แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะอันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกคนอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการมาฟังธรรมตามสมควรแก่เวลา วันนี้มีนักเรียนจากโรงเรียนอะไรก็ไม่รู้ ได้มาร่วมฟังธรรมกันเป็นพิเศษ เที่ยวเดินไปเดินมากันอยู่ก็มี ยังไม่นั่ง นั่งพัก ณ ที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งสามารถจะได้ยินเสียงเครื่องขยายเสียงนี้ได้ และจงตั้งใจฟังให้ดี ให้ได้ประโยชน์จากการมาวัด ความจริงนักเรียนนี่ไม่ควรมาวันอาทิตย์ ควรจะมาวันอื่น คือจะได้พูดเฉพาะนักเรียนโดยเฉพาะ ครูที่พานักเรียนมา ควรจะพามาในวันเสาร์ จะได้ฟังกันอย่างถูกต้องกับเด็ก ในวันอาทิตย์นี่พูดกับคนทั่วไป แต่ว่าเราก็ไปฟังได้ ฟังจับใจความให้ได้ ว่าพระท่านพูดเรื่องอะไร เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันของเราต่อไป เพราะว่าในชีวิตประจำวันนั้น มันต้องมีหลักธรรม เป็นเครื่องคุ้มครองจิตใจ ขาดธรรมะเกิดปัญหา เกิดทุกข์ความเดือดร้อนด้วยประการต่างๆ จึงควรจะได้มีการศึกษาทำความเข้าใจในหลักธรรมะที่เราควรจะนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ว่าฟังร่วมมือกันกับผู้ใหญ่ เรื่องเทศน์เป็นประจำวันอาทิตย์ที่ศาลานี้ เริ่มเทศน์เวลา ๙ โมงครึ่งถึง ๑๐ โมงครึ่ง แล้วก็ทำกิจกรรมอย่างอื่นต่อไป วันอาทิตย์ที่วัดชลประทานมีกิจกรรมที่เป็นเรื่องในทางธรรมะ ทำมานานแล้ว ก็ได้รับประโยชน์ตามสมควรแก่การกระทำ วันนี้ก็จะทำความเข้าใจกันในเรื่องต่างๆต่อไป
ในประเทศจีนในสมัยหนึ่ง มีพระมาจากอินเดียองค์หนึ่ง ชื่อ ท่านโพธิธรรม เมื่อไปถึงประเทศจีน พระเจ้าแผ่นดินก็ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี แล้วพระเจ้าแผ่นดินองค์นั้นก็บอกว่า หม่อมฉันนี่ได้กระทำกิจหลายอย่าง เช่นว่า บวชคนจำนวนมาก สร้างวัดวาอาราม สร้างพระพุทธรูป สร้างสถูปเจดีย์ หลายเรื่อง หลายประการ เล่าให้ท่านโพธิธรรมฟัง ท่านโพธิธรรมได้ฟังแล้วก็บอกว่า ที่ทำมาทั้งหมดนั้น ไม่ได้เรื่อง ไม่ได้กุศล ได้แต่เพียงขั้นบุญเท่านั้นเอง แต่ไม่ได้กุศล บุญกับกุศลนี่มันไม่เหมือนกัน คือบุญนั้นมันเป็นเรื่องของการอิ่มใจสบายใจ ในเมื่อเราได้ทำอะไรถูกต้องตามประเพณี ตามพิธีที่เคยกระทำกันมา เช่นมาวัดก็สบายใจ ได้ทำอะไรในทางศาสนาก็สบายใจ ได้เห็นพระก็สบายใจ อย่างนี้เรียกว่าเป็นบุญ แต่ไม่ถึงขั้นที่เป็นกุศล กุศลนั้นคือตัวปัญญาที่เกิดขึ้นแล้วทำลายความโง่ ความงมงาย ความหลงผิดความเข้าใจผิดต่างๆให้หายไป เรียกว่าเป็นตัวกุศล ตัวกุศลเมื่อเกิดขึ้นในใจของใคร ก็ทำใจของผู้นั้นให้สว่าง ให้สะอาดให้สงบ เพราะกุศลมีอำนาจขูดเกลาความมืด ความงมงายทั้งหลายให้หมดไปจากใจ เรียกว่าเป็นกุศล เรามาวัดนี่ก็ต้องการมาทำบุญทำกุศล ทำบุญนั้นทำกันอยู่แล้ว แต่ว่า กุศลยังไม่ค่อยจะเกิด ถ้าว่ายังไม่รู้ว่าอะไรเป็นกุศล จึงควรจะทำให้เป็นกุศลด้วย เมื่อพระเจ้าแผ่นดินกราบทูลกับพระโพธิธรรม ภาษาจีนเขาเรียกว่า ตั๊กม่อ มีหนังเรื่องตั๊กม่อ มีอะไรหลายอย่างที่น่าดู ทีนี้ว่าพูดกับพระแล้ว พระบอกว่าไม่ได้เรื่อง “ไม่ได้เรื่องอะไร” คือคำพูดที่กล้าหาญ เพราะว่าพูดกับพระเจ้าแผ่นดินนี่ คนทั่วไปเขาไม่กล้าพูดอย่างนั้น แต่ท่านโพธิธรรม ท่านเป็นพระที่เข้าถึงธรรมะ จึงพูดกับพระเจ้าแผ่นดินว่าไม่ได้เรื่องอะไร ที่ทำทั้งหมดนั้น ยังไม่ได้เรื่อง เรียกว่าไม่เป็นกงเต๊ก เราได้ยินคำว่ากงเต๊กกันบ่อยๆ คนจีนเวลาญาติตายเขาก็ทำกงเต๊กกัน แต่กงเต๊กแบบนั้นมันไม่ใช่กงเต๊กแท้ กงเต๊กแท้นั้นเป็นเรื่องความรู้ความเข้าใจในธรรมะ อันนั้นเป็นแต่เพียงพิธีกรรม ที่ทำแล้วได้บุญ ได้สบายใจ ได้เผาเรือนให้แก่บรรพบุรุษ เผารถ เผาโทรทัศน์ เผาวิทยุ ทำทันสมัย ต่อไปก็ต้องทำคอมพิวเตอร์เอามาเผาด้วย ให้คนตายแล้วได้เอาไปใช้ อย่างนั้นมันเป็นเรื่องบุญ ไม่ใช่กงเต๊ก ยังไม่เป็นกงเต๊ก จึงตอบพระเจ้าแผ่นดินอย่างนั้น แล้วก็มีพระองค์หนึ่งมาพบท่านโพธิธรรมแล้วก็พูดว่า “ช่วยขัดจิตให้กระผมสักหน่อย” ท่านบอกว่า “ช่วยขัดจิตให้กระผมสักหน่อย” ท่านโพธิธรรมก็บอกว่า “เอาจิตมาสิ ฉันจะได้ขัดให้” ก็บอกว่า “เอาจิตมาสิ ฉันจะได้ขัดให้” พระองค์นั้นก็จนปัญญา ไม่รู้ว่าจะเอาจิตไปให้ได้อย่างไร เพราะว่าจิตมันไม่มีตัวตน ไม่ใช่วัตถุที่จะหยิบยื่นให้กันได้ มันเป็นแต่ความคิดนึกที่เกิดขึ้นตลอดเวลา เกิดดับเกิดดับ คิดเรื่องนั้น คิดเรื่องนี้ คิดดี คิดชั่ว คิดให้เป็นสุข คิดให้เป็นทุกข์ คิดให้เกิดความเสื่อม คิดให้เกิดความเจริญขึ้นในจิตใจ มีมากมาย แนวความคิดของคนมีมาก ภาษาไทยเราจึงพูดว่า “นานาจิตตัง” นานาจิตตังหมายความว่า คิดต่างกัน คนคิดไม่เหมือนกัน เพราะคิดไม่เหมือนกัน การพูดก็ไม่เหมือนกัน การกระทำก็ไม่เหมือนกัน แล้วบางคราวก็เกิดขัดกัน เกิดขัดกันก็ทะเลาะวิวาทกัน ชกกัน ตีกัน เพราะการคิดนี่เอง ไม่ใช่เรื่องอะไร
ที่ท่านโพธิธรรมท่านพูดว่า “เอาจิตมาสิ ฉันจะขัดให้” พระองค์นั้นก็เอาจิตไปให้ท่านไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ก็ลาไปเท่านั้นเอง แต่ว่า เมื่อท่านโพธิธรรมท่านบอกว่าเอาจิตมาสิ ฉันจะขัดให้ พระองค์นั้น เกิดกุศลขึ้นในใจ คือเกิดปัญญาขึ้นในใจว่า จิตไม่มีตัว ความยึดถือในเรื่องนั้นก็หายไป เพราะว่าคนเราตามปกติมีความยึด ความติดอยู่ในสิ่งที่ไม่มีตัวว่าเป็นตัวเป็นตน เช่นยึดถือร่างกายว่าเป็นตน ยึดถือจิตว่าเป็นตนด้วย แล้วก็เลยติดอยู่ในความรู้นั้น ติดอยู่ในตัวนั้นอันเป็นเหตุให้เกิดปัญหา ความทุกข์ความเดือดร้อนขึ้นในชีวิตด้วยประการต่างๆ เพราะความไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องนั้นอย่างถูกต้อง แต่ว่าท่านโพธิธรรมบอกว่า เอาจิตมาสิ ฉันจะขัดให้ ก็เลยเกิดปัญญาขึ้นว่า จิตไม่มี มันเป็นแต่เรื่องของการปรุงแต่ง ให้เกิดขึ้นเป็นครั้งเป็นคราวแล้วมันก็ดับไป นี่เป็นเรื่องของสัจจะ เป็นความจริงในหลักคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า คือตัวจิตนี่มันไม่มี มันมีแต่พฤติกรรมของจิตคือการแสดงออกในรูปต่างๆ เช่นเราแสดงออกในรูปความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความพยาบาท ความริษยา ความเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ด้วยประการต่างๆ อันนั้นมันไม่ใช่เนื้อแท้ มันเป็นเพียงแต่ถูกปรุงแต่งให้เกิดขึ้นด้วยสิ่งที่มากระทบ อะไรมากระทบคือ อารมณ์ประเภทต่างๆ สิ่งมากระทบเขาเรียกว่า อารมณ์ กระทบตา กระทบหู กระทบจมูก กระทบลิ้น กระทบกายประสาท ก็เกิดความรู้ขึ้น ความรู้นั้นก็เรียกว่าวิญญาณ แล้วต่อจากนั้นก็มีอายตนะภายใน อายตนะคือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เขาเรียกว่าอายตนะ อายตนะแปลว่าเครื่องต่อ เครื่องต่อกับภายนอก สิ่งภายนอกเรียกว่าอารมณ์ คือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส สิ่งที่ถูกต้องทางตาก็เรียกว่ารูป เข้าหูก็เรียกว่าเสียง เข้าจมูกก็เรียกว่ากลิ่น กระทบลิ้นก็เรียกว่ารส กระทบร่างกายก็เรียกว่าโผฏฐัพพะ เป็นชื่อเฉพาะ ก็ต้องรู้ความหมายว่าโผฏฐัพพะ แล้วก็อีกอันหนึ่งเป็นธรรมมารมณ์ คือเรื่องกระทบจิต กระทบจิตก็เพราะผ่านตา ผ่านหู ผ่านจมูก ผ่านลิ้น ผ่านกายประสาท แล้วก็ไปสู่จิต เมื่อจิตได้รับก็เกิดการปรุงแต่ง ปรุงแต่งว่าน่ารักน่าเอา ไม่น่ารักไม่น่าเอา ปรุงแต่งว่าเป็นการโกรธ การเกลียด แล้วก็เกิดอะไรๆขึ้นหลายอย่างในตัวเรา เราเรียกสิ่งนั้นว่าเป็นจิต แต่ความจริงไม่ใช่ มันเพียงแต่อาการของสิ่งที่รวมกันเข้าแล้วก็เกิดเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมา เนื้อแท้มันไม่มี เพราะฉะนั้นในทางพุทธศาสนาจึงสอนเรื่องอนัตตา อนัตตาแปลว่า ไม่มีเนื้อแท้ มันเป็นแต่รวมกันเข้า ไหลไปตามอำนาจของการปรุงแต่งชั่วเวลาหนึ่ง แล้วก็แตกดับไปตามสภาพ เหมือนกับว่าร่างกายของคนเรานี้ เราเรียกว่าเป็นรูป รูปขันธ์
เราสวดมนต์ตอนเช้า
“รูปัง อนิจจัง รูปไม่เที่ยง
เวทนาอนิจจา เวทนาไม่เที่ยง
สัญญา อนิจจา สัญญาไม่เที่ยง
สังขารา อนิจจา สังขารไม่เที่ยง
วิญญาณัง อนิจจัง วิญญาณไม่เที่ยง”
สิ่งสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา นี่คือความจริง เป็นสิ่งที่เราสวด เราพูด แต่ว่าเราไม่เข้าใจสิ่งนั้นถูกต้อง เพราะไม่ค่อยได้ใช้ปัญญามาเป็นเครื่องพิจารณา จึงยังไปยึดไปติดในสิ่งนั้นว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นบุคคล เป็นเขา เป็นเรา แล้วก็เกิดการยึดการติดในสิ่งนั้น สำคัญว่าเป็นตัวเรา สำคัญว่าเป็นของเรา แล้วก็เกิดขัดประโยชน์กันกับคนอื่น เมื่อขัดประโยชน์กันกับกับคนอื่นก็เกิดการตีกันต่อยกัน ยิงกัน ฆ่ากัน ดังปรากฏที่เราเห็นอยู่ในรูป เช่นว่า คนพวกเดียวกัน แต่ว่าการปรุงแต่งไม่เหมือนกัน ความคิดแตกต่างกัน แล้วก็ไปยึดในความคิดนั้น สำนึกมั่นสำคัญผิดในความคิดที่ตัวมีตัวได้ ก็เกิดขัดใจกับคนอื่น เพราะมีความคิดความเห็นไม่ตรงกับตน เลยเกิดเป็นพรรคเป็นพวก แบ่งพรรคแบ่งพวก สมมติว่าเป็นพวกแดง เป็นพวกขาว เป็นชื่อนั้นชื่อนี้ พอมีพรรคมีพวกก็เกิดปัญหา เหมือนกับนักเรียนในโรงเรียนต่างๆ เวลาเล่นกีฬา ก็เรียกว่ากีฬาสี สีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว อะไรต่างๆ เป็นพวกขึ้น แล้วนักเรียนก็ไปติดในสีที่เขาสมมติตั้งให้ คนในพวกเดียวกันก็เป็นสีเดียวกัน คนต่างพวกก็เป็นคนต่างสี ไปยึด ไปติดอยู่ในสีที่เขาสมมติให้ ความจริงสีต่างๆ เป็นเรื่องสมมติ สำหรับให้รู้กันว่าเป็นพวกไหนเท่านั้น ไม่ได้ต้องการให้ไปติดในคำว่า สีนั้น สีนี้ พวกนั้นพวกนี้ เพราะถ้าไปติดแล้วมันเกิดเขาเกิดเราขึ้น เกิดตัวกู เกิดของกูขึ้นมา แล้วก็เกิดปัญหายกพวกตีกันขึ้นมา ที่นักศึกษายกพวกตีกันก็เพราะเรื่องนี้ เรื่องที่ว่าพวกเขา เราเป็นพวกช่างกล เราเป็นพวกช่างไม้ ก็เลยตีกัน สีต่างกันตีกัน แม้เรียนอยู่ในสถาบันเดียวกัน แต่คนละคณะ คณะวิศวะก็ยกพวกไปตีกับคณะอักษรศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมยกพวกไปตีกับคณะบัญชี อะไรต่างๆ นี่คือการไปยึดติดในสิ่งที่สมมติขึ้นโดยไม่รู้ว่านั่นมันเป็นเรื่องแต่เพียงสมมติ ไม่ใช่เรื่องที่ให้เกิดยึดเกิดติด
คนเรานี่บางทีก็เกิดในที่ต่างกัน คนหนึ่งเกิดกรุงเทพ คนหนึ่งเกิดอยุธยา คนหนึ่งเกิดสระบุรี แล้วก็เกิดจังหวัดละนั้น ที่เขาแบ่งเป็นจังหวัดนี่เพื่ออะไร เพื่อสะดวกแก่การที่จะปกครอง เป็นหมู่มาก เป็นตำบล เป็นอำเภอ เป็นจังหวัด ให้มันสะดวกแก่การปกครอง เช่นว่าผู้ใหญ่บ้านคนนี้ ปกครองในเขตนี้ ในหมู่ที่ ๑ กำนันคนนี้ปกครองในเขตตำบลนี้ นายอำเภอก็ดูแลในอำเภอนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ดูแลในเขตจังหวัดของตัว คนอยู่ในเขตใดก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้ปกครอง อยู่ในหมู่บ้านใด ก็เราเลือกผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านนั้นเป็นคนที่เราเลือกขึ้นไม่ใช่ว่าเขาเป็นเอาตามชอบใจ แต่ว่าเราเลือกให้เขาเป็น เลือกให้เขาเป็นหัวหน้า เมื่อเราเลือกให้เขาเป็นหัวหน้า เราก็ต้องยอมรับ ยอมรับว่านี่เป็นหัวหน้าของพวกเรา เขาพูดอะไรก็ต้องฟัง สั่งอะไรก็ต้องทำตาม อย่างนี้มันก็เรียบร้อย ไม่มีปัญหา แต่ว่าคนเรามันมีกิเลสเกิดขึ้นในใจ เลยเอากิเลสมาใช้ เอากิเลสมาใช้มันก็ยุ่ง แต่ถ้าเอาสติปัญญามาใช้ มันก็ไม่ยุ่ง แล้วก็กระจายไปถึงเรื่องชาติ เรื่องประเทศ อย่างสมมติว่า ชาตินั้น ชาติไทย ชาติพม่า ชาติลาว เขมร ญวน สมมติว่าเป็นชาติ แล้วก็มีการสอนให้รักชาติ ให้ถือว่าเรื่องชาติเป็นเรื่องใหญ่ เรียกว่าชาตินิยม ลัทธิชาตินิยมเป็นลัทธิที่สร้างปัญหา ทำให้เกิดการถือเขาถือเรา ถือชาติ ถือภาษา ถือศาสนาก็แตกต่างกัน แล้วก็ทะเลาะเบาะแว้งกัน ความจริงเรื่องศาสนาไม่ใช่เรื่องของการแตกแยก ไม่ใช่เรื่องของการทะเลาะวิวาทกัน แต่เป็นเรื่องของความรัก ความสามัคคี ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนทุกศาสนา เพราะคำสอนในศาสนานั้นมันเป็นอันเดียวกัน เรียกว่าธรรมะ พระธรรมก็ได้ พระธรรมก็หมายถึง คำสอนในคัมภีร์นั้นๆ คำสอนในคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์ คำสอนในพระไตรปิฎกของพระพุทธเจ้า คำสอนในไบเบิลของศาสนาคริสต์ คำสอนในอันโกระอ่าน เป็นของพวกอิสลาม สอนอะไร สอนให้ละความชั่ว ให้ประพฤติความดี ให้อยู่กันด้วยความรัก ความปรารถนาดีต่อกัน ไม่ส่งเสริมการแตกแยก ไม่ส่งเสริมการทะเลาะเบาะแว้ง แต่ว่า ความจริงมันไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะอะไรก็เพราะว่าผู้สอนศาสนาสอนผิดหลักการ คือสอนให้คนยึดคนติดอยู่ในศาสนาของตัว สอนให้ยึดติด ยึดติดแล้วความเห็นแก่ตัวมันก็เกิดขึ้นแล้วก็เอาคำสอนในศาสนานั่นแหละมาใช้เป็นเครื่องมือ ตีรันฟันแทงกันจนเกิดเป็นสงครามขึ้นมา อันนี้คือความผิดพลาดเสียหายของโลก เป็นการสอนที่ผิด ไม่ได้สอนอยากให้เป็นคนใจกว้าง ให้เข้ากันได้กับศาสนิกในศาสนาต่างๆ ให้ถือว่าผู้ปฏิบัติธรรมเป็นพวกเดียวกัน เว้นไว้แต่พวกไม่ปฏิบัติธรรมเรียกว่าต่างพวกออกไป ใครปฏิบัติธรรมเอามาจากคัมภีร์ไหนก็ใช้ได้ทั้งนั้น ถือว่าเป็นความถูกต้อง เป็นสิ่งช่วยให้เรามีจิตใจสูงขึ้น มีอะไรความคิดดีขึ้น การกระทำดีขึ้น แต่ไปอย่างนั้นเพราะว่าครูบาอาจารย์ที่สอนธรรมะ สอนให้ติด ติดอาจารย์ ติดสำนัก ติดคัมภีร์ ติดเรื่องนั้นเรื่องนี้ แล้วก็สำคัญว่าของฉันดีกว่าของแก ของแกสู่ของฉันไม่ได้ มันก็เกิดปัญหา ซึ่งคิดไม่ถูก ไม่ได้คิดอย่างคนใจกว้าง ถ้าเราคิดอย่างคนใจกว้างก็ถือว่าหลักธรรมะเป็นหลักเดียวกัน สอนให้ละความชั่ว ให้ประพฤติความดี ให้มีใจสะอาดปราศจากกิเลส แล้วก็มองกันด้วยใจรัก ใจปรารถนาดีต่อกัน ถ้าเราถือในรูปอย่างนั้น ก็ไม่มีเขา ไม่มีเรา ไม่มีชื่อศาสนาที่แตกต่าง ไม่มีพุทธ ไม่มีคริสต์ ไม่มีอิสลาม ไม่มีฮินดู แต่เรามีธรรมะ เอาธรรมะเป็นส่วนกลาง เป็นหลัก เราประพฤติธรรม ชาวอินเดียในสมัยโบราณตั้งฐานไว้ดี คือเวลาพบกัน เขาไม่ได้ถามว่า ท่านนับถือศาสนาอะไร แต่เขาถามว่า ท่านประพฤติธรรมอะไร ท่านประพฤติธรรมอะไร เขาถามธรรมะอันเป็นข้อปฏิบัติ แต่ไม่ถามชื่อของศาสนา เพราะถ้าถามชื่อมันยุ่ง มันยุ่ง ถามว่าคุณนับถือศาสนาอะไร นี่ เริ่มยุ่งแล้ว ถ้าคนนั้นตอบว่า คนนั้นถือศาสนานั้น ก็เอ มันไม่เหมือนของเรา แตกต่างจากของเรา ความยึดถือว่าเป็นเราเป็นเขาเป็นพวกนั้นเป็นพวกนี้มันเกิดขึ้นทันทีเพราะไปถามอย่างนั้น ไม่ถูกต้อง เขาตั้งฐานไว้ดี ความจริงเขาตั้งฐานไว้ว่า อย่าถามถึงศาสนา อย่าถามถึงชาติ อย่าถามถึงตระกูล อย่าถามถึงอะไร แต่ให้ถามว่า ท่านประพฤติธรรมอะไร ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาก็มีคำถามเช่นนี้ เวลาใครมาพบกันก็ถาม พระมาพบกันก็ถามว่า ท่านมีปกติประพฤติธรรมอะไร หรือว่า ท่านอยู่ด้วยธรรมอะไร ถ้าเป็นพระก็ตอบเช่นว่า อยู่ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน อยู่ด้วยการเจริญเมตตา ปรารถนาความสุขความเจริญแก่ผู้อื่น อยู่ด้วยการพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้เห็นตามสภาพที่เป็นจริง ตอบอย่างนี้ มันไม่มีพรรคมีพวก ไม่มีเขาไม่มีเรา ไม่เกิดการยึดติดแก่กันและกัน เช่นว่า เราชาวพุทธ คุณไปวัดไหน พอบอกวัดนั้น ก็เกิดความแตกต่างแล้ว ไม่ใช่วัดเรา แล้วไปยึดวัดทำไม ยึดสำนัก ยึดอาจารย์ ยึดทั้งนั้นละโยม แล้วพระก็สอนให้ติดอาจารย์ ติดสำนัก สอนให้ไม่ให้ไปสู่สำนักอื่น กีดกันคน ไม่ให้ไปสู่สำนักอื่น อันนี้คือความยุ่ง
มีเรื่องเล่าไว้ในพระคัมภีร์ พระสูตร ในพุทธศาสนาในพระไตรปิฎก เล่าว่า คนคนหนึ่ง ชื่อว่า อุบาลี เป็นคนร่ำรวย มีฐานะดี มีชื่อเสียงในขณะนั้น แกเป็นลูกศิษย์ของพวก “นิครนถ์” นิครนถ์เป็นศาสนาหนึ่งในประเทศอินเดีย ผู้สอนมีชื่อว่า นิครนถนาฏบุตร หรือ มหาวีระนั่นเอง เกิดยุคเดียวกันกับพระพุทธเจ้า แล้วก็มีอุบาลีเป็นลูกศิษย์ของเขา และก็ได้ยินข่าวว่าพระพุทธเจ้าแสดงธรรมได้ไพเราะ เริ่มต้น ท่ามกลาง ที่สุด มีเหตุมีผลน่าฟัง ก็อยากจะไปฟัง อยากจะไปฟังธรรมพระพุทธเจ้า เป็นคนดี เรียบร้อย จึงไปลาอาจารย์ อาจารย์เก่าของตน ไปลาอาจารย์บอกว่า ผมได้ยินข่าวว่าพระพุทธเจ้าแสดงธรรมไพเราะก็อยากจะไปฟัง ไปศึกษา อาจารย์ทำอย่างไร พอบอกอย่างนั้น อาจารย์ก็บอกว่า อย่าไปเลย ไม่มีอะไร พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอะไรที่แตกต่างไปจากที่เราสอน ท่านไม่ต้องไปหรอก อาจารย์พูดเช่นนั้นคือความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัว เพราะลูกศิษย์เป็นคนมีสตางค์ มีชื่อมีเสียง ถ้าไปฟังพระพุทธเจ้า เดี๋ยวจะเลื่อมใสพระพุทธเจ้า แล้วจะไม่มาเป็นลูกศิษย์ของตัว ความตระหนี่เกิดขึ้นในใจ เขาเรียกว่าตระหนี่ลูกศิษย์ เกิดปัญหาแล้ว กิเลสเกิดแล้ว กิเลสเกิดขึ้นในใจ ไม่ยอมให้ไป แกก็ไม่ไป แต่ว่าได้ยินบ่อยๆ เร้าใจ อยากจะไป ก็มาลาเป็นครั้งที่สอง อาจารย์ก็ห้าม แกก็ไม่ไป ลาครั้งที่สาม อาจารย์ก็ห้าม แกก็เชื่ออาจารย์ แกก็ไม่ไป แต่ว่ากิตติศัพท์ข่าวลือเรื่องพระพุทธเจ้าแสดงธรรมมันก็มากขึ้นๆ ทนไม่ไหวแล้ว ต้องไปแล้ว นึกในใจว่าไปลา ๓ ครั้งแล้ว อาจารย์ขัดคอ ไม่ให้ไป คราวนี้จะไม่ลาแล้ว ไปเลย เรียกว่าไม่ฟังเสียงอาจารย์แล้ว และก็ไปเลย ไปก็ไปถึงก็ได้รับการต้อนรับอย่างดี ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทำการต้อนรับเขาอย่างดี เขาไปถึงก็ตั้งปัญหาถามพระพุทธเจ้า เป็นปัญหาประเภทเพื่อโต้เถียง ลองภูมิ ลองภูมิพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ตอบให้เข้าใจ ถามตอบคำละเอียด คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ถ้าใครมาถามพระพุทธเจ้าในเชิงลองภูมิ โต้เถียง เขาเขียนไว้ละเอียด ว่า ถามอย่างไรตอบอย่างไร โต้กันไปโต้กันมา ยอมจำนน คือยอมจำนนด้วยเหตุผล เมื่อยอมจำนนแล้วก็บอกว่า
“ข้าพระองค์เลื่อมใสในธรรมะที่พระองค์แสดง อยากจะประกาศตนเป็นพุทธมามกะ” คือประกาศตนเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า ตอนนี้เราดูว่าพระพุทธเจ้าท่านว่าอย่างไร จะเห็นน้ำพระทัยของพระพุทธเจ้าท่านว่าเป็นอย่างไร ขออุบาลี ขอประกาศตนเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าท่านว่า “อย่าเลย อย่าทำเช่นนั้นเลย เพราะท่านเป็นคนมีชื่อเสียง โด่งดังในเมืองสาวัตถี เป็นคนมีเกียรติ ถ้าทำอย่างนั้น คนเขาจะดูหมิ่น เขาจะหาว่าคนอย่างอุบาลีนี่เป็นคนใจง่าย ได้ไปฟังธรรมของพระพุทธเจ้าครั้งเดียวยอมแพ้”
อุบาลีก็บอกว่า “ แหม ยังไม่เคยพบอาจารย์ เช่นนี้ ข้าพระองค์เป็นคนมีเกียรติ มีชื่อเสียง ถ้าไปสู่สำนักไหน เขาต้อนรับ ยกธง ถ้าเป็นในสมัยนี้เขาเขียนป้ายยินดีต้อนรับท่านอุบาลี ยกป้ายติดไว้ด้านหน้าทางเข้า ยกธงแสดงความยิ่งใหญ่ ต้อนรับ แต่ข้าพระองค์มาหาพระองค์นี่ พระองค์เฉยๆ ไม่ได้แสดงอาการอะไร ไม่เหมือนครูอาจารย์อื่น”
พระพุทธเจ้าท่านไม่ยินดียินร้ายอะไร ใครมาใครไปก็อย่างนั้นแหละ ท่านเฉยๆ แต่ก็สนทนาให้ด้วยความเมตตา ให้คำสอนเต็มที่
อุบาลีจึงพูดว่า “เมื่อข้าพระองค์มาหาพระองค์นี่ พระองค์ไม่ได้ตื่นเต้น ไม่ได้ยินดีว่า อุบาลีผู้ยิ่งใหญ่มาหาพระองค์ พระองค์วางเฉย อันนี่น่าเลื่อมใส เพราะฉะนั้นจึงขอประกาศตนเป็นลูกศิษย์”
พระพุทธเจ้าเห็นว่าขัดค้านไม่ได้แล้ว ให้เขาแสดง แต่ว่าเมื่อแสดงเป็นลูกศิษย์แล้วนี่ พระพุทธเจ้าทำอย่างไรต่อไป ต้องฟังต่อไปว่า พระพุทธเจ้าท่านสั่งอะไร ซึ่งแสดงน้ำใจกว้างขวาง ใจกว้าง พระพุทธเจ้าท่านใจกว้าง ไม่คับแคบ พอมาเป็นลูกศิษย์แล้ว พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า
“ อุบาลี บ้านของท่านเป็นที่ไปมาของพวกนิครนถ์ เรียกว่าพวกนิครนถ์เข้าออก มารับอาหาร มาบิณฑบาตอยู่เสมอ ท่านอย่าปิดประตูบ้าน อย่าปฏิเสธคนเหล่านั้น เคยทำอย่างไรให้ทำอย่างนั้น เคยกราบ เคยไหว้ เคยให้อาหาร ทำการต้อนรับอย่างไรให้ทำอย่างนั้น อย่าทำอย่างอื่น”
นี่คือน้ำพระทัยที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตาปราณี ไม่กีดกันคนที่มาเป็นศิษย์ ถ้าเป็นอาจารย์อื่น เขาจะบอกว่า ท่านมาเป็นศิษย์ของเราแล้ว อย่าไปวัดโน้นวัดนี้นะ อย่าไปทางวัดโน้นนะ อย่าไปยุ่งนะ ปิดประตูเลย ขังไว้นั่น ไม่ให้ไป นี่คืออาจารย์คับแคบ ใจคับแคบ ไม่กว้างขวาง ใช้ไม่ได้ แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้ปิดประตู บอกว่า ท่านเคยต้อนรับอย่างไรทำอย่างนั้น เคยหาอาหารให้ เคยให้อาหาร เคยกราบ ทำเหมือนเดิม ไม่เกี่ยง คนมีธรรมะต้องทำอย่างถูกต้อง อุบาลีก็ยิ่งเลื่อมใสมากขึ้น ลุกขึ้นกราบแทบฝ่าพระบาท แล้วก็บอกว่าข้าพระองค์ไปสำนักหลายแห่ง ไม่มีครูอาจารย์ใดที่จะสอนอย่างนี้ แล้วเขาก็กลายเป็นพุทธบริษัทที่มีใจกว้างขวางคนหนึ่งในสมัยนั้น อันนี้เป็นตัวอย่าง
ในสมัยปัจจุบันนี้ ถ้าโยมไปวัดใดวัดหนึ่ง อาจารย์วัดนั้นจะต้องคอยกีดกันไม่ให้ไปวัดอื่น ไม่ให้อ่านหนังสือสำนักอื่น กลัวจะออกห่าง เคยมีเรื่องที่เชียงใหม่ จะเล่าให้ฟังหน่อย เคยมีเรื่องของโยมที่ชื่อว่า “เตียวรส” (35.10 เสียงไม่ชัดเจน) เป็นคหบดี สร้างเนื้อสร้างตัวมาจนมีเงินมีทองใช้ และใช้เงินเป็นประโยชน์ แกก็เลื่อมใสคำสอนท่านพุทธทาส เพราะว่าพระธุดงค์ พระธุดงค์ไปเป็นหมู่ โยมแกก็ต้อนรับให้ ให้ที่พักอาศัย ให้เทศน์ให้คนฟังอยู่ที่ถ้ำป่าปั๊ว อยู่ใกล้โรงบ่มใบยา แล้วพระเหล่านั้นมีหนังสือพุทธศาสนาของไชยาไป โยมแกอ่าน อ่านแล้วก็ชอบใจเลื่อมใสในแนวทางของท่านพุทธทาสเลยคิดว่าจะไปกราบท่านพุทธทาส ก็เลยไปปรึกษากับพระอาจารย์เหล่านั้น อาจารย์เหล่านั้นทำพูดอย่างไร ก็บอกว่า ไม่ต้องไปหรอกโยม ท่านพุทธทาสก็ไม่มีอะไร คำสอนทั้งหลายพวกอาตมาก็สอนอยู่แล้ว ไม่ต้องไปหาท่านพุทธทาสก็ได้ กีดกันไม่ให้ไป เพราะกลัวโยมจะออกห่างไป แต่ว่าโยมแกเลื่อมใสมาก แกเลยให้ลูกชายกับลูกเขยไป เมืองเหนือลูกเขยเขาเรียกว่าลูกชายเหมือนกันนะ ๒ คนก็รีบไปกัน ไปนมัสการท่านพระพุทธทาส ๒ คนก็ไป ไปดูไปศึกษากิจกรรมทั้งหลายก็กลับมาเล่าให้พ่อฟัง พ่อก็นึกว่าต้องไปนิมนต์ท่านพุทธทาสขึ้นมาที่เชียงใหม่ให้ได้ เลยก็ไป เวลาไปนี่พระพวกนั้น คุมไปด้วย ไปด้วย เป็นพระพี่เลี้ยงไปด้วย ไปดูไปศึกษา นี่ท่านก็นิมนต์ท่านพุทธทาสขึ้นมาเชียงใหม่ ท่านก็บอกว่าเวลาอันสมควรเราก็จะไป แล้วก็กลับมา พอกลับมาแล้ว พระเหล่านั้นก็ไปเที่ยวโจมตีท่านพุทธทาสตามบ้านคน ไปเยี่ยมบ้านไหน ก็พูดว่า เจ้าชื่น “ไปหาท่านพุทธทาส ท่านพุทธทาสก็ไม่มีอะไร” ขุดบ่อล่อปลาเท่านั้นเอง ขุดบ่อล่อปลา โยมเข้าใจไหม ขุดบ่อล่อปลานี่แปลว่าอะไร คือปลามันอยู่ในหนอง เราก็ขุดบ่อไว้ แล้วก็ทำน้ำให้มันไหล ผ่านบ่อไหลไปลงบ่อ ปลามันได้น้ำใหม่ พอได้น้ำใหม่มันก็ว่ายขึ้นมา ทวนกระแสน้ำพอว่ายมาก็ตกบ่อ ตกบ่อแล้วก็ขึ้นไม่ได้ พอขึ้นไม่ได้ เขาก็จับเอาไปแกงไปขาย นี่เขาเรียกว่าขุดบ่อล่อปลา พระเหล่านั้นก็ไปบอกชาวบ้านว่า ท่านพุทธทาสไม่มีอะไรหรอก ขุดบ่อล่อปลา หมายความว่าล่อให้โยมไปหา จุดหมายเป็นอย่างนั้น คนก็มาเล่าให้โยมฟัง โยมแกเฉยๆ ฟังแล้วแกก็ไม่ได้ว่าอะไร ไม่วิพากษ์วิจารณ์อะไร เฉยๆ เป็นคนอารมณ์ดี ไม่กระทบกระเทือนอะไร แล้วแกก็ตั้งหน้าตั้งตาส่งเสริมพระศาสนาต่อไป ว่านิมนต์ท่านพุทธทาสขึ้นมาเชียงใหม่ อยู่ ๑๕ วัน เทศน์ทั้ง ๑๕ วัน ไปเทศน์ที่นั่น เทศน์ที่นี่ทุกแห่ง แล้วก็ขอนิมนต์ว่าให้มาจำพรรษาที่เชียงใหม่บ้าง เพื่อจะได้ทำหน้าที่ปลุกใจคนให้ตื่นจากความหลับใหลมัวเมา แต่ท่านบอกว่าอาตมามาไม่ได้ เพราะว่ามีภาระที่จะต้องทำอีกมาก แต่ไม่เป็นไรจะส่งพระมาให้ ก็เลยส่งอาตมาไปอยู่เชียงใหม่ ไปเทศน์อยู่ที่นั่น ๑๐ ปี นี่ก็เลยเอามาเล่าให้ฟังว่า พวกเรามันกีดกันกันอย่างนั้น ไม่ให้ไป ไม่ให้ไปวัดนั้น ไม่ให้ไปวัดนี้ เพราะกลัวว่าโยมจะทิ้งไป อย่างนี้มันไม่ถูกต้อง โยมจะไปไหนก็ไปเถอะ ไม่ว่าอะไร ถ้าว่าไปแล้วโยมได้อะไรมาดีขึ้น โยมก็เอามาใช้ ไม่ได้ว่าจะหายอะไร อย่างนี้เขาเรียกว่าใจกว้าง แต่ส่วนมากมักจะใจคับแคบ หนังสือของบางสำนัก บางสำนักไม่ให้อ่านหนังสือท่านพุทธทาส ไม่ให้อ่านเลย พระก็ไม่อ่าน โยมก็ไม่ให้อ่าน ทำไมถึงมีทิฐิอย่างนั้น ทำไมถึงได้ปล่อยให้ใจถูกครอบงำด้วยกิเลสอย่างนั้น มันไม่ถูกต้อง มีพระองค์หนึ่งโยมไปถามว่า ท่านอ่านหนังสือท่านพุทธทาสบ้างหรือเปล่า พระองค์นั้นตอบว่า ท่านพุทธทาสไม่ใช่พระพุทธเจ้า เออ ทำไมไปตอบอย่างนั้น ถ้าอ่านก็บอกว่าอ่านสิ ถ้าไม่ได้อ่านก็บอกว่ายังไม่ได้อ่าน ยังไม่มีเวลาจะอ่าน แต่กลับตอบว่า ท่านพุทธทาสไม่ใช่พระพุทธเจ้า การพูดอย่างนั้นก็เรียกว่า ฐานในใจมันมีกิเลส มีกิเลสอยู่ในใจจนพ่นออกมาในรูปอย่างนั้น เป็นการพูดที่ไม่สมควร ไม่ได้พูดด้วยใจที่สะอาด สงบ สว่าง จึงออกมาอย่างนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าคิด คือจิตมันเป็นตัวคิด มีอำนาจให้ได้คิดให้ปรุงให้แต่งไปในรูปแบบต่างๆ คิดดีคิดชั่ว คิดให้สุข คิดให้ทุกข์ คิดให้เสื่อม คิดให้เจริญ คิดอะไรต่างๆ คนเราจึงมีเรื่อง ทะเลาะเบาะแว้งกันเพราะคิดไม่ตรงกัน สงสัย แคลงใจในกิจกรรมที่อีกคนหนึ่งจะทำ ไม่ไว้วางใจแล้วก็คิดไปในรูปแบบต่างๆ จึงเกิดปัญหา ทะเลาะเบาะแว้งกัน เราได้ยินข่าว นักการเมืองทะเลาะกัน ทะเลาะกันเพราะว่าจิตมันไม่มีธรรมะ จิตเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ เห็นแก่พรรคแก่พวก แล้วก็ระแวงอีกพวกหนึ่ง ระแวงว่าจะทำอย่างนั้นจะทำอย่างนี้ สงสัย แล้วก็ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ ให้สัมภาษณ์นักข่าวไปในรูปต่างๆ ทะเลาะกันทางอากาศ ทะเลาะกันด้วยเครื่องมือสื่อสาร ดังที่เราเห็นกันอยู่ทั่วไป อันนี้มันไม่ได้เกิดจากธรรมะ แต่เกิดจากความเห็นแก่ตัว ไม่รู้จักหยุด ไม่รู้จักหย่อน สู้กันไปสู้กันมา ไม่ได้อะไร นอกจากทำให้คนมองเห็นว่าพวกเหล่านี้ไร้คุณธรรม ไม่มีพื้นฐานทางใจที่ถูกต้อง จึงได้พูดสู้กันไปสู้กันมา ด่ากันในเวที มันไม่ได้อะไรขึ้นมา ควรจะสงบจิตสงบใจ เอาหลักธรรมะไปใช้ เช่นว่า เขาว่าอะไรเวลาหนังสือพิมพ์มาถามก็เฉยๆ ไม่ตอบเสียบ้าง ถ้าหากว่าไม่ตอบเสียบ้างจะดี นิ่งเสียบ้างก็จะดีขึ้น พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า ปิดปากเสียบ้าง ปิดหูเสียบ้าง ปิดตาเสียบ้าง ปิดจมูกเสียบ้าง ปิดใจเสียบ้าง นั่งสบาย คือทำไม่รู้ไม่ชี้นี่แล้วมันก็สบาย แต่ถ้าเรารู้ไปหมด เรื่องมันยุ่ง คนมาเล่าอย่างนั้น พูดขึ้นมา เกลียดขึ้นมา ไอ้คนโน้นมาเล่าอย่างนั้น ก็ลุกขึ้นมา จิตใจกวัดแกว่ง ไปตามคำพูดของคน ไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น ไม่ได้ใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา ถ้าเราใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา มันก็ไม่ยุ่ง เช่นว่าคนเขามาบอกว่า เขาว่าคุณอย่างนั้นอย่างนี้ เรานึกด้วยปัญญา มันก็ธรรมดา คนเรามันมองกันได้หลายเหลี่ยมหลายแง่ เขาอาจมองอีกมุมหนึ่งก็ได้ อาจจะไม่ตรงกับที่เรามองก็ได้ เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้ถืออะไรหรอก ไม่ได้รังเกียจเดียดฉันท์อะไร เพราะเขามีสิทธิที่จะพูดได้ จะว่าได้ เราก็สงวนสิทธิที่ไม่ยินดีได้ ไม่ยินร้ายก็ได้ มันก็สบาย ไม่มีปัญหาอะไรกระทบกระเทือนจิตใจ เพราะเราใช้ปัญญา อันนี้คนเรานี่ไม่ค่อยใช้ปัญญา พอเขาจี้ก็กระโดดทันที กระโดดขึ้นทันที หมายความว่า ตื่นเต้นกับเหตุการณ์ ยินดีบ้างยินร้ายบ้าง ยินดีมันก็เป็นทุกข์เหมือนกัน ยินร้ายมันก็เป็นทุกข์เหมือนกัน จิตที่ไม่ยินดี ไม่ยินร้ายคือจิตสงบ ไม่มีความคิดปรุงแต่ง ถ้าเราไม่ถูกมันปรุงมันแต่งมันก็สบาย
ทีนี้การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน คือพยายามกันไม่ให้สิ่งภายนอกเข้ามาปรุงแต่ง ไม่เอาสิ่งภายนอกเข้ามาปรุงแต่งจิตใจ สภาพเดิมของใจคนเรานั้น คือมันไม่มีอะไร มันสงบอยู่ สะอาดอยู่ สว่างอยู่ แต่ว่ามีสิ่งเข้ามา เขาเรียกว่า แขก แขกก็คือรูป ผ่านตา เสียงผ่านหู กลิ่นผ่านจมูก รสผ่านลิ้น สิ่งกระทบกายประสาทกระทบกายประสาทเข้าไปสู่ใจ เราไม่มีทหารยาม ไม่มีคนเฝ้าประตูดูแล สิ่งนั้นมันก็เข้าไป พอเข้าไปถึง เพราะว่าไม่มีทหารดูแล ขาดปัญญาขาดสติ มันก็ถูกปรุงแต่ง สิ่งใดชอบใจก็ทำให้เกิดความอยากมี อยากได้ อยากเป็น ก็เป็นตัณหา เป็นภพเป็นชาติขึ้นในจิตใจของเรา มันปรุงแต่งกันเรื่อยไป จนเราลืมตัวว่าตัวเดิมของเราเป็นอย่างไร หน้าตาดั้งเดิมของเราเป็นอย่างไร เราลืม ไปหลงใหลในสิ่งที่เข้ามาปรุงแต่ง และก็ถูกปรุงแต่งบ่อยๆ เช่นว่าปรุงให้โกรธ โกรธบ่อยๆก็ไปเป็นคนมักโกรธ กระทบนิดโกรธ กระทบหน่อยโกรธ แดดร้อนโกรธ ฝนตกโกรธ ใครมองตาก็โกรธ ดุเขาว่ามองอะไร ประเดี๋ยวก็ลุกขึ้นมาชกต่อยกัน นี่มันถูกปรุงแต่ง ไม่เป็นตัวเอง คำว่าตัวเองนี่หมายความว่า มันอยู่ในสภาพเดิม คืออยู่ด้วยความสะอาด สว่าง สงบ เป็นตัวเอง ถ้าเกิดสกปรก เกิดวุ่นวาย เกิดเร่าร้อน มันไม่เป็นตัวเองแล้ว จิตที่ถูกปรุงแต่ง ทุกขณะไม่เป็นตัวเอง ปรุงให้เกิดความโลภ ให้เกิดความโกรธ ให้เกิดความหลง เกิดความริษยา เกิดความพยาบาทอาฆาตจองเวร ไม่ถูกต้องแล้ว ถูกครอบงำด้วยอำนาจของวัตถุ คือสิ่งที่มากระทบมันมีฤทธิ์เหนือเรา รูปมากระทบ เสียงกระทบ กลิ่น รส ถูกต้องกายประสาท มันก็วุ้บเข้าไปถึงใจ เพราะเราไม่มีอะไรที่คอยเฝ้า คอยป้องกันไว้
ให้โยมรู้ไว้อย่างหนึ่งว่า ธรรมชาติจิตมันไม่มีความเศร้าหมอง ไม่มีกิเลส กิเลสไม่ใช่ของเดิม ให้รู้ไว้ด้วยว่า กิเลสไม่ใช่ของเดิม มันเกิดขึ้นเป็นคราวๆ เกิดแล้วมันก็ดับไป เกิดแล้วก็ดับไป เช่นความโกรธเกิดขึ้น มันก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วมันก็ดับไป แต่ว่าเราไม่รู้ธรรมชาติของมัน นึกว่าเรามีความโกรธอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ มันเกิดดับเกิดดับอยู่ กระแสไฟเราเห็นว่าลุกโพลงอยู่ในหลอด นึกว่ามันเป็นของเที่ยง คืออย่างนั้น ความจริงไม่เที่ยง เปลี่ยน เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ไหลอยู่ตลอดเวลา ดับเกิดดับเกิด เกิดดับเกิดดับอยู่ตลอดเวลา มันไม่ใช่เนื้อแท้ ไฟที่สว่างอยู่นั่น มันไม่ใช่ของแท้ มันเกิดดับเกิดดับถี่ยิบ จึงเกิดเป็นแสงสว่าง เกิดแรงงานให้เราใช้ประโยชน์ได้ ร่างกายเราก็เกิดดับเหมือนกัน ความคิดที่ปรุงแต่งจิตมันก็เกิดดับ ความโกรธเกิดขึ้น มันก็ดับไป ความโลภเกิด แล้วก็ดับไป ความหลงเกิดแล้วก็ดับไป ความริษยาเกิดแล้วก็ดับไป ความพยาบาทเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่ว่ามันดับไม่เด็ดขาด ไม่เด็ดขาดก็เพราะว่าเราใส่เชื้อ คอยใส่เชื้อให้มันโกรธๆๆๆ นั่งโกรธอยู่คนเดียว โกรธอยู่ ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง อยู่ดีๆพอนึกถึงคนนั้นขึ้นมาก็โกรธขึ้นมาทันที มันเรื่องอะไรที่จะโกรธเข้าไปได้อย่างนั้น
วันนั้นเดินทางไปศรีราชา โยมไปด้วยผู้หญิง ๓ คน พอขากลับนี่โยมบอกว่า
“แหม อิฉันพอเห็นหน้าคนนั้นละก็ มัน “วิ้บ” ขึ้นมาทันที”
“อ้าวอะไร ทำไมอย่างนั้น มัน “วิ้บ” ขึ้นมาทำไม”
ก็ตอบว่า “เกลียด”
“แล้วไปเกลียดเขาแล้วเราสบายใจหรือเปล่า หลวงพ่อถามว่าเวลาเราเกลียดเขาแล้วเราสบายใจหรือเปล่า”
“ไม่สบาย”
“แล้วมาสบาย แล้วไปหาเรื่องให้ไม่สบายไปทำไม ลงโทษตัวเองไปทำไม”
“มันทุกทีละคะ พอเห็นหน้าแล้วก็ทุกที”
อ้าว แล้วทำไมไม่แผ่เมตตาเสียบ้างละ พอเราเห็นคนนั้นเข้าก็ แผ่เมตตาเสีย อย่าให้ความเกลียดมันเกิด อย่าให้ความโกรธมันเกิด เรารีบตัดหน้าแผ่เมตตาเสีย พอเห็นหน้าเรารีบแผ่เมตตา พอเห็นปุ๊บก็บอกว่า ขอให้เห็นสุขเป็นสุขเถิด ขอให้ปราศจากโรคเถิด ขอให้เจริญก้าวหน้าเถิด คิดอย่างนั้นแล้ว ไอ้ความโกรธมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ไอ้เรามันไม่ได้เตรียมตัว คือไม่ได้เตรียมตัวว่า เมื่อพบหน้าคนนั้นเราจะเกลียดจะโกรธ ไม่รู้ พอไปถึงไปเห็นหน้า เอาเลย โกรธเลยเกลียดเลย อย่างนี้เขาเรียกว่าประมาทเพราะว่าไม่มีสติปัญญา ไม่ได้คิดไว้ก่อน ถูกโจมตีโดยไม่รู้สึกตัว พอข้าศึกโจมตีเข้าก็ตั้งตัวไม่ติด เลยแพ้เขา ไอ้ที่เราโกรธนั่นก็คือแพ้เขา ที่เราเกลียดเขานั่นก็แพ้เขา ไปพยาบาทก็แพ้เขา ไปริษยาก็แพ้เขา แพ้ทั้งนั้น แล้วใครเป็นทุกข์กันละ ก็เรานั่นแหละเป็นทุกข์ จับไฟมันก็ร้อนเอง จับของสกปรกมันก็เปื้อนเอง ถ้าเราไม่จับมันก็ไม่ร้อนแล้วมันก็ไม่เปื้อน แล้วไปจับทำไม ไม่ได้คิดไว้ก่อน ไม่ได้มี เขาเรียกว่า “มนสิการ” “มนสิการ”แปลว่า ทำไว้ในใจโดยแยบคาย หมายความว่า พิจารณาไว้ เหตุการณ์เกิดแล้วก็มาพิจารณาไว้ พิจารณาไว้ แล้วก็เวลาจะไปไหนก็จะได้บอกตัวเองว่า ไปเห็นหน้าใคร ไปเห็นอะไร ได้ยินอะไร อย่าไปแสดงอาการไม่ดีกับเขานะ อย่าไปแสดงอาการโกรธกระฟัดกระเฟียดกับใครนะ มันเสียความเป็นผู้ดี ไอ้เรามันเป็นผู้ดี อายุขนาดนี้แล้ว ไม่ใช่เด็กอมมือ เตือนๆไว้ แล้วพอไปเห็นคนนั้นเข้ามันก็ตั้งตัวทัน ตั้งตัวทันมันก็เปลี่ยนความคิดกันว่า เออ ขอให้เป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่ามีไปมีเวรเลย ถ้าเข้าไปใกล้ๆไปจับไม้จับมือเขาบ้างก็ดีว่า เออเป็นไง สบายดีไหม ไปยิ้มกับเขาเสีย อย่าทำหน้ายักษ์หน้ามารเข้าใส่กัน มันไม่ดีกว่าหรือ มันเป็นอย่างนั้น มันก็ไม่ทะเลาะ ไอ้นี่ถ้ามาอย่างนั้นก็ปล่อย เจ็บใจเจ็บใจ มาอีกแล้ว กูไม่อยากเห็นหน้ามึง มันคิดไม่ถูกต้อง ปรุงแต่งไม่ถูกต้อง ปรุงให้มันร้อน ปรุงให้มันวุ่นวาย ปรุงให้มันมืด มันไม่ได้เรื่อง เราอย่าไปปรุงอย่างนั้น แต่ปรุงให้สว่าง ปรุงให้สะอาด สงบ ให้ตรงกันข้าม เช่นนี้ เรื่องความโกรธเขาก็แผ่เมตตา เกลียดเขาก็แผ่เมตตา ปรารถนาดีต่อเขา ไม่แสดงอาการอะไรออกมาที่ดวงตา ที่บวงหน้า ที่กริยาท่าทาง สงบเสงี่ยม ที่ท่านบอกว่าธรรมะ ๒ อย่างทำคนให้งาม
ความงามของคนมันอยู่ที่ธรรมะ ๒ อย่างคือ “ขันติ” ความอดทน, “โสรัจจะ” ความสงบเสงี่ยม สองอย่างนี้ทำให้งาม เรามักจะไปยึดถือเอารูปร่างหน้าตาว่างาม เขาประกวดนางงามกัน ประกวดร่างกายงาม ไม่ใช่ประกวดใจงามกัน ไม่ได้มีองค์การไหนประกวดคนใจงามกันเลย มีแต่ประกวดคนงาม คนสวยไม่ใช่คนงาม เรียกว่าคนสวย คือร่างกายมันสวย ผิวพรรณมันดี ช่างแต่งผมแต่งหน้าก็แต่งให้มันสวยเวลาออกประกวด เวลาไม่ได้ประกวดมันก็อย่างนั้นแหละ ไม่ได้สวยงามอะไร แต่คณะกรรมการก็มองว่า คนนี้เป็นนางงามประเทศไทย ให้เป็นนางงาม ส่งไปประกวดนางงามจักรวาล ก็ได้เป็นนางงามจักรวาล ไปเป็นขี้ข้าองค์การนั้นปีหนึ่ง ว่าเขาจะใช้ให้ไปประเทศไหน ไปประเทศนั้นประเทศนี้ ไปเรื่อยไป บริษัทนั้นแหละให้ไปรับใช้ ให้ไปโฆษณาสินค้า ขายอะไรได้ก็ของบริษัททั้งนั้น แต่เขาให้มงกุฎมาอันหนึ่งให้เกียรติมาตัวหนึ่ง ก็หลง ฉันเป็นนางงามโลก ฉันเป็นอะไรต่ออะไร แต่สภาพจิตใจในบางทีก็ไม่เอาไหนเหมือนกัน คือไม่ได้ทำใจให้มันงาม ไม่มีธรรมะเป็นเครื่องประดับใจ ไม่ได้เรื่อง งามข้างนอกมันใช้ไม่ได้ พวกหนูๆนักเรียนจำไว้นะ ว่า งามข้างนอกมันใช้ไม่ได้ ต้องงามใจ ใจงามคือมีความอดทน มีความสงบเสงี่ยม รักษากิริยามรรยาท เขาเรียกว่ากุลสตรี ภาษาไทยเรียกว่า “กุลสตรี” กุลสตรีหมายความว่า เกิดในตระกูลดี ตระกูลผู้ดีที่เขาอบรมสั่งสอนให้เป็นผู้มีมรรยาท การพูดการจา แต่งเนื้อแต่งตัว รู้จักกาลเทศะ มีธรรมะประจำใจ เป็นกุลสตรี รูปร่างอาจจะไม่งามก็ได้ แต่ใจงาม ใจงามมีค่า รูปร่างงามแต่ใจทราม ไม่ได้มีความหมายอะไร ไม่มีใครอยากได้คนประเภทอย่างนั้น นอกจากพวกขี้เมาหยำเปเท่านั้นเอง มันอยากได้ แต่คนดีมีคุณธรรมเขาก็ไม่อยากได้ เราจึงควรจะคิดว่าเราจะเป็นคนงามทางใจ ไม่ใช่คนงามทางกาย อันนี้การควบคุมจิตใจให้อดทนไว้ ให้มีสติรู้ทัน มีปัญญารู้เท่าต่อสิ่งนั้น ไม่ให้เกิดอะไรขึ้นก็เรียกว่าเราชนะ อยู่อย่างผู้ชนะ ไม่พ่ายแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่ำที่เกิดขึ้น ชีวิตอยู่รอดปลอดภัย ไปไหนก็ปลอดภัย อยู่ที่ไหนก็ปลอดภัย เป็นคนที่คนทั้งหลายยกย่องเชิดชูบูชา ว่าเป็นคนที่มีคุณธรรมประจำจิตใจ อันนี้ใช้ได้ อันนี้เป็นหลักการสำคัญ
วันนี้เป็นเวลาอาทิตย์ อาทิตย์สุดท้ายของเดือนกรกฎาคม อาทิตย์หน้าก็เป็นเดือนใหม่แล้ว ต่อไปนี้ก็จะถึงวันสำคัญของพุทธศาสนา คือวัน “อาสาฬหบูชา” วันประกาศชัยชนะของพระพุทธเจ้า เป็นวันที่พระพุทธเจ้าจุดดวงประทีปดวงใหญ่ ให้แสงสว่างแก่ชาวโลก ให้ชาวโลกได้เห็นได้มีแสงสว่างส่องใจ ให้ได้รู้จักบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์มิใช่ “…...” (ตั้งแต่นาทีที่ 35.00 ประมาณ 27 นาที เสียงไม่ชัดเจน) ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก วันอาสาฬหบูชานี่เป็นวันสำคัญมาก เป็นวันที่พวกเราทั้งหลายจะต้องเตรียมกายเตรียมใจเพื่อบูชา พระผู้มีพระภาคเจ้า และพระธรรมพระสงฆ์ด้วยการมาวัด มาศึกษาธรรมะ มาปฏิบัติธรรมะ เพื่อให้สภาพจิตใจดีขึ้น
สังคมในปัจจุบันนี้ตกต่ำพอสมควร ไม่ใช่ตกต่ำหมดนะ ตกต่ำบางคน แต่ว่า ความตกต่ำทางศีลธรรมมันคล้ายกับว่าจุดดำในผืนผ้าขาว ผ้าขาวผืนใหญ่ แต่มันดำอยู่นิดหนึ่ง มันเปื้อนอยู่นิดหนึ่ง คนมันเห็น มันเห็นว่าเปื้อน ไอ้ที่ไม่เปื้อน ๙๙ เปอร์เซ็นต์ ก็นิดหนึ่ง คนมันมองเห็นว่าเปื้อน แล้วก็พูดจากัน ก็ดีเหมือนกัน ช่วยกันพูดช่วยกันประท้วง เพื่อให้คนได้คิดกัน ช่วยกันทำดี แต่ว่าความจริงนั้น คนดียังมีมากกว่าคนชั่ว แต่ว่าเมื่อผ้าของเราเปื้อนเราจะทำอย่างไร เราก็ต้องซักฟอกด้วยวัตถุอะไรที่มันแก้ได้ เพื่อให้เป็นผ้าสะอาด จิตใจคนมันเปื้อน เราก็พยายามทำให้มันสะอาด สังคมแปดเปื้อนก็ต้องช่วยให้มันดีขึ้น ด้วยการทุกคนแก้ไขตัวเอง ไม่ต้องไปแก้หมด ต่างคนต่างแก้ ต่างคนต่างทำดี ต่างคนต่างยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น ให้พ้นจากความชั่วที่จะท่วมใจเมื่อทุกคนทำได้อย่างนั้น มันก็ดีขึ้น เจริญขึ้น แต่ว่ามันต้องมีการชักจูง มีการโฆษณาเพื่อให้คนได้เกิดความสำนึกรู้สึกตัว สถานีโทรทัศน์ วิทยุเรามีเยอะ แต่ว่าใช้เพื่อการส่งเสริมเพื่อให้คนมีศีลธรรม มีความงามความดีมันน้อย แต่ใช้เพื่อเพิ่มกิเลส เพิ่มราคะ เพิ่มโทสะ เพิ่มโมหะ มาก เพิ่มสิ่งชั่วร้ายมากโดยไม่รู้สึกตัว ทำโดยไม่รู้สึกตัวว่าเรากำลังทำผิดกันอยู่แล้วผลนั้นมันก็ตกแก่พวกเราซึ่งอยู่ในสังคมนี้ จะได้รับทุกข์ รับโทษกันทั่วกัน ถึงเวลาแล้วที่เราทั้งหลายจะต้องเกิดความสำนึกรู้สึกตัวว่า สภาพของสังคมตกต่ำเพราะขาดศีลธรรม ท่านพุทธทาสจึงพูดว่า “ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาวินาศ ศีลธรรมไม่กลับมาโลกาวินาศ” ศีลธรรมไปไหน ไม่ได้ไปไหน แต่คนไม่ได้เอามาใช้ ของดีมีเราไม่ใช้ แต่เราใช้ของที่มันไม่ดี ไม่มีประโยชน์ เพราะมีการชักจูง โน้มน้อมจิตใจในเรื่องที่ไร้สาระมากขึ้นจึงเป็นปัญหา พวกเราที่มาวัด …... (จากนาทีที่ 35.00 ประมาณ นาทีที่ 32 หลังจากนั้น เหมือนเทปเสียงของพระอาจารย์ถูกตัดตอน เข้าสู่ช่วงจบเลย) แสดงมาสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ (ตอนจบเลยเวลาจากไฟล์ที่เขียนเวลาไว้ทั้งหมดแค่ 35.51 ไปประมาณ 33 นาที จึงทำให้การระบุเวลาจากเทปเสียงในช่วงหลังที่เลยเวลาออกมาไม่แน่นอน)