกภาระ ใครจะเป็นนายกก็บอกเลิกทีเถิด ควรจะสาธุ กับเมตตาเขา ก็บอกเขาผมอยากจะออกอยู่นานแล้ว ไม่มีใครให้ออก นี่เขาให้ออกดีแล้วสบายใจ จะได้หมดภาระหน้าที่ จะได้ออกไปเป็นคนธรรมดากับเขาบ้าง ไม่ต้องกังวลอะไรต่อไป ถ้านึกได้อย่างนั้นมันก็สบายใจ แล้วอะไร ๆ มันต้องปรับเปลี่ยนกันเป็น เก้าอี้ตัวเดียวนั่งคนเดียวก็ไม่ได้มันต้องให้คนอื่นเขานั่งบ้าง เก้าอี้ตัวนี้มันร้อนใครอยากนั่ง ก็มานั่งเถิดพ่อคุณเอ๋ย แต่ว่านั่งก็ร้อนต่อไป หรือว่าชอบนั่งแล้วร้อน ชอบ อุ่นก้นดีไม่ลุกขึ้นเสียด้วยซ้ำไป นี่คือความเข้าใจผิด ก็จะเป็นทุกข์ไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น
ดังนั้นเราต้องคิดในแง่ว่า สิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไม่มีอะไรมั่นคงถาวร พระพุทธเจ้าท่านว่าไว้อย่างนั้น เราก็นึกถึงพระพุทธเจ้า นึกถึงคำสอนเอามาเป็นหลักปฏิบัติ คิดให้มันสบายใจ อย่าไปคิดให้ร้อนอกร้อนใจ ขณะใดเราคิดแล้วร้อนใจเรียกว่าเราโง่ไปแล้ว เราหลงไปแล้ว เราลืมพระพุทธเจ้าเสียแล้ว พระพุทธเจ้าท่านสอนไม่ให้คิดร้อนใจ ให้คิดแล้วเบาใจ โปร่งใจ เรียกว่าทำจิตให้ว่างไม่ใช่เรื่องอะไร
วันก่อนไปที่โรงพยาบาลสงฆ์ตาแก่คนหนึ่งขึ้นมาถามว่า เวลานี้ที่ท่านกำลังพูดกับผมนี่จิตท่านว่างหรือเปล่า จึงตอบว่า ฉันไม่ตอบ ถึงตอบโยมก็ไม่เข้าใจ มันเรื่องของฉัน ถึงตอบโยมก็ไม่รู้ เหมือนโยมถามว่ากินน้ำตาลหวานไหม ฉันบอกว่าหวานโยมก็ไม่รู้ รู้เอาเองก็แล้วกันว่ามันว่างหรือไม่ว่าง แกก็อ้างคัมภีร์ทีเดียว ยกบาลีขึ้นมาบอกว่าในคัมภีร์อภิธรรมว่าอย่างนี้ บอกว่าคนเราจิตมันต้องรับอารมณ์ เมื่อจิตรับอารมณ์ก็ไม่ว่าง เลยก็เห็นว่าไม่รู้เรื่อง จะพูดต่อไปแกก็ยิ่งหนักใหญ่ เดี๋ยวจะเป็นลมตายเสียเปล่า ๆ อาตมาก็เลยบอกว่า เรื่องนี้ไม่ตอบ โยมตอบเองก็แล้วกัน ทีนี้มีคนที่นั่งฟังบอกว่า หยุดได้แล้วพอทีเถอะ พูดมาก แกก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นก็เลิกแล้ว ฉันจะกลับแล้วเดินฉุน ๆ ไปเลย ลืมพระพุทธเจ้าไปแล้ว นี่มันเป็นอย่างนี้คนเราไม่รู้ความหมาย ว่าจิตมันว่างเบานี่เพราะอะไร เบาเพราะไม่ยึดถือ ว่างเพราะไม่ยึดถือก็เท่านั้นเอง ไม่ใช่ว่าจิตว่างแล้วไม่มีอารมณ์ มันมีแต่ว่ามีด้วยอาการที่รู้เท่ารู้ทัน ไม่ไปยึดมั่นถือมั่นอยู่ในเรื่องนั้นว่าเป็นตัวเราเป็นของเรา มันรู้จักปล่อย จักวางอย่างนี้ใจมันก็สบาย ขอให้ญาติโยมได้เข้าใจไว้อย่างนี้
วันนี้พูดมาก็พอสมควรแก่เวลา ขอจบไว้เพียงเท่านี้ก่อน อาทิตย์หน้าค่อยว่ากันใหม่ ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจ ๕ นาที