แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจาการฟังตามสมควรแก่เวลา
วันนี้อากาศแจ่มใสค่อนข้างจะเย็นนิดหน่อยไม่ถึงกับหนาวเหมือนทางภาคเหนือของประเทศไทย พอดีๆคือไม่ร้อน พอสบาย ดินฟ้าอากาศในประเทศไทยเรานี้อยู่ในสภาพดี คือไม่รุนแรงเกินไป ไม่เหมือนกับบางประเทศซึ่งหนาวจัด ร้อนจัด มีอะไรจัดๆอยู่หลายเรื่องหลายประการ แต่บ้านเรานั้นนับว่าพอดี ก็เป็นบุญของคนไทยที่ได้มาอยู่ ณ แผ่นดินตรงนี้ แผ่นดินนี้ก็เป็นแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์มีทรัพย์ในดินสินในน้ำพอได้กินได้ใช้ ไม่ฝืดเคืองเกินไป ธรรมชาติก็ไม่รุนแรง คือไม่มีภัยธรรมชาติ ไม่มีแผ่นดินไหว ไม่มีภูเขาไฟให้ระเบิด ไม่มีลมประเภทที่เรียกว่าไต้ฝุ่นที่รุนแรง แม้จะมีบ้างก็ไม่มาก ถ้าจะเปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่เกิดลมพายุ ของเขารุนแรงมากและก็มีบ่อย บ้านเรายี่สิบสามสิบปีจะมีสักครั้งหนึ่ง ในชีวิตคนหนึ่งก็ได้พบเพียงครั้งเดียว แต่ในประเทศอื่นนั้นชีวิตหนึ่ง พบกับความร้ายของธรรมชาติหลายครั้งหลายหน อันนี้เป็นเรื่องที่เราควรจะภูมิใจในแผ่นดินที่เราได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัย และเรายังได้มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติ ครองบ้านครองเมืองมาด้วยดี เป็นกษัตริย์ผู้ทรงศีลทรงธรรม ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามหลักธรรมะของกษัตริย์ ซึ่งเรียกว่าทศพิธราชธรรมทุกประการไม่ขาดตกบกพร่อง ทรงบำเพ็ญพระองค์เป็นประโยชน์เป็นความสุขแก่ประชาชนทุกถ้วนหน้า ทำอะไรทุกอย่างก็ทำเพื่อให้เกิดประโยชน์เกิดความสุขแก่ราษฎร ราษฎรจึงได้อยู่เย็นเป็นสุขมีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่ตลอดเวลา ที่ได้เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่าเรามีพุทธศาสนาเป็นหลักใหญ่ เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ทางประเพณีอันดีอันงามมาตลอดเวลา พระพุทธศาสนาเป็นหลักใจของคนไทยมาตั้งแต่โบราณจนถึงกาลบัดนี้ นิสัยใจคอของคนไทยเราจึงเป็นไปตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา แม้จะเกิดคดีร้ายๆขึ้นบ้างในประเทศ ก็เรียกว่าเป็นส่วนน้อย คนส่วนมากยังมั่นคงอยู่ในพระศาสนา ยังมีความเชื่อมั่นในพระรัตนไตร คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ดำเนินชีวิตชอบตามหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา เราจึงอยู่กันด้วยความสุข ด้วยความสงบ ไม่มีความรุนแรงมากเกินไป อาจจะมีบ้างนิดๆหน่อยๆพอได้เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ถ้าเทียบส่วนกับที่อื่น เขาลำบากมากกว่าเรา มีปัญหามากกว่าเรา เรานี้มีปัญหานิดๆหน่อยๆพอได้แก้ไขกันไปได้ พอให้มีงานทำเพื่อการแก้ไข เรียกว่าไม่เป็นการรุนแรง อันนี้ก็ถือว่าเป็นบุญของพวกเราที่อยู่บนผืนแผ่นดินนี้
เวลานี้ก็เป็นวันขึ้นปีใหม่ เข้ามาเป็นวันอาทิตย์ที่๒ของเดือนมกราคม เราก็มีความภูมิใจ สบายใจตามสมควรเพราะอายุผ่านมาด้วยดี ไม่มีอุปสรรค ไม่มีข้อขัดข้องในการดำเนินชีวิต ไม่เจ็บป่วยรุนแรง ก็นับว่าเป็นสำหรับชีวิตของคนทุกถ้วนหน้า ที่เราได้เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่า ได้ประพฤติดี ประพฤติชอบตามหลักคำสอนในทางพระศาสนา หลักคำสอนในทางพระศาสนา เราเรียกว่าพระธรรม ธรรมะเป็นสิ่งที่มีอยู่คู่โลก มีมาตั้งแต่มีแผ่นดิน มีแผ่นฟ้าขึ้นมา ธรรมะก็มีอยู่แล้ว แต่ว่าไม่มีใครค้นพบ ไม่ได้เอามาเปิดเผย เราจึงไม่รู้ไม่เข้าใจ
เจ้าชายสิทธัตถะเกิดในศากยวงษ์ ในประเทศอินเดีย เมื่อเจริญเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ก็มีความคิดในทางที่จะใช้ชีวิตของพระองค์ ให้เป็นประโยชน์ เป็นความสุขแก่ประชาชนชาวโลกทุกถ้วนหน้า จึงได้ดำริว่าจะทำอย่างไร จึงจะช่วยโลกได้ ถ้าเป็นพระเจ้าแผ่นดินก็ช่วยได้นิดหน่อยเฉพาะในเขตที่พระองค์ปกครอง ซึ่งไม่ใหญ่โตอะไร แต่ที่ถ้าจะทำอะไรที่เป็นประโยชน์กว้างขวาง เป็นมิตรแก่ทุกประเทศ ทุกหมู่เหล่าควรทำอย่างไร ก็เลยได้เห็นภาพที่เป็นเครื่องเตือนใจ ที่เราเรียกว่าเทวทูต เทวทูตคือผู้ส่งข่าวอันประเสริฐมาเตือนให้เกิดความรู้สึกนึกคิดในทางที่ถูกที่ชอบ คือได้เห็นคนแก่ เห็นคนเจ็บไข้ เห็นคนตาย แล้วก็เห็นนักบวช สามอย่างข้างต้นทำให้เกิดความสังเวชสลดใจ สลดใจว่าชีวิตของคนเรานี้เกิดมาแล้วก็แก่ เจ็บ และก็ตายไป เกิดแล้วเจ็บตายไป เป็นอย่างนี้มาตลอดเวลา ชีวิตไม่ค่อยมีค่ามีราคาไม่ได้เป็นประโยชน์ เป็นความสุขแก่ส่วนรวมเท่าใด เราควรทำอย่างไรให้ชีวิตมีค่ามากกว่านี้ ก็พอดีก็ได้เห็นนักบวชซึ่งมีอยู่ในประเทศอินเดียในสมัยนั้น พอได้เห็นนักบวชพระองค์ก็คิดว่า สาธุ สาธุ ปัพพัชชา บวชดี บวชดีแน่ ก็เลยตัดสินใจออกบวช ออกบวชเพื่ออะไร เพื่อไปแสวงหาทางดับทุกข์ของพระองค์เองก่อน แล้วจะได้ช่วยชาวโลกให้พ้นจากความทุกข์ต่อไป อันนี้เป็นความคิดชอบ เป็นความคิดที่มีประโยชน์เกื้อกูลแก่ปวงประชาชนทุกถ้วนหน้า แล้วก็ตัดสินใจออกบวช
การออกบวชของเจ้าชายสิทธัตถะนั้นไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่เป็นเรื่องใหญ่โตมาก เขาจึงใช้คำว่ามหาภิเนษกรมณ์ มหาภิเนษกรมณ์แปลว่าการออกบวชอันยิ่งใหญ่ เพราะว่าต้องเสียสละอะไรหลายอย่าง เสียสละพระมเหสีอันเป็นที่รัก คือ นางพิมพา เสียสละลูกน้อยซึ่งน่ารักน่าเอ็นดู เสียสละความเป็นพระเจ้าแผ่นดินในอนาคต เสียสละจากความสุขที่ได้จากการอยู่ในวังทุกประการเพื่อไปอยู่ในป่า ถ้าเป็นคนธรรมดาเราๆท่านๆคงจะไปไม่รอด คงจะติดความสุขความสบาย ติดความเป็นใหญ่เป็นโต ติดในอำนาจวาสนา ก็คงไม่อยากจะทิ้งไป เพราะว่าติดอยู่ในสิ่งนั้น เห็นง่ายๆคนที่อยู่ในกรุงเทพนี้ ถ้าเขาย้ายไปต่างจังหวัด ก็ไม่อยากจะไปแล้ว เพราะติดแสงสีความสบายกรุงเทพ ตามจริงกรุงเทพนี้ก็ไม่ได้สบายอะไร แต่ว่ามันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำมาหากิน ที่ทำมาหากินได้ แต่สภาพสิ่งแวดล้อมก็ไม่ได้สบายอะไร น้ำในคลองต่างๆก็เน่าเหม็น น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาก็ไว้ใจไม่ได้ อากาศก็เป็นพิษ การจราจรก็คับคั่ง ไปไหนมาไหนก็มีแต่เรื่องปัญหาเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา อันนี้เป็นความทุกข์ แต่ว่าคนมองไม่เห็นความทุกข์ เพราะว่าติดอยู่ในความสะดวกสบาย ก็เลยอยากอยู่กรุงเทพ พอเขาสั่งย้ายนี่หน้าเหี่ยวหน้าแห้งไม่อยากจะไป ไม่อยากจะออกจากกรุงเทพ เพราะความติด คนเราโดยมากติด ติดบ้านติดเรือน ติดสิ่งนั้นติดสิ่งนี้ ติดอยู่ในความสุขความสบาย
เจ้าชายสิทธัตถะท่านเป็นเจ้าฟ้าชาย มีความสุขทุกอย่าง มีความสมบูรณ์ทุกอย่าง แต่ท่านทิ้งหมดไม่อาลัยใยดีในสิ่งนั้น อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ยากที่คนทั่วไปจะพึงทำได้ แต่ก็ได้ทรงกระทำด้วยความเด็ดเดี่ยวไม่อาลัยใยดีในสิ่งเหล่านั้น เสด็จออกไปด้วยความเสียสละ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ชาวโลกอย่างแท้จริง และเมื่อเสด็จออกไปแล้วก็อยู่ไม่เหมือนที่เคยอยู่ นอนไม่เหมือนที่เคยนอน เสวยไม่เหมือนที่เคยเสวย ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงหน้ามือเป็นหลังมือไป อยู่ในวังนอนสบาย กินสบาย มีสิ่งแวดล้อมดี แต่ออกมาอยู่ในป่า นอนบนดิน บนทราย ญาติโยมจะเห็นว่านอนบนดิน บนทราย ถ้าโยมเดินไปในบริเวณวัด จะเห็นว่าเวลานี้ (เสียงไม่ชัด) กลางกลดนอนอยู่บนดิน กลางคืนจะพักที่พื้นดินกางกลด อากาศหนาวกลางคืน กลดนี้มีมุ้งบางๆ กันหนาวไม่ค่อยได้หรอก แต่ว่าก็นอนเพราะเป็นการฝึก เพื่อออกไปต่อสู้กับความหนาวเยือกเย็นที่จังหวัดแพร่ ที่จะไปปฏิบัติงานในวันที่๙นี้ก็จะเดินทาง ก็หัดหนาวไว้ก่อน หัดต่อสู้ ท่านก็นอนอย่างนั้น กางกลดนอนกันเป็นหย่อมๆอยู่บนพื้นดิน ท่ามกลางอากาศหนาว
อันนี้พระพุทธเจ้าท่านไม่มีกลด ไม่มีมุ้งนอนในป่า นอนบนพื้นดิน นอนใต้ต้นไม้ นุ่งผ้าผืนห่มผืน แต่ก็ต่อสู้กับความลำบาก เพื่อจะได้สิ่งที่ประเสริฐกว่า คือได้ค้นพบธรรมะ แล้วก็ไปศึกษาตามสำนักครูบาอาจารย์ต่างๆ ที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น เอาจริงเอาจัง ทำได้เหมือนที่อาจารย์ทำ อาจารย์บอกว่าฉันทำได้อย่างใด เธอทำได้อย่างนั้น เธอทำอย่างไร ฉันทำอย่างนั้น อยู่ที่นี่แหละอย่าไปไหน ช่วยสอนศิษย์ต่อไป พระองค์ไม่ได้ต้องการตำแหน่งนั้น เพราะการสอนศิษย์ในสำนักมันมุมแคบ ยังไม่กว้างขวาง และความรู้ที่ได้ก็รู้สึกว่ายังไม่พอ เพราะยังไม่หมดกิเลส ไม่หมดตัณหาคือความอยาก ต้องไปศึกษาต่อ ทำต่อเพื่อให้หมดสิ่งเหล่านั้น ก็ไปเที่ยวบำเพ็ญความเพียรทรมานร่างกาย จนผ่ายผอมเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก แล้วก็เปลี่ยนแนวทางมาเสวยพระกระยาหาร ปฏิบัติความเพียรอยู่ที่ต้นโพธิ์พุทธคยา ผลที่สุดก็ได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า แล้วก็นำสิ่งเหล่านั้นมาแจกจ่ายแก่ชาวโลกทั้งหลาย เราได้รับสิ่งนั้นเอามาใช้อยู่ในชีวิตจนทุกวันนี้ เราได้รับความสะดวกสบายไม่ต้องเที่ยวหา ไม่ต้องเที่ยวค้น พระองค์หามาใส่ให้เราแล้ว เหมือนกับว่าเราหุงข้าวเรียบร้อย กับข้าวมีแล้ว ใส่จานมาวางเฉพาะหน้า เรานั่งลงถึงก็รับประทานเท่านั้นเอง มันสะดวกสบาย แต่คนที่ทำให้ข้าวมาเป็นข้าวสุกนั้นก็ลำบาก ชาวนาทำข้าว ดำนา เก็บข้าว เกี่ยวข้าว ตากแดดตากลมอยู่ในทุ่ง ลำบากแดดร้อนเท่าไหร่ กว่าจะมาเป็นข้าวสุกอยู่ในจาน เราไม่ได้คิดถึงอย่างนั้น ถึงก็รับประทานกันเท่านั้นเอง
เออ ลูกสุนัขสองตัวนั้นทำไมมันร้องนักหนา มันจะพลิกแต่พลิกขึ้น ทรมาน นี่แหละความทุกข์อันหนึ่งของโลกเหมือนกัน เป็นความทุกข์ สุนัขมันก็เป็นความทุกข์แบบสุนัขไม่ใช่เรื่องอะไร มันเกิดมาเป็นสุนัขก็แสนลำบาก แต่ว่าเลือกเกิดได้ไม่มีใครเกิดเป็นลูกสุนัข เป็นสุนัขขี้เรื้อนยิ่งลำบาก ชีวิตมันเป็นอย่างนั้น เห็นอะไรแล้ว ก็ต้องเอามาพิจารณา เป็นเครื่องเตือนใจ แล้วก็หนีจากสิ่งที่จะทำให้จิตใจตกต่ำ ยกระดับจิตใจเราให้มันสูงขึ้นไว้ให้พ้นจากภาวะของสัตว์เดรัจฉาน ภาวะของความตกต่ำก็ดีขึ้น พระพุทธเจ้าท่านออกไปเที่ยวค้นหาสิ่งนี้ ได้แล้วก็นำมาสอนให้ชาวโลกได้รู้ได้เข้าใจ ได้เกิดความคิดที่ถูกต้อง ปฏิบัติตนถูกต้องก็พ้นจากปัญหา นับว่าสะดวก เหมือนกับข้าวอยู่ในจานเรารับประทานเท่านั้นเอง แต่ว่าพระองค์เกือบเอาชีวิตไปทิ้งไว้ในป่า ไปอยู่ในป่าทรมานตนอยู่ในป่า บุญนักหนาที่ไม่เป็นมาลาเรียจนถึงแก่ดับชีวิต อยู่ในป่าสู้มาได้จนสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า แล้วก็นำธรรมะมาสั่งสอนแก่ชาวเราทั้งหลาย เราทั้งหลายได้เกิดมาพบสิ่งนี้แล้วก็ศึกษาให้เข้าใจ นำมาใช้เป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาชีวิต ชีวิตก็ดีขึ้น ธรรมะช่วยให้เราดีขึ้น ให้เรามีความสุขตลอดเวลา หมดความทุกข์ หมดปัญหาคือความเดือดร้อนใจ อันนี้เป็นสิ่งประเสริฐอย่างยิ่งที่เราได้รับอยู่ และเมื่อเราคำนึงถึงส่งเหล่านี้ เราก็ต้องคิดว่าเราควรจะทำอย่างไร ควรประพฤติตนอย่างไร เพื่อแก้ไขปัญหาชีวิตให้ดีขึ้น นี่ต้องคิดเฉพาะวัน และต้องคิดบ่อยๆ มีอะไรเกิดขึ้นในชีวิตก็พิจารณาศึกษาด้วยปัญญาของตัวเอง ปัญญาตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าเอามาใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา ปัญหาต่างๆก็จะลดน้อยลงไป เราจะอยู่ในโลกได้ด้วยอารมณ์สดชื่นรื่นเริง เพราะอาศัยธรรมะเป็นหลักคุ้มครองจิตใจ ทำให้สภาพจิตใจของเราผ่องใส สงบ สว่าง ในทางที่ถูกที่ชอบ อันนี้เป็นเรื่องที่ควรจะคิดนึกในชีวิตประจำวัน
ปัญหาในชีวิตของคนเรานั้น มีอะไรเป็นตัวปัญหา ก็เรื่องความทุกข์นั่นแหละตัวปัญหาใหญ่ ความทุกข์จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแก่เราเมื่อเราเผลอ เราประมาทไป ถ้าเราไม่เผลอไม่ประมาทความทุกข์มันก็ไม่เกิด แต่ว่าปกติคนเราไม่ได้ฝึกฝนอบรมจิตใจ ก็มักจะเป็นคนเผลอได้ ประมาทได้ มัวเมาได้ แล้วก็เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนขึ้นมา เมื่อเกิดความทุกข์ความเดือดร้อนขึ้นมาแล้ว เราก็ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร ไม่รู้จักความทุกข์ ไม่รู้จักเหตุของความทุกข์ ไม่รู้ว่าทุกข์เป็นเรื่องแก้ได้ และไม่รู้ว่าจะแก้อย่างไร เราไม่เข้าใจเพราะไม่ได้ศึกษา ไม่ได้สนใจในเรื่องอย่างนี้ หมดทางแก้ไข บางทีถึงกับทำลายตัวเองให้ตายไป ด้วยนึกว่าตายแล้วก็หมดทุกข์กันไปทีหนึ่ง นั่นมันไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เป็นคนใจอ่อน ใจง่าย ไม่รู้จักแก้ไขปัญหาจึงต้องฆ่าตัวตาย เป็นบาปเป็นโทษเหมือนกัน เพราะคนที่ทำลายตนเองนั้น ใจต้องมืดบอด มีโมหะครอบงำจิตใจ ไม่มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาจึงทำลายตัวเองได้ และแสดงว่าคนที่ทำลายตัวเองเป็นคนใจเหี้ยม เหี้ยมหนัก ฆ่าคนอื่นมันก็เหี้ยมอยู่แล้ว แต่ฆ่าตัวเองมันกลับเหี้ยมหนักลงไป เป็นเรื่องที่ไม่สมควรกระทำเช่นนั้น แต่ก็มีทำกันอยู่บ่อยๆ ปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ แม้คนมีการศึกษามีปัญญา ก็ยังกระทำเช่นนั้น ก็เพราะว่าไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องชีวิต ไม่รู้ว่าชีวิตคืออะไร ไม่รู้ว่าอะไรมันเกิดขึ้นในชีวิต ไม่รู้ว่าเหตุมันอยู่ที่อะไร และไม่รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้มันดับได้ และก็ไม่รู้ว่าจะดับมันอย่างไร อยู่ในประเภทโมหะครอบงำจิตใจ มีความมืด ความหลงอยู่ในจิตใจตลอดเวลา จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ อะไรจะทำให้เราเกิดความสว่าง ให้เกิดปัญญา ให้รู้แจ้งในเรื่องเหล่านั้น ก็ต้องอาศัยหลักธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ หลักธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนไว้มากมาย เป็นเครื่องช่วยให้เรารู้จักปัญหา รู้จักเหตุของปัญหา ร็จักว่าปัญหาเป็นเครื่องดับได้ สิ่งทั้งหลายมีเกิดมันก็มีดับทั้งนั้นแหละ ไม่มีอะไรเกิดแล้วไม่ดับ แต่ที่มันไม่ดับก็เพราะเราไม่รู้วิธีการว่าจะดับมันอย่างไร กลับเอาเชื้อไปใส่ลงไป เหมือนกับว่าไฟไหม้ เราไม่รู้วิธีการดับไฟ เอาน้ำมันไปราดเข้า เอาเชื้อเพลิงไปใส่เข้ามันก็ลุกมากขึ้น เผาผลาญอะไรให้เสียหาย แต่ถ้าเป็นความรู้ว่าจะใช้วิธีดับไฟที่ถูกต้อง ไฟนั้นก็ดับไป ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรานี่ก็เหมือนกัน เราไม่รู้ไม่เข้าใจตัวปัญหา และเหตุของปัญหา จึงได้เกิดความทุกข์มากขึ้น แต่ถ้าเราเข้าใจ เราก็แก้ได้
พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นเหมือนยาวิเศษที่จะช่วยเราแก้ปัญหาได้ เราจึงต้องเอาธรรมะมาใช้ ต้องศึกษาเอามาคิดให้เข้าใจ แล้วเอามาเป็นหลักปฏิบัติ คำว่าปฏิบัติก็คือว่าเอามาใช้ในชีวิตประจำวัน เหมือนเรามียา เราก็ต้องกินยา โรคมันจึงจะหาย ถ้ามียาใส่ขวดวางไว้ข้างเตียง คนไข้ไม่กินยานั้น ยานั้นจะให้ประโยชน์อะไร ไม่ได้ประโยชน์ เราจึงต้องรู้ว่าจะกินยาอย่างไร กินเวลาใด กินเท่าไหร่จึงจะรักษาโรคได้ฉันใด ธรรมะก็เป็นยาประเภทหนึ่ง เป็นยาวิเศษที่พระพุทธเจ้าได้ค้นพบ เป็นยาแก้โรคทางจิตทางวิญญาณของเรา แล้วก็โรคทางกายก็พลอยถูกแก้ไปด้วย เพราะว่าจิตใจดี ร่างกายก็ปกติ แต่ถ้าจิตใจไม่ดีร่างกายก็ผิดปกติเกิดปัญหา คนป่วยที่ใจไม่ดีป่วยหนัก แต่คนป่วยที่ใจดี แม้ความป่วยจะหนักก็ไม่หนัก เพราะมีใจเข้มแข็ง อดทน หนักแน่นต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บได้ด้วยอำนาจจิตของตัวเอง เราจึงต้องสร้างกำลังใจให้มีความเข้มแข็ง เพื่อเอาชนะสิ่งเหล่านั้นด้วยปัญญา หรือด้วยความคิดที่ถูกต้องตามสภาพที่เป็นจริง
ธรรมะของพระพุทธเจ้าสอนให้เรารู้ความจริงของสิ่งทั้งหลาย ตามสภาพที่เป็นจริงว่าสิ่งนั้นคืออะไร ที่นี้กฎเกณฑ์ธรรมชาติมันก็มีปรากฏอยู่สามประการ คือ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตา ที่เราเรียกว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สิ่งทั้งสามนี้เป็นหลัก เป็นกฎของธรรมชาติ มีอยู่แก่ทุกสิ่งไม่ว่าอะไร ร่างกายของเรานี้ก็อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติ คือเปลี่ยนแปลงอนิจจัง ทุกขังคือเป็นทุกข์ตามสภาพของมัน แล้วก็เป็นอนัตตา คือไม่เป็นเนื้อแท้ มันเป็นเพียงแต่สิ่งต่างๆประกอบกันเข้า ไหลไปตามอำนาจของการปรุงแต่งตลอดเวลา เมื่อสุสิ้นอำนาจของการปรุงแต่ง สิ่งนั้นก็แตกดับไปตามสภาพของมัน มันเป็นอย่างนั้น ไม่มีอะไรที่จะผิดไปจากนี้ มีสภาพเป็นอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา เราจึงควรจะรู้ ควรจะเข้าใจในเรื่องนี้อย่างถูกต้อง ถ้าเราไม่รู้ไม่เข้าใจมันก็มีปัญหาเรื่อยไป ไม่รู้จบไม่รู้สิ้น ทุกข์เรื่อยไป ทุกข์เพราะเราเข้าไปยึดถือสิ่งนั้นว่าเป็นตัวเรา ไอ้สิ่งนั้นมันก็ทุกข์อยู่ตามธรรมชาติ แต่ถ้าเราไม่เข้าไปยึดไปติดมันก็ไม่มีฤทธิ์เหนือเรา ที่มันมีฤทธิ์เหนือเรา ก็เพราะเราไปนึกว่าเป็นตัวฉัน เป็นของฉันหรือเปล่า ถ้าเราเข้าไปนึกอย่างนั้นเราก็เป็นทุกข์ เพราะว่าเรานึกว่าของเรา ตัวเราของเรา เราก็เป็นทุกข์ แต่ถ้าเราไม่นึกอย่างนั้นมันก็ไม่มีอะไร มันก็เป็นทุกข์ตามธรรมชาติ เรียกว่าทุกข์ตามสภาพไม่มีเรา ไม่มีเข้าไปเกี่ยวข้อง มันก็ไม่มีปัญหา แต่คนเรามันชอบเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้น กับสิ่งนี้ ไปยึด ไปถือ ไปแบกเอาไว้จนพะรุงพะรังหนักอึ้งอยู่ตลอดเวลา ไม่รู้จักปลง ไม่รู้จักวางเสียบ้าง ก็ต้องแบกเรื่อยไป แบกไปจนหลังโกงไปเลย อย่างนี้มันก็ไม่ถูกต้อง เพราะไม่รู้มันจึงเป็นเช่นนั้น แต่ถ้าเรารู้ว่าความทุกข์มันเกิดขึ้นเพราะเราไปแบกสิ่งนั้นไว้ เกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นด้วยปัญญามันก็ไม่เป็นทุกข์ ไม่เดือดร้อนใจ แต่ถ้าเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นด้วยความโง่เขลา ด้วยความไม่รู้เท่าทันต่อสิ่งนั้น มันก็กัดเรา ทำให้เราเจ็บปวดเดือดร้อน เพราะเราเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยความไม่รู้ แต่ถ้ารู้มันก็ไม่มีอะไร หลักการมันเป็นอย่างนั้น
ทีนี้ความรู้ ความเข้าใจในสิ่งนั้น ในเรื่องอย่างนั้น ก็รู้ว่ามันเปลี่ยนแปลงอย่างนี้แล้ว มันเป็นทุกข์อย่างนี้แล้ว มันไม่มีอะไรที่มันเป็นเนื้อแท้ในตัวของมันเอง เราเข้าใจเรื่องนั้น ต้องหมั่นพิจารณาบ่อยๆ ทำให้เห็นว่ามันเปลี่ยนแปลงอย่างไร ถ้าไม่พิจารณาก็ไม่รู้ แต่ถ้าเราพิจารณาบ่อยๆเราก็รู้ มองสิ่งต่างๆที่อยู่รอบๆตัวเรา เช่น สมมติว่าเรามีแจกันใส่ดอกไม้ เอาดอกไม้มาประดับไว้ในแจกันแล้วเราดู บางเวลาเราก็ไม่ดู ดูเราก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของดอกไม้นั้น ว่าตอนเช้านี้ยังสวยยังดีอยู่ แต่พอไปอีกสักหน่อยมันก็เริ่มเหี่ยวแห้ง เหี่ยวไปเรื่อยๆ แล้วมันก็ร่วงหล่นไปกองอยู่ที่พื้นนั้น ไม่ได้อยู่กับช่อกับดอกต่อไป มันไปกองอยู่กับพื้นนั้น คือความเปลี่ยนแปลง เป็นธรรมชาติ เป็นอย่างนั้น ดอกไม้เป็นอย่างไร อะไรๆก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน แม้ตัวเราเองก็เปลี่ยน ถ้าไม่เปลี่ยนก็จบ หยุดเปลี่ยนก็คือตายนั่นเอง ความตายคือที่สุดของความเปลี่ยนแปลง แต่ที่เรายังไม่ถึงที่สุดเพราะมันก็ยังเปลี่ยนอยู่ เปลี่ยนอีก เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลายังไม่ถึงที่สุด พอถึงที่สุดก็เรียกว่าตาย ความตายก็คือที่สุดของความเปลี่ยนแปลง เวลานี้ยังไม่ถึงที่สุด ยังไหลอยู่ ยังไหลอยู่ ยังเปลี่ยนอยู่ ชีวิตก็คือตัวการเปลี่ยนแปลง หรือการไหลเรียกว่าชีวิต แต่ถ้ามันหยุดไหล ก็เรียกว่าดับ ก็เรียกว่าตาย นี่ก็เป็นเรื่องธรรมชาติ อะไรๆที่เกิดไปแล้วก็ไหลไปเรื่อยๆไหลไปไหลมาตั้งแต่ปฏิสนธิในครรภ์มารดา แล้วก็เจริญขึ้น เจริญขึ้น เจริญขึ้น นั่นก็คือการไหลนั่นเอง การหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง จนกระทั่งครบเก้าเดือนสิบเดือน ก็ออกมาจากท้องคุณแม่เป็นเด็กตัวน้อยนอนอยู่ในเบาะ แล้วก็ค่อยโตขึ้นๆ ความเจริญเติบโตนี้ทุกคนพอใจ คุณย่าคุณยาย ปู่ตา เห็นเด็กโตขึ้นก็พอใจ คุณแม่ก็พอใจ คุณพ่อก็พอใจ ว่า เออมันเติบโตขึ้นอ้วนท้วนจ้ำม่ำ น่าเอ็นดู ก็โตมาเรื่อยๆจนกระทั่งเป็นเด็ก เป็นวัยรุ่น เป็นหนุ่มเป็นผู้ใหญ่เต็มที่
ชีวิตคนเรามันก็คล้ายกับการขึ้นสะพานโค้ง โยมขับรถไปขึ้นสะพานพระปิ่นเกล้า สะพานพระปิ่นเกล้านี่โค้งมากกว่าเพื่อน ขึ้นจากฝั่งพระนครก็โค้งขึ้นไป ถึงกลางสะพานแล้วก็ลงไปฝั่งธน ขึ้นจากฝั่งธนก็โค้งแล้วก็ไปลงฝั่งพระนคร ชีวิตเป็นเหมือนกัน เป็นอย่างนั้น ขึ้นมาถึงที่สุดแล้วก็ลง นี่เราที่นั่งอยู่นี่ลงนะ ลงอยู่ทั้งนั้นแหละไม่ใช่ขึ้นแล้ว เรียกว่าขึ้นไปถึงกลางสะพานแล้วเวลานี้ จะลงแล้ว ลงเรื่อยๆ ไม่เท่าใดก็ไปอยู่ที่เชิงสะพาน ก็ฝังอยู่ที่นั่นแหละ ชีวิตมันก็เป็นเหมือนกันทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนมั่งมี คนยากจน คนโง่ คนฉลาด เหมือนกัน พระท่านจึงเปรียบว่าภาชนะดิน หม้อดินเผาสุกก็ตาม เผาดิบก็ตาม หม้อเล็กก็ตาม หม้อใหญ่ก็ตาม มันแตกทุกใบ มันต้องแตกทุกใบมันอยู่ไม่ได้ ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น แต่ระยะเวลาของการแตกอาจจะไม่เท่ากัน คนเรานี้ก็เหมือนกัน บางคนอายุสั้น บางคนอายุยืน ก็ขึ้นอยู่กับเครื่องปรุงแต่งร่างกาย ถ้าเครื่องปรุงแต่งดี เราก็ไม่หิว มีภูมิต้านทานสูง โรคภัยไข้เจ็บไม่เบียดเบียน หรือเบียดเบียนแต่สู้ได้ เอาชนะมันได้เราก็มีอายุยืน อยู่ได้ถึงร้อยปีหรือเกินนั้นก็มี เพราะเราไม่มีโรค แต่ว่าสังขารร่างกายของบางคนนั้นโรคมาก โรคหลายอย่างมารวมอยู่ในตัวบุคคลนั้น ตั้งแต่เกิดมารู้แต่ความไม่สบาย เป็นนั่นเป็นนี่อยู่ตลอดเวลา และอายุสั้นตายไว คนที่มีโรคมากถ้าตายไปก็ไม่ควรเสียใจ ควรจะดีใจ เออพ้นไปเสียที พ้นทุกข์เสียที อยู่ไปก็ลำบากทรมานร่างกาย ตายเสียก็ดีแล้ว แต่ว่าอย่าพูดออกไปดังๆเพื่อนมันจะว่าเอา หาว่าเราเกลียดคนนั้น ตายแล้วจึงว่าตายแล้วก็ดีแล้ว แต่ในใจก็รู้ดีแล้วพ้นทุกข์ไปเสียที ไม่ต้องทรมานตนต่อไป นึกอย่างนั้นไม่ได้เสียหายอะไร เราก็ทำหน้าที่ของเราที่เกี่ยวกับศพ เราก็ทำไปตามเรื่อง แต่จิตไม่ได้เป็นทุกข์เพราะเรื่องนั้น ไม่ได้แปลว่าไม่ได้นั่งหัวเราะ ไม่ใช่อย่างนั้น เราเฉยๆวางเป็นกลาง ไม่ขึ้นไม่ลง สภาพจิตที่ไม่ขึ้นไม่ลงเขาเรียกว่าเป็นผู้คงที่ ไม่หวั่นไหวกับสิ่งที่มากระทบ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย กับสิ่งที่เกิดขึ้น สภาพจิตอย่างนั้นเป็นความสบายอย่างหนึ่ง
ชีวิตเราเป็นอย่างนั้น บางครั้งบางคราวเราก็เกิดอาการไม่ดีเจ็บไข้ได้ป่วย โรคที่เกิดขึ้นในตัวเรานั้นมีอยู่ ๓ อย่าง ๓ ประเภท
โรคอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแล้วหายไปเอง ไม่ต้องกินยา ไม่ต้องรักษามันหายไปเอง ร่างกายมันเยียวยาของมัน เอาชนะกันได้มันก็หายไปเอง นี่อย่างหนึ่ง
โรคอย่างหนึ่งเป็นแล้วต้องกินยา ต้องรักษาจึงหาย ไม่รักษาก็ไม่หาย มันเจริญงอกงามต่อทำร้ายเราได้
อีกอย่างหนึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นแล้วรักษาไม่ได้ รักษาไม่หาย ตายวันยังค่ำ เช่นโรคมะเร็ง โรคมะเร็งนี้หมอยังไม่มียารักษา มีการฉายแสง ก็ฉายเท่านั้น ฉายจนกว่าจะตายไป รู้จักคนเป็นโรคนี้หลายคน ไปฉายแสงจนหนังเหี่ยวหนังแห้ง แล้วทีนี้เสร็จก็ตายเหมือนกัน มันเก่งไอ้มะเร็งตัวนี้มันเก่ง มันเกิดแก่ใครแล้วเรียกว่ากัดไม่วาง ไม่ปล่อยจนกว่าคนนั้นจะตาย แล้วเมื่อคนตายแล้วโรคมันก็ตายด้วยเหมือนกัน ไม่มีเหลือ ไม่มีติดต่อ ไม่ใช่ว่าแม่เป็นแล้วลูกก็เป็น ไม่มี ไม่เกี่ยว มันเป็นเรื่องเกิดเฉพาะบุคคล เพราะการผสมส่วนร่างกายมันไม่ปกติ แล้วมันก็เกิดพิษขึ้นมา นี่ก็เรียกว่าเนื้อร้าย เนื้อร้ายมันก็เกิดในตัวคนนั้นเอง ไม่ได้ติดต่อกับใคร ใครเข้าใกล้ก็ไม่ได้ติดต่อ ไม่เหมือนโรคบางอย่าง ไม่ติด แล้วถ้าเราตัดชิ้นเนื้อร้ายนั้นออกมาเพื่อเอาไปพิสูจน์ มันตาย พอตัดออกมามันก็ตาย ไม่มีโอกาสเลี้ยงเพื่อที่จะทดลองยา โรคอื่นเขาเลี้ยงได้ เลี้ยงในหลอดแก้ว แล้วเอายามาทดลอง มันตายไหมกับยานี้ จนพบว่ามันตายกับยานี้ มันเลี้ยงได้ แต่โรคมะเร็งเลี้ยงไม่ได้ ตัดมาก็ตาย แล้วในขณะเป็นมันก็ลุกลาม จากเป็นจุดนี้มันก็ลุกลามไปตามเส้นน้ำเหลืองในร่างกาย ไปออกตรงนั้น ไปออกตรงนี้เป็นไปมากมายหลายเรื่อง
เพื่อนพระองค์หนึ่งเป็นเหมือนน้องชาย นับถือรักใคร่กันดี เป็นมะเร็ง มาตรวจเอาไปฉายเอกซเรย์ที่โรงพยาบาลเจริญอากาศ ก็พบว่าเป็นมะเร็งที่ปลายลำไส้ ที่ภาษาบาลีเรียกว่าอันตะคุนัง อันตะคุนัง เราสวดว่า อันตะคุงนัง ตรงนั้นแหละลำไส้สุดมันดำดูในภาพมันดำ เป็นที่ปอดอีกแห่ง แล้วก็เป็นที่ศีรษะ เป็นในศีรษะมันออกปมออกมา เหมือนกับท้าวแสนปม แต่มันออกมาปมเดียว แข็ง จับทีแข็ง ออกมาใต้ตา แล้วมันลามมาที่ตา ตามองไม่เห็น ถูกเชื้อโรคเข้าไปที่ตา ก็เอามารักษา ให้หมดเช็คเสร็จแล้ว ส่งไปที่จุฬาลงกรณ์ หมอเขาชำนาญในการฉายแสง (39.06 เสียงไม่ชัดเจน) ฉายจนครบจำนวนที่ต้องการ แล้วก็ให้กลับวัด เดือนหนึ่งมา มาอยู่หลายเดือน แต่มาเดือนสุดท้ายพฤศจิกายนนี้มา หมอเปลี่ยนแล้ว ไม่พูดอะไร ไม่สั่งอะไร กลับมาก็ถาม หมอเขาว่าอย่างไร เขาสั่งอะไร ก็บอก ไม่ได้ว่าอะไร นี่แสดงว่าเขาตัดหางปล่อยแล้วเรา เขาไม่เอาแล้ว เขาไม่ยอมรักษาแล้ว กลับวัดแล้ว ก็เลยกลับไปวัด กลับไปวัดก็ทรุดลง จนไม่กินอาหาร แต่หมอก็เอาน้ำเกลือมาให้ ฉันอยู่แต่น้ำเกลือ พูดไม่ได้ แขนซ้ายกระดิกไม่ได้ นอนเฉยๆ ถึงเวลาก็ดับพ้นไป เขาโทรศัพท์มาบอกว่า เจ้าคุณวิเชียรตายแล้ว เออดีแล้ว อาตมาพูดไปอย่างนั้นจริงๆว่าดีแล้ว เพราะอยู่ไปก็ทรมาน ไม่ได้เรื่อง ตายก็ดีแล้ว (39.06 เสียงไม่ชัดเจน) ไว้วันอื่นก่อนถ้าว่างค่อยไป ไปเยี่ยมกัน ให้เขาจัด เขาทำกันเรียบร้อย ไม่มีอะไร แต่ถ้ายังเป็นอยู่ต้องรีบไป ไปให้เกิดกำลังใจ ให้ชื้นใจหน่อยว่าพี่ท่านอุตส่าห์มาเยี่ยม แต่นี่ตายแล้วไปก็มองไม่เห็นแล้ว ไม่ได้ดีใจ ไม่ได้เสียใจ ไม่ต้องรีบร้อน เขาทำกัน คนที่จะทำเยอะแยะ อาตมาไม่รีบร้อน เพราะไม่มีหน้าที่โดยตรงในเรื่องการจัดงานศพ เพียงแต่ไปเท่านั้น แต่ว่าเข้าทำบุญ๕๐วันต้องไป ไปเพื่อที่จะปรึกษาหารือในการที่จะเผาต่อไป
มันเป็นอย่างนั้น ชีวิตมันเป็นอย่างนั้น ถึงเวลามันก็ไปตามเรื่อง เพื่อนฝูงมิตรสหายเราที่นั่งฟังๆธรรมกัน อ้าวหายไปแล้ว หายไปก็แสดงว่าไปแล้ว แต่ยังไม่มีใครไปนะ ยังนั่งฟังธรรมกันอยู่ บางคนก็มาฟังอยู่ตั้งสามสิบกว่าปีนะ มาตั้งแต่เริ่มทำวัด จนบัดนี้ยังมาฟังอยู่ยังไม่ไปไหน ไม่รู้ว่าใครจะไปก่อนใคร ผุ้เทศน์หรือผู้ฟังมันต้องไปกันสักข้างหนึ่ง ไม่วันใดก็วันหนึ่งเป็นเรื่องธรรมดา เราอย่าไปกลัว อย่าไปกล้า อย่าไปเสี่ยงเพื่อให้มันตาย อย่าไปยุ่งปล่อยไปตามเรื่อง สังขารร่างกายมันก็ไปตามเรื่องของมัน ถึงเวลามันก็เป็นอย่างนั้น แต่เจ็บไข้ได้ป่วยก็รักษาไปตามหน้าที่ ใจอย่าเป็นทุกข์ อย่ากังวล ห่วงใยแต่กินยาตามหมอสั่ง รักษาไปตามหน้าที่ มันจะอยู่มันจะไปก็เรื่องของมัน เราไม่เกี่ยว ถึงเวลาจะไปก็ไป
ความจริงเวลาตายนี้ไม่ได้เจ็บปวดรวดร้าวอะไร มันปวดเมื่อเป็นไข้ แต่ตายแล้วไม่มีอะไร อยู่ๆก็หมดลมหายใจของมันอย่างนั้น ก็หมดเรื่องกันไป ไม่มีอะไรใหญ่โต เราอย่าไปเป็นทุกข์เป็นร้อน แล้วไม่ต้องกังวลว่าตายแล้วจะเป็นอย่างไร มันเป็นเรื่องคนอยู่เขาจัดการกันเอง เรื่องงานศพอะไรเขาจัดการกันเอง เว้นไว้แต่ว่าเรามีจดหมายในการทำศพมิให้วุ่นวาย เหมือนกับท่านพุทธทาส ท่านทำพินัยกรรมไว้ ป้องกันไม่ให้วุ่นวาย ไม่ให้ลำบากเรื่องศพของท่าน จึงสั่งว่าต้องทำอย่างนั้น ทำแบบเรียบๆง่ายๆ เขาก็ทำตามที่ท่านสั่ง เรื่องไม่ยุ่ง ไม่อย่างนั้นละยุ่ง จะต้องทำเมรุอย่างนั้น จะต้องมากมาย เพียงแต่หีบใส่ศพก็ราคาแพง เหมือนเจ้าคุณที่เป็นมะเร็ง ไปดูหีบนี้ลวดลายปิดทองเลย เอามาจากไหน เขาว่าสั่งซื้อมาจากกรุงเทพนั้น ไม่เคยเจอศพจะต้องใส่หีบขนาดนี้ ถามราคาเท่าไหร่ ๕๐๐๐๐ ตายแพง ตายแล้วเอาหีบมาใส่ตั้ง๕๐๐๐๐ มันแพง เข้าใจว่าคนอยู่ข้างหลังอยากจะทำ เขาอยากจะเอาหน้าเอาตา ก็เรื่องของเขา ตกแต่งสวยงาม ศาลาก็ปูพรมแดงเต็มศาลา ไม่เคยเห็นแบบนี้ มาเจอพระวัดนี้ ไม่เคยเห็นพรมสักที เอามาจากไหน ซื้อ นี้ลงทุนไม่ใช่น้อยไปซื้อพรมมาปูเต็มศาลาต้อนรับความตาย ปูพรมจัดเก้าอี้รับแขก ซื้อใหม่ทั้งนั้น ถ้าไม่ตายไม่ได้ซื้อหรอกของเหล่านี้ ตายดีเหมือนกัน ได้มีของมีประโยชน์ไว้ใช้ต่อไป แล้วไม่ได้ซื้อแต่พรมนะ ซื้อหม้อข้าว หม้อแกง จาน ชาม เพราะคนมามาก จะกินกับกะลามะพร้าวได้อย่างไร ซื้อ กองจานบนกุฏิมากมาย เอามาจากไหน ซื้อมา เลยถามว่าฉิบหายเข้าไปเท่าไหร่แล้วไม่รู้ พูดเล่นๆนะ คือว่ามันเป็นเรื่องศรัทธาของคน พระทั้งหลายมาช่วยกัน เขาจัดดี คือเจ้าคณะจังหวัดจัดดี พระอำเภอนี้ สองอำเภอคืนหนึ่ง สองอำเภอคืนหนึ่ง มาจัด พระมา คนมา เต็มวัด ถามว่าคนมาในงานนี่หุงข้าวเลี้ยงคนวันละกี่กระทะ บอกว่าวันละ ๑๐กระทะ ๑๑กระทะ หุง๑๑กระทะ เอาข้าวสารมาจากไหน ในเมืองข้าวสารหายากแล้ว ซื้อมา รวยนี่ ตายรวย ไม่ได้ตายจน ซื้อข้าวมาเลี้ยงคนวันละ ๑๑กระทะ มันไม่ใช่น้อยนะ กินข้าวกินกับเยอะ กินกันไม่อั้น ก็เพราะว่าเจ้าคุณองค์นี้ท่านเป็นคนใจกว้าง สมัยยังมีชีวิตนี่ใจกว้าง คนไปคนมาอาหารการกินไม่เดือดร้อน แล้วก็ไปดึงคนในป่าออกมาจากป่าที่สำคัญ พวกอยู่ป่า คอมมิวนิสต์ ท่านไปติดต่อพ่อแม่ พี่น้อง ให้มันมา ให้มันมาหาฉัน ฉันจะพาไปมอบเจ้าหน้าที่ เขาก็พาออกมาเยอะแยะ ออกมาท่านก็พาไปหาเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่นี่ก็ดีเหมือนกัน ก็บอกท่านเลี้ยงไว้ก็แล้วกัน ข้าวสารก็ไม่ให้ อะไรก็ไม่ให้ แต่ให้เลี้ยงไปเรียกเขาออกจากป่า ๒๐ ๓๐ ๕๐ นอนเต็มไปถึงกฏิ เลี้ยงกันไป เวลาไปเยี่ยม ก็แหมบริวารมากมาย พวกนี้ไปอยู่ในป่า เพิ่งเกิดเป็นผู้เป็นคน เป็นลูกเล็กเด็กแดง ต้องเลี้ยงมันต่อไป ก็เลี้ยงไว้ ก็ไม่ได้เอาไปลงโทษอะไร ออกมาให้ท่านเลี้ยงดูแลให้ ถึงเวลาก็บออกให้กลับบ้านได้ ๒ – ๓ เดือน ก็ให้กลับบ้านได้ เขาก็กลับไปอยู่บ้าน ทีหลังท่านมีงานอะไร ส่งข่าวมากันหมดเลยพวกนั้นพวกเข้าป่า แต่ละทีมากันเต็มวัดเต็มวา พวกนั้นทั้งนั้น เขาก็ไม่มามือเปล่าหรอก เอาข้าวสารมา เอาผักมา เอาอะไรมาช่วยงาน และช่วยกินด้วย อยู่กันจนของหมดแล้วก็กลับบ้านกันต่อไปอยู่อย่างนั้น
ฉะนั้นคนรักใคร่ เคารพนับถือเพราะเป็นพระที่ใจกว้าง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คนเหล่านั้นเขาก็นึกถึง เพราะว่าท่านไปดึงเขาออกมาจากป่า ออกจากความเป็นลิงเป็นค่างมาเป็นผู้เป็นคน อยู่ในบ้านในเมืองต่อไป ผลงานที่ท่านทำไว้ เป็นพระใจดี เสียสละ ช่วยเหลือราชการงานเมืองพอสมควร แต่ราชการก็ยังไม่ได้ช่วยอะไร เห็นจะต้องไปบอกกระทรวงมหาดไทยเสียหน่อย เวลาทำศพ ต้องพรรณนาความดีไปบอกว่าให้ไปทำอะไรบ้าง ให้คนเขาเห็นว่าราชการนี่รู้จักบุญคุณคนอยู่บ้างเหมือนกัน ไม่ใช่เฉยๆ ต้องบอกทีหลัง เป็นอย่างนั้น
ความตายของคนบางคนก็เป็นที่เสียดาย เพราะว่าเป็นคนทำประโยชน์ แต่บางคนตายก็ไม่น่าเสียดายอะไร เพราะว่าไม่ได้ทำอะไรที่เป็นคุณเป็นค่า แก่ชาติ แก่บ้านเมือง แก่ครอบครัว ตายแบบไม่มีอะไร เป็นอย่างนั้น
ชีวิตคนมันจึงขึ้นอยู่กับผลงาน ขึ้นอยู่กับความงาม ความดีที่ได้กระทำไว้ในโลกนี้ จึงจะเรียกว่าชีวิตมีค่า มีราคา เราเกิดมามีชีวิตอยู่ในโลกก็ควรคิดบ่อยๆ คิดว่าเกิดมาทำไม มีชีวิตอยู่เพื่ออะไร สิ่งที่ดีที่สุดที่เราควรทำคืออะไร แล้วเราได้กระทำสิ่งนั้นอยู่หรือเปล่า ต้องคิดบ่อยๆ ถ้าได้ทำเดี๋ยวก็ทำต่อไป ถ้าไม่ได้ทำก็รีบกระทำเสีย เพราะชีวิตมันน้อย มันสั้น เรารู้ไม่ได้ว่าจะหมดลมหายใจเมื่อใด อย่าอยู่ด้วยความประมาท เพราะจะเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ครอบครัวได้ แก่ประเทศชาติได้ จงต้องรีบเร่งสร้างคุณงามความดี แต่งเติมใจอยู่ด้วยความดี ด้วยธรรมะของพระพุทธเจ้า เอาธรรมะเป็นแสงสว่าง แล้วก็เดินไปตามเส้นทางนั้น จึงจะเป็นการถูกต้อง สำหรับวันนี้ขอพูดเพียงเท่านี้