แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พุทธบริษัททั้งหลาย มาบัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะอันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการมาวัดตามสมควรแก่เวลา
วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๒๐ เดือนพฤศจิกายน อีก ๑๐ วันก็หมดเดือนแล้ว วันเวลานี้มันล่วงไปอย่างรวดเร็ว...เหลือเกิน เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่าเวลาล่วงไป..ล่วงไป บัดนี้เราทำอะไรอยู่ ท่านสอนให้คิดบ่อยๆ ให้คิดบ่อยๆว่า เวลาล่วงไป..ล่วงไป บัดนี้เราทำอะไรอยู่ ก็เพื่อจะให้เกิดความสำนึกในหน้าที่ที่เราจะต้องทำ ตัวเราทุกคนมีหน้าที่ที่จะต้องทำ เมื่อตรองเมื่อนึกถึงเวลาก็จะได้นึกว่าเราทำอะไร และสิ่งนั้นที่เราทำ..จะสำเร็จเรียบร้อยเมื่อไร เพื่อเตือนใจให้คำนึงถึงเวลาที่ล่วงไป เพราะเวลาที่ผ่านไปนั้นไม่ได้ผ่านไปเฉยๆ แต่ว่าฉุดคร่าเราไปด้วยกับเวลา สิ่งที่เราจะได้รับจากการล่วงไปของเวลาก็คืออายุ อายุเป็นเครื่องหมายของความชรา เป็นเครื่องหมายของความแก่ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา และเป็นเครื่องเตือนใจว่าใกล้กลับไปแล้ว ใกล้อะไร ใกล้ความตายนั่นเอง เราทุกคนเดินไป....เดินไป....ล่วงเข้าไป...ก็ใกล้เข้าไป..ใกล้เข้าไป ก็คงเปรียบเหมือนกับวัว หรือสัตว์ที่เขาจะนำไปฆ่า เดินไป..ก็ใกล้เข้าไป..ใกล้เข้าไป..คือใกล้โรงฆ่าสัตว์ เมื่อไปถึงที่ฆ่าเขาก็ฆ่าสัตว์นั้นให้ถึงแก่ความตาย ชีวิตของคนเรานี้ก็เหมือนกันเราเดินไป..เดินไป ใกล้ต่อความตายทุกวันเวลา วันหนึ่งเราก็จะต้องตาย หนีความตายไปไม่พ้น ท่านสอนให้คิดไว้อย่างนี้เพื่อจะไม่ประมาท ไม่ทำชีวิตให้อยู่โดยไม่ได้ทำอะไร มีกิจอะไรที่เราจะต้องจัด..ต้องทำ ก็จะได้รีบทำกิจนั้น เพื่อให้สำเร็จประโยชน์เป็นไปด้วยดี นี้เป็นเรื่องที่สำคัญอยู่ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะพวกเราที่เป็นพุทธบริษัทก็ต้องหมั่นคิดถึงเวลาไว้บ้าง เพื่อจะได้ใช้เวลาทุกวินาทีให้เกิดประโยชน์แก่ตนแก่ท่าน ประโยชน์นั้นก็คือการปฏิบัติหน้าที่นั่นเอง เรามีหน้าที่อะไรที่จะต้องจัด..ต้องทำ ก็ทำหน้าที่นั้นเสียให้ถูกต้อง ไม่ให้เสียเวลาไปเสียเปล่าๆ เพราะเวลาที่ผ่านไปแล้ว เราเรียกคืนไม่ได้ มันผ่านก็ผ่านไป เราเรียกกลับมาเหมือนเดิมไม่ได้ เรียกความหนุ่มมาก็ไม่ได้ เพราะว่าเรากลับหลังไม่ได้ เรามีแต่เดินหน้าเรื่อยไปจนกว่าจะถึงจุดหมายของการเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน อันนี้เป็นข้อคิดที่เราทั้งหลายควรจะได้คำนึงไว้บ่อยๆ
สมัยนี้เรามีนาฬิกาผูกข้อมือกันทั้งนั้น เอานาฬิกามาผูกไว้ที่ข้อมือเพื่ออะไร เพื่อจะได้ดูว่าเวลาเท่าไร..เช้า..สาย..บ่าย..เย็น..กลางคืนเป็นอย่างไร เราจะได้รู้เวลาและเตือนตัวเองว่าเวลาผ่านไป...วินาที... นาที... ชั่วโมง...วัน...สัปดาห์...เดือน...ปี มันผ่านไปอย่างนี้ และเราได้ทำอะไรบ้างในชีวิตประจำวัน สิ่งใดควรละ เราได้ละแล้วหรือยัง สิ่งใดควรเจริญเราได้ทำให้เกิดขึ้นแล้วยัง ในแง่การปฏิบัติ ก็มี 2 เรื่อง คือ เรื่องละ กับเรื่องเจริญ เรื่องละก็หมายความว่า ละสิ่งที่เราหลงใหลมัวเมากระทำลงไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร มันจะเกิดพิษเกิดโทษแก่เราอย่างไร เสียหายอย่างไร เราไม่ได้ใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา แล้วเราทำไปด้วยความหลงด้วยความประมาท ทำบ่อยๆมันก็กลายเป็นนิสัย เป็นสันดานขึ้นในใจของเรา เราก็ต้องพิจารณาขูดเกลาสิ่งนั้นออกไป ละสิ่งนั้นออกไป เพราะว่าสิ่งนั้นไม่ใช่ของเดิมของเรา ของเดิมไม่ได้เป็นอย่างนั้น แต่เป็นของใหม่ที่เข้ามาเกาะจับอยู่ในใจของเรา เราต้องขูด..ต้องเกลาเอาสิ่งนั้นออกไปให้หมดไปโดยลำดับ แล้วเมื่อสิ่งนั้นหมดไปแล้ว ก็ทำสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้น คล้ายๆกับว่าเราจะทาสี เราก็ต้องตกแต่งพื้นที่จะทาให้ดีเสียก่อน ด้วยการขัดเกลา แล้วก็ถูให้มันสะอาด ควรที่จะลงสีได้ พอสะอาดดีแล้ว เราก็เอาสีที่เราต้องการ..ทาลงไป สำเร็จรูปเป็นสีสวยสดงดงามฉันใด ในใจของเรานี้ก็เหมือนกัน
ความจริง...ใจของเราแต่ดั้งเดิม มันไม่มีอะไร ไม่มีสิ่งสกปรกเศร้าหมอง ไม่มีความโลภ ไม่มีความโกรธ ไม่มีความหลง ไม่มีความริษยาพยาบาทอะไรทั้งนั้น สิ่งที่เรียกว่ากิเลสนี้ไม่ได้อยู่ที่ใจของเรามาตั้งแต่ดั้งเดิม ตอนนั้นมันไม่มี พระพุทธเจ้าก็ตรัสยืนยันในข้อนี้ว่า ประภัสสรมิทัง ภิกขเว จิตตัง ตัญจะ โข อาคันตุเกหิ อุปกิเลเสหิ อุปักกีลิฏฐัง พระภิกษุทั้งหลายจิตนี้ เป็นธรรมชาติผ่องใส แต่มันขุ่นมัวเพราะอาศัยสิ่งที่จรเข้ามากระทบ สิ่งที่มากระทบนั้นมาจากภายนอก รูปเข้ามาทางตา เสียงเข้าทางหู กลิ่นเข้าทางจมูก รสผ่านลิ้น สิ่งถูกต้องกระทบปลายประสาท ผ่านกายเข้าไป แล้วใจเราก็เข้าไปรับสิ่งนั้นไว้ ถ้ารับด้วยอวิชชา ความไม่รู้ ก็เลยหลงใหลมัวเมาอยากได้ในสิ่งนั้น แต่ถ้าเรารู้ รับรู้ด้วยปัญญา สิ่งนั้นก็ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่เรา มันกระทบแล้วมันก็หายไป ไม่เกาะจับอยู่ในใจของเรา หรือที่เรียกว่าไม่ตกผลึก ตกผลึกแล้วก็เกาะจับอยู่ในใจของเรา ทำใจของเราให้เสียหาย เราจึงต้องพิจารณาอย่างนี้ แล้วก็รู้ว่าต้นเดิมมันไม่มีอะไร เป็นธรรมชาติผุดผ่องสะอาดอยู่ ไร้สิ่งใดๆที่เข้ามาอยู่ในใจของเรา เช่นกิเลสประเภทต่างๆ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความริษยา พยาบาท อาฆาตจองเวร ถือเนื้อถือตัว แข่งดี มีประการต่างๆนั้น มันเกิดขึ้นภายหลัง เกิดขึ้นแล้วเราไม่รู้ เพราะเราขาดปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา เราก็ปล่อยให้มันเกิดแล้วเกิดอีกบ่อยๆ เช่นเราโกรธบ่อยๆ..ความโกรธมันก็ตกผลึกอยู่ในใจของเรา เราเกลียดบ่อยๆ..ความเกลียดก็ตกผลึกอยู่ในใจของเรา เราริษยาบ่อยๆ..ก็มีอารมณ์มักริษยาอยู่ในใจของเรา สิ่งนี้มันมาทีหลัง ไม่ใช่ของดั้งเดิมในตัวของเรา ให้รู้ไว้อย่างนั้น อย่าไปเที่ยวเข้าใจผิดคิดว่านี่มันเป็นของเก่า หรือว่าเป็นของดั้งเดิม เป็นอะไรของเรา มันไม่ใช่ และอีกประการหนึ่งโดยหลักการในทางพระพุทธศาสนานั้น ไม่มีอะไรถาวร มันเกิดดับ...เกิดดับอยู่ตลอดเวลา กุศลก็เกิดดับ..อกุศลก็เกิดดับ ความดีเกิดดับ..ความชั่วเกิดดับขึ้นในใจของเรา เกิดแล้วมันก็ดับไป แต่เราไม่รู้ไม่เข้าใจ มันเกิดอยู่บ่อยๆ มันดับอยู่บ่อยๆแล้วจนชินเป็นนิสัย ก็อาศัยการฝึกฝนการอบรมโดยไม่รู้ไม่เข้าใจ เราจึงมีนิสัยอย่างนั้น เช่น นิสัยใจร้อน นิสัยมักโกรธ หุนหันพลันแล่นอะไรต่างๆ ความจริงมันไม่ใช่ของเดิม มันเพิ่งเกิดขึ้น เมื่อเรารับสิ่งต่างๆ แล้วมาปรุงมาแต่งให้เป็นไปในรูปอย่างนั้น แล้วก็ยึดถือว่าเป็นตัวเราเป็นของเราขึ้นมา มันจึงคอยจับอยู่ในใจของเราอย่างมั่นคงถาวร ไม่รู้จักสิ้นจักจบกันเสียที แล้วเราเองก็เข้าใจผิดคิดว่าเรามันเป็นอย่างนั้น ธรรมชาติของเราเป็นอย่างนั้น ธรรมดาของเราเป็นอย่างนั้น ซึ่งมันไม่ถูกต้อง ความจริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย มันยังผ่องใสสะอาดอยู่ แต่เพราะว่าสิ่งกระทบมันยังมีทุกวันทุกเวลา รูปเข้าทางตา เสียงเข้าทางหู กลิ่นเข้าทางจมูก รสผ่านลิ้น สิ่งที่เข้ามากระทบประสาทกระทบเนื้อหนังของเรา เราก็ไปรับสิ่งนั้น ชอบใจในสิ่งนั้น พอใจหลงใหลมัวเมาอยู่ในสิ่งนั้น มันก็เกิดอะไรๆขึ้นในใจของเราตามที่มันเคยเจอ สิ่งที่รักมันก็รัก สิ่งที่เคยเกลียดมันก็เกลียด สิ่งที่เราริษยามันก็ทำให้ริษยา ทำให้เกิดพยาบาทอาฆาตจองเวร มันขึ้นมาในใจของเราเป็นเรื่องๆไป เพราะมันตกตะกอนอยู่ในใจของเรา ไม่รู้จักหมด ไม่รู้จักสิ้น ที่มันไม่หมดสิ้นเพราะเราไม่รู้วิถีทางของมัน ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นเกิดจากอะไร มาทางใด และให้ทุกข์ทาอะไร ให้โทษอย่างไร ให้ความเป็นอย่างไรในใจของเรา เราไม่รู้ไม่เข้าใจในสิ่งนั้นแล้วก็นึกว่ามันดีมันเป็นอย่างนั้น มันเป็นอย่างนี้
ด้วยประการต่างๆ สภาพจิตใจก็เลยติดคอกอยู่ในสิ่งนั้นไม่รู้จบไม่รู้สิ้น ไม่รู้จักเปลี่ยนแปลงความคิด ไม่พิจารณาให้เห็นโทษของสิ่งนั้น มันก็เกิดเรื่อยไป พระอาจารย์จึงสอนว่า เราจะต้องพิจารณาให้เห็นทุกข์ของสิ่งนั้น ให้เห็นโทษของสิ่งนั้น ว่ามันไม่ดีอย่างไร..ให้โทษอย่างไร เช่นความโลภเกิดขึ้น เราก็ต้องพิจารณาว่าความโลภนี้ให้โทษอะไร ให้ทุกข์อะไรแก่เรา คนที่เกิดความโลภครอบงำแล้วก็เกิดตามืด หูไม่ได้ยินเสียงดีเสียงชอบ ใจก็คิดไม่ถูกต้อง เพราะความโลภครอบงำจิตใจ ก็ตัวโลภนั่นแหละเป็นเหตุให้เราทำผิดศีลธรรมด้วยประการต่างๆจนไปฆ่าคนทำร้ายร่างกายเขาเพราะความโลภก็มี ไปลักของเขาเพราะความโลภ ไปประพฤติผิดในเรื่องกามารมณ์ ก็เพราะความโลภ พูดจาโกหกหลอกลวงต้มตุ๋นเขาเพราะความโลภอยากได้ในสิ่งที่เขามีอยู่ เราอยากได้เพราะมีความโลภและกระทำความผิด ก่อนไปดื่มสุราเมรัยสิ่งเสพติดก็เพราะความโลภในสิ่งนั้น และก็ติดอยู่ในรสของสิ่งนั้น เลิกไม่ได้..ละไม่ได้ ความโลภเกิดขึ้นแล้วมันเป็นอย่างนั้น เป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย เราก็ควรพิจารณาต่อไปว่าเมื่อเราทำอย่างนั้นเราเป็นทุกข์หรือเป็นสุข เช่นเราคิดจะไปทำร้ายเขา..ไปฆ่าเขา ใจเราสบายหรือว่าใจเราไม่สบาย ใจสะอาดหรือใจคอไม่สะอาด ใจสงบหรือใจไม่สงบ เราพิจารณา...ถ้าพิจารณาก็จะมองเห็นด้วยใจของตนเอง โดยจะเห็นว่าสิ่งนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วทำให้ร้อน ทำให้มืด ทำให้เกิดความหลงใหลมัวเมาในเรื่องต่างๆ แล้วก็ทำผิด เมื่อทำผิดเราก็ต้องเป็นผู้รับโทษของความผิดนั้น เราหนีจากความผิดที่เราทำไว้ไม่ได้ เพราะทำอย่างใดเราก็ต้องได้อย่างนั้น เราพิจารณามองเห็นว่ามันเป็นทุกข์เป็นโทษอย่างไร แล้วก็คิดไปถึงคนอื่น ว่าพอเรามีความโลภแล้ว เราไปทำคนอื่นให้เดือดร้อน เช่นไปทุบตีเขา ไปฆ่าเขา ไปแย่งทรัพย์มรดกของเขา ไปแย่งลูกแย่งเมียของเขามาเป็นของตัว ไปพูดจาโกหกหลอกลวงต้มตุ๋นเขา เช่นมีการตกทองอะไรต่างๆที่ปรากฏเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์ ไปหลอกไปต้มเอาเงินเขามาเป็นประโยชน์ส่วนตัว ถ้าเราคิดว่าคนที่เราต้มเราตุ๋นมานั้น เขาจะมีความสบายใจไหม เขาไม่มีความสบายใจ เขามีความวิตกกังวล มีความทุกข์ มีความเดือดร้อนใจ เราทำให้คนอื่นเป็นทุกข์ มันดีหรือไม่ ต้องคิดให้ละเอียด เอาตัวเราไปเปรียบกับตัวเขา ถ้าสมมติว่าเขามาทำกับเราเช่นนั้นบ้างเราจะรู้สึกอย่างไร เขามาตีเรา เรารู้สึกอย่างไร เขาจะมาฆ่าเรา เรารู้สึกอย่างไร เขามาลักของเราไป เราจะรู้สึกอย่างไร เขามาฉุดคร่าลูกหลานของเราไป เรารู้สึกอย่างไร เขามาพูดโกหกหลอกลวงเรา เราจะรู้สึกอย่างไร ลองพิจารณา พิจารณาแล้วก็จะเห็นประจักษ์แก่ใจตนเองว่า มันเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ เกิดความเดือดร้อนใจ เป็นการสะสมสิ่งเศร้าหมองให้เกิดขึ้นในใจของเรา เป็นเรื่องที่เราไม่ควรคิดอย่างนั้น ไม่ควรพูดอย่างนั้น ไม่ควรกระทำอย่างนั้น ไม่ควรจะปล่อยให้ความโลภเกิดหุ้มห่อจิตใจ เพราะทำให้เราเสียหาย ท่านกล่าวไว้ว่า โลโภ ธัมมานัง ปะริปันโถ ความโลภเป็นอันตรายของคุณธรรมทั้งหลาย เวลาโลภนั้นคุณธรรมไม่มี สิ่งดีงามหายไปจากใจของเรา คนเราถ้าไม่มีสิ่งดีสิ่งงาม ไม่มีธรรมะเป็นหลักประจำใจแล้ว จะเรียกว่าเป็นคนได้อย่างไร เป็นคนดีได้อย่างไร เรียกไม่ได้ ชีวิตตกตํ่าเศร้าหมอง ต้องหมั่นพิจารณาในแง่อย่างนั้น แล้วเราก็จะเห็นว่ามันไม่ดี ถ้าเห็นว่าไม่ดีก็ระวังไม่ให้มันเข้ามาอยู่ใจของเรา ไม่ให้เกิดขึ้นที่ใจของเรา
ความโกรธนี่ก็เหมือนกัน คนที่มีโทสะจริต ใจร้อน ใจเร็วหุนหันพลันแล่นทำอะไรก็ขาดความยั้งคิดยั้งตรอง เป็นโทษที่สร้างปัญหาให้แก่ตน แก่คนข้างเคียง แก่สังคม แก่ส่วนรวมด้วยประการต่างๆ เพราะมีจิตคิดประทุษร้ายอยู่ตลอดเวลา พลันจิตคิดประทุษร้ายคนอื่นด้วยความโกรธนั้น หน้าตาก็ไม่ผ่องใส ไม่ยิ้มย่องผ่องใส ไม่มีใจเบิกบานกับใครๆ หน้านิ่วคิ้วขมวดอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับว่ามีอะไรมันหนักอยู่ในอกในใจอย่างนั้นแหละ ภายนอกแสดงออกอย่างนั้น แล้วอะไรที่ตัวทำมันก็หยาบๆ ไม่ค่อยจะเรียบร้อย บ้านช่องก็ไม่เรียบร้อย แต่งตัวก็ไม่เรียบร้อย สิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวคนใจร้าย มันก็ไม่ค่อยเรียบร้อย มีนิสัยหยาบไม่มีความประณีต ไม่มีความรักสวยรักงามรักความเป็นระเบียบเรียบร้อย แล้วถ้าหากว่าอะไรมากระทบก็ปึงปัง...โผงผาง เหมือนดินปะสิวไวไฟถูกไฟกระทบ เสียจนระเบิดปึงปังออกมาทำให้เกิดความเสียหายแก่คนที่อยู่ในบริเวณนั้นฉันใด ใจเราที่มีความโกรธครอบงำใจ มักจะมองคนอื่นในแง่ร้าย มองโลกในแง่ร้าย ไม่ได้มองในแง่ที่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ แต่เรานึกว่าสิ่งนั้นไม่ดี สิ่งนั้นไม่สวยไม่งาม ไม่เป็นอย่างนั้น มองคนก็มองในแง่ร้าย ไม่ได้ดูว่าเขาดีอย่างไร เขามีนิสัยใจคออย่างไรเราไม่คิด เราคิดแต่ในแง่ร้าย พอเห็นคนก็นึกว่าเป็นศัตรูของเขา แล้วเขาก็จะขุ่นขึ้นมา หน้าตาก็จะเปลี่ยนสี ตาแดง ปากคอสั่น มือไม้สั่น แสดงอาการที่มันไม่สมควรแก่สุภาพชนออกไป เพราะความโกรธมันครอบงำ มีอะไรอยู่ใกล้ก็จับสิ่งนั้น แล้วก็ใช้เป็นอาวุธมีไม้อยู่ใกล้ก็ตีด้วยไม้ มีมีดอยู่ใกล้ก็ทำร้ายร่างกายเขาด้วยมีดด้วยพร้า ถ้ามีปืนอยู่ใกล้ก็ยิงเปรี้ยงป้างถูกคนนั้นถึงแก่ความตาย สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นก็เพราะว่าจิตประทุษร้าย ประทุษร้ายตัวเองแล้วไปประทุษร้ายผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นได้รับความทุกข์ได้รับความเดือดร้อนเพราะความโกรธที่เกิดขึ้น แล้วคนที่โกรธบ่อยๆ ก็มีนิสัยที่เรียกว่าไวต่อความโกรธ เหมือนดินปะสิวไวไฟ เหมือนนํ้ามันใกล้ไฟมันอาจจะลุกพรึ่บพรั่บขึ้นมาเมื่อไรก็ได้ คนเหล่านั้นจะไม่มีความสุขทางใจเลย ไม่มีความสงบทางใจเลยแม้แต่น้อย ให้เราสังเกตดูคนที่อยู่ใกล้ๆกับเรา จะเป็นคนหงุดหงิด งุ่นง่าน ใจร้อน ใจเร็ว ดูกิริยาหน้าตาท่าทางที่แสดงออก มันไม่ค่อยดีเลย ไม่มีความสงบใจ ไม่มีความสุขใจ ใจร้อนใจเร็ว จะเดินเหินก็ปึงปังโผงผาง ทำอะไรก็กระทบกระแทกเปรี้ยงป้าง ถ้วยชามแตกอะไรแตกกันบ่อยๆ เพราะว่าขาดความระมัดระวัง ใจร้อน จะจับอะไรก็ฟึดฟัด..ฟึดฟัด โผงผางไปทั้งนั้น นี่คืออาการของคนอย่างนั้นที่มีความโกรธครอบงำจิตใจ คนที่มีความโกรธอย่างนี้อายุสั้น โกรธบ่อยๆอายุสั้น โดยอาจจะช็อกแล้วก็ตายเมื่อไรก็ได้ เพราะว่าประสาทเขาไม่ดี ต่อมในร่างกายไม่ปกติ อาจจะทำอะไรที่จะเป็นเรื่องกระทบกระเทือนเกิดความเสียหายขึ้นแก่ตนแก่ท่านเมื่อไรก็ได้ จึงเป็นเรื่องที่ไม่สมควร เราเห็นคนอื่นโกรธ เราก็มองแล้วพิจารณาเขาว่า ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ทำไมจึงพูดอย่างนั้น ทำไมจึงแสดงกิริยาอาการเช่นนั้น ผีอะไรเข้าไปสิงอยู่ในใจของคนนั้นจึงมีอาการเป็นอย่างนั้น เราดูแล้ว ก็รู้ว่าอ้อคนนี้เขากำลังโกรธ ตาขุ่นเป็นไฟเลย มองอะไรก็มองด้วยสายตาขุ่นๆรีๆขวางๆ ไม่ได้มองด้วยความสุภาพเรียบร้อย เราสังเกตดูอาการเช่นนั้นแล้วก็ถามตัวเองว่ามันน่ารักไหม น่าพอใจไหม น่าเข้าใกล้ไหม น่าคบหาสมาคมไหมกับคนเช่นนั้น ถ้าเราพิจารณาด้วยความรอบคอบ เราก็จะเห็นว่า..เฮ้อ..ไม่น่ารัก..ไม่น่าชม เป็นคนน่าเกลียด แล้วก็ต้องคิดต่อไปว่า ทำไมเขาจึงเป็นอย่างนั้น ทำไมเขาจึงได้มีอาการเช่นนั้น พิจารณาเพื่อให้เกิดความเข้าใจว่าที่เป็นเช่นนั้นเพราะอะไร เราก็จะพบว่าที่เป็นเช่นนั้นเพราะใจมีแต่ความโกรธ มีความโกรธและความคิดประทุษร้าย เข้าใกล้ใครไม่ได้เหมือนสัตว์ป่าที่ดุร้าย หรือเหมือนสุนัขที่มีลูกอ่อน ใครเดินไปใกล้มันก็โผล่เข้ามากระโชกกระชาก มันจะกัดทั้งนั้นแหละ คนที่มีอารมณ์โกรธมันก็กัดไม่เลือกหน้าเหมือนกัน ไม่ว่าหน้าอินทร์หน้าพรหมหน้าใคร เอาทั้งนั้นแหละ อย่าเข้าไปขวางเขาเป็นอันขาดคนอย่างนั้น เราต้องเฉยๆไว้ก่อน แล้วค่อยพูดค่อยจากันภายหลังจากเขาสงบลงไปแล้ว เวลาโกรธอย่าไปพูดยั่วนะ พูดอะไรไม่ได้นะ คนกำลังโกรธปล่อยเสียก่อนเรียกว่านํ้ากำลังเชี่ยว
คนโบราณเขาจึงพูดเตือนใจว่านํ้าเชี่ยวอย่าเอาเรือเข้าไปขวาง อย่าเอาเรือเข้าไปขวางหมายความว่านํ้าเชี่ยวอย่าขวางเรือ (23.42 คำซ้ำ) เพราะถ้าเอาเรือเข้าไปขวางเรือจะพลิกคว่ำเพราะกระแสน้ำ แล้วคนโดยสารก็จะจมน้ำถึงแก่ความตายไป หากเราเห็นใครที่มีอาการเช่นนั้นเราอย่าไปขวาง ปล่อยเขาก่อน ปล่อยให้เขาแสดงอาการโกรธต่อไป คนบางคนพอโกรธขึ้นแล้วก็ทุบถ้วยทุบจาน ทำลายข้าวทำลายของ ข้าวของอันใดอยู่ใกล้ทุบหมดเพราะความโกรธ จะไปทุบคนมันก็ไม่ได้ ก็เลยทุบกระจก หน้าต่าง อะไรอยู่ใกล้ทุบ แม้ของมีค่าเขาก็ทำลาย เพราะเขาไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ใจขุ่นมัว..ใจเศร้าหมอง..ใจมืดใจบอด แล้วก็ทำลายสิ่งนั้น ไม่ได้ทำลายสิ่งอื่นนะ บางทีก็ทำลายตัวเอง ต่อยตัวเอง ตีหัวตัวเอง ตีอกตนเอง มีมีดมีไม้มาหั่นแขนตัวเอง กรีดเลือดกรีดเนื้อของตัวเอง โดยไม่รู้สึกตัวว่าตัวทำอะไรอยู่ ทำไป..ทำไปจนกระทั่งว่าเหน็ดเหนื่อย พอเหน็ดเหนื่อยก็มานั่งหอบฮักๆ เหนื่อยนะคนที่โกรธนี่เหนื่อยมาก เหนื่อยกว่ายกของหนัก เหนื่อยกว่าวิ่งทางไกล เหนื่อยกว่าทำอะไรทั้งหมด เพราะอำนาจจิตที่มันคิดฟุ้งซ่านในทางที่ไม่ถูกต้อง มันเหนื่อย เหนื่อยหอบฮักๆเลย เหงื่อไหลไคลย้อย เหมือนกับว่าไปวิ่งกลางแดดมาอย่างนั้นแหละ เขาก็นั่งลงไป ประเดี๋ยวก็จะสงบขึ้น สงบแล้วค่อยพูดค่อยจากัน ให้เขาเห็น.. สมัยนี้ทำง่ายกว่าเรามีเทปไว้ พอเขาโกรธเขาพูดอะไรเอาเทปไปวางไว้ใกล้ๆ ให้เสียงมันเข้าเทป กิริยาท่าทางอะไร ถ้ามีวิดีโอถ่ายภาพไว้ แล้ววันหลังค่อยเอามาฉายให้เขาดู บอกว่ามาดูหนังหน่อย คือดูเรื่องของเขาเอง ถ้าเขาดูแล้วก็จะนึกว่าอะไร..ทำไมมันถึงเป็นอย่างนั้น จะรู้สึกขยะแขยงตัวเอง จะรังเกียจตัวเองขึ้นมา แล้วจะคิดว่า..เอ๊ะนี่มันเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร เป็นไปเพราะไม่รู้ไม่เข้าใจ ไม่เอาธรรมะมาเป็นเครื่องประเล้าประโลมใจ มันจึงเกิดอาการเช่นนั้นขึ้น แล้วก็มีอาการผิดปกติ เอามาฉายให้เขาดู เป็นเครื่องช่วยได้ดีเหมือนกัน แต่ว่าบางทีก็ทำไม่ได้เพราะไม่มีเครื่องมือประกอบ ถ้ามีเครื่องมือประกอบก็ง่าย ถ้าไม่มีเครื่องมือประกอบก็ค่อยพูดค่อยจาทำความเข้าใจให้กับเขา ให้เห็นทุกข์เห็นโทษของความเป็นคนมักโกรธ ใจร้อนใจเร็วให้เห็นว่ามันเป็นอย่างไร ค่อยสอนค่อยพูดเข้าไปเรื่อยๆ
มีเจ้านายเป็นคนมักโกรธ คนที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่เป็นคนมักโกรธ แก้ยากคือไม่รู้ว่าจะไปแก้อย่างไร ไม่มีใครจะไปแก้คนนั้น เขาก็เป็นอยู่อย่างนั้น แล้วคนที่จะไปรับใช้ใกล้ชิดก็จะเรียกว่าเป็นหนังหน้าไฟ หนังหน้าไฟมันร้อน (27.22 คำเกิน) หนังตลุงใช้ตัวภาพที่ทำด้วยหนัง เอามาอยู่ใกล้ไฟ มันร้อน เขาจึงพูดเป็นคำพังเพยว่าหนังหน้าไฟ หนังอยู่ใกล้ไฟ หนังมันก็ร้อนทำให้ลำบาก อีกคำหนึ่ง..แต่ว่า เดิมไม่เคยทอหูกคงไม่เข้าใจ อาตมาเคยเห็นเขาเรียกว่า ผ้ารองเรี้ย เรี้ยก็คือเป็นหลอดไม้ไผ่ หลอดไม้ไผ่ที่เอามาหั่นด้าย ด้ายที่จะเอามาทอเป็นผืน เขาต้องเอามาเข้าหลอด หลอดขนาดคืบอย่างนี้ ทีนี้เอาหลอดมาเสียบกับเครื่องปั่นด้ายเป็นเหล็กแหลมๆ ด้านหนึ่งก็ใส่เข้าไปในเหล็กแหลมนั้น แล้วก็นั่ง ขออภัยเขากางขาออก แล้วเอาผ้าผืนหนึ่งเอามาทำเป็นแผ่นกลมๆเอามาวางไว้ที่ระหว่างขา เรียกว่าเป็นผ้ารอง..รองเรี้ย เรี้ย...มันผ้ามันจะเสียหายแล้ว เปรียบผู้คนที่ได้ความทุกข์ว่ามันเหมือนหนังหน้าไฟ เหมือนกับผ้ารองเรี้ยที่จะต้องเป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา คนเราเวลาโกรธขึ้นมาก็เป็นหนังหน้าไฟ เผาตัวเอง ลนตัวเอง ปิ้งตัวเองให้ร้อน มีทุกข์หนัก แต่เขาไม่รู้..ไม่เข้าใจ เพราะเวลานั้นขาดสติขาดปัญญา ไม่มีความรู้สติ ผิดชอบชั่วดี แล้วก็ไม่รู้ว่าตนกำลังทำอะไร ทำไปด้วยความเผลอตัวทำให้สิ่งต่างๆเสียหาย บางคนก็ทุบตีคนนั้นทุบตีคนนี้ (ผ้ารองเรี้ย ยังหาข้อมูลไม่ได้ อาจเป็นภาษาถิ่น หรือ เฉพาะวิชาชีพ เลือกใช้สะกดว่าเรี้ย เพราะ มีในพจนานุกรมอยู่คำเดียว แปลว่าเร็วๆ ซึ่งไม่ค่อยตรงเท่าไร)
เด็กๆขี้โกรธ ขี้โทสะ แต่เรามักเรียกว่าโมโห ไม่ใช่โมโหมันเรียกว่าโทสะ คือใจมืดด้วยความประทุษร้าย ด้วยความโกรธ ทุบแม่ตัวเอง ทุบสิ่งนั้นทุบสิ่งนี้ เป็นคนอย่างนั้น ไม่รู้จะทุบจะตีอะไรก็เอาหัวชนฝาชนเสา ถ้าชนแรงก็ทรุดลงไปนั่ง เจ็บหัวก็รู้สึกตัว ก็นั่งเงียบไป ค่อยสร่างค่อยคลายไป พอเขาสร่างคลายจากอารมณ์เช่นนั้น เราก็พูดกับเขาได้ ทำความเข้าใจกับเขาได้ เพื่อให้เกิดความรู้สึกนึกคิดในทางที่ถูกที่ชอบ ค่อยพูดค่อยสอนตักเตือนไว้บ่อยๆ แล้วให้สมาคมกับคนใจเย็นๆ อย่าให้คลุกคลีกับคนใจร้อน เพระคนใจร้อนมันยั่วอารมณ์เหมือนกัน เช่น นาย ก พูด...นาย ข พูดขึ้นตามนาย ก เอาอย่างกัน ซึ่งโกรธกันด้วย เสียงก็ดังกันทั้งคู่ ทำอะไรเสียหาย เข้าใกล้คนอย่างนั้น มันก็ติดกัน ถ้าเด็กคนใดมีอารมณ์โกรธหรือผู้ใหญ่มีอารมณ์โกรธ อย่าเข้าใกล้คนใจร้อนใจเร็ว อย่าเข้าใกล้คนขี้โกรธ แต่เราต้องไปอยู่ใกล้คนที่สงบๆ เลียนแบบในทางสงบไว้บ้าง แล้วให้อ่านหนังสือเรื่องความสงบใจให้รู้จักควบคุมตัวเอง บังคับตัวเอง ให้มีการฝึกความอดทน อดกลั้น ไม่หวั่นไหวโยกโคลงไปตามอารมณ์ที่มากระทบ จะทำให้สุขภาพจิตดีขึ้นสุขภาพกายดีขึ้นด้วย คนแก่ๆที่หนุ่มมักโกรธนั้นมักจะเสียหาย คือว่าประสาทไม่ดี สมองเสื่อม สติปัญญาก็เสื่อม แล้วอาจจะโกรธถึงกับช็อกไปเลย เรียกว่าช็อกไปก็เพราะว่าความโกรธก็มีเหมือนกัน ตายอย่างนั้น ตายเป็นทุกข์ ใจเศร้าหมอง มีพระพุทธภาษิตจัดแบ่งว่า เมื่อจิตเศร้าหมองตายแล้วก็ไปเกิดทุคติ เมื่อจิตไม่เศร้าหมองตายแล้วไปเกิดสุคติ คนเราจะดับจิต เขาจึงพยายามให้ไม่เศร้าหมอง ให้คิดเรื่องดีเรื่องงาม เช่นให้คิดถึงเรื่องพระ ให้ภาวนาอะระหังบ้าง พุทโธบ้าง ให้ทำใจให้สบาย อย่าไปรบกวนให้วุ่นวายใจ ให้ฟุ้งซ่าน เพราะว่าดับจิตนี้สำคัญ เขาถือกันอย่างนั้น เราจึงค่อยพูดค่อยสอน ค่อยเตือน คอยชี้แนะให้เขาเกิดความคิดถูกต้อง ให้เบาลงไป
บางคนใจร้อนใจเร็วมาก แต่ทีหลังก็เบาเรียบร้อย อาตมาอยู่กับท่าน(หลวงลุง)เป็นคนใจร้อน ใจร้อนมากทีเดียว คนสมัยนั้นเรียกว่าบ้าลำโพง ลำโพงที่มีดอกเหมือนแตรนั่นแหละ ก็มีลูกกลมๆขนาดเท่านี้ เม็ดในเอามาตำให้เป็นผง แล้วกินกับนํ้าชา หรือนํ้าผึ้ง อะไรต่ออะไรก็ได้นะ เป็นยา..ยาลำโพง ยานี้ทำให้อารมณ์ร้อน อารมณ์แรง ท่านเป็นอย่างนั้น หลวงลุงท่านมีอาการเป็นอย่างนั้น ใจร้อน เวลาเราทำอะไรผิด ท่านไม่พูดไม่จา ตบเปรี้ยงไปเลย ตบหันไปเลยทีเดียว บางทีนั่งอยู่ตรงโน้น แต่เห็นว่าทำไม่ถูกต้อง ท่านกำลังฉันข้าวอยู่ ก็ยกชามข้าวขว้างออกไปเลย ไม่ถูกนะ..แต่ชามแตก เป็นอย่างนั้นบ่อยๆ คนขึ้นไปทำอะไรไม่ถูกต้อง ท่านลุกขึ้นเอาไม้ตะบองไล่ทุบลงจากที่พักไปเลย คนกลัว..ไม่อยากเข้าใกล้ ท่านนั่งอยู่คนเดียวได้เป็นวัน..สองวันไม่ได้คุยกับใคร เพราะความใจร้อน ใจเร็วของท่าน แต่ว่าต่อมาพออายุมากขึ้นเปลี่ยนไปหมดเลย เปลี่ยนไปเป็นคนใจเย็น เมื่อก่อนสูบบุหรี่ ดื่มนํ้าชา นํ้าชาใส่ปั้น ปั้นดินประเภทสวยๆ แล้วก็ขัดไม่ได้..นํ้าชามันเกาะมันจับจนหนาแล้ว ก็อย่าไปเที่ยวขัดให้ เด็กเอาไปขัดให้ เขาโกรธขึ้นมาเลยทีเดียวแหละ เมื่อก่อนชงนํ้าชา สูบยา บุหรี่ใบตองมวนโตๆ นั่งสูบเรื่อยไป สูบวันหนึ่งหลายๆมวน แต่ว่าต่อมาเลิกหมด เลิกดื่มนํ้าชา เลิกสูบบุหรี่ แล้วก็เลิกโกรธด้วย ใจเย็น..ใครทำอะไรขวางหูขวางตาท่านไม่ว่าอะไร ท่านนั่งยิ้มๆเฉยๆ เมื่อก่อนนี้ยิ้มไม่เป็น นั่งหน้าเครียดอยู่ตลอดเวลา เราเป็นเด็กอยู่กับท่านนี่..กลัว เพราะท่านด้วยไม่อยากเข้าใกล้ ไม่อยากเข้าใกล้แล้วเกิดอารมณ์..เลยหนี หนีไปเสีย หนีวัดไป หนีไปแล้วจับมาได้ก็เฆี่ยนเสียยกใหญ่ ตีตั้งสองร้อย..สามร้อย เฆี่ยน..แขวนเข้ากับขอบ เฆี่ยนๆ.. เฆี่ยนๆ.. เฆี่ยนด้วยอารมณ์โกรธ แต่ทีหลังท่านเลิกหมด ทีนี้ก็หลวงพ่อก็โตแล้ว..บวชแล้ว ก็ไปถามท่านบอกว่าหลวงลุงเดี๋ยวนี้ไม่เหมือนเมื่อก่อน ท่านบอกวามันเป็นยังไง เมื่อก่อนใจร้อนใจเร็ว ขี้โกรธ ใครทำอะไรผิด ก็ปึงปัง ทุบกับมันเลย ขว้างข้าวของแตก ทุบแตกอะไร ท่านก็ยิ้ม ยิ้มแล้วบอกว่า " กูขี้เกียจจะบ้าแล้ว " ท่านบอกว่ากูขี้เกียจบ้าแล้ว เลิกบ้าเสียที ทำใจให้เรียบร้อย ใจเย็น ใจสงบ ไม่วู่วาม ใครทำอะไร แล้วท่านเห็นว่าไม่ดี ท่านก็ยิ้มๆ ไม่ด่าไม่ว่า ไม่เหมือนเมื่อก่อน เมื่อก่อนถ้าใครทำอะไรชักช้า ยกไม้มาไล่ทุบมันเลย เมื่อก่อนก็ต้องวิ่งหนีกันกระเจิงเลย แต่ปกติคนก็ไม่อยากเข้าใกล้..กลัว ก็อาการของท่านเป็นอย่างนั้น แต่ทีหลังท่านสงบ สงบอยู่หลายปี แต่ป่วยแล้วมรณภาพไป มามรณภาพที่นี่ เผาที่นี่ ท่านเปลี่ยนไป เปลี่ยนไปอย่างลิบลับเลย เปลี่ยนไปเป็นคนสงบจิต อันนี้ไปถาม ท่านว่า "กูขี้เกียจบ้าแล้ว" การกระทำอย่างนั้น มันเหมือนคนบ้า จิตใจเหมือนคนบ้า รู้สึกตัวว่ามันบ้าไม่เข้าเรื่อง แต่ก็เปลี่ยนจากความวุ่นเหล่านั้น มาเป็นคนสงบเรียบร้อย นี่เปลี่ยนได้ ใจเย็น นี่ก็เป็นตัวอย่างแก่ชีวิตอันหนึ่งเหมือนกัน เพราะเป็นคนใจร้อนแล้วก็ระงับได้ มีสติ มีปัญญา ควบคุมตัวเองได้
ทีนี้เราญาติโยมที่อายุมากๆ ถึงแม้ยังไม่มากก็ระวังไว้ อย่าให้เกิดความโกรธ ถ้าเกิดขึ้นให้อยู่แต่ข้างในกดมันไว้ ไม่ต้องทำอะไรลำบาก รู้ตัวเท่านั้นเอง รู้ตัวว่าผิดปกติ จิตผิดปกติ ความคิดผิดปกติ นั่งเฉย อย่าลุกขึ้น อย่าเคลื่อนไหว อย่าแสดงอาการข้างใน พูดก็ไม่ได้ เคลื่อนไหวมือไม้ก็ไม่ได้ ลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบถก็ไม่ได้ เพราะความโกรธมันครุ่นอยู่ในใจของเรา เผาอยู่ข้างใน เคลื่อนไหวไม่ได้ ต้องอยู่เฉยๆ นั่งๆนิ่งๆ สงบจิตสงบใจ แล้วคอยสังเกตอาการแห่งการคิดนึกที่เกิดขึ้นในใจเราว่า มันมีอาการอย่างไร สภาพจิตใจเป็นอย่างไร คอย..คอยดูมันไว้ ดูด้วยปัญญาดูด้วยสติ เขาเรียกว่าเจริญสติปัฏฐานนั่นเอง เจริญสติปัฏฐานอยู่ในข้อว่าจิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน (37.36) การพิจารณาจิตของตนเอง ดูจิตของตนเอง ดูมันไป ดูอาการมันไปทุกระยะ แล้วมันก็ค่อยสงบไป เพราะใจเรามันคิดได้ทีละเรื่อง เวลาโกรธก็รู้แต่เรื่องโกรธอยู่ในความคิดของเรา ทีนี้พอเรากำหนดรู้ ตัวความโกรธเบาไปแล้ว..หายไปแล้ว แล้วเรากำหนดรู้ ตัวเรากำหนดรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา ตัวความโกรธก็หายไป เราต้องใช้ปัญญาต่อไป พิจารณาว่า เอ..ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ทำไมจึงเกิดอาการใจร้อนใจเร็วหุนหันพลันแล่นอย่างนั้น ทำไมจึงแสดงอาการอย่างนั้น เราก็ตอบได้เลย เพราะความโกรธครอบงำใจ เวลาความโกรธครอบงำใจนี่ ใจมืดไม่มีความสว่างทางปัญญา ขาดความรู้ผิดชอบชั่วดี แล้วมันดีไหมที่เป็นเช่นนั้นน่ะ ถามตัวเองว่ามันดีไหม..ไม่ดี หน้าตาก็ไม่สวย กิริยาท่าทางก็ไม่สุภาพไม่เรียบร้อย อะไร..อะไรมันก็ผิดปกติไปหมด เป็นคนน่ารักไหม..ไม่น่ารัก เป็นคนน่าเกลียดไหม...แน่นอน คนอื่นดูแล้วก็นึกว่าเราเป็นยักษ์เป็นมาร ไม่ใช่คนธรรมดาไปเสียแล้ว อาการเช่นนั้นเก็บให้ดีแล้วมันเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะเราไม่มีปัญญากำกับจิตใจ ไม่มีสติคอยกำหนดในเรื่องที่มากระทบ ถ้าไม่มีสติปัญญาเป็นเครื่องควบคุม กิเลสมันก็แทรกขึ้นมาได้..แทรกขึ้นมาได้ เราก็เสียท่ามัน ทำให้เกิดปัญหา
เมื่อวานนั่งรถไปทางโน้น ถ่อไป ถนนรถไฟจะไปกรมยุทธศึกษา แล้วก็เห็นผ้ายางเป็นม้วนๆใหญ่ๆอย่างนี้ เอามาคลุมลงไป คลุมนํ้า คลุมตลอดคูข้างทางรถไฟ ก็เลยถามเขาว่าทำไมเอามาคลุมไว้อย่างนั้น คลุมเพื่ออะไร เขาบอกว่าเขาจะเอาดินมาถมคลอง เอามาถมคูเพื่อขยายทางรถไฟ แล้วทำไมเอาผ้ายางอย่างนั้นมาคลุมไว้ด้วย กันไม่ให้ดินข้างล่างมันพุขึ้นมา ไม่ให้ดินข้างล่างมันพุขึ้นมาชั่วคราว ไอ้นี่มันทับลง มันก็จะพุขึ้นมา ทีนี้พุขึ้นไม่ได้เพราะมีผ้าคลุมไว้ มันไม่พุต่อ อันนี้เข้าที จิตใจคนเรานี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราเอาสติปัญญามาคลุมหุ้มห่อไว้ กิเลสมันแซงขึ้นมาไม่ได้ มันเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะเรามีสติปัญญาเป็นตาข่าย เป็นผ้าคลุมมันไว้ มันก็ไม่เกิด ทีนี้เราต้องฝึก ฝึกควบคุมจิตใจ ที่เรามาเจริญภาวนาอะไรกันนี่ จุดหมายคือตรงนี้ เพื่อหัดสติปัญญาให้มันคล่องๆให้ชำนาญ เมื่ออะไรมากระทบจะได้รู้ทันท่วงที เราจะไม่เสียท่าสิ่งเหล่านั้น เพราะเรามีเครื่องมือช่วยป้องกัน ไม่ให้ความโกรธเกิดขึ้น แล้วเวลาว่างๆไม่มีอะไรจะทำ เราก็นั่งพิจารณาทุกข์โทษอันเกิดจากความโกรธว่ามันไม่ดีอย่างไร ให้โทษอย่างไรแก่จิตใจ ให้โทษอย่างไรแก่ร่างกาย ให้โทษแก่ญาติมิตรสหายที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเราอย่างไร เราก็ต้องพิจารณาเพื่อจะได้ศึกษาตัวเอง เวลาว่างๆก็ศึกษาตัวเอง เราทำงานก็ทำไป เรียนหนังสือก็เรียนไป มีหน้าที่อะไรก็ทำไปตามหน้าที่ แต่ว่าพอเวลาว่างเราต้องหันมามองดูตัวเอง พิจารณาตัวเอง ตักเตือนตัวเองแก้ไขตัวเอง ดูว่าตัวเราเองนี้มีความบกพร่องอะไร มีความไม่ดีที่ตรงไหน ใจเราเป็นอย่างไร อะไรครอบงำจิตใจ เราเป็นอะไรบ่อยๆ เราเลิกบ่อยไหม เราโกรธบ่อยไหม เรามีอาการหลงใหลมัวเมาในเรื่องต่างๆบ่อยๆหรือไม่ เป็นเรื่องที่จะต้องนั่งพิจารณาให้รู้ให้เข้าใจ ให้รู้แล้วก็ศึกษาต่อไปว่าสิ่งนี้มันเกิดได้อย่างไร มันมาจากทางไหน มันมาแล้วทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ทำไมเราจึงตั้งตัวไม่ได้ ทำไมเราไม่ยืนให้มั่นคง เพื่อต่อสู้ไม่เหมือนกับเสาหินผลักดินยุบ ลมพัดก็ไม่หวั่นไหว เพราะว่ามันมั่นคง ใจเราก็เหมือนกันมันไม่มั่นคง เพราะเราไม่ได้ฝึกไม่ได้อบรมบ่มนิสัยในเรื่องอย่างนั้น เราจึงเสียท่าล้มกันบ่อยๆ เป็นทุกข์บ่อยๆ เกิดปัญหาบ่อยๆ ก็ทำให้เสียหาย
ผู้คนที่ต้องติดต่อสังคมในเรื่องการงาน ถ้าเป็นคนใจร้อนใจเร็วขี้โกรธ เขาก็จะยั่วให้เราโกรธ พูดยั่ว พูดหยอกให้เราเกิดความโกรธ พอเกิดความโกรธแล้ว สติปัญญาไม่มี เหตุผลไม่มี ก็ถูกเขาหลอก เขาต้มได้ง่าย เจรจาอะไร ต่อรองอะไรก็เสียเปรียบเขา เพราะเขาทำให้เราโกรธเสียแล้ว ให้อารมณ์ไม่ดีเสียแล้ว เราก็เสียท่าเขาเท่านั้นเอง มันเป็นอย่างนั้น คนที่ไปประชุมที่ประเทศญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นเขาเที่ยวนำคนไทย ไปโน่นมานี่ให้เหนื่อย พอเหนื่อยแล้วเข้าประชุม พอเข้าประชุมแล้วสมองมันก็เฉื่อยชาเพราะความเหน็ดเหนื่อย พูดจาอะไรก็ไม่แหลมคม ปัญญาก็อ่อนไป มองอะไร คิดอะไรไม่ค่อยได้ (หัวเราะ) สัญญาเสียเปรียบเขาทุกที ญี่ปุ่นมันเข้าใจหลอก มันล่อเราให้เพลียเสียก่อนน่ะ เหมือนกับนักมวยจะขึ้นชกเลย มันก็เลยทำให้เพลีย ชกทำให้แพ้เท่านั้นเอง วิธีการอย่างนั้น อันนี้เราไม่ควรไปเที่ยวก่อนเข้าประชุม ไม่ควรจะไปเที่ยวไปเตร่ควรจะนั่งพักสงบจิตสงบใจ แล้วมานั่งประชุมกัน วางแผนว่าจะโต้กันยังไง มันมาหงายไม้นั้น เราจะแก้อย่างไร มันมาไม้นี้เราจะแก้อย่างไร แหม...เจอญี่ปุ่นเขาใจดี เขาว่าไปเที่ยว..พาไปขึ้นเขาลงห้วยชมนั้นชมนี้ แล้วก็ประชุมในเวลากลางคืน หากเขาว่ายังไม่ได้กินอะไรท้องมันก็หิว แต่ญี่ปุ่นมันกินอิ่มแล้ว มันประชุมมันนั่งสบาย เราประชุมน่ะเหนื่อยมาก เพลียมาก หิวมาก เสียเปรียบเขาทุกที เขาล่อให้หลง ไม่ใช่เรื่องอะไร เสียท่าเขาเสียอย่างนั้น เพราะเช่นนั้นเราอย่าไปทำให้เสียท่าเขาอย่างนั้น ไปไหนทำอะไรต้องรู้หน้าที่ แล้วก็รู้เวลาว่าเราจะต้องทำอะไรเวลาใด เตรียมเนื้อเตรียมตัวต่อสู้กับปัญหา
สภาพชีวิตก็เป็นอย่างนั้น เราต้องเตรียมอยู่ตลอดเวลา สร้างภาพสมมติขึ้นในใจ ว่าถ้าเขาพูดอย่างนั้นเราจะโกรธไหม แสดงอาการอย่างนั้นเราจะโกรธไหม เขาใช้อะไรยั่วเรา เราจะหลงใหลมัวเมาไหม ต้องคิดสร้างภาพ เรียกว่าสร้างภาพสมมติเป็นตุ๊กตาขึ้นมา เพื่อจะช่วยแก้ปัญหาชีวิตของเราเอง แล้วเราก็พยายามแก้ไขปัญหานั้น หาแนวทางต่อสู้ อย่างนี้เอาตัวรอด ไม่เป็นอะไร จิตใจสงบมั่นคง และเวลาจะพบกับใครก็ต้องสำรวมใจ หยุดสำรวมใจว่าเราจะพบกับคนนั้น จะสนทนากับคนนั้น หากคนนั้น..ปกติเขาเป็นคนชอบล่อ ชอบหลอก ชอบยั่วในเรื่องต่างๆให้เราเจ็บใจ เราก็ต้องคิดว่า..เราต้องไม่หวั่นไหว ไม่โกรธตามคำยั่วอารมณ์ของคนเหล่านั้น เราจะยืนหยัดอย่างมั่นคงด้วยสติด้วยปัญญา อย่างนี้เอาตัวรอด แต่ว่านั่นแหละโยม เราไม่ค่อยได้ฝึกฝนอบรมตัวเอง ยิ่งเป็นคนที่ติดต่อหน้าที่การงาน ก็ไม่ค่อยได้ฝึกฝนอบรมจิตใจ ก็คิดแต่เรื่องอื่น ไม่ได้สนใจเรื่องภายใน ไม่ได้สนใจเรื่องสภาพจิตของตัวเอง จึงมักจะเสียท่าเขา ด้วยอาการอย่างนี้อยู่บ่อยๆ ในสังคมโลกมันเป็นอย่างนั้นเพราะเช่นนั้นเราต้องรู้วิถีทางแห่งการเกิดขึ้น การตั้งอยู่ และผลที่เกิดขึ้นจากสิ่งนั้นว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างไร ถ้าเราคอยกำหนด คอยสังเกต เราก็จะรู้วิถีทางของมัน พอมีอะไรเกิดปุ๊บ...รู้ปั๊บทันท่วงที สติมา..ปัญญามา..ความอดทนตามมา เราก็ไม่เสียท่าใครๆ เขาลองแย๊บดู..ถ้าไม่หวั่นไหว เขาก็ยอมแพ้เราเอง...ไม่มีอะไร เพราะเรามีจิตใจมั่นคง การมาวัดมาวา มาศึกษาธรรมะต่างๆนี่ ก็เพื่อเรื่องนี้..เพื่อเป็นบทเรียน เอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะการเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันนั้น มันมีทั้งล่อ..ทั้งชน สิ่งต่างๆที่มากระทบมีล่อบ้าง..ชนบ้าง..หลอกบ้าง ทำให้เราตกหลุมเขาได้ง่ายๆ แต่ถ้าเราจิตใจมั่นคง เราก็ไม่เป็นไร เราก็เอาหลักการธรรมะนี่แหละไปใช้ ในการที่จะอยู่ในโลก อยู่ในโลกไม่ให้เป็นทุกข์ อยู่ในโลกไม่ให้โลกทุบตีเราให้บอบชํ้า เรียกว่าอยู่ได้ด้วยปัญญา เราก็ปลอดภัยด้วยประการทั้งปวง อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ หากขอนำมากล่าวในเชิงแนะนำให้ญาติโยมทั้งหลายไว้สักเล็กน้อย ขออวยพรให้ญาติโยม มีความสุข ความเจริญ ทุกท่านเทอญ ต่อจากนี้ก็นั่งสงบใจ ๕ นาที (ตัดช่วงท้าย ที่เป็นการสนทนาเล่าเหตุการณ์ทอดกฐิน ที่วัดปัญญานันทารามในปีนั้น)