แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาถกฐาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ หยุดนั่งอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง อย่ามัวเดินไปเดินมา และตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการมาวัดตามสมควรแก่เวลา
วันนี้เป็นวันแรมค่ำหนึ่งเดือน ๑๑ เมื่อวานเป็นวันพระกลางเดือน วันพระกลางเดือน เดือน ๑๑ ก็เรียกว่าวันมหาปวารณา มหาปวารณาเป็นชื่อของกิจกรรมอย่างหนึ่งของพระ คือพระที่อยู่จำพรรษามาตั้งแต่วันแรมค่ำหนึ่งเดือน ๘ จนถึงกลางเดือน ๑๑ ครบ ๓ เดือนบริบูรณ์ แล้วก็จะต้องจากกันไปเพื่อปฏิบัติหน้าที่เผยแผ่ธรรมะแก่ประชาชนต่อไป ประจวบกับว่าฝนฟ้าในประเทศอินเดียมาถึงกลางเดือน ๑๑ ฝนก็น้อยแล้ว พระพอจะเดินทางไปไหนมาไหนกันได้บ้าง ก่อนที่จะจากกันไปนั้นก็กระทำกิจอย่างหนึ่งเรียกว่าปวารณา
ปวารณาเป็นคำบาลี ถ้าแปลเป็นไทยก็หมายความว่า ขอร้องให้ตักเตือนแก่กันและกัน ขอร้องให้ตักเตือนแก่กันและกันเพื่อว่าในการอยู่ร่วมกันนั้น มีการกระทำอะไรที่ผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ เป็นเครื่องขุ่นข้องหมองใจแก่กันและกัน ในเวลาจากกันก็ไม่อยากจะจากกันด้วยอารมณ์ค้าง เพราะอารมณ์ค้างน่ะมันเป็นปัญหาทางใจ เรามีอารมณ์ค้างในเรื่องอะไรกับใครๆ แล้วเราจากไปมันก็ อารมณ์นั้นมันติดเราไปด้วย ทำให้เกิดความขุ่นข้องหมองใจแก่กันและกัน
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารถนาที่จะให้พระสงฆ์ทั้งหลายจากกันด้วยอารมณ์สดชื่น คือด้วยจิตที่ว่างจากเครื่องขุ่นข้องหมองใจด้วยประการต่างๆ จึงได้บัญญัติการปวารณาไว้ คำปวารณาว่า “ข้าแต่สงฆ์ทั้งหลายผู้เจริญ ถ้าหากว่าท่านได้เห็น ได้ยิน ได้รังเกียจ เรื่องอะไรที่ข้าพเจ้าทำผิดพลาดไปบ้าง ขอความกรุณาปราณี จงตักเตือนข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็จะได้แก้ไขสิ่งนั้นต่อไป” อันนี้เป็นใจความของคำปวารณา อันนี้พระองค์ใดได้เห็นรูปใดรูปหนึ่งกระทำอะไรทางกายทางวาจาในสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร ก็รีบก็ตักเตือนกันให้แก้ไข การตักเตือนกันนั้นทำด้วยความเมตตาปราณี หวังให้ทุกรูปเป็นผู้หมดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย คำกล่าวนั้นจงเป็นคำกล่าวที่ดี และทำกันเมื่อคืนนี้แทนอุโบสถ เพราะปกติในวันเพ็ญ กลางเดือน สิ้นเดือน ลงอุโบสถ
ลงอุโบสถก็คือไปนั่งฟังพระปาติโมกข์ พระปาติโมกข์เป็นระเบียบวินัยของพระสงฆ์ที่จะพึงปฏิบัติ มีทั้งหมด ๒๒๗ ข้อด้วยกัน ต้องฟังกันทุกเดือนเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจ ไม่ให้กระทำความผิดในข้อบัญญัตินั้นๆ จิตใจจะได้สะอาด ปราศจากสิ่งเศร้าหมองใจ อันนี้เป็นกิจกรรมที่ทำกันอยู่ทุกเดือน ถ้าทุกวันพระกลางเดือนสิ้นเดือน แต่ว่าพอถึงวันเพ็ญเดือน ๑๑ ไม่ได้กระทำอย่างนั้น แต่กระทำการปวารณาแทน เพราะว่าออกพรรษาแล้ว ต่างรูปต่างก็จะไปในที่ต่างๆ ต่อไป หรือว่าถ้ายังไม่ไปไหนก็อยู่กับที่เพื่อทำจีวร เพราะว่าฤดูออกพรรษา ความจริงพรรษามันมีระยะ ๔ เดือน ฤดูฝนมี ๔ เดือน จะทิ้งท้ายไว้เดือนหนึ่งเพื่อให้เป็นอิสระ ไปไหนไปได้ ค้างคืนที่ไหนก็ได้ จะได้รวบรวมผ้ามาทำจีวรกัน
การทำจีวรของพระในสมัยก่อนนั้น ท่านทำกันเอง คือไปเก็บผ้ามาจากที่ต่างๆ เช่น จากซากศพ จากกองขยะมูลฝอย หรือว่ามีคนเอาไปทิ้งไว้ในป่าตามต้นไม้กิ่งไม้ เรียกว่าทอดผ้าป่า ทอดผ้าป่าก็คือเอาผ้าไปทิ้งไว้ในป่านั่นเอง พระสงฆ์เดินตามมาพบเข้าก็ถือเอาในฐานะเป็นผ้าบังสกุล บังสกุลแปลว่าเปื้อนขี้ฝุ่นเปื้อนสิ่งสกปรก พระท่านก็เก็บเอามา แล้วก็ไปช่วยกันตัดเย็บย้อมทำเป็นจีวร ฤดูที่ทำจีวรนี้เรียกว่าจีวรกาล หรือแปลเป็นไทยว่าฤดูทำจีวร ฤดูทำจีวรก็เป็นการเปิดโอกาสให้ญาติโยมทอดกฐิน พอออกพรรษาแล้วจึงได้มีการทอดกฐิน
กฐินก็แปลว่าไม้สะดึงที่ขึงวางไว้แล้วกางผ้าเย็บ การเย็บผ้าในสมัยก่อนนั้นก็ต้องมีไม้สะดึงเหมือนกับเด็กนักเรียนการเรือน ทำการเรือนด้วยการเย็บปักถักร้อย ก็ต้องมีไม้สะดึงแล้วเอาผ้าขึงเข้าแล้วก็เย็บรูปดอกไม้ รูปอะไรๆ ต่างๆ ที่เขาทำกันทั่วๆ ไป ทีนี้พระจะทำจีวรนี่ต้องตัดผ้าไปวางลงบนไม้สะดึงที่ทำไว้ เพราะว่าจีวรมันมีช่องกว้างช่องเล็ก ก็อาศัยว่าผ้ามันใหญ่ก็มีเล็กก็มี ก็เอามาทำอย่างนั้น กางออกแล้วเก็บเย็บยาวๆ เพื่อให้ติดกันก่อน แล้วก็เย็บล้มตะเข็บให้เรียบร้อย เย็บเสร็จแล้วเอาไปย้อมทำเป็นจีวรต่อไป
ญาติโยมเมื่อออกพรรษาก็เอาผ้าไปถวายพระเรียกว่าทอดกฐิน การทอดกฐินนั้นไม่ใช่เฉพาะเจาะจงรูปหนึ่งรูปใด แต่เอาไปวางลงในท่ามกลางสงฆ์ ไม่เฉพาะใครผู้ใดผู้หนึ่ง พระสงฆ์เมื่อมีผ้าเกิดขึ้นก็ปรึกษาหารือกัน แล้วก็สวดญัตติมอบให้แก่พระรูปใดรูปหนึ่งเป็นผู้จัดทำจีวร นี่เป็นกิจกรรมของพระเมื่อหลังออกพรรษา เมื่อทำจีวรเสร็จแล้วก็จะได้เดินทางกันต่อไป เพื่อเผยแผ่ธรรมะแก่ประชาชน ญาติโยมชาวบ้านก็ถือโอกาสบำเพ็ญทานบารมีด้วยการเอาผ้าไปถวายพระ เรียกว่าทอดกฐินซึ่งทำกันทั่วไป ที่วัดนี้ก็จะทอดในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ตรงกับวันศุกร์ไม่ใช่วันหยุดราชการ เพราะว่าพวกชลประทานเขาอาจจะได้มาประชุมกันทอดในวันนั้น ตั้งแต่ตอนเช้า ทอดตอนเช้า เลี้ยงอาหารเพลเสร็จก็หมดเรื่องกัน ญาติโยมก็ถ้ามีโอกาสก็มาร่วมกัน เหมือนกับวันอาทิตย์ปกติ นี่เป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่พระทำกันทั่วๆ ไป
พระในสมัยก่อนนั้นท่านไม่ได้อยู่ประจำวัด คือไม่มีวัดเหมือนเดี๋ยวนี้ แต่ว่าอยู่ชั่วคราวในฤดูฝน พอฤดูฝนนี่ต้องหยุดไม่เดินทาง เพราะเดินทางไม่สะดวก ฝนตกฟ้าร้อง ถนนหนทางก็เป็นโคลนเป็นเลน ไม่สะดวกแก่การเดินทาง พระพุทธเจ้าจึงบัญญัติว่าในฤดูฝนให้พระทุกรูปอยู่จำพรรษา เรียกว่าอยู่ฤดูฝนตลอดเวลา ๓ เดือน แล้วก็เตือนให้ฤดูฝนก็เป็นเดือนทำจีวร ฤดูกฐินจึงไปหมดเอากลางเดือน ๑๒ ซึ่งเป็นวันลอยกระทงของเมืองไทยเรา วันกลางเดือน ๑๒ นี่ยังทอดกฐินได้ แต่พอขึ้นค่ำหนึ่ง แรมขึ้น ๑ เดือน ๑๒ ก็หมดเขตกฐิน ทอดไม่ได้อีกต่อไป การทำบุญกฐินจึงเป็นการกาล หมายความว่าทำได้เฉพาะเวลา พ้นนั้นแล้วก็ไม่ได้กระทำ
แต่กฐินในสมัยปัจจุบันนี้ ความจริงพระก็ไม่ค่อยจะขาดไตรจีวร ผ้าที่มีอยู่ก็เหลือกินเหลือใช้ เพราะคนถวายกันบ่อยๆ ไม่เหมือนสมัยก่อน สมัยก่อนพระขาดแคลนผ้ามาก ได้สักผืนก็ต้องประคับประคองใช้กันไปจนกระทั่งว่าขาด ต้องไปเย็บแล้วเย็บอีกเรื่อยๆ ไป จีวรจึงจะมีใช้ คนไม่ค่อยถวายจีวรเท่าใด นานๆ เขาจะเอามาถวายสักทีหนึ่ง ก็แจกกันไป องค์ไหนมีจีวรเก่าคร่ำคร่าก็ให้แก่องค์นั้นสำหรับเอาไปนุ่งห่ม แล้วก็ไม่มากเหมือนในสมัยปัจจุบัน สมัยปัจจุบันเศรษฐกิจการค้ามันเจริญ ผ้ามีขายในตลาด ญาติโยมก็ไปซื้อสำเร็จรูปเอามาถวายพระ เป็นการสะดวกไปประการหนึ่ง
เมื่อออกพรรษาแล้ว เราทั้งหลายที่เคยมาวัดอยู่ทุกวันพระบ้าง ทุกวันอาทิตย์บ้าง ก็ถือว่ายังมาอยู่ตามปกติ ไม่ใช่ว่าพอออกพรรษาแล้วก็หายกันไปเลย ไม่มาฟังธรรม ไม่มาอะไรต่ออะไรต่างๆ อันเป็นเรื่องกิจกรรมทางพระศาสนา อย่างนั้นก็ไม่ถูกต้อง เพราะว่าปีหนึ่งมันมี ๑๒ เดือน ฤดูจำพรรษามีเพียง ๓ เดือนเท่านั้นเอง ส่วนอีก ๙ เดือน ถ้าว่าเรามาวัดเพียง ๓ เดือน แล้วอีก ๙ เดือนไม่ได้มามันขาดไปเยอะแยะ มีโอกาสที่จะตกต่ำไปอยู่ในอำนาจของวัตถุอะไรก็ได้ เพราะฉะนั้นที่เคยมาก็มากันตามปกติ ที่วัดชลประทานฯ เรานี้ ก็เทศน์กันตลอดไป ออกพรรษาแล้วก็เทศน์กันทุกวันอาทิตย์ วันพระก็มีการแสดงธรรมแก่ญาติโยม โยมมารอกันที่ศาลาในวัดกันก็มากันปกติเหมือนฤดูกาลเข้าพรรษา อันนี้เป็นกิจวัตรประจำปีประจำวันที่เราทำกันอยู่ทั่วๆ ไป ไม่ให้ขาดไปเสีย
พอพรรษาเขาไม่ออก เรียกว่าไม่ออกจากการบุญการกุศล แต่ว่าควรจะออกจากสิ่งที่มันไม่ถูกต้อง ไม่ดีไม่งาม อะไรที่เป็นความชั่วเป็นความทุกข์ ทำแล้วเกิดความร้อนใจ สิ่งนั้นเราควรจะออกไป ไม่ควรจะเข้าไปอยู่กับสิ่งนั้น เช่นคนบางคนถือว่าในฤดูกาลเข้าพรรษา ๓ เดือนนี่ไม่ดื่มเหล้าเลย ถือได้เด็ดขาด ไม่ดื่ม แต่ว่าวันนี้ออกพรรษาแล้วก็เตรียมกันเป็นการใหญ่ มีเหล้ามีกับมีแกล้ม นัดพรรคนัดพวกมาจะไปดื่มเหล้าเมาแอกันไปตามอย่างที่เคยเป็น อย่างนี้มันก็ไม่ถูกต้อง ความจริงเราชนะมาแล้ว ๓ เดือน ควรจะชนะต่อไป พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า “ชิตญฺจ รกฺเข อนิเวสโน สิยา”แปลว่าเมื่อชนะแล้วก็ควรรักษาความชนะนั้นไว้ต่อไป อย่าให้กลับพ่ายแพ้เสียเป็นอันขาด เพราะถ้าชนะแล้วแพ้มันก็ไม่มีความหมายอะไร เช่นทหารไปตีดินแดนยึดพื้นที่ได้แล้ว ทีหลังเขามาตีเอาคืนไปได้ ก็เรียกว่าไม่ชนะ เพราะฉะนั้นถ้ายึดดินแดนไว้ได้แล้วก็ต้องยึดไว้ตลอดไป ไม่ยอมให้ใครมาตีคืนไปเป็นอันขาด จำไว้
เราทั้งหลายที่อยู่จำพรรษา เคยประพฤติดีประพฤติชอบ มาเจริญสติปัญญา เพื่อควบคุมจิตใจให้หลุดพ้นไปจากความชั่วความร้ายใดใด ออกพรรษาแล้วก็คุมมันต่อไป รักษามันต่อไป ไม่ให้กลับไปแพ้เป็นอันขาด จึงจะเป็นการถูกต้อง เพราะฉะนั้นเคยมาวัดเคยทำอะไรตามปกติก็ทำอยู่ตามปกติ เพราะว่ากิเลสมันอาจจะเกิดแก่เราเมื่อใดก็ได้ แล้วอีกประการหนึ่ง ชีวิตของเรามันไม่เที่ยง มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราอาจจะเกิดการเจ็บไข้ได้ป่วย อาจจะมีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนร่างกาย อาจจะถึงแก่ชีวิตไปก็ได้ ฉะนั้นจึงต้องทำอยู่ปกติอย่างที่เคยทำ แม้มีกิจธุระจะต้องไปก็ไปตามหน้าที่ หมดกิจธุระแล้วก็ต้องมาตามเดิม เป็นกิจที่เราทำเป็นประจำ เป็นหนึ่งในชีวิตประจำวัน จึงจะเป็นการถูกต้อง
การมาวัดนี่เรามาทำกิจศาสนา เช่นที่วัดนี้เรามาถึงก็ไปประชุมกัน ทำการไหว้พระสวดมนต์ตอนเช้า เรียกเป็นภาษาว่าทำวัตรเช้า หมายความว่าทำกิจกรรมในตอนเช้า กิจกรรมตอนเช้าที่เราทำกันอยู่นั้นก็มีการสวดมนต์ เรียกว่าทำวัตรตอนเช้า การสวดมนต์ที่วัดชลประทานฯ เรานี้ได้ถือว่าการสวดมนต์ต้องแปลรูป สวดมนต์แปล เป็นคำแปลของท่านเจ้าคุณพุทธทาส ท่านทำไว้เรียบร้อยดี ส่วนคำบาลีนั้นเป็นคำมุจะนา (17.13 เสียงไม่ชัดเจน) เขียนจาก คือเป็นฝีมือของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นท่านบวชนาน ทรงบวชอยู่ถึง ๒๗ พรรษา พระชมน์มายุ ๔๗ จึงได้ลาสิกขา ออกมาครองราชสมบัติต่อไป ในการบวชนั้นพระองค์ท่านก็ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน เรียนคัมภีร์ เรียนบาลี มีความรู้ดีมาก คือรู้บาลีดี รู้จนสามารถเขียนคำที่เราสวดนั้นได้ สวดทำวัตรเช้าท่านเขียนด้วยพระองค์เอง เป็นการเขียนที่ไพเราะ เช่นคำสวดว่า “พุทโธ สุสุทโธ กะรุณามะหัณณะโว โยจจันตะสุทธัพพะระญาณะโลจะโน” เป็นคำที่ไพเราะ แล้วเมื่อท่านพุทธทาสท่านแปลออกมาเป็นภาษาไทย ก็เป็นคำแปลที่ไพเราะสวดรื่นสบาย
เราสวดแบบแปลนี่เราได้ความรู้ไปในตัว สวดแล้วได้ความรู้ ถ้าเราสวดบาลีเฉยๆ ไม่ได้มีการแปล เราได้แต่เพียงขั้นบุญไม่ถึงขั้นที่เป็นกุศล คือได้บุญก็หมายความว่าสบายใจ สบายใจว่าได้ทำการสวดมนต์แล้ว ไหว้พระแล้ว แต่ไม่ได้ความรู้ความเข้าใจ แต่ถ้าเราแปลด้วย เราเข้าใจความหมาย รู้ว่าคำที่สวดนั้นมีความหมายว่าอย่างไร เช่นเราสวดว่า “อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ ภะคะวา พระผู้มีพระภาคเจ้า, เป็นพระอรหันต์ ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง พุทธัง ภะคะวันตัง อภิวาเทมิ ข้าพเจ้าอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า, ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน” แปลไปหมด อธิบายไปในตัว เพราะความหมายของคำที่เรากล่าว เช่นว่า อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ ภะคะวา พระผู้มีพระภาคเจ้า, เป็นพระอรหันต์ ทีนี้เป็นพระอรหันต์เป็นอย่างไร เป็นพระอรหันต์ก็หมายความว่าดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง พุทธัง ภะคะวันตัง อภิวาเทมิ ข้าพเจ้าอภิวาทโดยกราบไหว้พระผู้มีพระภาคเจ้า, ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน นี่คือคำอธิบาย
เราเข้าใจคำที่เราสวด แล้วเวลาว่างๆ นี่ ต้องไปนั่งพิจารณาคำที่เราสวด ไม่ใช่สวดแล้วก็ผ่านพ้นไปเฉยๆ เราอยู่ที่บ้านก็ดี อยู่ที่วัดก็ดี หรือว่าเรามีเวลาว่าง เราก็นึกถึงคำที่เราสวดว่าเราสวดนั้นมีความหมายว่าอย่างไร เราเอามานั่งพิจารณาว่าพระผู้มีพระภาคนั้นคือใคร เป็นอะไร เป็นอย่างไร ลองมาคิดมาตรอง พระผู้มีพระภาคเป็นคำเรียกชื่อพระองค์พระพุทธเจ้า ที่เราเรียกพระองค์แต่ไม่เรียกว่าพระพุทธเจ้า ไม่เป็นการเคารพ เช่นไปเฝ้าพระองค์ อย่าไปพูดว่าพระพุทธเจ้านี่ไม่เป็นการเคารพ การเคารพต้องเรียกว่าพระผู้มีพระภาค ในคำบาลีใช้คำว่า “ภะคะวา” หรือ “ภะคะวัน” แปลว่าพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคแปลว่าผู้มีความกรุณา พระคุณ ๓ ประการของพระผู้มีพระภาคคือ กรุณา ปัญญา วิสุทธิ ภะคะวานั้นหมายความว่ามีความกรุณา มีความสงสารสัตว์โลก อยากจะช่วยให้เขาพ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนใจ ให้แสงสว่างแก่เขาให้ปัญญาแก่เขา จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค อันนี้พระผู้มีพระภาคมีลักษณะพิเศษว่าเป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์เป็นภูมิของบุคคลผู้บรรลุธรรมอันสูงสุด เรียกว่าเป็นอริยบุคคล อริยะแปลว่าผู้ประเสริฐ อริแปลว่าข้าศึก ยะแปลว่าตี อริยะรวมกันว่าไปจากข้าศึก ไม่มีข้าศึกรบกวนจิตใจต่อไป เป็นผู้เรียกว่าเป็นพระอรหันต์
อันนี้พระอรหันต์นั้นท่านดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง เพลิงกิเลสคือความร้อนที่เกิดจากกิเลส หากความร้อนที่เกิดขึ้นจากความรู้ เกิดจากความโกรธ เกิดจากความหลง เกิดจากความริษยา พยาบาท อาฆาต จองเวร และอื่นๆ อีกมากมาย ชื่อของกิเลสมีมากมายหลายชื่อด้วยกัน ก็เป็นเรื่องที่ควรจะศึกษา ควรจะทำความเข้าใจ เพื่อจะได้รู้จักหน้าตาของมันไว้ เหมือนเรารู้จักหน้าโจรหน้าผู้ร้าย พอเห็นว่ามาเราก็รีบปิดประตูใส่กลอนเสีย ไม่ให้มันเข้ามาในบ้านของเรา โจรนั้นก็ไม่สามารถจะมาทำร้ายเรา ทำอันตรายแก่เราได้ เพราะเรารู้จักมัน หรือว่าถ้าเราเดินไปเห็น “อ้าว ไอ้นี่หน้าโจรมาแล้ว” เราก็ไม่เข้าใกล้ เราหลบไปทางอื่นเสีย โจรก็ไม่ทำร้ายเรา ตัวกิเลสประเภทต่างๆ ที่เกิดขึ้นในใจของเรานี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่รู้จักมัน เราก็ปล่อยให้มันมาอยู่ในใจของเรา แล้วก็ทำบ่อยๆ คิดบ่อยๆ พูดบ่อยๆ ทำบ่อยๆ ไปตามอำนาจของกิเลสนั้น เราก็เป็นทาสของกิเลส เมื่อเป็นทาสก็ต้องเป็นทุกข์ในความร้อนใจด้วยประการต่างๆ เป็นเรื่องที่ไม่สมควร
บุคคลที่เป็นอริยะ เป็นผู้พ้นไปจากข้าศึกคือกิเลส เพราะท่านปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์แปดของพระพุทธเจ้า ปฏิบัติตามหลักอริยมรรค คือสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความคิดชอบ สัมมาวาจา มีการพูดชอบ สัมมากัมมันตะ การกระทำชอบ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ สัมมาสติ ความระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ เรียกว่าอริยมรรคมีองค์แปด ย่อมาก็เป็นศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง เอามาใช้เป็นหลักปฏิบัติเพื่อป้องกันไม่ให้ไฟกิเลสเกิดขึ้น เมื่อไฟกิเลสไม่เกิดเราก็ไม่ถูกเผา เราก็ไม่ต้องร้อนอกไม่ต้องร้อนใจ มีชีวิตเป็นปกติ
ญาติโยมควรจะสังเกตที่ตัวของเราเอง ว่าในตัวเรานั้นมันมีอะไรเกิดขึ้น ที่เราสวดมนต์ตอนปลายเราสวดว่า “ธะระมาโน โส ภะคะวา พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเมื่อยังทรงพระชนม์อยู่ เอวัง พะหุลัง สาวเก วิเนติ” ได้สอนอย่างนี้เป็นส่วนมากว่า รูปัง อะนิจจัง รูปไม่เที่ยง, เวทะนาอะนิจจา เวทนาไม่เที่ยง, สัญญา อะนิจจา สัญญาไม่เที่ยง, สังขารา อะนิจจา สังขารไม่เที่ยง, วิญญาณัง อะนิจจัง วิญญาณไม่เที่ยง
พูดถึงเรื่องศีล ๕ ประการ ศีล ๕ ประการนั้นเขาเรียกว่าขันธ์ ๕ ขันธ์ก็แปลว่ากอง ต่อไปรวมเป็นกองๆ มี ๕ กอง กองนี้กองเวทนา กองสัญญา กองสังขาร กองวิญญาณ รวมกันเข้าเป็นร่างกาย เป็นจิตใจ เรียกว่านามรูป เป็นรูปกับเป็นนามรูปก็ร่างกายทั้งหมด ตั้งแต่ปลายผมถึงปลายเท้า ยาววานาคืบ กว้างศอกหนึ่ง อันนี้เรียกว่าเป็นร่างกาย เป็นรูป ทีนี้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นที่ใจของเราเรียกว่านามธรรม ได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันก็อยู่ในตัวเรานี่ทั้งนั้น มันเกิดปรุงแต่งขึ้นมา ทำให้เราเป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง ดีใจบ้างเสียใจบ้าง ร้องไห้บ้างหัวเราะบ้าง เป็นไปในรูปต่างๆ นี่คือสิ่งที่มันเกิดขึ้นในชีวิตของเรา
ตัวตั้งตัวดีเดิมมันก็คือกายกับใจ กายก็เป็นฝ่ายรูป ใจก็เป็นฝ่ายนาม เราจึงเรียกว่ารูปนาม หรือนามรูป นามรูปังอนิจจัง นามรูปไม่เที่ยง นามรูปังทุกขัง นามรูปเป็นความทุข์ นามรูปังอนัตตา เป็นอนัตตา เป็นหลักความจริงที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงค้นพบ เอามาเปิดเผย สอนให้ชาวโลกได้เกิดปัญญา เกิดความรู้ความเข้าใจ
ในชีวิตของเรานี้มีกายแล้วก็มีใจ กายนั้นเป็นเรื่องข้างนอก เรื่องของร่างกายนั้นเป็นเรื่องประสมกันเข้าของธาตุ ๔, ธาตุ ๔ ก็คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม หรือเรียกภาษาปัจจุบันว่าของแข็ง ของเหลว อุณหภูมิคือความร้อน แล้วก็แก๊ส ซึ่งรวมกันเข้าเรียกว่า ดินน้ำลมไฟ ในร่างกายเรานี้ธาตุ ๔ มันสมบูรณ์อยู่ มันพร้อมเพรียงกันประกอบกันเข้าเป็นรูปเป็นร่างอยู่ อาศัยพ่อแม่เป็นผู้ให้เกิด เลี้ยงดูมาจนเราเป็น ออกมาจากท้องคุณแม่ เติบโตขึ้นโดยลำดับ นี่เป็นร่างกาย มีใจครอง คือมีความรู้สึก เขาเรียกว่าสังขารที่มีใจครอง สังขารบางอย่างไม่มีใจ เช่นเก้าอี้ โต๊ะ ตู้ ไมโครโฟน อะไรอย่างนี้ มันก็เป็นสังขารเหมือนกัน
คำว่าสังขารนี่หมายความว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจากการปรุงแต่ง ประกอบส่วนต่างๆ เข้าก็เป็นสังขาร เก้าอี้นี่เป็นสังขาร โต๊ะเป็นสังขาร เสื้อผ้าก็เป็นสังขาร แต่ว่ามันไม่มีใจ กูไม่รู้สึก มันคิดอะไรไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ เป็นสังขารที่ไม่มีใจครอง สังขารที่มีใจครองก็คือคนสัตว์ พวกนี้มีใจครอง คือมีความรู้สึกนึกได้ คิดได้ จำได้ รู้ได้ว่าอะไรเป็นอะไร มีใจครอง สังขารทั้งสองอย่างก็เหมือนกัน เหมือนกันในรูปใด เหมือนกันในลักษณะ ๓ อย่างคือ ไม่เที่ยงเหมือนกัน เป็นทุกข์เหมือนกัน เป็นอนัตตาเหมือนกัน สิ่ง ๓ อย่างนี้มีเหมือนกันทั่วไปของคนและสัตว์ทั้งหลาย ไม่ว่าอะไรที่อยู่ในโลกนี้โลกไหน มันก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน เป็นทุกข์เหมือนกัน เป็นอนัตตาเหมือนกัน สามอย่างนี้เขาเรียกว่าไตรลักษณ์ คือลักษณะ ๓ ประการ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ พบมาเอามาสอน คือเรียกว่าสามัญลักษณะ
สามัญลักษณะแปลว่าลักษณะที่เหมือนกัน เหมือนกันกับสิ่งทั้งหลาย ถ้าใครมาด่าเราว่า “คุณนี่เหมือนกับหมาขี้เรื้อน” ถ้าเป็นคนมีธรรมะก็จะไม่โกรธ เพราะว่าเขาพูดความจริง พูดความจริงถูกต้อง ว่าเรานี่กับหมาขี้เรื้อนมันเหมือนกัน เหมือนกันอย่างไร มันไม่เที่ยงเหมือนกัน เป็นทุกข์เหมือนกัน แล้วก็ไม่มีตัวตนอะไร เป็นอนัตตาเหมือนกัน เราจะไม่โกรธ แต่ว่าใครมาด่าเราว่า “ชาติหมา” เราก็ไม่โกรธ เพราะเราไม่ได้เป็นหมา เราเป็นคน เราไม่โกรธคนนั้น แต่ว่าน่าสงสารคนนั้น น่าสงสารเรื่องอะไร เรื่องที่มันไม่รู้จักพิจารณา ไม่ใช้ปัญญา ไม่รู้จักพิจารณาว่าคนกับหมาน่ะมันไม่เหมือนกัน ในเรื่องรูปร่างหน้าตา แต่ว่าเหมือนกันในลักษณะ ๓ อย่าง คือมันไม่เที่ยงเหมือนกัน เป็นทุกข์เหมือนกัน เป็นอนัตตาเหมือนกัน ถ้าเรารู้ความจริงเราก็ไม่โกรธใคร ไม่เคืองใครในเรื่องที่เขาพูดเขาว่า
แล้วอีกประการหนึ่งเราก็จะได้ไม่ลด (31.37 เสียงสะดุด) ในสิ่งเหล่านั้น เพราะเรารู้ว่า มันไม่มีอะไรที่เป็นเนื้อแท้ มันมีแต่ความทุกข์เกิดขึ้น ความทุกข์ตั้งอยู่ แล้วความทุกข์มันก็ดับไปเท่านั้นเอง มันไม่มีอะไร ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่ว่าที่เรียกว่าเป็นคนเป็นสัตว์ เป็นอะไรต่างๆ เขาเรียกว่าเป็นโดยสมมติ สมมติกันเป็นอย่างนั้น สมมติว่าเป็นคน สมมติว่าเป็นสัตว์ สมมติว่าเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นนั่นเป็นนี่ แล้วก็ยังสมมติทับลงไปอีกว่าเป็นหญิง เป็นชาย เป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้แทนราษฎร เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นอะไรไปในรูปต่างๆ เป็นของสมมติทั้งนั้น เราไม่ติดในสิ่งสมมติเหล่านั้น รู้แต่เพียงว่าเป็นสิ่งสมมติ มันไม่ใช่ของจริงของแท้อะไร
แม้ตัวเราเองก็เป็นเรื่องสมมติ สมมติว่าเป็นคน เริ่มแรกก็เป็นเด็ก แล้วก็เป็นวัยรุ่น แล้วก็เป็นหนุ่มสาว เป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้แก่เฒ่า สังขารร่างกายเปลี่ยนไปตามสภาพ แล้วผลที่สุดก็ตายไปเท่านั้นเอง มันพบได้เท่านั้น มันก็ฉลาดขึ้น ไม่โง่ ไม่หลง ไม่งมงายในสิ่งเหล่านั้น จิตใจก็สบาย แต่ถ้าเราไม่ศึกษาธรรมะ ไม่เข้าใจ ไปยึดติดอยู่ในสิ่งนั้น สำคัญว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเรา เป็นเขา เป็นของฉัน เป็นของเขาขึ้นมาในเรื่องต่างๆ แล้วก็เป็นทุกข์ ร้อนใจถูกเผาลน ถูกเผาด้วยกิเลส ที่เรียกว่าไปยึดไปติดอยู่ในสิ่งเหล่านั้น ไม่ใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา ก็มีความทุกข์บ่อยๆ ทุกข์ตลอดเวลา เพราะเข้าใจผิดในเรื่องต่างๆ ไม่รู้จักใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา ก็มีความทุกข์ความร้อนใจ เราเคย …… (33.53 เสียงไม่ชัดเจน) อย่างนั้น เคยร้อนก็แสดงว่าทุกข์นั้น ที่เราเป็นทุกข์ที่เราร้อนใจน่ะ เรารู้ว่าเราโง่ ไม่ฉลาดในสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เราไม่ฉลาดเราก็เป็นทุกข์
ทีนี้ถ้าเราฉลาด เราเข้าใจว่าอะไรเกิดขึ้น อะไรตั้งอยู่ อะไรดับไป สิ่งต่างๆ ในโลกนี้มันมี ๓ ขนาดเท่านั้นเอง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นใครเหมือนกัน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป รวดเร็ว รวดเร็วมาก เราจะไปจับเอาตอนใดตอนหนึ่งว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรา เป็นเขา นั้นไม่ได้ เพราะสิ่งนั้นมันไม่ยอมรับกับเรา มันเปลี่ยนไปตามสภาพของมัน แต่เราไม่รู้ไม่เข้าใจ คิดไปร้องไห้ไป เสียใจ เหมือนคนเลี้ยงสุนัข สุนัขตายร้องไห้ โง่เต็มที ที่ไปร้องไห้เรี่องหมาตาย โง่ แม้ลูกตายร้องไห้ก็ยังโง่อยู่นั่นแหละ ขโมยลักของไปก็ร้องไห้ ก็โง่อีกนั่นแหละ ยังไม่ฉลาด ไม่ฉลาดคิด ไม่ศึกษาธรรมะ ไม่เรียนรู้ชีวิตให้เข้าใจถูกต้อง แล้วก็ถูกมันเผาเลย ถูกไฟมันเผา ไฟกิเลส ไฟพิษมันเผาทำให้เราเดือดร้อนด้วยประการต่างๆ
แต่ถ้าเราเข้าใจหลักธรรมะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าสอนไว้ เราก็รู้ทันทีว่ามันเป็นอย่างนั้นเอง ท่านเจ้าคุณพุทธทาสให้เราพิจารณาง่ายๆ ว่าธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น ธรรมดามันเป็นอย่างนั้น หรือพูดง่ายๆ ว่า “มันเป็นเช่นนั้นเอง” มันเป็นเช่นนั้นเอง ถ้าเราพูดออกมาได้ว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง ไม่เป็นทุกข์ล่ะ เพราะเรามีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา เช่นสมมติว่าคนที่เรารักใคร่พอใจไปตายที่อื่น แล้วเขาส่งข่าวมาบอกว่าคนชื่อนั้นตายแล้ว ถ้าเรารู้สึกเสียใจ น้ำตาไหลนองหน้า นั่งร้องไห้ร้องห่ม อันนี้เราไม่ฉลาดในเรื่องนั้น แต่ถ้าเราฉลาด พอได้ข่าวอย่างนั้นเราก็พูดว่า “เฮ้อ มันเป็นเช่นนั้นแหละ” ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น ธรรมดามันเป็นอย่างนั้น เราไม่เสียใจเพราะมันเป็นอย่างนั้น แล้วเราเองก็จะต้องเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน อย่างนี้เขาเรียกว่าฉลาด มีสติมีปัญญามาทันท่วงที
สติคือรู้สึกตัวทันท่วงที ปัญญามาทัน ปัญญาก็มาบอกว่า “เฮ้อ ธรรมดามันเป็นอย่างนั้นแหละ มันตายทุกคนแหละ ไม่มีข้อยกเว้นไว้” ในสังคมเรานี่ตายมากี่คนแล้วนับถอยหลังแล้วไปดูว่าตายมากี่คนแล้ว แล้วยังจะตายต่อไป แล้วก็จะถึงตัวเราสักวันหนึ่ง พอคิดได้เราก็บอกกับตัวเองว่า “เฮ้อ มันก็เป็นอย่างนั้นเอง” ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น ธรรมดามันเป็นอย่างนั้น ความทุกข์ความร้อนใจในเรื่องนั้นก็หายไปจากใจของเรา เพราะเรามีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา เพื่อให้รู้ชัดตามสภาพที่เป็นจริง ก็ไม่ต้องเสียอกเสียใจ ไม่ต้องร้องไห้ร้องห่ม เพราะร้องไห้มันก็ไม่ได้อะไร ไม่ใช่ว่าเราร้องแล้วคนตายจะฟื้นขึ้นมาได้ ของหายแล้วจะกลับมาอยู่ในที่เดิม ของแตกแล้วมันจะประสานเป็นถ้วยเป็นชามดังที่เราเคยได้ มันก็เป็นไปไม่ได้ เมื่อเป็นไปไม่ได้แล้วเราจะไปนั่งร้องไห้เสียน้ำตาทำไม เสียอกเสียใจทำไม เราปลงลงไปว่า “เฮ้อ ธรรมดามันเป็นอย่างนั้นแหละ” อันนี้ก็สบายใจ หัวเราะได้ ไม่ต้องร้องไห้ร้องห่ม นี่พ้นไปจากกิเลสคือความทุกข์ความเดือดร้อนใจ เพราะมีสติปัญญา
พระอรหันต์นั้นท่านมีสติสมบูรณ์อยู่ตลอดเวลา มีศัพท์เฉพาะว่า …… (38.33 คำบาลี) หมายความว่า มีสติติดต่อกันอยู่ตลอดเวลา รูปมากระทบตา เสียงมากระทบหู กลิ่นกระทบจมูก รสกระทบลิ้น กายได้สัมผัสถูกต้องอะไร สติมีอยู่ เพราะว่าสติมันกันไม่ให้ปรุงแต่งปรับแต่ง ไม่ให้คิดปรุงแต่งว่าเป็นของน่ารักน่าชัง น่ามีน่าได้ น่าเป็นน่าอย่างนั้นน่าอย่างนี้ สติมัน …… (39.03 เสียงสะดุด) ไว้ ปัญญามาช่วยก็สมบูรณ์ ก็เลยไม่มีปัญหา ไม่มีความทุกข์ไม่มีความเดือดร้อนใจ เขาเรียกว่าอยู่ไกลจากกิเลส เพราะเราเป็นอริยะเหมือนกันนะ เวลาใดเราใจมันสว่างสงบอยู่ ไม่เป็นทุกข์เพราะเรื่องอะไรๆ เวลานั้นเราก็เป็นอริยะ อริยชน อริยบุรุษ อริยสตรี เพราะใจเราเป็นอริยะ เป็นอริยะเพราะว่าห่างไกลจากข้าศึกคือกิเลส
ตัวกิเลสมันเป็นข้าศึกที่คอยจ้องทำร้ายเราอยู่ตลอดเวลา มันทำร้ายทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เข้าไปถึงใจ แล้วมันก็ทำให้เราเจ็บปวดรวดร้าว เจ็บแสบข้างนอกข้างใน ร้อนอกร้อนใจ เพราะว่าเราเผลอเราประมาท เราขาดสติขาดปัญญา ไม่ได้พิจารณาไว้บ่อยๆ ไม่ได้เตือนตัวเองไว้บ่อยๆ ไม่ได้สอนตัวเองให้เข้าใจถูกต้องไว้บ่อยๆ เราก็มีปัญหา มีความทุกข์ มีความเดือดร้อนใจ ด้วยประการต่างๆ อันนี้เป็นอยู่ในชีวิตของคนธรรมดา เขาเรียกว่า ปุถุชน
ปุถุชนคือคนที่สติปัญญามันน้อย ไม่สมบูรณ์ แล้วก็กระทบอะไรก็หวือหวาไปตามอารมณ์ เรื่องยินดีก็ทำไป เรื่องร้ายก็ทำไป ก็ตื่นเต้นกับเหตุการณ์ ลงทุนไปซื้อไปหาสิ่งที่มันไร้สาระ เวลานี้โทรทัศน์ประกาศว่านายไมเคิล แจ๊กสันน่ะ ไอ้ดาราบ้าๆ บอๆ ของอเมริกาน่ะมันจะมาเมืองไทย จะมาร้องเพลงที่อะไรนะ ? (41.07 เสียงไม่ชัดเจน) หมายความว่าเก็บค่าผ่านประตู บัตร ๕๐๐ พันหนึ่ง มากกว่านั้นก็มี นั่งใกล้ก็แพงหน่อย นั่งห่างๆ ก็ถูกหน่อย มันเรื่องอะไรที่จะไปเสียเงินเข้าไปนั่งดูฝรั่งบ้าๆ มาร้องเพลงให้ฟัง มาคราวก่อนคนแตกตื่นกันไปฟังจนเวทีพังไปเลย สนามศุภชลาศัยพังไปเลย เพราะคนบ้าทั้งหลายในประเทศไทยไม่ใช่เรื่องอะไร มันไปฟังอะไรนักหนาไอ้เพลง มันร้องไม่รู้เรื่อง ฝรั่งวู้วู้ เหมือนหมาหอน คนครึ่งตัว เสียงเหมือนกับหมาหอน แล้วก็มือเรียกว่าคลำระหว่างขา มันสกปรกแสนสกปรก
คนโบราณเขาถือว่าคนไม่ดีเข้าบ้านเข้าเมือง เป็นกาลีนะ เป็นกาลีบ้านกาลีเมือง เวลาไอ้คนนั้นออกไปต้องนิมนต์พระไปสวดมนต์ที่บ้านนะ ไปล้างซวย แต่เดี๋ยวนี้มันเกิดเหมือนกันหมดทั้งประเทศนะ ไม่ต้องทำอะไร นี่เขาเรียกว่าบ้าไม่เข้าเรื่อง เสียเงินเสียทองเปล่าๆ บางประเทศ มาเลเซีย พวกเด็กหนุ่มๆ ในมาเลเซียคัดค้าน คัดค้านรัฐบาล ไม่ให้ฝรั่งคนนี้เข้าไปกัวลาลัมเปอร์ ไม่ให้ไปร้องเพลง เพราะว่าขัดกับศาสนาอิสลาม อิสลามไม่ส่งเสริมสิ่งชั่วร้าย เขาไม่ให้ไปร้องเพลงปุ๊บ เข้าชื่อร้องเรียนรัฐบาลไม่ให้เข้ามา เมืองไทยมีแต่คนอยากเห็นไอ้สิ่งเหล่านี้ พอเขาพูดจะมา ยังไม่ทันมา ตั๋วขายหมดแล้ว แสดงว่าความบ้าของคนไทยมากกว่าประเทศอื่นในเรื่องนี้ พูดตรงไปตรงมามันก็อย่างนั้นเอง
แต่ว่าพวกเราที่มานี้มันพ้นความบ้าแล้ว ไม่บ้าแล้ว มาวัดแล้วมันค่อยสว่างขึ้นหน่อย ไม่ต้องไปโรงพยาบาลโรคจิตแล้ว มาวัดก็เป็นโรงพยาบาลเหมือนกัน มาช่วยให้จิตเราดีขึ้น เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นพยายามดับเพลิงกิเลสไม่ให้เกิด
ทีนี้กิเลสมันเกิดอย่างไร เกิดตรงไหน เราต้องรู้ทางที่มันเกิด เรามีตาไว้ดูรูป มีหูไว้ฟังเสียง มีจมูกไว้รับกลิ่น มีลิ้นรับรส มีประสาทกายรับรู้ ในเมื่อสิ่งใดมากระทบ ร้อน อ่อน แข็ง อะไรเรารู้ทั้งนั้น นี่สิ่งที่มากระทบเขาเรียกว่า อารมณ์ เราพูด “อารมณ์ไม่ดี” ไม่ใช่ พูดไม่ถูก อารมณ์ไม่ดีพูดไม่ถูก เพราะอารมณ์นั้นคือสิ่งที่เข้ามา รูปเป็นอารมณ์อันหนึ่ง เสียงเป็นอารมณ์อันหนึ่ง กลิ่นเป็นอารมณ์อันหนึ่ง รสกระทบลิ้นเป็นอารมณ์อันหนึ่ง สิ่งกระทบกายประสาทก็เป็นอารมณ์ สิ่งที่เกิดขึ้นกับใจก็เป็นอารมณ์ เรียกภาษาเต็มว่า รูปารมณ์ รูปารมณ์ก็รูป เป็นรูปที่มากระทบตา สัททารมณ์ก็คือเสียง คันธารมณ์ก็คือกลิ่น รสารมณ์ก็คือรส โผฏฐัพพารมณ์ก็คือสิ่งกระทบทางกาย ธรรมารมณ์คือสิ่งกระทบใจ
คำเหล่านี้มีอยู่ในอภิธรรม เป็นธรรมที่เขาเอามาสวดมาร้อง เพื่อให้เกิดความ …… ( 44.55 เสียงไม่ชัดเจน) เอามาพิจารณา รูปมากระทบตา เรามีตาสำหรับรับรูป พอรูปมากระทบตา ตามีรูปมากระทบกันเข้า พอมากระทบกันเข้าก็เกิดอะไรขึ้น ก็เกิดความรู้ทางตา ความรู้ทางตานั้นเรียกว่า จักขุวิญญาณ ภาษาบาลีว่า จักขุก็คือตา วิญญาณคือความรู้ วิญญาณน่ะไม่ใช่เที่ยวล่องลอยไปอย่างนั้น ไม่ใช่สิ่งที่จะเชิญเข้ามาสิง เหมือนสำนักบ้าๆ บอๆ ทั้งหลายที่ไปเชิญวิญญาณพระนเรศวรบ้าง อุกอาจมากไปเชิญวิญญาณพระนเรศวรมา อุกอาจมากที่จะไปเชิญวิญญาณพระปิยมหาราชมา มาเข้าทรงไอ้คนบ้าๆ บวมๆ เหล่านั้น มันไม่สมศักดิ์ศรีกัน มันเป็นเรื่องหลงใหลเข้าใจผิด ชวนคนให้หลงมัวเมาด้วยประการต่างๆ
ตัววิญญาณก็คือความรู้สึกเท่านั้นเอง รู้สึกต่างๆ พอเราเห็นรูปเรารู้ รู้ว่ารูป รูปอย่างไร รูปต่อไป เรียกว่าวิญญาณ รูป ตา พอมากระทบกันก็เกิดวิญญาณ ตามด้วยอะไร รูป ตา วิญญาณ, ๓ เรื่อง, ๓ เรื่องนี้มารวมกันเขาเรียกว่า ผัสสะ ผัสสะ เกิดผัสสะ ตรงนี่แหละตรงนี้สำคัญ พอเกิดผัสสะแล้วถ้าเรายึดมันไว้ได้ มันก็เกิดเป็นเวทนา เวทนาคือความรู้สึกว่า ชอบ ไม่ชอบ เฉยๆ หรือรู้สึกว่าเป็นสุข เป็นทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ นี่เรียกว่าเวทนา เวทนาเกิดขึ้น พอเกิดเวทนาแล้ว เราเกิดแล้ว เกิดเวทนา
พอเกิดเวทนาแล้วมันก็เกิดตัณหาขึ้นมา ตัณหาคือความอยาก เช่นว่า เห็นรูปสวยอยากได้ อยากได้รูปมา เอามาไว้กับตัว ถ้าไม่ได้ก็เป็นทุกข์ เดือดร้อน ใครเข้ามาขัดคอก็เกิดโทสะ เดี๋ยวก็ต่อยกันเปรี้ยงปร้างกัน ไปแต่ละเรื่อง เพราะสิ่งเหล่านี้มันเกิดตามลำดับ เกิดโทสะ เกิดชาติ คือว่าเกิดความยึดมั่นถือมั่นที่เรียกว่าเกิดชาติ แล้วก็เข้าไปอยู่ในใจเป็นภพ แล้วก็เป็นทุกข์เดือดร้อนเผารน ให้ร้อนด้วยประการต่างๆ เหมือนกับว่าเรา ชายหนุ่มได้เห็นรูปผู้หญิงพอใจ พอใจแล้วก็ติดใจ อยากได้ มานอนไม่หลับ คิดถึง เที่ยวหาเบอร์โทรศัพท์ พอรู้ว่าเบอร์อะไร โทรไป เขาจะหลับจะนอนก็โทรไป ไปถามว่า “เธอหลับแล้วหรือ กำลังทำอะไร” อยากจะรบกวนเขา ไอ้ฝ่ายโน้นมันก็ชักจะพอใจเหมือนกัน บอกว่า “ยังไม่หลับ คิดถึงใครบ้าง” “ก็คิดเหมือนกัน” “คิดถึงฉันหรือเปล่า” “ก็มีบ้างนิดๆ หน่อยๆ” ประสาน ทำให้เกิดอารมณ์มา ติดต่อ แล้วก็นัดพบกันไปดูหนังไปฟังเพลง ไปเหลวไหลกัน เหมือน …… (48.28 เสียงไม่ชัดเจน) ไปกันใหญ่ ประสิทธิ์ประสาทเป็นสายไป เรียกว่าติดต่อกันเป็นสายสัมพันธ์กัน เราไม่ตัดต้นตอ ไฟไหม้ไม่ไปดับหัวแถว หัว …… ( 48.42 เสียงไม่ชัดเจน) มันก็ไหม้หมดบ้านนี่แหละ ให้หมดบ้านเสียทีเถอะ
แต่ถ้าเราเห็นว่าไฟลุกขึ้นดับมันเสีย มันก็ไม่เกิดลุกลามใหญ่โต เช่นว่า รูปเข้าตา เราสติมาทันทีว่า “โอ้นี่ …… (48.59 เสียงไม่ชัดเจน) แล้วมันจะเกิดความรู้ต่างๆ ก็ให้มันเกิด ไม่เป็นไร เพียงแต่รู้เท่านั้น รู้ทางตาแล้วมันเกิดผัสสะ หยุดตรงนั้น ให้หยุดอยู่เพียงผัสสะ ไม่ให้เกิดเวทนา ไม่ให้เกิดตัณหา ไม่ให้เกิดความยึดถือในเรื่องนั้น จบเรื่อง จบฉากเพียงเท่านั้น มันหยุดเสีย ถ้าเราหยุดได้สบายใจ ไม่เสียผู้ไม่เสียคน ทีนี้มันหยุดไม่ได้ เพราะอะไร เพราะความชอบ ความพอใจในสิ่งเหล่านั้น ความหลงติดในรสของสิ่งนั้น เพลิดเพลินในสิ่งนั้น มัวเมาในสิ่งนั้น เลยไม่พยายามดับ เพราะเห็นว่ามันให้ความสุขแก่เรา ไม่ได้นึกว่ามันเป็นสิ่งที่ให้เกิดความทุกข์เกิดความเดือดร้อนใจ เราคิดไม่ได้ เพราะไม่เคยศึกษา
แล้วก็สิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกในปัจจุบันนี้ เพิ่มทั้งนั้นเลย ไม่ได้ลดเลย เพิ่มอะไร เพิ่มราคะ ความกำหนัด เกิดโทสะความประทุษร้าย เพิ่มโมหะ ความหลง เพิ่มความมัวเมา ความประมาท ด้วยประการต่างๆ เช่น รูปภาพตามโทรทัศน์ รูปกิเลสทั้งนั้น พวกราคะ โทสะ โมหะ รูปภาพในหน้าหนังสือพิมพ์ก็เพิ่มราคะ โทสะ โมหะ แล้วป้ายโฆษณารถยนต์ ป้ายโฆษณา แม้โฆษณาน้ำปลาก็ยังมีภาพโป๊ๆ นี่เป็นสิ่งยั่วยุทั้งนั้น ส่วนส่งเสริมให้เกิดไฟกิเลส ให้เกิดไฟกำหนัด เกิดขึ้นในจิตใจ หลงใหลเพลิดเพลินไปกับสิ่งนั้น ชีวิตมันก็ตกอยู่ในอำนาจของธรรมชาติฝ่ายต่ำ หรือว่าตกอยู่ในอำนาจของวัตถุ ก็ลำบาก มีปัญหาเยอะ เสียผู้เสียคนกันไปตามๆ กัน
แต่ถ้าเมื่อใดเขาได้พบพระ ได้ศึกษาธรรมะอันเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ได้รู้จักตัวเองถูกต้อง ได้รู้จักสิ่งที่มากระทบถูกต้อง ได้รู้จักทางเดินของมันว่าไปทางไหน คอยสกัดต้นทางไว้ก็ปลอดภัย มีชีวิตสดชื่นอยู่ตามธรรมชาติ ไม่ต้องขึ้นๆ ลงๆ ไม่ต้องตื่นเต้นกับสิ่งทั้งหลายที่มากระทบใจเราให้เดือดร้อน ก็อยู่สบาย การเข้าวัดก็ต้องมุ่งอย่างนี้ มุ่งเข้ามาเพื่อบรรเทาเบาบางความทุกข์ฝ่ายต่ำ ลดละความโลภ ลดละความโกรธ ลดละความหลง ลดละความริษยา พยาบาท อาฆาต จองเวร ด้วยประการต่างๆ
สมัยนี้มีแต่เรื่องโกรธขึ้ง ขุดคุ้ยแคะไค้กันในเรื่องต่างๆ พูดจากระทบกระเทือนกัน ไม่มีสัมมาวาจา สมัยเลือกตั้งโยมฟังดูไม่ค่อยมีสัมมาวาจา ป้ายโฆษณาก็กระทบกระแทกนิดๆ หน่อยๆ พูดจาเขียนป้ายด่าพรรค ด่าพรรคนี้อะไรต่างๆ ยุแหย่ให้เกิดตะแคง ลุด้วยเรื่อง …… (52.35 เสียงไม่ชัดเจน) บางทีก็มีเสียงคัดค้านบอกว่าป้ายนี้ไม่สมควร ใช้คำพูดไม่เหมาะ ทำให้เกิดการแตกแยกระหว่างชนชั้นในบ้านเมืองของเรา ก็เขียนว่าไปตามเรื่องตามราว เป็นคนที่ยังไม่อยู่ในศีลในธรรม ไม่ประพฤติถูกต้อง มันจึงมีปัญหา ทำเรื่องประการต่างๆ
ญาติโยมนี่ยังมีสิทธิมีเสียงอยู่ที่จะไปเลือกผู้แทนราษฎร ต้องใช้สติปัญญาเหมือนกัน ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ว่าเราควรจะเลือกพรรคไหน ควรเลือกใคร มีคนดีอยู่เยอะนะที่เขาเสนอให้ชาวกรุงเทพฯ เลือกนี่ หลวงพ่อนั่งพิจารณาไว้ พวกกรุงเทพฯ มันจะเลือกเบอร์ ๒ ถ้าว่าไม่เลือกคนที่มีคุณค่า คือมีความรู้มีความสามารถ มีผลงานดี ถ้าไม่เลือกแย่เต็มที แสดงว่ายังไม่เจอเท่าที่ควร เพราะยังไม่รู้จักแยกแยะว่าอะไรดีอะไรชั่ว อะไรถูกอะไรผิด อะไรควรอะไรไม่ควร เลือกไปตามอารมณ์ เลือกไปตามกระแสของความฟุ้งเฟ้อด้วยประการต่างๆ ก็จะไม่ได้คนดีเข้าไปนั่งในสภา แล้วบ้านเมืองเราเองก็เละเทะต่อไป เพราะเราไม่เอาคนดีเข้าไป
นี่เป็นหน้าที่ของโยมทุกคนในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ต้องคิดให้รอบคอบ คิดให้ดี อ่านดู เลือกดู ดูความรู้ ดูความสามารถ ดูผลงาน แล้วเขาอยู่กับพรรคไหน หัวหน้าเป็นคนประเภทใด เป็นคนอยู่ในศีลในธรรมหรือเปล่า ประพฤติดีประพฤติชอบหรือเปล่า ดูประวัติการเป็นมาว่ามีการเป็นอยู่ที่ผิดทางอย่างไรบ้าง มีการโกงการกินอะไรบ้าง ต้องศึกษาให้ละเอียด ศึกษามาตั้งแต่พ่อเขา ลงมาถึงลูกถึงหลาน ว่ามันเป็นลูกเต้าเหล่าใคร ตระกูลนี้มันทำอะไรกิน ทำงานอะไร อาชีพอะไร ทุจริตหรือสุจริต ร่ำรวยด้วยการโกงเขามา กินเขามาอย่างไร ต้องศึกษา ศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบ
ถ้าเราเห็นว่าคนใดเป็นคนเพียบพร้อม อยู่ในศีลในธรรม ประพฤติดีประพฤติชอบ ไม่มีประวัติการโกงการกิน เล่นการเมืองโดยสะอาด ใช้ได้ หัวหน้าใช้ได้ ตอนนี้ลูกน้องก็ต้องใช้ได้ เราต้องเลือกคนที่ดีที่สุดส่งมา สินค้าจะมาขายในตลาดต้องเป็นสินค้าดี ไม่ใช่เอาของเน่าๆ มาขาย ขายแล้วมันไม่มีราคา คนซื้อเอาไปกินแล้วเกิดทุกข์เกิดโทษ เขาไม่ส่งสินค้าประเภทนั้น แต่ส่งสินค้าที่ดี พิจารณากันอย่างรอบคอบแล้ว ไม่เอาปริมาณ แต่เอาคุณภาพ อันนี้มันขึ้นอยู่กับคนที่จะเลือก ก็เลือกแต่มือเปล่า ถ้าเราไปซื้อผลไม้ตระกร้าหนึ่งมันมีผลไม้เน่าผลไม้เปื่อยมี ถ้าเราซื้อมาไม่เลือกก็ได้แต่ผลไม้เน่าๆ มา กินก็ไม่ได้ เสียหาย แต่ว่าผลไม้เน่ากินไม่ได้ก็ทิ้งไปได้
แต่ถ้าเลือกคนที่ไม่ดีเข้าไปนั่งในสภา จะติดแถบไปสิ่งอื่น ถ้ายังไม่ยุบก็เจ็บต่อไป ยุบแล้วยังเลือกไอ้คนประเภทนั้นเข้ามาอีก ก็เรียกว่าคนเลือกไม่เอาไหนแล้ว ไม่ต้องเลือกแล้ว จังหวัดไหนที่ยังเลือกคนประเภทบ้าๆ บวมๆ เข้ามา ก็แสดงว่าคนจังหวัดนั้นไร้การศึกษา ไร้ปัญญา ไร้สติ เห็นแก่เงินที่คนเขาเอาไปซื้อเสียง คนนักการเมืองที่ซื้อเสียงนี่ หลวงพ่ออยากจะประณามว่า เป็นนักการเมืองประเภทจัญไรบ้านจัญไรเมือง เพราะทำลายประชาธิปไตยให้เสียหาย แล้วก็คนที่รับเงินซื้อก็จัญไรเหมือนกัน จัญไรกับจัญไรมาเจอกันมันก็เป็นจัญไรไปทั้งจังหวัดเลย เราอย่าไปเอาเงินเหล่านั้น ถ้าเขาให้ก็เอามาก็แล้วกัน เอาไปทำบุญ อย่าเอามากินเลยมันจะจัญไรแก่ตัวต่อไป เอาไปทำบุญสุนทรทานไปตามเรื่อง เอาเป็นทานแก่คนยากคนจนอะไรไปก็ได้ แล้วอย่าไปเลือกไอ้คนอย่างนั้น ให้ดูว่าไอ้นี่หมาขี้เรื้อนกูไม่เลือกเข้าไปในสภา เสียชื่อ สภาทรงเกียรติเราต้องเลือกคนดีที่สุดเข้าไป อันนี้เป็นข้อเตือนใจ สิ่งพินิจในเรื่องเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ยังอีกหลายอาทิตย์กว่าจะถึงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน
ในที่สุดนี้ก็สมควรแก่เวลา ขออวยพรให้ญาติโยมทั้งหลายพ้นจากไฟกิเลส ไฟทุกข์ทุกคนเทอญ