แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลา ของการปาฐกถาธรรมะอันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการมาวัดตามสมควรแก่เวลา
วันนี้อากาศแจ่มใสไม่มีเมฆ ไม่มีฝน ทำให้พวกเราที่มาวัดมีความสุขใจ สบายกายด้วย เพราะมันไม่ชื้นแฉะเท่าใด ฤดูฝนมันก็มีชั่วระยะหนึ่งของปี แล้วก็ถึงฤดูหนาว แล้วก็ฤดูร้อน ผลัดเปลี่ยนกันไป เป็นอย่างนี้ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา เวลาฝนตกน้ำมันก็ท่วม น้ำท่วมเมืองไทย ไม่ใช่ท่วมเฉพาะปีนั้นปีนี้ แต่มันท่วมทุกปี เมื่อมีฝนตก ท่วมมาแต่สมัยนู้น
ตั้งแต่ไม่มีคนมาอยู่ในประเทศไทยมันก็ท่วมแล้ว เพราะว่าเมืองไทยเรานี้มีภูเขาอยู่ทางเหนือของประเทศ ฝนตกมากแล้วก็ไหลงสู่แม่น้ำ ปิง วัง ยม น่าน มารวมเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาที่นครสวรรค์ แล้วก็ไหลบ่าท่วมทุ่งนา ทำให้การปลูกข้าวได้รับความสะดวกสบาย สมัยก่อนชาวนาเพาะปลูกข้าวมาก ฝนยังไม่มา เป็นข้าวนาหว่าน ดังนั้น แล้วก็น้ำค่อยขึ้นเรื่อยๆ เรื่อยๆ น้ำท่วมทุ่งเต็มไปหมด ต้นข้าวก็ยาว …… (02.02 เสียงไม่ชัดเจน) มาก ชาวนาสบายใจ สบายใจว่าปีนี้น้ำมาก เราจะได้ฟางมากๆ ได้ฟางไว้ให้ควายกิน ว่าถึงหน้าน้ำต่อไป แล้วก็เก็บเกี่ยวผลข้าวส่งไปขายต่างประเทศ ข้าวเป็นสินค้าหลักของประเทศไทย
แต่ในสมัยนี้ บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป คนมันมากขึ้นแล้วก็ไปอยู่ในทุ่งนาอันเป็นที่ลุ่ม แล้วก็พอฝนตกน้ำท่วมก็บ่นกัน บ่นว่าน้ำท่วม จะไปบ่นทำไม ก็ไปสร้างบ้านอยู่ที่ในนา มันก็เป็นที่ของน้ำอยู่มันก็ท่วมตามธรรมดา แม้ตัวเมืองกรุงเทพก็มาตั้งลงในทุ่งนาน้ำก็ต้องท่วมบ้างเป็นธรรมดา เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนใจ เรานึกไปถึงเรื่องเก่าๆ ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีน้ำท่วมทุกปี เราก็สบายใจ เพราะธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น ธรรมดามันเป็นอย่างนั้น ถ้าเราคิดได้ก็สบายใจ ไม่เดือดร้อนอะไร แต่ถ้าคิดไม่เป็น ก็เป็นทุกข์ เดือดร้อนบ่นกันใหญ่ หาว่าไม่มีใครช่วย คนสมัยก่อนเขาช่วยตัวเอง เขารู้ว่า ……. (03.31 เสียงไม่ชัดเจน) เดือนนั้นน้ำจะมา เขาก็เตรียมตัวรับน้ำ มีเรือไว้ใช้ ทุกบ้านทุกช่องมีเรือลำหนึ่ง เวลาไม่มีน้ำก็เอามาคว่ำไว้ใต้ถุนบ้าน พอใกล้หน้าน้ำก็ตกแต่งยาชันตอกหมันให้เป็นการเรียบร้อย พอน้ำมาก็ได้ใช้เรือ ไปวัดไปวา ไปบ้านนั้นบ้านนี้ ข้าวสารเขาก็เตรียมสำหรับกิน ถ้าน้ำท่วม น้ำเขาก็ตักใส่โอ่งไว้ดื่มเวลาที่น้ำมาก น้ำมันขุ่นข้นดื่มไม่ได้ แต่ว่าพอถึงน้ำท่วมหลายๆ วัน น้ำตกตะกอนมันก็ใส โดยเฉพาะวันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำเต็มทุ่ง ตะกอนที่มากับน้ำ ก็ตกลงไปในท้องนาเป็นปุ๋ยแก่ต้นข้าวต่อไป
ธรรมชาติมันหมุนเวียนกันอยู่ในรูปอย่างนั้น เขาก็รู้เขาก็เตรียมตัวไว้พร้อม ว่ามาถึงหน้าน้ำต้องทำอะไร แม้ควายที่เลี้ยงไว้ไถนา พอใกล้หน้าน้ำเขาก็ผูกโยงให้มันอยู่ ให้ขึ้นไปอยู่บนบนบ้าน เป็นโรงควายมีหญ้าไปตัดมาเลี้ยงมัน มันช่วยเราไถนา พอถึงหน้าน้ำไม่มีหญ้าจะกิน คนก็ไปตัดหญ้าเลี้ยงควายต่อไป ทำกันมาอย่างนั้น ตั้งแต่ปู่ แต่ย่า แต่ทวด ทำกันอย่างนั้นคนทุ่งนาศรีอยุธยา สุพรรณบุรี อ่างทอง เขาทำกันอย่างนั้นทุกสิ่ง เขาไม่ได้มีความทุกข์ความเดือดร้อนอะไร เขาไม่ได้บ่นอะไร ว่าเสียหาย แต่เวลานี้เครื่องมือสื่อสารมันมาก โดยเฉพาะโทรทัศน์ พูดทุกวัน น้ำท่วมที่นั่น น้ำท่วมที่นี่ ทำให้คนฟังแล้วคิดว่าแย่แล้วน้ำมากแล้ว ความจริงก็ท่วมอยู่อย่างนั้น ไม่ใช่ของแปลกอะไร ถ้าไปถามชาวนา ชาวบ้าน ทางทุ่งอยุธยา เขาว่าปีนี้น้ำมากนิดเดียว ไม่เท่าใด เขาผูกไม้ไว้ที่ข้างใต้ถุนบ้าน หรือตามเสาหลัก แล้วก็รู้ว่าน้ำมากน้ำน้อย เขาก็อยู่กันอย่างนั้น ไม่ได้มีความทุกข์ร้อนอะไร
แล้วคนไทยเรานี้ชอบหาเรื่องสนุก หากเวลาน้ำมาก สนุกอย่างอื่นไม่ได้ ก็สนุกกันด้วยพายเรือ ว่าเพลงกัน แต่งเพลงขึ้นร้องกันเวลาหน้าน้ำ เขาเรียกว่าเพลงเรือ ถ้าหน้านี้เขาก็พายเรือ ร้องเพลงกัน เกี้ยวพาราศีกันไป คนแก่ก็เกี้ยวคนแก่ โดยมากคนร้องเพลงมักจะเป็นคนแก่ ชำนาญการร้องเพลง เขาก็ร้องกันไปตามเรื่องหาเรื่องสนุกกัน แข่งเรือกันบ้าง ทำอะไรกันบ้าง ทำให้มันสนุก ให้เพลิดเพลิน จังหวัดเพชรบูรณ์ถ้าน้ำมาก เขาก็มีงานพิธีอุ้มพระดำน้ำ พระพุทธรูปอุ้มลงไป แล้วดำลงไป ใครดำได้นานกว่าใครก็ชนะ หากตนหายใจได้ก็ชนะ แล้วก็อุ้มพระดำน้ำนี้ทำทุกปี เรียกว่าหาทางระบาย ชาวไทยเราไม่ใช่คนปัญญาอ่อน แต่เป็นคนรู้จักหมุนอะไรๆ ให้เหมาะกับเหตุการณ์ เวลาหน้าแล้ง ก็สนุกแบบหนึ่ง พอถึงหน้าน้ำก็สนุกแบบหนึ่ง เขาหาเรื่อง เรียกว่าระบายความคิดนึกในทางจิตใจออกมาเป็นเรื่องเป็นราว กลายเป็นประเพณี กลายเป็นพิธีประจำบ้านประจำเมืองกันไป อันนี้แสดงให้เห็นว่า คนเราโบราณนั้นไม่นั่งจับเจ่า ไม่นั่งเป็นทุกข์ แต่ว่าหาเรื่องทำให้มันสบายใจ ยังมีพิธีต่างๆ ทุกฤดูกาล น้ำมากก็ทำพิธีอย่างหนึ่ง น้ำน้อยก็ทำอย่างหนึ่ง หาเรื่องสนุกสบาย ไม่ค่อยจะมีความทุกข์ ความเดือดร้อนอะไรมากนัก แม้ในวัดวาอาราม เวลาน้ำท่วมน้ำก็ท่วมวัด ท่วมเกือบถึงโบสถ์ แต่ไม่เข้าไปในโบสถ์เท่านั้นเอง ศาลาก็น้ำท่วม ชาวบ้านมาวัดก็มาสบาย เพราะว่านั่งเรือมา มีเรือพายมาจอดข้างศาลาเต็ม คนขึ้นไปบนศาลาไปทำบุญศุลทาน
สมัยก่อนหลวงพ่อเคยไปเทศน์กลุ่มนาอยุธยาไป อ.ผักไห่ อ.เสนา ต.ราชโด ราชคาม เวลาหน้าน้ำไปสบายมาก เพราะเรือไปได้ทุกแห่ง ลัดไปในนาได้ แต่พอหน้าแล้ง ก็ต้องถอยตามลำคลองเล็กๆ คดไปคดมา กว่าจะไปถึงได้ก็เหงื่อไหลไคลย้อย แต่หน้าน้ำนี่ไม่มีเลย ก็น้ำมันสบาย สบายใจ
ฝรั่งคนหนึ่งเขาเคยมาอยู่เมืองไทย อยู่ที่ อ.วิเศษไชยชาญ จ.อ่างทอง เขาบอกว่าฤดูที่สบายที่สุดของเมืองไทย คือ ฤดูที่น้ำท่วม ชาวบ้านก็สบาย ใครๆ ก็สบาย พระสงฆ์ องค์เจ้าก็พายเรือออกไปบิณฑบาต ไม่ต้องเดิน สบายเหมือนกัน เขาเรียกว่าคนฉลาดรู้จักทำเรื่องทุกข์กลายเป็นเรื่องสุข แต่คนโง่หาเรื่องให้เป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา หน้าแล้งก็มีความทุกข์ หน้าหนาวก็มีความทุกข์ หน้าฝนก็มีความทุกข์ เรียกว่าค่อนข้างจะโง่สักหน่อย แต่คนฉลาดนั้นเขาหาเรื่องให้สบายใจ สร้างพิธีรีตองต่างๆ ให้คนสบายกันในหน้าฤดูกาลต่างๆ เป็นธรรมเนียมมาแต่โบราณแสดงว่าคนไทยเรานี้เป็นผู้มีความฉลาดในการปรับปรุงชีวิตจิตใจ ให้เป็นไปในทางที่สุขที่ชอบจึงได้อยู่กันสบาย ญาติโยมทั้งหลายก็เหมือนกัน เวลาเรามาวัด หากฝนตกก็รีบ …… (10.15 เสียงไม่ชัดเจน) กันหน่อย เพราะว่าน้ำมันเจิ่ง แต่ไม่เท่าไหร่มันก็หายไป มันเข้าหลักธรรมะที่ว่า สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นก็ต้องดับเป็นธรรมดา มีอะไรเกิดขึ้นไม่เท่าใดมันก็หายไป น้ำท่วมมีเวลาที่จะลดหายไป ลมพายุใหญ่มันก็พัดชั่วพักหนึ่ง วันหนึ่ง คืนหนึ่งบ้าง แล้วมันก็หายไป อะไรๆ มันก็เป็นอย่างนั้นทั้งนั้น แม้ในชีวิตของเราเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ไปรักษาที่โรงพยาบาล รักษาแล้วมันก็หายไป แต่โรคบางอย่างมันเป็นเรื้อรัง ไม่รู้จะหาย อาจเป็นจนกระทั่งตายไปเลยทีเดียว มันก็เรื่องธรรมดาอีกเหมือนกัน เพราะเราเกิดมาก็ต้องตาย ไม่ใช่จะอยู่ยั่งยืนค้ำฟ้า แม้ใครจะให้พรว่าขอให้อายุมั่นขวัญยืน ก็หลอกให้สบายใจนิดหน่อยเท่านั้นเอง มันยืนไม่ได้ตามพรหรอก มันเป็นไปได้ตามปัจจัยเครื่องปรุงแต่ง ถ้าปัจจัยเครื่องปรุงแต่ง ร่างกายของของเรามันสมบูรณ์ ภูมิต้านทานดี ร่างกายก็เป็นไปได้นาน แม้มีโรคขึ้นมามันก็สู้ได้ แต่ถ้าภูมิต้านทานอ่อนแอ เกิดโรคก็สู้ไม่ได้ คนเราเมื่ออายุมากขึ้น ๖๐ ๗๐ ปี ภูมิต้านทานมันก็เริ่มถดถอย สู้กับโรคไม่ค่อยได้เพราะฉะนั้นคนที่อยู่ในวัยชรา จึงมีอาการแปลกๆ เกิดขึ้นในร่างกาย ก็ถือว่าธรรมดามันเป็นอย่างนั้น เป็นเรื่องที่ต้องเกิด จะต้องมีแก่ตัวเรา มันหนีไม่พ้น
เอก อย่าตีหยอกๆ ตีมันเจ็บๆ บ้าง มันไม่กลัว ตีเบาๆ อย่าไปปราณีมัน หมาขี้เรื้อน มันก็ชอบมาหาคน คนมากตรงไหนมันไปตรงนั้นมันนึกว่าตัวมันน่าพิสมัยเหลือเกินแล้ว มันเที่ยวเดินปาดแข้งคนนั้น ปาดเสื้อผ้าคนนี้ เหมือนจะเอารูปมาให้เรา ถ้าเราไม่ชอบก็เป็นทุกข์ ถ้าเฉยๆ มันก็ไม่เป็นไร แต่มันมาบ่อยๆ ก็เอาไม้ฟาดหัวมันบ้าง ไม่เช่นนั้นมันไม่รู้สึก ทำโทษหมาต้องตีว่ามันทำผิด ถ้าว่ามันทำผิดแล้วไปตีมัน “แล้วมาตีกูทำไม กูผิดอะไร” เกิดปัญหา แล้วมันจำไม่ได้ อันนี้ถ้าว่ามันมาถ่ายตรงนี้ มันไม่ถูก หวดเข้า หวดแรงๆ ให้มันรู้ว่าถ่ายผิดที่ถูกตี นอนผิดที่ถูกตี เข้าเขตหวงห้ามถูกตี มันก็ไม่มา เลี้ยงเป็น หากแต่ว่าหมาเหล่านี้ไม่มีใครเลี้ยง เขาเรียกว่าหมาจรจัด มาอยู่ในวัดตามสบาย หมากับวัดนั้นของคู่กัน วัดไหนมีหมามาก แสดงความเจริญของวัดนั้น หมามาก หมาอ้วนแสดงว่าวัดนั้นเจริญ มีคนมาทำบุญมาก อาหารมาก หมาจึงอ้วน แต่ถ้าเข้าไปวัดไหน หมาผอม โกโรโกโส แปลว่าวัดนั้นแย่มาก ไม่มีคนมาทำบุญ ไม่มีอาหารกินหมาจึงผอม เข้าไปวัดไหนเห็นหมาผอม อย่าแวะ ไปแวะวัดหมาอ้วนๆ ดีกว่า เพราะมันสมบูรณ์ ก็จะมีอะไร …… (14.11 เสียงไม่ชัดเจน) ฉันบ้าง มันเครื่องหมายซึ่งความเจริญเหมือนกันนะ แต่บางที่มันก็เที่ยวถ่าย เที่ยว …… (14.20 เสียงไม่ชัดเจน) ก็นึกไปว่าดีเหมือนกันจะได้มีงานทำ ได้กวาดขี้หมาบ้าง อะไรต่ออะไรบ้าง จะได้มีงานทำ ถ้าไม่มีหมาเราก็ไม่รู้เราจะทำอะไร มันมีก็ดีเหมือนกัน ที่มันเข้ามันก็ดีเหมือนกัน จะได้ไล่มัน ให้คุณเอกมีหน้าที่ไล่หมา ก็ได้ทำ มีงานทำก็สบายใจ คือ นึกอะไรให้มันสบาย แล้วก็มันไม่ยุ่ง ถ้าเรามองในแง่ร้ายมันก็ยุ่ง
ชีวิตนี้มันมีกระจก 2 ด้าน กระจกด้านดี กระจกด้านร้าย ถ้าเรามองด้านดีก็สบายใจ แต่ไปมองด้านร้ายมันก็ไม่สบายใจ มีความทุกข์มีความเดือดร้อนใจ ด้านไหนมันร้ายเราก็อย่าไปมอง ถ้ามองก็ต้องใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา ให้เห็นว่าธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น แต่ด้านไหนดี ก็มอง มองว่าไอ้นี่ดี แต่อย่าไปติดดีนะ ติดดีก็ไม่ได้ ติดชั่วก็ไม่ได้ ติดดีก็เป็นทุกข์เหมือนกัน คนเราติดดีก็เป็นทุกข์ เพราะดีมันจางไปหายไป แล้วก็เป็นทุกข์ ติดชั่วยิ่งเป็นทุกข์ใหญ่ ทำให้เกิดความร้อนใจ เราจะทำใจอย่างไรไม่ให้มีความทุกข์ ทำใจเฉยๆ ใช้สติปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา ว่ามันคืออะไร มันเกิดจากอะไร มันเป็นอยู่อย่างไร เราควรจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นอย่างไร อย่างนี้เรียกว่าใช้ปัญญา ถ้าใช้ปัญญาแล้วก็ความทุกข์ไม่มี ความทุกข์ไม่เกิด แต่ถ้าเราไม่ใช้ปัญญา มันก็เกิดความทุกข์ หงุดหงิดงุ่นง่าน คนบางคนมีอารมณ์หงุดหงิดอยู่ตลอดเวลา ด้วยเรื่องนั้นบ้าง ด้วยเรื่องนี้บ้าง หงุดหงิดวันยังค่ำ พยายามไม่ไว (16.24 เสียงไม่ชัดเจน) ทรมานตนเอง ทำให้อารมณ์เสีย สภาพจิตใจเสื่อม สุขภาพกายก็พลอยเสื่อมไปด้วย ยิ่งคนอายุมาก คือคนแก่ ถ้าหากว่ามีความทุกข์มาก มันก็ยุ่งทางด้านจิตใจ ไม่สบายใจ แต่ถ้าหากเราคิดเป็น ก็ไม่มีปัญหาอะไร คิดเป็นใจก็สบาย ถ้าคิดไม่เป็นก็มีความทุกข์ความเดือดร้อนใจ
บทสวดมนต์ที่เราสวดอยู่บ่อยๆ นั้นเป็นข้อเตือนใจอย่างดี เราสวดว่าอะไรบ้าง ดูสวดแล้วก็ต้องเอาไปใช้ ไม่ใช่สวดเฉยๆ สวดแล้วก็หมดเรื่องกัน เวลาสวดมันก็ได้อย่างหนึ่งแล้ว คือ ใจสงบ แต่ว่ายังไม่เกิดปัญญา ถ้าเราไม่เอาไปคิดพิจารณา เพราะฉะนั้นสวดเพื่อให้ใจสงบ แล้วเราเอาบทสวดนั้นไปคิดพิจารณา มันก็เกิดปัญญาขึ้นในตัวเรา เช่น เราสวดบทพิจปัจจเวก …… (17.27 เสียงไม่ชัดเจน) บทพิจารณาว่า ถ้าผู้มีพระภาคว่าทรงพระชนม์อยู่ได้สอนย่างนี้ สอนอย่างไร สอนว่า รูปัง อนิจจัง รูปไม่เที่ยง เวทนา อนิจจา เวทนาไม่เที่ยง สัญญาอนิจจา สัญญาไม่เที่ยง สังขารา อนิจจา สังขารไม่เที่ยง วิญญาณัง อนิจจัง วิญญาณไม่เที่ยง สอนอย่างนี้ สอนเพื่อให้เราได้เกิดปัญญา ให้เกิดความสงบใจ เกิดความรู้ทันรู้เท่าในสิ่งนั้น และจะดับทุกข์ได้ ทรงสอนไว้อย่างนั้น นี้เราเอามาสวด สวดแปลดีใหญ่ ก็รู้ รู้ทันที พอสวดไปก็รู้
แต่ถ้าสวดไม่แปล รูปังอนิจจัง เวทนานิจจา ว่าเรื่อยไป ก็ไม่รู้ว่าอะไรเป็นนกแก้วนกขุนทอง ท่านพุทธทาสเห็นว่าการสวดต้องแปลด้วย ท่านจึงพยายามแปลสำนวน ให้สวดสบาย สวดลื่นๆ เราเอามาสวดกัน ก็อยากให้วัดทุกวัดช่วยกันสวดบทเหล่านี้ ให้ญาติโยมสวดกัน แต่ก็ไม่ค่อยมีวัดใดสวดเท่าใด เขาถือตามแบบที่เขาเคยทำกันมา ถึงไม่ก้าวหน้าอะไร อันนี้ถ้าสวดแปลก็ได้ความรู้ ได้ความเข้าใจ ว่าไปก็รู้ไปว่า รูปัง อนิจจัง คือ รูปไม่เที่ยง เวทนานิจจัง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาอนิจจา สัญญาไม่เที่ยง วิญญาณัง อนิจจัง วิญญาณไม่เที่ยง อันนี้ไม่เที่ยงอย่างไร เราต้องคิดสิ เราต้องเอาไปคิดสิ ว่ามันไม่เที่ยงอย่างไร
การคิดไม่ต้องไปคิดอะไร ดูสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา ว่ามันเที่ยงหรือไม่เที่ยง หรือไม่เที่ยง เช่น ดูดอกไม้ที่เราวางไว้บนแจกัน จัดสวยงาม วางไว้บนโต๊ะ แล้วเรานั่งที่เก้าอี้ มานั่งเก้าอี้ก็เห็นดอกไม้ อย่าเพียงเห็นเฉยๆ แต่เอาดอกไม่นั้นเป็นบทเรียน เป็นเครื่องเตือนใจ ด้วยการพิจารณาว่าดอกไม้ ยามเช้าเป็นอย่างไร ตอนสายเป็นอย่างไร ตอนเที่ยงเป็นอย่างไร ตอนบ่ายค่ำเป็นอย่างไร สังเกตดูให้ดี สังเกตอย่างละเอียด เรียกว่าเจริญภาวนาเหมือนกัน เจริญภาวนาด้วยการพิจารณาดอกไม้ที่เราจัดวางไว้บนโต๊ะรับแขก และเราไม่มีแขก ก็ดูดอกไม้ ฟังดอกไม้ พิจารณาว่ามันเป็นอย่างไร มันเปลี่ยน มันเริ่มเหี่ยว แห้ง แล้วก็บางทีก็ร่วงบนโต๊ะใกล้แจกันนั่นเอง นี่ก็เป็นบทเรียนบทสอนใจเรา เราได้เห็นแล้วก็ได้พิจารณาเห็นว่า อ้อ นี่แหละที่พระท่านสอนว่ารูปไม่เที่ยง คือมันเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา
สิ่งที่เรียกว่าไม่เที่ยง คือ มันไม่หยุดอยู่อย่างเดิม แต่มันเปลี่ยน เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เรียกว่าไหลไปตลอดเวลา การไหลไปนั่นแหละ คือความไม่เที่ยงของสรรพสิ่งทั้งหลาย ดอกไม้มันก็เปลี่ยนไป เปลี่ยนไป จนกระทั่งว่าเหี่ยวแห้ง กลีบล่วง หลุดลงจากขั้วกองอยู่บนโต๊ะ มันบทเรียนทั้งนั้น เป็นเครื่องเตือนใจเราทั้งนั้น ในบ้านของเรามีสิ่งเตือนใจอยู่ทั่วไป แจกันดอกไม้ โต๊ะบูชา ฝาบ้าน ฝาเรือน ม่านบังหน้าต่าง เราก็เห็นแล้วว่ามันเป็นอย่างไร เอาไปติดใหม่ๆ ก็สีสวยสดงดงามดี แต่ว่าดูไปๆ มันชักจะมัวไปแล้ว มัวด้วยขี้ฝุ่น ในโลกนี้มีฝุ่นเยอะ ฝุ่นมันปลิวมาตามอากาศ มาจับอยู่ตามม่านหน้าต่าง มาจับอยู่ตามกระจก จับอยู่ตามไม้ขอบกระจก แต่เราไปดูแล้วก็เห็นว่าอะไร ขี้ฝุ่น มันมาจับสิ่งเหล่านี้ ทำให้เกิดการเปรอะเปื้อน เปลี่ยนแปลงไป ก็เหมือนกับว่าจิตใจของเรา มันก็มีขี้ฝุ่นเข้ามาจับที่ใจของเรา ขี้ฝุ่นที่มาจับที่ใจของเราก็ คือ ที่เกิดจากสิ่งที่มากระทบ ถ้าเรามีตาเห็นรูป มีหูได้ยินเสียง มีจมูกไว้รับกลิ่น ลิ้นไว้รับรส กายถูกต้องอะไรเราก็รู้ จับอะไรก็รู้ ว่าอ่อน แข็ง นุ่มนวล เป็นอย่างไรเรารู้ มันมากระทบสิ่งเหล่านี่ เรียกว่า ประกาศ 5 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วก็มีใจเป็นผู้รับรู้ ใจนั้นอยู่ตรงกลางของสิ่งเหล่านั้น อะไรๆ ก็ไหลไปรวมอยู่ที่ใจ ใจเป็นผู้รับรู้ คล้ายกับตัวแมงมุม ตัวใหญ่ๆ สมัยก่อนนี้ถ้าเราเข้าไปในป่า เห็นใยแมลงมุมเที่ยวคลุมไว้ คลุมไว้มากมาย จากต้นไม้นี้ไปต้นไม้นู้น ขึงเป็นตาข่าย ดักสัตว์ที่มาถูกใยเหล่านั้น ติด นกบินมาก็ติด ติดแล้วบินออกไปไม่ได้ พอติด ตัวแมลงมุมมันนอนอยู่ตรงกลาง นอนด้วยสติ ไม่ใช่นอนหลับ นอนด้วยสติ คอยกำหนดว่าสายใยด้านไหนกระเทือน พอด้านไหนกระเทือนก็จะวิ่งไปเลย อย่างเร็ว พอไปถึงก็จับเจ้าสัตว์ตัวนั้น ถ้าเป็นแมลงก็จับดูดเอาน้ำในร่างกายกิน เหลือเป็นซากแห้งติดอยู่บนเส้นใย ถ้าเป็นตัวนกก็ปล่อยพิษใส่ให้หมดฤทธิ์ ค่อยกินต่อไป ทำอย่างนี้ตลอดเวลา มันก็อยู่อย่างนั้น ตาข่ายที่มันดักไว้ก็เหมือนกับเราดักข่าววิทยุ เอาตาข่ายไปขึงไว้บนหลังคาบ้าน วิทยุมาติดตาข่ายเข้าเครื่องรับ ออกเป็นเสียงออกเป็นรูปต่างๆ มันคล้ายกับ สิ่งเหล่านี้ ก็เอามาจากตัวคน ตัวคนนี้เป็นบทเรียนเป็นตัวอย่างแก่สิ่งทั้งหลายทั้งปวง เราทำตามระบบนั้น เครื่องยนต์กลไกเหมือนกัน ทำตามระบบร่างกาย ร่างกายมีใจเป็นหัวหน้าเป็นต้นเรื่อง คอยรับรู้ รับเสียง รับกลิ่น รับรส รับสิ่งสิ่งถูกต้องทางกายประกาศ แล้วก็ปรุงแต่งว่า น่ารัก น่าเกลียด น่าเอามาไว้ ไม่น่าเอา เป็นไปอย่างนั้น ตามรูปเรื่องที่มาจากทุกข์ เช่น ตาเห็นรูป ใจก็ปรุงแต่งว่ารูปนี้เข้าที อยากได้ ติดามในรูปนั้นไป เพื่อจะได้มาเป็นของตัว ถ้าไม่ได้ ก็เป็นทุกข์ เดือดร้อน กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เพราะความทุกข์ที่เกิดจากรูปนั้น ได้ยินเสียงไพเราะก็ติดในเสียงนั้น ฟังเพลินไป พอมันจบ ทำไมมันจบเร็วเกินไป อยากจะฟังอีก ไม่ได้ฟังก็เป็นทุกข์ กำลังนั่งฟังอยู่ใครมาขัดคอ ก็ไม่ชอบคนนั้น เดี๋ยวก็ทุบตีเขา ทำให้เขาเจ็บแสบ ปวดร้าว เพราะอารมณ์มันเสีย มันเป็นอย่างนั้น สภาพชีวิตเรามันก็เป็นอย่างนั้น อะไรมากระทบมันก็เป็นอย่างนั้น
ถ้าไม่ได้ปฏิบัติธรรม ไม่ได้ฝึกฝนจิตใจเราให้มีสติ ให้มีปัญญา รู้ทันรู้เท่า ต่อสิ่งเหล่านั้น สภาพจิตใจก็ปัดแกว่งไปกับสิ่งเหล่านั้น วิ่งไปวิ่งมามากมายก่ายกอง เป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะรูป เป็นทุกข์เพราะเสียง เป็นทุกข์เพราะกลิ่น เป็นทุกข์เพราะรส เป็นทุกข์เพราะสัมผัสถูกต้องในเรื่องต่างๆ เพราะเราไม่มีสติปัญญาเป็นสิ่งบังคับจิตใจ แต่ถ้าเราคอยฝึกตัวเราไว้ เป็นอะไรมากระทบก็รู้ว่าเป็นอะไร ปัญญามาพิจารณาว่าอะไร สิ่งนี้คืออะไร สิ่งนี้เรียกว่าเป็นรูป รูป คืออะไร รูปคือส่วนประกอบของสิ่งต่างๆ ที่สัมผัสด้วยตา เสียงส่วนประกอบที่สัมผัสด้วยหู กลิ่นก็เป็นส่วนประกอบที่สัมผัสได้ด้วยจมูก อาหารที่รับประทานสัมผัสด้วยได้ลิ้น มีรสหวาน รสมัน รสเค็ม รสเปรี้ยว รสเผ็ด รสอย่างนั้น รสอย่างนี้ เราก็ติดในรสเหล่านั้น เพราะความเคย เคยกับรสใดก็ติดในรสนั้น คนภาคไหนก็ติดอาหารของภาคนั้น ได้อาหารอย่างอื่นก็จะไม่ค่อยพอใจ ก็ลิ้นมันเคย ลิ้นมันเคยกันอาหารอย่างนั้น คนไทยชอบอาหารแบบไทย คนจีนก็ชอบอาหารแบบจีน คนญี่ปุ่นก็ชอบอาหารแบบญี่ปุ่น ฝรั่งก็ชอบอาหารแบบฝรั่ง ถ้าเอามาสับกัน ให้มากิน เช่นว่า คนจีนให้กินอาหารไทย เขาก็กินไม่อร่อย มันเผ็ด ร้อน กินไม่ได้ ญี่ปุ่นมากินอาหารไทยก็ไม่ได้ เว้นไว้แต่ว่ากินไปนานๆ ก็ติดใจชอบใจ อยู่ได้ ฝรั่งที่มาอยู่ทำเหมืองแร่ทางปักษ์ใต้ คนใช้มันปรุงอาหารไทยกินให้บ่อยๆ เลยติดอาหารไทย วันไหนไม่มีน้ำพริก กินข้าวไม่ได้ แล้วก็น้ำพริกต้องเผ็ดด้วย ถ้าไม่เผ็ด มันก็ว่า “อันนี้ไม่ใช่น้ำพริกไทย” มันกินไม่อร่อย ต้องเอาพริกขี้หนูใส่จานไว้ แล้วเคี้ยวไปทั้งเมล็ดเลย กินแล้ว หน้าแดง เผ็ด แล้วก็บอกอร่อยๆ มันชอบอย่างนั้น กินไปจนชิน มันก็ชอบ
คนไทยไปอยู่เมืองนอกใหม่ๆ กินอาหารฝรั่ง มันจืดเต็มที กินไม่อร่อย เที่ยววิ่งไปหาร้านอาหารจีน เพราะอาหารจีนมันมีพริกไทย มีพริก มีน้ำส้ม มีอะไรต่ออะไรให้เติม ออกไปเจอก็ไปกินอร่อย บอกเพื่อนว่าพบแล้วๆ ชวนกันไปกินกันเป็นการใหญ่ คนเรามันวิ่งไปตามความอยาก ความปรารถนาเกิดขึ้นในใจ แล้วมันก็วิ่งไปตามความอยากนั้น เพราะฉะนั้นคนเราจึงไม่เป็นสุข เมื่อไม่ได้ดังใจ แต่ได้ดังใจก็เป็นสุขชั่วขณะหนึ่ง พ้นจากนั้นไปก็มีความทุกข์มีความเดือดร้อนใจต่อไป มันอยู่อย่างนี้ มันขึ้นมันลง มันหยุดมันวิ่งกันอยู่ตลอดเวลา แล้วมันจะเป็นสุขที่ตรงไหน ถ้าเราคิดให้ดี มันเป็นสุขต้อง …… (29.39 เสียงไม่ชัดเจน) เฉพาะเรื่องนี้ สงบจึงจะเป็นสุข แต่เราไม่ค่อยจะได้สัมผัสกับสิ่งเหล่านั้น จึงไม่ประจักษ์แก่ใจในสิ่งเหล่านั้น เลยชอบสิ่งที่ตื่นเต้นโลดโผน อย่างนั้นอย่างนี้ด้วยประการต่างๆ จึงเป็นเหตุให้คนเราเที่ยวหาสิ่งเหล่านั้น เสียเงินเสียทองมากมาย เพื่อไปแสวงหา สิ่งประเล้าประโลมใจ ให้เกิดความสุขทางใจ ลงทุนมาก ลงทุนแพง หาของที่ตัวชอบ ต้องสวยงาม มีสิ้นเปลือง แต่ถ้าเราเป็นผู้ประพฤติธรรม เราพอใจในสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ได้อย่างไรก็พอใจ เช่น เวลากินอาหาร ก็กินด้วยสติปัญญา กินด้วยการรู้ว่า เรากินอาหารทำไม กินอาหารเพื่อเลี้ยงร่างกาย เรากินอาหารรู้ว่ากินรสอาหาร กินให้อร่อยหรือกินเพียงเพื่อหายหิว ถ้าเรารู้ว่ากินพอระงับความความหิว …… (30.48 เสียงไม่ชัดเจน) คือบรรทุกเก่า ทุกข์เก่า คือ ความหิวความกระหาย พอเรากินแล้วมันก็หายหิว ก็ใช้ได้ ไม่ต้องคำนึงถึงรสชาติอะไร เพราะรสมันนิดเดียว มันอยู่ที่ลิ้นเรานั้น พอกลืนเข้าไปแล้ว มันก็หมดเรื่อง ลงไปอยู่ในท้องแล้วมันก็ผสมกันปนกัน เลอะเทอะไม่ได้แยกว่าไอ้นั่นอยู่ตรงนั้น ไอ้นั่นอยู่ตรงนี้ ไม่มีห้องในกะเพราะ สำหรับใส่เนื้อ ใส่ผัก ใส่ปลา ใส่สิ่งนั้นสิ่งนี้ ลงแล้วมันก็รวมกัน รวมกันแล้วน้ำย่อยซึ่งมาจากที่ต่างๆ ต่างก็มาย่อยละลายแล้วก็เป็นโอชะ คือ เป็นสิ่งที่จะไปเลี้ยงร่างกายได้ ก็จึงไปตามเส้นโลหิตไปเลี้ยงร่างกาย ของบางอย่างมันก็ไปถึงท้อง มันไปเร็ว เช่น น้ำตาล ของหวาน เราเพลียๆ เหนื่อยๆ ใดๆ ดื่มน้ำหวานเข้าไปสักแก้วหนึ่งจะรู้สึกว่ามันกระชุ่มกระชวย หรือดื่มโอวันติน ไมโล สักถ้วยหนึ่ง รู้สึกว่ามันซ่า มันไปเร็ว เพราะมันเป็นของเหลว มีโอชะที่เลือดดูดไปได้ ก็ไปเลี้ยงร่างกาย เกิดความกระชุ่มกระชวยขึ้นมา เป็นอย่างนั้น แต่ของอื่นต้องย่อยก่อน แต่เรารับประทานของเป็นชิ้นเข้าไป มันก็ต้องไปย่อย กว่าจะย่อยเสร็จไปเลี้ยงร่างกายต้องใช้เวลา ก็ไม่นานนัก มันก็ไปเลี้ยงร่างกาย หายหิว หายกระหาย ถ้าจุดหมายเพียงเท่านั้น กินอาหารเพื่อหายหิว ดื่มน้ำเพื่อหายกระหาย ก็ดื่มน้ำที่สะอาด และ บริสุทธิ์ อาหารที่เรารับประทานก็อย่าไปติดรสอาหาร ก็ถ้าติดรสมันก็ยุ่ง มันต้องปรุงต้องแต่ง เติมนั่นเติมนี่ เวลาจะรับประทานอาหาร ก็ต้องเติมน้ำตาล เติมพริก เติมมะนาว เติมนู่น เติมนี่หลายอย่าง ไม่เป็นที่พอใจก็หงุดหงิดงุ่นง่าน ดุว่าคนใช้ว่า “แกแกงอะไรไม่มีรสมีชาติเลย” คนใช้ก็เดือดร้อน เพราะว่าเราไม่พอใจ เป็นทุกข์ ผู้กินก็เป็นทุกข์ ผู้ปรุงก็เป็นทุกข์ คนนั่งใกล้ก็พลอยเป็นทุกข์ไปด้วย เพราะอารมณ์หงุดหงิดของคนที่กินอาหารไม่ได้เรื่อง มันก็เสียหาย เรามีหน้าที่รับประทาน เขาปรุงมาก็กินเข้าไป กิน เคี้ยวเข้าไป กลืนลงไป เพื่อให้มันหายหิวเท่านั้น ไม่ต้องไปยุ่งกับรสชาติของอาหาร อย่างนี้กินสบาย กินแบบพระ พระท่านสอนให้กินอาหารแบบนั้น เพื่อให้พิจารณาว่าเรากินอาหารไม่ใช่กินเพื่ออร่อย ไม่ได้กินเพื่อความสนุกสนาน ไม่ได้กินให้อ้วนเหมือนนักมวยปล้ำ หรือเหมือนหมูตอน เรากินพออยู่ได้ ก็ไม่ต้องกินมากแล้วมันก็เปลืองน้อย เปลืองไม่ต้องไปซื้ออะไรมามากมาย กินเท่าที่จำเป็น ถ้าเราเป็นอยู่อย่างนั้น ครอบครัวก็ มันเป็นปัญหาน้อย เพราะจ่ายเงินน้อย แล้วก็เงินก็พอใช้ ไม่ฝืดไม่เคือง เดี๋ยวนี้เรามีปัญหาว่าเงินไม่พอใช้ แต่ไม่เคยคิดว่าที่มันไม่พอใช้ เพราะอะไร ไม่เคยเอากระดาษมาเขียนลงไปดูว่ารับเท่าไหร่ จ่ายอะไรบ้าง เขียนลงไปๆ แล้วเอามาทบทวน อ่านดู ว่าในวันหนึ่งๆ เราใช้อะไรบ้าง แล้วอะไรทีมันจำเป็นจริงๆ อะไรที่ไม่เป็นแก่ร่างกาย ถ้าเราพิจารณา จะต้องขีดเส้นแดงไว้ แต่ไม่จำเป็น มันก็ขีดแดงเถือกไปทั้งหน้ากระดาษ เพราะสิ่งไม่จำเป็นมันเยอะแยะ แต่ว่าเราหามาเพื่อบำเรอความอยากของเราเอง เขาเรียกว่าบำเรอตัณหา คือ ความอยาก ก็เท่านั้น ไม่ได้มากอะไร ตานี้ความเอร็ดอร่อยมันก็อยู่ที่ปลายลิ้นนิดเดียว กินแล้วลิ้นมันรั่ว อร่อย อร่อยแล้วมันก็ดับไป มันดับไป เผ็ดก็ดับไป เค็มก็ดับไป เปรี้ยวก็ดับไป ไม่มีอะไรอยู่กับเรานาน นี่ก็เป็นบทเรียนอยู่แล้ว เกิดสอนใจอยู่แล้ว แต่ว่าเราไม่ได้คิด ไม่ได้ใช้ธรรมะ ในเวลากินอาหาร ไม่ได้ใช้ธรรมะเวลาดื่มอะไร ถ้าเราใช้ธรรมะเวลากิน มันก็ควบคุมการกินได้ กินอยู่อย่างประหยัดอดออม ไม่มีปัญหาเรื่องเงินไม่พอใช้ เพราะเรากินแต่พอดีไม่ได้กินให้อะไรมันมากเกินไป
เครื่องดื่มก็เหมือนกัน สมมติว่าคนชอบดื่มเหล้า ไม่ได้คิดว่าดื่มทำไม เหล้า มันให้ประโยชน์อะไรแก่ร่างกาย มันทำลายหรือว่ามันช่วยสร้างเสริมเราได้ มันทำลายมากกว่า ไม่ได้ช่วยสร้างเสริมอะไร ถ้าของนั้นไม่จำเป็นแก่ร่างกาย พระพุทธเจ้าบอกว่าดื่มเหล้านั้นมีโทษหลายอย่าง เสียทรัพย์ ไม่ได้รับประโยชน์ตอบแทนคุ้มค่า เกิดโรคขึ้นในร่างกาย เมาแล้วก่อการทะเลาะวิวาทกัน หน้าด้านไม่รู้จักละอาย ทำอะไรแปลกๆ แผลงๆ กริยาไม่เรียบร้อย พูดจาไม่เรียบร้อย น่าเกลียดน่าชัง คนดีเขาก็ดูหมิ่น …… (36.31 เสียงไม่ชัดเจน) แคลน ว่าเจ้าคนนี้มันเป็นคนขี้เมาหยำเป ชีวิตไม่มีราคาไม่มีความหมาย สมองเสื่อม ปัญญาเสื่อม ไม่ได้เสื่อมเฉพาะตัวผู้เดียว แต่ว่ากระทบกระเทือนไปถึงลูกด้วย คนที่ขี้เมาลูกออกมามักจะไม่เรียบร้อย สมองไม่ดี ปัญญาไม่ดี เรียนหนังสือก็ไม่ก้าวหน้า เพราะว่าพ่อมันขี้เมา ตานี้เลือดขี้เมาของพ่อ มันต่อเป็นสายสัมพันธ์เข้าไปถึงลูก ลูกออกมาก็รับกรรมพันธุ์ของพ่อ สมองเสื่อมปัญญาเสื่อม เรียนหนังสือไม่เก่ง ไม่เคยเห็นลูกคนขี้เมาเรียนหนังสือดีสักคนเดียว แต่คนที่เรียนดีเรียนเก่งนั้นเป็นลูกของพ่อที่ไม่มึนเมาสุรา ประพฤติตนเรียบร้อย ลูกฉลาด มีปัญญา ถ้ามันเป็นซะอย่างนี้ถมไป แล้วจะไปดื่มทำไมก็ไม่รู้
เวลาดีใจก็ดื่มเหล้า เสียใจก็ดื่มเหล้า ดีใจได้เลื่อนยศถาบรรดาศักดิ์ เช่น เป็นทหารได้ติดดาวขึ้นมาสักดวงหนึ่ง แหมดีอกดีใจ เชิญเพื่อร่วมรุ่นไปกินเลี้ยง กินเลี้ยงก็ต้องดื่มเหล้า ถ้าไม่ดื่มเหล้าก็เสียศักดิ์ศรีของทหารไป เลยต้องดื่มกัน ดื่มแล้วมันขาดการบังคับตัวเอง ไม่มีการควบคุมตัวเอง ดื่มมากไป ก็ขับรถกลับบ้านไม่เรียบร้อย ไปชนเสาไฟฟ้า ไปชนรถสิบล้อ ได้ดาวมาใหม่ๆ เลยดาวร่วงไป ดาวดวงเดิมก็พลอยร่วงไปด้วย มันก็เสียหายแก่ชีวิต แก่การงานไม่ได้อะไร แต่ว่าคิดไม่ค่อยได้ เพราะอะไร เพราะไปอยู่ในหมู่เพื่อนที่มีความคิดแนวเดียวกัน มีความเป็นอยู่เหมือนกัน ไม่มีบัณฑิตอยู่ในหมู่นั้น ไม่มีคนปัญญาอยู่ในหมู่นั้น ที่จะบอกว่า ให้คิดหน่อย เอ้ ดื่มไอ้นี่ เอามาทำไม ดื่มทำไม ดื่มเพื่ออะไร ดื่มแล้วมันได้อะไร ไม่มีใครชี้แนะ มีแต่คนว่าอยากจะดื่ม เอาแก้วมาถือรินลงไป กินนิดหน่อย เอาอีกหน่อยๆ แล้วก็ดื่ม ดื่มให้มันเมา ถ้าไม่เมาจะดื่มทำไม ลงโทษตัวเอง ไม่มีเรื่องอะไรก็ลงโทษตัวเอง เฆี่ยนตัวเองด้วยน้ำเหล้า เลยพับไปเลย เสียผู้เสียคนไปตามๆ กัน พุทธบริษัทเรานี้ไม่ควรจะดื่มของมึนเมา ไม่ควรจะเสพสิ่งเสพติดทุกประเภท เพราะว่าศีลข้อ ๕ มันก็บ่งชัดอยู่แล้ว ว่า สุรา เมรัย มัชชะ คำ ๓ คำ สุรา คือ เหล้า เมรัย คือ ของเมาที่ไม่ได้ต้มได้กลั่น เอามาหมักมาดองไว้ให้มันบูดมันเน่า แล้วเอามากินกัน คือ ดื่มของบูดนะ ดื่มของบูดแล้วก็เมาเดินตกบ่อตกท่อได้ เหมือนกัน ส่วน มัชชะ นั่นหมายถึงสิ่งเสพติด บุหรี่ หมาก กัญชา ยาฝิ่น เฮโรอีน ยาม้า ยาอี มีประเภทต่างๆ
แม้เครื่องดื่มที่ขายในตลาดบางประเภทไม่ควรดื่ม เพราะดื่มแล้วมันก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร โดยเฉพาะลูกน้อยๆ เราอุ้มลูกแล้วก็ซื้อน้ำอัดลมบางประเภท เป็นถุงเลย (40.10 เสียงไม่ชัดเจน) ให้ลูกดื่มไป เราก็เห็นแล้วไม่สบายใจ เห็นลูกใครดื่มน้ำอัดลมไม่ค่อยสบายใจ ไม่สบายใจเพราะสงสารเด็กคนนั้น ว่ามาเกิดในพ่อแม่ที่โง่ ไม่รู้จักให้ลูกกินนม ให้มันกินน้ำอัดลม กินเปปซี่บ้าง โคล่า บ้าง อะไรบ้าง เป็นถุงแล้วก็ดูด (40.33 เสียงไม่ชัดเจน) ตะลุกปุก บอกว่า “ให้มันกินทำไม” “ มันอยากจะกิน” อ้าว แล้วกัน เด็กมันจะอยากได้ยังไง ถ้าเราไม่ฝึกให้มันกิน อย่าให้มันกิน เด็กควรดื่มแต่นมนั้น ดื่มจากอกแม่ก็ได้ นมที่เขาทำขาย นมกระป๋อง แต่นมกระป๋องก็ไม่ดี ใส่น้ำตาลมากไป เดี๋ยวนี้เขามีนมที่เขาทำให้เด็ก นมอะไรต่ออะไรที่เขาทำขายกันอยู่ ใส่กล่องให้ดื่มนมกล่องวันละ ๒-๓ กล่อง เด็กมันก็เติบโต แต่ถ้าให้เด็กดื่มเหล้าแล้ว ร่างกายมันก็แกร็นลงไปแกร็นลงไป สมอง …… (41.12 เสียงไม่ชัดเจน) เสียผู้เสียคนกันไป ไม่ได้เรื่อง น้ำอัดลมนี้ไม่ควรให้มันดื่ม เด็กมันกระหายน้ำ ก็ให้มันดื่มน้ำสิ สะอาด เอาน้ำใส่ขวดไปไว้ให้ลูกดื่มอย่าไปซื้อน้ำอัดลมให้ดื่ม ไอ้ขนมประเภทต่างๆ ที่เขาโฆษณาขายทางโทรทัศน์ เอาเด็กไปโฆษณาด้วย เด็กชอบ กินจุ๊บจั๊บๆ อร่อย เด็กดูหนังก็อยากกิน พออยากกิน ไปตลาด บอก แม่ๆ อยากจะซื้อไอ้จับๆ จิ๊บ จั๊บ ด้วย แม่ก็ใจดี ซื้อให้ นั่นแหละ คือการทำลายลูก ทำลายอะไร ทำลายฟันของลูก เพราะว่าสิ่งเหล่านั้น เป็น ยาฟันผุทั้งนั้น เป็นการส่งเสริมให้ฟันผุ ให้เหงือกเสีย เด็กในเมือง ฟันไม่ค่อยเรียบร้อย เหงือกไม่ค่อยเรียบร้อย ต้องไปหาหมอฟันบ่อยๆ เพราะอะไร เพราะมันกินจุบจิบนั่นเอง ของกินมันเยอะ แล้วก็แม่ก็ไม่บังคับลูกให้กินเป็นเวลา ให้กินสิ่งที่จำเป็น ของไม่ควรกินก็ไม่ให้กิน เลยซื้อให้กินตามใจลูก ลูกอยากได้ ก็เดินไปเคี้ยวไปกินไป แล้วก็ไม่ได้แปรงฟัน แป้งทั้งหลายก็ไปติดอยู่ตามเหงือก ติดอยู่บ่อยๆ ก็เกิดเป็นโรคร้าย ทำให้ ฟันผุ เหงือกเสีย ต้องไปถอนฟัน แล้วฟันงอกขึ้นมาก็ไม่ค่อยเรียบร้อย เมื่อยิ้มแล้วก็ไม่สวย แต่เด็กบ้านนอกฟันเรียบร้อย ไม่ใช่เรื่องอะไร มันไม่มีอะไรจะกินนั่นเอง แล้วฟันมันสวย ยิ้มสวยๆ พวกในเมือง นิ้มเหยเกไป เวลาจะพูดเอามือป้องปากกลัวเขาจะเห็นฟัน ที่มันไม่เรียบร้อย นี่มันโทษของการกินทั้งนั้น ไม่ใช่อะไร เราจึงควรหัดให้ลูกกินเป็นเวลา ถึงเวลาอาหารก็กินอาหารคาว กินอาหารหวาน เสร็จไปในตัว …… (43.13 เสียงไม่ชัดเจน) ไม่กินพร่ำเพรื่อ กินเป็นเวลา
ฝรั่ง เขาเลี้ยงเด็กเขาให้กินเป็นเวลา ที่เชียงใหม่ ฝรั่งก็กิน …… (43.23 เสียงไม่ชัดเจน) คนเชียงใหม่บอก ฝรั่งเลี้ยงลูกเหมือนกับเลี้ยงลิง คือ ใส่ไว้ในกรง มันไปทำงานเอาลูกขังกรงไว้ไมให้ไปไหน นอนอยู่เช่นนั้นแหละ ให้กินนม อาบน้ำ เสร็จแล้วก็นอน โน่นแหละ เที่ยงถึงจะมา พ่อแม่มา มาถึงแล้วก็เอาลูกออกมาอาบน้ำอาบท่าให้ กินอาหาร กินอาหารแล้วก็ให้นอน เด็กมันก็ไม่ร้องไม่กวนอะไร เพราะมันร้องก็ไม่ใครมายุ่งกับมัน มันคงร้องบ้าง แต่ร้องแล้วก็ไม่ได้เรื่องอะไร ร้องไห้เหนื่อยทำไม เลยไม่ต้องร้อง เด็กไทย จะร้องๆ พอร้อง คุณยายมา พอร้อง คุณย่ามา ร้อง แม่มา ป้ามา พอร้องแล้วมีคนมา …… (44.11 เสียงไม่ชัดเจน) แต่เด็กฝรั่งมันร้อง มันก็ทนแต่เด็ก ร้องไม่เป็น เพราะว่ามันเคยร้องแล้วแต่ไม่มีใครเอาใจ คุณแม่ได้ยินเสียงลูกร้องก็เฉยๆ ไม่สนใจ ลูกมันได้เรียนรู้ว่า ร้องแล้วไม่ได้เรื่องอะไร ก็เพียงแต่ว่าการร้องไห้เป็นกำลังของเด็ก เด็กมันจะเอาอะไรก็ร้องเข้าว่า เมื่อร้องแล้วแม่ซื้อให้ ย่าซื้อให้ มันร้องก็อย่าให้ ถ้าให้แล้วที่หลังมันร้องอีก จะเอาอะไรก็ไม่ได้ มันก็ร้อง …… (44.43 เสียงไม่ชัดเจน) ออกกำลังดีเหมือนกัน เราไม่ให้มัน มันเสียคน อย่างนี้ก็ทำให้เด็กดีขึ้น แต่แม่ทั้งหลายไม่ค่อยได้คิด เพราะไม่ได้เรียนหนังสือ ก่อนแต่งงาน ก่อนแต่งงานก็ไม่ได้เรียนว่าเราจะเป็นแม่คนยังไง จะเลี้ยงลูกอย่างไร ไม่ได้อ่าน ไม่ได้ศึกษา รักชอบกันก็แต่งกัน เกิดลูกออกมาก็ไม่รู้จักเลี้ยง แล้วบ่นกัน ลูกของฉันมันแย่ เป็นการประกาศยี่ห้อว่าตัวแย่กว่าลูก เพราะว่าไม่รู้จักเลี้ยง เด็กมันรู้นะ พูดไม่เชื่อฟังนะ เพราะเราสอนให้มันรู้เอง ไม่ใช่เด็กมันดื้อตามลำพังหรอก เราสอนให้มันดื้อ แม่สอนทั้งนั้น สอนให้ดื้อ สอนให้เชื่อฟัง สอนให้กินเป็นเวลา สอนให้กินพร่ำเรื่อ สอนทั้งนั้น ทำให้มันรู้แล้ว มันก็เสียหาย อันนี้มันต้องระวังเหมือนกัน
ลูกหลานชาวพุทธต้องงอยู่อย่างมีระเบียบ กินอยู่เป็นเวลา และไม่กินพร่ำเพรื่อ ไม่ใช่เวลากินไม่ให้กิน เด็กไทยไปเรียนเมืองนอก ชอบไปอยู่กับครอบครัวฝรั่ง ชอบไปเที่ยวนั่น กลับมาชอบไปเข้าครัวทำเสียงก๊อกแก๊กๆ ฝรั่งนึกว่าแมวอะไร มันว่าแมวไทย แม่บ้านมาพูดนั่นแหละ แม่บ้านเขาก็ดีสอน เตือน เด็กไทยรำคาญ ไม่เอาบ้านนี้ แม่บ้านจู้จี้ ไปหาคนดูแลเด็ก บอกให้หาบ้านใหม่ให้ ผู้ปกครองแต่ละคนบ่นเรื่องเด็ก เด็กไทยเลี้ยงยาก ไปหาครอบครัวให้แล้ว ไม่ดีต้องหาใหม่ หาใหม่เรื่อยๆ มันยุ่ง แล้วบางคนมันเบ่งทับใส่ผู้ปกครอง ผู้ปกครองว่าเธอทำอย่างนี้ชั้นจะส่งกลับเมืองไทย มันบอกว่าใครจะส่งใครกลับกันแน่ คิดดูเอง พ่อมันใหญ่ เป็นนักการเมือง เลยบอกว่าใครจะส่งใครกลับกันแน่ มันขู่เอง ขู่ผู้ปกครอง เด็กอย่างนี้โตขึ้นมันก็ใช้ไม่ได้ นิสัยเสีย เพราะพ่อแม่เลี้ยงไม่เป็น ทำให้ลูกมีนิสัยก้าวร้าว ไม่สอนไม่เลี้ยงให้ดี มันก็เสียหาย ตามใจเด็กเกินไป เลยเสียคนจึงต้องหัดให้มีระเบียบมีวินัย เรื่องกินเรื่องอยู่ เรื่องการนุ่งห่ม กริยาท่าทางต้องฝึกทั้งนั้น ไม่ให้มันทำตามชอบใจ อย่างนี้มักจะอ้างเสรีภาพ เสรีภาพนี้ ถ้าว่าทำไม่ถูกแล้วมันไม่ใช่เสรี กลายเป็นทาสไป เสรีภาพ คือการตามใจตัวเอง นี้ใช้ไม่ได้ เสรีภาพที่ถูกต้องคือการควบคุมตัวเอง บังคับตัวเอง มีการบังคับตัวเองได้ มีความอดทน นั่นแหละ คือทางไปสู่เสรีภาพ จิตใจจะดีขึ้น จะเจริญขึ้น แต่ถ้าเราไม่เชื่อการฝึกแบบนั้น เด็กมันก็อยู่แบบตามใจตัวเอง กินไม่เป็นเวลา กินพร่ำเพรื่อ ใช้เงินเปลือง ทำให้เกิดความเสียหาย ลำบากแก่พ่อแม่ ที่มันเป็นอยู่อย่างนั้น
ที่นี่เอามาบวช บวชมันก็ได้ฝึกอย่างนี้ ก็กินเป็นเวลา ฉันเช้า ฉันเสร็จ ระหว่างนั้นไม่มีอะไรให้ฉัน แล้วก็ฉันเพล ตอนบ่ายมีเครื่องดื่มให้นิดหน่อย ก็บังคับตัวเองได้ขึ้น บวช ๒ -๓ เดือนนี่เรียบร้อย ออกไปก็ค่อยดีขึ้น พ่อแม่บอกว่า “ตั้งแต่บวชแล้ว ดีเจ้าค่ะ ไม่เที่ยว ไม่เกเร” อยู่วัดมันชินน่ะ ไม่เที่ยวก็นอนหลับได้ ไปเที่ยวทำไมเสียเงิน ถ้าอยู่บ้านก็ไปเที่ยว ก็ทำอย่างไร ตอนนี้มันติดต่อกันง่าย ทางโทรศัพท์ ลูกสาวของบางครอบครัวโทรศัพท์ตั้งแต่วันยังค่ำเลย เรียกว่าโทรศัพท์แบบมารทอน โทรไปถึงเพื่อคนนั้น เพื่อนคนนี้ คุยกัน คุณแม่ต้องคอยเสียเงินค่าโทรศัพท์ มันคุยเรื่องอะไร แฟนทำอะไร ก็ไมมีอะไร ฉันอ่านหนังสือ หนังสืออะไร อ่านได้ยัง ยังไม่ได้อ่านเลย มันดีนะ อ่านแล้วสนุกดี ฉันก็ต้องหาอ่านบ้าง อย่างนี้ ใครมีลูกสาวก็ต้องมาคุยกันหน่อย ต่อโทรศัพท์ไว้ โทรศัพท์ในบ้าน เวลามันคุยมีเครื่องเราฟังได้ ฟังว่ามันคุยอะไรกัน แล้วค่อยเรียกมาเตือนทีหลังว่าคุยอะไร ไม่มีสาระ คุยตั้งชั่วโมงเสียงเงินเท่าไหร่ เสียเงิน บางคนคุย …… (49.42 เสียงไม่ชัดเจน) เด็กอะไรเกิดอุบัติเหตุ ไปอยู่โรงพยาบาล โทรกันไม่ได้หลับได้นอน โทรไปเยี่ยม มันสมัยใหม่ โทรไป คนเขาป่วยให้เขาหลับเขานอนบ้าง จะไปโทรรบกวนเขาทำไม โทรมาจากต่างจังหวัดที่ไหนต่อไหน โทรมากวนใจเด็ก ไม่ได้หลับได้นอน เป็นเช่นนี้ มันไม่ได้จำเป็นอะไร ทำไปอย่างนั้น ความฟุ้งเฟ้อไม่ใช่เรื่องอะไรหรอก เราต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ แก้ความฟุ้งเฟ้อ การไม่รู้จักเวลา ไม่รู้จักประหยัด อดออม ไม่รู้จักเชื่อฟังผู้หลักผู้ใหญ่ ต้องแก้ เพื่อให้เขามีฐานชีวิตเรียบร้อยดีงาม โดขึ้นจะเป็นคนไม่ลำบาก
วันนี้ก็เอาเพียงแค่นี้ก่อนนะโยม สมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้