แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พุทธบริษัท ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ที่ได้มารวมกัน ณ สถานที่นี้ ในวันนี้จารึกเหตุการณ์บูชาคุณงามความดีที่อาตมาได้ทำมาโดยลำดับ ตั้งแต่วัยหนุ่มจนกระทั่งถึงวัยชรา เป็นงานที่ทำเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่มหาชนทั้งหลาย เป็นการปฏิบัติตามพระโอวาทขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้สั่งลูกศิษย์จำนวน ๖๐ รูป ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันว่า เธอทั้งหลายจงเที่ยวไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่มหาชน จงประกาศพรหมจรรย์ โดยการครองชีวิตที่บริสุทธิ์ อันไพเราะเบื้องต้นท่ามกลางที่สุดแก่เขาเหล่านั้น คนที่มีไฝฝ้าบังดวงตาน้อย ๆ มีอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะไม่ได้ยิน ได้ฟังธรรมะ จึงไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องการดำเนินชีวิต พอพ้นแล้วจากบ่วงอันเป็นพิษ พ้นแล้วจากบ่วงอันเป็นของมนุษย์ เธอทั้งหลายจงช่วยไป เพื่อประกาศการครองชีพที่บริสุทธิ์แก่เขาเหล่านั้น อย่าไปทางเดียวสองรูป ต่างรูปต่างไป เราคถาคตก็จะไปเหมือนกัน อันนี้เป็นคำสั่งของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นคำสั่งฉบับแรกในวงการพระพุทธศาสนา
เมื่อได้อ่านคำสั่งนี้ สมัยเมื่อเรียนนักธรรมชั้นตรีเป็นสามเณร ก็เกิดความคิดขึ้นในใจว่า ทำไมเราไม่ออกไปสอนคน เพื่อให้คนได้รู้ธรรมะ ได้เข้าใจธรรมะถูกต้อง ความคิดนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว มันก็กรุ่นอยู่ในใจตลอดมา และก็ได้ทำการศึกษาเล่าเรียน หาความรู้ใส่สมอง เมื่อสมควรแก่เวลาแล้ว ก็ออกปฏิบัติงาน เทศนาสั่งสอนประชาชน มีจุดหมายประการเดียวว่าช่วยคนให้ฉลาด ให้เข้าใจพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้สามารถนำธรรมะไปใช้เป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ แล้วก็ทำเรื่อยมาตั้งแต่สมัยนั้นจนกระทั่งบัดนี้ แล้วยังจะทำต่อไปจนกว่าหมดลมหายใจ หรือไม่สามารถจะพูดได้ ก็ต้องหยุดกัน งานที่ทำนี้เป็นงานที่ตั้งใจทำ ทำด้วยความเสียสละ เพื่อประโยชน์แก่พระศาสนา มิได้คิดว่าจะได้อะไร จะเป็นอะไร แต่ว่าเพราะผลงานมีมาก จึงได้เป็นนั้นเป็นนี้ตามแบบที่เขาเป็นกัน จนกระทั่งบัดนี้ นั่นเป็นผลพลอยได้ที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่
พวกเราทั้งหลายทั้งที่เป็นพระหรือชาวบ้าน ได้รู้จักอาตมาในฐานะเป็นผู้ประสาทธรรมมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว โดยเฉพาะญาติโยมที่มาศึกษาธรรมะที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ตั้งแต่ปี ๒๕๐๓ จนกระทั่งบัดนี้ก็ ๓๐ กว่าปี ไม่ใช่เวลาเล็กน้อย โยมบางคนมาไม่เคยขาด ขาดบ้างมีธุระ แต่มาเป็นประจำตลอดเวลา นึกว่าจะต้องให้โล่หรือให้รางวัลกันเสียบ้าง แต่ยังไม่รู้ว่าจะให้อะไร เอาธรรมะเป็นรางวัลไปก่อนก็แล้วกัน นั่นเป็นการแสดงว่าผู้รักธรรมมะ สนใจศึกษา สนใจปฏิบัติ แล้วก็ชวนผู้อื่นมาร่วมด้วย เป็นการทำงานเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม คือประชาชนและพระศาสนา ญาติโยมก็พลอยเป็นสุขใจ ได้รับประโยชน์จากธรรมะ ก็มาแสดงความยินดีกับผู้ที่ประกาศธรรมะ การบูชาธรรมะก็ต้องบูชาผู้ที่ให้ธรรมะนั่นเอง การเดินไปถามว่าผู้มีพระภาคเจ้าว่าจะบูชาพระธรรมอย่างไร พระองค์บอกว่าก็บูชาบุคคลที่ให้ธรรมะแก่เรานั่นเอง ในที่แห่งหนึ่งตรัสว่าเราได้ศึกษาธรรมะจากผู้ใด จงนอบน้อมบูชาท่านผู้นั้นเหมือนการบูชาศิษย์
วันนี้ท่านทั้งหลาย ทั้งที่เป็นพระและชาวบ้านได้แสดงข้อซึ่งน้ำใจ ว่ามีความเคารพนับถือธรรมะ ที่หลวงพ่อได้สอน ได้อธิบาย ให้เข้าใจมาแล้วนั้น มาแสดงความเคารพบูชา เป็นการกระทำที่ถูกต้องตามหลักการในทางพระพุทธศาสนา เป็นมงคลแก่ชีวิตที่ว่า “ปูชา จะ ปูชะนียานัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง” การบูชาบุคคลที่ควรบูชา เป็นอุดมมงคลอย่างยิ่ง อาตมาเห็นแล้วก็มีความปลื้มใจ ปลื้มใจ ตื้นตันใจ ไม่รู้จะพูดว่าอย่างไร นอกจากแสดงความขอบพระคุณแก่ท่านทั้งหลายทุกท่าน และขออวยพรให้ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้เจริญงอกงาม ในธรรมะของพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทั่วกัน ทุกท่าน ทุกคนเทอญ
สาธุ สาธุ สาธุ
การแสดงธรรมในวันนี้ อาตมาได้นิมนต์ท่านอาจารย์บรศักดิ์ ให้มาเป็นผู้แสดง ท่านบรศักดิ์นี้เป็นผู้อยู่กับท่านพุทธทาสเป็นเวลาหลายปี แล้วก็ไปจำพรรษาอยู่ที่ชิคาโก ทำหน้าที่สอนฝรั่ง สอนแล้วก็บันทึกไว้ เอามาพิมพ์เป็นหนังสือเล่ม เล่มโตพอสมควร พิมพ์แล้วเรียบร้อย แต่ว่ายังค้างคาพิมพ์อยู่นิดหน่อย ๒-๓ หมื่น อาตมาก็นึกว่าจะช่วยเชียร์ให้ ไม่ต้องลำบากใจ อาตมาก็ขอโยมนั้น โยมมาทำบุญวันนี้ ช่วยกันเสียสละเป็นค่าพิมพ์หนังสือภาษาอังกฤษเล่มนั้น หนังสือนั้นชื่อว่า Put going no supporting แปลว่า ความทุกข์และการดับทุกข์ได้ เป็นภาษาอังกฤษ แปลง่าย ๆ ใช้ภาษาธรรมดา คนก็อ่านได้ทั่วไป พิมพ์ ๕,๐๐๐ เล่ม ค่าพิมพ์เมื่อวาน ๒๐๐,๐๐๐ แต่ยังค้างอยู่ เมื่อวานบอกว่ายังเป็นหนี้เขา ๓๐,๐๐๐ ไม่ได้บอกเมื่อวาน แต่บอกในใจว่าไม่ต้องเป็นห่วง ๓๐,๐๐๐ มันนิดหน่อย วันพรุ่งนี้ก็คงได้จากญาติโยม แล้วก็วันนี้ก็เลยให้มาแสดงปาฐกถา
เพื่อนพุทธบริษัททั้งหลาย หลวงพ่อ แล้วก็ภิกษุสามเณรผู้เป็นศาสนิก และท่านสาธุชน ญาติโยมทุก ๆ ท่าน วันนี้เป็นวันอาทิตย์ซึ่งกำหนดว่า เป็นวันแสดงธรรมสำหรับวัดชลประทานฯ อีกวาระหนึ่ง และเผอิญวันนี้ก็มาตรงกับวันบำเพ็ญกุศลวันคล้ายอายุ เรียกว่าอาจาริยบูชา หรือธรรมสมโภช อะไรก็แล้วแต่จะเรียก ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระธรรมโกศาจารย์ และพวกเราทั้งภิกษุ สามเณร และท่านญาติโยม อุบาสกทั้งหลาย ก็มาประชุมพร้อมกัน ก็เลยถือโอกาสที่จะกล่าวธรรมีกถา อันเกี่ยวด้วยชีวิตและอายุสักเล็กน้อย แต่ก่อนที่จะพูดเรื่องชีวิตและอายุนั้น อยากจะปรารภเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งก็คือ เรื่องพวกเราที่เป็นพุทธบริษัทนี่
พระพุทธเจ้าฝากพระศาสนาเอาไว้กับพุทธบริษัท ก็คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พอพระพุทธเจ้าจะยังไม่ปรินิพพาน มีมารไปทูลขอให้เสด็จดับขันธ์พระปรินิพพาน พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าจะยังไม่นิพพานก่อน จนกว่าพุทธบริษัทซึ่งมีภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ของพระองค์ จะศึกษาธรรมะและปฏิบัติธรรมะลึกซึ้งแตกฉาน ถึงขั้นบรรลุธรรมะในระดับใดระดับหนึ่ง และสามารถที่จะเข้าใจลึกซึ้งธรรมะของอรรถวจนะ ก็ต้องโต้วาทะ โต้แย้งกับลัทธินิกายอื่น เพื่อที่จะคงไว้ซึ่งหลักของพระพุทธศาสนาได้ เมื่อนั้นแหละพระพุทธเจ้าจึงเสด็จดับขันธ์พระนิพพาน นี่คือที่ ทรงห่วงใยพวกเราพุทธบริษัท ว่าจะต้องศึกษาและปฏิบัติธรรมถึงขั้นที่ได้รับผลของธรรมะไปตามลำดับ เมื่อนั้นแหละพระพุทธเจ้าถึงจะดับขันธ์พระนิพพานคือวางใจได้
ทีนี้พุทธบริษัททั้ง ๔ นี้ ก็คือบริษัทเดียว ไม่ใช่ ๔ บริษัท บริษัทเดียวแต่ว่ามีองค์ประกอบ ๔ จะแยกออกจากกันไม่ได้ จะต้องไปด้วยกัน อุปมาเหมือนกับว่ารถยนต์คันหนึ่งมี ๔ ล้อ ทั้ง ๔ ล้อนี้มีความสำคัญเท่ากัน ในความเป็นรถยนต์คันนั้น เหมือนกับวัวมี ๔ ขา แต่ว่าขาไหนสำคัญกว่าก็ไม่ได้ ก็มีความสำคัญเท่ากันทุก ๆ ขา ที่จะพยุงชีวิตของวัวตัวนั้นไว้ ฉันใดก็ฉันนั้น ท่านทั้งหลายที่เป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา มีความสำคัญเท่ากันในความเป็นพุทธบริษัท เดี๋ยวนี้เรายกความสำคัญนี้ให้แก่ภิกษุ ว่าภิกษุพวกเดียวเท่านั้นที่จะต้องศึกษาและปฏิบัติธรรมะ จะต้องประพฤติตนให้เรียบร้อย แล้วท่านทั้งหลายก็จะมีพระดี ๆ เอาไว้กราบไหว้ ตกลงว่าอุบาสก อุบาสิกา มีหน้าที่คอยกราบไหว้พระที่ดี ๆ โดยที่ตัวเองก็ไม่ได้มีความสำนึกว่า เราก็มีความสำคัญเท่ากันกับภิกษุ ในการที่จะช่วยกันศึกษา ปฏิบัติ และเผยแพร่ แล้วก็สืบต่ออายุของพระพุทธศาสนา
วันนี้อาตมาจึงมีความประสงค์ อยากจะชี้แจงถึงความสำคัญของพุทธบริษัท ๔ นี้ ว่าเรามีความสำคัญเท่ากัน อย่ายกให้แก่ภิกษุพวกเดียวว่า เป็นพวกจะต้องศึกษาและปฏิบัติธรรมะ มีคนเขาพูดว่าแม้พระเองก็ยังเอาดีไม่ได้ ยังปฏิบัติตัวเหลวไหล ถูกลงข่าวหนังสือพิมพ์อยู่เป็นประจำวัน พระเองก็เอาดีไม่ได้ อย่ากระนั้นเลย เราเป็นชาวบ้านกินเหล้าเมายากันต่อไป เพราะว่าพระเองก็ยังเอาดีไม่ได้ นับประสาอะไรพวกเรา และไม่เรียกตัวเองว่าอุบาสก อุบาสิกา เรียกตัวเองว่าชาวบ้าน และเรียกภิกษุ สามเณรนี้ว่าเป็นพระ ก็เลยเป็นพระกับชาวบ้าน ซึ่งกำลังมาขัดแย้งกัน มาโต้แย้งกันว่า พระก็ว่าตำหนิชาวบ้าน ชาวบ้านก็ตำหนิพระ ซึ่งไม่ได้แสดงความเป็นพุทธบริษัท
เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่า มีความสำนึกว่าเป็นพุทธบริษัทก็ต้องคิดว่า ถ้าภิกษุประพฤติไม่ดี ประพฤติไม่ชอบ ขืนเป็นอยู่อย่างนี้ ศาสนาพุทธก็จะต้องเสื่อมสลายไป อย่ากระนั้นเลย ฉันต้องปฏิบัติที่ดียิ่งขึ้น เพื่อที่จะสืบศาสนาพุทธไว้ต่อไป อุปมาว่าครอบครัวเป็นหนึ่ง มีพ่อ มีแม่ และมีลูก ๔ คน ถ้าเห็นว่าคนโตประพฤติตัวไม่ค่อยดี ประพฤติเกเร เหลวไหล ไอ้น้อง ๓ คนก็บอกว่า เมื่อพี่ทำตัวไม่ดี ประพฤติตัวเหลวไหล อย่ากระนั้นเลย เรา ๓ คนก็เหลวไหลด้วย เกเร เหลวไหลด้วย ถ้าอย่างนี้ครอบครัวก็ตั้งอยู่ไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น
ในพุทธศาสนานี้ มีพระพุทธเจ้าเป็นพ่อและมีพระธรรมเป็นแม่ และพวกเราทั้งหลายนี้คือ เป็นพระสงฆ์ พี่น้อง ๔ คนนี้ ซึ่งเราจะต้องร่วมมือกัน เพื่อที่จะดำรงครอบครัวของเราไว้ ก็พ่อก็มีความประสงค์อย่างนั้น แม่ก็มีความประสงค์อย่างนั้น เราก็จะสำนึกถึงหน้าที่ในความเป็นพุทธบริษัท ที่มีความสำคัญเท่าเทียมกัน อาตมาเป็นภิกษุก็มีความสำคัญเท่ากับอุบาสิกาหรืออุบาสกที่นั่งอยู่ที่นี่ ในความเป็นพุทธบริษัท แต่ว่าหน้าที่อาจจะต่างกัน แต่ว่าในความเป็นพุทธบริษัทนั้นก็มีความสำคัญเท่ากัน ที่จะต้องศึกษาและปฏิบัติ และจะรับผลของธรรมะ อย่าคิดว่าให้พระมาสอนญาติโยมอย่างเดียว อุบาสก อุบาสิกา ภิกษุ ก็ศึกษาธรรมะไปด้วยกัน แล้วถึงในบางเวลาก็มาประชุมร่วมกันว่า เราจะเอาพุทธศาสนาไปเผยแพร่กับคนอื่นที่เขายังไม่ได้เป็นพุทธบริษัท ให้เขาเข้าใจพระศาสนา
ฉะนั้น การประชุมของเราในวันนี้ ไม่ใช่พระมาเทศน์ให้ญาติโยมฟัง ก็คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา มาประชุมกัน เพื่อที่จะทำความเข้าใจเรื่องธรรมะของพระพุทธเจ้า แล้วเราก็จะเอาไปประพฤติ ปฏิบัติด้วยกัน และจะได้รับผลว่าเราสืบศาสนาไปด้วยกัน ถ้าเรายกให้ภิกษุรูปเดียว สืบไปเบื้องหน้า สมมติว่าไอ้รูปแบบนี้มันไม่มี โกนหัว ห่มจีวรแบบนี้ไม่มี ถ้าหากว่าเรายกให้ศาสนาพุทธให้กับพระภิกษุอย่างเดียว ศาสนาพุทธก็หมดไปจากโลก แต่ท่านทั้งหลายเป็นอุบาสก อุบาสิกา ก็ประพฤติธรรมะด้วย กลัวว่าสืบไปเบื้องหน้า รูปแบบอย่างนี้มันไม่มี พุทธศาสนาก็ได้อยู่ในจิตใจของอุบาสก อุบาสิกาต่อไป ไม่รู้จักสิ้นสุด อันนี้จึงพูดว่าเรามีความสำคัญเท่ากัน ในการที่จะดำรงพระพุทธศาสนา
เดี๋ยวนี้พอเห็นว่าพระภิกษุทำผิด รูปใดรูปหนึ่งทำผิด เราก็บอกว่าทำลายศาสนา ทำให้ศาสนาเสื่อม ถ้าอุบาสก อุบาสิกาทำผิด ก็ทำลายศาสนา ทำให้ศาสนาเสื่อมเหมือนกัน เพราะว่าภิกษุทะเลาะกันนี่ ทำลายพระศาสนา แล้วทีอุบาสก อุบาสิกากำลังทะเลาะกันในสภาเวลานี้ ก็ทำลายศาสนาเหมือนกัน เพราะคนเหล่านั้นที่กำลังประชุมกันนั้น ก็เป็นอุบาสก อุบาสิกา อีกอย่างหนึ่งเราเข้าใจกันว่า อุบาสก อุบาสิกานี้ผิด คือไปเข้าใจว่า ถ้าอุบาสก อุบาสิกา ก็คือคนที่ต้องไปถือศีลกินเจอยู่ที่วัด ผู้ชายทุกคนที่นับถือพุทธศาสนาเป็นอุบาสกหมด ผู้หญิงทุกคนที่นับถือพุทธศาสนาเป็นอุบาสิกาหมด ไม่ใช่เฉพาะคนที่ไปวัดเอย่างเดียว แล้วเราก็ปฏิบัติธรรมะอยู่ในทุกสถานที่ ทุกเวลา พุทธศาสนามันไม่ได้อยู่ที่วัด มันอยู่ในจิตใจคน เพราะฉะนั้น เราจึงเห็นว่าทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่ หรือที่ไหนก็ตาม เราก็เป็นเพื่อนกัน เพราะว่าเราเป็นพุทธบริษัท มีความสำคัญเท่าเทียมกัน ฉะนั้น เราจึงขึ้นต้นคำปาถกฐาว่า เพื่อนพุทธบริษัททั้งหลาย
และอีกอย่างหนึ่ง คำที่สำคัญที่ตามมาก่อนที่จะพูดเรื่องชีวิต ก็คือคำว่า “พระสงฆ์” เพราะว่าโอกาสนี้เป็นโอกาสที่ดีมาก ที่จะได้ชี้แจงคำว่า “พระสงฆ์” ให้ท่านพุทธบริษัททั้งหลายเข้าใจ บางคนเข้าใจแล้วก็เข้าใจยิ่งขึ้น บางคนที่ยังไม่เข้าใจก็จะได้เข้าใจขึ้น คำว่า “พระสงฆ์” นี้ คำว่า “สงฆ์” หรือ “สังฆะ” นี้ แปลว่า “หมู่” “หมู่คณะ” เช่น เวลาเดินมาเป็นสงฆ์ คือเดินมาเป็นหมู่ นกบินมาเป็นสงฆ์ ก็คือ บินมาเป็นหมู่ แต่คำว่า “สงฆ์” ที่จะพูดต่อไปนี้ ไม่ใช่หมู่ของนก ของกา ของวัวควายอย่างนั้น คำว่า “สงฆ์” นี้เราจำแนกออกเป็น ๒ ชนิด ขอให้โยมตั้งใจฟังให้ดี คือ
๑. ภิกษุสงฆ์ ภิกษุสงฆ์นี้ก็คือ ผู้ชายที่โกนหัว ห่มผ้าเหลือง ที่นั่งอยู่ข้างหน้าท่านทั้งหลายนี้ แต่ประพฤติดีก็ได้ ประพฤติไม่ดีก็ได้ มีกิเลสมากก็ได้ กิเลสน้อยก็ได้ แต่ถ้าสวมเครื่องแบบอย่างนี้ ก็เรียกว่าภิกษุสงฆ์หมด ไม่ว่าอยู่ที่ไหน นี่คือ ภิกษุสงฆ์
๒. ส่วนอีกอย่างหนึ่งก็คือ สาวกสงฆ์ ก็คือเป็นสาวกของพระสงฆ์ แต่พูดอีกอย่างหนี่งว่า สาวกสงฆ์ จำกันง่าย ๆ สาวกสงฆ์ ใครก็ตาม จะเป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ ผู้หญิง ผู้ชาย คนโง่ คนฉลาด หรือว่าคนจน คนรวย บรรพชิต คฤหัสถ์ ที่ไหนก็ตาม ที่ประพฤติดี ประพฤติชอบ ด้วยกาย วาจา ใจ แล้วจะรับประโยชน์ของธรรมะไปตามลำดับ ที่ไม่ได้ว่าไปถึงขั้นพระโสดาบัน ก็ไม่พูดมากถึงขนาดนั้น เดี๋ยวท่านจะฟังไม่เข้าใจ ที่ประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ แล้วมีจิตใจเยือกเย็น สะอาด สว่าง สงบ ไปตามลำดับ นั่นเป็นสาวกสงฆ์ สาวกสงฆ์คือใครก็ได้ ที่นั่งอยู่ที่นี่ที่ไหนก็ตามใจ ที่ประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ ได้รับประโยชน์จากผลของการปฏิบัติไปตามลำดับ เราเรียกว่า สาวกสงฆ์
ญาติโยมที่นั่งอยู่ที่นี่ ข้างหน้าอาตมานี่ ไม่สามารถจะเป็นภิกษุสงฆ์ได้ แต่สามารถเป็นอะไรสงฆ์ได้ นี่คือคำถาม เป็นอะไร สาวกสงฆ์ได้ แล้วพระสงฆ์ในพระรัตนตรัยนั่น ไม่ใช่ภิกษุสงฆ์ ไหนท่านลองว่า สุปฏิปันโน “สุปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ” ไม่ใช่ภิกขุสังโฆ เพราะฉะนั้น พระสงฆ์ในพระรัตนตรัยคือ สาวกสงฆ์ ไม่ใช่ภิกษุสงฆ์ เพราะฉะนั้น ได้แก่ ท่านทุกคนที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เป็นสาวกสงฆ์ ยืนยันได้เลยว่าไม่ใช่ภิกขุสังโฆ แต่เป็นสาวกสังโฆ คือ ผู้ใครก็ตามที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ได้รับประโยชน์ปฏิบัติดีแล้ว ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ เขาเรียกว่า สาวกสงฆ์
ทีนี้ สาวกสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ข้างนอกนี่ท่านทราบไหมว่า ใครปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบบ้าง ไม่ทราบ เราทราบได้คนเดียวเท่านั้น ก็คือ ตัวเราเอง ฉะนั้น ตราบใด เวลาใด ที่ท่านประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ นั่นคือ สาวกสงฆ์ และท่านบอกว่าท่านนอบน้อมสาวกสงฆ์ ก็เกิดท่าน ได้ตัวท่านเอง ท่านจะได้ยินท่านอาจารย์พุทธทาสพูดไหมว่า ยกมือไหว้ตนเองได้ นั่นก็คือ ท่านไหว้ กำลังไหว้สาวกสงฆ์ ก็คือตัวท่านเอง
อาตมาคิดว่าในบทที่ว่า “สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม สาวกสังโฆ” ควรจะแปลว่า สาวกสงฆ์ของพระผู้มีพระภาค ปฏิบัติดีแล้วพระเจ้าคะ เมื่อเราปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบแล้ว เรารู้สึกว่าสงฆ์ของพระพุทธเจ้านั้นปฏิบัติดีแล้วพระเจ้าคะ เลยรายงานพระพุทธเจ้าเลยว่า เรากำลังเป็นสาวกสงฆ์อยู่ แม้ภิกษุสงฆ์ก็ต้องปฏิบัติเพื่อเป็นสาวกสงฆ์ด้วยเหมือนกัน ภิกษุสงฆ์ที่ไม่ปฏิบัติดี ไม่ปฏิบัติชอบเป็นได้แต่ภิกษุสงฆ์เท่านั้น ไม่มีสิทธิ์เป็นสาวกสงฆ์ เพราะไม่ปฏิบัติดี ไม่ปฏิบัติชอบ ตอนนี้ภิกษุสงฆ์ทั้งหลายอาจจะว่าอาตมาพูดไม่ยุติธรรม แต่อาตมาพูดตามความจริงว่า ภิกษุสงฆ์ที่ไม่ปฏิบัติดี ไม่ปฏิบัติชอบ ก็ไม่สามารถเป็นสาวกสงฆ์ได้ ก็เป็นแค่ภิกษุสงฆ์เท่านั้น ตามหลักอันนี้
ฉะนั้น บางทีถ้าเป็นความจริงอย่างนี้ ที่ภิกษุที่ปฏิบัติไม่ดี ปฏิบัติไม่ชอบ ก็ต้องระมัดระวังนะ บางทีท่านอาจจะรับทั้งบุญทั้งบาปจากสาวกสงฆ์ ใส่บาตรให้ภิกษุสงฆ์ที่ไม่ปฏิบัติดี ไม่ปฏิบัติชอบก็อาจจะเป็นได้ แต่ต้องระมัดระวัง เพราะว่าญาติโยมที่จะใส่บาตรให้ท่าน อาจจะเป็นสาวกสงฆ์อยู่ก็ได้ จะรู้ได้อย่างไรว่าท่านปฏิบัติไม่ดี ปฏิบัติไม่ชอบ แล้วเราเองเป็นภิกษุสงฆ์นี่ เมื่อปฏิบัติไม่ดี ปฏิบัติไม่ชอบ ก็เป็นภิกษุสงฆ์ที่ไม่ดี ว่างั้นเถอะ เมื่อเราไปรับบาตรจากสาวกสงฆ์ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบอยู่ก็ได้ ดังนั้น เมื่อทราบความจริงดั่งนี้ ญาติโยมทุกคนไม่มีปมด้อย เราทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเป็นสาวกสงฆ์ได้เท่าเทียมกัน เพราะอยู่ที่สภาพจิตใจ อยู่ที่การปฏิบัติของท่านทุกคน นี่คือคำว่าสาวกสงฆ์ของพระพุทธเจ้า เดี๋ยวนี้เราได้ยินสาวกสงฆ์คือ สงฆ์ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เราเรียกว่า อริยสงฆ์ แล้วเราก็เลยนึกถึงบุคคลอื่น
พระพุทธเจ้ามีแล้ว พระธรรมมีแล้ว พระสงฆ์นี่เว้นไว้เอาให้ท่านทั้งหลายเติมคำในช่องว่าง ว่าท่านปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ คำว่าพระสงฆ์นั้นก็คือ ตัวท่านเอง เราเรียนมาว่า ถ้าพระรัตนตรัยเป็นของเรา
“นัตถิ เน สะระณัง อัญญัง
พุทโธ เม สะระณัง วะรัง
นัตถิ เม สะระณัง อัญญัง
ธัมโม เม สะระณัง วะรัง
นัตถิ เม สะระณัง อัญญัง
สังโฆ เม สะระณัง วะรัง”
ถ้าพระรัตนตรัยนั้นเป็นของท่าน ตัวคำว่าสงฆ์ต้องเป็นตัวท่านเอง ถ้าตัวคำว่าสงฆ์เป็นพระสารีบุตร เป็นพระโมคคัลลานะ เป็นพระอานนท์ เป็นพระรัตนตรัยของพระสารีบุตร เป็นพระรัตนตรัยของพระอานนท์ ไม่ใช่พระรัตนตรัยของท่าน เป็นพระรัตนตรัยในประวัติศาสตร์ที่เราได้เล่าเรียนมา ถ้าพระรัตนตรัยเป็นของเรา ที่คำว่าพระสงฆ์ต้องเป็นตัวเราเอง ฉะนั้น เรามาวัด มาปฏิบัติ ปฏิบัติธรรมะเพื่อเป็นสาวกสงฆ์ด้วยกันทุก ๆ คน พระก็ไม่ได้มีอะไรพิเศษมากกว่าญาติโยม ซึ่งเป็นอุบาสก อุบาสิกา แต่อาจจะอยู่ในเส้นแบบอย่าง แต่อาจจะสะดวกในเรื่องบางเรื่องเท่านั้นเอง แต่เรื่องการปฏิบัติ แล้วก็มีโอกาสเท่าเทียมกัน ฉะนั้น เรามาปฏิบัติธรรมะเพื่อเป็นสาวกสงฆ์ ทุก ๆ คนขอให้ทราบความจริงข้อนี้ว่า ทุก ๆ คนที่เป็นอุบาสก อุบาสิกา ที่นั่งอยู่ที่นี่มีสิทธิ์เป็นสาวกสงฆ์ได้เท่าเทียมกัน แม้ภิกษุก็เช่นเดียวกัน
แต่เวลาท่านจะถวายทาน “อิมานิ มะยัง ภันเต, ภัตตานิ, สะปะริวารานิ, ภิกขุสังฆัสสะ” ท่านถวายแก่ภิกษุสังโฆ ฉะนั้น คนที่จะมารับทานก็ไม่ต้องเป็นภิกษุสงฆ์ มีกิเลสมากก็ได้ มีกิเลสน้อยก็ได้ แต่ถวายให้แก่ภิกษุสงฆ์ ฉะนั้น สาวกสงฆ์ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ แต่ไม่ได้เป็นภิกษุสงฆ์ ไม่มีสิทธิ์มารับทานนี้ ก็ต้องถวายโดยภิกษุสังโฆ แล้วก็ภิกษุสงฆ์ก็ต้องปฏิบัติเป็นสาวกสงฆ์ด้วยเหมือนกัน เรามาทำบุญอันนี้มา ปฏิบัติบูชานี่ เพื่อเป็นสาวกสงฆ์ด้วย หลวงพ่ออื่นก็ต้องเป็นสาวกสงฆ์ด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าเรามาบูชาภิกษุสงฆ์ แล้ว
“สุปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ” นั้น พระสงฆ์ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เมื่อกี้บอกแล้วว่า ก็คือตัวเราเอง เดี๋ยวนี้เรายก “สุปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ” ให้กับพระภิกษุ เราเรียกว่าองค์นั้นปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เป็น “สุปฏิปันโน” หลวงพ่อบางองค์เป็น “สุปฏิปันโน” พระบางองค์ที่เคร่งที่ขลังที่อะไรก็ตาม เป็น “สุปฏิปันโน” เรายกให้เป็น “สุปฏิปันโน” เรารู้ได้อย่างไรว่าคนเหล่านั้น พระภิกษุเหล่านั้นปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เดี๋ยวนี้เห็นแต่ญาติโยมแต่งหน้า ชอบตั้งให้ภิกษุองค์นั้นเป็น “สุปฏิปันโน” รู้ได้อย่างไร ก็ตามคาดคะเนเอาเท่านั้น “สุปฏิปันโน” ที่ตั้งนี้ได้ ก็คือตัวท่านเอง ฉะนั้น วันนี้เรามาเคลียร์เรื่องคำว่า “สงฆ์” นี้ให้เป็นที่เข้าใจ
บางทีคนเขาให้ ๒ รูป ๒ อย่าง สมมติสงฆ์ อริยสงฆ์ เขาบอกว่าอาตมานี่เป็นสมมติสงฆ์ เพราะว่ายังมีกิเลส เขารู้ได้อย่างไรว่าอาตมายังมีกิเลส เพราะอาตมาก็ยังไม่ได้เป็น แล้วรู้ได้อย่างไรว่าหลวงตาแก่ ๆ ตามสำนักต่าง ๆ นั้นเป็นอริยสงฆ์
สมมติสงฆ์นี้ก็คือ พระสงฆ์ที่เขาสมมติกันขึ้นมา เพื่อทำสังฆกรรม เช่น บวชเอาบทจำเป็นในชนบท ๕ รูป ในมัชฌิมชนบท ๑๐ รูป กฐิน ๔ รูป กรวดกับทาน ๔ รูป อุปสมบท ๔ รูป อย่างนี้เป็นต้น อันนี้คือ สมมติสงฆ์ มีกิเลสมากก็ได้ กิเลสน้อยก็ได้ แต่ถ้าเป็นอย่างนี้ก็สมมติกัน เพื่อทำสังฆกรรม
ส่วนอริยสงฆ์ก็คือ สาวกสงฆ์ อันเดียวกัน ท่านยังบอกว่า ห้ามเป็นสมมติสงฆ์ อันนี้ว่าเอาเอง อาตมาอ่านดูแล้วในพระวินัยก็ไม่เห็นมีว่าเรียกพระเหล่านี้ว่า สมมติสงฆ์ เรียกว่า ภิกษุสงฆ์ เท่านั้นเอง
อันนี้ก็เป็นเรื่องของพุทธบริษัท นี่คือคำว่า สาวกสงฆ์ และ ภิกษุสงฆ์ ที่ว่ากันในวันนี้ เพราะว่า ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ก็ต้องพยายามปฏิบัติเพื่อเป็นอะไรสงฆ์ สาวกสงฆ์เท่าเทียมกัน นั่นแหละคือผลของการปฏิบัติธรรม ครูก็มีแล้ว ถ้าเราพูดถึงครู เราต้องพูดถึงนักเรียนและระบบการศึกษา ถ้าพอเราพูดถึงหมอ เราต้องพูดถึงผู้ป่วยและการรักษาพยาบาล ๓ อย่างนี้แยกจากกันไม่ได้ ถ้าเราพูดถึงชาติ เราต้องพูดถึงศาสนา พระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์คือผู้ที่เชื่อมโยงชาติกับศาสนาให้ถึงกัน ก็คือ ให้คนในธรรมกับศาสนา ถ้าเราพูดถึงสาวกและธรรมะที่พระพุทธเจ้าให้กับสาวก แต่รู้ได้อย่างไรว่าสาวกนั้นปฏิบัติธรรม ก็คือมีพระสงฆ์ ฉะนั้น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แยกจากกันไม่ได้ พระพุทธเจ้าก็คือผู้ที่ให้ธรรมะ ธรรมะก็คือสิ่งที่เราเอามาปฏิบัติ พอปฏิบัติมรรคผลก็เป็นพระสงฆ์ เหมือนกับผู้ป่วยรักษาหาย หมอรักษาหาย จนผู้ป่วยก็เป็นคนปรกติ เหมือนกับว่านักเรียนได้รับการศึกษา มีวิชาความรู้ ก็ไปประกอบอาชีพได้ อย่างนี้เป็นต้น ดังนั้น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็เลยแยกจากกันไม่ได้ เหมือนชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แยกจากกันไม่ได้
เวลาเหลืออีกนิดหนึ่ง เพราะว่าอาตมาจะพูดเพียงชั่วโมงเดียว ก็จะพูดถึงคำว่า “ชีวิต” อย่างที่ตั้งใจว่าจะพูด เพราะว่าวันนี้เรามาทำบุญ เรียกว่า อายุ ๘๕ ปี ของสมเด็จพระคุณหลวงพ่อ ไม่อยากพูดถึงคำว่า “ชีวิต”
เพื่อแก้ความสงสัยของพุทธบริษัท คำว่า “ชีวิต” นี้ ก็แปลว่า มีความเป็นเป็นอยู่ “ชีวคีตะ” มีความเป็นเป็นอยู่ คือ ยังไม่ตาย อันเป็นที่มีชีวิตเพราะว่าต้องประกอบด้วย ส่วนประกอบ ๒ ส่วน คือ กายกับจิต หรือ รูปกับนาม ถ้ารูปกับนามนี่ มันก็เป็นคำกลาง ๆ รูปกับนามประกอบกัน มาทำปฏิกิริยากันก็เป็นสิ่งที่มีชีวิต อยากจะถามท่านทั้งหลายว่า ก้อนดินก้อนหินนี้มีชีวิตไหม นี่ นี่แหละ มี มีจริง ๆ ก้อนดินก้อนหินก็มีชีวิต เพราะว่าก้อนดินก้อนหินมันก็ประกอบด้วยรูป นาม สสารนั้นเป็นรูป พลังงานนั้นเป็นนาม ฉะนั้น ก้อนดินก้อนหินก็มีชีวิต เพราะมันมีทั้งสสารและพลังงาน ทำหน้าที่กันอยู่ แต่ว่ามันเป็นชีวิตที่ต่ำเกินไป จนคนบอกว่ามันไม่ได้มีชีวิต ก็มองชีวิตตั้งแต่ต้นไม้ สัตว์ ขึ้นมาจนถึงมนุษย์ ที่จริงถ้าจะให้มีชีวิต ก้อนดินก้อนหินก็มีชีวิต เพราะบอกไว้แล้วว่า สิ่งที่มีชีวิตต้องประกอบด้วยรูปกับนาม สสารเป็นรูป พลังงงานเป็นนาม แต่นั่นเป็นธรรมเกินไป ถ้าจะไม่ให้มีชีวิตนะ แม้คนก็ไม่มีชีวิต
พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า “นิสสัตโต นิชชีโว สุญโญ” คนก็ไม่ได้มีชีวิตหรอก เป็นแต่เพียงการประกอบกันของธาตุทั้งหลาย กินน้ำกับเดินก็แค่นั้นเอง ฉะนั้น เราเป็นผู้กำหนดเสียเองว่า อันนั้นมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต นักวิทยาศาสตร์กำหนดให้เราเรียน ว่าก้อนดินก้อนหินเป็นสิ่งไม่มีชีวิต คนนี่เป็นอยู่มีชีวิต อย่างนี้เป็นต้น
ชีวิตนั้น เอาชีวิตมาพูดสัก ๕ ความหมาย ท่านทั้งหลายตั้งใจฟังให้ดี
๑. ชีวิตของสัตว์ที่ต่ำกว่าคน พวกสัตว์ทั้งหลายไปถึงต้นไม้ อันนี้ไม่มีปัญหา เพราะมันมีชีวิตเมื่อเกิดมาและมันหมดชีวิตเมื่อมันตาย ชีวิตของสัตว์ที่ต่ำกว่าคนไม่มีปัญหา ไม่ต้องไปสนใจก็ได้
๒. ชีวิตของคน ชีวิตของสัตว์ ชีวิตของคนตามความรู้สึกของคนทั่ว ๆ ไปว่า เราเกิดมามีชีวิต และเราเกิดมามีชีวิตนี่ มีคำว่า “เรา” ทีเดียว ออกจากท้องแม่ก็มีชีวิต และจะตายเมื่อหมดลมหายใจ อาจจะ ๖๐, ๗๐, ๘๐ ปีก็ตาย หมดชีวิตก็หมดลมหายใจ และในระหว่างที่เกิดมามีชีวิตนั้น มีทุกข์ มีสุข มีได้ มีเสีย ผิดหวัง สมหวัง อยู่ตลอดเวลา พอตายหมดลมหายใจ บางคนก็เชื่อว่า ตายแล้วไปเกิดอีก บางคนก็เชื่อว่า ตายแล้วสูญหมดเลย นี่คือชีวิตของความเข้าใจของคนทั่ว ๆ ไป เข้าใจชีวิตในระดับนี้ ท่านต้องเข้าใจชีวิตในระดับนี้ ท่านเกิดมาก็เพื่อทำหน้าที่ของท่านให้ถูกต้อง ท่านเป็นอะไรบ้าง ชีวิตอันนี้มีฉันซึ่งเกิดมา เป็นอะไรบ้าง เป็นลูก เป็นบุตร เป็นเพื่อน เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า เป็นพลเมืองของประเทศ เราต้องทำหน้าที่ให้ถูกต้อง เป็นแม่ เป็นลูก เป็นสามี-ภรรยา อะไรก็ตามใจ อันนี้คือชีวิตตามความเข้าใจคนทั่ว ๆ ไป และเราเดินหน้าก็เข้าใจกับชีวิตในขณะนี้ แค่นี้โดยมาก ฉะนั้น นั่งก็แค่นั้น พอเลยความสามารถแล้ว หนักก็ฉันจะทำยังไง ตายแล้วเกิดใหม่หรือไม่ท่าน ตายแล้วจะสูญไปเลยไหม นี่คือชีวิตในความหมายที่ ๒
๓. ชีวิตในความหมายที่ ๓ อันนี้ขอให้ตั้งใจฟัง เพราะว่าหลายท่านไม่เคยได้ยิน ได้ฟัง ในทางพระพุทธศาสนาถือว่า ทุกสิ่งมันจะมี ต่อเมื่อมันทำหน้าที่ของมัน ทุกสิ่งจะมีต่อเมื่อทำหน้าที่ของมัน อย่างนี้ขณะนี้จมูกท่านไม่ได้มี เพราะท่านไม่ได้เอามาดมกลิ่นอะไร เพราะว่าไม่มีจมูก อาจจะมีหูก็คือฟังอาตมาอยู่ มีหู บางคนก็หลับตา ก็เท่ากับตาไม่มี ท่านหาได้มีลิ้นเพราะท่านยังไม่ได้เอามากินอะไร ไม่ได้เอามาชิมอะไร ทุกสิ่งจะมีต่อเมื่อทำหน้าที่เท่านั้น เพราะมันจะมีต่อเมื่อท่านเอามากางกันแดดหรือกันฝน วันนี้หลายท่านก็ไม่ได้มีร่ม แต่ประเดี๋ยวฝนตก ร่มก็ทำหน้าที่ รถยนต์จะมีต่อเมื่อไร เอามาขับไปทำธุระกิจหรือไปติดต่อการงาน ทุกสิ่งจะมี บางท่านเดี๋ยวนี้พัดกำลังจะมีแล้ว เอาพัดขึ้นมาพัด เมื่อกี้นี้ยังไม่ได้มี ใช่ไหม คนหยิบขึ้นมาพัด พัดก็มีขึ้น บางคนก็หูก็ไม่ค่อยมี เพราะว่าไปคุยกับคนอื่นเสีย ไม่ได้เอามาฟัง เพราะหูไม่มี ท่านจำข้อกำหนดหรือกฎเกณฑ์อันนี้ให้ได้ว่า ทุกสิ่งจะมีต่อเมื่อทำหน้าที่เท่านั้น
ต่อไปนี้ชีวิตจะมีเมื่อไร ปรกติแล้วไม่ได้มีชีวิตหรอก เมื่อตาไปเห็น ตาไปเห็นรูป ตาก็มีขึ้น รูปก็มีขึ้น แล้วสิ่ง ๆ หนึ่งเกิดขึ้นด้วย ก็คือ สมรรถนะในการที่จะรับรู้การเห็นอันนั้น เราเรียกว่า จักษุวิญญาณ ก็มีขึ้น พอตาไปเห็น เกิดการเห็นต่าง ๆ จักษุวิญญาณก็มีขึ้น จักษุวิญญาณก็มีขึ้น ทั้ง ๓ อย่างนี้เมื่อมีพร้อมกัน เขาเรียกว่า การสัมผัส หรือภาษาบาลีว่า ผัสสะ ก็เกิดขึ้น ก่อนนี้ไม่ได้มีนะ ก่อนนี้ตายังไม่มี รูปยังไม่มี จักษุวิญญาณยังไม่มี แต่เมื่อเอาตาไปดูอะไรก็ตาม ตาก็มีความหมายขึ้นมา แล้วรูปที่เห็นก็มีความหมายขึ้นมา และจักษุวิญญาณ ความสามารถที่จะเห็นได้ ก็เกิดขึ้นมา หลังจากนั้นก็รู้ทีเดียวว่า รูปนี้ดีหรือไม่ดี รูปนี้ดีหรือไม่ดี ดอกไม้นี้สวยหรือไม่สวย เขาเรียกว่าเกิดเวทนา
เวทนาในที่นี้ ท่านอย่าได้เลยไปถึงเรื่องของจิตนะ เป็นเรื่องรู้ของระบบประสาทเท่านั้นเองว่า เป็นความสัมผัสกับสิ่งที่ดีหรือไม่ดี เขาเรียกว่าเกิดเวทนา ตอนนี้ถ้ากิเลสเกิดขึ้นแล้วไปยึดถือเวทนาตัวนั้น ชีวิตก็เกิดขึ้น ก็กูชอบ เกิดชีวิตขึ้นมาแล้ว กูชอบอันนี้ ชอบดอกไม้อันนี้ ถ้ามีใครตำหนิมา หูได้ยินเสียง หูก็เกิดขึ้น เสียงก็เกิดขึ้น โสตวิญญาณก็เกิดขึ้น เกิดทุกขเวทนาทางลบ รู้ว่าเสียงนี้ไม่ดี มึงทำไมมาด่ากู ชีวิตเกิดแล้ว เกิดตรงนั้นเอง เกิดกูขึ้นมาหรือยัง เกิดแล้ว แล้วก็เป็นทุกข์
เพราะฉะนั้น ชีวิตอย่างนี้เกิดขึ้นมาขณะ ๆ ๆ ขณะหนึ่งเท่านั้นเอง ใช่ไหม คุณโยมฟังทันไหม เพราะมาเกิดเป็นขณะ ๆ ชีวิตอย่างนี้เป็นชีวิตที่อาตมาคิดว่า เขาเรียกว่าชีวิตที่เป็นปรมัตถ์ ยัง ยัง นั่นเป็นสมมติโลกเท่านั้นเอง เป็นปรมัตถ์เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว เพราะฉะนั้น เมื่อไปสัมผัสกับสิ่งที่ดี ก็คิดว่าชีวิตนี้มีความสุข ออกไปสัมผัสกับสิ่งที่ไม่ดี ชีวิตนี้เป็นทุกข์ ทุกข์ สุข เกิดเป็นขณะ ๆ หนึ่งเท่านั้นเอง แล้วก็จางหายไป ชีวิตอย่างนี้เกิดเป็นขณะ ๆ ไม่เหมือนกับอย่างแรกที่เกิดจน ๘๐ ปี หรือ ๙๐ ปี แล้วก็ดับไป อันนี้คุณโยมเข้าใจนะ ไม่เข้าใจ เข้าใจไหม
พอได้กินอาหารปั๊บ อะไรเกิดขึ้น ลิ้นรับรสอาหาร แล้วก็ชิวหาวิญญาณ แล้วถ้ารสอาหารนั้นอร่อย กูได้กินอาหารที่อร่อย ชีวิตนั้นก็เป็นสุข ถ้าอาหารนั้นไม่ถูกปาก กูไปกินอาหารที่แย่ ชีวิตนั้นก็เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น ชีวิตนั้นมีทุกข์บ้าง สุขบ้าง ทุกข์บ้าง สุขบ้าง แล้วก็จางหายไปอีก ชีวิตอย่างนี้ป่วยการที่ท่านจะถามถึง ตายแล้วเกิดหรือไม่ ไม่ต้องถาม เพราะว่าเดี๋ยวนี้ท่านก็ไม่ได้มีชีวิต ไม่ต้องถามว่าตายแล้วเกิดหรือไม่ ตายแล้ว ตายแล้วสูญ หรือตายแล้วเกิดอีก ไม่ต้องถาม ทำไมถึงไม่ต้องถาม เพราะว่าเดี๋ยวนี้ ท่านก็ไม่ได้มีชีวิต อันนี้เป็นชีวิตความหมายที่ ๓ ก็คือ ชีวิตที่มีเป็นขณะ ๆ เกิดขึ้นเมื่อมีการสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ ทาง นี่ชีวิตในความหมายที่ ๓
๔. ส่วนชีวิตในความหมายที่ ๔ อันนี้เป็นเรื่องลึกซึ้งและเป็นเรื่องชีวิตในทุก ๆ ศาสนา คิดกับพุทธศาสนายังไง เมื่อตาเอาหูดีกว่า เมื่อหูไปได้ยินเสียง สมมติว่ามีใครมาตำหนิ มานินทาท่าน หูกับเสียงคือ โสตวิญญาณก็เกิดขึ้น เขาเรียกว่าอะไร ผัสสะ เรารู้สึกว่าเสียงนี้ไม่ดี เป็นเสียงตำหนิ เสียงด่า เสียงนินทานี้ไม่ดี ก็เวทนา ทุกขเวทนาทางหู รู้สึกว่าเสียงนี้ไม่ค่อยดี ก็เป็นทุกขเวทนาทางหู แล้วเสียงนี้ก็อยู่ทั้งวันไหม ก็จางหายไปอีก เวทนาตัวนี้ไม่เที่ยง นี่คือคุณสมบัติของเวทนาทั้งหลาย ไม่เที่ยง แล้วก็มีตัวมีตนที่ถาวรไหม ไอ้คำด่าอันนี้น่ะ จะมีปรากฏการณ์วูบเดียว ไม่มีตัวตนที่ถาวร เป็นอนัตตา ไม่เที่ยงก็คือ อนัตตา เพราะฉะนั้น เวทนาตัวนี้ยึดถือมันได้ไหม ถ้าคนไม่อย่างนั้น คนไม่อย่างนั้น คนไม่เห็นความจริงของเวทนาตัวนี้ ที่เกิดขึ้นทางตาบ้าง ทางหูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง ใจบ้าง พอเขามาตำหนิท่าน ใครมาด่ากู ก็แสดงว่าไปให้ความสนใจกับไอ้คำตำหนินั้น คำด่านั้น โดยไม่รู้ความจริงว่ามันเป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตนที่ถาวรอะไรเลย การที่ไปสนใจด้วยความไม่รู้จริง เขาเรียกว่าตัณหา
- ตัณหาก็คือการให้ความสนใจกับสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้น ไปให้ความสนใจในรูปเสียง กลิ่น รส ด้วยความหลงใหล มัวเมา เขาเรียกกามตัณหา
- ให้ความสนใจในการที่จะมีจะเป็นในสถานภาพต่าง ๆ ด้วยจิตหลงใหล มัวเมา ก็เรียกว่า ภวตัณหา
- ให้ความสนใจกับสิ่งที่เราเป็นฝ่ายสูญเสีย เช่น คำตำหนินินทา ก็เพราะความสนใจยึดถือมันเข้า เรียกว่า วิภวตัณหา เป็นฝ่าย Negative คือเป็นฝ่ายลบ เขาเรียกว่า ตัณหาเหมือนกัน
ใครมาด่ากูนะ ที่จริงก็รู้แล้วว่าคำด่า คำนินทานั้นมันก็ไม่เที่ยง ใครมาด่าฉัน ทำไม ฉันเสียหาย เขาเรียกว่า ตัณหา แล้วก็ย้ำคิดย้ำทำอยู่นั่นแหละ มึงมาด่ากูทำไม มาด่ากู ใครมาด่ากู ด่าทุกที เห็นหน้าทีไรด่าทุกที อันนี้อุปาทาน อุปาทานคือย้ำคิดย้ำทำ ไม่ยอมปล่อย ภาษาฝรั่งเรียกว่า Cling คือยึดถือเอาไว้ หรือ Attach ยึดถือเอาไว้ไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมปล่อยออกไป ไอ้คำด่านั้นแหละถูกยึดถือเอาไว้ แล้วจิตใจของท่านเมื่อก่อนนี้ก็ว่าง ๆ อยู่ เดี๋ยวนี้จิตของท่านกลายเป็นจิตที่มีแต่ภาพใหม่ มีสภาวะใหม่ คือ เกิดความโกรธ ก่อนนี้ไม่ได้โกรธ ก็แสดงว่าจิตนั้น จิตเดิมนั่นแหละ แต่เสวยภาวะใหม่ เขาเรียกว่าภพ อุปาทานทำให้เกิดภพ
ภพคือ ภาวะของจิตซึ่งเป็นจิตใหม่ จิตที่โกรธนี่เป็นจิตใหม่ เมื่อจิตเก่า จิตเก่าก็เกิดโล่ง ๆ กลาง ๆ เฉย ๆ อยู่นี่ แต่เนื้อตัวร่างกายของท่านเมื่อก่อนก็สงบดี เดี๋ยวนี้ก็เกิดความกระวนกระวายขึ้นมา เร่าร้อนขึ้นมา หายใจถี่ มือไม้สั่น กลายเป็นกายใหม่ขึ้นมา เดี๋ยวนี้เกิดกายใหม่ จิตใหม่ อันนี้คือ ภพ แล้วกายใหม่ จิตใหม่ จิตก็โกรธถึงที่สุด กายก็เร่าร้อน กระวนกระวายถึงที่สุด กายใหม่ จิตใหม่ถึงที่สุด เรียกว่า ชาติ คือการเกิดของชีวิตใหม่ เพราะชีวิตประกอบด้วยกายกับจิต ใช่ไหม มีกายใหม่ จิตใหม่ ก็เป็นชีวิตใหม่
ชีวิตตัวนี้แหละที่พระพุทธเจ้าเรียกว่า ชีวิตนั้นเป็นทุกข์ ไม่ใช่ชีวิตอันนี้ ชีวิตใหม่ที่สร้างขึ้นมาเมื่อตะกี้นี้ หลังจากถูกคำด่า คำนินทามาหยก ๆ นี่เอง มันเกิดมาจากเวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ แล้วก็ชาติ เกิดเป็นกายใหม่ จิตใหม่ที่สมบูรณ์ อันนี้เขาเรียกว่า ชาติ อันนี้ก็ชีวิตใหม่ อันนี้เรียกว่า อัตตา อันนี้เรียกว่า Ego อันนี้เรียกว่า ตัวกู เป็นชีวิตใหม่ที่เกิดมา แล้วชีวิตนี้เป็นทุกข์ไหม กายก็เร่าร้อน กระวนกระวาย จิตก็โกรธ เป็นทุกข์ แล้วกายใหม่ จิตใหม่นี้ อยู่ทั้งวันไหม หรือว่าเดี๋ยวมันก็ค่อย ๆ จางหายไป อันนี้คือ ชรา ก็ค่อย ๆ จางหายไป แล้วก็ ๒๐ นาทีให้หลัง ดับสนิท อันนี้คือ มรณะ
ฉะนั้น นับตั้งแต่ ผัสสะ เวทนา เอ้าว่าต่อไป ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ อาจจะใช้เวลาสัก ๒๐ นาที มรณะแล้ว มรณะของกายใหม่ จิตใหม่ ที่สร้างขึ้นมาเมื่อสักครู่นี้ แล้วจิตของท่านก็กลับมาสู่ภาวะปรกติอีก กายของท่านเร่าร้อนได้กลับมาสงบเย็นอีก เรียกว่าเกิดตายแล้ว ๑ ชาติ คือชีวิตในปฏิจจสมุปบาทเป็นอย่างนั้น เป็นชีวิตที่ท่านสามารถตายแล้ว ร่างกายจะเกิดใหม่อีกหรือไม่ นั่นอยู่ในความหมายที่ ๒ จะเกิดหรือไม่เกิดเรายังพิสูจน์ไม่ได้ ขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละคน อาตมาก็ยังไม่เคยตาย ก็ยังพิสูจน์ไม่ได้ ก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละคน ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า
๑. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะฟังตามกันมา “มา อนฺสฺสเวน”
๒. สอนอย่าเพิ่งเชื่อเพราะว่า ทำสืบ ๆ กันมา “มา ปรมฺปราย”
๓. อย่าเชื่อเพราะว่าข่าวลือ “มา อิติ กิราย”
๔. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะว่ามีในตำรา “มา ปิฏกสมฺปทาเนน”
๕. อย่าเชื่อเพราะเหตุผลทางตรรกะ “มา ตกฺกเหตฺ”
๖. อย่าเชื่อเพราะเหตุผลที่ทำนัยทางปรัชญา “มา นยเหตฺ”
๗.อย่าเพิ่งเชื่อเพราะว่า สังเกตุมาเอาตามอาการ “มา อาการปริวิตกฺเกน”
๘. อย่าเชื่อเพราะตรงกับความเห็นของเรา “มา ทิฏฐินิชฺฌานกฺขนกฺขนฺติยา”
๙. อย่าเชื่อเพราะว่าผู้พูดนี่น่าเชื่อ “มา ภพฺพรูปตาย”
๑๐. อย่าเชื่อว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา อย่าเชื่อ พระพุทธเจ้าตรัสเอง อย่าเพิ่งเชื่อ“มา สมโณ โน ครูติ ”
ดั่งนี้ แต่ว่าสิ่งใดท่านเชื่อแล้ว ปฏิบัติแล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์ เป็นไปเพื่อความสุข บัณฑิตสรรเสริญ เป็นไปเพื่อไม่โลภ โกรธ หลง เป็นไปเพื่อประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและทั้งแก่ผู้อื่น ท่านก็เชื่อและก็ทำสิ่งนั้น ถ้าท่านเชื่อว่าตายแล้วเกิดอีก ท่านก็ปันใจทำความดีเพื่อต้องการเกิดดีชาติหน้า เมื่อท่านเชื่อแล้วทำความดีได้ ก็ควรเชื่อ แล้วก็ทำความดีไป ตามหลักของกาลามสูตร แต่ถ้าท่านเชื่อแล้วไม่มีประโยชน์ ก็ไม่ต้องเชื่อ เพราะว่าเรายังพิสูจน์ไม่ได้ ขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละคน ชีวิตในความหมายที่ ๔ ทบทวนอีกทีหนึ่งดีกว่า
๑. ชีวิตของสัตว์ที่ต่ำกว่าคน
๒. ชีวิตของคนตามความรู้สึกของคนทั่ว ๆ ไป ถ้าชีวิตอย่างนั้น ท่านเกิดมาก็เพื่อทำหน้าที่
๓. ชีวิตในความหมายที่ว่าเกิดมาขึ้นเป็นขณะ ๆ ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ชีวิตอย่างนี้ก็เกิดเป็นขณะ ๆ เมื่อท่านประสบกับสิ่งที่ดี ก็เรียกว่าชีวิตนั้นดี เมื่อท่านประสบกับสิ่งที่ไม่ดี ชีวิตก็ไม่ดี เป็นขณะ ๆ
๔. ชีวิตในความหมายที่ ๔ คือ ชีวิตที่เกิดขึ้นจากการสัมผัส แล้วมีเวทนา แล้วมีตัณหา และมีอุปาทานยึดมั่นถือมั่น แล้วก็จิตใจใหม่ กายใหม่ อยู่ในภาวะใหม่ ไม่ใช่ใคร ในภาวะใหม่ เข้าใจว่าภาวะใหม่ไหม ก็คือ ในสภาพใหม่ ท่านใดที่โกรธ กายก็เร่าร้อน กระวนกระวาย ก็เรียกว่า ชาติภพ แล้วก็ไม่เที่ยง มาแล้วก็ดับไป มรณะ ชีวิตอย่างนี้ เป็นชีวิตในพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า การเกิดเป็นทุกข์ การแก่เป็นทุกข์ การเจ็บเป็นทุกข์ การตายเป็นทุกข์ คือ การเกิด แก่ เจ็บ ตาย คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ของชีวิตใหม่ คือ ตายใหม่ เกิดใหม่ นั่นเอง ไม่ใช่ชีวิตคือ กายอันนี้
พระพุทธเจ้าเอาชนะความเกิดตายได้ ก็คือ เอาชนะความเกิด ตายของกายใหม่ จิตใหม่ นั่นเอง งงหรือเปล่า ถ้าภิกษุปฏิบัติธรรมที่เป็นไปเพื่อความชรา มรณะ ก็แสดงว่าภิกษุยังมีตัณหา อุปาทานอยู่ เลยยังมีกายใหม่ จิตใหม่อยู่ พระพุทธเจ้าบอกว่าภิกษุยังปฏิบัติธรรมที่เป็นไปเพื่อชรา มรณะ ก็หมายความว่าภิกษุยังมีตัณหา อุปาทานอยู่ ใช่ไหม ก็มีกายใหม่ จิตใหม่ ก็มีชรา มรณะอยู่
ฉะนั้น พระพุทธเจ้านั้น ท่านเอาชนะกายชรา มรณะได้แล้ว บางคนก็เอาชนะความตาย เอาชนะได้ยังไง ๘๐ ปียังถูกเขาเอาไปเผาไฟ ต้องเอาชรามรณะของกายใหม่ จิตใหม่เท่านั้นเอง แต่กายใหม่ จิตใหม่นี้คือ สิ่งที่เป็นทุกอย่างที่เป็นฝ่ายความทุกข์และฝ่ายกิเลส
๕. ชีวิตในความหมายที่ ๕ อันนี้สำคัญ สมมติใครมาตำหนินินทาท่าน หรือว่าใครมาตำหนินินทาท่าน หูได้ยินเสียง เกิดผัสสะ แล้วเกิดเวทนา ทุกขเวทนา สำหรับคำตำหนินินทานี้ อาตมาอยากจะชี้แจงกับท่านทั้งหลายนิดหนึ่งว่า พระพุทธองค์ตรัสว่า
คำตำหนินินทานั้น มีแต่ประโยชน์โดยส่วนเดียว ไม่มีโทษเลย คือ
๑. ถ้ามีคำตำหนินินทาจริง ต้องขอบคุณเขา ว่าเขามาชี้ข้อบกพร่องของเรา คนที่จะชี้ข้อบกพร่องของคนอื่นนี่ ต้องเป็นคนเขารักเราจริง ๆ พระพุทธเจ้าบอกว่า เราจะชี้โทษแล้วชี้โทษอีก ตำหนิแล้วตำหนิอีก จะไม่ป้อยอพระภิกษุ แต่จะชี้ข้อบกพร่องให้ ก็จะได้แก้ไข ปรับปรุงตัวเองเสีย ถ้าคำตำหนินินทานั้นจริง ก็ต้องขอบคุณเขาที่เขามาชี้ข้อบกพร่องของเรา
๒. ถ้าคำตำหนินินทานั้นไม่จริง ก็ต้องขอบคุณเขาว่าเขาพูดดักเอาไว้ก่อน ยังเช่นว่า เขาบอกว่าท่านไปขโมยเงินเขามาหมื่นหนึ่ง ไม่จริง ถ้าไม่จริงก็ไม่ต้องโกรธ เพราะว่าถ้าเราทำดี คนอื่นไม่เห็น ว่าเราเป็นคนไม่ดี เป็นคนชั่ว คนไม่ดี แต่เราก็ไม่ชั่วไปตามคำของเขา ในเมื่อเราทำดี ทีนี้เราทำชั่วคนอื่นไม่เห็น หาว่าเราดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้ เราก็ไม่ดีไปตามคำของเขา ในเมื่อเราทำชั่ว ฉะนั้น ดีชั่วเป็นของใคร เป็นของตัวเราเอง ดีชั่วด้วยตัวเราเอง คนอื่นจะทำให้คนบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ไม่ได้ ในเมื่อไม่จริงก็ต้องขอบคุณเขา ว่าเขาพูดดักเอาไว้ก่อน ว่าการขโมยเงินนี่ไม่ดี แต่เมื่อเราไม่ได้ทำ มันก็ไม่เสียหาย ถ้าไม่จริงแล้วยังต้องขอบคุณอีก
๓. ถ้าเขามาตำหนินินทาท่านจริงหรือไม่จริงก็ตาม เขาทำด้วยจิตใจปรกติ ยิ้มแย้มแจ่มใส ขอบคุณเขาว่าเขามาชี้ข้อบกพร่องของเรา แล้วอนุโมทนาต่อเขาว่าเขาปฏิบัติธรรมะได้ เขาไม่โกรธ อนุโมทนาต่อเขา
๔. ถ้าเขามาตำหนินนินทาเราจริงหรือไม่จริงก็ตาม แต่ก็ทำด้วยความโกรธ ขอบคุณเขาแล้วก็แผ่เมตตาให้เขาด้วย ให้เขาเป็นสุข เป็นสุขเถิด อายุตั้ง ๗๐, ๘๐ แล้วยังโกรธอยู่อีก ขอให้เป็นสุข เป็นสุขเถิด ตกลงว่าเราไม่มีขาดทุนเลย มีแต่ประโยชน์อยู่ส่วนเดียว
ใครมาตำหนินินทาท่าน ท่านคงไม่โกรธ ไปขอบคุณว่าที่ฉันทำผิดไป ก็แสดงว่าไม่มีตัณหา มีผัสสะ มีเวทนา แต่ไม่มีตัณหา เมื่อไม่มีตัณหา ก็ไม่มีอุปาทาน เมื่อมีอุปาทานก็มีภพ มีกายใหม่ จิตใหม่เกิด มีชาติไหม มีชราไหม มีมรณะไหม มันก็สู่นิพพาน ถ้าจะพูดให้เป็นฝ่ายบวก การเกิดอย่างนี้ก็เกิดเหมือนกัน คือแทนที่จะเป็นตัณหา ก็เป็นความปรารถนาที่ถูกต้อง แทนที่จะเป็นอุปาทาน ก็กลายเป็นสมาทาน แทนที่จะกลายเป็นภพ ก็กลายเป็นพุทธภาวะ แทนที่จะกลายเป็นชาติธรรมดา ก็กลายเป็นอริยชาติ แล้วก็เกิดเหมือนกัน เกิดชีวิตใหม่เหมือนกัน แต่เกิดเป็นพุทธะ ไม่ใช่เกิดเป็นชรามรณะอย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็เพิ่งมาเกิดเหมือนกัน
การเกิดแบบชีวิตในความหมายที่ ๕ นี้ คือ ชีวิตนิรันดร ตรงกันข้ามกับความหมายที่ ๔ ถ้าไม่มีตัณหา อุปาทาน ก็เรียกว่าอมตะ ไม่มีชรามรณะ ค่อย ๆ ถึงอมตะ ชีวิตนิรันดร ฉะนั้น ชีวิตในทางพระพุทธศาสนา ก็คือชีวิตในความหมายที่ ๕ นี้เอง การที่เรามาทำบุญวันเกิดนี้ ก็ต้องบอกว่าคนเรานั้น เกิดได้ ๒ อย่าง
เกิดอย่างแรก ก็คือ เกิดจากท้องแม่ ใครต่อใครก็ฉลองวันเกิดกันได้ ไป Happy Birthday กันได้ วันเกิดอย่างนั้น คนทานก็ฉลองวันเกิดได้ เพราะเกิดจากท้องแม่
เกิดอย่างที่ ๒ ก็คือ เกิดอย่างความหมายที่ ๕ นั่นแหละ เกิดอย่างอริยชาติ ก็คือว่า เป็นการเกิดทางจิตวิญญาณ เป็นอริยชาติ พระพุทธเจ้า พระสิทธัตถะเกิดจากท้องแม่เป็นอะไร เป็นทารก เป็นทารก เกิดจากท้องแม่เป็นทารก แต่ว่าเกิดเป็นพระพุทธเจ้า เกิดทางจิต เกิดครั้งที่ ๒ เกิดครั้งที่ ๒ คือเกิดทางจิต พระสิทธัตถะเกิดเป็นพระพุทธเจ้า เมื่ออายุ ๓๕ ปี ก็เกิดในทางจิตใจเป็นอริยชาติ อาตมาว่าการฉลองวันเกิดอย่างที่ ๒ ควรจะฉลองมากกว่าอย่างครั้งแรก
ฉะนั้น อาตมาคิดว่า คุณโยมมาทำบุญวันเกิดหลวงพ่อในวันนี้ ควรจะฉลองวันเกิดอย่างไหนมากกว่า อย่างที่บอกมากกว่า ก็อย่างที่ ๑ นี่ ใคร ๆ ก็ฉลองได้ อันธพาลก็ฉลองได้ในวันเกิดอย่างเกิดจากท้องแม่ แต่เกิดอย่างอริยชาตินี่ ต้องเป็นคนที่ปฏิบัติธรรมะ และขอให้พุทธบริษัททุกคน ถ้าเป็นสาวกสงฆ์เราเกิดอย่างที่ ๒ คือเกิดเป็นสาวกพระสงฆ์ ฉะนั้น เราก็มาฉลองวันเกิดในวันนี้ ทำบุญคล้ายวันเกิด จะเรียกว่าอะไรก็ตามใจ อาตมาไม่รู้ว่าเขาเรียกว่าอะไรในวันนี้ ท่านว่าฉลองวันเกิดก็แล้วกัน ก็มนุษย์ทั้งหลายซื่อนัก บางคนก็บอกว่าอริยบุตร อาจาริยบูชาบ้าง ธรรมสมโภชบ้าง มันก็ทำบุญคล้ายวันเกิดบ้าง แล้วท่านก็ล้ออายุท่านกันไปอีกแบบหนึ่ง สรุปว่าเรามาฉลองวันเกิดอย่างที่ ๒ ของหลวงพ่อกันดีกว่า ถ้าหลวงพ่อยังไม่มี ก็ทำให้มีเสียวันนี้ และทุกคนก็ฉลองวันเกิด เมื่อเราให้พรไปยังบุคคลใด ผลก็กลับมาสนอง เราก็ฉลองวันเกิดครั้งที่ ๒ กันทุกคนที่นี่ เวลานี้ เพราะวันเกิดครั้งที่ ๒ นี้ ไม่ใช่วันเกิดอย่างแรก เราเกิดพร้อมกันได้ไหม วันเกิดอย่างที่ ๒ เกิดพร้อมกันได้ไหม ที่นั่นหรือที่นี่ เกิดพร้อมกันได้ แต่วันเกิดอย่างแรกเกิดไม่พร้อมกัน หลายท่านเกิดเดือนนี้ บางคนก็เกิดเดือนหน้า อาตมาเกิดเดือนกรกฎา วันที่ ๒๘ กรกฎา ตรงกับเจ้าฟ้าชาย เกิดอย่างนี้เรียกว่าเกิดอย่างธรรมดา แต่ว่าเกิดทางจิตนี่ ก็คือเกิดในความหมายที่ ๕ เมื่อมีผัสสะแล้วก็มีเวทนา ก็ไม่เกิดตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติก็ไม่มี ท่านก็ถึงนิพพาน ตกลงว่า คำว่าเกิดในพุทธศาสนานั้น คือเกิดในความหมายที่ ๔ และถ้าไม่เกิดก็เป็นความหมายที่ ๕
ทีนี้ ไม่เกิดนี่ เราเรียกให้เป็นฝ่ายบวก เพราะว่าเกิดเป็นพระพุทธเจ้า ที่จริงไม่ได้เกิด ที่จริงความหมายที่ ๕ นี่ไม่ได้เกิด แต่เอาการได้เกิดนี่ เกิดเป็นพุทธะ เพราะว่าเราเอามาบอกอีกที คือเกิดเป็นพุทธะ
อาตมาก็ได้แสดงมาพอสมควรแล้ว ก็หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้เข้าใจชีวิตใน ๕ ความหมาย
๑. ชีวิตของสัตว์
๒. ชีวิตของคนทั่ว ๆ ไป เกิดมาเพื่อทำหน้าที่
๓. ชีวิตที่เกิดเป็นขณะ ๆ
๔. ชีวิตที่เกิดขึ้นเพราะกิเลส ตัณหา อุปาทาน เกิดภพ เกิดชาติ
๕. ชีวิตที่ไม่มีความทุกข์ ก็คือ ชีวิตที่เกิดใหม่ของความเป็นพุทธะซึ่งเป็นหน้าที่ของพุทธสาวกทุก ๆ คน ที่จะปฏิบัติให้เข้าถึงความเป็นอมตะ หรือชีวิตนิรันดร ในความหมายสุดท้ายด้วยกันทุก ๆ คน
หวังว่าการที่เราได้มาร่วมฝึกฝนในวันนี้ บุญกุศลที่ท่านจะอุทิศให้หลวงพ่อ คือทุกคนเป็นพุทธสาวก เป็นสาวกสงฆ์ด้วยกันทุก ๆ คน นั่นคือ บุญกุศลที่ท่านจะอุทิศโดยตรงให้กับหลวงพ่อพระเดชพระคุณพระธรรมโกศาจารย์ในวันนี้ และหวังว่าด้วยความตั้งใจแน่วแน่ มีความเพียรพยายาม ได้บรรลุจุดหมายนั้น และก็มีความสุข ความเจริญในทางของพระพุทธศาสนาตลอดกาลนานเทอญ
สาธุ สาธุ สาธุ