แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
... อยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังธรรมตามสมควรแก่เวลา วันนี้เป็นวันแรม ๘ ค่ำ ซึ่งเป็นวันอุโบสถ เป็นวันอุโบสถแรก อุโบสถที่สองของวันเข้าพรรษาเป็นต้นมา การรักษาอุโบสถเป็นการประพฤติพรหมจรรย์ พรหมจรรย์นี่เป็นตัวพุทธศาสนา เวลาพระผู้มีพระภาคเจ้าจะส่งสาวกไปประกาศ พระองค์ตรัสว่า พรัหมะจาริยัง ปะกาเสถะ ซึ่งแปลความว่าเธอทั้งหลายจงประกาศพรหมจรรย์ อันไพเราะเบื้องต้นท่ามกลางที่สุดแก่ชาวโลกทั้งหลาย พรหมจรรย์ก็คือการครองชีวิตที่บริสุทธิ์สะอาดสงบยิ่งๆ ขึ้นไป ตามปกติพุทธบริษัทเรานั้นได้รักษาศีล ๕ ประการ เรียกว่านิจศีล เป็นศีลที่เรารักษาอยู่เป็นประจำ ในฐานะเป็นพุทธบริษัท เมื่อถึงวันอุโบสถเราก็เลื่อนระดับจิตใจให้สูงขึ้นด้วยการรับเอาศีล ๘ ประการ ซึ่งเรียกว่าเป็นศีลอุโบสถ
คำว่าอุโบสถแปลว่าการเข้าอยู่ เข้าอยู่ในระบอบของศีล ปฏิบัติกาย ปฏิบัติวาจา ปฏิบัติใจ ให้อยู่ในระบบของศีลธรรมเป็นนิจตลอดเวลา เท่าที่เราได้ตั้งใจไว้ เช่น รักษาวันหนึ่งคืนหนึ่ง อย่างนี้เป็นต้น เราก็พยายามรักษาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วยดี ผู้ที่รับศีลอุโบสถแล้วก็ต้องถือว่าเราเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์นั้นต้องระวังความคิด ระวังการพูด ระวังการกระทำอยู่ตลอดเวลา ไม่อยู่ด้วยความประมาท ไม่อยู่ด้วยความลืมเนื้อลืมตัว แต่อยู่ด้วยความมีสติกำกับความคิด การพูด การกระทำ อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้จิตใจของเราได้มีความสะอาดสงบสว่าง ตามหลักการในทางพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติอุโบสถจึงควรจะสำรวมระวัง ระวังการพูด การคิด การกระทำ ให้เป็นไปในทางที่ไม่ผิดศีลไม่ผิดธรรม
โดยเฉพาะระวังมากที่สุดก็คือระวังปาก ไม่ให้พูดมาก ไม่ให้พูดเรื่องที่ไม่เป็นสาระ ไม่เป็นประโยชน์ ถือหลักที่พระพุทธเจ้าสอนว่า อริยะสาวกคือบุคคลผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อพบกันก็ควรจะทำกิจสองอย่าง คือ ๑) นั่งนิ่งๆ อย่างพระอริยเจ้า พระอริยเจ้านั้นชอบความสงบ ชอบนั่งนิ่งๆ ไม่ค่อยพูดค่อยจาในเมื่อไม่จำเป็น ๒) ถ้าจะพูดกันก็ต้องพูดกันในเรื่องธรรมะ เช่นพูดเรื่องทาน พูดเรื่องศีล พูดเรื่องการภาวนา หรือเรื่องการปฏิบัติธรรมะอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าไม่ได้พูดธรรมะเราก็ไม่พูดอะไร ไม่พูดเรื่องช้าง เรื่องม้า เรื่องการค้า เรื่องการขาย เรื่องการบ้านการเมือง เรื่องอะไรต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องของชาวโลก เราจะไม่เอามาพูดกันในวัด ไม่พูดกันในวันอุโบสถ
วันอุโบสถเป็นวันที่เราปลีกตัวออกมาจากความสับสนวุ่นวายของโลก มานั่งสงบใจ นั่งสงบใจเพื่ออะไร เพื่อจะได้สำรวจตัวเอง คือพิจารณาตัวเอง ตักเตือนตัวเอง แก้ไขตัวเอง ให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้นสะอาดสงบขึ้นสว่างขึ้น ตามหลักการปฏิบัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเราทำอย่างนี้ก็เรียกว่าปฏิบัติถูกต้อง แต่ถ้าเราถือศีลอุโบสถแล้วมานั่งสุมหัวกัน คุยกัน พูดกัน จนดังก้องไปทั้งศาลา อย่างนั้นเป็นการไม่ถูกต้อง จึงต้องระวังปาก บังคับลิ้นของเราไม่ให้พูดมาก ไม่ให้พูดเรื่องไร้สาระ ไม่ให้พูดเรื่องที่ไม่จำเป็นจะต้องพูด สมาคมของบุคคลผู้ถือศีลอุโบสถเป็นสมาคมที่สงบเงียบ ไม่ค่อยมีเสียงดัง ถ้าจะพูดอะไรกันก็ซุบซิบในเรื่องที่จำเป็น ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่พูดอะไร ต่างคนต่างนั่งฝึกสติ ฝึกปัญญาพิจารณาตัวเอง ตักเตือนตัวเอง แก้ไขตัวเอง ถ้าให้ดีก็นั่งเจริญกรรมฐาน เช่น มีสติกำหนดลมหายใจเข้าออกอยู่ตลอดเวลา ไม่มีเวลาที่จะพูดอะไร หรือจะคุยเรื่องอะไรกับใครๆ ต่างคนต่างนั่งสงบเรียบร้อยเป็นการถูกต้อง
เคยไปเยี่ยมโรงพยาบาลโรคจิต แล้วก็ขึ้นไปดูห้องคนไข้ คนไข้โรคจิตนี่ทุกคนนั่งหันหน้าเข้าฝาหมด แล้วก็ไม่พูดไม่คุยกัน ที่ไม่พูดไม่คุยกันนั้นเพราะเขาคิดว่าอย่าไปพูดกับไอ้คนนั้นเพราะคนนั้นมันบ้า แล้วอีกคนหนึ่งก็บอกว่าอย่าไปพูดกับไอ้คนนั้นเพราะคนนั้นมันบ้า ต่างคนต่างว่าบ้าด้วยกันเลยไม่พูดกัน นั่งสงบเรียบร้อยดี อาตมาเห็นแล้วนึกในใจว่าสมาคมของพวกโรคจิตนี่ดี เขาสงบเขาไม่พูด ที่ไม่พูดก็เพราะนึกว่าอย่าไปพูดกับคนบ้า เลยไม่พูดอะไร ต่างคนต่างหันหน้าเข้าฝานั่งเรียบร้อยไม่มียุ่งยาก ไม่ทุบไม่ตีกันไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน เพราะเขานึกว่าอย่าไปยุ่งกับคนนั้นเพราะมันบ้า ต่างคนต่างนึกอย่างนั้นก็เลยสงบไม่มีอะไรวุ่นวาย
ถามหมอว่าคนไข้ตีกันบ้างไหม ไม่มีครับไม่ตีกัน ใช้ให้ทำอะไรก็ทำ เช่น ใช้ให้ตัดหญ้าก็ตัดๆๆๆๆ ตัดแต่หญ้า ไม่ทำอะไรตัดหญ้าเรื่อยไป ใช้ให้กวาดขยะก็กวาดอยู่นั่นแหล่ะ ไม่มีขยะสักอันหนึ่งมันก็กวาดอยู่นั่นแหล่ะ เพราะว่าเขาสั่งให้กวาดขยะเป็นคนมีระเบียบมีวินัย แต่นั่นเป็นเรื่องของคนโรคจิต แต่เรานี้ไม่ใช่คนเป็นอย่างนั้น แต่เราฝึกจิตให้มันสงบ ให้เงียบไม่ให้พูดอะไรวุ่นวาย หลวงพ่ออยากจะเห็นนั่งในศาลาไม่มีเสียงดัง เดี๋ยวนี้พอขึ้นบนศาลาแล้วเสียงแซดไปหมด เหมือนกับนกกระจาบเข้ารังอย่างนั้น อันนั้นไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นอุโบสถในพรรษานี่ขอให้โยมทุกคนตั้งใจว่า อุโบสถในพรรษานี้เราจะไม่พูดมาก เราจะไม่พูดเรื่องที่ไม่จำเป็น เราจะถือความนิ่งมากกว่าการพูด
เคยไปที่วัดๆ หนึ่งที่นครสวรรค์มีอุบาสิกา คือแม่ชีอยู่กันเยอะ แล้วไปถามอะไรนี่ไม่มีใครพูดสักคนเดียว ถามอะไรก็ไม่พูดทั้งนั้น เลยไปถามท่านสมภารบอกว่า แม่ชีพวกนี้เป็นใบ้ไปหมดแล้วหรือ ท่านบอกไม่ได้ใบ้หรอก แต่ห้ามไม่ให้พูดกัน เพราะถ้าพูดมันพูดมาก เลยห้ามไม่ให้พูด ทุกคนปฏิบัติตามคำขอของท่านสมภารคือไม่พูด แม้พระถามว่าโยมเป็นยังไงไม่พูดนั่งเฉย ถามใครๆ ก็ไม่พูด เลยไปรู้ว่ากฎที่นั่นเขาไม่ให้มีการพูด เพราะถ้าพูดแล้วยุ่ง พูดมากคนเราถ้าพูดมากจิตไม่สงบ ฟุ้งซ่าน ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา จึงควรจะหัดฝึกอันแรกก็คือ ฝึกไม่พูด พูดแต่เรื่องที่จำเป็น ไม่มีเรื่องอะไรที่ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องพูดจากัน แล้วเราเคยพูดจาทักทายปราศรัยกัน คราวนี้มาไม่พูด อีกคนก็มันเคืองอะไรกู โกรธอะไรจึงไม่พูด ไม่ใช่อย่างนั้น เขาฝึกจิตคือเป็นคนพูดน้อย สำรวมลิ้น สำรวมจิตใจก็จะเป็นการถูกต้อง อันนี้ประการหนึ่ง
อีกประการหนึ่งในวันอุโบสถนี่เราควรจะทำอะไร คือว่าตัดปัญหาเรื่องพูดออกไปแล้ว ก็ควรจะนั่งพิจารณาตัวเอง เจริญกรรมฐาน พิจารณาปัจจะเวก พิจารณาปัจจะเวก คือของที่ควรจะพิจารณาบ่อยๆ ๕ เรื่องด้วยกัน พิจารณาว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดาเราหนีความแก่ไปไม่ได้ เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาเราหนีความเจ็บไข้ไปไม่ได้ เรามีความตายคืออยู่ข้างหน้าเป็นธรรมดาเราหนีความตายไปไม่ได้ เราจะต้องพลัดพรากจากสิ่งที่เรารักเราชอบใจเป็นธรรมดา ไม่มีอะไรที่เป็นของเราอย่างถาวร แล้วก็คิดว่าเรามีกรรมเป็นของตัว ทำดีได้ความดี ทำชั่วได้ความชั่ว ทำเหตุให้เกิดทุกข์ก็ได้ความทุกข์ ทำเหตุให้เกิดสุขก็ได้ความสุข ทำเหตุให้เกิดความเสื่อมก็ได้ความเสื่อม ทำเหตุให้เกิดความเจริญก็ได้ความเจริญ เราหนีจากผลที่เราทำไว้ไม่ได้ อันนี้เป็นหลักให้เราพิจารณาเป็นประจำ
เช่นว่าพิจารณาเรื่องความแก่นี่เพื่ออะไร เพราะว่าคนเราโดยปกติทั่วไปนั้นไม่ค่อยชอบความแก่ ถ้าใครมาทักเราหมู่นี้ดูแก่ไปเยอะนะ เราไม่ชอบ เราไม่ชอบคนๆ นั้นเพราะมาว่าเราแก่ แต่ความจริงเขาพูดความจริงว่าดูเราแก่ไป เราควรจะดีใจใครทักว่าเราแก่ เพราะเขาพูดความจริงกับเรา เขาไม่หลอกลวงเรา แต่ถ้าพูดว่าหมู่นี้ดูสาวขึ้น ดูยังหนุ่มแน่นแข็งแรง เขาหลอกเราแล้ว มาพูดหลอกเรา มาประจบเราแล้ว ต้องการอะไรจากเราสักอย่างแล้วคอยจ้องฟังให้ดีเถอะ หรือจะยืมสตางค์เราก็ได้ หรือจะขอความช่วยเหลืออะไรก็ได้ เพราะขึ้นต้นด้วยการยอเราเสียก่อน เปรียบเหมือนชักแม่น้ำทั้งห้าเข้ามาล่อพระเวสสันดร แล้วผลที่สุดขอชาลีกัณหาเอาไปเป็นคนใช้ อย่างนี้เราอย่าไปหลงใหลกับคำพูดยออย่างนั้น แต่เราควรพูดว่าคนนี้พูดไม่จริง ไม่ใช่พูดตามความจริง
เช่น เขาพูดว่าดูไม่แก่ อันนี้ไม่จริงแล้ว เพราะว่าคนเรามันแก่ทุกวินาที แก่ทุกลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าก็แก่ หายใจออกก็แก่ แก่ๆ แก่เรื่อยไป แต่ว่าเขาพูดว่าไม่แก่ นี่เขาพูดผิดไม่ได้ความจริงกับเรา เราอย่าไปหลงใหลในคำพูดนั้น แต่เราควรจะได้นึกไว้ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา เราหนีความแก่ไปไม่พ้น ว่างๆ ยกมือขึ้นดูก็ได้ มือเรานี่ยกขึ้นดูแล้วจะรู้ว่าหนังมันเหี่ยว มันแห้ง หลังมือนี่ก็เหี่ยวแห้ง เราก็จะอ้อนี่ความแก่ปรากฎแก่เราแล้ว ไม่ใช่ปรากฎเดี๋ยวนี้ ปรากฎมานานแล้ว แต่ว่าเราไม่ได้พิจารณา พอเราไปมองเข้าก็เห็นความจริง
หรือไปดูกระจกเงา อย่าไปดูเพื่อสวยเพื่องามอย่าไปดูเพื่อการตกแต่ง แต่ไปดูว่าสังขารร่างกายของเรานี้เปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน ดูพิจารณา ดูขอบตา ดูหน้าผาก แล้วก็ดูเนื้อหนังที่เรามองเห็น เราก็จะมองเห็นว่า สังขารร่างกายนี้มันเปลี่ยนไป เมื่อก่อนมันไม่ได้เป็นอย่างนี้ เดี๋ยวนี้มันเป็นอยู่ในรูปอย่างนี้ นี่แสดงว่าร่างกายเรานี่เปลี่ยนไปตามวัย ตามวันตามเวลา มันเปลี่ยนทุกวินาที ไม่มีความคงทนถาวรอะไร ถ้าเราพิจารณาอย่างนั้นก็จะได้ทำลายความเมา เพราะคนเราโดยมากมักจะเมา เมาในความหนุ่ม ในความไม่แก่ ในอะไรต่างๆ อันนี้เราพิจารณาว่าความจริงมันเป็นอย่างนี้ จะได้เกิดความสังเวช เกิดความสลดใจตัวเอง แล้วก็จะได้รีบเร่งใช้ร่างกายนี้ให้เป็นประโยชน์ในทางสร้างสรรชีวิตต่อไป
เมื่อตะกี้นี้ก่อนที่จะมาแสดงธรรม มีคุณโยมคนหนึ่งมาถึงบอกว่า ได้ยินข่าวประกาศสร้างวัดพุทธปัญญาเมื่ออาทิตย์ก่อน เห็นว่าจะรอให้เงินครบหมื่นมันจะช้าไป เพราะร่างกายมันเปลี่ยนแปลงไว เดี๋ยวจะตายเสียไม่ได้กระทำเลยเอามาทำวันนี้ เอาสักห้าพันก่อน บอกว่าดีแล้วโยม ไปเขียนใบเสร็จให้เรียบร้อย แกบอกว่าร่างกายเดี๋ยวนี้มันก็ง่องแง่งเต็มทีแล้ว ขาก็ไม่ค่อยดี หลังไหล่ก็ไม่ค่อยดี เดินเหินก็ไม่คล่อง ด้วยดิฉันพิจารณาทุกวัน แล้วพอได้ยินข่าวว่าจะสร้างวัดพุทธปัญญาก็รีบมา มีเท่านี้เอามาทำเท่านี้ก่อน แต่ถ้ามันยังมีลมหายใจอยู่ได้เงินเพิ่มค่อยมาเพิ่มทีหลัง บอกว่าดีแล้วโยม นึกได้อย่างนี้ก็นับว่าเป็นการถูกต้องสบายใจ แล้วก็บอกว่าวันก่อนโยมมาทำบุญไว้สำหรับสร้างห้องน้ำที่วัดปัญญานันทาราม เวลานี้กำลังจะลงมือสร้าง บอกว่าดิฉันอยากจะไปดูว่าสร้างแล้วยัง ยังไม่เสร็จโยมกำลังจะสร้าง โยมไม่ต้องไปดูตอนนี้ รักษาสุขภาพร่างกายไว้ให้แข็งแรงไว้ก่อน แล้วค่อยไปดูวันหลัง นี่แสดงว่าโยมคนนี้เป็นผู้ไม่ประมาทในวัยในชีวิต
คนเราถ้าไม่ประมาทก็จะได้รีบเร่งสร้างเสริมคุณงามความดี เพราะฉะนั้นท่านจะสอนให้พิจารณาความแก่ไว้บ้าง คนที่ไม่รู้สึกตัวว่าแก่นี่ ก็ยังนึกว่าหนุ่ม คราวนี้เมื่อนึกว่าหนุ่มมันเกิดความเมาในความหนุ่ม แล้วก็จะเกิดความกำหนัด เกิดความลุ่มหลง เกิดความมัวเมาในเรื่องอะไรๆ ต่างๆ แสวงหาแต่ความสุขทางเนื้อทางหนัง ไม่หาความสงบใจ มีเงินทองก็ใช้ในทางที่บำเรอ บำรุงความสุขทางเนื้อทางหนังอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้กระทำให้เป็นประโยชน์ เงินที่มีที่ได้ก็สูญเสียไปในเรื่องที่ไร้สาระ ไร้แก่นสารเวลาตายก็ตายไม่ค่อยจะปกติ เพราะความเมาในเรื่องอะไรต่างๆ พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้เราพิจารณาถึงความแก่ไว้บ้าง เพื่อจะได้ไม่มัวเมา ไม่ประมาท
พระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่งชื่อพระเจ้ามัคเทศน์ มัคเทศน์ท่านเป็นผู้ที่ไม่ประมาทในความแก่ ได้บอกนายช่างที่เข้ามาตัดผม เขาเรียกว่านายช่างมาเจริญเกศา พระเจ้าแผ่นดินนี้ไม่ชอบฟังคำที่เป็นไปเรื่องตัดเรื่องอะไร เรื่องแก่ไม่ชอบ แต่พระเจ้าแผ่นดินองค์นี้ไม่ผิดเพื่อน บอกว่าเวลาเธอมาตัดผมของฉัน ดูบนศีรษะฉันนะ ถ้าพบผมหงอกสักเส้นหนึ่งช่วยบอกให้ฉันทราบด้วย ทุกครั้งที่นายช่างจะทำการตัดผมพระราชาก็ตรวจดูทั่ว ยังไม่พบผมหงอกก็เฉยๆ ในวันหนึ่งก็ทำการตรวจก็พบผมหงอกเส้นหนึ่ง เลยหมอบกราบแทบเท้า แล้วกราบทูลว่าพบแล้วพระเจ้าค่ะ ถามว่าเธอพบอะไร พบผมบนศีรษะของฝ่าบาทหงอกไปเส้นหนึ่ง ดีๆๆๆ เอาแหนบถอนมาให้ฉันดูหน่อย
เขาก็เอาแหนบถอนมาวางในพระหัตถ์ แล้วก็ท่านนั่งดู ดูผมหงอกเส้นนั้น แล้วบอกว่าวันนี้ไม่ต้องตัดโกนเลย โกนเกลี้ยงเลย โกนเลย โกนเสร็จแล้วก็นุ่งขาวห่มขาวเหมือนโยมนี่ ออกว่าราชการประชุมขุนนาง ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์ แล้วก็บอกว่าฉันคิดไว้นานแล้ว ถ้าปรากฎว่าผมศีรษะหงอกหนึ่งเส้น ฉันก็จะลาออกจากราชสมับัติ แล้วจะเป็นนักบวชไปอยู่ในป่า วันนี้ถึงเวลาแล้วเพราะผมหงอกหนึ่งเส้นแล้ว ฉันขอลาท่านทั้งหลายไป ขอให้มกุฏลูกชายคนหัวปีรับราชสมบัติ เป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อไป พวกท่านทั้งหลายก็ช่วยดูแลบ้านเมืองให้อยู่ในสภาพที่สงบเรียบร้อย แล้วก็สั่งลูกชายว่า ลูกครองบ้านครองเมืองเมื่อใดผมหงอกบนศีรษะของเจ้า เจ้าจงเดินตามรอยเท้าพ่อคือออกไปบวช แล้วพระองค์ก็หนีออกไปบวช ใครจะทัดทานห้ามปรามก็ไม่เชื่อไม่ฟัง ออกไปบวชเลย แล้วก็อยู่ป่าเจริญภาวนา ลูกชายรับราชสมบัติ พออายุมากเข้าผมหงอกก็ไปเหมือนกัน ทำอย่างนี้ถึงชั่วห้าคน สืบต่อกันมา ออกบวชกันห้าชั่วคน เพราะได้พิจารณาถึงความแก่
คนเราที่เกษียณราชการนี่เขาบอกว่าแก่แล้ว กลับไปอยู่บ้านเถอะ ทีนี้เมื่อออกราชการมาอยู่บ้านควรทำอะไร ควรจะหาความสงบใจ ควรจะปลีกตัวมาวัดบ้างในวันอาทิตย์บ้าง ในวันพระบ้าง เอาหนังสือธรรมะไปอ่านไปฝึกจิตให้มันสะอาดสงบสว่าง เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ลูกแก่หลาน ไม่ใช่พอเกษียณแล้วไปเที่ยวหาความสุขในเรื่องเหลวใหล ดื่มเหล้าดื่มเบียร์ ไปเที่ยวตามบาร์ตามไนท์คลับ เรียกว่าปล่อยแก่ เพราะว่ามันแก่แล้วไม่กี่วันกูจะตายสนุกให้เต็มที่ เพราะว่าตายแล้วไม่มีใครบุญอุทิศเรื่องนี้ไปให้ อย่างนี้คิดแบบคนบ้าๆ บอๆ ไม่ได้เรื่องอะไร ชีวิตไม่มีค่าไม่มีราคา เรียกว่าใช้ชีวิตไม่เป็น
คนในประเทศอินเดียสมัยโบราณ เขาแบ่งชีวิตไว้เป็น ๔ ขั้นตอน คือชีวิตวัยเด็กเขาเรียกว่าพรหมจารี พรหมจารีคือพวกวัยของการศึกษาเล่าเรียน หาความรู้ใส่สมองเรียกว่าประพฤติแบบพรหมจารี พอเรียนจบแล้วจะไปไหน ทางสองทาง ไปเป็นคฤหัสถ์อยู่ครองบ้านครองเรือน หรือไปเป็นครูเป็นอาจารย์ เรียกว่า วานปรัศน์ หมายความว่าพวกอยู่ป่า เป็นครูเป็นผู้สอน ผู้สอนศิษย์ ผู้สอนศิษย์สมัยก่อนไม่มีเงินเดือน ไม่มีค่าจ้างรางวัลอะไร แต่ถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะสอนสิ่งที่เป็นความรู้ความฉลาดแก่คนที่ยังไม่รู้ไม่เข้าใจ ช่วยให้เขาเกิดปัญญาเกิดความรู้ความเข้าใจ ทำงานด้วยความเสียสละ
คนเป็นครูทุกคนควรคิดทำงานด้วยความเสียสละ อย่าไปคิดถึงเงินเดือนที่จะได้ ถึงตำแหน่งที่จะเลื่อน หรืออะไรต่ออะไร ให้นึกอย่างเดียวว่าเราเกิดมาเพื่อความเป็นครู แล้วก็มีความเสียสละเป็นพื้นฐานทางจิตใจ นั่นแหล่ะการเป็นครูที่ถูกต้อง คนโบราณเขาทำอย่างนั้น นี้คนที่ไปอยู่บ้านมีลูกมีเต้า ลูกเต้าใหญ่โตแล้ว หรือคนที่ไปเป็นครูก็มีลูกศิษย์สอนแทนได้แล้ว เขาก็ออกอีกทีหนึ่งเป็นสันยาสี พวกสันยาสีนี้คือออกไม่ให้ใครรู้ ถ้าอยู่บ้านก็ออกกลางคืนหนีไปเลย มีแต่ไม้เท้าอันหนึ่ง หม้อน้ำใบหนึ่ง ผ้านุ่งกับผ้าห่มชุดเดียวแล้วก็ไปไม่ให้ใครรู้ เดินไปข้างหน้าไม่กลับหลังเป็นอันขาด
เรียกว่าไปแจกของส่องตะเกียง ส่องให้คนเห็นทางชีวิตให้เดินถูกทาง เรียกว่าสันยาสี หรือคนที่อยู่เป็นครูเป็นอาจารย์ เห็นว่าลูกศิษย์เขามีความรู้สอนแทนได้แล้ว ก็เลยออกเช่นเดียวกัน เป็นสันยาสี เดี๋ยวนี้คนในอินเดียก็ยังประพฤติอยู่เหมือนกัน เคยไปพบคนหนึ่งที่เมืองลุมพินี นุ่งผ้าสีกลัด ไม่มีสมบัติพัสถานอะไร แล้วถามว่าท่านเป็นอะไร แกก็บอกว่าผมเป็นสันยาสี เที่ยวไปสอนธรรมะแก่ประชาชน ถ้าเป็นเมืองใหญ่ก็พักสองคืน ถ้าเป็นบ้านน้อยก็พักคืนเดียว แล้วก็เดินไปสอนไปเรื่อยๆ ไม่มีเป้าหมายอะไร ชีวิตอิสระเหมือนนกที่มีปลีกมีหาง แล้วก็บินไปในท้องฟ้าได้สะดวกสบาย เดี๋ยวนี้เขายังทำกันอยู่ ระบบนี้เขายังใช้กันอยู่ เป็นระบบที่เป็นประโยชน์
สำหรับชาวพุทธในประเทศไทยเรานั้น พออายุมากก็เข้าวัดเหมือนโยมๆ ทั้งหลายที่มาวัด นี่เพราะว่าเลิกงานแล้ว ปลดแอกแล้ว เมื่อก่อนเขาเตรียมแบกไถไปลากไป เหงื่อไหลไคลย้อยต้องทำงานตลอดเวลา อยู่กับงานกับการ ลูกเต้าเติบโตแล้วเราก็ทิ้งงานทิ้งการ ปล่อยให้ลูกเขาทำกันไป คอยแนะคอยเตือนเขาบ้าง พอถึงวันพระเราก็มาวัด มารักษาศีลฟังธรรม ปลดปล่อยตนเองให้พ้นจากภาระหนัก ให้พ้นจากความวิตกกังวลด้วยปัญหาต่างๆ ให้ได้ชิมรสแห่งความสุข อันเกิดขึ้นจากความสงบเสียบ้าง จึงได้มาอย่างนี้ ใครๆ เขาพูดว่าเห็นแต่คนแก่มาวัด ก็คนแก่เขาว่างงาน เขาก็มากัน คนที่ยังไม่แก่เขามีงานเขาก็ไม่มา แต่เมื่อเกษียณแล้วก็มา
นี่โยมๆ ที่เกษียณมาเที่ยวนั่งแอบๆ อยู่เยอะ มาแอบ แอบฟัง เดินๆ อ้าวคุณโยมมาเหมือนกัน ผมมาทุกวันแต่ไม่ได้เข้าไปหาใกล้หลวงพ่อ มานั่งฟังแล้วก็กลับบ้าน ก็ดี ขอให้แอบมาบ่อยๆ เถอะ จะได้ช่วยให้ชีวิตสบายขึ้น เขามากันมาฟังธรรมะ หรือว่าชอบอ่านหนังสือธรรมะ บางคนก็ไปอยู่วัดเสียเลย ที่วัดปัญญามีครู ครูเก่า ครั้งแรกจะมาอยู่นี้ หลวงพ่อว่าที่วัดนี้มันวุ่นวายคนมันมาก ไปอยู่วัดปัญญาเถอะเงียบดี เลยไปอยู่จนบัดนี้ ไปทีไรก็เจอทุกที อยู่ในห้องสมุด อ่านหนังสือช่วยงานช่วยการพระสงฆ์องค์เจ้าเท่าที่จะช่วยได้ ชีวิตมันอิสระ มีบำนาญพอได้เอาตังค์มาใช้ในชีวิตประจำวัน ก็รู้จักหาความสุขความสงบเสียบ้าง ก็เป็นการดี
อายุมากแล้ว ผมหงอกแล้ว ฟันปลอมแล้ว ผิวหนังเหี่ยวแห้งแล้ว แข้งขาก็ไม่ค่อยดีปวดหัวเข่า ปวดหลังปวดเอว ไอ้สิ่งเหล่านี้เป็นเทวทูต เขามาส่งข่าว มาเตือนบอกให้รู้ว่าใกล้แล้วนะ ใกล้แล้วๆ บอกว่างั้น เราอย่าทำเฉยเมย แต่นึกว่าเขามาบอกมาเตือนเราก็ต้องเชื่อฟัง แล้วก็ต้องเอามาพิจารณา เอาความแก่เป็นอารมณ์เป็นเครื่องเตือนใจ ตื่นเช้าล้างหน้าล้างตาไปที่กระจกเช็ดหน้าเช็ดตา บอกตัวเองว่าวันนี้แก่ขึ้นอีกวันหนึ่งแล้ว แก่ขึ้นอีกวันหนึ่ง แล้วจะอยู่ตลอดวันหรือเปล่าก็ไม่รู้ อาจจะมีปัญหามีอะไรเกิดขึ้นก็ได้ อาจจะถึงแก่ความตายก็ได้ บอกตัวเอง ไม่ใช่แช่งบอกให้รู้แล้วจะได้ไม่ประมาท ไม่มัวเมา ไม่หลงใหลในชีวิตในความไม่มีโรค อย่างนี้เป็นเรื่องสำคัญ
อันนี้เรื่องความเจ็บไข้ได้ป่วย คนที่สบายจริงๆ นั้นหายาก หายาก พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า อโรคยา ปรมา ลาภา ความไม่มีโรคเป็นลาภประเสริฐ ลาภอะไรๆ ไม่เท่าลาภคือความไม่มีโรค คนมีโรคมีเงินก็ไม่เป็นสุข มีบ้านใหญ่ก็ไม่เป็นสุข มีอะไรก็ไม่เป็นสุข เมื่อเช้านี้ไป เขานิมนต์ไปเปิดมอลล์ ร้านค้าใหญ่ๆ แล้วบอกว่าลูกของคุณโยมคุณใหญ่ไม่สบาย เป็นโรคไต ไตพิการ รักษามาเยอะแล้ว รักษาด้วยยาจีน ด้วยยาไทย ด้วยยาฝรั่ง ด้วยยาหลายทุกประเภท รักษามามากมีเงินเที่ยวรักษาแต่ไม่หาย โรคไตนี้มันไม่ค่อยหายเป็นแล้วมันลำบาก บางคนต้องไปล้างไตทุกวัน สามวันไปล้างก็มี มีเครื่องล้างไตแพงนะ ล้างทีหนึ่งต้องเสียเงินหลายพัน แต่เขามีเงินเสียก็ล้างกันไป ชำระกันไป
นี่มีเงินแต่มีโรค บ้านหลังใหญ่แต่มีโรค มีอะไรเพียบพร้อมมีโรคก็ทำอะไรไม่ได้ ไม่สบาย ไม่ต้องทำอะไรอยู่บ้านช่วยออกความคิดนิดๆ หน่อยๆ โรคมันกีดกันไม่ให้เราทำอะไร เป็นมารที่มาทำให้เราเกิดปัญหาในชีวิตได้ เรียกว่าเป็นมารชนิดหนึ่ง อันนี้เราก็ต้องรู้ว่าร่างกายเรานี้มีโรค ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า โรคะนิทธัง ปะภังคุนัง โรคะนิทธัง หมายความว่าเป็นเรือนโรคเป็นรังโรค ร่างกายเรานี่เป็นรังของโรคด้วย แล้วมันก็เป็นของเปื่อยเน่าไม่คงทนถาวร ที่ว่าเป็นรังโรคก็หมายความว่ามันมีเชื้อโรคอยู่ในตัวเรา แต่ว่ามันยังไม่รุนแรง ที่ไม่รุนแรงก็เพราะว่าเรามีภูมิต้านทานดี ตราบใดที่ภูมิต้านทานยังเข้มแข็งยังสู้ได้ มันก็เป็นปกติอยู่ แต่เมื่อใดภูมิต้านทานอ่อน พออ่อนแล้วโรคก็ได้ทีลุกใหญ่เลย
เหมือนข้าศึกมาล้อมบ้านล้อมเมือง เขาคอยดูว่าจุดไหนมันอ่อน พอรู้ว่าจุดไหนอ่อนเขาตีตรงนั้นยิงซ้ำที่ตรงนั้น แตก เหมือนกรุงศรีอยุธยาแตก พม่ามันยิงปืนใหญ่ ยิงจุดเดียว ยิงจนกำแพงพัง พังแล้วทหารก็บุกเข้าไปในวัง เผาบ้านเผาเมืองเสียหายหมด มันเป็นอย่างนั้น แล้วก็มีไส้ศึกด้วย ไส้ศึกคือข้างใน เชื้อโรคเหมือนกับไส้ศึกแล้วเปิดโอกาสให้โรคอื่นแซงเข้ามา คนที่เป็นโรคเบาหวานเหมือนเปิดประตูรับโรค ร่างกายมันอ่อนแอ โรคอื่นก็แซงเข้ามาได้ แซงกันแล้วก็ลำบาก จะไปผ่าตัดมันก็ไม่สะดวกเย็บไม่สนิท เพราะว่าเนื้อคนที่เป็นเบาหวานนี่มันผุ มันผุ มันอ่อนแอเย็บแล้วไม่ติด ผลที่สุดลำบาก
มีพระองค์หนึ่งไปอยู่อเมริกา ชื่อพระสมบัติก็คนนิยมนับถือพอสมควร แล้วก็ไปซื้อที่ดิน ๑๘ ไร่เพื่อจะสร้างเป็นวัด ก็สร้างแล้วชื่อวัดพุทธชิโนฮิลส์ เลือกที่ดี ที่นั้นก็เป็นวัดฝรั่งมาก่อนก็เลยไปซื้อ ก็มีโบสถ์มีที่พักพระพอได้อยู่ได้อาศัย แต่แกเป็นโรคเบาหวาน เป็นโรคเบาหวาน เป็นโรคหัวใจ หลายโรค มาอยู่ในตัวแกหลายโรค ก็กลับเมืองไทยมารักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รักษาทำการผ่าตัดเย็บมันไม่สนิท มันเรื้อรัง ผลที่สุดก็มรณภาพถึงแก่กรรมลงไป อันนี้ก็เพราะโรคเบาหวานเป็นโรคเปิดประตูรับโรคอื่น คนเป็นเบาหวานนี้ต้องเตรียมตัวให้ดี ต้องคุมอาหาร ต้องรับประทานพวกแป้งพวกน้ำตาลน้อยๆ ขนมที่เคยชอบ ขนมหม้อแกง ทองหยิบ ฝอยทอง พวกเหล่านี้หย่าขาดกันเลย อย่าไปแตะต้อง อย่าไปยุ่งกับมัน พอเห็นแล้วกูไม่เอาๆ อย่าไปยุ่งกับพวกนี้ กินเข้าไปแล้วน้ำตาลขึ้น
แล้วฤดูนี้ทุเรียนเยอะนะโยม ทุเรียนดีๆ ก้านยาว กระดุมทอง ก้านยาวอะไรไม่รู้ มันอร่อย อย่าๆๆๆ อย่าแตะเข้าไปเป็นอันขาด ต้องบอกว่ากูไม่เอาโว้ย ทุเรียนไม่เอา เพราะทุเรียนโปรตีนมันสูง พอทานเข้าไปสักเม็ดเดียวเท่านั้นน้ำตาลขึ้นแล้ว มันยุ่ง อย่าเป็นอันขาด อาตมาก็ไม่ค่อยชอบฉันทุเรียน ความจริงอยากจะฉัน แต่บอกว่าอย่านะ น้ำตาลมันจะขึ้น วันก่อนให้หมอเช็ค ตอนเช้าหมอเช็ค หมอบอกว่าเดี๋ยวนี้น้ำตาลหลวงพ่อมันลดไป มันน้อยไปก็ให้ยาอีกเรียกว่ายาเพิ่ม เพราะน้ำตาลมันลด อันนี้นี่ตอนเย็นๆ ชักจะมึนๆ ศีรษะ ไม่รุนแรงแต่เริ่มมึนๆ นิดๆ หน่อยๆ เพราะน้ำตาลน้อย เพราะฉะนั้นต้องฉันหวานๆ หน่อย เลยก็ให้รังนก รังนกมันหวานนะโยม เลยพอตอนเย็นก็เอาเสียถ้วยหนึ่ง ช่วยให้พออยู่ได้ว่างั้น หมอคอยเช็คคอยบอกตรวจอยู่ โยมอย่าประมาทต้องไปตรวจบ้าง
รถที่เราใช้ต้องเอาเข้าอู่ซ่อมเพื่ออัดฉีดให้มันเรียบร้อย ร่างกายเรานี่ก็เหมือนรถยนต์เหมือนกัน มันมีการเสื่อมการสูญเสีย เพราะฉะนั้นว่างๆ ไปตรวจเสียหน่อย ให้หมอตรวจเจาะเลือดตรวจไขมัน ถ้าคนอ้วนๆ ไขมันมันมาก ไขมันนี้จะอุดตันทำให้หัวใจหยุดได้ง่าย เพราะฉะนั้นตรวจดูว่าไขมันขนาดไหน น้ำตาลขนาดไหน จะได้รู้ พอรู้แล้วจะได้ลดส่วนที่ควรลด เพิ่มสิ่งที่ควรเพิ่ม จะได้เข้าใจ ต้องไปอย่างนั้น เรียกว่าตรวจไว้รักษาไว้ แล้วก็ควรจะ เรียกว่ามีหมอประจำ ไปหาหมอนั้นคุ้นเคยกัน ไปตรวจกับหมอเขาได้รู้ว่าร่างกายเรานี้มันขาดอะไร หรือควรจะเพิ่มอะไรเขารู้ เขามีสถิติที่ตรวจสอบไว้ก็จะเป็นการดี ช่วยให้โรคมันเบาหน่อย พอจะได้อยู่ต่อไป
อยู่ไปเพื่ออะไร เพื่อทำความดี ไม่ใช่อยู่เพื่อกินเพื่อเล่น เพื่อความสนุกสนานเฮฮาไม่ใช่อย่างนั้น แต่อยู่ไปเพื่อกระทำความดีเพิ่มขึ้น ต้องคิดอย่างนั้น อย่าประมาท เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ และเดี๋ยวนี้โรครุนแรง มันมี เขาเรียกว่าไวรัส พวกไวรัสที่มันเล็กมาก มันอาจจะเข้าไปในร่างกายของเรา แล้วมันไปซ่อนอยู่ในตัวเรา บางทีเจาะเลือดไม่เจอ เจาะหลังไม่เจอ พอเจาะบางแห่งถึงเจออ้อไอ้ตัวนี้เอง พอรู้ว่าไอ้ตัวนี้หมอบอกลำบากแล้ว ไอ้ตัวนี้มันสำคัญนัก เล่นกับมันยากมันร้ายแรง ก็ต้องแพ้เพราะข้าศึกมันแรง กำลังต้านทานน้อยสู้ไม่ได้ ก็ต้องแพ้ก็ต้องยอมเขา มันเรื่องธรรมดา ความเจ็บไข้ได้ป่วยมันมี เราอย่าคิดว่าไม่เป็นไร
ถ้าว่าเป็นอย่างไรบ้าง สบายดีแข็งแรง อย่าไปเที่ยวพูดอย่างนั้น มันมีอะไรอยู่บ้างไม่แน่ในร่างกายต้องพิจารณาไว้ดูอาการ เขาเรียกว่าฟังเสียงร่างกายเราบ้าง ฝรั่งเขาเรียกว่า listen your body หมายความว่าให้ฟังร่างกาย ร่างกายมันบอก มันมีอะไรมันบอก หิวก็บอกอิ่มก็บอก ปวดตรงนั้นเจ็บตรงนี้มันคอยบอก เราอย่าทำเป็นหูหนัก อย่าทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้กับเรื่องร่างกายเรา ต้องคอยฟังว่ามันเป็นอย่างไร มีอาการอย่างไร นอนแล้วลุกขึ้นเป็นอย่างไร มึนหัวไหม ซึมๆ ไหม เอ๊ะทำไมมันเป็นอย่างนั้น มันต้องมีเรื่องอะไรสักอย่าง ต้องไปปรึกษาหมอว่าตื่นเช้าเป็นอย่างนั้น ท้องไส้เป็นอย่างไรขับถ่ายสะดวกไหม คนแก่บางคนมันเกินไป ถ่ายปู้ดป๊าดไปเลย ธาตุไม่ปกติ ทานอะไรก็ถ่าย ถ่ายบ่อยๆ หลายครั้งหลายหน
หลวงพ่อก็เป็น เรื่องถ่ายนี่บางทีฉันน้ำส้มเช้าๆ เดี๋ยวนี้ไม่กล้าฉันแล้วน้ำส้มเช้าๆ พอฉันน้ำส้มแล้ว พอฉันอาหารเช้าเสร็จ ประเดี๋ยวเดียวเอาอีกแล้วปู้ดป๊าดไปเลย แล้วไม่ครั้งเดียว สองครั้งสามครั้ง มันเป็นยาระบายไป เลยก็ไม่ยุ่ง ไปฉันตอนบ่ายๆ เพราะไม่มีอะไร ค่อยยังชั่วหน่อย ต้องคอยสังเกตว่าเราฉันอะไรเข้าไป มีปฏิกริยาอย่างไรแก่ร่างกายของเรา ถ้าเห็นว่ามันมีอะไรเยอะเราไม่กินของสิ่งนั้น ปฏิเสธของสิ่งนั้น มันต้องคอยสังเกต เวลาเป็นอะไรเรากินอะไร เราดื่มอะไร เราทำอย่างไร มันจึงเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ต้องหมั่นตรวจสอบพิจารณา แล้วคอยกำหนดไว้ พบหมอก็คุยให้หมอฟังว่า มันเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ หมอเขาก็จะได้ช่วยแนะนำว่า อะไรมันเป็นอะไร พอจะบรรเทา เรียกว่าให้พอเป็นไปได้ ให้พอวิ่งไปได้ มันไม่หนักเกินไป ถ้าเป็นก็ไม่รุนแรง เพราะเราคอยตรวจสอบร่างกายของเราไว้
อย่านึกว่าไม่เป็นไรร่างกายแข็งแรง อย่านึกอย่างนั้น ให้นึกคำที่พระพุทธเจ้าว่า โรคะนิธทัง เป็นเรือนโรค ในตัวเรานี้โรคเยอะ แต่มันภูมิต้านทานยังดี มันก็สู้ได้ แต่เมื่อใดอ่อน โรคมันก็เอาเลย มันจ้องอยู่ จ้องอยู่พออ่อนปุ๊บมันก็เล่นงานเรา ทำให้เราเสียหายนี่โรคภัยไข้เจ็บ แล้วเมื่อเป็นโรคหนักเข้าก็ต้องตาย ตายเรื่องธรรมดา ตายกันบ่อยๆ ตายด้วยอุบัติเหตุ ตายด้วยโรคนั้น ตายด้วยโรคนี้ เหตุที่จะให้ตายมันเยอะ เพราะฉะนั้นต้องระวัง ไปไหนก็ต้องระวัง เช่นว่า เดินทางไกล รถยนต์ที่จะพาไปทางไกลต้องตรวจเช็คให้เรียบร้อย ไปให้อู่เขาดูว่าฉันจะไปทางไกล ช่วยตรวจหน่อย อะไรเป็นอย่างไร ตรวจให้พร้อม เพื่อให้ไปได้สะดวกอย่าประมาทไปแล้วจะอันตราย การขับรถก็ต้องขับด้วยความระมัดระวัง เพราะคนประมาทมันเยอะมันคะนองเยอะ เราก็ต้องระวังเต็มที่หน่อย จะได้ไม่เกิดอันตราย ทำให้เราถึงแก่ความตาย
แต่ว่าเราไม่กลัวความตาย เราไม่กล้าเสี่ยงกับความตาย เรื่องความตายนี่ก็อย่ากลัวตาย อย่ากล้าตาย อย่าเสี่ยงกับความตาย เพราะถ้าเสี่ยงมันอันตราย แต่ให้รู้ว่าชีวิตนี้มันเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก แล้วเวลาหนึ่งความเปลี่ยนแปลงจะจบจะหยุด ความเปลี่ยนแปลงหยุดก็คือความตายนั่นเอง พัดลมหมุนอยู่ได้ก็เพราะมีไฟฟ้าแรงงาน ถ้าหมดแรงงานมันก็หยุด เครื่องยนต์เดินอยู่ได้ก็เพราะมีปัจจัยหล่อเลี้ยง มีน้ำมันมีไฟมีอะไรหล่อเลี้ยง แต่พอหมดเท่านั้นมันก็หยุดเหมือนกับร่างกายเรานี้ก็เหมือนกัน มีลมหายใจเข้าออก มีเครื่องประกอบหลายอย่าง แต่ถ้าเครื่องประกอบเหล่านั้นขาดไป มันก็หยุด หยุดก็คือตายนั่นเอง เพราะฉะนั้นความตายเป็นของอยู่ใกล้
คนโบราณจึงพูดว่าความตายอยู่ที่ปลายจมูกนี่เอง ไม่ได้อยู่ตรงไหน คือเอามืออังตรงนี้ยังมีลมหายใจออกอยู่ก็ไม่ตาย แต่ถ้าอังแล้วไม่รู้ว่าหายใจมันก็ตาย ตายง่ายอยู่ปลายจมูก แล้วให้พิจารณาความตายบ่อยๆ คราวหนึ่งพระพุทธเจ้าถามพระว่าเธอทั้งหลายเจริญมรณะสติอยู่หรือเปล่า พระเหล่านั้นก็กราบทูลว่าได้เจริญมรณะสติ เธอเจริญมรณะสติว่าอย่างไร พระนั้นบอกว่าข้าพระองค์พิจารณาว่าชีวิตเป็นของน้อยของสั้น อาจจะแตกดับภายในวันหนึ่งคืนหนึ่ง พระองค์นั้นพูดอย่างนั้น ถามอีกองค์ว่าเธอเจริญมรณะสติอย่างไร บอกว่าข้าพระองค์เจริญมรณะสติว่าชีวิตมันน้อยมันสั้น อาจจะแตกดับก่อนเที่ยงวันหรือก่อนค่ำก็ได้ ถามอีกองค์หนึ่งว่าเธอเจริญมรณะสติอย่างไร องค์นั้นตอบว่า ข้าพระองค์เจริญมรณะสติว่าเมื่อหายใจเข้าแล้วอาจจะไม่ได้หายใจออกก็ได้ หรือหายใจออกแล้วอาจจะไม่ได้หายใจเข้าก็ได้ สามองค์ไม่เหมือนกัน
องค์หนึ่งบอกว่าอาจจะตายภายใน ๒๔ ชั่วโมง องค์หนึ่งบอกว่าอาจจะตายภายในครึ่งวัน แต่องค์หนึ่งบอกอาจจะตายเมื่อหายใจออกแล้วไม่ได้หายใจเข้าก็ได้ พระองค์สรรเสริญองค์ที่เจริญมรณะสติว่าอาจจะตายเมื่อหายใจเข้าออกก็ได้ องค์นี้รวดเร็วดี แต่ครึ่งวันมันช้าไป วันหนึ่งมันก็ช้าไป ยังประมาทได้ เราจึงต้องหมั่นคิดไว้ เมื่อยืน เมื่อนั่ง เมื่อนอน เมื่อทำอะไรก็คอยเตือนๆ ไว้ว่าอาจจะหมดลมหายใจเมื่อใดก็ได้ เมื่อกินข้าวก็ได้ เมื่อดื่มน้ำก็ได้ เมื่อลงบันไดหายใจไม่ออกก็ได้ หรือเราไปหาหมออาจจะไม่ถึงหมอก็ได้ หยุดหายใจเสียเมื่อใดก็ได้
เมื่อเช้านี้มีหนูคนหนึ่งมาถวายสังฆทาน ถามว่าอุทิศให้ใคร เขามีรูปเล็กๆ อุทิศให้น้องชาย เอ๊ะน้องชายดูรูปยังหนุ่มนี่ อายุเท่าใดเมื่อตาย อายุ ๒๙ ตายเพราะอะไร ก็ไม่รู้ว่าเรื่องอะไร พาไปโรงพยาบาล ไม่สบายแล้วไปโรงพยาบาลแล้วก็ตายที่โรงพยาบาล ถามหมอๆ ก็ไม่บอกว่าเป็นโรคอะไร คือหัวใจมันหยุดนั่นเอง โรคหัวใจ หยุด เขาเรียกว่าหัวใจวาย หัวใจวายนี่อาจจะเป็นแก่ใครเมื่อใดก็ได้ นั่งอยู่ดีๆ หยุดหายใจ ตายก็ได้ ทำงานอยู่หยุดหายใจ ถ้าตายขณะทำงานมันค่อยดีหน่อย ถ้าตายขณะนอนอยู่ไม่ค่อยดีเท่าใด เราอย่านอนหลับตายไม่รู้ตัว นอนแล้วก็หลับไปเลยดีเหมือนกัน
มีโยมคนหนึ่งปกติตักบาตรทุกวัน เวลาตักบาตรนี่แกมักจะจับบาตรไว้ หลวงพ่อไปบิณฑบาตแกจับบาตรไว้แล้วแกถามปัญหา ถ้าตอบปัญหายังไม่เป็นที่พอใจแกไม่ปล่อย ไม่ปล่อยบาตรเราก็ไปไม่ได้ ก็ต้องตอบกันไปตอบกันมา ตอบพอพอใจก็ปล่อยบาตรไปได้ ถามบ่อยๆ วันหนึ่งมาบิณฑบาตหลานชายใส่บาตร อ้าวคุณตาไปไหนเคยใส่บาตรทุกวันๆ คุณตาตายแล้ว ตายอย่างไรเมื่อวานก็ยังใส่บาตรอยู่ ตายเมื่อคืน ตายอย่างไร นอนแล้วก็หลับไปเลย นี่ตายเวลานอนหลับ นอนหลับๆ แล้วก็หัวใจมันหยุดไปเฉยๆ ตายไป ตายง่าย ตายอย่างนั้นก็ดีเหมือนกันไม่ต้องพยาบาล ไม่ต้องทำอะไร แต่ลูกหลานเขาบ่นอีกไม่ให้โอกาสรักษาบ้างเลย แต่ถ้ารักษาหลายเดือนแล้วไม่ตาย ไม่รู้จักตายสักที รักษากันนานแล้วเมื่อไหร่จะตายที พูดเบาๆ ไม่พูดแรงนะ บอกไม่รู้จักตายสักทีลำบาก เขาบ่นเหมือนกัน ตายช้าก็บ่น ตายเร็วก็บ่น ไม่เป็นที่พอใจของใครๆ
มันเลือกได้เมื่อไหร่ไอ้เรื่องตายนี่ เลือกไม่ได้ จะเลือกว่าให้ตายตอนเช้า ให้ตายตอนกินอาหารแล้วจะได้ไม่หิวก็ไม่ได้ ให้ตายที่นั่นให้ตายที่นี่ก็ไม่ได้ มันไม่ได้ทั้งนั้นแหล่ะ แต่มีคนๆ หนึ่งเป็นชาวพัทลุงมาที่วัด วัดใกล้โรงพยาบาลพระมงกุฎ วัดอภัยทายารามแกมาพักที่นั่น เพราะมีมหาองค์หนึ่งชาวพัทลุงอยู่นั่น แกเดินไปดูเมรุ พูดกับพระ เมรุนี่สวยดี ถ้าผมตายแล้วเผาที่เมรุนี้ผมไม่เสียใจ แกพูดอย่างนั้น พอรุ่งเช้าแกเดินไปหน้าวัด เดินอย่างไงก็ไม่รู้รถชนเปรี้ยงเข้าให้ตายเลย เลยได้เผาที่เมรุนั้นสมความตั้งใจ เพราะแกพูดว่าถ้าผมตายที่นี่เผาเมรุนี้ผมไม่เสียใจ เลยตายเอาจริงๆ รถชนตาย พูดเป็นลาง เขาเรียกว่าพูดเป็นลาง เป็นอย่างนั้น ก็ตายไป ตายง่ายก็เผากันไปตามเรื่อง
บางคนตายยากกว่าจะตายนี่โอ๊ยรักษากันเสียเงินเยอะ ไม่รู้จักตาย โรคอัมพาตตายช้า อัมพาตถ้าเป็นแล้วห้าปีสิบปี สมเด็จวัดแจ้งเป็นอยู่ ๑๑ ปี ๑๑ เดือน ๑๑ วัน เสียสาม ๑๑ เชียวนะกว่าจะตาย จนเขาลืมไปแล้วว่าสมเด็จยังอยู่อีกองค์หนึ่ง แต่นอนอยู่โรงพยาบาล ไม่รู้จักตายสักที เลยก็ตายไป เป็นธรรมดา คนเรามันเลือกเวลาไม่ได้ เลือกสถานที่ก็ไม่ได้ เลือกโรคก็ไม่ได้ มันต้องเป็นไปตามเรื่องของสังขารเครื่องปรุงเครื่องแต่ง มันจะไปจบตรงไหนเราไม่รู้ อาจจะตายเมื่อไหร่ก็ตาย เพราะฉะนั้นอย่ากลัวตาย แล้วอย่าไปเสี่ยงให้มันตาย ทำอะไรอย่าเสี่ยงตายแล้วก็จะดี นี่ความตาย เมื่อเราตายเราต้องพลัดพราก อะไรๆ ที่เรามีเราได้มันไม่ใช่ของเรา ของยืม ยืมสายสร้อยมาสวม ยืมแหวนมาสวม ยืมสร้อยคอ ยืมทั้งนั้นแหล่ะ ร่างกายนี่ก็ยืม ยืมเขามาใช้ชั่วครั้งชั่วคราว แล้วผลที่สุดก็ส่งคืนแก่ธรรมชาติ ไม่มีใครจะเอาไปได้ นี่ก็ต้องพลัดพรากจากของเรารักเราชอบใจ
เพราะฉะนั้นมีอะไรนี่มีอย่าให้เป็นทุกข์ ได้อะไรก็อย่าได้ให้เป็นทุกข์ บางคนได้แล้วเป็นทุกข์ มีแล้วก็เป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะอะไร เพราะเข้าไปยึดถือว่าของฉันๆ อยู่ตลอดเวลา เป็นทุกข์ อย่าไปนึกว่าของฉัน บอกว่าของไม่ใช่ของฉัน ของยืม ยกแหวนขึ้นมาดู ฉันยืมเขามาใช้ ไม่เท่าใดเขาต้องเรียกคืน ยืมสายสร้อยเขามาใช้ไม่เท่าใดเขาเรียกคืน ยืมเงินเขามาใช้ไม่เท่าใดเขาเรียกคืนไป แล้วเวลานี้เงินราคามันน้อยเขาเรียกว่าลอย มันลอยไป ตามกระแส เงินลอยตัว มันลอย คราวนี้โยมอย่าให้มันลอยไปจนหมดกระเป๋า ค่อยๆ ดึงไว้บ้าง หยิกปีกหยิกหางซะบ้าง พญาครุฑมันบินไว บินปรู๊ดไปแล้ว ทำอย่างไรอย่าให้มันลอยไป ประหยัดหน่อย กินอยู่อย่างประหยัด ใช้จ่ายอย่างประหยัดอดออม
อย่าคิดว่ามีเงินมากไม่เป็นไรไม่ได้ ใช้มากไม่ได้ ต้องค่อยๆ ใช้ ใช้เท่าที่จำเป็นกินเท่าที่จำเป็นดื่มสิ่งที่จำเป็น นุ่งห่มพอสมควร บ้านช่องก็อย่าให้มันใหญ่โตมโหฬารมากเกินไป ซื้อบ้านราคาตั้งหลายล้านๆ จะอยู่อะไรนักหนา เวลานอนนี่ใครจะนอนกลิ้งทั่วเตียงบ้าง เตียงกว้างก็นอนนิดเดียวนอนเท่าที่นอนได้ หลังของเรามันกว้างเท่าไหร่ ศอกหนึ่งเท่านั้นเอง พอหลับแล้วมันก็นิ่งอยู่ตรงนั้นแหล่ะ ไม่ใช่นอนกลิ้งไปกลิ้งมานี่ ถ้าใครขืนนอนกลิ้งไปกลิ้งมาอยู่ทั้งคืนคงอายุสั้นแล้วคนนั้น มันนอนไม่ได้ ต้องการเครื่องที่นอนนิดเดียว ต้องการเครื่องนุ่งห่มก็นิดเดียว ต้องการอาหารก็อิ่มเดียว ใครจะกินเกินอิ่มบ้าง อาหารเต็มโต๊ะกินได้เท่าไหร่ กินได้เท่าที่ท้องต้องการ กินมากมันก็ไม่ได้ เรากินได้เท่านั้นไม่ได้มากมายอะไร ประหยัดเสียอย่าฟุ่มเฟือย จะไปไหนมาไหนไม่จำเป็นก็ไม่ต้องไป
โยมคนแก่ๆ ชอบเที่ยว ไปโน้นไปนี่ทอดผ้าป้าบ้าง ทอดกฐินบ้างไปกัน เวลานี้เงินมันลอยอยู่อย่าไปเลย ทำบุญอยู่ที่วัดชลประทานนี้ก็พอแล้วอย่าไปไหน ไม่ต้องเดินทางไกล เดินแล้วบางทีเกิดอุบัติเหตุเพราะคนขับประมาท แล้วบางทีคนโดยสารช่วยให้คนขับประมาท ไปในรถก็ดื่มอะไรกัน เอ้าพี่เอาหน่อย อย่าเลยครับผมขับรถ ไม่เป็นไรเอาหน่อย ยุให้เขาดื่ม พอดื่มแล้วมันก็เมา เมาแล้วมันพารถพลิกคว่ำ โยมทั้งหลายก็ไม่ต้องไปถึงปลายทาง คว่ำเสียแถวนั้น ทอดกฐินไม่ทันถึงวัดทอด ต้นกฐินเที่ยวกระจายอยู่แถวนั้น เลยคนมาเก็บเอาไปหมดไม่ได้ไปทอด นี่เพราะประมาท พระท่านสอนไว้อย่าประมาท อย่ามัวเมา อย่าหลงใหลในเรื่องต่างๆ เพราะเราจะต้องพลัดพรากจากสิ่งเหล่านี้ไป เพราะเราต้องตาย หนีความตายไม่พ้น นี่ต้องพิจารณาเตือนใจ เราจะอยู่ตลอดพรรษาหรือเปล่าก็ไม่รู้ มีอะไรที่จะต้องทำรีบทำเดี๋ยวนี้ทำทันที อย่าช้าอยู่เป็นอันขาด จึงจะเป็นการอยู่ที่ไม่ประมาท
แสดงมาก็พอสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอญาติโยมทั้งหลายได้มนสิการ หมายความว่าคิดไว้ในใจโดยแยบคายในเรื่องความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ทำกรรมใดไว้เรารับผลกรรมนั้น หนีไม่พ้นจงทั่วกัน ทุกท่าน ทุกคนเถิด สาธุๆ