แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านหยุดเดิน หาที่นั่ง นั่ง ณ ที่ใดที่หนึ่งซึ่งสามารถจะได้ยินจากเครื่องขยายเสียงได้ชัดเจน แล้วก็ตั้งใจฟังให้ดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
วันนี้เป็นวันพระสิ้นเดือน คือวันแรม ๑๕ ค่ำเดือน ๔ พรุ่งนี้ก็ขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๕ ในระยะนี้มีกิจกรรมบางประเภทที่เป็นเครื่องแสดงถึงน้ำใจว่ามีความกตัญญู กตเวที ต่อบรรพบุรุษ ชาวจีนทั่วไป เขาออกไปนอกเมือง ก็เรียกว่าไปเชงเม้ง คือไปเคารพสุสาน บรรพบุรุษ ไปทำความสะอาด ถางหญ้า ตัดต้นไม้ ปูนแตกก็เอาปูนไปยาทำให้เรียบร้อย เป็นการตกแต่งบ้านของบรรพบุรุษคือหลุมศพให้เรียบร้อย แล้วก็สบายใจ อันนี้เป็นธรรมเนียมที่คนโบราณเขาตั้งไว้ เพราะว่าเดือนเมษายนนี่เป็นเดือนแห่งความสบายใจ
ประเทศจีน ฤดูหนาวหลายเดือน หนาวมาตั้งแต่เดือนตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคม มกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม ก็ยังหนาว แต่ลดลงไปบ้างแล้ว พอถึงเดือนเมษายนนี่ก็ใบไม้เริ่มผลิ ออกใบอ่อน แสดงถึงความสดชื่นรื่นเริง ประชาชนก็ออกนอกบ้าน ไปเที่ยวตามป่า ตามภูเขา แล้วก็ถือโอกาสไปเที่ยวนั้น ไปไหว้บรรพบุรุษไปด้วยในตัว เพราะว่าชาวจีนโบราณนั้น เขาฝังศพไว้ในภูเขา ข้างภูเขา ตามไหล่เขาในป่า เป็นสถานที่ฝังศพ แต่เดี๋ยวนี้ศพแบบนั้นไม่ค่อยมีแล้ว เพราะว่าเขาขุดรื้อ เอากระดูกไปเผา แล้วก็เอาหินไปใช้ประโยชน์ หินในหลุมศพนั้นมันไม่ใช่น้อย แผ่นใหญ่ๆยาวๆ เอาไปทำถนนบ้าง เอาไปทำอะไรต่ออะไรบ้าง ให้เป็นประโยชน์ส่วนอื่นต่อไป จึงไม่มีการฝังศพ แต่ว่ามีการเผา เผาแล้วกระดูกที่เหลือเป็นขี้เถ้า ก็เอาไปฝังไว้ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ไม่เปลืองเนื้อที่ สะดวกขึ้น
คนสมัยก่อนเขาฝังตามฮวงซุ้ยใหญ่ๆ ถ้าเป็นสกุลใหญ่ มีความมั่งคั่ง ก็สร้างสุสานใหญ่โต ในเนื้อที่มากพอสมควร แล้วก็ลูกหลานตายก็เอาไปฝังกันไว้ที่นั่น ที่เมืองไทยเรานี้ ที่ปักษ์ใต้คือจังหวัดระนอง มีบริเวณสุสานใหญ่โต บริเวณเขาระฆังทอง (04.16 เปิดหาข้อมูลในอินเตอร์เนต พบว่าชื่อ เขาระฆังทอง แต่ท่านพูดว่า เขาฆ้อง แต่หาข้อมูลแล้วไม่พบ) บรรพบุรุษของสกุล ณ ระนอง คือ คอซูเจียง เป็นพระยารัตนเศรษฐี ดูแลเมืองระนองด้วย เวลาตายแล้วเขาก็ไปฝังศพ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ได้ประทานที่ดินบริเวณเขานั้นให้ทั้งหมด เรียกว่ายกให้ไปเลย เป็นอาณาเขตของสุสานสกุล ณ ระนอง เรียงกันตามลำดับหลายคน พ่อ ลูกๆ เอาไปฝังไว้ที่นั่นทั้งนั้น เป็นสุสาน แล้วก็ปีหนึ่งเขาก็มาเซ่นไหว้ บรรพบุรุษ เขาอุปโลกให้ใคร คนใดคนหนึ่ง มาทำกิจไปเบิกเงินจากห้างตงหงวน (05.11 เสียงไม่ชัดเจน) ที่ปีนังแล้วมาทำการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ มาเลี้ยงลูกเลี้ยงหลานด้วย เขาทำสืบต่อกันมา เป็นการกระทำที่สร้างความมั่นคงให้แก่วงศ์สกุล
เพราะว่าสกุลนี้ ต้นสกุลคอซูเจียงนี่ทำเหมืองแร่ ได้เงินเยอะ แล้วเวลาจะถึงแก่กรรมนี่ มีลูกชายทั้งหมด ๕ คน ท่านก็ทำพินัยกรรมบอกว่า ให้ค้าขายรวมกันไปอีก ๓๐ ปี จึงจะพิจารณาว่า จะรวมกันหรือจะแยก ลูกทั้ง ๕ คนก็ทำการค้าขาย ในลูก ๕ คนนั้น คนหนึ่ง คนสุดท้อง คือพระยารัษฎานุประดิษฐ์ เป็นสมุหเทศาภิบาล มณฑลภูเก็ต เป็นนักพัฒนา สร้างบ้าน สร้างเมืองให้เจริญก้าวหน้า ทำคนให้ตื่นตัวว่องไวก้าวหน้าได้มาก แล้วก็ พี่ๆอีก ๔ คน ครบ ๓๐ ปี ก็มาประชุมกัน ปรึกษากันว่า พ่อสั่งให้เรารวมค้าขายกัน ๓๐ ปี บัดนี้ครบแล้ว ต้องมาประชุมกันเพื่อพิจารณาว่า จะร่วมหุ้นกันต่อไปหรือจะแยก เค้าก็ไม่แยก รวมกันต่อไป เพราะ ฉะนั้นเงินของสกุล ณ ระนองนี่ สมาชิกทุกคนได้รับ เป็นลูกเป็นหลานเป็นเหลน เชื้อสาย ณ ระนอง แล้วก็ได้รับส่วนแบ่ง ไปรับที่ปีนัง เพราะห้างใหญ่อยู่ที่นั่น ปีนังเขาก็มีผลประโยชน์ มีตึกแถว มีบ้านเช่า สวนยางอะไรต่างๆ เป็นของสกุล เขาก็ยังรวมกันอยู่ แล้วไปเบิกเงินมาใช้ พวก ณ ระนอง อยู่เมืองไทยก็หลายๆปีไปเบิกทีหนึ่ง ได้มาสักหมื่นเหรียญมาเลเซีย ก็เป็นเงินมาก ก็เขาทำอย่างนั้น (07.41 เสียงไม่ชัดเจน)
ถึงปีก็เดือนเมษายน เมื่อวานนี้ เขาก็ไปทำพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ เรียกว่า เชงเม้ง ลูกหลานก็ไปกัน ประชุมกัน กลางคืนก็กินเลี้ยงด้วยกัน ทำอย่างนี้ คนทุกคนได้มาพบกัน สามัคคีกัน ร่วมแรงร่วมใจกัน สร้างสรรค์สิ่งที่เป็นความสุขความเจริญต่อไป เขาทำไว้ดี ไม่ล่มไม่จม
แต่บางสกุลนั้น พอพ่อแม่ตาย ลูกๆก็แย่งกัน แย่งทรัพย์สมบัติกัน ไม่รักพ่อไม่รักแม่ ไม่รักพี่ไม่รักน้อง แต่รักเงิน เงินนี่รักไปได้สักเท่าใด มันก็หมดแล้ว แล้วก็ล่มจมกันไปตามๆกัน ในกรุงเทพนี่ก็มีหลายสกุล ที่เอาแต่เป็นความกัน เป็นความกันนี้ก็ต้องเอาเงินไปแจกทนาย แจกคนนั้นคนนี้ มันไม่ได้สาระอะไร พี่น้องกันนี่ควรจะรักกัน สามัคคีกัน มีอะไรก็ปรึกษากันได้ ไม่ต้องทะเลาะเบาะแว้ง ไม่ต้องไปให้คนอื่นมาจัดการ เราจัดของเราเองได้ ถ้าพี่ๆน้องๆจัดอะไรไม่ได้ ใครจะไว้ใจ ใครจะให้เกียรติ ใครจะมาร่วมหุ้นทำการค้าขายกับคนเหล่านั้น เพราะเขามองเห็นว่า พี่น้องกันแท้ๆมันยังไม่รักกัน ไอ้เราจะไปร่วมหุ้นร่วมทุน มันจะรักเราได้ยังไง มันจะทรยศต่อเรา เรียกว่าไม่มีเครดิต เป็นคนทำอะไรก็ไม่ก้าวหน้า เพราะขาดสิ่งสำคัญในครอบครัว
การไปทำความสะอาดไปไหว้ฮวงซุ้ยนั้น ก็ต้องไปกันทุกคน ไปพบกัน ร่วมรับประทานอาหารด้วยกัน แล้วก็นั่งสนทนาพาทีกัน ใครเป็นหัวหน้าครอบครัวหัวหน้าสกุล ก็ต้องเล่าเรื่องชีวิตของผู้ที่นอน อยู่ในหลุมศพให้สู่กันฟัง ว่าคนๆนี้ มาจากเมืองจีน ไม่มีอะไร เสื่อผืน หมอนใบ บางคนไม่มีเสื่อไม่มีหมอนก็มา อาศัยเรือ ทำงานในเรือมาก็มี แต่มาถึงปากน้ำ เห็นประเทศไทยเขียวด้วยต้นไม้ เขาก็อุทานออกมาว่า อั้วไม่ตายแล้ว แปลว่าเห็นต้นไม้เขียวๆนี่ ไม่ตายแล้ว แล้วก็มาตั้งเนื้อตั้งตัว ทำมาค้าขาย ค้าเล็กค้าน้อย จนกระทั่งค้าใหญ่ จนกลายเป็นเศรษฐี มั่งมีทรัพย์สมบัติ สร้างมรดกไว้แก่ลูก แก่หลานมากมาย นี่คือการสืบธรรมเนียมดี เราเล่าให้ลูกหลานฟัง ลูกหลานก็จะมีความภูมิใจ ในสายเลือดของบรรพบุรุษ แล้วเขาก็อยากจะเป็นคนอย่างนั้น อยากจะสืบต่อคุณงามความดีของบรรพบุรุษต่อไป เขาก็จะมีความเจริญ ก้าวหน้า ไม่ตกต่ำ อันเรื่องมันดีอย่างนี้ ทำให้ถูกต้องแล้วมันก็ดี ได้ประโยชน์ เป็นการทำที่ดีงาม เรียกว่าไปแสดงความเคารพบูชา ต่อบรรพบุรุษ
อันนี้ถ้าหากว่าพ่อแม่เรายังไม่ตาย ยังมีชีวิตอยู่ พอ (12.02 เสียงไม่ชัดเจน) เดือนเมษายนนี่ เป็นเดือนที่เรียกว่าเชงเม้ง เราก็ควรจะไปกราบไหว้ ในวันที่ ๕ ที่ ๖ ไปกราบไหว้เอาอะไรไปให้ท่านบ้าง ซื้อเสื้อ ซื้อผ้าถุง ไปให้สักชุดหนึ่ง แล้วก็เอาเงินไปมอบให้สักนิดๆหน่อยๆ ไม่ต้องมากอะไรหรอก สิ่งที่เรานำไปให้แก่คุณพ่อ คุณแม่ ปู่ ตา ย่า ยาย แม้เล็กน้อย แต่มันมีค่าทางจิตใจ มีค่าสูงทางจิตใจ คุณพ่อ คุณแม่ ปู่ ตา ย่า ยาย ได้รับแล้ว ท่านปลื้มใจ ไม่ได้ปลื้มใจว่า หลานเอาเสื้อมาให้ เอาเงินมาให้หรอก แต่ปลื้มใจว่า หลานๆเขาเป็นคนดี เขามีคุณธรรม มีความกตัญญู กตเวที ต่อพ่อแม่ แสดงว่า อนาคตจะสดใส จะเจริญรุ่งเรือง เพราะยืนอยู่บนฐานคือความดีงาม ที่เรียกว่า กตัญญู กตเวที ท่านดีใจตรงนี้ แต่ถ้าลูกหลานไม่มาเคารพ ไม่มากราบไว้ ท่านก็นั่งเศร้าใจ เราทำให้ผู้ใหญ่เศร้าใจนั้น เหมือนกับไปทอนอายุของท่าน ทำให้ท่านเป็นทุกข์เพราะตรอมใจ แล้วอาจจะหัวใจวาย ตายไปเสียก็ได้ มันเสียหาย แต่เราไปกราบไหว้ ไปบูชาท่าน เอาของไปให้ท่าน ท่านดีใจ อายุมั่น ขวัญยืน
ธรรมเนียมของคนไทยเราตั้งแต่โบราณ วันตรุษ วันสงกรานต์นี่เขาก็ไปกราบไหว้ พ่อแม่ ปู่ตาย่ายาย ครูบาอาจารย์ พระเจ้า พระสงฆ์ เป็นการแสดงความเคารพต่อท่านเหล่านั้น แล้วเอาอะไรไปให้ท่านบ้าง ก็เรียกว่าเป็นคนดี คนบางคนไม่ได้สนใจด้วย มาอยู่กับใคร ได้รับความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อย่างไร ไม่สนใจ พอออกจากวัดแล้วหายหัวไปเลย นึกว่ามันตายแล้ว แต่ว่ายังไม่ตาย ไม่โผล่มาเลย ไม่มาเยี่ยมเลย ก็ไม่ได้อยู่ไหนน่ะ อยู่ในกรุงเทพนี่แหละ แต่ไม่มา ไม่มาเยี่ยมวัด ไม่ได้นึกถึงแผ่นดิน ต้นไม้ ที่เราได้อาศัย ไม่ได้นึกว่า แผ่นดินวัดนี้ให้ประโยชน์อย่างไร เราได้มีความรู้ มีความสามารถ ได้ทำมาหากินอยู่ได้นี่ ก็เพราะอะไร คิดไม่ได้ มันคิดไม่เป็นน่ะ คิดไม่เป็น เลยไม่โผล่หัวมาเลย ไม่เคยมา
หลายคน ออกไปแล้ว ไม่เคยมา พวกที่บวชเรียน ระยะสั้น ก็ไม่ว่าอะไร แต่ว่ามาอยู่ตั้ง ๑๐ ปี อยู่วัดนี้ตั้ง ๑๐ ปี ออกไปแล้วหายไปเลย หลวงพ่อนึกในใจว่า มันตายแล้ว ไอ้พวกนี้ มันช่างกระไรนะ ไม่มาเยี่ยม ไม่มาอะไรเลย ปีใหม่ก็ไม่มา สงกรานต์ก็ไม่มา เข้าพรรษาก็ไม่มา เอ มันพวกนี้ ใจมันกระด้างกระเดื่อง เรียกว่าใจไม้ไส้ระกำ มันเหลือเกิน มันเป็นอย่างนั้นน่ะ เราไม่ควรจะทำอย่างนั้น
นึกถึงว่า มีคนๆหนึ่งเป็นมหาเหมือนกัน ไปอยู่กับหลวงพ่อที่เชียงใหม่ ทีนี้วันหนึ่ง คราวหนึ่ง หลวงพ่อไปเทศน์ที่นครศรีธรรมราช ที่เชียรใหญ่ แกฟังเทศน์แล้วเข้ามาใกล้ ท่านเจ้าคุณรู้จักมหานั้นหรือเปล่า อ้าว มันอยู่กับฉันเนี่ย เป็นอะไรกันล่ะ ดิฉันเป็นแม่ มันไปอยู่เชียงใหม่ มันเคยเขียนจดหมายมาถึงแม่บ้างไหม เคยซื้อผ้าถุง ฝากเสื้อเชียงใหม่ ฝากมาให้แม่บ้างไหม ไม่เคยเลยเจ้าค่ะ ดิฉันนึกว่ามันคงจะตายแล้ว ยังไม่ตาย มันยังอยู่ มันเหลือเกิน บอกว่า สมัยอยู่กรุงเทพเขียนจดหมายบ่อย เขียนทำไม ขอสตางค์ พอไปอยู่เชียงใหม่ ได้ทำงานแล้ว ไม่ต้องขอสตางค์คุณแม่ ก็เลยไม่เขียนเลย ใจมันเหลือเกิน
อาตมากลับไปถึงก็เรียกมาเลย บอกว่าเธอมาอยู่นี่ กี่ปีแล้ว ๓ ปีแล้ว เคยกลับไปเยี่ยมคุณแม่ที่บ้านไหม ยังไม่ได้ไปเลย ไม่ว่าง เคยส่งจดหมายไปบอกคุณแม่ว่า เป็นอยู่สบายดีไหม ไม่เคย เคยซื้อผ้าถุงแบบเชียงใหม่ เสื้อเชียงใหม่ส่งไปให้คุณแม่บ้างไหม ไม่เคย เออ เธอนี่มันใช้ไม่ได้ มันเป็นมหาแต่อยากจะเอา ห มาไว้ ข้างหน้า ตัว ม ซะนี่ มันไม่เข้าเรื่องเลย วันนี้เธอไปตลาด ซื้อผ้าถุง ซื้อเสื้อแบบเชียงใหม่ พร้อมด้วยเงิน ๑ พันบาท ส่งไปให้คุณแม่ ส่งทางธนาณัติ พัสดุไปรษณีย์ แล้วเอามาให้ฉันดูว่าส่งแล้ว ให้มันส่งไปให้แม่มันบ้าง มันเหลือเกิน แล้วมันก็ไม่เจริญอะไร มันอยู่อย่างนั้นน่ะ ไม่ก้าวหน้าอะไรชีวิต เพราะมันขาดสิ่งสำคัญนี่ คือขาดความสำนึกในบุญคุณพ่อแม่ มันใช้ไม่ได้ เป็นอย่างนี้เยอะ
พ่อแม่บางคน พ่อบางคนมา ถามมาทำไม มาหาลูก แล้วลูกอยู่ที่ไหน เขาว่าอยู่แถวนี้ โอ้ จะไปหาอย่างไร มึง คนมันเยอะแยะ แล้วลูกมันมาอยู่ มันเคยส่งจดหมายไปบอกไหม ว่าอยู่ตรงไหน เลขที่เท่าไร ไม่เคย อ้อ โยมกลับบ้านได้ อย่าไปคิดถึงมันเลย ไอ้หมาคนนั้น มันไม่ใช่ลูกคนแล้ว มันลูกหมา แต่หมามันก็ยังคิดถึงพ่อแม่ ไอ้นี่มันใช้ไม่ได้ อย่าไปหามันเลย กลับบ้านเถอะ พรุ่งนี้กลับบ้าน บอกว่าไม่มีสตางค์ อ้าว เท่าใด เลยต้องจ่ายสตางค์ให้กลับบ้านด้วย มันเป็นอย่างนั้น มันมีอย่างนั้น มันใช้ไม่ได้
คนที่ดีๆน่ะ เขามีน้ำใจ มีคุณธรรมคือ ความกตัญญู กตเวที ต่อ พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ต่อ (19.56 เสียงไม่ชัดเจน) อย่างนั้นใช้ได้ มีอะไรได้ดิบได้ดี เป็นใหญ่เป็นโต ก็ไปหาผู้ที่เคยอุปถัมภ์ค้ำชู ไปกราบ ไปไหว้ ซื้อของไปให้ ขอบพระคุณ ที่ได้ช่วยเหลือผมให้มีความรู้ มีความสามารถ จนได้เจริญเติบโตขนาดนี้ น่ะคนดี แล้วไม่ตกต่ำ คนอย่างนี้ไม่ตกต่ำ ประชาชนยกย่องนับถือ ก้าวหน้าในชีวิตได้ เป็นอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นเดือนนี้น่ะ เป็นเดือนแห่งความกตัญญู กตเวที ต่อบรรพบุรุษ ต่อพ่อ ต่อแม่ที่เรา ได้ถือกำเนิด อาศัยท่านมา ต้องทำอะไรสักอย่าง ให้ท่านได้รู้ว่า เรายังคิดถึงท่าน ถ้าอยู่ไกลเราก็ส่งจดหมายไป วันสงกรานต์เขาหยุดงาน ก็ไปเยี่ยมซะหน่อย แล้วก็ไปเยี่ยมก็อย่าไปมือเปล่า อย่าไปขอสตางค์ท่านมาใช้ แต่ว่าเอาสตางค์ไปให้ท่านบ้าง เสื้อผ้า ขนมนมเนย ของที่พอกินได้นะ เอาไปให้ แล้วท่านจะปลื้มใจมาก ปลื้มใจทำให้อายุยืน ให้ผิวพรรณผ่องใส มีกำลัง มีความสุข เรียกว่า พร๔ อายุ วัณโณ สุขัง พลัง ย่อมเกิดจากสิ่งที่ได้รับได้เห็นได้ตามที่ถูกที่ชอบ เป็นเรื่องที่ควรทำ
คนไทยเรานี่สอนกันมาอย่างนั้น เช่น วันตรุษ วันสงกรานต์ วันเข้าพรรษานี่ ตามบ้านนอกนั้นเขาทำอาหาร ทำขนม แล้วก็เอาไปให้คนแก่ในบ้านนั้น คนอาวุโสในบ้านนั้นเป็นคนแก่ เป็นผู้ชายก็ตาม เป็นผู้หญิงก็ตาม ก็ต้องเอาของไปให้ เขาเรียกว่านับถือคนแก่ แต่หมู่บ้าน ของเยอะ พวกเราเป็นเด็กยังแอบไปกินขนมแกด้วย ก็คนเอาไปให้ ทุกบ้านเอาไปให้ บ้านนั้น เพราะเป็นคนแก่ แก่กว่าเพื่อน แต่ก่อนที่เขานับถือ มีงานมีการอะไรก็ต้องเชิญมานั่ง แต่งงานก็เชิญมา ขึ้นบ้านใหม่ก็เชิญมา บวชลูกก็เชิญมา งานศพก็ไปบอกให้ทราบ แล้วก็มา มานั่งอยู่ในงาน ให้คนได้เห็นว่า อ้อ คนนั้นมา เป็นศิริมงคล แก่ชีวิต แก่ครอบครัว ถ้าหากว่าทำอย่างนั้น เป็นการสร้างเสริม ความรัก ความสามัคคี ความร่วมแรง ร่วมใจกัน เป็นอย่างดี
เมื่อไปอยู่เชียงใหม่ วันหนึ่งเดินออกไปนอกวัด เห็นเด็กผู้หญิงถือสำรับกับข้าว ตอนเย็น ถามว่าเอาไปไหน เอาไปให้ พ่อเฒ่าบ้านโน้น เป็นอะไรกัน ไม่ได้เป็นอะไร แต่ว่าเป็นคนที่ใครๆเขานับถือ วันนั้นเป็นวันสำคัญ จัดสำรับเอาไว้ให้ พ่อเฒ่า แม่เฒ่า บ้านนั้น ได้รับประทาน เป็นการเคารพผู้หลัก ผู้ใหญ่
พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนใดมีความอ่อนน้อม ถ่อมตัว เคารพผู้หลักผู้ใหญ่ ย่อมได้รับการสรรเสริญเยินยอ จากประชาชนและเทวดาด้วย เทวดาคือคนชั้นสูง ก็ยกย่อง คนชั้นเสมอกันก็ยกย่อง คนดีก็ยกย่องบูชา ว่าเป็นคนที่ดี มีคุณธรรมประจำใจ น่ะเขาก็สอนกันมาอย่างนั้น สืบต่อกันมา ทำให้เกิดความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจกันในหมู่บ้าน ยกย่องใครขึ้นเป็นหัวหน้าไว้ มันก็ดี มีความสุขความเจริญ นี่เรื่องสำคัญ ในเดือนเมษายนเราก็ทำกันอย่างนั้น เพราะไม่กี่วันก็จะถึงวันสงกรานต์
เรื่องสงกรานต์นี่มันเป็นมายังไง ถ้าโยมไปดูปฏิทินเป็นแผ่น เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมี ไม่มีใครพิมพ์ปฏิทินแผ่น ทำเป็นแผ่นแล้วก็มีเดือน เขียนวันที่ เดือน ข้างขึ้น ข้างแรม เรียบร้อย แล้วข้างบนก็มีรูปเป็นภาพ เป็นภาพนางเทพธิดาถือพาน แล้วบนพานนั้นมีเศียร มีหัว หัว ๔ หน้า หัวพรหม ทำไมจึงได้เป็นเช่นนั้น ก็มีเรื่องเล่าว่า กบิลพรหม แอบไปท้าพนันกับ ธรรมบาลกุมาร (0:25:31 ท่านออกเสียงว่า ธรรมปาลกุมาร แต่เปิดหาข้อมูลจากอินเตอร์เนตพบเขียนว่า ธรรมบาลกุมาร) ท้าพนัน ตั้งปัญหาถาม ๓ ข้อ ถามว่า ศิริมงคล นี่มันอยู่ที่ไหน ให้ตอบภายใน ๗ วัน ถ้าตอบได้ เราจะให้ตัดหัวเราเลย ถ้าว่าตอบไม่ได้ ท่านก็จะต้องถูกทำร้ายเหมือนกัน
ธรรมบาล ก็คิด คิด ไม่รู้จะตอบอย่างไร ว่ามันอยู่ตรงไหน ตอบไม่ถูก แต่ว่า วันหนึ่งเห็นว่าไม่ไหวแล้ว เข้าป่าดีกว่า เลยเข้าไปในป่า ไปนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ ธรรมบาล คนนี้ รู้จักภาษาสัตว์ ฟังเสียงสัตว์ได้ ว่ามันความหมายว่าอย่างไร ไปนั่งอยู่ก็ข้างบนต้นไม้นั้นมีแร้งกับลูก ๒-๓ ตัว เมื่อธรรมบาล ไปนั่งอยู่ แร้งก็คุยกับลูกว่า ลูกเอ๋ย อดไป อดเปรี้ยวไว้กินหวาน พรุ่งนี้จะได้กินเนื้อมนุษย์ ลูกถามว่า เนื้อมนุษย์ที่ไหน นั่นๆนั่งอยู่โคนไม้น่ะ นั่งอยู่ที่โคนไม้นั้น พรุ่งนี้ก็จะตายให้เรากินละ ลูกก็ถามว่า ทำไมถึงตาย อ้อ ก็ธรรมบาล นี่เขาไปรับการพนันไว้กับกบิลพรหม ถามปัญหา ๓ ข้อ ปัญหาว่า ศิริ นี่มันอยู่ที่ไหน ตอนเช้าอยู่ที่ไหน กลางวันอยู่ที่ไหน ตอนเย็นอยู่ที่ไหน ธรรมบาลนี่ตอบไม่ได้ ก็ต้องตาย พรุ่งนี้จะต้องตาย แล้วลูกนกถามแม่ว่า แล้วไอ้ศิริ ๓ เวลานี่มันอยู่ที่ไหนคุณแม่ แม่ก็พูดให้ลูกฟังว่า ตอนเช้าอยู่ที่หน้า ตื่นเช้าคนจึงต้องล้างหน้า กลางวันอยู่ที่อก กลางวันร้อนๆเราเอาน้ำลูบอก เวลาเย็นมันอยู่ที่เท้า ต้องล้างเท้าก่อนนอน ถือมาตั้งแต่โบราณ ก็เล่าให้ลูกฟัง
ธรรมบาลได้ยิน ได้ยินก็เลยไปหา กบิลพรหม บอกว่า ปัญหาที่ท่านถามเรา เรารู้แล้ว ฟังให้ดีนะ เราจะตอบอย่างเดียวกันนะ ก็ตอบว่า เช้าราศีอยู่ที่หน้า กลางวันอยู่ที่อก ตะวันตกอยู่ที่เท้า พรหมก็ดีนะ ใจดี ใจซื่อสัตย์ (28.27 เสียงไม่ชัดเจน) บอกว่า ถูกต้อง เมื่อถูกต้อง ท่านก็ตัดหัวเราได้ อ้าว ตัดแล้วเอาไปไหน ไม่ได้นะ ตัดแล้วโยนไปในน้ำก็ไม่ได้ โยนไปบนดินก็ไม่ได้ โยนไปในอากาศก็ไม่ได้ เกิดยุ่งทั้งนั้น ทีนี้ทำไง ก็เลยบอกว่า ตัดแล้วต้องใส่พาน ใส่พานแล้วเอาไปไว้ในถ้ำ ที่มีอากาศชื้น แล้วพอถึงวันสงกรานต์นี่ ลูกสาว ๗ คน ต้องมาถือพานเวียนไปรอบ รอบเขาพระสุเมรุ เวียนไป เราจึงเห็นว่าคนถือพานทูนศีรษะ ใส่ศีรษะพระพรหม
เรื่องเป็นเรื่องเขาเล่าไว้ เป็นนิทาน ไม่ใช่เรื่องจริงจังอะไร แต่ว่ามองในแง่ธรรมะก็ได้ บอกว่า พรหมนี่ หมายถึง คุณธรรม ๔ ประการ เมตตา ปรารถนาความสุขแก่ผู้อื่น กรุณา ทนไม่ได้ เมื่อเห็นใครเป็นทุกข์ เดือดร้อนต้องเข้าไปช่วย มุทิตา พลอยยินดีชื่นใจกับความสุข ความเจริญของคนอื่น อุเบกขา เฉย เพราะทำอะไรไม่ได้แล้ว ต้องเฉย เฉยด้วยคิดว่าเป็นกรรมของสัตว์ เราช่วยไม่ได้ นี่เรียกว่าเป็นลักษณะของพรหม พรหมนั้นคือ บุคคลผู้มีพรหมธรรม ๔ ประการ อยู่ในใจ ไม่ใช่พระพรหม หน้าโรงแรมเอราวัณ ไม่ใช่
ทีนี้ก็ ในสมัยพระพุทธเจ้ายังอยู่ มีพราหมณ์คนหนึ่งเข้าไปเฝ้า ถามปัญหาพระพุทธเจ้า คือถามว่า ท่านรู้จักพระพรหมไหม พระพุทธเจ้า ตอบทันทีว่า รู้จัก เขาก็ถามว่า รู้จักทางไปหาพระพรหมไหม รู้จัก ไปหาพระพรหมก็ได้ เขาก็เลยถามว่า พระพรหม คือใคร พระพุทธเจ้าบอก พระพรหมก็คือใครก็ได้ ที่มีคุณธรรม ๔ ประการ ประจำใจ คือมีเมตตา ปรารถนาความสุขความเจริญแก่ผู้อื่น อยู่ด้วยความรักผู้อื่น สงสารผู้อื่น กรุณา ทนไม่ได้ เมื่อเห็นใครเดือดร้อนเป็นทุกข์ ต้องเข้าไปช่วย เหมือนเราช่วยพวกน้ำท่วม นั่นแหละเป็นความกรุณาปรานี อันความกรุณาปรานี จะมีใครบังคับก็หาไม่ มันหลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน มันเกิดขึ้นในใจ พอเห็นใครเป็นทุกข์ ทนไม่ได้ ช่วย กรุณา มุทิตา หมายความว่า ยินดี เบิกบานใจ ในความสุข ความเจริญ ความก้าวหน้าของคนอื่น ไม่มีริษยา ไอ้ความริษยานี่ ทำให้โลกเสียหาย ชิบหาย
พระพุทธภาษิตว่า อรติ โลกนาสิกา แปลว่า ความริษยา ทำให้โลกชิบหาย คนเราถ้าริษยากันแล้ว มันฆ่ากัน ทำร้ายกัน เพราะความริษยา ไอ้ที่ยิงๆกันบ่อยๆนั้น เพราะความริษยา เพื่อนร่ำรวยขึ้น แหม หมั่นไส้ เลยฆ่ากัน ถ้าใครได้เป็นอะไรดีๆก็คอยทำลาย นี่เกิดความริษยา โลกที่ได้เบียดเบียนกันอยู่ทุกวันนี้ เพราะความชั่ว ๒ อย่าง คือความริษยา กับ ความตระหนี่ ความตระหนี่ นี่ก็เป็นเหตุให้รบราฆ่าฟันกัน ความริษยาก็เป็นเหตุให้รบราฆ่าฟันกัน
แต่ว่าคนที่เป็นพรหมในใจนั้น ไม่ริษยาใคร ไม่ตระหนี่สิ่งของๆตัว เป็นคนใจกว้าง อารีอารอบ เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ มีอะไรก็พร้อมที่จะให้แก่คน พร้อมที่จะช่วยเหลือคนอื่น เรียกว่า กรุณา กรุณาแล้วก็มุทิตาคือยินดีด้วย ทีนี้สุดท้ายว่าอุเบกขา อุเบกขาแปลว่า เมตตาก็ไม่ได้ กรุณาก็ไม่ได้ มุทิตาก็ไม่ได้ ก็ต้องปลงลงไปว่า กรรมของสัตว์ ช่วยไม่ได้ แล้วก็อยู่ในสภาพเฉย เฉยด้วยปัญญา นี่เรียกว่า อุเบกขา (33.41 คาดว่าท่านหมายถึง อุเบกขา)
ผู้ใหญ่ต้องมีคุณธรรม ๔ ข้อนี้ เป็นใหญ่ไม่ว่าใคร สมภาร เจ้าวัด พ่อบ้าน พ่อเรือน ผู้ที่เป็นหัวหน้าเพื่อน เป็นครู เป็นอาจารย์ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐมนตรี เป็นหัวหน้ากอง เป็นอธิบดี ก็เรียกว่าเป็นผู้ใหญ่ ต้องมีธรรม ๔ ประการ ประจำใจ ถ้าไม่มีธรรมะ ๔ ประการนี้แล้ว เป็นผู้ใหญ่ไม่ได้ เป็นผู้ใหญ่ไม่ได้ เป็นได้ก็ยุ่ง เพราะไม่มีธรรมะนี้ พรหม หมายถึงสิ่งเหล่านี้
พวกเราทุกคนเป็นพระพรหมได้ เป็นพระพรหมด้วย หนึ่ง แผ่เมตตา ตั้งใจไว้ว่า เราจะรักผู้อื่น สงสารผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่น แผ่ตั้งใจว่าอย่างนั้น แล้วมีอะไรพอจะช่วยเหลือได้ ก็รีบไปช่วยเหลือ เป็นกรุณา ยินดีในความสุขของคนอื่นเรียกว่า มุทิตา แต่ถ้ามันช่วยไม่ไหว ก็อุเบกขา ด้วยเรานึกว่า กรรมของสัตว์ เขาทำไว้อย่างนั้น ก็ไม่รู้จะทำยังไง
อันนี้มีรูปที่คนไหว้กันอยู่มาก ชาวจีนไปไหว้มาก เขาเรียกว่า กวนอิม กวนอิมโพธิสัตว์ กวนอิมนี่เป็นพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์แปลว่า ผู้มีใจเกี่ยวข้องกับโพธิ โพธิคือเรื่องปัญญา เรื่องจะปลดเปลื้องตนให้พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อน และช่วยผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนด้วย คนมีนิสัยพระโพธิสัตว์นั้น ไม่ตัดช่องน้อยแต่พอตัว แต่ว่าคิดถึงคนอื่นด้วย และจะช่วยคนอื่นให้พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนใจ เรียกว่าโพธิสัตว์ อันนี้ชาวจีนมี กวนอิมโพธิสัตว์
กวนอิมโพธิสัตว์นี่ เกิดในอินเดีย ชาวอินเดียคิดขึ้น พวกมหายานน่ะคิดขึ้น เขาปั้นเป็นรูปผู้ชาย เรียกว่า อวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ อวโลกิเตศวรโพธิสัตว์แปลว่า พระโพธิสัตว์ผู้รักษาโลก โลกนี้อะไรรักษา เมตตาน่ะแหละรักษา พระพุทธเจ้าตรัสว่า โลโกปตฺถมฺภิกา เมตฺตา เมตตาเป็นธรรมค้ำจุนโลก โลกจะสงบ จะสบายเพราะเมตตาต่อกัน คนอยู่ด้วยกัน ด้วยความเมตตา มันก็สงบ ถ้าอยู่กันด้วยความโกรธ ความเกลียดมันก็ไม่สงบ อยู่กันด้วยความริษยาก็ไม่สงบ อยู่กันด้วยความเห็นแก่ตัว ไม่แบ่งปันส่วนที่เรามี เพื่อประโยชน์ผู้อื่น มันก็เดือดร้อน ไม่เป็นสุข เขาจึงทำรูปสวย เป็นผู้ชาย เรียกว่า พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์
ถ้าเราไปไหว้กวนอิม ไปไหว้อวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ อย่าไปไหว้เพื่อขอให้ท่านช่วยเรา อย่าไปไหว้เพื่อขอหวย ขอเบอร์ พวกอาซิ้ม อาชี้ ทั้งหลายน่ะไปไหว้ ที่ลาดพร้าว บ้านคนนั้นแกสร้างรูปกวนอิมใหญ่ รวย คนไปไหว้ทุกวันๆ แกถูกจับไปแล้ว ก็มีเรื่องอื่นเข้าไป ทีนี้ถ้าเราไปไหว้ก็หมายความว่า ไปนั่งทำใจให้คิดถึงผู้อื่น คิดถึงคนในครอบครัว แม่บ้านคิดถึง พ่อบ้าน คิดถึงลูก คิดถึงคนใช้ คิดถึงคนบ้านใกล้เรือนเคียง แผ่ให้มันกว้างออกไป คิดให้เขาสบาย พูดให้เขาสบาย ทำอะไรให้เขาสบาย ไม่เป็นคนที่ทำอะไรให้ใครเดือดร้อน เรียกว่าเรามีจิตใจ เป็นกวนอิมโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ อยู่ในใจเรา ว่าอย่างนั้น ก็ไหว้ถูกต้อง เป็นการไหว้ที่ถูกต้อง
นี่ลานหินนี่มีรูป พระอวโลกิเตศวร เอาแบบมาจากไชยา ไชยามีรูปนี้ เพราะมหายานเข้ามาอยู่ไชยาก่อน เขามีพระโพธิสัตว์ ก็หมายถึงธรรมะนั่นเอง เราก็ต้องไหว้ธรรมะ เอาธรรมะมาใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่ออยู่เย็นเป็นสุข พ้นทุกข์พ้นร้อน ให้เข้าใจอย่างนั้น
แต่ว่ามีปาฏิหาริย์เยอะ ใครเคยดูหนังกวนอิม ที่หนังจีนน่ะ มีปาฏิหาริย์เยอะ ลงไปในนรกไปช่วยพ่อ แล้วก็เผากระดาษเงินกระดาษทอง เผาเสื้อ เผาผ้า เผากันเป็นการใหญ่ เพื่อให้ไปช่วยพ่อที่อยู่ในนรก (39.38 เสียงไม่ชัดเจน) ชาวจีนจึงได้เผากระดาษกัน เผากงเต๊ก กงเต๊กก็แปลว่ากุศล ไม่ใช่เผากระดาษแล้วจะเป็นกุศล ต้องเผาความชั่วที่อยู่ในใจเรา ให้มันหายไปๆ แล้วก็ได้กงเต๊ก คือได้กุศล แต่ว่าคนทำกงเต๊กขาย มันขาดทุน ก็เลยสอนคนให้ทำกงเต๊ก ศพใหญ่ๆก็ตั้งหลายหมื่น เอาไปเผากัน แบบนั้น ตามประเพณีที่ทำกัน แต่ในเมืองจีนปัจจุบันนี้ ไม่มีกงเต๊กแล้ว เหมาเจ๋อตุง แกบอกไม่ให้ทำ มันสิ้นเปลือง (40.25 เสียงไม่ชัดเจน) เลยเลิกไป จุดหมายเขาก็เพื่อให้คนทำดีน่ะ แต่ว่าคนมันไปติดประเพณี เลยเข้าถึงความดีไม่ได้ น่ะเป็นอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นวันสงกรานต์น่ะคือวันที่ ก็วันปีใหม่นั่นเอง วันปีใหม่ ปีใหม่เมืองไทยมันหลายวัน ปีใหม่ ๑ มกราคมเอาอย่างชาวโลกทั่วไป แล้วก็ปีใหม่เดือน ๔ ต่อเดือน ๕ ปีเดียวกันนี้ วันนี้นี่ ตามบ้านนอกเขาไปทำบุญ เขาเรียกว่าตรุษไทย ตรุษไทยแล้วก็ไปทำอะไร เหนียวแดง ข้าวเหนียวคลุกกับน้ำตาลนั่นเรียกว่าเหนียวแดง (41.14 เสียงไม่ชัดเจน) ไปทำบุญกันตามวัดต่างๆ เรียกว่าวันตรุษไทย แล้วก็พอถึงวันที่ ๑๓ เมษายน ก็เป็นวันสงกรานต์ เขาก็ไปทำบุญกันอีกน่ะ คนโบราณนี่เขาหาเรื่องให้คนทำบุญเยอะแยะ ให้ทำบุญอย่างนั้นอย่างนี้เพื่อให้อยู่กันสบาย แล้วก็มีที่ให้คนไปไหว้ ให้ได้ไปทัศนาจร ไปไหว้พระบาท ไปไหว้พระธาตุ ไปไหว้เจดีย์นั้นเจดีย์นี้ ส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้คนได้ไปมาหาสู่กัน ได้รู้จักกัน แล้วเอาของมาขาย เช่นเราไปพระบาทนี่ เขามีของป่ามาขายเยอะ ขายเผือก ขายมัน ขายอะไรต่างๆ
ท่านเสฐียร โกเศศเป็นนักปราชญ์คนหนึ่ง แกไปเห็นหัวอะไรของป่าน่ะ แล้วก็ไปถามคนขายว่า กินอย่างไร คนป่ามันก็ตอบว่า ใส่เข้าในปาก เคี้ยวแล้วก็กลืนเข้าไป เออ มันตอบถูกตามที่เราถาม แต่ว่ามันผิดความหมาย มันก็บอกว่า ท่านไม่ได้ถามว่า รสชาติมันเป็นยังไง แต่มันตอบตรงแล้ว ว่าอย่างนั้น ใส่เข้าไปในปาก เคี้ยวๆๆ แล้วก็กลืนเข้าไป เท่านั้นเอง เป็นอย่างนั้น ท่านเอามาเล่าไว้ให้ฟังว่า นี่เขาตอบตรงแต่มันไม่ได้ความดังที่เราต้องการ ของเยอะ ของป่าเยอะ คนมาขายของ สมัยก่อนไปไหว้พระบาท ต้องเดินไป ชาวบ้านแถวนั้นก็ได้ทำบุญ ทำบุญด้วยการต้มน้ำไว้ ให้คนไปดื่ม น้ำชา น้ำตาลทราย กาแฟไม่ค่อยมี ใช้น้ำชา แล้วก็ต้มน้ำ (43.15 ท่านน่าจะคุยกับโยมท่านหนึ่ง) ต้มกลัก ให้พระธุดงค์ ไปพักซักผ้า ซักผ้าแล้วก็ฉันน้ำร้อน น้ำชา อาบน้ำด้วย มีน้ำให้อาบ ชาวบ้านได้บุญ เดี๋ยวนี้ ชาวบ้านแถวนั้นไม่มีโอกาสได้บุญอย่างนี้แล้ว เพราะไปรถหมด นั่งรถบัสประจำทางไปกันนะ แล้วก็กลับรถบัส ไม่มีโรงทาน หมดไป ไอ้ที่เขาเคยทำ มันหมดไป ชาวบ้านก็ตั้งโรงทาน ที่พระพุทธบาทก็มีโรงทาน เลี้ยงคน เดี๋ยวนี้ยังมีอยู่ แต่ไม่มากเหมือนเมื่อก่อน พระธุดงค์เยอะ มาไหว้พระบาท เป็นเทศกาลไปเที่ยว นี่พอเสร็จสงกรานต์คนก็ไปเที่ยว เหมือนภาคเหนือนี่ เสร็จสงกรานต์ก็ไปไหว้พระธาตุจอมทอง ไปพระธาตุลำพูน ไปพระธาตุดอยนั่น ดอยนี่เยอะนะ ตามดอยมีพระธาตุเยอะแยะ เขาสร้างไว้ ให้คนได้ไปเที่ยวไหว้ เที่ยวนมัสการ เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว
เหมือนจังหวัดริมแม่โขง พอถึงฤดูนั้น ต้องมาไหว้พระธาตุนครพนม มาเรือ มานอนตามชายหาด สองคืนสามคืนจึงจะถึง สนุกดี พักผ่อนกันไปในตัว ได้รู้จักมักจี่กัน หนุ่มสาวก็ได้พบได้รู้จักกันไหว้พระเสร็จแล้วไปแต่งงานกันเลย มันก็สบาย คนโบราณเขาฉลาด (45.03 ท่านคุยกับโยมที่มาฟังเทศน์ :นั่งนี้แหละหนู นั่นล่ะ นั่งเก้าอี้นั่นล่ะ นั่งได้) เป็นประโยชน์ เขาทำอย่างนั้น
ทีนี้วันสงกรานต์นี้เราควรทำอะไรบ้าง ก็มาวัด วันที่ ๑๓ มาวัด ตรงกับวันอะไรก็ไม่รู้ ไม่ใช่วันอาทิตย์ ไม่ได้ดูปฏิทิน มาวัด เหมือนอย่างที่เรามาน่ะ ฟังปาฐกถา ทำบุญตักบาตร เลี้ยงพระ แล้วก็บังสุกุลอัฐิบรรพบุรุษ เอาอัฐิมา เอาโกฏิน้อยมาด้วย ถ้าไม่มาเอาชื่อเขียนชื่อมาใส่ในขันนี้แล้ววางไว้ นิมนต์พระบังสุกุล ถวายปัจจัย ปัจจัยนั้นก็ไม่ได้ถวายพระล่ะ ก็บำรุงวัด ได้ใช้จ่ายในเรื่องอะไรต่างๆต่อไป ตามบ้านนอกบ้านนาเขาก็ไปทำบุญวัดนั้น วัดนี้ สมมติว่าบ้านเดิมอยู่ที่ใดก็ไปที่นั่น ไปเยี่ยมญาติพี่น้อง ได้ไปทำบุญไหว้พระ สวดมนต์ตามที่นั้นๆ เป็นธรรมเนียมเขาทำกันทั่วไป
ชาวอินเดียเขาก็ทำเหมือนกัน มีสงกรานต์แต่ว่า อินเดียตอนกลางไม่มี มีตอนใต้ เรานี่รับวัฒนธรรมสงกรานต์มาจากอินเดียใต้ อินเดียใต้มีคน ๔ ภาษา ๔ เผ่า เขาเรียกว่า ทมิฬ เตลูกู มาลายาลัม กันนาดา (46.51 ฟังไม่แน่ใจหาจาก http://www.thaiindia.net/th/news-item/51-articles-about-india-in-thai-press/1326-82.html) ๔ ภาษา ชื่อเดือนของเรานี่ (46.56 ท่านคุยกับโยมสองสามประโยค) เมษา พฤษภา นี่เป็นภาษา มาลายาลัม เขาเรียกว่า (47.20 เสียงไม่ชัดเจนจึงไม่แน่ใจตัวสะกด) เมษัม วริศปัม มิถุนัม คาตะกัม กันนิม ตุลัม วริชิกัม ธันนุม กุมภัม มากะตัม เดือนมกรา มีดัม ถึงเมษา ชื่อเดือนนี่ เอามาจาก มาลายาลัม แล้วเอาธรรมเนียมมาหลายเรื่อง เอามาทิ้งไว้ให้ไทย เป็นวัฒนธรรมต่อมา
เขาวันสงกรานต์เขาก็ไปทำบุญ อุทิศบรรพบุรุษ โดยเฉพาะที่เมืองคยานี่ เขามีสระน้ำใหญ่ เก่าแก่ โบราณ หลายพันปี คนก็ต้องมาทำทักษิณา อุทิศให้แก่บิดามารดา นึกได้ว่า ญาติกี่คนก็ปั้นเป็นลูกกลอน แป้ง เอามาปั้นเป็นก้อนเล็กๆ นึกได้ว่า ญาติมา ๒๐ คน ก็ทำ ๒๐ ก้อน แล้วก็ไปนั่งพร้อมกัน ข้างมหาพราหมณ์ อาจารย์น่ะ มานำสวด สวดเพราะ ฟังไม่รู้เรื่อง แต่ว่าเพราะดี หลวงพ่อไปยืนฟังมา สวดดี สวดพร้อมๆกัน สวดไปแล้ว โยนไปก้อนหนึ่ง สวดๆโยนลงไปก้อนหนึ่ง โยนจนหมดล่ะ น้ำในสระนั้นน่ะ กลายเป็นน้ำสีเขียวปั๊ดเลย เพราะว่าแป้งลงไปแช่อยู่มากๆ ไม่มีการระบาย กินก็ไม่ได้ ใช้ก็ไม่ได้ แต่ก็ทำอย่างนั้น เป็นการอุทิศ อาหารให้แก่บรรพบุรุษน่ะ เขาทำกันอยู่ทั่วไป
เสร็จแล้วก็ไปนมัสการ ต้นโพธิ์พุทธคยา สถานที่ต่างๆแล้วก็ไปอาบน้ำในแม่น้ำ เนรัญชรา ล้างบาป คือล้างขี้ฝุ่น นี่ที่เดินทางมานี้ขี้ฝุ่นเยอะ ก็ไปล้างบาปกันซะที นี่ก็เป็น เรียกว่าบุญกริยาที่เขาทำกันอยู่ทั่วไป พระพุทธเจ้า ท่านเห็นเขาทำอย่างนั้้นก็เลยบอกว่า มันไม่ถูกต้อง อริยชน เขาไม่ได้ทำกันอย่างนี้ เขาก็ถามว่า อริยชนทำอย่างไร พระองค์ก็อธิบายให้ฟัง ให้ทำให้ถูกต้อง ให้เป็นประโยชน์ เช่นว่า ทำบุญเอาอาหารไปกองที่ป่าช้า เพราะอาหารเยอะกองไว้จอมปลวก พระองค์ไปเห็นก็ถามว่า ทำอะไร เอาอาหารมาให้บรรพบุรุษ พระองค์ก็ถามว่า ท่านเอามาวางไว้อย่างนี้ ปู่ตาย่ายายที่ตายไปแล้ว มากินได้หรือ เคยเห็นไหม ว่ามากินหรือเปล่า ไม่เคยเห็น ไม่รู้ว่ามากินหรือเปล่า บอกว่า อันนี้มันไม่ถูก ที่ถูกควรจะทำนี้คือ เอาอาหารนี้ไปแจกคนยากคนจน คนจนมันเยอะ แล้วไปแจกสมณะ ชีพราหมณ์ ผู้ประพฤติดี ประพฤติชอบ แล้วอุทิศส่วนบุญไปให้ จะเกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ท่านสอนให้ทำอย่างนั้น แต่ว่าคนอินเดียมันก็ เลิกยาก ประเพณี ก็ยังทำกันอยู่อย่างนั้น เป็นธรรมดา พระพุทธเจ้าอยู่ ๘๐ ปี ๔๕ ปี เลือกไม่ไหว เอาออกไม่หมดก็ได้เป็นบางส่วน ก็ยังเหลืออยู่บ้าง เป็นประโยชน์แก่คนเหล่านั้น อันนี้เป็นเรื่องการทำ
แล้วก็ในวันสงกรานต์นี้ เราควรถือว่า เป็นวันชำระชะล้าง ชำระเอาสิ่งไม่ถูกต้องออกจากตัวเรา ความบกพร่องทางใจ ทางกาย ทางการพูด การกระทำ อันใดที่มันไม่ถูกต้อง ไม่ดี ไม่งาม ทำมาหลายปีแล้ว เลิกไปซะที ปีกาญจนาภิเษกของในหลวงผ่านมาแล้ว เราก็เลิก วันสงกรานต์นี่ควรหาความสงบใจ อย่าไปเที่ยวไปเล่นไปสนุก กินเหล้า เมายา เสเพล เฮฮา ไม่ถูกต้อง
แต่เราควรจะพักสงบใจ ที่บ้านก็ได้ มาวัดก็ได้ มาพักผ่อน นั่งคนเดียว แล้วมองดูตัวเอง พิจารณาตัวเอง ตักเตือนตัวเอง แก้ไขตัวเอง มองให้รู้ว่าเราน่ะ มันผิดอะไรบ้าง ทำอะไรไม่ถูกอยู่บ้าง มองให้เห็น ให้เห็นตัวเองชัดเจนแจ่มแจ้ง เมื่อเห็นว่าไม่ถูก มันได้อะไรบ้าง เราทำอย่างนี้มานานแล้ว ได้อะไร มีแต่เรื่องขาดทุน เสียหาย ยุบยับ ได้ไม่คุ้มเสีย ถ้าเราจะขืนทำต่อไปก็เหมือนกับลงโทษตัวเอง ทุกข์ต่อตัวเองเปล่าๆ ไม่ได้เรื่องอะไร เลิกเถอะ ตัดสินใจเด็ดขาด เลิกในวันสงกรานต์ อันนี้ก็เป็นการถูกต้อง
เราโกรธใครเกลียดใคร ไม่ถูกใจกับใครก็ไปดีกันเสีย ไปเชิญคนนั้นมารับประทานอาหารที่บ้าน แล้วก็รับประทานอย่าไปดื่มเหล้า เพราะดื่มเหล้า มันเมาแล้วมันยุ่งอีกน่ะ รับประทานอาหารธรรมดา กินขนมนมเนย แล้วก็คุยกันว่าแหม นึกได้ว่าไม่ถูกกับคุณพี่มานานแล้ว อยากจะเลิกซะที ขอโทษอะไรที่ทำมาไม่ถูก ขอให้พี่ลดโทษให้แก่น้องด้วย ต่างคนต่างอภัย ให้อภัยแก่กัน การให้อภัยแก่กันและกันนั้น เป็นความดี จะได้เลิกละกัน แล้วตั้งหน้าทำความดีต่อไป นักการเมืองที่โกรธๆเคืองๆกันอยู่ ก็หันมาดีกัน เลิกโกรธ เลิกเกลียด เลิกริษยา เลิกด่ากันเสียทีเถอะ วันสงกรานต์แล้วก็เลิกด่ากันเสียที ตั้งใจทำความดี ให้เป็นความสุขความเจริญแก่ประเทศชาติต่อไป ถ้าอย่างนี้ก็เป็นการถูกต้อง เราควรจะทำอย่างนั้น จึงจะถูกต้อง ในเดือนเมษายนก็มีข้อควรปฏิบัติ ดังนี้
พูดมาก็สมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ต่อนี้ไปก็ขอให้คุณโยมนั่งสงบใจ เป็นเวลา ๕ นาที