แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านหาที่นั่ง อย่ามั่วเดินไปเดินมา นั่งพัก ณ ที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งสามารถจะได้ยินเสียงจากเครื่องขยายเสียงชัดเจน แล้วจงตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการมาวัดในวันอาทิตย์ ตามสมควรแก่เวลา การที่เรามาวัดในวันอาทิตย์นั้น ให้รู้ว่ามาเพื่อการศึกษา มาเพื่อการศึกษา หาความรู้ ความเข้าใจ ในหลักธรรมะของพระพุทธศาสนา ก็เราเป็นพุทธบริษัท เป็นผู้นับถือพระพุทธเจ้าพระสัมประสงค์ ก็เป็นที่พึ่งแทนแสงสว่างสำหรับชีวิต เราก็ควรจะรู้ เข้าใจในหลักธรรมะนั้นอย่างถูกต้อง เพื่อจะได้นำไปใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาชีวิตของเราต่อไป ก็ความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันนั้น ย่อมมีปัญหา มีความทุกข์เกิดขึ้นบ้างเป็นธรรมดา เมื่อความทุกข์เกิดขึ้น ถ้าเราไม่รู้จักความทุกข์ ไม่รู้จักเหตุของมัน ไม่รู้วิธีแก้ไข เราก็จะเป็นทุกข์มากขึ้น ไม่สามารถจะแก้ปัญหาชีวิตได้ เมื่อแก้ไม่ได้ ความทุกข์ก็เพิ่มมากขึ้น เมื่อความทุกข์เพิ่มมากขึ้น สุขภาพจิตเสื่อม สุขภาพกายก็เสื่อม การงานที่ปฏิบัติอยู่ในชีวิตประจำวันก็เริ่มเสียหาย ทำให้ชีวิตตกต่ำ ไม่ก้าวหน้า ไม่เจริญงอกงามเท่าที่ควร อันนี้เป็นเรื่องที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ใครเมื่อไรก็ได้ เงินทอง ทรัพย์สมบัติต่างๆที่เรามีเราได้ไว้ ไม่เป็นหลักประกันเพียงพอในเรื่องการแก้ไขปัญหาชีวิต เพราะว่าคนมีเงินก็มีทุกข์เหมือนกัน มีทรัพย์สมบัติมากๆก็ยิ่งจะมีความทุกข์มากขึ้น ถ้าเราไม่รู้จักวิธีการดำรงชีวิตในทางที่ถูกที่ชอบ ไม่ได้นำธรรมะไปใช้ในชีวิตประจำวัน ก็ย่อมจะเกิดปัญหาขึ้นในชีวิตด้วยประการต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านั้น เราก็ต้องศึกษาให้รู้จักสิ่งเหล่านั้น เหมือนเรารู้จักสัตว์ที่เป็นพิษ เราก็ไม่เข้าใกล้ สัตว์ที่มีพิษเหล่านั้นก็ไม่ทำร้ายเรา ถ้าเรารู้ว่ามันเป็นพิษ หรือเรารู้จักต้นไม้บางประเภทว่าเป็นพิษ ถ้าเราไปถูกเข้าก็จะคันไปทั้งหน้าทั้งตัว เราก็เดินไม่เข้าใกล้สิ่งนั้น สิ่งนั้นก็จะไม่เป็นพิษเป็นภัยกับเรา หรือเรารู้ว่าอาหารประเภทใดเป็นพิษแก่ร่างกาย เราก็ไม่รับประทานอาหารประเภทนั้น ไม่ดื่มน้ำประเภทที่เป็นพิษแก่ร่างกาย ร่างกายเราก็รอดปลอดภัยฉันใด ในเรื่องเกี่ยวกับอารมณ์ที่เกิดกระทบจิตใจของเรา ถ้าเราไม่รู้จักทัน รู้จัก ไม่รู้ทัน ไม่รู้เท่าต่อสิ่งนั้น สิ่งนั้นก็ทำให้เราเป็นปัญหา พูดภาษาง่ายๆว่ามันกัดเราได้ มันกัดเรา เราก็เจ็บ เราเป็นทุกข์เพราะการถูกกัดจากอารมณ์เหล่านั้น แต่ถ้าเรารู้ทันรู้เท่า ก็จะไม่เกิดความเสียหาย การที่จะรู้ทันรู้เท่าต่อสิ่งเหล่านั้น ก็โดยอาศัยการศึกษาธรรมะให้เข้าใจ หลักธรรมะของพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่ได้สอนอะไร ไกลไปจากตัวเรา สอนเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเราทั้งนั้น เรื่องเกี่ยวกับชีวิต เรื่องสิ่งที่มันเกิดขึ้นในชีวิต เรื่องเหตุของสิ่งนั้น แต่เรื่องวิธีการแก้ไข สอน ๔ เรื่องซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ คือสอนให้เรารู้จักปัญหา ให้รู้จักเหตุของปัญหา ให้รู้ว่าปัญหาเป็นเรื่องแก้ได้ แล้วจะแก้ได้โดยวิธีใด นี่คือหลักสำคัญของพระพุทธศาสนา ที่เราควรจะได้ศึกษาทำความเข้าใจ เมื่อเราเข้าใจสิ่งเหล่านี้ เราก็หลบเหลี่ยงจากสิ่งที่มันจะเป็นภัยแก่เราได้ หลบเหลี่ยงจากความทุกข์ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวันได้ หรือว่าบางครั้งบางคราวเราเผลอไป ประมาทไป แล้วสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์เกิดขึ้นในใจ เราก็รู้ทันท่วงที รู้เท่าต่อสิ่งนั้น ก็สามารถแก้ไขปัญหานั้นได้ เราไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะเรื่องนั้น เพราะเรารู้จักมัน เราก็รีบแก้ไขได้ทันท่วงที ชีวิตก็จะดีขึ้น จะไม่มีปัญหาทับถม จะไม่เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนใจในชีวิตประจำวัน
การที่เรามาวัดก็มาเพื่อเรื่องนี้ คือมาศึกษาทำความเข้าใจ ทางวัดก็พยายามที่จะพูดจา ชี้แนะให้ญาติโยมได้เกิดความรู้ ความเข้าใจถูกต้อง เพื่อนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน คนที่มาวัดบ่อยๆ ได้ฟังบ่อยๆ ก็ย่อมจะมีความรู้ ความเข้าใจมากขึ้น เมื่อมีอะไรเกิดขึ้น เราก็ปลงได้ วางได้ ไม่ต้องแบกความทุกข์อยู่ตลอดไป นี่เป็นเรื่องที่จำเป็นหรือไม่ ถ้าเราศึกษาทำความเข้าใจแล้วก็จะเห็นว่า เป็นเรื่องที่จำเป็น ยิ่งโลกในสื่อ ในยุคปัจจุบันนี่แล้ว เป็นโลกที่เจริญในทางวัตถุ มีมากมายก่ายกอง วัตถุที่เป็นความเจริญก้าวหน้านั้น มันก็สร้างปัญหาให้แก่ชีวิตเหมือนกัน เพราะว่าสิ่งเหล่านั้นทำให้เราเกิดความอยาก อยากมี อยากได้ แล้วถ้ามีได้สมใจ ก็เรียกว่าเบาใจไปได้หน่อยนึง แต่ก็มีความทุกข์จากการบริหาร จากการดูแลสิ่งเหล่านั้น ถ้าเราไม่เข้าใจปรับปรุงจิตใจของเรา ให้เหมาะแก่เหตุการณ์ เราก็มีความทุกข์ทรมานใจ แต่ถ้าเราเข้าใจสิ่งนั้น เรามีอะไรโดยไม่เป็นทุกข์ก็ได้ เห็นอะไรโดยไม่เป็นทุกข์ก็ได้ เพราะเราเข้าใจวิธีว่าควรจะมีอย่างไร ควรจะเป็นอย่างไร จึงจะไม่เกิดปัญหา ไม่เกิดความทุกข์ขึ้นในชีวิตเราของเรา เราเข้าใจสิ่งเหล่านั้น และรู้ว่าเราจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นอย่างไร เหมือนเรากินปลาที่มีก้าง เรารู้ว่าก้างปลานั้นเป็นพิษเป็นภัยแก่เรา มันอาจจะติดคอก็ได้ อาจจะไปแทงส่วนใดส่วนหนึ่งของทางเดินอาหารก็ได้ เราก็เอาแต่เนื้อปลา ไม่เอาก้างเข้าไปในปากของเรา ไม่กลืนก้างลงไป เราก็ไม่ต้องเดือดร้อนเพราะก้างปลา เพราะเราเข้าใจในเรื่องสิ่งต่างๆที่เรามี เราได้ ในชีวิตประจำวันนี่ก็เหมือนกัน ถ้ามีแล้วเป็นทุกข์ มันก็ไม่ถูกต้อง หรือเป็นอะไรแล้วก็เป็นทุกข์ มันก็ไม่ถูกต้อง ยังไม่ฉลาดในกระบวนการของชีวิต ยังไม่เข้าใจว่าเราจะมีอย่างไร เราจะเป็นอย่างไร หรือเราไม่เข้าใจว่าเราจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นในรูปใด จึงทำให้เกิดปัญหา เมื่อไม่เกิดความทุกข์ ไม่เกิดความเดือดร้อนใจ ถ้าเราไม่เข้าใจมันก็ลำบาก แต่ถ้าเราเข้าใจก็สบาย พระพุทธเจ้าจึงสอนเราให้รู้ว่า เมื่อเราจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับอะไร จงรู้จักสิ่งนั้นให้ถูกต้อง คือให้รู้ว่า มันให้ทุกข์อะไร ให้สุขอะไร ให้โทษอะไรแก่เรา เราก็เข้าเกี่ยวไปเกี่ยวข้องโดยไม่ต้องเป็นทุกข์ ไม่ต้องเดือดร้อนใจเพราะสิ่งนั้น สิ่งนั้นก็ไม่บาดเรา ไม่ทำเราให้เกิดความเสียหาย เพราะเราเข้าใจในสิ่งนั้น หลักธรรมะสอนให้เราเข้าใจ การเข้าใจในเรื่องทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริงนั้น ก็ต้องรู้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ธรรมชาติทั้งหลายมีระเบียบ มีกฎอยู่ในตัวของมัน พระพุทธเจ้าทรงค้นพบกฎเกณฑ์เหล่านี้ แล้วนำมาประกาศให้ชาวเราทั้งหลาย ได้เกิดความรู้ความเข้าใจถูกต้อง ทางปรากฏอยู่ในกัณฑ์หีบพระกัณฑ์สวด เวลามีงานศพ เวลาตั้งสวดในงานศพ ความจริงไอสิ่งที่เอามาสวดนั้นเป็น เป็นเรื่องกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เป็นเรื่องที่เราควรจะรู้ ควรจะเข้าใจ หากแต่ว่าพระท่านสวดเป็นภาษาบาลี เราไม่เรียนภาษาบาลีก็ไม่เข้าใจ ไม่รู้ความหมาย ก็เพียงแต่ฟังกันไปตามเรื่อง เค้าเรียกว่าฟังเอาบุญ แต่ว่าไม่เกิดกุศลขึ้นในใจ เพราะไม่เข้าใจในเรื่องนั้นถูกต้อง ก็เลยไม่ได้ปัญญา
แต่ถ้าว่าแปลให้เข้าใจ หรืออธิบายด้วยการพูดให้ฟัง เราก็จะรู้ว่าสิ่งที่พระท่านนำมาสวดนั้น ล้วนแต่เป็นบทเรียน เป็นเครื่องสอนใจ เป็นหลักปัญญาที่จะทำให้เราเข้าใจชีวิตถูกต้อง และเราสามารถจะนำไปใช้ชีวิตประจำวันของเราได้ เพื่อทำให้ชีวิตของเราดีขึ้น กฎของธรรมชาติที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบนั้นคืออะไรบ้าง ก็มีอยู่ ๓ ประการ ที่เราสวดกันอยู่บ่อยๆ เมื่อตะกี้โยมๆสวดมนต์แปล ก็สวดเรื่องนี้ จะสวดเรื่องความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตา เราสวดแยกออกไปในร่างกายของเรา สวดแยกไปว่า รูปังอนิจจัง รูปไม่เที่ยง เวทนาอนิจจา เวทนาไม่เที่ยง สัญญาอนิจจา สัญญาไม่เที่ยง สังขาราอนิจจา อนิจจา สังขารไม่เที่ยง วิญญานังอนิจจา วิญญาณไม่เที่ยง แล้วก็สวดว่า รูปังอนัตตา รูปไม่ใช่ตัวตน เวทนาไม่ใช่ตัวตน สัญญาไม่ใช่ตัวตน สังขารก็ไม่ใช่ตัวตน วิญญาณก็ไม่ใช่ตัวตน สอนให้เราเข้าใจความจริงของสิ่งทั้งหลายว่ามันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์อยู่ตามสภาพ แล้วก็ไม่มีอะไรที่เรียกว่าเป็นเนื้อแท้ ไม่ใช่ตัวตนถาวร ไอเรื่องความไม่เที่ยง ถ้าเรามองเราก็จะเห็นได้ง่าย เพราะว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แม้ร่างกายของเรานี้ก็ไม่เที่ยง สิ่งที่เรานำมาใช้สอย มันก็ไม่เที่ยง ไม่เที่ยงหมายความว่ามีความการเวียนอยู่ การไหลอยู่ตลอดเวลา ชีวิตของคนเรานั้นก็คือเครื่องหมายแห่งความเปลี่ยนแปลงนั่นเอง ความเปลี่ยนแปลงคือตัวชีวิต ตราบใดที่ยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ ก็เรียกว่าเรามีชีวิต แต่ถ้าหากว่าความเปลี่ยนแปลงหยุดตรงไหน เราก็แตกดับเมื่อนั้น เครื่องยนต์กลไกที่เราใช้ ถ้ามันยังไหลอยู่ ยังเปลี่ยนแปลงอยู่ มันก็มีแรงงานเป็นประโยชน์แก่เราได้ เช่น รถยนต์ที่วิ่งได้ ก็เพราะว่าเครื่องยนต์มันหมุน หมุนกะความร้อน ทำให้ลูกสูบเดิน เดินแล้วมันก็ไปหมุนล้อ ล้อก็หมุนไปได้ แต่ถ้าหากว่าน้ำมันไม่มีหล่อเลี้ยง ไม่มีทำให้เกิดแรงงาน คือความร้อน เครื่องมันก็หยุด เวลาเครื่องหยุดเราก็พูดว่ารถตาย แต่เราขับไปๆ พอไปถึงตรงนี้ มันหยุดปุ๊บ เราก็อ้าว รถตายแล้ว ตายเพราะว่ามันไม่หมุน เครื่องไม่เดิน เพราะน้ำมันไม่เดินไปหล่อเลี้ยง ขาดเครื่องอะไรหลายอย่าง เครื่องปรุงเครื่องแต่งมันไม่พร้อม มันก็หยุด หยุดก็เรียกว่ามันตายลงไป นาฬิกาที่เราใช้ ถ้าว่ามันยังเดินติ๊กๆอยู่ ก็แสดงว่ายังมีชีวิตชีวา ยังรู้เวลาได้ ว่าเวลาเท่าไร แต่ถ้าว่ามันหยุด มันก็ตายเหมือนกัน สิ่งทั้งหลายมีเกิด แล้วก็มีการเปลี่ยนแปลง แล้วก็มีการแตกดับ อันมีอยู่ ๓ ขนาดเท่านั้นคือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป อันนี้เป็นกฎของธรรมชาติ ไม่ว่าอะไร ต้นไม้ที่เราเห็น มีดอก มีสีสวยงาม ก็เพราะว่ามันยังมีชีวิตอยู่ คือยังเปลี่ยนแปลงอยู่ รากทำงาน เลือดทำงาน ใบทำงาน ต้นไม้นั้นก็ยังมีชีวิตอยู่ แต่ถ้าเมื่อใดรากไม่ทำงาน เลือดไม่ทำงาน ใบไม่ทำงาน ต้นไม้นั้นก็เริ่มเหี่ยวแห้ง และผลที่สุดก็ยืนตายอยู่ในป่า
นี่มันเป็นเรื่องกฎของธรรมชาติ ไม่ว่าอะไรจะเป็น มีชีวิต จะไม่มีชีวิต จะเป็นของใหญ่ ของเล็ก ของขนาดกลาง อยู่ในสภาพอย่างเดียวกัน คือมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แล้วมันก็แตกดับไปเท่านั้นเอง อาจารย์ญี่ปุ่นคนหนึ่งเป็นพระ เป็นนักสอนธรรมะ แต่ปกติก็ชอบเดินไปที่นั่นที่นี่ ไปเยี่ยมเยียนประชาชน ไปสอนธรรมะให้ประชาชนเกิดปัญญา เกิดความรู้ความเข้าใจ วันหนึ่งท่านเดินไปขณะที่ฝนตก สวมรองเท้าทำด้วยฟางข้าว เวลาเหยียบย่ำไม่พ้นโคลน พ้นน้ำฝน รองเท้ามันก็หยุ่ย หลุดออกไปทีละเส้น เห็นว่าโอ่ไม่ไหวแล้วรองเท้าคู่นี้เก่า มันผุแล้ว ก็คิดว่าควรจะหารองเท้าใหม่ เลยเข้าไปเห็นกระต๊อบหลังหนึ่ง อยู่กลางถนน ตามปกติกระต๊อบอย่างนั้น มักจะมีรองเท้าไว้ขาย เค้าทำไว้ขาย ทำด้วยฟางข้าว ท่านก็เข้าไปในกระท่อมหลังนั้น ไปพบผู้หญิงเจ้าของบ้าน ซึ่งมีสภาพตกต่ำที่สุดก็ว่าได้ เพราะว่าแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่เก่าๆขาดๆ เย็บแล้วเย็บอีก ที่เราเรียกกันว่า เย็บกันจนเข็มหลงอ่ะ ไม่รู้จะเย็บตรงไหน อาจารย์ก็เข้าไปก็ถามว่า ทำไมจึงอยู่อย่างนี้ พ่อบ้านไม่มีหรือ ก็ถามอย่างนั้น เพราะคนญี่ปุ่นนั้น พ่อบ้านเป็นคนสำคัญของครอบครัว ทุกชาติ ทุกภาษาเหมือนกัน พ่อบ้านนี่เป็นคนสำคัญของครอบครัว เป็นผู้นำครอบครัว ถ้าพ่อบ้านดี ครอบครัวก็เรียบร้อย พ่อบ้านบกพร่อง ครอบครัวก็ไม่ค่อยจะเรียบร้อย พ่อบ้านกับแม่บ้านเป็นผู้อยู่ร่วมกัน ทำงานด้วยกัน มีความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกัน ในการปฏิบัติหน้าที่ มีความเป็นอยู่เหมือนกัน ก็มีความเจริญก้าวหน้า แต่ถ้าอยู่ไม่เหมือนกัน ก็มีปัญหาคือเป็นความทุกข์ เป็นความเดือดร้อน อาจารย์คนนั้นจึงได้ถามว่า ทำไมอยู่อย่างนี้ พ่อบ้านไม่มีหรือ แม่บ้านก็บอกว่า มีเหมือนกันแระเจ้าค่ะ แต่ว่าพ่อบ้านเค้ามีฉันท์ เค้ามีโรคประจำตัว อาจารย์ถามว่าเป็นโรคอะไร แม่บ้านก็บอกว่าเป็นโรคขี้เมากับเป็นโรคการพนัน ๒ โรคนี้น่ากลัว ใครมีโรค ๒ อย่างนี้ประจำตัว แม้อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็เสื่อมโทรม เสียหาย ชีวิตจะไม่ก้าวหน้า เช่นเป็นโรคขี้เมา เค้าเรียกว่า ติดสุราเมรัย หรือสิ่งเสพย์ติดประเภทใดก็ได้ ถ้าติดแล้วมันก็เกิดปัญหา เกิดความเสียหายแก่ชีวิต เป็นโรคร้ายแรงอย่างหนึ่ง ที่ทำลายความก้าวหน้า ทำลายสุขภาพของผู้นั้น และทำร้ายความสงบสุขของครอบครัวด้วย อีกโรคหนึ่งคือ โรคการพนัน โรคติดการพนัน เมืองไทยเราเวลาที่คนเป็นโรค ๒ โรคนี้มากเหมือนกัน เป็นโรคที่เมานี่ก็มาก เป็นโรคชอบเล่นการพนัน เสี่ยงโชคนี่ก็มาก ชาวไร่ชาวนาบ้านนอกทั่วไปเวลานี้ กลายเป็นคนชอบการพนัน ติดการพนันกันงอมแงม เจอพระสงฆ์องค์เจ้าก็มากราบมาไหว้ แล้วมักจะถามว่า ช่วยบอกเลขตรงๆให้กระผมซักหน่อย ผมจะได้ไปซื้อให้มันถูกซักที พระท่านก็บอกไม่ได้หรอก เพราะไม่รู้ แล้วจะบอกได้อย่างไร แต่ว่าพระบางองค์ก็บอกใบ้ไป ให้ไปคิดเอาเอง ถ้าผิดบ้างถูกบ้างก็ว่ากันไปตามเรื่อง ความจริงไม่ควรจะบอกให้คนเหล่านั้นไปหลงผิด ควรจะสอนเค้าให้เกิดปัญญา เกิดความรู้ความเข้าใจ ให้ละเลิกจากการติดสิ่งเหล่านั้นจึงจะเป็นการถูกต้อง แต่ว่าท่านไม่สอนเพราะไม่รู้จะสอนอย่างไรนั่นเอง แล้วก็คนก็หลงใหลนึกว่าพระเก่ง คนไปถามพระหลายๆคนมันก็ถูกเข้าบ้าง แล้วก็เล่าลือกันไปว่าหลวงพ่อองค์นั้นเก่ง ให้หวยแม่น คนก็มาหามาสู่ คนมามากๆมันก็ถูกเข้าบ้าง ดังที่กล่าวอย่างนี้มีอยู่มากในบ้านเมืองของเรา จึงเกิดปัญหาไม่รู้จบไม่รู้สิ้น คนชอบเสี่ยงโชค ชอบเล่นการพนัน
ไอ้ความจริงการพนันนี่ไม่ใช่สมบัติของคนไทย คนไทยเหล่านั้นไม่มีอะไรเป็นเครื่องหมายของการพนัน ไม่มีวัตถุสำหรับเล่นการพนัน ไปดูในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ไม่พบเครื่องแสดงถึงการพนันเลยแม้แต่น้อย เพราะการพนันไม่มีในประเทศไทย แต่ที่มีขึ้นก็เพราะว่า ชาวต่างประเทศเค้านำมาให้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนพี่น้องชาวจีนที่มาอยู่เมืองไทย นำการพนันมาให้คนไทย นำไพ่มาให้คนไทย นำปูปั่นมาให้คนไทย นำไพ่มาให้คนไทย คนไทยก็เล่น เวลานี้คนไทยชั้นลูกศิษย์เก่งกว่าอาจารย์ ก็เล่นมากกว่า ฉิบหายมากกว่าอาจารย์ไปแล้วเวลานี้ ถ้าเป็นอย่างนี้ สมัยก่อนถ้าว่าชายหนุ่มส่งผู้เฒ่าผู้แก่ไปขอหมั้นลูกสาวบ้านใด เคยได้ยินสมัยเด็กๆเค้าคุยกัน เราก็เป็นเด็ก ก็ไปนั่งฟังว่าเค้าพูดกันเรื่องอะไร เวลาผู้เฒ่าผู้แก่ฝ่ายชายมาขอหมั้นผู้หญิง คนเฒ่าคนแก่ฝ่ายหญิงมักจะถามข้อแรกเลย ถามว่าครอบครัวนั้นเค้าเล่นการพนันกันรึเปล่า คราวนี้ถ้าว่าผู้เฒ่าผู้แก่ที่มาเป็นคนซื่อ ไม่มีเล่ห์เหลี่ยม ตอบตรงไปตรงมาว่า เค้าก็ชอบเล่นการพนันอยู่ ไม่มีว่าผู้เฒ่าผู้แก่ฝ่ายเจ้าสาวจะมายกลูกสาวให้ จะไม่ให้ แต่ไม่ให้เค้าก็พูดแบบคนฉลาด พูดแบบ...คือพูดว่าเด็กมันยังอายุน้อย ต้มกุ้งก็ไม่แดง ต้มหอยแครงก็ยังไม่สุก การ...การไรก็ไม่ได้เรื่อง ยังไม่เหมาะที่จะเป็นแม่บ้าน ครองบ้านครองเรือน ก็ตอบอย่างนั้น คนแก่คนเฒ่าที่มาขอก็เลยต้องกลับบ้านไป ไม่ได้มันเป็นอย่างนี้ แสดงว่าเค้าไม่นิยมชมชอบในเรื่องการพนันเลยแม้แต่น้อย ถ้าคนใดเป็นคนเล่นการพนัน มักจะมีชื่อฉายาที่ท้ายชื่อว่าเป็นคนเล่นการพนัน เช่นว่าคนหนึ่งชื่อนายไก่ เค้าเรียกว่าไก่ปู เพราะว่าแต่คนเล่นปู ปูปั่น ไปไหนก็ไปใส่ลูกปูไปด้วยในกระเป๋า เค้าเรียกว่านายไก่ปู นายทองไพ่หรือแม่แก้วไพ่ เพราะว่าแม่แก้วเนียะแกชอบเล่นไพ่ แล้วก็ตั้งชื่อให้เป็นฉายาไปเลย เพราะคนมันไม่ค่อยเล่นกัน ไม่ได้ติดสิ่งเหล่านั้น แต่เดี๋ยวนี้เค้าไม่ได้ตั้งชื่อให้ใคร ตั้งไม่ไหวเพราะมันเล่นทั่วไปหมดทุกหนทุกแห่ง จะว่าพ่อแม่ฝ่ายหญิงก็ไม่รังเกียจแล้วเวลานี้ เพราะไม่รู้จะเอาใครมาเป็นลูกเขย ถ้าไม่เอานักการพนันมาเป็น ละก็ลูกสาวก็แก่เถ้าเพราะมันมีกันทั่วไป นี่คือความเสื่อมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเรา แล้วก็ตั้งแต่มีล๊อตเตอรี่ขึ้นเนียะ ล๊อตเตอรี่นี่ทำความเสียหายมากเพราะว่าคนเล่นเลขท้าย เลขท้าย ๓ ตัว ๒ ตัวอะไรกันไปตามเรื่อง ก็เรียกว่าเลขท้าย เลข ๓ ตัว เลข ๓ นี่เกิดแรก เป็นแห่งแรกที่จังหวัดตรัง คนต้นคิดนี่เคยเป็นผู้แทนราษฎร เวลานี้ตายไปแล้ว แกหน่ะเป็นคนหัวคิดออกเรื่องนี่ขึ้นมา แล้วก็คนก็เล่นกันล่มจมกันเป็นแถวๆ ไอที่ชนะก็มีบ้างแต่ก็เอาตัวไม่รอด ไม่มีตระกูลใดที่จะตั้งตัวได้เพราะการพนัน แต่ตระกูลใหญ่ๆที่มัวเมาในการพนัน ล่มจมมีมากมาย ต้องขายบ้าน ขายนา ขายสวน ขายหมด เอาตัวไม่รอด สกุลใหญ่ในเมืองไทยที่มีทรัพย์สมบัติเก่าแก่ หมดเนื้อหมดตัว หลวงพ่อศึกษาแล้วพบว่าล่มจมเพราะสิ่งชั่วร้ายในครอบครัวนั้นคือ สุรา นารี พาชีกินอาบัติ เค้าเรียกว่าอบายมุข อบายมุขคือการเสพย์สิ่งเสพย์ติด เล่นการพนัน สนุกสนานในทางสิ้นเปลือง
แล้วก็ไม่ทำงานทำการ ผลที่สุดก็ขาย ขายไกลๆก่อน แล้วค่อยขายใกล้มาๆ ผลที่สุดขายบ้านเลย บ้านหลังใหญ่ๆ พ่อค้าที่เค้าทำมาหากิน เค้าก็ซื้อเอาไป ขายกันไป แม้วังใหญ่ๆก็ต้องขาย เช่น วังบูรพานี่ไม่น่าจะขายเลย ควรจะเอาไว้ทำประโยชน์ ทำอะไรเป็นผลเป็นค่า แต่ก็ต้องขายไปเหมือนกัน เพราะว่าสมาชิกไม่ค่อยทำมาหากิน ทั้งๆที่มีความรู้ มีความฉลาด แต่ไม่ทำมาหากิน ใช้แต่ของเดิม ไม่ทำทรัพย์ให้เพิ่มขึ้น ครอบครัวใดที่สมาชิกในสกุลไม่รู้จักทำมาหากิน ไม่ทำทรัพย์ที่มีอยู่ให้เจริญงอกงาม ก็ไปไม่รอดเหมือนกัน ล่มจมเหมือนกัน นี่มันเป็นอย่างนี้ เพราะงั้นอาจารย์จึงถามแม่หญิงคนนั้น ในรูปแบบนั้น แล้วก็ถามว่าเค้าจะกลับบ้านมั้ยละ แม่บ้านก็ตอบว่า อาจจะกลับวันนี้ เออดีๆๆ ถ้ากลับมาชั้นจะเรียกเค้าหน่อย แล้วก็เอาเงินให้แม่บ้าน ไม่ซื้อไก่มาซีกตัวนึง ซื้อเหล้ามาครึ่งแบน เรียกภาษาขี้เมาเค้าเรียกว่าครึ่งแบน เอามาวางไว้ เอาวางไว้บนโต๊ะนั่น ชั้นไม่กินอ่ะ ของอย่างนั้นแต่ชั้นจะเลี้ยงผัวคนดีของเธอ แล้วก็บอกว่าเธอเข้าไปนอนในห้องอย่าออกมา ฉันจะเปิดประตูรับเค้าเอง พอดึกๆ ดึกแล้ว ๒ ยามได้ เค้าก็มา เสียงร้องเพลงมาตั้งแต่ปากซอย คนขี้เมานี่มันเดินอย่างนั้น เดินร้องเพลงก็ว่าลิเก อะไรต่ออะไรก็ว่าไปตามเรื่อง เอ่ะอ่ะไปตามเรื่อง พอเข้ามาถึงประตูบ้านก็ทุบประตูเรียกเมียให้มาเปิด แต่ภรรยาก็ไม่มาเปิดเพราะอาจารย์สั่งไว้แล้ว แล้วอาจารย์เปิดประตูรับเอง พอเปิดประตูแล้วเค้าก็ เห็นอาจารย์นั่งอยู่ ถามโห่ท่าน มาจากไหน บอกโอ่ฉันหลบฝนเข้ามา เอาเชิญๆๆ ขอต้อนรับท่านหน่อย ไก่มีเหล้ามี เชิญขอเลี้ยง แล้วก็ไม่ทำอะไรแระ พอเห็นเหล้าเกิดความอยากจะดื่มเหล้า ก็เลยไปนั่งพิงโต๊ะ ยกถาดขวดเหล้าและไก่มาวางข้างหน้า มือหนึ่งถือไก่กัด มือหนึ่งถือแก้วเหล้า ดื่มไปกินไปจนกระทั่งง่วง เวลาหลับก็ไม่หลับเปล่า คาบกระดูกไก่ไว้ชิ้นหนึ่ง แหม่มันน่าหัวเราะเหมือนกัน แล้วก็หลับไป จนตื่นเช้า อาจารย์ก็ท่านก็นอนไม่หลับเหมือนกัน นั่งสมาธิไปตามเรื่อง พอสมควรเวลาแกก็เข้าห้องน้ำ ทำธุระนิดหน่อย เสร็จแล้วออกมานั่งสมาธิอยู่ รอคอยเจ้าของบ้าน (พูดซ้ำ) เจ้าของบ้านตื่นขึ้นก็มองเห็นพระนั่งสมาธิอยู่ ก็เอ้..พระนี่มาจากไหน เอ้าเข้าห้องก่อน เข้าห้องน้ำก่อน พอเข้าห้องน้ำเสร็จออกมา ก็ตั้งกระทู้ถาม ว่าท่านเป็นใคร มาจากไหน ทำไมมานั่งอยู่ตรงนี้ ถามแบบคนขี้เมาอ่ะ อาจารย์ก็บอกว่าเรานี่ชื่ออาจารย์ภูโด มาจากเมืองเกียวโต จะไปธุระ พอได้ยินชื่ออย่างนั้นตกใจ เพราะว่าอย่างน้อยๆก็เคยได้ยินชื่ออาจารย์ผู้มีชื่อเสียง เป็นนักเทศน์นักสอน เลยหน้าตาตกใจซีดเลย อาจารย์บอกว่าไม่ต้องตกใจ เรามาพักขอขอบคุณ แล้วเราก็จะไปแล้ว แต่ว่าก่อนไปขอฝากแนวคิดไว้ซักหน่อย อาจารย์พูดว่าคิดดูให้ดี คิดดูให้ดี ร่างกายนี่เปลี่ยนแปลงไปสู่ความแตกดับทุกลมหายใจเข้าออก ถ้าเราไม่ใช้มันให้เป็นประโยชน์ มันจะมีค่าที่ตรงไหน พูดสั้นๆว่าร่างกายนี้เปลี่ยนแปลงไปสู่ความแตกดับทุกลมหายใจเข้าออก หายใจเข้ามันก็เปลี่ยน หายใจออกมันก็เปลี่ยน เปลี่ยนขึ้นบ้าง เปลี่ยนลงบ้าง ถ้าเป็นเด็กๆก็เปลี่ยนขึ้น เติบโตขึ้น ถ้าเป็นคนเติบโตเต็มที่แล้วก็เปลี่ยนลง เราอย่านึกว่าร่างกายเราไม่เปลี่ยน อย่านึกว่าโอ้...ยังไม่แก่ มันแก่ทุกวินาที แก่ทุกลมหายใจเข้าออก เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เปลี่ยนไปสู่ความแตกดับทุกลมหายใจเข้าออก ถ้าเราไม่ใช้ร่างกายนี่ให้เป็นประโยชน์ มันจะมีค่าที่ตรงไหน ค่าของคน ราคาของคนเรานั้นอยู่ที่เราใช้ร่างกาย ชีวิตให้เป็นประโยชน์ ก็คือทำหน้าที่ ทำหน้าที่ให้ถูกต้อง เรามีหน้าที่อะไร ทำหน้าที่ให้ถูกต้อง เป็นพ่อทำหน้าที่พ่อให้ถูกต้อง เป็นแม่ทำหน้าที่แม่ให้ถูกต้อง เป็นลูกก็ต้องทำหน้าที่ลูกให้ถูกต้อง
แต่ว่าลูกจะทำหน้าที่ถูกต้องได้ก็เพราะพ่อแม่เป็นผู้สั่งสอน อบรมบ่มนิสัย ให้รู้จักผิดชอบชั่วดี แล้วพ่อแม่ก็เป็นตัวอย่างของลูก ลูกเดินตามพ่อแม่ คนโบราณพูดว่าลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น ลูกมังคุดหล่นใต้ต้นมังคุด รางสาดใต้ต้นรางสาด มะม่วงใต้ต้นมะม่วง ไม่หล่นไปไหน ลูกคนนี่ก็เหมือนกัน พ่อเป็นอย่างไร แม่เป็นอย่างไร ลูกก็ถ่ายทอดสิ่งนั้นกลับมาไว้ในตัว ถ้าพ่อเป็นคนขี้เมา ลูกก็ขี้เมาเหมือนพ่อ แม่เป็นคนชอบเล่นไพ่ ลูกก็เล่นไพ่เหมือนพ่อ พ่อเป็นคนขี้โกรธ ลูกก็เป็นคนขี้โกรธ ถ้าได้เห็นพ่อทำท่าโกรธบ่อยๆ เด็กมันเรียกว่าวิธีนี่เก่ง เลยถ่ายทอดความโกรธมา คำหยาบ แม่พูดคำหยาบ ลูกก็ถ่ายทอดการพูดมาด้วยเหมือนกัน เพราะนั้น ถ้าเราได้เห็นลูกก็นึกถึงพ่อแม่ได้ ว่าพ่อแม่มีสภาพอย่างไร ถ้าเห็นเด็กสุภาพเรียบร้อย อ่อนน้อมถ่อมตัว ก็ให้รู้ว่าพ่อแม่เค้าเป็นคนอย่างนั้น เค้าฝึกลูกให้เป็นอย่างนั้น จึงมีนิสัยใจคอเป็นอย่างนั้น มันถ่ายทอดกันได้ สิ่งนี้สำคัญ เค้าเรียกว่านิสัยจากพ่อแม่ พ่อแม่ทำหน้าที่ให้ถูกต้อง หรือว่าเรามีหน้าที่อื่น เช่นว่าเป็นข้าราชการ เป็นตำรวจ เป็นทหาร หรือว่าเป็นนักการเมือง เป็นผู้แทนราษฎร เป็นรัฐมนตรี เป็นนายกอะไรก็ตามใจ ทำหน้าที่ที่เราได้รับมอบหมายให้ถูกต้อง หน้าที่ที่ถูกต้องคือว่า ทำเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ผู้อื่น ไม่ใช่ทำเพื่อตัวเราเอง ถ้าเราทำอะไรเพื่อตัวเราเอง นี่ไม่ถูกต้อง เรียกว่ายังเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ เราทุกคนต้องช่วยกันทำกิจที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น เพราะการทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นนั้น ช่วยให้สิ่งทั้งหลายเรียบร้อย คือไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน ไม่รังเกียจ ไม่รังแกกัน เพราะต่างคนต่างเอื้อเฟื้อให้แก่กันและกัน รักกันสามัคคีกัน ร่วมแรงร่วมใจกัน ทำกิจอันเป็นประโยชน์ ปัญหามันก็ไม่เกิดขึ้นในบ้านเมือง ที่มีปัญหาอะไรต่างๆ ทุกวันทุกเวลานั้น เกิดเพราะคนไม่ประพฤติธรรม ไม่มีธรรมะเป็นหลักครองจิตครองใจ แต่มีความโลภ ความโกรธ ความหลงเข้าครอบงำจิตใจ แล้วทำไปด้วยอำนาจของกิเลส มันจึงเกิดปัญหาแต่ถ้าทำด้วยอำนาจพระธรรม ไม่เกิดปัญหา ก็ธรรมะเป็นหลักแก่ความดี เป็นหลักการของการห้ามจิตห้ามใจ ไม่ให้คิด ไม่ให้พูด ไม่ให้ทำแต่สิ่งที่เป็นแต่สิ่งชั่วร้าย ถ้าเราเป็นอะไรก็ถูกต้องดีงาม จึงต้องใช้ธรรมะ ครอบครัวใดอยู่กันสงบสุข ไม่มีปัญหา แสดงว่าครอบครัวนั้นมีพระอยู่ในใจ มีธรรมะประจำบ้าน ประจำเรือน ประจำใจของผู้อยู่ในบ้านในเรือนนั้น สังคมใดสงบเรียบร้อย ไม่เกิดปัญหา ก็แสดงว่าสังคมนั้นอยู่กับธรรมะ ชาติใดประเทศใดมีความสงบ มีความก้าวหน้าในชีวิตการงาน ก็แสดงว่าชนในชาติ หรือผู้นำประเทศชาติ ผู้บริหารประเทศชาติ เป็นผู้มีธรรมเป็นหลัก เป็นนโยบาย ประพฤติตนเรียบร้อย ทำหน้าที่ถูกต้อง มันก็ไม่มีปัญหา ประเทศใดที่รบกันไม่รู้จักหยุด แสดงว่ามันขาดอะไรแล้ว ขาดคุณธรรม ขาดความงามความดีเป็นหลักครองใจ จึงได้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกัน ไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น ไม่มีความคิดที่ถูกต้อง ไม่มีการกระทำที่ถูกต้อง เพราะขาดธรรมะเป็นเครื่องนำทาง จึงเกิดปัญหา แม้จะเป็นพวกเดินศาสนา ทุกชาติ ทุกภาษาก็มีศาสนากันทั้งนั้นแหละ แต่ว่าเค้านับถือแต่เพียงชื่อศาสนา เพียงแต่เปลือกไม่เข้าถึงเนื้อของศาสนา ไม่เข้าถึงแก่นของพระศาสนาว่าคืออะไร เหลือแต่เพียงเปลือกนอกผิวเผิน แล้วบางทีก็เอาศาสนานั้นแระเป็นเครื่องมือรบราฆ่าฟันกัน ทำลายกันด้วยประการต่างๆ
ดังที่เราเห็นปรากฏเป็นข่าวกันอยู่ทั่วๆไป การรบราฆ่าฟันกัน การเบียดเบียนกันนั้น มันเป็นความโง่แบบหนึ่ง ไม่ใช่ธรรมะ แต่เป็นสิ่งที่เป็นอธรรม อันเกิดครอบงำจิตใจ พอเกิดความโลภ ความโกรธความหลง ความยึดถือในเรื่องอะไรต่างๆ เลยไม่มีปัญญาสำหรับคิดค้น กระทำความผิด ความเสียให้เกิดขึ้นในชีวิต เพื่อประการต่างๆ อันนี้คือความเสียหาย แล้วก็คิดไม่ค่อยได้ เพราะว่ามีแต่ความมืด บางคนเค้าพูดว่าเลือดเข้าตา ถ้าต่อยกันตีกันจะเลือดเข้าตา แล้วมันไม่คิดอะไรแล้ว มันจะชกกันท่าเดียว พอนักมวยถูกชกเลือดออกเข้าตา แล้วก็มองไม่เห็น มันก็ต้องชกสุ่มสี่สุ่มห้า ถูกไม่ถูกกูจะชกท่าเดียว แบบนั้น คนที่มันโกรธกันชนิดเลือดเข้าตาแปลว่า ความโง่ครอบงำจิตใจ จนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร มองไม่เห็นความถูกต้อง ไม่เห็นความดีความงามที่เป็นการแห่งความสนุกมองไม่เห็น จึงหลงใหลในความชั่วร้ายด้วยประการต่างๆ อันนี้แหละคือความยุ่งยากในสังคม เพราะว่าไม่ได้ใช้ธรรมะ ไม่ทำหน้าที่ให้ถูกต้อง ไม่รู้ว่าตัวมีหน้าที่อะไร ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม มีชีวิตอยู่เพื่ออะไร สิ่งที่ดีที่ควรทำคืออะไรก็ไม่รู้ ไม่เข้าใจ จึงเกิดปัญหาขึ้นในวิถีชีวิตด้วยประการต่างๆ อันนี้เป็นเรื่องตัวปัญหา ทีนี้ถ้าเรารู้เข้าใจเรื่องทั้งหลายก็สบายใจขึ้นหน่อย เช่น เรารู้ว่าชีวิตนี่เป็นของเปลี่ยนแปลง ไหลอยู่ตลอดเวลา การจะไปจับ ไปฉวย เอาตอนใดตอนหนึ่งของชีวิตนั้นเป็นการไม่ถูกต้อง เหมือนกับรถที่กำลังวิ่งด้วยความเร็วอันสูง เราจะกระโดดเข้าไปจับล้อรถได้ยังไง มันจับไม่ได้ มันวิ่งเร็ว หรือม้ากำลังวิ่ง เราจะไปจับม้าตัวนั้น มันก็ไม่ได้ มันหยุดจึงจะเข้าไปจับได้ คราวนี้สิ่งทั้งหลายที่กำลังไหลอยู่ เปลี่ยนแปลงอยู่ เราจะไปยึดว่าเป็นตัวเราก็ไม่ได้ เป็นของเราก็ไม่ได้ เพราะถ้าไปยึดเข้า มันก็ไม่หยุด แล้วมันก็เป็นทุกข์ มีความเดือดร้อนใจ เพราะเราเข้าไปยึดผิด ถือว่าผิดแต่ก็มีปัญหา แปลว่าเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้น เช่นว่ามีอะไรเกิดขึ้นกระทบต่อชีวิต ถ้าเรารู้กฎความจริง เราก็ปลงบางได้ ปลงได้ก็คิดว่าอ่อ ... นี่มันไม่เที่ยง พระท่านบอกว่านี่มันไม่เที่ยง ของที่แตกได้มันก็ต้องแตก ของตายได้มันก็ต้องตาย ของที่อาจจะหายได้ มันก็ต้องหาย มันเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เรามาไว้เป็นเครื่องปลอบโยนจิตใจ ประเล้าประโลมใจไม่ให้เสียใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่นว่าของที่เราตกแตก ถ้าเราไม่รู้ธรรมะ ก็ไปเสียดงเสียดาย บางทีถึงกับกินไม่ได้ นอนไม่หลับเอาเลยทีเดียว เพราะว่าของนั้นมันเป็นของเก่า ราคาแพง เราก็ไปติดใจในสิ่งเหล่านั้น แต่ถ้าเรารู้ธรรมะว่าอ่อ ... สิ่งทั้งหลายมันเปลี่ยนแปลงแล้วมันก็แตกได้ พอนึกได้อย่างนั้นก็สบายใจ สบายใจว่าโอ่...ธรรมดามันเป็นอย่างนั้นแหละ ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น ถ้าเราไปทุกข์ มันจะได้อะไรขึ้นมา เราเป็นทุกข์ของนั้นมันก็ไม่คืนดี ของหายก็ไม่คืนมา ของตายแล้วมันก็ไม่ฟื้น เช่นว่า มีใครตายขึ้นในครอบครัว แล้วเราไปนั่งร้องไห้ ร้องห่มอยู่ข้างศพ ร้องทำไม ร้องก็ศพไม่ฟื้นแล้ว ตายแล้วมันไม่ฟื้นแล้ว เข้าไปนั่งร้องเสียน้ำตาเปล่าๆ จะทุกข์แบบเปล่าๆ ลงโทษตัวเองเปล่าๆ ความจริงเราไม่ควรจะร้องไห้ แต่เราควรจะพิจารณาว่าโอ้...คนเราเกิดมาแล้ว ชีวิตมันก็ไหลไปเรื่อยๆ ผลที่สุดมันก็หยุดไหล แล้วมันก็ต้องเป็นอย่างนี้แหละ อย่าว่าแต่คนนี้เลย แม้ตัวฉันเองวันหนึ่งก็จะต้องเป็นอย่างนี้ เราหนีจากความเป็นอย่างนี้ไปไม่ได้ พอคิดได้อย่างนั้นก็หยุดร้องไห้ เพราะเกิดปัญญา เกิดความเข้าใจถูกต้อง เราก็ไม่ต้องนั่งร้องไห้ต่อไป คิดได้ แต่บางทีมันคิดไม่ได้ คิดไม่ทัน พอเจอปัญหาเข้าก็กระทบกระเทือนจิตใจ บางคนก็เป็นลมไปเลย เป็นลมเพราะว่าคิดไม่ทัน เพราะไม่ได้คิดไว้ก่อน แต่นี่พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เราคิดไว้ก่อนล่วงหน้า เช่น หลักธรรม ๕ ประการ สอนให้เราคิดล่วงหน้า คิดว่าเราจะต้องแก่เป็นธรรมดา เราหนีความแก่ไปไม่ได้ เราจะต้องเจ็บไข้บ้างเป็นธรรมดา เราหนีความเจ็บไข้ไปไม่ได้ เราจะต้องตายในวันหนึ่ง เราหนีความตายไปไม่พ้น เราจะต้องพลัดพรากจากสิ่งที่เรามีเราได้ไว้ เราทำกรรมอย่างใด เราได้อย่างนั้น ทำดีก็ได้ความดี ทำชั่วก็ได้ความชั่ว ทำเหตุให้เกิดทุกข์ก็ได้ความทุกข์ ทำเหตุให้เกิดสุข เราก็ได้ความสุข คิดได้ คิดไว้บ่อยๆ วันหนึ่งวันหนึ่งก็ควรคิดไว้บ้าง เป็นเครื่องเตือนใจ เป็นเครื่องช่วยให้เกิดปัญญา รู้ว่าอะไรมันเป็นอะไร พอมีอะไรเกิดขึ้นเราก็นึกโอ้...มันเป็นอย่างนี้ ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้นเอง ธรรมดามันเป็นอย่างนั้นเอง เราก็ไม่ต้องร้องไห้ เพราะร้องไห้ก็ไม่ได้อะไร ไม่ได้อะไรเกิน เป็นการร้องไห้เสียเวลาเปล่าๆ ไม่ได้เรื่องอะไร
ในสมัยโบราณเคยมีตัวอย่าง พ่อคนหนึ่งลูกตาย ลูกตายแล้วก็ไปนั่งร้องไห้อยู่ที่ป่าช้า ร้องทุกวันทุกวันที่หลุมศพ ไอ้ลูกที่ตายแล้วไปเกิดเป็นเทวดา เพราะได้กระทำความดีไว้ ก็เห็นพ่อไปนั่งร้องไห้ ก็อยากจะสอนพ่อให้คิดได้ ให้คิดได้ก็เลยลงมา หาโยมหาทางที่พ่อจะไปป่าช้า แล้วก็แกล้งเอาหญ้าป้อนให้วัวที่ตายแล้ว วัวมันตายอยู่ตัวหนึ่ง แกเอาหญ้ามาป้อนวันนั้นแหละ พอหญ้ามาป้อน เอาน้ำมาวางไว้ให้วัวกินหญ้า แกก็บอกวัวว่า ลุกขึ้นเถ๊อะ กินยาที่ฉันนำมามอบให้ แล้วพ่อก็เดินมาเห็นเข้า แกก็เลยทำให้เรามองเห็น ตัวเองทำให้เราไม่ลุก คนโบราณเค้าว่าหัวเราแตกมองไม่เห็น แต่หัวคนอื่นแตกมองเห็นง่าย ตัวผิดแต่ไม่รู้ว่าผิด คนอื่นผิดรู้ว่าทำผิด ก็เลยถามว่าเธอกำลังทำอะไร เทวดาก็บอกว่า กำลังเอาหญ้ามาให้วัวตัวนี้กิน ตัวนี้มันตายแล้ว จะเอาหญ้ามาให้กินได้อย่างไร มันจะกินได้อย่างไร แกก็อ้าวอย่างนั้นรึ ถ้าผมเอาหญ้ามาให้วัวตายกิน ท่านเอาอาหารไปให้ลูกชายที่ตาย วัวตายนี่มันนอนอยู่ ฉันเห็นตัวมัน แต่ลูกชายของท่านที่ตายแล้วไปไหนก็ไม่รู้ ไม่เคยเห็น แล้วท่านเอาอาหารไปให้กินทุกวันๆ มันจะกินได้อย่างไร พอพูดอย่างนั้นพ่อก็รู้เห็นตัวขึ้นมา ว่าอ่อ...เรานี่มันไม่เข้าเรื่อง เอาอาหารไปวางให้ศพที่อยู่ใต้ดินขึ้นมากินนี่มันไม่ได้ ไม่ได้ประโยชน์อะไร พอรู้สึกตัวแล้วไม่เศร้าซึมไม่ทำอย่างนั้นต่อไป นี่มันเกิดปัญญาขึ้น พอคนอื่นมาเขี่ยเข้าให้ แล้วก็เกิดความคิดถูกต้อง เวลามีการตายขึ้นในครอบครัว ที่เรานิมนต์พระไปไม่ใช่เพื่ออะไร ไปเพื่อให้พระพูดธรรมะให้เราฟัง ให้เราเกิดปัญญา เกิดความคิดถูกต้อง ไม่ใช่ให้พระไปสวดศพ สวดศพเราฟังไม่รู้เรื่อง จะเกิดปัญญาได้อย่างไร ถ้าไปในงานศพก็ควรจะไปเทศน์ ไปสอน พูดจาแนะแนวให้โยมญาติที่กำลังเศร้าโศกเสียใจได้เกิดปัญญาจึงจะเป็นการถูกต้อง ไปสะกิดให้เกิดความเข้าใจ แล้วจะคลายจากความทุกข์ ความเดือดร้อนใจ นั่นเป็นการสืบทอด แต่ถ้าเราคิดไว้บ่อยๆ จากสิ่งที่เราได้ประสพพบเห็น ก็เป็นเครื่องสอนใจ นี่เราเข้ามาในวัด ในประตูนี้บทเรียนมีมากมาย ไปนั่งอยู่ตรงไหนก็เห็นแต่ตัวอย่าง สาธิตให้ดู คือใบไม้แห้ง ถ้าเรานั่งใต้กอไผ่ เราก็เห็นใบไผ่แห้ง เราเหยียบมันอยู่ด้วย เหยียบไป กวาดใบไม้ไปที่แห้งๆ ไม้ไผ่ที่แห้งกองอยู่ที่โคนต้นก็เป็นบทเรียนแล้ว เป็นเครื่องเตือนใจแล้ว ถ้าเราคิดมันก็เกิดปัญญา แต่ถ้าไม่คิดก็ไม่เกิดปัญญาอะไร เหยียบไปเหยียบมาเฉยๆไม่ได้เรื่อง แต่ถ้าเราคิดว่าเออ ... ใบไผ่ ทำไมถึงอยู่อย่างนี้ เมื่อก่อนมันเป็นอย่างไร เมื่อก่อนมันก็เป็นใบไผ่เขียวๆ ไปเป็นยอดไผ่ แล้วก็เป็นใบไผ่ แล้วต่อมามันก็หน้าแล้ง น้ำมันน้อย ต้นไผ่ก็ต้องทิ้งใบ เพราะน้ำไม่พอเลี้ยง ก็เลยกลายเป็นใบไผ่ ใบแห้งมาร่วงอยู่ตรงนี้ ใบไผ่เป็นอย่างไร ตัวเราก็มีสภาพอย่างนั้นคือน้อมเอาสิ่งที่เราเห็นมาสอนใจเรา
แต่ในบทธรรมคุณที่เราสวด เอปะนะยิโก โอปะนะยิโก หมายความว่า น้อมเข้ามาที่ตน น้อมเข้ามาที่ตนก็หมายความว่า เอามาเปรียบกับตัวเรา เปรียบกับตัวเราว่า เรากับใบไผ่เหมือนกันมั้ย เหมือนกัน ใบไผ่มันเกิดใหม่แล้วมันก็แก่ แล้วมันก็เหี่ยวแห้งตาย ร่วงลงมา เรานี่ก็เป็นอย่างนั้น เวลานี้เราอายุเท่าไร เรามีสภาพชีวิตจิตใจอย่างไร มีอะไรเกิดขึ้นแก่ชีวิตของเราบ้าง ให้เราพิจารณา พิจารณาควบคู่ แกก็โอความจริงมันก็เป็นอย่างนี้ เกิดปัญญา เกิดความเฉลียวฉลาดขึ้นได้ คนในสมัยก่อนทำงานอยู่ในครัวก็มี แล้วก็เห็นอะไรไปนั่งริมน้ำ ฝนตก นั่งเวลาฝนตก ฝนตกนี่มันเกิดฟองขึ้นมา ฟองอากาศ ฟองมาแล้วก็หายไป มันก็หายไป นั่งพิจารณา เกิดปัญญาขึ้นมาอ่อ...ชีวิตเหมือนกับฟองน้ำ เกิดขึ้นแล้วก็หายไป เกิดแล้วหายไป คนเราเกิดแล้วมันก็ดับไปทุกคน ไม่มีใครเหลือ นึกได้เจริญปัญญาแล้วไปคิดติดต่อเป็นเวลานาน จิตหลุดพ้นจากปัญหา หลุดพ้นจากสิ่งผูกพัน ก็มองเห็นว่ามันไม่มีอะไรที่น่ารัก ไม่มีอะไรที่น่าเอา ไม่มีอะไรที่เราจะเข้าไปยึดถือว่าเป็นตัวเรา เป็นของเรา ปล่อยวางได้ หลุดพ้นไปจากความทุกข์ มีตัวอย่างเยอะแบบนั้น เช่นว่า นางพิฎสุณีต้มน้ำอยู่ในครัวโรงไฟ ไฟมันก็ลุกขึ้นแล้วก็หมอดลงไป ลุกขึ้นแล้วก็หมอดลงไป ก็เอาเปลวไฟนั้นแหละมาเป็นเครื่องพิจารณาสอนตัวเองให้เห็นว่ามันเปลี่ยนแปลงแล้วก็แตกดับไป ไม่มีอะไรคงทนถาวร เกิดปัญญาขึ้นได้ สิ่งทั้งหลายที่อยู่รอบๆตัวเรานั้น เป็นบทเรียนทั้งนั้น สอนเราได้ทั้งนั้น ถ้าเราคิดเป็น แล้วก็เห็นความเปลี่ยนแปลงของสิ่งนั้น แม้ในเนื้อในตัวเราก็เป็นเครื่องเตือนใจ ดูผมก็เห็นว่าเปลี่ยนแปลง เช่น ผมทอง ก็เป็นเครื่องแสดงความแก่ นัยน์ตามืด หูตึง หนังเหี่ยวแห้ง ฟันโยกคลอน ถอดถอนออกไปให้ฟันใหม่ ผิวหนังก็เปลี่ยน อะไรๆก็เปลี่ยนแปลงอยู่ทั้งนั้น พิจารณาก็จะเกิดปัญญา เกิดความคิดถูกต้อง แล้วเราก็จะปล่อยวางได้โดยลำดับ ไม่ติดพันอยู่ในสิ่งใดๆที่เกิดขึ้น แม้อะไรเกิดขึ้นเราก็รู้ทันท่วงทีว่าอะไรเกิดขึ้น อะไรตั้งอยู่ อะไรดับไป ไม่ไปติดอยู่ในกระแสที่กำลังเปลี่ยนแปลง แต่เรามองมันด้วยปัญญา เราเข้าใจสิ่งนั้นถูกต้อง ความทุกข์ก็มีน้อย ปัญหามันก็มีน้อย สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องช่วยแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน เพื่อให้พ้นจากความคิดยึดถือ แล้วก็พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนใจ จึงเป็นประโยชน์ในชีวิตของเราทุกคน ไม่ว่าเป็นเด็ก เป็นหนุ่ม เป็นสาว เป็นคนเฒ่าคนแก่ ถ้าได้เอาสิ่งเหล่านี้มาเป็นเครื่องเตือนใจ ก็ไม่ต้องนั่งร้องไห้เพราะว่าเค้าไม่รัก ไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะไม่ได้ดั่งใจ ไม่ได้สมใจ เด็กๆขออะไรคุณแม่ๆไม่ให้ก็ร้องไห้ ร้องห่ม กินไม่ได้นอนไม่หลับขึ้นมา เพราะว่าเราไม่สอนให้ลูกเข้าใจ ไม่สอนให้รู้จักความจริงไว้บ้าง เค้าก็เลยไม่รู้ความจริง คิดแต่จะเอาคิดแต่จะได้ ไม่รู้ว่าอะไรมันเป็นอะไร แล้วไปเสียใจตีอกชกหัวตัวเอง ลงโทษตัวเองไม่เข้าเรื่อง ทำแต่ความคิดทั้งนั้นไม่ได้เรื่องอะไร เราต้องเห็นอกพ่อแม่บ้าง ขออะไรท่านยังไม่ให้ ท่านยังไม่มี จะให้ได้อย่างไร บอกว่าไม่มีก็ไม่เชื่ออย่างนั้น พ่อแม่หน่ะรักลูกสุดหัวจิตหัวใจ ลูกต้องการอะไรก็จะให้ทั้งนั้นแหละ แต่ว่ามันไม่มีจะให้ได้อย่างไร ไอ้เราจะไปเคี่ยวเข็ญเอาเลือดกับปูมันจะได้อย่างไร ไม่ได้ แต่คิดไม่ได้เพราะคิดจะเอาท่าเดียว เห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ จะเอาท่าเดียว จะไปท่าเดียว แหม่มันๆไม่ถูก มันไม่ถูกต้อง ทำไม่ถูกแล้วก็เป็นทุกข์ลงโทษตัวเองเปล่าๆ เกิดความเสียหาย จึงขอให้ใช้ธรรมะเป็นเครื่องประโลมใจ คิดให้ถูกต้อง พูดให้ถูกต้อง ทำให้ถูกต้อง ชีวิตก็จะเรียบร้อยดีขึ้น ตั้งแต่มาก็สมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้