แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พุทธบริษัททั้งหลาย ต่อนี้ไปขอให้หยุดเดิน นั่งพัก ณ ที่ใดที่หนึ่งที่สามารถจะได้ยินเสียงชัดเจนแล้วจงตั้งใจฟังด้วยดีเพื่อให้ได้ประโยชน์ ให้มันเกิดขึ้นจากการมาวัดตามสมควรแก่เวลา วันนี้เป็นวันแรมค่ำ ๑ เดือน ๘ เป็นวันที่พระสงฆ์จะอธิษฐานอยู่จำพรรษา การที่พระอยู่จำพรรษานั้นเป็นการทำตามพระวินัย พระวินัยนั้นเป็นเรื่องที่จะทำให้หมู่คณะเรียบร้อยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เหมือนได้ที่รัดดอกไม้ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันฉันใด
พระวินัยก็เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติพระวินัยตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ได้ทรงบัญญัติพระวินัยก่อนเหตุการณ์ ถ้าไม่มีเรื่องไม่มีอะไรก็ยังไม่บัญญัติพระวินัย แต่ถ้ามีเรื่องอะไรเกิดขึ้น ชาวบ้านเขาติเตียน พระองค์ก็บัญญัติพระวินัยว่าพระไม่ควรจะทำอย่างนั้นไม่ควรจะทำอย่างนี้ พระวินัยทุกข้อมีเหตุให้เกิดทั้งนั้น ในพระบาลีเกี่ยวกับพระวินัยเขาเรียกว่า “ต้นบัญญัติ” มีเรื่องที่จะให้เกิดบัญญัติเรื่องนั้นเรื่องนี้ขึ้น เพื่อจะไม่ให้คนติเตียนพระสงฆ์ ต้องการให้พระสงฆ์อยู่อย่างเรียบร้อยดีงามจึงได้มีวินัยไว้
พระวินัยค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น ชั้นแรกก็มีน้อยแต่ว่ามีพระที่ทำอะไรผิด ชาวบ้านติเตียนมากขึ้น ก็ทรงบัญญัติพระวินัยเพิ่มขึ้น จึงมีมากมาย ๒๐๐ กว่าข้อ ๒๒๗ ข้อ แต่ว่าวินัย ๒๒๗ ข้อในปัจจุบันนี้ไม่ได้ปฏิบัติครบทุกข้อหรอก เพราะว่าบางข้อมันไม่มีแล้ว เช่นข้อที่เกี่ยวกับภิกษุณีนี่ไม่มีแล้ว ตรงพระวินัยส่วนนั้นก็ขาดไป บางข้อก็เกี่ยวกับองค์ประทีปในอินเดียโดยเฉพาะ อยู่นอกประเทศอินเดียก็ไม่ได้ปฏิบัติ เช่นข้อที่ว่าภิกษุที่อยู่ในมัชฌิมประเทศให้อาบน้ำ ๑๕ วันครั้งหนึ่ง ถ้าเราไม่ได้ดูต้นบัญญัติก็จะนึกว่า เอ๊ ๑๕ วันอาบทีหนึ่งเหม็นสาบแย่เลย คงจะสกปรกกันเป็นการใหญ่ แต่ว่าไปดูต้นเรื่องแล้วมันมีเหตุจำเป็น คือที่เมืองราชคฤห์นี่มันมีบ่อน้ำร้อน บ่อน้ำร้อนนั้นคนชอบมาอาบกัน พระมหากษัตริย์ก็มาอาบ ชาวบ้านทั่วไปก็มาอาบ และพระเราอยู่ใกล้บ่อก็ไปอาบกันเป็นการใหญ่ พระเจ้าพิมพิสารจะเสด็จมาอาบก็อาบไม่ได้เพราะพระอาบอยู่ เกรงใจพระ ก็ไปกราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบ พระพุทธเจ้าก็เห็นว่ามันไม่จำเป็นจะต้องอาบทุกวัน น้ำร้อนนานๆ อาบทีหนึ่งก็ได้ และก็บัญญัติว่าภิกษุที่อยู่ในมัชฌิมประเทศคือในเมืองราชคฤห์ให้อาบน้ำ ๑๕ วันครั้งหนึ่ง คืออาบน้ำร้อนนี่อาบเพื่อสุขภาพ ไม่ต้องไปอาบบ่อยๆ เวลานี้บัญญัติข้อนั้นไม่ได้ใช้เพราะว่ามันเฉพาะที่เฉพาะเรื่อง ก็เลยไม่ได้ใช้ไป วินัยจำนวนมากนี่ไม่ได้ใช้เยอะหลายข้อหลายประการ แต่ว่าก็ปฏิบัติตามสิ่งที่จะต้องปฏิบัติเพื่อความเรียบร้อยของหมู่คณะ
โดยเฉพาะเรื่องการจำพรรษานี้ ในสมัยแรกคือเมื่อพระพุทธเจ้าไปเที่ยวโปรดปัญจวัคคีย์ แล้วก็มีพระบวชในพุทธศาสนารูปแรกคือท่านอัญญาโกณฑัญญะ ก็อยู่จำพรรษาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ไม่ได้ตั้งกฎตั้งเกณฑ์อะไรเพราะว่าเป็นฤดูฝนแล้วคือต้องหยุดพักกับที่ ท่านก็พักอยู่ตามเรื่องของท่าน พระน้อยๆ ท่านก็ปฏิบัติตามระเบียบคือฤดูฝนก็ไม่ต้องเที่ยว แต่ว่าต่อมาพระมากขึ้น ก็มีพระบางพวกก็ขยันมากไปหน่อย แม้ฤดูฝนแล้วก็ไม่หยุดไม่ยั้ง ยังเที่ยวเดินไปเผยแผ่ธรรมะ การเดินในฤดูฝนนั้นไปเหยียบข้าวกล้าพืชผักที่เขาปลูกไว้ในไร่ในนาให้เสียหาย เดินลุยเข้าไปมันก็เสียหาย ชาวบ้านก็ติเตียน ความทราบไปถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงบัญญัติว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เมื่อถึงวันแรมค่ำ ๑ เดือน ๘ ให้หยุดอยู่กับที่ไม่ไปไหนตลอด ๓ เดือน”
ก็เป็นบัญญัติเรื่องการจำพรรษา พระเดินทางไปถ้าถึงวันแรมค่ำ ๑ เดือน ๘ ก็ต้องหยุดเดิน หยุดที่นั่นแหล่ะ เมื่อหยุดเดินชาวบ้านเขาก็สร้างกระต๊อบหลังเล็กๆ ให้อยู่ เขาเรียกว่า “บรรณกุฎี” กุฎีนี่ก็แปลว่ากระท่อมนั่นเอง บรรณกุฎีแปลว่ากระท่อมมุงด้วยใบไม้บังด้วยใบไม้ สร้างไม่ใหญ่ไม่โตอะไร พอกันฝนได้ มีหลังคามีฝากั้นแคบๆ เล็กๆ ท่านเจ้าคุณพุทธทาสท่านไปอยู่ที่กุมเวียงที่สวนโมกข์ใหม่ๆ สร้างกุฎีเป็นที่อยู่หลังหนึ่งราคาเท่าไหร่โยมรู้ไหม ... ๗๕ บาทเท่านั้นเอง! กุฎีหลังหนึ่ง ๗๕ บาท เรียกว่ามีเสา ๔ ต้นและก็มีคานวางกว้างเมตรหนึ่งยาวเท่าตัวคน ฝามุงสังกะสีและก็มีสังกะสีเป็นฝา เดินได้รอบทิศเอาไม้ค้ำได้ ราคา ๗๕ บาท มีคนรับอาสาไปสร้างให้คือเจ้าคุณรพีท่านเป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ท่านไปรับอาสาสร้างให้ ๑๐ หลังให้พระอยู่ หลังเล็กๆ หลวงพ่อก็เคยไปอยู่กุฎีเหล่านั้น เวลานอนก็ปิดหมดยุงไม่เข้า ตื่นเช้าก็เปิดรอบด้าน แสงสว่างเข้าไปซึ่งอยู่ง่ายๆ ไม่มีสมบัติพัสถานอะไร หลังละ ๗๕ บาท ทำง่ายๆ ไม่มีราคาค่างวด
เดี๋ยวนี้ทำสักหลังหนึ่งก็ต้องหมื่น... แสนนะเดี๋ยวนี้แสน กุฎีข้างในกว้างสามคูณสี่เมตร ก่อด้วยอิฐโบกปูนกันปลวก หลังหนึ่งมันแสนกว่า แต่ว่าเงินสมัยก่อนมีค่า เงินในปัจจุบันนี้ค่ามันน้อย ต้องซื้อวัสดุด้วยเงินมากจึงแพงขึ้น กุฎีหลังเล็กๆ สำหรับพระอยู่นี้ทำง่ายๆ ชาวบ้านก็สร้างให้ พระก็อยู่ที่นั่น อยู่จนตลอดพรรษาไม่ไปไหน ชาวบ้านก็ได้ถวายอาหารพระ ได้มาประชุมกันฟังธรรมศึกษาธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นการได้ประโยชน์ วินัยจึงได้บัญญัติไว้อย่างนั้น ในปัจจุบันนี้ความจริงพระเราไม่ค่อยได้เดินทางไปไหน อยู่ประจำที่ตามวัดต่างๆ ในพรรษานอกพรรษาก็อยู่เหมือนกัน คืออยู่ไม่ไปไหนแต่ว่าพอถึงฤดูพรรษาก็เคร่งขึ้นมาหน่อย อธิษฐานใจใช้คำบาลีว่า “อิมัสมิง อาวาเส อิมัง เตมาสัง วัสสัง อุเปมิ” แปลว่าข้าพเจ้าขออยู่ในวิหารนี้หรือในวัดนี้เป็นเวลา ๓ เดือน เรียกว่าอธิษฐานใจเข้าพรรษา ถ้าไม่อยู่จำพรรษาเป็นอาบัติ ไม่เคารพระเบียบเป็นอาบัติอย่างหนึ่ง พระทั่วไปจึงอยู่จำพรรษาในวันนี้ กลางคืนนี้อธิษฐานใจเข้าพรรษา
ทีนี้การเข้าพรรษาของพระคืออยู่ในเขตวัด ให้อยู่ในวัด ออกไปนอกวัดไม่ได้ ไปอยู่นอกวัดนี่พรรษาขาด เพราะฉะนั้นจึงบอกเขตให้ทราบว่าวัดนั้นมีเขตอย่างไร เช่นวัดนี้มีกำแพงรอบก็ต้องอยู่ในเขตกำแพง ออกไปนอกวัดก่อนรุ่งก็พรรษาขาด เพราะฉะนั้นพระที่ออกบิณฑบาตตามปกติมักออกตี 5 ครึ่ง ตอนเข้าพรรษานี่ออกไม่ได้ ต้องรอให้สว่างให้มองเห็นลายมือของตัวชัดเจนด้วยแสงสว่างของดวงอาทิตย์ ไม่ใช่ไปยืนใต้เสาไฟฟ้าแล้วยกมือดู อ้อ เห็นชัดแล้วไปได้ อย่างนั้นไม่ถูก ต้องรอจนกระทั่งตะวันขึ้น พอแสงเงินแสงทองขึ้นมาดูลายมือเห็นชัดหรือดูต้นไม้รู้ว่าเป็นต้นอะไรแล้วก็ออกไปนอกวัดได้ ไปบิณฑบาตอะไรอย่างนั้น ทุกรูปต้องทำอย่างนั้นเหมือนกันหมด
แต่ว่าการอยู่จำพรรษาของพระนี่ไม่ได้หมายความว่าไปไหนไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าท่านมีอนุญาตเหมือนกัน อนุญาตให้ไปได้ มีความจำเป็นเช่นว่าพ่อแม่เจ็บหนักจะต้องไปช่วยพยาบาลก็ไปได้ ไปอะไรๆ ๗ วันกลับมา หรือว่าอุปัชฌาอาจารย์ป่วยหนักก็ต้องไปช่วย ก็ไปได้ หรือว่าที่ๆ อยู่นั้นมันเกิดไฟไหม้บ้านหมด ชาวบ้านอยู่ไม่ได้ พระก็อยู่ไม่ได้เพราะไม่มีอาหารจะฉัน ชาวบ้านถูกไฟไหม้บ้าน ชาวบ้านอพยพ พระก็ต้องอพยพไปด้วยเพราะไม่มีอาหารจะฉัน หรือเกิดภัยอย่างอื่นเกิดขึ้นก็ไปได้ นี่อนุญาตไว้เป็นพิเศษ แต่ถ้าไม่มีเรื่องอะไรก็ไม่ไปไหน ไม่ไปเที่ยว ในพรรษานี่พระเราจะไปเที่ยวไม่ได้ เช่นถามว่าคุณมาทำไม? มาเที่ยว มาไม่ได้ ในพรรษานี่ไปเที่ยวไม่ได้ หรือบอกว่ามาซื้อสีย้อมจีวร ไม่ได้ ไม่ให้มาในรูปอย่างนั้น ไม่จำเป็นอะไรจะต้องมา มีระเบียบจำกัดไว้
การอยู่จำพรรษานั้นไม่ได้อยู่นิ่งอยู่เฉย เพราะไม่ไปไหนก็ต้องทำการติดต่อในเรื่องการศึกษาในเรื่องการปฏิบัติทำงานติดต่อ แต่ท่านกวดขันในเรื่องปฏิบัติขัดเกลาจิตใจ ในฤดูกาลเข้าพรรษานี่ต้องตั้งใจว่าจะทำอะไร เช่นตั้งใจเจริญภาวนาเอาจริงเอาจังตลอด ๓ เดือน ออกพรรษาแล้วก็ค่อยว่ากันต่อไป ไม่อยู่โดยไม่ได้ทำอะไร ไม่ใช่ว่าอยู่จำพรรษาฉันแล้วนอน ฉันแล้วนอน ๓ เดือนอ้วนเป็นหมูตอน อย่างนี้ไม่ถูก ต้องอยู่เพื่อการขูดเกลาจิตใจเรียกว่าเจริญภาวนา
ในคัมภีร์ธรรมบทเล่าเรื่องไว้ว่าพระองค์หนึ่งชื่อท่านจักขุบาล... จักขุปาละ (14.30 ไม่ทราบตัวสะกด) แปลว่าทีหลังตาบอดจึงเรียกว่าจักขุบาล ท่านผู้นี้เป็นลูกคนร่ำรวยแต่ว่าเมื่อพ่อแม่ตายแล้วก็ได้รับมรดก มีน้องชายอีกคนหนึ่งชื่อจุลบาล ท่านชื่อมหาบาล เห็นว่ามันเป็นภาระต้องดูแลทรัพย์สมบัติ ต้องรับบาปของคนอื่นท่านก็เบื่อหน่าย เลยก็ไปบวชในพระศาสนา เมื่อบวชแล้วก็ได้รับคำสอนจากอาจารย์ในด้านภาวนาก็ไปนั่งทำอยู่ในป่า ทีนี้พอถึงฤดูกาลเข้าพรรษาท่านก็เรียกพระที่อยู่ร่วมกันมาประชุมแล้วก็บอกว่าเราทั้งหลายอย่าได้ประมาท รีบเร่งทำความเพียรเพื่อให้หลุดพ้นจากความทุกข์ในชีวิตประจำวัน ให้ทุกรูปตั้งใจอธิษฐานว่าจะทำอะไรตลอดพรรษา แล้วตัวท่านเองก็บอกพระทั้งหลายว่าเรานี้ได้อธิษฐานใจแล้วว่าจะไม่นอนตลอด ๓ เดือน คือไม่นอนเลย เมื่อตั้งใจว่าไม่นอนแล้วท่านก็ทำจริง ทำไปๆ ไม่นอน นั่ง ยืน เดินตลอดเวลา ตาเป็นโรค ไอ้โรคตาแดง น้ำตาไหลอยู่ตลอดเวลา ตาบวมมีหมอจักษุแพทย์มาเยี่ยมเยียนก็เห็นว่าตาแดงบวม หมอเลยบอกว่าพระคุณเจ้าทำไมตาเป็นอย่างนั้น บอกว่าฉันไม่ได้นอนตาจึงเป็นอย่างนี้ หมอบอกว่าผมจะทำยามาให้ หมอนี้มียาดีทำยามาให้พระคุณเจ้าหยอดยา เมื่อได้รับจากหมอแล้วท่านก็หยอดเหมือนกันแต่นั่งหยอด ยาหยอดตามันต้องนอนโยม และก็หยอดลงไปมันซึมลงไปในลูกตา ทีนี้นั่งหยอดมันไม่ซึม มันไหลลงไป ก็หยอดไปอย่างนั้นแหล่ะ หมอมาทีหลังมาเยี่ยมบอก เอ๊ ท่าน...ยาของผมนี่มันชะงัดดีนะ รักษาคนหายมามากแล้ว ท่านใช้หรือเปล่า
ท่านบอกว่า ใช้ หยอดทุกวัน
... เอ๊ หยอดทุกวันแล้วทำไมมันไม่ดีขึ้น ท่านหยอดอย่างไร นอนหยอดหรือว่านั่งหยอด
พระท่านบอกว่านั่งหยอด หมอบอกไม่ถูก ต้องนอน ท่านก็บอกว่าอาตมานอนไม่ได้เพราะตั้งใจไว้แล้วว่าจะไม่นอนจะไม่เอนหลังลงสู่พื้น หมอบอกว่าให้รักษาร่างกายให้ปกติแล้วจะได้ปฏิบัติต่อไป ถ้าร่างกายไม่ปกติก็เอาตัวไม่รอด ท่านก็บอกว่าจะปรึกษาดูก่อน ปรึกษาใครก็ปรึกษาตัวเองนั่นแหล่ะ แล้วท่านตัดสินใจว่าช่างหัวมัน ตาจะบอดก็ช่างแต่เราจะไม่เอนหลังลงนอนเป็นอันขาด ผลที่สุดไม่หยอดตาด้วยอิริยาบถนอน หมอก็มาบอกว่าท่านอย่าบอกใครๆ นะว่าผมเอายามาให้ อย่าบอกใครๆ ว่าผมรักษาท่านด้วยยานี้เพราะมันจะเสียชื่อหมอ ท่านก็บอกไม่เป็นไรโยม ขอบใจ อาตมาจะไม่บอกใครเรื่องนี้ แล้วท่านก็ทำความเพียรต่อไปไม่หลับไม่นอน พอออกพรรษาท่านก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ ตาบอดพอดี เมื่อบรรลุพระอรหันต์นี่ตาบอดพอดี
ทีนี้เมื่อตาบอดแล้วเช้าๆ ท่านก็ไปเดินจงกรมที่ลานในบริเวณวัด คืนนั้นฝนตกแล้วแมลงมันออก เหมือนบ้านเราพอฝนตกแมลงเม่ามันบินวุ่นไปหมด แล้วมันตกอยู่ตามพื้นดิน ท่านเดินไปก็เหยียบแมลงตายไปหมด พระทั้งหลายมาเห็นบอก อู๊ย ท่านองค์นี้เหยียบมดตายเหยียบแมลงตายเยอะแยะเป็นบาปเป็นโทษ ก็ไปฟ้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงทราบว่าเรื่องเป็นอย่างไร แต่เพื่อให้เรื่องปรากฏแก่คนทั้งหลาย จึงเรียกท่านจักขุปาละมาถามว่าเธอเดินจงกรมเหยียบแมลงตายมากมายจริงหรือ ท่านบอกว่าจริง แต่ว่าเพราะตาไม่เห็นจึงเหยียบแมลงเหล่านั้น เธอไม่มีเจตนาที่จะเหยียบแมลงเหล่านั้นใช่ไหม ท่านบอกใช่พระเจ้าค่ะ ข้าพระองค์ไม่ได้มีเจตนาจะฆ่าสัตว์ตัดชีวิตแม้แต่น้อย แต่สัตว์ตายนั้นก็เพราะว่ามองไม่เห็น
การกระทำกรรมของคนเรานั้นมันขึ้นอยู่กับเจตนาจึงมีคำตรัสว่า “เจตนาหัง ภิกขเว กัมมัง วทามิ” เรากล่าวว่าเจตนาเป็นตัวกรรมจึงจะเป็นกรรมขึ้นมาได้ก็ต้องอาศัยเจตนา คือมีใจลงไปเกี่ยวข้อง ถ้าไม่มีเจตนามันไม่เป็นกรรม เป็นเพียงกิริยา “Action” ฝรั่งเรียก Action เป็นกิริยา แล้วก็มีปฏิกิริยาคือ Reaction จากการกระทำนั้น ไม่มีผลทางใจ ไม่เป็นบาปไม่เป็นบุญอะไรจากการกระทำนั้นเพราะไม่มีเจตนา เช่นเราเดินไปเหยียบมดตายอย่างนี้มันไม่เจตนา ไม่บาป หรือชาวนาขุดดินขุดไปแล้วก็ถูกไส้เดือนขาด ๒ ท่อน การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นบาปเป็นโทษเพราะใจไม่ได้คิดจะฆ่าไส้เดือน ไม่มีความตั้งใจอันนั้นเพียงแต่ทำตามหน้าที่ก็ไม่ถือว่าเป็นบาปเป็นโทษอะไร
บาปบุญมันจะเกิดเพราะมีเจตนาเช่นสมมติว่าเราเห็นกาบมะพร้าวที่ยังไม่ได้ขูดเอามาใช้วางไว้ มดเข้าไปเกาะเต็มไปหมด เราก็... โหย นี่มดทั้งนั้น จะทำอย่างไร เอามะพร้าวไปที่กองไฟแล้วเอาไม้ตีพริกขูดมะพร้าว มดก็ร่วงตายหมดอย่างนี้เขาเรียกว่าเจตนา ถ้าเจตนามันก็เป็นบาปเป็นกรรม เป็นบาปขึ้นมาเพราะมิใจเข้าไปเกี่ยวข้อง อันนี้โยมเอาไปเป็นหลักวินิจฉัย ทำอะไรมักจะไปเที่ยวถามคนว่านี่บาปไม่บาป ก็ดูใจเรานี่ว่าเราตั้งใจหรือเปล่า เรามีเจตนาหรือเปล่า ถ้ามีเจตนามันก็เป็นบาปเป็นโทษ เป็นบุญด้วยถ้าเป็นในด้านดี แต่ถ้าไม่มีเจตนามันก็ไม่มีอะไร เป็นสักแต่ว่ากิริยาแล้วก็มีผลทางวัตถุ ไม่มีผลทางจิตใจ นี่เราคิดง่ายถ้าเรื่องอย่างนี้ พระท่านจักขุปาละนี่ท่านตั้งจิตอธิษฐานว่าจะภาวนาไม่นอนตลอด ๓ เดือนแล้วก็ไม่นอนจริงๆ เรียกว่าทำจริง แต่ว่ามันดันเป็นโรคตาแดงแล้วก็ไม่หยอดยาด้วยการนอนเลยตาบอดไปเลย เป็นอย่างนั้น ก็เป็นเรื่องตัวอย่างให้เห็นว่าเขาทำจริง ทำอะไรทำจริง
พระพุทธเจ้าสอนว่า “กะยิรา เจ กะยิราเถนัง” ถ้าจะทำ ทำให้จริงๆ “ทัฬหะเมนัง ปะรักกะเม” คือบากบั่นในงานนั้นให้มั่นคง อย่าทำแบบย่อหย่อนหละหลวม เพราะถ้าทำแบบย่อหย่อนหลวมๆ มันก็ไม่ได้ประโยชน์ เหมือนเราไปจับหญ้าคมบางจะถอนออกมาใช้ จับไม่มั่นมันก็บาดมือเลือดไหลไม่ได้หญ้า แต่ถ้าจับมั่นคงถอนได้หญ้ามาใช้ การปฏิบัติจิตในการอะไรก็ตาม เช่นการค้าขาย การกสิกรรม เกษตรกรรมอะไรก็ตาม เราจะต้องตั้งใจทำเต็มความรู้เต็มความสามารถผลมันก็จะสมบูรณ์ขึ้น แต่ถ้าทำเล่นๆ ผลมันก็ไม่สมบูรณ์ อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ พระสงฆ์ท่านอธิษฐานใจในรูปอย่างนั้นในฤดูกาลเข้าพรรษา
ทีนี้เราทั้งหลายที่เป็นพุทธบริษัท ในวันเข้าพรรษาวันนี้เราก็ควรจะได้มีการอธิษฐานใจ อธิษฐานแปลว่าทำใจให้มั่นคงในเรื่องนั้น ไม่ให้อ่อนแอท้อแท้แล้วก็เลิก ไม่กระทำ ให้ตั้งใจกระทำอย่างจริงจังเรียกว่าอธิษฐานใจ พระผู้มีพระภาคเจ้าของชาวเราทั้งหลายนั้นได้ทรงอธิษฐานใจหลายครั้งหลายหน เช่นว่าจะออกบวชนี่ก็อธิษฐานใจ อธิษฐานแปลว่าเราจะออกไปจากวังเพื่อไปค้นหาธรรมะเพื่อแก้ทุกข์ เมื่อหาได้แล้วเราจะเอาธรรมนะนั้นไปแจกแก่ผู้อื่นต่อไป นี่คือความตั้งใจที่จะออกบวช ออกบวชด้วยความตั้งใจไม่ใช่บวชตามประเพณี ไม่ได้บวชตามอารมณ์ แต่ออกบวชด้วยมีจุดหมายว่าออกบวชเพื่อแสวงหาธรรม เมื่อได้พบธรรมะอันดับทุกข์ได้แล้ว จะนำธรรมะนั้นไปสอนคนอื่นให้รู้ให้เข้าใจแล้วจะได้พ้นทุกข์ไปด้วยกัน นี่ก็เป็นการอธิษฐาน อธิษฐานนี้เป็นบารมีข้อหนึ่งในบารมี ๑๐
บารมี ๑๐ ประการมีทานบารมี ศีลบารมี ขันติบารมี สัจจะบารมี อธิษฐานบารมี หลายๆ อย่าง แต่บารมี ๑๐ อย่างนั้นเป็นเครื่องช่วยให้ถึงฝั่ง บารมีแปลว่าธรรมะที่จะช่วยให้เราไปถึงจุดหมายปลายทาง คนเราทำอะไรถ้าไม่มีความตั้งใจให้มั่นคง การทำสิ่งนั้นก็มักจะย่อหย่อนหละหลวม ทำไปตามอารมณ์ ทำไปตามความเห่อแต่ไม่ทำด้วยความตั้งใจ ความสำเร็จมักจะไม่เกิดเพราะไม่ตั้งใจทำ แต่ถ้าเรามีความตั้งใจ เราอธิษฐานใจว่าเราจะทำสิ่งนี้ ทำให้เสร็จให้สมบูรณ์ให้เรียบร้อย ถ้าไม่เสร็จเราจะไม่เลิก ตั้งใจอย่างนั้นแล้วก็ทำด้วยความเพียรทำด้วยความอดทน ทำด้วยความตั้งใจมั่นในสิ่งนั้นความสำเร็จก็จะเกิดขึ้น
เราควรจะสอนลูกหลานของเราให้รู้จักใช้อธิษฐานใจ หัดให้เขาอธิษฐานใจ เช่นว่าเขาจะอ่านหนังสือก็ให้อธิษฐานว่าจะอ่านหนังสือเล่มนี้ให้จบ ๑ บทในคืนนี้ ถ้าไม่จบจะไม่ลุกขึ้นไปไหนจะไม่ทำอะไรอื่น ต้องอ่านหนังสือให้จบ หรือทำการบ้านเมื่อทำการบ้านก็สอนให้อธิษฐานใจว่าฉันจะทำการบ้าน ฉันจะทำให้สำเร็จเรียบร้อย ถ้ายังไม่สำเร็จฉันจะไม่ลุกขึ้นจากเก้าอี้นั่ง จะไม่ไปทำกิจอื่น สอนเด็กให้ทำอย่างนั้น จะทำอะไรก็ให้มีการอธิษฐานใจคือตั้งใจให้มันมั่นคงเข้มแข็งในการกระทำ ความมานะพยายามก็จะเกิดขึ้น ความตั้งใจที่จะทำงานก็เกิดขึ้น งานสำเร็จแล้วลูกหลานเราก็จะกลายเป็นคนประเภททำอะไรทำจริง เมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ก็จะไม่เป็นคนเหลวไหลไม่อ่อนแอ เป็นคนรู้จักตั้งใจทำหน้าที่เพื่อให้สำเร็จเรียบร้อย อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ควรใช้ได้
เช่นในพรรษานี้เราเอาลูกมาอธิษฐานใจ คืนนี้ก่อนหลับก่อนนอนเราควรจะได้ไหว้พระสวดมนต์ การไหว้พระสวดมนต์นี่ความจริงควรทำเป็นกิจประจำวัน ทำทุกวัน ตื่นเช้าก่อนนอนควรจะทำ เอาหนังสือสวดมนต์แปลนี่แหล่ะไปใช้เป็นแบบ สวดแปลด้วยจะได้รู้ความหมาย จะได้เข้าใจข้อความที่เราสวด แล้วจะได้เอาไปปฏิบัติได้ หัดสวด พ่อแม่สวดให้ลูกฟัง ลูกสวดตามพ่อแม่ สวดบ่อยๆ เด็กก็จะจำได้ขึ้นใจ สวดได้ดีกว่าพ่อแม่เสียอีกเพราะสมองเด็กรับเร็ว จำได้เร็ว สวดมนต์เสร็จแล้วสอนลูกให้นั่งสมาธิคือนั่งสงบใจ นั่งนิ่งๆ เอาร่างกายให้นิ่งก่อน แล้วต่อไปก็ฝึกจิตให้สงบให้เป็นสมาธิ ทำทุกคืนจนเป็นนิสัย แล้วถ้าเราชวนเด็กทำอย่างนั้น เด็กจะมาชวนพ่อแม่สวดมนต์ไหว้พระก่อนนอน เด็กจะมาเตือนพ่อแม่เองว่าเรามาสวดกันเถอะหนูจะได้นอน ก็ต้องไปทำกับเขา สวดมนต์อย่างนี้ทำเป็นประจำ เพาะนิสัยให้อยู่ใกล้พระ อยู่ใกล้พระพุทธเจ้า อยู่ใกล้พระธรรมพระสงฆ์ จิตใจก็จะไม่วอกแวกไปไหน จะอยู่กับพระตลอดไป
เด็กที่มีจิตใจแนบสนิทอยู่กับพระวางใจได้ ไว้ใจได้เป็นคนดีที่โรงเรียน เป็นคนดีเมื่อเดินอยู่บนถนน จะคิดอะไรจะพูดอะไรจะทำอะไรเขาก็จะคิดแต่เรื่องดี ทำเรื่องดี พูดเรื่องดี คบหาคนดี ไปสู่สถานที่ดีๆ เพราะจิตเขามั่นอยู่กับพระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยนี้อยากจะย้ำญาติโยมทั้งหลายว่าจำเป็นเหลือเกินที่เราจะฝึกเด็กของเราให้ใกล้พระ ให้ใกล้พระธรรมพระสงฆ์ ทำไมถึงคราวเช่นนั้น ตอบได้ว่าโลกในสมัยนี้มันเจริญ ความเจริญของโลกอะไรคือตัวปัญหา โยมลองคิดดู โยมที่แก่ๆ เวลานี้สมัยเมื่อเราเด็กๆ เป็นอย่างไร? สภาพบ้านเมืองไม่เหมือนเดี๋ยวนี้ ไม่เจริญตามแบบโลกนิยม อยู่กันอย่างง่ายๆ ตามธรรมชาติ การเบียดเบียนการข่มเหงกันมันก็น้อย ความต้องการมันก็น้อย ปัญหาไม่มาก มีสตางค์ไม่มากก็อยู่ได้ เดี๋ยวนี้มันต้องมีสตางค์มากๆ เพราะของที่ยั่วให้ซื้อมากมาย เขายั่วทางโทรทัศน์ สำคัญนักไอ้โทรทัศน์นี่ ยั่วตามโทรทัศน์นี่สำคัญ เขาโฆษณาให้ซื้อนั่นให้ซื้อนี่ต่างๆ นานา เขาพูดเก่ง คนก็ไหลไปกับอารมณ์นั้นก็อยากซื้อเอามาใช้ ก็ต้องหาสตางค์ สตางค์ไม่พอก็เป็นทุกข์เพราะไม่ได้ดังใจ
ต้องการสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นนั่นก็เป็นทุกข์ เราสวดทุกวัน สวดอยู่ แล้วก็เป็นทุกข์มากขึ้นเพราะความอยากเพิ่มขึ้น ความอยากก็เพราะว่าวัตถุมันมากขึ้น มันยั่วให้เราอยากเราก็เป็นทุกข์ แล้วเด็กๆ ก็มีของยั่วโดยเฉพาะของเด็กกินนี่มันมากเหลือเกิน เขาทำมาขายกินเล่นๆ กินไม่เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย กินให้ฟันผุ กินให้เสียนิสัย เป็นคนเห็นแก่ปากแก่ท้อง ไม่ประหยัดสุรุ่ยสุร่ายเพิ่มขึ้น ปัญหาก็มากขึ้น นี่คือความเจริญ ความเจริญยิ่งมีมากปัญหายิ่งมาก ความทุกข์ของญาติโยมก็มากขึ้น พระสงฆ์องค์เจ้าเราก็ถ้าไม่ระวังก็พลอยทุกข์ไปด้วยเหมือนกัน ทุกข์แล้วอยากจะสร้างไอ้โน่นไอ้นี่ สร้างใหญ่ๆ ใช้เงินมากๆ พระก็ไม่ค่อยมีสตางค์ก็ต้องรบกวนชาวบ้านให้ช่วยกันสร้าง ถ้ามันเป็นเรื่องจำเป็นก็ควรจะสร้าง แต่เรื่องบางเรื่องไม่จำเป็นจะไปสร้างทำไม ของไม่จำเป็นนี่จะไปสร้างทำไม ไม่ได้สร้างก็เป็นทุกข์หาเรื่องให้เป็นทุกข์ นี่คือปัญหา
ยิ่งเราอยู่ในเมืองใหญ่ทุกข์มากกว่าชนบท โยมอยู่กรุงเทพนี่ทุกข์มากกว่าคนที่อยู่บ้านนอก คนที่อยู่ในป่าตามธรรมชาติ ไม่มีไฟฟ้าไม่มีวิทยุไม่มีโทรทัศน์ใช้ เขาสบายกว่าพวกเราที่อยู่ในเมือง จริงหรือไม่ลองคิดดู สบายเพราะอะไร เพราะเขามีความต้องการน้อย อาหารก็กินง่ายๆ ตามธรรมชาติ หุงข้าวแล้วก็เด็ดยอดผักตามข้างบ้านเอามาแกงกิน ไม่ต้องให้มันวิเศษวิโสอะไร แกงผักแกงหญ้ากินยอดผัก ปลามีบ้าง ถ้ามีน้ำมีท่าก็ไปหาปลาในน้ำมากิน กินวันละ ๓ มื้อ ความจริงมันไม่ถึง ๓ มื้อ ... ๒ มื้อ ก็กินสายหน่อย กินข้าวมื้อกลางวันกินสายราว ๑๐ โมง เช้าก็ไม่กิน ไม่ดื่มกาแฟไม่ดื่มโอวัลตินไม่ดื่มอะไรทั้งนั้น เขากินข้าวมื้อเดียวแล้วก็กินมื้อค่ำ... ๒ มื้อ ชีวิตเขาสบาย ปัญหาน้อย ความต้องการก็น้อย เสื้อผ้านุ่งห่มก็อย่างนั้น นุ่งผ้าข้างบนไม่นุ่งก็ได้ มีผ้าห่มสักผืนสำหรับห่มไปวัดไปวาไปไหนมาไหน ไม่ต้องสวมเสื้อก็ได้ เข้าหาจ้าวหานายสมัยก่อนเขาก็ไม่ได้สวมเสื้อ แต่งตัวนุ่งผ้าอะไร คนสมัยนั้นจึงสุขกว่าพวกเราสมัยนี้ แต่ถ้าเทียบในทางวัตถุ วัตถุเขามันน้อย ไม่เหมือนเราสมัยนี้มีมากจนเต็มบ้าน จนไม่รู้จะเก็บไปไว้ที่ไหน ของมันมาก ความทุกข์ก็มากเป็นธรรมดา อันนี้เป็นความจริงอันหนึ่ง
ทีนี้โดยเฉพาะเด็กๆ ของเรานี้ เขามีความอยากในเรื่องต่างๆ ใจแตกไว อายยุยังไม่เท่าไหร่ใจแตกแล้ว แตกเพราะสิ่งแวดล้อมที่ยั่วยุด้วยประการต่างๆ ทำให้เด็กโตเร็วใจแตกเร็ว เป็นทุกข์เร็ว ทุกข์มากเพราะการแสวงหาไม่พอกับการจะจ่าย ก็เกิดปัญหา แล้วก็สิ่งยั่วยุให้เกิดความสนุกสนานเฮฮาพวกบาร์พวกสถานท่องเที่ยวยามราตรีมีมาก โฆษณากันอึกทึกครึกโครม เด็กก็อยากไปเที่ยวไปสนุก ถ้าเราปล่อยเขาก็ไปกันตามอารมณ์เขา ช่วยตัวเองไม่ได้ ช่วยพ่อแม่ก็ไม่ได้ ชีวิตตกต่ำ อันนี้เป็นเรื่องน่ากลัว ลูกเราหลานเราจะต้องตกอยู่ในหลุมแห่งวัตถุนิยม แล้วมันก็จะสร้างความทุกข์ให้เกิดขึ้น ทีนี้เราจะช่วยเขาได้อย่างไร ปัญหานี้สำคัญ
เรามีการช่วยลูกหลานของเราได้ด้วยการนำเด็กเข้าหาธรรมะไว้ตั้งแต่น้อยๆ ให้เขารู้ความจริงของชีวิตตามสภาพที่เป็นจริง ให้รู้ว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตาอย่างไร ปกติคนไทยทั่วไปนั้นมีความเข้าใจในเรื่องความไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา เพราะได้ยินมานาน พระเทศน์มานานแล้วก็ฝังอยู่ในจิตใจ จึงไม่ค่อยจะรุนแรง คนไทยเรานั้นนิสัยไม่รุนแรง ในทางจิตไม่รุนแรง รักก็ไม่แรง โกรธก็ไม่แรง ยังพอรู้จักยับยั้งชั่งใจ รู้จักปลงรู้จักวางคนสมัยก่อน แต่เดี๋ยวนี้คนไม่รู้จักปลงรู้จักวางแล้ว มันทิ้งแรง คล้ายกับรถยนต์มอเตอร์ไซค์ ไปแรงแล้วก็เกิดอุบัติเหตุบ่อยๆ คนไทยเรามันไม่ค่อยรุนแรง ให้ดูว่าแขกใครไปมาคนจะต้อนรับที่ดอนเมือง มันไม่เหมือนชาวต่างประเทศ ชาวต่างประเทศนี่มันเห่อจริงๆ สมมติว่าดารามา ดาราที่แสดงมีชื่อมีเสียงมาลง อู้ย คนไปมะรุมมะตุ้มขอลายเซ็นจนดาราเดินไม่ได้ คนมันล้อมเต็มไปหมด นั่นเป็นเรื่องของต่างประเทศ เขาตื่นเต้นกับสิ่งนั้นจนกระทั่งว่าเหยียบกันตายก็มีเพราะความตื่นเต้น แต่บ้านเราไม่มี เราดูเฉยๆ เขาไปดูคนที่มานั้นเขาดูเฉยๆ ไม่มีใครมะรุมมะตุ้มเข้าไป ขออย่าให้ระบบอย่างนี้มาเมืองไทยเลย เราก็คิดในใจว่าอย่าให้ระบบแบบนั้นมาเมืองไทยเลย เพราะจะทำให้ภาพพจน์ของคนไทยเสียหายตกต่ำเพราะความรุนแรงมากขึ้น
ทีนี้ความรุนแรงมันรุนแรงทั่วไป การบ้านการเมืองการสังคมอะไรมันรุนแรงทั้งนั้นแหล่ะ มันเสียหาย ญี่ปุ่นนี่ก็รุนแรง มีเรื่องอะไรแล้วก็แรง เพราะว่าเขาฝึกใจไว้อย่างนั้น ฝึกให้สู้ให้ไม่ยอมแพ้ ใจญี่ปุ่นจึงเข้มแข็ง แต่คนไทยเราไม่ได้ฝึกอย่างนั้น เราอยู่ตามเรื่องตามราวแล้วก็บอกให้เข้าใจกันว่าอะไรมันไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นจึงมีคำพูดปลอบใจ เราพูดว่าไม่เป็นไร นิดหน่อย ไม่เป็นไร ฝรั่งเอาไปล้อว่าเมืองไทยนี้เป็นเมืองไม่เป็นไร ไอ้คนที่พูดว่าไม่เป็นไรออกไปได้นั้นมันไม่ใช่เรื่องธรรมดานะ ไม่ใช่เรื่องง่าย เขาปลงตกแล้ว เขามีปัญญารู้ว่าของต้องแตกก็ต้องแตก ของต้องตายมันก็ต้องตาย มันเรื่องธรรมดา จะไปคิดไปร้อนกับมันทำไม เราพูดออกมา “เฮ้ย ไม่เป็นไร” ปลงตกนะ คนพูดว่าไม่เป็นไร ถ้ารถยนต์ ๒ คันชนกันตู้ม! แล้วคนขับ ๒ คนบอกว่า อู้ย นิดหน่อย ไม่เป็นไร มันไม่ต่อยกันแล้ว ๒ คนนั้นมันไม่ทะเลาะกันแล้วล่ะ แล้วมันแยกย้ายกลับกันไปซ่อมกันเองนะ เพราะว่ามันรู้จักเรื่องนิด ไม่เป็นไร นิดหน่อย แต่เดี๋ยวนี้มันไม่อย่างนั้น ชนเปรี้ยง! ลงมาปั้นหน้ายักษ์หน้ามารเข้าใส่กันแล้ว ไอ้รถยุบแล้วคนจะยุบไปด้วย จะตีกันเพราะว่าทิ้งแนวทางของบรรพบุรุษ
ทางของบรรพบุรุษเขาวางไว้ดีเดินเรียบร้อย แต่คนสมัยใหม่ไม่เอาหาว่าล้าสมัย ไม่ทันกินเลยก็หุนหันพลันแล่น ใจร้อนใจเร็วไปกันใหญ่ อย่างนี้อันตรายนะโยม ลูกเล็กเด็กน้อยของเราจะเป็นอันตรายเพราะสิ่งแวดล้อม ที่มันมีอยู่ทั่วๆ ไปที่เห็นกันทั่วไป จึงมีข่าวยิงกันตายอยู่บ่อยๆ เรื่องมันไม่น่าจะยิงกันแต่มันก็ยิงกัน เพราะว่าเครื่องมือมันเจริญ คนเยอะ ...... (43.27 เสียงไม่ชัดเจน) สมัยก่อนโกรธกันก็เอาไม้ผุๆ ตีๆ ศีรษะหน้าโรงลิเก เอาเลือดออกซิบๆ ก็สบายใจแล้ว ฮึ เอายางออกมาแล้วมันก็เท่านั้นแหล่ะ ไม่ตาย เดี๋ยวนี้ความโกรธเท่าเดิมแต่อาวุธที่ใช้มันแรง เปรี้ยงเดียวเรียบร้อย ตาย เป็นอย่างนั้น นี่คืออันตรายที่จะเกิดขึ้นในกาลต่อไปข้างหน้า เราที่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ยังพอยับยั้งชั่งใจได้ ยังปลงได้ แต่ว่าเด็กต่อไปข้างหน้ามันจะปลงไม่ได้ เพราะไม่มีหลักสำหรับปลอบโยนจิตใจ จึงเป็นหน้าที่ของเราที่เป็นผู้ใหญ่ อย่าปล่อยให้ลูกเล็กเด็กน้อยทั้งหลายตกอยู่ในเงื้อมมือของความเจริญสมัยใหม่ ต้องสอนให้เขารู้ความจริงของชีวิตเสียบ้าง
เราจึงต้องดึงเขาเข้าหาธรรมะ สอนให้เขาเข้าใจ ให้เขาท่องพระพุทธภาษิตที่เป็นเครื่องสะกิดใจไว้บ้าง เช่นท่องคำสอนแปลได้เหมือนสวดมนต์แปลเป็นประโยชน์มาก เราเอาไปใช้ที่บ้าน โยมเอาไปทิ้งเอาไว้ที่บ้าน สวดกันบ่อยๆ สวดแล้วก็อธิบายให้ลูกหลานฟังคอยสอนคอยเตือน คอยฝังความนึกคิดเข้าไปไว้ในจิตใจของเขาทีละน้อยๆ เด็กก็จะได้รับหลักธรรมไว้ในใจ โตขึ้นก็จะไม่เสียคนไม่เสียหาย และบ้านเมืองของเราเวลานี้เป็นประชาธิปไตยเรียกว่าประชาชนเป็นใหญ่ ทีนี้ประชาชนที่จะเป็นใหญ่มันต้องมีธรรมะนะโยม มีธรรมะเป็นหลักให้ใจใหญ่ใจกว้าง ใจมีเหตุผลใจมีปัญญา แต่ถ้าไม่มีธรรมะมันจะยุ่ง
โดยเฉพาะนักการเมืองที่ไม่มีธรรมะนี่จะยุ่งมาก ไอ้ที่รบๆ กันอยู่ทั่วๆ โลกนี่มันเรื่องนักการเมืองทั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องประชาชน มันยุ่งให้คนรบกันให้คนฆ่ากัน ตัวเขาเองนั่งอยู่ที่แท่นดินแต่ออกคำสั่งให้คนไปฆ่า ไอ้พวกโน้นตายแต่พวกหัวหน้ามันยังไม่ตาย มันยังมีโอกาสสั่งให้รบกันต่อไปให้บ้านเมืองล่มจมต่อไป เป็นอย่างนั้นเพราะไม่มีคุณธรรม ไอ้ตัวว่าเป็นผู้ถือศาสนาแต่ไม่ได้เอาธรรมะในศาสนาไปใช้ ถือแต่ไม่ได้ใช้ธรรมะ มาวัดบ้างมาตามธรรมเนียมประเพณี คนเขามาก็ต้องไปให้เขาเห็นหน่อยว่าฉันก็ไปวัดเหมือนกัน มันเป็นอย่างนั้น ไม่ได้มาเพื่อศึกษาธรรมะเพื่อเอาธรรมะไปใช้เป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน จึงมีเรื่องทีใครทีมัน มีการเลือกหาประโยชน์ ถ้าขัดประโยชน์มันก็แตก ถ้ามีประโยชน์ร่วมกันก็อยู่กันได้ สามัคคีกันได้ ร่วมรักกันได้ แต่พอประโยชน์ขัดกันแล้วก็แตกกัน เพราะขาดคุณธรรม ไม่มีความสละพอ ไม่มีเหตุผลพอ ไม่มีปัญญาพอจึงเป็นเรื่องที่ลำบาก
ทีนี้เราต้องช่วยกันสร้างจิตใจของเด็กให้มีความรู้สึกนึกคิดตามหลักธรรมะ จะไม่ทำความเสียหายเกิดขึ้นแก่ตนแก่ท่านในกาลต่อไปข้างหน้า เป็นเรื่องสำคัญก็ต้องเริ่มในพรรษานี้ ญาติโยมทุกคนต้องตั้งจิตอธิษฐานว่าเราจะดึงลูกหลานของเรา ลูกมันโตแล้วดึงไม่ไหว ดึงหลานเข้าวัดเข้าวา หัดลูกให้รู้จักกราบพระไหว้พระ รู้จักสงบจิตสงบใจ โตขึ้นหน่อยก็ให้เหตุให้ผล พูดจาชี้แจงให้เขาเห็นว่าอะไรๆ มันก็เหมือนกัน มันเปลี่ยนแปลงมันเป็นทุกข์ มันไม่อยู่ในอำนาจของใคร สอนให้เข้าใจความจริงตามหลักพุทธศาสนาง่ายๆ คืออนิจจังทุกขังอนัตตา ให้เขาได้รู้ได้เข้าใจ จิตใจก็จะมีปัญญา รู้จักปล่อยรู้จักวาง ไม่ยึดมั่นในเรื่องอะไรมากเกินไป ความรุนแรงมันก็ไม่เกิดเพราะไม่ได้ยึดมั่นถือมั่น แต่ว่าทำอะไรก็ทำด้วยสติปัญญามีเหตุมีผลอะไรก็จะดีขึ้น
ทุกคนช่วยได้ เราช่วยประเทศชาติได้ด้วยการช่วยสร้างคนให้เป็นคนดีในชาติในบ้านเมือง ทำในครอบครัวของเราก่อนแล้วก็ขยายออกไป อะไรๆ มันตั้งต้นในครอบครัวทั้งนั้น ถ้าทุกครอบครัวช่วยกันประพฤติธรรม เผยแผ่ธรรมะให้เกิดความรู้ความเข้าใจกัน ลูกหลานนั้นโตขึ้นมันก็เป็นคนดีมีศีลธรรมประจำจิต คนมีศีลธรรมจะไปเป็นอะไรมันก็ใช้ได้ทั้งนั้นแหล่ะ แต่คนไม่มีศีลธรรมไม่มีความรู้มีความสามารถมันก็ทำอะไรดีไม่ได้ ทำเพื่อตัวมันไปไม่รอด ต้องทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ทีนี้เราต้องฝึกให้เขาเห็นประโยชน์ส่วนรวมให้รู้จักแบ่งปันกันระหว่างพี่น้อง ได้ขนมมาก็ให้แบ่งกินกัน ได้กล้วยมาก็แบ่งกันกิน ไม่ให้กินคนเดียว ต้องให้แบ่งแก่คนนั้นบ้างคนนี้บ้างที่นั่งข้างเคียง หัดให้เป็นผู้เสียสละเล็กๆ น้อยๆ แล้วต่อไปก็เสียสละมากขึ้น ชีวิตเขาจะเรียบร้อย นี่เป็นกิจที่ควรกระทำในฤดูกาลเข้าพรรษา ญาติโยมที่มาวัดก็มาทุกวันอาทิตย์ตั้งใจมาหรือมาวันพระก็มาตามสะดวก แต่ว่าอย่าขาดการเข้าวัดเพื่อศึกษาธรรมะ แล้วดึงคนอื่นมาด้วย ดึงลูกดึงหลานมาด้วย มาวัดแล้วก็เอาไปแจกจ่ายแก่ลูกแก่หลาน ฉะนั้นเราไปไหนพบของกินก็ซื้อมาฝากลูกหลาน อันนั้นกินแล้วก็ถ่ายไปเป็นประโยชน์ร่างกาย แต่ถ้าเราเอาธรรมะไปฝากมันเป็นประโยชน์แก่จิตใจ อยู่กับเด็กนั้นถาวรไม่หายไปไหน จึงเป็นเรื่องที่ขอฝากไว้ให้ญาติโยมทั้งหลายได้ช่วยกันต่อไป พูดมาก็สมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้
- ปาฐกถาธรรมพิเศษเนื่องในวันเข้าพรรษา วันพุธที่ ๒๒ กรกฎาคม ปีพุทธศักราช ๒๕๓๘