แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านนั่งพัก ณ ที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งสามารถจะได้ยินเสียงชัดเจน แล้วจงตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
เรามาวัดในหน้านี้ ถ้ามองดูในบริเวณวัดจะเห็นบทเรียนเป็นเครื่องสะกิดใจอยู่อย่างหนึ่ง คือจะเห็นใบไม้แห้งร่วงเต็มอยู่ทั่วๆไป ตามวัดที่ไม่ได้กวาดไม่ได้เอาไปเผา ก็ถือว่าใบไม้แห้งนั้นเป็นประโยชน์แก่ต้นไม้ต่อไปจึงไม่ทำลาย ใบไม้ที่เราเห็นนั้นเป็นบทเรียน เป็นเครื่องสอนใจให้เราได้รู้ได้เห็นว่า สรรพสิ่งทั้งหลายมีการเหี่ยวแห้งร่วงโรยและร่วงไปจาต้นเหมือนกับใบไม้ เป็นเรื่องที่เราควรจะน้อมใบไม้แห้งนั้นมาที่ใจของเรา เหมือนบทที่เราสวดว่า “โอปะนะยิโก” โอปะนะยิโกหมายความว่าน้อมเข้ามาที่ตัว เห็นอะไรภายนอกแล้วก็น้อมมาที่ตัว เช่นเห็นใบไม้แห้งแล้วก็บอกกับตัวเราเองว่าชีวิตเหมือนกับใบไม้
ใบไม้นี่เมื่อก่อนมันผลิออกมาจากยอดเป็นใบเล็กๆ แล้วค่อยเจริญเติบโตขึ้นจนกระทั่งเป็นใบไม้แก่แล้วก็สีเหลือง แล้วก็ร่วงจากขั้วลงมากองอยู่ที่พื้นดิน ก็เป็นเครื่องเตือนใจว่า ชีวิตเราแต่ละคนนั้น มันก็มีสภาพเหมือนกับใบไม้ คือวันหนึ่งจะต้องร่วงลงกองอยู่ที่พื้นดิน แต่ว่าชีวิตของคนเรานั้น เมื่อร่วงลงมาแล้วเขาจะทิ้งไว้เหมือนใบไม้แห้งไม่ได้ เพราะว่าเป็นของน่าเกลียดน่าชังก็ต้องเก็บเอาไปเผา เอาไปฝังตามประเพณีที่เคยกระทำกันมา
เราเห็นใบไม้แล้วก็ต้องเตือนใจตัวเราเองไม่ให้ประมาท ไม่ให้มัวเมา ไม่ให้หลงใหลในเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา แต่เราจะต้องใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา ให้เห็นว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่มีอะไรที่น่าเข้าไปยึดถือ ไม่มีอะไรที่น่าจะเอามาเป็นของตัว เพราะธรรมชาติมันเป็นอยู่อย่างนั้น ร่างกายของเราก็เป็นสมบัติของธรรมชาติ มีการเกิด มีการเปลี่ยนแปลง แล้วก็ต้องมีการแตกดับไปเป็นธรรมดาอันนี้ก็เป็นบทเรียนเป็นเครื่องสอนใจให้เราได้พิจารณา ขณะที่เราเข้ามาในวัด
แม้ที่เราเห็นนอกวัดก็มีสภาพเช่นเดียวกัน เพราะสิ่งทั้งหลายเป็นเช่นนั้นตัวเราก็เป็นส่วนหนึ่งของโลก เราก็จะเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน เราหนีจากความเป็นเช่นนั้นไปไม่ได้ ให้ได้พิจารณาเป็นข้อเตือนใจ ก็จะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเราประการหนึ่ง เพราะว่าการศึกษาธรรมะตามหลักพุทธศาสนาแล้วนั้น เราศึกษาได้จากทุกสิ่งทุกอย่างที่เราได้พบได้เห็น สิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา ก็เป็นบทเรียนทางธรรมะ แม้ตัวเราเองก็เป็นบทเรียนทางธรรมะอยู่ในตัว แต่ว่าปกติคนเรานั้น ไม่ค่อยได้มองที่ตัว มักจะมองที่สิ่งอื่นภายนอกตัว ถ้ามองเป็นมันก็เป็นคุณค่า เป็นประโยชน์แก่ชีวิต ไม่เป็นก็ไม่ได้คุณค่าอะไร มองสักว่าพอผ่านพ้นไปๆ เท่านั้นเอง แต่ถ้าเรามองเป็นเราก็เอามาพิจารณาว่าสิ่งนั้นคืออะไร มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปอย่างไร เราได้พิจารณาเห็นด้วยตัวเราเอง ปัญญามันก็เกิดขึ้นเรื่อยๆ เพราะการคิดการค้นในโลกอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นโดยปกติในชีวิตประจำวัน เราควรจะอยู่ด้วยการศึกษา อย่าอยู่ด้วยการไม่ศึกษา อยู่ด้วยการศึกษาก็พิจารณาสิ่งเหล่านั้นที่มันเกิดขึ้นให้รู้ว่าคืออะไร มันให้อะไรแก่เรา เราควรเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นในรูปใด เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาชีวิตต่อไป นี้เป็นเรื่องที่น่าศึกษาน่าสนใจประการหนึ่ง
ญาติโยมได้พบได้เห็นอยู่ทุกวันเวลา เราเดินทางไปไหนๆ ก็ได้เห็นสิ่งต่างๆเช่น เห็นรถยนต์ชนกัน หรือว่าเห็นรถยนต์มีคนมาทำลายให้ย่อยยับไป คนตาย คนบาดเจ็บ ตามที่ต่างๆ หรือแม้เราอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ได้เห็นภาพที่เขาประทุษร้ายกันเบียดเบียนกัน เราก็ต้องพิจารณาว่า เอ้อ ชาวโลกนี้หนอทำไมไม่หันเข้าหาธรรมะ ไม่เอาธรรมะมาเป็นหลักครองใจ ไม่เอาธรรมะมาเป็นแนวคิดในชีวิตประจำวัน ทำร้ายกันทำไม เบียดเบียนกันทำไม ควรจะอยู่กันด้วยความรัก ควรจะอยู่กันด้วยความเมตตาปรารถนาดีต่อกัน แต่ว่าเขาไม่ได้คิดอย่างนั้น อยู่ไม่เป็นเพราะว่าไม่ได้เคยศึกษาธรมะ ไม่เข้าใกล้ธรรมะ ไม่ได้รับคำสอนที่ถูกต้อง เลยไม่รู้ตามสภาพที่เป็นจริง เช่นไม่รู้จักว่าชีวิตคืออะไร อะไรเกิดขึ้นในชีวิต มันมาจากอะไร เราควรจะแก้ไขสิ่งนั้นโดยวิธีใด
เราไม่รู้ไม่เข้าใจ เมื่อไม่รู้ไม่เข้าใจก็หลง เข้าใจผิดแล้วก็คิดผิด พูดผิด ทำผิดด้วยประการต่างๆอันเป็นเรื่องที่สร้างปัญหาขึ้นในชีวิต แต่ถ้าเราได้ศึกษาธรรมะ เอาไปคิด ไปตรอง ไม่ว่าอะไรที่เกิดขึ้น เราก็มองแล้วจะเกิดประโยชน์ เช่นเห็นสิ่งดีก็เป็นเครื่องเตือนใจ ให้เราสร้างสรรค์ความงามความดี ให้อยู่ด้วยความดี ชีวิตจะมีค่า แต่ถ้าเราเห็นสิ่งไม่ดี เช่นว่าคนเขาด่ากัน เขาทะเลาะกัน เราก็ควรมองว่า คน ๒ คนนั้น ไม่มีธรรมะเป็นหลักครองใจ ไม่มีความยับยั้งชั่งใจ ปล่อยให้ความชั่วครอบงำใจ จึงได้ปล่อยสิ่งที่เป็นคำพูดที่ไม่เพราะ ท่าทางที่ไม่น่าดู อะไรต่างๆออกมา เพราะว่าเขาไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ถูกต้อง
การแสดงอย่างนั้นเป็นการแสดงความต่ำทางจิตใจ แสดงว่าเป็นคนไร้ศีลไร้ธรรม ไร้ความนึกคิดในทางที่ถูกที่ชอบที่ดีที่งาม จึงได้พูดออกมาเช่นนั้นได้ทำเช่นนั้น เราเห็นแล้วก็ควรจะเตือนตัวเราเองว่าขออย่าให้เราเป็นเช่นนั้นเลย ขอให้เราพ้นจากความเป็นเช่นนั้นไปเสียทีเถิด อย่าอยู่ในสายในคลองแห่งความชั่วร้าย แต่เราจะออกความชั่วไปอยู่กับความดีความงาม เป็นเครื่องเตือนใจไว้ เป็นเครื่องพิจารณา ก็เป็นบทเรียน เป็นเครื่องสอนใจทั้งนั้น
เราคิดได้ก็ได้ประโยชน์ เรามีคนในครอบครองเราจะสอนเขาก็สอนให้เขาคิดให้เขานึก ให้เขารู้จักแยกแยะว่าอะไรดีอะไรชั่ว อะไรจะเป็นเหตุให้เกิดความเสื่อม อะไรจะเป็นเหตุให้เกิดความเจริญ ให้รู้จักแยกแยะพิจารณา เพราะว่าคนอื่นจะสอนเราอยู่ตลอดไปไม่ได้ เราก็ต้องสอนตัวเราเอง ใช้หลักว่าพิจารณาตัวเอง ตักเตือนตัวเอง แก้ไขตัวเอง เพื่อทำให้ตัวเราดีขึ้น จากสิ่งแวดล้อมนั้น หรือว่าใครเขามาด่าว่าเราในรูปต่างๆ ทางที่ถูกนั้นเราก็ไม่ควรโกรธเขา แต่ควรคิดว่าคนนั้นเขาขาดคุณธรรม เขาไม่มีศีลไม่มีธรรมประจำจิตใจ จึงได้เปล่งวาจาที่ไม่น่ารัก แสดงกิริยาที่ไม่น่าดูต่อเรา ถ้าเราจะไปโกรธเขา ไปเกลียดเขา ไม่มีอะไรดีขึ้น ตัวเราก็ไม่ขึ้น แล้วคนนั้นก็ไม่ดีขึ้นเหมือนกัน เราจะไปทำอย่างสิ่งชั่วๆได้อย่างไร
พระพุทธเจ้าสอนว่า คนที่ด่าเราคนนั้นเป็นคนเลวอยู่แล้ว ถ้าเราไปด่าตอบไปตีตอบ เราก็จะเป็นคนเลวกว่าคนนั้นเข้าไปอีก คนที่ทำชั่วก่อนเราเป็นคนเลว แต่ถ้าเราไปทำชั่วเหมือนเขาเราก็เลวกว่าคนๆนั้น เราจึงไม่ควรจะลดตัวเองลงไปเป็นคนเลวคนต่ำอย่างนั้น แต่เราควรจะยกระดับจิตใจของเราให้สูงขึ้น ให้พ้นจากการกระทำเช่นนั้น ไม่เอาแบบอย่างของคนนั้นมาใช้ แต่เราเอามาเป็นเครื่องสะกิดใจ ให้เกิดความสำนึกรู้สึกผิดชอบชั่วดี แล้วกระทำสิ่งที่ตรงกันข้าม เช่นเขาด่าเราเราก็ไม่ด่าเขา เขาตีเรา เราก็ไม่ตีเขา เขาทำอะไรต่อเราให้เป็นทุกข์เราก็ไม่ทำตอบ เราให้อภัย
เราอยู่ด้วยความรัก อยู่ด้วยความเมตตา ปรารถนาดีต่อกัน ถ้าเราทำอย่างนี้ก็เรียกว่าเราไม่เพิ่มความชั่ว แล้วก็ไม่เพิ่มคนชั่วขึ้นในโลก พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่าเพิ่มความชั่ว อย่าเพิ่มคนชั่วขึ้นในสังคม แต่ให้เราช่วยกันลดความชั่ว ลดคนชั่วให้มันเหลือน้อยลงไป ลดที่คนอื่นไม่ได้ เราก็ลดที่ตัวเราเอง ด้วยการเตือนตัวเอง บอกตัวเองไว้ว่าอย่าทำเช่นนั้น เพราะการทำเช่นนั้น มันไม่ดี
เห็นใครทำอะไรไม่ดี เราก็รีบบอกตัวเองว่า เราอย่าทำเช่นนั้น เราอย่าคิดเช่นนั้น เราอย่าพูดเช่นนั้น เราอย่าไปคบหาสมาคมกับคนประเภทอย่างนั้น เพราะสิ่งนั้นมันแปดเปื้อน มันสกปรก เราเข้าใกล้สิ่งสกปรก ตัวเราก็สกปรกไปด้วย ถ้าเราไม่ระมัดระวัง แต่ถ้าเรารู้จักระมัดระวัง ยับยั้งชั่งใจ อะไรมันก็ไม่เปื้อนเรา เราก็จะอยู่อย่างเรียบร้อย อยู่ด้วยใจเย็นอยู่ด้วยใจสงบ เพราะว่าเราไม่ปล่อยให้สิ่งนั้นมาครอบงำจิตใจของเรา เราก็อยู่รอดปลอดจากอันตราย อันนี้เป็นเรื่องที่ควรจะได้นำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ในสังคมปัจจุบันนี้
เพราะสังคมปัจจุบันนี้ มีความชั่วเพิ่มขึ้น มีคนชั่วเพิ่มขึ้น ก็เพราะเอาอย่างกันในทางชั่วนั้นเอง ไม่ได้ใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา ว่าคำพูดเช่นนั้นการกระทำเช่นนั้นการแสดงออกเช่นนั้น เป็นฝ่ายดีหรือฝ่ายชั่ว เป็นฝ่ายทุกข์หรือฝ่ายสุข เป็นฝ่ายเสื่อมหรือเป็นฝ่ายเจริญ เราต้องรู้จักแยกแยะวิเคราะห์วิจารณ์ ถ้ามองเห็นว่ามันเป็นฝ่ายไม่ดี ฝ่ายไม่เจริญไม่ก้าวหน้า เราจะทำทำไมในรูปเช่นนั้น ในเรื่องเช่นนั้น เราก็ควรจะใช้สติปัญญา เป็นเครื่องบังคับตัวเอง ควบคุมตัวเอง ไม่ให้เกิดการกระทำเช่นนั้นขึ้น เราก็เอาตัวรอดปลอดภัย
เรากลายเป็นเหมือนกับเกลือที่ทำให้สิ่งทั้งหลายไม่เน่าไม่เปื่อย เช่นปลาสด ถ้าเราใส่เกลือมันก็ไม่เน่า เนื้อสดใส่เกลือมันก็ไม่เน่า เราจะอยู่ในโลกอย่างเกลือ เพื่อไม่ให้คนอื่นพลอยเน่าพลอยเหม็น ด้วยเราวางตัวเราเองไม่ให้เน่าไม่ให้เหม็นด้วยวิธีการต่างๆ อย่างนี้ก็เป็นการดีการชอบ ตามหลักการในทางพระพุทธศาสนา
อีกประการหนึ่งเรามาวัดนี้ได้ทำการไหว้พระสวดมนต์ตอนเช้า ตอนบ่ายมาเป็นโยมอุบาสก อยู่นอนวัดเราก็ไหว้พระกันตอนเย็น ไหว้พระทั้งเช้าทั้งเย็น เป็นคำสอน เป็นคำสะกิดใจให้เราเกิดความคิดถูกต้อง อย่าเพียงแต่ไหว้เฉยๆ ซึ่งเวลาใดที่เราไม่ได้นั่งไหว้อย่างนั้น ไม่ได้ทำพิธีอย่างนั้น เราก็เอาคำเหล่านั้นขึ้นมาพิจารณา เพื่อให้เกิดปัญญา เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจถูกต้อง เช่นเราสวดคำว่า อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ ภะคะวา พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันต์ ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง พุทธัง ภะคะวันตัง อภิวาเทมิ ข้าพเจ้าอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มีคำแปลแล้วอธิบายคำแปลไปด้วยในตัวให้เราเกิดความเข้าใจ ถ้าเราไปคิดไปตรอง
เพราะฉะนั้นเวลาใดเราว่างๆ เราก็ทำในใจให้แยบคาย ภาษาธรรมะเรียกว่ามนสิการ มนสิการก็คือการคิดโดยรอบคอบ การคิดโดยละเอียด การคิดหาเหตุผล เพื่อให้เกิดความรู้เกิดความเข้าใจในสิ่งนั้นลึกซึ้งถูกต้องมากยิ่งขึ้น จนสามารถเอาสิ่งนั้นไปใช้ เป็นหลักปฏิบัติช่วยแก้ไขปัญหาชิวิตของเราได้ อันนี้เป็นสิ่งควรพิจารณา เช่นเราสวดบทแรกบูชาพระรัตนตรัย ว่าอะระหัง สัมมา สัมพุทโธ ภะคะวา คำบาลีมี ๓ คำคือ อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา เป็นคำที่เรียกว่าเป็นหัวใจก็ได้ เป็นเรื่องย่อที่สุดเกี่ยวกับพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วก็ต้องแปลว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันต์ เป็นพระอรหันต์หมายความว่าอย่างไร คือดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกสิ้นเชิง ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง พุทธัง ภะคะวันตัง อภิวาเทมิ ข้าพเจ้าอภิวาทพระผู้มีพระเจ้า ผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบาน เป็นคำอธิบายไปด้วยในตัว
ภาษาที่เราใช้ เราเรียกพระองค์ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า แปลเป็นภาษาไทยอย่างนั้น แต่ชาวอินเดียทั่วไปเขาเรียกว่า ภะคะวัน พุทธะ เช่นเรามาเห็นรูปพระพุทธรูป เขาก็ว่าภะคะวัน พุทธะ แล้วเขาก็ยกมือไหว้หรือว่านั่งลงกราบแสดงความเคารพ ภะคะวัน เรามาเรียกภาษาไทยแปลว่าภะคะวา แปลว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นพระนามที่ใช้เรียก เราไม่เรียกพระองค์ว่าพระพุทธเจ้า เพราะถ้าเรียกว่าพระพุทธเจ้านี่เป็นการไม่ถูกต้อง ไม่เคารพพระองค์ เหมือนเราไปเจอใคร เราชื่ออะไร แล้วเราไปถึงถามชื่อเขา เช่นเขาชื่อนายแก้ว พอเราเจอก็ อ๋อ นายแก้ว จะไปไหน อันนี้ไม่สุภาพไม่เรียบร้อย ไม่ต้องออกชื่อเขาอย่างนั้น แต่เราควรจะพูดว่า สุดแล้วแต่ฐานะท่าน จะไปไหน คุณจะไปไหน อะไรต่างๆ เขาเรียกว่าใช้สรรพนาม ไม่ใช้ตัวชื่ออย่างของผู้นั้น
พระผู้มีพระภาคก็เหมือนกันเราใช้เรียกพระพุทธเจ้า เพราะถ้าเราเรียกว่าพระพุทธเจ้า ไม่เป็นการเคารพต่อพระองค์ เราจึงเรียกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นการแสดงความเคารพ คำว่าพระผู้มีพระภาคนั้นหมายถึงอะไร หมายถึงความกรุณาปราณี ต่อสัตวโลก (19.30) ทั้งหลาย
เพราะพระองค์พระผู้มีพระภาค ก่อนที่จะเป็นพระพุทธเจ้า ออกไปบวช การที่ไปบวชนั้นพระองค์คิดอย่างไร คือว่ามองเห็นความทุกข์ของชาวโลก มองเห็นความทุกข์ของชาวบ้านชาวเมืองทั่วไป ด้วยการเสด็จไปประพาสเมือง ไปวันแรกเห็นคนแก่ วันที่สองเห็นคนเจ็บไข้ วันที่สามเห็นคนตาย เขาหามไปป่าช้า วันที่สี่ก็ได้เห็นสมณะที่เป็นนักบวช เมื่อได้เห็นนักบวชนี่พระองค์ตรัสว่า สาธุโขปัพพัชชา แปลว่า บวชไทยดีนักแล บวชนี้ดีหนอ อะไรอย่างนั้น เป็นเครื่องสะกิดใจให้พระองค์คิด ขั้นแรกเห็นคนแก่ เอาไปคิด คิดว่าทำไมคนต้องแก่ ความแก่นี้ไม่น่าดู ไม่น่ารัก ไม่น่าชม
พระองค์ถามนายฉันนะที่ขับรถพาพระองค์ไปเที่ยว ฉันนะ นั่นอะไร ฉันนะบอกว่านั่นคนแก่ ร่างกายชำรุดทรุดโทรม ผิวหนังเหี่ยว ฟันหลุดหมดปากนัยน์ตาลึก เดินเหินก็ไม่คล่อง หลังคู้ หลังโก่ง สภาพที่ไม่น่าดู ท่านเห็นแล้วก็มีความไม่สบายพระทัย แล้วก็ถามว่าทุกคนต้องเป็นอย่างนี้หรือ นายฉันนะว่าเป็นทั้งหมด พระนางพิมพาก็ต้องเป็นอย่างนี้ นางฟ้อนรำที่มีชื่อเสียงเป็นดาราอยู่ในวังของพระองค์ก็ต้องเป็นอย่างนี้ เมื่อได้ฟังอย่างนั้นก็ไม่สบายพระทัย กลับไปวัง ไปนั่งคิด นั่งนึก ใต้ต้นไม้ในสวนในเรื่องความแก่
วันหลังไปเห็นคนเจ็บก็ไปคิดถึงเรื่องความเจ็บไข้ได้ป่วย ทำไมไม่ได้มีคนรักษาไม่ได้มีคนดูแล ปล่อยให้เขาลำบากอยู่ข้างถนน แล้วก็ไปเห็นคนตายก็รู้ว่า อ๋อ ชีวิตคนเรานี้ เกิดมาแล้วก็ต้องตาย
ถ้าหากเกิดมาแล้วตายไป ไม่ได้ทำอะไรไว้กับโลก ไม่ได้เปลื้องหนี้ที่เรามีต่อแผ่นดินแผ่นฟ้า ที่เราอยู่อาศัย การเป็นอยู่ของผู้นั้นไม่ประเสริฐ เป็นการตายที่ไม่ดี เพราะไม่ได้ตายด้วยใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ ท่านก็คิดถึงเรื่องเหล่านี้ทุกวันๆ ติดต่อกัน
แล้ววันพอไปเห็นนักบวช ก็โอ้ นักบวชนี่ดี ชีวิตเป็นอิสระ ไม่พัวพันกับอะไร ไปไหนก็ไปได้ เที่ยวไปไหนได้ เป็นกษัตริย์นี่ไปไหนไม่ได้ เวลาจะไปก็ต้องมีคนไปดูแลความปลอดภัย ห้อมล้อมติดตามไม่มีอิสรภาพ ไม่มีเสรีภาพสำหรับพระองค์เอง ต้องทำตามที่เขาบอกให้ทำทุกหนทุกแห่ง พระองค์ก็ไม่พอพระทัยที่จะอยู่อย่างนั้น อยากจะออกไปในป่า เหมือนนกติดกรง แม้จะมีข้าวกิน มีน้ำดื่ม มีอะไรพร้อม แต่มันก็อยู่ในกรง มันไปไหนไม่ได้ สู้นกในป่าไม่ได้ จะบินไปพุ่มไม้โน้น พุ่มไม้นี้ จะไปไหนก็บินไปได้ตามชอบใจ
พระองค์ก็คิดว่า เราจะออกจากกรงขังเสียที คือออกไปบวชนั่นเอง การออกไปบวชนั้นไปด้วยความคิดแบบที่จะทำประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ เรียกว่าออกไปด้วยความกรุณาปราณี หวังจะช่วยคนให้พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนทางใจ จึงได้ออกบวช การออกบวชของพระองค์นั้น เป็นประโยชน์แก่โลกมาก ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แม้พระองค์จะนิพพานไปแล้ว ทานที่พระองค์ทำยังเหลืออยู่จนกระทั่งบัดนี้ คนไทยได้ศึกษา ได้ปฏิบัติ ก็จะได้รับประโยชน์จากผลงานที่พระองค์ได้ทรงกระทำไว้ทุกประการ อันนี้เป็นผลที่พระองค์ได้ทรงกระทำ
เขาจึงเรียกพระองค์ว่าพระผู้มีพระภาคหรือว่าภะคะวัน หมายถึงผู้มีความปราณี เมตตาปราณีต่อเพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย คิดแต่จะให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ พูดอะไรก็จะพูดสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ ทำอะไรก็จะทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นความสุขแก่เพื่อนมนุษย์ จึงได้พระนามอย่างนี้ เราเรียกว่ากรุณา กรุณาคุณนี้เป็นพระคุณที่เราสวดทุกวัน
เมื่อใดเราเอ่ยนามว่า ภะคะวา ภะคะวัน ก็หมายความว่านึกถึงคุณธรรมของพระองค์ คุณธรรมนั้นก็คือความกรุณาปราณีต่อชาวโลกทั้งหลาย เราควรจะทำอย่างไรต่อไป เมื่อเราได้เห็นความกรุณาของพระองค์ ได้เสียสละเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่เพื่อนมนุษย์อย่างมากมายไม่มีใครจะเสียสละเท่า เพราะว่าผู้อื่นไม่มีอะไรจะต้องเสียสละ แต่พระองค์ของเรานั้น มีราชบัลลังก์รออยู่ จะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินแทนพ่อต่อไป แล้วจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ แต่พระองค์ไม่ต้องการ ความเป็นใหญ่ในบังลังก์ ต้องการที่จะออกไปช่วยเหลือคนให้พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนมากกว่า
พระองค์จึงได้ออกบวช บวชแล้วก็ไปศึกษาค้นคว้าในสำนักครูบาอาจารย์ต่างๆที่มีชื่อมีเสียงอยู่ในสมัยนั้น ได้ข่าวว่าใครเป็นคนเก่ง มีความรู้ มีความสามารถ ก็ต้องไปนั่งแทบเท้า กราบ ขอฝากตัวเป็นศิษย์ ไม่ได้คิดถึงอะไร ไม่ได้คิดถึงศักดิ์ศรีของความเป็นเจ้าฟ้าชายหรือเป็นอะไร เพราะออกบวชแล้ว มันก็หมดไปแล้วสิ่งเหล่านั้น ไม่มีในพระองค์แล้ว
มีแต่เรื่องการแสวงหาธรรมะ แล้วก็ไปศึกษาค้นคว้าปฏิบัติ ทำจริง ทำอะไรได้ทุกอย่างเหมือนกับอาจารย์ จนอาจารย์ที่สอนบอกว่า เรารู้อะไรท่านก็รู้อย่างนั้น เราทำอะไรท่านก็ทำได้อย่างนั้น เพราะฉะนั้นอย่าไปไหน อยู่ที่นี่แหละ ช่วยสอนลูกศิษย์ต่อไป แต่พระองค์ไม่ได้อยู่ในที่นั้น เพราะอะไร เพราะเห็นว่าเรื่องที่ได้เรื่องที่รู้ ยังไม่เป็นเรื่องเด็ดขาด ยังไม่ได้ตัดความทุกข์ให้หมด ยังไม่ได้ตัดกิเลสให้หมดไป มันหยุดได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว ยังไม่ถาวร จึงต้องไปศึกษาต่อไป ค้นคว้าต่อไป ใช้ชีวิตศึกษาค้นคว้าเป็นเวลาไม่ใช่น้อย คือตั้ง ๖ ปี
เราคิดดูว่าเป็นการศึกษาค้นคว้าที่หนัก บางครั้งก็ทรมานร่างกายจนผ่ายผอม เหลือแต่หนังหุ้มกระดูก เวลาลูบแขนนี่ ขนร่วงไปหมด เพราะว่าผอมเหลือเกิน เห็นว่าไม่ได้เรื่อง ก็เลยเปลี่ยนมาฉันอาหาร บำรุงร่างกายให้แข็งแรง แล้วก็ศึกษาค้นคว้าต่อไป จนได้สำเร็จเป็นพุทธะ คือเป็นผู้รู้ เป็นผู้ตื่น เป็นผู้มีความเบิกบานแจ่มใส เพลิงกิเลส เพลิงทุกข์ไม่มีอยู่ในพระทัย เพลิงกิเลสคือความร้อนที่เกิดจากกิเลส ร้อนจากความโลภ ร้อนจากความโกรธ ร้อนจากความหลง ความริษยา พยาบาท อาฆาตจองเวร สิ่งนี้มันร้อน
ให้เราสังเกตในตัวเราเอง เวลาเราโกรธใครนี่มันเย็นหรือมันร้อน ก็เห็นได้ อ๋อ มันร้อน ร้อนในอก ร้อนจนเหงื่อไหล แล้วกิริยาท่าทางก็หยาบคายพูดจาก็ไม่ไพเราะ ในตาก็ลุก เหมือนจะมองคน เผาคนได้ มันแสดงออกมา เรียกว่าเพลิงที่อยู่ในอก แสดงออกมา ในรูปต่างๆ ทำให้น่ากลัว ไม่อยากเข้าใกล้ เพราะฤทธิ์ของกิเลสที่เกิดขึ้นในใจ แล้วมันก็เป็นทุกข์
เราสังเกตตัวเราได้ ว่าเวลาใดเราโลภจัด เราจัดโกรธ เอาทำอะไร คิดอะไรที่มันไม่สมควรอยู่ในใจ ใจเราเป็นอย่างไร ใจเราร้อนไม่มีความสงบเย็น แล้วก็ไม่มีปัญญาที่จะคิดอะไร มืดไปหมด ตามืด ใจมืด ใจบอด ไม่มีแสงสว่างส่องใจ ใครพูดอะไรก็ไม่ได้ยิน ไม่ได้ฟังเพราะเกิดอารมณ์ร้อนรุนแรง
ถ้าร้อนรุนแรง บางทีก็ต้องใช้มือใช้ไม้ ลุกขึ้นตบตีกัน ใช้ไม้ตีศีรษะ เอามีดแทงพุงกัน ทำอะไรกันต่างๆ อย่างที่เราเห็นกันอยู่บ่อยๆ ที่มันเป็นเรื่องของกิเลส ที่เกิดขึ้นในใจแล้วมันก็เป็นอย่างนั้น มันเป็นความสุขหรือเปล่า มันเย็นหรือเปล่า มันสบายใจหรือเปล่า ไม่มีอะไรสบาย เราเองถูกเผา เผาตัวเราเองด้วยไฟกิเลสที่เกิดขึ้นแล้วเราก็เป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะไฟกิเลสมันเผา เมื่อถูกเผาเราก็เป็นทุกข์
เราไม่สบายใจด้วยประการต่างๆ แต่ไม่ได้ศึกษาธรรมะ ไม่เข้าใจธรรมะของพระพุทธเจ้าก็ไม่คิดว่าจะแก้อย่างไร มันเกิดขึ้นแล้วมันก็ดับหายไป บางทีก็ยาว บางทีก็สั้น เกี่ยวด้วยเวลา บางทีโกรธอยู่ตั้งวัน บางทีโกรธอยู่ ๓ วัน กินข้าวก็ไม่ได้ นอนก็ไม่หลับ เที่ยวเดินกระสับกระส่าย เหมือนชะมดติดจั่น วิ่งไปวิ่งมา เป็นความทุกข์ ความเดือดร้อน บางคนก็ทนไม่ได้ ทนไม่ได้ก็แทงตัวเอง ฆ่าตัวเอง ยิงตัวเอง กระโดดตึกตาย ทำอะไรต่างๆเพื่อให้มันตายไปเสีย
คนทำชั่วก็ไปสู่ที่ชั่วเราได้ยินข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์บ่อย ว่าคนนั้นกระโดดตึก ๔ ชั้นแหลกไปเลย สมองแหลกตาย ทำไมจึงต้องกระโดดอย่างนั้น เพราะกลุ้มใจ กลุ้มใจแล้วไม่รู้ว่าจะแก้กลุ้มอย่างไร เพราะคนประเภทนั้นไม่เคยเข้าวัด ไม่เคยอ่านหนังสือธรรมะ ไม่ได้สนทนากับผู้รู้ธรรมะ เป็นการชี้แนวทางชีวิต จึงต้องทำตนเป็นคนอย่างนั้น น่าเสียดาย น่าเสียดายชีวิต เขาควรจะอยู่ต่อไป ควรจะได้ทำประโยชน์แก่สังคมต่อไป แต่ว่ามาตัดตัวเองให้ถึงแก่ความตาย พ่อแม่เสียใจ ญาติพี่น้องเสียใจ คนทั้งหลายที่รู้ข่าวก็สลดใจ ว่าไม่น่าจะทำเช่นนี้เลย แต่มันเป็นไปแล้วเพราะความโง่ ความเขลา นั่นเอง ไม่ใช่เรื่องอะไร โง่เพราะไม่ศึกษาให้เกิดปัญญา ไม่มาวัด ไม่มาฟังธรรม ไม่อ่านหนังสือ ไม่เอาเทปไปเปิดฟัง มันก็มีปัญหา
เมื่อวานนี้ก็มีคนโทรศัพท์มารายหนึ่ง บอกว่ามีปัญหาหนักใจ ลำบากใจ ถามว่าปัญหาอะไร เล่าให้ฟังหน่อย แกก็บอกว่ามีพี่ชายอยู่ในบ้านเดียวกัน แต่เป็นคนชอบดื่มเหล้า ชอบเล่นการพนัน ชอบประพฤติเหลวไหล เวลาดื่มเหล้าแล้วกลับบ้านชอบหาเรื่องทะเลาะกับคนในบ้าน โดยเฉพาะน้องสาวซึ่งเป็นน้อง แกก็มาหาเรื่องทะเลาะทุบตีให้ได้รับความเจ็บปวด อยู่บ่อยๆ แกก็กลุ้มใจเรื่องนี้ ไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร
ก็บอกว่าพี่ชายคนนั้นประพฤติตนอย่างไร เขาก็เล่าเรื่องให้ฟัง ว่าเป็นอย่างนั้น คบเพื่อนชั่วชอบทำชั่วอยู่ตลอดเวลา แล้วก็ทุบตีน้องสาวของตัว ทำอย่างนี้มันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์เกิดโทษด้วยประการต่างๆ แต่เขาคิดไม่ได้ เขานึกว่าการกระทำของเขานั้นเป็นเรื่องถูกต้อง เป็นเรื่องชอบเรื่องควร แล้วก็ทำบ่อยๆ ทำให้คนอื่นเป็นทุกข์เดือดร้อน ก็บอกว่าต้องทนเอาหน่อย เพราะไม่รู้จะทำอย่างไร
แต่ถ้าพาเขามาวัดได้ ควรพามาวัด ได้มาสนทนากับหลวงพ่อบ้างจะสะกิดใจให้เกิดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี แต่ว่าลำบาก แกบอกว่าชวนไปวัดนี่เหมือนลากแมวข้างหาง เขาไม่ชอบ เขาไม่ไป เขาไม่นับถือพระ ไม่มีธรรมะเป็นหลักครองใจ ถ้าเป็นคนประเภทที่เรียกว่ามืดบอดอยู่ตลอดเวลา คนอื่นก็คอยเป็นทุกข์เป็นร้อน เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะไม่ควร ในการกระทำเช่นนั้น นี้เป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย เราจึงควรจะได้รู้สึกสำนึกตัว แล้วก็ไม่ทำอย่างนั้น ถ้าเห็นใครเป็นอย่างนั้น ก็หาวิธีที่จะช่วยเขา สงสารเขา ช่วยเขาให้พ้นจากโรคทางใจ เขาเป็นโรคคนประเภทนั้นเขา เรียกว่าเป็นโรคทางใจ
โรคทางใจนี่มันรักษายาก โรคทางกายนี่พาไปหาหมอ หมอตรวจร่างกายให้ยารักษา มันก็พอบรรเทา แต่ว่าโรคทางใจนั้น ไม่สามารถจะรักษาได้ เพราะเขาไม่ยอมไปหาหมอ เหมือนคนบ้า เราจะพาไปหาหมอโรคจิต เขาก็ว่า เอ้ ไปทำไมกูไม่ได้บ้าสักหน่อย คราวนี้คนอื่นไปรบเร้าให้ไปหนักเข้า เอ้ ไอ้พวกนี้มันบ้าไม่เข้าเรื่อง ไอ้ตัวเองบ้ามันไม่ว่า มันว่าคนที่จะมาช่วยให้เขาดี กลับเป็นคนบ้าไปด้วย ลำบาก แต่ผลที่สุดพาไปหาหมอได้ ก็ไปอยู่โรงพยาบาล
โรงพยาบาลโรคจิตนี่ คนเป็นโรคจิตไม่เคยทะเลาะกันไม่ตีกัน ไม่เถียงกันเพราะอะไร เพราะมันบอกว่าไอ้นั่นมันบ้าอย่าไปยุ่งกับมัน อีกคนก็ไอ้นั่นมันบ้าอย่าไปยุ่งกับมัน บ้าทั้งนั้นแหละ ตัวเขาไม่บ้าแต่คนอื่นบ้า อย่าไปยุ่งกับมัน เดินเพลิน (36.19) ?? ว่าบ้า ต่างคนต่างว่าไอ้คนหนึ่งบ้า แล้วต่างคนต่างหันหน้าเข้าฝา พึมพำๆอยู่คนเดียว ไม่ทะเลาะกับใคร ไม่ตีต่อยกับใคร บ้าถึงขนาดอย่างนั้น ไม่มีปัญหา แต่ว่าคนบ้าชั่วครั้งชั่วคราว มีปัญหา มีเรื่อง มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับคนนั้น กับคนนี้ บางทีก็ทุบตีคุณแม่ คุณพ่อไม่อยู่ให้ตีแล้ว มีแต่คุณแม่คอยรับบาป ทุบตีคุณแม่ เตะต่อยคุณแม่ต่างๆ นานา เขาไม่รู้ว่าเขาทำกับใคร เขาทำอะไร การกระทำนั้นเป็นบาป เป็นโทษขนาดไหน เขาไม่รู้ไม่เข้าใจ เพราะจิตเขาไม่ได้มีแสงสว่างเลย มีแต่ความมืดความบอดอยู่ในจิตตลอดเวลา นี่เป็นปัญหา
องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าของชาวเราทั้งหลายนั้น ท่านดับหมดแล้ว ดับเพลิงกิเลส ดับเพลิงทุกข์หมดไม่มีที่พระองค์ต่อไป เรียกว่าเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ชอบ เมื่อหมดกิเลส หมดความเห็นแก่ตัว เมื่อไม่มีความเห็นแก่ตัว ก็เห็นแก่ประโยชน์ความสุขของคนอื่น คิดแต่จะช่วยคนทั้งหลายให้พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อน แต่คนเราถ้ายังเห็นแก่ตัว ทำอะไรก็จะทำเพื่อตัว ทำเพื่อให้ได้สิ่งที่ตัวต้องการ ใครจะเดือดร้อน ใครจะลำบาก ไม่คิดถึง ฉันได้ก็พอแล้ว อย่างนี้เรียกว่าร้ายมากจิตใจตกต่ำ อยู่กับสิ่งชั่วสิ่งร้าย เลยไม่พ้นไปจากเรื่องปัญหา แต่ถ้าได้เข้าใกล้พระบ้าง ค่อยคุย ค่อยปลอบโยนจิต สำนึกรู้สึกตัวขึ้น พอจะช่วยได้ ช่วยให้เขาเปลี่ยนสภาพชีวิตจิตใจขึ้นมาได้บ้าง
พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านก็ทรงทำอย่างนั้น ไปสอนคนที่เกะกะระราน เช่นไปสอนองคุลีมานซึ่งเป็นโจร เป็นโจรเพราะจำเป็น ไม่ใช่เป็นโจรโดยนิสัยอะไร เพราะว่าจำเป็นคือเข้าใจผิด อาจารย์เชื่อลูกศิษย์ที่ยุยง คือไปเรียนอยู่ในสำนักอาจารย์ เรียนเก่ง เรียนดีเป็นที่รัก เป็นที่พอใจของอาจารย์ พวกลูกศิษย์ทั้งหลายริษยา ไอ้ตัวริษยานี่เกิดขึ้นแล้วทำความเสียหาย ก็ไปบอกอาจารย์ยุยงอาจารย์ด้วยประการต่างๆ วันแรกไม่เป็นไร อาจารย์ไม่เชื่อ คนนั้นมาพูด คนนี้มาพูดหลายคนรุมกัน พูดให้อาจารย์ฟังว่าเจ้าองคุลีมารนี้มันใช้ไม่ได้ อหิงสกะกุมารนี้ใช้ไม่ได้ ชื่อเดิมชื่ออหิงสกะแปลว่าผู้ไม่เบียดเบียนใคร อาจารย์ก็หลงเชื่อ คำยุยงของศิษย์ เพราะริษยา
แล้ววันหนึ่งอาจารย์เรียกอหิงสกะเข้ามาในห้อง แล้วก็บอกว่าเราจะให้มนต์พิเศษ มนต์นี้ถ้าได้แล้วจะเหาะได้ ลอยไปในอากาศได้ แต่ว่ามนต์นี้จะต้องประกอบไปด้วยนิ้วมือคนถึงพันนิ้ว เพราะฉะนั้นเธอไปหานิ้วมาพันนิ้ว หามาอย่างไรพันนิ้ว มันก็ต้องฆ่าคนถึงจะเอานิ้วเขามาได้ก็ไปฆ่าคนเสียเยอะแยะ จนกระทั่งมีชื่อเสียงว่าเป็นโจรใจร้ายอยู่ในเมืองนั้น ในป่านั้นคนไม่กล้าไป
วันหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตื่นแต่เช้า กิจวัตรประจำวันที่ทรงกระทำเมื่อตื่น ตื่นตอนตี ๔ พอตี ๔ ก็นั่งสงบ พิจารณาดูว่ามีใครมีปัญหา ใครมีความทุกข์ ใครมีความเดือดร้อนใจอยู่ที่ไหนบ้าง เรียกว่าส่งพระอภิญญาญาณ ปัญญาชนิดส่องไปเที่ยวค้นหา ก็มองเห็นว่า โอ้ โจรองคุลีมารนี่กำลังร้ายมาก จะฆ่าคุณแม่ของตัวเอง เพื่อให้ได้นิ้วครบพัน คือฆ่าคนตัดนิ้วร้อยเป็นพวงผูกคอไว้เขาจึงเรียกว่าองคุลีมาร แปลว่ามีนิ้วประดับคอ เหมือนกับสายสร้อย ห้อยคอ เชือกผูก ร้อยไว้เหม็นเน่า ปล่อยอย่างนั้น ยังอีกนิ้วเดียว
วันนั้นคุณแม่คิดถึงลูกชาย ไปหา พระผู้มีพระภาคตรวจเห็นว่า อ๋อ แม่กำลังมาจะไปพบองคุลีมาร องคุลีมารตาลายเกิดความมืดครอบงำ ไม่รู้ว่าเป็นแม่ แล้วจะฆ่าแม่เพื่อเอานิ้ว บาปกรรม เรียกว่าถ้าฆ่าพ่อ ฆ่าแม่เขาเรียกว่าอนันตริยกรรม กรรมหนักที่สุด ช่วยอะไรไม่ได้ พระองค์ว่าต้องไปช่วยเสียก่อน แล้วพระองค์ก็ไป ไปป่านั้น
คนแถวนั้นเขาเห็นพระองค์มุ่งไป ถามว่าพระสมณะโคดมจะไปไหน ชาวบ้านเรียกว่าสมณะโคดม จะไปไหน เราจะเข้าไปในป่านั้นหน่อย เพื่อไปพบกับโจรใจร้าย โอ้ อย่าๆๆ อย่าไป ป่านั้นเป็นป่าที่เต็มไปด้วยความดุร้าย เพราะโจรใจร้ายอยู่ ถ้าพระองค์ไปก็จะตายเพราะโจรคนนั้น ไม่เป็นไร ฉันไม่เป็นไร ก็เดินไปๆ เข้าไปในป่า
องคุลีมารนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ มองเห็นเหยื่อมาแล้ว ยังขาดอีกนิ้วเดียวจะครบพัน วันนี้จะต้องตัดนิ้วคนนี้ เลยถือดาบวิ่งเข้ามา พอเข้ามา พระคุณเจ้าท่านไม่ได้วิ่ง แต่ว่าแสดงอำนาจทางใจให้เหมือนว่าวิ่ง องคุลีมารก็วิ่งๆๆๆ วิ่งจนลิ้นห้อยเหนื่อยเต็มที เลยร้องบอกว่า พระสมณะหยุดเถอะ พระองค์ก็ตอบว่าเราหยุดแล้ว แต่ท่านยังไม่หยุดเอง เขาคิดว่าสมณะนี่ปกติไม่พูดโกหก แต่สมณะนี้ทำไมโกหก พูดว่าหยุดแต่ยังวิ่งอยู่ เขาก็วิ่งเข้าไป (43.45) ??? ….. พอใกล้ก็หยุด อยู่เฉพาะหน้า พระองค์บอกว่าเราหยุดแล้ว แต่ท่านไม่หยุดเอง เอ๊ะ หมายความว่าอย่างไร ก็เลยทูลถามว่าหยุดอย่างไร ยังวิ่งอยู่หยุดอย่างไร เราหยุดจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ตั้งแต่เราได้บวช เราก็ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตไม่ทำลายอะไรๆ แต่ท่านนั้นยังไม่หยุด เพราะยังฆ่าอยู่ องคุลีมารฟังแล้วสลดใจ
คนมีปัญญา ไม่ใช่คนโง่เง่า มีปัญญา พอสะกิดปั๊บ สลดใจ วางดาบ คุกเข่า แล้วก็ก้มลงกราบพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าก็บอกว่าเธอไปอาบน้ำเสียก่อนแล้วจึงมาหาฉัน เขาก็ไปที่แม่น้ำ ขุดหลุมทราย เอานิ้วที่เป็นพวงฝังเสียเรียบร้อย อาบน้ำล้างบาปเสียหน่อย ตามแบบพราหมณ์ ดำผุดดำว่าย ถูศีรษะ ถูตัวสะอาดเรียบร้อย แล้วก็มาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ก็เทศน์ให้ฟัง เกิดความสำนึกรู้สึกตัว ในบาปที่ตนได้กระทำไว้ จึงบวชในพระพุทธศาสนา
พอบวชแล้วก็ไปบิณฑบาต ชาวบ้านไม่ใส่บาตร (45.30) ???…… โจรปลอมบวชมาแล้ว หอบขันข้าววิ่งหนี หอบ (45.34) ???…… วิ่งไป ไม่ใส่บาตรแล้ว ได้รับแต่ก้อนหินก้อนดิน ท่อนไม้ คนมันขว้าง มันขว้างว่าโจร ปลอมตัวเป็นพระเข้ามา ขว้างหัวร้างข้างแตก ไปกราบพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วก็บอกว่าข้าพระองค์ไปบิณฑบาต ไม่ได้อาหาร แต่ได้แผลเหวอะหวะตามหน้าตามตัว พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า เธอทำกับคนอื่นมากกว่านี้ๆ ที่เขาทำกับเธอนี้มันน้อยนิดเดียว ทนเอาหน่อย ก็ต้องทนบิณฑบาตต่อไป
วันหนึ่งเดินไปบิณฑบาต ผู้หญิงมีท้องแก่จวนจะคลอด พอได้เห็นแล้วว้าย ตกใจ อุ๊ย คลอดผลั้วะ วิ่งรอดรั้ว ไอ้รูรั้วน่ะหัวไปได้แต่ท้องไปไม่ได้เพราะท้องโต เลยดิ้นแด่วๆอยู่ตรงนั้นล่ะ องคุลีมารก็พูดภาษาบาลีว่า “ยะโตหัง ภคินิ อริยายะชาติยา ชาโต นาภิชานามิ สัญจิจะ ปาณัง ชีวิตา โวโรเปตา เตนะ สัจเจนะ โสตถิ เตโหตุโสตถิ คัพภัสสะ” บอกว่าน้องหญิงเอ๋ย ตั้งแต่เราได้บวชเป็นสมณะ จิตที่คิดจิต ฆ่าสัตว์ทำร้ายสัตว์ไม่มี จิตที่คิดจะฆ่าจำทำร้ายไม่มี ขอความสุขความสวัสดี จงเกิดแก่น้องหญิงและลูกในครรถ์เถิด แม่หญิงคนนั้น คลอดลูกผลุบออกมา เหมือนกับเทน้ำออกจากหม้อ เกิดคล่อง เรียบร้อย คนก็ลือกัน ลือว่าหลวงพ่อองคุลีมารนี่เก่ง ทำน้ำมนต์ให้หญิงมีครรภ์กินเกิดง่าย
คราวนี้คนมารบกวน มาขอน้ำมนต์ มาให้ทำอะไรต่างๆแบบไสยศาสตร์ ท่านก็รำคาญ เลยทูลลาพระพุทธเจ้าเข้าป่าลึกไปเลย ไปบำเพ็ญเพียรภาวนา เอาจริงเอาจัง จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกสิ้นเชิง แล้วมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ก็เป็นพระรูปหนึ่งที่ทำประโยชน์แก่ประชาชน เรียกว่าโจรเปลี่ยนใจ พระองค์ก็ไปเปลี่ยนใจเขาให้เกิดเห็นในทางที่ถูกที่ชอบ
ปกติพระผู้มีพระภาคทรงปฏิบัติอย่างนั้นทุกวัน ตื่นเช้าก็ตรวจดูว่าใครมีปัญหา ใครมีความทุกข์ ใครมีความเดือดร้อนต้องไปช่วยแก้ปัญหา ไปเช็ดน้ำตาของคนเหล่านั้นด้วยธรรมะ ให้เขาคลายจากความทุกข์ ความเดือดร้อนใจ เป็นไปอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา ไม่ได้เลือกว่าครอบครัวนั้นเป็นเศรษฐี ครอบครัวนั้นเป็นนั้นเป็นนี่ ใครเป็นทุกข์แล้วก็ไปช่วยทั้งนั้นให้เขาได้สบายใจ
งานอย่างนี้พระองค์ทำเป็นครั้งแรกในโลก เพราะก่อนนี้มีครู มีอาจารย์ แต่ไม่ออกไป อยู่ที่อาศรม ริมแม่น้ำ คนอยากเรียนก็มาหาฉัน อาจารย์ไม่ไปหาศิษย์ แต่พระผู้มีพระภาคของเรานั้นเสด็จไปหาศิษย์ เดินไปทั่ว พบคนสักคนหนึ่งก็ต้องสอนเขา ให้เขาเกิดความรู้ เกิดความเข้าใจ คนมามากๆก็สอนให้เกิดความรู้ ความเข้าใจสอนตั้งแต่พระมหากษัตริย์ เศรษฐี พ่อค้า ชาวนา ชาวสวน คนใช้ คนยากคนจนก็เสด็จไปสอน ให้เขาเกิดปัญญา เกิดความรู้ความเข้าใจ
ที่คนจนมานั่ง นอนอยู่หน้าทำเนียบ ถ้าเป็นสมัยพระพุทธเจ้า พระองค์มาแล้ว มาเทศน์ให้เข้าใจ แล้วก็กลับบ้านไปเถอะ อย่ามายืนนั่งให้ยุงกินอยู่ที่นี่เลย ทรงทำเช่นนั้น แต่ว่าเราไม่มีคนถึงขนาดนั้น พวกนั้นก็ยังอยู่ ที่อยู่น่ะไม่ใช่เพราะอะไร หัวหน้ามันคอยพูดคอยบอกว่าให้อยู่ ทรมานไม่อยากอยู่ ก็ไปไม่ได้เพราะหัวหน้ามันบอกต้องอยู่ต่อไป ไปไม่ได้ มันคุม มันคุมแจเลย พวกนั้นก็เลยลำบากอยู่ตรงนั้นน่าสงสาร ๒-๓ เดือนแล้วยังไม่ได้เรื่องอะไร ช่วยอะไรก็ไม่ได้ เป็นอย่างนี้
เพราะว่าคนมันไม่เข้าใจชีวิต เลยทำอย่างนั้นจะเอาชนะ เหมือนเด็กขอสตางค์คุณแม่ คุณแม่บอกไม่มีลูกเอ๊ย ไม่ได้ต้องมี อ้าว แม่ไม่ให้ มันนอนกลิ้ง พลิกไป พลิกมา ตีอกชกหัวให้แม่เอ็นดูรำคาญ แม่รำคาญก็เอาๆไปลูก มันก็ยิ้มไป กูทำแบบนี้แล้วได้ทุกที ทีหลังมันก็ใช้แบบนั้น พอไม่ได้อะไรมันก็ทำ โตแล้วก็ยังทำ
เหมือนคนที่ลพบุรี ขับรถยนต์บรรทุก มาขอสตางค์แม่ แม่ไม่มีให้ ขอๆ ไม่ให้ ๆอยู่ทำไม ขับรถลงคลองชลประทานเสียดีกว่า เป็นอย่างนั้น สตาร์ทรถ ไม่ได้สตาร์ทให้มันติด สตาร์ทแล้วสตาร์ทอีก ปึงปังๆ รถก็ไม่ติดเรียบร้อยสักทีเพราะทำให้มันเป็นอย่างนั้น คุณแม่ก็รำคาญ เอาไปลูก มันก็ลงจากรถเดินป๋อ กูทำแบบนี้แล้วได้ทุกที ให้แล้วมันก็จะเสียคน อย่าให้ ถ้ามันทำแบบนั้น อย่าให้ แข็งกัน เรียกว่าแข็งสู้กัน รัฐบาลก็ต้องแข็งไว้ ไม่ยอม ท้ายสุดก็ต้องกลับบ้านเอง เลยทีหลังก็จะไม่เอาอย่างนี้ ถ้าได้ คนนั้นเอาอย่าง คนนี้เอาอย่าง จะเดินขบวนกันเต็มเมือง พวกนั้นจะขอไอ้นั่น พวกนี้จะขอไอ้นี้ เลยยุ่ง เพราะฉะนั้น แข็งไว้ดีกว่าจึงเอาตัวรอดได้ เรื่องมันเป็นอย่างนี้
ชีวิตของคนเรานี้มันต้องมีหลักธรรมะครองใจ ที่ญาติโยมมาวัดก็ดี แต่พวกไม่มาก็เยอะ คนที่อยู่ในวัยหนุ่ม วัยฉกรรจ์ ไม่ได้มาเยอะ มีปัญหาเยอะ เราจะทำอย่างไรให้คนเหล่านั้นได้หันหน้าเข้าหาพระ ได้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบตามคำสอนของพระ ก็ต้องใช้วิธีค่อยเป็นค่อยไป รุนแรงก็ไม่ได้ ค่อยเป็นค่อยไปตามที่ทำมา ทำมาหลายสิบปีแล้วยังไม่จบไม่สิ้น คนก็ยังมีให้สอนอยู่ตลอดเวลา ก็ดี เราจะได้มีงานทำ ทำงานตามหน้าที่ เกิดมาแล้วก็ทำงานช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ด้วยการแจกธรรมะให้เขาเข้าใจ ก็ทำเรื่อยไป ตามสมควรแก่ฐานะ พูดมาก็คอแห้งเต็มที