แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ต่อไปนี้ก็ขอให้อยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดีเพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
เดือนมกราคมเป็นเดือนต้นปี วันนี้ก็เป็นวันอาทิตย์แรกของเดือนมกราคม หรืออาทิตย์แรกของปี ๒๕๓๙ อากาศสบาย คือ หนาว หนาวมันดีกว่าร้อน เพราะว่าหน้าหนาวนี่เราเอาเสื้อใส่ได้ ให้อุ่นได้ แต่ถ้าร้อนนี่ไม่รู้จะทำอย่างไร ต้องถอดเสื้อทิ้ง เพราะมันร้อน ไม่เหมาะ เหงื่อออกมาก ร่างกายทรุดโทรม เหี่ยวแห้ง แก่ แก่มากตอนหน้าร้อน คนเรานี่เหมือนต้นไม้ ตอนหน้าร้อนแล้วก็ใบร่วงหมด ต้นเหี่ยวเฉา แต่พอหน้าฝนก็ชุ่มชื่น แตกยอด ออกใบ ออกผลให้คนได้กินได้ใช้ต่อไป
หน้าหนาวก็มีสภาพดีเช่นเดียวกัน แต่ว่าในบางท้องที่หนาวมาก เช่นภาคเหนือของประเทศไทย หนาว หมอกลงจัดตอนเช้าๆ เมืองเลยหนาวมากว่าที่ใดๆในประเทศไทย อากาศบนดอย น้ำค้างกลายเป็นน้ำแข็งไปเลยเพราะความหนาว นี่มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ มันก็เป็นไปอย่างนั้น เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ มีหนาว มีร้อน มีฝน แล้วก็สลับสับเปลี่ยนกันไปตามฤดูกาลที่เกิดขึ้นของธรรมชาติ เราอยู่ในโลกก็อยู่กับธรรมชาติ ก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ก็อยู่ได้ ผู้ที่รู้จักปรับปรุงเปลี่ยนแปลงก็อยู่ได้สบาย แต่คนที่ฝืนมากเกินไปมันก็ลำบากเดือดร้อน เราจึงต้องให้พอดีกับเรื่องของธรรมชาติ เช่นหน้าหนาวก็ใช้ผ้าเพิ่มขึ้น หน้าร้อนก็ลดผ้าน้อยลงไป อ้วนนักก็กินให้มันน้อยหน่อย จะได้ลดความอ้วน ผอมมากไป ก็กินเพิ่มเข้าไปหน่อย พออยู่ได้ ไม่ถึงกับเสียหายอะไรมากเกินไป
ทีนี้เรามีชีวิตอยู่นี่ เราอยู่เพื่ออะไร? ถ้าว่าจะตั้งปัญหาขึ้นถามตัวเราเอง ว่าฉันอยู่เพื่ออะไร ก็หาคำตอบให้ถูกต้อง คำตอบที่ถูกต้องก็ต้องตอบว่า “อยู่เพื่อหน้าที่” หรือ “อยู่เพื่อธรรมะ” ธรรมะก็คือหน้าที่ที่เราจะต้องปฏิบัติ ทีนี้เราอยู่เพื่อธรรมะ เพื่อประพฤติธรรม ถ้าว่าอยู่เพื่อประพฤติธรรม เราก็สงบ ไม่มีปัญหา แต่ถ้าอยู่เพื่ออย่างอื่น มันก็มีปัญหา อยู่เพื่อกินเกินขอบเขตก็มีปัญหา ถ้าทำอะไรเกินไปมันก็เกิดปัญหา แต่ถ้าเราทำแต่พอดี มันก็ไม่ค่อยจะมีปัญหา
เพราะฉะนั้น ชีวิตนี่ต้องอยู่กับธรรมะ ธรรมะเป็นสิ่งที่ควบคุมชีวิตให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ถ้าเราไม่เอาธรรมะมาใช้ มันก็จะเกินพอดีไปบ้าง ขาดไปบ้าง ไม่สมดุล พูดตามภาษาสมัยใหม่ว่า “เป็นอยู่ที่ไม่สมดุล” เมื่อไม่สมดุลก็เกิดปัญหาขึ้น เกิดความทุกข์บ้าง สุขบ้าง ปนกันไป ตามโอกาส ตามเรื่องตามราว กลายเป็นบุคคลประเภทที่เรียกว่า ไหลไปกับอำนาจของโลก ไหลไปตามอำนาจของวัตถุ ถ้าเราอยู่ให้ไหลไปตามอำนาจของวัตถุที่เขาเรียกว่า “โลกานุวัฒน์”
โลกานุวัฒน์ มันก็ยุ่ง เพราะว่าเป็นพวกไหลไปกับกระแสโลก กระแสโลกเป็นอย่างไร เราก็ไหลไปกับสิ่งนั้น ไม่รู้จักห้ามล้อตัวเอง ไม่มีการควบคุมให้เกิดการสมดุลในความเป็นอยู่ ก็เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน เช่น เรามีเงิน แต่ว่าใช้เงินมากเกินไป เลยเกิดฝืด เงินไม่พอใช้ เป็นหนี้เป็นสินรุงรัง คนบางคนก็เป็นหนี้ตลอดเวลา เช่น พวกค้าขายนี่ หลีกหนีจากความเป็นหนี้ยาก เพราะว่าต้องไปกู้เงินเขามาลงทุนทำการค้าขาย ได้กำไรบ้างก็เอามาเลี้ยงตัวเลี้ยงครอบครัว เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ ก็ไปตามเรื่อง เหลือจากนั้นก็ต้องส่งดอกให้แก่ผู้ที่เรายืมมา โดยเฉพาะต้องส่งดอกให้กับธนาคาร ทำงานตลอดวันทั้งปี ก็หาเงินส่งดอกให้เขา เพราะว่าทุนมันมาก ยืมเขามาแล้วยังใช้ทุนไม่ไหวก็คอยส่งดอก ทีนี้ส่งดอกบ่อยๆมันก็เป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะเรื่องส่งดอก
เมื่อเช้าก็มีคนๆหนึ่ง อุบาสิกา มาถึงถามว่า มีอะไรหนู? ก็ไม่มีอะไรค่ะ มากราบขอพร เลยถามว่าขอพรอะไร? บอกว่าอยากจะได้พรที่มันหมดหนี้หมดสินเสียที ว่าอย่างนั้น อ้าว แล้วเราเป็นหนี้เขามากมายหรือ? ก็เป็น เป็นมาเรื่อย เป็นไม่จบไม่สิ้นสักที ค้าขายมาสิบปีนี่ มีแต่หนี้อยู่ตลอดเวลา ก็เลยบอกว่า มันก็เรื่องธรรมดานั่นแหละ เราค้าขายมันก็ต้องเป็นหนี้ เพราะเราไม่มีทุนจะลง เมื่อไม่มีทุนจะลงก็ต้องไปกู้เขา กู้เขามาโดยไม่ได้คิดอะไรมันไม่มีใครให้กู้หรอก คนให้กู้เงินเราเอาดอกเบี้ยทั้งนั้นแหละ ถ้าไปกู้กับธนาคารก็ค่อยเบาบางหน่อย เขาควบคุมในการดอก แต่ถ้าไปกู้นอกระบบ ดอกมันเพิ่ม มันมาก ไม่มีอะไรควบคุม เราไปกู้จากไหนล่ะ? กู้จากธนาคาร ก็ไม่เป็นไร ถึงเวลาก็ส่งดอกเขาไป เดือนหนึ่งก็ต้องส่งดอกตั้งสองหมื่นสามหมื่น เออ ก็เก่งนี่ หาเงินได้หลายหมื่นนี่ ก็ยังส่งดอกเขาได้อยู่ แล้วจะไปเป็นทุกข์อะไรกับเรื่องการส่งดอก เพราะยังมีดอกให้ส่งอยู่นี่ ก็ต้องรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ยหน่อยสิ ให้ดอกมันออก ไม่มีโรคอะไร ก็ขยันทำมาหากิน ถ้าเราขยันทำมาหากิน มันก็ได้เงิน ได้เงินแล้วเอาไปส่งดอก ส่งให้เขา แล้วก็อย่าเป็นทุกข์เพราะเรื่องการส่งดอก เพราะทุกข์ ดอกมันก็ไม่ลดนี่ ดอกมันก็ไม่หดไม่หาย แล้วเราเป็นทุกข์ทำไม เป็นทุกข์ให้กลุ้มใจ ให้ไปแล้วมันทรมานตัวเองให้เกิดความลำบาก จะไปเป็นทุกข์มันทำไม ก็เสียไปตามเรื่อง ก็นึกว่าเราเกิดมาเพื่อหาเงินให้เขา ก็เราไปทำหนี้กับเขา ก็ต้องหาให้เขาตามหน้าที่ หาให้ไป แล้วก็ส่วนหนึ่งเราก็มากินมาใช้ อยู่ให้มันสบายตามสมควร ส่วนดอกก็ให้ๆ เขาไป อย่าไปคิดว่าจะรวยเท่านั้นเท่านี้เลย เพราะมันรวยมากๆไม่ได้ แต่มันก็ไม่จนอะไร เพราะยังมีกินมีใช้อยู่ ดูร่างกายก็อ้วนท้วนดีอยู่นี่นะ ไม่ได้อดได้อยากอะไร แสดงว่ามีความสบายอยู่ เพราะไม่ได้ผ่ายผอม ไม่ได้อดอยาก ก็เป็นสุขดีอยู่แล้ว แต่ว่าใจมันไม่สุขเท่านั้นเอง
ไอ้ความทุกข์ความสุขนี่มันอยู่ที่ใจนั่นแหละโยม ไม่ได้อยู่ที่ไหนหรอก ไอ้ร่างกายนี่ไม่ค่อยกระไร แต่ว่าใจนั้นมันเป็นทุกข์ เพราะไม่ชอบใจไม่พึงใจ แต่ว่าเป็นสุขก็เพราะเราพอใจพึงใจในสิ่งนั้นๆ อันนี้เราก็ต้องคิดดูว่า อยู่อย่างคนเป็นทุกข์ดี หรือจะอยู่อย่างคนไม่เป็นทุกข์ดี เอ้า เลือกเอาข้างไหนล่ะ? เลือกเอาข้างที่ไม่เป็นทุกข์ดีกว่า เพราะถ้าเป็นทุกข์ก็เรียกว่าทรมานร่างกาย ประสาทเสื่อม อวัยวะภายในก็พลอยเสื่อมพลอยเสียไปด้วย เช่นว่า กระเพาะอาหารก็ไม่ดี หัวใจก็ไม่ดี ปอดทำงานไม่ดี อะไรไม่ดีไปหมดแหละ มันกระเทือนไปหมดทั้งร่างกายเพราะใจมันเป็นทุกข์ อันนี้หัดทำใจให้เป็นสุขเสียบ้าง อย่าไปคิดให้เป็นทุกข์ เราเป็นทุกข์ก็เพราะเราคิดให้เป็นทุกข์กันเอง คิดเรื่องทุกข์น่ะ แล้วเราก็เป็นทุกข์น่ะ ถ้าเราคิดเรื่องสบาย มันก็สบาย
เรามีโอกาส มีสิทธิในการที่จะคิด คิดให้สบายก็ได้ คิดให้เป็นทุกข์ก็ได้ ส่วนมากมักจะคิดให้เป็นทุกข์ คิดให้กลุ้มใจ หงุดหงิดใจต่างๆนานา นั่นมันเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาเอง ไม่มีใครสร้างให้นะ เราสร้างของเราเอง สร้างความกลุ้มใจ สร้างความทุกข์ สร้างความเดือดร้อนใจให้เกิดขึ้นในชีวิตด้วยประการต่างๆ แล้วเราก็เพิ่มความทุกข์ให้แก่ตัวเอง ทำให้ร่างกายไม่สบาย มีปัญหาต่างๆเกิดขึ้นในหน้าที่ ในการงาน ในการสมาคม มันเป็นไปหมดน่ะ เพราะว่าตั้งต้นที่ใจของเรา
ทีนี้ท่านจึงสอนว่าให้พยายามปรับปรุงจิตใจ ให้คิดเป็น พูดเป็น ทำเป็น คบคนให้มันถูกต้อง ไปสู่สถานที่ถูกต้อง ปัญหาที่จะเกิดขึ้นมันก็ค่อยน้อยลงไป รู้จักปลงและรู้จักวาง หมายความว่า รู้จักคิดในเรื่องที่คิดแล้วมันไม่เป็นทุกข์ อย่าไปคิดให้เกิดความทุกข์ ความขุ่นข้องหมองใจ คนบางคนก็ทุกข์ทั้งวัน ไม่ทุกข์ก็เวลาหลับเท่านั้นเอง แต่พอตื่นขึ้นก็ทุกข์อีกแล้ว เหมือนว่าความทุกข์มันนอนอยู่ใกล้ๆเรา พอตื่นขึ้นมันก็ทุกข์ต่อไป และก็ทุกข์เรื่อยไป นี่ก็เพราะว่าคิดไม่เป็น ไม่ฝึกคิดในแง่ที่มันจะไม่ทุกข์เสียบ้าง คิดให้ดีขึ้นไปกว่านั้นก็ได้ แต่ว่าเราคิดไม่เป็น เพราะว่าไม่เคยคิดไปตามที่ถูกที่ชอบ ไม่เคยสนใจหลักธรรมะอันเป็นแนวทางแนวคิดที่ถูกต้อง ไม่ได้เข้าใกล้พระที่จะคอยชี้แนะแนวทางชีวิตให้เราเข้าใจ เราก็มีความกลุ้มใจในเรื่องต่างๆ
บางทีเรื่องมันไม่น่าจะกลุ้ม แต่ก็มากลุ้ม ตัวเองก็พออยู่ได้เป็นได้ แต่ไปกลุ้มไม่เข้าเรื่อง เช่นว่า มีผู้หญิงคนหนึ่ง เขามีความทุกข์น่ะ มาที่กุฏิบอกว่า ดิฉันนี่ มันมีความทุกข์มาก ถามว่าทุกข์เรื่องอะไร? บอกว่า ทุกข์เรื่องสามี สามีเป็นคนอย่างไร? เป็นคนชอบดื่มเหล้าเมามาย แล้วก็หาเรื่องทุบตีภรรยา เมื่อก่อนก็ไม่ค่อยทุบค่อยตี แต่เดี๋ยวนี้ชอบเมาแล้วก็ทุบ เพราะว่าไปรักผู้หญิงคนอื่น ไปรักผู้หญิงซึ่งอายุน้อยกว่า แล้วก็มาทุบภรรยาที่เคยอยู่กินด้วยกัน มีลูกมีเต้า มีลูกหนึ่งคน แล้วก็ทุบตีบ่อยๆ ดิฉันก็รำคาญในการที่ถูกทุบถูกตี ขอหย่าเขาก็ไม่หย่าให้ เลยก็เป็นทุกข์ บางทีคิดสั้นขึ้นมา จะฆ่าตัวตาย เลยบอกว่า ตายแล้วมันได้อะไรขึ้นมา เราตาย ไอ้คนนั้นมันก็ไม่ได้ดีขึ้น แล้วลูกเราก็จะลำบาก เพราะไม่มีแม่ แม้มีพ่อก็ไว้ใจไม่ได้ เพราะคำโบราณพูดว่า “พ่อตาย แม่ยังอยู่ ก็เหมือนอยู่ทั้งสองคน แต่ถ้าแม่ตาย แม้พ่ออยู่ก็เหมือนกับไม่มีทั้งสองคน”
ก็คือน้ำหนักมันอยู่ที่แม่ แม่เป็นคนสำคัญ แม่มีความรักลูกมากเป็นพิเศษ เพราะว่าแม่อุ้มท้องมาตั้งสิบเดือน แล้วก็คลอดออกมา ก็คิดถึง เลี้ยงดูลูกอย่างดี แต่พ่อนั้น ไม่ได้เกิดลูก ไปช่วยทำให้เขาเกิดเท่านั้นเอง เกิด เวลาเกิดก็ พ่อไม่เดือดร้อนอะไร นั่งสบายๆ คอยฟังเสียงลูกร้องเท่านั้นเอง พอร้องแว้ออกมาก็ เอ้า คลอดแล้วๆ สบายใจว่ามันคลอดออกมาแล้ว แล้วก็ไม่มีนมให้ลูกกิน เพราะนมผู้ชายนี่มันไม่ออกนม ลูกก็ไม่ได้กินนมพ่ออะไร พ่อก็ไม่ได้เที่ยวก็ได้อุ้มบ่อยๆ แต่แม่นั้นอุ้มอยู่ตลอดเวลา พอลูกร้อง มาเอามาประทับอก พอประทับอกลูกก็หยุดร้อง หยุดร้องเพราะได้สัมผัสที่เคย
ร่างกายของแม่นี่เป็นสัมผัสที่ลูกได้เคยสัมผัสทุกวันทุกเวลา ห่างไปก็ร้อง คนอื่นอุ้มก็ร้อง พ่ออุ้มก็บางทีลูกร้อง แต่พอแม่อุ้มปั้บ แหม่ หยุดร้องทันที หยุดร้องเพราะว่าเด็กมันสบายใจ สบายใจว่าได้อยู่ในอ้อมกอดของคุณแม่ แล้วก็จะได้กินนมด้วย เพราะว่าเมื่อแม่กอดก็เอาหัวนมยัดปากเข้าไป นมมันก็ดูดเอานมออกมา เด็กมันก็สบายใจ พ่ออุ้ม ดูดนมมันก็ไม่ออกล่ะ นมพ่อนี่ไม่ได้เรื่องอะไร ถ้ามันไม่สบายใจมันก็ร้องล่ะ ร้องก็เอ้า แม่อุ้ม พอแม่อุ้มปุ๊บ หยุดทันทีเลย เพราะว่าเนื้อของแม่นี่มันเคยสัมผัส เคยได้รับความชื่นอกชื่นใจ เพราะฉะนั้น แม่นี่จึงมีน้ำหนักมากกว่าคุณพ่อ
คุณพ่ออย่าเสียใจว่า แหม เรานี่ก็เป็นเจ้าของของลูกเหมือนกัน แต่มันผิดกันนะ เพราะว่าพ่อนี่มันไม่ได้อยู่ใกล้ชิดลูกตลอดเวลา มีส่วนในการเลี้ยงดูน่ะ แต่มันห่าง แต่ว่าแม่นั้นอุ้มอยู่ตลอดเวลา กกให้นอนอยู่ตลอดเวลา เยี่ยวออกมาแม่ก็เช็ดให้ อุจจาระออกมาแม่ก็เช็ด อาบน้ำอาบท่าให้ ทาแป้งให้ มันใกล้ชิดน่ะ เรามันจึงลำเอียงน่ะ ลูกน่ะมักจะลำเอียง ลำเอียงโดยธรรมชาติ คือลำเอียงไปข้างคุณแม่ มีความรักแม่มากกว่าพ่อ มันเป็นอย่างนั้น
หลวงพ่อก็เป็นเหมือนคนอื่นน่ะ เป็นเหมือนกัน คือว่า ใจมันลำเอียงไปทางคุณแม่มากกว่า เห็นหน้าแม่แล้วก็สบายใจ เห็นหน้าพ่อก็ เออ เฉยๆ ไม่ค่อยรู้สึกอะไร เพราะว่าพ่อท่านไม่ค่อยพูดค่อยจากับเรา แต่คุณแม่ก็พูดจาปลอบโยนอยู่ตลอดเวลา จึงใกล้ชิดสนิทสนม มีความระลึกถึงบ่อยๆ ถ้าว่าไม่สบายนี่ พอแม่มานี่ หายขึ้นไปตั้งแปดสิบเปอร์เซ็นต์แล้ว ลุกขึ้นนั่งได้ ก็พูดจากันได้ ถ้ามันเป็นอย่างนั้น มันความรู้สึกมันเป็นอย่างนั้น
เพราะฉะนั้น การที่แม่อยู่นี่ ลูกสบาย จะไปคิดฆ่าตัวตายทำไม ไม่ได้เรื่องอะไร แล้วก็ถามว่า เธอนี่ ทำงานอะไร? ทำงานครู อ๋อ ได้เงินเดือนเท่าไหร่? ได้รับอยู่เวลานี้ สี่พันบาท พอเลี้ยงไหม? เงินสี่พันนี่พอเลี้ยงตัวไหม? เลี้ยงลูกได้ไหม? ได้ อ้าว ได้แล้วจะไปเดือดร้อนอะไร ไอ้สมัยที่ไอ้ผัวขี้เมามันอยู่น่ะ มันให้เงินเดือนเลี้ยงเธอหรือเปล่า เดือนหนึ่งๆเอามาให้เท่าไหร่? ไม่ได้ให้เลย เอ้า แล้วไปคิดถึงมันทำไม ไอ้ผู้ชายจัญไรอย่างนั้น ไปคิดถึงมันทำไม มันไม่ได้เรื่องอะไร คือมันไม่รู้จักหน้าที่นี่ เป็นผู้ชายที่ไม่รู้จักหน้าที่นี่ ไม่รู้จักหน้าที่ว่าเราควรมีหน้าที่อะไร เป็นผัวเขาควรทำอย่างไร เป็นพ่อลูก เขาควรทำอย่างไร มันไม่ได้เรื่อง แล้วจะไปคิดถึงมันทำไม ไอ้คนอย่างนั้นน่ะ มันมีค่าน้อยกว่าหมาขี้เรื้อนด้วยซ้ำไป
ทำไมพูดแรงอย่างนั้น คือพูดเพื่อให้แกเปลี่ยนความคิด ไม่อย่างนั้นไปเที่ยวไปทุกข์อยู่ เลยพูดให้แรงๆหน่อย ก็เลยก็บอกว่า เราไม่มีอะไร แต่ว่ามันคิดถึงอนาคต อ้าว อนาคตยังไม่มาถึง จะไปคิดถึงทำไม คิดถึงปัจจุบัน ปัจจุบันชั่วโมงนี้ วินาทีนี้ ทำอะไรให้มันดีไว้เถอะ ถ้าเราทำชั่วโมงนี้ให้ดี ชั่วโมงหน้ามันก็ดีน่ะ ถ้าเราทำชั่วโมงนี้ไม่ดี ชั่วโมงหน้ามันก็ไม่ดี วันนี้ทำไม่ดี พรุ่งนี้มันก็ไม่ดี ปีก่อนทำไม่ดี ปีใหม่มันก็ไม่ดี เหมือนกัน ก็มันขึ้นอยู่กับปัจจุบัน
อันนี้พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า ให้ทำปัจจุบันให้ดี แล้วทุกอย่างก็จะเรียบร้อย ไม่ให้ไปคิดถึงสิ่งที่ล่วงมาแล้วด้วยความอาลัย ไม่คิดถึงสิ่งที่ยังไม่ถึงด้วยความวิตกกังวล แต่คิดถึงสิ่งที่อยู่เฉพาะหน้า อะไรมันเกิดขึ้นเฉพาะหน้า จะทำสิ่งนั้นให้เรียบร้อย แล้วข้างหน้ามันก็เรียบร้อย ข้างหลังมันก็เรียบร้อย เพราะอดีต อนาคต มันขึ้นอยู่กับปัจจุบัน อันนี้พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนว่า ทำปัจจุบันให้เรียบร้อย แล้วข้างหน้ามันก็เรียบร้อย ล่วงไป มันก็เรียบร้อย อย่าไปคิดอะไร ทำงานไปตามหน้าที่ ได้เงินมาก็ใช้จ่ายไปตามหน้าที่ ใช้ให้มันพอดี อย่าให้เกิดปัญหาขึ้นในชีวิต ถ้าคิดอย่างนั้นก็ใช้ได้
แล้วผลที่สุดแกบอกไว้ ว่าอยากจะมาขอพักอยู่ที่วัด พักได้สักสิบวันที่วัดนี่ เรียกว่าอยู่เกินนั้นมันไม่ได้เพราะที่มันไม่พอ คนอื่นเขาจะมาอยู่บ้าง มีคนมาอยู่บ่อยๆ มานุ่งขาวห่มขาว ไม่ต้องโกนผม ก็ถือศีลอุโบสถ แล้วก็อยู่วัด ทำหน้าที่ไป ก็อยู่ได้ อยู่เพื่อปรับปรุงจิตใจให้มันดีขึ้น หัดคิดให้มันเป็น หัดมองอะไรให้มันเป็น ให้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามสภาพที่มันเป็นจริงขึ้นมา ชีวิตก็จะดีขึ้น ก็มันเป็นอย่างนั้น
พวกนักเรียนน่ะ ไปไหนแล้ว ลุกขึ้นไปหมดแล้ว ไปคนเดียวแล้วก็ไปหมด ไปตามกันทำไม ไม่ใช่ว่ามันปวดขี้พร้อมกันเมื่อไหร่ แล้วก็ไม่เห็นไปเข้าส้วม เดินเลยไปนู้น คือเอาเด็กมาก็ไม่ได้คุม ปล่อยให้มันฟังๆเดี๋ยวมันรำคาญมันก็ไป ไปนั่งที่อื่นมันจะได้คุยกัน ถ้านั่งตรงนี้ หลวงพ่อชำเลืองเห็นคุยกันก็ มันรำคาญ เลยไปนั่งในป่าคุยกันสบาย อย่างนั้นน่ะ เด็กมันไปตามเรื่องของมัน
อันนี้เรามันต้องหัดคิดให้เป็น คือคิดในเรื่องที่จะไม่กลุ้ม นะโยม คิดอย่างไรไม่ให้กลุ้ม ไม่ให้เป็นทุกข์น่ะ หัดคิดอย่างนั้นน่ะ แต่ถ้าคิดอย่างนั้นขึ้นมามันเป็นทุกข์ มันก็ต้องดูตัวเอง คิดอะไร คิดไม่เข้าเรื่อง ไปดูที่หน้ากระจกก็ได้ ไปยืนเพราะว่ากลุ้มแล้วก็ไปยืนที่หน้ากระจก ดูหน้าตัวเอง ดูสายตาของตัวเอง ดูว่านี่แกกำลังกลุ้มนี่ หน้าตาเป็นอย่างไร เศร้าหมอง ไม่ผ่องใส ตาก็ขุ่นมัว มันผิดธรรมชาติ ธรรมชาติของร่างกายมันก็เป็นอยู่ตามปกติ แต่นี่มันผิดปกติเพราะว่าคิดไม่เป็น คิดถึงเรื่องเป็นทุกข์ แล้วก็ลองสอบสวนทวนถามตัวเองว่า เรื่องอะไรที่คิดให้เป็นทุกข์ เรื่องอะไร คิดไปแก้ปัญหาไป มันค่อยสว่างขึ้นเองแหละ ค่อยเข้าใจขึ้น เมื่อเข้าใจขึ้น ไอ้นั่นมันก็หายไป คือพอเราฉลาดขึ้นแล้วก็ความโง่มันก็หายไป เวลานั่งเป็นทุกข์นี่คือนั่งโง่อยู่ กลุ้มใจแล้วก็โง่ โกรธก็โง่ เกลียดก็โง่ ริษยาคนอื่น อะไรมันโง่ทั้งนั้นแหละ มันโง่
กิเลสทุกประเภท เมื่อเกิดขึ้นในใจของเราแล้ว ทำให้เราโง่ เรามืด เราบอด เราไม่มีปัญญา ไม่มีแสงสว่างสำหรับที่จะพิจารณาอะไรให้มันถูกต้องตามสภาพที่เป็นจริง นี่คือความมืด ความมืดมัว ความมืดเรียกว่า “โมหะ” ก็โง่นั่นแหละ พูดง่ายๆว่ากำลังโง่ โง่ทีไรก็เป็นทุกข์ทุกทีล่ะ แต่ถ้าเราฉลาดขึ้น อ้าว ความโง่หายไป ฉลาดมันเหมือนกับแสงสว่าง ถ้ามันมืด มันเปิดไฟปุ๊บมันก็สว่าง พอความสว่างเกิดขึ้นเราก็พอเห็นอะไรถูกต้อง เห็นข้าวเห็นของเห็นอะไรที่มันอยู่ในห้องนั้นเรียบร้อย อะไรควรจัดก็จัด อะไรไม่ต้องก็ปล่อยมันไปตามเรื่อง เย็น สว่าง
ในชีวิตเรานี่ก็เหมือนกัน เวลาใดเราเป็นทุกข์ หมายความว่าเราโง่ เราเข้าใจผิด เราหลงผิดในเรื่องนั้นๆ เลยก็นั่งกลุ้มใจ แต่ว่าพอฉลาดขึ้น ความกลุ้มก็หายไป จะฉลาดขึ้นได้เพราะอะไร ก็เพราะว่าเราคิดถูกต้อง คิดเป็น ตีปัญหาแตก พอตีปัญหาแตก ความโง่มันก็หายไป ปัญญามันก็เกิดขึ้นมาแทนที่ เหมือนกับเราทำแบบฝึกหัดนะ แต่ยังคิดไม่ออกมันก็สอบไม่ได้ แต่พอคิดไปทบทวนไปมันสว่างขึ้นมาก็ตอบได้ สอบไล่ได้ ถ้าไปนั่งมืดอยู่มันก็สอบไล่ไม่ได้
ในตัวชีวิตของเรานี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราเกิดความคิดทบทวนขึ้นมาเป็น มันก็พ้นจากความโง่ความเขลา ชีวิตก็เป็นสุข แต่ว่าลำบากอยู่เหมือนกันโยม ลำบากตรงที่ว่า เราไม่เคยศึกษาธรรมะ ไม่เคยอ่านหนังสือธรรมะ ไม่เคยฟังธรรมะ ไม่เคยเข้าใกล้พระที่สอนธรรมะให้เราเข้าใจ ไปหาพระก็ไปหาพระประเภทอื่น ไปหาพระให้รดน้ำมนต์ให้สะเดาะเคราะห์ ให้ทำพิธีแบบปัญญาอ่อนด้วยวิธีการต่างๆ มันช่วยอะไรไม่ได้ ไปหาพระอย่างนั้นช่วยอะไรไม่ได้ แต่ถ้าเราได้มาศึกษาธรรมะ มีความรู้ มีความเข้าใจในเรื่องชีวิตถูกต้อง เราก็พอจะปลงได้วางได้ แต่อย่างน้อยๆเรามาสวดมนต์นี่ สวดมนต์ว่า
“รูปังอนิจจัง รูปไม่เที่ยง
เวทนาอนิจจา เวทนาไม่เที่ยง
สัญญาอนิจจา สัญญาไม่เที่ยง
สังขาราอนิจจา สังขารไม่เที่ยง
วิญญาณังอนิจจัง วิญญาณไม่เที่ยง
รูปังอนัตตา...”
แปลว่าอะไร แปลไปด้วย เราก็เอาไปทบทวนว่า อ้อ พระท่านว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง มีความทุกข์อยู่โดยสภาพ ไม่มีอะไรที่เรียกว่าเป็นเนื้อแท้ในตัวของมันเอง
ทีนี่เราก็มาคิดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา ว่าชีวิตเรามันเปลี่ยนแปลงไปในรูปใด เวลานี้เรากำลังวิตกกังวลด้วยปัญหาอะไรต่างๆแล้วเรานั่งกลุ้มใจ ไปกลุ้มใจกับปัญหานั้นทำไม เพราะตัวปัญหาเองมันก็เปลี่ยนแปลงเหมือนกัน มันไม่เที่ยงเหมือนกัน มันไม่ได้อยู่ในอำนาจของใคร แล้วเราจะไปคิดให้มันเป็นทุกข์ทำไม
ความจริง สิ่งทั้งหลาย ถ้าเราเข้าใจในหลักปัญญาของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสอนว่า
“สิ่งทั้งหลายมีเกิด มีดับ เกิดขึ้น ดับไป เกิดขึ้น ดับไป เกิดดับ เกิดดับ อยู่ตลอดเวลา”
ความทุกข์เกิดขึ้น มันไม่ได้อยู่ถาวรหรอก มันก็ดับไปแล้วโดยธรรมชาติ แต่ว่าเราไม่ยอมให้มันดับ ไม่ยอมให้มันดับก็หมายความว่า เรายังคิดถึงอยู่ คิดถึงด้วยความโง่ ไม่ได้คิดถึงด้วยปัญญา ไม่ได้คิดถึงเพื่อเอามาวิเคราะห์วิจัยด้วยปัญญา แต่ว่าเอามาคิดด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจ มันก็เกิดเป็นปัญหาขึ้นในใจของเรา เราเป็นทุกข์ เราก็ควรรู้ว่าที่เป็นทุกข์นี่ เพราะว่าเราไปเอาสิ่งที่มันควรจะผ่านไปแล้วเอามาคิดอยู่อีก ไม่ให้มันผ่านไป ไม่ให้มันล่วงเลยไป ดึงมา เอามาคิดมาฝันต่อไป แล้วก็เป็นทุกข์
เหมือนกับเราหลงกอดวัตถุที่มันเป็นพิษ เช่นว่า ตัวหนอนบางอย่างมันมีขนเป็นพิษนี่ เราไปจับมัน แต่ว่าขนมันก็ถูกมือคัน แล้วเอามาถูกตัวมันก็คัน นั่นถ้าเราทิ้งมันไป มันก็ไม่เป็นไร หายามาทาเสีย ให้ขนนั้นมันหลุดไป มันก็ไม่มีอะไร แต่เราไม่รู้ไม่เข้าใจ ไปจับไปต้องมันเข้า สิ่งนั้นก็เป็นเหตุให้เรามีปัญหา ในทางใจก็หมายความว่า เราไปจับมันไว้ ไปยึดมันไว้ ทางพระเขาเรียกว่า “อุปาทาน”
อุปาทาน หมายความว่า ยึดไว้ด้วยความโง่ความเขลา ด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องนั้น เอามาคิดมานึกโดยไม่ใช้ปัญญา เมื่อเราคิดอะไรนึกอะไรโดยไม่ใช้ปัญญา เราก็เพิ่มความทุกข์ให้แก่ตัวเองกลุ้มใจ กลุ้มใจจนกระทั่งกระโดดหน้าต่างตึกตกลงไปตายเท่านั้นเอง ก็เพราะกลุ้มทั้งนั้น กลุ้มจนไม่รู้จะคิดอย่างไร ไม่สามารถจะแก้ปัญหาได้ เลยก็กระโดดหน้าต่างตายไปเท่านั้นเอง หรือกินยาตายไปก็มี อย่างนี้มีเยอะแยะในสังคมในยุคปัจจุบัน แต่คนเหล่านั้นเป็นคนที่น่าสงสาร เพราะว่าชีวิตมันไม่พบแสงสว่าง ไม่เข้าใกล้พระ ไม่เข้าใกล้ธรรมะ ไม่สนใจอ่านศึกษาสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิต พอเกิดปัญหาขึ้นมาก็แก้ไม่ได้ แต่ถ้าเรามีความรู้มีความเข้าใจในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เราก็จะหยิบเอาธรรมะนั้นมาเป็นเครื่องมือส่องลงไปที่เรื่องนั้นให้มันละลายหายไป ไม่ทำให้เรากระตุ้นต่อไป
ธรรมะมันเป็นประโยชน์ เป็นเรื่องที่เราควรจะแสวงหาไว้ เอาไปใช้ เหมือนโยมมาวัดทุกอาทิตย์นี่ค่อยเบาแล้ว ก็สบายแล้ว มีอะไรเกิดขึ้นก็ปลงได้วางได้เพราะว่ามีปัญญาตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า คือรู้ว่า อะไรๆมันก็ไม่ถาวร มันเปลี่ยนอยู่ เราอย่าไปจับมันไว้ เราอย่าไปยึดมันไว้ เพราะถ้าเราไปจับไปยึดมันไว้ เราก็เป็นทุกข์น่ะ เหมือนเราไปยึดล้อรถที่กำลังวิ่งนี่มันไม่ได้หรอก มันเลว มันพาเราไปด้วย แค่หน้าตาถลอกปอกเปิกหมดหรอก รถมันกระชากถูไป เกิดความทุกข์เปล่าๆ
ในเรื่องอารมณ์ต่างๆก็เหมือนกันที่มันเกิดขึ้นแล้วทำให้เราเป็นทุกข์น่ะ ถ้าเราเลิกคิดมันก็หมดเรื่อง แต่เลิกไม่ได้ ถามว่าทำไมไม่เลิกเสียบ้าง เลิกไม่ได้น่ะ คือไม่รู้ว่าจะไม่เลิกเพราะความไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องอย่างนั้น ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรแล้วก็นั่งกลุ้มใจนั่งเป็นทุกข์ด้วยปัญหาต่างๆ เรื่องบางเรื่องไม่ควรจะเป็นทุกข์นะ แต่จะเอามาเป็นทุกข์ มาคิดให้วุ่นวายใจ
เหมือนคนๆหนึ่งน่ะมานั่งร้องไห้อยู่ที่ตรงนู้น ข้างกุฏิ พอเข้ามา กลับเข้ามาก็สามีเข้ามาหาบอกว่า ภรรยาผมเขาเสียใจเป็นทุกข์ ทุกข์เรื่องอะไร? ทุกข์เรื่องหมาตาย อ่อ ปัดโธ่เอ้ย เอ้าไปพามาหน่อย พามาถึงถามว่า เป็นอย่างไร? ร้องไห้ตาแดงมันเรื่องอะไร? คิดถึงหมาค่ะ บอกว่า แหม มันโง่จริงๆ ต้องว่าให้เขาเจ็บหน่อย คือจะได้เปลี่ยนอารมณ์นะ เลยว่าเขา ไม่ใช่ว่าดุร้ายอะไร แต่ว่า ถ้าอุบายมันก็ต้องอย่างนั้นแหละ โง่ไม่เข้าเรื่อง หมาตายจะเป็นทุกข์อะไร จะเอาใหม่ไหม ในวัดนี่มีเยอะแยะ หมา เอากี่ตัวก็ได้ เลือกเอาตามชอบใจ ร้องไห้เพราะหมาตาย ความจริงก็ ตัวหนึ่งตายไปทีหนึ่งแล้ว เป็นทุกข์ แล้วก็ไปให้พระช่วยแก้ปัญหา พระก็เลยให้หมามาอีกตัว ให้เอามาเลี้ยง แทนไอ้ตัวนั้นน่ะ แทนกัน เลี้ยงดูอย่างดีนะ เอาใจใส่ดี ต่อมามันตายอีก อ้าว ร้องไห้อีก ร้องไห้ถึงกับว่าเอาหมาไปฝังแล้วไปนั่งร้องอยู่ที่หลุมหมา แล้วไม่โง่ตายหรือ ร้องไห้ที่หลุมหมาแล้วหมามันรู้เมื่อไหร่ว่าเราร้องไห้ เอาอาหารไปวางไว้ให้มันกิน มันจะกินได้เมื่อไหร่ มันนอนอยู่ใต้ดินมันก็กินไม่ได้ เอาอาหารไปวางให้ ก็เคยให้เวลาไหนก็ไปวางให้มันกินนี่ มันโง่นี่ มันจะกินได้อย่างไร มันตายแล้ว มันกินไม่ได้ แต่ก็ไปนั่งร้องอยู่ ร้องอยู่อย่างนั้นแหละ เลยพามาวัด ก็เลยพูดให้ฟัง พูดกันนานนะ จนกว่าจะเข้าใจ แล้วกลับก็หายไปเลย ไม่มาอีกต่อไป คงจะหยุดร้องแล้วล่ะ เลยไม่มาวัดเลย คนมันไม่คิดน่ะ ก็คิดไม่เป็นน่ะ
เหมือนกับว่าในนิทานทางพระพุทธศาสนาก็มีอยู่เหมือนกัน พ่อนี่รักลูก รักลูกแต่ว่าเป็นพ่อขี้เหนียว ไม่หายาให้ลูกกิน กินยาก็ไปเที่ยวถามว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นจะกินอะไรดีล่ะ เขาบอก เอารากนั้นมาต้มเอาเปลือกนั้น เปลือกใบไม้ สมุนไพรตามบ้านน่ะ เอามาต้มไม่ต้องซื้อ ไปเที่ยวสับเอาได้ ขุดรากมา เอาเปลือกมา เอาต้นใบมาต้มให้ลูกกิน ลูกมันก็ไม่หาย ไม่หาย ผลที่สุดก็ลูกตาย เมื่อตายแล้วพ่อก็ไปร้องที่หลุมศพทุกวันๆ ไปนั่งร้องอยู่ที่หลุมศพนั่น เอาอาหารไปให้กิน แล้วก็ไปนั่งร้องไห้ ส่วนลูกชายนั้นได้เห็นพระพุทธเจ้า เวลาพระพุทธเจ้าเดินมาที่นั่น ก็ส่องแสงไปให้เขาเห็นแสงแล้วกลับมาเห็นพระพุทธเจ้าแล้วก็ยกมือไหว้ แล้วก็มันก็ตายไป ตายไปขณะที่ดวงจิตคิดถึงพระพุทธเจ้า เลยก็ไปเกิดบนสวรรค์มาเป็นเทพบุตร แล้วก็รู้ว่าพ่อของตัวนี่ไปร้องไห้อยู่ที่หลุมศพทุกวันๆ ก็คิดแต่ว่าจะมาสอนพ่อ เลยก็ลงมา แปลงร่างวัวไว้ตัวหนึ่ง วัวนอน นอนตาย วัวนอนตายอยู่ตัวหนึ่ง เขาก็เอาหญ้าไปป้อนให้วัวนั่น วัวตายแล้วนี่ ป้อนหญ้าให้วัว เอาน้ำให้วัวกิน พูดพิรี้พิไรอยู่ทั้งวันนั่นน่ะ ไอ้พ่อก็เดินมาเจอเข้าน่ะ เออ เห็นคนอื่นทำก็พอจะคิดได้ ถามว่าทำอะไร? เอาหญ้ามาป้อนให้วัวกิน เอาน้ำมาให้มันกิน มันจะกินได้อย่างไรก็วัวมันตายแล้วนี่ ไปดู ไปดูกับลูกชายที่เป็นเทวดา บอกว่านี่มันตายแล้ว แล้วจะเอาหญ้ามาป้อนให้มันกินได้อย่างไร เอาน้ำมาป้อนให้มันกินได้อย่างไร เอ ไม่เข้าท่านี่ แกนี่มันโง่ แหม่ ว่าอย่างนั้นแหละ ทีนี้ก็ ไอ้ลูกชายก็ว่า เอ ใครจะโง่กว่ากันแน่ ด่าแหมใครจะโง่กว่ากันแน่ คนๆหนึ่งลูกชายตาย เอาศพไปฝังแล้ว แล้วก็ไปร้องไห้อยู่ที่หลุมศพโดยไม่เห็นตัวสักหน่อย แต่ว่าคนเห็นวัวตายแล้วมาร้องไห้ที่วัว วัวกำลังนอนให้เห็นอยู่ ใครโง่กว่ากันน่ะ สองคนนี้ใครโง่กว่ากัน ถามอย่างนั้น เจ้าพ่อก็นึกแล้วก็ เอ ไอ้เรานี่มันโง่นะ เมื่อลูกตายแล้ว มองไม่เห็น เอาอาหารไปให้มันกินมันจะกินได้อย่างไร ไอ้นี่วัวมันนอนเห็นตัวอยู่ เขาก็อยู่ หนังอยู่ อะไรอยู่พร้อม เอาหญ้ามาให้กินนี่ มันจะว่ามันโง่ก็ใช่ที ไอ้เราสิกลับโง่กว่า เลยเลิก ไม่อยากโง่ต่อไปแล้ว กลับบ้าน ไปทำมาหากินไปตามปกติ
ก็เป็นนิทานสอนใจน่ะ เอามาพูดให้ฟังว่า เขาคิดได้ พอคิดได้มันก็ปลงได้ คราวนี้บางทีไม่มีใครสะกิดให้เกิดความคิดที่ถูกต้อง เราก็เลยหลงคิดอยู่อย่างนั้นแหละ พิรี้พิไรรำพันไปตามเรื่องตามราว แต่ถ้ามีคนมีปัญญามาเห็นเข้า แล้วเขาก็เตือนให้คิด ก็นึกได้ เรียกว่าถึงบางอ้อขึ้นมาก็ อ้อ เสียอย่างนั้น เลยไม่ทุกข์ไม่ร้อนกับเรื่องนั้นต่อไป นี่ มันมีปัญญาเกิดขึ้น เมื่อใดปัญหาเกิดขึ้นกับคนที่มีความทุกข์อยู่ ความทุกข์นั้นก็ย่อมจะหายไปเพราะปัญญาเป็นเครื่องช่วยให้เกิดความสลดใจ เกิดความเข้าใจถูกต้อง ความโง่นั้นก็หายไป ธรรมะจึงเป็นแสงสว่างที่ส่องใจ ให้เราได้เกิดความคิดความนึกในทางที่ถูกที่ชอบ
ทีนี้สิ่งทั้งหลายที่อยนู่รอบตัวเรานี่ ความจริงก็เป็นครูสอนเราทั้งนั้น เป็นครู เป็นครูสอน แต่ไม่ได้พูด ให้เราคิดเอาเองด้วยปัญญา เช่น เราดูวันนี้นี่ โยมเดินมาในวัด จะเห็นว่าใบไม้กอง ใบไม้ร่วง มันกองเต็มไปหมด เพราะเป็นฤดูที่ใบไม้มันผลัดใบ ใบก็หล่นกองอยู่ที่โคนต้นมากมาย เราก็กวาดมันทิ้งไปรวมไว้ทำเป็นปุ๋ยต่อไปก็มี อันนี้เราเห็นเฉยๆมันก็ไม่เกิดปัญญา แต่ถ้าคิดแล้ว เห็นแล้วคิดสักหน่อย คิดว่า เออ นี่ใบไม้นี่มันเป็นอย่างไร เมื่อเดิมมันเป็นอย่างไร แต่เดิมมันใบอ่อน แตกออกมาเป็นใบอ่อนนิดเดียว แล้วก็เจริญเติบโตขึ้นจนกระทั่งเป็นใบสีเขียวสด แล้วต่อมาก็เป็นใบสีเหลืองแก่รุ่น นี่ ความหมุนเวียนของธรรมชาติ ที่ภาษธรรมะเรียกว่า “วิปริณามะธรรม”
วิปริณามะธรรม แปลว่า ธรรมที่แสดงอาการเปลี่ยนแปลงให้เราเห็น ให้เห็นว่ามันเปลี่ยนแปลงอยู่ เราดูก็ต้องศึกษา ว่าสิ่งนั้นมันเปลี่ยนแปลง คราวนี้เมื่อเห็นความเปลี่ยนแปลงของวัตถุ เราก็เอาความเปลี่ยนแปลงของวัตถุนั้นเข้ามาหาตัว ที่เราสวดมนต์ว่า “โอปนยิโก” หมายความว่าน้อมมาที่ตัว เอามาเป็นเครื่องสะกิดใจเราให้เกิดความคิดในทางที่ถูกที่ชอบ เอาใบไม้เหลืองมาเตือนใจ เอาใบไม้แห้งที่หล่นอยู่โคนต้นมาเตือนใจ เตือนใจว่า เอ้อ ตัวเรานี่ เหมือนกับใบไม้ เมื่อเราเกิดใหม่ๆก็เป็นเด็กอ่อนนอนอยู่ในเบาะ แล้วก็ค่อยเจริญเติบโตขึ้น เติบโตขึ้นเต็มที่ แล้วต่อมาก็ค่อยเปลี่ยนไปในทางลง ขั้นแรกก็เหมือนว่าขึ้นต้นไม้ แล้วต่อมาก็ลง ลงไป สิ่งต่างๆเปลี่ยนไป แข่งกันชำรุดทรุดโทรม เส้นผมเปลี่ยนไป หนังเปลี่ยนไป ตาเปลี่ยน หูเปลี่ยน ฟันก็เปลี่ยน ผิวหนังก็เปลี่ยน กระดูกข้างในก็เสื่อม ปวดแข้งปวดขา ปวดหัวเข่า อะไรต่างๆ นี่คือความเสื่อม สิ่งเหล่านี้มาบอกมาเตือน บอกให้รู้ว่ากำลังเปลี่ยนแปลงอยู่ แล้วมันจะถึงที่สุดเมื่อใดก็ได้ อาจจะแตกดับเมื่อใดก็ได้ มาบอกให้เรารู้
เราก็เอามาคิดว่า โอ้ นี่คือธรรมชาติ ร่างกายของเรานี้มันอยู่ภายใต้กฎของธรรมชาติ เราหลีกไม่พ้น วันหนึ่งเราก็จะเป็นอย่างที่เขาเป็นๆกันทั่วๆไป คือตาย เอาไปเผากันที่ป่าช้าเหมือนกันทุกๆคน
คุณโยมคนหนึ่งที่มาเมื่อเช้า ก็บอกนี่ อายุเท่าไหร่แล้ว ๘๙โอ้ย อยู่มาตั้ง ๘๙ แล้ว เกินพระพุทธเจ้าไปตั้ง ๙ ปีแล้ว พระพุทธเจ้าพระชนมายุ ๘๐ เรามันอยู่เกินมาตั้ง๙ ปี ก็ตามเรื่อง เป็นอย่างไร? ก็ไม่ค่อยไหวแล้วค่ะ ปวดตรงนั้น ปวดตรงนี้ รักษาโรคปวดหายไป อ้าว ลำไส้ไม่ดีอีกแล้ว กินอาหารไม่ค่อยได้ กินเข้าไปแล้วมันไม่ค่อยย่อย แล้วมันก็ถ่ายบ่อยๆน่ะ มันเสื่อม เครื่องในมันเสื่อม แล้วมันก็เป็นตามเรื่อง หลวงพ่อก็ อย่าไปคิดมากนะโยมนะ เอา ๘๙ แล้ว พอแล้ว ถ้ามันจะเป็นลงไปเมื่อใดก็ยอมมันเถอะ อย่าไปเสียดงเสียดายเลย อยู่มานานแล้ว ไอ้คนรุ่นเดียวกับโยมนี่ ยังอยู่พร้อมไหม ไปหลายคนแล้ว อ้า เขาไปก่อน แล้วเดี๋ยวก็ถึงวาระของโยมบ้างแล้ว โยมก็ต้องไปบ้างแหละ ถ้าคิดอย่างนั้นก็สบาย ก็คิดอยู่อย่างนั้นแหละ คิดว่ามันก็เป็นอย่างนั้น ไม่วันใดก็วันหนึ่ง อยู่ไปตามเรื่อง ความจริงก็ไม่อยากจะอยู่แล้ว บอกว่าอยู่ไปก่อนเถอะ พวกหลานๆเขายังขอได้อยู่ เพราะมีสตางค์ให้หลานขอได้อยู่ ก็อยู่ไปก่อน อยู่ให้หลานเขาสบายใจได้ขอสตางค์คุณยายคุณย่า เขาสบาย ถ้าโยมหมดตายไป ไม่รู้จะขอใคร มันก็ไม่ดีเหมือนกันนะ อยู่ไปก่อนนะ ถ้ามันยังไม่ตายนะ แต่ถ้าถึงวันจะตายก็ตายด้วยความสบายใจ อย่าเสียดาย อย่าเป็นทุกข์ ให้นึกว่าฉันอยู่มาตั้ง ๘๙ ปีแล้ว หรืออาจจะถึง ๙๐ ก็ได้ อยู่ไปเถอะ มันจะดับเมื่อใดก็ช่างหัวมัน อย่าไปวิตกกังวลกับเรื่องการแตกดับของสังขารร่างกาย ทำความดีต่อไป มีอะไรพอทำได้ก็ทำไป อย่าให้มันเกิดปัญหาขึ้นแก่ชีวิต อยู่ให้สบาย แก่ขนาดนี้แล้ว ให้มันสบาย อย่าให้เป็นทุกข์อยู่ตลอดชาติที่เกิดมา เอาสบายเสียบ้าง สงบใจเสียบ้างก็จะดี ก็เตือนไปในรูปอย่างนั้นเพื่อให้เกิดความคิดไปในทางที่ถูกที่ชอบ
ญาติโยมทั้งหลายนี่ก็เหมือนกันนะ อย่าคิดว่าเราหนุ่ม เราสาว เราแข็งแรง เราไม่มีโรค อย่าคิดอย่างนั้น เพราะว่าร่างกายนี้มันเป็นเรือนโรค พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า “โรคะนิทธัง ปะภังคุณัง” ร่างกายนี้เป็นที่อยู่ของโรค แล้วก็มันของผุของพัง วันหนึ่งมันก็ต้องผุไปยื้อไปตามหน้าที่ของมัน หน้าที่ของสังขารร่างกายมันก็เป็นอย่างนั้น เราอย่าไปยึดไปถือว่าเป็นตัวฉันเป็นของฉัน และอย่าไปนึกว่าจะอยู่เท่านั้นเท่านี้ อยู่ไปตามเรื่องเท่าที่มันอำนวยให้อยู่ได้
บางทีบางคนก็มาพบหลวงพ่อก็ขอให้หลวงพ่ออยู่สักร้อยปี บอกไม่ได้ อย่าไปคิดอย่างนั้น อยู่ไปตามเรื่องของมัน กี่ปีก็ตามใจมันนะ แต่ว่าอยู่ก็ทำหน้าที่ต่อไป มันจะดับเมื่อใดก็สุดแล้วแต่มัน สุดแล้วแต่เรื่องของมัน ไม่ได้อยู่ในอำนาจของใคร มันเป็นไปตามกฎตามเกณฑ์ของธรรมชาติ อย่าไปนึกว่าจะอยู่เท่านั้นเท่านี้ มันไม่ได้ มันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่เที่ยงไม่แท้ ก็ว่าไปตามเรื่องของอย่างนั้น เราอย่าไปยึดไปถือให้มันวุ่นวาย
นี่เมื่อวาน อยู่ๆก็ปวดเข่าขึ้นมาแล้ว ปวด เดิน ปวด หลวงพ่อก็เลย หมอรู้เข้าก็เลยพาไปเอ็กซเรย์ดู บอกว่าไม่มีอะไรหรอก กระดูกมันเสื่อม ว่ามันเสื่อมอยู่แล้ว ธรรมชาติมันก็อย่างนั้น มันเสื่อมของมันตามเรื่อง เลยก็ หมอให้ปลอกมาเอาใส่นี่ รัดไว้ตรงหัวเข่า เออ ก็ดีหน่อย เวลาเดินมันลดไปตรึม ก็ทาหยูกทายาไปตามเรื่อง ยาอะไรก็ทาๆเข้าไป หายไม่หายก็ช่างหัวมันนะ มันเป็นของมันก็ตามเรื่องของมัน เออ มันก็อย่างนั้นเอง ทุกคนมานี่ คนแก่ๆนี่ก็ปวดเข่าเยอะแยะ ปวดหัวเข่าเพราะว่ามันเสื่อม ล้อมันเสื่อม เดินไม่ค่อยคล่อง ก็ปล่อยมันเดินไปตามเรื่อง ถือไม้เท้าไว้บ้างเวลาเดิน ค้ำๆไว้ บางคนมา ถือไม้เท้ามันจะแก่ไปนะ กลัวคนอื่นจะหาว่าแก่อีก เขาหาว่าแก่ เรามันก็แก่อยู่แล้ว ไปกลัวอะไรกับเขาว่า ไม่ใช่ว่าเราไม่ถือไม้เท้าแล้วมันจะหนุ่มขึ้นมา ไม่ใช่ ถือค้ำๆไว้ดี เผื่อว่ามันเอียงไปก็ค้ำมันไว้ ถ้ามันเอียงนี่ช่วยพยุงนะ ไม้เท้านี่เป็นสมบัติคนแก่ ถือไว้เถอะ ไม่เป็นไร ถือไว้ ขึ้นรถไปไหนมาไหนก็ ถือๆไว้ มันช่วยค้ำร่างกายให้มันเป็นไปได้
อาหารการรับประทานมันก็ต้องเลือกเหมือนกัน อะไรเป็นประโยชน์ อะไรไม่เป็นประโยชน์ อย่ารับประทานของที่ไม่ควรจะรับประทาน รับประทานของที่จำเป็น เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย ของอะไรมันแสลงกับโรค ก็ไม่ได้ เช่น คนเป็นโรคเก๊าท์นี่ ปวดตามข้อ เลือกเอา เขาไม่ให้กินสัตว์ปีกก็อย่าไปกินเข้า ไม่ให้กินหน่อไม้ดอง ของถูกผักบ้านเรา หน่อไม้นี่ไม่ได้ ผิด ท่านเจ้าคุณพุทธทาสว่า ไอ้หน่อไม้นี่ ฤทธิ์มันแรง ฉันเข้าไปทีไรนะ ให้ผลทันที แล้วก็ให้ผลทันที คืนนั้นนอนมันปวด ปวด เพราะหน่อไม้ไปแผลงฤทธิ์ ท่านก็ไม่ค่อยฉันหน่อไม้ ฉันแต่ผักที่ฉันได้ ฉันผักบุ้ง มันไม่ให้โทษ พวกเนื้อ พวกเป็ด พวกไก่ พวกอาหารทะเล อาหารทะเลนั่นคนชอบ มันให้โทษ พวกปวดๆตามข้อ ให้โทษ เราก็อย่าไปกินมัน ถ้าจะอยู่ต่อไปอีกหน่อยก็อย่าไปกินเลย กินเข้าไปแล้วมันจะไม่ให้อยู่ เราก็เลิกมัน ไม่กินมันเสีย ก็ต้องควบคุมตัวเอง บังคับตัวเองให้กินอยู่แต่พอดี ไม่มากไม่น้อย กินพอๆอยู่ได้ ไม่ใช่กินให้อิ่มตื้อ ไม่ใช่ มันเกินอิ่มมันก็เกินไป
มีพระองค์หนึ่ง มาปีไหนก็จำไม่ได้ เลยถาม องค์นี้มาจากไหน อ้าว สมภารวัดนั้นอย่างไร อ้าว ทำไมอ้วนอย่างนั้นล่ะ อ้วนผิดปกตินะ อ้วน เดี๋ยวนี้ไปนอนโรงพยาบาลแล้ว ไปนอนโรงพยาบาลเพราะความอ้วน อย่างนี้ก็ไม่ไหว คือฉันอาหารมากไปหน่อย มันมากไป ยังอยู่อีกองค์หนึ่ง ชอบยุ กินฉันอาหารตั้งกะละมัง ฉันเลิกหลังเพื่อน ฉันกะละมังใหญ่ กินหมด ผมน่ะ มันอยู่เพื่ออะไร กินอย่างนั้นนั่น กินเหมือนกับหมู หมูมันกินให้อ้วน แล้วก็จะได้เอาไปขายได้น้ำหนัก คนนี่ ไม่ได้เอาไปชั่งขายนี่ อ้วนทำไมหา อีหนูนี่ก็อ้วนมากไปแล้วนะ ไม่มานานแล้ว นึกว่าไปบ่มอ้วนมานี่ กลับมาอ้วนตุ้ยนะ มันอ้วนของมันเองนะ ไม่ได้ออกกำลังนะ อ้วน
อ้วนนี่ก็เป็นโรคอย่างหนึ่งเหมือนกันโยม โรคอ้วน มันไม่ใช่ดีนะ มันเป็นโรคอย่างหนึ่ง พอดีระวังอย่าให้อ้วน เลิกกินของพวกไขมัน พวกไข่ พวกนม พวกเนื้อ ต้องลดกันหน่อย ข้าวนี่มันก็เป็นแป้ง แล้วมันย่อยเป็นน้ำตาล มันกินมากไม่ได้ ต้องฉันแต่พอดี กินแต่พอดี พออยู่ได้ แล้วก็กินพวกผักพวกอื่นให้มันมากหน่อย ผลไม้ พวกฤาษีไม่ค่อยอ้วนนะ เพราะฤาษีถ้าอ้วนนี่มันผิดประหลาดแล้วนะ เขาเรียกว่า ฤาษีอ้วนนี่ไม่ดี มันไม่ถูกต้อง ต้องผอม พวกฤาษีต้องผอม คนเราน่ะ คนผอมๆอายุยืน แต่อ้วนนักมันก็ไม่ค่อยดี แต่ที่อ้วนก็เพราะขาดการระมัดระวังในการกิน กินอะไรก็อร่อยนะ ไอ้ของอร่อยน่ะ
ท่านพุทธทาส มีคนไปถามว่าจะลดน้ำหนักอย่างไรครับ อ้อ ของชอบอย่ากิน ของอร่อยก็อย่ากินนะ มันลดได้เลย ก็ถ้าชอบแล้วไม่กินมันก็กินน้อยนี่ ของอร่อยอย่าไปกินนี่มันก็กินน้อยนี่ กินน้อยมันก็ลดได้ ท่านลดเหมือนกันนะ แต่ว่าท่านอ้วนเพราะนั่งมาก นั่งได้มันตลอดวัน นั่งอยู่บนม้าหินอย่างนั้นแหละ นั่งอยู่อย่างนั้นแหละ ไม่มีใครมาก็นั่งเฉยๆ ถ้ามีใครมาก็คุยกันไป ไม่ค่อยได้เดิน สมัยก่อนท่านเดินเหินไปทำนู่นทำนี่ ช่วยดูแลการก่อสร้าง ไปเดินเรื่อย ต่อมามันเสร็จแล้วก็ไม่ค่อยได้เดิน เวลาหลวงพ่อไปก็ชวนท่านเดินนะ เดินไป เดินไป เดินได้นิดหน่อยน่ะ ไม่ถึงครึ่งชั่วโมงน่ะ ท่านบอก แหม่ เหนื่อยแล้ว ก็ เออ เอ้าเดินอีกหน่อย ชวนเดินต่อไป เดินไปได้ เดินไปหยุดไปคุยไปอย่างนั้นแหละ เดินได้แล้วกลับมานั่ง ท่านก็ นี่มันเป็นอย่างนี้แหละ มันเหนื่อย เดินไม่ไหวเพราะไม่ค่อยได้เดิน แล้วท่านก็บ่นว่า เรามันอยู่เกินพระพุทธเจ้ามันก็ลำบาก อายุ ๘๗ นะ ท่านพูดว่าอยู่เกินพระพุทธเจ้ามา ๘๗ ปีเท่านี้แล้ว มันลำบาก ความจริงก็ หายใจแล้วอยากจะตายอยู่เหมือนกันแหละ แต่ว่าไม่มีใครให้ความร่วมมือ ว่าอย่างนั้น ไม่มีคนให้ความร่วมมือเลยตายไม่ได้ๆ ท่านก็พูดขำๆนะ พูดกันสององค์ มาปรารภกันฉันพี่ฉันน้อง คุยกันเล่น มันเป็นอย่างนั้นนี่
โยมๆ ก็คิดอย่างนั้น คืออย่าคิดให้เป็นทุกข์ คิดเรื่องอะไรเป็นทุกข์ เลิกคิด ลืมมันเสีย ต้องคิดแต่เรื่องสบายๆ เรื่องที่สบายใจ สงบใจ ไม่วุ่นวายใจน่ะ คิดอย่างนั้นอะไรก็จะดีขึ้นนะ
พูดมาก็สมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้
ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจเป็นเวลา ๕ นาที สงบใจก็นั่งควบคุมความคิดให้อยู่ในที่เดียว อยู่ที่ลมเข้าลมออก หายใจเข้ากำหนดรู้ หายใจออกกำหนดรู้ อย่าให้ไปคิดเรื่องอื่น แต่ว่ามันจะไป มันเคย ดึงมา แล้วก็มาอยู่ตรงนี้ อยู่ที่ลมเข้าลมออก อย่าไปไหนจนกว่าจะหมดเวลา