แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ เลยเวลาไปนิดหน่อย เพราะวันนี้ คนมาหลายคน คนนั้นดึงไปนิด คนนี้ดึงไปหน่อย เอาเวลาไป ก็ยังไม่หมดคนที่เข้าไปในกุฏิ แต่บอกไม่ได้แล้วโยม ใครจะถวายอะไรก็กองๆไว้อยู่นั่น ถวายสงฆ์ไม่ต้องเจาะจงใครไว้เป็นกองกลางตรงนั้นล่ะ วางไว้ แล้วก็มาเพื่อแสดงธรรมแก่ญาติโยมทั้งหลาย
เมื่อวันที่ 7 ไปไชยา ไปสวนโมกข์ เพราะว่าที่สวนโมกข์เขามีงานรำลึกถึงท่านเจ้าคุณพุทธทาส เพราะเป็นวันมรณภาพเลยไปเทศให้ญาติโยมฟังสองครั้ง วันเดียว แล้วก็กลับมาเมื่อคืน ทันเวลาสำหรับมาที่นี่ วันนี้ตอนบ่ายก็มีงาน มีการอภิปราย มีคนหลายคนมาพูด พูดเพื่อชักจูง คนให้อดเหล้า ไอ้คนที่มาวัดชลประทานนี่ไม่มีใครดื่มเหล้าแล้ว พวกนักดื่มมันค่อยไม่ได้มาได้ยินได้ฟัง ความจริงน่าจะไปพูดตามวิทยุ อภิปรายตามวิทยุกระจายเสียงแล้วก็คนจะได้ฟังกันทั่วประเทศ แต่ว่าขลุกขลักจัดไม่ทันก็เอาที่นี้ไปก่อนตอนบ่าย ญาติโยมถ้าไม่รีบร้อนอะไรก็ฟังเขา ว่าเขาพูดว่าอย่างไร แนะแนวคิดอย่างไรเกี่ยวกับเรื่อง สุราเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ตอนบ่าย บ่ายโมงโน่น สำหรับวันนี้เรียกว่าวันที่ 9 กรกฎาคม วันที่ 11 ก็เป็นวันพระ กลางเดือน ซึ่งเรียกว่าวันอาสาฬหบูชาวันอาสาฬหบูชานี่ก็มีโยมมาวัดฟังธรรมเหมือนๆกับวันอาทิตย์ แล้วก็ตอนเย็นก็มีการเวียนเทียนตามธรรมเนียมที่กระทำกันมาทุกปี วันที่ 12 ก็เป็นวันเข้าพรรษา พระท่านก็อธิษฐานใจอยู่จำพรรษาเป็นเวลา 120 วันคือ 3 เดือน ไม่ไปไหน เพราะว่าเป็นหน้าฝน การเดินทางไม่ค่อยสะดวก สมัยก่อนเดินกันด้วยเท้า หน้าฝนนี่เดินไม่สะดวก แต่สมัยนี้สะดวก ไปรถก็ได้ไปเรือบินก็ได้ ไปไหนก็ได้ แต่ว่าเรารักษาธรรมเนียมว่าพอถึงแรมค่ำหนึ่งเดือน 8 ก็ต้องหยุดอยู่จำพรรษา บางทีไม่มีฝน เช่นปักษ์ใต้ฝั่งตะวันออก ตั้งแต่ชุมพร สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ฝนไม่มี ฝนยังไม่ตก แต่ไปตกหนักเอาเมื่อออกพรรษาแล้ว ออกพรรษา พระก็ออกพรรษาแต่ฝนก็ตก ควรจะเลื่อนเวลาจำพรรษาไปเป็นเดือนออกพรรษา ยิ่งไปอยู่ประเทศยุโรปอเมริกา ฤดูเข้าพรรษานี่มันไม่มีฝน แต่ก็อยู่จำพรรษา ควรจะอยู่จำพรรษาฤดูหนาว เพราะฤดูหนาวนี่ไปไหนไม่ได้ หนูมันก็ต้องอยู่ในรู พวกแกะมันก็ต้องขุดหลุมฝังตัวเองอยู่น้ำแข็ง พระน่าจะอยู่จำพรรษาหน้าหนาว 3 เดือน พอพ้นหนาวก็เรียกว่าออกพรรษาไปทำอะไรต่อไปได้ แต่ว่าเปลี่ยนไม่ได้เพราะว่าพุทธบัญญัติ พวกเราที่เป็นพระฝ่ายเถรวาท เป็นพวกรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี อนุรักษ์นิยม ก็เลยทำกันอยู่อย่างนั้น ไม่เปลี่ยนแปลง ทีนี้ในฤดูกาลเข้าพรรษา เป็นเวลาที่คนเข้ามาบวชในพระธรรมวินัยมากเพราะว่าบวชแล้วอยู่นาน บวชแล้วผูกมัดไว้ 3-4 เดือนสึกไม่ได้ ก็จะได้อยู่นานหน่อย ก็ได้รับการอบรมบ่มนิสัย ได้รับความรู้ความเข้าใจในธรรมวินัยมากขึ้น จึงมีการบวช ที่วัดนี้ปีนี้บวชมี 85 รูป ไม่ถึงร้อย แต่พระก็มาก เพราะว่าพระเก่าเยอะท่านบวชกันหมดแล้ว บวชวันเดียวเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พวกที่จะเลื่อนบวชก็จัดวันเดียว บอกว่าจัดวันเดียวนี่นั่งนานนะ ถ้าทยอยกันบวชวันละ 30 ก็พอสบาย แต่ก็กะกันไว้แล้ว หลวงพ่อมาถึงก็ต้องทำตามที่เขากะไว้ให้ เลยเปลี่ยนไม่ได้ ก็เลยต้องบวชวันเดียวเสร็จ แต่ว่าดีหน่อย เพราะว่าท่านเจ้าคุณเมธีช่วยแบ่งภาระ อาตมาบวชเป็นเณรตอนเช้า แล้วก็บวชพระ 33 องค์ ตอนบ่ายก็มอบให้เจ้าคุณเมธีบวช 50 กว่ารูป ไปเสร็จเอา 5 โมงครึ่ง อาตมาได้พักผ่อน
เวลานี้ร่างกายมันก็เปลี่ยนแปลง ไปตามธรรมชาติ รู้สึกว่ามีอาการเพลียๆ แล้วก็ง่วงนอน ตอนเช้านี่มันชักจะง่วงนอน ตะกี้ไปนั่งอยู่โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ พูดกับเด็ก แต่ก็ยังไม่ถึงเวลาพูด นั่งก็ชักจะง่วงยัง ปรับตัวไม่ถูก เพราะว่าไปอยู่ที่อเมริกานั้นตอนนี้มันตอนกลางคืน ของเราตอนนี้มัน 9 โมง ที่โน่น 3 ทุ่ม 3 ทุ่มเป็นเวลานอน เลยมานี่ก็ร่างกายมันนึกว่า 3 ทุ่ม ยังไม่ยอมเปลี่ยน ท้องไส้ก็ยังไม่ยอมเปลี่ยน แทนที่จะถ่าย ตอนเช้า มันไปถ่ายเอา 1 ทุ่ม กลางคืน 7.10 พอว่า 1 ทุ่มก็ตรงกับ 7 โมง เช้าที่โน่น มันเคยถ่ายอย่างนั้น ยังปรับไม่ได้ ยังบอกว่าอย่าถ่ายตอนนั้นยังไม่ได้ ต้องปล่อยเขาปรับของเขาเองตามธรรมชาติ มันเป็นอย่างนั้น นี่คือสภาพร่างกายมันก็เปลี่ยนไป เมื่อวานไปสวนโมกข์ก็ไปนึกถึงภาพท่านเจ้าคุณ เวลาท่านนั่งอยู่ตรงนั้น ก็ไปนั่งคุย ท่านพูดว่าอย่างไรเรานึกภาพออกมองเห็นภาพ ได้ยินเสียง นึกถึงข้อความต่างๆ ที่ท่านพูดกันไว้ แนะนำในเรื่องอะไรต่างๆเมื่อยังนึกออกก็เล่าให้ญาติโยมฟัง เพื่อให้ได้ระลึกถึงคุณงามความดีของท่าน แม้ร่างกายจะจากไป แต่ว่าคุณธรรมยังไม่จากไป ยังอยู่กับเรา เราก็ต้องช่วยกันฟื้นฟู ช่วยกันปฏิบัติ ช่วยกันเป็นพุทธทาสในหลายๆคน ไม่บาปนะ คำว่าเป็นพุทธทาสไม่ใช่ว่าเป็นเหมือนท่านเป็น แต่ว่ามีจิตใจจงรักภักดีต่อพระพุทธศาสนา มอบกายถวายชีวิตแด่พระรัตนตรัย ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามฐานะ ไม่ว่าเราอยู่ในฐานะอะไร เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก เป็นหลาน เป็นข้าราชการ เป็นอะไรก็ตามนี่ เป็นให้สมบูรณ์ให้เรียบร้อย ถ้าเป็นได้สมบูรณ์เรียบร้อย ก็เรียกว่าเป็นถูกต้อง ถ้าเป็นไม่สมบูรณ์ก็เรียกว่าเป็นไม่ถูกต้อง อันนี้เป็นเรื่องทำความเข้าใจให้ญาติโยมได้คิด ได้ช่วยกันคิดในสิ่งที่มันจะช่วยให้เกิดความสุข ความสงบในสังคม เพราะว่าสังคมในปัจจุบันนี้มีความวุ่นวายพอใช้ ทั่วๆ ไปไม่ว่าที่ไหน ใน ประเทศตะวันตกซึ่งเป็นประเทศที่เจริญทางวัตถุ แต่ว่าจิตใจคนไม่ค่อยจะเจริญก้าวหน้าเท่าไหร่ แข่งขันกันหาวัตถุ แข่งขันกันเรียน แข่งขันกันทำในทางที่จะได้สิ่งนั้นมา เลยเกิดขัดใจกัน ทำร้ายร่างกายกัน เบียดเบียนกันด้วยประการต่างๆ คนใดที่สมหวังก็สบายใจ แต่คนใดที่ผิดหวังก็ไม่สบายใจ ไม่มีหลักธรรมเป็นเครื่องช่วยในการปลงวาง ปลงไม่ได้ วางไม่เป็น เลยแบกภาระหนัก มันหนักจนทนไม่ไหว แล้วก็ทำลายตัวเอง ยิงตัวตายบ้าง ผูกคอตายบ้าง มีบ่อยๆ เพราะว่าขาดหลักธรรมะที่จะช่วยให้ปลงให้วาง ศาสนาเรานี่สอนให้รู้จักปลงให้รู้จักวาง ไม่ให้แบกไว้ เพราะแบกแล้วมันหนัก เหมือนที่เราสวดมนต์ว่า
“ภาราหะเว ปัญญจะขันธา” ขันธ์ทั้งหลายเป็นของหนักเนื่อง “ภาราหะโว จะปุคคโล” บุคคลนั่นแหละเป็นผู้แบกภาระไป
ท่านก็บอกว่าวางลงเสียบ้าง วางอันนี้แล้วอย่าไปยึดอันอื่นมาแบกไว้อีก มันก็จะเบา เมื่อเบาแล้วเราก็จะไปได้สบาย หรือท่านเปรียบเหมือนกับเรือ เรือน้ำมันเข้าได้เราก็ต้องวิดน้ำออก “สิญฺจะ ภิกฺขุ อิมัง นาวัง สิตตา เต ลหุเมสสติ (11.32) บอกว่าภิกษุทั้งหลายเธอจงวิดน้ำออกจากเรือ ให้เรือมันเบา ถ้าเรือเบาก็เดินได้เร็วไปถึงฝั่งที่เราต้องการได้ อันนี้ว่าวิดน้ำออกจากเรือหรือการปลงการวาง หมายความว่า เอาสิ่งไม่ดีออกจากชีวิต เราเคยคิด เคยพูด เคยทำอะไรที่มันไม่ถูกต้อง ก็พยายามที่จะตัดสิ่งนั้นออกไปไม่ให้มีอยู่ในชีวิตของเราต่อไป โดยเฉพาะในฤดูกาลเข้าพรรษา เป็นสัจจะฤดู เป็นฤดูที่ต้องทำจริงในทางปฏิบัติ ขัดเกลาจิตใจของเราให้สะอาด ปราศจากสิ่งเศร้าหมอง จึงเป็นฤดูที่เราควรตั้งใจ อธิษฐานใจ อธิษฐานใจว่าจะเลิกอะไร จะละอะไร หรือว่าจะทำอะไรก็ให้ทำอย่างจริงจัง ไม่ทำแบบหละๆหลวมๆ เขาเรียกว่าย่อหย่อน พระพุทธเจ้าสอนว่าถ้าจะจับต้องจับให้มั่น กยิราเจ กยิราเถนัง ถ้าจะทำก็ทำให้ดี ถ้าจะจับอะไรก็จับให้มั่น กระชากมา มาเอาไปถอนหญ้า กุดปาก พวกหญ้าคา ถ้าจับไม่มั่นกระชากเอา มันบาดมือ เลือดมันไหล ถ้าเราจับมั่นคงกระชากมาได้หญ้าคามาเอาไปมุงหลังคาได้ ฉันใดในการปฏิบัติฝึกฝนอบรมจิตใจก็ต้องเอาจริงเอาจัง พึงกระทำให้มั่น ให้เข้มแข็ง ให้อดทน ให้หนักแน่น ไม่ย่อหย่อน ไม่ท้อแท้คนเราบางทีตั้งใจจะทำอะไร มันไปคลาย คลายความเพียร ย่อหย่อนเพราะความขี้เกียจเข้ามาสะกิดจิตใจ แล้วก็มาเสนออานิสงค์ของความขี้เกียจว่านอนแล้วมันสบายไม่ต้องทำก็ได้ ทำให้ตกอยู่ในอำนาจความเกียจคร้านความง่วงเหงาหาวนอน การทำงานก็จะไม่เรียบร้อย สิ่งที่กั้นจิตคนไม่ให้บรรลุคุณงามความดีเขาเรียกว่านิวรณ์ นิวรณ์แปลว่าเครื่องกั้นจิต เหมือนกับม่านกีดกั้นไม่ให้เราเห็นว่าอะไรอยู่หลังม่านเพราะม่านมันบังไว้ นิวรณ์นี่ก็เหมือนกันเมื่อเกิดขึ้นที่จิตของใครมันก็บังไม่ให้มองเห็นสิ่งนั้นทะลุ รู้สิ่งนั้นตามสภาพที่เป็นจริง จึงเป็นเครื่องกั้นสำคัญ นิวรณ์มีอยู่ 5 อย่าง ได้แก่
กามฉันทะ ความพอใจในกาม ความพอใจในกามหมายความว่าพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันได้ประสบเข้ามาที่ ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ แล้วก็พอใจลุ่มหลง มัวเมาอยู่ในสิ่งนั้น ไม่รู้จักพรากจิตออกจากสิ่งนั้น คิดจะมีจะได้อยู่ในเรื่องนั้นตลอดเวลา เหมือนกับคนอยู่ในวัยหนุ่มวัยสาวเมื่อเกิดความรักความใคร่ขึ้นมาแล้วปล่อยไม่ได้วางไม่ได้ จิตมันไปติดอยู่ในสิ่งนั้นตลอดวันตลอดคืน บางทีก็นอนไม่หลับเพราะมีความคิดถึงอยู่อย่างนั้น อยากจะเห็นหน้า อยากจะพูดจะจาด้วย อยากเข้าใกล้ ทำให้เกิดปัญหา โดยเฉพาะคนที่กำลังศึกษาเล่าเรียน ถ้าไปมุ่งรักกามคุณเข้า ไปรักสิ่งที่เรียกว่าเพศตรงกันข้าม ผู้ชายไปรักผู้หญิง ผู้หญิงไปรักผู้ชาย ก็ไม่เป็นอันเรียน มีโทรศัพท์ก็ติดต่อ พูดแบบยาวๆ คุยอะไรกันดึกดื่นเที่ยงคืน ลุกขึ้นโทร. ถามว่า เป็นยังไง หลับหรือยัง อยู่อย่างนั้น ไม่อันหลับอันนอน ไม่อันทำอะไร เรียนก็ไม่ได้เรื่องไปนั่งใจเหม่อใจลอย เห็นภาพพ่อแก้วแม่แก้วมาอยู่ในสายตา อยู่ในจิตใจ เป็นเครื่องกั้นจิตอย่างสำคัญไม่ให้บรรลุคุณงามความดี ไม่ให้สำเร็จสิ่งที่เราต้องทำ ในทางธรรมะท่านจึงสอนว่าอย่าไปยินดีพอใจในสิ่งนั้น ให้พิจารณาว่ามันไม่น่าพอใจ ไม่น่ารัก ไม่น่าเอามาเป็นของตัว คือ พิจารณาให้เห็นตรงกันข้าม ให้เห็นว่าไม่สวยไม่งามไม่น่ารักไม่น่าพอใจ ไม่น่าเอามาเป็นของตัว เพราะถ้าเอามาเป็นของตัวแล้วมันเกิดปัญหา คือ ความทุกข์ความเดือดร้อนใจด้วยประการต่างๆ ให้คิดในแง่นั้น แต่ว่าคิดไม่ค่อยได้ เพราะคนที่ลุ่มหลงมัวเมามันคิดเรื่องเดียว มองเรื่องเดียว จิตในปักอยู่ในเรื่องนั้นไม่ยอมเปลี่ยนแปลง แม้คนอื่นจะแนะจะเตือนก็ไม่ฟัง ดันออกไป
เหมือนในพระไตรปิฎกว่า “ความรักเหมือนโคถึก มันมักคึกผิขังไว้ กระโดดจากคอกไป บ่อได้อยู่ ณ ที่ขังไว้” อย่างนี้แหละ มันจะไป จะไปของมันท่าเดียว แล้วถ้าใครมาขัดคอ ไม่ให้ไป ไม่ให้ได้สมใจ มันอึดอัดขัดข้อง มันขัดใจ ทำลายตัวเอง เป็นบ้าเป็นหลังไปก็มี นี่เพราะว่าตัวนิวรณ์ตัวนี้ มันสำคัญนักหนา ร้าย ทำให้คนเสียผู้เสียคนมามากแล้ว แม้ฤาษีชีไพรที่ไปปฏิบัติอยู่ในป่า ปลีกตัวไม่ให้พบกับอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ แต่ว่าเมื่อได้พบอารมณ์เหล่านั้นเข้าก็พ่ายแพ้ สู้ไม่ได้ ความเข้มแข็งหายไป ความ มั่นคงหายไป ความอดทนหายไป อ่อนปลวกเปลียกเหมือนกับต้นปอลนไฟ นี่มันทำให้เป็นอย่างนั้น เสียหาย พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนนักสอนหนาให้ระมัดระวังสิ่งนี้ อย่าเข้าใกล้ อย่าพูดจาสนทนาอะไรต่างๆ เพื่อให้จิตใจปลอดจากสิ่งเหล่านี้ ถ้าใจเราปลอดจากกามคุณไม่หมกมุ่นมัวเมาในสิ่งนั้น จิตใจสบายปลอดโปร่งแจ่มใจ ทำอะไรก็ทำได้เพราะไม่มีความกังวลอยู่ คนบางคนจึงอยู่เป็นโสดเพราะอยากจะทุ่มชีวิตให้กับงานการ หรือคนที่เข้ามาบวชในพระศาสนาไม่หมกมุ่นมัวเมาในสิ่งเหล่านั้น ไม่หลงใหลในสิ่งเหล่านั้น จิตใจก็สงบ ปลอดโปร่งแจ่มใสทำอะไรได้สะดวกสบาย เรียกว่านิวรณ์ ได้กามคุณไม่ได้หมายถึงเพศตรงกันข้ามเพียงประการเดียว แต่หมายถึงอะไรก็ได้ที่มันเอร็ดอร่อยเพลิดเพลินสนุกสนาน เราเข้าไปติดอยู่ในสิ่งเหล่านั้น เช่นว่าติดกับความเพลิดเพลินของบทเพลง ของบทละคร หรือของภาพต่างๆที่เราได้พบได้เห็น แล้วก็ไม่รู้จักปล่อยไม่รู้จักวาง มันไปไม่ไกล ไปหยุดกึกอยู่ที่ตรงนั้น ไม่สามารถทะลุตัวบ่วงไปได้ เพราะตัวนี้มันเข้ามาขัดขวางไว้ เป็นตัวที่ร้ายอยู่พอสมควร จึงต้องระมัดระวัง
ตัวที่ 2 คือ พยาปาทะ คือ ความพยาบาท ความพยาบาทก็คือ ความติดสิ่งที่เป็นความแค้นใจ โกรธเคืองใครๆ แล้วเก็บไว้ เช่นเราโกรธกับใครสักคนหนึ่งเราก็เก็บความโกรธนั้นไว้ในใจเอามาครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลา คิดจะแก้แค้นจะทำร้ายเขา ให้เจ็บให้ช้ำ ให้สมใจอยาก นี่การแสดงความพยาบาทอาฆาตจองเวร คนที่มีความพยาบาท อาฆาตกับใครๆ เอาตัวไม่รอด ชีวิตตกต่ำ เพราะมีอารมณ์ขุ่นมัวเข้ามา คนที่มีความพยาบาทจิตมักจะมากไปด้วยโทสะ ความประทุษร้าย แล้วก็โมหะคือความหลง ความมัวเมา ความประมาท จิตมันหมกมุ่นอยู่ในเรื่องเหล่านั้น คิดวางแผนอยู่ตลอดเวลาว่าจะแก้แค้นอย่างไร เพื่อให้สมกับที่ตนโกรธคนนั้น พยาบาทคนนั้น อันนี้การสอนการอบรมกันโดยมากมักจะสอนไปในแง่ว่า ต้องแก้แค้น ถ้าเขามาทำลายพ่อเจ้า เจ้าจะต้องไปแก้แค้น ถ้าไม่แก้แค้นเจ้าก็ไม่ใช่ลูกของพ่อ พูดกันอย่างนั้น ส่งเสริมความพยาบาท ส่งเสริมความอาฆาตแค้น เพื่อจะทำลายล้างแก่กันและกัน มันก็เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ถ้าเราอ่านหนังสือ ดูหนังจีน เรื่องพยาบาทนี่รุนแรงมาก ถ้าว่าพ่อตายก็มักจะตั้งใจต่อหน้าศพพ่อ ข้าพเจ้าจะแก้แค้นแทนพ่อให้ได้ ถ้าข้าพเจ้าแก้แค้นแทนพ่อไม่ได้ ขอให้พ่อประณามว่าเป็นลูกไม่มีความกตัญญูกตเวที พูดไว้อย่างงั้น ความกตัญญูไม่ได้หมายความว่าต้องแก้แค้นให้พ่อ แต่มันต้องทำดีกว่านั้น หันหน้าเข้าหากัน สามัคคีกัน ร่วมแรงร่วมใจกัน จะดีกว่า นักปราชญ์ผู้เขียนบทละครชาวอังกฤษชื่อ เช็คสเปียร์ แกเขียนบทละครทุกเรื่อง แต่ว่าลงท้ายไม่พยาบาท ไม่ผูกกัน ประนีประนอมหันเข้ามาญาติดีกันแกจบอย่างงั้น จบบทละครทุกเรื่องในเรื่องไม่มีความพยาบาทอาฆาตจองเวร พระพุทธเจ้าตรัสว่าในเวลาไหนก็ตาม เวรไม่เคยระงับด้วยการจองเวร แต่ระงับได้ด้วยการไม่จองเวร คือไม่โกรธตอบ ไม่ด่าตอบ ไม่ตีตอบต่อบุคคลที่มาด่าเรา มาตีเรา มาทำให้เราเจ็บช้ำน้ำใจ เวรของผู้นั้นย่อมระงับไปได้ แต่ว่ามีวรรณคดีบางเรื่องส่งเสริมความพยาบาทอาฆาตจองเวร เช่น ลิลิตพระลอ ถ้าเราอ่านเรื่องลิลิตพระลอแล้วก็เห็นว่าเต็มไปด้วยความพยาบาทอาฆาตจองเวร จะต้องแก้แค้น แล้วผลที่สุดก็แก้แค้นกันจนได้ เรื่องอย่างนี้มันเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง น่าจะเป็นบทสอน บทเรียนที่ให้ ไม่โกรธกัน ไม่เกลียดกัน ไม่พยาบาทอาฆาตจองเวรต่อกัน รู้จักให้อภัยแก่กันและกันจึงจะเป็นการดี แต่ชาวโลกไม่ค่อยยอมรับในสิ่งนี้ เพราะเขาถือว่าเสียศักดิ์ศรี เสียเกียรติ ต้องแก้แค้น ในบางจังหวัดในประเทศไทยคนแก้แค้นกันรุนแรง เช่นจังหวัดแพร่ ถ้ามันโกรธกันแล้วมันไม่บอกตำรวจ มันต้องจัดการกันเอง ฝ่าย ก. จัดการฝ่าย ข. ฝ่าย ข. จัดการฝ่าย ก. จัดกันไปจัดกันมาหมดเลย สองพวกนั้นตายหมดเลย ไม่มีเหลือ ตายจนกระทั่งเด็กตัวน้อยๆมันก็ฆ่า ทารุนที่สุดฆ่ากันจนหมดสกุล เพราะโกรธกันทำร้ายร่างกัน เพชรบุรีนี่ก็ไม่ย่อยเหมือนกันเวลามีอะไรเกิดขึ้น ก็โกรธกัน เกลียดกัน แก้แค้น ยิงกัน ยิ่งด้วยกระสุนปืนกลเข้าไปในบ้าน ตายหมดทั้งครอบครัว เพราะความแก้แค้น พยาบาทรุนแรงเป็นเรื่องเสียหายมาก ในทางธรรมะไม่ได้ส่งเสริมความพยาบาทอาฆาตจองเวร แต่ส่งเสริมคุณธรรม คือ การไม่จองเวร รู้จักให้อภัยแก่กันและกัน ไม่ถือโทษโกรธตอบในเรื่องที่เกิดขึ้น บางทีเรื่องที่โกรธไม่ใหญ่โตอะไร แต่ว่ามันโกรธแรง เกลียดแรง พยาบาทแรงแล้วก็ทำอะไรกันอย่างรุนแรง อันนี้เป็นความเสียหายมาก พยาบาทกันเป็นระหว่างบุคคลเรา ระหว่างหมู่ระหว่างคณะ ระหว่างพรรคระหว่างพวก แม้ในทางการเมืองก็มีการพยาบาทอาฆาตแก่กันและกัน ต้องโค่นต้องล้มต้องให้มันตกไป ให้มันตายไปกูจะได้ครองเมืองคนเดียว พรรคเดียวอะไรอย่างนี้ อันนี้คือเป็นนิสัยที่ไม่ดี ผิดหลักธรรมะ ไม่สร้างความเจริญในสังคม แต่สร้างความเสื่อมความเสียหายให้เกิดขึ้นฆ่ากันจนหมดพันธุ์ ไม่มีได้เรื่องอะไร ไม่มีใครได้อะไร ฆ่ากันไปฆ่ากันมา ไม่มีใครได้อะไร ทรัพย์สมบัติก็ไม่ได้อะไร ชื่อเสียงก็ไม่ได้ เกียรติยศคุณงามความดีก็ไม่ได้ มันได้แต่การประทุษร้ายแก่และกันเท่านั้นเองไม่มีเรื่องอะไร จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ทางพระพุทธศาสนาเรานั้นสอนให้อยู่ด้วยกันด้วยความเมตตาปราณี ให้อยู่ด้วยความรักความเอ็นดูต่อกัน มีภาพต่างๆที่ช่วยให้เราคิดอย่างนั้นเช่น ภาพ อวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ซึ่งชาวจีนเรียกว่ากวนอิม เจ้าแม่กวนอิม นี่เป็นภาพแทนความรักความเมตตาปรารถนาความสุขแก่ผู้อื่น เจ้าแม่กวนอิมนี่รักคนทั้งโลก รักสัตว์เดรัจฉาน รักทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ชอบการทำลาย ไม่ชอบการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน เขาสร้างภาพเหล่านี้เพื่อให้คนไหว้ ให้ได้นึกถึงคุณธรรม นึกถึงสุทธิ คือ ความ บริสุทธิ์ ให้นึกถึงปัญญาคือความรู้ความเข้าใจ ให้นึกถึงเมตตา ให้นึกถึงความอดทน ที่เรียกว่า สุทธิ ปัญญา เมตตา ขันติ เป็นคุณธรรมที่ช่วยส่งเสริมให้จิตใจคนอ่อนน้อมยอมเข้าหากัน ไม่แข็งเข้าหากันแต่อ่อนเข้าหากัน พูดจากันด้วยอารมณ์ยิ้มแย้มแจ่มใสใจเบิกบาน กระทำอะไรๆที่เป็นประโยชน์แก่กันและกัน ดีกว่าที่จะโกรธจะเกลียดจะทะเลาะเบาะแว้งกัน
คนเรานี่ถ้าโกรธกันเดินสวนทางกันก็ไม่มองหน้ากัน คนหนึ่งมองไปทางเหนือคนหนึ่งมองไปทางใต้ ไม่มองหน้ามันเป็นความสุขอย่างไร คนเราเจอกันควรจะยิ้มกัน ยิ้มกันด้วยอารมณ์สดชื่นมันก็เป็นความสุข แต่นี้ไม่มองหน้า มันจะเป็นความสุขที่ตรงไหน ใครที่เก็บความโกรธความเกลียดมาไว้ในใจก็เหมือนกับว่าเอาอะไรที่เหมือนกับเข้าไปกัดในใจของเรา เหมือนเอาสัตว์อะไรใส่ลงไปในใจให้มันคอยกัดคอยตอดให้เราไม่สบายใจอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้เรื่อง ไม่ได้ประโยชน์แม้แต่น้อย จึงควรงดเว้นจากการคิดเช่นนั้น เรามาคิดเปรียบเทียบดูว่า จิตที่โกรธกับจิตที่ไม่โกรธอันไหน
(30.0 - 31.14 หลวงพ่อประกาศแทรกเรื่องมีผู้ป่วย) คุณวีรศักดิ์ นั่งอยู่ตรงไหน ภรรยาป่วยหายใจไม่ออกอยู่ที่มูลนิธิ รีบพาไปโรงพยาบาล - มาทุกอาทิตย์ภรรยาคนไหน มันหลายคน พาไปโรงพยาบาลใกล้ๆ ชลประทานอย่าไปเลยตอนนี้หมอไม่ค่อยอยู่) นี่แหละชีวิตมันไม่แน่นอน คนเรานั่งอยู่ดีๆมันเกิดปุ๊บปั๊บขึ้นมาหายใจไม่ออก เป็นได้ เพราะร่างกายมันเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพ เปลี่ยนไปถึงที่มันจะต้องหยุด หยุดมันก็ต้องหยุดมันไปไม่รอด สภาพมันเอง เราจึงต้องไม่ประมาท ต้องรีบใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ ด้วยการกระทำสิ่งที่ดีที่งาม ตามโอกาสที่จะกระทำได้
อันนี้พูดต่อ ความพยาบาทกับความเมตตาให้เห็นว่ามันแตกต่างกัน อย่างไหนเปรียบแล้วเทียบเคียง แล้วคิดด้วยความรอบคอบ ก็จะมองเห็นว่า เมตตาดีกว่าความพยาบาท ไม่โกรธดีกว่าความโกรธ ไม่เกลียดดีกว่าความเกลียด มันแตกต่าง ก็แปลว่า เราไม่ค่อยได้คิด เพราะว่าไม่มีพี่เลี้ยงที่คอยเตือนให้คิด ไม่มี มีแต่คนยอมมันไม่ได้ เสียชื่อ เออ ยุให้ไปต่อยไปตีกับคนนั้น ไม่มีใครยุให้หยุดต่อยหยุดตีกัน อย่างนี้ มันก็ไปกันใหญ่ คนมันนั่งอยู่ดีๆ เพื่อนมายุเข้ามันก็เกิดอารมณ์ขึ้น ไม่ไหว คว้าปืนไป ไปยิงกันตาย เอ้อ ไม่ได้เรื่องอะไร ตัวเองก็ติดคุกติดตะราง คนที่ฆ่าคนอื่น ไม่ใช่ว่าตัวได้เป็นใหญ่เป็นโต ไม่ใช่ตัวจะร่ำรวยอะไร หาไม่ได้ แต่ว่าต้องย้ายทะเบียนไปอยู่บางขวาง เข้าคุกเข้าตะราง แต่เวลานั้นมันคิดไม่ได้ มืด จิตมันมืดด้วยอารมณ์โกรธอารมณ์เกลียด คิดอะไรไม่ได้ แต่ทำลงไปแล้วจึงคิดได้ คิดได้ก็แก้ตัวไม่ได้เสียแล้ว (32.53 เสียงไม่ชัดเจน) พระท่านจึงสอนว่าใคร่ควรให้รอบคอบ เมื่อจะทำอะไรจงใช้สติปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาให้เห็นชัดตามสภาพที่เป็นจริง แล้วจะได้รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร เราก็จะไม่โกรธ ไม่เกลียด ไม่พยาบาทต่อกัน จิตใจก็สบาย เมตตาแก้พยาบาทได้ เราคิดด้วยใจเมตตาต่อเขา แผ่เมตตาขอให้สัตว์ทั้งหลายมีความสุขมีความเจริญ มีความก้าวหน้าในชีวิตในการงาน เห็นใครเดินมาก็แผ่ไป เออ เป็นสุขๆเถิดเพื่อนเอ๋ย อย่าเป็นทุกข์ อย่าลำบาก อย่าขัดข้องด้วยประการใดเลย จิตใจสบาย หน้าตาผ่องใส มีเลือดมีฝาด อารมณ์ก็ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส แต่พอเราโกรธขึ้น ตาขุ่น หน้าก็เปลี่ยนไป ปากคอสั่น มือไม้ผิดปรกติ สภาพร่างกายเปลี่ยนแปลงในทางลบ ไม่ได้เรื่องอะไร อันนี้มันควรจะต้องได้พิจารณา แล้วเราก็ละความพยาบาท อาฆาตกัน ไม่เข้าไปยุ่งกับใครๆอย่างนั้น
นิวรณ์ตัวที่ 3 เรียกว่า ถีนะมิทธะ ถีนะ คือความง่วง ง่วงเหงาหาวนอน ถีนะมิทธะ มันง่วงมันซึม มันเกิดเพราะอะไร เกิดเพราะอาหาร เราทานมากไป ทานมากไปแล้วมันก็ง่วง ที่มันง่วงก็เพราะว่าภาระที่ในท้องมัน เลือดก็ต้องไปรุมกันช่วยย่อยอาหารในท้อง สมองมันก็ขาดออกซิเจน ทำให้นั่งซึม หลับไป มันเป็นอย่างนั้น เพราะกินอาหารมาก เพราะฉะนั้นในการรับประทานอาหารนี่ ท่านจึงแนะนำว่า มัตตัญญุตา สทา สาธุ ความรู้จักประมาณในการกินอาหารยังประโยชน์ให้สำเร็จ คือ กินแต่พอดี ไม่กินเพราะเป็นทาสของลิ้น เช่นอาหารอันหนึ่ง พอตักเข้าไป โอ้ อร่อย เลยกินใหญ่ กินอย่างนั้น กินอย่างเป็นทาส ไม่ได้เป็นไทแก่ตัว กินด้วยอำนาจความอยาก เกิดทุกข์เกิดโทษ เพราะกินมากเกินไป นี่ในทางพระท่านสอนว่า อย่าให้ตกเป็นทาสของลิ้น ของความอยาก อาหารอะไรอร่อยก็ให้รู้ว่าอร่อย แต่อย่ากินมาก ไม่ได้ เราก็หยุดเสีย เอาแต่พอดี กินสักคำหนึ่งพอ พอเป็นประโยชน์แก่ร่างกาย เราก็หยุด เครื่องดื่มก็เหมือนกัน เครื่องดื่มบางอย่างเป็นพิษเป็นภัยแก่ร่างกาย เช่นสุราเมรัย สิ่งเสพติด ไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรแก่ร่างกายเลย แต่ว่าคนชอบ ชอบดื่ม บทละครที่แสดงตามโทรทัศน์ แสดงภาพการดื่มสุราบ่อยๆ คือ คนมันกลุ้มใจมันทุกข์ กลุ้มใจเป็นทุกข์ก็ไปดื่มเหล้าแก้กลุ้ม ดื่มจนพับไปกับโต๊ะเลย เวลาพับไปกับโต๊ะมันก็ไม่กลุ้ม ทำไมถึงไม่กลุ้ม เพราะไม่เป็นผู้เป็นคนแล้วมันจะไปกลุ้มได้ยังไง มันคิดอะไรไม่ออกเพราะหลับไป แต่เข้าใจผิดว่าสุราแก้กลุ้มได้ อันนั้นมันไม่ถูกต้อง ถ้าเรากลุ้มควรจะไปวัดไปหาพระ ไปให้ท่านแนะนำว่าจะแก้ไขอาการอย่างนี้อย่างไร แก้ ปลดทุกข์อย่างนี้โดยวิธีใด พระท่านก็จะสอนให้ เราไม่ไปแก้โดยการลงโทษตัวเองด้วยการดื่มของมึนเมาทุกประเภท ซึ่งใช้ไม่ได้ สุราเมรัยเครื่องดองของเมา คือ สมัยใหม่เขาเรียกว่ายาม้า มันขายกันจริงๆเวลานี้เพราะมันได้เงินแพง เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ชอบกัน ส่งให้ลูกน้องมากัน เพราะได้เงินพิเศษ แต่ว่าเราทำลายเพื่อนมนุษย์ โดยเฉพาะเฮโรอีนนี่ทำลายคนมาก คนที่ติดเฮโรอีนแล้วมันเป็นคนครึ่งคน เสียคนไปเลย เราทำลายความไม่เป็นคนให้เกิดขึ้นแก่คนนั้น เพราะกิน เสพเฮโรอีน หรือเสพสุรายาเมา มันก็เสื่อม ชีวิตตกต่ำ น่าเสียดาย แต่ว่าความนิยมของคนมันเป็นเช่นนั้น เพราะว่าบทละครละเม็งอะไรที่แสดงก็ ชอบถือขวดเหล้าดื่มกัน ยกดื่มทั้งขวด หนังจีนนี่ดื่มเป็นไห ยกไหขึ้นดื่มรดหัวเลย อาบเลย หมด อาบเหล้า ไหเดียวไม่พอ สองไห สามไห ยกจนรดหัวอาบไปทั้งตัวเลย เหม็นไปทั้งตัวเลย เอาเหล้ารดทั้งตัวมันก็เหม็น เดินไปที่ไหนมันก็เหมือนบางยี่ขันเดินเลย เหม็นกันไปทั้งบ้านทั้งช่อง แสดงอาการอย่างนั้น คนดูที่ไม่ได้ใช้ ปัญญาก็หลงใหลไปกับสิ่งเหล่านั้น ความจริงโทรทัศน์ไม่ควรให้ออกภาพเช่นนั้น ควรจะเซ็นเซอร์ไม่ให้ออกภาพเช่นนั้น ภาพความเมา ภาพความพยาบาทอาฆาตจองเวร ไม่ให้ออก เพราะมันเพาะความคิดที่ไม่ถูกต้องแก่สังคม แก่คนหนุ่มคนสาว ทำให้เกิดความเสียหายได้ แต่ว่าไม่มีใครคิดอย่างนั้น เขาไม่ได้คิดลึกไปถึงขนาดนั้น คิดแต่ว่าได้สตางค์ก็พอแล้ว เพราะการโฆษณามันแพง เขาก็ชอบให้คนมาโฆษณา ใครจะเสียหายอย่างไรไม่ใช่เรื่องของฉัน เขาคิดอย่างนั้น ไม่ได้คิดอย่างคนมีคุณธรรม คือ เมตตา ปราณี หวังดีต่อเพื่อนมนุษย์ คิดจะเอาสตางค์ท่าเดียวเลยเกิดความเสียหาย บรรดาคดีต่างๆที่เกิดขึ้น เพราะการดื่มเหล้านี่มีมาก ดื่มของมึนเมานี่มีมากที่สุดในบ้านเมืองนี้ จนไม่สามารถจะแก้ไขได้ คือ ไม่ได้ตั้งใจจะแก้อย่างจริงจัง เพราะผลประโยชน์นั่นเอง ต่างคนต่างมีประโยชน์ในเรื่องนั้น จะไปแก้ทำไม ปล่อยมันไปก่อน อย่างนี้ก็ไม่ได้เห็นความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ ไม่ได้สงสารคนเหล่านั้น ที่ทำให้ครอบครัวลำบาก ทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่วงศ์ตระกูลตลอดจนประเทศชาติ แต่พูดว่ารักชาติ รักกันทั้งนั้นแหละชาติ รักเหลือเกิน รักจนน้ำตาไหลกันก็มี แต่ไม่รู้รักอย่างไง รักถูกหรือเปล่า ไม่เข้าใจ
นี่ก็ความง่วงเหงาหาวนอนมันก็อาจจะเกิดขึ้นแก่ญาติโยมได้ ในเรื่องว่าพระโมคคัลลานะ ท่านไปนั่งทำความเพียรอยู่ป่าแห่งหนึ่ง ง่วง ง่วงที่สุดเลย พระพุทธเจ้าเสด็จไปหาแนะวิธีแก้ความง่วงให้ เช่น แนะว่าให้เอาน้ำล้างหน้า ง่วงแล้วก็เอาน้ำล้างหน้า ให้เดินจงกรม เดินไวๆ หรือว่าให้วิ่งจะได้หายง่วง แล้วก็แนะหลายอย่าง แต่ผลที่สุดถ้ามันไม่หยุดก็นอนมันเสียเลย บอกให้นอนเสียเลย แต่ว่านอนแล้ว ต้องคิดไว้ว่าจะตื่นเมื่อรู้สึกตัว พอรู้สึกตัวปุ๊บต้องลุกขึ้นทันที อย่าหาความสุขด้วยการนอน อย่าหาความสุขด้วยการหลับ แต่ว่านอนเพื่อให้ร่างกายมันได้พัก ความจริงคนเราถ้าง่วงแล้ว นอนลงไปครึ่งชั่วโมงมันก็หายแล้วมันก็ตื่น แต่ตื่นแล้วมันงัวเงีย อ๊ะ นอนต่ออีก ว่าไป 3 ชั่วโมง แต่ว่าพอตื่นแล้วรีบลุกขึ้น อาบน้ำอาบท่า ล้างหน้าล้างตาให้มันชุ่มชื่น แล้วออกไปเดินสูดอากาศบริสุทธิ์ข้างนอก หรือทำอะไรให้มันเกิดความเพลิดเพลิน ความง่วงนั้นก็จะหายไป พวกพระเรานี่ติดยามาก ยานัตถุ์ พระติดกัน ติดยานัตถุ์เพราะง่วงนั่นแหละ อ่านหนังสือยังไม่จบ ใกล้จะสอบแล้วง่วง ซื้อยานัตถุ์ พอง่วงก็สูดชื้ดเข้าไป หูตาสว่าง เลยเข้าใจว่ายานัตถุ์แก้ง่วง ติดยานัตถุ์ พ่นขี้ฝุ่นเข้าจมูกบ่อยๆ โพรงจมูกเสีย หลอดลมเสีย ปอดเสีย อายุไม่ยืน เพราะติดยานัตถุ์ ไปไหนก็ต้องถือขวด เหมือนหนังสือ รอที่จะดมยา คอยที่จะพรึ้บใครที่ยืนอยู่ข้างๆก็จามไปตามๆกัน เพราะว่าเป่าแล้วมันฟุ้งไป ไม่ถูกแก่ร่างกายฝุ่นเข้าจมูก ไม่ได้เรื่อง ติดมาก ติดกันงอมแงม เพราะตั้งใจจะเรียนหนังสือให้จบ ให้ได้ หลวงพ่อไม่เคยใช้ยา ถ้าง่วง นอนเลย ง่วงเวลาเท่าไหร่ก็ตาม ถ้าง่วงไม่เรียนแล้ว นอน นอนแล้วมันก็ได้ตื่นสักหนึ่งตื่น ตื่นแล้วค่อยอ่านใหม่ ไม่ง่วงแล้วทีนี้ เพราะร่างกายเขาต้องการให้เขานอนเสียหน่อย พอตื่นขึ้นก็กระปรี้กระเปร่า อ่านหนังสือต่อ หมู่นี้นอนไม่ค่อยจะหลับเท่าไหร่ นอนหัวค่ำ แต่ไปตี่นตีสอง แล้วมันอะไร แต่ลุกขึ้นอ่านหนังสือ อ่านหนังสือตั้งแต่ตีสองจนตีสี่ สองชั่วโมง อ่านหนังสือตีสี่เสร็จแล้วก็นอนอีกหน่อย ก็ไม่หลับอะไร ก็นอนยืดเส้นยืดสาย หายใจแรงๆซะหน่อย จนกว่าจะถึงเวลา ตีห้าครึ่งค่อยลุกขึ้นอาบน้ำอาบท่า แล้วก็เปิดโทรทัศน์ดูข่าวอะไรไปตามเรื่อง มันเป็นอย่างนั้น สภาพร่างกายมันก็เปลี่ยนแปลงทำให้เกิดอาการง่วงแล้วก็มีถีนะมิทธะขึ้น เราจะต้องกับสู้มัน แต่ว่าให้เขาหน่อย ให้เขาพอสบายนิดหน่อยแล้วก็ปล่อย เพราะฉะนั้นการนอนกลางวันนี่บางทีก็เป็นประโยชน์เหมือนกัน แต่ว่านอนกันทั้งหมดก็ไม่ได้ คนแก่ๆ ควรได้พักผ่อนนอนหลับ อายุ 60 70 แล้วให้ทานอาหารกลางวันเสร็จ ให้นอนพัก จะทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า แต่ถ้าไม่ได้นอนซึม ซึม หลวงพ่อเองนี่ถ้าว่าฉันเพลแล้วไม่ได้งีบสักหน่อย ไปเทศน์ก็ไม่ค่อยได้เรื่อง เทศน์ไปงั้น แต่ว่าพูดได้ไม่รู้ว่าพูดอะไร ซึมๆไปงั้น เพราะไม่ได้พัก แต่ว่าพอฉันเพลเสร็จได้เข้าไปงีบครึ่งชั่วโมงพอ ไม่มาก งีบชั่วโมงครึ่งชั่วโมง รู้สึกว่าสบาย เพราะงั้นฉันเพลแล้วไม่อยากรับแขก อยากจะเข้าห้องได้ไปงีบเสียหน่อย แล้วออกมาคุยกันได้ต่อไป ทำให้ได้กระปรี้กระเปร่า จึงบอกคนแก่ๆว่า ทานอาหารกลางวันแล้วพักเสียบ้างนิดหน่อย พักสักครึ่งชั่วโมง เพราะฉะนั้นตามห้องทำงานผู้หลักผู้ใหญ่เขามีที่นอนไว้ด้วยนะ เก้าอี้นอนได้ เอนได้ พอทานอาหารเสร็จก็ให้เข้าไปงีบสักหน่อย คนอายุมากก็อย่างนั้น กว่าจะปลดเกษียณ ปลดเกษียณแล้วก็สบายจะนอนเมื่อไหร่ จะไปไหนก็ได้ เพราะไม่มีพันธะผูกมัดจิตใจ ร่างกายมันก็ดี ถีนะมิทธะต้องทำให้ตื่น แก้ด้วยตื่นตัว นึกว่าเป็นกลางวัน อย่านึกว่าเป็นกลางคืนก็พอจะช่วยได้
นี่ข้อหนึ่ง สงสัยแคลงใจ ฟุ้งซ่านกับสงสัย อุทธัจจกุกกุจจะ ว่าลังเลกับฟุ้งซ่าน สงสัยในเรื่องนั้นเรื่องนี้ จะทำอะไรก็สงสัย เอ๊ะ ทำดีหรือไม่ดี ทำแล้วมันจะเป็นยังไง คิด ไม่มีหลักการ พวกสงสัยแบบนี้พวกไม่มีหลักการ สงสัยไปอย่างนั้น คิดไปอย่างนั้น ฟุ้งไปอย่างนั้น ไม่เป็นอันหลับอันนอน สติไม่อยู่กับตัวปัญญาหายไป มีแต่ฟุ้งซ่าน นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย เป็นโทษแก่ร่างกาย คนเราจะคิดอะไร มันต้องคิดให้เป็นระเบียบ คิดเป็นเรื่องเป็นราว คิดอย่างมีระเบียบถูกต้อง เพื่อให้เกิดปัญญาในเรื่องนั้น คิดได้ แต่ถ้าคิดแบบฟุ้งซ่าน ไม่ได้เรื่องอะไร ร่างกายไม่ได้หลับไม่ได้นอน ไม่ได้พักผ่อน เพราะฟุ้งซ่านเกินไป เสียหาย มีอยู่เยอะ ประการนี้เพราะคิดไม่เป็น ไม่หัดคิดให้เป็นระเบียบ จึงต้องทำสมาธิ เพื่อไม่ให้เกิดการฟุ้งซ่าน ทำสมาธิแบบง่ายๆ คือกำหนดลมหายใจเข้า นั่งตัวตรงแล้วหายใจเข้ายาว หายในออกยาว เวลาหายใจเข้าก็รู้ตามลมหายใจเข้า หายใจออกก็รู้ตามลมหายใจออก คอยกำหนดรู้ลมเข้าลมออก มันไม่ฟุ้งซ่าน ไม่คิดเรื่องอื่น คิดแต่เรื่องลมเข้าลมออก ทำนานๆก็เกิดสมาธิ ใจสงบ แล้วก็คิดอะไรก็คิดอย่างมีระเบียบ คิดมีระบบ ใช้ปัญญาคิด ไม่ใช่คิดฟุ้งซ่าน คิดอย่างนั้น คิดอย่างนั้น กระโดดไปกระโดดมา มันก็ไม่ได้เรื่องอะไร ต้องคิดให้มันถูกต้อง ความสงสัยแคลงใจ ฟุ้งซ่าน มันก็จะเบาบางจากจิตใจ
ตัวสุดท้ายเขาเรียกว่า วิจิกิจฉา คือ ไม่ตกลงใจว่าจะไปขวาหรือจะไปซ้าย จะไปต่อหรือว่าจะหยุดอะไรอยางนี้ ขณะที่สงสัยนั้นไปไม่ได้ ไม่ว่าเรื่องอะไร ถ้าเราเกิดความสงสัยลังเลแล้วมันทำไม่ได้ ทำอะไรความสงสัยมันชะงัก คิดอะไรสงสัยขึ้นมาก็ชะงัก จะไปไหนก็เกิดสงสัยแคลงใจ ชะงัก เหมือนคนกำลังเดินๆอยู่หยุดกึก เพราะอะไร เออ มันเกิดสงสัยขึ้นมา คิดไป เอ๊ะ ไปดีหรือไม่ดี ไปแล้วจะได้อะไร จะเป็นประโยชน์อย่างไร คิดไปใหญ่ เลยชะงัก ไม่สามารถจะก้าวหน้าได้ จึงเป็นอันตรายแห่งการปฏิบัติธรรมะในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าจึงสอนให้แก้ความสงสัยด้วยการคิดอย่างรอบคอบ ใช้สติปัญญาคิดอย่างรอบคอบ เพื่อให้รู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร อะไรทำได้อะไรทำไม่ได้ อะไรเป็นประโยชน์ อะไรไม่เป็นประโยชน์ สอนให้ทบ ทวน คิดอย่างนั้น ตัวก็จะปลอดภัยจากอันตรายที่จะมารบกวนจิตใจ นิวรณ์ก็จะป่วนมาก เป็นอะไรชัดเจน แจ่มแจ้ง มีชีวิตสดชื่นรื่นเริง ก้าวไปข้างหน้า ตามแนวทางที่ถูกที่ชอบต่อไป นี่อันนี้สำคัญ
เพราะฉะนั้นในฤดูกาลเข้าพรรษาขอให้ญาติโยมตั้งใจว่าจะทำอะไร ทำให้ตลอด จะถือศีล 5 ให้สมบูรณ์ จะถือศีล 8 เฉพาะวันอุโบสถ จะมาฟังธรรมในวันอาทิตย์ ทุกอาทิตย์ตลอดพรรษา หรือว่าจะไหว้พระสวดมนต์ก่อนนอนทุกคืน ทำให้สม่ำเสมอ ทำแล้วมันชินเป็นนิสัย คืนไหนไม่ทำนอนลงไปแล้วยังลุก เอ้อ ยังไม่ได้ทำ ลุกขึ้นมาทำให้มันเรียบร้อย ชีวิตก็จะดีขึ้น ขอให้ใช้ฤดูกาลเข้าพรรษาให้เป็นประโยชน์ในความตื่นตัวว่องไวก้าวหน้า ตามแนวทางที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้แสดงไว้ทุกประการ แสดงมาก็พอสมควรแก่เวลาของยุติไว้แต่เพียงเท่านี้