แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ปาฐกถาธรรมประจำวันอาทิตย์ที่ ๒๔ กันยายน ปีพุทธศักราช ๒๕๓๘
พุทธบริษัททั้งหลาย มาบัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
เมื่อวันที่๒๐ กันยายนนี่ เป็นวัน เรียกว่าวันเยาวชนของชาติ ทำไมจึงถือเอาวันที่๒๐กันยายนเป็นวันเยาวชนของชาติ เพราะเป็นวันตรงกับวันประสูติของในหลวงรัชกาลที่๕ ในหลวงรัชกาลที่๕ ประสูติเมื่อวันที่๒๐ กันยายน ในสมัยนั้นวันเฉลิมพระชนมพรรษาก็เป็นวันที่๒๐ กันยา แล้วก็ในหลวงอีกองค์นึงเป็นเยาวกษัตริย์ของพวกเราคือในหัวอานันทมหิดล ทรงประสูติวันที่๒๐กันยายนเหมือนกัน วันประสูติตรงกันกับรัชกาลที่๕ ทางราชการจึงได้ประกาศวันนั้นว่าเป็นวันเยาวชนแห่งชาติ การประกาศวันเยาวชนแห่งชาติเพื่ออะไร เพื่อจะให้ผู้ใหญ่ พ่อแม่ปู่ตาย่ายายครูอาจารย์ได้คิดถึงเยาวชนของชาติ เยาวชนของชาติก็คือลูกหลานของเราทั้งหลายนั่นเอง ว่าจะให้เขาเป็นอะไร ให้เขามีความเป็นอยู่ที่ถูกต้องอย่างไร เพื่อให้ทุกคนได้คิด และจะได้ช่วยกันคิดแล้วจะได้ช่วยสร้างจิตใจเยาวชนให้เป็นคนดีของชาติของบ้านเมือง จะได้ช่วยกันสร้างชาติสร้างบ้านเมืองต่อไป เพราะอนาคตขึ้นอยู่กับเด็ก พวกเราที่เป็นผู้ใหญ่นี้กำลังเดินลง เรียกว่าลงจากภูเขาแล้ว ชั้นแรกก็เดินขึ้นเขา เดินขึ้นไปถึงยอดบ้างไม่ถึงบ้าง แล้วผลที่สุดก็ต้องลงจากยอดเขา ลงมาสู่เชิงเขาแล้วก็มืดค่ำชีวิตก็แตกดับไป คนที่จะอยู่ในโลกต่อไป ดูแลทรัพย์สมบัติของเราทั้งหลาย รับมรดกของเราต่อไปนั้นก็คือลูกหลานของเรา ถ้าลูกหลานเป็นคนดีมรดกที่เราทำไว้ก็จะเจริญงอกงามต่อไป แต่ถ้าลูกหลานเป็นคนไม่ดี ทรัพย์สมบัติที่เราหาไว้ด้วยความยากลำบากก็จะสูญหาย เพราะความประพฤติไม่ดีของลูกๆหลานๆของเรา ประเทศชาติจะตกต่ำ ก็เพราะคนในชาติไม่ได้รับการอบรมบ่มนิสัยให้เป็นไปในทางที่ถูกที่ชอบ กลายเป็นคนประเภทที่เรียกว่า มิจฉาทิฐิ คือมีความเห็นผิดแล้วก็ทำอะไรผิดไปหมดทุกอย่าง ความเสื่อมก็เกิดขึ้นในครอบครัว ในชาติในประเทศ เราไม่อยากจะเห็นความเสื่อมโทรมอย่างนั้น เมื่อไม่อยากจะเห็นความเสื่อมก็ต้องสร้างคนที่เป็นเยาวชนของชาติให้เป็นคนดีมีศีลธรรมประจำใจ เป็นหน้าที่สำคัญที่พ่อแม่ปู่ตาย่ายายครูบาอาจารย์ พระเจ้าพระสงฆ์จะต้องช่วยกันทำกิจกรรมส่วนนี้ ให้มีความเป็นไปในทางที่ถูกที่ชอบ เพื่อสร้างคุณ สร้างชาติ สร้างประเทศให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้นทุกปีเมื่อถึงวันเยาวชนของชาติ เราก็ต้องคิดทบทวนว่าลูกเราหลานเรานี่เรียบร้อยหรือเปล่า มีความประพฤติถูกต้องหรือเปล่า เชื่อฟังพ่อแม่หรือเปล่า เรียนหนังสือดีหรือเปล่า ต้องคิดทบทวน ถ้าเห็นว่าอะไรมีความไม่ถูกต้อง มีความบกพร่องอยู่ด้วยประการใดบ้าง เราก็ต้องช่วยกันแก้ไขให้สิ่งนั้นดีขึ้น เป็นหน้าที่สำคัญที่พ่อแม่ปู่ตาย่ายายครูบาอาจารย์ พระเจ้าพระสงฆ์จะต้องช่วยกันอย่างเต็มฝีมือ ก็ถ้าเราไม่ช่วยกันแล้ว ความเสียหายก็จะเกิดขึ้น ยิ่งในสมัยปัจจุบันนี้แล้ว เยาวชนของเราต้องเป็นคนที่มีความเป็นอยู่ที่ถูกต้อง มีความคิดถูกต้อง มีการพูดถูกต้อง มีการกระทำที่ถูกต้อง มีการคบหาสมาคมกับเพื่อนที่ถูกต้องจึงจะปลอดภัย เพราะโลกมีความเจริญมากทางวัตถุ ความเจริญทางวัตถุนั้นเป็นดาบสองคม จะเกิดทุกข์ก็ได้ เกิดโทษก็ได้ เกิดให้คุณก็ได้ สุดแล้วแต่บุคคลที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ถ้าลูกหลานของเราเป็นคนมีคุณธรรมประจำใจ ความเจริญแบบสมัยใหม่ก็ไม่ทำลาย แต่ถ้าเป็นคนขาดคุณธรรมเป็นหลักครองใจ ความเจริญสมัยใหม่ก็จะทำลายเด็กเหล่านั้นให้เสียผู้เสียคน เกิดความเสียหายได้ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ จึงเป็นเรื่องที่เราทั้งหลายจะต้องช่วยกันคิด ช่วยกันพูด ช่วยกันทำ ให้ลูกหลานของเราเป็นคนดีมีศีลธรรมประจำใจ มีความเชื่อมั่นในทางศาสนา ปฏิบัติตนถูกต้องตามหลักพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็เป็นหลักประกันสำหรับความเป็นอยู่ของเขาในอนาคตได้ อันนี้เรื่องหนึ่ง
มีเรื่องหนึ่ง เราได้ยินข่าวในปัจจุบันนี้ เมื่อสองสามวันมานี้คือมีข่าวว่ามีการเทศน์มหาชาติที่พุทธมณฑล สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาได้เสด็จไปฟังการเทศน์มหาชาติอยู่จนจบ เขามีสามวัน มีกันสามวัน เมื่อวานนี้คงจะจบไปแล้ว ทำไมจึงได้ให้มีการให้เทศน์มหาชาติ การเทศน์มหาชาตินี่เป็นการทำบุญแบบหนึ่งที่มีทั่วประเทศไทยทุกภาคมีเหมือนกัน แต่ว่าเรียกชื่อต่างกัน ภาคเหนือก็เรียกว่าทำบุญมหาชาติ ภาคอีสานก็เรียกว่าทำบุญพระเวส คือเทศน์เรื่องพระเวสสันดร ก็เรียกว่ามหาชาตินั่นเอง ทำกันทุกวัดเมื่อออกพรรษา ภาคใต้ก็เรียกว่ามีงานมหาชาติ ทำกันหลังจากพ้นฤดูฝน ฤดูฝนปักษ์ใต้นั้นมันมีเริ่มตั้งแต่วันออกพรรษา เรื่อยไปจนกระทั่งโน่นเดือนกุมภาก็หมดฝน เพราะฉะนั้นเดือนสามนี่เป็นเดือนที่วัดต่างๆจัดมีงานมหาชาติกันทั่วไป คนนิยมฟังเทศน์มหาชาติกันทั่วไปทุกหนทุกแห่ง เพราะว่าการเทศน์มหาชาติฟังสนุก เพลิดเพลิน ฟังโดยไม่ต้องมีความหมายอะไร แต่ว่าฟังด้วยความตั้งใจ สนุก ก็บอกว่าถ้าฟังเทศน์มหาชาติจบ เริ่มตั้งแต่ต้นจนกระทั่งจบในวันเดียว คนนั้นจะไม่ไปนรก จะไม่ตกนรก ก็แสดงว่าคนที่นั่งฟังเทศน์มหาชาติได้จนจบนะ อดทนมาก มีความอดทน มีความเพียรมาก คนประเภทอย่างนั้นจะไปนรกได้อย่างไร เพราะจิตใจไม่อ่อนแอ มีความเข้มแข็งหนักแน่นก็จะไปนรกกับเขาไม่ได้ คนที่ไปนรกคือคนใจอ่อน ขาดความอดทน ขาดความหนักแน่น ขาดความเพียร ทำอะไรก็นิดๆหน่อยๆแล้วก็เลิกทิ้งๆขว้างๆ อย่างนี้ไปสวรรค์ไม่ได้ ตกไปนรก ทีนี้คนฟังเทศน์มหาชาติเขาก็ฟังกันอย่างตั้งใจ แม้ฟังกันไม่รู้เรื่อง ก็ฟัง เป็นการฝึกความอดทน ฟังกันตั้งแต่เช้ามืดแล้วไปจบเอาเช้ามืดวันรุ่งขึ้น คือตอนเช้ามืดตอนประมาณสักตีห้าเขาก็เริ่มเทศน์ เขาเรียกว่าเทศน์คาถาพัน คาถาพันหนึ่ง เรื่องเวสสันตรชาดก หรือเรื่องพระเวสสันดรนี่เป็นเรื่องยาว เรื่องยาวๆมีอยู่สิบเรื่อง เรียกว่าทศชาติ หรือเรื่องสิบชาติของพระพุทธเจ้า เวสสันดรชาดกเป็นชาติหนึ่ง เป็นคำที่แต่งไว้ในรูปคาถา คาถานั้นก็แต่งให้ไพเราะ จำง่าย แล้วเอามาเทศน์เป็นคาถาพันหนึ่ง เรื่องมันยาวตั้งพันคาถา พระเทศน์คาถาพันนี่ต้องเทศน์ตั้งแต่ตีห้า ก็มีคนฟัง เพราะเขาแจกกัณฑ์ไป คาถาพันบั้นต้น บั้นปลาย คนฟังหลายคน แจกกัณฑ์ไป ใครได้รับกัณฑ์ไหนก็ต้องมาฟังกัณฑ์นั้น แล้วฟังกันต่อไป ส่วนมากที่เทศน์มหาชาตินี่ก็ต้องการเงินบำรุงวัด เพราะแต่ละกัณฑ์นั้นก็มีเจ้าภาพ แล้วก็มีเครื่องกัณฑ์ มีปัจจัยบูชากัณฑ์เทศน์ ปัจจัยนั้นก็เป็นของบำรุงวัด ทำกันมาตั้งแต่โบรมโบราณ เจ้านายบางพระองค์เทศน์กัณฑ์เทศน์มหาชาติได้ ในหลวงรัชกาลที่๕ เมื่อบวชเป็นสามเณร เป็นสามเณรนี่อยู่ในวัง บวชแล้วอยู่ในวัง สมเด็จพระราชบิดาคือรัชกาลที่๔สอนเอง สอนสามเณรเอง แล้วเมื่อตอนใกล้จะสึกก็มีการเทศน์กัณฑ์กุมาร เรื่องกัณฑ์กุมาร สามเณรจุฬาลงกรณ์เทศน์กัณฑ์กุมาร แล้วมีกระจาดใหญ่ เครื่องกัณฑ์มากมาย เจ้านายช่วยกันจัดเครื่องกัณฑ์ถวาย ในหลวงก็เสด็จมาประทับฟัง เทศน์ได้ ส่วนมากเทศน์กันเก่งๆ เทศน์มหาชาติ เมื่อหลวงพ่ออยู่ที่จังหวัดสงขลา สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ท่านเสด็จไปสงขลา แล้วท่านบอกว่าอยากจะนิมนต์พระที่สงขลานี้มาเทศน์กัณฑ์กุมารให้ฟังสักหน่อย เขาก็ไปหาพระที่เป็นนักเทศน์มหาชาติ ได้ท่านสมภารวัดโคกกินรให้มาเทศน์ให้ท่านฟัง ท่านนั่งฟังจนจบกัณฑ์นั้น แล้วก็ยกย่องว่าเทศน์ดี สมัยก่อนเทศน์ธรรมะไม่ค่อยมี ส่วนมากพระนักเทศน์นี่มักจะเทศน์แต่กัณฑ์เรื่องมหาชาติ เทศน์วัดโน้น เทศน์วัดนี้มีชื่อมีเสียง บางองค์ก็มีชื่อทางกัณฑ์นั้นทางกัณฑ์นี้ ไม่เหมือนกัน ทำนองเทศน์ไม่เหมือนกัน แต่ว่าภาษาในหนังสือที่แปลเป็นหนังสือในภาษาไทย เขาเรียกว่าเป็นร่ายยาว เป็นคำคล้ายคำกลอน คล้องจองกันไพเราะเพราะพริ้ง เป็นเรื่องเกี่ยวกับวรรณคดีภาษาไทย นักเรียนสมัยก่อนเรียนชั้นม.๗ ม.๘ เขาให้เรียนเรื่องมหาชาติด้วย เป็นหนังสืออ่าน แล้วก็ให้ท่องบางตอนให้จำได้ เรียกบทขยาน นักเรียนต้องท่องให้จำในบทเหล่านั้น แล้วก็อ่านทำให้ภาษาไทยดีขึ้น เพราะว่ามีศัพท์มากและสำนวนไพเราะเพราะพริ้ง แต่งโดยสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ลูกรัชกาลที่๑บวชอยู่วัดโพธิ์ ท่านแต่งบางกัณฑ์ แต่บางกัณฑ์นั้นแต่งหลายที่หลายแห่ง ของวัดนั้นบ้าง ของวัดนี้บ้าง ท่านเอามารวบรวมให้เป็นเล่มเดียวกัน หนังสืออย่างนี้มีขายที่คุรุสภา ใครอยากอ่านก็ไปซื้ออ่านได้ อ่านแล้วก็เพลิดเพลินดีเหมือนกัน อันนี้ในรูปภาษาบาลี แต่งเป็นคาถารวมทั้งหมดพันคาถา พระท่านก็เอามาเทศน์ในรูปบาลีก่อนแล้วก็เทศน์ภาษาไทย แบ่งเป็นกัณฑ์ๆเริ่มต้นก็กัณฑ์ทศพร
กัณฑ์ทศพรคือว่าพระนางผุสดีจะจุติลงมาเกิดในเมืองคน ก็ไปขอพรจากพระอินทร์ พระอินทร์ให้พรสิบประการ ในพรสิบประการนั้น มีเรื่องดีๆอยู่หลายเรื่อง แล้วก็มาเกิดในเมืองมนุษย์ตามพรทั้งสิบประการนั้น เรียกว่ากัณฑ์ทศพร คือพรสิบประการ
กัณฑ์ที่สองชื่อว่าทานกัณฑ์ กัณฑ์ให้ทาน เพราะว่ากัณฑ์ที่สองนี้ พระนางผุสดีแต่งงานแล้วกับพระเจ้ากรุงสญชัย แล้วก็มีลูกชาย เวลาเกิดนี้ไปเกิดในซอยพ่อค้า ที่เรียกว่าเวสันตระ เวสันตระแปลว่าตรอกพ่อค้า เหมือนในกรุงเทพมีตรอกเยอะแยะ ชื่อต่างๆ พระนางเสด็จประพาสบ้านเมืองไปถึงซอยนั้น ซอยพ่อค้าก็ปวดท้อง เกิดลูกออกมาที่นั่น เลยให้ชื่อว่าเวสันตระ คือเวสสันดรแปลว่าเกิดที่ซอยพ่อค้า เมื่อเกิดแล้วก็โตขึ้น ก็ชอบให้ทาน ชอบให้ทาน ให้ทาน ใครมาขออะไรให้ทั้งนั้น คนมาขอกันเยอะแยะ สมมติว่าบ้านไหนประกาศติดไว้หน้าบ้านว่า ใครต้องการอะไรมาขอได้ เจ้าบ้านไม่ต้องพักผ่อน จะมีคนมาขอกันตั้งแต่เช้าจนค่ำ เพราะคนขอมันเยอะ สมัยนั้นก็เหมือนกัน เมื่อรู้ว่าเวสสันดรกุมารใจดีคนก็มาขอ ขอเสื้อผ้า ขออาหาร ขอช้าง ขอม้า ขอทุกอย่าง ให้ทั้งนั้น ไม่ว่าใครมาขออะไรก็ให้ทั้งนั้น ก็เลยมีคนมาขอช้าง ก็ให้ ให้ช้างไปเลย พอให้ช้างนี่ประชาชนโกรธ ชาวบ้านชาวเมืองโกรธเอาเลยทีเดียว เพราะเขาถือว่าช้างนี้เป็นช้างมิ่งมงคลเมือง เป็นช้างดีของดีของประเทศ ให้ไปประชาชนก็โกรธพระเวสสันดร ในสมัยนั้นมีการเดินขบวนเหมือนกัน สมัยเวสสันดรมีเดินขบวน ชาวเมืองก็เดินขบวนประท้วงมาที่หน้าวัง ประท้วงต่อหน้าพระบิดาคือพระเจ้ากรุงสญชัย บอกว่าลูกชายของพระองค์ทำไม่ถูก ให้ของอื่นไม่ว่า แต่ให้ช้างปัจจัยนาคนี่ไม่ได้ เพราะเป็นช้างสำคัญของบ้านเมือง อันนี้ทำไมจึงมีคนมาขอ พวกเมืองกาลิงคะ กลิงคราษฎร์เกิดฝนแล้ง น้ำแห้ง การเพาะปลูกเสียหาย ทำอย่างไรฝนก็ไม่ตกสักที เลยมีคนแนะนำว่าให้ไปขอช้างเมืองพระเวสสันดร เพราะว่าช้างเชือกนั้นไปที่ไหนแล้วก็ฝนตก เชื่ออย่างนั้น ก็เลยมาขอ พระเวสสันดรกำลังนั่งประทับหลังช้างชมบ้านชมเมือง พวกนั้นแปดคนมาขอแล้ว มาขอท่านก็ให้ พอให้ก็เกิดเรื่อง ประชาชนเดินขบวนประท้วงกับพระเจ้ากรุงสญชัย พระเจ้ากรุงสญชัยท่านก็ดีเหมือนกัน เรียกว่าไม่เห็นแก่ลูก ไม่รักลูกเกินไป ไม่เข้าข้างลูก แต่เห็นว่าประชาชนเขาไม่พอใจ เขาโกรธ แล้วเขาขอร้องว่าให้ขับไล่พระเวสสันดรออกจากเมืองให้ไปอยู่ป่า พระเจ้ากรุงสญชัยก็รับ บอกฉันจะทำตามพวกท่านทั้งหลายขอร้อง พระเจ้ากรุงสญชัยนี่มีหัวทางประชาธิปไตย แม้ลูกทำผิดก็ไม่เข้าข้างลูก รับปากว่าจะเนรเทศให้ไปอยู่ป่า ทีนี้พระมารดาคือพระนางผุสดีได้ข่าวว่าพระเจ้ากรุงสญชัยขับลูกชายออกจากเมือง ท่านก็มา มาพูดตัดพ้อต่อว่า บอกว่าเรามีลูกอยู่คนเดีย เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ลูกก็จะได้ช่วยป้อนข้าวป้อนน้ำ อมยาพ่นฝนยาทาให้ได้รับความสบาย ทีนี้ถ้าลูกชายไม่อยู่แล้วใครจะช่วยเหลือ ก็จะลำบาก พวกศัตรูเขาก็อาจจะทำร้ายเราเมื่อใดก็ได้ ไปพูดให้เห็นใจ พระเจ้ากรุงสญชัยฟังพระนางผุสดีพูด พูดดี พูดไพเราะ พูดในเรื่องไพเราะมาก เป็นถ้อยคำที่สำคัญ พระเจ้ากรุงสญชัยใจแข็งไม่ยอม แม้พระนางผุสดีวิงวอนขอร้องอย่างไรก็ไม่ยอม ไม่ได้ เป็นกษัตริย์ต้องรักษาคำพูด ยอมไม่ได้ ก็เลยไม่ยอมให้ บอกว่าต้องทำตามที่สัญญากับประชาชน รักษาสัจจะกับประชาชน พระนางผุสดีก็เดินกลับวังด้วยความผิดหวัง พระเจ้ากรุงสญชัยก็เรียกเวสสันดรเข้ามา แล้วบอกว่าลูกทำผิด ประชาชนเขาโกรธ ้ พ่อนี่ไม่โกรธไม่เคืองอะไรหรอก ลูกจะให้ทรัพย์อะไรแก่ใครไม่ว่า แต่ว่านี่ชาวบ้านเขาโกรธ เราอยู่กับประชาชน ประชาชนเขาเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เมื่อเขาพอใจ เขาก็ดี ถ้าเขาไม่พอใจก็ไม่ดี ในเรื่องเปาบุ้นจิ้นก็ว่าอย่างนั้น พระเจ้าแผ่นดินถามเปาบุ้นจิ้นว่าใครเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เปาบุ้นจิ้นบอกว่าประชาชนเป็นใหญ่ ถ้าประชาชนเขาสนับสนุนก็เป็นพระเจ้าแผ่นดินได้ ถ้าประชาชนไม่สนับสนุนก็เป็นพระเจ้าแผ่นดินไม่ได้ ปกตินะ สมัยโน้นก็เป็นอย่างนั้น แล้วบอกว่าลูกต้องไปอยู่ป่า พระเวสสันดรก็อ่อนน้อมเชื่อฟังพระบิดา พระบิดาพูดจาให้เหตุให้ผลว่าต้องไปเพราะประชาชนเขาไม่ชอบ แกก็รับว่าจะไปอยู่ป่าหิมพานต์ ไปเป็นฤาษีอยู่ในป่า ความจริงขับคนเดียว ให้ออกไปอยู่ป่านี่คนเดียว แต่เมื่อพระเวสสันดรกลับมาสู่ตำหนักที่ประทับ พระนางมัทรีก็เข้าไปบอกว่า เมื่อเจ้าพี่ต้องไปอยู่ป่า น้องจะนั่งอยู่ในวังได้อย่างไร เป็นภรรยาเมื่อสามีทุกข์ก็ต้องทุกข์ด้วย สามีสุขก็ต้องสุขด้วย นี่สามีเป็นทุกข์หม่อมฉันจะอยู่ในวัง จะอยู่ได้อย่างไร คนทั้งหลายเขาก็จะนินทาว่าไม่รักสามี เพราะฉะนั้นต้องไปด้วย พระเวสสันดรบอกว่าไปอยู่ป่ามันลำบาก ไม่เหมือนอยู่ในเมือง นางมัทรีบอกว่าจะลำบากยากเข็ญอย่างไรก็ต้องไป เพราะมีความจงรักภักดีต่อสามี คำพูดไพเราะมาก ตรงนี้นางมัทรีพูดดี เหตุผล พระเวสสันดรก็เลยต้องไป แล้วก็ไปลาพระเจ้ากรุงสญชัย พระเจ้ากรุงสญชัยก็บอกว่าแม่มัทรีไม่ต้องไปก็ได้ เพราะว่าชาวบ้านชาวเมืองเขาโกรธคนเดียว ไม่ได้โกรธแม่มัทรี มัทรีก็บอกว่าไม่ถูกต้อง เมื่อสามีเป็นทุกข์ หม่อมฉันภรรยาก็ต้องเป็นทุกข์ด้วย ต้องไปช่วยปฏิบัติสามี หาผลไม้มาให้สามีและลูกรับทาน เลยก็ต้องไป ทีนี้วันจะไปมีการให้ทานเป็นการใหญ่ ให้ทานเป็นร้อย ช้างร้อย ม้าร้อย อะไรร้อยๆทั้งนั้น เรียกว่าสัตสดกมหาทาน ให้ทานเป็นการอำลาออกจากเมือง ให้ทานมาก แล้วก็ออกจากเมือง ออกจากเมืองก็นั่งรถม้า นั่งรถเทียมม้าไป ไปๆก็มีคนมาขอม้า มาขอม้าแล้วรถจะไปได้อย่างไร ก็ต้องนั่งอยู่ในรถ รถก็ไปไม่ได้ มีคนอีกพวกหนึ่งมาขอรถ ให้ เขาก็ลากรถไป ท่านทั้งสองก็ต้องเดิน พระเวสสันดรอุ้มชาลี นางมัทรีอุ้มกัณหา อุ้มเดินไปเข้าป่า เดินเข้าป่าไป ทีนี้ก็ไปจนถึงเมืองๆหนึ่งเรียกว่า เมืองเจตราษฎร์ เมืองเจตราษฎร์นี้คล้ายๆกับว่าเป็นเมืองออกของพระเจ้ากรุงสญชัย รู้ข่าวว่าพระเวสสันดรกับนางมัทรีมาก็ยินดีต้อนรับ ไปรับที่นอกเมือง ให้พักที่นอกเมือง แล้วก็เชิญให้เข้าเมือง พระเวสสันดรบอกว่าเข้าเมืองไม่ได้ จะเป็นที่กินแหนงแคลงใจ ความสัมพันธไมตรีระหว่างสองเมืองจะเสียหาย คิดถึงการเมืองเหมือนกัน จะเสียหาย เสียหายอย่างไร ประชาชนเขาจะสงสัยว่าพระเวสสันดรไปพักอยู่ที่เมืองเจตราษฎร์นี่ คงจะสมคบกับพวกเจตราษฎร์ แล้วก็ยกพลมาตีกรุงเจตุดร ทั้งสองพระนครก็จะกินแหนง โกรธเคืองกัน เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นขอบใจที่ท่านทั้งหลายเชิญเราให้เข้าไปในเมือง แต่ว่าเราขอตัว เข้าไม่ได้ ท่านก็ไม่ไป คงพักอยู่นอกเมืองราตรีหนึ่งแล้วก็เดินทางต่อไปป่าหิมพานต์ พวกกษัตริย์เจตราษฎร์ก็เห็นว่าพระเวสสันดรไปอยู่ป่า คนที่มันอยากจะได้อะไรจากพระเวสสันดรมันยังไม่หยุดอยาก เดี๋ยวมันก็จะไปขอรบกวนท่านอีก ก็เลยส่งนายพรานคนหนึ่งชื่อเจตบุตรให้ไปเฝ้าปากทาง ไม่ให้ใครเข้าไปเป็นอันขาด ในบริเวณป่าหิมพานต์ที่พระเวสสันดรอยู่นี้ห้ามคนเข้าไปยุ่ง ใครเข้าไปไม่ได้ พรานก็เข้าไปนั่งเฝ้าเป็นยามอยู่ตรงประตูทางเข้าป่าไม่ให้ใครเข้า พระเวสสันดรก็เดินทางถึงป่า ก็ไปพักถือศีล พระเวสสันดรกับนางมัทรีอยู่กันคนละที่ แล้วก็บอกว่าเวลาตะวันตกดินแล้ว ห้ามนางมัทรีมาบริเวณพระเวสสันดรอยู่ ให้อยู่ในเขตกับลูก แต่ว่าเขตพระเวสสันดรอยู่เป็นเขตหวงห้าม เขตปลอดสตรี ไม่ให้มายุ่ง นางมัทรีก็ปฏิบัติตามข้อสัญญาทุกประการ ตื่นแต่เช้านางมัทรีก็เข้าป่า ไปหาผลไม้ กล้วย ผลไม้ในป่ามีเยอะแยะ ก็ไปเอามาถวายพระเวสสันดรและลูก ทำอยู่อย่างนี้ทุกวันทุกเวลา ก็เป็นสุขดี อยู่ในป่าสงบเงียบสบาย แต่ว่าก็มีคนอีกคนหนึ่งในเรื่องคือชูชก ชูชกนี่เป็นพราหมณ์ขอทาน อาชีพทางขอทาน ขอเรื่อยไป ขอได้ก็กลับบ้านเอามาไว้ที่บ้านแล้วก็ไปขอต่อใหม่ ทีนี้พอเอาทรัพย์สมบัติที่ขอได้มาไว้ที่บ้าน แกเกิดกลัวขึ้นมา ไม่ได้การ เราไปเที่ยวขอที่อื่นคนจะตีหลังครัว จะมาปล้นเอาทรัพย์สมบัติของเราไปหมด ไม่ได้ ต้องให้มันปลอดภัยหน่อย ก็เลยเอาไปฝากไว้กับครอบครัวหนึ่งซึ่งมีลูกสาวชื่ออมิตดา ชูชกก็ไปฝากไว้ที่นั่น ฝากแล้วไปๆๆ ไปตั้งนานไม่กลับมาสักที ครอบครัวนั้นก็นึกว่าชูชกคงจะตายแล้ว เพราะตั้งปีสองปีแล้วไม่เห็นกลับมาสักทีนึง เราจะมานั่งเฝ้าทรัพย์อยู่เรื่องอะไร เอามาใช้เสีย ไปซื้อข้าวซื้อของ ใช้จ่ายเรื่อย อยู่ๆชูชกก็โผล่มาเลย มาเอาทรัพย์คืน มาทวงเอาทรัพย์คืน สองตายายก็บอกว่า เอาละทีนี้เราเดือดร้อนแล้ว เพราะเอาของแกไปใช้หมดแล้ว แล้วจะเอาอะไรให้ แต่ว่ายายนั้นฉลาดบอกว่าไม่เป็นไร เรามีลูกสาวสวยงาม ตาชูชกแกแก่แล้ว เอาลูกสาวให้เขาก็คงจะพอใจ เลยค่อยพูดค่อยจา บอกว่าเรือล่มในหนองทองมันไม่ไปไหน ยังอยู่เรียบร้อย แล้วก็เรียกลูกสาวออกมา ยกน้ำยกท่ามาให้ชูชกดื่ม ชูชกเห็นก็พอใจ คนแก่นี่ โคแก่เห็นหญ้าอ่อนมันก็พอใจ ก็เลยบอกว่านี่แหล่ะท่านเอาลูกสาวเราไปก็แล้วกัน เรื่องเงินเรื่องทองไม่ต้องพูดกันอีกต่อไป ก็เลยยกลูกสาวให้ นางอมิตดายังเป็นสาวสวยไปได้ตาแก่ชูชก ไม่สบายเลย แต่ว่านางดี ปฏิบัติสามีเรียบร้อย ไปตักน้ำมาให้สามีอาบ คอยดูแล ทำงานดีมากเรียกว่าเป็นแม่บ้านที่ดี เป็นหญิงตัวอย่างในความเป็นแม่บ้านอย่างถูกต้อง แต่ว่าเวลาแกลงไปท่าน้ำนี่ พวกผู้หญิงอื่นๆมาคอยตัดพ้อต่อว่าเพราะว่าชูชกกับนางอมิตดานี่อยู่กันเรียบร้อย ไม่มีปัญหาในครอบครัว แต่ว่าพวกผู้หญิงอื่นนั้นมีปัญหา ถูกสามีทุบตีบ้าง ด่าว่าบ้าง ก็นึกว่า เอ สามีเรา เมื่อก่อนก็เรียบร้อยดี แต่ตอนนี้ทำไมเปลี่ยนนิสัยเป็นคนดุไปได้ ก็นึกว่าอ๋อ เพราะแม่นี้แหล่ะ สามีได้เห็นนางอมิตดาปฏิบัติดีต่อตาชูชก แล้วก็กลับบ้านมาดุเมียของตน บอกว่าแกไม่เอาไหน ไม่ดูตัวอย่างแม่นางอมิตดาบ้าง เขาได้ผัวแก่ แต่เขาไม่รังเกียจ เขาปฏิบัติดีต่อสามีทุกประการ ชูชกสบายใจ ไอ้เธอนี่มันไม่เอาไหน เถียงกันแล้ว สามีก็ลงไม้ลงมือเข้าบ้าง ภรรยาก็เคืองนางอมิตดา พออมิตดาลงไปท่าน้ำตักน้ำ พวกนั้นก็ไปดักด่า ตัดพ้อต่อว่าให้รำคาญทุกวัน นางก็เลยมาบอกชูชกว่าต่อไปนี้ฉันจะไม่ไปเหยียบท่าน้ำต่อไป เพราะลงไปแล้วมีผู้หญิงชั่วมันมาคอยด่า คอยค่อนแคะฉัน ชูชกว่าเธอไม่ต้องไปก็ได้ ฉันจะไปตักหิ้วมาเอง นางบอกว่ามีธรรมเนียมที่ไหนที่ให้สามีไปตักน้ำมาให้ภรรยาใช้อาบ ล้างมือล้างเท้า ล้างตีน มันไม่มีธรรมเนียม ไม่ได้ แล้วฉันจะทำอย่างไร นางอมิตดาบอกว่าท่านต้องไปหาคนใช้มาให้ฉันใช้ แล้วทีนี้จะไปหาที่ไหนคนใช้ ชูชกจะไปขอที่ไหน ก็ข่าวลือว่าพระเวสสันดรนี้ใจดี มีลูกอยู่สองคนคือชาลีกัณหา นางอมิตดาบอกว่าท่านต้องไปเขาวงกต ท่านต้องไปขอลูกพระเวสสันดรมาเป็นคนใช้ ฉันจึงจะอยู่กับท่าน ถ้าไม่เอาคนใช้มาฉันจะไม่อยู่ด้วย เอาแล้วชูชกเดือดร้อนทีนี้ ต้องเดินทางเข้าป่าไปหาพระเวสสันดร ทีนี้ชูชกจะเข้าป่านี่ พระเทศน์กัณฑ์ชูชกนี่ตลกหน่อย คนฟังชอบ นางอมิตดาก็จัดข้าวจัดของให้สามี ของใดกินก่อนไว้ข้างบน ของใดกินทีหลังไว้ข้างล่าง จัดใส่ถุงใส่ผ้าให้เดินทางเข้าป่าเรียบร้อย ชูชกก็ลาแม่อมิตดาออกเดินป่า ก่อนไปก็เดินเวียนบ้านสามรอบ แล้วก็สั่งเสียนางด้วยประการต่างๆว่าอย่าไปไหน กลางค่ำกลางคืนใครมาเรียกมาร้องอย่าขาน กลัวว่าเจ้าหนุ่มทั้งหลายจะมาตอแย ไปด้วยความเป็นทุกข์ จากเมียสาวก็เป็นทุกข์หน่อย แกก็เดินทางไป ไปจนถึงด่านที่พรานเจตราชเฝ้าพรานเจตราชเลี้ยงหมาไว้หลายตัว ถ้าใครมาพวกหมาก็ต้องไล่กัด ทีนี้พอชูชกผ่านเข้าไปในเขตด่านหมา มันก็ไล่ตาชูชกขึ้นต้นไม้หนีหมา พรานเจตราชได้ยินเสียงหมาเห่าก็ออกมาดู อ้าวนั่นแน่ คนกาลีมาอีกแล้วหรือ จะมารบกวนพระเวชสันดรอีกหรือ แต่ว่าชูชกแกฉลาดกว่าเจตบุตร นายพรานชื่อว่าเจตบุตร แกว่านี่ๆๆ ตราพระราชสีห์อย่าทำดูหมิ่นไปนา ฉันถือสาสน์ตราพระราชสีห์จากพระเจ้ากรุงสญชัย จะให้ไปหาพระเวสสันดร แกจะต้องดูแลฉัน ต้อนรับฉันให้ดี ไม่งั้นจะผิดกฎหมาย เชิญลงมา ความจริงกระบอกนั้นเป็นกระบอกใส่ของกิน ไม่ใช่สาส์นตราพระราชสีห์อะไร ชูชกแกหลอกให้หลงผิด พรานเจตบุตรก็นั่งลงกราบใหญ่โตเลย กราบกระบอกพริก กระบอกเกลือนะเนี่ย ชูชกก็ขู่ใหญ่ แล้วบอกว่าแกจะต้องชี้ทางให้ฉันไปหาพระเวสสันดร เจตบุตรก็เลยชี้ทางให้ไปเรียบร้อย ไปถึงก็เป็นเวลาเย็นแล้ว ชูชกบอกว่าเอาไว้ก่อน ตอนเช้านางมัทรีออกป่า อยู่แต่พระเวสสันดรกับลูก นางมัทรีนี่เป็นสตรีมีความรักลูก ก็จะเป็นผู้กีดกันกระแสกุศล เราไปขอคงจะไม่ให้ คงจะลำบาก ก็เลยนอนเสียก่อน ค่อยไปตอนเช้า พอตอนเช้านางมัทรีเข้าป่าแล้ว ชูชกก็ไป เข้าไปในตอนเช้าเพื่อไปหาพระเวสสันดร ไปถึงก็พูดจา พูดเก่ง ชักแม่น้ำทั้งห้าเข้ามาล่อ บอกว่าน้ำพระทัยของพระองค์นี้เหมือนกับแม่น้ำที่ไหลเต็มฝั่ง คนจะอาบ จะกิน จะใช้สอยก็ได้สะดวกสบาย น้ำพระทัยของพระองค์ก็มีสภาพเช่นนั้น ยอพระเวสสันดร ยอๆไปมาแล้วก็บอกว่า หม่อมฉันมานี่ก็เพื่อขอลูกหญิงชายของพระองค์เพื่อเอาไปเป็นคนใช้ พระเวสสันดรก็บอกไม่เป็นไร ฉันยินดียกให้ แต่ว่ารอหน่อย ให้แม่มัทรีเขากลับมาจากป่าก่อน แล้วท่านก็เอาลูกไปได้ ชูชกแกบอกว่านี่ๆหรือพระเวสสันดร เขาว่าเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต พูดจาไม่กลับกลอก ชั้นแรกบอกว่าจะให้ ทีหลังมาเปลี่ยนใจรอให้แม่มัทรีกลับมา พอแม่มัทรีกลับมาก็จะไม่ให้ อย่างนี้หรือเป็นกษัตริย์ที่มีวาจาสัตย์ พูดอย่างนี้หรือ ตัดพ้อต่อว่า พระเวสสันดรว่าท่านอย่าเข้าใจผิด เราไม่ได้คิดอย่างนั้น เรายินดียกให้ตามคำที่เราพูด แต่ว่าแม่เขาเป็นผู้เกิดลูกมาเหมือนกัน เขารักเขาสงสารลูก ขอให้เขาได้มีส่วนทำบุญพร้อมๆกัน แต่ว่าเมื่อท่านไม่พอใจก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องรอนางมัทรีกลับก็ได้ ท่านเอาไปได้เลย แต่ว่าพอชูชกเข้ามาในบริเวณอาศรม ชาลีกัณหามองดูตาแก่คนนี้รูปร่างพิกลพิการ แข้งคดขางอ เป็นปมเป็นปุ่ม ไม่เรียบร้อย ท่าทางดุร้ายน่ากลัว เราไปหลบซ่อนเสียดีกว่า ก็เลยไปหลบ แต่ว่าได้ยินเสียงพ่อสนทนากับตาชูชก พอรู้ว่าตาชูชกจะมาขอเราทั้งสองไปเป็นคนใช้ พระเวสสันดรก็เที่ยวตามหาลูกเพื่อเอามาให้ชูชก ลูกหนีลงไปอยู่ในสระน้ำ ไปซ่อนตัวอยู่ในสระ แล้วเอาใบบัวปิดไว้ไม่ให้เห็น แต่พ่อรู้ว่าลูกอยู่ในสระ เลยเข้าไปยืนขอบสระไปคุยกับลูก คำพูดนี้เปรียบเทียบว่าพ่อนี้เหมือนกับเป็นเรือกำลังจะข้ามทะเลใหญ่โอฆสงสาร ขอให้ลูกทั้งสองช่วยพ่อ ให้ได้พาเรือไปถึงฝั่งแห่งโอฆสงสาร คือพระนิพพานได้สะดวกสบาย ลูกมาช่วยกันเถิด คำแหล่ตอนนี้ พระเทศน์ดีๆคุณยายที่นั่งฟังน้ำตาไหลกันเป็นแถว คุณยายร้องไห้กันเป็นแถว กัณฑ์นี้กัณฑ์กุมารนี้เทศน์ดีๆร้องไห้ เทศน์ดีมาก พูดจาดี ชาลีบอกน้องว่าสงสารพ่อ พ่อต้องการรักษาคำสัญญาที่พูดกับตาชูชก เราเป็นลูกต้องมีกตัญญูกตเวทีต่อพ่อ ไปเถิดน้อง เลยขึ้นมาจากสระ เข้าไปกราบแทบเท้าพ่อ พ่อก็จูงมือไปมอบให้ตาชูชก ตาชูชกได้มือกุมารทั้งสองเอาเชือกผูกเลย เชือกผูกแล้วก็ลากไป เอาไม้เฆี่ยนต่อหน้า พระเวสสันดรเห็นเข้าก็เกิดอารมณ์ เกิดอารมณ์ว่าพราหมณ์คนนี้ใจหยาบ มาเฆี่ยนลูกเราต่อหน้าเรา เกิดอารมณ์โกรธขึ้นมา แต่ว่าข่มใจได้ ด้วยคิดว่าเขาเฆี่ยนคนใช้ของเขา ไม่ใช่ลูกเราแล้ว เพราะเรายกให้เขาแล้ว ลูกเรานี้เป็นคนใช้ตาชูชก ยกให้เขาแล้ว เราจะไปเสียอกเสียใจก็ไม่ถูก ข่มใจได้ แต่ว่าก่อนที่ชูชกจะจากไปนั้น พระเวสสันดรได้ตีค่าลูกหญิงลูกชายด้วยทรัพย์สมบัติ บอกว่าถ้าใครจะมาไถ่คืนนี่ ชาลีมีค่าเท่านั้น กัณหามีค่าเท่านั้น ตีค่าลูกหญิงราคาสูงกว่าลูกชาย แล้วก็ชูชกก็จำไว้ เผื่อใครจะมาไถ่ต้องให้เท่านี้ ทองเท่านั้น เงินเท่านั้น ว่ากันไปเลย ชูชกก็พาสองกุมารออกเดินทาง เพราะกลัวนางมัทรีจะกลับมา
ทีนี้ก็นางมัทรีก็เข้าป่า ก็เรียกว่ากัณฑ์มัทรี กัณฑ์กุมารตอนให้กุมาร กัณฑ์มัทรีก็นางมัทรีเข้าป่า วันนั้นพระเทศน์ที่พุทธมณฑลชื่อมหาชุมพล อยู่วัดหลักสี่นี่เอง หลวงพ่อนั่งฟังการอภิปรายในสภาเรื่องงบประมาณ และหมุนแวบ มหาชาติหรือ แล้วก็เลยไม่ฟังการอภิปราย ฟังมหาชาติ นั่งฟังแกแหล่แกว่าไป สมเด็จพระเทพท่าน เห็นคุณโยมแก่ๆนั่งก้ม มันเศร้าใจ แม้พวกผู้ชายก็นั่งทำตาปรือ สงสารพระนางมัทรี เพราะว่าเขาพรรณาว่านางมัทรีเข้าป่าวันนั้นมันประหลาด สิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไปหมด ต้นไม้เคยมีดอกมีผล ดอกผลมันหายไปไหนหมด ดูเหี่ยวๆแห้งๆ ไม่ค่อยสดชื่นเหมือนวันก่อน ต้นนี้เคยมีดอกมีลูก แต่ลูกมันไม่มีสักลูกเดียว ต้นนั้นเคยออกดอกแต่ดอกก็ไม่มี ต้นนั้นก็มีฝูงนกมากินลูกไม้ แต่วันนี้นกหายไปไหน คือดูสภาพป่าในวันนั้นแล้วมันมีแต่ความเศร้า พระนางมัทรีมองเห็นว่ามีแต่ความเศร้า ก็สังหรณ์ใจ สังหรณ์ใจว่าวันนี้มันจะเกิดอะไรขึ้นแก่เรา เพราะมีเรื่องประหลาด ก็เก็บผลไม้ได้พอสมควรก็รีบกลับ พอกลับมาถึงทางแคบ มีเสือสิงโตมาขวางทางสามตัว ขวางอยู่ตรงนั้นไม่ให้นางไป นางก็ยกมือไหว้วิงวอนด้วยประการต่างๆ ว่าขอเปิดทางให้หม่อมฉันไปเถิด หลานน้อยทั้งสองกำลังคอยอยู่ จะกินผลไม้ ยังไม่ได้ไป ลูกทั้งสองก็จะมาคอยอยู่ พูดนาน พูดจาคนฟังก็เศร้าใจ ผลที่สุดเสือสามตัวก็หลีกทางให้ นางก็ไป พอไปถึงเขตอาศรม ที่ตรงนี้ลูกน้อยเคยมาเล่น แต่วันนี้ทำไมไม่มาเล่นตรงนี้ ตรงนี้เคยทำอย่างนั้นแต่วันนี้ทำไมไม่มาทำ ทำไมลูกไม่มาคอยแม่อยู่ที่ตรงนั้นตรงนี้ เศร้าใจ เศร้าใจมาก ก็ไปถามพระเวสสันดรว่าลูกอยู่ไหน พระเวสสันดรแกไม่บอก แกบอกว่าเจ้าเนี่ยเข้าป่าวันนี้คงจะไปพบพวกคนธรรม์ วิทยาธรแล้วก็เที่ยวเพลินอยู่ จนลืมลูกลืมผัว ตัดพ้อต่อว่า นางก็เสียใจ เสียใจก็ล้มสลบไป พระเวสสันดรก็ต้องไปเอาน้ำมาชโลม ให้ฟื้นขึ้น พอฟื้นขึ้น พระนางมัทรีก็เห็นว่าศีรษะไปหนุนอยู่บนตักพระเวสสันดรซึ่งเป็นการไม่ถูกต้อง ก็รีบลุกขึ้นถอยมากราบขอโทษ แล้วก็เอ่ยถามถึงลูก พระเวสสันดรก็บอกว่าลูกหน่ะเราให้ทานตาชูชกไปแล้ว ให้เธออนุโมทนายินดีในทานบารมีเรื่องนี้เถิด นางมัทรีก็อนุโมทนา เป็นการจบกัณฑ์มัทรี
แล้วก็มีต่อไปก็พระอินทร์ลงมา พระอินทร์เห็นว่าพระเวสสันดรนี้จะลำบากต่อไป อาจจะมีคนมาขอนางมัทรี แล้วพระเวสสันดรก็จะให้ แล้วก็จะอยู่คนเดียว จะกินอะไร ไม่ได้ต้องไปขอเสียเอง พระอินทร์แปลงตัวเป็นพราหมณ์แก่มา เข้าไปหาแล้วก็เลยขอนางมัทรี พระเวสสันดรก็ยกให้เลย พระอินทร์บอกว่าเอาหล่ะเป็นของเราแต่ว่าขอฝากไว้ก่อน ให้อยู่กับท่าน ช่วยดูแลท่านต่อไป เราไม่เอาไป แต่ให้ใครไม่ได้นะ ต่อไปนี้ให้ใครไม่ได้ เพราะให้เราแล้ว แต่ว่าฝากไว้ให้อยู่กับท่าน อยู่รับใช้ท่าน ทีนี้ว่าต่อไป ชูชกก็เดินทางเข้าป่าเข้าดงกลางคืนแกขึ้นไปนอนบนต้นไม้ เอาสองชาลีกัณหานอนอยู่ใต้ต้นไม้ เสือกัดก็กัดเด็ก แกขึ้นไปนอนข้างบน ลำบากเดือดร้อน แต่ว่าไปๆก็หลงทาง ไม่ได้ไปบ้านเดิม หลงเข้าไปในนครเจตุดร เมืองของพระเจ้ากรุงสญชัย ชาวบ้านชาวเมืองเห็นเข้าว่าพราหมณ์นี้รบกวนพระเวสสันดรให้เดือดร้อน เที่ยวขอๆนี่ก็ไปขอลูกมาแล้ว ช่วยกันจับเลย แกก็บอกว่าอย่าจับฉัน ฉันไปพบพระเวสสันดรมาแล้ว พระเวสสันดรให้ชาลีกัณหาแก่ฉัน ไอ้นี่พูดไม่น่าเชื่อ จับไปถวายพระเจ้ากรุงสญชัย พระเจ้ากรุงสญชัยก็ไต่ถาม หลานนี่ไปพบพระเจ้าปู่ไม่ลุกขึ้นไปนั่งที่พระเจ้าปู่ ไปนั่งอยู่ที่ต่ำนั่น พระเจ้าปู่ก็ตัดพ้อต่อว่าหลานทำไมไม่ขึ้นมากราบปู่ ทำไมไม่มานั่งใกล้ปู่เหมือนเคย ชาลีก็ว่าเดี๋ยวนี้หลานไม่ใช่เป็นหลานปู่แล้ว เป็นคนใช้ของตาชูชก ต้องเจียมเนื้อเจียมตัว จะขึ้นไปนั่งเทียมกับกษัตริย์ได้อย่างไร พระเจ้าปู่ก็บอกว่า หลานเอ๋ย อย่าตัดพ้อต่อว่าปู่เลย ปู่คิดถึงหลานอยู่ทุกวัน วันนี้ปู่ไม่ให้ตาชูชกเอาหลานไป ปู่ต้องเอาหลานไว้ ก็เลยถามชูชกว่าจะเอาหลาน ชูชกก็ว่าต้องให้เงิน ชาลีเท่านั้น กัณหาเท่านั้น ไถ่ตามที่เวสสันดรตั้งราคาไว้ให้ เราต้องไถ่หลานไว้ แล้วก็เลี้ยงต้อนรับตาชูชกเป็นการใหญ่ ตาชูชกแกไม่กินของอร่อยมาหลายวันแล้ว วันนั้นพระเจ้าแผ่นดินเลี้ยงกินใหญ่ เลยท้องเสีย ตาย ก็เรียกว่าท้องแตกตาย มันไม่ได้ท้องแตก ท้องอืด กินมากท้องอืด ท้องขึ้นตาย ชาลีกัณหาเลยได้อยู่กับปู่ เลยเข้าไปกราบปู่บอกพ่อกับแม่ลำบากอยู่ในป่า ขอให้ปู่ไปรับทีเถิด รับพ่อกลับมาที ปู่ก็ปรารภเรื่องนี้ ชาวเมืองเขาก็ให้อภัยแล้ว เพราะรู้ข่าวว่าลำบาก เกิดความเอ็นดู เลยจัดขบวนออก เรียกว่านครกัณฑ์ กลับเมือง ไปรับพระเวสสันดรกลับเมืองชาวเมืองก็ได้ทำบุญทำทานต่อไป
เรื่องพระเวสสันดรนี้เป็นเรื่องใหญ่คือเรื่องให้ทาน ชอบให้ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ตลอดเวลา เป็นเรื่องใหญ่เขาเรียกว่ามหาชาติ ชาติใหญ่ๆมีเวสสันดรชาดก ภูริทัตชาดก เตมีย์ชาดก วิทูรชาดก มโหสถชาดก หลายเรื่อง สิบเรื่อง ก็น่าศึกษาเหมือนกันในชาดกเหล่านั้น แต่ว่าเขาเขียนไว้ในรูปอ่านยาก เขาเขียนให้นักปราชญ์อ่าน ยังไม่มีใครเขียนให้คนธรรมดาอ่าน แต่ถ้าอ่านแล้วก็ได้ประโยชน์มากเหมือนกัน หมดเวลาแล้ว เทศน์มหาชาติหมดเวลาแล้ว