แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ขออวยพรแด่ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ที่ได้มาประชุมกัน ในวันอาทิตย์แรกของปีนี้ วันนี้เป็นวันอาทิตย์แรกของเดือนมกราคม เป็นอาทิตย์แรกของปี ๒๕๓๘ และก็เป็นวันขึ้น๑ ค่ำ เดือนอ้าย
เดือนอ้ายนี้ก็เป็นเดือนต้นปีในสมัยโบราณ เดือนอ้าย เดือนยี่ เดือนสาม เดือนสี่ ปีใหม่ของไทยมันมีหลายแบบ แต่เวลานี่ก็เปลี่ยนเป็นแบบสากล คือเหมือนกันทุกชาติ ทุกภาษา ไม่ใช่เรื่องของศาสนา บางคนบอกว่าไปทำตามอย่างศาสนาฝรั่ง ไม่ใช่ เรื่องนับวันเดือนปีนั้นเป็นเรื่องเก่าแก่ มีมาก่อนใครๆ เราเป็นคนอยู่ในโลก ต้องทำอะไรให้เหมือนชาวโลกเขาบ้าง ถ้าไม่เหมือนก็ลำบาก เขาหยุดวันอาทิตย์ เราไม่หยุดวันอาทิตย์ การติดต่อธุรกิจการงานก็ไม่สะดวก จึงได้มาเปลี่ยนเป็นวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันปีใหม่ของปี
แต่วัน เดือน ปีนั้นมันไม่เก่า ไม่ใหม่อะไรหรอก เดิมมันก็มีแต่เพียงแต่กลางวันกับกลางคืนเท่านั้นเอง กลางวันก็คือเวลาที่มีแสงอาทิตย์ส่องโลก กลางคืนก็เป็นเวลาที่ไม่มีแสงตะวันส่องโลก มืด สัตว์ทั้งหลายก็พักผ่อนหลับนอนกัน เช้าขึ้นมีแสงอาทิตย์ก็ลุกขึ้นทำงานทำการ ไปตามหน้าที่ ไม่มีเก่าไม่มีใหม่อะไร
แต่ว่าถ้าพูดกันว่า วัน คืน มันก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร แลต้องสมมติชื่อให้ ว่าเป็น วันอาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ พฤหัส ศุกร์ เสาร์ เป็น ๗ วัน ๗วันก็เป็นสัปดาห์หนึ่ง สัปดาห์ก็แปลว่า ๗ นั่นเอง หลายสัปดาห์ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็จัดเป็นเดือน การนับเดือนก็นับตามการขึ้นของดวงจันทร์ ดวงจันทร์นี่มีลอยอยู่กลางคืนเห็นง่าย เวลาข้างขึ้นก็เดือนขึ้น ก็ใหญ่ขึ้น ก็ใหญ่ขึ้นจนเต็มดวง เรียกว่า “วันเพ็ญเต็มดวง” ก็ถือว่าเป็นเดือน และก็ข้างแรม เดือนค่อยน้อยลง น้อยลง น้อยลง จนดับหมดดวง เรียกว่า “วันดับ” ถือเอาการนับเป็นเดือน
เดือนมันก็มี มันมาก หลายเดือน ก็เลยจำกัดลงไปว่า ๑๒ เดือน เดือนอ้าย เดือนยี่ เดือนสาม เดือนสี่ เรื่อยไปจนถึงเดือนสิบสอง ก็นับว่าเป็นปีหนึ่ง ปีก็มันต้องกำหนดชื่อ เลยตั้งชื่อว่า ปีชวด ฉลู ขาล เถาะ ว่ากันลงไป แต่ว่า ไม่มีอะไรเป็นเครื่องหมายปี ก็เลยเอาสัตว์เข้ามาเป็นเครื่องหมายเรียก ๑๒ นักษัตร คือ ชวดหนู ฉลูวัว ปีขาลก็เป็นเสือ ปีนั่นเป็นนั่น อันนี้เป็นเรื่องนับวัน เดือน ปีกันนั่นเอง
แต่ว่าพวกหมอดูเขาก็ว่าไปว่า ปีนั้นดี ปีนี้ไม่ดี คนปีนั้นอย่างนั้น ปีนั้นอย่างนี้ ว่ากันไปตามเรื่อง พอบอกว่าปีนี้ปีกุน เป็นกุนเป็นหมูทอง หมูมันไม่เป็นทองเป็นอะไรหรอก มันก็หมูนั่นแหละ หมูธรรมดาแหละ เป็นอาหารของมนุษย์เท่านั้นเอง ไม่มีอะไร แต่คนนั้นว่าดี ว่าไม่ดี ไอ้คนเกิดปีกุนไอ้ที่ดีก็มี ดีขนาดหลวงพ่อนั้นก็ปีกุนเหมือนกัน คึกฤทธิ์ก็ปีกุนเหมือนกัน จอมพลถนอมท่านก็ปีกุนเหมือนกัน แล้วก็มีหลายคนนะคนปีกุนนี่ นึกๆว่าโอ มันต้องนัดปีกุนมาทำบุญกันสักทีหนึ่ง เรียกว่าพวกปีกุนนี่ มาทำบุญสักอย่าง ทำอะไรก็ได้ เพราะปีเดียวกัน ... ปีกุน
คนโบราณเขาว่า ... ปีจอล่อปีกุน คนมีบุญจะเกิดมา... อ่า! พอปีกุนก็คนมีบุญมาเกิดล่ะ เกิดหลายคนนะในประเทศไทย คนปีกุนนี่มีหลายคนนะ ดูในประวัติศาสตร์ คนปีกุนนี่ก็มีดีหลายคนเหมือนกัน ไอ้ชั่วก็มีเหมือนกัน พวกอยู่ในคุกบางขวางนี่พวกปีกุนก็คงจะมีเหมือนกัน มันก็ปนกันไป ดีบ้าง ชั่วบ้าง
... มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับวันเดือนปี แต่ขึ้นอยู่กับการกระทำ โดยเฉพาะขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมด้วย … ก็คนเกิดในหมู่คนที่เป็นอะไร เป็นนักเลง เป็นอะไร คนเกิดที่นั่น เกิดวันอะไร เดือนอะไร ปีอะไร ก็เป็นไปตามสิ่งแวดล้อม อันนี้ถ้าเกิดในที่ดีก็เป็นไปในทางดี หลวงพ่อนี่เกิดบ้านนอก สมัยนั้นการศึกษาก็ไม่เจริญก้าวหน้าเท่าใด ก็เรียนได้เท่าที่เรียนได้ แต่ว่าหม่อมคึกฤทธิ์แกในกรุงเทพฯ แกได้ไปเรียนเมืองนอก มีความรู้มาก หรือว่าคนบางคนเกิดบ้านนอกแต่มันอยู่ใกล้เมืองใหญ่ เกิดเมืองใหญ่ เช่นเกิดเมืองนครฯนี่เขามีการศึกษา
การศึกษาในภาคใต้นี่มันตั้งต้นที่นครฯ ก็มีพระองค์หนึ่งชื่อ “ธรรมโกศา” เหมือนกัน องค์นั้น เลื่อนมาโดยลำดับเป็นธรรมโกศาจารย์ ท่านได้รับอาณาพระบัญชา จากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า บอกว่าเธอต้องไปจัดการศึกษาภาคใต้ ท่านเป็นชาวนครฯ ก็เลยไปจัดเริ่มที่นครฯ ตั้งโรงเรียนชื่อโรงเรียนเบญจมบพิตร แล้วเด็กแถวนั้นก็ได้เข้าเรียน ก้าวหน้าเป็นข้าราชการชั้นสูง เป็นผู้หลักผู้ใหญ่กันไปหลายคน แต่ที่พัทลุงนั้นก็ตั้งโรงเรียน พระองค์นี้ไปตั้งเหมือนกัน นักเรียนโรงเก่าๆก็พอใช้ได้ ก็หลายคน
เป็นพวกเกิดในสกุลเจ้าบ้านผ่านเมือง ได้มีโอกาสเล่าเรียน แต่คนที่เกิดบ้านนอกบ้านนา ก็ไม่ค่อยจะได้เรียนเท่าไหร่ ถ้าคุ้นเคยกับเจ้านายก็ได้ไปเรียนไกล เหมือนกับพระอุดมปิฎก อยู่นู่น บ้านสนทรา ไกล ไกลมาก ห่างจากตัวเมือง เป็นบ้านป่าข่าดอนเลยทีเดียว แต่ว่าพี่สาวท่านนี่ไปอยู่บ้านเจ้าเมือง ท่านก็ไปเยี่ยมพี่สาว เลยคิดอยากจะมากรุงเทพฯ เขาบอกพี่ท่าน บอกพี่สาว พี่ช่วยติดต่อกับเจ้าเมืองฝากฉันไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯหน่อย พี่สาวก็ไปเรียนให้ท่านเจ้าเมืองทราบ ชื่อพระยาพัทลุงทองขาว ก็เลยส่งท่านมาอยู่ที่วัดหนัง ฝั่งธนบุรี ใกล้วัดราชโอรส “วัดหนัง” ก็เรียนหนังสือ เรียนจนก็ได้เข้าสอบเป็นเปรียญ ๙ ประโยค แล้วได้เป็นพระอุดมปิฎกอยู่ครองวัดหงส์รัตนาราม แล้วไปสร้างโบสถ์ไว้ที่บ้านเกิดของท่านหลังหนึ่ง โบสถ์นั้นยังอยู่ เป็นโบสถ์น้อยๆไม่มีช่อฟ้า ทำแบบรัชกาลที่๓ นั่นเป็นคนบ้านนอกแท้ เป็นช้างเผือก เกิดในป่า และก็ได้มาเจริญงอกงามขึ้นคราวหน้า
นี่ท่านเจ้าคุณเมธีบ้านไกลกว่าบ้านอาตมาอีก ถ้าว่าพูดจากเมือง ขึ้นไปไกล แต่ว่าเกิดในสมัยเมืองย้ายมาแล้ว แต่มีโอกาสเล่าเรียน จนได้เป็นเปรียญ๙ประโยค เป็นพระเมธีธรรมาจารย์ แต่มาอยู่วัดนี้ก็มาช่วยงานการสอน มาร่ำบาลี นักเรียนได้เล่าเรียนกันต่อไป นี่มันเป็นไปตามเวลาของการศึกษา แล้วเกิดเพราะว่ามีการได้คบหาสมาคมกับคนที่เขาได้เล่าได้เล่าเรียน ก็ได้เรียนก้าวหน้า
อาตมาก็เรียกว่า เกิดที่นั่น เลี้ยงวัว เลี้ยงควายไปตามเรื่อง แต่ว่ามันหมุนไปได้ไปเที่ยว ออกจากบ้าน ไปเที่ยว ไปเที่ยวไปเอา ไปเจออาจารย์เข้าเลยให้บวชเป็นสามเณร ก็บวชเณรแล้วก็บวชเรื่อยมาจนบัดนี้ หาเวลาสึกไม่ได้จนเวลาบัดนี้แล้ว ก็เลยบวชมาจนถึงอายุ ๘๔ จะเต็มมาแล้วนี้ นี่ครบรอบปีกุนจะครบรอบ ๘๔ แต่ยังไม่ครบเดือน เดือนพฤษภาคมก็จะครบเดือน แล้วมันก็ดีขึ้นมาเรื่อยๆ จนกระทั่งได้เป็น “พระธรรมโกศาจารย์” ก็ไม่ใช่ย่อยนะ ก็ได้มาถึงขั้นนี้ก็เรียกว่าพอใช้ได้ พอจะดีหรือพอใช้ได้ มันเป็นไปอย่างนั้น แล้วก็เป็นไปตามเส้นทางที่เดินไปเรื่อยๆ
วันคืนเดือนปีก็ผ่านไป ชีวิตคนเราก็เปลี่ยนแปลงไป เปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงตามดวงชะตาราศี แต่สิ่งแวดล้อมให้เป็นไป ในรูปอย่างนั้น ก็ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ
พระอีกองค์หนึ่งอยู่พัทลุงเป็นพระธรรมวงศาจารย์ ท่านอายุแก่กว่าอาตมา ๔ ปี ก็เมื่อเด็กๆก็เคยเลี้ยงควายทุ่งเดียวกัน พบกันบ่อยๆ เลี้ยงควายด้วยกัน แต่ว่าท่านก็ได้เรียนหนังสือ ได้บวชเป็นสามเณร แล้วก็ได้มาอยู่วัดสุทัศน์กรุงเทพฯ ได้เล่าได้เรียน เป็นเปรียญ๔ประโยค กลับบ้านไปตั้งโรงเรียนสอนหนังสือ สอบด้วย เรียนไป สอบไป สอนไป จนได้๗ประโยค แล้วก็ได้เป็นเจ้าคุณ เจ้าคณะจังหวัด เวลานี้เป็นภาค อายุ ๘๘ ปีแล้ว ยังแข็งแรง ยังตื่นแต่เช้า กวาดขยะ กล๊กกลึ๊ก กล๊กกลึ๊ก ทุกวัน ยังเดิน ยังเหิน เมื่อวานนี้ก็ไปฉันอาหารด้วยกันที่พัทลุง นั่งดูท่านฉันอาหาร ยังเจริญอาหารดี ยังฉันได้ แข็งแรง แล้วก็จิตใจก็อารมณ์ดี เสียสละ ทำงานเป็นประโยชน์แก่พระศาสนา ก็ขึ้นมาได้ถึงชั้นธรรมเหมือนกัน เป็นก่อนอาตมาได้เป็น ชีวิตมันก็เป็นอย่างนั้น
อันนี้คนที่เป็นชาวบ้านมันก็เป็นไปตามเรื่องตามราว ตามสิ่งแวดล้อม ตามการคบหาสมาคม คนเรานั้นตั้งใจจะตายว่าดี ไม่ดี นั้นก็ไม่ได้ มันก็เป็นไปตามเรื่องนั้น จนกระทั่งดีก็มี เสียไปก็มี มันสุดแล้วแต่เหตุการณ์ นักเรียนร่วมชั้นกันมีประมาณ ๓๐กว่าคน เรียนชั้นมัธยมด้วยกัน อาจได้เป็นครูใหญ่ เป็นผู้อำนวยการ เป็นผู้พิพากษา อาจเป็นฝ่ายปกครองก็เป็นไป ไอ้ติดคุกมันก็มีเหมือนกัน ไปเจอเทพเทพอะไร?? (11.45 เสียงไม่ชัดเจน) ไอ้นี่มันเพื่อนเรา เคยนั่งใกล้ๆ ว่าเรียนชั้น ม.๑ เพื่อนจบแล้ว ก็ไปถามว่า “เฮ้ย! ว่าเรื่องอะไรที่มาอยู่ที่นี่ ไม่มีบ้านรึ” ... เรื่องมันมาก เหลวไหล หลายเรื่อง เลยเข้ามาอยู่ในคุก บางคนก็เป็นครูแต่ว่าขี้เมาหยำเป ไม่ได้เรื่อง เจอทีไร เมาทุกที จะเทศน์โปรดให้หายเมา เทศน์ไม่ได้ เพราะมันเมาเสียแล้ว เออ ไม่รู้จะเทศน์เวลาไหนจนตาย เวลาตายก็ยังสั่งลูกชายว่า พ่อตายนิมนต์ท่านปัญญามาเทศน์นะในงานศพพ่อนี่ แต่ไม่ได้ไป เพราะว่านิมนต์มาแบบฉุกเฉิน มันไปไม่ทัน ก็เลยไม่ได้เทศน์ ยังคิดถึงอยู่ว่าเพื่อนคนนั้นเมาจนตาย มันเป็นอย่างนั้นโยม
ชีวิตเรามันก็ไปตามเรื่องตามราว เหมือนเด็กเกิดกรุงเทพฯ บางคนนะไม่เรียนหนังสือ ไม่เอาถ่าน ชอบคบเพื่อนเหลวไหล เป็นไปอย่างนั้น มันก็เสียผู้เสียคน “ถ้าว่าได้คบเพื่อนดีมันก็เป็นไปในทางดี คบเพื่อนไม่ดีก็เสียหาย” เป็นอย่างนี้ วันนี้ก็เป็นวันที่ ๑ ก็สมมติกันอย่างนั้น ก็มีการสนุกสนานกันตามเรื่อง แต่มันก็ดีอย่างหนึ่ง ถนนในกรุงเทพฯว่างดีวันนี้ ขับรถไปสถานี กลับมานี่โล่งไปเลย ไม่ต้องขึ้นทางด่วนเสีย ๔๐บาท เพราะว่าถนนมันฝืด?? (13.15 เสียงไม่ชัดเจน) ทำไมจึงได้ว่าง ... คนไปบ้านนอกหมด เมื่อคืนวันที่ ๓๐ กลับมาจากหาดใหญ่ ลงจากเรือบินแล้วดูถนนที่ขาออกนี้่ แน่นติดกัน แต่ขาเข้ามันไม่เท่าไหร่ คนเข้าไม่มี มีแต่คนออกออกไปเที่ยวหัวบ้านหัวเมือง ไปโน่นไปนี่กัน ก็ได้ประโยชน์จากวันที่๑ เหมือนกัน เพราะคนมันน้อย สะดวกสบาย แล้วก็อีกอันหนึ่ง การตักบาตรทำบุญมันก็เพิ่มขึ้น
เมื่อเช้านี้พระวัดนี้ก็ไปโน่น ชลนิเวศน์ หลวงพ่อเคยไปทุกปี ปีนี้ไม่ไหว เพราะต้องไปเทศน์โทรทัศน์ เลยให้ท่านเจ้าคุณเมธีเป็นหัวหน้าไปเทศน์แทน กลับมารับเครื่องไทยทานที่เขาใส่บาตรมา ไม่ได้ใส่ข้าว ไม่ได้ใส่กับข้าวของฉัน แต่บอกให้ใส่ของแห้ง ต้องคัดเลือกแล้วก็ส่งไปบ้านนอก นู่นนะ ส่งไปพัทลุง วัดคูหาสวรรค์ เพราะว่าพระเณรอยู่กันมาก อาหารการกินฝืดเคือง สมัยก่อนกินแต่แกงมะละกอนั้นแหละ เพราะมะละกอมันขึ้นเองไม่ต้องปลูก กินกัน แต่เดี๋ยวนี้ลิงมันกินเสียก่อน มะละกอพอขึ้น ลิงมันหักยอดซะเลย เลยไม่ได้กิน ต้องแกงผักบุ้ง แกงบอน อะไรต่ออะไรไป แล้วก็ได้ส่งปลากระป๋องไปให้ ท่านเจ้าคุณบอกไอ้ปลากระป๋องมันอยู่กับแกงบอนมันค่อยยังชั่วหน่อย ฉันมันออกรสออกชาด ให้พระฉันกันไปก็ค่อยดี “โยมทำบุญวัดที่นี่ไปเกิดประโยชน์ที่โน่น” ถ้าในวันปีใหม่ เขาก็ทำกันอย่างนั้น ถ้าวันนี้ก็ญาติโยมมาหา เอาผลไม้มาบ้าง ทำบุญบ้าง อะไรบ้าง เป็นของขวัญวันปีใหม่ มันก็ได้ประโยชน์อยู่เหมือนกันแหละ ถ้าไม่มีวันปีใหม่ ก็คนก็ไม่ค่อยมา ไม่เอาอะไรมา เพราะไม่ใช่เวลาที่จะมา
ยังอีกนะตรุษจีนอีกทีหนึ่ง พี่น้องชาวจีนก็มาอีก เอา “อั่งเปา” ซองแดงๆมาถวาย ในซองนั้นก็มีธนบัตรใส่ไว้ในอั่งเปา พระตามวัดบ้านนอกเวลานี้ โฆษณายาวสามวาเจ็ดวา งานนั้นงานนี้ ต้องทำตรุษจีน เพราะวันตรุษจีนคนว่าง ไปเที่ยวกันมาก ก็เลยล่อเอาไปวัดต่างๆ ไปซื้อทองปิดลูกนิมิต ไปทำโน่นทำนี่ ทำแบบตามประเพณี ไม่ค่อยจะได้สอนธรรมะแก่ประชาชนเท่าใด ก็คนมุ่งไปอย่างนั้น ก็ทำกันเป็นวันตรุษจีน ก็ได้โอกาสทำบุญกัน
รวมความว่า พอถึงวันปีใหม่นี้ จิตใจเรามันร่าเริงแจ่มใส แจ่มใสตรงไหน ตรงที่ว่าได้อยู่รอดไปอีกปีหนึ่ง มีอายุยืนไปอีกปีหนึ่ง ชาวนานี้เขามักพูดว่า “อยู่ให้พอได้กินข้าวใหม่อีกซักปีเถอะ” พอข้าวใหม่มันสุกก็ถือว่าเป็นรอบปี อยู่ไปเถอะ อยู่ให้ได้กินข้าวใหม่ พอได้กินข้าวใหม่ก็บอก “ไม่เป็นไรนะปีนี้ได้กินข้าวใหม่แล้ว” อายุยืนมาได้ปีหนึ่ง ก็สบายใจ เพราะว่าคนเรานี่อยากจะอยู่ทั้งนั้น ไม่มีใครอยากตาย
แม้เจ็บหนักนอนอยู่บนเตียงคนไข้แล้ว ยังไม่อยากตาย ถ้าใครบอกว่าตาย แกโกรธนะหาว่าไปพูดเรื่องตาย ความจริงตายแน่ๆแล้ว มันไปไม่รอดแล้ว แต่กระนั้นก็ยังไม่ชอบได้ยินคำว่า “ตาย” ถ้าใครบอกว่า “ดูหน้าตายังผ่องใสนี่ ยังแข็งแรงนี่” ยิ้ม สบายใจ เขาหลอกให้สบายใจ ก็สบายใจ แต่บอกว่า “โรคอะไร หมอว่าเป็นโรคมะเร็ง ฮึตายแน่ โรคนี้ตายแน่ๆ ไปไม่รอด ไม่มียารักษา” หน้าเหี่ยว เศร้าใจ ว่าเออย่าพูดอย่างนั้น มันไม่สบายใจ .... ไม่สบายใจก็ตาย สบายใจก็ตาย ตายเท่ากัน ถ้าพูดอย่างนั้นก็ไม่ค่อยเจริญตาเจริญใจ ไม่น่าฟัง อยากจะฟังแต่เรื่องที่มันสบายๆ
แต่ว่าคนเรานี่มันชอบหลอก ชอบให้เขาหลอก พูดจริงไม่ค่อยชอบเท่าใด แต่ว่าเขาหลอกแล้วก็ยิ้มชอบอกชอบใจ อยู่กันด้วยการหลอกทั้งนั้น ญาติโยมทั้งหลายนี่ ไม่ได้อยู่กันด้วยการพูดความจริงนะ อยู่กันด้วยการหลอก การบ้านการเมืองก็หลอกกันไปตามเรื่อง ประเทศนั้นหลอกประเทศนี้ วันนี้เซ็นสัญญาสันติภาพ อีกไม่ทันไรก็เซ็นสัญญาชกกันต่อไป ทะเลาะกันต่อไป โลกมันเปลี่ยนแปลง โลกมันเป็นไปอย่างนั้น เพราะอะไร
ไอ้โลกมันก็ปกติมันก็เปลี่ยนแปลงตามสภาพ โลกกลมๆ ผิวขรุขระนี่มันก็หมุนไปตามเรื่องของโลก เรียกว่า “เป็นความเปลี่ยนแปลงไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ” แต่ว่า คนนี่แหละ เป็นผู้เปลี่ยนแปลงโลก ให้สงบก็ได้...ให้วุ่นวายก็ได้ ให้มืดก็ได้...ให้สว่างก็ได้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “จิตฺเตน นียติ โลโก จิตนำโลก”
แปลง่ายๆว่า จิตนำโลก โลกนี้จะเป็นไปอย่างไรเพราะจิตของคน คนเป็นผู้ดึงโลกให้เป็นไปตามความคิดของตัว ถ้าหากว่าคนคิดดี ทำดีกัน...โลกมันก็ดีขึ้น แต่ถ้าคนคิดไม่ดี ทำไม่ดี...โลกมันก็เสื่อม บรรดาความวุ่นวายทั้งหลายที่เกิดขึ้นในโลกนี่ ก็เกิดมาจากจิตของคนนั่นเอง จิตของคนที่มีธรรมะก็สร้างโลกให้เจริญก้าวหน้า จิตที่ไร้ธรรมะก็ทำโลกให้วุ่นวายกันด้วยประการต่างๆ
คนที่อยู่ในโลกนี่ ที่มีจิตประกอบด้วยธรรมะก็มีอยู่มากเหมือนกัน ถ้าพูดกันแล้วคนจิตมีธรรมะนี่มากกว่าคนจิตที่ไร้ธรรมะ แต่ว่าคนจิตไร้ธรรมะมันดัง! ทำอะไรมันดัง รบกันนี่ดัง... อยู่เงียบๆไม่ดัง ความสงบนี่ก็ไม่ดัง แต่ถ้ารบกันตูมตาม โปงปาง หนังสือพิมพ์ก็ลงเป็นข่าว เพราะมันเป็นเรื่องผิดปกติ ไอ้ความผิดปกติของโลก ของสังคมกลายเป็นข่าว ถ้าปกติก็ไม่ค่อยเป็นข่าวอะไร แต่ถ้าผิดปกติก็กลายเป็นข่าวขึ้นมา ลงข่าวกัน ขายกันดี มันเป็นอย่างนี้
เราอยู่ในโลกก็อยู่ในกระแสของความเปลี่ยนแปลง กระแสของความเป็นอยู่ในรูปต่างๆ ถ้าเราไม่อยากให้มันไหลไปตามกระแส ก็ต้องมีธรรมะเป็นเครื่องค้ำจุนจิตใจเพื่อถ่วงมันไว้ อย่าให้มันไหลเร็วเกินไป แม้จะไหลก็ให้พอรู้ตัวว่า อ้อ!กำลังจะไหล กำลังจะลื่น แล้วก็รีบยับยั้งชั่งใจ บังคับตัวเอง ควบคุมตัวเองให้หยุด ไม่ให้ไหลไปกับสิ่งเหล่านั้น เราก็เอาตัวรอด
คนประเภทที่เอาตัวรอดเพราะ “ความรู้ความเข้าใจ” มีอยู่ แต่บางทีเอาตัวรอดเพราะว่า “ความคิดตามสัญชาตญาณ” ... “สัญชาตญาณ” คือ ความรู้สึกนึกคิดที่มากับตัวตั้งแต่เกิด กลัวเจ็บกลัวตาย แบบนี้เป็นสัญชาตญาณของคน มีก็อะไรเกิดขึ้น ก็มีความรู้สึกกลัวไป เกิดขึ้นแล้ว ก็จัดการแก้ไขกันไปตามเรื่อง ไม่ได้แก้ไขด้วย “ปัญญา” ที่เกิดขึ้นเพราะการอบรมจิตใจตามหลักธรรมะของพระพุทธเจ้า ถ้าได้รับการอบรมบ่มจิตใจเราก็สามารถจะแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นได้ด้วยปัญญา ถ้าแก้ด้วยปัญญามันก็ระงับไป แต่แก้ตามสัญชาตญาณมันก็ทำต่อไป เผลอมันก็เป็นไปอย่างนั้น ถ้าไม่เผลอก็ไม่เป็นไร แล้วคนเราโดยปกติก็ชอบเผลอซะด้วย เรียกว่า “ประมาท” นั่นเอง
ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ความไม่ประมาทเป็นทางแห่งความไม่ตาย ปกติคนเรานั้นมันจะอยู่กันด้วยความประมาท ขับรถด้วยความประมาท...ก็เกิดอุบัติเหตุ ข้ามถนนด้วยความประมาท...ก็เกิดอุบัติเหตุ ทำอะไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ ถ้าทำด้วยความประมาท ก็เกิดอุบัติเหตุเหมือนกัน แต่ถ้าทำด้วยความสำนึก มีสติ มีปัญญาเป็นเครื่องกำกับ ปัญหาก็ไม่เกิด ชีวิตปลอดภัย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยขึ้นในชีวิต เราควรจะทำอย่างไร เราก็ควรจะได้หันหน้าเข้าหาธรรมะ เอาธรรมะมาเป็นดวงประทีปส่องทางชีวิตของเรา
เพราะฉะนั้นในวันปีใหม่วันนี้ ใคร่ที่จะให้โยมทั้งหลายได้ถือเป็นหลักประจำใจว่า ปี ๒๕๓๘ ให้เป็น “ปีแห่งพระธรรม” เขาว่าเป็นปีหลายเรื่องนะ ปีเศรษฐกิจ ปีนั่น ปีนี่ ว่ากันไปตามเรื่อง แต่มันยุ่งนั่นแหละ เพราะว่าอะไร เพราะว่าจิตใจคนมันขาดธรรมะ เมื่อไม่มีธรรมะมันก็ยุ่ง จึงอยากจะกล่าวว่า “ปี ๒๕๓๘นี้ ขอให้เราทั้งหลาย ถือว่าเป็นปีแห่งพระธรรม หรือเป็นปีแห่งการเข้าถึงธรรมะกัน” เพราะถ้าจิตมันเข้าถึงธรรมะแล้วมันก็ดีขึ้น แล้วการเข้าถึงธรรมะจะช่วยให้สิ่งทั้งหลายดีขึ้น ส่วนบุคคล ส่วนครอบครัว ส่วนสังคม การบ้าน การเมืองอะไร มันดีหมดแหละ เพราะจิตคนเข้าถึงธรรมะ แต่ที่ยุ่งๆกันอยู่ในปัจจุบันนี้ เพราะคนไม่เข้าถึงธรรมะ แม้จะประกาศตนเป็นผู้ถือหลักธรรมตามคัมภีร์ศาสนานั้นๆ เรียกว่า เป็นพุทธ เป็นคริสต์ เป็นอิสลาม เป็นฮินดู เป็นอะไรก็ตามเถอะ แต่ว่าเนื้อแท้คือจิตใจยังไม่เข้าถึงธรรมะในศาสนานั้น
ความจริงหลักคำสอนในศาสนาต่างๆนั้นมีจุดรวมอยู่ประการหนึ่ง คือ ให้คนรักกัน สามัคคีกัน ไม่ทำร้าย ไม่เบียดเบียนแก่กันและกัน อันนี้เป็นจุดใหญ่ เป็นจุดสำคัญ ถ้าศึกษาดูแล้วก็มีตัวนี้อยู่ในคัมภีร์ของทุกศาสนา ศาสดาทั้งหลายที่เกิดมาสอนธรรมะนั้น ก็ได้เอาสิ่งนี้เข้าไปแทรกไว้ในคำสอน ให้คนรักกัน สามัคคีกัน ... แต่บางทีผู้ปฏิบัติคับแคบไป คือ รักแต่ในพวกของตัว พวกเดียวกัน แต่ถ้าเป็นพวกอื่นแล้วฉันไม่รักแล้ว ฉันจะเล่นงานแล้ว เลยก็รบราฆ่าฟันกัน ยกพวกไปตีกัน ตีกันเป็นงานใหญ่ ตีกันสองสามปียังไม่จบซักที เริ่มจะตีกันอยู่อีกนี่ก็เพราะว่า ไม่เข้าถึงธรรมะของศาสนาอย่างแท้จริง
คนในประเทศอินเดียนั้นเดิมแท้ก็นับถืออ”ศาสนาพราหมณ์” ซึ่งเรียกว่า “ฮินดู” แต่สมัยปัจจุบันก็เรียกว่า ฮินดู ฮินดูนี่เป็นชื่อของคนชาติอินเดีย ฝรั่งเรียกอินเดีย แต่ว่าตัวเขาเองไม่ได้เรียกอินเดีย เขาเรียกจริงๆเขาเรียกว่า “ภารตะ” “ชาวภารตะ” อินเดียนั้นเป็นคนชาวภารตะ เรือบินเขาก็เรียกว่า “ภารตะแอร์เวย์” ในสมัยก่อน แต่เดี๋ยวนี้เขาเรียกว่า “อินเดียนแอร์เพลน” ไปแล้ว ตามชื่อสากล เพราะเขาเรียกว่าอินเดีย แต่คนเขาเรียกว่าชาวภารตะ
ชาวภารตะนี้นับถือศาสนาพราหมณ์มาตั้งแต่ยุคโบราณเก่าแก่นานแล้ว แล้วต่อมาก็มี “ศาสนาพุทธ” เกิดขึ้นในประเทศอินเดีย พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในประเทศอินเดียก็สอนธรรมะ เรียกว่า ปฏิรูปศาสนาเก่าแก่ของอินเดียให้เป็นของใหม่ขึ้น เป็นสิ่งใหม่ เพราะพระองค์ได้ค้นพบสิ่งใหม่ด้วยพระองค์เอง เรียกว่า “ตรัสรู้” ไม่ได้อาศัยความรู้ใดๆมาก่อน เป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยพูดเคยสอนกันมาในประเทศนั้น เป็นของใหม่ พระองค์ได้ค้นพบ แล้วก็นำมาเปิดเผย แจกแจง ให้คนทั้งหลายได้เกิดปัญญา เกิดความรู้ความเข้าใจ เรียกว่า “พุทธธรรม”
ตัวแท้ตัวจริงนั้นเขาเรียกว่า พุทธธรรม คือ “ธรรมของพระพุทธะ... ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน” เขาไม่เรียกว่าศาสนาหรอก ศาสนานี่มีใช้น้อย ก็ใช้อยู่ไม่กี่ที่ แต่ว่าใช้ธรรมะมาก และต่อมาก็มี “พระวินัย” ก็รวมเป็นสองอย่างเรียก “ธรรมวินัย” พระองค์มักจะตรัสบ่อยๆว่า “ธรรมวินัยที่ตถาคตได้บอกแล้วแก่เธอทั้งหลาย” “ธรรมวินัยของตถาคต”อะไรอย่างนั้น เป็นตัวธรรมะ ที่คนจะต้องเข้าถึง
ธรรมะในฮินดูก็ดี ในพุทธศาสนาก็ดี ส่งเสริมสันติ ส่งเสริมความสงบ ชาวฮินดูทั้งหลายทั้งปวงนั้น เวลาสวดมนต์ลงท้ายก็ต้องพูดว่า "โอมศานติ โอมศานติ” สวดอย่างนั้น แต่ว่าเดี๋ยวนี้ โอมศานติในวิหาร พอออกมาจากวิหารเห็นมุสลิมเดินอยู่ ลืมโอมศานติ เอาไม้ท่อนใหญ่ตีหัวเจ้านั่นเข้าเลย ..ไอ้นั่นถูกตีก็วิ่งไปบอกเพื่อน เพื่อนก็เฮกันมา ตีกันตรงหน้าโบสถ์นั่นเอง ตายกันไปทีละพันสองพัน ... มันลืมซะ ลืมกันว่าเราสวดว่าโอมศานติ โอมศานติ แล้วก็ไปตีกันอย่างนั้ น... กิเลสมันครอบงำจิตใจ แยกคนว่าไอ้นั่นพวกนั่น ไอ้นี่พวกนี่ ถือ ถือเขาถือเรา ถือมึงถือกูขึ้นมา นี่เป็นตัวร้าย ไอ้ถือเขาถือเรา ถือมึงถือกูนี่มาจากอะไร มาจาก “ตัวตน” นั่นเอง “ความมีตัว” ความมีตัวและยึดตัวเป็นใหญ่ เลยเกิดอะไรขึ้นด้วยประการต่างๆ
พระพุทธศาสนาทำลายตัว เลยสอน “หลักอนัตตา” ไม่มีตัวตน ไม่สำหรับยึด สำหรับถือ ให้เห็นแต่เพียงว่าเป็นสิ่งที่รวมกันเข้า ไหลไปตามอำนาจของธรรมชาติ ว่าหมดเครื่องปรุงแต่งมันก็แตกดับหายไป ไม่มีอะไรที่ควรจะเข้าไปยึดถือ ถ้าเราเข้าถึงธรรมะข้อนั้นก็ไม่ทะเลาะกับใคร ไม่รังเกียจไม่รังแกใคร มีแต่ความรัก ความเมตตา ปรารถนาดีต่อกัน
ศาสนาอิสลามก็สอนเรื่องสันติเหมือนกัน ก็คำว่า “อิสลาม” นั้นโดยเนื้อแท้คือสงบ หรือศานตินั่นเอง แต่ว่าไม่ค่อยจะสงบเท่าใด มีปัญหาเกิดขึ้นในที่ต่างๆเพราะ “ถือ”รุนแรงเกินไป “ถือ”จัดเกินไป อันนี้มันไม่เข้ากับหลักของพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้ชาวพุทธนี่ เป็นผู้ถืออะไรรุนแรง แต่ให้ถือพอเป็นเครื่องมือสำหรับแก้ไขปัญหาชีวิต พระองค์เคยตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า "เรารู้ทุกอย่าง แต่เราไม่ติดอยู่ในความรู้นั้น"
อันนี้สำคัญ โยมจำเอาไปคิดๆดู ว่า เอ! รู้ทุกอย่าง แต่ไม่ติดในความรู้นั้น พระพุทธเจ้าท่านไม่ติด ถ้าติดก็ไม่เป็นพระพุทธเจ้า ไม่เป็น “พระอรหันต์” ความเป็นพุทธะ หรือความเป็นพระอรหันต์นั้นอยู่ที่จิตว่าง ไม่ติดอยู่ในอะไรๆ พระองค์ถือ “ธรรมะเป็นเสมือนหนึ่งแพสำหรับข้ามฟาก” แพก็มีไว้สำหรับข้ามฟาก ใครหนีข้าศึกศัตรูมาถึงริมฝั่งน้ำเห็นแพก็กระโดดลงแพ แต่นี่ถ้าลงไปหลายแพ หลายคน ไม่ออกแพ เถียงกัน ...แพกูใหญ่กว่า แพมึงเล็กกว่า แพกูไม้ดี แพมึงไม่ดี แพกูไม้ถ่อยาวค้ำได้ลึก แต่ของแกมันสั้น...ไม่ต้องไปแล้ว เพราะไปเถียงกันเรื่องแพ ไม่เอาแพข้ามฟาก ลงแพแล้วอย่าไปยึดว่าแพกู แพมึง ถ่อเลย ถ่อเลย สัมมาวายามะคือความเพียรชอบ ใช้ความเพียรชอบถ่อแพออกจากฝั่ง พอถึงฝั่งแล้วกระโดดขึ้นซะ อย่าไปอาลัยแพ อย่าไปยึดแพอยู่ มันไม่พ้น เป็นอย่างนั้น... ก็พ้นไป ก็ข้ามพ้นไปฝั่งโน้น ฝั่งโน้นคือฝั่งแห่ง ความสงบ สะอาด สว่าง ทางจิตใจ ก็พ้นปัญหา เป็นอย่างนั้น
แต่ว่าคนเรานั้นมักติดแพ ทำไมจึงได้ติด อาจารย์น่ะตัวสำคัญ อาจารย์สอนศิษย์ทั้งหลาย คือ สอนศิษย์เพื่อลาภ เพื่อสักการะ เพื่อผลที่ตนจะมีจะได้ และก็หวงศิษย์ ... ศิษย์ก็หลงเข้ามาในสำนักข้าแล้ว ก็ให้อยู่นี่อย่าไปไหน แม้หนังสือคนอื่นก็อย่าไปอ่าน ไม่ได้มันจะเขว ไม่ให้อ่านหนังสือของใคร ให้ทำตามที่ตัวสอน ไม่ให้ฟังพระองค์อื่น ฟังแต่องค์นี้ องค์นี้แหละเป็นทาง ทางเอกทางเดียวสู่ความพ้นทุกข์... เอาลูกศิษย์ไปขังคุกไว้อีกทีหนึ่ง ซึ่งมันผิดหลักของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านไม่ขังลูกศิษย์ ไม่กักกันลูกศิษย์ของพระองค์ พระองค์ให้เขามีชีวิตหลุดพ้นจากปัญหา หลุดพ้นจากความเป็นทาสด้วยประการทั้งปวง แม้คนที่มาเลื่อมใสศรัทธาแล้ว ก็ยังส่งเสริม ให้เป็นคนใจกว้างอยู่นั่นเอง
ยกตัวอย่างในเรื่อง อุบาลีคฤหบดีสุคหปฏิสูตร …… (32.04) อุบาลีนี่เป็นลูกศิษย์ของพวกนิครนถ์ “นิครนถ์” นั้นเป็นนิกายหนึ่งในประเทศอินเดีย ผู้ก่อตั้งเป็นกษัตริย์เหมือนกัน ชื่อมหาวีระ เป็นกษัตริย์แห่งเมืองปาวา เป็นผู้ที่เรียกว่า ออกมาบวชเหมือนกับเจ้าชายสิทธัตถะ เจ้าชายสิทธัตถะนี่ก็เป็นกษัตริย์อยู่เมืองกบิลพัสดุ์แล้วก็ไปบวรศึกษาธรรมะ ความจริงเรื่องการศึกษา การสั่งสอนวิชาการต่างๆนั้น พราหมณ์เขาผูกขาด เขาไม่ให้ใครทำหรอก พราหมณ์เขาผูกขาด เขาถือว่า
“พราหมณ์” เกิดจาก ปากพระพรหม มีหน้าที่พูดหน้าที่สอน
“กษัตริย์” เกิดจาก แขน มีหน้าที่รบทัพ จับศึก
“แพศย์” พ่อค้าเกิดจาก ท้อง มีหน้าที่หาของใส่ท้อง
ไอ้พวก “ศูทร” นั้นต่ำกว่าเพื่อน เกิดจาก หน้าแข้ง ตกต่ำมาก เลยก็ต้องทำแต่งานชั้นธรรมดา งานหนักๆทั้งนั้น หน้าแข้งมันหนักทั้งนั้น จะว่าลำบาก แต่รู้การเขียนดี การเขียนเอาเปรียบเพื่อน บัญญัติเข้าก็เอาเปรียบ …… (33.15 เสียงไม่ชัดเจน) เพราะว่ายังมีความเห็นแก่ตัว แล้วความเห็นแก่ตัวของพราหมณ์นี่ มาเรื่อยๆนะ พระพุทธศาสนาได้เกือบสูญไปหมดจากอินเดียก็เพราะความเห็นแก่ตัวของพราหมณ์นี่เอง พราหมณ์พยายามกลืนพระพุทธศาสนาด้วยวิธีการต่างๆ ให้คนได้เปลี่ยนความคิดไป จนกระทั่งเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นอย่างนั้น
แต่เขาต้องถือว่าเขาต้องสอน แต่ว่าเจ้าชายสิทธัตถะก็ดี มหาวีระก็ดี ออกมาสอนธรรมะ มาศึกษาแล้วสอนธรรมะ ผิดจากพวกเหล่านั้น แล้วก็ไม่ถือวรรณะอะไร มหาวีระก็ไม่ถือ พระพุทธเจ้าก็ไม่ถือวรรณะ แต่ถือว่าทุกคนเท่าเทียมกัน ทุกคนดีได้เพราะทำดี ทุกคนชั่วได้เพราะทำชั่ว ไม่ว่าชาติชั้นวรรณะไม่ได้ทำใครให้ดี ไม่ได้ทำใครให้เลว แล้วก็รับคนทุกประเภท เข้ามาบวชในพุทธศาสนา กษัตริย์ก็มาบวชได้ พราหมณ์ก็มาบวชได้ พ่อค้าก็มาบวชได้ กรรมกรพวกศูทรนี่ก็มาบวชได้ ไม่รังเกียจรังงอนแก่กันและกัน
ถ้าเป็นคนชั้นวรรณะต่ำมาบวชและก็มีพราหมณ์ มีกษัตริย์ มีพ่อค้า พระองค์ให้คนวรรณะต่ำบวชก่อน บวชก่อนเพื่อจะได้เดินหน้า เพราะปกติมันเดินหลังเพื่อนอยู่แล้ว แต่นี่มาบวชแล้วยังเดินหลังเขาอีก ไม่ได้! ต้องยกระดับให้สูงขึ้นหน่อย เอ้า! บวชก่อน เพื่อคนจะได้เคารพแก่กันและกัน เหมือนพวกศากยะออกบวชหลายคน ออกบวชหลายคนนั้นมีอุบาลี ชื่อ “อุบาลี” คนหนึ่ง อุบาลีนี้เป็นช่างโกนตัดผม ช่างตัดผมในอินเดียไม่ค่อยมีร้านหรอก ตัดกันใต้ต้นมะขาม ใต้สนาม นั่งโกน นั่งตัดกันอยู่ตรงนั้นแหละ แต่อุบาลีนี่เป็นช่างตัดผมในราชสำนักของพวกศากยะ ครั้นเวลามาบวชนี่ มีกษัตริย์ เจ้าชายหลายคน เจ้าชายเหล่านั้นก็ใจกว้าง ได้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่าขอให้อุบาลีบวชก่อน เพราะอุบาลีนี่เป็นคนใช้ของพวกเรา เมื่อมาบวชให้บวชทีหลังก็อยู่ในสภาพคนใช้ต่อไป ไม่ได้คืนตัว ให้บวชก่อน บวชก่อนก็ต้องเดินหน้าพวกนายล่ะทีนี้ พวกศากยะที่มาบวช พระอานนท์ พระภัททิยะ อะไรต่ออะไร อนุรุทธ หลายคนนะมาบวชพร้อมกัน ก็บอกเอาคนใช้บวชก่อน ก็เดินหน้ายกระดับให้สูงขึ้น ด้วยการบวชเรียงวรรณะไป แบบนี้ก็มี
พระพุทธเจ้าท่านไม่รังเกียจเลยในเรื่องวรรณะ ต้อนรับเท่ากัน ให้นั่งเหมือนกัน สอนเหมือนกัน อะไรเหมือนกัน มีอุบาลีเป็นคนร่ำรวยเป็นเศรษฐี มีชื่อมีเสียงมาก ไปเป็นศิษย์พวกนิครนถ์ หรือ “นิครันถนาฏบุตร” และพระมหาวีระนั่นเอง เข้าเป็นศิษย์มาแล้วได้ยินบ่อยๆ เขาไปเล่าลือกันว่า พระพุทธเจ้าแสดงธรรมไพเราะ เบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด มีเหตุ มีผล เป็นประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติ คนเขาสรรเสริญว่าเราสวดมนต์สรรเสริญ
“อาทิกัลยาณัง มัชเฌกัลยาณัง ปะริโยสานะกัลยาณัง สาตถัง สะพยัญชนัง เกวะละปะริปุณณัง ปะริสุทธัง พรัหมะจะริยัง ปะกาเสสิ”
ก็สวดแลอยู่ทุกวัน นั่นแหละอย่างนั้น เขาได้ยิน ได้ยินแล้วนึกว่าแหม ต้องไปฟังซักที ข้อดีของอุบาลี นิสัยดีนะ จะไปไหนเคารพอาจารย์ อาจารย์เก่า จะไปฟังธรรมพระพุทธเจ้าก็มาลาอาจารย์ ลาอาจารย์ว่าจะไปฟังธรรมพระพุทธเจ้า แต่อาจารย์กลับตรงกันข้ามบอก “อย่าไปเลย ไม่มีอะไร พระพุทธเจ้าไม่มีอะไรหรอก เหมือนกันกับเรา อย่าไปเลย” แต่ฟังเขาเล่าลืออีกก็เลื่อมใสอีก ลาอีกไม่ให้ไป ลาสามครั้งไม่ให้ไป อุบาลีเรียกว่า คราวนี้ไม่ต้องลาแล้ว ไปเลย ไปหาพระพุทธเจ้า เขาไปไม่ใช่ไปฟังเฉยๆ ไปโต้วาทะกับพระพุทธเจ้า เป็นนักโต้วาที ไปถึงถามปัญหาพระพุทธเจ้า โต้ตอบกันเป็นการใหญ่เลย ในคัมภีร์เขาเขียนไว้ละเอียดในการโต้ตอบ ไม่ใช่โมเม มุบมุบ ว่าแพ้พระพุทธเจ้า เขาไม่ได้เขียนอย่างนั้น แต่เขาอธิบายว่า ถามอย่างไร ตอบอย่างไร ละเอียด พอถาม ตอบไป ตอบมา ก็เลยศรัทธา เลื่อมใส ประกาศตนว่า ขอเป็น ลูกศิษย์พระพุทธเจ้า เกิดเป็น “พุทธมามกะ” หมายความว่า ยอมรับเอาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ เป็นที่พึ่งทางใจ
แกบอกว่า ธรรมะที่พระองค์แสดงนี้มันน่าเลื่อมใส น่าปฏิบัติ เป็นประโยชน์แก่ชีวิตมาก ข้าพระองค์ขอประกาศเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธองค์ พระพุทธเจ้าบอกอย่าๆๆๆ ห้ามทันทีว่า “อย่าๆ หยุดก่อนๆ เธอเป็นคนมีชื่อมีเสียงในเมืองนี้ และเคยเป็นศิษย์ของนิครนถ์มาก่อน แล้วจะมาเปลี่ยนมานับถือเรา ประกาศตนเป็นลูกศิษย์ของเรานั้น คนเขาจะว่าเธอ เขาจะนินทาว่าเป็นคนใจน้อยสร้อยสั้น ไปฟังทีเดียวยอมตนเป็นลูกศิษย์ ไม่ได้”... เหมือนกับคนไทยนับถือพุทธแล้วไปเป็นอิสลาม เขาก็ติเตียน ไปเป็นคริสต์ก็ติเตียน คุณพ่อคุณแม่ลูกไปเข้าคริสต์ก็เดือดร้อนใจมาก มาหาบอกว่าแย่แล้วค่ะลูกดิฉัน ไปเข้าคริสต์แล้ว ... บอกว่าอย่าๆวิตกกังวล มันไปตามเห่อ มันสนุก โบสถ์คริสต์มันได้ร้องเพลง มันได้พบสาวๆ เพื่อนๆแล้วมันสนุกไปอย่างนั้นแหละ อย่าไปโกรธไปเคืองเขา ปล่อยไปก่อน ให้เขาเรียนจบแล้วค่อยพามาบวชทีหลัง สอนไปอย่างนั้น มันมาบวชมันก็กลับใจมาหาพุทธะเองน่ะ เหตุผลมันผิดกัน
แต่ว่าพุทธเจ้าบอกว่าไม่ได้ อย่าทำอย่างนั้น อุบาลีกลับเลื่อมใสหนักขึ้น บอกว่าแหม พระองค์นี่เป็นอาจารย์ที่ไม่เหมือนใคร ข้าพระองค์ถ้าไปวัดไหนเขายกธงต้อนรับ ยกป้ายหน้าวัดนะ เรียกว่า ขอต้อนรับท่านอุบาลีคหบดี ยกธงต้อนรับนะ เขาดีใจนะ แต่ว่ามาหาพระองค์นี่เฉยๆ ไม่ได้แสดงอาการอะไร อยู่ตามปกติ ธรรมะที่พระองค์แสดงก็ไพเราะ เพราะพริ้ง น่าเลื่อมใส ครั้นข้าพระองค์ฟังแล้วชอบใจ จะแสดงตนเป็นลูกศิษย์พระองค์กลับห้าม ไม่ให้กระทำ ทำให้ข้าพระองค์ยิ่งเลื่อมใสพระองค์มากขึ้นและต้องเป็นลูกศิษย์พระองค์มากขึ้น... ก็ต้องเป็น เพราะว่าห้ามไม่ได้แล้ว จิตมันศรัทธามาก ก็เป็น
เมื่อเป็นแล้ว พระองค์สอนยังไง อันนี้สำคัญมากนะ สำคัญมาก ควรจะเอาไว้สังเกตุครูบาอาจารย์ต่างๆนะ อาจารย์ในสมัยนี้ไม่ค่อยเดินตามรอยพระพุทธเจ้าหรอก ถ้าหากว่าพอเป็นลูกศิษย์ตัวไปไหนไม่ได้นะ ไม่ยอมให้ไปนะ ตัวอย่าง ที่เชียงใหม่ โยม “ชื่น ชิโนรส” ที่อุปถัมถ์บำรุงพุทธนิกรมที่อาตมาไปอยู่ โยมชื่นนี่ทิ้งเงินเยอะ สร้างวัด สร้างวา ทำอะไร หลวงพ่อเป็นสมภารนะ ไม่เรียกว่าเป็นโยมนะ …… (41.00 เสียงไม่ชัดเจน) โยมชื่นแกจะทำอะไรแกก็ทำนะ แกจะสร้างกุฏิ จะสร้างศาลา จะสร้างอะไรแกก็ทำ เงินของแกนี่ เราไม่ว่าอะไร โยมจะทำอะไรตามชอบใจ ไม่ว่า เพราะว่าของแก แกใช้จ่ายมาก
แต่ว่าก่อนที่จะมาเลื่อมใสในแนวทางของท่านพุทธทาส มีพระทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพระป่า ไปเชียงใหม่ โยมก็เลื่อมใส นิมนต์ไปอยู่ใกล้ ที่เตาบ่ม ที่อำเภอจอมทอง บำรุงส่งเสริม ทุกอย่างทุกประการ พระเหล่านั้นมีหนังสือพุทธศาสนาของไชยาไปด้วย โยมไปเห็นเข้าก็ไปหยิบมาอ่าน อ่านแล้วชอบใจ ในแนวทางของท่านพุทธทาส แต่ก็ยังบำรุงพระเหล่านั้นอยู่ และโยมก็ย้ายจากจอมทองเข้าเมือง ขนพระเหล่านั้นเข้ามาในเมือง มาอยู่ที่บ้านของฝรั่ง ไม่ได้มีวัดก่อนนะ มาอยู่ที่นั่น แล้วโยมก็เอารถมารับพระเข้าในเมืองไปบิณฑบาต ไปส่ง ช่วยเหลือทุกประการ ครั้นอ่านหนังสือนั้นเข้าก็อยากจะไปไชยา ไปหาท่านพุทธทาส เวลาไปลาพระ ปรึกษา พระเหล่านั้นบอก “โยมอย่าไปเลย ไม่มีอะไร ท่านพุทธทาสก็อย่างนั้นแหละ” ไม่อยากให้ไป เรียกว่ามันแบบนิครนถ์นะ เป็นอยู่แบบนิครนถ์ในสมัยก่อน ลูกศิษย์จะไปไม่ยอมให้ไป แล้วก็โยมไม่ไป แต่ส่งลูกชายกับลูกเขย ไอ้ลูกเขยเขาเรียกลูกชายนะเชียงใหม่นะ สองคน บอกไปดูซิ พ่อไม่ได้ไปดู ไปดูแทน พวกนั้นก็ไปดู อยู่สี่ห้าวันนะ ไปดู ศึกษา กลับมาบอก ดีพ่อ ท่านสอนคน ท่านทำอะไรเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม คือ พระศาสนา .... อยากจะไปเต็มแก่แล้ว เลยไปลา
พระนั่นเห็นว่าขัดคอไม่ได้แล้ว เพราะจิตที่จะไปมีมาก เลยส่งพระองค์หนึ่งขึ้นไปด้วย เป็นพี่เลี้ยงไปด้วย ไปดู ไปด้วย.... องค์ที่ไม่ให้ไปนี่ตายแล้วแต่องค์ที่คุมนี่ยังไม่ตาย คนยังนับถือ องค์นี้ยังไม่ตาย... ให้คุมไป คุมไปก็กลับมา พอกลับมาแล้วทำอะไร พระองค์นั้นไปเที่ยวคุยกับชาวบ้านชาวเมืองว่า “ท่านพุทธทาสไม่มีอะไร ขุดบ่อล่อปลาเท่านั้นเอง” ... ไม่ใช่เรื่องเล็กนา ว่าท่านพุทธทาสเป็นผู้ขุดบ่อล่อปลา หมายความว่า ไปอยู่ในวัดในป่านั้น ทำอะไรต่ออะไรเพื่อล่อคนให้มาเท่านั้นเอง ไม่ได้มีอะไร ไปเที่ยวคุยให้ชาวบ้านเขาฟัง
คนเชียงใหม่เขาไม่รุนแรง แต่เขามาเล่าให้โยมชื่นฟัง ว่าอาจารย์องค์นั้นน่ะ ที่ไปกะเจ้า มาไปนั่งบ้านไหนก็นินทาท่านพุทธทาส หาว่าท่านพุทธทาสขุดบ่อล่อปลา ไม่มีอะไร ไม่มีอะไรพิเศษหรอก ล่อปลาเท่านั้น โยมได้ฟังแกก็ยิ้มๆ แกไม่โต้ต่อเลย ยิ้มๆเท่านั้นเอง แต่ว่าพระพวกนั้นอยู่ๆมาก็...โยมนิมนต์ คือนิมนต์ท่านพุทธทาสไปที่เชียงใหม่ ไปอยู่ ๑๕ วัน อยู่ ๑๕ วันนี้เทศน์ทั้ง ๑๕ วันเลย ไปโน่นไปนี่ เทศน์ใหญ่ โยมบริการ แล้วก็นิมนต์ว่าให้ท่านอาจารย์มาอยู่ที่เชียงใหม่บ้าง ช่วยฟื้นฟูจิตใจชาวเชียงใหม่ ช่วยแก้ไขอะไรบางอย่าง ที่มันไม่ค่อยเรียบร้อย ท่านเจ้าคุณก็บอกว่า อาตมามาไม่ได้หรอกโยม เพราะมีธุระที่จะต้องทำที่ไชยามาก แต่ไม่เป็นไร จะหาพระส่งมาให้ ก็เลยหาพระหลวงพ่อนี่ เชิญเอาหลวงพ่อนี่ส่งไปให้ .... ทีนี้พอเห็นว่าเลื่อมใสมากจนนิมนต์มาเทศน์ พระพวกนั้นค่อยถอย ถอยทัพ ถอยออกจากวัดอุโมงค์ ถอยไปเรื่อยๆ ไปหาที่สร้างวัดใหม่ แล้วก็อยู่มาจนวันนี้ มันเป็นอย่างนั้นเอง
เขาเรียกว่า “ระบบนิครนถ์” ระบบที่กีดกันคนไม่ให้ออกจากวัดของตัว ยื้ออยู่ สำนักต่างๆใช้ระบบนี้ ใครมาติดแล้วไม่อยากให้ เรียกว่า “ตระหนี่ลูกศิษย์” เป็นกิเลสตัวหนึ่ง ในความตระหนี่ ๕ ประการ ตระหนี่ลูกศิษย์ ไม่ยอมให้ไปไหน ยื้ออยู่ ไปไหนไม่ได้ ไม่ให้ศึกษา ให้พอใจเท่านี้ ทำอย่างนี้อยู่ต่อไป อย่างนี้มี
แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของชาวเราทั้งหลายนั้น ไม่มีความคิดอย่างนั้น เพราะพระองค์ไม่มีตัวจะให้คิดแบบนั้นแล้ว มีแต่ธรรมะอยู่ในน้ำพระทัย เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ คิดอะไรออกมาก็เป็นธรรมะไปทั้งนั้น ท่านจึงบอกพระอุบาลีอย่างนั้น แล้วบอกอุบาลี บ้านของท่านนี่เคยเป็นที่ไปมาหาสู่ของพวกนิครนถ์ แม้ท่านจะมาประกาศตนว่าเป็นพุทธบริษัทแล้ว อย่าปิดประตูบ้าน ท่านเคยปฏิบัติต่อนิครนถ์อย่างไร จงทำอย่างนั้น เคยให้ข้าว เคยให้น้ำ เคยกราบ เคยไหว้ เคยต้อนรับ มาเลี้ยงดูที่บ้านอย่างไร ทำอย่างนั้น ไม่เปลี่ยนแปลง อันนี้สำคัญนะ ที่พระพุทธเจ้าสั่งนี่สำคัญมาก แสดงถึง น้ำพระทัยกว้างขวาง และมีความเป็นธรรมอย่างดี ไม่กีดกันใคร อุบาลียิ่งชอบใจใหญ่ ลุกขึ้นกราบแทบเท้าเลย บอกโอ! ยังไม่เคยพบอาจารย์ที่สอนศิษย์อย่างนี้ ยังไม่เคยพบผู้สอนธรรมะที่มีน้ำพระทัยอย่างนี้ เขายิ่งเลื่อมใสมากขึ้น แล้วก็เป็น “พุทธบริษัท” พร้อมๆไปกับเลี้ยงดูนักบวชทั้งหลายอื่นนั้นด้วยดี เป็นอันดี
นี่เป็นคุณธรรมของคนอินเดีย คือ ชาวอินเดียนี่เขานับถือ เขาถือว่า ผู้ที่เกิดในประเทศอินเดีย สอนธรรมะในประเทศอินเดียเป็นสิ่งถูกต้อง แล้วก็เป็นอริยธรรมของอินเดีย เขานับถือพระสงฆ์องค์เจ้า เราไปบิณฑบาตไม่อดหรอก เขาใส่อาหารให้ ให้กิน ให้อยู่ ให้เรียบร้อย ต้อนรับขับสู้ดีไม่มีอะไรเสีย เพราะเขาถือว่า นักบวชนี่เป็นผู้มีคุณธรรม เป็นผู้ที่โลกควรยกย่อง ฉะนั้นในวัชรสูตร (48.01) จึงกล่าวไว้ว่า ชาวบ้านที่กล่าวโกหกกับนักบวชเป็นคนเลวนะ ไม่ได้ ต้องเคารพนักบวช เพราะฉะนั้นพระไปไหนเขาก็เคารพ เขาให้เกียรติ
เราจะไปขึ้นรถ ไม่ต้องไปแทรกกับคนหรอก ไม่ต้องยืนแทรกเข้าไปเพื่อซื้อตั๋ว ยืนเฉยๆ แล้วคนรถเขามาจัดการเอง เขาเว้นที่ไว้ให้ แล้วเขานิมนต์ขึ้น หลวงพ่อไปครั้งแรกที่อินเดียไปกุสินารา มันต้องขึ้นรถยนต์จากกัวกู้ (48.34) ก็แขกเขาไม่มีระเบียบนี่ ซื้อตั๋วฮือเข้าไป ไม่ให้เข้าคิว เอ! เราจะเข้าไปยังไงวุ่นวายอย่างนี้ ก็ออกมายืนห่างๆ สององค์ไปยืนดูห่างๆ ยืนดูอยู่ ให้พวกนั้นขึ้นรถ คนขับรถเขากันที่ไว้ให้สองที่ ไม่ให้นั่งตรงนั้น ก็นั่งใกล้คนขับนั่นแหละ ก็ขึ้นไปนั่ง แล้วก็ที่ก็พอจะนั่งแทรกได้อีกซักคนหนึ่ง ถ้าใครจะมานั่งแทรกคนรถก็ตวาดเอาน่ะ พูดใส่หน้า “มึงอย่านั่งตรงนี้ ตรงนี้พระนั่ง” ก็พูดอย่างนั้น แต่เขาพูดอินเดีย ฟังไม่รู้เรื่อง แต่คนนั้นก็ต้องไปหาที่ ไปแทรกตรงอื่น อย่ามาแทรกตรงนี้ ... ไปกุสินาราเสร็จแล้วขากลับก็แบบเดิม ไม่ต้องไปแทรกแซง ก็ไปยืนเฉยๆ ยืนสงบๆ คนรถเขาจัดเอง เขาจัดให้ขึ้นรถเรียบร้อย เรียกว่าเขาเอื้อเฟื้อต่อนักบวช คนใดมีผ้าสีเหลืองพันคอไป เขาไม่ให้อดตาย เขาถือว่าคนนั้นเป็นนักบวช เขาไม่ให้อดตาย เขาจะให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลอย่างดี อันนี้เป็น “อริยธรรม”ของอินเดีย ซึ่งยังมีอยู่ในหมู่ฮินดู แม้พวกมุสลิม จิตใจเดิมมันก็ยังมีอยู่ แม้เป็นมุสลิม เราเข้าไปเขาก็ให้ความช่วยเหลือ
ไปกุสินาราที่นั่นขายกล้วย กล้วยหอม แต่สีมันเขียวนะที่โน่น ไม่เหลืองเหมือนเรา เข้าไป เลยถามว่าบ่มยังไง ให้เขาพาไปดูเตาที่บ่มกล้วย เขาทำเป็นเตาไว้ แล้วเอาเชือก เชือกทำด้วยกาบมะพร้าว ด้วยผ้า เส้นขนาดเล็ก จุดแล้วก็แยงเข้าไป ให้ควันมันเข้าไปในนั้น อบกล้วย กล้วยสุก ดูเสร็จแล้วก็ เขาให้กล้วย ๒หวี ใส่บาตร ไม่มีบาตรเสร็จเขายื่นให้ ๒หวี เอาไปแจกโยมว่านี่ร้านกล้วยเขาให้โยมกิน แจกโยมกินกันทุกคน เขามีน้ำใจ ได้รับกล้วย ๒ หวีมันมีค่าเหลือเกิน คือน้ำใจมันมีค่ามากกว่าวัตถุ เขามีน้ำใจให้ เราก็รับด้วยน้ำใจ มันมีอยู่อย่างนั้น คนอินเดียเขาเป็นอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าถึงสอนลูกศิษย์ของพระองค์ให้ใจกว้าง
เราคนไทยนี่ใจกว้างใครจะมาทำอะไรเราไม่ว่า พวกคริสเตียน พวกนิกายไหนมาตั้งไปเถิด เราไม่ว่า เรายังเข้าไปร่วมพวกกับเขาด้วย ไปสวด ไปอะไร ข้างวัดนี่มี หน้าวัดนี่มี ตึกใหญ่นะ เขาเขียนข้างหน้าว่า “สมาคมส่งเสริมคุณค่าแห่งประเทศไทย” ป้ายใหญ่นะ อาตมาก็สงสัย คุณค่าประเทศไทยอย่างไร และก็วันนั้นพบคน ก็ถามว่า สมาคมส่งเสริมคุณค่านี่อะไร... คือมาจากญี่ปุ่น ญี่ปุ่นลงทุนให้ คนไทยเขาไปสวดมนต์กัน สวดมนต์เป็นภาษาญี่ปุ่น ไม่ได้รู้เรื่องเลย สวดน่ะ ไม่รู้ บอกให้สวด ... แหมถ้าไปสวดวัดชลประทานรู้เรื่องกว่านะ แต่ไม่ว่าอะไร นึกว่าว่างๆจะไปดูสักทีว่าสวดว่าอย่างไร เขาเรียกว่า “สัทธรรมปุณฑริกสูตร” เขาบอกนี่ล่ะ สูตรแท้ของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสั่งไว้ .... มันเขวแล้ว แต่ว่าช่างเขาเถอะ เขาไปสวดมนต์ก็ดีกว่าเขาไปนั่งกินเหล้าล่ะ เขาก็สวดกันอยู่ แต่ก็นึกในใจว่าว่างๆจะไปดู ว่าเขาสวดอย่างไร ทำอะไร ก็เป็นวิธีการอันหนึ่งที่ดึงคนเข้าหาธรรมะ ใช้ได้ ไม่ว่าอะไร เราไม่กีดกันสิ่งเหล่านั้น สิ่งใดที่เขาประพฤติดี ประพฤติชอบ มีธรรมะอยู่แล้ว ส่งเสริม สนับสนุน
แต่ว่าบางแห่งมันไม่อย่างนั้นโยม พระสงฆ์องค์เจ้า เราก็มีเหมือนกัน ให้คนเขาไปทำดี กลับคอยปัดแข้งปัดขา คอยพูดจาติฉินนินทา ทำลาย จิตใจไม่กว้าง คือพูดอย่างนั้นมันไม่มีธรรมะในใจ ถ้าจิตใจมีธรรมะ ไม่พูด ไม่ทำลายใคร แต่ว่าเขาทำดี เราก็ส่งเสริมสนับสนุน ช่วยให้เขาได้ทำดีต่อไป ถือหลักว่า ทำดีด้วยตน ชักชวนคนอื่นให้ทำดี ส่งเสริมสนับสนุนคนที่ทำดี ให้มีกำลังใจที่จะทำความดีต่อไป จึงจะเป็นการถูกต้อง ควรจะเป็นอย่างนั้น พระสงฆ์เราควรจะเป็นอย่างนั้น โยมก็เหมือนกันแหละ ไม่ใช่มาวัดนี้แล้วไปวัดอื่นไม่ได้ หรือว่าอ่านหนังสือสำนักอื่นไม่ได้ ไม่ใช่อย่างนั้น อ่านไปเถอะ ศึกษาไปเถอะ ใช้สติปัญญาศึกษาค้นคว้า เห็นอะไรดีก็หยิบเอามา อะไรไม่ถูกก็ทิ้งไป อย่างนั้นเรียกว่าทำถูกต้อง อยู่ด้วยปัญญา อย่าอยู่ด้วยความโง่ ความเขลา จะทำอะไร ก็ต้องคิดว่ามันมาจากอะไร ความคิดนั้นมาจากอะไร มาจากฐานความเห็นแก่ตัวแล้ว มันไม่ถูกต้อง ต้องมีธรรมะเป็นเครื่องหนุนหลัง จึงจะถูกต้อง
แต่ว่าคนเรามันคิดไม่ค่อยได้ ว่าทำเพราะอะไร คิดไม่ได้ เพราะไม่มีเวลานั่งคิด ไม่มีเวลามองดูตัวเราเองว่าเรานี้เป็นอยู่อย่างไร ประพฤติถูกต้องหรือไม่ ไม่ค่อยมีเวลาคิด จึงเป็นอยู่อย่างที่เราเห็น เป็นอยู่กันทั่วๆไป นี่เป็นอย่างนี้
เพราะฉะนั้น วันนี้เรามาช่วยกันพิจารณาตัวเราเอง ในเวลาว่าง ปีใหม่ ไปนั่งสงบจิตสงบใจ ความจริงวันที่ ๑ นี่ไม่ควรไปเที่ยว ให้รถมันชนเล่นทำไม นี่คอยฟังดูอุบัติเหตุกี่ราย ต้องมีสิบล้อชนรถยนต์ รถยนต์สะเออะเข้าไปลอดใต้ท้องล้อ ... อ่าวทำไมอย่างนั้น ก็มันเมา มันสนุก ก็ลืมตัว เสียหาย เราควรจะอยู่กับเหย้า เฝ้ากับเรือน หรือว่ามาวัดนั่งสงบจิตสงบใจ พิจารณาตัวเองว่า เรามีอะไรบกพร่องบ้าง มีอะไรไม่ดีไม่งามอยู่ในตัวบ้าง คิดอะไร พูดอะไร ทำอะไร มีทิฐิ ความคิด ความเห็นเป็นอย่างไร ถูกต้องตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า หรือว่าผิดไปจากคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นเวลาที่ควรจะพิจารณาศึกษา ทำความเข้าใจแล้วก็แก้ไข
ปีใหม่ ปีกุน ปี ๒๕๓๘ นี่ ควรจะเป็น “ปีแห่งการแก้ไข” อย่าอยู่อย่างหมู ปีกุนนี่อย่างอยู่อย่างหมู หมูมันไม่อาบน้ำนะโยม มันไม่ค่อยอาบน้ำ หมูมันสกปรก อยู่ในคอก นอนอยู่บนขี้ของมันเอง มันสกปรก เราอยู่อย่างหมูไม่ได้ ถ้าจะอยู่ก็หมูที่สะอาดหน่อย เรามันต้องเอาน้ำพระธรรมมาอาบ ล้างกาย วาจา ใจ ให้ผ่องใส ให้สะอาด อยู่ด้วยปัญญา แล้วก็คอยมองตัวเอง พิจารณาตัวเองไว้เสมอว่า เราถูกหรือผิด เราดีหรือชั่ว เราสุขหรือทุกข์เราเสื่อมหรือเจริญ เพราะอะไร ต้องคิดต้องค้น แล้วก็ต้องแก้ไข
รวมความว่าปีใหม่นี้ เป็นปีแห่งการเข้าถึงธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยการศึกษา ด้วยการปฏิบัติ ให้มันถูกต้อง ตามทำนองคลองธรรม จึงจะมีความสุขได้สมความปรารถนา
วันนี้ก็มีเรื่องพิเศษอย่างหนึ่ง โยมเห็นว่ามีพัดหลายอัน พัดเหล่านี้เขาให้ไปทำกันขึ้น เรียกว่า “ฐานานุกรม” คือว่า ในหลวงตั้งพระองค์ใดองค์หนึ่งให้เป็นเจ้าคุณ แล้ว เป็นเหมือนกับเดือน ต้องมีดาวแวดล้อม ถ้ามีแต่เดือน ไม่มีดาวมันก็ไม่ค่อยสวย แล้วก็ตั้งว่าให้เป็นพระครูปลัด พระครูสมุห์ พระครูใบฎีกา พระครูสังฆ์ พระครูนั่นก็มี หลายองค์นะ ๖ องค์ ก็ตั้งกันหมดแล้ว พวกเอาหมดแล้ว คนนั้นจะเอาคนนี้เอา หมดแล้ว ก็ยังไม่ได้มอบให้วันนี้
มหาสง่า ให้เป็น “พระครูปลัดศีลวัฒน์” พระครูปลัดศีลวัฒน์นี่ ผิดจากพระฐานาฯองค์อื่น เพราะว่า เป็นผู้ที่ได้มี “นิตยภัต” ด้วย เป็นพระครูปลัดมีนิตยภัต เขาให้เดือนๆ เดือนละพันกว่า พันสอง รึพันอะไร เดือนๆ เขาให้ แล้วถ้าหากว่าผู้ตั้งนี่ เลื่อนเป็นอื่นไป ตรงที่เป็นพระครูปลัดนี่จะมีโอกาสได้เลื่อนนะ เช่น ท่านโพธิ์อยู่สวนโมกข์นี่ได้เลื่อนเป็น พระครูภาวนาชัยคุณ ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระครูภาวนาชัยคุณ ความจริงควรจะเป็นเจ้าคุณ แต่ว่าท่านไม่ได้เป็นมหาเปรียญ ก็เลยเป็นเพียงพระครู แต่ท่านสูงเหมือนกัน พระครูชั้นเทียบเท่ากับเจ้าอาวาสพระอารามหลวง นี่มหาสง่านี่ เป็นเปรียญธรรม๓ประโยค เป็นพุทธศาสตร์บัณฑิต มหาบัณฑิต ถ้าอาตมาได้เลื่อนขึ้นไปก็มีโอกาสเป็นเจ้าคุณสง่ากับเขาบ้าง ทำไมจึงตั้งให้เป็นครูปลัด เพราะว่าเป็นผู้ที่เอางานเอาการ ทำงานเข้มแข็ง นี่ให้รับภาระไปดูแลวัดปัญญานันทารามก็จัดการเรียบร้อย มีปัญหาจัดการเรียบร้อย มาบอกทีหลัง... มีอะไรก็จับไป ปัญหาอะไรก็แก้ไป แล้วก็มาบอกให้ทราบไว้ ไว้ใจได้ในการทำหน้าที่ แล้วก็เป็นผู้นำในการทำศูนย์ส่งเสริมศาสนา ที่ตั้งไปก่อเป็นผู้นำ ไปอยู่ค่ายนักเรียนที่นั่นไปทำที่นี่ ทำงานเป็นประโยชน์แก่พระศาสนา เห็นว่าควรจะยกย่องให้เป็น พระครูปลัดมหาสง่า
และก็องค์กลาง พระสมชาย อ้วนกว่าเพื่อน นี่ก็ดูแลพระใหม่ จัดโน่น จัดนี่เรียบร้อย ก็เป็นพระครูธรรมธร
นี่ พระบุญเลิศ ไม่ได้อยู่วัดนี้ อยู่เชียงใหม่ แต่ว่าก็ได้ช่วยเหลือกิจการพระศาสนาที่โน่น ก็เลยตั้งให้เป็น พระสมุห์เลิศ ชื่อสมุห์เลิศนี่แย่ก็มีนะ ที่อื่น แต่ที่นี่ไม่แย่ สมุห์เลิศ
คนอ้วนเป็นแล้ว ให้แล้ววันก่อน เป็นสังฆพินัย หมดแล้วในนี้หมดแล้ว
อ้อ! ไปทิ้งไว้พัทลุงองค์หนึ่ง ให้ไปแล้ว เมื่อวันที่ ๓๐ เป็น ท่านสมภารวัดลานแซะ พระครูวินัยธร ท่านเอาไปแล้ว…... ต่อไปนี้ก็จะได้มอบตราตั้งพัด…... (จบ)
- ปาฐกถาธรรมประจำวันอาทิตย์ที่ ๑ มกราคม ปีพุทธศักราช ๒๕๓๘