แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี ก็ให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
วันอาทิตย์เป็นเวลาว่างงานว่างการอันเป็นภาระทางกาย เราก็เดินทางมาวัดเพื่อศึกษาธรรมะอันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต เป็นยาแก้โรคทางใจ เป็นเพื่อนแท้ในยามทุกข์ยามยาก เป็นสิ่งที่เราควรจะได้แสวงหาไว้ เพื่อใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตของเราต่อไป การศึกษาธรรมะด้วยการฟัง เป็นเรื่องที่ควรกระทำก่อนเป็นเบื้องต้น เมื่อฟังแล้วก็ไปคิดไปตรองให้เกิดความเข้าใจชัดเจนแจ่มแจ้ง หลังจากนั้นก็นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน คือปฏิบัติตามแนวทางนั้นๆ อันจะช่วยให้เราพ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนได้ เพราะหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนามีจุดหมายสำคัญ อยู่ที่ต้องการให้เราใช้เพื่อแก้ไขปัญหาชีวิตประจำวัน
ปัญหาชีวิตประจำวันของคนเรานั้น ก็คือความทุกข์ ความเดือดร้อนทางใจ อันเกิดขึ้นจากเรื่องอะไรๆมากมายหลายเรื่องหลายประการ ทุกคนที่มีชีวิตอยู่ในโลกย่อมประสบกับปัญหานี้ด้วยกันทั้งนั้น ต่างกันแต่ว่ามากหรือน้อย บางคนก็มีความทุกข์มาก บางคนก็มีความทุกข์น้อย ที่จะไม่มีทุกข์ก็ต่อเมื่อเราเข้าใจเรื่องชีวิตถูกต้อง และสามารถจะใช้ปัญญาเพื่อพิจารณาสิ่งต่างๆที่มากระทบเราได้ ด้วยความถูกต้อง ปัญหานั้นจึงจะเบาบางลงไป เรื่องเช่นนี้ญาติโยมทั้งหลายต้องการหรือไม่ ถ้าจะถามกันเป็นรายบุคคล ใครๆก็ต้องการทั้งนั้น เพราะเราอยากจะอยู่อย่างสงบ สดชื่น รื่นเริง ไม่มีเรื่องวุ่นวายทางด้านจิตใจ แต่ว่าเราอยู่อย่างนั้นไม่ได้เสมอไป เพราะมีการประมาทพลาดพลั้ง สติยังน้อย ปัญญายังน้อย จึงไม่สามารถจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในประจำวันได้ เพราะเรามีสติปัญญาน้อยจึงต้องอบรมเรื่อยๆไป ให้มันเจริญมากขึ้นในจิตใจของเรา
อันการอบรมนั้นมีหลายแบบ เช่นว่าอบรมด้วยการรักษาศีล ด้วยการเจริญภาวนา การรักษาศีลนั้นได้พูดอธิบายให้ญาติโยมทั้งหลายเข้าใจมาแล้วตั้งแต่วันก่อน แล้วก็พูดเรื่องทานด้วย แต่วันนี้ใคร่ที่จะทำความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับการฝึกจิตหรือการเจริญภาวนา เพราะว่ามีคนส่วนมากยังไม่เข้าใจในเรื่องนี้ ยังหลงผิดกันอยู่ หนังสือพิมพ์หรือเอกสารบางอย่างได้นำคำที่ถูกไปใช้ในคำที่ผิด หรือว่าคนทั่วไปก็มักจะนำคำที่ใช้ในด้านที่ถูกต้องไปใช้ในด้านที่ผิดไป มีอยู่บ่อยๆ
จึงใคร่จะขอทำความเข้าใจกับญาติโยมทั้งหลายในเรื่องนี้สักเล็กน้อย คือเรื่องการภาวนานี้ ถ้าเราใช้คำพูดว่าภาวนาก็เรียกว่าเป็นคำกลาง เป็นวิธีการสำหรับอบรมบ่มจิตใจของเรา ให้มีความสงบ ให้เป็นสมาธิ ให้อ่อนโยน เหมาะที่จะใช้งานนั้นประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งก็ต้องการอบรมจิตใจ เพื่อให้ว่องไวเฉียบแหลม สามารถที่จะแทงตลอดในสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา ท่านใช้ศัพท์ในภาษาบาลีต่างกัน คือคำแรกใช้คำว่าสมถะภาวนา คำหลังใช้คำว่าวิปัสสนาภาวนา
สมถะภาวนานั้นเป็นการกระทำที่มุ่งให้จิตสงบ ให้จิตตั้งมั่น ให้อ่อนโยนเหมาะที่จะใช้งาน เป็นการฝึกจิตเพื่อให้เกิดสมาธิ ถ้าพูดง่ายๆ เป็นการฝึกเพื่อให้เกิดสมาธิเท่านั้นเอง ส่วนวิปัสสนาภาวนานั้นก็คือการฝึกหัดปฏิบัติ เพื่อให้เกิดปัญญา ให้รู้แจ้งเห็นจริง ในสิ่งทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริง ในเบื้องต้นก็มีการฝึกในรูปสมถะ (0:05:42.8) เพราะสภาพจิตของคนเรานั้นดิ้นรนกลับกลอก รักษายาก ห้ามยาก แต่ว่าไม่เหลือวิสัยสำหรับบุคคลที่มีความเพียรมั่น มีความตั้งใจมั่น มีความอดทน แม้อันที่จะกระทำเรื่องนี้ให้สำเร็จตามต้องการ เราก็สามารถจะฝึกจิตซึ่งดิ้นรนกลับกลอก รักษายาก ห้ามยากนี้ ให้เป็นจิตที่สงบนิ่ง ให้เป็นจิตที่มีอารมณ์เดียว ให้เป็นจิตที่อ่อนโยน เหมาะที่จะนำไปใช้ในการคิดการค้นในเรื่องอะไรๆต่างๆต่อไป อันนี้ต้องใช้วิธีการสมถะ คือทำให้จิตสงบก่อน
ครั้นเมื่อจิตของเราสงบลงไปพอสมควรแล้ว ก็เอาความสงบนั้นนั่นแหล่ะ ไปใช้เป็นเครื่องพิจารณา เพื่อให้รู้แจ้งเห็นจริงในสังขารทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริง เรียกว่าเจริญวิปัสสนา
การเจริญวิปัสสนานั้น ก็เพื่อให้เกิดปัญญา ให้จิตของเรามีความเฉียบแหลมว่องไว ที่จะแทงทะลุเข้าไปในสิ่งทั้งหลายที่มากระทบเรา ซึ่งเรารู้ว่าอะไรเป็นอะไร ถูกต้องตามสภาพที่เป็นจริง ไม่หลงใหลไม่มัวเมาในสิ่งนั้น อันจะเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน อันนี้คือจุดหมายสำคัญ
แต่ว่าที่มีการปฏิบัติกันอยู่ทั่วๆไปนั้น มักจะเขวออกไปนอกลู่นอกทาง จะยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ ในสำนักที่มีการอบรมภาวนาอยู่บ้าง ชาวบ้านชาวเมืองมักจะพูดว่าเจริญวิปัสสนา เช่นบางทีก็ไปถามพระว่าท่านได้เจริญวิปัสสนาหรือเปล่า สำนักนี้มีการเจริญวิปัสสนาหรือเปล่า ที่โยมถามเช่นนั้นบางทีก็ยังไม่รู้ความหมายอันแท้จริงของการเจริญภาวนา ในเรื่องวิปัสสนา มักจะเข้าใจไปในเรื่องอื่นไป
ทำไมจึงได้เข้าใจเขวไป ก็เพราะว่าในสมัยก่อนนี้ การศึกษาเรื่องพระบาลีนี่ไม่แพร่หลาย มีคนรู้บาลีน้อย รู้เฉพาะพระที่อยู่ในกรุงเทพเป็นส่วนมาก แต่ว่าถึงแม้จะรู้ภาษาบาลี สอบไล่ได้เป็นเปรียญหลายประโยค แต่ไม่ได้ใช้ความรู้นั้นเพื่อการศึกษาค้นคว้าคัมภีร์ในทางพระศาสนา เพื่อให้เข้าถึงปริยัติที่ถูกต้อง เอาความรู้นั้นเก็บไว้เฉยๆ แล้วก็ไปใช้เวลาในเรื่องอื่นเสียเป็นส่วนมาก เช่น ใช้เวลาไปในเรื่องการเป็นหมอเสียบ้าง เช่นเป็นหมอดูเป็นตัวอย่าง
พระเรานี่ชอบเป็นหมอดูกันอยู่ทั่วๆไป เปรียญ ๙ ประโยคแต่ไม่ศึกษาพระบาลีเพื่อใช้ค้นคว้าพระไตรปิฎก แต่เอาความรู้นั้นเป็นเครื่องประดับเกียรติว่าเป็นเปรียญ ๙ ประโยค แล้วก็ไปนั่งดูตำราหมอ ตำราโหราศาสตร์ เพื่อให้คนมาหามากๆ แล้วจะได้ลาภผลจากสิ่งเหลวไหลนั้น เรียกว่าอาชีพเป็นหมอดูไป เรียนวิชชาแล้วไม่ใช้วิชชาเพื่อประโยชน์ในทางพระศาสนา ทีนี้การปฏิบัติก็เหมือนกัน คนโบราณเคยกระทำมาอย่างไร ในสำนักใด ลูกศิษย์ก็รับมาอย่างนั้น
เมื่อสมัยเป็นพระเรียนหนังสืออยู่ที่กรุงเทพ ได้พบพระหนุ่มองค์หนึ่ง เขาว่าเขาจะเจริญวิปัสสนา อาตมาก็ถามว่าไหนเจริญอย่างไร ทำอะไรก่อน เขาก็บอกเวลานี้กำลังท่องหนังสืออยู่ ถามว่าท่องเรื่องอะไร ท่องพระพุทธคุณถอยหลัง เพราะว่า อิติปิโส ภควานี้ว่าไปตามอักขระวิธี แล้วทีนี้ว่าถอยหลังกลับกันหมด ก็บอกว่าที่ว่าไปตามเรื่องนี่ก็ยังไม่เข้าใจ ก็ไปว่าถอยหลังมันจะเข้าใจได้อย่างไร เขาบอกว่าอาจารย์สอนให้ว่าอย่างนี้ นี่แหล่ะคือความผิดในเรื่องการภาวนา แล้วก็ได้ถามต่อไปว่าเวลาจะเจริญภาวนาต้องทำอย่างไร เขาบอกว่ามีเรื่องหลายเรื่อง เช่นต้องตั้งขันน้ำมนต์ มีเงินใส่ในบาตรสามบาท มีสิ่งนั้นสิ่งนี้ มีด้ายสายสิญจน์ เครื่องประกอบ แล้วก็ต้องรอวันดีคืนดี อาจารย์จึงจะสอนวิชชานี้ให้ ฟังๆดูแล้วก็รู้สึกว่า ห่างไกลจากความรู้น้อยๆที่ได้รับมาจากหนังสือ สมัยนั้นยังรู้น้อยอยู่ แต่ก็ยังมองเห็นว่าห่างเหลือเกิน ไม่เข้าใกล้จุดหมายที่พระพุทธเจ้าวางไว้ ก็นึกอยู่ในใจว่าวันหนึ่งจะต้องศึกษาให้มากไปกว่านี้
แล้วก็สังเกตดูเรื่อยๆมาว่าอาจารย์ในทางด้านภาวนานั้น มักจะออกไปนอกทางเสมอ เช่นว่าได้ฝึกจิตพอสมควร เสร็จแล้วก็เอาความเป็นสมาธิที่ตนมีนั้นไปใช้ในเรื่องอะไรก็ไม่รู้ เมื่อปีกลายนี้ไปอินเดีย แล้วก็มีพระไปด้วยองค์หนึ่ง ผู้ที่นำไปนั้นเขาบอกว่าเอาหลวงพ่อมาด้วยองค์หนึ่ง หลวงพ่อองค์นี้นะ นั่งเพ่งมาสามสิบปีแล้วว่าอย่างนั้น ถามว่าเพ่งทำอะไร เพ่งเพื่อให้รู้ว่าเลขหวยมันจะออกเลขอะไร ทีนี้เมื่อได้ฟังเช่นนั้นก็นึกว่าปัดโธ่ เสียเวลาตั้งสามสิบปี เรียกว่าโง่มาสามสิบปี ไปอินเดียคราวนี้จะลองคุยกันหน่อย ไว้ก็เดินทางไปด้วยกันก็ชวนคุยชวนสนทนาไป (0:12:09.7) ไม่ใช่ปีที่ไปยกช่อฟ้า ไปก่อนคราวนั้น ลองคุยลองสนทนากันในเรื่องอะไรต่างๆ แล้วก็บอกตรงๆ ว่ามาถึงที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ทิ้งความโง่ไว้เสียทีเถอะท่าน พระพุทธเจ้าท่านยังทิ้งเลย คือเมื่อก่อนนี้ไปบำเพ็ญทุกรกิริยา ทรมานพระกายให้ลำบาก นึกว่าจะเป็นทางแห่งการพ้นทุกข์ แต่เมื่อปฏิบัติไปแล้วก็พบความจริงว่าไม่ได้เรื่องอะไร เหนื่อยเปล่า ร่างกายผ่ายผอม ไม่ได้ (0:12:44.1) ก็เลยกลับมาเสวยพระกระยาหาร ทำความเพียรในรูปใหม่ต่อไป จนได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านยังทิ้งสิ่งที่ไม่ถูก เราลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า ได้เดินผิดมาตั้งหลายสิบปีแล้ว มาถึงต้นโพธิ์แล้วก็ทิ้งไปเสีย กลับไปวัดนี่อย่าไปนั่งแบบนั้นต่อไป แต่ไปนั่งคิดครุ่นในเรื่องอะไรๆซึ่งเป็นการถูกต้องกันดีกว่า
ดูถ้าหากว่าโยมอ่านหนังสือพิมพ์บางฉบับ เขาลงเรื่องพระเครื่อง แล้วก็มักจะโฆษณาว่าพระอาจารย์องค์นี้เก่งทางวิปัสสนา อ่านแล้วมันตรงกันข้าม คือว่าถ้าเก่งวิปัสสนานี่ไม่ไปเสกพระเครื่อง ไม่ไปเสกเครื่องรางของคลัง ไม่ทำสิ่งเหลวไหลในเรื่องสีลัพพตปรามาส แต่ที่ไปทำเรื่องอย่างนั้นอยู่นั้นแสดงว่า ยังไม่เดินเฉียดวิปัสสนาเข้าไปเลย อย่าว่าเข้าถึง เฉียดเข้าไปก็ยังไม่ได้ แล้วจะเรียกว่าอาจารย์วิปัสสนาหรือวิปัสสนาจารย์ก็ไม่ได้ แต่เป็นอาจารย์ที่งมงายอยู่เท่านั้นเอง
เอากำลังจิตที่ตนได้มาเล็กน้อยจากการนั่งภาวนา ไปใช้เพ่งสิ่งที่เป็นวัตถุ เช่นไปเสก (0:14:09.3) เสกว่าน เสก (0:14:10.7) เสกตะกรุด เสกน้ำมนต์น้ำพรอะไรอย่างนี้ ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องของพระพุทธศาสนา ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า แต่เป็นเรื่องที่แทรกแซงเข้ามาในตอนหลัง อันนั้นไม่ใช่เรื่องของวิปัสสนา เอามาอ่านพบบ่อยๆ หลวงพ่อนั่นหลวงพ่อนี่ บอกว่าเก่งทางวิปัสสนา จะเก่งทางวิทยาคม ไสยศาสตร์ ยิ่งไปใหญ่เลย จะใส่ความเก่งทางไสยศาสตร์ ทางวิทยาคม เหลวไหลเข้าไปด้วย อาจารย์ยิ่งเสียชื่อหนักเข้าไปถ้าผู้รู้เขาอ่านเข้า แต่คนโง่อ่านไม่เป็นไร อ่านแล้วก็ชอบไปเท่านั้นเอง
อันนี้คือความหลงผิดในเรื่องนี้ จึงอยากจะบอกญาติโยมทั้งหลายเสียให้เข้าใจเสียใหม่ ว่านักวิปัสสนานั้นจะไปทำพิธีอะไรอย่างนั้นไม่ได้ เพราะนักวิปัสสนาต้องมีปัญญา มีความเข้าใจถูกต้องในหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา จะไปทำเรื่องอย่างนั้นไม่ถูกไม่ต้อง
คราวหนึ่งมีการประชุมอาจารย์วิปัสสนาที่วัดมหาธาตุ มากทีเดียว เป็นร้อย (0:15:27.4) ท่านเจ้าคุณภิมลธรรมในสมัยนั้นก็ยังคิดถึงอาตมา นิมนต์ให้ไปปาฐกถาให้อาจารย์ฟัง ก็ไปพูดกันตามเรื่องตามราว พูดเสร็จแล้วก็เตือนในตอนท้ายว่าระวังให้ดี พวกเราที่เป็นอาจารย์วิปัสสนานี้ อย่าไปโง่เป็นอันขาด ต้องเดินให้มันถูกทาง ถ้าหากว่าโง่เขาก็เอาอาจารย์นี่ไปนั่งปลุกเสกพระ เครื่องรางของคลังอะไรต่างๆ มันเสียเกียรติของนักวิปัสสนา ที่พูดออกไปเช่นนั้นก็เพราะรู้อยู่แล้วว่าวันรุ่งขึ้นเขาจะมีการเสกใหญ่ที่วัดมหาธาตุ โดยให้อาจารย์ที่มาประชุมเป็นร้อยๆนี่ เป็นเครื่องโฆษณาว่าเครื่องรางชุดนี้ได้เสกด้วยอาจารย์วิปัสสนานับร้อยองค์ขึ้นไป อาตมาก็เลยเตือนไว้ แต่ว่าเตือนก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะว่าเขาเตรียมพร้อมแล้วที่จะทำอย่างนั้น แต่เตือนในฐานะเป็นพุทธบุตรเท่านั้นเอง ว่าทำหน้าที่ให้มันถูกต้อง ควรให้เขารู้กัน
อันนี้แหล่ะเป็นเรื่องที่ญาติโยมจะต้องเข้าใจ ผู้เจริญวิปัสสนานั้นไม่ใช่ผู้เรียนวิชชาปลุกเสก ไม่ใช่วิชชาใช้อำนาจจิตในทางขลัง หรือในทางที่ดูดาวดูเดือนดูเคราะห์ดูโชคดูอะไรๆอย่างนั้น แต่เรียนวิปัสสนาเพื่อให้รู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริง ก็สิ่งทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริงที่นักวิปัสสนาควรศึกษานั้นเรื่องอะไร ถ้าเราไปอ่านในวิปัสสนาภูมิ ซึ่งเป็นพระบาลี ในวิปัสสนาภูมิท่านก็สอนเรื่อง รูปังอนิจจัง เวทนาอนิจจา สัญญาอนิจจา สังขาราอนิจจา เป็นต้นเป็นตัวอย่าง คือให้พิจารณาเรื่องรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือรูปนาม
หลักของวิปัสสนานั้นก็พิจารณานามรูปนี่ นามรูปก็คือเรื่องตัวเราทั้งหมด ร่างกายของเรานี้ประกอบด้วยกายกับใจ กายกับใจนี่ในภาษาพระเรียกว่ารูปกับนาม
รูปก็คือร่างกายทั้งหมด นามก็คือจิตของเรา ที่มีหน้าที่นึกคิด กำหนด จดจำในเรื่องอะไรต่างๆ รูปกับนามรวมกันอยู่ก็เรียกว่ามีชีวิต ถ้ารูปนามแยกออกไปจากกันก็เรียกว่าไม่มีชีวิต ที่เรียกว่าคนตาย คนตายก็คือนามไม่มี มีแต่รูปคือร่างกาย นามนั้นหายไปเสียแล้ว ทีนี้ถ้านามรูปยังอยู่ก็เรียกว่ายังมีชีวิต
ทีนี้ท่านให้พิจารณาในเรื่องนี้ เรื่องนามรูป โดยแยกออกเป็นส่วนๆ แยกออกเป็นห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เมื่อสักครู่นี้ญาติโยมสวดมนต์ในตอนที่เรียกว่า ปัจจเวกขณ์ ตอนปลาย เราก็สวดว่ารูปังอนิจจัง รูปไม่เที่ยง เวทนาอนิจจา เวทนาไม่เที่ยง สัญญาอนิจจา สัญญาไม่เที่ยง สังขาราอนิจจา สังขารไม่เที่ยง วิญญาณังอนิจจัง วิญญาณไม่เที่ยง รูปังอนัตตา รูปไม่ใช่ตัวตน เวทนาไม่ใช่ตัวตน สัญญาไม่ใช่ตัวตน สังขารไม่ใช่ตัวตน วิญญาณไม่ใช่ตัวตน อันนี้แหล่ะเป็นบทตั้งของวิปัสสนา คือผู้เจริญวิปัสสนาต้องมาคิดในหลักสามประการนี้ คิดในแง่กฎธรรมดา
กฎธรรมดานั้นก็คืออนิจจัง ความไม่เที่ยง ทุกขัง ความเป็นทุกข์ อนัตตา ความเป็นอนัตตา ที่เราเรียกว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สามอย่างนี้เป็นบทฝึกหัดสำหรับผู้เจริญวิปัสสนา คือต้องเอาร่างกายพิจารณาในแง่นี้ แง่ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทำไมจึงสอนให้พิจารณาในเรื่องนี้ ก็เพื่อถอนความยึดมั่นถือมั่น ความหลงใหลมัวเมาในร่างกาย ว่าเป็นของเที่ยง ว่าเป็นสุข ว่าเป็นตัวเป็นตนที่ถาวร เพื่อให้เห็นตามสภาพที่เป็นจริงว่ามันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา มันไม่มีอะไรที่เรียกว่าเป็นเนื้อแท้ในตัวของมันเอง ให้พิจารณาอย่างนี้ เพื่อถอนความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเราของเราออกไป เพราะตราบใดที่เรายังมีความยึดมั่นถือมั่น เราก็มีความทุกข์เรื่อยไป
ทุกข์เกิดขึ้นจากตัณหา คือความอยาก อยากได้ อยากมี อยากเป็น ในเรื่องอะไรต่างๆ เมื่อไม่สมใจก็มีความทุกข์ มีความเดือนร้อนใจ ถ้าได้มาสมใจก็ไม่ใช่ว่าจะมีความสุข แต่มีความทุกข์ตามมา สิ่งที่เกิดจากอามิส คือวัตถุ เครื่องล่อ เครื่องจูงใจนั้น มีความสุขเท่าใด ก็มีความทุกข์มากเท่านั้น ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ เราได้เงินได้ทอง ได้ข้าวได้ของมาใช้ เวลาเราได้มาเราก็ดีใจ ถ้าสมมติว่าของนั้นหายไปเสียไป เรารู้สึกอย่างไร ทุกคนก็มองเห็นว่าเป็นทุกข์ มีความไม่สบายใจ
สิ่งใดเรารักมาก เวลามันเสียไปเราก็ทุกข์มาก ถ้าเรารักน้อย เราก็มีความทุกข์น้อย ในแง่ความจริงสิ่งใดที่เราไม่รักมันเลย แม้มันจะแตกจะหักไปเราก็เฉยๆ เราไม่รู้สึกอย่างไร จิตใจของคนเรานั้นมักเข้าไปติดพันอยู่ ในสิ่งที่เป็นวัตถุมีประการต่างๆบ้าง ติดพันอยู่ในสิ่งที่ไม่ใช่วัตถุบ้าง เช่นติดพันในความสุขในความสบาย ที่เกิดขึ้นในจิตใจของเรา สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวัน
พระพุทธศาสนาสอนให้เราทำลายความทุกข์ การทำลายความทุกข์ต้องทำลายเหตุของความทุกข์ ทีนี้เหตุของความทุกข์นั้นต้องทำลายด้วยปัญญา ท่านจึงสอนให้เจริญวิปัสสนา คือคิดครุ่นในเรื่องต่างๆ การเจริญวิปัสสนานั้นไม่ต้องไปนั่งที่ใดก็ได้ อยู่ในบ้านเราก็พิจารณาได้
สมัยก่อนนี้ถ้าเราดูชีวิตของพระอรหันต์ทั้งที่เป็นผู้ชายผู้หญิง ที่ท่านได้บรรลุคุณธรรมชั้นสูงนั้น ท่านได้จากสิ่งที่ประสบในชีวิตประจำวัน แล้วเอาสิ่งนั้นมาพิจารณาเรื่อยๆไป ในที่สุดก็ปล่อยวางได้ เช่น บางคนในขณะต้มน้ำอยู่ในโรงไฟ แล้วไฟมันก็ลุกขึ้นแล้วมันมอดลงไป พอใส่ฟืนไปมันก็ลุกขึ้น แล้วก็มอดลงไป ท่านเอาเปลวเพลิงที่ได้เห็นนั้นมาพิจารณาว่าไฟนี้มันลุกขึ้นเมื่อได้เชื้อ มันโพลงขึ้นเมื่อมีเชื้อมาก พอหมดเชื้อมันก็แวบลงไป ฉันใด อะไรๆในชีวิตเรานี้ก็เหมือนกัน เมื่อมันมีการเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องมีการดับไปเป็นธรรมดา เอาเรื่องนี้มาพิจารณาแล้วก็ได้ความจริง เรียกว่าได้วิปัสสนาญาณ หมายความว่ารู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งนั้นตามสภาพที่เป็นจริง ก็ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น จิตใจก็พ้นไปจากความคิดความเดือดร้อนได้
บางรูปเวลาฝนตก เราจะสังเกตเห็นเวลาฝนตก เห็นมั้ย (0:23:33.5) ลงมาจากชายคา แล้วมันมีน้ำขังอยู่ เมื่อมีน้ำขังน้ำที่ลงมาใหม่เกิดเป็นฟองขึ้น แล้วมันก็หายไป เกิดเป็นฟองขึ้นแล้วก็หายไป ท่านก็นั่งดูฟองน้ำนั้นว่ามันเกิดขึ้นแล้วหายไป เกิดขึ้นแล้วหายไป ก็เอามาพิจารณาถึงสิ่งอื่นว่า สิ่งต่างๆ นี้มันมีการเกิดดับเกิดดับเหมือนกับฟองน้ำที่ปรากฏนี่เอง แล้วก็พิจารณาตามแนวนั้น ปล่อยวางจิตได้ ไม่ยึดมั่นถือมั่นก็พ้นไปจากความทุกข์ความเดือดร้อน อันนี้เป็นตัวอย่างง่ายๆ ซึ่งท่านใช้ในชีวิตประจำวันของท่าน เอาเรื่องนี้มาพิจารณา
ก็ในชีวิตของเราแต่ละคนนั้น สิ่งต่างๆซึ่งน่าจะเป็นบทเรียนแก่ชีวิตของเรา มีมากมายก่ายกอง ตัวอย่างเช่นว่าเราเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยตายในเรื่องอะไรก็ตาม ร่างกายไม่สบาย ต้องนอนอยู่บนเตียง เวลานั้นแหล่ะเป็นเวลาที่เหมาะสำหรับการเจริญภาวนาในเรื่องวิปัสสนาแล้ว เพราะว่าบทเรียนมันอยู่กับตัวเราเอง อยู่รอบๆตัวเรา เช่นเราไปโรงพยาบาลนี่บทเรียนมีเต็มไปหมด เราได้เห็นคนเจ็บมากมาย และเราก็เป็นผู้ร่วมในความเจ็บนั้นด้วย เราก็ไปนอนอยู่บนเตียง หมอมีหน้าที่รักษากายของเรา เรารักษาเองไม่ได้เพราะเราไม่ใช่หมอ ไม่มีความรู้ในเรื่องยาเรื่องโรค หมอเขารู้เขาก็รักษาไปฉีดยาไปอะไรไปตามเรื่อง แต่ว่าเรื่องจิตนั้นเราต้องรักษาของเราเอง และเป็นเวลาที่เหมาะที่สุดที่เราควรจะได้รักษาจิตของเราในขณะนั้น เพราะมันเป็นเวลาใกล้ต่ออันตราย ผู้ที่ใกล้ต่ออันตรายนี่ ควรจะถือโอกาสนั้นศึกษาเรื่องชีวิตให้ถูกต้อง เพื่อกำจัดปัดเป่าความทุกข์ความเดือดร้อนให้หมดไป ตกกระไดพลอยโจนหลุดพ้นจากความทุกข์ไปเลยก็ได้
การพิจารณานั้นก็คือพิจารณาว่าร่างกายของเรานี้ พระท่านว่าอย่างไร พระพุทธเจ้าท่านบอกว่ามันไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตลอดเวลา มันมีสามขณะเท่านั้น คือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แต่ว่าเรามองไม่เห็นว่ามันเป็นเช่นนั้น ก็เพราะความเกิด ความตั้งอยู่ ดับไปนั้น มันเร็วเหลือเกิน เร็วกว่าอะไรๆทั้งหมด เราจึงไม่สามารถจะแยกออกไปได้ ว่ามันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ในขณะอย่างไร ความจริงมันเป็นเช่นนั้น
เราก็พิจารณาว่าร่างกายนี้ประกอบด้วยอะไร ท่านให้พิจารณาว่าประกอบด้วย (0:26:34.7) มีประการต่างๆ เช่นว่าธาตุสี่ คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เอามาประสมปรุงแต่งกันเข้า สิ่งนี้เป็นต้นเป็นประธาน แต่ความจริงไม่ใช่มีแต่เพียงสี่ นักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เขาแยกแยะแล้วว่าในร่างกายมนุษย์นี้มีธาตุอะไรๆอยู่หลายอย่างหลายประการ แยกออกไปได้หลายอย่าง แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ต้องการให้เราฉลาดในเรื่องนั้นมากเกินไป ต้องการให้รู้แต่เพียงว่าร่างกายนี้เป็นของประสมปรุงแต่งขึ้นจากสิ่งต่างๆ จึงใช้ศัพท์ในภาษาบาลีว่าสังขาร
คำว่าสังขารนั้นให้โยมเข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจากการปรุงแต่ง ไม่ว่าจะเป็นคนเป็นสัตว์เป็นต้นไม้เป็นวัตถุสิ่งของที่เราใช้อยู่ทุกวันเวลา สิ่งเหล่านี้เรียกว่าสังขารทั้งนั้น มันเกิดจากการปรุงการแต่งทั้งนั้น ก็สิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้นจากการปรุงแต่ง เมื่อส่วนที่เข้ามาปรุงแต่งนั้นยังพร้อมเพรียงกันอยู่ สิ่งนั้นก็เป็นไปได้ แต่ถ้าส่วนที่เข้ามาปรุงแต่งนั้นเกิดไม่พร้อม มันก็ต้องแตกดับเป็นธรรมดา
รถยนต์ที่เราใช้ไปใช้มา บางคราวสตาร์ทไม่ติด ที่สตาร์ทไม่ติดนั้นแสดงว่าเครื่องปรุงแต่งมันขาดตกบกพร่อง ไฟไม่มีบ้าง น้ำมันมันไม่แล่นมาบ้าง หรือว่ามันมามากเกินไป เรียกว่ามันล้นไป สตาร์ทไม่ติด อะไรต่างๆ นี่แสดงว่าเครื่องปรุงมันไม่พร้อม แต่ถ้าเครื่องปรุงพร้อมมันก็ติดได้ทันท่วงที และเมื่อเครื่องปรุงนั้นหมดมันก็ดับเหมือนกัน ขับๆไปถ้าคนขับประมาท เวลาออกรถไม่ดูน้ำมัน มันหมดกลางทาง เราเดือดร้อนกัน (0:28:36.4) แสดงว่ามันหมดปัจจัยมันก็แตกดับไปในตอนนั้น
ร่างกายเรานี้ก็เหมือนกัน อาศัยเครื่องปรุงแต่งสมบูรณ์ เราสบาย คนที่มีสุขภาพดีไม่เจ็บไม่ไข้ ก็แสดงว่าการปรุงแต่งร่างกายนั้นเรียบร้อย เรียบร้อยมาตั้งแต่เกิด ก็สืบเนื่องมาจากมารดาบิดา มารดาบิดาของเราเป็นคนไม่มีโรคประจำตัว สุขภาพดี อนามัยดี ที่ดีนั้นเขาเรียกว่าเป็นบุญ คือหมายความว่าท่านทำแต่ความดี รู้จักรักษาชีวิต รู้จักรักษาร่างกาย ไม่ทำอะไรที่เป็นเหตุให้ร่างกายได้รับทุกข์รับโทษ ก็มีความเป็นปกติ ถ่ายทอดมาถึงลูกถึงหลาน ก็มีสภาพเป็นปกติอย่างนั้น เรียกว่ามาด้วยบุญ ครอบครัวใดมารดาบิดาไม่ค่อยเรียบร้อย ขออภัยเถอะเช่นบิดาชอบเที่ยว หาความสนุกในที่ต่างๆ ขี้เหล้าเมายา ร่างกายไม่แข็งแรง ลูกออกมาก็ไม่ค่อยจะเรียบร้อย มาสุขภาพไม่ดี จิตใจก็ไม่ค่อยจะดี อันนี้ก็มีตัวอย่างอยู่ถมไป นี่เป็นเครื่องสืบต่อ เขาเรียกว่าอาศัยบุญอาศัยบาปของพ่อแม่ที่ได้กระทำไว้ จึงได้เกิดมาในสภาพเช่นนั้น
ร่างกายนี้เมื่อส่วนประกอบพร้อม ปกติดี พอส่วนประกอบไม่พร้อมเกิดขัดนั่นขัดนี่เป็นโรคเป็นภัย จากภายในบ้างจากภายนอกบ้าง มีอยู่ทั่วๆไป อันนี้ไม่ใช่เป็นแก่เราคนเดียว แต่ว่าเป็นแก่คนทั่วไป มีจำนวนไม่ใช่น้อย ถ้าเราไปโรงพยาบาลตอนเช้า เช่นที่ ศิริราช จุฬาลงกรณ์ รามาก็ตาม จะเห็นว่าเหมือนกับตลาดนัดไม่น้อย คนมากันมากจริงๆ ต้องแย่งกันไปเพื่อเข้ารับบัตรให้หมอตรวจ ยิ่งโรงพยาบาลโรคประสาทด้วยแล้ว ได้ข่าวว่าไปกันตั้งแต่ตี (0:30:45.5) ช่องทางจะเกิดโรคประสาททั้งนั้น ถ้าผู้นั้นไม่ได้เรียนรู้เรื่องการรักษาจิตไว้บ้าง ก็จะเป็นมากขึ้น แต่ถ้าเรียนรู้เรื่องการรักษาจิตก็จะไม่เป็นโรคประสาท คนเป็นโรคประสาทนี่เกิดจากการไม่รู้จักรักษาจิตของตน ไม่เรียนวิปัสสนาอย่างนั้นเถอะ เลยต้องเป็นโรคทางประสาทขึ้นมา ถ้าได้เรียนวิปัสสนาไว้บ้างไม่มีโรคประสาท คือเป็นคนปลงตก เห็นอะไรก็รู้ว่ามันคืออะไร ไม่หลงใหลมัวเมาในสิ่งนั้น จิตใจก็สบาย
เวลาเราไปป่วยโรงพยาบาลเราก็มองไป นึกไป พิจารณาไป แล้วใจก็จะสบาย การรักษาเป็นหน้าที่ของเขาในทางร่างกาย แต่การรักษาจิตนั้นเราต้องรักษาเอง ก็ทำจิตให้ไม่วิตกกังวล ไม่หวาดกลัว สมมติว่าโรคมันหนัก แล้วอาจจะถึงแก่ความตายก็ได้ อย่ากลัวตาย เพราะมันเรื่องธรรมดา ถ้าเราเจริญวิปัสสนาก็จะมองเห็นว่าเรื่องธรรมดา การแตกดับนี่เป็นเรื่องธรรมดา ต้นไม้ที่เราเอามาปลูกไว้ในบ้านมันออกดอก ออกดอกเล็กๆ เรียกว่าดอกตูมแย้มบาน แล้วมันก็ร่วง แล้วหมดไปหมดไป ไม่ใช่ร่วงแต่ดอก ใบก็ร่วง บางที่ต้นมันก็เฉาตายไปด้วย เพราะคนรดน้ำไม่เอาใจใส่ ไม่ใส่ปุ๋ย ขาดปัจจัยเครื่องปรุงแต่ง ต้นไม้นั้นก็แตกดับไป ชีวิตร่างกายเราก็เหมือนกับต้นไม้ ซึ่งจะต้องแตกต้องดับเหมือนกัน ไม่มีอะไรที่เรียกว่าคงทนถาวรอยู่ในสภาพที่เป็นอยู่อย่างนั้นเสมอไป
พระพุทธเจ้าท่านจึงบอกว่าไม่เที่ยง เรื่องไม่เที่ยงนี่เราพิจารณาได้ง่าย คือหมายความว่าเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา คล้ายๆกับกระแสน้ำกระแสคลื่นมันไม่หยุด กระแสน้ำนี่ก็ไหลไม่มีหยุดยั้งเลย ไหลอยู่ตลอดเวลา กระแสคลื่นก็เป็นคลื่นอยู่ตลอดเวลา กระแสลมก็เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา กระแสของร่างกายชีวิตของเรามันก็ไหลเรื่อยไปตลอดเวลา ไหลไปจนกระทั่งถึงจุดจบของมัน จุดจบนั้นไม่เท่ากัน ไม่ใช่ว่าจุดเดียวกันเสมอไป
บางคนอายุยืน ๗๐ – ๘๐ ปี ก็ยังแข็งแรง ๙๖ ปี ๙๗ ปี ก็ยังแข็งแรง อาตมารู้จักอุบาสกคนหนึ่งเวลานี้อายุ ๙๘ ปีแล้ว ยังคุยธรรมะเสียงดังอยู่เลย เพื่อนยังรำคาญอยู่เลยเวลาพูดทีไร แปลว่าพูดเสียงดังทุกที อายุ ๙๘ ปีแล้วเสียงยังดัง แล้วไม่เคยเจ็บป่วย ไม่เคยไปโรงพยาบาล พบอุบาสิกาคนหนึ่งที่เชียงใหม่ก็เหมือนกัน อายุ ๙๘ ปี แล้วเหมือนกัน ไม่เคยไปหาหมอ ไม่เคยไปโรงพยาบาล จนหมอบอกว่าถ้าคนเมืองเชียงใหม่เป็นเหมือนคุณแม่ โรงพยาบาลล้มก็เท่านั้นเอง คือไม่มีใครป่วย ตอนนั้นแกไม่เคยไป อาตมาขึ้นไปทีไรก็มักจะไปเยี่ยมเสมอ ก็อย่างนี้แหล่ะอยู่เหมือนเดิม ยังพูดจ้ออยู่อย่างเดิม อ่านหนังสือตัวเล็กก็ยังได้ เช่นหนังสือพิมพ์เล็กๆเหมือนเดลินิวส์นี่ก็ยังอ่านได้ ไม่ต้องใส่แว่น บอกว่าโยมเคยใช้แว่นไหม ตั้งแต่เกิดมาไม่รู้จักแว่น (0:34:23.6) อายุจะยืน แต่ว่าวันหนึ่งก็จบเหมือนกัน
พระท่านจึงบอกว่าแม้จะยั่งยืนไปก็ไม่เกินร้อยปี ถึงเกินร้อยปีก็ต้องตายเพราะสังขารมีอย่างนี้เป็นธรรมดา นี่คือความไม่เที่ยง มันไหลไปเรื่อยไป พอถึงจุดจบเข้าสักวันหนึ่ง เวลาใดที่เรามีความเจ็บไข้ได้ป่วย เราก็พิจารณาเตือนใจอย่างนี้ มองให้เห็นว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาที่เราฝืนไม่ได้ แก้ไขได้พอสมควร บางอย่างแก้ได้ บางอย่างก็แก้ไม่ได้ เช่นโรคบางอย่างนี่พอแก้ได้ บางอย่างก็แก้ไม่ไหว ถ้าแก้ไม่ไหวเราก็ต้องตาย ให้ตายด้วยความสบายใจ ตายด้วยใจที่สงบ อย่าตายด้วยความวิตกกังวลวุ่นวายใจ คิดนั่นคิดนี่อะไรต่างๆ คนเราเวลาเจ็บหนักใกล้ตายนี่ใจมักจะวุ่นวาย วุ่นวายเรื่องอะไร คิดถึงลูก ลูกโตแล้วคิดถึงหลานต่อไป นี่เขาเรียกว่าแบกภาระไม่จบไม่สิ้น เลี้ยงลูกแล้วยังตามไปเลี้ยงหลานอีก อายุยืนไปจะไปเลี้ยงเหลนเข้าไปอีกคนหนึ่งอย่างนี้ ว่าคิดถึงมัน ลูกโตแล้วคิดถึงหลานตัวน้อยๆ อย่าคิดไปให้มันยุ่งใจ คิดถึงทรัพย์สมบัติเงินทองข้าวของที่หาไว้ ทำไมจึงได้คิดถึงอย่างนั้น แต่พวกเราหลงผิดนั่นเอง คือไปยึดว่าสิ่งนั้นเป็นของเรา
พระท่านบอกว่าตัวเราก็ไม่เป็นตัวเราอยู่แล้ว แล้วของภายนอกจะเป็นของเราขึ้นมาได้อย่างไร และของเราตัวเรานี่มันไม่เป็นของเรา ร่างกายเรานี่เราห้ามได้ไหมเราบังคับได้ไหม ว่าจงเป็นอย่างนั้นจงเป็นอย่างนี้ บอกว่าอย่าแก่ได้ไหม ผมอย่าหงอก ฟันอย่าหลุดนะ หนังอย่าเหี่ยวนะ ทำยังไงก็ต้องเหี่ยวอยู่วันยังค่ำนั่นแหล่ะ อย่าเจ็บอย่าไข้นะ อย่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้เลย ไม่มีใครทำได้ เพราะมันไม่อยู่ในอำนาจของเรา มันเป็นเรื่องธรรมชาติที่ต้องไปตามอย่างนั้น เราอย่าไปเที่ยวหลงผิด เข้าใจผิดเข้า อย่าไปยึดไว้ว่าเป็นตัวตนเป็นเราเป็นเขา ให้เกิดปัญหาคือความทุกข์ความเดือดร้อน แต่เราเรียนรู้ว่านี่เป็นธรรมดาของชีวิตที่จะต้องเป็นอย่างนี้
สมมติว่าผมหงอกสักเส้นหนึ่งก็ต้องบอกตัวเองว่าธรรมดามันเป็นอย่างนี้ ฟันปวดก็นึกว่ามันเป็นอย่างนี้ แต่ก็รักษาไปตามหน้าที่ ถ้าว่ารักษาไม่หายก็ไปหาหมอฟันช่วยถอนออกเสียที ซี่นี้มันปวดเต็มทีแล้ว ถอนออกไปแล้วก็หมดเรื่องกัน เราไม่ต้องไปอาลัย ใส่ฟันใหม่เข้าไปไว้ ฟันใหม่มันก็ไม่ถาวรอะไรหรอก ให้นึกไปในรูปอย่างนั้น เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย
ทรัพย์สินเงินทองก็เหมือนกัน เราเกิดมาในโลก เราก็อยู่ไป ทำงานทำการตามหน้าที่ ก็ได้ผลจากการปฏิบัติงานตามหน้าที่มากหรือน้อยตามส่วนแห่งสติปัญญาความสามารถที่เราลงทุนไปในการปฏิบัติงานนั้นๆ พระท่านไม่ว่าอะไร ท่านส่งเสริมให้ทุกคนทำงาน ให้ทุกคนใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ แต่ท่านเตือนว่าอย่าไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านั้นจนกระทั่งเป็นทุกข์ ทำงานนี่ก็อย่าทำให้เป็นทุกข์ มีเงินมีทองก็มีได้ แต่อย่ามีให้เป็นทุกข์ มีลูกมีหลานก็มีไปตามหน้าที่ แต่อย่ามีให้เป็นทุกข์ มียศถาบรรดาศักดิ์ ได้รับพระราชทานเหรียญ ตราสายสะพาย เป็นนั่นเป็นนี่ ก็อย่าเป็นให้มันเกิดความทุกข์ความเดือดร้อน อย่างนี้เรียกว่าผู้มีความฉลาด รู้จักใช้ธรรมะเป็นเครื่องแก้ไขปัญหาชีวิต ความทุกข์ที่จะเกิดมันก็น้อยไป
เวลาได้เราก็ไม่ดีใจ เพราะนึกแต่เพียงว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา เกิดมาก็ต้องพบสิ่งนั้นสิ่งนี้ พบแล้วมันก็ต้องจากกัน เพราะสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ไม่มีอะไรที่จะเป็นสิ่งเดียว มันคู่กันอยู่ทั้งนั้น มีมืดมีสว่าง มีกลางวันมีกลางคืน มีสูงมีต่ำ มีดำมีขาว มียาวมีสั้น มีดีแล้วก็ไม่ดี มีพบแล้วก็ต้องจากกัน เงินทองที่เราได้มาไม่เท่าใดมันก็จากไป ด้วยเราใช้มันไป หรือบางทีมันไม่จากไปเพราะเราใช้ แต่คนอื่นก็มาขโมยเอาไปใช้เสีย เขาเอาไปแล้วก็แล้วกันไป เราจะไปทุกข์ร้อนอะไรนักหนาในเรื่องนั้น อย่าไปเสียอกเสียใจอะไร เพราะว่าเขาเอาไปแล้วช่างมันเถอะ นึกว่าเออช่างมันเถอะ ถ้านึกตามแบบคนโบราณก็นึกว่าเออชาติก่อนเราคงจะไปเอาของเขามา ชาตินี้ก็ให้เขาไป นี่อุบาย อุบายเพื่อให้ปลงเท่านั้นเอง ให้ปลงตกว่า(0:39:30.9)กันไปหมดเรื่องกันเสียที แล้วจะไม่ต้องมีปัญหาต่อไป ถ้าของหายแล้วเรามานั่งเป็นทุกข์ เขาเรียกว่าใจหายตามไปด้วย อย่าให้ของหายแล้วใจหาย ให้หายแต่ของ อย่าให้ใจของเราหาย แต่ให้ปลงตกลงไปว่ามันมิใช่ของเราจริงจัง เราเพียงแต่อาศัยชั่วครั้งคราวแล้วก็ต้องจากไป ถึงแม้ขโมยไม่เอาไป มันก็ต้องจากเราวันหนึ่ง มันไม่จากเราเราก็ต้องจากมันเหมือนกัน เพราะชีวิตนี้มันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เรานึกอย่างนี้ก็สบายใจ
คนเคยเป็นใหญ่เป็นโตมีอำนาจวาสนา มีข้าคนบริวารเยอะแยะ ถ้าได้เจริญวิปัสสนาปัญญาไว้บ้าง จะไม่มีความทุกข์เมื่อตกอันดับลงไป เช่นต้องออกจากตำแหน่ง เราก็เฉยๆ กลับมาอยู่บ้านสบายๆ ไม่วิตกกังวลเดือดร้อนอะไร เพราะนึกว่าเขาให้เป็นเพียงชั่วครั้งคราว เรื่องสมมติทั้งนั้น (0:40:37.4) เราสวมหัวทศกัณฐ์ก็เต้นแบบทศกัณฐ์ สวมหัวหนุมานก็เต้นแบบหนุมาน สวมหัวพระลักษมณ์พระรามก็ต้องเต้นแบบพระลักษมณ์พระราม เต้นตามบทที่เขาให้เต้น ไม่ใช่เต้นอยู่จนหมดชีวิตเมื่อไหร่ มันต้องหยุดเต้นบ้าง ไม่อย่างนั้นเป็นลมตายคาเวที เราก็ต้องเข้าหลังฉากบ้าง เมื่อเข้าไปหลังฉากก็ถอดหัวออกวางไว้ นั่งคุยกัน ซดน้ำชากาแฟกินข้าวต้มอะไรก็ไปตามเรื่อง พอเขาบอกว่าทศกัณฐ์ออก เอ้า!!สวมหัวเข้า ออกไปเต้นยักเย่ยักตามเรื่องต่อไป มันก็เท่านั้น ถ้าเราคิดว่าลาภยศเหมือนกับหัวโขนที่เขาสวมให้ ของอันใดเขาให้เขาเอาคืนได้ ของอันใดเราได้มาก็ต้องส่งคืนเหมือนกัน มันไม่ถาวรจีรังยั่งยืนอะไรนักหนาถ้าคิดอย่างนี้ก็สบายใจ
ผู้ที่เจริญวิปัสสนาจะไม่เป็นคนโชคร้าย จะไม่เป็นคนประเภทดวงตก หรือเป็นคนอาภัพ หรือเป็นคนประเภทใด เพราะไม่ได้นึกเอาตัวไปเทียบกับใคร ว่าคนนั้นเขาขึ้นเราต้องลงมันก็ธรรมดานะ ลงบ้างขึ้นบ้างเหมือนกับท่าน้ำ ถ้ามีแต่คนลงไม่มีคนขึ้นแล้วจะไปอาบกันตรงไหน มันเต็มไปหมดในท่าอาบยั้วเยี้ยอยู่ในนั้นมันไม่ได้ มันพวกหนึ่งลงไป พวกหนึ่งก็ต้องขึ้นมา ขึ้นลิฟท์ก็เหมือนกัน คนหนึ่งขึ้นคนหนึ่งลง ถ้ามีแต่ขึ้นไม่มีลงก็ไม่รู้จะไปอยู่กันตรงไหน
ตำแหน่งหน้าที่การงานอันใดก็ต้องมีการผลัดเปลี่ยนกันไปตามหน้าที่ อายุ ๖๐ ปีก็บอกว่า เอ้า!!ออกได้แล้ว ไม่ต้องแสดงฉากนี้ต่อไป เราก็มาอยู่บ้านให้สบายๆ ไม่ต้องวิตกกังวล ไม่ต้องตื่นเช้าแต่งตัวนึกว่าจะไปทำงานอีก (0:42:30.6) ไม่มีสติยังนึกว่ากูยังมีงานทำอยู่ก็ไม่ได้ เขาให้ออกแล้วก็ต้องออก ออกแล้วก็ให้ใจสบาย ทำงานอื่นต่อไป ตามหน้าที่ที่เราจะต้องทำต่อไป นึกอย่างนี้ก็ไม่มีเรื่องอารมณ์ทุกข์อารมณ์ร้อน ทรัพย์สินเงินทองก็เหมือนกัน เราได้ไว้ เดี๋ยวนี้มันหายไปสูญไปเราก็นึกอย่างนั้น
ลูกหลานเราก็เหมือนกัน มีลูก บางทีลูกตายจากไป ถ้าเราไม่คิดในแง่ปัญญาตามหลักวิปัสสนาก็เป็นทุกข์ กังวลด้วยประการต่างๆ กินไม่ได้นอนไม่หลับอย่างนั้นไม่ดี เราต้องนึกว่า เมื่อเขามานี่เขาไม่ได้บอก ใครมาเวลาจะมาเกิดมันส่งข่าวล่วงหน้าบ้างว่าฉันจะไปเกิดในท้องคุณแม่ เขามาไม่ได้บอก เขาไปเขาก็ไม่บอก แล้วเวลามาเขาไม่ได้สัญญากับเราเลย สัญญาว่าฉันจะอยู่จนคุณแม่ตายนะ ฉันจะเผาศพคุณแม่ ไม่เคยสัญญาอะไรกันสักคำเดียว เขามาตามเรื่อง เขาก็ไปตามเรื่องของเขา ถ้าเขาตายก่อนเราก็ไม่ต้องเสียใจ แต่เรานึกว่า อ่อ!!เรื่องธรรมดา สัตว์โลกนี้อายุน้อยบ้าง อายุมากบ้าง อายุสั้นบ้าง อายุยาวบ้างเป็นธรรมดา เขาก็ต้องตายไปตามเรื่องของเขา เราไม่ต้องเสียอกเสียใจในเรื่องอย่างนั้น อย่างนี้เรียกว่าใช้ปัญญาพิจารณาอยู่ตลอดเวลา
ไม่ว่าเราจะอยู่ในฐานะในตำแหน่งในหน้าที่อะไร มีความเกี่ยวข้องกับอะไร เราก็ต้องนึกไว้ในรูปอย่างนั้นว่าสิ่งทั้งหลายต้องเปลี่ยนแปลง คนแก่ก็ต้องไปคนหนุ่มเข้ามาแทน ผลัดเปลี่ยนกัน เราเป็นคนแก่จะทำไปตลอดเวลาก็ไม่ได้มันไม่ไหวต้องมีการพักผ่อนเพื่อหาความสุขสบายสงบทางใจบ้าง คนหนุ่มเข้ามาทำ เรานั่งดูต่อไป แต่ถ้าเห็นว่าคนหนุ่มมันทำไม่ดีเราก็ไปเตือนได้ตามหน้าที่ ตามหน้าที่เท่านั้น เตือนแล้วเขาจะรับฟังก็ได้ไม่รับฟังก็ได้ เราจะไปบังคับเขาก็ไม่ได้ เพียงแต่ว่าเตือนตามหน้าที่ เขารับก็ดี ถ้าเขาไม่รับ เราก็อย่าเสียใจว่าแหมพูดกันไม่รู้เรื่อง เสียอกเสียใจนั่นก็ไม่ใช่เรื่อง แต่นึกในใจว่า อ่อ!!มนุษย์สมัยนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน คนสมัยก่อนนั้นว่านอนสอนง่าย สมัยนี้ว่ายากสอนยาก พูดอะไรกันไม่ค่อยรู้เรื่องไม่ค่อยเข้าใจ เราก็ปลงตกลงไปว่ามันปลายศาสนา คนมันมีสภาพอย่างนี้ คนโบราณเขามีอะไรๆไว้ เพื่อให้เราคิดพิจารณาเป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจได้มากเรื่องมากประการ คำพูดสั้นๆเป็นสำบัดสำนวนเขาก็พูดไว้มากเพื่อให้เรานำมาพิจารณาเป็นเครื่องเตือนใจ อย่างนี้จะทำให้จิตใจสงบสบายตามสมควรแก่ฐานะ
เพราะฉะนั้นญาติโยมที่มีชีวิตอยู่ในสภาพความยุ่งยากทั้งหลาย เราอย่าไปยุ่งกับเขา แต่เราเป็นคนดูเสียบ้าง ลงมาข้างเวทีแล้วก็ดูเสียบ้าง เวลาอยู่บนเวทีมันงงทำไม่ถูก เหมือนกับนักมวย คนดูนี่มันเก่งกว่านักมวย คอยเตือนว่า เอ้า!!ทำไมไม่ (0:45:54.8) ทำไมไม่ชกเข้าไป เอ้า!!ทำไมไม่ต่อยหมัดซ้ายเข้าไป มันงง (0:46:01.9) เราก็จะส่งไป มันงงเค้ากำลังชกกันนี่มันทำอะไรไม่ได้ เราคนดูดูอย่างเดียวนี่ก็คิดส่งเดชไปอย่างเดียว มันไม่เหมือนกัน คนดูกับคนแสดงมันต่างกัน เราจึงต้องรู้ว่าเวลาแสดงก็แสดงไป แต่ถึงบทมาเป็นคนดูก็ดูเขาบ้าง ด้วยปัญญาด้วยสติเราก็ดูต่อไป อย่างนี้มันก็สบายใจ
อะไรที่มากระทบตัวเราจะเป็นรูปเป็นเสียงกลิ่นรสอะไรก็ตาม เรียกว่าอารมณ์ อย่าทำใจให้ขุ่นมัว อย่าให้เดือดร้อนใจ แต่ให้มองไว้ว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา สิ่งนี้ไม่เที่ยง สิ่งนี้จะต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา ไม่ว่าเรื่องดีเรื่องเสีย เช่นว่าเรื่องดีนี่เช่นมีลาภมียศมีสรรเสริญมีความสุข สิ่งเหล่านี้เราต้องการ เมื่อมันเกิดขึ้นก็ต้องบอกไว้ว่ามีลาภยศสรรเสริญสุขมันไม่เที่ยง มันจะไม่มีก็ได้ จะถูกนินทาก็ได้ จะได้ความทุกข์ก็ได้ (0:47:08.1) เสื่อมไปเมื่อไหร่ก็ได้ ให้นึกไว้ล่วงหน้าอย่างนั้น ครั้นเวลาที่จะพบกับสิ่งไม่ปรารถนา เช่นเสื่อมลาภเสื่อมยศถูกนินทาว่าร้าย เราก็พิจารณาว่า สิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา แต่มันก็ไม่นานหรอกมันก็หายไป เพราะอะไรๆมันไม่เที่ยงทั้งนั้น (0:47:29.2) อย่างเป็นเรื่องอารมณ์เรื่องอะไรตามใจมันตกอยู่ในคติธรรมดาว่าไม่เที่ยง เราก็พิจารณาไว้ว่ามันไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วเดี๋ยวมันก็หายไป หมดปัจจัยปรุงแต่งมันก็หายไป
ทีนี้ปัจจัยปรุงแต่งที่สำคัญคือความยึดมั่นนั่นเอง ความเข้าไปยึดถือไว้ เช่นว่าใครพูดด่าเรา คำด่านี่มันจบแล้ว พอเขาด่าหยุดเขาก็จบแล้วแต่เราไม่ได้จบ เราเก็บมาไว้ในใจ เอามาคิดมานึกอยู่ตลอดเวลา มันด่าฉันมันว่าฉันมันทำฉันเจ็บปวดนัก นี่เรียกว่าไม่ยอมให้มันดับไปกับสิ่งนั้น คำด่าดับแล้วแต่เราอารมณ์ไม่ดับ เราเก็บมาไว้ในใจ การเก็บอย่างนี้เป็นทุกข์ เราจะต้องปล่อยให้มันดับไปกับสิ่งนั้น มันเกิดที่ไหนดับที่นั่น เกิดที่ถนนทิ้งไว้ที่ถนน เกิดที่ปากตรอกก็ทิ้งไว้ปากตรอก เกิดในห้องรับแขกก็อยู่ตรงนั้นทิ้งไว้ในห้องรับแขก แล้วเมื่อมันดับไปแล้วอย่าไปเก็บเอามา
พระพุทธเจ้าท่านแนะนำว่าอย่าคิดถึงสิ่งที่ล่วงมาแล้ว อย่าคิดถึงสิ่งที่ยังไม่มาถึง ให้เพ่งอยู่ในเรื่องเฉพาะหน้า เรื่องเฉพาะหน้า อะไรเกิดขึ้นเฉพาะหน้าต้องพิจารณาเรื่องนั้น รูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสมากระทบตาหูจมูกลิ้นกายใจของเรา เป็นเรื่องเฉพาะหน้า เราก็พิจารณาเรื่องนั้นว่ามันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันเป็นอนัตตา ไม่มีอะไรที่คงทนถาวร นี่เรียกว่าคิดปัญหาเฉพาะหน้า เมื่อสิ่งนั้นผ่านไปแล้วก็หมดเรื่อง รู้จักปล่อยรู้จักวาง อย่าหอบไว้เรื่อยไป
คนบางคนชอบเก็บเรื่องอะไรต่ออะไรเอามาไว้ในสมองมากมาย ไม่มีใครก็นั่งกลุ้มคนเดียว วิตกกังวลอยู่นั่นแหล่ะ นี่เขาเรียกว่าหาโอกาสที่จะเป็นโรคประสาทตลอดเวลาด้วยอารมณ์อย่างนี้ นั่งกลุ้มคนเดียวเห็นสิ่งนั้นก็กลุ้มเห็นสิ่งนี้ก็กลุ้ม ตอนตื่นเช้าหาเรื่องกลุ้มแล้ว (0:49:40.2) มีแต่เรื่องกลุ้มทั้งนั้น อย่างนี้จิตใจไม่สบาย ตื่นเช้าต้องทำอารมณ์ให้สดชื่น มองอะไรตามสภาพที่เป็นจริงทุกสิ่งทุกอย่าง ให้รู้ว่าความจริงมันเป็นอย่างไร เราควรจะอยู่ด้วยจิตใจอย่างไรในวันนี้ ก็ควรจะอยู่ด้วยจิตใจที่สงบไม่วุ่นวายไม่เร่าร้อน ไม่หวั่นไหวกับอารมณ์ต่างๆที่มากระทบ สิ่งใดมากระทบเราก็ปัดทิ้งไปปัดทิ้งไปอย่าเก็บไว้ ให้มันเป็นแต่เพียงสถานีผ่าน อย่าเป็นสถานีปรับไว้เป็นอันขาด ถ้าเราไม่จับมันก็ผ่านไป เสียงเข้าหูมันก็หายไป รูปผ่านตาก็หายไป กลิ่นกระทบจมูกแล้วก็หายไป อาหารกิน เช่นว่าเรารับประทานอาหารพอเคี้ยวเข้าไปก็เผ็ดบ้าง เปรี้ยวหวานมันเค็ม มันก็หายไป ไม่ได้อยู่มั่นคงถาวรอะไร ทุกอย่างเป็นอย่างนั้น ก็หัดหมั่นพิจารณาเป็นเครื่องเตือนใจอย่างนี้ เรียกว่าเจริญวิปัสสนาทุกโอกาส
เราไปที่ไหนก็มีอารมณ์ให้เจริญทั้งนั้น เห็นคนแก่ก็เอามาพิจารณาในแง่วิปัสสนาว่านี่แหล่ะคือความจริงของชีวิต เราวันหนึ่งจะต้องเป็นอย่างนี้ เห็นคนเจ็บก็บอกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา เราก็จะต้องเป็นอย่างนี้ ไปเห็นเขาตายก็ต้องนึกว่าเรื่องธรรมดา วันหนึ่งก็จะเกิดแก่เราเหมือนกัน เรามีอะไรก็ต้องบอกว่าก็ชั่วคราวเท่านั้น ของที่เราใช้นี่ยืมเขามาใช้ชั่วครั้งชั่วคราว วันหนึ่งก็จะต้องจากไป มันไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป นึกไว้อย่างนี้ใจสบาย ไม่วุ่นวายไม่เดือดร้อน เราจะได้มีการเป็นอยู่ที่สงบสดชื่นรื่นเริงตามแบบของพุทธบริษัท
พุทธบริษัทต้องอยู่อย่างแบบผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้มีความเบิกบานแจ่มใสอยู่ตลอดเวลา ที่เรียกว่ารู้ก็หมายความว่ารู้สภาพความเป็นจริงในสิ่งทั้งหลาย คือรู้ว่ามันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันเป็นอนัตตา เรียกว่าเป็นผู้รู้ในเรื่องนั้น ตื่นอยู่คือไม่มัวเมาไม่หลงใหล มีสติมีปัญญาคอยกำกับการคิดการนึกการพูดการกระทำอยู่ตลอดเวลา เรียกว่าเป็นผู้ตื่น เป็นผู้เบิกบานเพราะเรารู้อะไรตามเป็นจริง เราไม่หลงในสิ่งนั้น ไม่มัวเมาในสิ่งนั้น เราก็มีจิตเบิกบานแจ่มใส เป็นสุขได้ทุกเมื่อ
ความสุขแท้ๆ นั้นมันหาง่ายไม่ใช่ลำบากอะไร คือความสุขที่เกิดจากความสงบนี้ไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องไปหาไกลๆ ไม่ต้องนั่งรถไปไกลอะไร อยู่ที่ไหนก็ได้ ทำใจเท่านั้นเอง ทำใจของเราให้เป็นสุข จิตที่จะเป็นสุขก็ด้วยการเพ่งพิจารณาในสิ่งทั้งหลายที่มากระทบ ไม่รับสิ่งนั้นไว้ด้วยความหลงผิดเข้าใจผิดในแง่ต่างๆ เราก็มีความสบายใจ ไม่มีอารมณ์ทุกข์อารมณ์ร้อน
นี่เป็นหลักที่ญาติโยมควรจะได้เข้าใจไว้ ว่าการเจริญวิปัสสนานั้นคือการศึกษาให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริง วิปัสสนาไม่ใช่ของขลัง ไม่ใช่สิ่งวิเศษที่จะปลุกจะเสกให้เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มันเป็นเรื่องปัญญาที่ทำให้คนรู้แล้วพ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนเท่านั้นเอง อาจารย์วิปัสสนาคนใดที่ไปปลุกไปเสกลงเลขลงยันต์ ทำพิธีรีตองอยู่นั้น เรียกว่ายังไม่เข้าถึงวิปัสสนาของพระพุทธเจ้า แต่เป็นผู้ใช้จิตในทางที่ผิด ห่างจากธรรมะของพระผู้มีพระภาคเจ้าไปไกลลิบทีเดียว
นี่เป็นเรื่องที่นำมาทำความเข้าใจกับญาติโยมทั้งหลายในวันนี้ ดังที่กล่าวมาก็พอสมควรแก่เวลา ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจเป็นเวลา ๕ นาที