แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาถกฐาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
ปวารณาออกพรรษา
วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๑๙ ของเดือนตุลาคม เป็นวันอาทิตย์แรกของการออกพรรษา พระได้ออกพรรษาเมื่อวันที่ ๑๗ เดือนตุลาคม เขาเรียกว่าปวารณาออกพรรษา การปวารณานั้นก็เป็นเรื่องพระวินัยที่บัญญัติไว้ เพื่อให้พระที่อยู่จำพรรษาร่วมกันแล้วก็จะต้องจากกัน จะได้ปลดเปลื้องตัวเองจากปัญหา สมมติว่าใครได้เห็น ได้ยิน ได้รังเกียจ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ให้บอกกัน ไม่เก็บงำไว้ในใจ เป็นผู้เปิดเผย ตักเตือนด้วยความรัก ความหวังดี ต่อเพื่อนภิกษุผู้ประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกัน จึงได้ทำการปวารณา
การปวารณาก็กล่าวว่า สังฆัมภันเต ข้าแต่สงฆ์ผู้เจริญข้าพเจ้าขอปวารณา อันสิ่งใดที่ท่านได้เห็น ได้ยิน ได้รังเกียจ ในความบกพร่องของข้าพเจ้า จงกล่าวเรื่องนั้นให้ข้าพเจ้ารับทราบ ข้าพเจ้าทราบแล้วจะเปิดเผย จะทำคืนเรื่องนั้นให้เรียบร้อย อันนี้เป็นการแสดงน้ำใจเปิดเผยในสิ่งที่บกพร่อง การเปิดเผยแสดงน้ำใจในสิ่งบกพร่องเรียกว่าสารภาพความผิด ในเรื่องที่คนอื่นเขาว่าทำผิดก็รับเสีย แล้วสารภาพผิดขอโทษขออภัยแก่กันและกัน ไม่ถือโทษ ไม่พยาบาท ไม่เก็บความชั่วไว้ในใจ แต่เอามาเปิดเผย ทำให้แจ้งแก่กันและกัน เป็นเรื่องดีอย่างหนึ่งในสังคม
ชาวบ้านก็เหมือนกัน บางทีก็ทำอะไรผิดก็หมองใจกันเล็กๆ น้อยๆ แล้วเก็บมาผูกไว้ในใจ มาคิดว่ามันด่าเรา มันตีเรา มันลักของๆ เรา มันทำเราอย่างนั้น ทำเราอย่างนี้ การคิดอย่างนี้เวรไม่ระงับ แต่ว่าจะมีการจองเวรกันเรื่อยไป การจองเวรนั้นเป็นการสร้างบาปสร้างกรรมทำให้ชีวิตเศร้าหมอง ทำให้เกิดระแวง ทำให้เกิดนอนไม่หลับ เพราะกลัวว่าคนนั้นจะมาทำร้ายเรา จะเดินไปไหนก็หวาดกลัว กลัวพวกนั้นจะมาทำร้าย ชีวิตไม่เป็นสุขเพราะไม่ให้อภัยแก่กันและกัน พระพุทธเจ้าสอนให้ ให้อภัยแก่กันและกัน ไม่ถือโทษ ไม่โกรธตอบแก่กันและกัน
ท่านมหาตมา คานธี
ท่านมหาตมา คานธี นี่เป็นคนที่ปฏิบัติธรรมะดีมาก เพราะกลับมาที่อินเดียแล้วกลับไปอีกพวกฝรั่งเขาโกรธ โกรธคานธี หาว่าเป็นคนที่ทำร้ายพวกเขาด้วยการพูดการเขียน ความจริงคานธีไม่ได้ทำร้ายใคร แต่ว่าท่านทำการต่อสู้เพื่อสิทธิของคนผิวดำ เป็นชาวอินเดียเป็นต้น พวกนั้นก็โกรธจะทำร้ายท่าน มาในเรือพอลงจากเรือนี่คนเขาไปห้ามว่าท่านอย่าไป เพราะขืนไปไอ้พวกนั้นมันต้องทุบท่าน ทุบถึงตายก็ได้ ลงไปกระทืบ ท่านก็บอกว่าฉันต้องไปเพราะว่าฉันไม่ได้ทำผิดคิดร้ายอะไร เขาคงจะไม่ทำร้ายฉันมากมายอะไร แต่เจ้าหน้าที่บอกไม่ได้ ไปไม่ได้ ไปแล้วห้ามไม่ทัน กันไม่ได้ ท่านจะได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนใจ
แล้วเขาบอกว่าเอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ให้ท่านแปลงตัวปลอมตัวเป็นผู้หญิง ปลอมตัวเป็นผู้หญิงเดินลงไป การกระทำเช่นนั้นเป็นการกระทำของคนขี้ขลาด ไม่กล้ารับในเรื่องที่ตนได้เป็นอยู่ ไม่ได้ฉันทำไม่ได้ ฉันจะต้องเดินลงไป เจ้าหน้าที่บอกท่านต้องรออีกหน่อย รอให้ค่ำก่อน พอค่ำแล้วพวกนั้นก็จะกลับบ้าน ถนนหนทางมันจะได้โล่ง ท่านบอกไม่เป็นไรรอได้ แต่ว่าพวกนั้นมันไม่กลับหรอก มันเที่ยวแอบอยู่ แอบอยู่ถ้าคานธีลงเมื่อใดมันก็ลงมือทุบเลย คานธีก็ลงมา เจ้าหน้าที่ก็คุ้มกันมา แต่คนมันมากกันไม่ได้ มันชวนกันทุบตีคานที หัวศีรษะถลอกปลอกเปิดบาดเจ็บไปทั้งตัวก็ว่าได้
ตำรวจต้องเข้ามาห้อมล้อม แล้วพาเข้าไปในบ้านคนๆ หนึ่งซึ่งเป็นคนมีชื่อเสียง พวกก็ไปล้อมบ้านนั้นเพื่อจะเอาคานธีออกมา เราจะเอาไปแขวนคอที่ต้นไม้กลางสนาม พวกก็ไม่ให้ออก ให้เอาออกทางหลังแอบไปพ้นไป ไปโรงพักตำรวจบอกว่าท่านจำหน้าคนที่ทุบตีท่านได้ไหม จำได้แต่ว่าข้าพเจ้าจะไม่บอกว่าใครตีข้าพเจ้า เพราะว่าถ้าบอกไปแล้วเรื่องมันจะไปกันใหญ่ ข้าพเจ้าถือว่าไม่โกรธกับคนที่โกรธเรา ไม่ตีตอบกับคนที่ตีเรา ไม่ด่าตอบกับคนที่ด่าเรา ข้าพเจ้าไม่เอาเรื่อง แกเป็นนักกฎหมายมีความรู้ทางกฎหมายจะฟ้องก็ได้ แต่ไม่เอา ไม่ทำอะไรปล่อยเขาไปเถอะ อย่าไปจับเขาเลย อย่าไปลงโทษเขาเลย ท่านทำอย่างนั้น เรียกว่าให้อภัยแก่คนเหล่านั้น
จงชนะความชั่วด้วยความดี
ผลที่สุดก็ไม่มีอะไร แกก็มีชีวิตเป็นอิสระทำงานทำการได้ต่อไป พวกนั้นก็เลยหยุดเบียดเบียนท่าน อย่างนี้เข้าแบบที่ว่า จงชนะความชั่วด้วยความดี อะสาทุ สาทุนา ชิเน, ชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ อักโกเทนะ ชิเนโกทัง, ชนะคนตระหนี่ด้วยการให้ ชนะคนพูดพล่อยๆ ด้วยพูดจริงบ่อยๆ นี่วิธีการชนะของพระพุทธเจ้า ไม่ชนะกันด้วยกำลัง เพราะว่าชนะด้วยกำลังนั้นมันเพิ่มความโหดร้าย เพิ่มความเบียดเบียนแก่กันและกัน โลกไม่สงบเพราะโกรธเกลียดพยาบาท แต่โลกจะสงบเพราะไม่โกรธ ไม่เกลียด ไม่พยาบาทใคร อยู่กันด้วยความเรียบร้อยจะดีกว่า ท่านถือหลักอย่างนั้น เรียกว่าเดินตามรอยพระบาทของพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าท่านไม่โกรธใครเกลียดใคร เวลาไปอยู่ที่เมืองโกสัมพี (09.56) มีคนพระนาง... พระนางมาคันทิยาโกรธพระพุทธเจ้าแต่เบียดเบียนพระพุทธเจ้าไม่ได้ เลยไปเบียดเบียนพระนางสามาวดี เพราะพระนางสามาวดีเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า เลื่อมใสพระพุทธเจ้าเลยไปทำร้ายเผาปราสาท นางสามาวดีกับพวกตายในกองไฟ พระเจ้าอุเทนกลับมาจากไปป่า มาถึงก็แสดงอาการหัวเราะชอบอกชอบใจ บอกว่าแหมเรานี่เบื่อแม่คนนี้มานานแล้ว ใครมาฆ่าเสียเราสบายใจ มีอุบาย อุบายที่จะปราบคนชั่ว เราสบายใจ มีใครบ้างที่ทำร้ายนางสามาวดี มาเราจะได้ให้รางวัล ไอ้คนที่ไม่ทำก็ไปบอกว่าทำเพื่อเอารางวัลเลยถูกจับ จับแล้วเอาไปลงโทษเพราะไปทำร้ายนางสามาวดี
แล้วเวลาที่พระนางมาคันทิยาจ้างคนให้ไปด่าพระพุทธเจ้า ด่าหยาบๆ เป็นงู เป็นลา เป็นอูฐ เป็นสัตว์เดรัชฉานอะไร ด่าไอ้คำด่ามีอย่างไรก็เอามาด่ากันหมด พระพุทธเจ้าท่านเฉยๆ ท่านเดินเฉยๆ เหมือนกับไม่ได้ยิน พระอานนท์รำคาญเลยบอกว่าไม่ไหวแล้วพะย่ะค่ะ เมืองนี้คนขี้ด่ามากไปเมืองอื่นกันเถอะ พระพุทธเจ้าไปไหน ไปเมืองที่คนเขาไม่ด่า อ้าวถ้าเราไปเมืองนั้นมีคนด่าอีกจะทำอย่างไร ก็ต้องหนีอีกหนีไม่จบ เรื่องเกิดที่ไหนต้องให้มันจบที่นั่น ไม่ใช่หนีแต่ต้องสู้ปัญหา คนด่าตถาคตคือพระพุทธเจ้า ด่าได้อย่างมากเพียง ๗ วัน เลย ๗ วันแล้วมันเบื่อ เหนื่อย ขี้เกียจจะด่าหยุดไปเอง ก็ไม่เป็นไร
แล้วพระองค์ตรัสกับพระอานนท์ว่า อะหัง นาโควะ สังคาเม จาปาโต ปะติตัง สะรัง เป็นต้น ซึ่งแปลความว่าเราเป็นเหมือนช้างศึกออกสงคราม ลูกศรยิงมาเหมือนห่าฝน เราจะต้องยืนหยัดอยู่กับที่ ให้ลูกศรยิงไปถูกตัวเราทั้งตัวเราก็ไม่ถอย คนชั่วในโลกนี้มีมาก เราจะต้องไม่ทำร้ายตอบ ไม่โกรธตอบแก่คนเหล่านั้น ต้องเอาชนะกันด้วยความดี พระองค์ใช้วิธีอย่างนั้น ผลที่สุดไอ้พวกที่ด่ามันก็เหนื่อย ก็หยุดไปเองไม่อยากด่าต่อไป พระองค์ก็ได้ชัยชนะ นั่นวิธีการชนะของพระพุทธเจ้า
อย่าไปสนใจกับคนที่มาว่าอะไรเรา
เราได้กระทบกระเทือนจิตใจเพราะคนมาว่าเราอย่างนั้นอย่างนี้ ทำให้เราโกรธเรารำคาญ พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า มีหูดีทำเป็นหูหนวกเสียบ้าง ตาดีก็ทำเป็นตาบอดเสียบ้าง ลิ้นพูดได้ก็ทำเป็นใบ้เสียบ้าง มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นเข้าห้องปิดประตู นอนคุมโปรงเสียมันก็หมดเรื่อง ท่านสอนอย่างนี้ คือว่าอย่าไปยึดอย่าไปฟังอย่าไปดู อย่าไปสนใจกับคนที่มาว่าอะไรเรา แต่เราหลบไปเสีย หลบไปเข้าห้องนอนเสีย ปิดประตูเสีย ยิ่งบ้านสมัยนี้ติดกระจกพอเข้าห้องปิดหมดเสียงไม่ดังเข้าไป มันยืนด่าอยู่หน้าบ้านช่างหัวมัน เราก็สบายใจ เพราะด่ามานานพอเหนื่อยก็เลิกด่าไปเอง เพราะด่าคนไม่ด่าตอบก็ไม่มีเรื่องอะไร ท่านสอนอย่างนั้น ให้รู้จักระงับคำพูดร้ายๆ โดยอดทนใจเย็นไม่ทำอะไรตอบกับคนเหล่านั้น ชีวิตจะสบาย วิธีการเป็นอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นในชีวิตของคนเรา มันอาจจะมีเรื่องกระทบกระเทือนกันบ้าง เช่น ขับรถไปดีๆ มีรถคนอื่นเฉียดเข้ามาทำให้รถเราเสียหาย ลงไปดูแล้วนิดหน่อยไม่เป็นไรขับต่อไป อย่าไปต่อว่าไอ้คนขับรถยังไง เกิดเรื่องถ้าพูดอย่างนั้นก็ลงมา คุณขับรถยังไงเดี๋ยวก็ต่อยกัน ถ้ามีปืนก็ยิงกันเปรี้ยงป้างเรียบร้อยทั้งคู่ไม่ได้อะไร รถก็ทิ้งอยู่นั่นศพก็ทิ้งอยู่นั่นเป็นหน้าที่ของสมาคมก็เก็บศพไปส่งนิติเวชต่อไปไม่ได้อะไร ใจเย็นๆ ดีกว่า
อย่าเพิ่มความชั่ว อย่าเพิ่มคนชั่ว
วันหนึ่งคนๆ หนึ่งรับอาตมาจะไปส่งที่วัดที่ฝั่งธนวัดอะไรนะ อันนี้รถเมล์ บขส. มันขับรถด้วยความประมาทเบียดรถเบนซ์เสียหาย พอเบียดแล้วมันขับเลยไป ลูกน้องลงมา เอาเรื่องไหมครับ ถามอย่างนั้น แทนที่จะมาขอโทษขอโพย มันถามว่าเอาเรื่องไหม บอกว่าไม่ต้องๆ ไม่ต้องเอาเรื่องอะไรหรอก ไม่เอาเรื่องก็ไปละ มันก็ไปขึ้นรถไปเลย แกหันมาพูดกับหลวงพ่อว่า เอาอะไรกับไอ้พวกนี้ กริยาวาจามันก็อย่างนั้นแหล่ะ ถ้าเราไปโต้ก็เหมือนเอาทองไปถูกับกระเบื้อง เอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ เอาเนื้อไปแลกหนังมันไม่ได้เรื่องอะไร นิดๆ หน่อยๆ เราไปซ่อมของเราเองดีกว่า
อ๋อโยมเขาว่าคนหัวล้านนี่ใจน้อย โยมคนนั้นแกไม่ค่อยมีผมบนหัว คนหัวล้าน เลยบอกว่าเขาว่าคนหัวล้านใจน้อยนี่ไม่จริง โยมนี่ขออภัยที่หัวล้านเหมือนกันแต่ใจไม่น้อย มันไม่ได้เรื่องอะไรที่จะไปทะเลาะกับคนเหล่านั้น โยมก็ผมน้อยเหมือนกันอย่าใจน้อย ผมน้อยแต่อย่าใจน้อยอย่าใจร้อนใจเย็นๆ คนโบราณเขาพูดไว้ แกก็เลยขับรถไปส่งจนถึงวัดเรียบร้อย แล้วก็ปล่อยให้อยู่ที่นั่น เทศน์เสร็จเจ้าภาพเขาก็มาส่งเอง
ไปพบคนใจดีเลยไม่มีเรื่อง ถ้าไอ้คนนั้นมันถามว่าเอาเรื่องไหม อ้อเอาเรื่องซิวะ เดี๋ยวลูกน้องก็ไปบอกลูกพี่คนขับลงมาเจรจา เจรจาด้วยถ้อยคำที่ไม่สมควร ประเดี๋ยวก็มีเรื่องทุบตีกันอะไรกัน ยิงกันตายก็มีเพราะเรื่องอย่างนี้ มันไม่ควรจะมีเรื่องก็อย่างมีเรื่องอยู่ให้สงบๆ สบายกว่า เช่น เพื่อนบ้านร้านที่ใกล้เคียงเราบางทีก็ชอบหาเรื่อง เราอย่าไปทะเลาะกับคนพวกนั้น เพราะคนที่พูดจาให้ร้ายต่อเรา ใจเขาร้ายถ้าเราไปพูดร้ายอีกเขาเรียกว่าเพิ่มความร้ายเพิ่มคนร้ายขึ้น พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่าเพิ่มความชั่ว อย่าเพิ่มคนชั่ว ถ้าคนหนึ่งทำชั่วแล้วเราทำชั่วตอบเพิ่มความชั่ว แล้วก็เพิ่มความชั่วขึ้นอีกคนหนึ่งเพราะไอ้คนนั้นมันชั่วอยู่แล้ว แล้วเราก็เพิ่มคนชั่วขึ้นอีกคนหนึ่ง มันไม่ได้อะไร
เราต้องอยู่ด้วยการลดความชั่ว ลดคนชั่วในสังคมให้น้อยลงไป ต้องอยู่อย่างนั้น ก็มีความสุข ไม่มีเวรไม่มีภัยกับใครๆ มีชีวิตสบายไม่มีปัญหา วิธีการเป็นอย่างนั้น เราก็ขอโทษขอโพยไป คนหนึ่งแข็งมาเราก็อ่อนไป เราเป็นเสมือนหนึ่งอะไร เขาเรียกว่าไม้จันทร์หอม ไม้จันทร์หอมยิ่งทุบยิ่งหอม พอทุบแล้วกลิ่นมันกระจายหอม ยิ่งทุบยิ่งหอม คนเราต้องเป็นเหมือนไม้จันทร์หอม ใครด่าว่าใครทำอะไรเราเฉยๆ ไม่โต้ตอบไม่หาเรื่องกระทบกันก็ยิ้มกันขอโทษขอโพยกันเรื่องมันก็ไม่มีอะไร แต่ปกติคนเรามันไม่เป็นเช่นนั้น ชอบเก็บเรื่องมาคิดมานึกให้วุ่นวายใจ สร้างความโกรธสร้างความเกลียด สร้างความริษยา สร้างความพยาบาทอาฆาตจองเวรให้เพิ่มขึ้น ผิดหลักการของพระพุทธเจ้า
คนประเสริฐ
พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เพิ่มความชั่วแต่ให้เพิ่มความดี มีอะไรเกิดขึ้นก็รีบรู้ สติมาทันถ่วงที พอสติมาทันก็หยุดใจได้บังคับใจได้ ไม่ทำอะไรด้วยอาการหุนหันพลันแล่น เพราะเรายับยั้งตัวเองได้ การควบคุมตัวเองให้หยุดได้เป็นประเสริฐ เราบังคับม้าได้ บังคับช้างได้ บังคับลิงให้แสดงละครได้ แต่คนที่บังคับม้า บังคับอะไรต่ออะไร บังคับตัวเองไม่ได้ยังไม่ประเสริฐ พระพุทธเจ้าตรัสว่า เราหัดช้างหัดม้าหัดอะไรได้ แต่ไม่ได้หัดตัวเองก็ยังไม่ประเสริฐอะไร คนที่ฝึกตัวเองได้ บังคับตัวเองได้ ยับยั้งชั่งใจได้ในเมื่อมีอะไรมากระทบ นั่นแหล่ะเป็นคนประเสริฐ เป็นคนที่สังคมต้องการ เป็นคนอยู่เพื่อให้โลกดีขึ้น ไม่ได้อยู่เพื่อทำร้ายโลก ไม่ได้อยู่เพื่อทำให้โลกเร้าร้อนวุ่นวาย เป็นสัตตบุรุษเป็นคนดีที่ควรอยู่ในสังคมต่อไป เราคิดอย่างนั้น
วันปวารณาของพระสงฆ์มีจุดหมายเพื่อให้พระบรรเทาเบาบางความคิดเสียๆ ที่มีต่อกัน คนเรามันเป็นปุถุชน ปุถุชนหมายความว่าคนที่สติน้อยปัญญาน้อย ไม่ได้ใช้สติใช้ปัญญาในการคิด การพูด การกระทำ การคบหาสมาคม การไปไหนมาไหน จึงเกิดความผิดพลาดขึ้น ถ้าคนใดคนหนึ่งทำอะไรผิดพลาด เราควรจะนึกสงสารคนนั้น แล้วควรให้อภัยเขา สงสารว่าทำไมจึงทำเช่นนั้น เพราะเขาขาดการอบรมใจ ขาดการศึกษาไม่มีความรู้เพียงพอที่จะบังคับตัวเองได้ เป็นคนที่เราควรจะช่วยเหลือเขา ไม่ใช่เป็นคนที่เราจะไปซ้ำเติม เพื่อให้เขาเป็นโรคทางจิตมากขึ้นจึงจะเป็นการถูกต้อง เราจึงควรจะสอนเขาพูดจาแนะนำเขา
ความสำนึกผิด
อย่างน้อยๆ เราแสดงความเยือกเย็นให้เขาเห็น แสดงการบังคับตัวเองให้เขาเห็น ก็เป็นคุณแก่เขาแล้ว เป็นบทเรียนให้เขาคิดได้ แล้วเขาหยุดยั้งเกิดความสำนึกรู้สึกผิดชอบชั่วดี อันนี้เป็นการกระทำที่ถูกต้อง ที่เราควรกระทำแก่ทุกคนที่ทำอะไรผิดปกติ ทำอะไรผิดปกติมันไม่ถูกต้อง เราก็ควรแสดงความรู้สึกที่เป็นธรรมะแก่เขา คือไม่แสดงความโกรธ ความเกลียดอะไรแก่เขา แต่เราทำดีแก่เขาเราก็สบายใจ แล้วคนเหล่านั้นเขาก็สบายใจขึ้น เพราะได้มีความสำนึกผิด ความสำนึกผิดนี่เป็นเรื่องสำคัญ ที่ผู้อยู่ในสังคมจะต้องใช้บ่อยๆ แต่ว่าใช้กันน้อยไม่ค่อยมีคนสำนึกผิด
แล้วก็ไม่มีคนที่สารภาพอย่างตรงไปตรงมาว่า ผมเผลอไป ผมประมาทไป ขอโทษนะครับให้อภัยแก่ผมด้วยเขาขอร้อง เราเมื่อเห็นเขาขอร้องอย่างนั้น ควรจะยิ้มแย้มแจ่มใสใจเบิกบาน อย่าไปโกรธอย่าไปเคืองเขา อย่าไปต่อว่า คุณทำอย่างนี้แล้วมาขอโทษแล้วอะไรมันจะได้ มันได้ทางใจ วัตถุไม่ได้แต่ใจมันดีขึ้น การทำคนให้มีใจดีใจงามเป็นเรื่องที่ควรทำทุกโอกาส ทุกครั้งที่มีอะไรเกิดขึ้น เราก็บังคับตัวเองได้ยับยั้งใจได้ นั่นแหล่ะประเสริฐที่สุดในชีวิตของเรา เราควรจะทำอย่างนั้น โลกก็จะเยือกเย็นจะสงบขึ้น คดีอาชญากรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกบางทีเรื่องนิดเดียว ที่เขาพูดว่าน้ำผึ้งหยดเดียวที่เราอ่านในนิทานสมัยเด็กๆ ว่าน้ำผึ้งหยดเดียว
น้ำผึ้งหยดเดียวแมลงวันมากินน้ำผึ้ง แล้วก็จิ้งจกมากินแมลงวัน แมวมากินจิ้งจก แล้วก็หมามากัดแมว ก็เลยมีเสียงดังเอ็ดตะโร เจ้าของหมาเห็นหมามากัดแมวก็โกรธ โกรธแมวโกรธหมาด่าเจ้าของ เจ้าของหมาก็โกรธด่าเจ้าของแมว เลยตีกัน ยกพวกตีกันทั้งบ้านเลย เรื่องนิดเดียวแท้ๆ น้ำผึ้งหยดเดียวแท้ๆ ทำไมจึงลุกลามเป็นเรื่องจราจลวุ่นวายกันทั้งบ้านทั้งเมือง เพราะไม่มีพระอยู่ในใจ ไม่มีความคิดถูกต้อง ไม่มีความยับยั้งชั่งใจขาดสติขาดปัญญาเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งจิตใจ จึงได้แสดงอาการที่ไม่เหมาะไม่ควรออกมาน่าละอาย เราน่าละอายที่กระทำเช่นนั้น
ละอายแก่ใจตนเอง
พระท่านจึงสอนว่าให้ละอายแก่ใจตนเอง ในเมื่อคิดไม่ถูกต้อง พูดไม่ถูกต้อง ทำไม่ถูกต้อง เป็นการสร้างปัญหาให้แก่ผู้อื่น ควรละอายแก่ใจตนเอง แล้วไม่กระทำเช่นนั้น พอรู้สึกละอายก็รีบกราบไหว้ขอโทษ แม้จะต้องคุกเข่าลงไปตรงนั้นก็ได้ ชาวจีนเขาเมื่อทำผิดเขามักคุกเข่าขอโทษ ต้องการอะไรก็แสดงอาการคุกเข่า จะคุกเข่าอยู่ที่นี่จนกว่าจะสำเร็จ ผู้ที่ถูกคุกเข่าบอกว่าอย่าทำเช่นนั้น เราอนุญาตให้ท่านทำอะไรได้หยุดเสียเถอะ เขาก็หยุด เพราะได้สิ่งที่ต้องการ เราจะอยากได้อะไรอย่าใช้ความข่มขู่ อย่าใช้อำนาจ อย่าใช้อิทธิพลเพื่อไปเอาอะไรจากคนนั้น เพราะการกระทำเช่นนั้นเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เราควรจะพูดจาปรานีปรานอมค่อยพูดค่อยทำความเข้าใจกัน
ถ้าเห็นอีกคนหนึ่งใจร้อน เราก็เอาน้ำมาลูบตัว เอาน้ำศีลธรรมมาลูบตัว ทำให้ใจเย็นทำให้ใจสงบ ไม่ไปโต้เถียงกันด้วยความร้อน เรื่องมันจะพอเจรจากันได้ แต่ถ้าร้อนจะพูดอะไรกัน พูดมันก็ร้อนเพราะใจร้อน เสียงที่ออกมาก็ร้อน กริยาท่าทางก็ร้อน ร้อนไปหมด เลยเกิดไฟบรรลัยกัลป์ไม่รู้กันเท่าไหร่ ไฟบรรลัยกัลป์ไม่ได้เกิดมาจากอะไร เกิดจากใจของเรานั่นเอง ใจเราร้อน พูดทำด้วยความร้อนรนกระวนกระวายใจจึงเกิดปัญหา หน้าที่ของเราจึงต้องบังคับจิตไม่ให้ร้อน ให้เย็นให้สงบอยู่ตลอดเวลา ความจริงธรรมชาติของจิตคนนี่มันสงบอยู่ สะอาดอยู่ สว่างอยู่ตลอดเวลา แต่มันเศร้าหมองเพราะสิ่งที่มากระทบ
รูปกระทบตา เสียงกระทบหู กลิ่นกระทบจมูก รสกระทบลิ้น สิ่งสัมผัสได้มากระทบกาย แล้วก็เกิดการปรุงแต่งในเรื่องนั้น ถ้าปรุงแต่งด้วยความเขลาก็เกิดความทุกข์ ถ้าปรุงแต่งด้วยปัญญาก็ไม่มีความทุกข์ แต่ว่าคนเราส่วนมากไม่ได้อบรมบ่มนิสัยในทางให้เกิดปัญญา มันไวต่อการที่จะคิดเรื่องไม่ดี พูดก็ไม่ดี ทำเรื่องไม่ดี คบหาสมาคมกับคนไม่ดี ก็เลยก่อเรื่องอื้อฉาวขึ้นในสังคม เป็นเหตุให้เกิดปัญหาจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น นี่เพราะขาดคุณธรรมเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งจิตใจ พระท่านจึงสอนให้เรามีความอดทน
สติควบคุมจิตใจ ปัญญาพิจารณา
ขั้นแรกต้องอดทนไว้ก่อน แล้วก็ต่อไปหาเหตุหาผลในเรื่องนั้น ว่าเรื่องนั้นมันเกิดขึ้นอย่างไร มันเกิดจากใคร เกิดจากคนๆ นั้น แล้วคนๆ นั้นโดยปกติเขามีอย่างนั้นหรือ จิตของเขาที่ปกติมันมีสิ่งนั้นหรือ เขาก็บอกว่าไม่มี ใจที่ปกติเขาสงบอยู่สว่างสะอาดอยู่ แต่เดี๋ยวนี้เขากระทบกระเทือนจิตใจ เพราะปรุงแต่งในทางผิด เพราะวัตถุที่มากระทบ ไม่เข้าใจว่าสิ่งนั้นคืออะไร เอามาปรุงแต่งให้มันผิดขึ้น แล้วก็ไปต่อว่าต่อขาน เวลาต่อว่าต่อขานก็ไม่พูดให้สุภาพให้เรียบร้อย พูดถ้อยคำที่ไม่น่าฟัง แสดงอาการที่ไม่น่าดู คนที่เราไปต่อว่ามันก็มีกิเลสเหมือนกัน บังคับตัวเองไม่ได้เหมือนกัน ก็เกิดอารมณ์ขึ้นมา เดี๋ยวก็เหมือนฟ้าผ่าเปรี้ยง กูจะไปทุบมัน จะไปฆ่ามัน จะไปเอาเลือดในหัวมันออกสักหน่อย เรื่องอะไรที่คิดอย่างนั้น
ไม่ใช่เราทุบเขาคนเดียวได้ เขาก็ทุบเราบ้าง เขาต่อยเราบ้าง เขายิงเราบ้าง แล้วก็เลยตายทั้งคู่ไม่ได้อะไร เสียหายแก่ตนแก่ท่าน เป็นการแสดงความรู้สึกนึกคิดที่ไม่ถูกต้อง เราจึงต้องระมัดระวังไว้ตลอดเวลา มีสติควบคุมจิตใจไว้ มีปัญญาพิจารณาให้รอบคอบ ว่าอะไรมันจะก่อให้เกิดอะไร เช่น เราได้ยินเสียงด่าของคนอื่น เราก็รีบคิดว่าเขาด่า อะไรมันจะเกิดขึ้นแก่เรา เราจะโกรธเราจะเกลียดคนนั้น โกรธเกลียดเขาแล้วเราได้อะไร เขาจะได้อะไร สังคมจะได้อะไร จะมีอะไร เพราะการโกรธการเกลียดกัน ก็คิดได้ว่าไม่ได้อะไร แล้วจะไปโกรธทำไม จะไปเกลียดกันทำไม อยู่นิ่งๆ เฉยๆ ไม่แสดงอาการลุกลี้ลุกลน ไม่ทำอะไรผิดเพิ่มเติมลงไป
ไม่เบียดเบียนใจก็สบาย
คนที่ด่าเราครั้งแรกเขาก็นึกได้ พอนึกได้เขาก็หยุด เข้ามาแสดงความรู้สึกนึกคิดในทางที่ถูกที่ชอบแก่เรา ช่วยให้เราสบายใจขึ้น ไปไหนมาไหนก็ไม่ต้องระวังตัว เพราะเราไม่เป็นพิษ เราไม่ทำร้ายใคร เราไม่เบียดเบียนใคร ใจสบาย หลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข ไปไหนก็เป็นสุข ไม่ต้องหวาดระแวงภัยอันตราย ดีหรือไม่โยมลองพิจารณา ถ้าเห็นว่าดี แล้วเรามีปกติอย่างนั้นหรือเปล่า ชอบเถียงชอบทะเลาะกับคนบ้านใกล้เรือนเคียงในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เรื่องใหญ่ไม่ค่อยมีหรอก เรื่องน้อยเรื่องเล็กน้อย ทหารที่รบกันระหว่างประเทศ ไม่ใช่รบเรื่องใหญ่แต่มันเรื่องเล็กน้อย
พลเมืองเขากระทบกันด้วยเรื่องเล็กน้อย แล้วมีนายเข้ามาถือหาง ส่งกองทหารเข้ามาตำรวจเข้ามา ทั้งในหมู่บ้านก็อาจจะเกิดความเสียหายแก่สังคมต่อไป เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องแต่เขาคิดไม่ได้ แล้วไม่มีใครคอยให้สติเตือนใจ มีแต่คนยั่ว เอามันสักที เอามันเสียที ไอ้เจ้านี่มันทำแบบนี้มานานแล้ว ผมเกลียดมันเหลือเกินแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร เรื่องอะไรที่ไปแสดงความรู้สึกที่ไม่ดีไม่งามออกให้คนอื่นเห็น น้ำขุ่นต้องเก็บไว้ข้างใน น้ำใสจึงเอาออกมาข้างนอก อย่าเอาน้ำขุ่นออกมา เพราะน้ำขุ่นเอาไปสาดใครมันก็มีโคลนติดตัวทำให้สกปรก ให้เร่าร้อน ให้วุ่นวาย เราไม่ควรจะทำอย่างนั้น แต่เราควรจะหยุดให้ได้ก่อน
หยุดแล้วก็ถามตัวเองว่าอะไรเกิดขึ้น อะไรตั้งอยู่ในใจของเรา ทำไมหัวใจเต้นแรง ทำไมใจฉีดโลหิตแรง ทำไมจึงร้อนหน้าดำตาแดง ปกติเราก็ไม่เป็นอย่างนี้ แต่เราเป็นอย่างนี้เพราะอะไร เพราะเราโกรธไอ้คนนั้น เราเกลียดคนนั้น เราริษยาคนนั้น อยากจะทำร้ายมัน ไม่อยากให้กินข้าวด้วยซ้ำไป เพราะว่าเรามันไม่ชอบ แล้วเราไม่ชอบเขาเราได้อะไร ลองถามต่อไปว่าได้อะไร คนนั้นมันดีขึ้นไหมเพราะเราไม่ชอบ ไม่ได้ดีขึ้น เพื่อนบ้านก็ไม่ได้ดีขึ้น เราเองก็ตกต่ำทางจิตใจ มีความทุกข์มีความเดือดร้อนใจด้วยประการต่างๆ คิดไปนึกไปก็พอนึกได้เกิดปัญญา พอเกิดปัญญาก็หยุดตัวเอง บังคับตัวเองไม่ให้ทำเช่นนั้น ถ้าจะไปหาเขาก็ไปด้วยมือพนมไป อย่าไปทำท่าแบบนักสู้อย่างนั้น พนมมือๆขอโทษๆเถอะ จะมาพูดจากันทำความเข้าใจกัน เราไหว้เขา เขาก็สบายใจ
เพราะคนเราโดยจิตวิทยามันอยากใหญ่ คนเรามันอยากใหญ่ทั้งนั้น อยากใหญ่ ถ้าใครทำให้เราใหญ่แม้เท่าเส้นผมเราสบายใจ แต่ทำให้เราเล็กแม้นิดหน่อยเขาก็ไม่สบายใจ เพราะฉะนั้นถือหลักว่าเราจะไม่ทำใครให้เล็ก แต่เราจะทำให้เขาใหญ่ เราเอาไม้ซีกเล็กๆ งัดไม้ซุง ไม้ซุงคือคนที่มันด่าเรามันทำร้ายเราเป็นไม้ซุง เราเอาไม้ซีกก้านขีดไฟเล็กๆ ไปงัด สิ่งนั้นก็คือความอดทน ความกล้าหาญ การแสดงความเย็นใจหน้าตาเรียบร้อย ปากไม่สั่น มือไม่สั่น เข้าไปหาคนนั้น คนนั้นก็จะรู้สึกตัวเปลี่ยนจิตเปลี่ยนใจเข้าหาความดี
ดีขึ้นไปด้วยกัน
ถ้าเราทำอะไรให้คนรู้สึกตัว แล้วกลับใจเข้าหาความดีได้แม้สักคนหนึ่งในวันหนึ่ง ก็นับว่าเป็นวันประเสริฐสำหรับชีวิต เป็นวันที่เราได้บุญได้กุศลมากเหลือเกิน เพราะเราทำให้คนดีขึ้น แล้วก็พร้อมกันนั้นเราก็ดีขึ้นด้วย เพราะเราพูดให้คนอื่นดีเราก็ได้ยิน แล้วเราสำนึกว่าเราก็ยังไม่ดี บางครั้งเราทำเช่นนั้นหรือมากกว่านั้นด้วยซ้ำไป ก็หันมาเปลี่ยนแนวคิดเปลี่ยนการกระทำคำพูด ให้เป็นไปในทางที่ถูกที่ชอบที่เหมาะที่ควร อะไรๆ มันก็จะดีขึ้น เป็นประโยชน์แก่ชีวิตต่อไป วิธีการเป็นอย่างนี้
เพราะฉะนั้นตั้งแต่เดือน ๑๑ มาจนบัดนี้เป็นวันแห่งการสารภาพผิด เป็นวันแห่งการแก้ไขความผิดของเรา เหมือนเราแก้คำผิดในหนังสือที่เขาผิด ต้องพิมพ์ใส่กระดาษอีกแผ่นหนึ่ง เพื่อให้แก้เรื่องในหนังสือนั้น ถ้าเราอ่านไปโดยไม่แก้เราก็หลงผิดได้ นึกว่าท่านองค์นั้นพูดกับเราอย่างนั้น แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้นเราหลงผิดไป แปลผิดไปควรจะแก้ให้เรียบร้อยเผื่อคนอื่นมาอ่านจะผิดกันอีก ทำอะไรผิดแล้วไม่สำนึกเป็นโทษ ทำให้ความผิดสมัครใจอยู่กับเรานานๆ เพราะเราไม่มีความกระดากไม่มีความละอาย ทำอะไรก็ไม่คิดไม่ตรอง เสียหายแก่ชีวิตแก่การงาน
แก้ตัวเราก่อน
เราทิ้งขยะเพ่นพ่านบนแผ่นดินมันก็เน่าเหม็นไม่เท่าไหร่ๆ แต่ว่าเราทำใจของเราให้เน่า แล้วใจของเรามันสั่งเราว่าทิ้งขยะไว้กองเป็นพะเนินเทินทึก ให้ทำอะไรที่ไม่เหมาะไม่ควรนั้นแหล่ะคือตัวร้ายที่เกิดขึ้นในตัวเรา ร้ายยิ่งกว่าเสือ ร้ายยิ่งกว่าจระเข้ ร้าย เราไม่ควรจะให้สิ่งนั้นผิดแม้แต่นิดหน่อย เข้ามาเฉียดในร่างกายของเรา แต่เราจะทำแต่สิ่งที่ดีที่งาม เวลาจะไปไหนยืนสำรวมจิตอธิฐานใจ อธิฐานใจว่าข้าพเจ้าจะไปที่นั่น ไปเพื่อประโยชน์ไปเพื่อความสุขแก่เพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย ไปเพื่อแก้ไขสิ่งชั่วร้ายให้มันดีขึ้น แล้วเราจะไปแก้เขาเราต้องแก้ตัวเราก่อน ถ้าตัวเราไม่สะอาดแล้วไปบอกให้คนทำความสะอาดตัวเขา มันจะมีน้ำหนักอะไร
แต่ถ้าเราสะอาดเรียบร้อย ตั้งแต่ปลายผมถึงปลายเท้ามีระเบียบ ไม่ต้องพูดอะไรคนก็เห็นแล้ว อ้อคนนี้มีระเบียบอยู่ในความสะอาด เขาก็เอาอย่างทำความสะอาดต่อไป มันเป็นกันได้ เลียนแบบกันได้ เราก็ทำในรูปอย่างนั้น อะไรมันก็ดีขึ้น แต่ถ้าต่างคนต่างไม่ทำมันก็ดีไม่ได้ เสียหายกันตลอดไปเพราะเราไม่ทำความดี
ในชีวิตของเราทุกลมหายใจเข้าออกต้องแผ่เมตตา นึกให้สัตว์ทั้งหลายมีความสุข มีความเจริญ อย่าทะเลาะกัน อย่าเบียดเบียนกัน อย่าข่มเหงกัน ไม่ว่าในกรณีใดๆ เพราะมันขาดทุน มันไม่ก้าวหน้าอะไร แต่ถ้าเรามีคุณงามความดีประจำจิตใจ เราก็จะกลายเป็นคนก้าวหน้าเจริญงอกงามในความดี ไม่ใช่ดีแต่เราคนเดียว แต่จะทำให้คนทั้งหลายดีตามไปด้วย จึงเป็นเรื่องที่ควรคิดควรพูดควรทำ
แม้ออกพรรษาแล้วโยมก็อย่าออก อย่าออกไป ยังอยู่ต่อไป อยู่ในศีลธรรมต่อไป รักษาการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบต่อไป เพราะว่าปีหนึ่งมันมีตั้ง ๑๒ เดือน เข้าพรรษาเพียง ๓ เดือน ๔ เดือนทั้งฤดูกฐิน ส่วนที่เหลือนั้นเราไม่เข้า หมายความว่าเราไม่ชำระชะล้างไม่ปรับปรุงชีวิตจิตใจให้ดีขึ้น ขาดทุนหรือเปล่า ขาดทุนหมดเนื้อหมดตัวกันเลย เพราะฉะนั้นเราจะต้องชำระตัวเราก่อน มองดูตัวเราว่ามันบกพร่องอะไรไม่ดีที่ตรงไหน ทำราชการงานเมืองมีอะไรบกพร่องมีอะไรเสียหาย ก็ช่วยกันแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น ให้คนเขาเห็นว่าอ้อคนนี้ดีขึ้น ตั้งแต่ไปบวชแล้วกลับมาทำงานดีกว่าเมื่อก่อน ดีกว่าเมื่อก่อน
ปฏิวัติจิตใจ
ที่จังหวัดชุมพรเคยมีข้าราชการคนหนึ่ง ชื่อคุณปลั่ง ทัศนะประดิษฐ์ แกเคยมาเป็นปลัดที่ชุมพรสมัยหนุ่มๆ ใจร้อนใจเร็ว เคยดุเคยว่ากำนันผู้ใหญ่บ้าน ใครขวางหูขวางตาก็เปรี้ยงเข้าให้ ทุกคนเขากระทบกระเทือนไปตามๆ กัน เวียนไปๆๆ อ้าวมาเป็นเจ้าเมืองแล้วทีนี้ กลับมาชุมพรอีกทีมาเป็นเจ้าเมืองแล้ว ไอ้คนที่เคยทำงานสมัยก่อนยังอยู่คนหนึ่งก็เข้าไปหา ท่านครับท่านตอนเป็นปลัดอำเภอที่นี่ กับตอนที่ท่านเป็นเจ้าเมืองไม่ใช่คนเดียวกันนะครับ ข้าราชการพูดไม่ใช่คนเดียวกันละครับ เป็นไง ฉันก็คนเดิมล่ะ ฉันชื่อ ปลั่ง ทัศนะประดิษฐ์ เหมือนเดิม ไม่ใช่ครับ แต่ว่านิสัยใจคอของท่านมันเปลี่ยนนะ
สมัยก่อนเมื่อเป็นปลัดอำเภอท่านใจร้อนหุนหันพลันแล่น ใครทำอะไรผิดท่านก็ปึงปังเปรี้ยงป้างออกมาเลย แต่เดี๋ยวนี้ท่านเย็น ท่านสงบ อะไรๆ อะไรทำให้ท่านเปลี่ยนแปลงได้ขนาดนี้ ท่านลุกขึ้นไปที่ตู้หนังสือ ค้นไปค้นมาดึงหนังสือมาเล่ม นี่ๆ หนังสือเล่มนี้แหล่ะปฏิรูปจิตใจฉัน คนนั้นเขาร้องอะไร โอ้ วิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรมของท่านพุทธทาส เทศน์ที่มหามกุฏราชวิทยาลัย พุทธสมาคมเขาตั้งที่นั้นสมัยก่อนเทศน์ที่นั่น เทศน์ครั้งแรกในกรุงเทพ วันนั้นมีคนไปฟังท่านปรีดากับท่านผู้หญิงก็ไปนั่งฟังกัน หลวงพ่อก็ไปฟัง เทศน์นาน แล้วเขาพิมพ์เป็นเล่มให้คนได้อ่านกันทั่วไป
ท่านปลั่ง ทัศนะประดิษฐ์ แกก็ได้มาเล่มอ่าน อ่านแล้วอ่านอีกอ่านหลายครั้งหลายหน จนกระทั่งซึมเข้าไปในใจ เปลี่ยนนิสัยใจคอเป็นคนสงบเยือกเย็น จึงกลับมาชุมพรอีกทีหนึ่งในรูปสัตบุรุษ ในรูปคนดีคนสงบคนเรียบร้อย ข้าราชการที่อยู่มาก่อนก็สงสัย ว่าคราวก่อนเป็นปลัดกับเป็นเจ้าเมืองมันผิดกัน ก็ไปถาม คราวนี้คนนี้ช่างถาม ถามถูกต้อง ท่านก็เลยไม่โกรธไม่เคือง ถ้าสมัยก่อนถามอย่างนั้นอาจจะโกรธเอาก็ได้ อะไรมาถามท่านผู้ว่าไม่รู้จักกาลเทศะ อาจจะว่าเอาก็ได้ แต่ท่านไม่ว่าอะไร ลุกขึ้นไปหยิบหนังสือมา หนังสือเล่มนี้แหล่ะ มันปฏิวัติจิตใจฉันให้สงบให้เยือกเย็น หนังสือวิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรมของท่านพุทธทาส เทศน์ไว้นานแล้ว เดี๋ยวนี้ก็ยังมีจำหน่ายจ่ายแจกกันอยู่ทั่วๆ ไป อ่านหนังสือเล่นนั้นแล้วก็ดีขึ้นเป็นอย่างนั้น
มีคนหลายคนเปลี่ยนนิสัยเปลี่ยนสภาพจิตใจ เพราะศึกษาธรรมะ ธรรมะชุบชีวิตคน เปลี่ยนชีวิตคนให้ดีขึ้น เราจึงเอาธรรมะมาอาบตัวเรา เอาธรรมะมาเป็นอาหารกินเข้าไปเลี้ยงร่างกาย เอาธรรมะมาเป็นยารักษาโรคทางจิตใจ ไม่ให้โรคมันลุกลามใหญ่โตขึ้นในจิตใจของเรา เราก็จะเห็นผลว่าเราดีขึ้น เราสงบขึ้น เรามีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเมื่อก่อน นั่นแหล่ะอานิสงส์ที่เราได้ จึงขอให้ญาติโยมได้คิดได้ทำต่อไป โดยเฉพาะวันนี้ตอนบ่าย ต้องเวลาบ่ายโมงเพราะว่าสิบโมงครึ่งก็ตักบาตร พระฉันอาหารแล้วก็จัดแจงสถานที่พอดีบ่ายโมงก็ทอดกฐิน ทอดกฐินเสร็จแล้วพระอนุโมทนากับญาติโยม แล้วพระเข้าไปในโบสถ์ไปทำกิจเกี่ยวกับกฐิน
ทอดกฐิน
คือกฐินนี่เป็นของที่ไม่เจาะจงใคร ไม่ใช่จะทอดให้หลวงพ่อ จะทอดให้เจ้าคุณ จะทอดให้คนนั้นไม่ใช่ เป็นของที่เหมือนว่ากับลอยมาจากอากาศ มาตกลงในท่ามกลางสงฆ์ ไม่เฉพาะเจาะจงแก่ภิกษุรูปหนึ่งรูปใด พระเห็นผ้ามากองตรงนั้นก็ต้องศึกษากัน เขาเรียกว่า อปโลกนกรรม หมายความว่าปรึกษาหารือกัน ว่าเราควรจะให้ผ้าแก่ใคร ตามปกติก็ควรให้ผ้าแก่พระที่มีผ้าเก่าที่สุดในชุมนุมนั้น ใครมีผ้าเก่าคร่ำคร่าก็ยกให้ แต่ยกให้ไปแล้วต้องช่วยกันนะ ช่วยกันตัดผ้า ช่วยกันเย็บผ้า ช่วยกันย้อม ไม่ใช่ยกแล้วกลับกุฏินอนสบาย ไม่ใช่อย่างนั้น
ต้องช่วยกันทำ พระพุทธเจ้ายังช่วยทำเลย ทำให้เรียบร้อย ทำเสร็จเรียกพระทั้งหลายมาประชุมบอกว่ากฐินเรียบร้อยแล้วขอท่านอนุโมทนา แต่ว่าเป็นภาษาบาลี ว่า อัตถะตัง ภันเต สังฆัสสะ กะฐินัง ธัมมิโก กะฐินัตถาโร อะนุโมทามะ แปลว่ากฐินได้จัดทำเรียบร้อยแล้วขอพระคุณเจ้าทั้งหลายอนุโมทนา พระก็กล่าวอนุโมทนาเหมือนกัน เสร็จกฐิน นี่เรียกว่ากฐินธรรมดา แต่กฐินชนิดหนึ่งเขาเรียกว่า จุลกฐิน มันน่าจะเรียกมหากฐินแต่เรียกจุล ต้องเอาคนมาทอผ้าเริ่มด้วยการปั่นด้าย เอาฝ้ายมาปั่นให้เป็นด้าย แล้วเอาไปทอเป็นผืนผ้า ทอกันหลายคน คนละชิ้นๆ ทอแล้วเอามาต่อกันเย็บเป็นจีวร เย็บแล้วก็ไปย้อม ย้อมแล้วช่วยกันผึ่ง
ถ้าเป็นปักษ์ใต้มันเป็นหน้าฝนก็ต้องติดไฟเข้า แล้วเอาผ้าไปผึ่งอังไฟให้มันแห้ง ให้เสร็จก่อนรุ่งของวัน เช่นทอดวันนี้ก็ต้องทำให้เสร็จก่อนรุ่ง เขาเรียกว่าจุลกฐิน งานใหญ่ต้องมีคนปั่นด้ายเป็นคนทอผ้าเป็นมาช่วยกันทอ ทำเชียงใหม่ได้ ทำลำพูนได้ ที่อื่นภาคอีสานก็ทำได้เพราะคนเขายังทอผ้ากันอยู่ แต่ที่กรุงเทพนี่ทำไม่ได้เพราะทอไม่เป็น ปั่นด้ายก็ไม่เป็น เป็นแต่ไปซื้อมาจากพาหุรัดทั้งนั้น ผ้าสำเร็จรูปทำได้เพียงเท่านั้น สมัยนี้จึงไม่ค่อยมีกฐินแบบนั้น เอาผ้าไตรที่สำเร็จรูปมาถวาย พระก็ต้องพาเข้าไปในโบสถ์ปรึกษาหารือกันว่าควรให้แก่ใคร โดยมากก็ให้สมภาร เพราะสมภารมีภาระมากก็เลยยกให้ แต่บางทีก็ให้พระองค์อื่นบ้าง ทำอย่างนั้นเรียกว่าทอดกฐิน
สมัยนี้ทอดกฐินเรื่องผ้าไม่ใช่เรื่องสำคัญ ไปสำคัญตรงปัจจัยเพราะวัดก่อสร้างโน่นสร้างนี่ได้เงินมาบำรุงวัด เมื่อวานที่วัดปัญญาทอดได้หนึ่งล้านหนึ่งแสน แล้วก็คนไปทำบุญที่วัดทอดผ้าป่าอะไรด้วยได้ห้าหมื่นกว่า หกหมื่น รวมแล้วก็ได้พอสมควร กฐินเขาถวายเป็นเช็คอาตมารับเอามาจะมอบธนาคารบ่ายนี้เหมือนกัน เพราะพรุ่งนี้ไม่อยู่ เอาไปเข้าธนาคารเข้าบัญชีวัดปัญญานันทาราม
เวลานี้วัดปัญญานันทารามหมดเงินแล้ว เหลือสองล้านไม่พอใช้ เพราะสร้างโรงครัวเกือบสองล้าน แล้วก็สร้างศาลา ศาลาการเปรียญสร้างสมัยใหม่ไม่มีเสา ใช้เหล็กโค้งรอบเข้าไปนั่งสบาย สำหรับให้ญาติโยมไปนั่งทำบุญสุนทานอะไรกัน ก็ต้องใช้เงินแต่ว่าไม่เป็นไรโยมค่อยให้ หลวงพ่อค่อยบอก เมื่อไหร่จะบอกเดี๋ยวนี้ตังค์หมดแล้วโยมช่วยหน่อย ถ้าไม่ช่วยเขาจะฟ้องล้มละลาย เอาท่านปัญญาขึ้นศาลเพราะเป็นหนี้บริษัทก่อสร้าง โยมก็ต้องช่วย
เอาละวันนี้ก็สมควรแก่เวลา หลังจากแสดงธรรมแล้วโยมก็ตักบาตรตามเคย พระฉันอาหารสวดมนต์กัน แล้วพอเสร็จแล้วก็รับประทานอาหารไวๆ จะได้ทำความสะอาดบริเวณ พอเวลาเที่ยงสิบห้านาทีพระก็ลงมาประชุม รอเวลาโยม พอพร้อมก็เริ่มบูชาพระกฐิน ถวายกฐินกันต่อไป ต่อไปนี้ก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจเป็นเวลา ๕ นาที