แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ หาที่นั่ง ข้างในก็ยังว่าง นั่งซะ แล้วตั้งใจฟังให้ดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟัง ตามสมควรแก่เวลา
วันนี้อาการดี มีแสงแดด เมื่อวานนี้ไปประชุมที่วัดพุทธปัญญา เวลาบ่ายโมง พอเริ่มประชุมได้สักห้านาที ทั้งฝน ทั้งฟ้า เปรี้ยงปร้าง เปรี้ยงปร้าง ตก มันไม่มีหลังคา เลยต้องเอาร่มคันใหญ่มากาง แล้วก็ประชุมกันเรื่องเกี่ยวกับการทอดกฐิน กระทรวงการสาธารณสุขจะมาทอดกฐินวัดพุทธปัญญา วันที่ ๒๖ ตุลาคม ตรงกับวันอาทิตย์ วันอาทิตย์นั้นไม่เทศน์ที่นี่ จะไปเทศน์ที่วัดพุทธปัญญา โยมที่มาฟังเทศน์ที่นี่ก็ไปฟังกันที่โน้นเลย ฟังที่โน้น ฝนไม่ตกเวลาเช้า ไม่ตก เพราะมีที่กว้างขวาง พากันไปนั่งได้ เข้าไปดูวัดพุทธปัญญาด้วยว่ามีสภาพอย่างไร นั่งประชุมกัน ฝนตกตั้งเกือบสองชั่วโมง แล้วก็ตอนเจ็ดโมงนี่ไปฝั่งชลบุรี ที่เมืองชลฯ ฝนไม่ตกสักเม็ดเดียว ถามพระว่าที่นี่ไม่ตกเหรอ ไม่เคยตก แห้งมาหลายวันแล้ว อาโรย ฝนมันมาทางไหนไม่เยี่ยมเมืองชลฯ บ้างเลย ไม่ตกที่นั่น มาตกที่ตรงนี้ ทำให้น้ำเจิ่งเลย
ในวันนี้ก็น้ำเจิ่ง แต่ว่าถูกแล้ว อันนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดา ฝนตกบ้าง แดดออกบ้าง สว่างบ้าง มืดบ้าง เป็นเรื่องธรรมดา พระพุทธเจ้าสอนให้เรารู้จักธรรมดา รู้จักธรรมชาติของสรรพสิ่งทั้งหลายว่ามันมีปรกติเป็นอย่างไร จะได้ไม่ตื่นเต้น ไม่หวาดเสียว ไม่ยินดี ไม่ยินร้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะว่ามันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ชีวิตเรานี่ก็เปลี่ยนแปลง สิ่งแวดล้อมก็เปลี่ยนแปลง ดินฟ้าอากาศก็เปลี่ยนแปลง เศรษฐกิจการเงินการทองก็มีการเปลี่ยนแปลง ถ้าเราไม่รู้ทันไม่รู้เท่าในสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ก็เกิดโทมนัสเสียอกเสียใจ เป็นทุกข์เป็นร้อนกันเป็นด้วยประการต่างๆ บางคนเป็นทุกข์มากเครียดมากไม่อยากจะอยู่ในโลกต่อไปแล้ว
เหตุเกิดความไม่รู้ไม่เข้าใจ ไม่ศึกษาธรรมชาติของชีวิต ไม่ศึกษาธรรมชาติของสิ่งแวดล้อมว่ามันเป็นอยู่อย่างไร แล้วเราไม่ได้คิดว่าตัวเราดั้งเดิมมันเป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้มันเป็นอย่างไร ตัวเราไม่ได้คิดทบทวน คิดแต่จะกลุ้มๆๆ ไม่เอาแสงสว่างส่องใจ ไม่เอาธรรมะมาเป็นเครื่องพิจารณาในสิ่งที่เกิดขึ้น ก็ย่อมจะมีความทุกข์เป็นธรรมดา ทุกครั้งที่เราเป็นทุกข์เพราะเราไม่เข้าใจเรื่องต่างๆ ถูกต้อง ตราบที่ไม่เข้าใจก็เรียกว่าโง่นั่นเอง แต่ภาษาธรรมะเขาเรียกว่า อวิชชา อวิชชาก็คือความไม่รู้ ตรงข้ามกับวิชชา วิชชาเกิดความรู้แจ้งเห็นแจ้งถูกต้องในเรื่องนั้น แต่อวิชชาคือไม่รู้อะไรไม่เข้าใจอะไรถูกต้อง ก็เลยเกิดปัญหาความทุกข์ความเดือดร้อนใจ
โดยเฉพาะในสมัยนี้ เกี่ยวด้วยเศรษฐกิจการเงินการทองมันเปลี่ยนแปลงไปมาก ในเมืองไทยเราเงินมันตกต่ำ ถ้าว่าไม่เอาไปเทียบคนอื่นมันก็ไม่มีอะไร เป็นปรกติอยู่นั่นแหล่ะ เงินหนึ่งบาทก็ร้อยสตางค์อยู่นั่นแหละ เอาไปซื้อข้าวซื้อของได้ แต่ถ้าเราเอาไปเทียบกับเงินต่างประเทศ เช่นเอาไปเทียบกับเงินดอร์ล่าร์ เรารู้สึกว่าทำไมเงินเราถึงตกลงไป เป็นดอร์ล่าร์ละ ๓๕ บาท ๓๖ บาท ตกไปอย่างต่ำ ๙ บาท ตกลงไปเรื่อยๆ นี้คนที่ทำงานเกี่ยวกับการเงินก็กลุ้มใจ เวลานี้คนที่กลุ้มใจมากกว่าเพื่อนก็คือท่านนายกรัฐมนตรี เห็นหน้าตาท่านเวลาออกโทรทัศน์แล้วก็นึกสงสาร นึกสงสารว่าหน้าตาแก่ลงไปเยอะ ที่เขาเรียกว่าหาเรื่อง อยู่ดีไม่ว่าดีไปหาเรื่องให้เป็นทุกข์ คืออยากจะไปเป็นนายกฯ นั่นเอง ได้เป็นกันแล้วก็มาบริหารบ้านเมืองอยู่ในระยะที่มันตกต่ำ เลยถูกว่าถูกรุม เวลานี้ท่านนายกฯ ถูกจิกทุกวัน หนังสือพิมพ์ก็จิกทุกฉบับ ประชาชนก็จิก หนังสือพิมพ์นี่จิกมากกว่าเพื่อน
จิกเหมือนกับไก่จิกตาหนู หนูที่ตายแล้ว จิกแล้วมันไม่ดิ้น มันก็จิกเอา จิกเอา แต่หนูมันไม่เจ็บก็เพราะมันตายแล้ว แต่ไก่ก็จิกเรื่อย อันนี้คนมันยังไม่ตาย จิกมากๆ มันก็คงจะกลุ้มใจ เป็นทุกข์ อยากจะไปพบท่านเหมือนกัน อยากจะไปคุยกันหน่อย ให้คิดให้ถูกต้อง แต่ว่าตอนนี้คุณหญิงท่านไม่อยู่ ไปต่างประเทศ ถ้ากลับมาก็จะไปคุยด้วย ไปคุยบอกว่าอย่าไปยุ่งกับพระราหูให้มากนัก เดือดร้อน ความจริงท่านก็ไม่ได้ไปหรอก แต่ว่าวัดเขาโฆษณาไป โฆษณาให้มันดัง โฆษณาความโง่ เอาคนใหญ่คนโตไปทำโง่ซะหมด ก็จะไปพบ แล้วไปบอกว่าอย่าไปยุ่งเลย ช่วยไม่ได้ เราต้องช่วยตัวเอง ต้องพึ่งตัวเอง ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า สืบถามแม่เล็กที่มาวัดทุกวันว่าคุณหญิงกลับหรือยัง ยังค่ะ กลับเมื่อไรบอกนะ อยากจะไปเทศน์คุณหญิงหน่อย ไปโปรดแกหน่อย เพราะว่าท่านก็รับฟังอยู่ ต้องการอะไรก็บอกได้ แต่ไม่ไปขอนะ แค่ขอให้เลิกไหว้ราหูก็แล้วกัน พอแล้ว ไม่ยุ่ง อย่าไปยุ่งกับเรื่อง..(8.28) เรื่องไสยศาสตร์ มันช่วยไม่ได้ เราต้องถือหลักพระพุทธเจ้า ช่วยตัวเอง พึ่งตัวเอง ก็สบายใจ
อันนี้คนที่ไม่ได้เรียนธรรมะ ไม่เข้าใจธรรมะก็มีความทุกข์ พระพุทธเจ้าตรัสว่า สัตว์โลกที่ไม่รู้จักความจริงของชีวิตย่อมมีความทุกข์ ความเดือดร้อนใจ เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นก็ไม่รู้ว่าอะไรเกิดขึ้น มันเกิดจากอะไร แล้วมันให้อะไรแก่เรา เราควรจะแก้ไขสิ่งนั้นอย่างไรก็ไม่รู้ ไม่เข้าใจ ก็เกิดปัญหา พูด กลุ้ม เครียด เพราะรู้เท่านั้น แต่ถ้าเรารู้ธรรมะ เราจะไม่เครียด ก็จะไม่ทุกข์ เพราะว่าเรารู้ว่าอะไรเป็นอะไรถูกต้อง หลักธรรมะที่เราควรศึกษาทำไว้ในใจบ่อยๆ คือหลักสามประการที่เราสวดกันอยู่ คือ รูปังอนิจจัง เวทนาอนิจจา สัญญาอนิจจา สังขาราอนิจจา วิญญานังอนิจจัง ก็เรียกว่าลักษณะสาม ชื่อของธรรมะหมวดนี้บอกว่า ธรรมะที่เหมือนกันในสิ่งทั้งปวง อะไรๆ เหมือนกันหมด
สัตว์กับคนเหมือนกัน ต้นไม้กับคนเหมือนกัน ก้อนหินดินทรายเหมือนกัน เหมือนกันในแง่สามอย่างในแง่ที่ว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันนี้เหมือนกัน ไม่มีข้อยกเว้น ก็สามอย่างนี้เป็นกฎเกณฑ์ตามธรรมชาติ มีอยู่ตลอดเวลา
พระพุทธเจ้าจะเกิดขึ้นในโลกหรือไม่เกิดขึ้นในโลก สิ่งนี้มันก็มีอยู่ ตามปรากฏในคำที่พระสวดเวลามีงานศพ สวดตอนเช้า ก่อนฉันอาหาร เขาเรียกว่า ธัมมนิยามสูตร สวดเพื่อความจริงของธรรมะสามประการ ขึ้นต้นว่า อุปปาทา วา ภิกขะเว อะนุปปาทา วา ตะถาคะตานัง ฐิตา วะ สา ธาตุ ธัมมัฏฐิตะตา ธัมมะนิยามะตา สัพเพ สังขารา อะนิจจาฯ นี้สวดอย่างนั้น บอกว่า ตถาคตจะเกิดขึ้นในโลกก็ตาม ไม่เกิดขึ้นในโลกก็ตาม สิ่งที่เรียกว่าธรรมดา ธัมมัฏฐิติ ธัมมนิยาม คือสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา มันมีอยู่แล้ว ปรากฏอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่มีใครค้นพบ ไม่มีใครเอามาประกาศให้ชาวโลกได้เกิดความรู้ความเข้าใจ พระพุทธเจ้าท่านไปค้นพบสิ่งนั้น แล้วนำมาประกาศให้ชาวโลกได้เกิดความรู้ความเข้าใจ
ถ้าจะเปรียบในทางวัตถุให้เห็นง่ายๆ เช่นในอ่าวไทยเรานี้มีแก๊ส มันมีมาตั้งแต่นานแล้ว มีมาตั้งแต่โบร่ำโบราณกี่ล้านปีแล้วก็ไม่รู้ มันอยู่ใต้น้ำใต้ดิน แต่ว่าเราไม่รู้ว่ามี อันนี้ฝรั่งเขาศึกษาเรื่องวิทยาศาสตร์ มีความเจริญก้าวหน้า เขาสามารถจะส่งดาวเทียมไปลอยอยู่ในอากาศ แล้วดาวเทียมนั่นแหละ มันรายงานว่าที่ไหนมีอะไร มีน้ำมันที่ไหน มีแก๊สที่ไหน มีแร่ธาตุอะไรที่ไหน มันรู้หมด มันเรียกว่าเป็นตาทิพย์ รู้แล้วก็บอกไปยังห้อง ที่อยู่ในโลกนี้ที่ตั้งไว้ เขาก็อ่านออกว่าที่นั่นมีนั่นมีนี่ เขาก็รู้ว่ามี แต่ยังไม่แน่ชัดว่าอยู่ตรงไหน ลึกเท่าใด ก็ต้องมาตรวจสอบ เรียกว่าสุ่ม หาข้อมูล การสุ่มหาข้อมูลก็คือเที่ยวเจาะในบริเวณนั้นๆ เจาะไปเจาะมาก็เจอแก๊สธรรมชาติพุ่งขึ้นมา แล้วเอามาใช้เป็นพลังงานทำไฟฟ้าให้เราใช้กันในปัจจุบันนี้ อันนี้เพราะว่าสิ่งนั้นมันมีอยู่ แร่ดีบุก แร่ทองคำ เพชรนิลจินดามีอยู่ในดินทั้งนั้น แต่เราไม่รู้ บางทีเราไปสร้างบ้านเอาหินมาทำก้อนสัก หินนั้นมันมีเพชรอยู่ข้างใน เราไม่รู้ แต่คนรู้เขามาเห็นเข้า เขาก็เอาไปทุบออกมาเจียระไนเป็นเพชร มาประดับเรือนแหวน มาประดับสายสร้อย ราคาแพงนิยมกันว่าของหายาก แต่ความจริงเพชรก็ไม่ใช่อะไรหรอก ถ่านนั้นเอง ถ่านหิน ถ่านที่มันอัดกันแน่นจนกลายเป็นเพชรขึ้นมา แล้วมันก็เป็นก้อนหิน ถ้าว่าเราเดินไปเจอหินก้อนนั้นบนถนนคงไม่เอาหล่ะ ไม่เอามาทำอะไร เพราะนึกว่าหินไม่มีค่าอะไร แต่ว่าพอเอาหินนั้นมาเจียระไน มันก็เกิดเปลว เกิดมีราคาหลายกะรัตแพงๆ เราก็ไปซื้อกันมา เอามาใส่แหวน ก็กินก็ไม่ได้ ประดับสายสร้อย ทำโน่นทำนี่ เป็นเครื่องวัดความมีเงินกัน แล้วก็เป็นเครื่องล่อให้ผู้ร้ายมาตัดแขนบ้าง ตัดแหวนเอาไป จี้ปล้นกันไป ฆ่ากันตาย
อันนี้มันเรื่องของมีค่า สมมติ สมมติว่าเป็นของมีค่า ถ้าเราไม่ได้สมมติว่ามีค่า มันก็ไม่มีอะไร มันก็เหมือนก้อนกรวดก้อนหินดินทรายตามธรรมดา แต่นี่มันกลายเป็นของมีค่า สิ่งเหล่านี้มีอยู่ในแผ่นดิน ในประเทศต่างๆ บางประเทศมีเพชรมาก โดยเฉพาะทางแอฟริกาใต้มีบ่อเพชรบ่อทอง ร่ำรวย คนผิวดำเป็นสีหมึก แต่ว่าที่นั้นมีบ่อเพชร บ่อพลอย บ่อทองคำ ฝรั่งเขาไปทำเพราะฝรั่งเขารู้ เขาก็ได้มาใช้ แถวประเทศอาหรับใต้ลงไปก็มีน้ำมันมากมายมหาศาล พวกนั้นก็อยู่มาอย่างนั้นแหละ กินแต่ลูกอินทผลัมกันมาไม่รู้ว่าใต้ดินนั่นมีอะไร ฝรั่งเขารู้ เขาก็มาเจาะลงไป เกิดน้ำมันพุ่งขึ้นมาเอาไปขาย เพราะมีรถยนต์มีเครื่องยนต์กลไกที่ต้องใช้พลังงานคือน้ำมัน น้ำมันก็มีราคา เดี๋ยวนี้ประเทศไทยต้องซื้อน้ำมันราคาแพง เอามาใช้วิ่งรถกัน อย่างนี้ ของนี้มันมีอยู่ แต่ว่าไม่มีใครค้นพบก็ไม่สามารถเอามาใช้ได้
ธรรมะนี่ก็เหมือนกัน พระพุทธเจ้าเป็นผู้ค้นพบ เปิดเผย อธิบายแบบตื้นๆ ให้คนได้เกิดความรู้ความเข้าใจ สิ่งนั้นก็คือ สรรพสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง สรรพสิ่งทั้งหลายเป็นทุกข์ตามสภาพและไม่มีตัวตนที่แท้จริง เราเรียกในภาษาบาลีว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คนไทยเราที่นับถือพุทธศาสนาเข้าใจคำเหล่านี้ เราจึงพูดว่า เฮ้ย มันไม่เที่ยง ปลงซะบ้างเถอะ อย่าไปคิดให้มันมากเลย แต่ว่าปลงไม่ลง เอามาแบกไว้บนหัว แบกไว้บนบ่า ความจริงมันไม่ได้อยู่บนหัวบนบ่า มันอยู่ที่ใจ ใจเรายึดสิ่งนั้นติดสิ่งนั้น สำคัญว่าสิ่งนั้นเป็นของฉัน นี่มันคือตัวปัญหาที่ทำให้เราเกิดความทุกข์เกิดความเดือดร้อนใจอยู่ตลอดเวลา เพราะความเข้าใจผิดนั่นเอง
แต่ถ้าเรามาศึกษาเรื่องตัวเราให้เข้าใจ ศึกษาว่าตัวเรานี้มันประกอบด้วยอะไร มันไม่เที่ยงอย่างไร มันเป็นทุกข์อย่างไร แล้วมันไม่มีเนื้อแท้อย่างไร เราก็มีปัญญา มีความเข้าใจในเรื่องนั้นถูกต้อง ความหวั่นไหวโอนเอนไปกับสิ่งแวดล้อมที่มันเปลี่ยนๆๆ อยู่ตลอดเวลานั้น ก็ค่อยเข้าใจ แล้วมันก็ยึด มีสิ่งยึด ไม่ไหลไปตามสิ่งนั้น สมัยก่อนนี้เราวิ่งตามมันไป วิ่งตามไปด้วยความทุกข์ ความเศร้าโศก ความเสียใจ อาลัยอาวรณ์ต่อสิ่งเหล่านั้น ถ้าเราไม่รู้ว่ามันคืออะไร แต่ทีหลังก็มีความรู้ความเข้าใจขึ้น ก็เลยไม่วิ่งตาม เพราะรู้ว่าวิ่งไปก็เหนื่อยเปล่า ไม่ได้อะไรที่เป็นสาระเป็นแก่นเป็นสาร ก็ปลงลงไปได้ จิตใจค่อยสบายขึ้น มีความทุกข์น้อย มีความสงบมากขึ้นในจิตใจ
นี่คือผลของการเรียนรู้หลักธรรมะของพระพุทธเจ้า แปลว่าคนส่วนมากไม่ค่อยได้ศึกษาหลักธรรม ในโรงเรียนก็ไม่ได้สอนให้เด็กเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ สอนเรื่องบางเรื่องแต่เรื่องที่ควรสอนให้เข้าใจไม่ค่อยมี เด็กก็ไม่รู้ โตขึ้นด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจ แล้วก็มีการยึดการติดในเรื่องอะไรต่างๆ เพราะว่าเราสอนให้ยึดมากให้ติดมาก เช่นเด็กน้อยๆ เราก็สอนว่า
"นี่ตุ๊กตาของหนู" "นี่เสื้อของหนู" "ไอ้นี่ของหนู" เพาะเชื้อ เพาะเชื้อแห่งความยึดมั่นถือมั่นได้เกิดขึ้นในใจ แล้วเด็กมันก็เริ่มยึดด้วย ตุ๊กตาของฉัน เสื้อของฉัน กางเกงของฉัน ไอ้โน้นของฉัน มันค่อยเพิ่มของฉัน ของฉัน ขึ้นจนลึกไปหมด เต็มไปหมดทั้งหัว แล้วเวลาของฉันแตกก็เสียใจ ใครมาแย่งเอาไปก็เสียใจ
ถึงกับต้องทุบ ต้องตีกัน ข่วนกัน กัดกันไปตามประสาเด็ก นั้นก็เพราะว่าเด็กไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ไม่เข้าใจว่าสิ่งนั้นมันไม่ใช่ของฉัน ไม่ได้คิดตามหลักธรรมะ เพราะเด็กคิดไม่เป็น แล้วเราผู้ใหญ่ก็ไม่ได้ค่อยสอนให้เขาเกิดความรู้ความเข้าใจ นึกว่ามันเป็นของลึกเลยไม่สอน แต่ความจริงมันควรสอนให้เด็กเข้าใจ ให้เด็กรู้ว่าไม่ใช่ของตัว เป็นของใช้ชั่วครั้งชั่วคราว โดยการพูดกับเด็กว่า อันนี้ตุ๊กตา ตุ๊กตานี่มันประกอบขึ้นด้วยอะไร ประกอบขึ้นด้วยวัตถุ มีหัวมีลำตัวมีแขนมีขา อันนี้ถ้าเอาแขนออกไปสองข้าง แขนไม่มี เอาหัวออกไปหัวไม่มี เอาขาออกไปขาไม่มี มีแต่ตัวทำอะไรก็ไม่ได้ เพราะมีแต่ตัว ไม่ใช่ของน่ารักน่าชมอะไร ค่อยๆ พูดอย่างทำความเข้าใจกับเด็กบ่อยๆ เวลาเกิดอะไรขึ้นก็สอนสัจธรรมให้เขาเข้าใจ ให้เขารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา เช่นเด็กทำแก้วแตก ก็บอกว่ามันอย่างนี้แหละ ของนี้มันแตกง่าย ถ้าเราเผลอทำหล่นมันก็แตก พูดเป็นคำคมๆ ว่า ของแตกได้ก็ต้องแตก ของตายได้ก็ต้องตาย เราห้ามมันไม่ให้แตกไม่ได้ ถ้ามันหล่นกระทบแข็งก็ต้องแตก แต่เราป้องกันได้ด้วยการระมัดระวังจับให้ดี ถ้ามือเปื้อนสบู่อย่ามาจับแก้ว มันลื่น ลื่นแล้วมันจะตกแตกจะเกิดความทุกข์ความเดือนร้อนใจ
เราค่อยพูดให้เขาเข้าใจ ให้เขาเห็นว่ามันเป็นอย่างนี้ เวลามีใครเจ็บไข้ได้ป่วย ก็บอกว่านี่ไงชีวิตมันเป็นอย่างนี้ ก็มีการเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ชีวิตมันไม่เที่ยง มันมีภูมิต้านทานไม่พอ โรคภัยไข้เจ็บมีอยู่ทั่วไป มันอาจจะมาก่อจับตัวเรา แล้วทำให้เราเป็นหวัดบ้าง ปวดหัวตัวร้อนบ้าง ถ่ายไม่ออกบ้าง ถ่ายมากเกินไปบ้าง เขาเรียกว่าโรคภัยไข้เจ็บ อาจจะเกิดขึ้นแก่ใครเมื่อไรก็ได้ เราก็ต้องป้องกันไม่ให้มันเกิด ก็กินอาหารดี น้ำสะอาด ไม่กินพร่ำเพรื่อ ไม่กินจุกจิก ไม่กินโน่นกินนี่จนฟันเสีย ท้องเสีย นิสัยเสีย ค่อยๆ พูด อธิบายให้เขาเกิดความรู้ขึ้นทีละน้อย ทีละน้อย สิ่งที่เราสอนมาตั้งแต่เด็กยังเล็ก มันฝั่งใจนาน ติดอยู่ในใจของเด็กนาน แล้วเด็กจะได้เอาไปคิดเปรียบเทียบกับอะไรต่างๆ
ถ้าบ้านเรามีต้นไม้ ถึงฤดูก็มีใบไม้ร่วงหล่นลงมาที่โค่นต้น เราก็สอนธรรมะที่เป็นสัจธรรมแก่เด็กได้ เช่นบอกว่า ลูกดูสิ ใบไม้นี้ เมื่อก่อนมันเป็นยอดใบเล็กๆ ผลิออกมาจากต้นขั้ว แล้วก็ค่อยโตขึ้น โตขึ้น เป็นใบเขียวสด ต่อมาก็เริ่มเป็นใบสีเหลือง พอเหลืองแล้วมันก็หลุดจากขั้ว กองอยู่ที่พื้นกลายเป็นขยะมูลฝอย เราควรจะกวาดไปถมไว้ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ให้มันเน่า แล้วเอามาใส่ที่โค่นต้นไม้ จะได้เป็นอาหารของต้นไม้ต่อไป สิ่งทั้งหลายมันหมุนเวียนกันไปเป็นวัฏฐจักร ใบไม้หล่นก็กลายเป็นปุ๋ยของต้นไม้ต่อไป แล้วมันก็กลายเป็นใบไม้เป็นดอกเป็นผล แล้วมันก็มีการหล่น ไม่ถาวรไม่เที่ยง เราสอนให้เด็กเห็น ถ้าเราถอนดอกไม้ใส่แจกันไปบูชาพระ เราไปไหว้พระก็พูดกับเด็กให้เข้าใจว่า นี่ ดอกไม้วางไว้ตั้งแต่ตอนเช้าเมื่อวานยังสดชื่น แต่มาถึงตอนนี้มันเริ่มเปลี่ยนสี เปลี่ยนเป็นสีแดงๆ เรื่อๆ บ้าง เป็นสีดำบ้าง เขาเรียกว่ามันเหี่ยวแห้ง เพราะความร้อน เพราะอุณหภูมิ แล้วผลที่สุด มันก็เน่า เน่าเราก็เอาไปทิ้งกองขยะ เอาไปฝั่งดิน เพราะเอาไว้ไม่ได้ เพราะมันเน่าแล้ว ของใดเน่าก็ต้องทิ้ง ดอกไม้เน่าก็ต้องทิ้ง ใบไม้เน่าก็ต้องทิ้ง ร่างกายของคนเน่าก็ต้องเอาไปเผาไฟ เราจะเห็นว่าไปเผากันบ่อยๆ พาเด็กไปในงานเผ่าศพ ก็อธิบาย แบบสาธิตมันมีอยู่เฉพาะหน้า เราก็เอาเด็กไปยืนแล้วพูดอธิบายว่านี่อะไร นี่โลงใส่ศพ เท่ากับเป็นบ้านของคนที่ตายแล้ว เขาเรียกว่าโลง ใช้ไม้ไม่กี่แผ่น หกแผ่นเท่านั้นเอง แล้วก็ปิดไว้ หากเปิดออกดูจะเห็นร่างกายเปื่อย มีกลิ่นไม่สะอาด สกปรก ถ้ามีรูหน่อย แมลงวันเข้าไป ไปหยอดไข่ไว้ จะมีตัวหนอน คลานยั้วเยี้ยเยอะแยะ
สมัยก่อนนี้ โลงเขาไม่มีพื้นแล้วก็ไม่มีฝา ใส่คนตายเอาไปวางไว้ที่วัดหรือที่บ้าน สวดกันสองคืน สามคืน เจ็ดคืน เอาผ้าคลุมไว้นิดหน่อย พอวันจะเผานี่ก็ยกศพไปป่าช้า เอาไปวางที่พื้นดิน แล้วเอาผ้าสบงจีวรไปพาดที่ปากโลง นิมนต์พระไปพิจารณาบังสุกุล แต่เขาใช้คำพูดถูกต้อง เขาใช้คำว่า นิมนต์พิจารณาขอรับ หมายความว่านิมนต์ไปพิจารณา ไม่ใช่นิมนต์ไปชักผ้า เขาพูดถูก คนสมัยก่อนได้ยินมาตั้งแต่เด็กๆ เขาพูดดังๆ ว่า นิมนต์พิจารณาขอรับ พระก็ไปยืนรอบโลง ไม่มาก ก็เอาทีละห้าองค์ หกองค์ มากเกินไปดูไม่เห็น เอาผ้าพาดไว้หกผืนให้ยืน ชักผ้า ตาก็เห็นศพ เห็นศพก็เป็นศพเน่า มีหนอนคลานออกมาจากปาก จากรูจมูก จากตรงนั้นตรงนี้เต็มไปหมด ถ้าเจอศพที่มีตัวหนอน ตามเนื้อเยื่อ เพราะแมลงวันมันแอบไปไข่ วางไข่ไว้ ให้ได้เห็นแล้วจะได้ออกไปพิจารณา กลับไปกุฏิก็เอาภาพนั้นไปด้วย เพราะว่ามองให้ติดตาแล้วเอาไปไว้พิจารณา เช่นเวลาใดจิตใจมันฟุ้งซ่านคิดไปเรื่องสนุกทางบ้านทางเรือน ก็นั่งศรัทธานึกถึงศพนั้น ก็จะเห็นว่า อ๋อ คนเราเกิดมาแล้วก็ต้องตาย ตายแล้วมันก็เน่า มีตัวหนอนคลานออกมาจากลำตัวเป็นของเน่าของเหม็น ใครจะให้เงินเท่าไร ก็ไม่ได้เรื่องอะไร เพราะไม่มีราคา
มีเรื่องราวไว้ในคัมภีร์อันหนึ่งว่า ผู้หญิงชื่อนางสิริมา นางสิริมานี่เป็นโสเภณี เป็นคนสวยของเมืองเวสาลี เขาเรียกว่านครโสเภณี แปลว่าเจ้าแม่ยั่วเมือง หรือว่าเป็นคนงามของเมืองเวสาลี ใครไปนอนด้วยคืนหนึ่งต้องเสียห้าพันกหาปณะ ก็มีแต่เจ้าชาย พวกเศรษฐี ไปร่วมกับนาง จ่ายเงินดูปราสาทหลังใหญ่ สวยงาม บริเวณสวนกว้างขวาง เป็นสถานที่ให้คนไปเที่ยวสบายใจ ไปอยู่กับนาง ต่อมานางได้มานับถือพุทธศาสนา ก็นิมนต์พระไปบิณฑบาตที่บ้านทุกวัน วันละสิบรูป สิบรูป ก็มีพระคอยจัดวันนี้คนนั้นๆ ให้ไปบิณฑบาต พระองค์หนึ่งก็คิดว่าเมื่อไรจะถึงเราซะทีหนอ จะไปดูแม่สิริมาซะหน่อย เขาว่าสวยนักหนา มันสวยขนาดไหนอยากจะไปดู ต่อมาก็ถึงเวรที่จะได้ไป มีพระมาบอก หลวงพี่พรุ่งนี้นิมนต์ไปบ้านนางสิริมานะ พระนั้นก็ดีใจ นอนไม่หลับ ดีใจว่าจะได้ไปดูนางสิริมา ตื่นเช้าก็ไปบิณฑบาต บังเอิญวันนั้นนางสิริมาไม่สบาย ไม่ได้แต่งตัว ผมเผ้ารุ่มร่าม แต่ว่ารุ่มร่ามบางทีมันก็ดูสวยเหมือนกัน เหมือนคนบางคนทำผมให้รุ่มร่าม สวย มันสวยในรูปอย่างนั้น
พระท่านก็มอง โอ้ว นี่ไม่ได้แต่งตัวสวยขนาดนี้นั้น ถ้าแต่งตัวจะสวยขนาดไหน ก็นั่งมองด้วยจิตใจที่ตกต่ำ คือมีราคะมีตัณหาเกิดขึ้นในใจ มอง แล้วข้าวบูดติดอยู่ในบาตร พระองค์อื่นมาก็ หลวงพี่ วันนี้ไปฉันอาหารบ้านนางสิริมา คงจะได้อาหารอร่อย ฉันแล้วยัง เอาละเว้ย ไม่เห็นฉันเลย ทำไมไม่ฉัน ฉันอะไร ฉันนางสิริมาในมโนภาพหรือ แล้ววันนั้นนางสิริมาตาย ปวดกะทันหันแล้วก็ถึงแก่ความตาย คนก็มากราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกอย่าเอาศพของนางไปเผาก่อน แต่ให้แต่งตัวให้สวย ให้เขาแต่งศพ เหมือนเมืองฝรั่งถ้าคนตายสวยกว่าคนเป็นอีกนะโยม สวยกว่าคนเป็น เขาแต่ง แต่งหน้า ทาปาก ทาแก้ม ทำผม ทำเผ้า นอนอยู่ในโลง บางคนก็เห็นมี มีนางพยาบาลคนไทยชื่อแม่กลอย เป็นชาวนครศรีธรรมราชไปอยู่ชิคาโก แล้วแกตาย ตายแล้วก็เอาศพมาตั้งที่วัดธรรมาราม มีการบำเพ็ญบุญกันไปตามเรื่อง อันนี้วันจะเผานี่ เขาเปิดโลง โลงฝรั่งนี่เขาเปิดตอนบนได้ เขาเปิดเพื่อให้คนดู นางพยาบาลมาดู โอย พี่กลอยสวยกว่าตอนยังเป็นซะอีก เขาช่างแต่ง แต่งหลอกคนได้ เรียกว่าผีหลอกได้ แต่งให้สวย
พอดีก็ของนางสิริมาเขาก็แต่งสวย แล้วก็นั่งบนเก้าอี้บรรทุกรถม้าเวียนรอบเมืองตีฆ้องร้องป่าว เวลานี้นางสิริมาตายแล้วใครต้องการนางสิริมาบ้าง ขายห้าพันกหาปณะ เที่ยวตระเวนตีฆ้องรอบเมืองเวสาลี ไม่มีใครต้องการ ห้าพันไม่มีใครต้องการ เอ้าลด สองพันห้า เที่ยวตระเวนรอบเมืองสองพันห้าก็ไม่มีใครต้องการ ลดลงมาอีกครึ่งหนึ่ง จนกระทั้งว่าให้เปล่าๆ ใครเอาไหม ไม่มีใครเอา ก็กลับไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค บอกว่าศพนางสิริมาเอานั่งรถม้าทูลเก้าอี้ ตระเวนรอบเมืองหลายรอบ ห้าพัน สองพันห้าร้อย ลดลงมาจนให้เปล่า ไม่มีใครต้องการพะยะคะ อ้อ จอดไว้ก่อน จอดไว้ก่อน แล้วก็บอกให้ไปนิมนต์พระองค์นั้นมาหน่อย พระองค์ที่นอนฝันถึงนางสิริมานั้น ให้มาดูหน่อย ให้มาดูแล้วก็กระซิบบอกว่า เธอจงดูรูปนี้ ซึ่งถูกตกแต่งสวยงาม แล้วเธอดูว่าเป็นอย่างไร เวลานี้นางสิริมาหมดชื่อแล้ว ให้ใคร ใครเขาก็ไม่เอา เมื่อก่อนใครไปนอนร่วม คืนละห้าพัน แต่เดี๋ยวนี้ให้เปล่าเขาก็ไม่เอา ร่างกายนี้เป็นของไม่สะอาด เป็นของเปื่อยเน่า ไม่มีอะไรที่เป็นสาระเป็นแก่นเป็นสาร เธอพิจารณาให้ดี พระก็เมื่อรับคำสอนเตือนใจก็รู้สึกตัว แล้วก็นั่งพิจารณารูปนางสิริมาเอาไปคิดใหม่ คิดผิดกับคราวก่อน คราวก่อนคิดว่าสวย ว่างาม ว่าน่ารัก ว่าน่าพอใจ แต่เดี๋ยวนี้เอาไปคิดใหม่ ว่าไม่สวย ไม่งาม ไม่น่ารัก ไม่น่าพอใจ ไม่น่าเอามาเป็นของกู พิจารณาไปก็เกิดความเบื่อหน่าย คลายความกำหนัด จิตหลุดพ้นจากกิเลส บรรลุมรรคผลไป เรื่องมันเป็นอย่างนั้น
คนเราไม่ค่อยจะได้พิจารณา มางานศพก็มานั่งคุยกัน เรื่องโน้นเรื่องนี้เจ๊าะแจ๊ะ เจ๊าะแจ๊ะ ตลอดเวลา วันไหนหลวงพ่อไปเทศน์ ก็เงียบหน่อย เกรงใจ เพราะถ้าไม่เงียบ เดี๋ยวก็บอกไปว่า โยมจะเทศน์เองหรือจะให้อาตมาเทศน์ให้ พอว่าอย่างนั้นเงียบกริบ ถ้าว่าที่ได้ฟังไม่กระโตกกระตากหรอก ถ้าได้ยินใครพูด มองไป เฮ้ย เอ้า โยมนั้นพูด มายืนข้างธรรมาสน์เทศน์หน่อยสิ ไม่มา เงียบเลย ก็เรียบร้อย เขาไม่ได้คิด ไม่ได้เอาสิ่งที่เราเห็นเป็นเครื่องเตือนใจ จึงไม่เกิดปัญญา คราวนี้เราต้องคิดให้เกิดปัญญา เช่นว่าเวลานี้เศรษฐกิจตกต่ำ เศรษฐกิจมันก็เท่าเดิมนั่นแหละ ไม่ได้ตกไม่ได้ต่ำอะไรหรอก แต่สมมติขึ้นว่าเวลานั้นเศรษฐกิจดี หมายความว่าทำมาค้าขึ้น ค้าขายมันเพิ่ม เงินมันคล่อง เงินมันเยอะ เราก็หลงใหลเพลิดเพลินในความมากของเงิน ได้เงินแล้วก็เที่ยวเตร่สนุกสนาน ไปตลาดซื้อเสื้อ ซื้อผ้า ซื้อแหวน ซื้อทอง ซื้อนั่นซื้อนี่ กินก็กินกันใหญ่ สั่งอาหารเยอะๆ กินแล้วก็ไม่หมด ต้องเอาไปทิ้งขวาง เขาว่าที่ห้อยเทียนเหลา คนประมูลเศษอาหารปีหนึ่งตั้งห้าล้าน ราคาเศษอาหารตั้งห้าล้าน เอาไปไหน บอกเอาไปเลี้ยงหมู เศษอาหารเอาไปเลี้ยงหมู แต่ว่าทางร้านให้ประมูล คนที่ได้ เสียเงินห้าล้าน ได้เศษอาหารไปเลี้ยงหมู
แสดงว่าคนไทยกินทิ้งกินขวาง ปีหนึ่งก็คิดเป็นเงินถึงห้าล้าน เอาไปทิ้ง กินไม่หมด สั่งมามากกินไม่หมด เยอะเกิน หรือเรียกว่า กินแบบสุรุ่ยสุร่าย ไม่ได้คิดว่าท้องฉันขนาดไหน มีความต้องการขนาดไหน เท่าไรจึงพอ แล้วกินเพื่ออะไร กินเพื่อสนุกรึ กินเพื่ออร่อยรึ กินเพื่อความอ้วนพีมีกำลังอย่างนักมวยปล้ำอย่างนั้นรึ ไม่ใช่ เรากินเพื่อบรรเทาทุกข์เก่าคือความหิว แล้วไม่ทำทุกข์ใหม่ให้เกิดขึ้น เราไปสั่งมาแต่พอดี กินพอดี กินดีอยู่ดีนั้นไม่ไหวโยม ไม่รู้จะเอามาตรฐานจากอะไร ว่าอยู่ดีขนาดไหน กินดีขนาดไหน จะเอามาตรฐานของใครก็ลำบาก แต่ถ้าเราว่ากินอยู่แต่พอดี ใช่ ต่างคนต่างมีมาตรฐานอยู่แล้ว กินพอดี รับประทานเข้าไปพอดีท้องมันก็บอกเอง ไอ้ร่างกายเรานี่มันคอยบอกเราตลอดเวลา เวลากระหายน้ำก็บอก หิวก็บอก ปวดแข้ง ปวดขา ปวดเอว ปวดหลัง ปวดอะไร ก็บอกทั้งนั้น รายงานให้เราทราบ ให้เรารู้ว่าอะไรมันเกิดขึ้น ให้เราแก้นั้นเอง แล้วบางทีเราไม่แก้ สมมติว่าคนไปนั่งจั่วไพ่ ความจริงปวดปัสสาวะจะไปห้องน้ำ แต่ยังไม่จบเกมส์ เลยต้องเล่นต่อ เล่นต่อๆๆ ไป เวลาไปห้องน้ำ ถ่ายไม่ออก นั่งหน้าเขียว ต้องไปตามหมอมาเพราะไปอั้นไว้ อั้นอุจจาระ อั้นปัสสาวะ นี่ไม่ได้ ขอเสียร่างกายมันจะเอาออก รีบไปถ่ายเอาออกซะ อันนี้ถ้าเราเอาไว้ มันก็เกิดปฏิกิริยาแก่ร่างกาย ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนเพราะฝืนธรรมชาติ
นั่งมากไปมันก็ฝืนธรรมชาติ ยืนมากไป นอนมากไป ทำอะไรเกินไปผิดทั้งนั้น ไม่ถูกต้อง
พระท่านจึงสอนว่า มัต์ตัญญุตา สทา สาธุ การรู้จักประมาณในเรื่องต่างๆ เป็นเหตุให้สำเร็จประโยชน์ รู้จักประมาณแล้วมันสำเร็จประโยชน์ รู้จักประมาณในการกิน ในการดื่ม ในการนุ่งห่ม ในการทำงาน ในการพักผ่อน พักมากเกินไปก็ไม่ได้ ทำงานมากไปก็ไม่ได้ เล่นกีฬามากไปก็ไม่ได้ ต้องพอดี อันนี้ความพอดีนะ อะไรมันบอก ร่างกายมันบอกเอง เช่นว่าเรารับประทานอาหารอิ่ม อิ่มแล้ว เอ้าดื่มน้ำซะครึ่งแก้ว แน่นแล้ว เต็มอัตราแล้ว ไม่ได้ อันนี้อร่อยต้องว่าอีกหน่อย เกินไปแล้ว เกินพอดีแล้ว เกินพอดีมันก็ไม่ได้เรื่องอะไร น้ำเต็มแก้วแล้วรินน้ำใส่ลงไปมันก็ล้นแก้วสิ ไม้ฟืนที่เราใส่ลงไป ถ้าอัดแน่น ไฟมันไม่ลุก เพราะไม่มีอากาศ ไม่มีช่องว่างที่ลมจะพัด มันก็ไม่ลุก มันต้องใส่แต่พอดี ถ้าเอาข้าวสารใส่หม้อเพราะความอยาก ตอนนั้นมันหิว เลยใส่ข้าวลงไป พอหุงแล้วล้นหม้อเลย พอข้าวสุกก็ล้นหม้อ ไม่ได้ๆ เขาเลยพูดว่า คนหิวข้าวอย่าให้เอาข้าวสารกรอกหม้อ เพราะมันจะใส่ลงไปมากเกินไปเพราะมันหิว มันไม่เกิดความพอดี
ร่างกายมันบอก บอกทั้งนั้น ทำอะไรมันก็บอกพอแล้ว เราก็ต้องทำตามร่างกาย ฝรั่งเขาว่า ลิสเซิน ยัวร์ บอดี้ (listen your body) ลิสเซิน ยัวร์ บอดี้ หมายความว่าให้ฟังร่างกายของท่านบ้าง เพราะร่างกายคอยบอกเราอยู่ตลอดเวลา อย่างนั้น ว่าอย่างนี้ทำอย่างไร มันก็บอก มันปวด มันเมื่อย มัน..(42.32) มันบอกทั้งนั้น เราก็ต้องแก้ไขเพื่อให้เป็นปกติ อาหารการกินก็เรียกว่ากินแต่พอดี ดื่มพอดี พักผ่อนหลับนอนพอดี ทำงานแต่พอดี สม่ำเสมอก็ไม่มีเรื่อง ไม่มีปัญหาอะไร แต่ว่าเรามักจะไม่ได้ใช้สติปัญญามาเป็นเครื่องพิจารณา มักจะทำอะไรเกินขอบเขตเกินพอดีไป จึงเกิดปัญหาแก่ร่างกายเสียหาย
การจับจ่ายใช้สอยทรัพย์สมบัติ ก็ต้องพอดีอย่าใช้ให้มันเกินตัว ใช้มากไปก็ไม่ได้ น้อยไปก็ไม่ดี เอาแต่พอดี ก็ต้องมีระบบของการใช้จ่าย สร้างระบบไว้ว่าเดือนนี้จะใช้อะไรบ้าง จะใช้เรื่องอะไรสักเท่าไร จะทำบุญสุนทานจะอะไรก็ตั้งไว้ ถ้าหมดปุ๊บ เมื่อมาแล้ว ใครจะมาบอกบุญ แหมเสียใจ มาช้าไปหน่อย เงินที่ตั้งไว้จะทำบุญหมดเสียแล้ว ต้องรอปีหน้ากว่าจะได้ เคยมีนะ มีคุณนายคนหนึ่งท่านเป็นคนมีสตางค์ แล้วก็คนหนึ่งไปบอกท่านให้ช่วย ท่านบอกแหมคุณมาช้าไปหน่อย งบประมาณปีนี้หมดเสียแล้ว ต้องรอปีหน้า ก็เลยไม่ได้ เพราะปีนี้หมดแล้ว เพราะเขาตั้งงบไว้ปีนี้จะทำบุญเท่าไร เฉลี่ยให้ที่นั่นบ้าง ที่โรงพยาบาลบ้าง วัดวาอารามบ้าง แล้วคนแก่คนอนาถา เขาตั้งไว้ บริษัทห้างร้านเขามักจะตั้งไว้สำหรับทำบุญ อันนี้ถ้าหมดเขาบอกแหมเสียใจ ปีนี้งบประมาณส่วนนั้นหมดเสียแล้ว ไว้ปีหน้า ปีหน้ามาเนิ่นๆ หน่อยนะ เขาบอกอย่างนี้ แสดงว่าเขามีระเบียบ ทำอะไรมีระเบียบ ไม่ใช่พร่ำเพรื่อ
ถ้าเราทำพร่ำเพรื่อมันก็เสียเหมือนกัน เช่นเขามาบอกบุญเราให้ทุกรายก็เสียหาย ทำให้คนนึกว่า โอว ไอนี่ทำได้ง่ายๆ มีคนให้ เลยมีคนเรี่ยไรเร่ร่อน ทำปลอมขึ้นมาเที่ยวเรี่ยไร หลวงพ่อไปเทศน์ให้ชาวบ้าน เตือนเสมอว่าอย่าทำบุญกับพวกเรี่ยไรเร่ร่อน เพราะมันไม่ไปถึงวัด มันหมดเสียกลางทาง เอารถคันหนึ่ง เอาหินใส่รถเข้าไป หินแถวพาชีมีเยอะแยะ มีพระไปด้วย พระจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ มีเครื่องขยายเสียง เที่ยวโวกเวก ไปแห่ๆ ให้คนเขามาปิดทอง ไม่รู้ติดทำไม ติดเพื่ออะไรก็ไม่รู้ แล้วก็ได้เงิน พวกนั้นไม่ได้พาไปวัด เอาไปกิน ไปใช้ส่วนตัว อาตมาเคยไปสนทนากับคนพวกนี้ ถามว่ามาจากวัดไหน เขาก็ว่าไปตามเรื่อง หลวงพ่อไม่ได้เชื่อ ถามว่านี่เรามากันกี่คน ห้าคน แล้วรถต้องเช่าไหม เช่ารถ วันละเท่าไร แล้วคนมาห้าคนต้องกินต้องใช้วันละเท่าไร ค่าน้ำมันวันละเท่าไร แล้วเอามาจากไหน ก็ในตัว กินไปในตัว เรี่ยไรได้ก็จ่ายไปตลอดทาง ค่าอาหาร ค่าน้ำมัน ค่าใช้สอย แล้วเหลือ เหลือกินก็เอาไปให้วัด ก็ไม่ได้เท่าไร ก็ไม่รู้จักทำอย่างไร ว่างๆ ก็มาเที่ยวเรี่ยไรสักหน่อย
อย่าไปทำเลยกับพวกเหล่านั้น เสีย สูญเปล่า เรี่ยไรเร่ร่อน ทำบาป เราจะทำอะไรก็ทำในที่เราไว้ใจ เห็นว่าเป็นประโยชน์ไม่เสียหาย เราก็ทำ ขืนทำแบบนั้น เหมือนทำลายศาสนา ทำให้คนถือโอกาส เที่ยวหลอกเที่ยวหลอนชาวบ้าน เรี่ยไรปลอม ปีหนึ่งๆ ในกรุงเทพจับพระสึก ตั้งร้อย สองร้อย ปลอมทั้งนั้น โน้นมาจากชัยภูมิ อำเภอเดียว อำเภอแก่งคร้อ คนแถวนั้นไม่ค่อยไว้ผมยาว เพราะจะบวชวันไหนก็ได้ จะนึกจะบวชก็ห่มผ้าเหลือง ผู้หญิงก็ห่มผ้าขาวเข้ากรุงเทพ มาเช่าบ้านอยู่ พอกลางวันก็ออกไปหากิน กลางคืนก็มานอนกัน เปลี่ยนผ้า ผ้าสบงจีวรก็ตาก เหลืองไปทั้งข้างฝา แล้วตอนเช้าก็ทำหน้าที่ออกอีก จนชาวบ้านมันมองเห็น เอ้ บ้านนี้มันแปลกดีนะ มาจากไหนนะ กลางคืนเป็นพระ กลางวันเป็นเจ้าบ้าน จึงโทรศัพท์ไปบอกเจ้าคณะกทม.
ที่วัดมหาธาตุ เจ้าคณะกทม. แกตั้งพระไว้เหมือนกับตำรวจพระ บ้านนั้นอยู่ใกล้วัด โทรศัพท์บอกว่าแอบไปดูบ้านนั้นซอยนั้นหน่อย ดูสิว่าเป็นอย่างไร ไปดูเขาก็เจอของดี ปลอมทั้งนั้น จับเลย จับเอาไปสึก ความจริงก็ไม่ต้องสึก เพราะไม่ได้เป็นพระอะไร ก็จับเอาผ้าเหลืองออกซะ ปล่อยกลับบ้าน ไม่ก็ส่งเจ้าหน้าที่ให้ติดคุกติดตะราง หากส่งก็ต้องถูกลงโทษ เหมือนนายสมพงษ์ เลือดทหาร โอย อยู่ดีไม่ว่าดีหาเรื่องติดคุก ก็คนมันโง่ เสียหาย เป็นอย่างนั้น
เราจึงต้องเลือกเฟ้นก่อนจึงให้ เราจะทำบุญอะไรต้องเลือกก่อนจึงให้ ตั้งงบไว้ก่อนปีนี้ทำบุญเท่านั้นเท่านี้ แล้วก็เลือกให้แก่คนที่ควรให้ สร้างสิ่งที่ควรสร้าง ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ เงินจะไม่เสียหาย
แล้วถ้าหากว่าเงินมันไม่พอใช้ก็ต้องประหยัด กินให้น้อยลงไป เครื่องนุ่งห่ม การอยู่ การเที่ยว ลดละ ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นก็จะไม่มีปัญหาอะไร แล้วก็ต้องพอใจในสิ่งที่เรามีเราได้ สถานะนี้เวลานี้ก็ต้องพอใจ เพราะเราแก้ไขไม่ได้แต่เราแก้ตัวเราได้ จึงต้องทำสิ่งที่จำเป็นที่สุด ก็จะเกิดความพอดีไม่สุรุ่ยสุร่าย ไม่ลำบากไม่เดือดร้อน
มีคนถามว่า ตั้งแต่เงินลอยตัวที่วัดชลประธานเป็นอย่างไร ก็ดีอยู่ คนก็ยังมาฟังธรรมอยู่หนาแน่นเหมือนเดิม การทำบุญสุนทานก็เหมือนเดิม เหมือนปรกติ ไม่มีอะไร เพราะว่าญาติโยมนี้ได้ฟังธรรมมานานแล้ว ได้รู้ได้เข้าใจว่าอะไรเป็นอะไรถูกต้อง เลยไม่วิตกกังวลอะไรมากเกินไป รู้จักปลง รู้จักวาง แล้วก็เข้าใจว่าอะไรมันเป็นอะไร แล้วก็สบายใจไม่มีปัญหาในเรื่องนี้
พูดมาก็สมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงนี้