แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พุทธบริษัททั้งหลาย ต่อนี้ไปขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ หาที่นั่งพักที่ใดที่หนึ่งที่สามารถได้ยินเสียงลำโพงอย่างชัดเจน และจงตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
วันนี้เป็นวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๓๗ อีกสองวันก็สิ้นเดือนแล้ว วันเวลาช่างผ่านไปอย่างรวดเร็ว เวลาผ่านไปไม่ได้ผ่านไปเปล่าๆ แต่ฉุดฆ่าสิ่งทั้งหลายจากเวลาด้วย เวลาฉุดฆ่าพวกเราทั้งหลายเป็นอย่างไร เราแก่ลงไปทุกวินาทีของชีวิต เปลี่ยนแปลงไปสู่ความแก่ เพราะเวลาฉุดฆ่าเราไป และเวลาที่ผ่านไปแล้วจะเรียกคืนไม่ได้ เมื่อผ่านแล้วก็แล้วกันไป เราก็แก่ลงไปแล้วจะกลับมาเป็นคนหนุ่มก็ไม่ได้ ถอยหลังไม่ได้ มีแต่เดินไปข้างหน้า คล้ายๆ กับว่าเราเดินตามทางลาดชันลงไปในเหว เดินไปก็ถึงก้นเหว คือ ความตายนั่นเอง ความตายเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต เราไม่ควรกลัวต่อความตาย แต่ควรจะรู้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งของชีวิต เป็นฉากหนึ่งของชีวิตที่เราจะต้องแสดง และทุกคนจะต้องถึงฉากนั้น เราหนีไม่พ้น เมื่อคิดถึงเรื่องอย่างนี้เราควรจะได้คิดว่าเมื่อเวลาผ่านไป พระพุทธเจ้าท่านสอนให้คิดว่าเวลาที่ผ่านไปนั้นเราทำอะไร คิดถามตนเองว่าเราทำอะไรอยู่ ถ้าเห็นว่าไม่ได้ทำอะไรก็ต้องคิดว่าชีวิตไม่มีค่า ไม่มีราคา ไม่มีความหมาย เราจะต้องรีบใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ด้วยการทำหน้าที่ให้ถูกต้อง ทุกคนมีหน้าที่ด้วยกันทั้งนั้น แต่ไม่ทำหน้าที่แล้วไปบ่นกับใครว่าไม่มีงานทำ คนที่พูดว่าไม่มีงานทำคือคนที่ไม่รู้จักชีวิต ไม่รู้จักหน้าที่ ความจริงมีหน้าที่อยู่ประจำแล้วที่จะต้องจับต้องทำ แต่ไม่ได้ทำแล้วบ่นว่าไม่มีงานทำ งานที่ทำนั้นหมายถึงงานที่ทำแล้วได้รางวัลตอบแทน ได้เงินเดือน ได้เบี้ยเลี้ยง
งานที่หลวงพ่อทำอยู่ในชีวิตประจำวันเป็นหน้าที่อย่างแท้จริง ไม่มีเงินเดือนให้ แต่หลวงพ่อได้รับของหลวงพ่อเอง เป็นรางวัลที่หลวงพ่อได้รับด้วยตัวเอง ไม่ต้องมีใครให้ ไม่ต้องมีใครขึ้น และไม่มีใครลดด้วย มันเป็นผลทางธรรมชาติที่เราได้กระทำ เมื่อเรากระทำถูกต้อง ผลก็เป็นความถูกต้อง ทำให้เป็นสุขผลก็เป็นความสุข ทำให้เกิดความทุกข์ผลก็เป็นความทุกข์เป็นความเดือดร้อนใจ อะไรๆ ก็อยู่ที่เราทำทั้งนั้น ทางธรรมะจึงสอนว่าให้ทำงานตามหน้าที่ หรือทำหน้าที่ให้เรียบร้อย เราทำหน้าที่ของเราเรียบร้อย เราก็สบายใจ สบายใจว่าเราไม่อยู่เปล่า ชีวิตไม่เป็นหมัน ทำชีวิตให้มีคุณค่าด้วยการทำหน้าที่ถูกต้องแล้ว เป็นเรื่องสำคัญ และเราต้องคิดนึกไว้บ่อยๆ เพื่อเตือนตนเองไม่ประมาท ไม่มอมเมาหลงใหลสิ่งต่างๆ รอบข้าง แต่ให้รู้ว่าเราเกิดมาทำไม เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร สิ่งที่ดีที่สุดที่เราควรจะกระทำในเวลาปัจจุบันนี้คืออะไร และเราได้กระทำสิ่งนั้นแล้วหรือยัง ต้องถามตนเองไว้เพื่อเป็นการเตือนตนเอง แนะนำตนเอง และเป็นการแก้ไขตนเองให้เป็นการเรียบร้อย เพราะฉะนั้น ในฐานะที่เราเป็นผู้เดินตามรอยพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราต้องคิดนึกในตนเองดังกล่าวอยู่ตลอดเวลา เพื่อทำชีวิตให้มีค่า มีราคา มีความหมาย ก็ได้ทำหน้าที่ของเราถูกต้อง การทำหน้าที่ถูกต้องเรียกว่าเราได้ปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมนั้นคือการทำหน้าที่อันถูกต้องอยู่ตลอดเวลา ที่บ้าน ที่ทำงาน บนถนน ในสังคมที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง เราทำตนให้เหมาะให้ควรกับหน้าที่นั้นๆ ผู้นั้นจะไม่เป็นคนรกโลก ไม่เป็นคนขวางโลก แต่เป็นคนที่ไปกับโลกได้ด้วยความถูกต้องเรียบร้อย ถ้ารู้จักวางตัว วางตน ให้เหมาะแก่บุคคล เหตุการณ์ สถานที่ และเวลาที่เกี่ยวข้อง ชีวิตก็จะไม่เป็นหมัน เป็นชีวิตที่มีคุณค่าสมความกับที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา นี่เป็นเรื่องที่อยากจะฝากไว้ให้ญาติโยมทั้งหลายได้พิจารณา
เราเป็นคนไทย เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา คือ คำสอนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ค้นพบด้วยพระองค์เอง ดังคำที่เราสวดว่า “สัมมาสัมพุทธโธ” เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้ด้วยพระองค์เอง หมายความว่าสิ่งที่ได้มานั้น ได้มาด้วยความเพียร อดทน และตั้งใจจริงในการแสวงหาด้วยตนเอง และได้รับผลจากการกระทำนั้นด้วยตนเอง จึงได้ชื่อว่าเป็นสัมมาสัมพุทธะ แปลว่า ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง
ธรรมะที่พระองค์ได้ตรัสรู้นั้นเป็นความถูกต้อง เป็นประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติอย่างแท้จริง เราจึงได้สวดสรรเสริญพระพุทธคุณว่า “สวากขาโต ภะคะวะตาธัมโม” พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว เป็นสิ่งดี ดีในเบื้องต้น ดีในท่ามกลาง ดีในที่สุด ดีสำหรับทุกคนที่จะนำไปเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน คนนั้นจะเป็นเด็ก หนุ่มสาว ผู้ใหญ่ เป็นผู้อยู่ในวัยชรา หรือมีหน้าที่การงานอันใด ก็สามารถที่จะนำพระธรรมนี้ไปใช้เป็นเครื่องประกอบในการปฏิบัติกิจนั้นๆ ให้สำเร็จผลประโยชน์ด้วยดีทั้งนั้น ไม่มีอุปสรรค เอาไปแล้วใช้ได้เป็นประโยชน์ พระองค์ตรัสไว้ว่า สิ่งที่พระองค์ได้ค้นพบนี้เป็นสิ่งไพเราะในเบื้องต้นท่ามกลางที่สุด คำว่า “ไพเราะ” หมายความว่าไม่เป็นที่รำคาญ ไม่เป็นที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนใจแก่ใครๆ ผู้ใดได้ฟังแล้วก็มีความเชื่อใจ เรียกว่าไพเราะในเบื้องต้น ฟังไปก็มีความชื่นใจ ฟังจบแล้วก็มีความชื่นใจ จึงชื่อว่า “ไพเราะเบื้องต้นท่ามกลางที่สุด” และถ้าเรานำธรรมะนั้นไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เราก็ได้รับความสุข ความสงบในชีวิตประจำวัน เป็นเครื่องทำลายอุปสรรคไม่ให้เกิดขึ้น เป็นสิ่งป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นในการดำรงชีวิตประจำวัน เพราะธรรมะเป็นเกราะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนใจ เรียกว่า ไม่ให้เกิดปัญหาจากการปฏิบัติกิจนั้นๆ ผิดกับคนที่ทำงานโดยไม่ได้ใช้ธรรมะ เข้าไปเกี่ยวข้องกับอะไรก็ไม่ได้ใช้ธรรมะเป็นเครื่องกำกับจิตใจ มีปัญหามาก มีความทุกข์มาก มีอุปสรรคเกิดขึ้นตลอดเวลา และเมื่อเกิดอุปสรรคข้อขัดข้องขึ้น ก็ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นปัญหา อุปสรรค และข้อขัดข้อง ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้นจากอะไร หรืออะไรเป็นเหตุให้เกิดสิ่งนั้น ไม่รู้ไม่เข้าใจ และไม่รู้ว่าบรรดาสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นแก้ได้ เพราะสิ่งทั้งหลายมีเกิดและมีดับด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีอะไรที่เกิดแล้วไม่ดับ เกิดแล้วต้องดับของมันเองตามธรรมชาติ แต่ให้ดับเองตามธรรมชาติมันช้า เสียเวลา เราจะต้องทำให้ดับไปด้วยปัญญาของเรา การทำให้ดับไปด้วยปัญญานั้นมันดับบ่อย แล้วทำให้เราเกิดความรู้ความเข้าใจว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้นเพราะอะไร ดับไปเพราะอะไร มีประสบการณ์เกิดขึ้นในชีวิต ทำให้เราเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตมากขึ้น มีอะไรเกิดขึ้นก็รู้ทันรู้เท่าในสิ่งนั้น สามารถแก้ปัญหานั้นได้ทันท่วงที ไม่เป็นปัญหาเรื้อรังในชีวิตประจำวันของเรา เราก็ปลอดภัยด้วยประการทั้งปวง นี่คือผลที่เกิดขึ้นจากเราปฏิบัติกระทำ
ธรรมะจึงเป็นสิ่งที่กล่าวไว้ดีแล้ว เป็นสิ่งประเสริฐ คู่บ้าน คู่เมือง คู่โลก ผู้ใดศึกษาแล้วนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ผู้นั้นจะเห็นผลด้วยตัวของตัวเอง ดังบทที่เรียกว่า “สัณฐิฑิโก” ซึ่งแปลว่า ผู้ศึกษา ผู้ปฏิบัติ จะเห็นชัดด้วยตัวเอง คือ เห็นผลที่เกิดขึ้นว่าเป็นอย่างไร เกิดขึ้นกับตัวเราโดยวิธีอะไร เราเป็นผู้ทำให้เกิดขึ้นซึ่งสิ่งนั้น ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ก็ตัดปัญหาได้หลายเรื่อง ปัญหาที่เป็นความเชื่อเหลวไหล เช่น มีความเชื่อตามหลักไสยศาสตร์ มีความเชื่อว่าอะไรที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรานั้นเกิดมาจากเหตุภายนอก เกิดมาจากสิ่งนั้นสิ่งนี้ดลบันดาลให้เป็นไป หรือสิ่งภายนอกทำให้เราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เช่น เรามีความเชื่อที่ไม่ถูกต้องว่า เพราะดวงดาวบนท้องฟ้า ปัญหาจึงเกิดขึ้น หรือเพราะสิ่งเหล่านั้นเหล่านี้ทำให้เกิดปัญหา มันไม่ถูกไม่ตรงกับหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และไม่ช่วยให้ชีวิตเราดีขึ้น แต่จะทำให้เรางมงายในเรื่องต่างๆ มากขึ้น ถูกหลอก ถูกต้ม ด้วยวิธีการแยบยลด้วยประการต่างๆ ดังปรากฏเป็นข่าวบ่อยๆ ว่าคนนั้นไปหลอกต้มคนนี้ด้วยวิธีนั้นวิธีนี้ ซึ่งทำได้กับคนที่ไม่ศึกษาและปฏิบัติธรรมะ ไม่เข้าใจธรรมะถูกต้องเลยถูกหลอกให้เสียหาย แต่ถ้าเราเป็นผู้เข้าใจตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ปฏิบัติตามหลักธรรมะที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ ปัญหาไม่เกิด และจะไม่มีใครมาหลอกเราได้ ถ้ามีใครมาหลอกเราก็รู้ได้ว่านี่เล่นลูกไม้อีกแล้ว จะหลอกลวงเอาอะไรจากเราอีกแล้ว เรารู้ทัน รู้เท่ากับคนเหล่านั้น ปัญหาก็ไม่มี และเราก็ไม่ต้องไปทำอะไรแบบโง่ๆ เช่น ทำพิธีการต่างๆ กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวิธีการแปลกๆ ถ้าเราเป็นผู้ศึกษาหลักธรรมของพระพุทธเจ้า มีความเข้าใจถูกต้อง เห็นผลของการปฏิบัติด้วยตัวเองตลอดเวลา เราก็ไม่ต้องไปทำอย่างนั้น เพราะเราเข้าใจชัดว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร โดยวิธีอะไร เมื่อเข้าใจแล้วเราก็แก้ที่ตัวเรา ไม่ต้องไปแก้ที่วัตถุภายนอก ไม่ต้องไปทำการเสี่ยงทาย ไม่ต้องไปทำพิธีบนบานสานกล่าว หรือถ้าพูดสมัยใหม่ว่า ไม่ต้องไปคอรัปชั่นกับสิ่งเหล่านั้นเพื่อให้ได้ผลที่ตนต้องการ เพราะเรารู้แก่ใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นด้วยตัวเราเอง เป็นสันฐิฑิโก คือ รู้ได้ด้วยตัวเอง เห็นชัดด้วยตัวเอง ไม่ต้องเชื่อตามเค้าบอก ตามเค้าเล่า เราเชื่อการปฏิบัติของเรา เราเข้าใจถูกต้อง และเราปฏิบัติถูกต้อง ผลที่เกิดขึ้นก็เป็นความถูกต้อง นี่เป็นหลักสำคัญ
เพราะฉะนั้น ในฐานะที่เราเป็นพุทธบริษัท เราต้องทำกิจสามอย่างควบคู่กันไป คือ ศึกษาเรียกว่าปริยัติ เพื่อให้เข้าใจถูกต้อง ศึกษาด้วยการฟัง อ่าน คิดค้นจากสิ่งที่เราได้ประสบพบเห็นในชีวิตประจำวัน อย่าให้สิ่งใดที่เกิดขึ้นผ่านไปโดยไม่ได้วิจัยวิจารณ์ในสิ่งนั้น เราต้องใช้ปัญญาที่พระพุทธเจ้ามอบไว้ให้ มาคิด ค้น ตีความ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจถูกต้อง ไม่รับอะไรง่ายๆ ไม่เชื่ออย่างงมงาย ไม่เชื่อตามเค้าบอกเค้าเล่า ไม่เชื่อตามข่าวลือ แต่เชื่อเพราะเราได้เห็นชัด คิดค้นด้วยตัวเอง และด้วยการปฏิบัติในสิ่งนั้น แล้วประจักษ์แก่ใจของเราเองว่ามันเป็นอย่างไร มีความสุขอย่างไร มีความทุกข์อย่างไร มีความร้อนใจ เย็นใจ อย่างไร เรารู้เราเข้าใจ รู้ได้ด้วยตัวเอง เห็นได้ด้วยตัวเอง ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วถูกต้องจะไม่มีใครมาหลอกเราด้วยวิธีการใดๆ เป็นอันขาด เพราะในสังคมปัจจุบันนี้มีลูกไม้บ้าง กลวิธีด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อหลอกคน ต้มคน ให้เสียหาย ถ้าเราไม่มีปัญญาทำแบบพระพุทธเจ้า เราก็เสียท่าคนอื่น ถูกเค้าหลอก ต้มเอาไปง่ายๆ แต่ถ้าเราเข้าใจถูกต้องในหลักธรรมะของพระพุทธเจ้า ใครจะมาต้ม หลอกเราไม่ได้ เพราะพอเอ่ยขึ้นเราก็รู้แล้วว่าคนๆ นี้จะใช้ลูกไม้แบบไหนกับเรา เราฟังด้วยสติปัญญา ไม่ฟังด้วยการหลงใหลมัวเมาในสิ่งที่เค้าเล่า ในใจต้องคิดก่อนว่ามันจะเป็นไปได้หรือ น่าเชื่อหรือ จะเป็นจริงหรือ สงสัยว่าอย่างนั้น เพราะเราเข้าใจในสิ่งทั้งหลายถูกต้องตามหลักสัณฐิฑิโก คือ เห็นชัดด้วยตัวเอง พระผู้มีพระภาคเจ้ากล่าวย้ำเตือนบ่อยๆ กับภิกษุบริษัท “เธอทั้งหลาย อย่าเชื่ออะไรง่ายๆ อย่ารับอะไรง่ายๆ แต่จงใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาอย่างรอบคอบ รอบรู้ในสิ่งนั้นๆ ถ้าจะรับก็แปลว่ารับด้วยปัญญา ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง” แม้องค์พระบรมครูทั้งหลายจะสอนใคร พระองค์ก็เปิดโอกาสให้ใช้ปัญญา ให้ใช้ความคิดอย่างรอบคอบ เช่น เวลาจะสอนใคร พระองค์มักจะเตือนว่าธรรมในใจให้ดี คิดให้แยบคาย
เราจะพูดให้ฟังซึ่งมีอยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่มีอยู่ในคัมภีร์อื่นในโลกนี้ เพราะคัมภีร์อื่นๆ อาจารย์อื่นๆ มักจะผูกมัดศิษย์ให้มีความเชื่อฝ่ายเดียว แต่ในคัมภีร์ของพระพุทธศาสนานั้นไม่ให้เชื่อโดยปราศจากปัญญา จะเชื่อหรือรับอะไรต้องใช้ปัญญาประกอบตามสมควรแก่ฐานะ เพราะฉะนั้น เมื่อพระองค์จะสอนใครจึงมักจะกล่าวเตือนว่า ธรรมในใจให้ดี คิดให้แยบคาย เราจะพูดให้ฟัง เป็นการให้เสรีภาพแก่ผู้ฟังอย่างประเสริฐ ไม่บังคับ ไม่ข่มขี่ผู้ฟังให้เชื่อ และทำตามพระองค์ เพราะในพระพุทธศาสนาไม่มีการบังคับให้เชื่อ ให้ทำ แต่ใช้วิธีจูงใจให้เกิดความเห็นถูก เห็นชอบในการกระทำนั้นๆ แล้วให้ทดลองด้วยตัวเอง จนเห็นชัดด้วยตนเองว่าอะไรเป็นสิ่งที่ถูกต้อง นี่เป็นหลักการสำคัญที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนา เราหาไม่ได้ในศาสนาอื่น ในคัมภีร์อื่น แต่มีอยู่เฉพาะในพระไตรปิฏกของพระพุทธเจ้า
พระไตรปิฏกของพระพุทธศาสนาเป็นหลักแห่งความเชื่อที่มีปัญญา ทำคนให้เกิดความรู้ ความเข้าใจถูกต้องในสิ่งนั้นอย่างแท้จริง จึงเป็นเรื่องที่ควรแก่การศึกษา ทำความเข้าใจ และควรที่จะเข้าไปพิจารณาศึกษาตามบทพระธรรมคุณที่เรียกว่า “อะกาลิโก” หมายความว่า ให้ผลไม่จำกัดเวลา เหมือนที่เราพูดกันบ่อยๆ ในสังคมปัจจุบันว่า สมัยนี้พระอรหันต์ไม่มีแล้ว หรือพระอริยบุคคลไม่มีแล้ว การพูดเช่นนั้นเป็นการพูดที่ไม่ถูกต้อง เพราะผิดจากหลักการของพระธรรมตามพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในเวลาใกล้จะปริพาน ตรัสกับศุภะชะปริพาชก ซึ่งมาอย่างรีบร้อนเพื่อจะมาเฝ้าและถามปัญหา เพราะรู้ว่าพระองค์จะนิพพานแล้ว รีบมาให้ทันเฝ้าก่อนพระองค์จะหมดลมหายใจ เมื่อมาถึงพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดให้เข้ามา ไม่กีดกัน พระอานนท์ก็ปล่อยให้เข้าไปเฝ้า เมื่อเข้าไปเฝ้าศุภะชะปริพาชกซึ่งเป็นนักบวชอินเดียในสมัยนั้นได้ตั้งปัญหาถามพระองค์มากมายหลายข้อ พระองค์บอกว่าเวลาน้อยอย่าถามปัญหานอกเรื่องให้ยืดยาวเลย ฟังดีกว่า เราจะพูดให้ฟัง แล้วพระองค์ก็ตรัสให้ฟังย่อๆ สั้นๆ เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟังอย่างยิ่ง ศุภะชะปริพาชกได้ฟังแล้วเลื่อมใสในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ได้ขอบวช ณ ที่ตรงนั้น เป็นสาวกองค์สุดท้ายในพระชนชีพของพระพุทธเจ้า เพราะบวชแล้วก็นิพพาน และมีคำกล่าวตอนหนึ่งว่า ศุภะชะปริพาชกเอ่ย ถ้าชาวโลกยังปฏิบัติตนตามพระอริยมรรคมีองค์ ๘ โลกนี้จะไม่ว่างเปล่าจากพระอรหันต์ เป็นคำยืนยันว่า คุณธรรมชั้นสูงนั้นยังมีอยู่ ถ้ามีผู้ปฏิบัติ ถ้ามีใครปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ 8 ติดต่อกันไป ผู้นั้นก็จะได้รับผลสนองตอบในความเป็นพระอรหันต์ได้ เพราะธรรมะเป็นสิ่งไม่จำกัดเวลา เป็นอะกาลิโก ทำเมื่อไรก็ได้ ทำเช้า สาย บ่าย เย็น ที่ไหนเมื่อไรก็ได้ ธรรมะย่อมให้ความคุ้มครองแก่ผู้ปฏิบัติเสมอ ให้ผลเสมอ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราไม่ปฏิบัติ ไม่ทำตาม ก็ได้ผลเหมือนกัน แต่ผลเป็นความทุกข์เป็นความเดือดร้อนใจ ก็ให้ผลไม่จำกัด ทำผิดก็ให้ผลเป็นทุกข์ ทำถูกก็ได้ผลเป็นสุข ทำเมื่อใดก็ให้ผลเมื่อนั้น ได้ทันทีไม่ต้องรออะไร ไม่ใช่ว่าจะได้ภพหน้าชาติหน้า
มีพระบางรูปไปพูดทางวิทยุว่า “ถ้าโยมทำบุญสุนทานกันไว้ ค่อยไปเอาผลในชาติหน้า” ฟังแล้วไม่ถูกต้อง ผิดกับความหมายของพระธรรมคุณที่ว่า “สัณฐิฑิโก” คือให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติทันทีไม่ต้องรออะไร เหมือนเราอาบน้ำแล้วให้เย็นวันพรุ่งนี้ก็ไม่ได้ อาบเย็นนี้ก็เย็นเดี๋ยวนี้ จับไฟร้อนก็ร้อนและมือพองเดี๋ยวนั้น ไม่ใช่จับไฟวันนี้แล้วไปพองพรุ่งนี้ หรือไปพองมะรืนนี้ เป็นทันที จับไฟก็ร้อนทันที จับน้ำแข็งก็เย็นทันที จับของเปื้อนก็เปื้อนทันที ไปล้างก็สะอาดทันที เพราะอย่างนั้นบุญกุศลที่ญาติโยมกระทำอยู่ทุกวันทุกเวลา อย่าคิดว่าทำไว้เมื่อหน้า ก็ให้ผลอยู่แล้วในเวลานี้ เราได้รับผลสบายใจ อุ่นใจในเวลานี้ แต่จะเกิดอีกในกาลต่อไปข้างหน้า ก็ได้ผลเรื่อยๆ ไป ถ้าเราทำไม่หยุด ผลก็เจริญไม่หยุด เหมือนเราปลูกพืชทุกฤดู ก็ได้เก็บเกี่ยวทุกฤดู ลงไปดูสวนผักที่ปลูกมากๆ ปลูกตลอดปี ที่ดินไม่มาก ปลูกและขายตลอดปี ได้ผลตลอดปี แต่ถ้านานๆ ปลูกทีก็ได้ผลเป็นครั้งๆ คราวๆ แต่อะกาลิโก แปลว่า ให้ผลเป็นเวลา เพราะเราทำจำกัดเวลา ถ้าเราทำไม่จำกัดเวลา ผลก็เกิดกับเราไม่จำกัดเวลา ให้ญาติโยมเข้าใจให้ถูกต้องว่า ทำเมื่อใดให้เมื่อนั้น เพราะเป็นผลปรากฏแก่ใจอยู่แล้ว ใครทำใครก็ได้ นี่โยมมานั่งฟังธรรมรู้สึกอย่างไร ถ้าฟังด้วยความตั้งใจเพลิดเพลินในธรรมะก็สบายใจ มีความสุขใจอยู่ในเวลานี้เพราะฟัง เราเข้าใจข้อธรรมะที่พระแสดง แล้วเราเอาไปปฏิบัติ ผลก็เกิดแก่เราในขณะปฏิบัติ เรามีความสุขในขณะนั้น และมีความสุขต่อไปถ้าเราปฏิบัติสิ่งนั้นเรื่อยไปไม่หยุด ผลก็เกิดแก่เราเรื่อยไป เรารับประทานอาหารเมื่อเช้า มันก็คุ้มไปได้ถึงกลางวัน พอกลางวันเพิ่มอีกมื้อหนึ่งก็คุ้มไปได้ถึงเย็น ตอนเย็นก็กินอีกมื้อก็คุ้มต่อไปตลอดเวลาที่กลางคืนนอนอยู่ เราจำเป็นต้องรับประทานอาหารครบ ๓ มื้อเพื่อประโยชน์แก่ร่างายฉันใด เราทำความดีก็ต้องทำเรื่อยไปไม่หยุด ไม่ยั้ง ไม่ใช่ทำเฉพาะวันพระ หรือเฉพาะวันอาทิตย์ เราทำดี ทำบุญได้ทุกวันไม่หยุดไม่ยั้ง แล้วผลจะประจักษ์แก่ตัวเราเองว่าเราได้อะไร เราสบายใจอย่างไร อาชีพก้าวหน้า มีความสุข ความเจริญอย่างไร ให้รู้ว่านั่นแหละเป็นผลของธรรมะที่เรานำมาปฏิบัติอยู่ อย่าไปนึกว่าดวงดีวันนี้ได้กำไร หรือดวงไม่ดีขาดทุน แต่ให้นึกว่าเพราะเราประพฤติธรรม สิ่งทั้งหลายจึงเจริญก้าวหน้า เพราะเราขาดธรรมะ สิ่งทั้งหลายจึงขาดทอน ไม่สมบูรณ์ เพราะเราปฏิบัติธรรมไม่สมบูรณ์ เราจึงเติมให้สมบูรณ์ขึ้น อย่างนี้เราจะได้ผลเรื่อยไปไม่จำกัดฤดูกาล ผลไม้ออกเป็นฤดู พ้นฤดูก็หมด ขณะนี้ลำไย ลางสาดกำลังออก แต่อีกไม่เท่าไรก็หมดไม่มีขายแล้ว เพราะมันจำกัดเวลา แต่ผลจากการกระทำของเราไม่ว่าจะเป็นบุญ บาป เหตุให้เกิดทุกข์ เป็นเหตุให้เกิดความเสื่อม ความเจริญอย่างไรก็ตาม มันต้องเกิดผลแก่เราทุกเวลาที่เราทำ ทำอย่างไรก็ได้อย่างนั้น จึงจะถูกหลักว่าอะกาลิโก ให้ผลไม่จำกัดเวลา
คุณธรรมชั้นสูงนั้นยังมีอยู่ถ้าเราปฏิบัติแล้วก็เกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติ แต่ว่าพระอริยบุคคลไม่มีฉลากติดไว้ที่หน้าผาก เรารู้ไม่ได้ เราจะไปเพ็งดูที่จีวรท่านก็ไม่ได้ ไปดูกริยาอาการก็ไม่ได้ เพราะนั่นเป็นเพียงสิ่งภายนอก อย่าวินิจฉัยบุคคลด้วยการมองดูสิ่งภายนอกว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อย่าวินิจฉัยคนว่าคนนี้นั่งรถเบนซ์คงจะมีทรัพย์มาก แต่ต้องคิดต่อไปว่าทรัพย์นั้นได้มาทางไหน ค้าอะไรจึงได้ทรัพย์มา เค้านั่งในรถนั้นเค้าสบายใจหรือเปล่า ต้องคิดลึกลงไป เห็นการแต่งตัวอย่านึกว่าเป็นเครื่องวัดความดีความถูกต้องเสมอไป เพราะคนบางคนอาจแสวงหาทรัพย์ในทางที่ไม่ถูกก็ได้ ค้าเฮโรอีนก็ได้เงินเหมือนกัน ก็รวยเหมือนกัน แต่ความร่ำรวยนั้นเกิดจากการค้าสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และทำลายชีวิตคน ทำลายสุขภาพ ทำลายความเป็นอยู่ที่ถูกต้องให้หายไป เพราะคนเสพสิ่งเสพติดแล้วเสียคน หรือพวกขายยาม้า ขายดี สิบล้อชอบ รวยเหมือนกัน แต่อุบัติเหตุเกิดวันละเท่าไร ความเสียหายเกิดขึ้นจากเรื่องนี้มีปริมาณเท่าไร เราไม่ได้คำนึง คิดแต่เพียงว่าจะร่ำรวยท่าเดียว เป็นความร่ำรวยบนฐานแห่งความไม่ถูกต้อง เหมือนเอาไม้หลักไปปักไว้ที่กองแกลบ ไม่มั่นคง โยกเยกไปมาได้ ร่ำรวยไม่ถาวร ไม่ไปถึงลูกถึงหลาน ถ้าเรารู้ว่าครอบครัวไหนค้าขายในทางทุจริต ดูต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร จะเห็นด้วยตัวเราเอง ว่าคนนั้นเป็นอย่างไร ผลกรรมจะปรากฏแก่ตน ครอบครัว ลูกหลาน ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง แต่คนไม่รู้ไม่เข้าใจ ไม่ได้พบบัณฑิต ไม่ได้เข้าใกล้พระ ไม่ได้ฟังเสียงพระ ไม่ได้รู้ว่าตัวอยู่อย่างไร เป็นอย่างไร หลงใหลมัวเมาในสิ่งที่ตนมีตนได้ แต่หารู้ไม่ว่ามันเป็นอสรพิษที่จะกัดตนเองให้ตายเมื่อไรก็ได้ มีเหตุการณ์นี้อยู่บ่อยๆ เป็นเรื่องที่เราต้องพิจารณา เพราะผลแห่งความดีความชั่วที่เราทำนั้น ย่อมส่งผลให้เกิดแก่ผู้กระทำเสมอ หนีไม่พ้น จึงเรียกว่าเป็นอะกาลิโก ธรรมะเป็นสิ่งที่ให้ผลไม่จำกัดเวลา
“โอปะนะยิโก” หมายความว่า “เอหิปะสิโก” หมายความว่า มาดูสิ มาชม มาทดสอบ มาปฏิบัติดู เป็นการท้าทาย หรือถ้าพูดแบบกินอาหารก็มาชิมดูสิว่ารสชาติเป็นอย่างไร ท้าทายให้ชิมตลอดเวลา ไม่ค่อยมีใครโฆษณาให้ชวนชิมธรรมะบ้างเลย ให้มาปฏิบัติดูบ้าง โฆษณาทางวิทยุให้มารักษาศีล ปฏิบัติดูบ้าง ให้มานำธรรมะไปใช้ชีวิตในการงานประจำวันบ้าง และดูสิว่าจะเป็นอย่างไร พูดท้าทายบ้าง ทางโทรทัศน์ วิทยุ ให้คนอยากทดสอบ เพราะคนสมัยนี้อยากทดสอบ ท้าทายเหมือนกัน คนที่ไปขึ้นยอดเขาสูงๆ หาเรื่องให้ซี่โครงหัก ถามว่าขึ้นทำไมเพราะมันท้าทายดี ถึงยอดเรียกว่าเก่ง แต่ไม่ได้ค้นพบอะไร ชีวิตก็เหมือนมันแหละ แต่ท้าทาย ยอดเขาสูงๆ อยู่ถาวรอย่างนั้น คนก็ขึ้นไปตาย เช่น เซอร์ฮินลาลี่ ชาวนิวซีแลนด์ ได้ขึ้นไปถึงยอดเขาเอเวอเรสต์เป็นคนแรก ก็ชื่นใจ จริงๆ แล้วคนเนปาลชื่อเตงซิน อยู่ที่เมืองบาดาเฮลิน เป็นคนนำทางถึงยอดเขาก่อน และเป็นคนนับถือพุทธศาสนา ขึ้นไปถึงก็เอาน้ำตาลทราย ๓ ก้อนวางกราบบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในการที่ตนได้สามารถปีนขึ้นมาสู่ภูเขาได้ บ้านเค้ามีคนชอบไปดูรองเท้า หมวก เสื้อ เครื่องใช้สำหรับปีนภูเขาได้ คนเราชอบการท้าทาย ส่วนธรรมะก็ท้าทายอยู่ มาดูสิ มาศึกษา ปฏิบัติ ทดลองดูสิว่าจะเป็นอย่างไร แต่ท้าทายไม่ดัง คนก็เลยไม่เข้ามาท้าทาย ทดสอบ อยากให้ท้าทายทางวิทยุให้เค้ามาทดสอบกันบ้าง เพราะสิ่งที่พระองค์ท้าทายนั้นเป็นสัจจะ เป็นของจริง ของแท้ ไม่ใช่ของปลอม พิสูจน์ได้ด้วยการปฏิบัติ ทดสอบได้ด้วยตัวเอง ไม่มีคำสอนใดที่ท้าให้พิสูจน์เท่าคำสอนของพระพุทธเจ้า ท้าให้ทดลองด้วยตัวเอง เอาชีวิตมาเป็นเครื่องทดลอง แล้วนำไปปฏิบัติ คู่กันกับ “โอปะนะยิกโก” มาดูแล้วเอาไปทดสอบ ถ้าไปเห็นอาหารจานนั้น ลองกินดูว่าเป็นอย่างไร เรียกว่า เอาเข้ามาใส่ตัว กินเข้าไปในท้องดูสิว่าอร่อยอย่างไร ชุดที่เค้าประกาศขายราคาแพงๆ แต่งแล้วเป็นอย่างไร ต้องเข้าไปทดสอบ ไปทำดู ให้เห็นชัดด้วยตนเอง เรียกว่า น้อมเข้ามาใส่ตัว คือเอามาปฏิบัติ พอเห็นแล้วเอามาปฏิบัติ เอามาใช้ เอามาทดลอง พอเอามาทดลองแล้วจะประจักษ์แก่ตนเองว่า “ปัจจัตตัง เวฑิตัปโพ วิญญูหีติ” ผู้รู้จะเห็นชัดด้วยตนเอง รู้เอง เห็นเอง เรากินแกงเรารู้ว่ารสชาติเป็นอย่างไร ถ้าไม่กิน ไม่ดื่มก็ไม่รู้ ไม่ทดสอบก็ไม่รู้
พระพุทธเจ้าจึงบอกว่าให้ทดสอบด้วยตนเอง เอามาทดสอบ ปฏิบัติลองดู พอปฏิบัติลองดูแล้วก็ประจักษ์แก่ใจเรา ใจสงบอย่างนี้ ใจเย็นอย่างนี้ มีสติปัญญารู้เท่า รู้ทันต่อสิ่งทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริงอย่างนี้ เมื่อก่อนนี้เป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร เมื่อก่อนไม่ได้ควบคุมตัวเอง ใจร้อน ใจเลว ขี้โกรธ หุนหันพลันแล่น อะไรกระทบปุ๊บก็ปึ๊กขึ้นมา แสดงอาการโต้ตอบทันท่วงที ไม่ได้มันเสียเหลี่ยม ตัวตนมันเยอะ แต่พอมาปฏิบัติเข้า มองดูตัวเอง พิจารณาตัวเอง ควบคุมสติปัญญาให้มันดีขึ้น ใครด่าก็เฉย นึกสนุก ฟังเพลินๆ ยิ้มรับ มีความมั่นคงในจิตใจ ไม่หวั่นไหวกับคำติคำว่า ใครมาชมหรือติก็เฉยๆ มาทำอะไรก็เฉยๆ เพราะรู้ชัดว่าอะไรเป็นอะไรถูกต้อง ไม่ขึ้นไม่ลงกับสิ่งที่มากระทบ เวลาได้ก็ไม่ดีใจ เวลาเสียก็ไม่เสียใจ เรียกว่าไม่ขึ้นไม่ลง มีจิตใจคงที่ โลกธรรมคือได้ลาภ เสื่อมลาภ สุข ทุกข์ นินทา สรรเสริญ มากระทบก็ไม่หวั่นไหว ไม่โยกโครง จิตมั่นคง อย่างนี้เรียกว่าเป็นผู้เข้าถึงธรรมะ มีธรรมะเป็นเกราะป้องกันตน ทำให้ข้าศึกทุบตีไม่ได้ ชีวิตก็เรียบร้อยไม่หวั่นไหว โยกโครงกับอารมณ์นั้นๆ มีความสุขทางใจ ผลปรากฏแก่ตัวเราเอง ไม่ต้องให้ใครบอก ให้ใครเล่า เรารู้ได้เอง โยมที่มาวัดเรียกว่ารู้ได้เอง จึงได้มากันอยู่ทุกอาทิตย์ ถ้ายังไม่เห็นผลของการฟังธรรมะ การนำธรรมะไปเป็นหลักปฏิบัติ มาทีเดียวก็หายไปเลย แต่ที่มาอยู่ทุกวันก็แสดงว่ามันได้ผล ลดปัญหา ลดความวุ่นวายใจให้ออกไปจากตัวเรา สภาพจิตใจดีขึ้น มีความสุขสงบมากขึ้น สุขสงบไม่ใช่สุขเกิดจากวัตถุ เพราะสุขเกิดจากวัตถุนั้นเปลี่ยนแปลงง่าย หายง่าย แต่สุขที่เกิดจากความสงบนั้นมันไม่หาย มันคงที่ถาวร เราได้พบเห็นด้วยตัวเราเอง เรียกว่าประจักษ์แก่ใจ รู้ได้ด้วยตัวเราเอง
“เอธิปตัปโพ วิญญูหีติ” คือผู้รู้รู้ได้ด้วยตัวเอง เรารู้ของเราเอง มีความเชื่อในพระรัตนตรัย ไม่หวั่นไหวโยกโครงไปตามคำชักจูง เหลวไหลของใครๆ เรามีอุดมการณ์มีแนวคิดของเราเอง ตรงตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า นี่คือผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบตามหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา ก็พอสมควรแก่เวลา