แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะอันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านหาที่นั่งพักในที่ที่ได้ยินเสียงชัดเจนแจ่มแจ้ง แล้วจงตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการมาวัดในวันอาทิตย์ ตามสมควรแก่เวลา
วันอาทิตย์นี้เป็นวันอาทิตย์แรกของเดือนสิงหาคม เดือนสิงหาคมนี้เป็นเดือนที่มีความสำคัญสำหรับชาวไทยเราทั่วไป เพราะเป็นเดือนที่สมเด็จพระบรมราชินีนาถได้ประสูติในวันที่ ๑๒ สิงหาคม เดือนสิงหา กรกฎา สิงหาคม พวกหมอเขาว่าเป็นเดือนที่สำคัญ คนสำคัญๆ ของโลกมักจะเกิดในระยะเดือนกรกฎา สิงหา เป็นส่วนมาก เมืองไทยเราก็มีคนเกิดในเดือนสิงหาหลายคน จอมพลถนอมก็เกิดวันที่ ๑๑ สิงหาคม ปลัดกระทรวงมหาดไทยซึ่งยังมีชีวิตอยู่ชื่อ คุณพ่วง สุวรรณรัตน์ ก็เกิดเดือนสิงหาคม ชะตาในเดือนสิงหานี่เขาว่าดี หมอว่า แต่ว่าคนที่เกิดเดือนนี้ไม่ดีก็เยอะเหมือนกัน ติดคุกติดตารางก็เยอะเหมือนกัน ชีวิตตกต่ำก็มีเยอะเหมือนกัน มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับเดือนปีที่เกิด แต่ขึ้นอยู่กับการกระทำ พระพุทธเจ้าสอนว่าอะไรๆ มันขึ้นอยู่กับการกระทำทั้งนั้น ถ้าเราทำดีมันก็ดี ถ้าเราทำชั่วมันก็ชั่ว เราหนีจากผลที่ทำไว้ไม่ได้เป็นอันขาด
แต่คนที่ถืออะไรแปลกๆ ยังมีอยู่ เมื่อวานเด็กผู้หญิงคนหนึ่งมาขอร้องว่าจะขอให้เปลี่ยนชื่อให้ ถามว่าทำไมจะต้องเปลี่ยนชื่อ ก็บอกว่าชื่อนี้มันไม่ดี หนูเวลานี้เรียนอะไร เรียนมหาวิทยาลัยปีที่ ๒ เอ๊ะ! ไอ้ชื่อไม่ดีมันเรียนมาตั้งแต่อนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัยปีที่ ๒ คณะนิเทศน์ศาสตร์ก็สอบได้มาโดยลำดับนี่นะ มันไม่ได้ถ่วงความเจริญก้าวหน้าในการศึกษาของเธอ มันไม่เกี่ยวด้วยชื่อหรอก ชื่ออะไร เขาก็บอกชื่อไว้ บอกโอ้! ชื่อนี้ดีมาก เป็นชื่อตรงกับนางภิกษุณีองค์หนึ่งซึ่งเป็นพระอรหันต์ นางภิกษุณีองค์นั้นชื่ออย่างเหมือนเธอ แต่ก็เป็นพระอรหันต์ เธอควรจะภูมิใจว่าชื่อตัวนี้เป็นมงคลนาม เพราะไปชื่อตรงกับพระอรหันต์ นางภิกษุณีที่เป็นพระอรหันต์ ทำไมคิดจะเปลี่ยนชื่อ ไปอ่านหนังสือเรื่องเกี่ยวกับชื่อเข้า เขาว่าอักษรตัวนั้นเป็นกาลกิณี ตัวนั้นเป็นเดช ตัวนั้นเป็นศรี ตัวนั้นเป็นอะไรต่ออะไร บอกว่านั่นมันหนังสือคนปัญญาอ่อนเขียนไว้ เธอไปอ่านหนังสือคนปัญญาอ่อนก็กลายเป็นคนปัญญาอ่อนไปด้วย ความจริงชื่อเธอมันไพเราะแล้ว ดีแล้ว แล้วก็ชื่อนี้เรียนหนังสือมาได้ถึงมหาวิทยาลัย สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ คนที่สอบไม่ได้ก็มีเยอะแยะ แล้วทำไมจะต้องไปเปลี่ยนให้มันยุ่งล่ะ เปลี่ยนชื่อไม่ใช่เรื่องไม่ยุ่งนะ เรื่องมันหลายเรื่องนะ เทศน์ให้ฟัง แล้วก็ตกลงว่าไม่ต้องเปลี่ยน เอาชื่อนั้นต่อไป มันเป็นอย่างนั้น
มีหลายคนมาอยากขอเปลี่ยนชื่อ ว่าชื่อมันไม่เพราะผู้หญิงคนหนึ่งเป็นหัวหน้ากองในสำนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง บอกว่าชื่อนี้ไม่ดี ไม่ดีอย่างไรเธอทำงานมาจนได้เป็นหัวหน้ากองในชื่อนี้ แล้วไปดูถูกดูหมิ่นชื่อนี้ได้อย่างไร มันดีมาจนได้เป็นหัวหน้ากองแล้ว แล้วจะเปลี่ยนทำไมอีกล่ะ ถามไปถามมา แนะไปแนะมาไม่ต้องเปลี่ยนก็ได้ เป็นอย่างนั้น คนเรามันคิดแปลกๆ แผลงๆ ไปเชื่อตามเขาว่า เขาว่าวันนั้นดี วันนี้ไม่ดี ชื่อนั้นดี ชื่อนี้ไม่ดี
บอกว่าหลวงพ่อนี้ก็มีตัวหนึ่งเป็นกาลกิณีเหมือนกันชื่อหลวงพ่อนี่ ชื่อเดิม ก็ไม่เห็นเป็นกาลกิณีอะไร ชีวิตมันก็เรียบร้อยมาลำบากบ้างสบายบ้างจนมาถึงขั้นนี้ อายุ ๘๕ ปีแล้ว แล้วก็อยู่ในความนิยมชมชอบของประชาชน ไม่ได้เสียหายอะไร แล้วก็พอใจในชื่อนี้ ไม่เปลี่ยนหรอก แต่ว่าเดี๋ยวนี้คนเขาตั้งชื่อให้ใหม่ เขาเรียกชื่อใหม่เรียกท่านปัญญานันทะ แล้วก็เรียกอะไรมาตามลำดับจนชื่อเดี๋ยวนี้ มันก็ไม่ได้ดีขึ้นเพราะชื่อหรอก ชื่อมาเพราะความดีของเรา ชื่อมันมาเพราะความดีของเรา ที่ได้เลื่อนชั้นเป็นพระราชาคณะนี่เพราะเราทำดี ทำดีมาจึงได้เป็นพระปัญญานันทมุนี ทำดีต่อมาก็ได้เป็นพระราชนันทมุนี ดีต่อมาก็เป็นพระเทพวิสุทธิเมธี ทำดีต่อมาก็เป็นพระธรรมโกศาจารย์ อาจจะเลื่อนต่อไปอีกก็ได้ ถ้าไม่ตายเสียก่อน มันอยู่ที่เราทำดีไม่ใช่อยู่ที่ชื่อ ชื่ออะไรก็ได้ มันไม่แปลกอะไร
ในหลวงรัชกาลที่ ๑ ชื่อทองด้วง น้องชายชื่อทองมา ก็เป็นคนเก่งของเมืองไทย เป็นพระเจ้าแผ่นดินตั้งราชวงศ์จักรีมาได้ อย่างนั้น รัชกาลที่ ๓ ชื่อทับ ก็ไม่ได้ปลูกทับปลูกตึกอะไร แต่ก็ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ท่านสร้างพระปรางค์วัดแจ้ง สร้างพระปรางค์ภูเขาทอง สร้างโลหะปราสาทวัดราชนัดดา เก่งทั้งนั้น ชื่อทับแต่ไม่ได้ปลูกทับอะไร ขึ้นไปสูงไปเรื่อยๆ เราอย่าไปคิดถึงว่า ชื่อนั้นชื่อนี้ไม่ดี อย่าไปเชื่อไอ้คนที่ปัญญาอ่อนแล้วไปยุให้เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนโน่น เปลี่ยนนี่มันวุ่นวาย
เคยมีคนไปหาพระพุทธเจ้า บอกว่าข้าพระองค์อยากจะเปลี่ยนชื่อ ทรงบอกว่า เอ้า! ไปเที่ยวหามาสิชื่อเหมาะๆ เธอชอบ ฉันจะได้เปลี่ยนให้ เขาก็เดินไป ไปเจอคนๆ หนึ่งเป็นคนอ้วน แต่ว่าชื่อนายผอม ถามว่าชื่ออะไรชื่อผอม เอ๊ะ! อ้วนแต่ชื่อผอม แล้วเดินต่อไปพบคนผอมชื่อนายอ้วน ไปพบคนสูงชื่อนายเตี้ย ไปพบคนที่หลงทางอยู่แต่ชื่อนายชำนาญทาง ถามว่าชื่ออะไร ชื่อนายชำนาญทาง เอ๊ะ! ชำนาญทางแต่ทำไมหลงทางอยู่ พอพบชื่อสี่ชื่อนี้กลับมาพบพระพุทธเจ้า บอกว่าข้าพระองค์ไม่เปลี่ยนแล้วเพราะชื่อนี้ไม่สำคัญ ชื่อนายชำนาญทางก็เที่ยวเดินหลงอยู่ไปไม่ถูก ชื่อนายอ้วนแต่ตัวผอม ชื่อนายผอมแต่ตัวอ้วน ชื่อนายสูงแต่ตัวเตี้ยเหมือนกับอะไร มันไม่ได้เรื่อง ไม่ได้จริงจังอะไร เลยก็ไม่ขอเปลี่ยน มีอยู่ในเรื่องเกี่ยวกับอย่างนี้ ท่านก็ไม่ต้องเปลี่ยนชื่ออย่างนั้นก็ดีแล้ว
วันหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปมีคนตกเบ็ดอยู่คนหนึ่ง ชื่อนายอริยะนะ คนตกเบ็ดชื่ออริยะ พระองค์รู้ชื่อแล้วแต่ว่าไปถึงถาม หยุดหน้านายอริยะ แล้วก็มาถามพระที่เดินมาทั้งหมด ถามเธอชื่ออะไร ความจริงพระองค์ก็รู้แล้วว่าชื่ออะไร แต่แกล้งถามเพื่อให้คนนั้นสะเทือนใจหน่อย ชื่ออะไร ชื่ออานนท์ ชื่ออะไร ชื่ออนุรุธ ชื่อกัสสปะ ชื่อนั้นชื่อนี้ ถามชื่อพระหลายองค์เดี๋ยวมาถามชื่อกูเข้าบ้าง ประเดี๋ยวเดียวพระพุทธเจ้าหันมาถามเข้าว่า เธอชื่ออะไร นายคนนั้นตอบว่า ชื่ออริยะ อ่า! ชื่ออริยะ แล้วกำลังทำอะไร ตกเบ็ด อริยะแต่มาตกเบ็ดมันไม่สมควรแก่ชื่อนะ ชื่ออริยะแปลว่าผู้ประเสริฐแต่เธอทำกิจที่ไม่ประเสริฐเพราะมาตกเบ็ดเบียดเบียนสัตว์ให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน ประพฤติตนไม่สมชื่อ ท่านก็เทศน์ให้ฟังว่าไม่ควรเบียดเบียนสัตว์ ไม่ควรจะทำร้ายสัตว์ ให้อยู่ด้วยความเมตตาปรารถนาดีต่อสัตว์ทั้งหลาย นายคนนั้นก็รู้สึกตัว เลยเลือกไม่ตกเบ็ดต่อไป เป็นอย่างนั้น ชื่ออริยะแต่ว่าไปตกเบ็ด หรือว่าชื่ออริยะแต่ไปนั่งเมาเหล้าแอ๋ มันก็ไม่ได้เรื่อง หรือไปอยู่บ่อนการพนันมันก็ไม่ได้เรื่อง ไม่สมชื่อ เรามันต้องประพฤติตนให้สมชื่อ เอาชื่อไว้อย่างไรก็ทำตนให้สมชื่อ เป็นคนดีมีศีลมีธรรมประจำใจก็นับว่าเป็นคนใช้ได้ เรื่องเปลี่ยนชื่อไม่ใช่เรื่องจำเป็นอะไร เว้นไว้แต่ว่าชื่อมันฟังไม่เพราะ เลยขอเปลี่ยน มีบางคนมาจากบ้านชื่อไม่ค่อยเพราะ มาอยู่กรุงเทพก็เลยขอเปลี่ยนชื่อให้มันเข้าทีขึ้นหน่อยอย่างนี้มันก็พอสมเหตุสมผล แต่ว่าชื่อดีดีแล้วก็ไม่ต้องเปลี่ยนอะไร นี่ด้วยความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง
คำสอนในทางพระพุทธศาสนานั้น สอนให้เรารู้ความจริงของสิ่งทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริง ความจริงของสิ่งทั้งหลายที่เป็นจริงนั้นมันเป็นจริงอยู่อย่างนั้นตลอดเวลาไม่เป็นอื่น เป็นอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา พระพุทธเจ้าจะเกิดขึ้นก็ตาม ไม่เกิดขึ้นในโลกก็ตามสิ่งนั้นก็เป็นอยู่อย่างนั้น เป็นความจริงอยู่อย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น ดังคำที่พระองค์ตรัสไว้ในพระสูตรหนึ่ง เขาเรียกว่าธัมมนิยามสูตร ธัมมนิยามสูตรเป็นพระสูตรที่กล่าวถึงเรื่องความจริง ๓ ประการพระเอามาสวดในงานศพ เวลาทำบุญศพตอนเช้าเลี้ยงพระ ๑๐ รูปแล้วก็มีการสวดมนต์ก็สวดสูตรนี้ สวดว่าอุปปาทา วา ภิกขเว ตถาคตานัง อนุปปาทา วา ตถาคตานัง ฐิตา วะ สา ธาตุ ธัมมัฏฐิตตา ธัมมนิยามตา สัพเพ สังขารา อนิจจา บอกว่า ตถาคตจะเกิดขึ้นก็ตามไม่เกิดขึ้นก็ตาม สิ่งที่เรียกว่าธรรมชาติ ธรรมดา ธรรมะปิติ คือความตั้งอยู่แห่งธรรม ว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงเป็นอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้ค้นพบ เอามาเปิดเผยทำให้ตื้น แจกแก่คนทั้งหลายให้เกิดความรู้ความเข้าใจ
อันนี้เป็นเครื่องชี้ให้เราทั้งหลายเข้าใจว่า ตัวธรรมะนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่ มีอยู่ก่อน มีอยู่ในโลกตลอดเวลา แต่ว่าไม่มีใครค้นพบ ไม่มีใครเอามาเปิดเผย คนก็เลยไม่รู้ไม่เข้าใจ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงค้นพบสิ่งนั้น ค้นพบแล้วทำพระองค์ให้พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนใจ แล้วนำสิ่งนั้นมาประกาศแก่ชาวโลกให้เกิดความรู้ความเข้าใจกันต่อไป อันนี้เป็นเครื่องที่ชี้ให้เราทั้งหลายเห็นว่า ธรรมะเป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา ไม่ว่าในสถาน ในที่ใด สิ่งนั้นเป็นอยู่ ความไม่เที่ยงมีอยู่ที่ร่างกาย ที่เสื้อผ้า ที่เก้าอี้ที่เรานั่ง ที่กระเป๋าที่เราถือ ที่อะไรๆ ทุกอย่างที่เรามีเราได้ไว้มันไม่เที่ยง คือมันเปลี่ยนแปลง แล้วผลที่สุดมันก็ต้องสลายไป
ความเปลี่ยนแปลงของสิ่งนั้นๆ มันขึ้นอยู่กับเวลา บางอย่างก็เปลี่ยนแปลงช้า บางอย่างก็เปลี่ยนแปลงเร็ว เช่นคนเรานี่บางคนแก่ไว บางคนแก่ช้า คนที่แก่ช้าคือมันเปลี่ยนแปลงช้าๆ ที่เปลี่ยนแปลงช้าก็เพราะว่าปัจจัยเครื่องปรุงแต่งสมบูรณ์ ภูมิต้านทานดี โรคภัยไข้เจ็บน้อย แม้จะเกิดโรคขึ้นก็มีภูมิต้านทานดี สู้โรคได้ ร่างกายจึงเปลี่ยนแปลงช้า เราจึงทักคนบางคนว่า เอ๊! ดูไม่แก่ ความจริงเขาพูดไม่ถูก มันแก่แล้วแก่อยู่เหมือนกันแต่ว่าแก่ช้าหน่อย ร่างกายเปลี่ยนแปลงช้าๆ ทรุดโทรมช้าๆ แต่มันก็อยู่ในสภาพของความเปลี่ยนแปลง แต่บางคนเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ทรุดโทรมเร็ว อายุไม่เท่าไรแต่ร่างกายทรุดโทรมเร็ว ที่ร่างกายทรุดโทรมเร็วนั้นเพราะเครื่องประกอบไม่พอ ไม่ดีพอ
คล้ายกับเครื่องใช้ไม้สอย ถ้าเป็นของผลิตในประเทศยุโรปใช้ได้ทนได้นาน ถ้าผลิตในประเทศญี่ปุ่นราคาไม่แพงแต่ว่าใช้ไม่นาน เหมือนรถญี่ปุ่นกับรถเยอรมัน รถเยอรมันทนทานใช้ได้นาน แต่รถญี่ปุ่นก็ดูหนเดียวก็ขึ้นสนิมแล้วไม่ค่อยจะแข็งแรง แต่ว่าราคาถูก เขาทำขึ้นขายคนที่มีปานกลาง ฐานะปานกลางไม่ใช่ขายพวกเศรษฐีมีทรัพย์สมบัติ แต่ถ้าส่งไปขายประเทศอเมริกา เขาก็ทำดีกว่าของที่ส่งมาขายในเอเชีย เพราะคนอเมริกานั้นกำลังซื้อเขามาก เขาก็ปรุงแต่งให้มันดีหน่อย และอีกประการหนึ่งทางราชการก็ตรวจสอบสิ่งของเหล่านั้นก่อนที่จะให้คนใช้ ถ้าหากว่าส่วนประกอบไม่ดีเขาไม่ให้ขาย ก็ส่งกลับ บริษัทก็ต้องกวดขันในการที่จะผลิตให้มันดีขึ้น ก็แก่ช้าหน่อยเสื่อมช้าหน่อย มันเป็นเรื่องอย่างนั้น
ร่างกายของเรานี้ความจริงมันก็เปลี่ยนแปลงอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก เหมือนกับคำของอาจารย์กูรู พูดกับศิษย์ขี้เมาคนหนึ่งว่า คิดดูให้ดีๆ ร่างกายนี้เปลี่ยนแปลงไปสู่ความแตกดับทุกลมหายใจเข้าออก ถ้าเธอไม่ใช้มันให้เป็นประโยชน์ มันจะมีค่าที่ตรงไหน คำพูดนี้กระทบกระเทือนคนขี้เมาคนนั้น ทำให้เกิดความสำนึกรู้สึกตัวว่า โอ้! เรานี่แย่มาก ประพฤติเหลวไหล ชอบเล่นการพนัน ชอบเสพสิ่งเสพติดมึนเมา ไม่เอาใจใส่ในครอบครัว ไม่ทำหน้าที่ของพ่อบ้านที่ดี สภาพครอบครัวจึงลำบาก ได้คิดทบทวนเรื่องของตัวเองเพราะได้ยินคำสอนที่กระเทือนใจว่าคิดดูให้ดี ร่างกายนี้มันเปลี่ยนแปลงไปสู่ความตายทุกลมหายใจเข้าออก ถ้าเราไม่ใช้มันให้เป็นประโยชน์แล้วมันจะมีค่าที่ตรงไหน ค่าของคนที่อยู่การทำความดี ถ้าเราไม่ทำความดี ชีวิตก็ไม่มีค่าอะไร
คนนั้นรู้สึกตัวเลยเดินตามอาจารย์ไปจนถึงวัด แล้วขอบวชในพระพุทธศาสนา บวชแล้วก็ยังคิดถึงเรื่องความเปลี่ยนแปลง เลยตั้งใจศึกษาเล่าเรียนปฏิบัติอย่างจริงจัง กลายเป็นนักเทศน์นักสอนเหมือนกับอาจารย์กูรู ปรากฏชื่อเสียงต่อมาจนกระทั่งบัดนี้ อันนี้ก็เพราะว่าได้ฟังสิ่งที่มัน เขาเรียกว่าสังเวช สะเทือนใจ ภาษาชาวบ้านว่าได้ฟังสิ่งที่สะเทือนใจ สะเทือนใจว่าชีวิตนี้มันกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ความตาย เรากำลังเดินไปสู่ความตาย ถ้าเราไม่รีบใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์แล้วมันจะได้เรื่องอะไร ความคิดอย่างนั้นเกิดขึ้น
เรื่องความไม่เที่ยงนี่มีอยู่ในสิ่งทั้งหลาย ปรากฏแก่สายตาของเราอยู่ตลอดเวลา สมมุติว่าเราปลูกต้นไม้เล่น ปลูกต้นไม้ แล้วก็ใส่ปุ๋ยรดน้ำ เราจะสังเกตเห็นว่าต้นไม้เหล่านั้นมันเจริญขึ้น ใบดก สีสวย อาการที่เป็นเช่นนั้นก็คือความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงในทางที่เจริญขึ้น โตขึ้น อย่างนั้นเป็นความไม่เที่ยงอันหนึ่ง แล้วเมื่อมีใบมาก ต่อไปก็มีดอก ผลิดอกสวยๆ งามๆ ให้เราได้ชม ได้กลิ่นด้วย แล้วดอกเหล่านั้นก็ค่อยเปลี่ยนสภาพไป ขั้นแรกก็ดูสีสดสวย แล้วต่อไปก็เหี่ยวแห้ง ร่วงโรย กลีบหล่นลงมากองอยู่ที่โคนต้น หรือถ้าเราเก็บดอกไม้สวยงามนั้นมาใส่แจกัน มีน้ำหล่อนิดหน่อย วางไว้บนโต๊ะรับแขก แล้วเราสังเกตดูว่าดอกมันเหี่ยว แล้วก็กลีบมันร่วงผลอยลงมากองอยู่ที่บนโต๊ะ
สิ่งเหล่านั้นมันเป็นครูเป็นเครื่องเตือนใจเรา ให้เราได้คิดในแง่ธรรมะ คิดในแง่ธรรมะก็ที่เราดอกไม้นี้ เมื่อออกใหม่ๆ มันเป็นดอกตูม แล้วก็แย้ม แล้วก็บาน แล้วมันก็เริ่มเหี่ยวแห้ง กลีบร่วงผลอยลงไปกองอยู่ที่พื้นหรือที่โคนต้น เอามาเปรียบกับตัวเรา เปรียบกับตัวเราว่าตัวเราก็เหมือนดอกไม้ อันนี้ใช้หลักว่า โอปนยิโก ที่เราสวดมนต์ว่าโอปนยิโก โอปนยิโกหมายความว่าน้อมเข้ามาสู่ตน คือเอาสิ่งที่เราเห็นภายนอกมาเปรียบกับตัวเรา มาเป็นเครื่องเตือนตัวเรา ให้รู้ว่าตัวเราก็เหมือนดอกไม้ ตัวเราเริ่มเกิดเป็นเด็กน้อยๆ แล้วอาศัยปรุงแต่งความเปลี่ยนแปลง มันก็เปลี่ยนแปลงเติบโตขึ้นๆ โดยลำดับ เป็นเด็กน้อยนอนแบเบาะ แล้วก็รู้จักคว่ำ รู้จักคลาน รู้จักตั้งไข่ นั่ง แล้วก็ลุกขึ้นยืน เดินเตาะแตะได้ พูดภาษาเรียกแม่ได้ คำแรกที่เด็กพูดก็คือแม่นะ มามะ มามะ มาแมะอะไรก็ว่าไป ภาษาไทยเราเด็กเรียกว่าแม่ พอเด็กพูดว่าแม่นี่ โอ้! คุณแม่ปลื้มใจ ปลื้มใจที่สุดเลย ในการที่ลูกเรียกตัวเราว่าแม่ คำว่าแม่จึงเป็นคำที่ทำให้เราชื่นใจ เป็นคำที่มีความหมาย เป็นคำที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับชีวิตของแม่ เด็กจึงร้องออกมาว่าแม่เป็นคำแรก ร้องก่อนเพื่อน ก็แปลว่าเมื่อเด็กนั้นมันโตขึ้น รู้ภาษา จำได้ จึงจำคำว่าแม่ได้ แล้วก็พูดคำอื่นๆ ได้ต่อไป เป็นเด็กขนาดไปโรงเรียนอนุบาล เด็กเข้าโรงเรียนก่อนเกณฑ์
เดี๋ยวนี้เขารีบให้เรียน ไม่เหมือนสมัยก่อน สมัยก่อนกว่าจะได้เรียนก็อายุ ๗ ขวบ หลวงพ่อเรียนหนังสือเมื่ออายุ ๗ ขวบ เรียนกับคุณพ่อ คุณพ่อให้จับดินสอ แล้วก็เขียน ก นั่งเขียนอยู่นั่นแหละ เขียนตัว ก ตัวเดียว เขียนตามเส้น ซ้ำแล้วซ้ำอีก เขียนจนจำได้ ก แล้วเขียนตัว ข ตัว ค ง จ ว่าไปเรื่อยจนจำได้หมด ๔๔ ตัว แล้วก็มาเขียนผสมสระ ก อะ กะ กะ กา กิ กี กึ กือ กุ กู เกะ เก ว่าไปตลอดบรรทัดเลย จำได้หมด ผสมได้หมด แล้วเอาตัวเข้ามาใส่ข้างหลัง ตัว น มาใส่ กน กัน กาน กิน กีน กึน กืน กุน กูน เก็น เกน แก็น แกน โอ๊ย! อ่านดังเลย เขียนเสร็จแล้วอ่าน กระดานยาวแค่นี้ ไม้ กระดานไม้ เขียนเต็มทั้งกระดานแล้วก็ลบ ลบแล้วเอาไปผึ่งแดด เวลาไปอยู่วัด ตอออ (26.04 เสียงไม่ชัดเจน) เอาน้ำใส่มากๆ จนลงกระดานมัน มันเป็นแอ่งตรงกลางใส่น้ำมากๆ หาเรื่องไปเล่น มันไม่แห้ง อาจารย์ว่า เอ้า! ทำไมไม่เขียนหนังสือ น้ำยังไม่แห้งครับ หาเรื่องเที่ยว อาจารย์ก็ไม่ว่าอะไร เวลาลบกระดานก็เอาน้ำใส่มากๆ ถ้าผึ่งแดดมันยังไม่แห้ง น้ำไม่แห้งครับ อาจารย์ไม่ว่าอะไร เรียนอย่างนี้จนกระทั่งได้อ่านหนังสือแบบเรียนเร็วเล่ม ๑ กระทรวงศึกษาธิการแจกไปตามวัด เอาไปอ่าน ไปขอท่านสมภาร อาจารย์ ข้าหลวง ขั้นแรกไม่ให้ อันนี้ไม่ได้หนังสือนี้ของหลวงนะ เขาแจกมาไว้สำหรับวัด เอาไปไม่ได้แล้ว เขาแจกมาทำไมล่ะท่านหลวง เขามาให้เรียน เอ้า! เอามาให้เรียนแล้วไปใส่ไว้ในตู้มันจะได้เรื่องอะไรครับ มันต้องให้เด็กอ่านสิ เอ้า เอาไปเถอะ เอาไป เรียกว่าใช้เหตุผลเอากับหลวงตาได้ หลวงตาก็ให้ไปอ่านแบบเรียนเร็วเล่ม๑ เติบโตขึ้นเรียนหนังสือโดยลำดับ จนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่อายุบวชเณรได้ก็ไปบวชเณร บวชพระได้ก็ไปบวชพระ สึกออกมาก็ไปแต่งงานมีลูกมีหลาน
ร่างกายก็เปลี่ยนแปลงไป ชั้นแรกมันเปลี่ยนขึ้น ก็เรียกว่าแก่ขึ้น แก่ขึ้นก็ได้ แก่ปกปิดก็ได้มันมีคำใช้ ๒ คำ เรียกว่าปฏิจฉันนะชรา แปลว่าแก่ปกปิดไม่ให้คนขึ้น เจริญขึ้นคือแก่นั่นเอง แก่ แต่ว่าเป็นที่พอใจ ไม่กระทบกระเทือนจิตใจ ทีนี้เมื่อขึ้นถึงที่สุดมันก็ต้องลง เหมือนกับเราขึ้นต้นไม้ ขึ้นไปสุดยอดจะไปอยู่บนต้นไม้ได้อย่างไร มันก็ต้องลง หรือเราขึ้นสะพานคู้ เดินจากหัวสะพานข้างนี้ไป ไปจนถึงกลางสะพาน แล้วมันก็ต้องลงฝั่งโน้น จะไปเดินอยู่กลางสะพานไม่ได้ ไม่ใช่ที่ที่จะเดินจะเล่นอยู่ตรงนั้น เราไปถึงที่ก็ต้องลง ลงเริ่มแก่ เริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อม ผมเริ่มหงอก ฟันเริ่มโยกคลอน ผิวหนังเหี่ยวแห้ง ตาชักจะมัวๆ มองอะไรไม่ค่อยชัด หูชักจะตึง ใครพูดอะไรก็ต้อง เอ๊ออ๊าๆ ถามแล้วถามอีก ร่างกายก็ไม่ค่อยจะแข็งแรงนั่งตัวไม่ตรง หลังคู้ หลังคด เวลาเดินก็ไม่คล่องต้องถือไม้เท้าจดๆ จ้องๆ ปวดไปหมดทั้งตัว นี้คือความเปลี่ยนแปลง ก็เรียกว่าเปลี่ยนแปลงไปสู่ความแตกดับ
ถ้าหากว่ามีโรคอะไรเข้ามาแทรกแซง คนนั้นก็ถึงแก่ความแตกดับไป แต่ถ้าไม่มีโรคแทรก เพราะว่ารู้จักรักษาตัว รู้เรื่องเกี่ยวกับอนามัย คือการรักษาร่างกาย เรื่องอาหารการกิน เรื่องอากาศหายใจ มันก็ช่วยให้โรคน้อย อยู่ไปได้นานถึง ๙๐ ปี ๑๐๐ ปี หรือ ๑๐๐ กว่าปี คนรัสเซียอยู่ ๑๐๐ กว่าปี ญี่ปุ่นก็อยู่ ๑๐๐ กว่า อากาศมันเย็น คนที่อยู่อากาศเย็นอายุยืนกว่าคนที่อยู่ในที่อากาศร้อน อากาศร้อนนี่มันเหี่ยวตอนหน้าร้อน ยิ่งประเทศที่ร้อนมากๆ เช่นอินเดีย มันก็เหี่ยวแห้งหน้าร้อน มันไปสดชื่นตอนหน้าฝน สบายเอาหน้าหนาว แต่มันก็หน้า ฤดูมันก็เปลี่ยน ร้อนมากกว่า ร้อนแรงเสียด้วย ร่างกายจึงเปลี่ยนแปลงชำรุดทรุดโทรม โรคภัยไข้เจ็บก็เกิดมาก คนประเทศอินเดียนี่ตายหน้าร้อนมาก โรคมาก แมลงวันมาก ยุงมากหน้าร้อน หน้าฝนค่อยยังชั่วหน่อย ฉะนั้นทำให้อายุคนไม่เจริญ แต่ถ้าเป็นคนมีสตางค์ก็อยู่ดีกินดี ก็อายุมั่นขวัญยืนเหมือนกัน คนธรรมดาสามัญชาวนาชาวไร่อายุไม่ค่อยจะยืนเท่าใด เพราะโรคภัยไข้เจ็บเยอะ ร่างกายเรานี่ไม่ได้อยู่แต่ร่างกายแต่มันมีอะไรเข้าไปอยู่ด้วย มีเชื้อโรคเข้าอยู่มากมาย หลายอย่างหลายประการ อยู่ตามท้องอยู่ตามลำไส้ อยู่ตามเนื้อตามตัว เข้าไปแทรกแซงแล้วถ้าหากว่าร่างกายเรามีภูมิต้านทานดีเอาชนะได้ แต่ถ้าภูมิต้านทานอ่อนแอก็แพ้โรค ผลที่สุดก็แตกดับซึ่งเรียกว่าความตาย ชีวิตความเป็นอยู่นี้ก็คือความเปลี่ยนแปลง ตัวไม่เที่ยง ตัวอนิจจัง อนิจจังคือตัวชีวิต พอถึงที่สุดของอนิจจังก็คือความตาย ชีวิตแตกดับ ชีวิตคนเราก็เป็นอย่างนี้เหมือนกันหมดทุกคนไม่มีข้อยกเว้น
พระพุทธเจ้าตรัสว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิด สิ่งนั้นก็ต้องมีความดับ ระหว่างจุดเกิดกับจุดดับคือความเปลี่ยนแปลง เรียกว่าชีวิต ตัวชีวิตก็คือตัวความเปลี่ยนแปลงนั่นเอง ตราบใดที่ยังไหลอยู่ยังเปลี่ยนอยู่ก็เรียกว่ายังมีชีวิต เหมือนเราๆ ท่านๆ ทั้งหลายที่มาวัดในที่นี้ ชีวิตยังอยู่ ยังไหลอยู่ส่วนต่างๆ ในร่างกายยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ร่างกายก็อยู่ได้ แต่ถ้ามีข้อขัดข้องทำให้การเปลี่ยนแปลงไม่คล่อง ตายได้เหมือนกัน เช่นเส้นโลหิตตีบนี่ก็เพราะว่ามันมีอะไรเข้าไปขัดไม่ให้การเดินของโลหิตเป็นไปสะดวก การเดินของโลหิตก็คือความเปลี่ยนแปลงของโลหิตไปเลี้ยงร่างกาย เลี้ยงร่างกายเสร็จแล้วก็เอาคืนมาเข้าไปสู่หัวใจไปสู่ปอด ปอดก็ฟอกด้วยอ๊อกซิเย่นที่เราหายใจเข้าไป ถ้าเรายังหายใจเข้าหายใจออกได้ ก็ยังมีการฟอกหลั่งโลหิตให้ใช้สะอาดส่งไปเลี้ยงร่างกายต่อไป แต่ถ้าหากว่ามันเดินไม่คล่องซึ่งเรียกว่า ตีบ ตัน แตก ไอ้ ๓ ตัวนี้น่ากลัวทั้งนั้น ตัว ต ทั้งนั้น เส้นโลหิตตีบก็เดินไม่คล่อง เหมือนกับท่อน้ำตัน น้ำมันก็ไม่เดินเราไม่มีน้ำใช้ เส้นโลหิตมันตีบมันเดินไม่คล่อง แล้วมันอุดตันเพราะมีอะไรเข้าไปอุดไว้
ในหลวงท่านทรงอธิบายว่า (34.18 เสียงไม่ชัดเจน) เหมือนกับมีกองทรายมากองอยู่ แล้วมันก็เดินไปไม่ได้ เรียกว่ามันตัน ตันแล้วมันอั้น มันอั้นแล้วมันก็ร้อน ร้อนแล้วก็ถึงแก่ความตาย เหงื่อไหล คนที่ตายด้วยเส้นโลหิตตันตีบนี่เหงื่อไหล เขาเรียกว่าเหงื่อกาฬไหล เหงื่อไหลท่วมตัว แล้วก็หมดลมหายใจ เพราะโลหิตมันเดินไปไม่ได้มันก็ร้อน เหงื่อแตกเป็นเม็ดโป้งๆ แล้วก็ถึงแก่กรรม เพราะมันร้อนจัด โลหิตเป็นของร้อน เวลาไปข้างอื่นมันก็ร้อนในอก ร้อนทั้งตัวเหงื่อไหลซิกๆ หมดลมหายใจ ปรากฏว่าเพราะเส้นโลหิตอุดตัน ตายได้ มันมีเหตุให้ตายได้ หรือบางทีเราเล่นกีฬามากไป เหนื่อย หัวใจเต้นไม่ทันก็ตายได้เหมือนกัน
เหตุที่จะทำให้ตายได้มีเยอะ ถ้าเราไม่ระมัดระวังไม่ศึกษามันก็ตายง่าย เป็นอย่างนี้เป็นเรื่องธรรมดา ชีวิตของเราจึงไม่เที่ยง ไม่ใช่แต่ชีวิต เหตุการณ์ทั้งหลายมันก็ไม่เที่ยง เหตุการณ์ของโลกก็เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา โลก ลำพังโลกเองมันก็ไม่เที่ยง แต่แล้วคนไปช่วยให้มีความไม่เที่ยงมากขึ้น คือไปช่วยให้มันเปลี่ยนแปลงไปในรูปต่างๆ จากกิเลสที่เกิดขึ้นในจิตใจ จากความโลภ จากความโกรธ จากความหลง จากความริษยาพยาบาท ทำให้สิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงขึ้น ทำให้การเมืองเปลี่ยนแปลง ทำให้สังคมเปลี่ยนแปลง แล้วก็เกิดปัญหาแก่ชีวิต มีความทุกข์มีความเดือดร้อนกันด้วยประการต่างๆ อันนี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องรู้ไว้ ศึกษาไว้ เวลามีอะไรเกิดขึ้นก็ปลงได้ วางได้ วางได้เพราะอะไร เพราะเรารู้ว่าสิ่งทั้งหลายมันเป็นอย่างนั้นเอง
ท่านพุทธทาสพูดเป็นคำคมว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง คือมันเป็นอย่างนั้นตามธรรมชาติของมัน มันเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ แล้วมันก็แตกดับไปตามธรรมชาติ คนเราที่เป็นทุกข์นี่ทุกข์เพราะอะไร ทุกข์เพราะไม่ยอมรับสิ่งที่เป็นความจริง ไม่ยอมรับว่ามันเปลี่ยนแปลง ไม่ยอมรับความจริงว่าสิ่งทั้งหลายกำลังเปลี่ยนแปลงอยู่ เปลี่ยนไปแล้ว และจะเปลี่ยนต่อไปอีก มันเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เราไม่ยอมรับความจริงข้อนั้น มีความรู้สึกฝืนต่อกฏแห่งธรรมชาติ ฝืนความรู้สึกว่ามันไม่น่าจะเปลี่ยนอย่างนั้น ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้นไม่น่าจะเป็นอย่างนี้ ไอ้การคิดอย่างนั้นมันทำให้เกิดตัณหา ทำให้เกิดความทุกข์ในใจของเรา เพราะเราไม่ยอมรับความจริง แต่ถ้าเรายอมรับความจริงเสียว่า ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น ธรรมดามันเป็นอย่างนั้น พอเราพูดกับตัวเองอย่างนั้น จิตใจมันก็วูบลง คือมันปล่อยได้วางได้ แต่ถ้าเราไปคิดตรงกันข้าม มันไม่น่าจะเป็นอย่างนั้นๆ เอ๊ะ! มันไม่น่าจะตาย เอ๊ะ! มันไม่น่าจะเจ็บนะ มันไม่น่าจะหายนะ คิดในทางตรงกันข้าม ทั้งๆ ที่ของนั้นมันเป็นไปแล้ว หายไปแล้ว
เมื่อวานนี้มีคน เป็นน้าของมหาทวีป ผู้ชาย มาถึงบอก แหม! ผมเครียด เป็นไง ขโมยขึ้นบ้านเตรียมเงินไว้ ๒ หมื่นจะเอาไปให้เขาเอาวางไว้ที่ข้างล่างแล้วขึ้นไปนอนข้างบน ขโมยมันงัดประตูเข้ามายกไปหมดทั้งกระเป๋าเลย เสียดาย บอกเสียดายอะไรมันหายไปแล้วจะไปเสียดายให้เป็นทุกข์ทำไม มันหายแล้วจะไปเป็นทุกข์ทำไม แล้วไอ้ที่หายนั้นเป็นความผิดของเราเอง อะไรเงินตั้ง ๒ หมื่นเอาไปวางไว้ชั้นล่าง แล้วขึ้นไปนอนเอเตอยู่ชั้นบน เงินมันไม่ใช่หนักเหมือนหินอะไร หิ้วขึ้นไปด้วยไม่ได้หรือ เอาไปวางไว้ข้างบนไม่ได้หรือ ก็นึกว่าวางไว้นั่นเช้าก็จะได้เอาไปให้เขา ขึ้นไปวางข้างบนเช้ามันก็เอาไปให้เขาได้ นี่เรามันประมาทเอาไปวางไว้ให้เขาหยิบง่ายๆ แล้วคนที่มาเอาก็คงไม่ไกล คนเขารู้ว่าอะไรเป็นอะไรในบ้านนั้น เขาก็มาเอาไป ประมาท ตั้งแต่เกิดมานี่ถูกขโมยบ้างไหม ยังไม่เคย เออดี ถูกเสียบ้าง ดีแล้วถูกเสียบ้าง ได้บทเรียนเสียบ้าง แต่บทเรียนแพงหน่อย มันเอาไปค่าเรียน ๒ หมื่น ค่าเล่าเรียนแพงหน่อยคิดเอาตั้ง ๒ หมื่น ถูกขโมยเสียบ้าง จะได้รู้สึกว่า อ่อ! เวลาขโมยเอาของเราไปนี่มันเป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะอะไร เพราะเสียดาย ทำไมจึงเสียดาย เพราะคิดว่ามันเป็นของเรา แล้วมันเป็นของเราจริงจังหรือเปล่า ถ้าคิดต่อไปให้ละเอียดในแง่ธรรมะก็ร้องอ้อได้ ร้องออกมาว่า อ๋อ! ไม่ได้เรื่อง มันไม่มีอะไรเป็นของเรา ของใช้ชั่วคราว ปลงได้ก็สบายใจ แต่นี้ถ้าไม่ปลงก็เป็นทุกข์ ไม่สบายใจ มันเป็นอย่างนั้น มันเป็นความผิดของเราเอง ความระมัดระวัง เงิน ๒ หมื่นไม่ใช่มันมากมายอะไร เอาไปซ่อนตรงไหนก็ได้ในบ้านมีเยอะแยะ ซ่อนที่ไหนก็ได้ไม่ลำบาก
ท่านวิเวกะนันทะพาไปเที่ยววัดหนองป่าพง ตื่นเช้าบอกว่า แหม! เมื่อคืนนอนไม่หลับทั้งคืน นักภาวนานี่ทำไมนอนไม่หลับ ตุ๊กแกบ้าง อะไรบ้าง มันวุ่นวายครับ ข้างบนเพดานนะ ถ้าเป็นคนกลัวผีก็นึกว่าผีหลอก ความจริงไม่ใช่ ตุ๊กแกมันจะวิ่งไปวิ่งมามันยุ่ง มันนอนเหี่ยวไม่เคยนอนอย่างนั้นก็เลยขี้ขลาด ก็เลยตามเข้าไป ก็ให้คนตามไปเรียกตัวขึ้นรถเดินทางต่อไปเห็นกำลังเปิดช่องเพดานล้วง ท่านวิเวกทำอะไรน่ะ มีอะไรนิดหน่อย ของที่มีอยู่บ้านเอามาไว้บนเพดาน เรียกว่าไม่ประมาทที่จะเอาไว้ข้างเนื้อข้างตัวเดี๋ยวขโมยเข้ามาหยิบเอาไป ก็เลยเอาไว้บนเพดาน บนเพดานกำลังล้วงเพดานหยิบเอากระเป๋าลงมา มีสตางค์อยู่บ้างสำหรับค่าเดินทางเอาไว้บนเพดาน เออ! นี่แหละ อปฺปมาโท อมตํ ปทํ ชินะ ความไม่ประมาทเป็นทางไม่ตาย ไม่ประมาทของก็ไม่หาย เดินทางมามากรู้ รู้เรื่องต้องไม่ประมาท แกก็เป็นนักเดินทาง เดินทางในประเทศอินเดียบ่อยๆ ไม่ค่อย (43.03 เสียงไม่ชัดเจน) คอยระมัดระวังขโมยจะล้วงกระเป๋า ไม่ได้ของแก แกไว้ในที่ปลอดภัย ระมัดระวังเรียบร้อย
เตือนญาติเตือนโยมด้วย โยมไปอินเดียถูกล้วงกระเป๋าบ่อย เผลอๆ มันช่วยยกของ บอกเอ้าช่วยๆ ยกนะ เป็นสุภาพชนเชียวนะ ยกๆ แล้วมันยกเอาไปเสียด้วย เอากระเป๋าเบาๆ ไปเสียด้วย ในกระเป๋าเบานั้นมีสตางค์มันเอาไปเลย มันเป็นอย่างนั้น เผลอไม่ได้ โยมคนหนึ่งไปซื้อของในร้านถูกๆ นะ พอจะล้วงสตางค์ให้ เอ้า! หายไปแล้ว ขโมยแอบล้วงเอาไปแล้ว มันเอาไปก่อนแล้ว เจ้าของล้วงทีหลังก็ไม่มีแล้ว คือความประมาท อย่างพระยังถูกล้วง ท่านมหาบุญสร้างเรานี่ ไปปารีส ไปที่โบสถ์สูง ถ่ายรูป เดินถ่ายรูป ถ่ายไปถ่ายมาเดินกลับลงมาล้วง เอ๊ะ! หายแล้วมันเอาพาสปอร์ตไปแล้ว เอากระเป๋านี่ใส่พาสปอร์ตแล้วใส่ประแจด้วย นั่นน่ะมันยกไปหมด ตายแล้วมันเอาไปได้ พวกนี้มันเก่งจริง เอาไปได้ ที่นั่นมันเป็นที่ชั่วร้าย เป็นโบส์ถใหญ่คนชอบไปดูบนเนินสูง คนชอบไป นักเลง พวกนักล้วงกระเป๋าก็ไปอยู่ที่นั่น คุณโยมตาอาดไปด้วยกันใส่เสื้อชั้นในเสื้อนอก สวมโอเวอร์โค้ททับแล้วก็ของอยู่กระเป๋าเสื้อชั้นใน มันยังเอาไปได้ มันล้วงเก่ง เด็กผู้หญิง (45.10 เสียงไม่ชัดเจน) มันเอาหนังสือพิมพ์มาขาย ยกมือขึ้นผลักไม่เอา ยกมือขึ้นผลักนี่เปิดโอกาส ฉึบ เข้าไปแล้ว ไม่รู้ เอาไปไม่รู้ พอไปจะซื้อของ ตายแล้วหายไปแล้วพาสปอร์ต ๒ ใบของตัวแกของภรรยา หายไปทั้ง เช็ค traveler check เงินสดหายหมด ต้องไปแจ้งความโรงพัก ไปธนาคารแจ้ง traveler check หาย ไปกับทัวร์ อาตมาไปด้วย พวกทัวร์เขาก็เดินทางต่อไปลอนดอน พวกเรา ๓ คนต้องนอนปารีส ได้อยู่ปารีสนานหน่อย ได้ขอบใจมันเหมือนกัน เออ มันทำให้เราได้อยู่ปารีสนาน ต้องย้ายโรงแรม ๓ หน อยู่โรงแรมนี้ ๓ คืน เอ้า คนเขาจองไว้จะมาวันนี้ท่านออกได้ ไปแล้ว ไปหาโรงแรมย้าย ๓ หน เห็นได้พาสปอร์ตใหม่ อะไรใหม่เรียบร้อย เดินทางต่อ มันไวเหลือเกิน พวกนี้ไว ไหนๆ คนไทยไปเที่ยวปารีสทุกรายให้ระมัดระวัง ปารีส กรุงโรม นิวยอร์ก ชิคาโก ไม่ได้ เผลอไม่ได้เลย นักมือเบาๆ ตึ๊บ เอาไปเลย ย่ามพระนี่มันไม่ได้ ย่ามนี่ไม่ได้ อย่าไปไว้ในย่าม เพราะอะไรย่ามมันเอาง่าย ต้องไว้ที่อื่น ที่ปลอดภัยกว่า มันเป็นอย่างนั้น ถ้ามันเอาไปแล้วเราก็ปลงเท่านั้นล่ะ ช่างหัวมัน นึกว่าช่างหัวมันเสียบ้าง เพราะมันเอาไปแล้ว แล้วเราจะเป็นทุกข์ก็ไม่ได้กลับของคืนมา
คนตายแล้วเป็นทุกข์ก็ไม่ฟื้น ของหายแล้วก็เป็นทุกข์ก็ไม่ได้กลับมา ของแตกแล้วเป็นทุกข์มันก็ไม่ได้ดีขึ้น ไม่ได้เรื่อง ทุกข์ทำไม มันเป็นไปตามเรื่องตามกฏเกณฑ์ของธรรมชาติ เรารู้ความจริงแล้วเอาความจริงนี่มาเป็นเครื่องปลอบประโลมใจ จงวางในสิ่งต่างๆ ให้เกิดความทุกข์น้อย ทุกข์สักนิดหน่อยอยู่ แล้วก็ปลงได้ วางได้ การปลงได้ วางได้เป็นผู้ฉลาด ถ้าไม่รู้จักปลงไม่รู้จักวางก็ต้องเป็นทุกข์เรื่อยไป กลุ้มใจเรื่อยไป ฉะนั้นคนบางคนมีอะไรหายก็เป็นทุกข์ตั้งนาน ลูกตายก็เป็นทุกข์ ภรรยาตายก็เป็นทุกข์ สามีตายก็เป็นทุกข์ ทุกข์นานๆ ทุกข์นานๆ เพราะไม่ได้คิดในแง่อนิจจัง แต่ถ้าเราคิดว่ามันไม่เที่ยง สิ่งทั้งหลายหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา ไหลอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่ไหลมันต้องหยุดไหล สิ่งที่เปลี่ยนแปลงมันต้องหยุดเปลี่ยนแปลง การหยุดของสิ่งนั้นมันเป็นเรื่องธรรมดา จะต้องเกิดต้องมีขึ้น ณ เวลาใด เวลาหนึ่ง แล้วเราก็กำหนดไม่ได้มันจะเกิดเมื่อไหร่ จะเป็นเมื่อไหร่ เรานึกไม่ได้ เพราะเราไม่ได้คิดไว้ล่วงหน้าเรื่องอย่างนั้น
พระท่านจึงสอนให้เตรียมตัวไว้ล่วงหน้า ให้พิจารณาไว้ล่วงหน้า เช่นให้สอนหลัก ๕ อย่าง อภิณหปัจจเวกขณ์ ให้พิจารณาทุกวันทุกเวลาว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา หนีความแก่ไม่ได้ ความแก่ก็คือความไม่เที่ยง เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา หนีความเจ็บไข้ไปไม่ได้ เรามีความตายเป็นธรรมดา เราหนีความตายไม่ได้ เราจะต้องพลัดพรากจากของที่เรารักเราชอบใจเป็นธรรมดา เราหนีไปไม่ได้ เรามีกรรมเป็นของตัว ทำดีได้ความดี ทำชั่วได้ความชั่ว เราหนีผลจากการกระทำไม่ได้ ท่านให้คิดบ่อยๆ คิดบ่อยๆ ก็จะเป็นเครื่องประโลมใจ ไม่ให้เศร้าโศก ไม่ให้เสียใจ อาลัยอาวรณ์กับสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้น เพราะเรารู้ว่ามันเป็นเช่นนั้น มันหนีจากความเป็นเช่นนั้นไปไม่ได้ เราเข้าใจตามสภาพที่เป็นจริง ก็ไม่ต้องนั่งเป็นทุกข์ เป็นผู้เข้าใจ
ธรรมะเราต้องหยิบมาใช้ให้เหมาะแก่เรื่องแก่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทีนี้ธรรมะที่เราใช้ ก็คือความไม่เที่ยงเอามาใช้ได้ตลอดเวลา ขับรถไปถึงชนเปรี้ยง อ่า! มันไม่เที่ยง บอกตัวเองว่ามันไม่เที่ยง แต่ว่าระวังไม่ให้มันเป็นเช่นนั้นจะดีกว่า คือขับรถด้วยความไม่ประมาท มันก็ไม่เสียหาย บางทีมันก็ประมาท ถอยหลังไม่ดูข้างหลังให้ดีถอยเปรี้ยงเข้ากับคันที่อยู่ข้างหลัง มันผิดนะ เราไปชนเขา ผิดทั้งนั้น ไปชนข้างหน้าก็ผิด ชนข้างหลังก็ผิด เพราะความประมาท
พระท่านจึงบอกว่าความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ความไม่ประมาทเป็นทางแห่งความไม่ตาย เราจึงต้องหัดสติปัญญาคอยควบคุมความคิด การพูด การกระทำ การเคลื่อนไหวของตัวเรา ไม่ให้เกิดการเสียหายขึ้น จะเดินไปข้างหน้าก็ต้องใช้สติเดิน ถอยหลังก็ใช้สติถอยหลัง เลี้ยวขวาเลี้ยวซ้ายจะทำอะไรทุกอย่างมีสติ เอาสติมาใช้ตลอดเวลา ความผิดพลาดมันก็จะไม่เกิดขึ้น เวลาเราทำอะไรเกิดความผิดพลาดก็แสดงว่าเราประมาท แม่ครัวหั่นผัก หั่นผักไม่พอไปหั่นเอานิ้วของตัวเองเข้า นั่นก็เพราะความประมาท เผลอเรอ เพราะว่าเราทำอะไรมันอยู่ในโรงงานป้อนวัตถุเข้าเครื่อง ป้อนเพลินไปเอาแขนป้อนเข้าไปด้วย ในเครื่องมันก็ยับแขนแตกไป กลายเป็นคนแขนด้วนไป มีบ่อยๆ เพราะขาดสติ ขาดปัญญา ไม่มีความรู้สึกว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ท่านจึงสอนให้เราควบคุมตัวเอง ทำด้วยความรู้สึกตัว ความรู้สึกตัวก็เรียกว่า มีสติ คอยกำหนดในการเคลื่อนไหว เราจะเดินจะนั่งจะยืน จะก้าวไปข้างหน้า จะถอยข้างหลัง เลี้ยวขวาเลี้ยวซ้ายทำอะไรรู้ตัว ทำด้วยความรู้ตัวมันไม่เสียหาย แต่ถ้าเราทำไม่รู้แกว่งแขนไปไม่รู้ตัวก็ไปกระทบอะไรเข้าให้เสียหาย ฉะนั้นก่อนจะทำอะไรให้นึกเสียก่อนว่า กำลังจะทำอะไร ทำอะไรอยู่ ทำอะไรแล้ว คอยกำหนด เรียกว่ามีสติคอยกำหนด สตินี่เป็นตัวสำคัญ ที่เราจะต้องใช้ทุกเมื่อ ท่านจึงตรัสว่า สติ สัพพัตถะ ปัตติยา สติเป็นสิ่งที่ต้องใช้ทุกเวลานาทีของชีวิต เผลอไม่ได้ เสีย เผลอก็เพราะขาดสติ ไม่มีสติควบคุมจึงเผลอ จึงประมาทไป เดินตกบันไดเพราะเราประมาท ถ้าเราเดินนับบันไดไปทุกย่างก้าวมันก็ไม่ตก เพราะเดินด้วยสติ ไม่มีการผิดพลาดเสียหาย อะไรมากระทบประสาทของเรา กระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรารับด้วยสติ ก็ไม่เกิดเรื่อง จะไม่เกิดยินดี ไม่เกิดยินร้าย ไม่เกิดอะไรขึ้นในจิตใจของเรา เพราะเรารับด้วยสติปัญญามันก็ไม่มีเรื่อง แต่ถ้ารับด้วยความเผลอความประมาท มันก็ไปหลงใหลในสิ่งนั้น เป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น ลำบากเดือดร้อนเพราะสิ่งนั้น อันนี้เป็นหลักที่ควรจะได้เอามาคิดนึกในชีวิตประจำวัน ให้จำไว้ในใจเสมอว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แม้ร่างกายของเรานี้ก็เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ห้ามไม่ให้มันเปลี่ยนไม่ได้ เพราะมันหยุดเปลี่ยนมันตาย เราห้ามไม่ได้ แต่เรารู้ว่ามันเป็นเช่นนั้น สภาพความจริงมันเป็นอย่างนั้น เราคอยกำหนดรู้ไว้ แล้วจะไม่เป็นทุกข์เพราะอะไรเกิดขึ้น
ชาวพุทธเราควรจะอยู่ด้วยความไม่เป็นทุกข์ เพราะอยู่ด้วยความตื่นตัว ตื่นตัวก็หมายความว่าสติมีอยู่ สติโลกัสมิ ชาคโร สติทำให้เราตื่นอยู่ตลอดเวลา ไม่หลับใหลไม่มัวเมา อะไรมันก็ไม่เสียหาย ขอให้ญาติโยมเข้าใจอย่างนี้ อันนี้ที่เราเรียนพุทธ (55.25 เสียงไม่ชัดเจน) เขาทำวันแม่ เชิญแม่มาให้เด็กเอาดอกมะลิไปให้แม่ ให้แม่ เคารพแม่ วันแม่ก็เป็นวันที่ทำขึ้นเพื่อให้แม่รู้จักหน้าที่แม่ ให้ลูกรู้จักบุญคุณของแม่ จุดหมาย ๒ อย่าง คือให้แม่รู้จักหน้าที่ของแม่ ให้ลูกรู้จักหน้าที่ของลูก แล้วกระทำการตอบแทนต่อคุณแม่ตามโอกาสที่จะกระทำได้ ฝรั่งเขาจัดขึ้นเราทำตามฝรั่ง ความจริงเมืองไทยเรานั้นไม่ค่อยขาดตกบกพร่องในเรื่องนี้เพราะทำเนียมไทยนั้น พ่อแม่อยู่กับลูกกับหลาน แต่ฝรั่งนั้นไม่ได้อยู่กับลูกกับหลาน ถูกทอดทิ้ง ชาวตะวันตกจึงเห็นว่าไม่ไหวแล้วประเทศเรานี่มันแย่ คนแก่ลำบาก เลยก็ตั้งวันแม่บ้าง วันพ่อบ้าง อะไรขึ้นเพื่อส่งเสริมคนให้รู้จักคิดถึงคุณพ่อคุณแม่ แต่เรานั้นมันเคารพอยู่ตลอดเวลา เลี้ยงดูอยู่
คืนนั้นเขาเอาดาราภาพยนตร์ชื่อนายโกวิท วัฒนะ ว่าเป็นยอดแห่งคนกตัญญูต่อคุณแม่ เพราะเขาเลี้ยงแม่ คุณแม่เป็นคนจังหวัดชัยภูมิ เขาทำมาหาได้ก็เอาคุณแม่มาไว้ด้วย สร้างบ้านให้คุณแม่อยู่คอยดูแลเอาใจใส่ ไม่เคยทำอะไรขัดใจคุณแม่ แม่บอกว่าลูกคนนี้ไม่เคยเถียงแม่เลยตั้งแต่เกิดมา แม่สั่งให้ทำอะไรก็ทำตาม ต้องการอะไรก็เอามาให้ นี่เป็นดารา เวลาเป็นดาราแสดงเป็นตัวโกงทุกทีนายคนนี้ แสดงเป็นตัวโกงแต่ว่าชีวิตแท้จริงไม่ได้เป็นอย่างนั้นเป็นคนรักแม่ เคารพแม่ บูชาแม่ ใช้ได้ คนอย่างนี้ใช้ได้ เป็นคนกตัญญูกตเวที เป็นคนใช้ได้ เอาล่ะ วันนี้พูดมาก็สมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้