แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการมาวัดในวันอาทิตย์ตามสมควรแก่เวลา วันนี้อากาศเป็นหน้าหนาว ก็ปลอดโปร่งดี ฝนฟ้าไม่ได้ตก ตั้งแต่นี้ไปก็ฝนคงจะหมดแล้ว มีแต่ความหนาวเข้ามาแทน ฤดูกาลมันก็เปลี่ยนไปตามเรื่อง ปีหนึ่งก็มีฤดูฝน ฤดูร้อน ฤดูหนาว ผลัดเปลี่ยนกันไป หมุนเวียนกันไปตามลำดับ เป็นเรื่อง “วัฏฏะโต โลโก” คือโลกหมุนไป อะไรๆ ก็เปลี่ยนแปลงไป
ชีวิตของเราก็มีการเปลี่ยนไปเหมือนกัน ไม่ได้อยู่คงที่ คือสังขารร่างกายนี้มีการเปลี่ยนแปลงทุกลมหายใจเข้าออก เปลี่ยนแปลงไปสู่ความแตกดับ ผลที่สุดชีวิตก็ต้องแตกดับด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีใครหนีจากกฎของธรรมชาติไปได้ เราอยู่ในโลกก็ต้องรู้กฎของธรรมชาติว่ามันเป็นอย่างไร แล้วก็อย่าไปกลัว อย่าไปวิตกกังวลกับสิ่งต่างๆที่จะเกิดขึ้นในชีวิตของเรา แต่เราต้องรู้ทันรู้เท่าของสิ่งเหล่านั้นว่ามันเป็นอย่างไร อนาคตของชีวิตมันจะเป็นอย่างไร ร่างกายนี้จะเป็นอย่างไร
เช่น เรารู้ว่าร่างกายนี้เปลี่ยนแปลงไป ผมที่เคยดำจะกลับขาว ตาเคยยาวกลับสั้น หูเคยฟังอะไรชัดเจนแจ่มแจ้งก็จะกลายเป็นฟังไม่ค่อยชัด เขาเรียกว่าหูตึง หูตึงคือฟังไม่ได้ยินนั่นเอง แล้วร่างกายบางส่วนก็เปลี่ยนแปลงไป เช่นว่า เข่า คนแก่นี้มักจะปวดหัวเข่า ปวดแข้ง ปวดขา ปวดเอว ปวดหลัง ปวดหัวไหล่ ปวดต้นคอ เรื่องคนแก่ทั้งนั้น สมบัติคนแก่มันรอเราอยู่ข้างหน้า คอยต้อนรับเรา พอเราไปถึงเวลา เขาบอกว่ามายินดีต้อนรับ รับให้เราปวดเข่า ให้เราปวดขา ปวดแข้ง ให้ผมหงอก ให้ฟันหลุด ให้ตามัว ให้หูตึง อะไรๆต่างๆนี้เขาต้อนรับอยู่ตลอดเวลา แล้วก็เป็นการต้อนรับที่ยุติธรรม ไม่มีลำเอียง คนรวย คนจน คนโง่ คนฉลาด คนประเภทใดก็ตาม รับพร้อมกันหมด เป็นเหมือนกันหมด หนีไม่พ้น
อันนี้คือเรื่องของธรรมชาติ เราอยู่ในโลกก็ต้องรู้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ว่าจะเป็นอย่างไร และเมื่อถึงเวลาที่มันเป็นก็อย่าไปทุกข์ร้อน อย่าไปวิตกกังวลว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เพราะว่าคนอื่นเขาก็เป็นเหมือนกัน ไม่ได้เป็นแต่เราคนเดียว เช่น คนแก่นี่นอนไม่ค่อยหลับ หลับน้อย ธรรมชาติคนแก่มันก็เป็นอย่างนั้น นอนหลับน้อย ทีนี้โยมที่นอนไม่หลับก็นึกว่า “เอ้...กูคนเดียวเลย นอนไม่หลับ คนอื่นเขาหลับกันทั้งนั้น” ก็เขายังไม่แก่ขนาดเรานี่ เขาก็นอนหลับ แต่ถ้าประชุมคนแก่ แล้วก็ถามกันว่าใครนอนหลับสนิทบ้าง จะได้รับคำตอบแบบเดียวกันว่านอนไม่สนิท คือเวลาหลับมันหลับสนิทนั่นแหล่ะ แต่ว่าหลับไม่เท่าใดมันก็ตื่น เพราะปกติคนแก่เป็นอย่างนั้น ไม่มีใครนอนหลับนาน
แต่เด็กนั้นหลับสนิทนาน เราเห็นลูกหลานนอน กลางวันก็นอน กลางคืนพอค่ำก็นอน เด็กมันนอนเพื่อความเติบโต คือการนอนนั่นแหล่ะ คือความเติบโต เวลาพักนี่ร่างกายเติบโตขึ้น เปลี่ยนแปลงไป แต่เวลาตื่นมันก็เล่นสนุกกันไปตามเรื่อง แต่พอล้มลงถึงหมอนมันก็นอนหลับ หลับง่าย เพราะเด็กนี่ไม่มีความวิตก ไม่มีความกังวล ด้วยปัญหาอะไรๆที่เหมือนคนผู้ใหญ่
คนผู้ใหญ่เราวิตกกังวลมาก แล้วก็นอนไม่ค่อยหลับ แต่ว่าคนแก่นั้นจะวิตกกังวลหรือไม่กังวลก็ตาม พอล้มหมอนลงไปก็นอน นอนแล้วก็หลับ หลับแล้วก็ตื่น ตื่นไว ตื่นไวกว่าใครๆ เพราะฉะนั้นเขาจึงเปรียบว่าคนแก่นี่ ขออภัยเขาเปรียบว่าเหมือน “หมาเฝ้าบ้าน” หมามันไม่หลับ มันคอยเห่าเรื่อย ได้ยินเสียงอะไรก็เห่า มันตื่นกัน ทีนี้คนแก่ก็นอนไม่หลับก็เรียกว่าเหมือนสุนัขเฝ้าบ้าน ยามแก่นี่เขาเปรียบเหมือนกับสุนัขเฝ้าบ้าน การเป็นเช่นนั้นเหมือนกันทุกคน มีโยมคนแก่มาที่วัดก็บ่นให้หลวงพ่อฟังว่า “โอ้ย...ไม่ไหวเจ้าค่ะ นอนไม่หลับ” และบอกว่าไม่ใช่แต่โยมคนเดียวที่นอนไม่หลับ คนแก่ทั่วโลกมันเหมือนๆกัน นอนไม่หลับเหมือนกัน
อาตมานี่ก็นอนหลับน้อย เพราะว่าแก่แล้วเหมือนกัน อายุ 80 กว่า 84 แล้วปีนี้ ก็อย่างนั้นแหล่ะนอน แต่ไม่ได้ทุกข์ร้อนอะไร ไม่หลับก็ช่างหัวมัน ก็นอนเฉยๆ ไม่ได้กลุ้มอกกลุ้มใจ ตื่นขึ้นก็หลับบ้างตื่นบ้าง แต่ว่าหลับเต็มตื่นจริงๆนั้นมันมีระยะหนึ่ง เต็มตื่นเลย คือสมมติว่านอนเวลา เดี๋ยวนี้ก็นอนมักจะ ๑๐โมง ๑๐ครึ่ง บางทีก็ถึง ๒๑นาฬิกา ๒๓นาฬิกา เพราะว่ามันมีอะไรจะดูอยู่ด้วยตอนนี้ ตอนหัวคำนี่ ดูหนังเป่าบุ้นจิ้น เป่าบุ้นจิ้นนี่น่าดู ดูวันพฤหัสบดี ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ นี่เป่าบุ้นจิ้น แต่ถ้าวันจันทร์ อังคาร นี่ดูสามก๊ก ทีนี้สามก๊กมันฉายดึกหน่อย ๑๐โมง ๑๐โมงกว่า ต้องดูไปจนจบ ดูว่าบทบาทโจโฉจะไปอย่างไร ขงเบ้งจะไปอย่างไร จิวยี่จะไปอย่างไร ดูแล้วก็จำวัด พอจำวัดก็หลับนั่นแหล่ะ หลับเลย ไม่เท่าใดก็หลับ หลับไป สมมติว่า๒๓ ๒๔ ตี๑ ตี๒ ตี๓ตื่นแล้ว ๕ ชั่วโมง นอนหลับสนิท ๕ ชั่วโมงก็ตื่น ตื่นลุกขึ้น ไปปัสสาวะ แล้วก็มานอนต่อ นอนต่อตอนนี้มันก็ไม่หลับ หลับๆตื่นๆ อะไรไปตามเรื่อง แต่ว่าไม่ค่อยฝัน ไม่ค่อยฝันอะไร แต่ถ้าฝันแล้วเป็นเรื่องยาว ฝันยาวไปเลยเป็นเรื่อง เป็นระเบียบ มันยาว แต่ไม่เอามาเล่าให้ใคร ฝันยาวๆ ไปนั่นไปนี่ เรื่องยาว เรื่องฝันเรื่องยาว มันก็เป็นไปตามเรื่องธรรมชาติ เป็นอย่างนั้น ไม่ได้มีความทุกข์ว่านอนไม่หลับ เพราะมันหลับพอแล้ว แล้วมันก็ตื่นขึ้น
ท่านเจ้าคุณพุทธทาสท่านก็ตื่น ตี ๓ เหมือนกัน ท่านนอนเวลา ไม่ดึกนะ แล้วท่านก็ตื่นตี ๓ ตื่นแล้วท่านก็อ่านหนังสือ คือไม่รู้จะทำอะไรก็อ่านหนังสือ สมัยที่ตาท่านมัวก็อ่านหนังสือ ถึงแม้ใกล้มรณภาพนี่ตาก็ยังอ่านหนังสือได้ ใส่แว่นถ้าอ่านหนังสือ หรือว่าเขียนอะไรบ้าง มีการเขียน เขียนก็ไม่ได้เขียนด้วยมือ เขียนด้วยพิมพ์ดีด เพราะว่าข้างที่นอนนั้นมีพิมพ์ดีดอยู่เครื่องหนึ่ง เก่าแก่เต็มที ใช้มาตั้ง๖๐-๗๐ปีแล้ว (08.36) ท่านก็ดีด พิมพ์ไปเรื่องนั้นเรื่องนี้ ธรรมะ พิมพ์ดีดไว้ หรือมิฉะนั้นก็อัดเทป นึกอะไรขึ้นได้ก็พูดใส่เทปไว้ ก็ข้างที่นอนของท่านนั้นมีเทปเครื่องหนึ่ง พิมพ์ดีดเครื่องหนึ่ง แล้วก็นอกนั้นก็หนังสือ คือท่านนอนอยู่ระหว่างกองหนังสือ พอตื่นขึ้นก็หยิบหนังสือเล่มนั้นมาดู หรือว่าเขียนอะไรไปด้วย พิมพ์ดีด หรือพูดอัดเสียงธรรมะไว้ ญาติโยมเคยฟังเทศน์ของท่าน
วัดท่านเทศน์วันอาทิตย์ อาทิตย์ที่3ของเดือน ท่านเทศน์ทุกอาทิตย์นะ จะได้ยินเสียงไก่ขันทุกที เดี๋ยวขัน เพราะว่าตอนนั้นไก่มันขันแล้ว แล้วรอบๆกุฏิก็มีไก่เยอะ ไก่ขัน ไก่ขันตลอดเวลา มันก็ติดเข้าไปในเทปด้วย เป็น background ไป ดีเหมือนกัน ท่านทำอย่างนั้น แล้วพอสว่างท่านก็ออกมาข้างนอก ออกมามีพระมาจะพาท่านเดิน ต้องมีพระองค์หนึ่งคอยเดินเคียงไป กลัวท่านจะล้ม เดินช้าๆ เดินไปประมาณสัก ๓๐ นาทีก็ต้องหยุด หยุดแล้วก็เดินต่อ อาตมาไปนอนที่นั่นก็เดินกับท่าน เดินด้วยกัน ก็เดินไปเดินมานี่ นี่เหนื่อยแล้ว ตอนนี้เหนื่อยแล้ว เดินไม่ไหวแล้ว ต้องหยุดกันหน่อย หยุดก็คุยอะไรต่ออะไรกันไป แล้วก็เดินต่อ เดินประมาณหนึ่งชั่วโมง คือเวียนรอบบริเวณนั้น มากลับมาที่ที่พักของท่าน แล้วก็หมอ (10.22) ปลาจ้อย ปลาจ้อยนี่เดิมเป็นหมอนวด อยู่กับบ้าน (10.26) คุณพระดุริยภาค …… แล้วก็ต่อมาเขาส่งให้ไปนวดท่านเจ้าคุณ นวดไปนวดมาก็เลยบวชซะเลย บวชแล้วก็นวดกันต่อไป เดี๋ยวนี้ก็ยังอยู่ ปลาจ้อยนี่ยังอยู่ ยังบวชอยู่ แต่ว่าตอนนี้ไม่รู้จะนวดใครแล้ว ก็เลยอยู่วัด ศึกษาธรรมะธรรมโมอะไรไปตามเรื่องของท่าน ให้ท่านช่วยนวด นวดประมาณชั่วโมงครึ่ง แล้วก็สรงน้ำ แล้วก็ฉันอาหารนิดๆหน่อยๆ ถ้าเวลาไปฉันด้วยกันท่านว่า นี่ฉันนิดเดียว ฉันไม่ได้ ร่างกายมันไม่เอาแล้วเรื่องอาหารนี่ แล้วก็ดื่มน้ำนมอะไรแก้วหนึ่ง ก็พักผ่อน คุยอะไรกันไปตามเรื่องของท่าน
กลางวันนี่ท่านไม่ค่อยได้พัก แต่ว่าก็ไปนอนบนม้าโยก ม้าที่โยกได้ นอนบนนั้น ตรงนั้นกองหนังสือเต็ม ม้าวางอยู่ตรงนั้น โต๊ะหนังสือ หนังสือเต็มทั้งสองข้าง วางระเกะระกะ (11.32) ทำไมไม่ช่วยจัดที่นี่ให้เจ้าคุณให้เรียบร้อยหน่อย ไม่ได้ จัดไม่ได้ จัดแล้วท่านหาไม่พบ ท่านวางอย่างไรก็ต้องอยู่อย่างนั้น ยิ่งดูเก้งก้าง กองหนังสือไม่เรียบร้อย ถ้าเราไปจัดให้เรียบร้อย ท่านว่าหายไปไหนเล่มนั้นหายไปไหน เล่มโน้นหายไปไหน หาไม่เจอ ไม่ได้ ท่านว่าอย่ามายุ่ง อย่ามาอยู่ตรงนี้ อย่ามายุ่ง ใครไปเห็นก็บอก “เอ...หนังสือท่านเจ้าคุณนี่ทำไมมันวางไม่เรียบร้อย” ท่านวางอย่างนั้น หยิบง่าย ก็ท่านวางอย่างใดก็ยังวางไว้ หันหัวไปนั่น หางไปโน่น แต่ก็หยิบของท่านง่าย แต่ถ้าเราไปจัดแล้ว “เอ๊ะ....ไอ้เล่มนั้นอยู่ตรงไหน” ทำให้เกิดปัญหา ท่านต้องการความสะดวก ก็ไม่ไปจัดให้ท่าน คอยแต่ดูแลเวลาฝนตก เอาผ้าพลาสติกไปคลุม ไม่ให้ฝนมันถูกหนังสือเท่านั้นเอง แล้วก็ปล่อยของท่านอย่างนั้น อยู่อย่างนั้น ท่านก็อยู่ตามปกติของท่าน ไม่ค่อยได้นอนกลางวันแต่ว่านั่งบนม้าโยก เคลิ้มไปบ้าง ถ้าแขกไปใครมาก็ลุกขึ้นมาต้อนรับ แต่ถ้าเป็นแขกคุ้นเคยกัน สนิทสนมกัน ท่านไม่ลุกขึ้นมา แต่ไปนั่งคุยกันตรงนั้นแหล่ะ ท่านก็นั่งโยก
เวลาจะเขียนหนังสือท่านก็ไม่มีโต๊ะ ไม่ใช่มีโต๊ะมีเก้าอี้หรูหราสำหรับนั่งเขียนเลย หาไม่ได้ แต่ว่าเอาไม้กระดานมาแผ่นหนึ่ง วางบนขาแล้วท่านก็เขียน ลายมือสวย เส้นเรียบร้อย เขียนวรรคตอนดี ท่านไม่ได้เขียนบนโต๊ะสวยงาม ไม่ได้นั่งบนเก้าอี้หรูหราราคาแพงอะไร แต่เขียนบนม้าโยก ที่เขามีขายในตลาด (13.19) ไม่รู้ใครซื้อไปถวายท่าน ท่านก็เอาวางบนขาแล้วก็นั่งเขียน คำนำหนังสือ (13.25) เล่มใหญ่ๆ ที่เราเห็นลายมือสวยๆ ท่านเขียนอย่างนั้น เขียนบนกระดานที่วางบนขานั่นเองแล้วก็เขียน จิตของท่านสงบ (13.36) ทีเดียว เวลาเขียนก็ไม่ค่อยผิดพลาด ไม่มีการขีดไม่มีการค่า การตก การซ่อม เพราะว่าจิตมันสงบ เขียนไปตามคำสั่งของจิตที่สงบ ก็เขียนได้เรียบร้อย(13.53) แต่ถ้าเป็นเรื่องยาว ท่านไม่เขียนหรอก ท่านพิมพ์ดีด พิมพ์ดีดก็นั่งกับพื้น นั่งกับพื้นอย่างนี้ ท่านเอาพิมพ์ดีดวางท่านก็เคาะเรื่อยไป ชำนาญ ก็พิมพ์มานาน
เครื่องพิมพ์เครื่องนั้นได้รางวัลจากคุณนาย คุณน้าสงวน เศรษฐภักดี อยู่บ้านดอน ท่านไปสอนนักเรียน โรงเรียนนั้นคุณน้าสงวนเป็นผู้สร้าง และท่านไปสอนนักเรียน ๓๑ คน สอบได้ ๓๐ คน ตกไปคนหนึ่ง คงจะหูตึง นักเรียนคนนั้นถึงสอบไม่ได้ สอบตก สอบตกไปคนเดียว แต่น้าสงวนแกก็ดีใจว่าเออคุณ (14.38) นี่สอนหนังสือดี นักเรียน ๓๑ คน (14.43) ถึง ๓๐ คน ก็เลยซื้อพิมพ์ดีดให้เป็นรางวัลเครื่องหนึ่ง แล้วมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพก็เอามา เวลาทำแบบฝึกหัด แปลอะไรท่านก็พิมพ์ดีดทั้งนั้น คนอื่นเขาเขียนแต่ท่านพิมพ์ดีดทุกที พิมพ์ดีดส่งให้ครู ครูบอก “เอ้...ไม่ได้เขียนหนิ” พิมพ์ดีดเร็วกว่า แล้วท่านก็พิมพ์ดีด แปลหนังสืออะไรอย่างนั้น
พิมพ์ดีดเครื่องนั้นใช้อยู่จนกระทั่งท่านหมดลมหายใจ เดี๋ยวนี้เขาเก็บไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ ให้คนได้ไปดูเครื่องใช้ของท่านทุกอย่างเก็บไว้ทั้งนั้น ใส่ตู้ไว้เรียบร้อย เครื่องอัดเสียงเก่าแก่ พิมพ์ดีด เครื่องใช้ที่ท่านเคยใช้ก็เก็บไว้ ให้คนได้ไปดูไปศึกษา ท่านเป็นอยู่อย่างนั้น
แล้วก็ท่านไม่เคยบ่นว่าปวดหัว ไม่เคยบ่นเรื่องนั้นเรื่องนี้กับใครๆ ท่านอยู่ของท่านตามปกติ ไม่ใช่ว่าจะไม่มีโรค มีเหมือนกัน แต่ว่าไม่ชอบบ่น ไม่ชอบบ่นให้ใครฟัง ท่านไม่พูดให้ใครฟังว่าเป็นยังไง พูดแต่ว่าธรรมดา (15.54) อย่างนั้นอย่างนี้ให้ใครฟังบ้าง ถ้าเป็นคนคุ้นเคยกัน เช่นว่าหลวงพ่อไป ท่านก็บอกว่าเดี๋ยวนี้มันเป็นอย่างนั้นมันเป็นอย่างนี้ สุขภาพนั้นมันเปลี่ยนแปลงไปตามกฎของธรรมชาติ ไม่ได้มีอะไรที่จะต้องเป็นทุกข์เป็นร้อน แต่ว่ามันเปลี่ยนไป เช่นฉันอาหารไม่ค่อยได้ อะไรอย่างนี้ แม้ว่ากับข้าวจะอร่อย มันก็ฉันไม่ได้ ไม่อร่อยก็ฉันไม่ได้ ฉันนิดหน่อย ฉันพออยู่ได้ แล้วก็ไม่ค่อยหิวกระหายอะไร ตลอดเป็นอยู่อย่างนั้น
นี่เรื่องของคนแก่ก็เป็นอย่างนั้น แล้วก็ไม่ลำบาก พอถึงเวลาใกล้มรณภาพก็นอนเลย ไม่ลุกขึ้น นอนอยู่ ๔๒ วัน ก็หมดเรื่องแล้วจบ หมดลมหายใจ มันเป็นอย่างนั้น ชีวิตเราเป็นอย่างนั้น ทุกคนเหมือนกัน ไม่มีข้อยกเว้น เพราะฉะนั้นเวลาอะไรเกิดขึ้นก็ต้องบอกตัวเอง ว่ามีแล้วๆมาแล้ว ของเก่าของที่มีอยู่ในโลกมาหาเราแล้ว เราต้องต้อนรับมันด้วยอารมณ์สดชื่น ยิ้มแย้มแจ่มใส อย่าต้อนรับด้วยหน้าบูดหน้าบึ้ง เพราะว่าถ้าเราบึ้งเราก็เป็นทุกข์ เป็นทุกข์ก็เป็นการลงโทษตัวเราเอง
โรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นก็เป็นบทลงโทษบทหนึ่งของชีวิต เราไม่เป็นทุกข์ก็ไม่เป็นไร จิตใจสบาย แต่ถ้าเรามีความทุกข์มีความเดือดร้อนใจ ซ้ำสอง เรียกว่าเป็นโรคแล้วยังเป็นทุกข์อีก อ่าวมันก็เป็นซ้ำสองลงไป เราอย่าเป็นทุกข์ ไอ้เรื่องนี้สำคัญนะ คือว่าเราอย่าเป็นทุกข์เป็นร้อนกับเรื่องที่มันเกิดขึ้น แต่ว่าเราก็ต้องรักษาไปตามหน้าที่ รักษาได้มันก็หาย รักษาไม่ได้ก็นึกว่าโรคมันแรง ไม่มียาจะรักษา ก็ต้องพอใจ ถ้าเราพอใจเราก็ไม่ทุกข์อะไร ไม่เดือดร้อนอะไร มันเป็นอย่างนี้
เช่นว่าเรามีลูกมีเต้า เด็กบางคนเกิดมาสุขภาพไม่เรียบร้อย ไม่ได้เป็นเจตนาของพ่อแม่ พ่อแม่ไม่ได้มีความตั้งใจจะให้ลูกเกิดมาอย่างนั้น แต่มีความปรารถนาที่จะเห็นลูกมีสุขภาพร่างกายดี สุขภาพจิตใจดี เกิดมามีร่างกายสมบูรณ์เรียบร้อย ไม่ขาดตกบกพร่อง แต่ว่าเด็กบางคนมันก็ไม่เรียบร้อย ขาดตกบกพร่องทางสมองบ้าง ทางร่างกายบ้าง เราก็รักษากันไปตามหน้าที่ รักษาตามหน้าที่ที่เราจะต้องรักษา เพราะการรักษาก็เป็นหน้าที่ แต่ถ้ารักษาแล้ว มันไม่หาย มันคงเป็นอยู่อย่างนั้นก็ปลงลงไปเสียว่าธรรมดามันเป็นอย่างนี้ ธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้ เราอย่าวิตกกังวล ให้เป็นความทุกข์เป็นความเดือดร้อนใจ เพราะความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นในใจของเรานั้น ลงโทษตัวเราเอง ลูกเป็นไข้ก็เป็นเรื่องธรรมชาติที่มันเป็นอย่างนั้น เราก็รักษาเขาไปตามหน้าที่ที่เราจะรักษาได้ แต่ว่ารักษาไม่ได้ก็จะทำอย่างไร
ถึงแม้เราจะกลุ้มใจ จะเป็นทุกข์ ช่วยได้ไหม เวลาเรากลุ้มใจช่วยอะไรได้บ้าง ช่วยให้ลูกหายไหม ช่วยให้มีอาการดีขึ้นไหม ไม่ได้ทั้งสองอย่าง ไม่ได้เรื่องเลย แล้วเราจะไปเป็นทุกข์ทำไม ไปกลุ้มใจทำไม เพราะถึงเป็นทุกข์มันก็ไม่หาย กลุ้มใจมันก็ไม่หาย แล้วเราจะไปกลุ้มทำไม ปลงลงไปว่าเรื่องมันเป็นอย่างนี้ ธรรมดามันเป็นอย่างนี้ ใช้คำพูดท่านพุทธทาสที่ท่านพูดว่า ธรรมดามันเป็นอย่างนั้น ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น พูดไป สอนตัวเอง ว่าธรรมดามันเป็นอย่างนั้น ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น ถ้าเราพูดอย่างนั้นเราก็สบายใจ ไม่ต้องเป็นทุกข์กังวล แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะละเลย ไม่รักษา เราก็รักษาไปตามหน้าที่ ตามความรู้ ตามความสามารถ เรารู้จักหมอผู้เชี่ยวชาญ ไปหา แล้วก็รักษาไป แต่อย่าเป็นทุกข์ ถ้าเราเป็นทุกข์ก็เหมือนกับลงโทษตัวเราเอง มันไม่ได้อะไร
ไฟกำลังไหม้บ้านแล้วเราไปยืนร้องไห้เพราะไฟไหม้บ้าน น้ำตาที่ไหลออกมานั้นไม่ได้ช่วยให้ไฟมอด ไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้น แต่เป็นการเพิ่มความทุกข์ให้แก่ตัวเราเอง ไม่ได้อะไร ผู้ที่มีความคิดถูกต้องจึงปลงตกลงไปว่ามันเป็นตามเรื่อง ไฟกับเชื้อมันชอบกัน มันก็ไหม้กันไป ไหม้หมดแล้วค่อยรื้อ แล้วก็สร้างใหม่ต่อไป ไม่ลำบากยากเข็ญอะไร เราคิดอย่างนั้นก็สบาย ยิ้มได้ขณะที่เพลิงไหม้บ้าน ยิ้มได้ขณะที่เรานอนอยู่บนเตียง นอนป่วยเราก็ยิ้มได้ ใครมาเยี่ยมมาเยียนก็คุยกันได้ พูดจากันสบายๆ ไม่แสดงอาการทุกข์ร้อนวิตกกังวลให้เสียหาย
ถ้าว่าจิตใจเราดีนี่มันช่วยได้มากนะ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดแก่ตัวเราเอง ถ้าจิตใจเราดีนี่มันช่วยได้มาก กำลังใจนี่สำคัญ ช่วยให้สิ่งทั้งหลายดีขึ้น แต่ถ้าเป็นกับคนอื่น แม้เราจะมีกำลังใจดี ช่วยได้บ้างนิดหน่อย คือคนป่วยเห็นเราหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสใจเบิกบาน เขาก็พลอยเบิกบานไปกับเราด้วย แต่ถ้าเราไปทุกข์กลุ้มอกกลุ้มใจ แสดงอาการกระฟัดกระเฟียดในรูปต่างๆ คนป่วยก็ใจไม่สบาย มีปัญหาเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเราผู้พยาบาลคนป่วยนี่ต้องยิ้มแย้มแจ่มใสใจเบิกบาน เหมือนกับนางพยาบาลหรือหมอนี่ต้องเป็นคนใจดี อารมณ์ดี ไม่หวั่นไหวโยกโคลงไปกับสิ่งที่เกิดขึ้น คนไข้เขาจะบ่นเขาจะว่าอะไรก็ทำเฉยๆ ทำหูทวนลมเสียบ้าง ไม่ได้ยิน แต่ว่าสิ่งใดเป็นหน้าที่เราต้องทำให้ถูกต้อง ทำให้เรียบร้อย ไม่เบื่อหน่าย ไม่อิดหนาระอาใจในสิ่งนั้น ใจเราก็สบาย อันนี้เอาไปใช้ได้ในเรื่องกิจการงานต่างๆ
ในเรื่องเช่นว่าเราทำงานทำการนี่ มีความรับผิดชอบสูงขึ้น คนบางคนทำงานอยู่ตามปกติมันก็ไม่มีอะไร แต่ว่าเราทำงานดี มีความสามารถ ผู้บังคับบัญชาไว้เนื้อเชื่อใจ เขาก็เลื่อนเราให้ไปดำรงตำแหน่งสูงขึ้น ให้ไปดำรงตำแหน่งสูงขึ้นการปกครองคนมันก็มากขึ้น เรื่องการงานนี่มันลำบากตรงคนนะ งานไม่ลำบาก แต่คนนี่ลำบาก คนมีปัญหา เพราะคนมันมาก คนมากนี่นิสัยไม่เหมือนกัน ความคิดไม่เหมือนกัน อะไรไม่เหมือนกัน เราต้องรู้ว่าเราต้องไปผจญกับปัญหา เพราะเราต้องไปปกครองคนจำนวนมาก เช่นเป็นหัวหน้าคนนี่ คนมันเยอะแยะ เราก็ต้องเตรียมตัวไว้ว่าคนเหล่านั้นไม่เหมือนกับเรา นิสัยไม่เหมือนกัน ความคิดไม่เหมือนกัน การเป็นการอยู่การทำอะไรก็ต้องแตกต่างกันออกไป เราอย่าไปตกใจ อย่าไปกลัวสิ่งเหล่านั้น แต่เราจะต้องใจเย็น ใจสงบไว้ เพราะใจที่เย็นใจที่สงบนั้น มีความคิดปลอดโปร่งแจ่มใส แต่ถ้าใจเราคอยหงุดหงิดงุ่นง่านรำคาญกับคนพวกนั้น เราคิดอะไรไม่ได้
สิ่งเหล่านี้ภาษาธรรมะเขาเรียกว่า “นิวรณ์” นิวรณ์แปลว่าเครื่องกั้น เหมือนกับม่านกั้นอย่างนี้ม่านมันกั้นไว้ทำให้เราไม่เห็นฝา ถ้าเราเอาม่านออกเราก็เห็นฝาชัดเจน ใจคนเรานี้ก็มีม่านเข้ามาปิดบังไว้ ไม่ให้เราเห็นอะไรแจ่มแจ้ง ม่านมันมี ๕ ชั้น เรียกว่า “นิวรณ์ ๕” คือ “กามฉันทะ” ความพอใจในกามารมณ์ คือคนหมกมุ่นมัวเมาในเรื่องกามารมณ์ นี่เรียกว่า กามฉันทะ “พยาบาท” อารมณ์ขุ่น อารมณ์แค้น หงุดหงิดงุ่นง่าน มีอะไรกระทบหน่อยก็หงุดหงิดงุ่นง่าน ไม่รู้จักบังคับตัวเองควบคุมตัวเอง
อารมณ์อย่างนี้งานเสียเหมือนกัน แล้วถ้าเราเป็นผู้บังคับบัญชา ถ้าเรามีอารมณ์หงุดหงิดงุ่นง่านบ่อยๆ ลูกน้องก็ไม่พอใจ (25.07) เมื่อหงุดหงิดแล้วมันก็ทำพูดอะไรกระทบคนเหล่านั้น แสดงกิริยาอาการกระทบคนเหล่านั้น บังคับตัวเองไม่ได้ พูดไปด้วยอารมณ์หงุดหงิดก็พูดคำหยาบ พูดคำที่ไม่น่าฟัง เราพูดคำที่ไม่น่าฟังกับลูกน้องของเรา ถ้าเราไปอยู่ใหม่ลูกน้องก็จะเกิดความรังเกียจ รังเกียจว่านายคนนี้ไม่ไหว ใจร้อนใจเร็ว หุนหันพลันแล่น ถ้าเขาไปกระซิบกระซาบกันในหมู่คนทั้งหลายที่อยู่ใต้บังคับบัญชา บอกว่าแหมนายคนนี้ไม่ไหว ใจร้อนใจเร็ว อารมณ์เสีย เราก็เสียหาย ไม่เป็นที่พอใจของลูกน้อง การบังคับบัญชาก็เสียหาย เรียกว่าเสียระเบียบวินัย ที่ฝรั่งเขาเรียกว่า “discipline” มันก็เสียหาย เพราะอารมณ์หงุดหงิดเกิดจากความพยาบาท คือตัวโทสะนี่เกิดขึ้นในใจ เรียกว่าเป็นพยาบาท
แล้วก็ “ถีนะมิทธะ” หมายถึงความซึมเซื่องเงื่องหงอย ง่วงนอน ไม่ตื่นตัว ไม่ว่องไว ในการทำงาน ความซึมเซื่องเงื่องหงอยนี่เกิดจากอะไรก็ได้ เช่นว่าเราไปดื่มเหล้ามาก ก็เพลีย เวลามาทำงานก็นั่งซึมๆ เขาพูดอะไรเราก็ไม่ได้ยิน แล้วก็ถาม ถามด้วยถ้อยคำที่ไม่เรียบร้อย ทำให้ลูกน้องกระเทือนใจ สร้างปัญหาให้เกิดขึ้นกับคนเหล่านั้น เพราะหูฟังไม่ชัด ตาก็มัวๆ เพราะการไปดื่มเหล้า หรือว่าเราเป็นคนชอบเล่นการพนัน กลางค่ำกลางคืนก็ไปเล่นไพ่ ไปเล่นสนุกเกอร์ อะไรๆต่างๆ เพลินไป ดึกดื่นเที่ยงคืนแล้วจึงไปนอน นอนน้อย ตื่นขึ้นมาร่างกายนอนไม่เต็มอิ่ม ก็มีอาการโผลเผล เดินก็ไม่ค่อยจะเรียบร้อย มีถีนะมิทธะ ง่วงเหงาหาวนอน
แล้วก็มีอีกข้อเขาเรียกว่า แคลงใจสงสัยในเรื่องต่างๆ สงสัยคน เราไปอยู่ใหม่สงสัยคนนั้นสงสัยคนนี้ ระแวง ความระแวงนี้สร้างปัญหา สร้างปัญหาให้เกิดความแตกแยกแตกร้าว เพราะความระแวงกัน สงสัยกัน ความระแวงนี้สร้างปัญหา สร้างปัญหาให้เกิดความแตกแยกแตกร้าว เพราะความระแวงกันสงสัยกัน แล้วก็เกิดการแตกแยก
สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องปิดกั้น ไม่ให้จิตใจเราก้าวหน้า เจริญงอกงามในทางปฏิบัติ เพราะฉะนั้นจะต้องกำจัดสิ่งเหล่านี้ออกไป ไม่ให้อะไรเข้ามาครอบงำจิตใจของเรา เราจะต้องเป็นคนที่เรียกว่า ตื่นตัว ว่องไว ก้าวหน้า อยู่ตลอดเวลา ตื่นตัวก็หมายความว่ามีสติคอยกำหนดรู้ มีปัญญาคอยเป็นที่ปรึกษา สติกับปัญญาสองตัวนี้เขามาด้วยกัน ถ้าว่าตัวหนึ่งเกิดอีกตัวหนึ่งก็เกิดตามมา เช่นว่ามีสติคือระลึกได้รู้สึกได้ในเรื่องนั้นๆ มีอะไรเกิดขึ้นเราก็รู้ตัว รู้ได้ นึกได้ทันท่วงที นั่นคือตัวสติ พอตัวสติมาปัญญามันก็มา มาบอกอะไรเกิดขึ้น อะไรตั้งอยู่ มันเกิดจากอะไร ปัญญาช่วยคิดช่วยตรอง ช่วยหาเหตุหาผล ให้แก่จิตใจของเรา แล้วเราใช้ปัญญานั้นพิจารณาศึกษา เราก็เข้าใจเรื่องนั้นชัดเจนแจ่มแจ้ง มันก็ไม่เกิดปัญหาอะไร การอยู่ในชีวิตประจำวันมันก็มีอย่างนี้ทุกที่ทำงาน คนที่ไม่ทำงานมันก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับใคร อยู่คนเดียวอยู่เงียบๆ นี่ไม่ยุ่ง แต่ว่ามันไม่มีผลงานในชีวิตประจำวัน เราจะอยู่อย่างนั้นเสมอไปไม่ได้ อยู่เป็นครั้งๆคราวๆ
เช่น เราปฏิบัติธรรมนี่ จะปฏิบัติธรรมในรูปที่ไม่ทำอะไรไม่ได้ บางทีเราไปปฏิบัติธรรมแล้วกลับมาทำงานทำการ เบื่อหน่าย อันนี้ให้เข้าใจว่าไม่ถูกแล้วนะ ไม่ถูก ผู้ไปเจริญภาวนา ศึกษาธรรมะในสำนักใดก็ตาม กลับออกมาแล้วเบื่อไม่อยากจะทำอะไร นี่ผิดแล้ว ไม่ถูกต้องแล้ว อาจารย์สอนลูกศิษย์ผิดทางแล้ว เพราะว่าสอนให้เบื่อโลก ไม่ได้เบื่อด้วยปัญญา แต่เบื่อด้วยความอึดอัดขัดใจ มาอยู่ในบ้านก็อึดอัด ไปทำงานก็อึดอัด ไม่อยากจะทำแล้ว ไปนั่งสงบๆดีกว่า จะอยู่ได้เมื่อไหร่ ไปนั่งอยู่เฉยๆนั่นจะอยู่ได้อย่างไร จะกินอะไรจะเอาเงินที่ไหนใช้ แล้วความรู้ความสามารถที่เรามีมันจะเกิดประโยชน์อะไร ถ้าเราไปอยู่ในรูปอย่างนั้น
การไปปฏิบัติธรรมไม่ได้มุ่งอย่างนั้น เราไปปฏิบัติธรรมนี้เรียกว่าไปชุบตัว ไปชุบตัวให้มีความอดทน มีความเข้มแข็ง มีสติ มีปัญญากำกับจิตใจ แล้วเอาสิ่งนั้นมาใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป เหมือนกับว่าถ้าเราอ่านเรื่องจักรๆวงศ์ๆที่คนโบราณเขียนไว้ เจ้าชายน้อยไปอยู่สำนัก (31.00 เสียงขาดหาย) ยักษ์มันก็จะจับไปรบกัน (31:03) สู้ไม่ได้ สู้ไม่ได้ก็เลยต้องวิ่งกับเหาะ เหาะไม่ทัน ทำไมเหาะไม่ทัน เหาะมาหาอาจารย์ เล่าให้อาจารย์ฟังว่าแหมไปพบยักษ์ตนนั้น มันมีอาวุธพิเศษ มันมีลูกศร ยิงมาเป็นพญานาคมารัดข้าพเจ้า หรือว่านั่นนี่ ไม่ได้ๆ ต้องเรียนใหม่ๆ ให้เรียนใหม่เข้าไป ชุบชีวิตใหม่ แล้วก็ไปสู้กับยักษ์นั้นต่อไป ผลที่สุดก็ไปสู้ชนะ เหมือนกัน อันนี้เราอยู่บ้าน ทำงานทำการ มันมีปัญหาคือมีความทุกข์ มีความเดือดร้อนใจ ไม่รู้จะปราบความทุกข์ความเดือดร้อนใจนั้นอย่างไร เราก็ไปวัด ไปเรียนวิชชาจากพระ มาเรียนธรรมะ ที่เรามาวันอาทิตย์นี่ ก็มาเรียนธรรมะ เรียนวิชชาไปต่อสู้กับข้าศึก คืออารมณ์ทั้งหลายที่มากระทบเรานั่นแหล่ะ รูปเข้าตา เสียงเข้าหู กลิ่นเข้าจมูก รสกระทบลิ้น กายได้สัมผัส ถูก ต้องอะไร ถ้าเราพ่ายแพ้สิ่งนั้น เราก็มีความทุกข์
การพ่ายแพ้ต่ออารมณ์แล้วมีความทุกข์ เป็นการไม่ถูกต้อง จะดำเนินชีวิตไม่ถูกต้องเพระมีความทุกข์ เราก็ต้องคิดต่อสู้ จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดความทุกข์เพราะสิ่งเหล่านั้น ก็ต้องเอาอาวุธคือธรรมะนี่แหล่ะไปใช้ เพื่อการต่อสู้ต่อไป ต้องมาศึกษา เพราะฉะนั้นการที่เรามาวัดในวันอาทิตย์ ๗ วันมาครั้งหนึ่ง ก็เท่ากับว่ามารับอาวุธใหม่ๆ มารับของใหม่ๆเอาไปสู้กับมันต่อไป สู้เพื่อชัยชนะ ไม่ให้พ่ายแพ้
ยิ่งเราไปเจริญภาวนาตามสำนักต่างๆ ไปเจริญภาวนา แต่ว่าบางแห่งนั้นสอนอาจจะไม่ถูกทางก็ได้ คือไม่เหมาะแก่การที่จะนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน สอนแบบเก่าๆ ไม่ทันสมัย ไม่ทันสมัย มันก็สงบ เวลาอยู่กับอาจารย์นี่ก็สงบ มันก็ไม่มีอะไรมายั่ว เหมือนเราไปนั่งอยู่ในป่าเห็นแต่ต้นหมากรากไม้ มันก็ไม่มีอารมณ์อะไร ใจสงบ แต่พอกลับมาถึงบ้าน โอย...ไอ้นู่นกระทบ ไอ้นี่กระทบ ใจมันก็โอนเอน อ่อนไปกับอารมณ์นั้นๆ บางทีก็แพ้ อย่างนี้แปลว่ากำลังใจยังไม่แก่กล้าพอที่จะไปสู้กับอารมณ์ทั้งหลาย ต้องเรียนใหม่ ต้องศึกษาใหม่ คือเรียนแล้วต้องเอามาใช้ในการงานในชีวิตประจำวันของเรา เพื่อให้การงานดีขึ้น เพื่อให้สภาพจิตของเราดีขึ้น ไม่วุ่นวายไม่สับสน นี่จุดหมายเป็นอย่างนั้น เหมือนกับเรามาวัดนี่ วันอาทิตย์นี่มาฟังธรรม ก็เท่ากับว่ามาเรียนศิลปะของการดำรงชีวิต เพื่อเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน ไปใช้เวลาที่เกิดสิ่งไม่ดีขึ้นในใจ เช่นมีความทุกข์เกิดขึ้น มีอารมณ์โกรธเกิดขึ้น เกลียดเกิดขึ้น
ถ้าเราตกอยู่ในอำนาจของความโกรธ ตกอยู่ในอำนาจของความเกลียด หรือของอะไรๆที่เป็นเรื่องไม่ดี เราครุ่นเราคิดอยู่สิ่งนั้น เหมือนกับไฟไหม้ ไหม้แกลบควันกรุ่นอยู่ตลอดเวลา ถ้าลมกระพือแรงก็ลุกขึ้นมาครั้งหนึ่ง โหมขึ้นมาครั้งหนึ่ง หมายความว่าจิตใจเรามันฟุ้งขึ้นมา เกิดอารมณ์ขึ้นมาแล้ว ว่าคนนั้นว่าคนนี้ ใครขวางหูขวางตาก็ใช้ถ้อยคำกิริยาท่าทางที่ไม่เหมาะไม่ควรออกไป มันเป็นอย่างนั้น ถ้าเป็นอย่างนั้นก็แสดงว่าความรู้ในทางธรรมะที่เรามาเรียนนั้นยังไม่พอ ยังไม่พอใช้ เรายังตกอยู่ในอำนาจของสิ่งที่มากระทบ เรียกว่าแพ้ ยังแพ้อยู่ ยังไม่ชนะ ก็ต้องมาศึกษาต่อไป แล้วก็ต้องเรียนจากตัวเราเองด้วย เรียนจากตัวเราเองว่าเราพบสิ่งนั้นสภาพใจเราเป็นอย่างไร เรารู้สึกอย่างไร ทำไมเราจึงรัก ทำไมเราจึงเกลียด ทำไมเราจึงโกรธ ทำไมเราจึงเกิดอารมณ์หงุดหงิดงุ่นง่านเพราะเห็นสิ่งนั้น อันนี้มันต้องใช้ปัญญาพิจารณา เขาเรียกว่าเจริญวิปัสสนา
วิปัสสนา คือ การคิดการครุ่นให้เข้าใจสิ่งนั้นตามสภาพที่เป็นจริง เมื่อเรารู้ว่าความจริงมันเป็นอย่างไรแล้ว ใจเราก็ไม่ตื่นเต้นกับสิ่งนั้น ไม่ขึ้นไม่ลง เขาเรียกว่าใจคงที่ ไม่ยินดีเมื่อสิ่งที่น่าจะยินดี ไม่ยินร้ายเมื่อสิ่งที่น่าจะยินร้าย ถ้าอยู่อย่างนั้นแล้วก็สบาย ใจเราไม่ถูกสิ่งนั้นมันล่อให้ตื่นเต้น ไม่ให้ขึ้นๆลงๆ ไม่เหมือนกับตัวหุ่นที่เขาเชิด เราเคยดูหุ่นที่เขาเชิด ว่าไปเขาเชิดไป ถ้าวางเฉยๆมันก็ไม่มีอะไร แต่ถ้าคนเชิดขึ้นเวลาโกรธก็ทำท่าโกรธ เวลาพอใจก็แสดงอาการพอใจ นี่เรียกว่าถูกเชิด เราเองก็ถูกอารมณ์มันเชิด เชิดให้รัก เชิดให้ชัง ให้ยินดียินร้าย ให้อยากได้อยากไม่ได้ อยากได้ก็อยากจะเอาเข้ามา ไม่อยากได้ก็อยากผลักดันออกไป
คนใดเราไม่พอใจไม่อยากให้นั่งอยู่ตรงนั้น ไม่อยากเห็น ไม่อยากได้ยิน บางทีเราก็ “ไปๆๆ ไปให้พ้นหูพ้นตาสิ กูรำคาญเต็มทีแล้ว” นี่เจ้าแม่แล้ว การที่เราพูดออกไปเช่นนั้น เราแสดงอาการเช่นนั้น เราแพ้นะ ไม่ใช่คนนั้นแพ้เรา แต่เราแพ้คนนั้น คนนั้นมันชนะเราแล้ว มันเป็นนายเราแล้ว มันบังคับเราได้แล้ว เราเป็นทาสของคนนั้นแล้ว เป็นทาสอารมณ์ของคนนั้น คนนั้นทำให้เราตื่นเต้น ทำให้เราเต้น เมื่อสักครู่เรามีอารมณ์เสีย เต้นแร้งเต้นกา คนนั้นก็นั่งหัวเราะชอบใจ "สมน้ำหน้าๆ" เราแพ้มัน มันเชิดเราตามชอบใจ อย่างนี้เรียกว่าเราเสียเปรียบ อย่างนี้เสียเปรียบเพราะอะไร เพราะเราทำไปโดยไม่รู้ ไม่รู้ลืมไป เรามักจะพูดว่าลืมตัวไป แล้วก็ทำอย่างนั้น อารมณ์วูบเดียวทำให้เกิดความเสียหาย อารมณ์วูบเดียวฆ่าคนได้ ทำอะไรผิดก็ได้ คือมันเกิดแล้วเราไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจ ไม่บังคับตัวเอง
คนที่ไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจ ไม่รู้จักบังคับตัวเองนี่ ควรจะเรียกว่าเป็นคนอ่อนแอ ถูกเขาทำให้เป็นอย่างนั้นได้ แต่ถ้าเป็นคนเข้มแข็งไม่เป็นไร อันนี้เรามักจะเข้าใจเขวไป เข้าใจความหมายของคำว่าอ่อนแอหรือความเข้มแข็งนี่ผิดไป ถ้าคนไหนเป็นคนโกรธ ใจร้อน ใจเร็ว ชอบชก ชอบต่อย เรามักจะว่าคนนี้มันเก่ง มันเข้มแข็ง เดี๋ยวดื่มน้ำก่อน คอแห้ง เป็นหวัดยังไม่ค่อยเรียบร้อย อันนี้เรานึกว่าคนนั้นมันเก่ง พอเอะอะขึ้นชกเปรี้ยง โอ้...มันเก่งเว้ย ความจริงคนนั้นไม่ได้เรื่อง คนที่พอมีเรื่องชกเพื่อนต่อยเพื่อน ไม่ได้เรื่อง แล้วถ้ามันมีปืนมันยิงนะ ตาย เพื่อนตาย ตายแล้วได้อะไร ติดคุกติดตาราง
เด็กหนุ่มๆ ไปดื่ม ไปเที่ยว ตามบาร์ตามไนท์คลับ แล้วก็เรื่องนิดๆหน่อยๆ เพื่อนเขาจอดรถไว้ แล้วตัวก็จะออกรถ แต่ว่าไปพูดกับเจ้าของรถนั้นด้วยถ้อยคำที่ไม่สมควร เรียกว่าไม่ดีทั้งคู่ คนที่ไปพูดนั้นมันก็ไม่พูดด้วยธรรมะ จิตใจมันหยาบ และคนฟังก็ไม่มีธรรมะเหมือนกัน พอได้ฟังแล้วก็ลุกขึ้น หาว่าพูดจาดูถูกดูหมิ่น ว่ากันไป ประเดี๋ยวก็เกิดเป็นปากเสียง ออกไปนอกร้านยิงกัน ตายไปตั้งหลายคน แต่พวกไม่ตายก็หนีไป แต่หนีก็ไปนอนเป็นทุกข์ เพราะตำรวจจะต้องไปลากตัวเข้าคุกให้ได้ เสียชื่อเสียเสียง
เวลาหนังสือพิมพ์ลงข่าว มันลง (40.23) ญาติของผู้นั้นเลย มันว่าเป็นหลานคนนั้นเป็นลูกคนนี้ นี่มันไม่จำเป็นอะไร ไม่ต้องเขียนไปในข่าวก็ได้อย่างนั้น ก็ว่าทำอย่างนั้นมันไม่ถูก หนังสือพิมพ์นี่ก็เขียนไม่ถูก เช่นว่าเป็นลูกคนนั้น เป็นหลานคนนี้ มันเรื่องอะไร แต่คนที่เป็นลุงเป็นป้าเป็นตานั่นไม่รู้เรื่อง อยู่บ้าน นอนสบาย กำลังดูเป่าบุ้นจิ้นอยู่ด้วยซ้ำไป แต่ว่าเค้าเอามาลงเป็นข่าวว่าหลานคนนั้นลูกคนนี้ ก็เสียหาย นี่ถ้าเป็นต่างประเทศจะถูกฟ้อง เขาหาว่าทำให้เขาเสียชื่อเสียง เมืองไทยเรามันคนใจเย็น ไม่ค่อยฟ้องใคร ไม่อยากมีเรื่อง ไม่ใช่เรื่องอะไร ไม่อยากมีเรื่อง แต่ถ้าเป็นอเมริกาลงอย่างนั้นไม่ได้ เค้าฟ้อง หาว่าทำให้เขาเสียชื่อเสียง เรียกค่าปรับเป็นหมื่นเป็นแสน เรียกว่าชื่อเสียงเขานี่ราคาแพง เขาเรียกแพงๆ แล้วศาลมักจะตัดสินให้ด้วยนะ ต้องเสียเงินนะ ยิ่งหนังสือพิมพ์แล้วเสียแพง เพราะมันกระจายไปทั่วทวีปอเมริกา คนได้อ่าน ทำให้ชื่อเสียงเขาเสีย บ้านเราไม่มีใครว่าใคร ไม่ต้องว่ากระทบกระเทือน (41.44) ว่าทำไมไปลงทำไม ลงอย่างนั้นทำไม มันไม่สมควร ไม่ควรเขียนอย่างนั้น เวลาเกิดคดีอะไรมีเรื่องมีอะไร ไม่ต้องลงหรอกเป็นหลานคนนั้นหลานคนนี้ หลานอดีตข้าราชการผู้ใหญ่กระทรวงมหาดไทย มันไม่ถูกต้อง ไม่ควรจะลงอย่างนั้น ควรเอาแต่ข่าว และคนที่เป็นข่าวก็พอแล้ว แต่ว่ายังไม่มีใครฟ้องให้เป็นตัวอย่าง (42.23) มันน่าจะฟ้องบ้างนะ ถ้าเขาลงว่าหลานนายบุญเอก (42.30) เป็นอย่างนั้น ทำให้คนอื่นพลอยเสียชื่อ
ความจริงเด็กมันทะเลาะกัน เหมือนกับขับรถเบียดกันนิดหน่อย ลงไปถึงพูดคำ เปรี้ยง ยิงกันตาย เรื่องนิดเดียว สีกะเทาะนิดหน่อย ราคาก็ไม่แพงอะไร แต่ว่าน้ำใจมันกระทบแรง แล้วพกปืนด้วยนะ คนเราไปไหนชอบพกปืน ไม่ควร อย่าพกเลยปืน ไม่ควรพกปืน พกมีด พระพุทธเจ้าท่านห้ามไม่ให้ใช้ของอย่างนี้ ไม่ให้ขายนะ ไม่ให้ขายอาวุธ ไม่ให้ขายเครื่องประหาร ไม่ให้ขายยาพิษ ไม่ให้ขายน้ำเมา ไม่ให้ขายสัตว์ที่เขาจะเอาไปฆ่าเป็นอาหารแล้วก็ไม่ให้ขายคนด้วยนะ ห้ามไว้ไม่ให้ขายคนด้วยนะ เวลานี้เอาคนมาขายกันเยอะ ไปหลอกมา ไปตกเขียวมาจากเมืองเหนือ จากพะเยา เชียงรายนู่น เอามาขายกรุงเทพ หาดใหญ่ ขนไปโกลก ออกไปนอกประเทศ ส่งไปขายญี่ปุ่น นี่มันผิด ผิดธรรมะ ผิดศีล ผิดธรรม สร้างปัญหาให้แก่สังคมด้วยประการต่างๆ เป็นอย่างนั้น
ทีนี้คนเรามีเรื่องกระทบให้มันขุ่นเคือง เช่นสมมติว่าอยู่บ้านดีๆ มีใครมาถึงบอก “คุณรู้ไหม เมื่อสักครู่ที่ตลาดนั้นแม่คนนั้นว่าคุณอย่างนั้นอย่างนี้” ไหนว่าไงๆ ขึ้นมาแล้วๆ เขายั่วนิดหน่อยขึ้นมาแล้ว ขึ้นมาแล้วว่าอย่างไร ว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ได้ๆกูจะต้องไปจัดการมันหน่อย (44.15) ไปถึงไปต่อว่า ต่อว่าก็เลยตบหน้ากันเลย ทั้งคู่วิวาทกันในที่ (44.24) ไปเสียเงินเสียหน่อย อยู่ดีๆหาเรื่องให้เสียเงิน แล้วจะไปโกรธไปเคืองเขาทำไม เขามาบอกมาว่า แต่ขาดสติขาดปัญญา ไม่เคยฝึกการกำหนดรู้ ไม่เคยฝึกเรื่องการรู้เท่าต่อสิ่งเหล่านั้น ภาษาไทยพูดว่ารู้ทันรู้เท่า รู้ทันก็คือมีสติทันท่วงที รู้เท่าก็คือมีปัญญา มาทันท่วงที ถ้ามีสติมีปัญญาก็ยิ้ม ยิ้มแล้วก็ถามว่า “เค้าว่าจริงหรอ” “จริงสิฉันได้ยินมากับหู” “ดีแล้วคุณได้ยิน คุณเอาไปก็แล้วกัน ฉันไม่เอา” พูดเป็นอารมณ์ขันไป ให้มันเอาไปเลย แม่คนนั้นก็ อ่า...มันให้กู ก็เลยทีหลังไม่มาบอก เพราะบอกทีไรให้เอาไปด้วยทุกที
แล้วมันเรื่องอะไร คนเขาชอบไปบอกคนอื่น เขาบอกใครทำอะไรเขารีบไปบอก บอกทำไม บอกให้เขาโกรธเขาเคือง สร้างเรื่องให้เกิดปัญหา เราผู้ได้ยินได้ฟังก็เฉยๆ ไม่สนใจ ช่างหัวมัน ช่างหัวมัน นึกอย่างนั้น กูไม่ได้ยินก็แล้วกัน ไม่ได้ด่ากู แต่คนที่ได้ยินนั้น เขาด่าคุณ คุณได้ยินนี่ คุณเอาไปก็แล้วกัน คนนั้นมันก็หยุดพูด เพราะว่าเขาพูดให้กระทบเข้าไปแล้ว ไม่ได้เรื่องอะไร เป็นอย่างนั้น อยู่ในสังคมเป็นอย่างนั้น
สามีภรรยาก็เหมือนกัน อยู่ๆกันดีๆเรียบร้อย คนเขาอยากให้แตกกัน มีคนบางประเภท เขาสนุกในการที่ได้เห็นคนแตกแยกแตกร้าวกัน ก็มาบอกอย่างนั้นบอกบ่อยๆ บอกวันแรกไม่เป็นไร วันที่สอง วันที่สาม บอกบ่อยๆ “นี่ที่มาพูดนี่เพราะว่าหวังดีต่อคุณนะ ฉันมันรู้สึกรำคานที่คนเขาพูดเรื่องของคุณอย่างนั้นอย่างนี้นะ ที่เขาทำอย่างนั้นอย่างนี้นะ” พูดให้เห็นอกเห็นใจ อันนี้ถ้าเรารู้ทันรู้เท่า มันไม่ได้เรื่องอะไร เราไว้ใจคนของเราว่าไม่เสียหาย ถึงจะไปทำอะไรก็ไม่ได้เสียหายอะไร ก็เลยบอกว่า “ไม่เป็นไร ขอบใจที่มาบอก แต่ว่าฉันไม่ได้ทุกข์ร้อนอะไรหรอก” อันนี้ถ้าเราไม่แสดงอาการทุกข์ร้อนเขาก็ไม่มารบกวน คือเขาอยากเห็นเราลุกขึ้นเต้นแร้งเต้นกา ถ้าเขาบอกแล้วลุกขึ้นแหมเขาชอบ มันเหมือนกับว่าเขาเอาไฟมาลนก้นแล้วก็เต้น เขาชอบใจ เราไม่ตื่น ไม่เต้นไม่ตื่น เฉยๆ เขาก็ไม่อยากจะมาเล่าต่อไป
ต่อสู้กับสิ่งเหล่านั้นด้วยความสงบนิ่ง ด้วยความอดทน ด้วยความตั้งใจมั่น ด้วยสติปัญญา เรื่องทั้งหลายมันก็ไม่มีปัญหา เดี๋ยวนี้การต่อสู้มีปัญหาเรื่องเล็กๆน้อยๆ ไม่ได้ใหญ่โตอะไร เรื่องนิดหน่อย แต่ว่าคนบางคนเรามันยึดถือ ยึดถือในเกียรติในศักดิ์ศรี แต่ไม่เข้าใจว่าเกียรติคืออะไร ศักดิ์ศรีคืออะไร ศักดิ์ศรีหรือเกียรตินั้นคืออะไร คือความถูกต้องที่มีอยู่ในใจของเรา เป็นเกียรติของเรา เป็นศักดิ์ศรีของเรา แต่ว่าเราไปคิดเรื่องอื่น ทำเรื่องอื่น แล้วก็ทำด้วยอารมณ์ที่เรียกว่า มีความโง่หนุนหลังๆ แต่ความโง่ที่มาหนุนหลังอยู่นั้นมาจากอะไร มาจากความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ อยากจะอย่างนั้น อยากจะอย่างนี้ แล้วก็วางแผนว่าจะต้องอย่างนั้นจะต้องอย่างนี้ ทำให้เกิดการเสียหายขึ้น เกิดการแตกแยกแตกร้าวขึ้นในหมู่ในคณะ เป็นเรื่องเสียหาย แล้วก็นึกว่าตัวจะได้ ความจริงจะไม่ได้นะ คนเราทำอะไรอันจะเป็นเหตุให้เกิดความแตกแยกแตกร้าว อย่าไปหวังว่าจะได้อะไร อย่าไปหวังว่าจะเป็นอะไร เพราะคนฉลาดเขาไม่ยอมรับ แต่ว่าคนปัญญาอ่อนอาจจะยอมรับ แต่ผลที่สุดคนปัญญาอ่อนมันไม่พอที่จะรับที่จะค้ำจุนตัวเรา เราก็ตกต่ำเสียหาย (48.53) มันมีเยอะในโลกนี้
ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ของชาติต่างๆก็จะเห็นว่า คนที่ก่อเรื่องสร้างปัญหานี้ จะไม่มั่นคงในฐานะ ไม่มั่นคงในตำแหน่งหน้าที่การงาน แล้วเอาตัวไม่รอด มันเป็นอย่างนั้น มันสู้อยู่กันด้วยความเป็นธรรมไม่ได้ อยู่กันด้วยความประนีประนอมกัน ทำความเข้าใจกัน ค่อยพูดค่อยจากัน ไม่ดื้อรั้น ไม่มีทิฐิมานะ แต่ว่าคนมันหลายฝ่าย คนหลายฝ่ายบางทีเขาก็ยุ ยุให้คนนี้แตกจากคนนั้น เพื่อประโยชน์อย่างนั้นอย่างนี้ โอย...มากเรื่องมนุษย์เล่ห์เหลี่ยมมันเยอะ เราอยู่ในโลกถ้าว่าไม่รู้ทันในเล่ห์เหลี่ยมของมนุษย์แล้ว ลำบาก เราจะถูกเขายุเขาแหย่ จนกระทั่งเราตกอับ เขายุเราให้ทำสิ่งที่เขาต้องการ แล้วผลที่สุดเราก็ตกลงไป ตกลงไปเกิดความเสียหาย นิทานสุภาษิตเรื่องบ่างช่างยุ เสียหาย ทำให้เกิดความเสียหายได้
สังคมในยุคปัจจุบันนี้ก็มีอะไรๆที่เป็นตัวอย่างเยอะแยะ เราต้องดูเหตุการณ์ในโลกด้วยจิตใจที่เป็นธรรม วินิจฉัยอะไรก็ใช้ธรรมะเป็นเครื่องวินิจฉัย อย่าใช้ความเขลาเป็นเครื่องวินิจฉัย อย่าใช้อคติว่าคนนั้นพวกเราคนนี้พวกเราก็ไม่ได้ แต่เราดูว่าอะไรมันถูกอะไรมันผิด อะไรควรอะไรไม่ควร ดูให้ละเอียดรอบคอบ เรื่องทั้งหลายก็จะไม่มีปัญหา อยู่ในโลกที่มีปัญหาแต่เราอย่ามีปัญหา อยู่ในโลกที่วุ่นวายเราอย่าไปวุ่นวายกับเขา อย่าขึ้นไปบนเวที เหมือนมวยมันมีเรื่องขึ้นบนเวที คนขึ้นไปเฮเต็มไปหมดเต็มเวทีไม่รู้ใครชกใคร ยุ่ง อย่างนั้นไม่ได้ เราดูข้างๆ ออกมาดูข้างๆ ดูว่าเขาทำกันอย่างไร ดูด้วยสติปัญญา คอยดู ดูว่าพวกนั้นเป็นกันอย่างไร แล้วเราจะได้ความรู้ความเข้าใจ เราจะไม่ตกต่ำในชีวิตในการงาน เพราะเราเป็นคนดูด้วยสติปัญญา เราไม่ร่วมวงความโง่กับใครๆ เราไม่ตื่นเต้นกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เราจะยืนดูว่าอะไรเกิดขึ้น เกิดขึ้นเพราะอะไร แล้วมันจะเกิดอะไรต่อไป เราควรจะจัดตัวเราไว้ในที่ตรงไหนจึงจะเหมาะจะควร เราคิดอย่างนั้น (51.43) มีความสุขความสบายตามสมควรแก่ฐานะ แสดงมาก็พอสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้
- ปาฐกถาธรรมประจำวันอาทิตย์ที่ ๑๑ ธันวาคม ปีพุทธศักราช ๒๕๓๗