แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะอันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการมาวัดตามสมควรแก่เวลา วันนี้มีผู้ฟังพิเศษ คือนักเรียน ได้มากันจากโรงเรียนต่างๆ มานั่งกันอยู่ในสนามหญ้า ก็ปลอดโปร่งดี ตั้งใจฟังให้ดี ฟังให้รู้ ให้เข้าใจ จะได้นำไปเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันต่อไป
พวกเราที่ยังเป็นเด็ก อยู่ในวัยของการศึกษา กำลังเตรียมเนื้อเตรียมตัวเพื่อไปผจญกับโลกต่อไป เวลานี้ก็ผจญกันอยู่แต่ว่ามีพี่เลี้ยง พี่เลี้ยงก็คือคุณพ่อคุณแม่เป็นกองเชียร์คอยให้กำลังใจ มีอะไรขัดข้องเดือดร้อน คุณพ่อคุณแม่ก็มาช่วยเหลือแก้ปัญหาให้ นับว่าสะดวกสบายดี แต่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะอยู่กับเราตลอดไปก็ไม่ได้ วันหนึ่งเราก็จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ จบการศึกษา มีวิชาความรู้ พอจะช่วยตัวเองได้ก็ต้องช่วยตัวเอง
บรรดาสัตว์ทั้งหลายที่มีชีวิต เมื่อเล็กๆ ก็ต้องอาศัยคุณแม่ สัตว์เดรัจฉานนี่ไม่ได้อาศัยคุณพ่อ เพราะพ่อนั้นเมื่อทำให้เกิดแล้วมันก็หายหน้าไป ไม่ได้ดูแล แต่ว่าสัตว์บางชนิดมันก็ดูแลเหมือนกัน เคยไปอยู่ที่อเมริกา ได้พบห่านตัวใหญ่ๆ เขาเรียกว่า Canadian Geese ห่านแคนาดา หน้าหนาวมันอพยพมาอยู่ทางแถวอเมริกาทั่วๆ ไป ห่านนี้มันกินหญ้า กินผลไม้ เวลาลูกแอปเปิ้ลสุกมันหล่น ห่านก็มากินกัน แล้วก็กินหญ้าที่ในวัด ก็หญ้าเยอะ กินหญ้าแล้วก็ยังเที่ยวถ่ายออกมาตามถนน เขาไม่ค่อยเปื้อนเพราะว่าเป็นหญ้า แล้วมันก็เหี่ยวแห้งไป เวลามันมีลูกนี่มันดูแลกัน แม่กับพ่อนี่คอยดูแลลูก พอลูกออกจากไข่แล้ว ๒ ตัวพ่อแม่นี่ไม่ทิ้งลูก ดูแลเอาใจใส่จนกระทั่งลูกเติบโตมีปีกมีหางช่วยตัวเองได้ แล้วมันถึงจะเลิกกัน ไม่ต้องดูแล เห็นสัตว์คือห่านแล้วนึกในใจว่า ออ, มันรู้จักหน้าที่ มันทำหน้าที่ถูกต้อง ทั้งพ่อทั้งแม่เอาใจใส่ในลูกน้อยตัวเล็กๆ คอยควบคุมอยู่ตลอดเวลา
แต่สัตว์บางชนิดไม่ได้สนใจ วัวก็ไม่สนใจลูก ควายก็ไม่สนใจ ไม่ได้สนใจทั้งนั้น แต่ช้างนี่ก็พิเศษเหมือนกัน ช้างนี่ถ้าว่าช้างตัวใดตัวหนึ่งออกลูกมา ช้างทั้งโขลงเลยต้องมาดูแลเอาใจใส่ เวลานอนนี่ช้างตัวแม่กับลูกต้องนอนตรงกลาง แล้วก็ช้างอื่นอยู่รอบๆ เพื่อป้องกันศัตรูที่จะเข้ามารุกราน ถ้ามีศัตรูมาช้างเหล่านั้นก็ต้องช่วยกันป้องกัน เพราะฉะนั้นพรานไพรใจโหดที่ไปเอาลูกช้างมาได้ตัวหนึ่งนี่ต้องฆ่าช้างหลายตัว เพราะช้างเหล่านั้นมันป้องกันไม่ให้เข้าไปทำร้ายลูกช้าง จึงต้องฆ่าช้างหลายๆ ตัว จนมันต้องหนี กลัวปืน แล้วได้ลูกช้างมา เป็นการกระทำที่ทารุณ โหดร้าย ได้ลูกช้างมาแล้วก็เอาไปขาย
คนที่ไปซื้อลูกช้างมาก็เรียกว่าร่วมใจกันทำความชั่ว เบียดเบียนช้างให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน น่าสงสาร ถ้าเป็นคนมีศีลมีธรรมประจำใจ เขาจะไม่ทำอย่างนั้น แต่ว่าคนพวกนั้นมันไม่คิดอะไร คิดแต่ว่าจะเอาลูกช้างไปขาย หรือพวกที่ไปจับหมีได้ แล้วก็ตัดเอา เขาเรียกว่าอุ้งตีนหมี คือตัดเอาที่ข้อข้างล่างเอาไปขายให้คนประเภทบ้ากาม เอาไปต้มไปกิน บอกว่ามันบำรุงกามารมณ์ ไอ้พวกนี้แย่มาก แล้วหมีมันจะเดินกับอะไร เมื่อไม่มีเท้าแล้วมันจะเดินกับอะไร มันก็ต้องทรมานไปจนกว่าจะตาย เป็นการทำร้ายสัตว์ที่เหี้ยมโหด ทารุณ ถ้าจับตัวมาได้ก็ควรจะตัดตีนตัดมือเสียเลย ให้มันนอนกลิ้งอยู่อย่างนั้น จะได้รู้ว่ามันเป็นอย่างไร นี่คือความไม่เรียบร้อย
แต่ว่าคนเรานี่นับว่าเป็นคนที่มีสมอง มีปัญญา รู้จักรักลูก เมื่อมีลูกมาก็ดูแลเอาใจใส่ แต่ก็มีบ้างเหมือนกันที่ทอดทิ้งลูก นั่นเขาเรียกว่าเป็นพวกผิดปกติ จิตผิดปกติ ไม่เหมือนคนธรรมดา ซึ่งมีไม่มาก เปอร์เซ็นต์มันน้อย ส่วนมากก็มีความรักลูกมีความปรารถนาดีต่อลูก ให้อะไรแก่ลูกทุกอย่าง แม้ชีวิตพ่อแม่ก็ยังเสียสละแก่ลูกได้
เราที่เป็นลูกอยู่ในวัยของการศึกษา ควรจะนึกถามตัวเอง ไปยืนที่หน้ากระจกเงา ก่อนที่จะแต่งตัวไปไหนๆ นี่ ถามตัวเองว่า ใครเกิดฉันมา แล้วก็ตอบ คงจะตอบง่ายเนอะ ข้อสอบไล่ที่ไม่ยาก ใครเกิดฉันมา คุณพ่อคุณแม่เกิดฉันมา ใครเลี้ยงฉันให้เจริญเติบโต คุณพ่อคุณแม่เลี้ยงฉันให้เจริญเติบโต เสื้อผ้าที่ฉันนุ่งฉันห่มนี่ใครให้ ก็ตอบว่าคุณพ่อคุณแม่ซื้อให้ ฉันไปโรงเรียนต้องมีสตางค์ไปซื้ออาหารกินขนม ใครให้สตางค์ไปซื้ออาหารกินขนมที่โรงเรียน คุณพ่อคุณแม่ให้ ใครซื้อหนังสือให้เราไปเรียน คุณพ่อคุณแม่ให้
ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของเราเป็นของคุณพ่อคุณแม่ แม้ร่างกายของเรา ตั้งแต่ปลายผมถึงปลายเท้า ยาววา หนาคืบ กว้างศอกนี่ก็เป็นสิ่งที่คุณแม่มอบให้ คุณพ่อมอบให้ ถ้าไม่มีพ่อไม่มีแม่เราก็เกิดไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่ ไม่ได้เกิดเราแล้วก็ทิ้งๆ ขว้างๆ เกิดแล้วยังเลี้ยงดูเอาใจใส่ทะนุถนอม คอยว่ากล่าวแนะนำพร่ำเตือน เราจะต้องสำนึกในบุญคุณของพ่อแม่ คนที่มีความสำนึกในบุญคุณของพ่อแม่ เขาเรียกว่าเป็นคนมีคุณธรรม คุณธรรมที่ชาวโลกต้องการ คือความกตัญญกตเวทีต่อพ่อแม่
คนชาวเอเชียเรานี้ทั่วๆ ไป ประเทศอินเดีย จีน เลยไปถึงญี่ปุ่น เกาหลี ประเทศไทย เขมร ลาว ญวน เขาสอนมากในเรื่องความกตัญญูกตเวที เพราะฉะนั้นพ่อแม่ไม่ต้องเดือดร้อน เมื่อแก่ชรา ลูกก็คอยดูแลเอาใจใส่ แต่ว่าชาวยุโรป ชาวอเมริกา วัฒนธรรมไม่เหมือนกับของเรา ลูกไม่ค่อยเอาใจใส่พ่อแม่ ลูกจะอยู่กับพ่อแม่จนกระทั่งจบชั้นศึกษา คือจบ High School หรือจบมหาวิทยาลัย แล้วเขาก็ทิ้งพ่อทิ้งแม่ไปทำมาหากิน ไม่ได้เอาใจใส่ต่อพ่อแม่ เวลาวันปีใหม่ก็มาหา เอาดอกกุหลาบมาให้สักช่อหนึ่ง แล้วก็มาสวัสดี papa สวัสดี mama หรือว่าจะหอมแก้มคุณแม่สักฟอดหนึ่ง แล้วก็ไปแล้ว ไม่มายุ่ง นั่นฝรั่งเขาทำอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นเราจึงพบว่า คนแก่ในยุโรป อเมริกานี่อยู่ด้วยความเหงา เปล่าเปลี่ยวใจ เพราะไม่มีใครดูแล แต่คนแก่ชาวเอเชียเรานั้นอยู่กับลูกกับหลาน อยู่กับหลานๆ ได้อุ้มหลาน อาบน้ำให้หลาน ป้อนข้าวให้หลาน ไกวเปลให้หลานนอน จูงหลานไปเที่ยวเดินเล่น นั่นมันเป็นความสุขของคุณย่าคุณยาย ของคุณปู่คุณตา ท่านมีความสุขด้วยเรื่องอย่างนั้น แล้วก็มีโอกาสหาความสุขจากหลานน้อยๆ แต่ชาวตะวันตกเขาไม่ให้พ่อแม่เลี้ยงลูกเขา เขาเลี้ยงของเขา เขาบอกว่าไม่ได้ คุณย่าคุณยายทำให้ลูกเขาเสียหาย มันคิดผิด
ความจริงคุณแม่เลี้ยงลูกมาจนกระทั่งเติบโตมายังไม่เสีย แต่พอถึงหลานไม่ยอมแล้ว กลัวคุณย่าคุณยายจะทำร้ายหลานเขา ไม่ใช่ทำร้ายด้วยการทุบตี ทำร้ายด้วยการตามใจทำให้เด็กเสียคน ชาวตะวันตกเขาเป็นอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นเรื่องเกี่ยวกับความกตัญญูกตเวทีไม่ค่อยจะมี แต่ชาวตะวันออกเรานั้นถือหนัก คนอินเดียเขาก็ถือมาก เคารพพ่อแม่ เวลาจะไปไหน เขาก้มลงกราบพ่อแม่ เราดูหนังอินเดียไหม หนังอินเดีย ก็คนที่เป็นตัวละครในหนัง พอเห็นพ่อแม่เข้าไปถึงเอามือแตะเท้ามาแตะหัว ไม่กราบเหมือนเรา เรานี่สุภาพกว่า เขาเอามือแตะหลังเท้าคุณแม่มาแตะหัว ๓ ครั้ง แล้วเขาทำอะไรๆ ต่อไป ก็แสดงว่ายังเคารพพ่อแม่ เชื่อฟังพ่อแม่ เขาก็ดี อยู่กันสบาย พ่อแม่ก็ไม่ค่อยเดือดร้อนเท่าใด
แล้วเขามีเรื่องสอน เช่น เรื่องนิทานชาดกในพระพุทธศาสนา มีมากมายหลายเรื่อง ๕๐๐ เรื่องแต่ละเรื่องนั้นมีข้อความเกี่ยวกับความกตัญญู กตเวที
อ้าว, คุณโยมเข้ามานี่ เก้าอี้มี ทำไมเดือนเฉื่อยๆ ไม่ค่อยสบาย นี่ๆ ตรงนี้มีว่าง เชิญนั่งให้สบาย หรือว่าเงินมันลอยตัวเลยไม่ค่อยสบาย
เขาเอาใจใส่ในเรื่องชาดก ซึ่งมีตั้ง ๕๐๐ เรื่อง ๕๐๐ เรื่อง แล้วคนไทยแต่งเพิ่มขึ้นอีก ๕๐ เรื่อง เขาเรียกว่า ปัญญาสชาดก แต่งที่เชียงใหม่ ภาคเหนือ เขาแต่งขึ้นอีก ๕๐ เรื่อง เป็น ๕๕๐ เรื่อง เราอย่านึกว่าเรื่องชาดกเป็นนิทานธรรมดา ไม่ใช่ แต่เป็นนิทานคติสอนใจ ที่พระพุทธเจ้าท่านเอามาคุยกับพระตอนบ่ายๆ เวลานั่งร่มไม้ แดดร่มลมโชย พระทั้งหลายก็มานั่งแวดล้อมพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็เล่าเรื่องเก่าๆ ให้ฟัง โดยมากมักจะเล่าปรารภเรื่องพระภิกษุบ้าง ชาวบ้านบ้าง ทำอะไรมันไม่ถูกต้อง ไม่เรียบร้อย แล้วท่านก็พูดเล่าเปรียบให้ฟัง เล่าเรื่องให้ฟังว่าเรื่องมันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เขาก็บันทึกไว้ในคัมภีร์ เป็นเรื่องที่มีประโยชน์มาก
คนสมัยก่อนฟังเรื่องชาดกทุกวัน ก็พระสมัยก่อนไม่ได้เทศน์เรื่องอื่น เอาหนังสือชาดกมาเทศน์ให้โยมฟัง โยมฟังแล้วก็ได้สร้างความเชื่อในเรื่องเหล่านั้นเป็นพื้นฐานสร้างศีลธรรมทางจิตใจ สภาพจิตใจเขาดี เรียบร้อย ไม่วุ่นวาย อยู่กันด้วยความสุข ความสงบไม่เบียดเบียนกัน เป็นคนรักบุญกลัวบาป เคารพพ่อแม่ ปู่ตาย่ายาย ครูบาอาจารย์ พระเจ้าพระสงฆ์ จึงอยู่กันสงบ เรื่องชาดกที่มีเรื่องเกี่ยวกับความกตัญญูนี่มีมาก เช่นว่า เรื่องสุวรรณสามชาดก
สุวรรณสามนี่พ่อแม่ตาบอด อยู่ในป่าเลี้ยงพ่อแม่ ทำอย่างไรกับพ่อแม่ เอาเชือกขึงไว้ เส้นนี้เดินไปที่อาบน้ำ เส้นนี้เดินไปที่ถ่าย เส้นนี้เดินไปที่ลานหญ้าใต้ต้นไม้ แล้วก็นั่งพักสบายๆ แล้วก็ตื่นแต่เช้า สุวรรณสามต้องมาดูคุณพ่อคุณแม่ เอาน้ำมาให้ล้างหน้า พาไปอาบน้ำ ให้กินอาหาร แล้วก็ไปหาผลไม้มาให้พ่อแม่รับประทาน ปฏิบัติอย่างดีให้พ่อแม่สบายอกสบายใจ อยู่ในป่าก็มีความคุ้นเคยกับสัตว์ทั้งหลาย เพราะว่าไม่เคยทำร้ายสัตว์
คือสัตว์ป่านี่ ถ้าเราไม่ทำร้ายมันก็เชื่อง แต่เขาเล่าว่าสังฆราชไก่เถื่อน อยู่วัดพลับที่ฝั่งธน วัดเขาเรียกว่าวัดพลับฝั่งธน สมัยก่อนมันเป็นป่านี่ฝั่งธน ไก่เถื่อนเยอะ ไก่เถื่อนก็มาอยู่ใกล้ๆ ทำไมมันจึงมาได้ เพราะโปรยข้าวให้มันกินทุกวันๆ ไม่เคยตะเพิด ไม่เคยทำให้ตกใจ มันก็มากินข้าว ชั้นแรกก็กิน ก็พอรู้ ก็กลัวภัย ยังไม่ไว้เท่าใด อยู่ไปๆ ไม่เห็นมีอะไร ก็เลยเชื่อง มาอยู่ใกล้ๆ ล้อมท่าน ขันให้ท่านฟัง ไก่เหล่านั้นก็คุ้น เขาจึงเรียกว่า พระสังฆราชไก่เถื่อน ชื่อท่านชื่อสุก แต่ว่าเพราะคุ้นเคยกับไก่ ก็เลยเรียกว่าสังฆราชไก่เถื่อน อยู่วัดนี่ ทีหลังย้ายมาอยู่วัดมหาธาตุ เพราะเป็นที่อยู่ของสมเด็จพระสังฆราช คุ้นเคยกัน
ท่านเจ้าคุณพุทธทาสท่านมีถุงข้าวสารไว้ถุงหนึ่งที่ปกติแล้วก็โปรยให้ไก่กินทุกวันๆ ลูกไก่ตัวน้อยๆ มันก็มา โปรยข้าวสารให้กิน จนมันโตขึ้นมันก็คุ้น เชื่อง มันมานั่งบนตักของท่าน แล้วก็ขัน บางตัวก็อาจเอื้อมมากขึ้นไปนั่งบนบ่าเลย นั่งบนบ่าแล้วก็ขันกรอกหู เกรียวๆ นะ ท่านนั่งเฉย มันก็ขันของมัน ทำบ่อยๆ เขาก็ถ่ายรูปไว้ ถ่ายรูปขณะที่มันขึ้นไปนั่งบนจงอยบ่า แล้วมันก็ขัน แสดงความคุ้นเคย เพราะว่าเลี้ยงมัน ปลาในอ่างก็ท่านเลี้ยงมัน ให้อาหารมันกิน มันก็เชื่อง เรียกตัวไหนก็ได้ เป็นเรื่องที่ความคุ้นเคย
ความคุ้นเคยนี่เป็นญาติอย่างยิ่ง ทีนี้สุวรรณสามแกอยู่ป่า แกไม่เคยทำร้ายสัตว์ แกถือว่าสัตว์ทุกตัวเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน เวลาไปก็สัตว์ก็มาเดินตามหลังเป็นฝูง เอาหญ้าให้มันกินบ้าง ผลไม้ให้มันกินบ้าง ไม่ทำร้าย เดินตามหลัง ทีนี้วันหนึ่งกษัตริย์องค์หนึ่งชื่อกาวิละมาเที่ยวยิงสัตว์ เห็นสัตว์เดินตามหลังเป็นฝูง ก็นึกว่ายิงง่ายดี เพราะสัตว์มันเชื่อง ก็เลยยิง มันไม่ถูกสัตว์ ไปถูกสะโพกสุวรรณสามล้มลง
เมื่อล้มลงแล้วสุวรรณสามก็พูดว่า ฆ่าเนื้อเพื่อกินเนื้อ ฆ่าช้างเพื่อเอางา ฆ่าสัตว์ทุกอย่างเพื่อเอาอะไรบางอย่าง แต่ท่านฆ่าเรานี่จะเอาอะไร ท่านฆ่าเรานี่จะเอาอะไร นักพรานผู้ยิงธนูคนนั้นก็ได้ยินเสียงก็ตกใจ ตกใจเข้ามาหา แล้วก็สุวรรณสามบอกว่า ท่านรีบไปที่อาศรมคุณพ่อคุณแม่ของเราอยู่ที่นั่น ตาบอด ไม่เห็น เอาผลไม้นี้ไปให้ แล้วก็บอกให้ทราบว่าเราถูกยิงด้วยลูกศร เจ้าคนนั้นก็ไปที่อาศรม พ่อแม่ก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร พอผลไม้มาให้ก็กินผลไม้คุยกัน แล้วก็ถามว่าท่านมาในป่าเห็นลูกสามของเรารึเปล่า เขาบอกว่าเห็น
เออ, เป็นอย่างไร เห็นแล้วมันเป็นอย่างไร เขาเลยบอกเวลานี้ลูกสามของท่านถูกเรายิง ความจริงไม่ได้เจตนาจะยิงลูกท่าน แต่ไปยิงเนื้อที่ตามหลัง ลูกธนูมันเตลิดไปหน่อย แล้วไปถูกลูกท่าน กำลังนอนเจ็บปวดอยู่ในป่า
พอพ่อแม่ได้ยินเช่นก็บอกว่า โอ้, อยู่ตรงไหน รีบพาเราไปดู นายพรานคนนั้นก็พามา มาถึงพ่อแม่ก็ตั้งจิตอธิษฐาน อธิษฐานว่าเราไม่เคยฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เราไม่เคยทำร้ายสัตว์อื่นให้เดือดร้อน ลูกชายของเราก็เป็นสุภาพชน เป็นคนที่รักสัตว์ รักมนุษย์ รักต้นไม้ ไม่เคยเบียดเบียนใคร ไม่เคยทำร้ายใคร ด้วยอำนาจสัจจะวาจานี้ ขอให้ลูกศรหลุดจากร่างกาย แล้วให้ลูกชายของเราจงหายจากความเจ็บปวด แล้วก็ลูบลูกศรหลุดออกไปด้วยอำนาจสัจจะวาจา แล้วก็ฟื้นหายเจ็บหายปวด ได้ปฏิบัติพ่อแม่ต่อไป นี่เป็นเรื่องตัวอย่างแห่งความกตัญญูกตเวที ที่ท่านทำกับพ่อแม่ตาบอดของท่าน ก็อยู่กันด้วยความสุขต่อไป
อีกเรื่องหนึ่ง พ่อแม่มีลูก ๓ คน ลูก ๓ คนนี้ก็แย่งกันจะเอาพ่อแม่ไปเลี้ยง คนสมัยก่อนเขาอย่างนั้น เขาแย่งกันเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ แต่สมัยนี้ไม่มีใครแย่ง ถ้าใครเอาไปเลี้ยงแล้วก็บอกดีแล้ว พี่เอาไปเลี้ยงๆ ไปเถิด ไม่ได้สนใจ พี่เลี้ยงดีแล้ว แต่คนสมัยก่อนนั้น เขานึกว่า เราไม่มีโอกาสตอบแทนบุญคุณพ่อแม่มันเสียหาย เป็นคนไร้วาสนาบารมี ไม่มีโอกาสได้ตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ เขาอยากจะตอบแทนบ้าง เลยก็ขอแบ่งเอาพ่อแม่ไปเลี้ยงบ้าง ทีนี้ลูกมัน ๓ คน ต่างคนต่างจะเอา เอาคุณพ่อคุณแม่ไปเลี้ยง ต้องจับฉลากกัน จับฉลากไปคนหนึ่งเอาไป ๔ เดือน ปีหนึ่งมัน ๑๒ เดือน ๔ เดือนจับฉลากได้คนไหน จับฉลากคนแรก ได้คนกลางเอาไป แล้วก็ครบ ๔ เดือน จับฉลากอีก ๒ คน คนหัวปีได้ไป เหลือคนสุดท้อง ไม่ต้องจับแล้ว เพราะเหลือคนเดียวก็เอาไปเลี้ยง เลี้ยงดูอย่างดี เอาใจใส่ดูแลให้พ่อแม่ได้รับความสุขความสบายตามสมควรแก่ฐานะ พ่อแม่ก็มีความสุข ลูกก็มีความสุข ลูกมีความสุขเพราะอิ่มใจว่าเราได้เลี้ยงคุณพ่อคุณแม่ เราได้ตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ เขามีความสุขใจ นี่ก็เป็นตัวอย่าง มีเยอะแยะ
แม้สัตว์ใหญ่ เช่น ช้าง ก็มีเรื่องเกี่ยวกับช้างว่ามีความกตัญญูต่อแม่ คือช้างอยู่ในป่าสวยงาม เรียกว่าเป็นช้างงางอน รูปร่างดี นายพรานไพรไปเห็นเข้า ก็มากราบทูลพระราชา เล่าให้ทรงทราบ พระราชาก็อยากจะได้ช้างมาอยู่ในโรงช้างต้น ความจริงเอาช้างมาไว้ในโรงช้างต้นนั้นมันทรมาน เหมือนเราจับนกเขามาขังกรงไว้ให้ขันให้เราฟังมันกักกันเสรีภาพ นกมันไม่ได้เที่ยว ไม่ได้บินไปไหนตามชอบใจ ก็เลยทรมานสัตว์ เขาเรียกว่ากักขังทรมาน ทรมานด้วยการกักขังมันไม่ถูกต้อง เราควรจะปล่อยมันอยู่ตามสบายแล้วมันก็ขันให้เราฟัง
ที่วัดนี้ก็มีนกขันอยู่หลายตัว นกที่ขันไม่ใช่นกที่นี้ นกเอามาจากปักษ์ใต้ พระท่านเอามา ชั้นแรกก็เอามาใส่กรงแขวนไว้ข้างกุฏิแล้วก็ขันเกรียวอยู่ หลวงพ่อไปเห็นเข้า บอกคุณนี่ทำบาปหนักแล้ว เอานกมาขังไว้ให้ขันให้คุณฟัง เดี๋ยวไปต่อไปข้างหน้าคุณจะถูกเขาจับขังบ้าง คนชาวบ้านเขาเห็นขังนก เขาจะว่าพระอะไรจับนกมาขัง ปล่อยมันเสีย ก็เลยปล่อย มาแล้วมันก็ไม่ไปไหน จะอยู่ไหน ต้นไม้มันเยอะในวัดนี้ ออกไปที่อื่นไม่มีต้นไม้ มันก็อยู่แล้วขันทุกวัน ตอนเช้า ตอนบ่าย ตอนเย็น มันขันกัน สองสามตัว นกเขาเล็กก็ขัน กรูๆๆๆๆ ไอ้นกเขาใหญ่ กรุ๊กกรูๆ ฟังเสียงแล้วมันว่า ของกู ของกู มันขันด้วยความยึดถือว่าของกู ของกูอยู่ตลอดเวลา แต่ว่ามันเป็นอิสระ บินไปไหนก็ไปได้ มีเสรีภาพ สบาย
ถ้าสมมติว่าเขาจับเราไปขังไว้ในกรง มีอาหารให้กิน มีที่นอน มีน้ำให้อาบ มีที่ถ่าย ถ่ายก็ไม่สะดวกนั่นแหละ ถ่ายเอาใส่ถังไว้ นอนดมต่อไป มันสบายไหม ถูกทำอย่างนั้น ใครไม่เคยถูกจับขังกรงก็ไม่รู้ แต่พอถูกจับขังเข้าบ้างกลุ้มใจจะตาย เรียกว่า เครียดเพราะถูกขัง ไม่ใช่สบาย นกมันก็เครียดเหมือนกัน แต่ปล่อยแล้วมันก็สบาย อยู่ได้สบาย อันนี้เราอย่าไปเอาสัตว์มาทรมานอย่างนั้น แต่ถ้าจะเลี้ยงต้องทำกรงให้ใหญ่ แต่มันไม่ไหว จะทำกรงให้เท่าวัดนี้มันจะทำไหวหรือ ให้นกมันอยู่ ที่จังหวัดชัยนาทเขามีกรงนกใหญ่ที่สุดในประเทศไทย บริเวณกว้าง นกหลายชนิดอยู่ในนั้น มันก็ไม่ดีหรอก เสรีภาพมันยังน้อยไป มันจะไปไหนก็ไม่ได้ มันอยู่ในบริเวณนั้น บินไปบินมา มันอึดอัดแต่มันพูดไม่ได้ ไม่เป็นการถูกต้อง ไม่ควรจะทรมานเขาอย่างนั้น ควรจะเลี้ยงไว้อย่าทำร้ายเขา ให้เขาเป็นอิสระ เป็นการดีกว่า
คราวนี้ลูกชาย ๓ คนก็เลยแบ่ง แย่งพ่อแม่ไปเลี้ยง เลี้ยงอย่างดีให้กินให้อยู่สบาย พอหมดวาระก็เอาไปส่งคนนั้น ไปส่งคนนั้น เป็นเครื่องแสดงว่าเขาอยากเลี้ยงพ่อแม่
คนสมัยนี้ไม่อยากเลี้ยง วันก่อนนี่นั่งรถแท็กซี่คุยกัน สมัยก่อนไม่มีรถสำหรับใช้ไปไหนก็นั่งแท็กซี่ ไปวัดมหาธาตุก็นั่งแท็กซี่กลับมา เวลานั่งแท็กซี่นี่ไม่พูดมาก ราคา ถามว่าไปวัดชลประทานปากเกร็ด ไปไหม ก็นั่ง ไปหรือไม่ไป ตอบคำเดียวว่า ไปก็ได้ ไม่ไปก็ได้ เรื่องราคาค่างวดเธอไม่ต้องตกใจฉันให้เต็มที่
(แท็กซี่) เอ้า,ไปครับ
เอาเลยขึ้นนั่ง นั่งข้างหน้า นั่งใกล้คนขับ ถ้านั่งข้างหลังคุยลำบาก มันต้องเอี้ยวมาฟัง เดี๋ยวรถชนก็เท่านั้นเอง ก็เลยต้องนั่งใกล้ คุยกันไป ถามเรื่องถามราว ถามความเป็นอยู่ ถามรายได้ ครอบครัวมีลูกกี่คน คุยเรื่องชีวิตของเขา คุยกันตลอดถึงวัดหละ พอถึงวัดก็ให้ร้อยหนึ่ง
(หลวงพ่อ) พอใจไหม
(แท็กซี่) พอแล้วครับ หลวงพ่อให้ผมมากกว่านี้แล้ว
(หลวงพ่อ) ถ้าเธอไม่พอใจก็บอกฉันจะให้เพิ่ม
(แท็กซี่) ไม่ต้องๆ ผมได้มากแล้ว
คือได้คำสอนนั่นเอง เขาก็พอใจ ทุกครั้งเป็นอย่างนั้น ทีนี้วันหนึ่งขึ้นรถแท็กซี่คนแก่ พอขึ้นมาถึงก็ถาม
(หลวงพ่อ) โยม ดูจะเป็นคนอายุมากแล้ว อายุเท่าไร
(แท็กซี่) อายุ ๖๕ ...... ( 30.00 เสียงขาดหายไป)
(หลวงพ่อ)...ทำอย่างไร
(แท็กซี่) ก็ผมขับด้วยความระมัดระวัง ไปช้าๆ ถ้าคนไหนขึ้นนั่งแล้ว เอ้า, ไปเร็วๆ ลุง ผมหยุด บอกคุณไปขึ้นคันอื่นเถิด เขาขับเร็วกว่าผม ผมมันไปช้าๆ แต่เขาก็ไม่ลง แล้วว่า เอ้า, ลุงไปเถิด ขับไปเถิด
แล้วถามว่า
(หลวงพ่อ) แล้วโยมนี่มีลูกกี่คน
(แท็กซี่) ผมมีลูกตั้ง ๖ คน
(หลวงพ่อ) แล้วลูก ๖ คนนี่ทำอะไร
(แท็กซี่) ๕ คนนี่ทำราชการ แต่คนสุดท้องสมองมันไม่ค่อยจะดี ก็อยู่บ้าน ช่วยคุณแม่ทำโน้นทำนี้ ตามสบายใจเขา คิดอะไรไม่ค่อยได้ สมองเสื่อม คนสุดท้อง
(หลวงพ่อ) แล้วลูกที่ทำราชการนี่ เขาเคยพูดปรารภกับโยมบ้างไหม ว่าคุณพ่ออายุมากแล้ว ไม่ควรจะขับรถ
(แท็กซี่) เขาก็พูดเปรยๆ อย่างนั้นนะครับ แต่ผมบอกว่า พ่อนี่ขับรถมานานแล้ว ไม่เคยมีอันตราย เพราะไปช้าๆ ไม่ต้องวิตกหรอก ลูกก็ไม่ว่าอะไร แต่วันหนึ่งลูกคนหนึ่งพูดเอาจริงเอาจัง พ่อ พ่ออายุปูนนี้แล้วเลิกขับรถได้แล้ว พักอยู่กับบ้านเถิด อ้าว, ดี ที่ลูกพูดอย่างนั้นก็ดี พ่อก็อยากหยุดอยู่เหมือนกัน แต่ว่าหยุดแล้วมันไม่มีสตางค์จะใช้ ลูก ๕ คนนี่เสียสละให้พ่อเดือนละร้อยต่อคนนี่จะได้ไหม
ถามลูกอย่างนั้นนะ
(แท็กซี่) ลูกบอก โอ้, เรื่องนี้ต้องไปประชุมกันก่อน ต้องเปิดประชุมสภา เสนอญัตติเรื่องจ่ายเงินคนละ ๑๐๐ ก็ไปประชุมกัน ลูกคนนั้นก็เสนอญัตติว่าพ่อเราอายุมากแล้ว ไม่ควรจะให้ขับรถ วันก่อนนี้ได้พูดกับคุณพ่อแล้ว คุณพ่อบอกว่าพ่อจะหยุดก็ได้ แต่ว่าลูกทุกคนจ่ายเงินให้พ่อเดือนละ ๑๐๐ ได้เดือนละ ๕๐๐ ก็มีบ้าน ของตัว มีสวน มีอะไรอยู่ในสวนนี่ไม่ได้เดือดร้อน ก็เลยบอกต้องประชุมกันก่อน
พอเสนอญัตติแล้ว แหม, อภิปรายยาวเลย อภิปรายเหมือนกับอภิปรายรัฐธรรมนูญที่กำลังเขียนแล้วอย่างนั้น อภิปรายไป อภิปรายมา ไม่รับหลักการ เพราะว่าต่างคนบอกว่า เรามันลูกหลายคน ข้าวของมันก็แพง ลูกก็ต้องเรียนหนังสือ ไม่สามารถจะเจียดเงินไปช่วยพ่อได้เดือนละ ๑๐๐ ญัตตินั้นตกไป ไม่มีใครรับหลักการ มันเป็นอย่างนั้นนะ ผมก็ต้องขับรถต่อไป
โยมคิดดูสิ พ่อแม่เลี้ยงลูก ๖ คนไม่บ่น ไม่ว่า ไม่บ่นสักแอะเดียว ไม่บ่นว่าลำบาก ไม่บ่นอะไรทั้งนั้น ลูกต้องการอะไร แล้วก็อาชีพขับนี่ แต่ส่งลูกเรียนหนังสือจนเป็นข้าราชการ เป็นครูก็มี เป็นข้าราชการอะไรก็มี แต่ว่าพอพ่อแก่ลง จะขอลูกเดือนละ ๑๐๐ เท่านั้นหละ
(แท็กซี่) ลูกมันอภิปรายเสียยาวเลย แล้วผลที่สุดไม่รับหลักการ ก็เลยไม่ได้เงินเดือนละ ๑๐๐ จากลูก ก็ขับรถต่อไปนี่หละครับมันเป็นอย่างนี้ ผมก็ไม่ว่าอะไร เห็นใจเขา เพราะเขามันลูกหลายคน
ว่าอย่างนั้น นี่น้ำใจพ่อแม่ ลูกนี่ไม่เหมือนพ่อแม่
พระพุทธเจ้าบอกว่าคนสองคนนี่ไม่เกิดพร้อมกัน หายาก คือบุพการี หมายถึงว่า ผู้ที่ทำอะไรแก่เราก่อน เช่น พ่อแม่ ปู่ตา ย่ายาย ครูบาอาจารย์ ทำอะไรให้เราก่อน เรียกว่าบุพการี กตัญญูกตเวที คือคนที่สำนึกได้ว่า อ้อ, คนนี้มีบุญคุณแก่เรา ได้ช่วยเหลือเรา ได้ทำประโยชน์แก่เรา นึกได้ หายาก นึกไม่ค่อยได้ นึกไม่ได้ มันเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น
ที่วัดนี้ พระที่มาอยู่ วัดเลี้ยงมา ก็เลี้ยงมาตั้งแต่เป็นสามเณร เรียนหนังสือ ก็ช่วยเหลืออุปถัมภ์ค้ำชูกันมาเรื่อยๆ พอบทพอจะสึกไม่บอกสักคำ ดูสิ ดู ไอ้เวลาอยู่ก็ไปหาหลวงพ่อทุกวันหละ ไปเอานั่นเอานี่ หยิบไปใช้ ไปกินกัน แต่พอจะสึกกลับไม่บอก สึกเฉยๆ สึกแล้วหายหัวไปเลย ไม่มาเยี่ยมเลย ไอ้เรานี่ก็คิดถึง เอ, มันไปอยู่อย่างไร มันทำอะไร อยู่ที่ไหน
ไอ้คนพ่อแม่นี่มันคิดถึงลูก อาจารย์ก็คิดถึงศิษย์ แต่ลูกศิษย์มันไม่คิดถึงอาจารย์ ไปไหนไปเหอะ ว่างๆ จะมาเยี่ยมสักหน่อย ให้อาจารย์ได้เห็นหน้า ว่าหน้ากูหล่อขนาดไหน สึกแล้วไว้ผมไว้เผ้า ไม่ต้องโกนผม หน้าตามันเป็นอย่างไร ไม่มาเลย ไม่มา พบใครก็ถามว่า เออ, มันเป็นอย่างไร ไอ้คนนั้นมันเป็นอย่างไร มันอยู่อย่างไร ไม่ทราบเหมือนกัน ดูๆๆๆ มันเป็นอย่างนั้น เทศน์แล้วเทศน์อีก มันก็ไม่เอาใส่ใจ ไปแล้วก็ไปหายไปเลย หลายคนเป็นอย่างนั้น
สามเณรชุดหนึ่งเอามาจากปากพนัง ๑๐ องค์ ก็เรียนไป ได้เป็นปริญญาโท ปริญญาตรี สึกแล้วเหมือนกับตายจากกันจนบัดนี้ ไม่รู้ไปอยู่ไหน เออ, ดูสิ วันเข้าพรรษา มาเยี่ยมอาจารย์สักหน่อย เพราะได้อาศัยใบบุญ ข้าวแดงแกงร้อน ได้เล่าได้เรียน อยู่นานมาหน่อย ก็มีมาอยู่คนหนึ่ง ตอนนี้ก็หายไป ได้ข่าวว่าไม่สบาย นอกนั้นไม่รู้มันยังอยู่หรือตายแล้วก็ไม่รู้ มันเป็นอย่างนั้น
นี่หละเขาเรียกว่าหายาก คนที่นึกถึงบุญคุณของผู้ที่ทำคุณแก่ตนนี่หายาก มันเกิดไม่พร้อม เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าจึงว่าบุคคล ๒ คน หายาก มันเกิดไม่พร้อม ลูกก็เหมือนกันนะ บางทีก็ไปไม่คิดถึงพ่อแม่ พ่อแม่เจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่รู้ไม่ชี้ ไม่เอาใจใส่ เป็นอย่างนั้น มีอยู่ ซึ่งไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น
พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าใครทำอะไรแก่เราแม้เล็กน้อย จำไว้ อย่าลืมๆ จำไว้ทำไม จำไว้เพื่อจ่ายคืน เพื่อตอบแทนในบุญคุณของท่านที่ทำประโยชน์แก่เราให้นึกไว้ แล้วคิดไว้ว่าวันหนึ่งจะหาทางตอบแทน ก็เป็นอันว่าใช้ได้ แต่ว่าถ้าเราไม่คิด แล้วก็แล้วกันไป ไม่มีข้อผูกพันทางจิตใจมันก็หมดเรื่อง มันขาด ไม่มีเยื่อใย นั่งศาลาพักร้อน พอหายร้อนแล้วก็ไปเลย ไม่รู้ว่าศาลาจะเป็นอย่างไร
กินน้ำในบ่อหายหิว หายกระหายแล้วก็ไปเลย ไม่นึกถึงบ่อ ได้กินอาหารจากใครแล้วก็ไม่นึกถึงผู้ให้อาหาร คนอย่างนี้เขาเรียกว่าฐานไม่ดี ฐานไม่มีคุณธรรมเป็นหลักทางจิตใจ ไปไม่รอด เจริญก็ไม่ไกล ไม่ไกล แต่คนที่มีคุณธรรมคือความกตัญญูกตเวทีนั้น เขามักจะเจริญก้าวหน้า ทำไม เพราะฐานทางจิตใจนั้นสำนึกอยู่ตลอดเวลา ว่าคนนี้ทำประโยชน์แก่เรา ความสำนึกนั้นทำให้คนนั้นละอายบาป กลัวบาป มีความอดทนอดกลั้น ไม่ทำความชั่วความร้าย ถ้าอยู่กับใครก็สำนึกว่า นายมีประโยชน์แก่เรา บริษัทมีประโยชน์แก่เรา สำนักงานนี้มีประโยชน์แก่เรา เขาจะไม่ประทุษร้าย ไม่ประทุษร้ายนาย ไม่ประทุษร้ายบริษัท ไม่ทำลายสิ่งที่ให้ประโยชน์แก่ตน
นั่งใต้ต้นไม้ไม่หักกิ่งก้านต้นไม้ นั่งในศาลาไม่ทำลายศาลา กินน้ำบ่อแล้วไม่ทำลายบ่อ กินน้ำคลองแล้วก็ไม่ทำลายแม่น้ำลำคลอง นี่คือความกตัญญูกตเวที ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องสำคัญ
คนบางชาติบางภาษาเขาถือนัก ชาวจีนนี่ถือมาก ถ้าเราดูหนังจีนแล้วจะเห็นว่า เขาพูดว่า “บุญคุณต้องทดแทน” นี่ใช่เลย แต่วรรคหลังนี่ใช้ไม่ได้ “ความแค้นต้องชำระ” อันนี้ใช้ไม่ได้ ไม่ได้เรื่อง ไอ้ความแค้นต้องชำระนี่ไม่ได้เรื่อง พวกหนูจำไว้ ไม่เอา ความแค้นไม่เอา แต่บุญคุณนี่เราต้องทดแทน ถูกต้อง แล้วเขาสอนกันมาอย่างนั้น ในเรื่องสามก๊ก คนเก่งขนาด เก่งเหมือนคล้ายๆ ขงเบ้งนะ ชื่ออะไร ทีสี่ เกียดที ...... (40.07) อะไร ทีทีนั่นแหละแกไปอยู่กับโจโฉ คุณแม่รู้ว่าลูกชายไปอยู่กับโจโฉ เขียนจดหมายมาต่อว่า ลูกทำไมไปอยู่กับศัตรูของแผ่นดิน ไปอยู่กับคนทรยศต่อฮ่องเต้ มันไม่ถูกต้อง เขียนจดหมายมาแล้วก็ตามมาเยี่ยมลูก มาคุยกับลูก คุยกับลูกแล้วคุณแม่เห็นว่าลูกนี่ไม่ถูกต้อง คัดค้าน แม่ฆ่าตัวตาย แม่ฆ่าตัวตายเลย เพราะลูกไปอยู่กับคนเนรคุณต่อพระมหากษัตริย์ ฆ่าตัวตาย ฆ่าตัวตายแล้ว ลูกชายพอแม่ตายเอาไปฝังตามฮวงซุ้ย เขานุ่งขาวห่มขาวไว้ทุกข์กินเจ ไปอยู่ที่ฮวงซุ้ย ๓ ปี แสดงความกตัญญูกับคุณแม่ ๓ ปี แล้วก็อยู่กับโจโฉไม่เคยให้ความคิดความเห็น โจโฉถามอะไรก็ไม่ค่อยตอบ ไม่เป็นประโยชน์ บ่ายเบี่ยงไปเสีย เพราะรู้ว่าโจโฉมันคนคดในข้องอในกระดูก เรียกว่า มันไม่ถูกต้อง เขาไม่ช่วย คนอย่างนั้น เขาเคารพแม่ เชื่อฟังแม่ แม่ตายแล้วก็ไปอยู่ที่หลุมศพแม่ถึง ๓ ปี
ขงจื๊อ ปรัชญาเมธีผู้มีชื่อของจีนก็แบบเดียวกัน แม่ตายแล้วก็ไปอยู่ที่ศพแม่เป็นเวลา ๓ ปี เพราะความเคารพ กตัญญูกตเวทีต่อแม่ คนอย่างนี้ไม่ทำชั่ว เพราะว่าทำชั่วไม่ได้ คนรักพ่อรักแม่ รักครูบาอาจารย์นี่ทำชั่วไม่ได้ ไว้ใจได้
ถ้าเราจะเอาคนเข้ามาร่วมค้า ร่วมขาย ร่วมหุ้น ร่วมทุนนะต้องดูว่าคนนี้มีคุณธรรมคือความกตัญญูขนาดไหน ถ้าเห็นว่าเป็นคนหนักแน่นในความกตัญญูแล้วเอามาเถิด เอามาเป็นลูกเขยก็ได้ เอามาเป็นลูกสะใภ้ก็ได้ มาร่วมหุ้นทำมาค้าขายก็ได้ จะไม่ทรยศ คนประเภทนี้ไม่ทรยศ เพราะฐานทางจิตใจเขามั่นคง เขาสำนึกอยู่ว่าคนนี้เป็นประโยชน์แก่เรา ให้น้ำเราดื่ม ให้ข้าวเรากิน ให้ที่อยู่อาศัยแก่เรา เราได้รับความสุข ความสบายเพราะคนนี้ เขาจะไม่ประทุษร้าย เขาจะตอบแทนบุญคุณ คนอย่างนี้คบได้ แต่ถ้าคนใดที่ไม่มีความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ หรือใครที่ทำประโยชน์แก่ตน เดินห่างๆ คบไม่ได้ คนประเภทนั้น คบไม่ได้เพราะเขาไม่มีพื้นฐานแห่งความกตัญญู
ความกตัญญูกตเวทีเพียงอย่างเดียว ถ้าทุกคนประพฤติปฏิบัติแล้วโลกนี้จะสงบ จะไม่วุ่นวาย จะไม่มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันเพราะมีพื้นฐานคือกตัญญูกตเวที คนญี่ปุ่นนี่เป็นชาติที่หนักแน่นในกตัญญูเหมือนกัน เขานับถือบรรพบุรุษมาก ลัทธิชินโตของญี่ปุ่นนี่ เคยสอนคนญี่ปุ่นทุกคนให้เคารพบรรพบุรุษ แม้ตายไปแล้วก็ยังเคารพ ยังนับถืออยู่ตลอดเวลา
วัดของพวกพระญี่ปุ่น นิกายญี่ปุ่น พระไม่เหมือนกับของเรา นุ่งห่มไม่เหมือนกัน อากาศมันผิดกัน แต่ในวัดเขา เขามีที่ของอาจารย์ ที่นั่งของอาจารย์ ตายไปแล้ว เขาทำไว้เรียบร้อย มีที่นั่ง มีหมอน มีกระโถน มีกาน้ำชา กาน้ำเย็น เขาต้องจัดต้องวางไว้เรียบร้อย แล้วทุกวันเขาต้องเข้าไปกราบ ลูกศิษย์ทุกคนต้องไปกราบที่ตรงนั้น ไปปัดที่หลับที่นอน ไม่มีอาจารย์มานอนแล้ว แต่เขาปัดกวาด ปฏิบัติเหมือนอาจารย์ยังอยู่ เขาทำอย่างนั้น แล้วเขารู้ว่าอาจารย์นี้เป็นลูกศิษย์อาจารย์นั้น อาจารย์นี้ลูกศิษย์อาจารย์นั้น เขาสืบไปโน้นกี่ชั่วคนก็ไม่รู้ จนไปถึงว่า ต้นอาจารย์ของเขาเป็นลูกศิษย์ท่านมหากัสสปะ สืบไปตั้งเป็นพันปีว่ามาจากท่านมหากัสสปะ มาตังคะ คนละองค์กับกัสสปะ กัสสปะ มาตังคะ นำศาสนามาสู่ประเทศจีน แล้วองค์นั้นรับต่อมาถึงญี่ปุ่น องค์นั้นรับต่อๆ มาเขาจำได้หมด เขากราบเขาไหว้ เขาบูชา คนอย่างนี้จะไม่กระทำอะไรเสียหายเพราะมีความกตัญญู
ชาวจีนสมัยก่อนเขาไม่มีรูปถ่าย เขาเขียนใส่ไม้เขาเรียกว่า พระป้าย ในวังก็มีพระป้ายนะ ในหลวงท่านทำบุญวันหนึ่ง เขาเรียกว่า วันพระป้าย พระป้ายนั้นก็คือว่าป้ายชื่อของบรรพบุรุษ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ พ่อรัชกาลที่ ๑ ปู่รัชกาลที่ ๑ ไม่รู้กี่คน เขาจำ เขาสืบมาทั้งนั้น เขามีประวัติเป็นเรื่องมา จำไว้ เขียนไว้ในป้าย เอามาไว้บูชาในห้อง อยู่ที่วัดพระแก้ว หอพระเทพบิดรนั่นแหละ พระป้ายอยู่นั่นแหละ พอถึงปีเขาก็ ท่านก็ไปไหว้ ไปทำบุญอุทิศพระป้าย ให้แก่คนเหล่านั้น
การทำอย่างนั้นเราอย่านึกว่าเป็นเรื่องไม่จำเป็น มันเป็นเรื่องสร้างสรรค์คุณงามความดีให้ลูกหลานเหลนโหลนได้สำนึกว่าเราเกิดมาจากใคร ใครเป็นพ่อ ใครเป็นปู่ ใครเป็นย่าเป็นตาเป็นยายของเรา เขาสืบกันมา สำนึกในบุญคุณของคนเหล่านั้น เขาจึงอยู่กันเรียบร้อยมีความเจริญก้าวหน้า หากเขาทำอย่างนั้น ทุกวัดเขาทำหมด เขาสำนึก
ตานี้เราถ้าว่าพ่อแม่ตายแล้วก็ไม่มีอะไร ไม่ได้นึกถึง ไม่ได้กราบไหว้ ครูบาอาจารย์ตายแล้ว เผาแล้วก็แล้วกันไป ไม่ได้ทำพิธีอะไรเป็นเครื่องระลึกถึง มันก็ไม่มีเครื่องกระตุ้นใจให้เกิดความคิดถึงคนเหล่านั้น
ชาวจีนเขาฝังศพที่ฮวงซุ้ย พอเดือนเมษาเขาต้องไปเชงเม้ง การไปเชงเม้งคือไปทำความสะอาดหลุมศพ ไปถางหญ้า ไปตกแต่งต้นไม้ ปูนมันแตกมันร้าวก็เอาไปยา ไปทำให้เรียบร้อย เป็นอุบายรวมญาติ ลูกหลานเหลนโหลนมีกี่คนต้องไปประชุมกัน แล้วก็มีคนหนึ่งต้องพูดให้คนที่มาฟังว่าคนที่นอนอยู่นี่คือใคร มีความสำคัญต่อชีวิตของพวกเราอย่างไร ท่านมาจากเมืองจีนเอาอะไรมา มาเสื่อผืนหมอนใบ ลอยเรือเขามาทำงานเป็นลูกจ้าง แต่พอถึงประเทศไทยแล้ว ตั้งเนื้อตั้งตัวได้กลายเป็นเถ้าแก่ ตั้งห้างบริษัทให้เราทั้งหลายได้อยู่ได้อาศัย เขานึกถึง เขาเซ่น เขาไหว้ เขาจุดธูปจุดเทียนบูชาทุกวัน นั่นเป็นการแสดงคุณธรรม คือความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องรักษาน้ำใจระหว่างสมาชิกในวงศ์สกุล เขาจึงอยู่ได้ด้วยความเรียบร้อย
อันนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องเล็กน้อย หากเป็นเรื่องสำคัญที่เขาทำกันอยู่ในสังคมโลก ชาวไทยเราก็เป็นอย่างนั้น ต้องนึกถึงครูบาอาจารย์ เราเป็นนักเรียนนี่จำชื่อครูไม่ค่อยได้แล้ว บางคนพอออกแล้วจำไม่ได้ ใครสอนชั้นประถมหนึ่ง ประถมสอง ประถมสาม ประถมอะไรต่ออะไร ครูชั้น ม.๑ ฉันลืมหมดแล้ว จำไม่ได้ นึกไม่ออกแล้ว เพราะไม่เคยนึกนั่นเอง
หลวงพ่อพูดแล้วเหมือนกับอวด หลวงพ่อจำได้หมด เดี๋ยวนี้ยังจำได้ ว่าครูสอนชั้นประถมหนึ่งคือใคร ดุขนาดไหน ตีมือด้วยไม้อะไร เวลาตีทำหน้าอย่างไร มันยังเป็นภาพอยู่ในใจ ยังจำได้ ถ้าครู ป.๒ ชื่ออะไร ป.๓ ชื่ออะไร ครูตอน ป.๓ เพิ่งมาตายที่กรุงเทพฯ ตายแล้ว ตีเจ็บเหมือนกัน ไม้ตียาว ครู ม.๑ ก็ดุ แต่ว่ารักลูกศิษย์ ให้อ่านภาษาอังกฤษ อ่านไม่ได้ บอกให้นั่งพอตอนเย็น เธอมานี่ เอ้า, นึกว่าครูเรียกไปเฆี่ยนอีกแล้ว ไม่เฆี่ยนหรอก
(คุณครู) เธอทำไมเพิ่งมาเขาเปิดตั้งนานแล้ว
(ลูกศิษย์) มันไม่ใช่เรื่องผม เรื่องของพ่อ พ่อไม่พามา แล้วผมจะมาอย่างไรครับ
(คุณครู) เออ, แล้วทำอะไรตอนเย็น
(ลูกศิษย์) ก็ไม่มีอะไร กินข้าวแล้วก็เตะลูกมะงั่วเล่น มันเป็นผลไม้ชนิดหนึ่ง เตะกันต่างลูกฟุตบอลในลานวัด
(คุณครู) เตะลูกมะงั่ว มันก็เปรี้ยวเหมือนลูกมะงั่วหละ ทีหลังกินข้าวแล้วไปที่บ้านฉันนะ เอาหนังสือไปด้วย
นี่ดูสิ น้ำใจครู เรียกไปสอนกวดวิชา สอนทุกวันๆ ๆ จนกระทั่งอ่านทันเพื่อน จึงหยุด ไม่เคยเรียกร้องอะไร มีแต่ให้ ไม่เคยเรียกร้องว่าต้องเอาเงินมาให้ฉันค่าสอน ครูไม่พูด ครูละอายพูดไม่ออก จะไปเรียกเอาอะไรจากลูกศิษย์ไม่ได้ สมัยนี้ครูกวดวิชาให้แก่ศิษย์คิดเอาสตางค์ สอนในโรงเรียนไม่ค่อยสอนเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ไปสอนกวดวิชาเอาสตางค์ คุณค่ามันลด เด็กมันก็ไม่รู้จักรัก ไม่รู้จักเคารพ
หลวงพ่อยังนึกถึงครูคนนั้นอยู่ จำหน้าได้ ถ้าจะเป็นนักศิลปิน นักเขียนภาพ เขียนได้ เขียนรูปครูคนนั้นได้ หน้าตาเวลาดุเป็นอย่างไรก็ยังเขียนได้ มองเห็นภาพ นึกแล้วมองเห็นภาพ ครูแต่ละคนมองเห็นอยู่ทั้งนั้นที่สอนเรามา ชั้นมัธยมหนึ่งครูชื่อนั้น ม.๒ ครูนั้น ม.๓ ครูนั้น ม.๔ ครูชื่อนั้น จำได้หมด ยังอยู่ในห้วงนึก ยังนึกได้ แล้วก็นึกทุกวัน ก่อนจะหลับจะนอนก็ยกมือไหว้ นึกถึงพ่อแม่ ครูทุกคน อาจารย์ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ พระราชา มหากษัตริย์ที่ได้รักษาแผ่นดินให้เราได้อยู่ได้อาศัย นึกถึง แล้วก็แผ่ส่วนบุญไปให้ทุกคืนเราทำอย่างนั้น เป็นการแสดงความสำนึก มีความกตัญญูกตเวที
เดี๋ยวนี้ความกตัญญูกตเวทีมันจะตายอยู่แล้ว จะตายอยู่แล้ว เจ็บหนัก ความกตัญญูเจ็บหนักเวลานี้ จะเข้าขั้นโคม่าอยู่แล้ว เพราะลูกไม่ค่อยนึกถึงพ่อแม่ ศิษย์ไม่ค่อยนึกถึงครูอาจารย์ อะไรต่ออะไรไม่ค่อยนึกถึง แล้วก็แล้วกันไป หมดกัน นี่มันจะเสียหาย สังคมจะลำบาก ชีวิตจะตกต่ำ
จึงใคร่ขอฝากหนูๆ ที่เป็นนักเรียนอยู่ให้ช่วยกันสร้างคุณค่าทางจิตใจให้มีความกตัญญูกตเวทีไว้ ถามตัวเองบ่อยๆ ใครเกิดเรามา ใครเลี้ยงเรามา ใครให้สตางค์เราใช้ ใครช่วยเหลือเรา ถามทุกวัน ไปถามที่กระจกนะ ถ้าว่าคุณแม่ตายแล้วก็ไปดูรูป แล้วก็นึกถึงว่าเมื่ออยู่นี่ท่านสอนอะไร ท่านเตือนอะไร ท่านแนะนำอย่างไร ดู จะเกิดความตื้นตันใจ บางทีพูดไม่ออกเพราะตื้นตันใจ คิดถึง แล้วเราก็ตั้งใจว่า จะเป็นคนดีของพ่อแม่ เป็นคนดีของครู เป็นคนดีของประเทศชาติ เป็นคนดีของแผ่นดินผืนนี้ จะไม่ประทุษร้ายต่อแผ่นดินที่เราอยู่อาศัย เราจะไม่ทำตนให้เป็นคนหนักแผ่นดิน แต่จะทำตนให้เป็นประโยชน์แก่แผ่นดินอยู่ตลอดเวลา ถ้าตั้งใจทำอย่างนี้รับรอง ว่าเราคนหนึ่งจะเป็นคนที่มีคุณมีค่า เป็นประโยชน์แก่ครอบครัว แก่ประเทศชาติ แก่ลูก เพราะเราคิดจะเป็นคนดี อันนี้สำคัญ
พวกหนูนักเรียนจำไว้ด้วย คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องช่วยลูก ช่วยสอนช่วยชี้ช่วยแนะ ให้ลูกได้เกิดความสำนึกในบุญคุณของสิ่งต่างๆ เที่ยวสอนเตือนเข้าไว้ให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร จะได้เป็นคนที่รู้จักรักษาตัวรอดปลอดภัย ชีวิตจะเป็นไปด้วยดีตลอดไป ไม่ตกต่ำ ดังที่กล่าวมาก็สมควรแก่เวลา ขอขอบใจพวกหนูนักเรียนที่นั่งฟังกันด้วยความตั้งใจ หวังว่าคำพูดของหลวงพ่อหลวงปู่นี้ จะเป็นประโยชน์ในการสร้างชีวิตจิตใจของเธอทั้งหลาย สิ่งใดที่มันไม่ถูกต้อง ไม่ดี ไม่งาม ถ้าเราเคยทำอยู่บ้าง ก็เลิกเสีย
มาวัดนี่เรามาชำระชะล้าง เรามาอาบน้ำพระธรรม วัดนี้เหมือนกับสระน้ำใหญ่ มีน้ำใสสะอาด ปราศจากสิ่งโสโครก น้ำนั้นก็คือพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นเอง เราก็มาอาบพระธรรมชำระกาย ชำระวาจา ชำระจิตใจให้สะอาดปราศจากสิ่งชั่วสิ่งร้าย เราจะได้อยู่อย่างคนดี มีชีวิตเจริญก้าวหน้าในทางที่ถูกที่ชอบ ทำให้พ่อแม่ชื่นใจ ครูอาจารย์ชื่นใจ ใครได้พบได้เห็นแล้วก็มีความชื่นใจว่าได้พบเด็กดี ได้พบคนดี อยู่ในที่ใดอย่าทำอะไรให้ใครรำคาญ ให้ใครเดือดร้อน ต้องคอยเตือนเสมอว่าฉันเป็นไทย ฉันเป็นมนุษย์ ฉันเป็นพุทธบริษัท ฉันจะคิดเรื่องดี จะพูดเรื่องดี จะทำเรื่องดี จะคบคนดี จะไปสู่ที่ดีๆ ตลอดเวลา ขออวยพรให้ทุกคนเป็นอย่างนี้จงทั่วกันทุกๆ คนเทอญ