แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาถกฐาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ นั่งพัก ณ ที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งสามารถได้ยินเสียงชัดเจน แล้วจงตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการมาวัดในวันอาทิตย์ตามสมควรแก่เวลา วันนี้วันอาทิตย์ที่ ๑๑ เดือนกุมภาพันธ์ เป็นเดือนที่ ๒ ของปี เราทั้งหลายมีชีวิตผ่านมาปีหนึ่งแล้วก็มาปีใหม่ได้เกือบจะ ๒ เดือนแล้ว เดือนมกราคม ๓๑ วัน เดือนกุมภาพันธ์ วันนี้วันที่ ๑๑ แล้ว ก็อยู่ต่อไปตามปัจจัยเครื่องปรุงแต่ง
เพราะว่าร่างกายของคนเรานั้น ประกอบด้วยเครื่องประกอบมากมาย หลายอย่างหลายประการจึงเป็นรูปเป็นร่างอยู่ได้ แต่ว่ามันก็ไม่เที่ยง ไม่เที่ยงนี่หมายความว่ามันเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เปลี่ยนไปๆ เรื่อยๆ ไม่หยุดนิ่ง ถ้าใครหยุดเปลี่ยนเมื่อใดก็ถึงที่สุดกันเมื่อนั้น ที่เราเรียกกันว่าความตาย ความตายก็คือที่สุดของความเปลี่ยนแปลง หรือว่าหยุดไหล คนที่ยังมีชีวิตอยู่ก็เปลี่ยนเรื่อยไปๆ ไหลเรื่อยไป แต่เมื่อมันหยุดไหลเพราะปัจจัยเครื่องปรุงแต่งขาดตกบกพร่อง หรือว่ามีเหตุทำให้เกิดการหยุด เช่น อุบัติเหตุเกิดขึ้น เราก็อาจจะถึงแก่ความดับได้ หรือว่าโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้น เป็นโรคชนิดร้ายแรงเกิดขึ้นในร่างกาย ไม่สามารถจะเยียวยารักษาได้ เราก็จะต้องถึงแก่กรรม
ธรรมชาติชีวิตมันเป็นอย่างนั้น เราฝืนไม่ได้ ให้เป็นไปอย่างไร มันก็เป็นไปตามเรื่องของธรรมชาติ เราจึงควรจะรู้เรื่องของธรรมชาติบ้าง ธรรมชาติมันเป็นอย่างไร เราจะไปฝืนไปสู้หรือไปทำอะไรมันก็ไม่ได้ มันต้องเป็นไปตามเรื่องของมัน ตามกฎตามเกณฑ์ของธรรมชาติ กฎของธรรมชาติเป็นสิ่งแน่นอนตายตัว เป็นอยู่อย่างนั้น แล้วก็ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ย่อมเกิดแก่ทุกคน คนมั่งมีคนยากจน คนโง่คนฉลาด หรือเป็นคนชาติใดภาษาใด เกิดในที่ใดมันก็เป็นเหมือนกัน มีความเกิด มีความแก่ มีความเจ็บไข้ และก็มีความตายเหมือนกัน ไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าที่ไหนเป็นอย่างเดียวกัน อันนี้คือธรรมชาติที่เราเห็นกันอยู่
การที่เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้ เราก็ต้องคิดเหมือนกันว่า เราอยู่เพื่ออะไร เราเกิดมาทำไม เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร สิ่งที่ดีที่สุดที่เราควรทำคืออะไร และเราได้กระทำสิ่งนั้นอยู่หรือเปล่า อันนี้เป็นเรื่องที่ควรจะได้คิดได้พิจารณา เพื่อให้เกิดความเข้าใจถูกต้อง เพื่อใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์อย่างถูกต้อง เพราะถ้าเกิดมาแล้วเราไม่รู้ความหมายของการเกิด ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม ไม่รู้ว่ามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร สิ่งที่ดีที่สุดที่เราควรทำคืออะไร เราไม่เข้าใจ เราก็อยู่ไปตามเรื่องตามราว อยู่ไปตามอารมณ์ตามสิ่งแวดล้อม ดีบ้างชั่วบ้าง สุขบ้างทุกข์บ้าง ได้บ้างเสียบ้าง สุดแล้วแต่สิ่งที่มันเป็นไป เพราะว่าเราไม่เข้าใจในการดำรงชีวิต
แต่ถ้าเรารู้จุดหมาย ว่าเราเกิดมาทำไม เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร สิ่งที่ดีที่สุดที่เราควรทำคืออะไร และเราได้กระทำสิ่งนั้นอยู่หรือเปล่า เป็นเรื่องที่จะต้องสอบถามตัวเองอยู่บ่อยๆ การสอบถามตัวเองนั้นเป็นเรื่องสิ่งที่จะช่วยให้อะไรดีขึ้น คือทำให้เรารู้จุดหมายของการเกิด จุดหมายของการเป็นอยู่ ว่าเราควรจะอยู่อย่างไร และเราควรจะทำอะไร เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตของตนของท่าน ชีวิตก็มีความหมาย
คนบางคนเกิดมาใช้ชีวิตเป็นประโยชน์มาก เช่น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลายนั้น ท่านเกิดมาแล้วท่านก็ใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ ด้วยการออกไปจากความสุขในวัง ไปอยู่ในป่า ไปทำการศึกษาค้นคว้าหลักความจริงของชีวิต ใช้เวลานาน ศึกษาทดสอบเป็นเวลานานถึง ๖ ปี จึงได้สำเร็จ คือได้ความรู้ความเข้าใจถูกต้อง เราเรียกว่าสำเร็จเป็นพุทธะ คือสำเร็จเป็นผู้รู้ เป็นผู้ตื่น เป็นผู้มีความเบิกบานแจ่มใสอย่างแท้จริง
ครั้นได้ความรู้นั้นแล้วก็ไม่ได้เก็บไว้เฉพาะพระองค์เอง แต่นำความรู้นั้นไปเผยแพร่แก่ประชาชน ไปสอนคนอื่นให้เกิดความรู้ความเข้าใจต่อไป เป็นการทำประโยชน์แก่ผู้อื่น ชั้นแรกก็ไปหาสิ่งที่จะช่วยคนให้พ้นจากปัญหา เมื่อค้นพบแล้วก็ไม่ได้เก็บไว้ใช้เฉพาะพระองค์เดียว ได้นำไปเที่ยวแจกจ่ายแก่ประชาชนในที่ต่างๆ ทั่วๆ ไป พบใครก็แจก พบคนจนก็แจก คนรวยก็แจก พระมหากษัตริย์ก็แจก เศรษฐีก็แจก แจกทุกคนที่ได้พบพระองค์
ผู้ใดได้พบพระองค์เขาเรียกว่าเป็นลาภอันประเสริฐสำหรับชีวิต คือจะได้รับสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิต สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตก็คือธรรมะ อันเป็นเรื่องสำคัญสำหรับชีวิต ที่เราสามารถจะนำไปใช้เป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหา พระองค์เองได้ใช้ธรรมะแก้ปัญหาชีวิตของพระองค์จบแล้ว คือไม่มีปัญหาต่อไป แต่เราสามารถยังอยู่ในวงจรของโลกียวิสัย หรือของชาวโลก ย่อมมีการกระทบกระทั่ง ทำให้เกิดความยินดีก็มียินร้ายก็มี เกิดสุขก็มีเกิดทุกข์ก็มี เพราะเราไม่รู้เรื่องเหล่านั้นถูกต้อง
แต่พระอรหันต์เจ้าทั้งหลายท่านเข้าใจถูกต้องตามสภาพที่มันเป็นอยู่จริงๆ แม้มีอะไรเกิดขึ้นกระทบก็ไม่มีปัญหา คือไม่สามารถจะปรุงแต่งใจของพระองค์ ให้ยินดีให้ยินร้าย ให้เสียใจให้ดีใจ ให้เป็นอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ จิตของพระองค์คงที่อยู่ตลอดเวลา มองเห็นอะไรเหมือนกัน เช่น มองไปที่พระราหุล ก็เหมือนกับมองไปที่อังคุลีมาล พระราหุลนั่นเป็นพระโอรสของพระองค์ อังคุลีมาลนั้นเป็นโจรใจร้าย เที่ยวฆ่าคนมาจำนวนมากมาย จะครบพันคนอยู่แล้ว แต่ได้ไปพบพระพุทธเจ้าก็ทรงสอนให้เขาเกิดความรู้สึกนึกคิดในทางที่ถูกที่ชอบ เปลี่ยนแปลงจิตใจเข้าหาธรรมะ บวชในพระศาสนา แล้วก็บำเพ็ญเพียรได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ จิตก็หลุดพ้นจากความทุกข์เหมือนกัน
พระองค์มองพระราหุลซึ่งเป็นลูกชาย กับมองอังคุลีมาลมีค่าเท่ากัน หรือมองเทวทัตก็มีค่าเท่ากัน ไม่ได้มองด้วยความคิดที่เกิดกิเลส เกิดการปรุงแต่ง เช่น มองเทวทัตซึ่งเป็นพาล ก็ไม่ได้ปรุง ไม่ได้ทำให้พระองค์เปลี่ยนแปลงทางจิตใจ เห็นอะไรก็อย่างนั้น เพราะมีสติมีปัญญากำกับอยู่ตลอดเวลา ไม่ยินดีไม่ยินร้าย จิตไม่ขึ้นไม่ลงกับอารมณ์ที่มากระทบ แต่เราทั้งหลายซึ่งเป็นชาวบ้านชาวเมือง หรือเรียกว่าคนปุถุชน คำว่าปุถุชนหมายความว่า เป็นคนมีสติปัญญาไม่พอ สติมาไม่ทัน ปัญญาไม่มาไม่ทัน สภาพจิตใจก็ยังขึ้นๆ ลงๆ กับอารมณ์ที่มากระทบ
อะไรเป็นเรื่องดีกระทบก็ดีใจลิงโลด แต่ว่าพอเรื่องไม่ดีก็ใจเหี่ยวใจแห้ง เกิดความเศร้าโศกเสียใจด้วยประการต่างๆ นี่จิตมันขึ้นๆ ลงๆ อย่างนี้ เป็นจิตปุถุชน แต่จิตพระอรหันต์นั้นไม่ได้ขึ้นลงอย่างนั้น มีอะไรกระทบท่านก็เฉยๆ ไม่รุนแรง ไม่เกิดอะไรรุนแรงขึ้นในจิตใจ สภาพจิตสงบเพราะรู้ทันรู้เท่า ในสิ่งเหล่านั้นตามสภาพที่เป็นจริง แล้วทรงเห็นว่ามันเป็นอะไร เห็นเหมือนกัน เห็นเท่ากัน เห็นซากศพกับเห็นคนมีชีวิตเหมือนกัน เห็นก้อนอิฐกับคนที่มีร่างกายสวยๆ งามๆ ก็เห็นเหมือนกัน ไม่ได้แตกต่างกัน
แต่ว่าปุถุชนเรานั้นเห็นแตกต่าง เช่น เห็นคนสวยก็ว่าสวย เห็นคนไม่สวยก็ว่าไม่สวย แล้วก็เกิดชอบคนสวย เกิดชังคนไม่สวย อะไรอย่างนี้ สภาพจิตมันถูกเปลี่ยนแปลงไปด้วยอารมณ์ สิ่งที่มากระทบ ไม่ได้คงที่ แต่จิตพระอรหันต์นั้นท่านคงที่อยู่ตลอดเวลา ไม่ขึ้นไม่ลง ไม่ไปข้างขวาไม่ไปข้างซ้าย ไม่ไปข้างหน้าไม่ไปข้างหลัง พบอะไรก็เท่านั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงทางจิตใจ อย่างนี้เรียกว่าจิตมั่นคง อยู่ในสภาพสงบอยู่ สะอาดอยู่ แล้วก็สว่างอยู่ด้วยปัญญา นี่คือสิ่งที่ท่านเป็นอย่างนั้น แต่เราทั้งหลายยังไม่ถึงขั้นนั้น ก็ควรจะพยายามที่จะทำใจให้เป็นเช่นนั้น
ใครมาด่าเราก็เฉยๆ ใครมาชมเราก็เฉยๆ เพราะการชมการด่ามันก็เป็นเรื่องเดียวกันนั่นแหล่ะ แต่ความรู้สึกที่เรารับไว้ มันทำให้เกิดความรู้สึกแตกต่างกัน เช่น เขาด่าเรา เราก็รู้สึกไม่ชอบ แต่ถ้าเขาชม หน้าบาน ดีอกดีใจว่าคนนั้นมาชมเรา คนเรานี่อย่าฟังแต่คำชม ไม่อยากฟังคำติ ถ้าใครติเราก็ไม่ชอบไม่สบายใจ แต่ถ้าใครๆ ชมเรา เราก็ชอบใจสบายใจ การชอบเมื่อเขาชม การไม่ชอบเมื่อเขาติ สภาพจิตยังไม่ดี ยังไม่เข้าขั้นแห่งความสงบสะอาดสว่าง จึงเป็นทุกข์จากการกระทำเช่นนั้น แต่ถ้าเรามีจิตสม่ำเสมอ ไม่ยินดีไม่ยินร้ายในสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า แต่มองเห็นว่าธรรมชาติมันเป็นอย่างไร จิตเฉยๆ คงที่อย่างนั้นก็สบายใจ เราจึงควรพยายามที่จะทำใจให้เป็นเช่นนั้น คือไม่ให้ยินดีแล้วก็ไม่ให้ยินร้าย
ในชีวิตประจำวันของเรา เราอยู่ด้วยความรู้สึกยินดีบ้างยินร้ายบ้าง สุดแล้วแต่สิ่งที่มากระทบ ถ้าสิ่งที่มากระทบเป็นเรื่องดีเราก็ยินดี แต่สิ่งที่มากระทบเป็นเรื่องร้ายเราก็ยินร้าย ความยินดียินร้ายมันทำให้เราอยู่ในสภาพเป็นทุกข์ เหมือนกับต้นไม้ต้นใหญ่ๆ ต้นเล็กก็ตาม นกมันมาจับ เวลานกมาจับต้นไม้กระเทือน แต่เวลามันจะบินก็กระเทือนอีกเหมือนกัน เพราะเวลาบินมันก็ต้องออกแรงกดต้นไม้ ต้นไม้ก็กระเทือนแล้วมันก็บินไป เวลามาจับก็กระเทือนเหมือนกัน อารมณ์ที่มากระทบเราก็เหมือนนกที่จับต้นไม้ ใจของเราเหมือนกับต้นไม้ ตามปกติก็อยู่สงบนิ่งไม่มีอะไร ลมพัดก็ไม่หวั่นไหว
แต่ว่าเมื่อมีอะไรมากระทบก็เปลี่ยนแปลงไปกับสิ่งที่กระทบ ฉันใด ใจคนเรานี้ก็เหมือนกันถูกเปลี่ยนแปลงไปตามอำนาจของสิ่งที่มากระทบ โลกธรรมมี ๘ อย่างคือ ได้ลาภเสื่อมลาภ นินทาสรรเสริญ สุขทุกข์ อย่างนี้มันเป็นเรื่องธรรมดาที่จะเกิดมีแก่เรา เวลาเราได้ลาภได้รับสรรเสริญเยินยอ ได้รับความสุขความสบายได้รับยศ เขาเรียกว่าลาภยศสรรเสริญสุข เป็นสิ่งที่เราพอใจเราอยากได้ พอได้สิ่งนั้นใจก็ฟูขึ้นมา แต่พอสูญเสียลาภ สูญเสียยศ สูญเสียความสุข มีคนมานินทาว่าร้าย เราก็ไม่สบายใจ มีความทุกข์มีความเดือดร้อนใจ การที่เราเป็นทุกข์เดือดร้อนใจเพราะอะไรมากระทบ แสดงว่าเราไม่มั่นคงในธรรมะ ธรรมะยังไม่สามารถจะรักษาใจของเราได้
เราจึงต้องฝึกต่อไป ฝึกไปในรูปอะไร ฝึกไปในรูปที่ว่า เมื่อเขาด่าเราก็ไม่ควรจะเสียใจ เมื่อเขาชมเราก็ไม่ควรจะดีใจ แต่ทำใจเฉยๆ นึกได้ด้วยปัญญาว่านี่มันเป็นโลกธรรม เป็นธรรมสำหรับโลก มันเกิดขึ้นแก่คนทุกคนอย่างนี้ ถ้าเราไปดีใจ หรือไปเสียใจ จิตใจมันก็เปลี่ยนไปตามอารมณ์ตามสิ่งแวดล้อม ทำให้ดีใจมากทำให้เสียใจมาก มันขึ้นลงตกต่ำอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าเราไม่ดีใจไม่เสียใจก็เฉยๆ เพราะนึกได้ด้วยปัญญา เอาปัญญามาเป็นเครื่องปลอบโยนจิตใจ ปลอบใจตัวเราเองว่ามันไม่ได้เป็นอย่างนั้น เช่น สมมติว่ามีคนมาด่าเรา หรือมานินทาว่าร้ายเราในรูปต่างๆ มีคนเขาได้ยินแล้วเขามาเล่าให้เราฟัง
ถ้าหากว่าเรามีจิตใจไม่มั่นคงด้วยธรรมะ ขาดสติขาดปัญญาเป็นเครื่องบังคับจิตใจ พอคนนั้นเล่าเราก็ครึ้มมาทันที รู้สึกโกรธขึ้นมาหน้าแดง ปากคอสั่น เขาว่ายังทันจบก็ด่าตอบไปฝากไปกับคนนั้น ด่าคนโน้น แต่ว่าคนโน้นเขาอยู่ไกลไม่ได้ยิน ก็ฝากคนนั้นให้ไปบอกด้วย แล้วคนบางคนก็ชอบทำเช่นนั้น พอเล่า เอาเรื่องฝ่ายนู้นมาเล่าฝ่ายนี้ พอฝ่ายนี้พูดไงเอาไปเล่าฝ่ายนู้นอีก ทำให้สองฝ่ายนั้นเกิดบาดหมางใจกัน ไม่ถูกกัน เพราะได้ยินเสียงที่ไม่เป็นมงคลแก่ชีวิต ก็เกิดปัญหายุ่งยากขึ้นทันที
ทางที่ดีนั้นใครเขามาเล่าอะไร เราก็ฟังเฉยๆ ฟังไปว่าเขาพูดอะไรบ้าง เขามีความชั่วในใจขนาดไหน ทำไมเขาจึงพูดอย่างนั้น ทำไมเขาจึงใช้ถ้อยคำในรูปอย่างนั้นกับเรา ทั้งๆ ที่เราไม่ได้อยู่ไม่ได้ยินสักหน่อย แต่เขาด่าฝากคนอื่นมา เราก็อย่ารับอันนี้ก็ได้ พอเขาพูดอะไรให้ฟังแล้วก็ถามว่า คุณฟังมาด้วยหูของคุณเองหรือ โอ๊ยฟังด้วยหู หูสองข้าง ฟังมาชัดเจนแจ่มแจ้ง เราก็ควรบอกเขาว่า ฉันไม่เอานะ คุณเอามาฝากนี่ฉันไม่เอา ให้คุณรับเอาไปด้วยนะ รับเอาไปให้คนโน้น คนนั้นทำมีความรู้สึก เอ๊ะตายแล้วกูอุตสาห์แบกของขวัญมาให้ เขาไม่รับแล้วกลับให้เราแบกกลับไปด้วย ทีหลังแกก็จะหยุดไม่มาเล่าอะไรเหลวไหลให้เราฟัง เพราะเล่าไปก็ไม่ได้เรื่องอะไร
จิตใจคนนั้นมันหวั่นไหวโยกโคลงไปกับเสียงที่เราเล่าเราบอก แต่ถ้าเขาเล่าแล้วเรามันตื่นเต้นขึ้น โกรธเพิ่มขึ้น แสดงอาการท่าทางแปลกๆ เขาดีใจ เขาดีใจว่าเออได้เรื่องๆ วันหลังก็มาเล่าให้เขาเต้นให้ดูหน่อย อันนี้เรานี่กลายเป็นตัวละครตัวตลกไป ไปเต้นไปทำท่าพูดจาฝากไปอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งไม่ได้เรื่องอะไร มันเสียหายกับชีวิตเปล่าๆ ก็ไม่ควรที่จะทำในรูปเช่นนั้น แต่เราควรนึกว่า คนเรามันก็อย่างนี้ ถ้ามันชอบมันก็ชม ถ้าไม่ชอบมันก็ติ นิสัยสันดานของคนมันเป็นอย่างนั้น เขาชอบชมว่าเราดี ถ้าเราไม่ได้ดีขึ้นตามที่เขาชมอะไร เขาชอบเขาว่าเราชั่ว เราก็ไม่ได้ชั่วตามที่เขาว่าอะไร
เราต้องมองที่ตัวเรา มองให้เห็นว่าเขาว่าดีนี่ เราดีจริงหรือเปล่า ถ้าเรามีดีก็ควรจะสบายใจ แล้วก็รักษาความดีนั้นไว้ในใจของเราต่อไป แต่ถ้าเขาติดว่าเรามันเป็นคนชั่วอย่างนั้น คนชั่วอย่างนี้ ก็อย่าไปโกรธเขา เพราะถ้าโกรธแล้วปัญญามันหายไป เราไม่โกรธเราใจเย็น เราก็นึกว่าเอ๊ะเขาว่าเราชั่วอย่างนั้นชั่วอย่างนี้ แล้วตัวเรานี่มันชั่วหรือเปล่า เรามองที่ตัวเรา ค้นหาที่ตัวเรา เมื่อค้นแล้วก็ไม่พบว่าเป็นความชั่วเช่นนั้น คนนั้นมันก็บ้าเอาเอง เราไม่ได้ชั่วเหมือนคนนั้นว่า เราก็เฉยๆ ไม่โต้ตอบอะไร แต่ถ้าเราไม่มีความชั่ว แต่ว่าได้ฟังคำติเขามาเล่าให้ฟัง เราโกรธเอ้าความชั่วเกิดขึ้นแล้ว เราโกรธนั่นแหล่ะความชั่วเกิดขึ้นในใจแล้ว เราเกลียดคนนั้นก็ความชั่วเกิดขึ้นในใจแล้ว
เกิดความเกลียดเกิดขึ้น แล้วอยากจะแก้แค้น อยากจะด่าให้มันเจ็บกว่านั้นน่ะ ก็ยิ่งมีความชั่วมากขึ้น แล้วก็สรรหาคำด่าที่มันหยาบคายไม่น่าฟัง พ่นใส่คนนั้นเข้าให้ คนนั้นก็เอาไป เอาไปเล่าให้คนโน้นฟัง คนนู้นก็โกรธขึ้นบ้างเหมือนกันไม่ได้มันต้องเอาให้เจ็บ คิดชั่วทั้งนั้น คิดไม่ดีทั้งนั้น ไม่ได้เรื่องอะไรทั้งนั้น เพราะไม่มีปัญญาจึงได้คิดอย่างนั้น แต่ถ้าคนมีปัญญาก็นั่งฟังเฉยๆ แล้วก็คิดในใจว่า โอ้เขาว่าเราอย่างนั้น เขาว่าเราอย่างนี้ เราไม่ได้เป็นอย่างที่เขาว่า เราไม่ได้เสียผู้เสียคน เราจะไปโกรธอะไร ไปเคืองอะไรกับคำพูดเช่นนั้น เราก็เฉยๆ ซะ ใจมันก็สบายไม่มีอะไร
แล้วถ้าเราไปพบคนนั้นเราก็ทำไม่รู้ไม่ชี้ ไม่รู้ไม่ชี้ว่าเขาว่าอะไรต่อเรา เราก็แสดงความยินดีทักทายปราศรัยยิ้มแย้มแจ่มใสกับเขา ไอ้คนที่ด่าเรามันก็จ๋อย แหมกูว่ามันมากวันก่อนนี้ ฝากคนๆ หนึ่งไป เขาเล่าแล้วเขาไปให้เขาหรือเปล่า ไปพูดหรือเปล่า สงสัย เพราะเห็นคนที่มาพูดจากับเราเขาพูดปกติ ไม่มีอารมณ์ร้อนอารมณ์แรงอะไรเกิดขึ้นในใจของเขา เราก็ควรจะเห็นนึกว่าเอ๊ะ ไอ้เจ้านั้นมันคงนึกว่า เอ๊ะท่าจะไม่ได้ไปบอก เขาจึงยังดีกับเราอยู่ แล้วเขาอาจจะนึกละอายใจขึ้นมาว่า เรานี่ไม่ควรจะทำอะไรกับคนดีๆ อย่างนี้ เหมือนกับว่าไม่ควรจะไปทำร้ายสิ่งที่ดีงาม เช่น ไปทำร้ายพระพุทธรูป หรือไปทำร้ายต้นโพธิอะไรที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า มันก็ไม่ได้เรื่องอะไร ใจก็สงบเพราะความดีของเรา
ถ้าเราทำดีช่วยให้คนอื่นดีด้วย ถ้าเราทำชั่วก็ทำให้คนอื่นพลอยชั่วไปกับเราด้วย มันไม่ได้อะไรที่เป็นสาระ เป็นแก่นเป็นสาร สู้เราอดทนเสีย แล้วก็ใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาแยกแยะสิ่งนั้นออกมาว่า มันคืออะไร เหตุผลมันเป็นอย่างไร เราก็พูดไปอย่างนั้น เราก็ไม่แก้แค้น ไม่ตอบแทนด้วยความชั่ว แต่ว่าจะตอบแทนด้วยความดีเมื่อมีโอกาส อย่างนี้เราชนะคนได้ ชนะอย่างงดงามไม่เสียเลือดเสียเนื้อ ไม่เสียเกียรติยศชื่อเสียง แต่ถ้าเราเอาชนะกันด้วยความชั่วมันก็เสียหายหมดทุกประการ ไม่มีอะไรดีขึ้นในชีวิตของเราเลยแม้แต่น้อย อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญอยู่
เพราะในสังคมมนุษย์นี่ มนุษย์มีปาก มีปาก แล้วก็ใช้ปากไม่ค่อยเป็น มีลิ้นก็ใช้ลิ้นไม่เป็น ตวัดออกมาเป็นพิษเป็นภัย ทำให้คนอื่นเดือดร้อนเสียหาย อย่างนี้ไม่สมควร เราจึงควรระมัดระวัง ไม่พูดคำอะไรออกไป ตามหลักสัมมาวาจาก็หมายความว่า ไม่พูดคำโกหก ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดคำเพ้อเจ้อ คือพูดออกมาแล้วมันไม่ได้อะไร ไม่พูดคำที่ทำให้คนแตกจากกัน เพราะคำพูดอย่างนั้นเป็นมิจฉาวาจา เป็นวาจาที่ไม่เหมาะไม่ควรด้วยประการต่างๆ เราจะไม่พูดถ้อยคำเช่นนั้นแม้แต่น้อย แต่เราจะพูดแต่คำสุภาพ เรียบร้อย อ่อนโยน ไปพบใครก็พูดแต่คำดีๆ กับเขา ไม่พูดคำอะไรที่รุนแรง เป็นปกตินิสัย เพราะทำบ่อยๆ มันก็เคยชินไป เลยกลายเป็นนิสัย
นิสัยของคนเรานั้นมันเกิดเพราะทำบ่อยๆ ในเรื่องใด เรานอนตื่นสายก็เพราะว่าหัดตื่นสายมาโดยลำดับจนกระทั่งเคยชิน แล้วก็นอนตื่นสาย หรือว่าเราเป็นคนมักโกรธ เราก็เพาะการโกรธให้เกิดขึ้นในใจบ่อยๆ พอได้กระทบอะไรนิด ก็โกรธวู่วามแสดงอาการที่ไม่เหมาะไม่ควรออกมา เหมือนตัวละครแสดงฉากในละครต่างๆ เวลาโกรธแล้วกระทืบเท้าบ้างพูดจาอย่างนั้น ตีอกชกหัว ทำร้ายตัวเองทั้งนั้น ไม่ได้เรื่องอะไร ถึงไม่ทำอะไรภายนอก เพียงแต่เราคิดไม่ดี เราก็ทำร้ายตัวเราแล้ว ทำร้ายจิตใจของเรา สร้างความร้อนให้เกิดขึ้นในใจ แล้วก็พ่นออกมาเป็นพิษ พ่นพิษก็คือพ่นออกมาทางปาก พ่นออกมาเป็นเรื่องเสียหาย ทำให้คนอื่นได้รับความไม่พอใจ เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ไม่สมควรแก่บุคคลที่เรียกว่าเป็นพุทธบริษัท หรือไม่สมควรแก่บุคคลผู้เรียกตัวเองว่าเป็นผู้เจริญ
คนเจริญนั้นต้องเจริญด้วยสติปัญญา ไม่ใช่เจริญเพราะเครื่องแต่งกาย ไม่ใช่เจริญเพราะบ้านหลังใหญ่ ไม่ใช่เจริญเพราะมีรถยนต์ราคาแพง ไม่ใช่อย่างนั้น สิ่งเหล่านั้นเป็นเครื่องภายนอก ไม่แน่ว่าเขาได้เงินนั้นมาอย่างไร อาจจะหาเงินในทางทุจริตก็ได้ คนขายยาม้ามันก็รวยได้เหมือนกัน แล้วอาจจะซื้อรถยนต์ใหญ่ๆ นั่งก็ได้ แต่การกระทำของเขานั้นเป็นความชั่วร้าย ทำลายคนดีให้กลายเป็นคนเสีย ทำลายคนมีสติมีปัญญาให้เสียผู้เสียคน ทำลายเด็กให้ตัดอนาคตไม่เจริญไม่ก้าวหน้า อย่างนี้สิ่งที่ได้มานั้นเป็นสิ่งไม่ชอบไม่ควร แต่เขาไม่คิดเพราะเขาไม่เคยเข้าใกล้พระ ไม่เคยฟังคำสอนในทางธรรมะ ไม่เข้าใจว่าเขาได้ ได้เงินตัวเดียวก็พอแล้วสบายใจแล้ว เป็นอย่างนั้น
คนบางคนก็คิดแต่เรื่องเงินอย่างเดียว เงินได้เงินแล้วก็ใช้ได้ เพราะว่าเงินเป็นแก้วสารพัดนึกของเขา แต่เงินช่วยให้จิตใจเขาดีขึ้นได้หรือเปล่า มันช่วยไม่ได้ ถ้าเราหลงใหลมัวเมาในวัตถุเงินนั้น การเมาในวัตถุทำให้จิตใจตกต่ำ แต่ถ้าเราไม่เมาในวัตถุเราใช้เป็น ได้เงินมาก็ใช้ให้เป็นประโยชน์ ใช้ส่วนตัว ใช้แก่เพื่อนฝูงที่ดีงาม ใช้ให้พ่อแม่ที่มีความทุกข์ยากลำบาก ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เท่าที่เราจะช่วยเหลือได้ ก็นับว่าเป็นคนใจดีใจงาม
ได้ถามเด็กคนหนึ่ง เขาก็เคยอยู่วัด แต่เวลานี้เขาไปทำงานเกี่ยวกับโทรศัพท์ เมื่อก่อนทำงานองค์การโทรศัพท์เงินเดือนน้อย แต่เดี๋ยวนี้เขาได้ตั้งแสนกว่า เงินเดือนได้ตั้งแสน ถามว่าเธอได้ตั้งแสนนี่เอาไปทำอะไร เงินมากมายอย่างนั้น เมื่อก่อนได้เพียงสองหมื่นเธอก็พอกินพอใช้ ไอ้นี่มันเพิ่มขึ้นอีกหลายหมื่นเอาไปไหน เขาบอกว่าเงินที่ได้นี้ เอาให้คุณแม่จำนวนเท่านั้น ให้พี่เท่านั้น น้องบางคนก็มาขอก็ต้องให้เขา เขาขอทีละเท่าไหร่ ขอทีละหมื่น แหมขอมาก แล้วเธอให้ไหม ก็ต้องให้ แล้วไม่ฝากธนาคารไว้บ้าง ก็ฝากไว้ส่วนหนึ่ง นอกนั้นก็ให้คนนั้นให้คนนี้
แล้วก็ไปเอาบ้านอีกหลังหนึ่ง เพราะบ้านที่อยู่นี้มันรู้สึกว่าอึดอัดขัดใจ สิ่งแวดล้อมไม่ดี คนที่อยู่บริเวณนั้นก็เป็นคนที่ไม่ค่อยดี คือหมู่บ้านบางแห่งคนไม่ดีอยู่ เราอยู่ใกล้กับคนที่ไม่ดีมันก็เป็นทุกข์ ทุกข์ก็ต้องคิดหาที่ใหม่ คือไปเอาบ้านที่ราคามันแพง ถ้าราคาแพงแล้วคนธรรมดาไปซื้อไม่ได้ ก็เป็นคนที่ดีหน่อย มีกริยามารยาทดี ใจดีหน่อย ก็เลยว่างั้นเธอก็ใช้ได้ใช้เงินเป็นอยู่ แล้วก็เป็นคนรักแม่รักพี่รักน้อง ใครขาดแคลนอะไรก็ช่วยเหลือเจือจุนตามสมควรแก่ฐานะ เอาตัวรอดอยู่ใช้ได้ แล้วก็ยังขยับขยายไปซื้ออะไรๆ ไว้บ้างเพื่ออนาคตข้างหน้า ก็เป็นเด็กใช้ได้ เพราะอยู่วัดมาหลายปี เขาเอาเอาอะไรไปบ้าง อยู่มานานก็ได้ฟังบ้าง ได้เห็นบ้างเลยเอาไปใช้ ชีวิตก้าวหน้า
แต่คนบางคนมันไม่เคยเข้าวัดไม่เคยฟังธรรม ไม่สนใจคำสอนของทางธรรมะ เขาก็เป็นอยู่ตามแบบคนทั่วไป ได้เงินมาก็ใช้ใหญ่ จนไม่พอใช้กระทบกระเทือนชีวิตครอบครัว มีปัญหาลำบากเดือดร้อน พอเดือดร้อนก็ไม่รู้เดือดร้อนเพราะอะไร ก็เที่ยวบ่น แหมไอ้เรานี่ดวงมันไม่ดีเลย ก็มักจะไปหาหมอดูไปทรงเจ้าเข้าผี ไปจุดวิงวอนขอร้องจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ให้ช่วยหน่อย อันไหนมันก็ไม่ได้ มันไม่เกิดก่อผลก็เลิก มันช่วยอะไรไม่ได้ ทางที่ดีนั้นเราต้องยอมรับว่า มันอยู่ที่ตัวเราเอง
เรียกว่าแก๊สนี่ เวลากลืนน้ำนี่มันไม่ลงไป เพราะมันมีแก๊สขึ้นมาไล่ ไอ้คนเรามันตายเพราะแก๊สอัดไว้ก็มีเหมือนกัน คือว่ากลืนอาหารไม่ลง กลืนน้ำไม่ลง มันอัดไป อันนี้มันต้องหายใจยืดอกขึ้นมา หายใจยาวให้มันระบายลงไป มันก็ลงไปได้ บางทีดื่มรีบร้อนอัดเข้าไปๆ แล้วก็น้ำไม่ลง เลยหยุด หัวใจหยุด เพราะมันไปอัดไว้ ร่างกายก็มันเกิดขัดคล่องบ้างธรรมดา แต่ว่าเราต้องรู้ว่ามันเป็นเพราะอะไร คอยสังเกตไว้ เพราะมันสอนเรา ร่างกายนี้มันสอนเรา สอนเราว่าให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้ เช่นว่าพูดไปก็คอแห้ง คอแห้งก็เอ้าเอาน้ำชโลมซะหน่อย ดื่มน้ำ พอดื่มน้ำมันก็ติดอยู่ที่หนึ่ง เขาเรียกว่าหน้าอก มันไปติดมันไม่ลงในกระเพาะ เพราะว่าแก๊สในกระเพาะมันก็จะขึ้นเหมือนกัน ไอ้นี่ก็จะลง
ไปเถียงกันอยู่ตรงนั้น น้ำก็จะลง ไอ้แก๊สก็ขึ้นมา กูไม่ลง เลยมันอัดกัน อัดมากๆ ก็หายใจไม่ออกมันก็ยุ่งนะ แต่บางทีมันก็ไม่นานประเดี๋ยวเดียว บางทีน่ะมันก็ลงไปได้เรียบร้อย เป็นอย่างนั้น คนแก่ๆ บางทีดื่มน้ำแล้วก็สิ้นใจ มันอย่างนั้น มันแรงน้ำแก๊สมันขึ้นมาน้ำลงอัดกัน ไปสู้กันอยู่ที่ช่องแคบตรงนั้น เพราะว่าหลอดอาหารนี่มันแคบ ไอ้นี้จะขึ้นไอ้นี้จะลง ชนกันอยู่ตรงนั้น เกิดเรื่องได้เหมือนกัน เป็นอย่างนั้น ร่างกายเรามันก็อย่างนั้น เป็นกันทุกคนนี่เหมือนกัน พออายุมากเข้ามันก็เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ แล้วก็เดี๋ยวปวดกล้ามเนื้อแข้ง ปวดกล้ามเนื้อขา ปวดหัวเข่า ปวดเอว ปวดไปทั้งตัว
เพราะฉะนั้นคนแก่บางคนก็ต้องให้หมอนวดน่ะ หมอนวด ความจริงไม่ต้องนวดก็ได้ คือถ้าปวดแล้วก็ไปนอนเสีย พักผ่อนเสีย นอนเสียสักตื่นหนึ่ง พอตื่นขึ้นมามันก็หายปวด มันได้พักผ่อน อันนี้ถ้าไม่ได้พักมันก็มีอันตรายแก่ร่างกายได้ เราใช้ร่างกายนี่ก็ต้องใช้พอสมควร อย่าใช้แบบหักโหมมากเกินไป เพราะถ้าหักโหมแล้วมันทนไม่ได้ มันทนไม่ได้ ก็บอกว่าทนไม่ไหวแล้วโว้ย แล้วมันก็เกิดเรื่อง เกิดเรื่องขึ้นมา นี่มันจึงต้องประคับประครองใช้ เพราะร่างกายนี้ของมีค่า ราคามันไม่รู้จะตีราคายังไง จะขายกันเท่านั้นเท่านี้มันก็ไม่ได้เป็นของมีค่า เพราะฉะนั้นต้องระวังใช้
โยมๆ ก็เหมือนกันถ้ารู้สึกผิดปกติ ต้องระวังน่ะ มีอะไรเกิดขึ้นก็ต้องสังเกตในตัวเราเอง ว่ามันเป็นอะไร มันเกิดอะไรขึ้นมาในตัวเรา และเราจะแก้ไขอย่างไร ต้องหาวิธีแก้ แก้ได้ก็แก้ไป แก้ไม่ได้ก็เอ้ายอมมัน ถึงเวลาก็ต้องยอมเขา เพราะว่าเขาไม่ ทนไม่ไหวแล้ว เขาจะไปก็ต้องให้เขา อย่าไปฝืน ฝืนไม่ได้ เคยเห็นคนป่วยที่พาไปโรงพยาบาลแก่ๆ นะโยมนะ สงสาร สงสารตรงที่ว่าจมูกก็ยังหายใจได้ แต่ว่ากลืนไม่ลง อันนี้เอาหลอดยางแย่เข้าไป แย่เข้าไปจนถึงกระเพาะนะ แล้วหล่อไว้ข้างหน้าเอาเชือกผูก เวลาจะกินอะไรก็เอามาบด บดให้ละเอียด แล้วก็ฉีดเข้าไปในหลอดนั้นแหล่ะ ฉีดแล้วมันก็เลื่อนลงไป บอกว่า แหมไม่ไหว กินทางปากไม่ได้ ต้องกินทางรูจมูกแล้ว แล้วก็ใส่ทางท่อลงไป
ไปทำๆๆ ทำไปเข้าไม่สะดวกหายใจไปเจาะคอแล้ว เจาะคอแล้วเอาอะไรอุดไว้พูดก็ไม่ได้ถูกเจาะคอ เจาะคอไม่พอเอาไปเจาะข้างท้องอีก เอาน้ำปัสสาวะออกทางท่อ โอ๊ยยุ่งลำบาก คนไหนที่แก่ๆ ป่วยหนักอย่าไปเลยโรงพยาบาล นอนตายอยู่ที่บ้านสบายกว่า จริงๆ ถ้าลูกหลานเอาไว้ ไม่ต้องพอแล้วๆ เรื่องการรักษาเอาเท่านี้พอแล้ว ไม่ต้องไปแล้ว เพราะว่าไปกี่รายๆ ก็ไม่ได้กลับบ้าน นี่ที่เขาว่าหลวงพ่อรู้จักไหม เอาไปโรงพยาบาลถ้าแบบนั้นแล้วไม่ได้กลับบ้านไปวัดเลย แล้วเอาไปทำไม ไปไม่หายแล้วเราจะไปทำไม เราก็พอแล้วเกิดมาอายุปูนนี้แล้ว มันก็พอแล้ว อย่าไปคิดมาก
ถ้าอยู่มาจน ๘๐ มันก็พอแล้ว เกินพระพุทธเจ้าแล้ว ก็พอแล้ว เราอยู่เกินพระพุทธเจ้า เมื่อมันจะแตกจะดับเมื่อไหร่ก็ยอมมันเสีย ไม่ต่อสู้แล้ว เดี๋ยว ยกมือไหว้เอาไปเลย ใจก็ไปสบาย ไม่ต้องลำบาก หลวงพ่อเคยเห็นคนป่วยแล้วสงสาร ตอนนั้นไปจังหวัดเลย ก็ไปถึงก็เขาแวะไปที่โรงพยาบาล นึกในใจว่าแวะทำไม เพราะว่าไม่ได้คิดจะไปโรงพยาบาล โอ๊ยคนนั้นแน่น โรงพยาบาลบ้านนอกนี่คนแน่นจริงๆ คนป่วยคนเดียวญาติตั้ง ๑๐ คนมาเยี่ยม มานั่งกันเต็มไปหมดเลย โยมป่วย ไม่ได้ป่วย มาทำไม มาเยี่ยมญาติ โอ้เยี่ยมญาตินั่งเป็นแถวจนไม่มีที่จะเดิน หมอก็พาขึ้นไปเดินเข้าไป คนแน่นแออัดยัดเยียด นึกในใจว่าเขาพามาทำไม
พาไปถึงขึ้นตึก ตึกสงฆ์น่ะ ตึกที่พระสงฆ์ป่วย ขึ้นไปชั้นสอง แล้วพาเดินมาห้องนี้เอ๊ะอะไร อ้อมีพระป่วยอยู่ชื่อหลวงพ่อเป็นเจ้าคุณพระธรรมะวรารังฆาน (38.03) แต่ชาวบ้านเรียกว่าหลวงพ่อคำดีป่วย เข้าไปเยี่ยมก็ยกมือไหว้ท่าน ท่านก็ทำท่าจะไหว้บอกว่าไม่ต้องนอนเฉยๆ เลย นอนแล้วก็ถามว่าเป็นอะไร เขา หมอเขาว่าป่วย แล้วหลวงพ่อป่วยหรือเปล่า ก็ป่วยกับเขาด้วย ไปกับ …... (38.31) ไปบอกว่านี่สายนี้อาหารต้องฉันทางจมูกแล้วนี่ พอแล้วอายุตั้ง ๙๓ แล้ว ไม่ต้องฉันแล้วก็ได้ ฉันแต่ลมหายใจก็พอ ท่านก็ยิ้มๆ คุยกับท่านอย่างนั้นนะ ท่านก็ใจดี อายุ ๙๓ ไปนอนให้หมอรักษา ท่านก็อยากกลับวัด แต่หมอบอกอยู่ไปก่อน
ทีนี้เปิดผ้าดูแข้ง แข้งไม่มีเนื้ออะไรลีบ ลีบกว่าแขนอาตมาอีก มีแค่กระดูก แล้วก็บีบ มีแต่กระดูก แข้งลีบ เดินไม่ได้ มีแต่นั่งกับนอนเท่านั้นเอง ก็เลยหมอเอามาไว้โรงพยาบาล เอามารักษา ก็รักษาไปอย่างนั้น เรียกว่าหลวงพ่อแก่ๆ มันถึงเวลาท่านลาโลก ภาคตะวันออกเฉียงเหลือนี่ไปกันเรื่อย ๙๓ ๙๔ ๙๕ หล่น เหมือนกับใบไม้เหลืองหล่น ผลไม้สุกมันก็หล่นตามเรื่องของมัน หล่นไป แล้วก็ไปถึงวัด เรียกว่าวัดศรีบุญเรือง เจ้าคณะจังหวัดอยู่วัดนั้น เจ้าคณะจังหวัดนี่เป็นคนสุราษฎร์คุ้นเคยกัน คุ้นเคยกันมากเหมือนกับเป็นเพื่อน แต่ว่าพูดไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ นอนเฉย
อันนี้ไปถึงเขาบอกอยู่ในห้อง เขาก็อุ้มออกมา อุ้มมาวางให้นั่งบนเก้าอี้ให้ท่าน เก้าอี้โยกได้ท่านนอนอยู่ อาตมาเลยคุยกับท่าน บอกว่าท่านแย่แล้ว อาหารก็ฉันไม่ได้ ยังอยู่หายใจอย่างเดียว วันหนึ่งมันก็คงจะหยุดหายใจนั่นแหล่ะ พูดกับท่านอย่างนั้นนะ พูดไปพูดมาท่านก็ยิ้มน่ะ พระบอกไม่ยิ้มนานแล้วว่างั้น หลวงพ่อมาพูดเข้าถูกเส้นเลยท่านยิ้มหน่อย คือพูดบอกว่า มันก็ใกล้จะตายเต็มทีแล้ว ไม่ต้องตกใจตายแน่ๆ ไม่กี่วันก็คงจะได้ข่าวว่ามรณภาพแล้ว มรณภาพแล้วก็มาเผาแล้ว ท่านก็ยิ้ม พูดไม่ได้แต่ยิ้ม ยิ้มตรงตัวตายแน่ๆ นั่นเอง ก็อยู่นั้นน่ะ
ความจริงก็เป็นพระท่านเป็นนักเทศน์ เมื่อสบายดีไม่ได้อยู่วัดหรอก ไปเทศน์ที่นั่นไปเทศน์ที่นี่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เทศน์ทุกจังหวัด ขึ้นรถ ขึ้นรถประจำทางหิ้วกระติกน้ำใบหนึ่ง ย่ามใบหนึ่ง กระเป๋าใบหนึ่งรุงรังเชียว ไปเทศน์แล้วกลับวัด ที่นี้เมื่อยังสบายนี่หลวงพ่อไปเยี่ยมท่าน ท่านนั่ง นั่งไอ้หมอนใบใหญ่ๆ ชาวบ้านเขาทำกันหมอนขวานนะ นั่งพิงหมอนๆ ก็หลังมันคู้ หลังคู้ คู้ไปตามหมอน บอกว่านั่งแบบนี้แล้วก็จะตายนะ ท่านก็ยิ้ม ได้ไง เอ้าก็กระดูกสันหลังมันเสียแล้วไปนั่งคดอยู่อย่างนั้น ทำไมไม่นั่งตรงๆ เหมือนพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้านั่งตรงทุกองค์ พระพุทธรูปหลังโก่งมีไหม ตัวอย่างมีแล้ว
นี่เรานั่งนะหลังคู้นะ เอาหลังต่างสะโพกห้ามนะคู้น่ะ (42.02) แล้วก็เป็นเหมือนที่ว่านี่ กระดูกสันหลังเสีย ไปผ่าตัดก็ไม่หาย เลยข้างล่างเป็นอัมพาตไป เพราะประสาทสันหลังมันเสีย เลยไปอยู่อย่างนั้น ทรมาน ถามว่าอยู่อย่างนี้กี่ปีแล้วไม่ได้มาเยี่ยมนานแล้ว พระบอกว่า ๘ ปีแล้ว เออพอแล้ว ทรมาน ๘ ปี พอแล้ว ตายได้แล้ว พอตายได้แล้วแกก็ยิ้มนะ เพราะไม่มีใครกล้าพูดว่าตาย พอพูดแล้ว …... (42.40) คำว่าตายเขาไม่พูดเป็นอัปมงคล แต่อาตมาบอกว่าตายได้แล้ว อยู่ไปก็ไม่ได้เรื่องอะไร เป็นภาระคนอื่นน่ะ แต่ว่ามันยังไม่ตายก็อยู่ไปก่อนนะ พูดไปเท่านั้นท่านก็ยิ้มๆ เยี่ยมกันไปเยี่ยม
อาตมาเลยไปพบ แล้วก็ไปเยี่ยมงานศพหลวงปู่ชอบ งานศพโอ๊ยโฆษณาๆ ทุกเสาไฟฟ้าติดป้ายไว้ป้ายสีดำ ก็เลยแวะเยี่ยม คนเยอะ คนมาถึงก็ทำบุญ ได้ผ้าหนึ่งไตรดอกไม้หนึ่งชุดแล้วไป เอาผ้าถวายพระ พระก็อนิจจาพิจารณา เสร็จแล้วพวกนั้นไป พวกนั้นขึ้นมาบอกให้ทำอยู่อย่างนี้ ทำไมไม่เทศน์ซะบ้าง ไม่สอนคนบ้าง คนก็มาได้เรื่อยๆ คนเยอะ โรงทานนี้เยอะ คนไปตั้งโรงทานเลี้ยงอาหาร โยมไปด้วยเขาไปทานอาหารที่โรงทาน กินก๊วยเตี๊ยว อาตมาก็ไปฉันกับพระเขาก็ต้อนรับดี ให้ขบให้ฉัน แต่ไม่มีโอกาสจะพูดอะไร เพราะไม่มีเครื่องขยายเสียง ศาลาใหญ่ ศพตั้งอยู่ประดับประดาสวยงามพอสมควร ไปนั่งๆ ไม่มีเครื่อง ศึกษาธิการไปหาเครื่องก็ไม่ได้เครื่อง เลยก็ว่าพอแล้วมาเยี่ยมศพ แล้วก็เดินทางกลับเท่านั้นเอง
คนเรามันแก่แล้ว พิจารณาเห็นเป็นอย่างนั้น โยมที่มวัดได้นี่ก็นับว่าบุญแล้ว แต่ว่าคนที่เคยมาก็หายไปหลายคนแล้วนะ หายไปบ้าง ไม่มาวัด แต่ว่าพบลูกหลานบอกว่าคุณแม่ไปไหน คุณแม่เดินไม่ไหว บอกใส่รถมาบ้างสิ ให้ท่านนั่งมาในรถ แล้วเอารถมาจอด ให้ท่านก็ได้ยินเสียงพระเทศน์บ้าง ไปหารถเข็นให้ท่านนั่ง มีคนหนึ่งนะลูกชายพาคุณแม่มาทุกวันๆๆ นั่งรถเข็นนะ เวลาถวายสังฆทานก็ไปนั่งอยู่ตรงนั้น ลูกชายก็นั่งใกล้ๆ นึกชมในใจว่าลูกชายคนนี้ดี รักคุณแม่ ช่วยเหลือคุณแม่ดี ลูกชายบางคน ถ้าแม่บอกจะมานี้ เดินไม่ไหวแล้วจะไปทำไมนี่ ไปดุแม่ซะอีกน่ะ แต่คนนั้นพามาทุกวันๆ
แล้วก็หลายวันมานั่นเอง เห็นแต่มาคนเดียว บอกเอ้าทำไมไม่พาคุณแม่มาด้วย คุณแม่ตายแล้ว เอ้าทำไมไม่บอกล่ะจะได้ไปเผาบ้าง เขาบอกว่าเผาเรียบร้อยแล้ว เผาไปเสียแล้วไม่ได้บอก ถ้าบอกก็จะได้ไป ไปด้วยไปเผา ไปเทศน์ด้วยก็ได้ เทศน์ให้คนฟัง ก็จะดีขึ้นนะ เขาบอกว่าเผาไปแล้ว แต่ว่าไม่ได้เผาที่นี่นะ เผาวัดอื่น เผาวัดใกล้บ้านสะดวกเขา เป็นอย่างนั้น คนแก่ๆ นี่เราพามาวัดท่านสบายใจ คือได้มาเห็นวัดวาอารามเห็นพระสงฆ์องค์เจ้า ได้ยกมือไหว้แล้วก็สบายใจเป็นสุขของท่าน อะไรที่เป็นความสุขของคนแก่เราพอจะทำได้ ทำไปเถอะ ช่วยทำหน้าที่ เอามาวัดเขาว่าเป็นอย่างนั้น บางคนก็อยากไป
สมเด็จวัดสระเกศว่ายังแข็งแรงนะองค์ก่อน ท่านบอกว่า ผมได้ออกวัดแล้วสบายใจ แต่ไม่มีใครนำออกมา พระหนุ่มๆ ในวัดไม่มีใครคิดถึงคนแก่ นึกว่าคนแก่ไม่มีหัวใจ ไม่มีใครเอาไปออกไป ความจริงท่านออกเหมือนกัน เขานิมนต์ไปสวดบ้าน ไปเจิมบ้าน ไปเปิดร้าน ให้ไปอย่างนั้นไม่ใช่ไปสบาย ไปนั่งทรมาน ให้ท่านไปอย่างอิสระ ไปพักที่ไหนให้ท่านพักสบายๆ ใต้ร่มไม้ ให้ท่านสบายใจ พาไปที่ต่างๆ แต่ไม่มีใครคิด เพราะนึกว่าคนแก่ไม่อยากไหน นี่เข้าใจผิดนะ เรามีคนแก่ๆ คุณแม่คุณยาย คุณปู่คุณตานะ อย่าคิดอย่างนั้น ไปพาไปวัด ปู่จะไปวัดไหม ย่าจะไปวัดไหม จะได้เอารถรับไป
เพียงแต่ถามเท่านั้นท่านก็สบายใจแล้ว สบายใจว่าเออลูกหลานมันคิดถึงเรานะ ถามเราว่าไปวัดไหม นี่ถ้าท่านอยากอะไร อยากไปหน่อยไม่ได้ไปนานแล้ว ให้อุ้มท่านใส่รถมาเอามาวัด เอามาวัดจอดตรงใดตรงหนึ่ง ท่านได้เห็นคนเดินไปเดินมา เห็นพระสงฆ์องค์เจ้าท่านก็สบายใจ นั่นแหล่ะคือให้ความสุขคนแก่ แต่คนที่ไม่แก่นึกไม่ได้ เพราะยังไม่แก่ พอแก่นึกได้เอ้าไปเสียแล้ว คุณแม่คุณย่าคุณยายไปเสียแล้ว ไม่ได้ช่วยเหลือไปเสียแล้วมันเสียท่านะ เพราะฉะนั้นเอาท่านมาให้ท่านได้รับความสะดวกสบาย เรียกว่าดูแลคนแก่ เอาใจใส่คนแก่ก็จะดีขึ้น ชีวิตเราก็สบาย คนแก่ก็สบาย ถ้ากรรมมันสนองกรรม เราทำกับคุณพ่อคุณแม่ ปู่ตา ย่ายาย พอเราแก่ลูกหลานก็ทำกับเราอีก มันเลี้ยงดูเรา อย่างนี้มันสนองอยู่ในตัว ขอให้ญาติโยมได้คิดอย่างนี้
วันนี้ก็สมควรแก่เวลาขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจเป็นเวลา ๕ นาที นั่งสงบใจ นั่งตัวตรง แล้วก็หายใจเข้ากำหนดรู้ หายใจออกกำหนดรู้ คุมสติไว้อยู่ที่ลมเข้าลมออก อย่าให้ไปไหน แต่มันจะไปเพราะมันเคย ไปก็ดึงกลับมา ให้มาอยู่ตรงนี้ อยู่ที่ลมเข้าลมออกเป็นเวลา ๕ นาที