แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านที่มีโอกาสมาวัด พึงตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
วันนี้อากาศครึ้มหน่อย แต่ก็มีแสงอาทิตย์ส่องลอดเมฆมาทำให้เราชื่นใจ ชื่นใจว่าฝนคงจะไม่ตกในตอนเช้า ก็ไม่ควรจะตกที่วัดชลประทานรังสฤษฏ์ เพราะเป็นวันที่คนมาวัด มาทำบุญ มาแสวงหาแสงสว่างทางธรรมะเป็นปกติประจำวัน ตกเมื่อคืนก็พอแล้ว วันนี้ไม่ต้องตกตอนเช้า ตกตอนบ่ายได้ พอโยมกลับบ้านแล้วก็ตกให้เต็มที่เลย โยมไม่ต้องกลัวว่าน้ำจะท่วมกรุงเทพ เพราะว่าฝนยังตกน้อย ทางภาคเหนือยังตกน้อย น้ำในอ่างเขื่อนภูมิพลอย่างน้อยรับน้ำได้อีกหลายล้านลูกบาศก์เมตร เท่าที่ตกมายังไม่พอ ตกมาเท่าใดก็เขื่อนรับหมด ไม่ลงมาถึงกรุงเทพ เว้นไว้แต่ฝนจะตกใต้เขื่อน แล้วก็น้ำไหลมา อยู่ภาคกลางอาจจะท่วมก็ได้ เรื่องนี้ไม่แน่มันสุดแล้วแต่ธรรมชาติ ดินฟ้าอากาศ เราจะไปบังคับให้เป็นอย่างนั้น ให้เป็นอย่างนี้ก็ไม่ได้ เพราะไม่ได้อยู่ในอำนาจของใคร อยู่ในอำนาจของธรรมชาติ ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงไปตามกฎเกณฑ์ของมัน เราจะไปขออย่างนั้น บังคับอย่างนี้มันก็ไม่ได้ สุดแล้วแต่มันจะเป็น เราก็ต้องทำใจ
ทำใจหมายความว่า ทำใจให้สบาย อย่าให้เป็นทุกข์เพราะฝนแล้ง อย่าเป็นทุกข์เพราะน้ำท่วม อย่าเป็นทุกข์เพราะอะไรๆ ที่มันเกิดขึ้นในโลก ในฐานะเป็นพุทธบริษัท เป็นผู้รู้ เป็นผู้ตื่น เป็นผู้มีความเบิกบานแจ่มใสในธรรมะของพระพุทธเจ้า เราก็ต้องพิจารณาว่าธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้ ธรรมดามันเป็นอย่างนี้ เราจะไปขัดขืนไม่ได้ แต่เราจะต้องทำใจของเราให้รู้ทันรู้เท่ากฎธรรมชาติ แล้วก็ไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะเรื่องนั้น เพราะเราเป็นทุกข์มันก็ไม่ได้หาย ฝนจะตกเราเป็นทุกข์มันก็ไม่หยุด อะไรมันจะเกิดเราเป็นทุกข์มันก็ต้องเกิดตามหน้าที่ของมัน เราไม่ต้องหวั่นไหวหวาดกลัวต่อสิ่งเหล่านั้น ทำจิตใจให้คงที่ ไม่ขึ้นไม่ลงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เราก็จะมีความเบาใจ โปร่งใจ ทำอะไรไปตามหน้าที่ของเราได้ ไม่ต้องวิตกกังวลในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง
ถ้าเรามาวัดในตอนเช้าวันอาทิตย์ เราก็ทำกิจเบื้องต้น คือ ไหว้พระ เขาเรียกว่า “ทำวัตร” ทำวัตร ก็หมายความว่า ทำกิจการประจำวันที่เคยทำ “วัตร” คือ กิจที่เราทำอยู่เป็นประจำ กิจวัตรในตอนเช้า กิจวัตรในตอนกลางวัน กิจวัตรในตอนเย็น เป็นกิจเป็นวัตร เป็นเรื่องที่เราทำเป็นประจำ ถ้าเรามาวัดวันอาทิตย์ที่วัดชลประทาน ก็มีการทำกิจเป็นประจำ ก็คือ ทำวัตรสวดมนต์ตอนเช้า คำสวดมนต์ตอนเช้านี่เป็นคำเตือนสะกิดใจให้เราเกิดความคิดในทางที่ถูกที่ชอบได้บ้าง ผู้ที่เขียนบทสวดมนต์นี้ ก็คือ ในหลวงรัชกาลที่ ๔
เพราะในหลวงรัชกาลที่ ๔ ท่านบวชนาน บวชอยู่ถึง ๒๗ ปี แล้วท่านก็เรียนภาษาบาลี มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องภาษาบาลีดีมาก ถามว่าจะเขียนคำเป็นภาษาบาลี เช่น เขียนเรื่องทำวัตรเช้า-เย็น เขียนอย่างไพเราะเพราะพริ้ง ไม่ได้เขียนจากคำธรรมดา แต่เขียนเป็นคำกาพย์เป็นคำฉันท์เอามาสวดแล้วก็คล่อง สบาย ท่านพุทธทาสแปลออกมาเป็นภาษาไทย เพื่อให้โยมที่ฟังสวดจะได้เข้าใจความหมาย สบายใจ สมัยก่อนไม่ได้สวดอย่างนี้ แต่สวดสรรเสริญพระพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ย่อๆ สั้นๆ แต่ว่าพระจอมเกล้าท่านบวช ท่านก็มองเห็นว่าควรจะพัฒนาอะไรๆ ให้ดีขึ้นตามสมควรแก่ฐานะ เพราะท่านอยู่วัด ท่านก็เห็นว่าในวัดควรจะมีการเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงก็จะไม่เกิดความเจริญก้าวหน้า ท่านจึงตั้งใจศึกษาภาษาบาลีจนมีความรู้แตกฉาน แล้วก็เขียนอะไรไว้เยอะ เป็นเครื่องแสดงผลของการค้นคว้าในด้านภาษาบาลี เป็นประโยชน์แก่ชาวพุทธอยู่ในปัจจุบันนี้
เราทั้งหลายมาวัดในวันอาทิตย์ก็ได้เอามาสวด มาตอนเย็นก็สวดมนต์ตอนเย็น คำสวดมนต์ตอนเช้ากับคำสวดมนต์ตอนเย็นนั้นแตกต่างกัน มีความหมายไม่เหมือนกัน แต่ว่าในตอนเช้ามีความหมายลึกซึ้ง เป็นเครื่องเตือนใจให้เราได้พิจารณากฎเกณฑ์ของธรรมชาติว่ามันมีสภาพอย่างไร เริ่มต้นด้วยการบูชาพระรัตนตรัย เราก็สวดว่า
“อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันต์ ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง
พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ ข้าพเจ้าอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน”
เรียกว่าสวดแล้วก็แปล มีความหมายไปในตัว เช่นว่า “อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา” ก็แปลว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า คำว่า “ภควา” แปลเป็นไทยว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ชาวอินเดียเรียกพระพุทธเจ้าว่า “ภควันต์” ภควันพุทธะ เขามาหาพระพุทธเจ้า เขาก็จะพูดว่า “ภควันต์พุทธะ” แล้วก็ถามเรื่องนั้นเรื่องนี้ เขายกย่องคำว่า “ภควันต์” นี้เป็นคำยกย่อง แปลว่า “ผู้จำแนกแจกธรรม ผู้มีความกรุณาปราณีต่อชาวโลกทั้งหลาย” จนได้นามว่า “ภควา หรือ ภควันต์” เป็นคำที่ใช้ชื่อเรียกคุณธรรมของพระองค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันต์ คำว่า “อรหันต์” แปลว่า ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง “เพลิงกิเลส” ก็คือ ความร้อนที่เกิดจากกิเลส ความร้อนที่เกิดจากความโลภ เกิดจากความโกรธ เกิดจากความหลง ที่มาเผาใจเราให้เร่าร้อน
กิเลสเป็นของร้อน เป็นไฟ ไฟในอกเผาเราให้ร้อน ไฟข้างนอกมันเกิดจากไฟข้างใน ถ้าไม่มีไฟข้างใน ไฟข้างนอกก็จะไม่เกิด เช่น การเผาบ้านเรือน เผาป่าเผาดง อะไรต่างๆ ก็เพราะไฟข้างใน คือ ไฟโลภบ้าง ไฟโกรธบ้าง ไฟหลงบ้าง “ไฟโลภ” ก็คืออยากได้สิ่งของที่อยู่ในป่า จุดไฟแล้วมันจะได้วิ่ง วิ่งแล้วจะได้ยิงตามชอบใจ แต่เผาป่าเพราะความโลภ หากเพราะความโกรธก็มี ทำลายสิ่งนั้นสิ่งนี้ เพราะความโกรธ ทำลายเพราะความหลงคือไม่รู้ว่าป่าเป็นประโยชน์อย่างไร เราควรจะรักษาป่าไว้ จะได้ประโยชน์อย่างไร ไม่รู้ไม่เข้าใจก็เพราะความหลง ไฟที่เกิดขึ้นในใจมันมีมาก “ไฟราคะคือความกำหนัด ไฟโทสะคือความประทุษร้าย ไฟโมหะก็คือความหลง ไฟพยาบาทคืออาฆาตจองเวร” เจ็บแค้นอยู่ในใจ ไม่รู้จักดับ ไม่รู้จักปล่อย คิดครุ่นอยู่ตลอดเวลาว่าคนนั้นมาด่าเรา มาตีเรา มาลักของเรา มันทำเราให้เสียหาย เราจะต้องแก้แค้นให้สาสม นี่คือกิเลส มันเผาลนจิตใจ ทำให้คนนั้นนอนไม่หลับ กระสับกระส่าย แล้วก็มีความครุ่นคิดที่จะไปแก้แค้นกัน โลกมันจะสงบไม่ได้ถ้าเราคิดแก้แค้นกัน
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “เวรไม่เคยระงับด้วยการจองเวร แต่จะระงับได้ด้วยการไม่ผูกเวร” “ไม่ผูกเวร” ก็หมายความว่า ให้อภัยแก่กันและกัน ไม่ถือโทษ ไม่โกรธตอบแก่กัน รู้จักให้อภัย แต่ชาวโลกไม่ค่อยจะให้อภัยกัน มักจะมีความโกรธ ความเกลียดกันอยู่ตลอดเวลา แล้วก็ไม่ได้ให้อภัย แล้วการสอนประวัติศาสตร์สอนให้คนเกลียดกัน ให้คนโกรธกัน ขุดคุ้ยกันมาสอน เช่น เราสอนประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา เวลาสอนก็สอนด้วยอารมณ์ แล้วก็ใส่ความโกรธความเกลียดเข้าไป ทำให้ผู้ฟังเจ็บแค้น โกรธพม่า พม่าที่มาเผากรุงศรีอยุธยามันตายหมดแล้ว ไอ้ที่เหลืออยู่ในปัจจุบันนี่ไม่รู้เรื่อง ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นอะไร เราจะไปเกลียดเขาทำไม จะไปโกรธเขาทำไม ถ้าเราไปเกลียดเขาก็เผาตัวเอง ไปโกรธเขาก็เหมือนกับเผาตัวเอง ทำตัวเองให้ร้อนเปล่าๆ มันไม่ได้เรื่องอะไรเพราะท่านสอนไม่ให้โกรธ ไม่ให้เกลียด แต่สอนให้แผ่เมตตา ให้เอ็นดูคนเหล่านั้นว่าเขาหลงผิด เขาเข้าใจผิด เขาถูกความชั่วครอบงำจิตใจ แล้วจึงกระทำความผิด ความชั่ว เราไม่ควรจะโกรธเขา แต่เราควรจะสงสารเขา มีทางใดที่จะช่วยให้เขาหายโกรธหายเกลียด หายพยาบาทอาฆาตจองเวร เราก็จะทำทางอย่างนั้น หันหน้าเข้าหากัน ปรองดองกัน สามัคคีกันก็จะได้ประโยชน์
การรบกันมันไม่ได้อะไร ดูประเทศเขมรรบกันที นายฮุนเซ็นกับนายรณฤทธิ์นโรดมรบกันไป ไอ้ตัวหัวหน้ามันนั่งสบายอยู่ในห้องแอร์ แต่ทหารไปทรมานตนอยู่ในป่า เป็นไข้มาเลเรียให้ยุงกัด แล้วก็ไปรบ รบกันเองอีก รบกับพวกเดียวกัน ถ้าไม่โง่แล้วมันจะทำได้ยังไง นั่นแหละเพราะความโง่ โมหะ ตัวโมหะครอบงำจิตใจจึงได้กระทำอย่างนั้น เป็นเรื่องที่ควรจะชี้ให้คนเห็น เช่นว่าสอนนักเรียนให้เห็นว่า นี่แหละคือความโง่ มารบกันเอง มาทำลายบ้านเอง ทำลายสถานที่ของบ้าน ทำลายความก้าวหน้าของชาติบ้านเมือง ทุกคนควรจะช่วยกันสร้างชาติ ช่วยกันสร้างบ้านเมือง แล้วก็ไม่สร้าง แต่มาช่วยกันทำลาย อย่างนี้มันถูกไหม มันไม่ถูกมันเสียหาย แต่คนเหล่านั้นมันคิดไม่ได้ พอเลือดเข้าตา “เลือดเข้าตา” ก็คือมองอะไรไม่เห็น มันคิดจะฆ่าจะทำร้ายคนอื่นเพราะกิเลสครอบงำจิตใจ ให้เราพิจารณาเห็นโทษของกิเลสที่เกิดขึ้นในจิตใจคน แล้วทำคนให้มืดให้บอดด้วยประการต่างๆ
คนเราถ้าอยู่ดีๆ ก็ไม่โกรธใคร ไม่เกลียดใคร ไม่พยาบาทอาฆาตจองเวรต่อใคร ใจสงบ สว่าง มีปัญญา แต่พอเกิดอะไรขึ้นมันมืดมันบอด มันหลงเข้าใจผิด แล้วก็คิดผิด พูดผิด ทำผิด ส่งเสริมแต่ความชั่วความผิดด้วยประการต่างๆ เหตุเกิดปัญหาคนที่กำลังรบกันอยู่นั้น ถ้าเราพูดไม่เกรงใจ เราพูดว่ามันโง่ ทุกข์ทั้งสองฝ่าย พวกที่ตีรันฟันแทงมันโง่ทั้งสองฝ่าย โง่นะมันเป็นอะไร โง่ก็เป็นสัตว์เดียรัจฉานนะ ที่เราเรียกว่าเดียรัจฉาน “เดียรัจฉาน” นั้นคือความโง่ นั่นเอง เวลาใดเราโง่เราก็เป็นสัตว์เดียรัจฉาน ถ้าเราพ้นจากความโง่ก็พ้นจากภาวะของสัตว์เดียรัจฉาน เรากลายเป็นมนุษย์ผู้มีใจสูง มีใจดีใจงาม คิดเรื่องดี พูดเรื่องดี ทำเรื่องดี คบหาสมาคมกับคนดี ไปสู่ที่ดีๆ มันก็มีแต่ความสุขความเจริญ ไม่มีความเสื่อม ไม่มีความเสียหาย เราที่เป็นคนไทยนับถือพระพุทธศาสนาควรจะช่วยกันส่งเสริมแนวนี้ ควรจะช่วยกันสร้างสรรค์ พูดให้คนรักกันให้คนพอใจกัน ให้หันหน้าเข้าหากัน ยิ้มแย้มแจ่มใส พูดจากันด้วยภาษาดอกไม้ อย่าพูดกันด้วยภาษาอมสิ่งสกปรกไว้ในปากแล้วก็พ่นออกมา มันก็เหม็นกันไปทั้งสองฝ่าย ไม่ได้เรื่องอะไร มันเป็นอย่างนั้น
พระพุทธเจ้าเป็นบุคคลผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยความกรุณา จึงได้นามสมัญญาว่า “ภควา” ที่เราสวดว่า “อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา” คือเป็นผู้ยิ่งด้วยความกรุณา สงสารคนที่ลำบาก ทนไม่ได้เมื่อเห็นชาวโลกลำบากเดือดร้อนก็หาทางช่วยเหลือ การจะช่วยคนนั้นจะช่วยอย่างไร ถ้าพระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดินก็ครองแคว้นเล็กๆ อยู่ในประเทศอินเดีย ประเทศอินเดียนี่มันกว้างใหญ่ไพศาล แล้วก็มีรัฐเล็กรัฐน้อย หากแคว้นศากยะอยู่ติดเขาหิมาลัย ไม่ได้ใหญ่โตมโหฬารอะไร เป็นรัฐเล็กๆ อยู่ในความดูแลของรัฐโกศล ซึ่งมีนครสาวัตถีเป็นเมืองนครหลวง ศากยะขึ้นอยู่กับรัฐโกศล อันนี้พระพุทธเจ้าบอกเอง บอกว่า “เราเกิดในศากยะสกุลโดยมีเมืองหลวงชื่อกบิลพัสดุ์ เป็นเมืองออกของโกศล” พระองค์บอกเอง บอกว่า “เป็นเมืองพ่อ หมายความว่าเป็นรัฐอยู่ในความปกครองดูแลของพระเจ้าโกศล แต่ว่าพวกศากยะมีสิทธิเสรีภาพในการทำอะไรได้ทุกอย่าง ไม่มีใครไปบังคับอะไร แต่ว่าอยู่ในความดูแลถ้ามีข้าศึกมารุกราน พระเจ้าโกศลก็ต้องไปช่วยเหลือขับไล่ข้าศึกให้พ้นภัย” เป็นอยู่อย่างนั้นถ้าพระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดินก็เป็นพระเจ้าแผ่นดินรัฐเล็กๆ จะช่วยอะไรได้ ช่วยใครก็ไม่ได้ เพราะการเป็นพระเจ้าแผ่นดินนั้นจะไปช่วยคนในรัฐอื่นก็ไม่ได้ เขาหาว่าล่วงล้ำอธิปไตยก็จะเกิดเรื่องเกิดราวกันขึ้นเสียหาย
ทำอย่างไรจึงจะช่วยเหลือคนได้มากโดยไม่มีข้อขีดคั่น ก็มองเห็นว่าเป็นนักบวชไปเลยดี เพราะนักบวชได้รับเกียรติจากทุกชาติ ทุกภาษา เข้าไปประเทศไหนเขาก็ไม่ว่า มีเสรีภาพที่จะเดินไปทุกแห่ง มีสิทธิที่จะไปสอนคนได้ทั่วทุกชั้น ทุกตำบล ทุกตำแหน่งแห่งที่ จึงตัดสินพระทัยออกบวช การออกบวชของเจ้าชายสิทธัตถะไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย แต่เป็นเรื่องใหญ่โตมาก ให้เราคิดถึงตัวเราแต่ละคนถ้าเราอยู่กรุงเทพ ถ้าเขาย้ายไปหัวเมืองชอบใจไหม ถ้าเขาย้ายไปอยู่ในจังหวัดที่กันดาร เช่น ย้ายไปแม่ฮ่องสอน ไปแม่สอด ไปอยู่นครไทย พอใจไหม สมัยก่อนย้ายไปเพชรบูรณ์ก็ซื้อหม้อ หม้อดินไปด้วยเอาผ้าขาวไปด้วย จะได้ใส่กระดูกกลับบ้าน เพราะเมืองเพชรบูรณ์เต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บ ไข้มาเลเรียชุม ใครไปอยู่นั้นก็พุงป่อง ท้องเขียว เป็นมาเลเรียแล้วมีหวังจะตายกันทั้งนั้น ไม่มีใครอยากไปเพราะลำบาก แต่เดี๋ยวนี้ที่เพชรบูรณ์ไม่มีอะไร สบายดีแล้ว คนไม่เครียด ไปได้ นี่แสดงให้เห็นว่าคนทั่วไปติดความสุข ติดความสบาย ติดความเป็นใหญ่ ติดอำนาจที่เขามอบให้ ถ้าทำงานอยู่กระทรวงนี้แล้วก็ย้ายไปกระทรวงอื่นก็ไม่ชอบใจ เดินออกจากกระทรวงด้วยหน้านิ่วคิ้วขมวด อ่อ! มันย้ายกูอีกแล้ว ก็ต้องไปตั้งต้นกระทรวงใหม่ ไม่พอใจ
แต่ว่าเจ้าชายสิทธัตถะท่านอยู่อย่างสบาย คือ นอนสบาย นั่งสบาย กินสบาย สบายทุกอย่างเพราะปราสาทที่อยู่มีตั้ง ๓ หลัง หลังหนึ่งเหมาะแก่ฤดูร้อนเข้าไปแล้วเย็นสบาย หลังหนึ่งสำหรับฤดูหนาวเข้าไปแล้วมีความอบอุ่น มีไฟทำให้อบอุ่น หลังหนึ่งสำหรับฤดูฝนเข้าไปแล้วก็ไม่ชื้น สะดวกสบาย ในปราสาทเหล่านั้นมีคนรับใช้ เอ่ยปากจะเอาอะไรก็ได้ทุกอย่าง คำว่าไม่มีไม่ได้ ไม่เคยได้ยิน เพราะมีคนคอยเอาอกเอาใจ มีคนรับใช้ใกล้ชิดช่วยเหลือทุกประการ เป็นอยู่อย่างนั้น ถ้าเป็นเราๆ ท่านๆ ก็คงจะไม่ไปไหนแล้ว เขาเรียกว่าจมปลัก จมปลักแก่ความสุข เมาความสุข เมาความสบาย ไม่ไปไหน แต่เจ้าชายสิทธัตถะมีจิตใจไม่เหมือนใครทั้งหลาย ท่านหาชอบ ท่านหาได้ชอบในความสบายนั้นไม่ เพราะท่านมองเห็นความทุกข์ของชาวบ้าน ท่านออกไปชมบ้านชมเมืองได้เห็นคนแก่ ได้เห็นคนเจ็บไข้ไม่มีใครรักษา ได้เห็นคนตาย ญาติร้องไห้ฟูมฟาย สยายผมเดินตามศพ แล้วก็ได้เห็นนักบวช พอได้เห็นนักบวช ตัดสินพระทัยว่า “สาธุ โข บรรพชา” แปลว่า บวชดี บวชเข้าทีแน่ เลยตัดสินพระทัยว่าจะต้องออกบวช
วันนั้นคือนั่งอยู่ในสวนหลังปราสาท ชมนกชมไม้ ดูปลาในสระ ดูนกบินไปในอากาศ ดูสัตว์เลื้อยคลานที่มันคอยรังแกกัน เบียดเบียนกัน ไม่ค่อยจะเรียบร้อย นั่งดูไปคิดไป นึกไปว่าจะทำอย่างไรให้ชาวโลกไม่ต้องเบียดเบียนกัน ให้รักกัน สามัคคีกันฉันท์พี่น้อง คิดอ่าน พอตอนเย็นพอดีกับพระนางพิมพาพระมเหสีคลอดลูกเป็นผู้ชาย พวกข้าราชการที่????? (24.00 ฟังเสียงหลวงพ่อได้ไม่ชัดเจน) ก็ไปกราบทูลเจ้าชายที่ในสวน ไปกราบทูลว่าเวลานี้พระนางพิมพาคลอดลูกแล้วเป็นผู้ชาย ท่านก็ได้พูดออกมาว่า “ราหุโล อุปปันโน” ราหุโล อุปปันโน แปลว่า บ่วงเกิดแล้ว บ่วงเกิดแล้ว พูดออกมาอย่างนั้นพวกอำมาตย์ได้ยินก็นึกว่าเจ้าชายสิทธัตถะตั้งชื่อลูกชายว่า”ราหุล” เลยเอาไปตั้งชื่อลูกชายว่า”ราหุล” ราหุล แปลว่าบ่วง
คนเราโดยทั่วไปมีบ่วงผูกคอ ผูกมือ ผูกเท้า เวลาเขาตราสังข์ศพ อาบน้ำศพเสร็จแล้วเขาเอาเชือกมัดคอ แล้วก็มัดมือไว้อย่างนี้ถือดอกไม้ไปด้วย แล้วก็ไปมัดเท้า มัด ๓ รอบ มัดทำไม กลัวศพจะหนีออกจากโลงจะมัดกันไปเรื่อยนะไม่ใช่ เขามัดไว้เป็นบทเรียน เป็นเครื่องสอนใจคนให้รู้ว่าคนเรานั้นมันถูกบ่วง ๓ บ่วงมัดอยู่ บ่วงแรกผูกคอคือบุตรธิดา บ่วงสองผูกข้อมือคือสามีภรรยาผูกไว้ไม่ให้ไปไหน บ่วงที่ผูกเท้าหมายถึงทรัพย์สมบัติ บ้านช่อง สังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์เท่าที่เรามีเราได้ มันก็ผูกไว้ ไปไหนไม่ได้ บางคนจะมาวัดก็มาไม่ได้เพราะเป็นห่วงบ้าน ไม่มีคนเฝ้าบ้าน กลัวแขกผู้เที่ยวหาบ้านมันจะมาอยู่แทน ไม่อยู่มันก็จะมาขนของไปใช้ ครัวข้างบน นี่ก็เป็นบ่วงมัดอยู่ ทำให้เกิดความวิตก เกิดความกังวล เกิดความไม่สบายใจ ยิ่งในสมัยนี้แล้วกลัวกันมากเพราะขโมยชักจะมากขึ้น เศรษฐกิจมันตกต่ำ คนตกงาน ไม่มีงานทำ ก็เลยทำงานเป็นขโมย ไปเที่ยวงัดบ้านนั้นงัดบ้านนี้ ลักเครื่องมือเครื่องใช้ไปขาย คนก็กลัว นี่เป็นบ่วงทั้งนั้น บ่วงอย่างนี้ท่านจึงให้ชื่อลูกชายว่า “ราหุล” ไม่ได้ตั้งใจแต่บ่นออกมาว่า บ่วงเกิดแล้ว คือบ่วงผูกคอเกิดแล้ว แต่ว่าก็ไปตั้งชื่อลูกชายว่า “ราหุล”
ตอนเย็นนั้นท่านก็ขี่ม้ากลับวัง เข้าไปในวังก็ไปนั่งอยู่ในห้องโถงใหญ่ นั่งบนเก้าอี้ แต่ห้องโถงใหญ่เป็นห้องฟ้อนรำ พวกสาวสนมทั้งหลายมีหน้าที่ร้องเพลง มีหน้าที่ฟ้อนรำ พวกเราเคยดูหนังอินเดียไหม หนังอินเดียนี่เขาทำหนังมาครบ ๑๐๐ ปีแล้ว เมื่อคืนช่อง ๑๑ เขาเอามาฉายว่าประเทศอินเดียทำหนังมาครบร้อยปี เล่ามาตั้งแต่เริ่มต้นจนบัดนี้ เขาเจริญ เขาทำหนังดีๆ มาก มีเรื่องเป็นคติสอนใจ คนดูแล้วได้คติธรรม ไม่ใช่หนังประเภทเขาเรียกว่าหนังที่แปดเปื้อน หนังน้ำเน่า อินเดียไม่ทำหนังประเภทน้ำเน่า แต่ทำหนังเป็นคติสอนใจ เรื่องดีๆ ก็เอามาจากชาดกบ้าง เอามาจากนิทานเก่าๆ ของอินเดียบ้าง เอามาทำเป็นหนัง เช่น เรื่องท้าวอริสจัน เอามาทำเป็นหนัง ท้าวอริสจันนี่เป็นกษัตริย์ผู้ซื่อสัตย์ รักษาคำสัตย์ แล้วก็ไปพนันกับกษัตริย์อีกเมืองหนึ่ง เล่นสกาพนันกัน พนันเมืองกันเลย ถ้าหากว่าท้าวอริสจันแพ้ยกเมืองให้เลย เหลือแต่ตัวออกจากวังไป ไม่ได้เอาอะไรไปนอกจากผ้านุ่งผืนเดียวเท่านั้น นอกนั้นทิ้งหมดถ้าแพ้ แพ้จริงๆ เล่นคราวนั้นแพ้ พอแพ้ก็ต้องออกจากวัง บอกข้าราชการทั้งหลายว่าฉันแพ้เขาแล้ว ฉันต้องไปตามสัญญา พวกข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนก็บอกว่าแพ้คือพนัน ไม่ต้องเสียอะไรก็ได้ เพราะไม่มีพันธะผูกมัดอะไร ท่านบอกไม่ได้ ทำอย่างนั้นไม่ได้ เรามันเป็นกษัตริย์ต้องรักษาความเป็นสัจจะ ความจริงไว้ เพราะฉะนั้นอย่าคิดต่อสู้ อย่าคิดบิดพลิ้ว มันเสียสัจจะ เราต้องไปตามสัญญา แล้วท่านก็ออกไปป่า ไปผู้เดียว ไม่มีบริวาร ไม่มีคนรับใช้ ไปอยู่ในป่าคนเดียว กินรากไม้ ผลไม้ ใบไม้ ไปตามเรื่อง บำเพ็ญตนเป็นฤๅษีชีไพร
หนังเรื่องนี้เขาเคยแสดงเป็นละคร แล้วก็มหาตมะคานธีสมัยเป็นเด็กวัยรุ่นไปดู ดูแล้วแกชอบใจมาก แกบอกว่าถ้าชาวโลกมีความซื่อสัตย์ต่อกัน การคดโกงกันก็ไม่มี การทะเลาะเบาะแว้งกันก็จะไม่มี สังคมก็จะอยู่เย็นเป็นสุข พ้นทุกข์พ้นร้อน แล้วแกตั้งจิตอธิษฐานว่าต่อแต่นี้ไปข้าพเจ้าจะอยู่ด้วยความสัตย์ ด้วยความซื่อสัตย์ ใครจะมาขอร้องให้กระทำในสิ่งที่ผิดจากอุดมการณ์ไม่ยอม กระทั่งยอมเสียสละชีวิต ทรัพย์สมบัติ เพื่อรักษาความสัตย์ เพราะดูหนังดูละครแล้วได้คติสอนใจ เรื่องหนังอินเดียดีแต่เดี๋ยวนี้ไม่เข้าใจ ไม่ได้เอามาฉายให้เด็กดู มีแต่หนังฝรั่ง หนังไทย หนังไทยเราก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ มีแต่เรื่องโลดโผน เรื่องยิงกันสนั่นป่า เรื่องโจรผู้ร้าย ดูแล้วมันก็จิตใจฟุ้งซ่านอยากจะเป็นโจรไป หนังฝรั่งก็เหมือนกัน ไม่ค่อยมีคติสอนใจเท่าใด คิดทำให้มันสนุก โป๊ แล้วก็อนาจารด้วยประการต่างๆ มอมเมาประชาชนด้วยราคะ-ความกำหนัด โทสะ-ความประทุษร้าย โมหะ-ความหลง ความงมงาย ไม่ถูกต้อง ทำให้กิเลสมากขึ้น ชาวโลกเราปกติมันก็แพ้กิเลสอยู่แล้ว อันนี้ไปส่งเสริมความแพ้ มันก็แพ้ใหญ่เข้าไป เราจึงต้องหาวิธีห้ามล้อจิตใจไม่ให้ไหลเลื่อนไปสู่ความตกต่ำ เลวเกินไป จึงจะใช้ได้ เป็นอย่างนั้น
ทีนี้ก็พระพุทธเจ้าท่านออกบวช หนี ทิ้งลูกชายทิ้งแม่ไว้ บางคนอาจจะมองว่าเจ้าชายสิทธัตถะนี่ไม่ดี บางคนมองอย่างนั้นว่าไม่ดี ไม่ดียังไง ก็มีลูกแล้วไม่เลี้ยงลูก ทิ้งลูกทิ้งเมียไปอยู่ในป่า อย่างนี้ก็เป็นการไม่ถูกต้อง บอกว่าไม่ใช่เช่นนั้น เจ้าชายสิทธัตถะเสียสละประโยชน์ส่วนน้อยแต่ไปทำประโยชน์ส่วนใหญ่ ประโยชน์ส่วนน้อยคือประโยชน์เฉพาะพระองค์ เฉพาะครอบครัว เป็นประโยชน์ส่วนน้อย แต่ออกไปแสวงหาธรรมะเป็นประโยชน์แก่โลกอย่างกว้างขวาง ผลงานที่พระองค์ได้ทรงกระทำเหลือมาจนบัดนี้ ๒๕๔๐ ปีแล้ว งานยังไม่สูญไม่หายไปไหน ถ้าพระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดินไม่มีใครรู้จักแล้ว เป็นพระเจ้าแผ่นดินแคว้นเล็กๆ ใครจะรู้จักใครจะสนใจ แล้วทำประโยชน์อะไรได้นักหนา ถ้าเขาคิดเห็นว่าเราเกิดมาชาติหนึ่ง เกิดแล้วก็แก่ เจ็บ ตาย ถ้าไม่ได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์แก่โลกก็เสียชาติเกิด พระองค์คิดอย่างนั้น เราจะไม่เหมือนใครอื่นที่เขาเกิดมาแล้วก็ตายไป เกิดมาแล้วก็ตายไป เราจะไม่เป็นเช่นคนเหล่านั้น แต่เราจะทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่ชาวโลกให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เป็นการตัดสินใจเสียสละ เขาเรียกว่า “มหาภิเนษกรมณ์”
“มหาภิเนษกรมณ์” หมายความว่า ออกไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่ชาวโลกทั้งหลาย ด้วยการไปหาธรรมะเอามาสอนชาวโลก พระองค์จึงทิ้งทรัพย์สมบัติ ลูกเมีย ความเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ทิ้งหมด ไม่เหลียวแลเลยแม้แต่น้อย แล้วก็ไปขี่ม้ากัณฐกะซึ่งเป็นม้าฝีเท้าดี ให้นายฉันนะเตรียมให้ แล้วก็ขี่ม้าออกกลางคืน ออกทางประตูเมืองเขามีกำแพง นายประตูนั่งหลับสัปหงก อา! นึกแล้วสิ หลับซะบ้าง ก็เลยถอดกลอนเปิดประตูพอม้าออกได้ พ้นกำแพงก็ควบฝ่าความมืด แต่ว่าเป็นคืนข้างแรมพระจันทร์ส่องแสงสว่าง การเดินทางได้สะดวกสบายจนพ้นเขตพวกศากยะไปถึงแม่น้ำอโนมานที ถามนายฉันนะว่าแม่น้ำนี้ชื่ออะไร ฉันนะบอกว่าชื่ออโนมาน “อโนมาน” แปลว่าหาที่เปรียบไม่ได้ พระองค์บอกว่าการมาครั้งนี้เป็นการมาที่หาที่เปรียบไม่ได้ คือ ไม่รู้จะเปรียบกับอะไร มันยิ่งใหญ่แล้วก็ถอดเครื่องทรงเครื่องประดับทั้งหมดมอบฉันนะ เธอกลับวังพร้อมม้า เอาเครื่องเหล่านี้ไปให้พระบิดาด้วย แล้วก็บอกพระบิดาว่าเจ้าชายสิทธัตถะไม่มีในโลกแล้ว เวลานี้ไม่มีเจ้าชายสิทธัตถะแล้ว มีแต่นักบวชชื่อโคตมะ ใช้นามสกุลว่าโคตมะ เราจะไปแสวงหาธรรม เมื่อเราสำเร็จเมื่อใดจะกลับมาเยี่ยมครอบครัว มาเยี่ยมคุณพ่อคุณแม่และญาติทั้งหลายต่อไป ขออย่าให้ทุกคนได้เป็นห่วงเพราะเราจะไปทำกิจอันยิ่งใหญ่ที่เป็นประโยชน์แก่ชาวโลกสิ้นกาลนาน
นายฉันนะก็กลับช่วยนำทางคือไม่อยากจะทิ้งเจ้าชายไป เพราะว่าอยู่กับเจ้าชายมานานเคยรับใช้ใกล้ชิดมาตั้งแต่เด็ก เป็นหนุ่ม จนกระทั่งอายุ ๒๙ ปีออกบวช แกก็คิดถึงเป็นธรรมดา ไม่อยากจะไป แต่ก็ต้องไป ต้องกลับ กลับเพื่อนำทาง จูงม้ากลับไป เจ้าชายก็อยู่ผู้เดียวพักอยู่ที่นั่น ๗ วัน แล้วก็เดินทางต่อไปเข้าเขตราชคฤห์ เมืองราชคฤห์เป็นนครใหญ่ พระเจ้าพิมพิสารเป็นพระราชา เป็นที่ประชุมของเจ้าลัทธิ อาจารย์ผู้มีความรู้มีความเข้าใจอยู่บ้างในแคว้นนั้น พระองค์ก็ต้องไปที่นั่นเพื่อไปศึกษาหาความรู้ความเข้าใจจากครูบาอาจารย์ทั้งหลายเหล่านั้น เพื่อจะให้รู้ว่าเขาเรียนอะไร เขาทำอะไร แล้วผลที่ได้รับเป็นอย่างไรจึงได้ไปที่นั่น แสวงหาธรรมะก็ไปปฏิบัติเป็นลูกศิษย์ที่ดีของอาจารย์ ไม่ว่าไปอยู่กับใครท่านเป็นลูกศิษย์ที่ดี ศิษย์ที่ดีคือที่อ่อนน้อม เชื่อฟังคำสั่งครูบาอาจารย์ หนูๆ นักเรียนจำไว้ด้วย ว่าเราต้องเป็นศิษย์ที่ดีของครู เชื่อฟังคำสั่งคำสอน ตั้งใจเรียนตั้งใจศึกษา ไม่เกเร ไม่เกะกะ ไม่ประพฤติตนนอกหน้าที่ ไม่ไปเที่ยวเล่นสนุกสนาน ไม่ไปเดินสวนสนามตามซุปเปอร์มาร์เก็ต แล้วก็ไม่เรียนหนังสือจนกระทั่งเย็นก็กลับบ้าน เป็นการหลอกลวงคุณพ่อคุณแม่ว่าลูกไปโรงเรียนแต่มันไม่ถึงโรงเรียน ไปเดินเล่นอยู่ในร้านซุปเปอร์มาร์เก็ตเลยไม่มีความรู้ สอบไล่ไม่ได้ เป็นการทำลายตัวเอง ทำลายจิตใจพ่อแม่ เพราะพ่อแม่อยากเห็นลูกเจริญก้าวหน้าในการศึกษา สิ้นปีสอบได้ คุณพ่อคุณแม่อยากฟังข่าวว่าลูกสอบไล่ได้คะแนนดี แต่ถ้าได้ทราบข่าวว่าลูกสอบตกแม่ใจหายเลย ใจหาย เฮ้อ! ลูกของฉันทำไมถึงสอบตก ลูกของฉันคงขี้เกียจ ไม่มีความขยัน ไม่เอาใจใส่ ไม่คิดไม่ค้นในเรื่องเล่าเรียนเขียนอ่านจึงสอบไล่ตก
พ่อแม่เป็นทุกข์เพราะพ่อแม่นั่นมีความรักลูกมาก รักลูกจนไม่รู้ว่าจะเขียนเป็นหนังสือได้สักเท่าใด ไม่รู้จะพูดออกมาได้อย่างไรว่ามีความรักลูกขนาดไหน หวังดีต่อลูกขนาดไหน แต่ว่าลูกบางทีก็ลืมไป ลืมไป นึกแต่ว่าคุณแม่ต้องให้สตางค์หนู ต้องให้เสื้อผ้าแก่หนู หนูอยากได้อะไรขอคุณแม่ต้องให้ คิดอย่างนั้นคิดแต่จะขู่เข็ญจะเอาสตางค์จากพ่อแม่ ถ้าไม่ได้ก็เดินลงส้น กระฟัดกระเฟียด ตีอกชกหัว เสียอกเสียใจ อย่างนี้มันไม่ถูกต้องเราอย่าทำอย่างนั้นกับพ่อแม่ เป็นบาปเป็นโทษ เป็นบาปแก่ตัวติดตัวไป เมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่กลายเป็นคนที่ไม่ดีไม่งาม ไม่มีความรู้ไม่มีความสามารถแล้วจะเลี้ยงตัวได้อย่างไร
ต่อไปนี้บ้านเมืองมันเจริญก้าวหน้า เขาต้องการแต่คนมีวิชา มีความสามารถ และมีความประพฤติดีด้วย มีวิชาอย่างเดียวไม่พอต้องรู้จักใช้วิชา คือมีความสามารถ และถ้ามีความรู้มีความสามารถ แต่ความประพฤติเหลวไหล สถานการณ์ไหนเขาก็ไม่ต้องการ เขาต้องการคนที่มีความประพฤติดีประพฤติชอบ อยู่ในศีลในธรรมเขาอยากได้ ได้มาแล้วเขาไม่อยากให้ไปไหน เขาอยากให้อยู่ทำงานในสำนักงานนั้นต่อไป ถ้าเราดีนะไม่ต้องตกใจคนเขาต้องการ ต้องการคนดีคนมีความรู้ คนมีความสามารถไว้ในสำนักงาน แต่ถ้าเราไม่มีความรู้ไม่มีความสามารถ ขาดความประพฤติดี เป็นคนไร้ค่า ใครเป็นคนลดค่าให้เรา เราลดของเราเอง เราลดเพราะความไม่รู้ไม่เข้าใจ เราหลงใหลเราเพลิดเพลินกับแสงสีที่มีอยู่มากมายล้วนแต่เป็นสิ่งที่เรียกว่า “มายา” ของหลอกลวง ไม่ใช่ของจริงของแท้ ถ้าเราหลงใหลเรากับสิ่งนั้นเราก็เพลินไปกับสิ่งนั้น ไม่คิดถึงหน้าที่ ไม่ได้นึกว่าเรามีหน้าที่อะไร เมื่อน้อยต้องเรียนวิชา โตขึ้นมาต้องหาทรัพย์จึงจะถูกต้อง แต่เมื่อน้อยไม่เรียนวิชา โตขึ้นก็ไม่รู้เอาอะไรไปหา กลายเป็นคนลำบากยากแค้น
บางคนเกิดในสกุลที่พ่อแม่มีสตางค์ สามารถจะส่งลูกไปเรียนเมืองนอกได้ แต่มันเรียนไม่เอาไหนก็เป็นความผิดของพ่อแม่ด้วยนั่นแหละ คือไม่ได้แนะนำพร่ำเตือน เลี้ยงลูกด้วยเงิน ลูกขอเงินก็ให้ไปเลย ๑๐๐ บาท ๒๐๐ บาท ไม่ได้คิดว่าเงินมันจะทำร้ายลูก จะทำลายลูก เขาเรียกว่าเอาเงินทำลายลูกไม่ได้????? (42.35 ฟังเสียงหลวงพ่อได้ไม่ชัดเจน) ลูกอย่างนั้น เด็กก็ไม่ก้าวหน้า เพราะก็นึกว่า เฮ้ย! สบาย แบมือขอได้ทีละมากๆ คุณแม่ให้เราไม่ลำบากเลยไม่เรียนหนังสือ ไม่ขยัน ไม่เอาใจใส่ในวิชาการ โตขึ้นก็เป็นคนโง่เง่าทำอะไรไม่เป็น ทรัพย์สมบัติพ่อแม่มีก็กินมีใช้จนหมดจนสิ้นกลายเป็นคนล้มละลาย ลำบากเดือดร้อน ต้องมาหาข้าวในวัดกินทุกวันๆ อย่างนี้มันก็แย่ เราอย่าเป็นคนเช่นนั้น ทั้งหญิงทั้งชายอย่าเป็นคนเช่นนั้น แต่เราต้องบอกตัวเองว่าฉันจะอยู่อย่างคนมีค่า บอกตัวเองปลุกใจตัวเองทุกวันๆ ว่าฉันจะอยู่อย่างคนมีค่า ฉันจะอยู่อย่างคนก้าวหน้า ฉันจะอยู่อย่างคนมีความรู้มีความสามารถ ท่องคาถานี้ไว้ “ฉันจะอยู่อย่างคนมีค่า ฉันจะอยู่อย่างคนก้าวหน้า ฉันจะอยู่อย่างคนมีปัญญา มีความสามารถและมีความประพฤติดีเป็นหลักรักษาจิตใจ” สอนตัวเองเตือนตัวเองทุกวันๆ ตื่นเช้าท่องวันละครั้ง ก่อนนอนก็ต้องท่องให้บ่อยๆ ไปไหนก็ต้องท่องไว้
ถ้าเพื่อนมาชวนไปไหน ก็คิดว่าไปไหน ไปทำไม ไปเพื่ออะไร ไปแล้วมันได้อะไร ไปที่นั่นแล้วเรามันดีขึ้นหรือว่าเรามันเลวลง ชีวิตจะเป็นอย่างไร ตอบคำตัวเองเตือนตัวเอง อย่าหลงใหลในคำชวนของเพื่อนแล้วไปเที่ยวสนุกสนานเฮฮา เพื่อนชวนเข้าบาร์เข้าไนต์คลับ ไปเที่ยวเหลวไหลดูหนังฟังเพลงซึ่งเป็นเรื่องไม่ได้สร้างชีวิต ไม่ได้สร้างจิตใจให้มีความเจริญพัฒนาแม้แต่น้อย ชีวิตก็จะสูญเปล่าไม่มีความหมาย อยู่ให้มันหนักแผ่นดิน ไม่ได้อยู่เพื่อช่วยเหลือแผ่นดินให้เจริญก้าวหน้า อันนี้หนูทุกคนที่มาวัดจำไว้จดไว้เอาไปคิดไปนึกบ่อยๆ แล้วถามตัวเองว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร สิ่งที่ดีที่สุดที่เราควรทำคืออะไร เราได้กระทำสิ่งนั้นอยู่หรือเปล่า ต้องคิดอย่างนี้
เจ้าชายสิทธัตถะท่านบวชท่านก็เป็นนักศึกษาที่อ่อนน้อมถ่อมตัว เชื่อกฎระเบียบของสำนัก เชื่อฟังครูบาอาจารย์ เข้าไปนั่งแทบเท้ากราบครูบาอาจารย์แล้วฟังคำสอน เอาไปคิดไปตรอง เอาไปปฏิบัติ ปฏิบัติได้ดีเท่าอาจารย์เลย อาจารย์ยกย่องว่าฉันมีความรู้เท่าไหร่ เธอมีความรู้เท่านั้น ฉันทำอะไรได้ เธอทำได้เหมือนฉัน อยู่ที่นี่ต่อไปเถอะนะ ช่วยกันสอนศิษย์ต่อไป แต่เจ้าชายสิทธัตถะหายอมอยู่ไม่ เพราะอะไร เพราะท่านคิดไกลกว่านั้น ท่านไม่ได้เป็นครูต๊อกต๋อยอยู่ในอาศรมต่างๆ ในสมัยนั้น แต่จะเป็นครูที่ยิ่งใหญ่ของยุคต้องหาความรู้ที่มันช่วยให้พ้นทุกข์ ท่านรู้แล้วแต่ท่านรู้ว่าไอ้นี่ยังไม่ช่วยให้พ้นทุกข์พ้นร้อน ยังตกอยู่ในกระแสของความเวียนว่ายตายเกิดอยู่ ยังบอกไม่พอใจ แล้วกราบลาด้วยความเคารพเพื่อไปศึกษาต่อไป แล้วก็ไปศึกษาในสำนักต่างๆ หลายที่หลายแห่ง ทำความเพียรอย่างแรงกล้า จนกระทั่งเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก พวกหนูเดินไปทางนี้เลี้ยวขวาที่ตรงโต๊ะขอรับเงินนะ แล้วก็ดูทางขวามือจะเห็นรูปผอม นัยน์ตาลึก เห็นซี่โครง แขนเห็นแต่เส้นเอ็น นั่นเขาเรียกว่าเทวรูป สมัยหนึ่งซึ่งเขาทำขึ้นเป็นรูปพระพุทธเจ้าไม่ใช่เทวรูป รูปพระพุทธเจ้าที่เขาทำขึ้นในสมัยบำเพ็ญความเพียรจนกระทั่งผอมเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก ถ้าเอามือลูบแขนนี่ขนหลุดร่วงไปเลย เอามือลูบท้องถึงกระดูกสันหลังเพราะท้องแห้ง เอามือลูบหน้าท้องถึงกระดูกสันหลัง ลุกขึ้นเดินนะล้มเลย ไปไม่ได้ อ่อนเพลีย หมดกำลัง
แต่ว่าเป็นบุญของชาวโลกที่จะไม่สูญเสียสิ่งที่จะพึงมีพึงได้ เพราะมีหญิงคนหนึ่งเป็นคนเลี้ยงแพะมาเจอเข้าแล้วก็มีน้ำใจไปรีดนมแพะเอามาให้พระองค์เสวย ก็ได้กำลัง ลุกขึ้นได้ พอลุกขึ้นแล้วมองดูสรีระร่างของพระองค์เอง ไม่ไหว ทำอย่างนี้ไม่ไหว เกือบตาย ไม่ได้เรื่องอะไร เลิกเถอะ หันมารับประทานอาหารบำรุงร่างกายให้แข็งแรง เพราะจิตใจแข็งแรงอยู่ในร่างกายที่แข็งแรง จิตใจแข็งแรงจะอยู่ในร่างกายที่อ่อนแอไม่ได้ เลยเปลี่ยนแนว รับประทานอาหาร บำรุงร่างกาย มีนักบวชด้วยกันมาร่วมช่วยเหลือ ๕ คน เขาเรียกว่า “ปัญจวัคคีย์” โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิ มาอยู่ช่วยในการบำเพ็ญความเพียรอย่างแรงกล้า พอพระองค์เปลี่ยนแนวคิด เปลี่ยนการกระทำ ท่านทั้งห้านั้นก็ว่า “โห! ไม่ไหว พระสมณโคดมไม่ไหวแล้ว ท้อถอยแล้ว เปลี่ยนแล้ว มากินข้าวบำรุงร่างกายให้อ้วนพีแล้ว เราอยู่ไปก็คงไม่ได้ประโยชน์อะไร ไปเถอะ” หนีหมด ไปหมด ทิ้งให้พระองค์อยู่แต่ผู้เดียว ไม่เป็นไร พระองค์เคยอยู่ในป่าเปรียบเทียบ ๖ ปี ก่อนที่สุดพระองค์ก็คิดว่าต้องทำไง แล้วก็ไปเดินหาที่ ไปเจอสถานที่ที่เรียกว่า “เมืองพุทธคยา” มีต้นโพธิ์ใหญ่ มีทุ่งหญ้าเขียวสด มีแม่น้ำไม่ไกล นั่งใต้ต้นโพธิ์มองเห็นแม่น้ำไหลสะอาด ชื่อว่า “แม่น้ำเนรัญชรา” เห็นว่าเป็นที่เหมาะ ไม่ไกลจากหมู่บ้าน เช้าไปพอบิณฑบาตอาหารจากชาวบ้านได้ ก็นึกว่าที่นี้เหมาะสำหรับบำเพ็ญความเพียรเพื่อให้รู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งที่ควรรู้ควรเข้าใจ ก็เลยอยู่ที่นั่นทำความเพียร นั่งใต้ต้นโพธิ์
จนถึงวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อน พ.ศ. ๔๕ ปี วันนั้นเป็นวันเพ็ญ พระองค์ก็เสด็จลงไปแม่น้ำ อาบน้ำ สรงล้างร่างกายให้สะอาดแล้วไปนั่งอยู่ใต้ต้นไทร แม่หญิงคนหนึ่งแกเป็นพวกนับถือเทวดา ไปบนบานศาลกล่าวไว้ว่าถ้าแกมีสามีที่สกุลเสมอกัน แล้วก็มีลูกชายเป็นคนแรก จะเอานม เอาข้าวหุงด้วยนม มาถวายเทวดา เขาเรียกว่า “ข้าวมธุปายาส” มธุปายาสที่เขากวนกันที่เมืองไทยกินแล้วเหมือนกับกินยา ไม่มีรสชาติอร่อยอะไร เพราะว่าทำเป็นลูกกลอนกิน เขากวนกันทุกปีที่วัด?????ธาราม (51.14 ฟังชื่อวัดได้ไม่ชัดเจน) เหมือนกับยาให้อย่างนั้น มธุปายาสไม่ใช่อย่างนั้น หลวงพ่อไปอินเดีย นายเขาเป็นช่างรับเหมาก่อสร้างโบสถ์วัดไทย เขาก็นิมนต์ว่าไปฉันข้าวที่บ้าน ก็มีข้าวต้มด้วย น้ำนมสดเข้มๆ หน่อย ถามว่าอะไรนี่ มธุปายาสครับ นี่แหละมธุปายาสที่พระพุทธเจ้าฉันในวันตรัสรู้ ก็เลยบอกว่า “โห! วันนี้ฉันแล้วก็ตรัสรู้สิ” ก็เลยฉันมธุปายาสซะชามใหญ่ อร่อย ข้าวต้มกับนมอร่อย ฉันได้ นั่นแหละเขาเรียกว่ามธุปายาส
พระพุทธเจ้าก็ไปนั่งอยู่ที่แท่น นางสุชาดาแม่บ้านแกมีลูกชายสมใจ แกก็นึกว่าต้องไปเซ่นไหว้เทวดาที่ต้นไทรเสียหน่อย ก็ได้บนบานศาลกล่าวกันไว้ ก็สั่งคนใช้ว่าแม่จงไปที่ต้นไทรนะ ไปกวาดบริเวณให้สะอาด ฉันจะเอาข้าวมธุปายาสไปถวายเทวดา แม่คนนั้นไปถึง “ตายแล้ว! เทวดามาแล้ว เรายังไม่ได้กวาดบริเวณเลย เทวดามานั่งอยู่แล้ว” คือว่ารูปร่างพระพุทธเจ้าสง่า ผิวขาว เพราะพระพุทธเจ้าไม่ใช่แขกดำนะ เราไปเห็นคนอินเดียตัวดำๆ นะ พระพุทธเจ้าไม่ใช่อย่างนั้น ท่านเกิดที่เมืองกบิลพัสดุ์ เมืองกบิลพัสดุ์อยู่ใกล้ภูเขาหิมาลัย อากาศหนาวตลอดปี ถ้าไปยืนอยู่ที่กลางเมืองกบิลพัสดุ์จะเห็นยอดเขาหิมาลัยยาวเหยียด ปกคลุมด้วยหิมะระยิบระยับ เหมือนกับเอาเพชรไปประดับไว้บนยอดภูเขา แต่ผิวท่านขาวสะอาด เรียบร้อย สงบดี “ตายแล้ว! เทวดามาแล้ว” ก็เลยไปบอก “นายแม่เจ้าขาเป็นบุญเหลือเกิน เทวดามานั่งรออยู่แล้ว” แม่สุชาดาก็รีบจัดถาดนมมีข้าวมธุปายาสเต็มถาด ถาดทองนะไม่ใช่ถาดธรรมดานี่ คนรวยนะใส่ถาดทอง คลานเข้าไปไม่ได้ดูหน้าดูตา กลัวเทวดา กราบเสร็จแล้วก็ประเคน รับไว้ ถอยหลัง กราบ กลับเลย
พระองค์ก็ฉันมธุปายาสหมดถาด ฉันหมดแล้ว ถาดจะเอาไปไหนล่ะ โยนลงแม่น้ำไปเลย แล้วก็รออยู่ที่นั่นจนเย็น ข้ามแม่น้ำกลับมาฝั่งเดิม เดินขึ้นไปที่โคนโพธิ์ นายพรานชื่อ “โสตถิยะ” เป็นพรานป่า ตัดหญ้าคา ไม่ใช่หญ้าคาเขาเรียกว่าตะไคร้หอม ต้นตะไคร้หอมศัพท์บาลีว่า “กุสสะ” กุสสะเป็นต้นตะไคร้หอม ตัดมา ๘ กำสำหรับพอไปใช้รองนั่ง พวกฤๅษีชีไพรนักบวชในประเทศอินเดียเขาชอบนั่งบนหญ้าคา นั่งสบาย ภาวนาสบายดี เขาเห็นพระพุทธเจ้าเป็นนักบวชก็ถวาย พระองค์ก็เอาหญ้าคาไปปูที่โคนโพธิ์แล้วอธิษฐานใจว่า “เลือดเนื้อจะเหือดแห้งไป เหลือแต่หนังหุ้มกระดูกก็ช่างมันเถอะ สิ่งใดจะสำเร็จด้วยความเพียร ด้วยความบากบั่นของตน ถ้าเราไม่สำเร็จสิ่งนั้น เราจะไม่ลุกขึ้นจากที่นั่งเป็นอันขาด” นี่จำไว้ พวกหนูๆ จำไว้ พระพุทธเจ้าของเราทำอะไรทำจริง เด็ดขาด ยอมตายให้กระดูกผุอยู่ตรงนี้แหละ เลือดเนื้อมันจะเหือดแห้งไปเหลือแต่หนังหุ้มกระดูกก็ช่างมันเถอะ ถ้าไม่สำเร็จจะไม่ลุกขึ้นจากที่นั่งนี้เป็นอันขาด แต่ว่าคืนนั้นแหละสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า เรียกว่า “วันเพ็ญวิสาขะ” เป็นวันตรัสรู้ที่เราบูชากันทุกวิสาขะก็เลยได้เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระพุทธเจ้าแล้วก็ทำหน้าที่ต่อไป ตามหน้าที่ บำเพ็ญกรุณาปราณีตลอดเวลา
ก็หมดเวลาพอดีแล้ว ค่อยต่อวันอาทิตย์ต่อไป สำหรับวันนี้ก็ขอยุติไว้แต่เพียงนี้