แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาถกฐาธรรมะอันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ นั่งพัก ณ ที่ใดที่หนึ่งซึ่งสามารถได้ยินเสียงจากเครื่องขยายเสียงชัดเจน และจงตั้งใจฟังด้วยดีเพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการมาวัดตามสมควรแก่เวลา วันนี้เป็นวันอาทิตย์แรกของการเข้าพรรษา เราเข้าพรรษามาได้ยังไม่ถึงอาทิตย์ แต่ว่าอาทิตย์นี้เป็นอาทิตย์แรกแล้วก็เป็นอาทิตย์แรกของเดือนสิงหาคมซึ่งเป็นเดือนที่อยู่ในฤดูกาลเข้าพรรษา ฤดูเข้าพรรษานี่ฝนตกมากแต่วันอาทิตย์นี่ฝนไม่ตกนับว่าเป็นบุญแก่พวกเราทั้งหลายที่มาวัดชลประทาน เพราะฝนไม่ได้ตกให้เราเดือดร้อนทำให้การบำเพ็ญกิจที่เป็นบุญกุศลได้รับความสะดวกสบายจึงควรจะรู้สึกภูมิใจในสิ่งที่เรียกว่าเป็นบุญเป็นกุศลแล้วก็ทำเพื่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะชีวิตเราอยู่ได้ด้วยบุญไม่ใช่อยู่ได้ด้วยบาป คนทำบาปนี่ได้รับความทุกข์ความเดือนร้อนใจ อายุสั้น โรคมาก ตายเร็ว แต่คนที่ทำบุญอยู่กับความงามความดีนั้นอายุยืน สุขภาพอนามัยดี มีความสุข ทุกอย่างสมบูรณ์เรียบร้อย พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าท่านทั้งหลายอย่ากลัวบุญเลยเพราะบุญนั้นเป็นชื่อของความสุข แต่บุญนั้นมีเหตุมีผล บุญที่เป็นเหตุก็มี ที่เป็นผลก็มี ความสุขความสงบที่เกิดขึ้นจากการคิดดี พูดดี ทำดี คบคนดี ไปสู่ที่ดีนั่นเป็นบุญเป็นเหตุ แล้วเราก็ได้รับผลคือความสุขความสบาย หรือว่าการบำเพ็ญกิจที่เป็นบุญ เช่น ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา มีหลายอย่างด้วยกัน เป็นเหตุให้เกิดความสุขใจสบายใจ เช่น เราทำทานนี่เราก็มีความสบายใจ ได้ทำอะไรที่เป็นวัตถุทานให้คนอื่นได้รับความสุขความสบาย เราเองก็มีความสบายใจ ผู้ที่ได้รับทานก็มีความสบายใจ ทานเป็นเครื่องสมานมิตรไมตรี ทานเป็นเหตุให้ก้าวไปสู่สวรรค์คือความสุขความสบายในชีวิตประจำวัน ทานทำให้เรามีสุขภาพกายดี มีสุขภาพจิตดี ชาวพุทธในเมืองไทยเราจึงพอใจในการบริจาคทานกันมาตั้งแต่โบราณจนถึงกาลบัดนี้ ในหลักธรรมซึ่งเป็นข้อปฏิบัติในทางพุทธศาสนาสำหรับชาวบ้านก็ขึ้นต้นด้วยทาน ที่เรียกว่าทาน ศีล ภาวนา แต่ถ้าเป็นนักบวชท่านก็ขึ้นต้นด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา ทำไมมันแตกต่างกัน แตกต่างกันตรงที่ว่าชาวบ้านนี่มีทรัพย์สมบัติที่จะให้ จึงได้ให้สอนทำทานก่อน
การทำทานก็มีจุดหมายเพื่อให้ทุกคนได้ช่วยเหลือแก่กันและกัน เพราะว่าคนเราที่เกิดมาอยู่ในโลกนี้ฐานะไม่เท่าเทียมกัน สติปัญญาก็ไม่เหมือนกัน เช่นบางคนเกิดในตระกูลยากจน บางคนเกิดในตระกูลมั่งมี บางคนก็มีร่างกายสวยงาม บางคนก็ไม่สวย ขี้เหร่ บางคนก็มีรูปมากมาตั้งแต่เกิด บางคนก็มีรูปน้อย สติปัญญาก็ไม่ทัดเทียมกัน นี่เป็นเรื่องธรรมชาติ มันก็เป็นอย่างนั้น ทีนี้เมื่อคนที่แข็งแรงก็ต้องช่วยเหลือคนที่อ่อนแอ คนที่มีทรัพย์เหลือกินเหลือใช้ก็ควรจะช่วยเหลือผู้อื่นที่ขาดทรัพย์ขาดโอกาสในเรื่องเกี่ยวกับวัตถุ เรามีสติปัญญาก็ควรช่วยเหลือคนที่ขาดสติปัญญา การช่วยเหลือกันมีมากเท่าใด ความสงบสุขในสังคมก็เกิดมากเท่านั้น แต่ถ้าไม่มีการช่วยเหลือกัน คนก็จะเบียดเบียนกันในทางทรัพย์ เบียดเบียนกันในทางกาย เบียดเบียนกันในรูปแบบต่าง ๆ เพราะไม่มีการให้แก่กันและกัน แต่ถ้ามีการให้คนก็ได้กินได้ใช้ คนเราถ้าได้กินได้ใช้พออยู่พอกินแล้ว ก็ไม่คิดที่จะไปลักของใคร ไม่คิดที่จะไปฆ่าใคร ไม่คิดที่จะไปพูดจาโกหกหลอกลวงใคร ชีวิตก็จะเรียบร้อย สังคมก็จะมีความสุขความสบาย พระพุทธเจ้าจึงสอนให้ทำทาน เป็นบันไดขั้นต้น เวลาสอนชาวบ้านทั่ว ๆ ไปเขาเรียกว่าสอนด้วย อนุปุพพิกถา อนุปุพพิกถาคือเรื่องเทศน์โดยลำดับกันไป เรื่องเริ่มต้นก็เทศน์เรื่องการให้ทาน เพื่อให้คนทุกคนมีใจเมตตาปราณีต่อกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันตามสมควรแก่ฐานะ เมื่อมีทานแล้วก็สอนให้มีศีล คือให้มีระเบียบมีวินัย ไม่ทำอะไรอันจะเป็นเหตุให้เบียดเบียนซึ่งกันและกัน คนมีศีลก็ไม่ฆ่าใครไม่ทำร้ายใคร ไม่ลักของใครไม่ฉ้อไม่โกง ไม่คอร์รัปชั่น ไม่กินสินบน ไม่สำส่อนในทางเพศ พอใจในคู่ครองของตน พูดจาอะไรกับใครก็ใช้ถ้อยคำที่เป็นความจริง คำอ่อนหวานสมานสามัคคี คำที่มีประโยชน์ แล้วก็ไม่ทำลายตัวเองด้วยการดื่มสิ่งที่เป็นพิษ สิ่งเสพติด เช่น สุราเมรัยและยาเสพติดด้วยประการต่าง ๆ เป็นของต้องห้ามทั้งนั้น ถ้าเราอยู่ในศีลเราก็สบายร่างกายแข็งแรงอายุมั่นขวัยญยืน มีโรคน้อย แล้วก็มีความสงบในสังคม พระผู้มีพระภาคต้องการให้คนอยู่กันอย่างนั้นจึงพูดเรื่องศีลแล้วก็พูดถึงสวรรค์ สวรรค์หมายความว่าผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากทานจากศีล ว่าคนให้ทานคนรักษาศีลนั้นมีความสุขอย่างไร สังคมสบาย ครอบครัวสบายอย่างไร ก็เรียกว่าเป็นสวรรค์ของบุคคลนั้น ๆ แต่ว่าไม่ให้หยุดเพียงเท่านั้น ยังตรัสต่อไปสำหรับคนที่มีจิตใจที่จะออกไปได้ก็สอนเรื่องโทษของสวรรค์ โทษของกามารมณ์ แล้วก็สอนถึงเนกขัมมะ คือการออกจากธรรม มีจิตเบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นวัตถุแล้วก็ออกไปบวชในพระศาสนา หรือแม้อยู่บ้านก็อยู่ด้วยความสำรวมระวัง ไม่ปล่อยตัวปล่อยใจไปตามอำนาจโลภ โกรธ หลง ที่เกิดขึ้นในใจ ชีวิตก็จะเรียบร้อย อันนี้เป็นหลักคำสอนทั่ว ๆ ไป เป็นคำสอนเบื้องต้นแก่คนทุกคนที่เข้ามาหา แล้วก็ต้องนึกถึงว่าสังคมในประเทศอินเดียในยุคพระพุทธเจ้านั้นเป็นสังคมที่ค่อนข้างจะตระหนี่ถี่เหนียว เช่น คนมีทรัพย์สมบัติไม่ค่อยเอื้อเฟื้อแก่ใคร เป็นคนร่ำรวยแต่ไม่ช่วยคนอื่น ไม่สมกับเป็นชื่อว่า เศรษฐี คำว่าเศรษฐีนั้นก็แปลว่าผู้มีใจประเสริฐ หากคนใดเป็นคนร่ำรวย ถ้าเป็นคนเห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้ ก็ไม่เรียกว่าเป็นเศรษฐี คนที่เป็นเศรษฐีนั้นต้องมีใจประเสริฐ ยินดีช่วยเหลือผู้อื่น เห็นใจคนยากคนจน ไม่เอารัดเอาเปรียบใคร ใครมาเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า ถ้าเป็นเศรษฐีก็เอื้อเฟื้อตั้งโรงทาน แจกอาหาร แจกเสื้อแจกผ้า แจกวัวควายเอาไปไถนา แจกที่ดินด้วย เขาแจกกันไป อย่างนี้เป็เรื่องของคุณงามความดี
เมื่อเร็ว ๆ ตายไปแล้วคน ๆ นั้นชื่อเรียกว่า วิโนภเว แกชื่อวิโนภเวนี่เป็นคนอินเดียที่เป็นคล้ายกับนักบวชเหมือนกัน แกเที่ยวเดินไปด้วยเท้า ไปขอดินจากพวกมั่งมีที่ดินให้บริจาคเรียกว่า ภูทาน ภูก็แปลว่าแผ่นดิน ทานก็คือให้ที่ดินเป็นทาน ไปเที่ยวขอ เศรษฐีก็ให้ ให้คนละ ๕๐ ไร่ ๑๐๐ ไร่ ถึง ๑,๐๐๐ไร่ก็มี แล้วแกเอาไปไหนดินนั้น ให้คนจนมาอยู่ทำมาหากินสะดวกสบายขึ้น ท่านวิโนภเวแกเดินไปเรื่อย ไปเที่ยวขอดินคนร่ำรวยให้บริจาคแก่คนยากคนจน คนเหล่านั้นก็ได้เข้าใจในหลักการนี้ เพราะท่านพูดให้เข้าใจว่าดินที่เรามีนี่ตายแล้วก็เอาไปไม่ได้ ให้คนอื่นได้อาศัยบ้าง ได้กินได้อยู่บ้าง เป็นการให้ความสุขแก่คนยากคนจน ถ้าเราไม่ให้ความช่วยเหลือเขา เขาก็จะเกิดอารมณ์เครียดขึ้นมาแล้วจะยกพวกมาทำลายบ้านของท่าน ยึดเอาที่ดินของท่านไป การกระทำเช่นนั้นมันไม่เหมาะ เป็นเรื่องเกิดความเบียดเบียนกัน แต่ว่าเราให้เขาเสียดีกว่าเลยก็ให้ มีมากมายให้ที่ดิน ท่านทำอยู่หลายปี คนงานยากจนก็ได้เข้าไปอาศัยอยู่ทำมาหากิน แล้วคนที่ไปอยู่ก็ต้องประพฤติดีประพฤติชอบ ต้องตื่นแต่ตี ๔ ลุกขึ้นไหว้พระสวดมนต์ตามแบบศาสนาของเขาที่เขานับถือแล้วก็ไปทำงานในนาแต่เช้า ปลูกพืชปลูกผักเอามารวมกันเอาไปขายรวมกันเป็นสหกรณ์นั่นเอง อยู่กันแบบสหกรณ์ คนก็มีความสุขความสบายเพราะการกระทำเหล่านั้น พระพุทธเจ้าท่านก็ทำงานอย่างนั้นเพื่อช่วยเหลือคนจน แต่ไม่ทำให้คนมั่งมีเดือดร้อน มันผิดกับระบอบที่เรียกว่าคอมมิวนิสต์ ระบอบคอมมิวนิสต์น่ะทำลายคนมั่งมี แล้วคนจนก็ไม่ได้ดีขึ้น หรือไม่ได้ร่ำรวยอะไรขึ้น ในประเทศคอมมิวนิสต์จึงไม่มีคนที่เรียกว่าร่ำรวย นายทุนไม่มี เป็นนายทุนใหญ่คือรัฐบาลนั่นเอง คนก็เป็นอยู่กันอย่างนั้น ไม่ได้สบายอะไร คนละแบบ ทำคนที่มั่งมีให้จน จนเหมือนกัน แล้วก็ว่าทุกคนเท่าทียมกัน ไอ้เท่าเทียมกันแบบนั้นมันก็ลำบาก ทางพุทธศาสนาถือว่าทุกคนเท่าเทียมกัน คือแก่เหมือนกัน เจ็บเหมือนกัน ตายเหมือนกัน ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เหมือนกันในแง่ธรรมะ ไม่ได้พูดถึงฐานะว่าจะเท่า ฐานะมันเท่ากันไม่ได้ คนเรามันความเป็นอยู่คงจะไม่เหมือนกัน เหมือนนิ้วมือ ๕ นิ้วจะไปตัดให้มันเท่ากันมันก็ไม่ได้ หัวแม่มือมันสั้นแล้วไปตัดนิ้วอื่นให้เท่าหัวแม่มือแล้วจะใช้มือได้อย่างไร เพราะมันต้องอยู่กันอย่างนั้น อะลุ่มอล่วยเข้าหากัน ช่วยเหลือกัน หัวแม่มือมันใหญ่จริง แต่มันสั้น จะทำอะไรก็เอาบอกนิ้วชี้มาช่วยกันหน่อย นิ้วกลางนิ้วนางนิ้วก้อยมาช่วยกัน รวมกันเข้าก็ทำอะไรต่ออะไรได้ คนในสังคมก็ต้องรวมตัวกันเข้าตามวิธีการที่ถูกต้องเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลแก่กันและกัน เราจึงได้ทำหน้าที่อย่างนี้มาตลอดเวลา เมืองไทยเราตื่นเช้าบ้านชาวพุทธก็หุงข้าวใส่บาตรพระ ถวายอาหารแก่พระ พระก็ได้ฉันอาหารเหล่านั้น โดยเฉพาะที่วัดชลประทานนี่ พระอยู่ทั้งพระทั้งสามเณรก็เกือบ ๒๐๐ ในบรรดานี่ แต่ว่าโยมก็ทำบุญแข็งแรง ออกไปบิณฑบาตรสายนั้นสายนี้ โยมก็ใส่บาตร พระได้อาหารมาก็ฉันเท่าที่จะฉันได้ ส่วนที่เหลือนั้นเอาไปไหน เผื่อแผ่ไปข้างหน้าวัด เพราะหน้าวัดนั้นมีคนเด็กน้อย เด็กตาบอด เด็กพิการ เด็กอ่อน หลาย ๆ เด็กอยู่ตรงนั้นน่ะ เอามากองรวมไว้ตรงนั้นน่ะ เราก็ส่งไปช่วยเหลือ มีรถปิ๊กอัพมาทุกวัน พอพระฉันอาหารแล้วก็แบ่งไปให้ ใส่รถปิ๊กอัพไป เด็กเหล่านั้นก็ได้พลอยกินกับพระ ได้รับความสะดวกสบาย วันอาทิตย์นี่ก็ของเหลือกินเหลือใช้ เราก็แบ่งไปให้ทุกอาทิตย์ เด็กได้กินขนมได้อะไรพอเห็นรถวิ่งเข้าไปก็ดีอกดีใจกัน คือดีใจว่าจะได้กินขนมแปลก ๆ เขาเลี้ยงนะแต่ว่ามันไม่ค่อยมีขนมเลี้ยง เราก็ส่งไปช่วยเขา พวกนั้นก็สบายแล้วต้องช่วยคนอื่นให้สบายด้วย อย่าสบายคนเดียว กินอิ่มแล้วต้องนึกถึงคนที่กำลังหิวอยู่ให้เขาได้กินด้วย เราได้นุ่งห่มสมสมบูรณ์แล้ว ก็ต้องนึกถึงคนที่ยังไม่มีเครื่องนุ่งห่ม เรามียากินแล้วก็นึกถึงคนที่ไม่มียาจะรับประทาน ไม่มีที่จะอยู่อาศัยเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็ช่วยกัน เช่นช่วยกันสร้างโรงพยาบาลให้คนได้ไปอาศัยเจ็บไข้ได้ป่วยก็เป็นประโยชน์ทั้งนั้น เป็นคุณเป็นค่า สิ่งเหล่านี้อยู่ในเรื่องทานวัตถุ ให้ทานความรู้เรียกว่าวิทยาทาน เช่นว่ามีความรู้เรื่องอะไรก็เอาความรู้นั้นไปสอนคนอื่น สอนให้เปล่า ๆ ไม่ได้เรียกร้องอะไร เช่น เราเลือกเด็กมาเอากวดวิชาให้เด็ก สอนภาษาอังกฤษ สอนคำนวณ ให้เด็กเหล่านั้นได้เรียนได้รู้ ได้ไปสอบไล่ได้จะได้เป็นคนดีของชาติประเทศต่อไปอย่างนี้เรียกว่าให้วิทยาทาน หรือว่าเรามีความรู้ทางไหน เช่นว่ามียาสำหรับช่วยเหลือคนเจ็บไข้ได้ป่วยก็ให้ยาเป็นทาน ให้อาหารเป็นทาน ให้เสื้อผ้าเป็นทาน ให้รถเป็นทาน คนไปไหนมาไหนให้ยานเป็นทาน ให้ความสะดวกสบายแก่เขา เปิดห้องสมุดมีหนังสือไว้ให้คนอ่าน หรือว่าซื้อหนังสือไปถวายวัด พระก็จะได้อ่านได้ศึกษา วันก่อนนี้มีโยมชุดหนึ่งเอาหนังสือมาถวายเรียกว่าพระไตรปิฎก อาตมาพอได้ยินชื่อก็นึกดีใจว่าเออได้เอามาไว้ให้พระได้อ่าน แต่ว่าเปิดห่อดูมันเป็นพระไตรปิฎกของสำนักงานหนึ่ง ซึ่งมันไม่ค่อยจะสมบูรณ์ไม่ค่อยจะเรียบร้อย แต่ว่าขายดี ที่ขายดีก็เพราะเจ้าของสำนักงานนั้นโฆษณาทางวิทยุ เล่นยี่เกสามชั่วโมงทางวิทยุ ตัวเจ้าของไปเล่นด้วย แล้วโฆษณาขายพระไตรปิฎกไปด้วย ขายดี วัดต่าง ๆ ก็ซื้อไป ซื้อไปใส่ตู้ไว้ตามหอไตร ไปหลายวัดไปเห็นเข้า ใส่ตู้ไว้อย่างนั้นไม่ได้อ่านไม่ได้ศึกษา ไอ้อย่างนี้มันจะเป็นประโยชน์อะไร สร้างหนังสือให้แมลงสาบอ่านก็ไม่ได้เรื่องอะไร เราควรจะสร้างหนังสือที่พระต้องการสำหรับอ่าน สำหรับศึกษา จะสร้างหนังสือก็มาถามพระเสียหน่อยว่าดิฉันจะบริจาคหนังสือให้แก่วัดควรจะซื้อหนังสืออะไร พระท่านบอกควรจะซื้อหนังสือชื่อนั้นชื่อนี้เอามาแล้วพระเอาไปเรียนได้ประโยชน์ ไม่ใช่เอามาใส่ตู้ไว้บูชา พระธรรมมันต้องอ่าน พระพุทธนี่ไว้บูชาได้แต่พระธรรมต้องอ่าน แต่มันไม่เหมาะที่จะอ่านก็เลยไม่ได้เลือก วันนี้เตรียมมาแล้ว เอามาวางไว้หน้ากุฏิพร้อมด้วยตู้ ให้ไปเปลี่ยนชุดที่ควรอ่าน เอามาให้แล้ว แต่ว่าโยมที่เป็นหัวหน้าเป็นคนแก่ยังไม่มาที่กุฏิ แต่เทศน์แล้วจะไปรับหนังสือเหล่านั้น เป็นประโยชน์ ของที่จะให้นี่ต้องนึกถึงผู้รับด้วยว่ามันเป็นประโยชน์หรือไม่ คนโบราณจึงพูดว่ามือด้วนได้แหวน มือนิ้วไม่มีจะเอาแหวนไปใส่ตรงไหน ตาบอดได้แว่นก็ไม่ได้เรื่อง แจกแว่นคนตาบอดนั้นก็ไม่ได้เรื่อง แล้วก็หัวล้านได้หวี เอาไปหวีอะไรผมไมมีสักเส้นหนึ่ง นี่ก็เรียกว่าให้ของที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้รับ จึงต้องพิจารณาว่าคนนั้นควรจะรับอะไร เช่น คนกำลังหิวให้กินอาหาร ให้เขาได้กินอาหารสบาย เราเอาของอื่นให้ คนกำลังหิวแจกเสื้อผ้า นุ่งแล้วมันก็ยังไม่หายหิวไอ้เสื้อผ้า เราต้องให้เสื้อผ้าเขา ถ้าเขาหนาวตัวสั่น เอ้าให้ผ้าห่มเขา ให้เสื้อเขาไปอย่างนั้นก็เรียกว่าให้ทานเหมาะแก่บุคคล เหมาะแก่เวลา เหมาะแก่การที่เขาจะรับ เราก็อิ่มใจสบายใจ ผู้รับก็ได้ความสบายใจ ก็ได้รับสิ่งที่เขาต้องการ มันต้องพิจารณา มาวัดนี่ก็เหมือนกัน เอาอะไรมาถวาย ไม่ใช่ว่าซื้อมาส่งเดชมาเอามาถวาย บางทีมันก็มากเกินไปซ้ำกันเกินไป มันไม่จำเป็นอะไร เราก็ควรคิดว่าเอ..ไปถามหน่อย โทรศัพท์ไปถามก็ได้ เดี๋ยวนี้สะดวกมีโทรศัพท์ โทรมาถามว่าดิฉันจะซื้อของมาถวายพระ ควรจะซื้ออะไร พระท่านก็บอกแนะนำไป ถ้าไม่ต้องการซื้ออะไรก็เอาปัจจัยมาถวายก็ได้ เช่นถวายสังฆทานนี่ ไปซื้อถังที่เขาจัดวางไว้เรียบร้อยหน้าร้านแล้ว ตากอยู่ตรงนั้นน่ะ อยู่นาน ๆ มันซึมมันไม่ได้ระบายอากาศ ก็แทรกซึมผงซักฟอกซึมเข้าไปในข้าวสาร ในใบชา ในน้ำ ซึมเข้าไปหมด ดื่มไม่ได้ ข้าวสารหุงแล้วเหมือนกินผงซักฟอกเข้าไป โยมไม่รู้ ซื้อมาแล้วมันก็ไม่ได้ประโยชน์คุ้มค่า หรือว่าเวลาเข้าพรรษาเราซื้อเทียนกันมาเยอะ แบกกันมาคนละคู่ ๆ นั้นก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร เพราะว่าเขาไม่ได้จุดเทียนแล้วเวลานี้ ไฟฟ้าเปิดสวิตช์ติ๊ดสว่างทั้งโบสถ์เลย แล้วจะไปจุดเทียนอีกทำไม ก็ไม่ได้จุดเลยก็ซื้อมาก็รับไว้ก่อน ไม่รู้ว่าจะทำอย่างเหมือนกัน รับไว้แล้วจะเอาออกทางไหน แต่ก็แนะนำว่าไม่ต้องเอาเทียนมาปีต่อไป เอาปัจจัยมาถวายเป็นค่าไฟดีกว่า สะดวกเป็นสังฆทานที่เกิดประโยชน์ อันนี้มันต้องพิจารณา มาถามพระเสียก่อนว่าเราจะทำบุญอะไรดี ซื้อผ้าถวายพระก็ต้องรู้ว่าท่านใช้ผ้าอะไร สีอะไร ขนาดอะไร มีขนาดเหมือนกันแหล่ะจีวร สบงพระนี่ ถ้าไม่ได้ขนาดมันก็นุ่งไม่ได้ เช่น พระอ้วนสบงสั้นก็นุ่งไม่ได้ พระสูงสบงแคบมันก็นุ่งได้เพียงหัวเข่า เหมือนนุ่งมินิเสกิร์ตอย่างนั้น ดูแล้วมันก็ไม่เข้าที่ ไม่เรียบร้อย เพียงถามว่าท่านใช้จีวรขนาดไหนพระท่านก็บอก จีวรขนาดเท่านั้น สบงขนาดนั้น สีอย่างนั้น ก็ซื้อมาถูก ถูกแล้วพระได้ใช้มันก็เป็นประโยชน์ ถ้าซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้ บางคนซื้อมาตั้งสิบไตร เหลืองจ๋อยตั้งสิบไตรนะ แล้วก็ดูผ้าแล้วมันก็ไม่ได้เรื่อง เลยบอกว่าแหมเอาไปเปลี่ยนได้ไหมหนู ถ้าเปลี่ยนได้เปลี่ยนเอาสีอย่างนี้มาก็แล้วกันให้พระใช้ได้ แล้วก็เอาขนาดที่มันถูกต้อง เอาไปเปลี่ยน ค่อยยังชั่วหน่อยเจ้าของร้านใจดียังให้เปลี่ยน เหมือนโยมซื้อหนังสือ บอกเอาไปเปลี่ยนได้ไหม พยายามดู ไปเปลี่ยนกัน ไปเอาชุดอื่น เอามาแล้ววันนี้ คงจะเป็นชุดที่ถูกต้อง อย่างนี้เป็นตัวอย่าง ทำอะไรก็บางทีมันก็ซ้ำกันมามาก กอง ไม่รู้จะเอาไปอย่างไร มากเกินไป ที่วัดพระฝรั่งอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ทำดี เขียนไว้เลย เขียนไว้ตรงบันไดทางขึ้นนะ วัดขาดอะไร ขาดกระดาษทิชชู่ คนก็ซื้อกระดาษไปให้ ขาดน้ำตาลเขาก็ซื้อน้ำตาลไปถวาย ขาดอะไรเขาเขียนบอกไว้หมด ต้องการอะไร นั่นถูกต้อง คนไปทำบุญก็ซื้อเท่าที่มันขาด ของใดมีแล้วก็ไม่ต้องซื้อ ไม่ซ้ำกัน อันนี้เข้าทีเหมือนกัน เขียนบอกไว้ในที่สาธารณะชาวบ้านไปก็ไม่ลำบาก อาตมาไปกับโยมไปถึงก็ไปเห็นป้ายนั้น โยมก็ไปซื้อมา สิ่งที่ขาดซื้อมามาก ๆ เอามาถวายไว้ ได้ใช้ เขาก็ลบอันนั้นออก มีแล้วเขาก็ตัดออก ของไม่มีก็เขียนเพิ่มไว้ ญาติโยมไม่สิ้นเปลืองสตางค์โดยไม่จำเป็น เพราะว่าทำเป็นระเบียบอย่างนั้นมันก็ดี แต่ว่าถ้าไม่ทำอย่างนั้นเราก็ถามพระว่าวัดต้องการอะไร ต้องการข้าวสารไหม ก็ซื้อข้าวสารมาถวาย ต้องการน้ำตาลก็ซื้อน้ำตาลมาถวาย ถ้าขาดค่าไฟฟ้าก็เอาปัจจัยมาถวาย อะไรอย่างนี้ ถูกต้อง เป็นประโยชน์ เรื่องทานนี่มันต้องเป็นอย่างนั้น
อันนี้การให้ทานนี้มีจุดหมายสองประการ ให้เพื่อผู้อื่นสบาย นี่สำคัญ เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันนี่เป็นเรื่องใหญ่ เป็นหลักการใหญ่ในการให้ทาน ผู้ให้ควรทำใจอย่างไร ผู้ให้ควรจะให้ของไปแล้ว ขูดเกลากิเลสบางตัวออกไปด้วย ให้เพื่อขูดเกลาเพื่อชำระชะล้าง เช่นว่าเราให้ทานแล้วเราก็ทำลายความโลภ ทำลายความตระหนี่ ทำลายความเห็นแก่ตัวให้เบาบางลงไป อย่างนี้เป็นการให้ที่ถูกต้อง แต่ว่าการสอนธรรมะที่ผ่านมานั้นพระท่านสอนให้โยมอยากได้ โยมจะทำอะไร เอ้า..ตั้งใจดี โยมอธิษฐาน จะเอาอะไรอธิษฐาน นี่สอนให้โยมอยาก ให้โยมมีกิเลส ถ้าอยากได้มาก ๆ โยมก็ยกขึ้นอธิษฐานแล้วอธิษฐานอีก อยากเอา เงินก็ไม่มากอะไร สักร้อยบาท อธิษฐานอยู่นานกว่าจะวางลงไปได้ เอาตั้งนาน จะเอาอันนั้นอันนี้อันโน้น โอ้ย เอารูปสวย เอารวยทรัพย์ เอาสติปัญญา เอามากมาย เป็นการค้ากำไรเกินควรไปหน่อย เพราะว่าเงินมันน้อยแต่เอามากเกินไป อย่างนี้มันก็ไม่ถูกต้อง ไม่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนา แต่พระท่านเข้าใจจิตวิทยาคือว่าถ้าไม่บอกอย่างนั้นโยมก็ไม่ค่อยให้เพราะโยมให้อะไรก็ต้องหวังผล เพราะอย่างนั้นในวัดบางวัดเขียนไว้เลย ให้นั้นได้นั่น ให้นั้นได้นั่น เหมือนกับชานเมือง วันนั้นไปที่วัดเขาเขียนบอก ทำบุญอย่างนั้นได้อย่างนั้น ๆ เขียนไว้เลย โยมก็ไปทำบุญตามที่ตนต้องการ จะเป็นประโยชน์หรือไม่ก็ไม่รู้แต่ว่าฉันต้องการอย่างนี้ก็เลยเอาไปให้อย่างนี้ สมมติว่าคุณพ่อคุณแม่ตายไปแล้วท่านชอบกินแกงขี้เหล็ก เราแกงขี้เหล็กไปถวายพระบอกว่าคุณพ่อคุณแม่ชอบแกงขี้เหล็ก แต่ว่าพระนี่เป็นไปรษณีย์กลางส่งแกงขี้เหล็กไปให้คุณพ่อคุณแม่กิน อันนี้พระอาจจะไม่ฉันก็ได้เพราะว่าท่านไม่ชอบ ก็ต้องฉันนิดหน่อย เหมือนกับไปรษณีย์กลางอย่างนี้ ทำตามที่เราต้องการ คือว่าให้เพื่อไม่เอานั้นถูกต้อง จำไว้ง่าย ๆ ว่าให้เพื่อไม่เอาเป็นการให้ที่ถูกต้อง เป็นการให้เพื่อขูดเกลากิเลสประเภทต่าง ๆ เช่น ความโลภ ความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัวให้เบาลงไป อธิษฐานใจก็อย่าอธิษฐานว่าจะเอาอะไรเลย อธิษฐานว่าขอให้ข้าพเจ้าเบาบางจากความโลภ จากความโกรธ ความหลง ความริษยา พยาบาท อาฆาต จองเวร ให้มีความเห็นแก่ตัวน้อยลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งหมดความเห็นแก่ตัว อย่างนี้ถูกต้อง ให้เพื่อขูดเกลาถูกต้อง แต่ให้เพื่อจะเอาอะไรกลับมานี่เป็นการไม่ถูกต้อง หลักการมันเป็นอย่างนั้น แต่ที่ทำกันอยู่ทั่วไปนั้นเขามักจะโฆษณาให้อยากได้แล้วให้ทำ เหมือนงานวัดต่าง ๆ มีโฆษก โฆษกที่ไปยืนพูดปาว ๆ นั้นเขาจ้างมา ไม่ใช่ไปว่าให้เปล่า ๆ นะ งานนี้เหมากันเท่าไร ไปพูดตลอดงาน พูดเก่ง โฆษกพูดเก่ง พูดไม่หยุดเลย แล้วเวลาทำบุญเขาโฆษณา นายจันทร์ ๕ บาท นายแก้ว ๑๐ บาท นายมี ๓ บาท ว่าเรื่อยแหล่ะ คนก็เออมันดีโฆษณา ๒ บาท ถ้าคนนั้นอ่านไม่อ่าน ลืมไปหน่อยมันว่าเอทำไมไม่อ่าน ไปต่อว่า ฉันทำบุญทำไมไม่อ่าน ชื่ออะไรนะ อ้อ ยายมี ๒ บาท ก็สบายใจ สบายใจว่าเขาได้โฆษณาชื่อให้แล้ว นั่นมันเป็นอย่างนั้น เพราะว่าทำเพื่อเอาชื่อเพื่อเอาเสียง ชื่อเสียงเกียรติยศ อย่างนี้มันก็ได้แล้ว ได้เท่านั้นเอง ไม่ได้อะไรมากไปกว่านั้น แต่ถ้าเราทำโดยไม่เอาอะไรมันได้มาก ได้อย่างไร คือได้ความบริสุทธิ์นั้นเป็นการได้ที่ยิ่งใหญ่ ใจเราสะอาดขึ้น สว่างขึ้น สงบขึ้น เป็นการได้ที่มากเพราะตามปกติเรามันก็มีความที่เรียกความจริงเดิมมันไม่มี กิเลสไม่ใช่อยู่ในใจเรา แต่ว่าเราพอกพูนสะสมมันขึ้นเรื่อย ๆ จนมีกิเลสเกาะจับ เจ้าสนิมก็เกิดมากขึ้น ๆ จนเหล็กใช้ไม่ได้ เพราะมีสนิมเต็มไปหมด เสียหาย อย่างนี้เป็นตัวอย่าง ใจเราก็เหมือนกัน เดิมมันไม่มี แต่เราเพิ่มเข้าไป ๆ จนกระทั่งรุงรังไปหมด อันนี้การปฏิบัติจากการให้ทานเพื่อขูดเกลา รักษาศีลเพื่อขูดเกลา เจริญภาวนาก็เพื่อขูดเกลา ทุกอย่างเพื่อการขูดเกลาทั้งนั้น ถือหลักการว่าเราช่วยเขาโดยไม่เอาอะไร นั่นเป็นการช่วยที่ถูกต้อง เมื่อสมัยเด็ก ๆ เห็นเขามาช่วยงานช่วยการ เช่น มาเกี่ยวข้าว มาทำอะไร สร้างบ้านสร้างเรือน คนก็มาช่วยกัน ช่วยกันถากเสา เจาะรูไม้ ยกบ้านยกเรือน เขาไม่เอาอะไรเลย ถ้าใครเอาเงินไปให้ เขาถือว่าดูหมิ่นเขานะ เขาไม่ชอบให้อย่างนั้น อย่างดีก็กินข้าวสักมื้อ มาทำงานกันมาก ๆ เอาเลี้ยงอาหารมื้อหนึ่ง ถ้าอย่างนั้นเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าเราให้เป็นเงินค่าจ้าง เขาหาว่าดูถูกดูหมิ่น คนไทยเราสมัยก่อนนี้ไม่ได้ถือว่าเงินเป็นเรื่องสำคัญ แต่ถือไมตรีจิตมีค่ามากกว่าเงิน เพราะงั้นให้เงินเขาไม่เอา ให้รางวัลเขาไม่เอา เขาทำให้อย่างนั้นเอง เพราะมีจิตใจสูงอยู่พอสมควร แต่มาสมัยปัจจุบันนี้เราพูดเรื่องวัตถุมาก พูดเรื่องเงินกันมาก ทำอะไรก็ต้องการเงิน สมัยก่อนนี่กำนันผู้ใหญ่บ้านป่าวร้องเอ้าวันนี้ไปขุดเหมืองกัน เขาก็ไปกัน ไม่ได้หรอก เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยไป หวังมันต้องมีค่าจ้าง เขามีงบประมาณทำไมไม่เอามาจ่าย ประชาธิปไตย เป็นประชาธิปไตยใช้ไม่ได้แล้ว ไม่ไปช่วยแล้ว สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เขาป่าวร้องคนทั้งตำบลมาช่วยกันขุดคลอง ช่วยกันทำถนนทำอะไรต่าง ๆ คนก็มาช่วยกัน เอาข้าวมากินเอง เอาข้าวมา ห่อมากินกลางวันแล้วก็ทำงานจนค่ำจนเย็นจนมืดกลับบ้าน เขาทำได้ แต่พอเป็นประชาธิปไตยทุกคนมีอิสรภาพมีเสรีภาพ ไม่เอาแล้ว มันต้องมีค่าจ้าง มีเงินผันมาช่วย ต้องจ้าง ถ้าไม่จ้างนั้นก็ไม่ค่อยทำ คนก็เริ่มเรียกว่าเสียนิสัยเหมือนกัน เพราะไปติดวัตถุมากอย่างนั้นมันไม่ถูกต้อง เพราะงั้นในการทำบุญนี่เราให้ทานเพื่อขูดเกลา ไม่หวังอะไรตอบแทน ให้ไปตามหน้าที่ที่เราควรจะช่วยเหลือผู้อื่นให้แล้วเราก็ได้รับความสบายใจเป็นเครื่องตอบแทน ไม่ได้หวังอย่างนั้นอย่างนี้ เกียรติยศชื่อเสียงอะไรไม่ต้องการ แต่ว่ามันอาจจะมีขึ้นเอง ทำนาน ๆ เขาก็ให้รางวัลก็ไปรับเสีย อย่าดื้อว่ากูไม่เอา ไอ้ย่างนั้นมันก็ไม่ถูก เขาให้เช่นว่าให้รับจากในหลวงเราก็ต้องไปรับ จากสมเด็กพระเทพฯบ้างใครบ้าง คนมีชื่อมีเสียงเขาให้ เราไม่ต้องการก็ต้องไปรับมาไว้เป็นอนุสรณ์เป็นเครื่องเตือนใจว่าเราได้ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ก็ไม่ถึงกับเสียหายอะไร แต่ถ้าเราอยากได้จนเป็นทุกข์มันก็เสียหาย เราทำอะไรที่เรียกว่าเป็นบุญเป็นกุศลเพื่อให้ใจสบาย แต่ทำแล้วไม่สบายใจมันก็ผิดหลักการไป นี่เป็นเรื่องสำคัญ เรื่องทาน
เรื่องศีลก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องปฏิบัติ ศีลที่เราควรปฏิบัติก็มี ๕ ข้อเป็นเรื่องใหญ่ ศีลอะไร ๆ มันก็ตั้งอยู่บนศีล ๕ นั่นแหล่ะ ก็มีรักษาศีล ๘ ก็ควบคู่ การรักษาให้ศีล ๕ บริสุทธิ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ศีลของพระความจริงเรียกว่าวินัย เป็นข้อบังคับให้พระปฏิบัติเพราะว่าคนมาอยู่กันเป็นหมู่ต้องมีระเบียบมีวินัย พระทุกรูปก็ต้องปฏิบัติตามนั้น แต่ฐานก็อยู่ที่ศีล ๑๐ ประการที่พระถือ ถือศีล ๑๐ ประการให้สมบูรณ์ ถ้าอยู่คนเดียวก็มีศีล ถ้าอยู่หลายคนก็มีวินัยด้วยเพื่อให้หมู่คณะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ศีลรักษาคนที่รักษาศีล เวลาพระให้ศีลท่านว่าตอนท้ายว่า สีเลนะ สุคะติงยันติ สีเลนะ โภคะสัมปะทา สีเลนะ นิพพุติงยันติ ตัสมา สีลัง วิโสธะเย แปลว่าจะได้ความสุขก็เพราะศีล ได้โภคทรัพย์ก็เพราะศีล ดับทุกข์ได้ก็เพราะศีล อานิสงส์ที่ท่านพูดไว้ในตอนท้าย เราจึงถือศีล เริ่มต้นศีล ๕ ก่อน ไม่ฆ่า ไม่เบียดเบียน ไม่ทำร้ายใคร ๆ ในทางร่างกาย ไม่ลักไม่ฉ้อ ไม่โกงทรัพย์สมบัติของใคร ๆ อะไรที่เกี่ยวกับทรัพย์สมบัติ ไม่ประพฤติผิดในกามารมณ์เพื่อรักษาครอบครัววงศ์ตระกูลให้ตั้งมั่น เป็นศีลข้อ ๓ สำคัญมาก สมัยปัจจุบันนี้มีบทลงโทษอย่างแรง ใครประพฤติผิดศีลข้อ ๓ ลงโทษด้วยโรคเอดส์ โรคเอดส์นี่ใครเป็นแล้วตายลูกเดียวเพราะไม่มียารักษา ตายกันบ่อย ทางภาคเหนือนี่ตายกัน บางหมู่บ้านตายทุกวันวันละคน วันละสองคนก็มี ตายแล้วเอาไปเผากันไปตามเรื่อง นั่นเป็นอย่างนั้น เพราะซุกซนนอกลู่นอกทาง ไปเที่ยวเหลวไหล คนโบราณเขาเคร่งครัด เขาไม่มีโรคอย่างนั้น แล้วก็ไม่มีสิ่งยั่วยุ ให้คนติดศีล เดี๋ยวนี้มีสิ่งยั่วยุ ยั่วมาทางโทรทัศน์ ยั่วมาทางหนังสิอพิมพ์ ยั่วมาทางหนังสือประเภทอ่านเล่น ล้วนแต่เป็นเครื่องยั่ว ต้องมีภาพประเภทนุ่งน้อยห่มน้อยให้ยั่วกามารมณ์ให้คนหลงใหลมัวเมาด้วยอะไรต่าง ๆ คนจึงมีกิเลสมากขึ้น ชอบเที่ยวชอบสนุก แล้วก็มีที่ต้อนรับให้คนไปเที่ยว ความชั่วร้ายก็เกิดขึ้นในสังคมมากขึ้น ศีลข้อ ๔ ต้องการให้รักษาเกียรติทางการพูด พูดอะไรให้คนเชื่อคนฟัง ไม่พูดคำโกหก ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดคำที่ให้คนแตกกัน ไม่พูดคำเหลวไหลไร้สาระ พูดแต่คำจริง คำอ่อนหวาน คำสมานสามัคคี คำที่มีประโยชน์แก่ผู้ฟัง และไม่เป็นโทษแก่ผู้พูดด้วย จึงต้องระวังการพูด ส่วนศีลข้อ ๕ นี่สำคัญกว่าศีลข้อใด ๆ เพราะว่าสุราเมรัยมัชชะเป็นสิ่งเสพติดให้โทษ ศีลข้อ ๕ มีคำสามคำ สุราคำนึง เมรัยคำนึง มัชชะคำหนึ่ง สุราคือเหล้า เป็นเหล้าโรงเหล้าเถื่อนเหล้านอกเหล้าอะไรก็ตาม เป็นเหล้าทั้งนั้น กินแล้วเมาทั้งนั้น ไม่ได้เรื่องทั้งนั้น เมรัยคือของเมาที่ไม่ได้ต้มได้กลั่น เอามาหมักมาดองไว้ให้มันอืดมันเน่า ขึ้นอืด ฟึด ๆ ๆ ๆ เอามาดื่มหลับตาดื่มเข้าไป เมาเดินตกบ่อตกท่อได้เหมือนกัน นี่เรียกว่าเมรัย มีกินกันตามบ้านนอกบ้านนา ไม่ต้องต้ม กินมันทั้งอย่างนั้น เมากันทั่วไป แล้วก็มัชชะ มัชชะหมายถึงสิ่งเสพติด ได้แก่ บุหรี่ หมาก กัญชา ยาฝิ่น เฮโรอีน ยาบ้า ยาม้าเขาเปลี่ยนชื่อแล้วให้เป็นยาบ้า ยาอี และของอื่น ๆ ที่มีสิ่งเสพติด เห็นแม่บางคนซื้อถุงโค้กบ้าง เป๊ปซี่บ้างให้เด็กดูด อันนี้เสียหาย เด็กไม่ควรจะดูดน้ำอัดลมประเภทนั้น เพราะน้ำอัดลมประเภทนั้นมีสิ่งเสพติดอยู่ด้วย เขาเรียกว่าคาเฟอีน เชื้อกาแฟ คาเฟอีนเขาตัดมันแล้วเอาใส่ลงไปเพื่อให้คนติด ติดน้ำโค้ก ติดน้ำเป๊ปซี่ ติดน้ำอะไร ดื่มแล้วมันติด ติดอะไร ติดเพราะมีกาแฟ มียาเสพติด ผู้ใหญ่ดื่มไม่ให้โทษเท่าใด แต่ความจริงก็ไม่ควรดื่ม แต่ว่าเด็กนี่ไม่ควรให้ดื่ม ซื้อทั้งถุงให้เด็กดื่มเห็นแล้วอาตมาเสียว …… (40.35 เสียงไม่ชัดเจน) แต่ว่าไม่มีโอกาสจะไปพูดกับแม่ที่พาลูกไปเพราะไม่ควรให้ลูกเล็ก ๆ ติดสิ่งเสพติดเหล่านั้น กาแฟนี่ไม่ควรให้ลูกดื่ม น้ำชาก็ไม่ควรให้ลูกดื่ม น้ำอัดลมทุกประเภทก็มีเชื้อคาเฟอีนใส่ไปทั้งนั้น ให้โทษทั้งนั้น เราไม่ควรให้เด็กดื่ม เด็กมันขอร้อง มันร้องจะให้ดื่มก็พูดให้เด็กเข้าใจว่าดื่มไม่ได้ พาไปเสีย อย่าไปยืนตรงที่เขาดื่มกัน เด็กพอห่างสิ่งยั่วมันก็หยุดเอง มันร้องไม่เท่าใดมันก็หยุดไป แต่ถ้าเราตามใจว่าเด็กร้องเอาดื่ม ๆ ทีหลังมันติด อยากกิน แล้วก็เสียหายแก่ร่างกาย เสียหายแก่จิตใจ สุขภาพเสื่อม เสียหาย ตามโรงเรียนต่าง ๆ มีน้ำอัดลมขาย ไปหย่อนสตางค์เอาไปเลย อันนี้เป็นความฉลาดของบริษัท คือบริษัทนี่ใช้วิธีการฉลาด ไปถามโรงเรียนว่าโรงเรียนนี้มีเครื่องอัดสำเนาไหม มีอะไรพิมพ์ดีดไหม อะไรต่ออะไรไหม ไม่มี ซื้อให้เลยซื้อให้ เรียกว่าทำคุณก่อน ซื้อเครื่องอัดสำเนาบ้างพิมพ์ดีดบ้าง เครื่องอะไรที่โรงเรียนต้องการใช้ ซื้อให้ พอซื้อให้แล้วก็ว่าเอ..เด็กกินน้ำที่ไหน ไม่เห็นอะไรให้เด็กกิน กินน้ำประปาเหรอ น้ำประปานี่ก็ไว้ใจไม่ค่อยได้ ความจริงน้ำประปายังดีกว่าน้ำอัดลม กินเข้าไปไม่ให้โทษเท่าไรหรอก พอกินได้ และเขาก็ผมจะอำนวยความสะดวก จะเอาตู้มาตั้ง แล้วก็ให้เด็กหยอดเหรียญนะ หยอดเหรียญเข้าไปก็มันหลุดลงมา ๑ กระป๋อง มาเด็กก็ดื่ม ดื่มนะเด็กดื่มกันวันหนึ่งหลายขวด ดื่มหลายเวลาก็เป็นการมอมเมาเด็กน้อย ๆ ให้ติดสิ่งเหล่านั้นเหมือนกัน อันนี้ครูไม่ค่อยคิด เพราะครูเราก็ไม่ค่อยคิดละเอียดถึงขนาดนั้นหรอก เอาความสะดวกเท่านั้นเอง ความจริงโรงเรียนควรจะบริการน้ำสะอาดให้แก่เด็ก เอาหม้อคูลเลอร์มาใส่ไว้ก็ได้ หรือว่าน้ำประปา แต่ว่าซื้อเครื่องกรองติดท่อก็ได้ เมื่อตะกี้เขาเอาเครื่องกรองมาถวายเครื่องหนึ่ง เอามาทดสอบให้ดู น้ำที่มีสีใส่ลงไปในเครื่องกรองมันกรองออกมาเป็นน้ำสะอาด น้ำที่มีคลอรีนมากเอามาดมกลิ่นคลอรีนเข้าจมูก แต่ว่าเมื่อเข้าไปในเครื่องกรองนั้นแล้วไม่มีกลิ่นคลอรีนเป็นน้ำสะอาด เครื่องเล็ก ๆ แต่ราคามันก็แพง ๒๐,๐๐๐ ถ้าเราไปติดน้ำออกมาดื่มได้เลย สะอาดได้เลย เขาเอามาถวาย ยังไม่ได้ติด เขาจะมาติดให้อีก ก็ดีเหมือนกันได้น้ำสะอาดดื่ม เด็กได้ดื่มน้ำเหล่านั้น ทำให้หรือว่ามีหม้อไว้ท่อเดินท่อผ่านไหลออกมาก็เป็นน้ำสะอาดก็ติดไว้เพื่อกรองให้เด็กได้ดื่มน้ำสะอาดเพื่อสุขภาพของเด็ก แล้วก็จะได้เรียนหนังสือดี ไม่ควรส่งเสริมให้เด็กดื่มน้ำอัดลมมาก ๆ อาหารที่เราจะให้ลูกลานของเรากินต้องคัดเลือก อาหารต้องเป็นอาหารดีมีคุณค่าแก่ร่างกาย ที่ประเทศญี่ปุ่นเด็กนักเรียนเป็นโรคท้องร่วงกันเป็นการใหญ่ เป็นกันมากติดต่อกันหลายโรงเรียน เป็นปัญหาที่พวกแพทย์ต้องศึกษาค้นคว้าว่ามันโรคอะไรมันเกิดขึ้นอย่างนี้ ก็ศึกษา เป็นอันตราย บ้านเราก็อาจจะมีโรคอย่างนั้นเกิดขึ้นได้เพราะไม่ค่อยสะอาดเท่าใด อาหารที่ขายไม่ค่อยสะอาดเท่าใด น้ำท่าก็ไม่ค่อย บริเวณก็มันยิ่งไม่สะอาดใหญ่เลย เหมือนกับก๋วยเตี๋ยวเรือ เดี๋ยวนี้ขึ้นบกแล้ว ขึ้นบกแล้วมาสร้างอยู่ข้างถนน คนไปนั่งกิน วันหนึ่งไปเทศน์ที่บริษัทปูนซีเมนต์ กลับมาก็คุณทวีบอก เอ้านิมนต์หลวงพ่อฉันก๋วยเตี๋ยวเรือหน่อยวันนี้ เข้าไปนั่ง นั่งแล้วดูไปใต้ถุนเรือ มันไม่ไหวเลย เห็นแต่สิ่งปฏิกูลทั้งนั้น ก็ว่าอย่าฉันเลย ไปวัดดีกว่า กลับวัดเลย ฉันทันที่วัดเลยมาฉันวัด เพราะว่าก๋วยเตี๋ยวมันก็คงจะอร่อยพอสมควรแต่ว่า สิ่งแวดล้อมที่ดูลงไปแล้ว มันไม่ไหว จะตักก๋วยเตี๋ยวเข้าปากก็เห็นสิ่งโสโครกทั้งนั้นอยู่ใต้ถุน มันไม่สะอาด ไม่หิวจัดก็กินไม่ลง เลยบอกว่ามันยังไม่หิวไปวัดดีกว่า เลยขับรถมาฉันเพลที่วัด ไม่ฉันก๋วยเตี๋ยวเรือที่ขึ้นบกแล้ว ร้านโกวอะไรนะโกวอะไรทั้งหลาย มันสิ่งแวดล้อมมันแย่ อันนี้เราไม่ควบคุม ความจริงต้องควบคุมสิ่งแวดล้อมในบริเวณร้านขายอาหารไม่ให้มีสิ่งโสโครกเหล่านั้น เรายังไม่กวดขัน เรียกว่าอนามัยยังไม่ดีพอ สุขภาพของคนก็ยังแย่อยู่ทั่วไป ในบางประเทศเขากวดขันมาก ร้านอาหารต้องสะอาด เช้าหนึ่งไปโคราชเพื่อไปฉันอาหารในร้าน แต่ก่อนฉันนี่ขออภัยมันปวดท้องปัสสาวะ เข้าไปหลังร้านไปเห็นเขาทำอาหารถ้วยชามกองสกปรก ดูไม่ได้เลย ออกมาถึงบอกอย่าฉันเลยร้านนี้ ในหน้าร้านมันสะอาดแต่ข้างหลังมันไม่ไหว อาหารอยู่กับสิ่งสกปรกทั้งนั้น น้ำก็ไม่สะอาดแล้วเจ้าหน้าที่เอาน้ำมานี่มันถือแก้วอย่างนี้ หลังร้านนะ แหย่ลงไปทั้งมือทั้งแก้วมันแหย่ลงไปในน้ำในถังนะ แล้วมันหิ้วมาให้คนให้แขกกิน แขกไม่เห็น อาตมาเห็นแล้วไม่ไหว แบบนี้มันกินน้ำมือของมันด้วย มือมันก็สกปรก ไอ้คนจับแก้วมันไปจับเอามือลงไปในแก้ว เขาก็จับข้างนอก ไอ้นี่มันจับทิ่มลงไป มันก็สกปรก ล้างแล้วจับอย่างนั้นมันก็สกปรกอีก ไม่ระมัดระวัง ของเล็กน้อย เห็นแล้วมันไม่สะอาดก็รู้สึกว่าไม่น่าฉัน ไปร้านอื่น ร้านอื่นก็ไม่ได้เข้าไปดูข้างหลังร้านแล้ว ขืนไปดูเดี๋ยวก็ไม่ได้ฉันกัน เที่ยวดูละเอียดเดี๋ยวก็ไม่ได้ฉันเพราะว่ามันก็เหมือน ๆ กันทุกร้าน เขาไม่ควบคุม เจ้าหน้าที่ไม่ค่อยกวด ในมาเลเซียสมัยอังกฤษครอบครอง เจ้าหน้าที่เขากวดมาถึงหลังบ้าน กวดดูล้างดูส้วมดูอะไรสะอาด หน้าบ้าน ...... (47.42 เสียงไม่ชัดเจน) ถ้าว่าราดน้ำจนเปื้อนเขาสั่งให้ขัด หมายถึงบริเวณ ทำความสะอาด ก่อนเที่ยง พอเที่ยงปั๊บมันมาตรวจเลย ถ้ายังไม่ได้ทำไม่พูดแล้ว เรียกคนมาทำ ทำเสร็จแล้วต้องส่งบิลด้วย ต้องเสียค่าปรับด้วยนะ เพราะฉะนั้นเขาระวังไม่ทำสกปรก เพราะเจ้าหน้าที่ฝ่ายสุขาภิบาลเขาขยันตรวจดูแล เพื่ออนามัยของประชาชนเพื่อให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข อันนี้ก็สำคัญอยู่เหมือนกัน เราก็ต้องช่วยกันรักษาความสะอาดของสถานที่ ของภาชนะ ของอาหารที่เราจะรับประทานเข้าไป เห็นอะไรมันสกปรกก็ช่วยจับล้างอะไร เอาน้ำราดไปให้สะอาดเรียบร้อย
ท่านมหาตมะคานธีท่านมาประชุม แล้วท่านเกิดปวดท้องปวดไส้ก็เข้าห้องน้ำ เข้าไปถึงอู้ยสกปรกที่สุดเลย ท่านก็เลยไม่เข้าประชุมแล้ว ไปขัดห้องน้ำ เอาน้ำไปราด ไม้กวาดกวาดจนคนมาเจอเข้า ทำอะไร ก็เห็นอยู่แล้วว่าฉันทำอะไร ถามทำไมอีก เขาบอกว่าทำไมท่านมาทำงานอย่างนี้ ไอ้งานอย่างนี้มันของพวกศูทร คนชั้นต่ำ ท่านไม่ควรจะทำอย่างนี้ ก็นี่ล่ะเพราะคิดกันอย่างนี้ประเทศมันถึงแย่ ใครเห็นอะไรไม่ดีไม่ถูกไม่ชอบมันต้องทำ ช่วยกันแก้ไข แล้วไม่ทำเห็นแล้วเดินผ่านพ้นไป ไม่ทำ มันก็อยู่กันอย่างนี้ สกปรกกันอยู่อย่างนี้ แกก็ทำจนสะอาดเรียบร้อย คานธีแกเป็นคนอย่างนั้นแล้วก็ไปเล่าให้ที่ประชุมฟังว่าเป็นอย่างนั้น ที่ประชุมก็ซุบซิบ ๆกันว่ามันไม่ใเรื่องของท่านมหาตมะ มันเรื่องของคนงาน เอ้าคนงานมันไม่ทำ แล้วเราไปเห็นก็ช่วยทำเขาหน่อย เขาเรียกว่าเป็นคนไม่ดูดายในเรื่องต่าง ๆ เห็นอะไรพอทำได้ก็ทำไม่ใช่เห็นก็เดินข้ามไปทิ้งมันไว้ตามเรื่อง ทุกคนเดินข้ามไปแล้วอะไรมันจะดีขึ้น มันต้องช่วยกัน ตามถนนหนทางก็เหมือนกันไม่มีใครคิดจะช่วยรักษาความสะอาด ช่วยกันทิ้งขยะมูลฝอย กินอะไรก็ทิ้ง ไปจันทบุรีรถทัวร์จอด พอสตาร์ทออกนี่เปลือกเงาะกองเลยข้างรถทัวร์ กิน ๆ แล้วก็ทิ้งลงตามหน้าต่าง ทิ้งไว้อย่างนั้น ทำให้บ้านเมืองสกปรก มันควรจะมีถุง รถยนต์ที่เดินพาคนไปเที่ยวนั้นก็มีถุงแจกใบ มีขยะอะไร ๆ ใส่ถุงไว้ไปถึงปั๊มเขามีถัง เราก็เอาถุงนั้นไปใส่ในถัง ต่างประเทศก็ทำอย่างนั้น พอถึงปั๊มของไหนเราก็ทิ้งในถังของปั๊มแล้วเจ้าหน้าที่เขามาเอาไปทำความสะอาด ปั๊มน้ำมันในต่างประเทศเข้าห้องน้ำสะอาด เข้าไปแล้วไม่มีกลิ่น ไม่มีสิ่งสกปรกเพราะเขาคอยกวาดเสมอเลย ปั๊มบ้านเราเข้าไม่ไหว อาตมาไปเดินทางไปแวะปั๊ม เข้าไปไม่ไหวเลยไปต่อว่าเจ้าของปั๊มมันตั้งเยอะแยะ ทำไมไม่ให้มันปัดกวาด ทำความสะอาดปั๊มเสียบ้าง คนมันมากค่ะ แล้วก็คนงานมันก็มากเหมือนกัน ทำไมไม่สั่ง ทำแล้วเดี๋ยวมันก็ทำความสกปรกอีกค่ะ บอกแหมอย่างนี้ก็ไม่ไหว ที่ในปั๊มนี้มีห้องน้ำไหม มีค่ะ นิมนต์เข้า ค่อยสะอาดหน่อย เพราะเป็นเจ้าของใช้ คนไม่กี่คน ไอ้ที่ใช้มากมันต้องปัดกวาด ทำความสะอาดให้เรียบร้อย ที่วัดนี่สมัยก่อนท่านมหาบุญเลี้ยงอยู่นะ พอถึงวันเสาร์แกเช็ดหมดนะ ห้องน้ำห้องท่าแกกวาดเรียบร้อยเลยนะ พวกแม่ชีคาทอลิกมายังชมเลยว่าวัดนี้ห้องน้ำสะอาดดี เพราะมหาบุญเลี้ยงแกดูแล เดี๋ยวนี้ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร อาตมาไม่ค่อยไดแวะเข้าไปดู เรียบร้อยหรือเปล่าก็ไม่รู้ มันต้องดูแล ท่านมหาบุญเลี้ยงแกคนขยันไม่ดูดาย ทำโน้นทำนี้ ทำเรื่อยไป เสียดายตายเสียแล้ว แต่ว่าความตายมันก็เรื่องธรรมดา เราห้ามไม่ได้ แต่ก็ยังนึกถึงความดีของท่านอยู่ว่าเออเป็นพระที่ขยัน เดี๋ยวนี้ก็มาอยู่แทนชื่อมารุตน์ นิสัยคล้ายกัน คล้ายมหาบุญเลี้ยง แต่ว่าเวลาน้อยเพราะยังเรียนหนังสืออยู่ ท่านมหาบุญเลี้ยงท่านไม่เรียน ท่านดูแลปัดกวาด ทำนั่นทำนี่ เห็นอะไรไม่ได้ต้องจับต้องทำ เห็นอะไรควรทำอะไรก็ได้ ปัจจัยมาก็มาขออนุญาต ผมจะทำไอ้นั่น มันก็ตามชอบใจ ก็สร้างโน่นสร้างนี่ให้เรียบร้อย นี่เป็นคนที่ขยันในการทำ เรียบร้อย ทีนี้บ้านช่องเราก็ต้องสะอาด บริเวณก็ต้องสะอาด ต้องหมั่นปัดกวาดเช็ดถู ใครมาเห็นก็จะได้สบายใจ โรงเรียนก็ต้องสะอาด สถานที่ราชการก็ต้องสะอาด มีคราวหนึ่งที่นครศรีธรรมราช นายฉ่ำ เรียกครูฉ่ำ แกสมัครผู้แทน แกไปที่ศาลากลาง เข้าไปในห้องน้ำพอเข้าไปในห้องน้ำ ออกมานี่แกล้ม แกแกล้งล้มไม่ใช่ล้มจริง ๆ แกล้งล้ม ผู้ช่วย ผู้ตรวจ ผู้ว่าฯตกใจ ครูเป็นอะไร ครูเป็นอะไร มาถามแกบอกห้องน้ำที่นี่มันสกปรกมากจนเป็นลมเลยว่า ความจริงแกแกล้ง แกล้งเป็นลม ท่านผู้ว่าฯก็สั่งภารโรงเช็ดถูปัดกวาดกันเป็นการใหญ่เลย ไม่เคยสนใจ ผู้ว่าฯแกก็มีห้องของแก แกไม่เคยไปใช้ห้องนั้น ไม่รู้ว่ามันสกปรกอย่างไร ครูฉ่ำแกเข้าไปแกเห็นสกปรกอย่างไร แกแกล้งล้ม เป็นลมเลยเป็นลม ผู้ว่าฯตกใจ ถามว่าเป็นไง แหมห้องน้ำศาลากลางทำไมมันสกปรกอย่างนั้น ผู้ว่าฯก็เลยสั่งคนทำความสะอาดกันเป็นการใหญ่ มันเป็นอย่างนั้น คนแบบนั้นมันก็ดีเหมือนกัน เตือนไม่รู้จะเตือนอย่างไรก็เป็นลมไปเสียเลย ให้คนได้รู้ว่ามันสกปรก ไม่สะอาด ก็ดี ช่วยกัน โดยมากสิ่งที่เป็นสาธารณะไม่ค่อยมีใครสนใจ ตามสถานที่ราชการเหมือนกันถ้าว่าห้องน้ำสาธารณะไม่สะอาดเพราะผู้ใหญ่ไม่ได้ใช้ ท่านใช้ในห้องพิเศษของทาน แต่ว่าก็ควรจะเดินไปดูบ้างเพราะบริเวณนี้อยู่ในความดูแลของท่าน แต่ท่านก็ไม่เคยไปดู แลมันก็ไม่สะอาด เป็นอย่างนั้น อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ เชื้อโรคมันแพร่หลายเพราะความสกปรก แต่ถ้าเราช่วยกันรักษาความสะอาดก็ไม่มีเชื้อโรค การทำให้สะอาดก็เป็นศีลแบบหนึ่งเหมือนกัน ศีลคือการรักษากาย วาจา ใจ สถานที่แวดล้อมให้สะอาดให้เรียบร้อย ก็เป็นศีลประเภทหนึ่งที่จะต้องรักษา แล้วก็มาวัดมาวาก็อย่าเพิ่มความสกปรก ทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง เวลาคนกินอาหารแล้วมักเอาจานไปซ่อนไว้ตามพุ่มไม้ พอตอนบ่ายก็ค่อยเดินเก็บเอาไปล้าง ทำไมไม่ไปล้างเสียเลย น้ำก็มี ไปล้างเสียให้สะอาดให้เรียบร้อย เอาไปวางในที่ที่ควรวาง คนมักง่ายนี่ไม่ใช่ญาติโยมมาฟังธรรม ไอ้พวกมักง่ายมันอีกพวกหนึ่ง พวกเด็ก ๆ มากินอาหารแล้วก็เที่ยวเอาทิ้ง ๆ ช้อนก็เอาไปทิ้ง ช้อนหายบ่อย ไม่ได้หายไปไหน เอาไปทิ้งที่กระจาด ต้องสั่งเด็กให้ไปเที่ยวเก็บเอามารวมล้างใหม่ ให้สะอาด รักษาไว้ มันต้องช่วยกันรักษาดูแลสถานที่ เครื่องใช้ไม้สอยมันเป็นของกลาง เรามาใช้อีกก็ต้องช่วยกันทำความสะอาดให้เป็นการเรียบร้อย จึงจะเป็นการดี ต้องฝึกอย่างนั้น บางทีก็ไม่ทันได้ฝึกได้สอน เขาทำกันตามอย่างนั้น ก็เป็นอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา เมื่อเด็ก ๆ คุณยายแกพูดให้ฟังบอกกินอะไรอย่าให้ใครรู้ว่าเรากินอะไร กินกล้วยอย่าให้รู้ว่ากินกล้วย กินขนุนอย่าให้ใครรู้ว่ากินขนุน หมายความว่าอย่างไร เธออย่าทิ้งเปลือกลงไปใต้ถุน วัน ๆ ก็กินกล้วยก็ทิ้งใต้ถุน กินขนุนก็ทิ้งใต้ถุน กินสับปะรดก็ทิ้งเปลือกใต้ถุน คนมันก็รู้ว่าเรากินอะไร ก็ไปเอามานี่ตะกร้ามีเขาวางไว้ เขาให้ใส่ในนี้ ใส่ในตะกร้าขยะแล้วก็คุณยายมารับเอาไปทิ้งเอาไปทิ้งในที่สมควร เอาไปทิ้งลงในหลุม กลบฝังไปเสียมันก็ไม่เกิดเชื้อโรค คุณยายนี่ขยันกวาดขยะ กวาดบนบ้านกวาดใต้ถุนเรียบร้อย แล้วก็สอนพวกเราว่า กินอะไรอย่าให้ใครรู้ว่ากินอะไร เก็บเรียบไม่ใช่ไปทิ้งเพ่นพ่าน สอนแบบอย่างนั้น ก็จำได้มาตั้งแต่เด็ก สอนอย่างนั้นว่าให้เป็นคนมีระเบียบมีวินัย วินัยมันก็เป็นศีลอย่างหนึ่งที่เราควรจะรักษาเพื่อขูดเกลาจิตใจให้สะอาดปราศจากสิ่งเศร้าหมองใจ
ส่วนการเจริญภาวนานั้นความจริงเป็นไปเพื่อความหลุดพ้นจริง ๆ เจริญภาวนาจะเจริญแบบสมถะก็ตาม วิปัสสนาก็ตาม สมถะคือนั่งทำใจให้สงบ แต่ว่าวิปัสสนาภาวนานั้นหมายถึงการคิดการค้นเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ได้อาศัยใจที่สงบแล้วเป็นสมาธิแล้วก็ยกสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นพิจารณาเพื่อให้เกิดปัญญา เขาเรียกรวมว่าภาวนา มันไม่มีอะไร มีเรียกว่าภาวนาหรือสมาธิภาวนานั่นเรียกถูกต้อง สมาธิภาวนาก็คือการฝึกทำจิตให้เป็นสมาธิ จุดหมายก็เพื่อให้จิตสงบ ให้จิตตั้งมั่น ให้จิตอ่อนโยนเหมาะที่จะใช้งานคือจุดหมาย ทีนี้คนบางคนไปนั่งแล้ว เห็นนู่นเห็นนี่เห็นวิมานเห็นตะวัน เห็นอะไรต่ออะไร มันนอกเรื่องแล้ว มันไม่ใช่เรื่องที่ต้องการ ไม่ใช่จุดหมายที่ต้องการ เห็นแล้วก็เอามาเที่ยวเล่าใคร ๆ ว่านั่งแล้วเห็นสวรรค์เห็นวิมานเห็นนรกอะไร มันนอกเรื่องแล้ว นึกเอาเอง ไม่ได้เห็นจริงๆ ไม่ได้ไปจริง ๆ นึกเอา ก็นึกตามภาพที่เข้าเขียนไว้ตามฝาผนัง และอาจารย์ก็สอนไปในแนวนั้นให้คนบ้านรกบ้าสวรรค์กันไปตามเรื่อง ฟุ้งซ่านไป นอกลู่นอกทางไม่เข้าเป้าหมาย เป้าหมายที่แท้จริงสำคัญให้จิตสงบให้ตั้งมั่นให้อ่อนโยนเหมาะที่จะใช้งาน มีเท่านี้เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่เรื่อง อันนี้คนไม่ค่อยเข้าใจ ไปนั่งเพื่ออยากจะดูสวรรค์อยากดูวิมาน อยากจะดูว่าคุณพ่อตายแล้วไปอยู่ที่ไหน ดูแล้วจะไปช่วยอะไรท่านได้ ฝันเฟื่องไป วัดบางวัดก็สอนไปแนว ๆ นั้น บอกว่าปล่อยแล้วนะ ถูกต้อง ๆ ดีแล้วทำต่อไป ก็ไปนั่งเห็นนิมิตนั่งดูภาพเหล่านั้น มันก็จิตอยู่ตรงนั้นไม่ได้ก้าวหน้าต่อไป ไม่ได้ก้าวไปสู่ขั้นปัญญาเพื่อความหลุดพ้น ไปติดรูปบ้าง ติดอะไรต่ออะไร ติดวิมุตติที่เราไม่เห็น ซึ่งมันยังไม่ใช่ ไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ แล้วก็บอกว่าไปแล้วจะเห็นสิ่งนั้น เราก็เห็น แล้วต้องเห็นนะ ถ้าไม่เห็นอาจารย์ก็ว่าเอนี่บาปหนานี่ ไม่เห็นอะไรมันบาปหนา ฉะนั้นต้องเห็น เห็นอะไรบ้าง ต้องบอกให้บาปมันเบาหน่อย เห็นไอ้นั่นเห็นไอ้นี่ว่ากันไปตามเรื่อง อย่างนั้นมันไม่ถูก ที่ถูกมันต้องภาวนาเพื่อใจสะอาดสงบสว่าง หรือเพื่อให้จิตสงบตั้งมั่นอ่อนโยนเหมาะที่จะเอาไปใช้งานต่อไปเพราะเราต้องทำงานทำการ เจ้าจิตมันต้องอ่อนโยน มันเรียกว่ามันเชื่องเหมือนกับสัตว์ป่าที่เราจับมาได้ใหม่ ๆ มันไม่เชื่อง ต้องฝึกจนเชื่อง ฝึกช้างจนเชื่อง ฝึกลิงเชื่อง ฝึกม้าให้เชื่อง เชื่องแล้วใช้งานได้ เอาไปแสดงเก็บสตางค์ก็ได้ เอาลิงไปเล่นละครก็ได้ ละครลิงต้องหัดให้มันเชื่อง แต่ก่อนหัดลิงก็ขี้เหล้าเมายา หัดลิงได้แต่หัดตัวเองไม่ได้ พอเลิกเล่นละครลิงก็ไปกินเหล้าเมาแอ๋ นี่มันไม่ได้เรื่อง ลิงน่ะหัดแต่ไม่หัดตัวเองก็ไม่ได้เรื่องอะไร นั่นอย่างนั้น ตัวเราก็ต้องฝึก เราก็รู้ว่าเราบกพร่องอะไร เราไม่ดีตรงไหน เราพยายามฝึกพยายามสอนตัวเองให้เกิดความรู้สึกนึกคิดในทางที่ถูกที่ชอบเรียกว่าพัฒนาตัวเองให้เกิดความเจริญก้าวหน้า โดยเฉพาะในฤดูกาลเข้าพรรษา ต้องเอาจริงเอาจังหน่อย เอาจริงเอาจังในการละในการเจริญละสิ่งซึ่งไม่ไดีไม่งาม เจริญสิ่งที่ถูกต้องดีงามให้เกิดขึ้นในใจของเราจึงจะได้ประโยชน์จากฤดูกาลเข้าพรรษา แสดงมาก็พอสมควรแก่เวลา