แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ อย่ามัวเดินไปเดินมา หาที่นั่ง ณ ที่ใดที่หนึ่ง ที่สามารถจะได้ฟังเสียงชัดเจน แล้วจงตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
วันนี้เป็นอาทิตย์ที่ ๑๔ เดือนมกราคม ๒๕๓๙ ปีใหม่ผ่านไปอาทิตย์หนึ่งแล้ว วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๒ เมื่อวานนี้ เป็นวันเสาร์ที่ ๑๓ ถือว่าเป็นวันเด็ก วันเด็กราชการจัดขึ้นตามมติขององค์การสหประชาชาติ องค์การสหประชาชาตินี่ได้จัดวันหลายอย่างขึ้นในโลก เช่น วันเด็ก วันแม่ วันพ่อ วันสาธารณสุข และวันอะไรอื่นอีกหลายอย่าง จุดหมายของการทำก็เพื่อส่งเสริมจริยธรรม ส่งเสริมความสำนึกในหน้าที่อันจะพึงปฏิบัติต่อกันและกัน โดยเฉพาะเรื่องวันเด็กนี่ อาจจะไม่ตรงกันทุกประเทศ ประเทศไทยเราถือเอาวันที่ วันเสาร์ที่ ๑๓ มกราคม เป็นวันเด็ก แต่ประเทศอื่นอาจจะถือวันอื่นก็ได้ เขามีกันทุกประเทศ ทุกชาติ ทุกภาษา
การจัดวันเด็กมีจุดหมายอะไร มีจุดหมายเพื่อเตือนพ่อ แม่ผู้ปกครองเด็ก ให้เห็นคุณค่าของเด็ก แล้วช่วยกันอบรมสั่งสอน เพื่อให้เด็กเป็นคนดี เป็นเด็กดีของชาติ ของประเทศ ของโลก ต่อไป นั่นคือจุดหมายสำคัญ ไอ้เรื่องความสนุกสนาน เฮฮาที่จัดขึ้น เพื่อให้เด็กไปดูนั้น เป็นของแถม ไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไร แต่ความสำคัญนั้นอยู่ที่ เตือนพ่อแม่ให้เกิดความสำนึกว่า จะต้องดูแลเด็กของเราให้ดี ไม่ให้เสียผู้เสียคน แล้วก็เตือนเด็กด้วยว่า เป็นวันที่เด็กทุกคน จะต้องนึกถึงผู้ที่เลี้ยงเรามา คือ พ่อแม่ ปู่ตา ย่ายาย แล้วก็มีความสำนึกในหน้าที่เพื่อทำตนให้เป็นคนดี มีสาระ เป็นแก่นเป็นสารสำหรับชีวิต
ในวันเด็กนี้จะมีสิ่งหนึ่งออกมา คือ “คำขวัญสำหรับเด็ก” เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีจะต้องพูดออกมา ก็พูดมาทุกปี เรื่องนั้นเรื่องนี้ ปีนี้ก็พูดออกมาว่า เด็กต้องใฝ่หาความรู้ เชิดชูชาติไทย อะไรว่าไป ๓ เรื่อง เป็นเรื่อง ๓ ประการ ให้เด็กได้รู้ แต่ว่าเด็กก็ไม่ค่อยจะได้จำ ผู้ใหญ่ก็ยังไม่ค่อยจำเลย ว่ามันมีอะไร แต่ว่าความหมายสำคัญของคำเตือนเด็กก็เพื่อ ให้ เกิดความสำนึกว่า เราเกิดมาทำไม เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร สิ่งที่ดีที่สุดที่เราควรทำคืออะไร นั่นคือจุดหมายสำคัญ ที่จะได้บอกให้เด็กได้รู้ได้เข้าใจ แต่ว่าที่ทำกันทั่วไปนั้น ก็คือ เรื่องความสนุกสนาน เฮฮา ของสถานที่ต่างๆ ที่จะเปิดขึ้นสำหรับเด็ก ก็ดีไปอย่างคือเด็กได้ไปดู ไปเห็น เช่นไปดูพระที่นั่งอนันตสมาคม ไปดูสภาผู้แทนราษฎร ไปดูทำเนียบรัฐบาล ไปดูพระบรมมหาราชวัง หรือตามที่ต่างๆ เปิดให้เด็กได้เข้าดูเข้าชม เป็นการทัศนศึกษา ให้ได้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้นให้ถูกต้อง เด็กในชาติใดประเทศใด ควรจะรู้เรื่องของประเทศนั้น ชาตินั้นอย่างถูกต้อง เช่น เด็กในเมืองไทยอยู่ในกรุงเทพ ก็ควรจะรู้ว่า พระบรมมหาราชวังนั้นเป็นอย่างไร ควรจะได้มีโอกาสเข้าไปดูไปชม วัดแจ้งเป็นอย่างไร วัดโพธิ์เป็นอย่างไร เกี่ยวกับด้านวัตถุในทางศาสนา หรือว่า ไปดูเมืองเก่า เช่นอยุธยา เหลืออยู่แต่เจดีย์ปรักหักพัง ก็เป็นบทเรียน เป็นเครื่องเตือนใจให้เด็กดู แล้วจะได้เกิดความคิดในทางที่ถูกที่ชอบ ก็อยู่ที่ผู้นำเด็กก็เหมือนกัน คือ เด็กไปดูแล้วก็ต้องอธิบายให้เด็กเข้าใจว่าสิ่งนี้เสียหายเพราะอะไร โดยมากก็มักจะพูดว่า พม่าข้าศึกยกมาตีกรุงศรีอยุธยา แพ้ แล้วก็เผาบ้านเผาเมือง ทำให้เกิดความเสียหาย การพูดในรูปอย่างนี้ก็จริงไปตามประวัติศาสตร์ แต่ว่าอาจจะเพาะอารมณ์ไม่ดีขึ้นในเด็กก็ได้ คือ เพาะอารมณ์เกลียด พวกพม่า ทั้งหลาย ที่มาทำลายประเทศไทย เป็นการสร้างจิตสำนึกในทางที่เป็นอกุศล ไม่เป็นการถูกต้องเข้าใจ
แต่ถ้าเราพูดให้เป็นธรรมะ เป็นกลางๆ ชี้ให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้ที่มันเสียหาย อยู่ในสภาพอย่างนี้ก็เพราะว่า ขาดธรรมะ ขาดธรรมะ ไม่มีธรรมะในใจ ข้าศึกที่ยกมาตีประเทศไทยหรือประเทศใดก็ตาม เป็นผู้ขาดธรรมะ มีความโลภมาก อยากได้ มีความประทุษร้าย มีความหลง ไม่รู้เรื่องตามสภาพที่เป็นจริง แล้วก็อยากใหญ่ อยากโต อยากดัง อยากมีชื่อเสียง เลยทำการรุกรานประเทศอื่น ด้วยทหารจำนวนมาก เมื่อเจ้าของบ้านที่ถูกรุกรานพ่ายแพ้ ก็ทำลายบ้านเมืองเขา ทำให้เสียหาย ศิลปวัฒนธรรมในทางก่อสร้าง ที่สวยๆ งามๆ ก็ถูกทำลายไป เพราะอำนาจ กิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะนี่เอง
เราทั้งหลายจึงควรจะกลัวกิเลส โกรธกิเลส แล้วก็ระวังไม่ให้ กิเลสเกิดขึ้นในใจของเรา อธิบายอย่างนั้น ก็คือการถูกต้อง เด็กจะไม่เกิดอารมณ์โกรธ อารมณ์เกลียด คนที่มาเผาบ้าน เผาเมือง แล้วก็ไม่มีเรื่องเสียหาย รู้จักให้อภัยแก่กันและกัน แม้เราจะไปพบคนชาตินั้นเข้า เราก็ไม่มีอารมณ์ค้างอยู่ในใจ ไม่ได้นึกว่าไอ้นี่มันเป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง แล้วเกิดอารมณ์ขุ่นแค้นขึ้นมา อาจจะทำอะไรในทางที่ผิดพลาดก็ได้ เพราะไม่เข้าใจตามความจริง แต่ถ้าเราพูดความจริงว่ามันเป็นเรื่องของกิเลส จิตใจคนโดยปกติ มันก็ไม่มีกิเลสอะไร ไม่มีความโลภ ไม่มีความโกรธ ความหลงอยู่ในใจ แต่มันเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว เพราะอารมณ์ที่มากระทบ อารมณ์ที่มากระทบก็คือ รูปผ่านตา เสียงผ่านหู กลิ่นผ่านจมูก รสผ่านลิ้น สัมผัสถูกต้องผ่านกายประสาท เข้าไปสู่ใจ ใจรับสิ่งนั้นด้วยความโง่ความเขลา ด้วยขาดสติ ขาดปัญญา แล้วก็ถูกปรุงแต่งให้เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง ความริษยา พยาบาท อาฆาตจองเวร ขึ้นในใจ ใจผู้นั้นก็เศร้าหมอง ไม่ผ่องใส เร่าร้อน ขุ่นมัว เพราะอำนาจสิ่งเหล่านั้น สิ่งเหล่านั้นที่มันเกิดก็เหมือนกันนั่นแหละ เพราะสรรพสิ่งทั้งหลายมีเกิดก็มีดับ เกิดแล้วก็ดับไป ตามธรรมชาติ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มันมี ๓ ขณะ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แล้วก็รวดเร็ว ความจริงมันก็ดับไปแล้ว แต่ว่าเราไม่ยอมให้มันดับ เพราะเราไปคิดถึงเรื่องนั้น ด้วยอารมณ์เช่นนั้น สิ่งนั้นก็ลุกโพลงขึ้นในใจเราต่อไป เผาเราต่อไป ทำเราให้เดือดร้อนต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ไม่ใช่เรื่องของคนมีปัญญา แต่เป็นเรื่องของคนมีโมหะ มีความโลภ ความหลงในจิตใจ ปล่อยให้ใจถูกครอบงำด้วยกิเลสประเภทต่างๆ เป็นการไม่ถูกต้อง ทำให้เสียคุณค่าทางชีวิต เป็นเรื่องเสียหาย เราคิดได้ ถ้านึกได้ เราก็ระวังไม่ให้มันเกิด มันเกิดทีเดียวแล้วก็ดับไป ไม่เสียหายเท่าไหร่ เพราะมันไม่ได้อยู่อาศัย ในบ้านเรือนของเรา ในใจเรา
กิเลสเข้ามาอาศัย เข้ามายึดครองแล้วมันก็เจริญเติบโตขึ้นในใจของเรา เพราะเราไม่รู้จักมัน ไม่รู้เหตุที่เกิดของสิ่งนั้น รู้ว่ามันให้อะไรแก่เรา สิ่งที่เราได้นั้นเป็นทุกข์เป็นโทษอย่างไร ไม่รู้ไม่เข้าใจ เลยปล่อยให้สิ่งนั้นครอบงำ ติดต่อกันไปนานๆ อะไรก็ตามที่มันเกิดบ่อยๆ ในใจของเรานั้น มันก็กลายเป็นนิสัย กลายเป็นสันดานขึ้นในใจของเรา คือเราชินต่อการกระทำเช่นนั้น แล้วก็ทำบ่อยๆ เช่นคนมีความโกรธ มันไม่ได้โกรธอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้มีความโกรธอยู่ตลอดเวลา เกิดเป็นครั้งคราวแล้วมันก็หายไป แต่เราไม่ยอมให้มันหายไป เราเอาเชื้อใส่ลงไป เหมือนกับไฟมันจะดับแล้ว แต่เราเอาน้ำมันราดลงไป ไฟมันก็ลุกโพลงต่อไป คือ เอาเชื้อเพลิงใส่ลงไป ไฟก็ลุกโพลงๆ ต่อไป เผาต่อไป เสียหายมากมาย ความจริงมันก็ดับอยู่แล้ว ถ้าไม่มีเชื้อ ไม่มีเหยื่อเข้าไปเพิ่มมันก็ดับ
ความคิดทั้งหลายที่เกิดขึ้นในใจเรา จะเป็นอะไรก็ตาม มันก็ดับอยู่ เกิดแล้วมันก็ดับไป แต่เราไม่ยอมให้ดับ เราไม่ยอมให้ดับ ก็เพราะว่า คิดถึงสิ่งนั้นด้วยอารมณ์เช่นนั้น เช่นคิดถึงเรื่องโกรธด้วยความโกรธ คิดถึงเรื่องเกลียดด้วยความเกลียด คิดถึงเรื่องริษยาด้วยความริษยา คิดถึงเรื่องพยาบาทโดยความพยาบาท อย่างนี้ก็เรียกว่า เพิ่มเชื้อขึ้นในใจของเรา ทำให้ใจเรามากด้วยสิ่งนั้น แล้วก็คิดบ่อยๆ ทำบ่อยๆ เมื่อเราทำบ่อยๆ สิ่งนั้นมันก็เป็นนิสัย เป็นสันดานขึ้นในใจของเรา อะไรกระทบนิดก็โกรธ ทบหน่อยก็โกรธ เป็นเหมือนกับว่า ดินประสิวที่ไวต่อไฟ ดินประสิวนี่มันไวต่อที่จะลุกขึ้นมา ใจเราก็เหมือนกันถ้าเราหัดโกรธบ่อยๆ เราก็เป็นคนขี้โกรธ หัดเกลียดก็เป็นคนมักเกลียด หัดริษยาก็เป็นคนมักริษยา เป็นคนมักง่าย ทำอะไรง่ายๆ ก็เป็นคนอย่างนั้น สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ติดตัวเรามาตั้งแต่เราเกิด มันเพิ่งเกิดขึ้น เพราะเราเผลอ เราประมาท แล้วเราก็สร้างสิ่งนั้นขึ้นในใจของเรา ลองเราหัดตื่นสาย สัก ๒-๓ วัน เดี๋ยวก็ติด แล้ว หัดหน้าหนาวนี่ดี หน้าหนาวมันหนาว เช้าๆ แล้วก็ตื่นสาย หัด ๒-๓ วันก็ติดแล้ว เราหัดเป็นคนขยันมันก็ติดความขยัน แล้วก็มีนิสัยขยันทำงานทำการมันเป็นไปตามความคิดของเรา ชีวิตของเรานี่ขึ้นอยู่กับความคิดของเรา
เรานั่นแหละเป็นผู้สร้างอะไรขึ้นในชีวิตของเรา สร้างดี สร้างชั่ว สร้างสุข สร้างทุกข์ สร้างความเสื่อม สร้างความเจริญ สร้างขึ้นเองทั้งนั้น ไม่ใช่ว่ามันเกิดขึ้นของมันเอง แต่เราสร้างขึ้นเพราะเราไม่เข้าใจเรื่องนั้น เมื่อไม่เข้าใจเราก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร เกิดขึ้นอย่างไร ไปมาอย่างไร ไม่รู้ไม่เข้าใจ ก็เลยเป็นอย่างนั้น เสียผู้เสียคน คนเราไม่ได้ติดอะไร เช่นว่า สูบบุหรี่ไม่เป็น เกิดมาใหม่ๆ คุณแม่ไม่ได้สอนให้สูบบุหรี่ สอนให้ดูดนม ให้ดื่มน้ำนมของมารดา หรือว่าให้รับทานข้าว ข้าวต้ม
สมัยก่อนนี้เด็กทานข้าวกับน้ำตาลตโนด น้ำตาลตโนดเอามาบดใช้กะลา ใส่ลงไปในกะลาแล้วก็บดด้วยช้อนทำด้วยกะลา แล้วก็บด บด บด จนมันละเอียดแล้วก็ป้อน ให้เด็กนอนลงบนขาของแม่ คุณแม่ขออภัย นั่งยื่นเท้าไป แล้วก็เด็กนอน เอาข้าวต้มในจาน เอานิ้วชี้เช็ดมาแล้วเช็ดปากลูก ลูกก็กลืนลงไป ทำอย่างนั้น ดูแล้วเหมือนกับข่มเหงเด็ก เวลาเด็กๆ มันก็กินอย่างนั้น แต่เมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้วไปดู เฮ้อ..คุณแม่นี่ข่มเหงลูกมากไปหน่อย เพราะว่าป้อนให้ทั้งๆ ที่ลูกยังไม่ ยังไม่เหมาะที่จะทานอาหารอย่างนั้น เหมาะสำหรับกินนมอย่างเดียว แต่ว่าคนเรามันติดอาหารข้าว ถ้าไม่ได้กินข้าวแล้วหล่ะ ไม่ได้กินข้าว ๒ วันแล้วอยู่อย่างไร ความจริงกินของอื่นแทนข้าวก็อยู่ได้ แต่ว่าความติด ถ้าไม่ได้กินข้าวแล้ว เดือดร้อนกันใหญ่ เป็นปัญหาใหญ่ ทีนี้เด็กเกิดมาฟันยังไม่มี แต่ว่าเอาข้าวบดให้กินเข้าไป เพราะเราเคยอย่างนั้น เลี้ยงมาอย่างนั้น แต่เขาก็เลี้ยงมาจนเติบโตได้ ร่างกายแข็งแรง สุขภาพดี เหมือนกับหลวงพ่อที่ เขาเลี้ยงมาอย่างนั้น แต่หลวงพ่อแข็งแรงดี แล้ว นึกว่าชีวิตของเรานี่ มันน่าจะตายเสียตั้งแต่เด็กๆ เพราะไปเห็นคนเขาเลี้ยงเด็กสมัยนั้น นึกถึงภาพสมัยนั้น แล้วมันน่าจะตาย นอนก็ไม่มีมุ้งกาง ยุงเยอะ ยุงกัดตัวเป็นผื่น มันก็ไม่ตาย ไม่เป็นมาเลเรีย ยุงกัดมาก ไม่มีมุ้ง ไม่มีใครนอนมุ้งเลย นอนเหมือนกัน ไปอยู่วัดก็นอนตากยุง ยุงเต็มเข้าไป ยุงก็กัดกันไป อย่างดีก็เอาผ้าขาวม้าคลุมหัว แต่คลุมหัวมันก็ร้อนอึดอัด ยุงมันไม่กัด แต่เรามันร้อน ต้องเปิด พอเปิดมันก็ จั๊บเข้าให้ มันจ้องอยู่แล้ว มันก็กัดอย่างนั้น
น้ำดื่มก็ไม่สะอาด น้ำในบ่อ ไปดูบ่อที่เราเคยดื่มสมัยนั้น ดื่มไม่ได้ สมัยนี้ไปดื่มไม่ได้ เพราะเห็นว่ามันไม่สะอาดอะไรเลย แต่ก็กิน กินเข้าไปทีละขัน ครึ่งขัน ค่อนขัน กินเข้าไป มันก็ไม่ตาย มันอยู่ได้ แข็งแรง ล่อแหลมต่ออันตราย แต่ก็ไม่ตาย ก็นึกในใจว่ามันก็บุญนักหนา ที่เรามีชีวิตมาได้ มาต่อสู้ต่อไป ได้ทำประโยชน์ให้แก่ชาวโลกต่อไป ไม่ตาย แข็งแรง ต้านทานโรคภัยไข้เจ็บได้ดี ก็นึกถึงว่ามันเป็นอย่างนั้น ชีวิตเราเป็นอย่างนั้นเหมือนกันทุกคน โดยเฉพาะคนที่อยู่ในทุ่งในนา แล้วเว้นไว้แต่คนเกิดในกรุงเทพ มีอะไรทันสมัยหน่อย แต่ว่าเดี๋ยวนี้ กรุงเทพมันก็ร้ายกว่าในทุ่งนา ร้ายกว่า ทุ่งนามันสะอาดกว่าในกรุงเทพ เพราะมลพิษมันน้อย อากาศหายใจสบายในทุ่งน่ะ ไม่มีสารพิษ ไม่มีสารตะกั่วจากไอเสียรถยนต์ มันอยู่ในทุ่ง หายใจคล่อง สะดวก ในกรุงเทพนี่หายใจก็หยับๆ ยั้งๆ เพราะนั้นจึงต้องเอาผ้าปิดจมูก ปิดปาก พวกทำงานเกี่ยวกับทางด่วนเก็บสตางค์ ต้องมีเครื่องปิดจมูก จราจรต้องมีเครื่องปิดจมูก แสดงว่ามลภาวะมันมากขึ้น แต่ก็ไม่รู้จะไปไหน ก็ต้องอยู่กันต่อไป ปลูกบ้านอยู่ในย่านที่เรียกว่าสลัม น้ำซึมสกปรกอยู่ใต้ถุนบ้าน สูดเข้าไปทุกวันๆ มันก็อยู่กันได้อย่างนั้น ไม่มีความสะอาดเป็นอะไรเลย ก็อยู่ได้ไม่ตาย ก็อยู่กันไปอย่างนั้นแหละ แต่ถ้าคนที่เขาเคยอยู่ในที่สะอาดมาเห็นเข้าก็ทุกข์ร้อน ว่าเอ...อยู่กันอย่างไร ไม่ถูกหลักอนามัยซะเลย ก็เป็นทุกข์เป็นร้อน เข้าไปเห็นเข้าก็เป็นทุกข์เป็นร้อน แนะนำเขาว่าควรอย่างนั้นอย่างนี้ เขาก็เฉยๆ เขาเคยทำมาอย่างนั้น ก็ทำอยู่อย่างนั้น เขาไม่เป็นไร ชีวิตมีภูมิต้านทานในตัวโดยธรรมชาติมันก็อยู่ได้ ไม่เสียหาย เรื่องมัน ความเคยชินนั่นแหละ ร่างกายเราชินกับสิ่งอะไรมันก็ปลอดภัย ถ้าไปอยู่ในสิ่งไม่เคยชินมันก็ไม่ปลอดภัย คนที่อยู่บ้านนอก ดื่มน้ำไม่สะอาด พอมาดื่มน้ำประปาเข้าท้องเสีย ถ่ายท้อง อาหารก็ ที่เขาปรุงดีๆ ก็ท้องเสีย แต่อาหารที่บ้านท้องไม่เสีย มันชิน ชินกับสภาพความเป็นอย่างนั้น แต่ใหม่ๆ มันก็เกิดอาการไม่ค่อยจะดี เพราะเราไม่เคย แต่เพราะพออยู่ไปจนเคยแล้ว ก็ชินเข้า ตามธรรมชาติ อันนี้เรื่องเป็นอยู่ทางร่างกาย ก็เป็นเรื่องที่ก็ต้องแก้ไขกันไปตามหน้าที่
ในเด็กที่เกิดมา อยู่ในอ้อมอกของพ่อแม่ พ่อแม่เลี้ยงอย่างถูกต้อง ตามฐานะ ท่านเลี้ยงของท่านอย่างนั้น เคยเลี้ยงมาอย่างนั้น เคยให้กินอย่างนั้น เคยอาบน้ำอย่างนั้น เคยนุ่งผ้าอย่างนั้น เห็นโทรทัศน์เขาประกาศขายแพมเพอร์ช เอามาผูกสะเอวเด็กแล้วเอามาชู อย่างนี้เกิดมาเราไม่เคยใช้ ไปใช้คงอึดอัดตาย ผูกรุงรังอย่างนั้น ไม่ได้ใช้ก็อยู่ได้ ไม่ เป็นไร แล้วผ้าอ้อมสมัยก่อน มันผ้าเก่า เอามาตัดเป็นชิ้นเป็นผืน ยาวกว้างพอสมควร เอามาทำผ้าอ้อม แข็งกระด้าง ไปซักแล้วมันก็แข็ง แล้วซักสมัยก่อนมันไม่มีสบู่ซัก ซักเฉยๆ คือซักเอาไอ้สิ่งที่มันติดผ้าออกไปแล้วก็ผึ่ง มันก็แข็งๆ ไม่ค่อยมีสบู่ใช้ ก็อยู่อย่างนั้น เขาก็ใช้อย่างนั้น เดี๋ยวนี้ขายเครื่องอะไรหลายอย่าง ของแพงๆ ให้คนใช้ บ้านนอกเขาก็ไม่ได้ใช้ ทั้งผู้ใหญ่และเด็กก็ไม่ได้ใช้สิ่งเหล่านั้น เขาก็อยู่กันตามเรื่อง ตามธรรมชาติ แต่ก็มันสู้ได้ อยู่กันมาได้ จนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่ อายุมั่นขวัญยืน ก็เรียกว่า บุญหนักหนาที่ไม่ตายเสียในตอนนั้น ก็อยู่ได้ อันนี้ เป็นเรื่องที่น่าคิด
ทีนี้กาลเด็กในสมัยนี้ มันมีปัญหาเยอะอยู่ ปัญหามาก พ่อแม่บางคนก็มาบ่นให้ฟังว่า ลูกนี่ว่าไม่นอน สอนไม่ฟัง ดื้อ ทีนี้มันก็มีอยู่บ้าง เด็กมันดื้อ คือเราที่เป็นแม่ เป็นพ่อแหละ ไม่ได้ศึกษาเรื่องเด็กเท่าใด แล้วไม่ได้คิดว่าอะไรมันเป็นเหตุให้เด็กมันดื้ออย่างนั้น
มีแม่กับพ่อเอาลูกมาฝากวัด เพราะว่าไม่เรียนหนังสือ ชอบคบเพื่อน ชอบไปเที่ยวกับเพื่อนอะไรต่างๆ ซุกซน เอามาบวช เพื่อให้ช่วยอบรมบ่มนิสัย เอามาบวชแล้วก็ให้พระไปสนทนากับเขา ไปล้วงความรู้สึกนึกคิดของเด็กว่าทำไมจึงซุกซน ทำไมจึงดื้อกับคุณแม่ ทำไมจึงไม่เชื่อ ไม่ฟัง ไม่เรียนหนังสือ เขาก็เปิดเผย เล่าให้ฟัง เล่าว่า พ่อแม่นี่ไม่รักผม อาตมาถามว่ารู้ได้อย่างไรว่า พ่อแม่ไม่รัก พ่อแม่ที่ไหนไม่รักลูก เขารักลูกทั้งนั้น รักอะไร เกิดมาแล้วพอผมโตขึ้นนิดหน่อย ไม่เลี้ยงผม เอาไปให้ยายเลี้ยง คือแม่ พ่อแม่ทำนี่ ไม่ได้ผิดอะไร เอาไปให้คุณยายเลี้ยง เพราะว่าคุณยายท่านอยู่โดดเดี่ยว ไม่มีใครเป็นเพื่อน ให้เลี้ยงหลาน ท่านก็จะได้สบายใจ แล้วคุณยายก็ไม่ใช่คนสมัยเก่า คนสมัยใหม่ เปิดร้านขายของ ขายยา คนก็มาซื้อเข้าซื้อของ คุณยายก็เลี้ยงไป แต่ว่า คุณยายก็อาจเอาอกเอาใจหลานบ้าง เพราะว่าไม่อยากให้หลานเดือดร้อน แต่ว่าหลานมันคิดไม่ได้ พอโตขึ้นมาก็หาว่าพ่อแม่ไม่เลี้ยงตัวให้ยายเลี้ยง เลยเกลียดแม่ แกล้งแม่ ทำดื้อ ทำประชดประชันให้แม่เป็นทุกข์ ให้แม่เดือดร้อนโดยวิธีต่างๆ เขานึกว่าเขาทำอย่างนั้นถูกต้อง ลงโทษแม่เสียบ้าง แม่ก็ไม่รู้ ว่าลูกเป็นอย่างนั้นเพราะอะไร เพราะว่าไม่ได้เคยคุย คุยเขาก็ไม่บอกว่าขุ่นแม่ แต่มาอยู่วัด พระท่านเข้าไปสนทนาเขาอยู่คนเดียว เหงา เคยเที่ยวกับเพื่อนสนุกสนานเฮฮา พอมาอยู่วัดก็รู้สึกเปล่าเปลี่ยว อยากจะสึก บวชคืนเดียวจะสึกแล้ว ไม่อยากอยู่แล้วอยากจะไปเที่ยวกับเพื่อน ก็ยังไม่ให้สึก ให้พระเข้าไปคุย ถามเรื่องถามราว ก็ได้รู้เหตุผลว่าเป็นอะไร ก็ต้องหาวิธีแก้ไป ให้ไปอยู่ เดี๋ยวนี้ส่งไปไว้ที่อื่น คือจะให้เขาได้ทำอะไรบ้าง เคลื่อนไหว ทำงานทำการภายในวัด ก็สั่งพระที่ดูแลว่า คุยให้เขาเข้าใจว่า พ่อแม่มีบุญคุณแก่ลูกอย่างไร พ่อแม่ไม่เคยเกลียดชังลูก แต่ว่าทำไปด้วยความหวังดี แต่เด็กมันคิดไปแง่หนึ่งในทางที่ร้าย
มีเด็ก ๒ คน พี่น้อง เวลานี้ก็เติบโตไปหมดแล้ว พ่อเขาบวชเป็นพระ พ่อนี่เป็นครู ไปอยู่ เกาะสมุย แล้วก็ไปแต่งงานกับผู้หญิงที่นั่น มีลูก ๒ คนฝาแฝด เด็ก ๒ คนนี่ หน้าตาเหมือนกัน อายุรุ่นราวคราวเดียวกัน แล้วเขาก็เรียนหนังสือ คุณแม่ให้ไปอยู่กับคุณน้า เพราะคุณน้าไม่มีลูก แล้วก็เอาลูกให้ไปเลี้ยงทั้ง ๒ คนให้เป็นลูก แล้วน้าก็เลี้ยงดี ให้เล่าให้เรียนจนได้เข้ามหาวิทยาลัย ได้เข้ามาบวชที่นี่ สมัยนั้น นักศึกษามาบวชกันบ่อย ก็มาบวชที่นี่ บวชแล้วคุยกันถามว่า เออ ฉันรู้จักพ่อเธอนะ เขาบวชแล้วไปอยู่เชียงใหม่กับฉันด้วย เคยอยู่สวนโมกข์ พอพูดถึงพ่อ บอกหลวงพ่อย่าพูดถึงพ่อผมเลย ผมเกลียดพ่อ เอ้า ทำไมถึงเกลียดหล่ะ ก็ทำให้แม่ผมเกิดผมมาแล้ว พ่อไม่สนใจเลย ไม่เลี้ยง ไม่เลี้ยงผม ไปบวชเสียนี่ เขาเกลียด บอกว่าที่พ่อไปบวชนั้น เพราะว่า เห็นว่าคุณแม่เลี้ยงเธอได้ ไม่เดือดร้อน เจ้าชายสิทธัตถะออกบวช เพราะเห็นว่าราหุลไม่เดือนร้อน อยู่กับพระเจ้าตา เจ้าย่า คุณแม่อยู่ในวังไม่เดือดร้อนอะไร จึงได้หนีออกไปบวชเสีย แล้ว จะไปพูดว่า เจ้าชายสิทธัตถะ ไม่รักราหุล มันก็ไม่ได้ มันไม่ถูกต้อง พ่อเธอก็เหมือนกัน ที่ไปบวชเพราะเห็นว่าคุณแม่เลี้ยงเธอได้ แม่ผมก็แย่เหมือนกัน เอ้า ว่าแม่อีก แย่ยังไง ไม่เลี้ยงผมหล่ะ ส่งไปให้คุณน้าเลี้ยง อ้าว เธอมองแม่ผิดแล้ว แม่ที่ส่งเธอไปให้คุณน้าเลี้ยง เพราะว่าคุณน้าไม่มีลูก แล้วเป็นคนมีฐานะดี สามีเป็นข้าราชการมีเงินมีทองพอได้ใช้ คุณแม่อยู่บ้านอยู่สวน รายได้มันน้อย ก็เลยส่งไปให้น้อง ซึ่งเป็นน้าของเธอเลี้ยง แล้วน้าของเธอเลี้ยงเธออย่างทารุณ หรือว่าเลี้ยงอย่างเอ็นดูกรุณา เขาเลี้ยงดี เธอเรียนหนังสือชั้นประถม มัธยม จนได้เข้ามหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ เรียนเภสัชคนหนึ่ง เรียนบัญชีคนหนึ่ง ที่เธอได้เข้าจุฬานี่เพราะใคร เพราะน้าใช่ไหม ครับ แล้วที่เธอมาอยู่กับน้าเพราะคุณแม่ส่งมาใช่ไหม ใช่ แล้วเธอไปเกลียดคุณแม่ทำอะไร ถูกต้องที่ไหน คุณแม่ทำถูกแล้วนะ แล้วคุณแม่ก็มาเยี่ยมเธอบ้างไหม ก็มาเยี่ยมกันบ่อยๆ แต่ไม่ได้เห็นให้อะไร เอ้า ก็ไม่ต้องให้ ก็น้าให้อยู่แล้ว คุณแม่จะให้อีกทำไม พูดกันจนเขาเข้าใจ เข้าใจเลยเปลี่ยนความคิด ไม่เกลียดคุณพ่อ ไม่เกลียดคุณแม่ มันมีความคิดเขวไขว แล้วก็เป็นอย่างนั้น
วันหนึ่งมีคนหนุ่มๆ คนหนึ่งมาหา แล้วบอกว่าผมมีปัญหาจะคุยกับหลวงพ่อ เอ้ามีอะไรว่าไป ผมนี่ พ่อแม่ตายหมด แล้วก็ครอบครัวหนึ่งเอาผมไปเลี้ยง เลี้ยงเหมือนลูก ให้ผมเล่าเรียนวิชาการ จนเรียนสำเร็จ ได้ปริญญา ปริญญาตรีแล้ว เวลานี้คุณพ่อ คุณแม่ที่เลี้ยงผมเรียกผมกลับบ้าน บ้านอยู่โน้น นครสวรรค์ เรียกกลับ เรียกไปทำไม จะให้ผมไปแต่งงาน แล้วก็จะเปิดร้านให้ผม เพราะว่าพ่อแม่ผมค้าขาย ผมไม่อยากไป เพราะว่า ๒ คนนั้นไม่ใช่พ่อแม่ผม เขาว่าอย่างนั้น ไม่ใช่พ่อ แม่ของผม ผมไม่อยากจะไป บอกว่าเธอคิดผิดแล้ว เธอ พ่อแม่ตัวจริง ของเธอตายตั้งแต่ตัวเล็กๆ ถ้า ๒ คนนี่ไม่เอามาเลี้ยงเธอจะมีชีวิตอยู่ได้ไหม ตั้งปัญหาถามอย่างนั้น ก็บอก อยู่ไม่ได้ แล้วเขาเลี้ยงเธออย่างดี ไม่ใช่เลี้ยงให้เป็นคนใช้ในบ้าน หรือให้เป็นคนอาศัย แต่เลี้ยงเหมือนลูก ให้เธอเล่าเรียน เรียนประถม เรียนมัธยม เรียนเข้ามหาวิทยาลัย จนได้เป็นบัณฑิต ได้ปริญญาตรี บุญคุณ คนเลี้ยงมันมากกว่าบุญคุณคนเกิดนะ คนเกิดเราถ้าไม่เลี้ยงเราก็เพียงแต่เกิดเท่านั้น เขาเรียกว่า ผู้ให้เกิด พระบาลีเรียกว่า ชนก ชนนี แปลว่า ผู้ให้เกิด แต่มันหนักอยู่ตรงเลี้ยง เกิดมาแล้วไม่เลี้ยงเพียงแต่ให้เกิด แต่ว่าเกิดแล้ว ท่านเลี้ยงเราดูแลเราจนกระทั่งเราถึงฝั่งถึงฝา มีชีวิตเติบโตเป็นผู้ใหญ่บุญคุณล้นเหลือ ถ้าหากว่าเธอไม่ไปตามคำขอร้องของพ่อแม่ที่เลี้ยงเธอนะ เขาจะเสียใจมาก ถ้าเธอทำอะไรให้เขาเสียใจมาก เขาจะบ่นว่า เฮ้อ เลี้ยงลูกคนอื่นมันก็อย่างนี้แหละ มันไม่รู้จักบุญคุณ อาจจะพูดหนักไปว่า เลี้ยงหมายังดีกว่า เพราะหมามันไม่ไปไหน มันรักเจ้าของ แล้วเราเป็นคนมีความรู้แล้วไม่ไปตามที่เขาขอร้อง เขาจะช่วยเธอให้ตั้งเนื้อตั้งตัวได้ จะแต่งงานให้กับผู้หญิงที่เขาเห็นว่าเป็นแม่บ้านที่ดีได้ แล้วก็จะให้เปิดร้านขายของ เธอไม่รับสิ่งนี้ก็โง่เต็มทีล่ะ ว่าไปอย่างนั้น พูดให้เขาฟัง เข้าใจแล้วว่า ครับ ขอบพระคุณ ผมเข้าใจที่หลวงพ่อพูด พรุ่งนี้ผมจะไป ไปแล้ว ก็ไปตามความประสงค์ของพ่อเลี้ยงแม่เลี้ยง เด็กโดยมากที่รู้ว่าคนเลี้ยงไม่ใช่แม่มันขาดความนับถือ มันนึกว่าคนนี้ไม่ใช่แม่ คนนี้ไม่ใช่พ่อ มันนึกในใจอย่างนั้น เพราะว่าไม่มีใครบอกว่า คนเลี้ยงสำคัญกว่าคนเกิด พ่อแม่ที่เกิดมันดีตรงที่เลี้ยงด้วย ถ้าเกิดแล้วไม่เลี้ยงทิ้งๆ ขว้างๆ เกิดถึงเอาไปทิ้งที่กองขยะ ก็ไม่ได้เรื่องอะไร แต่นี้เขาไม่ทิ้งกองขยะเพราะเขาตาย แล้วคนอื่นก็รับไปเลี้ยงด้วยความเมตตากรุณา เธอจึงควรถือว่าคนเลี้ยงน่ะคือ แม่พ่อของเธอ เขาฟังแล้วเข้าใจ เปลี่ยนใจ กลับไปทำอะไรตามที่พ่อแม่ต้องการ มันเป็นอย่างนั้น
ที่นครศรีธรรมราช เป็นคนบวชนาน เป็นมหา อยู่ด้วยกันที่โน่น อยู่คณะเดียวกัน ท่านสึกออกไปมีครอบครัว ได้ภรรยาอายุมากแล้ว ก็ไม่มีลูก ไม่มีลูกก็อยู่ เอาลูกมาเลี้ยงคนหนึ่ง เด็กผู้ชาย เอามาเลี้ยงตั้งแต่แบเบาะ เลี้ยงจนมันเติบโตขึ้น ให้เล่าให้เรียน จบชั้นมัธยมแล้ว อยากให้เรียนอาชีวะต่อไป ไอ้เด็กคนนั้นมันไม่อยากเรียน พูดเท่าใดมันไม่อยากเรียน พ่อเป็นมหาก็พยายามพูดโน้มน้อมจิตใจ ด้วยประการต่างๆ มันรำคาญขึ้นมา มันว่า พ่ออย่าพูดมากเลย ผมรู้นะว่าไม่ใช่พ่อผมนะ มันพูดออกมาอย่างนั้น พ่อที่เลี้ยงน้ำตาไหล เสียใจ แล้วบอกว่า ถูกแล้ว พ่อไม่ได้เกิดเธอ แต่พ่อเลี้ยงเธอมาตั้งแต่ตัวน้อยๆ รักเหมือนพ่อเหมือนลูก ช่วยเหลือให้การศึกษาเล่าเรียน แล้วให้เรียนต่อ เพื่อจะให้มีความรู้ความสามารถ เป็นผู้เป็นคนได้ พูดต่อไป มันโกรธขึ้นมาจับมีดพร้า ของปักษ์ใต้น่ะ พุ่งเข้ามาฟันพ่อเลย แต่ว่าไม่เป็นไร เพราะว่าหลานชายของคุณมหานั่นนั่งดูอยู่ นั่งดูอยู่แล้วมันก็มีมีดเหมือนกัน มีอาวุธเหมือนกัน นั่งดู จ้องดู พอมีดพุ่งเข้ามาจะฟัน คุณลุงของมัน มันฟันไอ้คนนั้น ทีเดียวตายเลย ฟันทีเดียวถูกที่สำคัญ ตาย เอ้าแล้วกัน ตายแล้ว คุณมหาแกก็พาหลานชายพร้อมด้วยอาวุธไปโรงพักอีก ไปบอกโรงพักเอง ไปบอกว่าเรื่องมันเป็นมาอย่างนี้ๆ ตำรวจจะจับไปลงโทษก็ทำไปตามเรื่องเถอะ แกไปสารภาพหมด ตำรวจก็ดี ไม่กักกันไว้ ไม่ต้องประกัน บอกกลับบ้านได้ บันทึกประจำวัน แล้วให้กลับบ้านได้ สู้คดีกัน ตำรวจก็ฟ้องศาลฐานฆ่าคนตาย พยานไปเบิกความอะไรให้เรียบร้อย ศาลตัดสิน ให้อภัยไม่เอาโทษ ไม่ต้องติดคุกติดตาราง ไม่ถูกลงโทษอะไรทั้งนั้น เพราะเด็กคนนี้ไม่มีเจตนา เพราะอะไร เพราะเด็กคนนั้นมันไม่รู้บุญคุณพ่อ มันตายเลยก็ไม่เป็นไร เรื่องจบเรียบร้อย ปลอดภัย นี่เรื่องเป็นอย่างนี้ มันมีบ่อย คนเลี้ยงลูกคนอื่นมีบ่อย
คนขับรถที่พระประแดง ขับรถแท๊กซี่ เป็นคนดี คนเรียบร้อย ก็ได้ภรรยามีลูกติดมาคนหนึ่ง แกก็ส่งเสียให้เล่าเรียน เข้าโรงเรียนฝึกหัดครู ก็ดีหล่ะ แล้วบางทีเด็กมันกลับดึกหน่อย แกก็บอกลูก คนพระประแดงนี่เขายังถือโบราณนะ อย่ากลับให้มันดึกเกินไป คนเขาจะนินทาว่าร้าย ลูกตอบว่ายังไง ฮื้อ คนหัวเก่า สมัยนี้เขาไม่ถือ มันพูดกับพ่อเลี้ยง เขาไม่ถือ แล้วมันก็ทำอย่างนั้น ไม่ว่าอะไร วันหนึ่ง พ่อเลี้ยงแช่กางเกงไว้ แล้วก็จะไปออกรถ หาตังค์มาเลี้ยงครอบครัว บอกลูก นี่กางเกงพ่อแช่ไว้ ช่วยซักหน่อยนะ มันตอบอย่างไรลูกสาว ไม่ซัก แต่ว่าพ่อไม่มีเวลา ช่วยซักหน่อยเถอะ อย่าพูดมากนาพ่อนี่ไม่ใช่พ่อหนูนา อย่าขืนพูดมากนะ พ่อน้ำตาไหล เสียใจ บอกว่า จริงอยู่หนูนี่ไม่ได้เกิดจากพ่อ แต่ว่าพ่อได้กับแม่หนู เมื่อหนูยังเล็กๆ แล้วก็เลี้ยงดูหนูมาอย่างดี แล้วหนูพูดอย่างนี้พ่อเสียใจ แล้วก็ไปขับรถต่อไป นี่มันเป็นอย่างนั้น มันมีเหมือนกัน เด็กที่เราเอามาเลี้ยง มันไม่เหมือนกับลูกของเราเอง แต่ลูกของเราเองบางทีมันก็เก เหมือนกัน เพราะว่าเราให้การอบรมไม่เพียงพอ ไม่ได้สอนให้เขารู้ เขาเข้าใจเรื่องอะไรต่างๆ ถูกต้อง เด็กมันก็เขวไปตามสมัยนิยม
มีโยมคนหนึ่งมาบ่น ร้องห่มร้องไห้ บอกว่าลูกสาว เรียนจบได้ปริญญาแล้ว ชีวิตมันเปลี่ยนไปเจ้าค่ะ ไม่เหมือนลูกสาวคนเดิม พูดอะไรเขาไม่เชื่อไม่ฟัง เขาเชื่อเพื่อนเขา เขาจะไปไหนก็ไป ห้ามก็ไม่ได้ อะไรไม่ได้ ผลที่สุดเขาออกจากบ้าน ไปอยู่กับเพื่อนเขาเลย ไม่อยู่บ้าน แม่ก็เสียอกเสียใจ ก็บอกว่า โยมอย่าไปเสียใจเลย ทำหน้าที่แม่มาอย่างสมบูรณ์แล้ว ก็ เลี้ยงเขาอย่างดี ให้การศึกษา เล่าเรียน จนเขาสำเร็จ เขามีงานทำแล้วเวลานี้ ปล่อยเขาเถอะ อย่าไปกังวลอะไรกับเขาเลย อย่าลงโทษตัวเองให้เกิดปัญหา มีความทุกข์ตรมตรอมใจตัวเองเปล่าๆ ก็เลี้ยงมากับมือ เกิดมันมาพูดอะไรมันไม่เชื่อไม่ฟัง ก็ไม่สบายใจ นี่เป็นคำพูดของแม่ เพราะแม่ก็เป็นครูเหมือนกัน ครูสอนศิษย์ แต่ลูกของตัวนั้น สอนไม่ได้ ครูที่สอนคนอื่นได้เยอะแยะนะ สอนลูกไม่ได้ ครูใหญ่ที่เคยสอนเรามานี่ ท่านสอนดีเรียบร้อย บอกว่า เรานี่เป็นครูสอนลูกศิษย์อื่นๆ ได้ทั้งนั้น แต่สอนไอ้ถก ไม่ได้ ลูกชายเขาเรียกเล่น ว่าไอ้ถก สอนไอ้ถกไม่ได้ มันเป็นเสียอย่างนั้น คือมันชินกันเกินไป ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้นแหละ มันใกล้ชิดกันเกินไป อันนี้มันมีปัญหาอย่างนี้
เรื่องเด็กนี่มีปัญหา ยิ่งสมัยนี้อันตรายมาก เพราะความเจริญทางวัตถุมีมาก แล้วเด็กมันก็คบเพื่อนคบฝูง อันนี้นิสัยของเด็กก็ชอบเพื่อน คือเพื่อนตามใจ เขาก็นึกว่าเพื่อนรักเขา ความจริงไม่ได้รักอะไร แต่ว่ามันเป็นเพื่อนสนุกเฮฮาไปตามเรื่อง ไม่ขัดคอ เขาไม่รู้ว่าเพื่อนที่ไม่เคยขัดคอนั่นจะทำให้เขาเสียคน ให้เด็กเสียคน แล้วเพื่อนคนใดถ้าคอยเตือน คอยชี้ เขาก็ไม่อยากคบ เช่นนักเรียนวัยรุ่นนี่ ถ้าเพื่อนคนไหนคอยเตือนคอยชี้เขา เขาก็ไม่อยากเล่นด้วย บ่นว่า แหม.. กูไม่อยากเข้าใกล้ เข้าใกล้ทีไรมันเทศน์กูทุกที ไม่ชอบ ไม่ชอบการสอนการเตือน แต่ชอบคนที่ตามใจ อันนี้เพื่อนประเภทติดเพื่อนกิน เพื่อนสนุก เพื่อนเล่น มันตามใจ เฮไหนเฮนั่น มันชอบ แล้วเพื่อนเหล่านั้นจะทำให้เราเสียคน แต่เพื่อนที่คอยเตือน คอยชี้ จะทำให้เราดีขึ้น แต่ว่าเด็กไม่ค่อยชอบ แม้คุณพ่อ คุณแม่ พูดบ่อยๆ มันก็ไม่ชอบเหมือนกัน จู้จี้ พูดอะไรบ่อยๆ ไม่อยากให้พูดมาก เขาจะทำตามตัวเขา บางทีเขาก็โต้ตอบคุณแม่ ว่า แม่ หนูโตแล้วนะ เวลานี้อายุ ๑๖ แล้วนะ แม่ไม่ต้องพูดมากหนูรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด ความจริงไม่รู้ แต่มันก็พูดไปอย่างนั้น พูดว่ารู้ทุกอย่าง ความจริงไม่รู้อะไร ยังเป็นคนแยกแยะไม่ออกว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรเสื่อม อะไรเจริญ แยกแยะไม่ออก แล้วจะเรียกว่า เป็นผู้ใหญ่ได้อย่างไร ในเมื่อแบมือขอสตางค์คุณแม่ทุกวันทุกวัน จะเรียกว่า โตได้ยังไง ให้จบปริญญาแล้ว แต่ยังขอสตางค์แม่มันก็ไม่โตหรอก ถ้ามันโตมันช่วยตัวเองได้พึ่งตัวเองได้ เด็กโต ไอ้นี่ยังขอตังค์แม่ แต่เอาสตางค์แต่ไม่เอาเรื่องอื่น ถ้าคุณแม่จะพูดจะสอนอะไรไม่เอา เอาสตางค์ ไปกินไปเล่น ไปสนุกกับเพื่อน เขาชอบอย่างนั้น นี่สิ่งแวดล้อมมันทำให้เด็กเปลี่ยนนิสัย กลายเป็นคนชอบตามใจตัวเอง ทำตามอารมณ์ ไม่ถือหลักไม่ถือเกณฑ์ นี่พ่อแม่เป็นอีกรูปหนึ่ง เป็นอีกรูปหนึ่ง
เมื่อวานเขาก็สัมภาษณ์เด็ก เด็กก็อยากจะให้พ่อ แม่เข้าใจเหตุผลของลูกบ้าง เหตุผลของลูกกับเหตุผลของแม่มันอาจจะไม่ตรงกัน เหตุผลของลูกก็คือว่า ขอให้ได้ทำอะไรตามใจอยาก ใจปรารถนา แต่แม่มองเห็นว่ามันจะเสียหายก็เลยคัดค้าน พอแม่คัดค้าน ลูกก็ไม่ชอบ หาว่าแม่นี่หัวเก่า โบราณ คร่ำครึ ไม่ทันสมัย มันเป็นอย่างนั้น มันขัดกันตรงความเห็นไม่ตรงกัน พูดกันเขาก็ไม่ค่อยฟัง เขานึกว่าเขาเก่งแล้ว ความจริงเด็กก็ยังไม่เก่งอะไรหรอก แต่ว่าเขาคิดผิดไปว่าเขาเก่ง อย่างนี้มีอยู่ทั่วๆไปในครอบครัว เราจึงต้องหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้เด็กได้เกิดความคิดถูกต้อง มีปัญญา รู้จักวิเคราะห์แยกแยะ เรื่องอะไรต่างๆ ว่า อะไรถูก อะไรผิด อะไรควร อะไรไม่ควร นี้มันต้องเอาใจใส่ พ่อแม่ต้องพยายามพร่ำสอน แต่ว่าไม่ใช่สอนพร่ำเพรื่อ พร่ำสอนแต่อย่าสอนพร่ำเพรื่อ ถึงเวลาก็เรียกมาพูดมาคุย อย่าใช้อารมณ์ ใช้ความสดชื่น ยิ้มแย้มแจ่มใส พูดกัน ถามไถ่เรื่องนั้นเรื่องนี้ ถามไป ล่อบ้าง ชนบ้างกับลูกน่ะ เพื่อให้เขาเห็นเหตุ เห็นผล ว่าอะไรเป็นอะไร อย่าสอนท่าเดียว แต่พูดให้เขาได้คิดว่าอะไรมันเป็นอะไร ต้องมีอุบายต้องวางแผนว่าจะพูดอย่างไรกับลูกคนนี้ จะพูดอย่างไร วางแผนให้ดี แล้วก็เรียกมาคุยกัน สนทนากัน หรือพาไปเที่ยว เหมือนเราไปเที่ยวปาร์ค ไปที่สนุกสนาน ไปปิกนิค อะไร ก็ถือโอกาสคุยกัน จากสิ่งแวดล้อมเอามาเป็นเครื่องแนะนำพร่ำเตือนให้เด็กเกิดความคิด ความเห็นในทางจิตใจ คือให้เขาฟังแล้วรู้สึกว่า คุณพ่อ คุณแม่นี่หวังดี ไม่ได้หวังร้าย พูดจาแนะนำพร่ำเตือนกลัวเราจะผิดจะพลาด เพราะเราเป็นเด็ก ยังใหม่ต่อโลก ยังไม่เข้าใจโลกถูกต้อง แต่คุณแม่คุณพ่อ ประสบการณ์มากสู้มาอย่างโชกโชนแล้ว รู้ว่าอะไรเป็นอะไรถูกต้อง เราก็ต้องรับฟังเอาไปพิจารณา พ่อแม่สอนลูก รับฟังเอาไปพิจารณา มันก็ไปได้ แต่ว่าเด็กบางคนอาจจะไม่ยอมรับฟัง เกิดอารมณ์เสียแล้ว เพราะว่าถูกคุณแม่พูด แล้วอารมณ์มันก็เสีย มันไม่รับ อันนี้สำคัญ เราต้องหาวิธีพูดอย่างไรให้ลูกรับ จะแสดงอาการอย่างไรให้ลูกยินดีรับคำพูดของเรา ต้องใจเย็น ใช้คำพูดมีเหตุมีผล เหมาะแก่เวลา เหมาะแก่สถานที่ แก่เหตุการณ์ แล้วก็พูดทำความเข้าใจ
มีเรื่องหนึ่งที่มันยุ่ง พ่อแม่นี่ มักจะไปพูดเปรียบเทียบระหว่างลูกเรากับลูกคนอื่น ไปเปรียบเทียบ อ้า ลูกคนนั้นเขาเก่ง แล้วเราพูดต่อหน้าคนอื่น อันนี้ไม่ได้ ทำให้เด็กเกิดน้อยเนื้อต่ำใจ นึกว่าคุณแม่ไม่รักเรา เอาเราไปประจาน มันไม่ได้ เด็กมันเกิดอารมณ์ เกิดความไม่พอใจเพราะเราพูดอย่างนั้น แล้วบางคนก็พูดบ่อยๆ ให้ลูกได้ยินเวลาพาเด็กมาวัดนี่ พูดต่อหน้าลูก ว่าลูกอันนี้ นี่... เรายกมือ อย่า อย่าพูด พูดเรื่องอื่น ชวนคุยเรื่องอื่น อย่าพูดเรื่องลูกไม่ดี ถ้าจะพูดว่าลูกไม่ดีต้องมาก่อน อย่าเอาลูกมา มาบอกให้ทราบว่า ปมด้อยของลูกมันเป็นอย่างไร มีความบกพร่องอะไร แล้วเอาลูกมาฝากจะได้แก้ ทีนี้มาพูดต่อหน้า เด็กมันก็เกิดอารมณ์เสีย โกรธคุณแม่ แล้วเราก็ลำบากที่จะสอน อันนี้สำคัญ คุณแม่ ก็โดยมากคุณแม่ คุณพ่อไม่ค่อยจู้จี้ มักจะทำอย่างนั้น พูดว่า ลูกมันดื้อ ลูกคนนี้ พูดอะไรมันไม่รู้เรื่อง พูดต่อหน้าคนอื่นที่เขานั่ง เด็กมันก็ไม่สบายใจ เราต้องรู้ว่าเด็กนี่ไม่ชอบให้ใครประจานเรื่องร้าย ของตัว ชมไม่เป็นไร แต่ถ้าติแล้วมันไม่ชอบ อย่าไปติ เวลามาหาพระ อย่าพาลูกมา ถ้าจะเอาลูกมาให้สอน มาแต่คุณแม่มาคนเดียว มาพูดจาทำความเข้าใจ ให้รู้ว่าลูกบกพร่องอะไร เป็นอย่างไร พระท่านก็จะได้ถามเรื่องราวต่างๆ ของชีวิตของลูก แล้วจะหาวิธีแก้ไข เพื่อให้เขากลับจิตกลับใจ เป็นคนที่มีความคิดอ่านถูกต้องขึ้น ก็พอมีทาง ช่วยได้ ต้องร่วมมือกันให้ช่วย มันต้องอย่างนั้น
อย่าไปติว่าลูกต่อหน้าใครๆ แล้วถ้ามีเด็กอื่น อย่าพูด ... นี่เขาดี เธอมันแย่ อย่างนั้นก็ไม่ได้ เด็กมันน้อยเนื้อต่ำใจ พูดอย่างนั้นไม่ได้ อย่าเอาเขาไปเปรียบเทียบกับใคร มีอะไรก็ค่อยพูดค่อยจา เข้าห้องปิดประตูคุยกันไม่ให้ใครรู้ ว่าอะไรเป็นอะไร ลูกก็จะได้เข้าใจเรื่องค่อยพูดค่อยจา มีเหตุมีผล อันนี้สำคัญ
เด็กสมัยนี้มันได้มีการศึกษา ชอบคิดชอบตรอง แต่ว่าบางทีมันคิดไม่ถูก ไม่เป็นยังบกพร่อง ทีนี้พ่อแม่เราต้องช่วยคิด ช่วยตรอง ช่วยชี้ ช่วยแนะ ในบางโอกาส โอกาสที่เขาสบายใจ เวลาที่เขาเหนื่อยอย่าไปพูดกับเขา เขาหิวก็อย่าไปพูดกับเขา เขาอารมณ์ไม่ดีก็อย่าไปพูดอารมณ์ไม่ดี กินโน่นกินนี่ ให้มันเพลิดเพลิน สบายใจก่อนแล้วค่อยพูดกัน พูดด้วยใจเย็น พูดช้าๆ พูดมีเหตุมีผลกับลูก ให้เขารับฟัง ด้วยดี แล้วเปิดโอกาสให้เขาโต้ได้ ถ้าเด็กพูดอย่านึกว่าเด็กเถียง อย่านึกว่ามันไม่ฟังเสียงเรา มันดื้อ อย่าไปนึกอย่างนั้น ให้โอกาสเขาแสดงบ้าง เขามีความคิดอย่างไรในเรื่องนี้ เรื่องการเป็นอย่างนี้เป็นอย่างไร เหตุผลเป็นอย่างไรก็ฟังกัน แล้วค่อยพูดสอน ชี้แจง ให้เขาเข้าใจ ค่อยๆ อย่าใช้อารมณ์กับลูก ใช้เหตุใช้ผล ใช้ความเย็นเข้าว่า
ลูกศิษย์ก็เหมือนกัน คนในบังคับบัญชาก็เหมือนกัน ถ้าเราดุเขา เขาไม่ชอบ และบางคนก็ไม่ชอบเราดุมันอาจจะทำเราให้เสียหาย ประทุษร้ายเราก็ได้ มันมีเหมือนกัน คนบางคนมันประทุษร้ายนาย เพราะว่า ใช้คำพูดที่ไม่เหมาะไม่ควร กับเขาบ่อยๆ นึกว่าเป็นเด็ก อย่างนั้นอย่างนี้ พูดไม่เพราะ ก็เสียหาย ทำให้เกิดปัญหา จึงเป็นเรื่องที่น่าจะได้พิจารณาให้รอบคอบ มีลูกเลี้ยงให้ดี แนะนำลูกให้ดี คอยชี้ คอยแนะ คอยตักเตือน พาไปเที่ยว ไปวัดไปวา ดูว่าพอเติบโตพอสมควร พอพามาวัดได้ ก็พามา ให้ได้ฟังคำสอน แล้วไปชวนคุยกันตามใต้ต้นไม้ ชี้แจงแสดงเหตุผลให้ลูกเข้าใจ อะไรก็จะดีขึ้น วันเด็กมีจุดหมายตรงนี้ แล้วพ่อแม่ก็ต้องช่วยกันประคับประคองลูก อย่าใช้ความรุนแรง แต่ใช้ไม้อ่อน ค่อยๆ ว่ากัน เด็กก็จะเข้าใจความจริง
พูดมาก็หมดเวลาพอดี