แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยม พุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะแล้ว ขอให้ทุกคนหาที่นั่ง นั่งให้สบาย พอได้ยินเสียงจากเครื่องขยายเสียงได้ อย่ามัวเดินไปเดินมาให้วุ่นวาย เพราะเป็นเวลาสงบ ทุกคนควรจะพัก ใช้หูฟังด้วยความตั้งใจ เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการมาวัดตามสมควรแก่เวลา บางคนมาวัด มาถึงก็ นั่งๆ แล้วก็กลับ สวนทางกันก็ถามว่าโยมไปไหน กลับแล้ว อ้าวทำไมกลับไว เพราะมานานแล้ว มาทำไม แล้วก็กลับไปแล้ว มันได้เรื่องอะไร
มาวัดนี่ต้องมาฟังธรรมด้วย ถ้ามาวัดแล้วไม่ได้ฟังธรรม เหมือนกับไม่ได้มา เพราะเรามาวัดน่ะเรามาเพื่อการศึกษา คือมาเรียนข้อปฏิบัติเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันของเราต่อไป ทีนี้ถ้ามาแล้วไม่ได้เรียนแล้วจะได้อะไร เสียเวลาในการมา มาถึงนั่งคุยๆ กับเพื่อนแล้วก็ไปเท่านั้น มันต้องมาฟังธรรมด้วย ฟังธรรมเสร็จแล้วจึงจะกลับบ้าน แล้วถ้าหากว่าไม่รีบไม่ร้อน ตอนบ่ายก็มีการแสดงธรรมให้พระใหม่ฟัง เราก็อยู่ฟังกันต่อไป
วันนี้เจ้าคุณราชวิสุทธิกวี มหาวิจิตร เปรียญเก้าประโยควัดโสมนัสมาแสดง ถ้าไม่รีบร้อนก็อ่ะ พักผ่อนที่วัดรับประทานอาหารเสร็จแล้วก็นั่งพักไป ถึงเวลาก็ฟังอีกสักกัณฑ์นึง อาหารนี่เรากินวันละหลายมื้อ อาหารใดอร่อยก็กินมากเป็นพิเศษ อาหารอันใดไม่อร่อยก็กินน้อยๆ แต่ก็กินวันหนึ่งหลายมื้อ อาหารใจนี่เจ็ดวันจึงจะมารับกันสักทีหนึ่ง ไม่ค่อยจะพอใช้ เพราะว่าตั้งเจ็ดวันจึงจะมาฟังกันทีหนึ่ง ทำให้ใจของเราไม่ปกติเท่าใด เพราะงั้นเมื่อมีโอกาสมาในวันอาทิตย์ก็ดี วันพระก็ดี ควรจะถือโอกาสว่ามาฟังธรรม เช่นวันพระนี่เขาเรียกวันธรรมสวนะ แปลว่าวันฟังธรรม วันอุโบสถก็หมายความว่าเก็บตัวอยู่ในวัด ในที่เงียบๆ เพื่อมองดูตัวเอง ตักเตือนตัวเอง แก้ไขตัวเองให้ดีขึ้น นั่นคือจุดหมาย
เพราะงั้นการมาวัดในวันอาทิตย์นี่ก็เหมือนกัน เพราะสมัยนี้เขาหยุดงานกันในวันอาทิตย์ วันพระไม่หยุด ไม่สะดวก สะดวกสำหรับผู้เฒ่าผู้แก่ แต่ว่าผู้เฒ่าผู้แก่ก็ไม่สะดวก เพราะว่าลูกหลานเขาไม่หยุดงาน เขาไม่ได้มาส่ง จะขึ้นรถประจำทางมาก็ลำบาก คนมันแน่น ขึ้นๆ ลงๆ ลำบาก แต่ถ้ามาวันอาทิตย์ลูกหลานเขาว่าง ก็เอ้อไปส่งยายที ไปส่งแม่ไปวัดที ลูกหลานก็จะมาส่ง ส่งแล้วก็ไม่ต้องกังวล เย็นๆ ค่อยมารับแม่กลับบ้าน ก็มาพักเสียที่วัด นั่งตามใต้ต้นไม้ นั่งในตรงใดตรงหนึ่ง ฝนฟ้าไม่ตกก็นั่งสบายๆ นั่งพิจารณาตัวเอง มองดูตัวเอง หรือว่าคิดค้นในแง่ธรรมะอันเป็นข้อปฏิบัติ ก็จะได้ความสุขทางใจ
ความสุขที่ถูกต้องนั้นคือความสงบใจ ใจที่สงบนั้นมันเป็นความสุข ใจที่วุ่นวาย ดิ้นรนอยู่ตลอดเวลา เป็นใจที่มีความทุกข์ มีความเดือดร้อนใจ ไม่สงบลงได้ ทีนี้เราต้องหาความสงบเสียบ้าง คนเราถ้าวุ่นอยู่ตลอดเวลา อายุสั้น วุ่นทางใจ อายุสั้น เพราะว่ามันเหนื่อย เหนื่อยใจ เหนื่อยกายนี่ไม่เท่าไหร่หรอก นอนพักเสียมันก็หายเหนื่อย แต่ว่าเหนื่อยใจนี่มันเหนื่อยนาน เหนื่อยไม่รู้จักหยุด เพราะมันวุ่นวายอยู่ภายใน เราต้องพักใจเสียบ้าง การพักใจก็คือมาหาความสงบ ในที่ๆ มันสงัด ไม่มีอะไรรบกวน
ถ้าที่บ้านมีความสงบก็ใช้ได้ เข้าไปในห้อง ปิดประตูเสีย แล้วก็นั่งอยู่ในห้องคนเดียว นั่งฟังเทปธรรมะก็ได้ อ่านหนังสือธรรมะก็ได้ หรือนั่งสวดมนต์ภาวนาก็ได้ ทำให้จิตใจเราสงบ ไม่วุ่นวาย จะรู้สึกว่ามีกำลังใจเพิ่มขึ้น จะได้เอาไปใช้ต่อสู้กับปัญหาชีวิตต่อไป เพราะว่าเราอยู่ในโลกนี่เราอยู่กับปัญหา อยู่กับเรื่องที่จะต้องต่อสู้กันอยู่ตลอดเวลา ถ้าหากว่าเราไม่ได้มีกำลังภายในเป็นเครื่องประกอบในการต่อสู้ เราก็พ่ายแพ้
ความพ่ายแพ้ในชีวิตก็คือความทุกข์นั่นเอง ที่เราต้องเป็นทุกข์ มีความกลุ้มอกกลุ้มใจด้วยประการใดประการหนึ่ง นั่นคือการพ่ายแพ้ เราสู้เขาไม่ได้ สู้อารมณ์ต่างๆ ไม่ได้ เราก็แพ้ การอยู่อย่างผู้แพ้ไม่มีความสุขเลย และไม่ประเสริฐ เราจะต้องอยู่อย่างผู้ชนะ ไม่ใช่อยู่อย่างผู้แพ้ อยู่อย่างผู้ชนะนั่นแหละเป็นความสุข เพราะไม่ต้องถูกสิ่งต่างๆ มาทุบ มาตีให้บอบช้ำ
ถ้าเราอยู่ด้วยความทุกข์ ความกังวลใจ ก็หมายความว่าเราถูกมันทุบ มันตีเราให้บอบช้ำ หมดเรี่ยวหมดแรง เพราะความทุกข์นานาประการ เราสู้มันไม่ได้ เพราะไม่มีอาวุธสำหรับต่อสู้ เลยอยู่อย่างผู้แพ้ตลอดกาล จะดีที่ไหน มันไม่ดี เราจึงต้องหาวิธีการต่อสู้เพื่อเอาชนะ ก็ต้องอาศัยธรรมะที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ ในแง่มุมต่างๆ เราเอามาพิจารณา ไตร่ตรอง แล้วก็ประยุกต์ใช้ ให้เหมาะแก่เรื่อง แก่เหตุการณ์ สิ่งเหล่านั้นก็จะพ่ายแพ้เรา เราจะยืนอยู่ด้วยขาของเราเอง คือยืนอยู่บนฐานอันมั่นคง คือฐานแห่งศีลธรรม เราก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ ไม่ต้องมีความร้อนอกร้อนใจกับปัญหาอะไรต่อไป นั่นแหละคือจุดหมายที่เราควรจะเข้าถึงในชีวิตประจำวัน
แม้ว่าเราจะอยู่บ้านอยู่เรือน เรามีงานที่จะต้องทำ คนที่มีธรรมะเป็นหลักคุ้มครองจิตใจ เขาทำงานได้โดยไม่ต้องมีความทุกข์ ไม่มีความกังวลใจในงานที่ทำ แต่ทำด้วยใจสบาย เพราะรู้ว่าอะไรเป็นอะไรถูกต้อง รู้จักหลักเกณฑ์ของธรรมชาติ ที่มีอยู่ เป็นอยู่ตลอดเวลา หลักนั้นก็คือว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง มีความเป็นทุกข์ตามสภาพ ไม่มีอะไรที่เป็นเนื้อแท้ในตัวของมันเอง มันหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปตามกฎของธรรมชาติ เราจะไปจับไปฉวย เอาตอนใดตอนหนึ่งว่าเป็นตัวเราก็ไม่ได้ เป็นของเราก็ไม่ได้ เพราะมันไม่ยอมรับกับเรา และเราก็ต้องเป็นทุกข์ เพราะไปยึด ไปถือเอาสิ่งนั้นมาเป็นอารมณ์ ก็มีความกลุ้มใจ ไม่สบายใจด้วยประการต่างๆ ชีวิตของคนเราที่ไม่ได้ศึกษาธรรมะ ไม่ได้ปฏิบัติธรรมะนั้น ย่อมถูกอารมณ์มากระทบให้เกิดความสับสนวุ่นวายอยู่ตลอดเวลา
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเราเข้าไปยึดถือในสิ่งนั้น ว่าเป็นตัวเราบ้าง เป็นของเราบ้าง เอาใจไปผูกพันไว้กับสิ่งนั้น เมื่อสิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงไปเราก็ไม่สบายใจ เมื่อสิ่งนั้นจากไปเราก็มีความทุกข์ ความเดือดร้อนใจ เช่นว่าสมาชิกในครอบครัวถึงแก่กรรม คนที่ไม่ได้ศึกษาธรรมะก็จะเศร้าโศกเสียใจมาก ไม่เป็นอันกินอันนอน เพราะไม่รู้ว่าสิ่งทั้งหลายมันเป็นอย่างนั้น ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น คนเราเกิดมาแล้วไม่ตายน่ะมันมีที่ไหน เกิดมาแล้วไม่เจ็บไม่ป่วยน่ะมันมีที่ไหน เกิดมาแล้วไม่พลัดพรากจากสิ่งที่เรารักเราชอบใจน่ะมันมีที่ไหน มันไม่มี แต่ว่าต้องพบกับสิ่งเหล่านั้นอยู่ตลอดเวลา ในที่ต่างๆ
ชีวิตของคนอื่นเป็นตัวละครในโลกที่สอนเรา เราไม่ต้องไปดูหนังในโรงหนังก็ได้ ไม่ต้องไปดูละครตามโรงที่เขาแสดงก็ได้ แต่ว่าคนที่เดินไปเดินมาอยู่นั่นแหละเป็นตัวละครสำคัญ แสดงอยู่ในเวทีโลก เวทีโลกน่ะมันเป็นเวทีที่กว้างขวาง แล้วก็มีตัวละครมากมาย ยัดเยียดเบียดเสียดกันอยู่ตลอดเวลา คนเหล่านั้นเป็นตัวอย่างชีวิตให้เราศึกษา ให้เราเห็นว่าอะไรมันเป็นอะไร ตามสภาพที่เป็นจริง อย่าดูเฉยๆ อย่าดูด้วยความรำคาญ
ที่เราขับรถเข้าไปในกรุงเทพฯ รถติด เรารำคาญ เป็นทุกข์ ถ้าเรารำคาญเป็นทุกข์ เพราะรถติด เพราะคนมากน่ะไม่ถูกต้องแล้ว เป็นการสร้างปัญหาให้แก่ตัวเอง สร้างความทุกข์ให้แก่ตัวเราเอง เราควรจะมองในแง่ความจริงของสิ่งนั้นๆ บอกว่าเมืองมันใหญ่ ถนนมันไม่มาก รถมันมาก มันก็ต้องติดบ้างเป็นธรรมดา รถเราคันหนึ่งก็มาปล่อยรกถนนกับเขาเหมือนกัน ติดด้วยเหมือนกัน อันนี้มันเป็นเรื่องธรรมดา รถติดก็ให้ติดแต่รถนะ เราอย่าเอาใจไปติดกับรถที่ติดอยู่ หรือว่าเราเห็นคนมากแล้วแหมรำคาญ คนบางคนบอกว่า โอ้ เห็นคนมากแล้วปวดหัว เวียนหัว รำคาญ ไปรำคาญทำไม เขาก็เดินไปตามหน้าที่ของเขา เขาไปเพื่อธุรกิจของเขา เราก็ไปเพื่อธุรกิจของเรา ต่างคนต่างไป ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำ แล้วทำไมไปคิดให้วุ่นวายใจ
ที่ไปคิดให้วุ่นวายใจก็เพราะว่าคิดไม่เป็นนะนี่ คิดไม่เป็นมันก็เป็นทุกข์ ถ้าคิดเป็นก็ไม่มีเรื่องอะไร ใจสบาย เพราะรู้ว่ามันเป็นอย่างนั้น แต่ในชีวิตของคนเรานั้น มีป่วย มีอุปสรรค แล้วก็มีการตายบ่อยๆ ญาติโยมนี่ไปในงานศพบ่อย งานศพเพื่อนฝูง มิตรสหาย เราก็ไป ไปเยี่ยม ไปแสดงความเห็นอกเห็นใจกับคนที่มีความทุกข์เหล่านั้น เวลาไปถ้าหากว่าเราคิดเป็นบทเรียนสอนใจเราบ้าง คือคิดว่า โอ้ชีวิตมันก็อย่างนี้แหละ ท่านผู้นี้เป็นอย่างใด ฉันก็จะต้องเป็นอย่างนั้น เวลานี้ ท่านผู้นี้ตาย เน่า เข้าโลงแล้ว วันหนึ่งฉันก็จะต้องเป็นอย่างนี้เหมือนกัน ฉันหนีจากสภาพอย่างนี้ไปไม่ได้ เพราะสิ่งนี้เป็นกฎของธรรมชาติ ที่จะต้องกระทบแก่คนทุกคน จะต้องเกิดแก่ทุกคน
แต่คนบางคนแม้สิ่งนั้นมากระทบเขาก็ไม่เป็นทุกข์ แต่บางคนก็เป็นทุกข์เจียนตาย เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น สภาพจิตไม่เหมือนกัน คนที่ไม่เป็นทุกข์เพราะเขาอยู่ด้วยปัญญา อยู่ด้วยความรู้ทันรู้เท่าของสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นจริง อะไรเกิดขึ้นก็ปลงได้ วางได้ คิดได้ว่าเอ้อ เรื่องทั้งหลายมันเป็นอย่างนี้แหละ ธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้ ธรรมดามันเป็นอย่างนี้ เราเกิดมาวนอยู่ในกระแสของธรรมชาติธรรมดา มันก็ต้องไหลไปตามอำนาจของธรรมชาติ จนกว่าจะหยุดไหล แล้วก็จบเกมชีวิตด้วยอาการอย่างนี้
ถ้าเราคิดอย่างนี้เราจะได้กำไรจากสิ่งที่เราเห็น จากภาพที่เตือนใจเรา หรือว่าเราเห็นคนเจ็บไข้ได้ป่วย บางทีเราก็อาจจะไปเยี่ยมเยียนเพื่อนฝูงที่โรงพยาบาล ไปเยี่ยมแล้วอย่าเยี่ยมเฉยๆ แต่เอาการป่วยของเพื่อนนั้นมาสอนใจเรา ให้เรารู้ว่าวันหนึ่งอาจจะเป็นอย่างนี้ เพราะสังขารร่างกายนี้มันไม่เที่ยง มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อาจจะมีเชื้อโรคเข้ามาแทรกแซงในร่างกายเราเมื่อใดก็ได้ เพราะเชื้อโรคเป็นข้าศึกที่มองไม่เห็นตัว มันก็อาจจะเข้าไปกับลมหายใจก็ได้ เข้าไปกับน้ำดื่มก็ได้ เข้าไปกับอาหารที่เราบริโภคก็ได้ เข้าไปทางผิวหนังก็ได้ โธ่ หลายเรื่อง มันจะโจมตีเราเมื่อใดก็ได้ เพราะเชื้อโรคมันก็อยู่ในอากาศ ปนอยู่กับสิ่งต่างๆ ที่ลอยฟ่องอยู่ในอากาศ แล้วมันมาเกาะจับที่มือของเรา ที่หน้าของเรา ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย แล้วมันก็ยึดครอง เข้าไปหาที่เหมาะเพื่ออยู่อาศัย เข้าไปจนถึงอวัยวะภายใน ไปอยู่ในกระเพาะ ไปอยู่ในตับ ไปอยู่ในไต ไปอยู่ที่ปอด ไปอยู่ที่หัวใจ ไปอยู่ในเส้นโลหิต
เชื้อโรคบางอย่างเที่ยวชอนอยู่ในโลหิต เจาะเลือดก็ไม่ค่อยเจอ คนๆ หนึ่งเป็นโรคชนิดหนึ่ง เขาเรียกว่าไวรัสอะไรก็ไม่รู้ ชื่อมันฝรั่ง แต่มันแรงมากไอ้โรคนี้ ใครเป็นแล้วก็ตาย พุ่มพวง ดวงจันทร์ก็เป็นโรคนี้ ตาย โยมคนหนึ่งที่มาวัดอยู่เสมอ เป็นผู้มีศรัทธามั่นคงดี เป็นโรคนี้แล้วก็ตาย ไปอยู่โรงพยาบาลหมอพยายามเจาะเลือดมาพิสูจน์ ไม่เจอ เจาะหลายหน ไม่เจอสักที เลยไปเจาะเลือดที่ไขสันหลัง พอเจาะมาก็เจอเข้า พอเจอหมอบอกว่าไม่ไหวแล้ว ไอ้เจ้ามารร้ายตัวนี้เข้าไปอยู่แล้ว ออกไม่ได้ ไม่มียาจะรักษามันด้วย ก็ขอให้ทำใจก็แล้วกัน เธอบอกคนไข้ให้ทำใจ คือให้คิดว่าร่างกายนี้มันถึงเวลาแตกสลาย ก็ต้องยอมมัน อย่าไปฝืนมัน อย่าไปยึดถือมัน อย่าไปนึกว่าอย่างโน้นอย่างนี้ นึกว่าธรรมชาติก็แล้วกัน เรียกว่าปลงพอวาง (19.31 เสียงไม่ชัดเจน) นี่รุกแรงๆ เป็นกับทุกคน ไม่ยกเว้น แม้แต่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเราถือว่าบุญหนักศักดิ์ใหญ่ ท่านก็เป็นได้เหมือนกัน แต่ว่าหมอผู้เชี่ยวชาญหลายคนช่วยกันดูแลรักษา จับได้ เลยเอาเชื้อโรคมาลงโทษได้ ก็ ในหลวงก็มีพระชนม์ยืนยาวต่อมา เป็นที่ปลื้มอกปลื้มใจของประชาราษฎร์
นี่เรื่องอย่างนี้มันมี แม้องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระอรหันต์ทั้งหลาย จิตของพระองค์พ้นแล้วจากความทุกข์ ความเดือดร้อนด้วยประการทั้งปวง แต่ว่าร่างกายของพระองค์นั้นยังอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติ มีการเจ็บไข้ได้ป่วยเหมือนกัน พระพุทธเจ้าท่านก็ป่วยเหมือนกัน แต่ว่าท่านไม่ได้เป็นทุกข์เพราะความเจ็บป่วย ปฏิบัติงานอยู่ตามปกติ ทั้งๆ ที่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ยังเดินทางไกลๆ ได้ เช่นเวลาที่จะปรินิพพานนี่ เดินจากเมืองเวสาลี ไปเมืองกุสินารา ระยะทางเดินตั้ง ๓ เดือน ไม่ใช่เล็กน้อย เดินไปเรื่อยๆ เดินไปด้วยอาการป่วย พาความป่วยร่างกายไปด้วย แต่ว่าใจไม่ได้ป่วย ไม่ได้มีความทุกข์เพราะความป่วย ไปที่ไหนพบคนก็สอนเขา แนะนำเขา ให้รู้จักวิถีชีวิตที่ถูกต้อง บางครั้งบางคราวก็เดินร้อนมาก คือเดือนมีนา เมษาอินเดียนี่มันร้อนทารุณ ร้อนมาก เดินไปนิพพานที่เมืองกุสินารา ในวันเพ็ญเดือน ๖ เดินไปตั้งแต่วันเพ็ญเดือน ๓ เดือน ๔ เดือน ๕ หน้าร้อน
ประเทศอินเดียหน้าร้อนนี่ร้อนทารุณ อากาศร้อนมาก แต่ว่าสมัยยุคพระพุทธเจ้าอาจจะไม่ร้อนรุนแรงเท่าปัจจุบัน เพราะว่าป่ายังมีมาก ธรรมชาติยังไม่ถูกทำลาย แต่ก็ร้อนอยู่นั่นแหละ พระองค์ก็เดินฝ่าความร้อนไป ไปบางแห่งก็ต้องหยุดพัก แล้วบอกพระอานนท์ว่ารีบปูผ้าให้เรา จะนอน พระอานนท์ก็ปูลาดไป ผ้าสังฆาฏิ ไม่มีเครื่องปูลาดหรอก ไม่ได้หอบอะไรไป มีแต่ผ้าสามผืนติดพระองค์ไป ก็สังฆาฏิพับก็ปูไป ให้พระองค์บรรทม แล้วบอกอานนท์ว่ารีบไปเอาน้ำมาดื่มหน่อย เพราะว่ากระหายน้ำ คอแห้ง แห้งเพราะความร้อนล่ะนี่ อากาศมันร้อน ร้อนจนคอแห้งนะ
พระอานนท์ก็ไปตักน้ำ พอไปถึงน้ำมันขุ่น เลยกลับมากราบทูลว่า เกวียนหมู่ใหญ่ลุยน้ำผ่านไป น้ำขุ่นมาก ตักมาเสวยไม่ได้ พระองค์บอกว่า กลับไปอีกที น้ำจะใส กลับไปอีกทีก็น้ำใส ไม่ใช่เรื่องอะไรคือน้ำมันไหลไป ไอ้ที่ขุ่นมามันก็ไหลไป แล้วน้ำใสก็ไหลมา มันก็ใส เลยตักได้ เอาไปถวายให้เสวย แล้วก็ทรงพักผ่อนร่างกาย แดดร่มลมโชยก็เดินต่อไป บางทีอาจจะเดินในตอนกลางคืนบ้าง ในวันเดือนหงาย ก็ไปเรื่อยไปอย่างนั้น ทั้งๆ ที่ทรงประชวรนะ ประชวรมาตั้งแต่เดือนกุมภา เดินตลอดเวลา แวะตามบ้านโน้นบ้านนี้ ให้เขาได้เลี้ยงดูพระ ทำบุญสุนทาน ไปถึงเมืองกุสินาราก็ ดูที่ร้อนอยู่เหมือนกัน ก็บอกพระอานนท์ให้ปูผ้าสังฆาฏิ เราจะนอน แล้วไม่ลุกขึ้นต่อไป ก็หมายความว่านอนนิพพาน ไม่ลุกขึ้น แต่ว่าถึงนอนอยู่อย่างนั้นก็ยังปฏิบัติงาน มีคนเข้าไปถามปัญหาเยอะแยะ คนอยากจะไปเฝ้า เหมือนกับหลวงพ่อคูณมานะ คนก็อยากจะไปหา ก็ไม่ได้อะไรหรอก ไปให้แกพ่นน้ำ เอาลม ทาบอนใส่หัวหน่อย คนก็สบายใจว่าหลวงพ่อคูณเป่าแล้ว
เมื่อวันก่อนนี้ก็มาเผาศพที่นี่ หลวงพ่อเทศน์จบแล้วก็ลงไปเยี่ยมท่าน ว่าโอ้ หลวงพ่ออุตส่าห์มาถึงวัดชลประทาน ขอต้อนรับด้วย ท่านก็ว่าดีใจ และนั่งคุยกัน เลยบอกว่าหลวงพ่ออย่าทรมานองค์ให้มันมากนัก หยุดพักเสียบ้าง ไม่ค่อยได้พัก พักเสียบ้างนะ ฉันเพลแล้วเข้าห้องปิดประตูลงกลอนซะ ไม่รับแขก เขียนป้ายบอก เป็นเวลาหยุดพัก พักสักชั่วโมงนะ แล้วออกมานั่ง ท่านั่งของหลวงพ่อก็ทรมาน ทำไมนั่งอย่างนั้นก็ไม่รู้ นั่งเก้าอี้ให้มันสบายๆ ไม่ได้ นั่งเก้าอี้ห้อยเท้าให้สบายๆ มันเคย ท่านบอกว่ามันเคย เคยอย่างนั้น ต่อไปมันจะลำบาก ร่างกายแก่ลง แล้วท่านถามหลวงพ่อว่าอายุเท่าใด บอกว่า ๘๔ แล้วถามว่าแล้วหลวงพ่อล่ะ ๗๔ อายุ ๗๔ ดูเนื้อหนังก็ไม่ค่อยแก่เท่าใดล่ะ ร่างเล็ก ไม่ใหญ่ไม่โต เพราะเกิดในถิ่นที่ไม่ค่อยมีอาหารสมบูรณ์เท่าใด ร่างกายก็เล็กๆ ท่านก็นั่ง ถึงเวลาเผาศพก็ขึ้นมาเผา พอลงไปนั่งคนก็เฮเข้าไป หาหลวงพ่อคูณ ให้เป่าหม่อม เป่ามากๆ มันก็เหนื่อยเหมือนกันแหละคนเรา เอาลมออกแหละ แหม เหมือนกับเราเป่าไฟ เมื่อสมัยก่อนไม่มีไฟฟ้าเนี่ย หุงข้าวต้องเป่า เป่าจนเหนื่อย เมื่อเด็กๆ ก็เคยหุงข้าว เป่าไฟ เฮ้อเหนื่อย เหนื่อยเป่า เพราะเอาลมออกน่ะ
ท่านก็นั่นน่ะ เป่าเรื่อย เหนื่อย เลยบอกพระที่มาด้วยว่า คุณนี่ต้องดูแลหลวงพ่อคูณให้ดี อย่าให้ท่านต้องทรมานมากเกินไป ให้พักเสียบ้าง พอสมควรเวลา เอ้าพัก เข้าห้อง ไม่รับแขก ให้ท่านไปนอนสบายๆ แล้ววันนั้นมานั่งอยู่ที่วัดนี่ท่านไม่สูบบุหรี่นะ ไม่สูบเลย ท่านเก็บ ไม่สูบ คงจะรู้ว่าวัดนี้เขาไม่นิยมการสูบบุหรี่ เลยหลวงพ่อคูณก็ไม่สูบ นี่พระจะเอาบุหรี่ ไม่ให้ ไม่ให้สูบ ก็รู้จักกาละเทศะ ก็ดีเหมือนกัน ท่านไม่สูบ เพราะที่วัดนี้ไม่นิยมการสูบบุหรี่ ท่านก็ไม่สูบนะ นับว่าใช้ได้ ยังไม่ได้คุยกัน เลยบอกว่าไม่มีเวลาจะไปเยี่ยมหลวงพ่อถึงวัดสักที เพราะมันไกล ไปมาใช้เวลา ไม่เป็นไร รถยนต์มี ถ้าว่างแล้วจะไปเยี่ยมถึงวัดสักที ไปรดน้ำมนต์สักหน่อย ท่านยิ้มๆ อาตมามี …… (29.13 เสียงไม่ชัดเจน) เลยว่าหลวงพ่อเป่าหน่อย ท่านก็เป่าปู๊ด เป่าแล้วมันก็เหมือนเดิมละ แค่หยอกล้อท่านนิดหน่อย ก็เป็นพระที่น่าสงสาร ชาวบ้านเข้าไปมะรุมมะตุ้ม ไม่มีเวลาพักผ่อน เป็นอย่างนั้น
พระพุทธเจ้าก็คงจะมีคนไปหาอย่างนั้น แต่คงไม่คงไปขอให้พระองค์เป่ากระหม่อม หรือให้ทำอะไร อยากจะไปดู ชาวอินเดียเขาเรียกว่า ทัศนะ คืออยากจะไปดู คานธีนั่งรถไฟไปนี่ ขบวนรถไฟผ่าน คนมายืนอยู่ข้างทางรถไฟ ไม่เห็นหรอก คานธีนอน ดูขบวนรถไฟที่คานธีนั่ง เอ้อ มันอย่างนั้น คนอินเดียนี่มันตื่นเต้น ดู ดึกดื่นเที่ยงคืน มายืนดูขบวนรถที่คานธีนั่งไป แล้วคานธีแกไม่ได้นั่งรถชั้นหนึ่งหรอกนะ แกนั่งรถธรรมดา ชั้นสี่ ชั้นสามมั่ง นี่เขามีสี่ชั้น ชั้นหนึ่ง ชั้นสอง ชั้นอินเตอร์มีเดียม ไอ้นั่นมันระหว่างสองกับสาม แล้วชั้นสาม คานธีแกนั่งรถชั้นสาม คือแกนั่งปนกับประชาชน แกต้องการโอกาสที่จะได้คุยกับชาวบ้าน นั่งรถไฟชั้นสามก็คุยให้พวกนั้นฟังอย่างนั้น อย่างนี้ อะ เป็นไง เข้าถึงประชาชน คนพอรู้ว่ารถคานธีจะผ่านสถานีไหน เวลา ก็มารอ พอรถผ่านก็ มหาตมะ คานธี มหาตมะ คานธี กีเช หมายความว่า มหาตมะ คานธี จงชนะ สบายใจ กลับบ้านนอนหลับ มันก็เท่านั้น ตามอารมณ์ ตามศรัทธา
อันนี้พระพุทธเจ้าท่านยิ่งใหญ่กว่าท่านมหาตมะ …… (31.25 เสียงไม่ชัดเจน) นี่ต้องไปกันใหญ่ ไปเฝ้า แต่พระอานนท์ท่านฉลาด ท่านจัดให้คนเข้าเป็นชุดๆ ชุดๆ เช่นพวกมัลลกษัตริย์จะมาเฝ้า มันหลายครอบครัว พระอานนท์ก็จัดเป็นกรุ๊ปๆ เป็นพวก มัลลกษัตริย์ชื่อนี้ สกุลนี้ พร้อมด้วยบริวารเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค เข้าไป แล้วออกไป พวกอื่นเข้า ตลอดเวลา ไม่ได้หลับได้นอน เฝ้ากันอยู่อย่างนั้น จนเวลาดึกดื่น คนยังไปหา ไปพบ แต่มีคนหนึ่งมาอย่างรีบร้อน เหงื่อไหลไคลย้อย เพราะได้ข่าวว่าพระพุทธองค์จะปรินิพพานแล้ว ต้องรีบไปถามปัญหาข้องใจ ไปถึงก็พระอานนท์ยืน บอก อย่าๆๆ พอแล้วๆ พระองค์ประชวรมากแล้ว ใกล้นิพพานแล้ว อย่าไปยุ่งเลย แขกก็พูดกันดังๆ พระพุทธองค์ก็ได้ยิน พอได้ยินก็บอก อานนท์ อย่าไปห้ามเขา เขาไม่ได้มารบกวนตถาคต เขาอยากจะมาศึกษา ปล่อยเขาเข้ามาเถิด เข้าไป ทูลถามปัญหาตั้งหลายหัวข้อ พระองค์บอกว่า เวลามันน้อย อย่าถามปัญหามากเลย ฟังก็แล้วกัน ฟังให้ดีนะ จะพูดให้ฟัง
ท่านก็ตรัสแสดงให้ฟัง ฟังแล้วก็เลื่อมใส ศรัทธามาก ได้บรรลุมรรคผลในที่ตรงนั้น เลยบวชเป็นคนสุดท้ายที่พระองค์บวชให้ เป็นคนสุดท้าย แล้วพระองค์ก็ปรินิพพาน เป็นอย่างนั้น น้ำพระทัยไม่ได้วุ่นวาย แม้ร่างกายจะกระสับกระส่ายเพราะความเจ็บปวดบ้าง โรคที่เป็นนี่มันคือว่า เขาเรียกว่า ถ่ายออกโลหิต มันเป็นพิษในลำไส้ เวลาถ่ายนี่เลือดสดๆ ออกมาเลย เป็นอย่างนั้น โรคอะไรก็ไม่รู้ ไม่ได้คุยกับหมอสักที อาการเป็นเช่นนั้น หนักมาก ไม่มียารักษา สมัยนั้น คล้ายๆ กับเป็นโรคบิด มีตัว รักษาไม่ไหว แต่ก็ไม่ได้ทำให้พระองค์ทรมานลำบาก เพราะน้ำพระทัยหลุดพ้นจากความยึดมั่น ร่างกายไม่ใช่ของพระองค์แล้ว ก็อยู่เฉยๆ นอนเป็นปกติ ลุกขึ้นไปถ่าย กลับมาพัก อะไรอย่างนั้น เดินทางไปก็ถ่ายไปเรื่อยๆ
อินเดียนี่ถ้าเป็นโรคล่ะมันแรงๆ ทั้งนั้น อินเดียนี่มันสุดๆ ทั้งนั้นนะ ภูเขาสูงที่สุด แม่น้ำยาวที่สุด รวยที่สุด จนที่สุด มีเพชรเม็ดใหญ่ที่สุด แหมเพชรนี้มันไม่ได้ตกมาถึงเมืองไทย เพียงแต่เพชรซาอุมันไม่ใหญ่เท่าใด ถึงเมืองไทยก็ล่มจมกันไปหลายราย เพราะเพชรนะ เขาว่าเพชรศักดิ์สิทธิ์ ไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์อะไร มันใหญ่ คนมันอยาก เห็นเพชรเม็ดนั้นแล้วน้ำลายไหล กูอยากได้ เลยอมไป เกิดเรื่อง อมไปนานแล้ว เพิ่งมาขุดคุ้ยขึ้นตอนหลัง เรื่องมันยาว เพราะไปฆ่าคนสองคนแม่ลูกเข้า เรื่องมันกระเทือนไปหมด กระทบกระเทือนไป อันตราย
อันนี้ก็เป็นบทเรียนเหมือนกัน อ่านข่าวแล้วก็เอ้อ บทเรียน ได้บทเรียนสอนใจเราว่า คนทำความชั่วเนี่ย เมื่อความชั่วยังไม่ให้ผลนี่ก็ยังสบายใจอยู่ ยังนึกว่าฉันเก่ง ฉันฉลาด ไม่มีใครจับฉันได้ ฉันวางแผนเรียบร้อย คิดอย่างนั้น แล้วก็ยังลอยหน้าลอยตาอยู่ ไปโน่น ไปนี่ ทำงานอยู่ แต่ว่าพอกรรมมันสุก เปรียบเหมือนผลไม้ พอมันสุกมันก็จะหล่นแล้ว ไม่อยู่แล้ว หลุดจากขั้วแล้ว พอกรรมมันสุกขึ้น มันก็เกิดผล ได้รับความทุกข์ ถูกตำรวจจับ เคยจับคนอื่นไปขังในกรงเยอะแยะ ทีนี้ตัวที่เคยจับคนอื่นถูกจับเข้ามั่ง พอเข้าไปอยู่ในกรง เครียด ความดันขึ้น ตั้งสองร้อย เส้นโลหิตในสมองจะแตก จะตายนะ ต้องขอร้องให้หมอมาช่วย ต้องพาไปโรงพยาบาล พาไปรักษารายนึง อีกรายนึง พอกลับไปก็เป็นอย่างนั้นบ้างอะ ความดันขึ้น คิดมาก ไม่ใช่เรื่องอะไร คิด คิด สมองจะแตก จะขอประกันก็ไม่ให้ ไอ้ทนายความก็ว่าไม่ให้ความยุติธรรม เอ้อ ยังเรียกร้องความยุติธรรมอยู่อีกหรือ การกระทำของตนมันไม่เป็นธรรมสักหน่อย แล้วจะมาเรียกร้องความเป็นธรรมจากใครอีก ก็เรียกไปตามเรื่อง ตามหน้าที่ เป็นอย่างนี้
อ่านข่าวแล้วก็ได้รับบทเรียน เป็นเครื่องสอนใจ บอกว่ากรรมนี่มัน ใครทำแล้วมันหนีไม่พ้น ทำไว้มันต้องได้รับผลแห่งกรรม ไม่วันใดก็วันหนึ่ง แต่ความจริงมันได้รับอยู่แล้ว คือคนทำกรรมนี่อยู่ด้วยความร้อนใจ อยู่ด้วยความทุกข์ แต่ว่ายิ้มไปตามเรื่อง เข้าสังคมก็ยิ้มไปตามเรื่อง แต่ว่าส่วนลึกมันไม่สบายใจ กระซิบบอกอยู่ในใจว่า แกไปเอาของเขานะ ไปทำเขานะ ไปฆ่าเขานะ มากระซิบเนี่ย เสียงกระซิบมันอยู่ในใจ นั่นแหละ นรกล่ะ ตกนรกอยู่ตลอดเวลา คือความร้อนอกร้อนใจ เพราะความผิดที่ตัวทำไว้ แต่ยังไม่ต้องโทษตามกฎหมาย แต่กรรมภายในนั้นมันให้ผลอยู่แล้ว ร้อนใจอยู่แล้ว ไม่ได้ร้อนคนเดียวนะ ลูกเมียพลอยร้อนไปด้วย คนที่มีส่วนกับกรรมนั้นพลอยร้อนไปด้วย เพราะเงินที่เอาของเขามา เอามาเลี้ยงลูก เลี้ยงเมีย ลูกเมียก็พลอยเดือดร้อน ลูกน้องก็พลอยเดือดร้อนไปตามๆ กัน
ใครมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับชีวิตของคนนั้นก็พลอยเป็นทุกข์ไปด้วย เดือดร้อนไปด้วย มันให้อยู่ แต่ไม่เห็น คนไม่ได้พิจารณา แล้วก็นึกว่า เราบริสุทธิ์ เราไม่ได้ทำ อะ ยังไม่ยอมรับ มันต้องใช้เปาบุ้นจิ้นมาแล้ว เอามาทรมาน เมืองจีนเขาทรมาน ทุบสิบ ยี่สิบไม้ แหมไม้ก็ไม่ใช่อันเล็กๆ ไม่ได้ใช้ไม้เรียวหวดนะ ไม้อัน ขออภัยอันเท่าแขน ทุบ ทุบ ไอ้โน่นก็ทุบ ไอ้นี่ก็ทุบ ดิ้นไปเลย ทุบแล้วยังไม่รับ ยังไม่รับ ดัดขา เอาไม้ใส่ระหว่างขาปั๊บ ดัดขาลงไปมันก็เจ็บน่ะสิ ไม่รับ ห้อยขาเข้า เอาไม้งัด จนขาหักไปก็มี อ้า ทรมาน เดือดร้อนไปตามๆ กัน ไอ้นี่เจ้าหน้าที่ไม่เรียบร้อย คอร์รัปชั่น ถ้าหากว่าเขาเอาเงินไปใส่มือให้ก็ อ้าว พอแล้วๆ หยุดได้แล้ว แบบนั้น ถ้าไม่ให้เงินก็จับขังคุก พอได้เงินนะ ปล่อยน่ะ ไอ้ตัวนั้นก็ถูกลงโทษเหมือนกัน
พวกที่ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว ทำกรรมดีก็ได้รับผลดี มันหนีไม่พ้น เหตุการณ์ที่ปรากฏเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ทางวิทยุ เป็นบทเรียนทั้งนั้น เป็นธรรมะสอนใจเราทั้งนั้น ให้เราได้คิด ได้พิจารณา ได้ศึกษาว่านี่แหละ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เราจะหนีจากผลที่กระทำไว้ไม่ได้เป็นอันขาด เป็นความจริง เป็นอย่างนั้น แล้วก็ต้องดูต่อไป ว่าผลจะไปอย่างไร ผลทางกายอาจจะยังไม่ปรากฏ แต่ใจนั้นร้อนรน ไปอยู่ในที่คุมขัง ใจร้อน ใจไม่สบาย เป็นทุกข์ เหมือนกับตกนรกนะนี่ นรกมันไม่ได้อยู่ใต้ดินหรอก นรกก็อยู่ที่ความร้อนอกร้อนใจเพราะทำกรรมชั่วนั่นเอง คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว แล้วก็ได้รับผลคือความร้อนใจ ได้เงินแต่เงินนั้นทำให้ร้อนใจ ได้วัตถุสิ่งของมีค่าแต่ร้อนใจ แต่คนเหล่านั้นมันด้าน มันทนร้อนเอา ทนร้อน เหมือนกับกินของร้อนๆ กินเข้าไป เคี้ยวไม่ได้ มันร้อน กลืนเลย ร้อนเข้าไปลำคอจนไปถึงกระเพาะ ต้องมาลูบ วู้ ร้อน บางทีต้องกินน้ำแข็งตามเข้าไป มันร้อน ไม่รู้สึก ไม่รู้สึกตัวว่าร้อน คิดไม่ได้ เพราะว่าไม่ค่อยได้เข้าวัด ไม่ได้ฟังธรรม คนประเภทอย่างนี้ไม่ค่อยเข้าวัดหรอก ไม่ค่อยฟังธรรม ไปเทศน์ที่ไหนๆ ไม่ค่อยไปฟัง พวกนี้ไม่ค่อยฟัง
ตำรวจนี่ไม่ค่อยไปฟังเทศน์ อ้างว่างานมาก บางทีไม่อยากฟัง ฟังแล้วมันไม่สบายใจ เพราะว่าเราทำผิดไว้เยอะ พอฟัง วู้ ตายแล้วกู มันไม่สบายใจ เหมือนกับพระสูตรหนึ่ง เขาเรียกว่า อัคคิขันธูปมสูตร ในทีฆนิกาย พระพุทธเจ้าเทศน์เรื่อง อัคคิขันธูปมสูตร เหมือนกองไฟที่ร้อน เทศน์ พวกนักบวช พวกพระที่ฟังน่ะ อาเจียนออกโลหิตตายก็มี ตายหลายองค์ เพราะไปทำชั่วไว้ พอได้ฟังแล้ว ตกใจ เลยตายก็มี เป็นอย่างนั้น นรกมันอยู่ในอกเรา คือความร้อนใจ ร้อนใจเพราะทำชั่วไว้ แต่พยายามต่อสู้ทางกฎหมายเพื่อไม่ให้ถูกราชทัณฑ์ ราชทัณฑ์อาจจะหลุดได้ ทนายดีๆ อาจจะหลุดนะ หรือมีเงินมากๆ อาจจะหลุดเหมือนกัน เพราะว่าผู้วินิจฉัยอาจจะเห็นแก่เงินก็ได้ แต่ว่าโทษทางใจนั้นไม่มีลด ยังร้อนอยู่เหมือนเดิม แม้ไม่ถูกลงโทษติดคุกติดตะราง แต่ตัวก็ร้อนใจ ไปไหนก็ดูหน้าใครไม่ค่อยได้ สบตาใครไม่ค่อยได้ ไม่อยากจะเห็นหน้าใคร ไม่อยากยิ้มกับใคร ใจมันเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส มีความทุกข์อยู่ตลอดเวลา แต่ไม่รู้ว่านั่นแหละคือผลบาปที่ตัวได้กระทำไว้ เขาคิดไม่ได้ มันเป็นอย่างนั้น เพราะว่าไม่เคยเข้าวัด ไม่เคยฟังธรรม ไม่เคยอ่านหนังสือทางศาสนา มีแต่พระห้อยคอกัน พวงใหญ่ๆ ทั้งนั้น ห้อยกัน ห้อยก็ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้จักพระ ไม่รู้ความหมายของพระ ไม่เอาธรรมะไปใช้ แต่เอาวัตถุไปใช้
วัตถุจะช่วยอะไรได้ ธรรมะสิจึงจะช่วยได้ คนมีธรรมะใจมันสบาย ไม่ถูกขัง เพราะว่าใจไม่ได้ถูกกักขัง แม้ร่างกายจะถูกขังใจก็ไม่ถูกขัง ใจเป็นสุข รู้จักปรับใจให้เข้ากับสถานการณ์และสิ่งแวดล้อม เขาไม่เครียด คนที่เข้าไปอยู่ในกรงแล้วก็เครียดนี่แสดงว่าเป็นผู้ไร้ธรรมะ ไม่มีปัญญารักษาตน จึงลำบากเดือดร้อนขนาดนั้น นี่เป็นตัวอย่างที่เห็นง่ายๆ เป็นบทเรียนอยู่ทุกเวลานาที อ่านหนังสือพิมพ์ก็ศึกษาธรรมะจากหนังสือพิมพ์ได้ ดูโทรทัศน์ก็ศึกษาธรรมะจากภาพโทรทัศน์ได้ ฟังวิทยุก็มีเสียงที่ประกาศธรรมะทางวิทยุ ไม่ใช่เสียงพระเทศน์ ธรรมะมันอยู่ในเรื่องละคร อยู่ในบทดนตรี อยู่ในข่าวที่เขาอ่านออกมา มันแสดงอยู่ในตัว แสดงว่าบาปเป็นอย่างไร บุญเป็นอย่างไร ผลบาปผลบุญมันเป็นอย่างไร มันแสดงอยู่ในตัวแล้ว ถ้าเราเข้าใจคิดเข้าใจพิจารณา แล้วก็เอามาใช้เป็นหลักในการปฏิบัติตนในชีวิตประจำวัน ชีวิตเราก็จะห่างจากบาปจากอกุศล ไม่ตกไปอยู่ในอำนาจของบาปของอกุศล ถ้าเรานึกเราคิด แต่ว่าคนดูก็ดูให้เพลิดเพลิน ดูหนังให้เกิดความเพลิดเพลินไป ไม่ได้มองในแง่ธรรมะ ไม่ได้มองหาสัจธรรมจากสิ่งที่เขาแสดงออกมา เลยไม่พบ
ความจริงธรรมะมีทุกหนทุกแห่ง มีอยู่ที่สนามหญ้า มีอยู่ที่ดอกไม้ มีอยู่ที่ใบไม้ มีอยู่ในที่ทั่วๆ ไป ถ้าเราดูด้วยปัญญาแล้วมันจะเห็นสิ่งเหล่านั้น เช่นเราเห็นใบไม้แห้งหล่นกองเต็มลาน หน้าร้อนจะเห็นว่าใบไม้แห้งร่วงหล่นเต็มเลย นั่นแหละ ใบไม้แห้งนั่นคือตัวธรรมะที่สอนเรา ถ้าเราคิดว่าใบแห้งนี่มันมาจากไหน มันมาจากใบสด ใบสดแล้วใบไม้มันก็เปลี่ยนมาเป็นใบเหลือง แล้วเป็นใบแห้งหลุดลงมากองอยู่ที่โคนต้น ยิ่งในต่างประเทศ ยุโรป อเมริกาแล้ว ฤดูใบไม้ร่วงนี่ โอ้ยน่าดู มันร่วงผลอยตลอดเวลา หล่นร่วงลงมากอง เหยียบไม่ถึงดิน นั่นแหละคือบทเรียนว่าชีวิตเราเหมือนกับใบไม้ร่วง ร่วงทุกใบ ไม่มีค้างติดต้นแม้แต่ใบเดียว คนเราเกิดมากี่คนก็ต้องตายหมด ตายเรื่อย แต่มันยังไม่หมดเพราะว่ามันเกิดต่อๆ กันมา สืบต่อกันไว้ แต่ก็ผลัดกันไปตามวาระของชีวิต ตายไปโดยลำดับ มันก็เป็นเครื่องเตือนใจให้เราได้คิด
เราปลูกต้นไม้ไว้ในบ้านก็เห็น ดอกไม้ใส่กระถางประดับบ้านเราก็เห็น เพราะมีกลีบที่ร่วงลงมา แล้วร่วงจนหมดเหลือแต่ก้าน ชีวิตเราก็จะร่วงเหมือนดอกไม้ เหมือนใบไม้ เพราะมันเป็นเรื่องธรรมดาอย่างนั้น คิดได้มันก็เกิดปัญญา และเกิดความระมัดระวังตน ไม่เอาตนไปใช้ในทางที่ผิด ไม่คิดเรื่องผิด ไม่พูดเรื่องผิด ไม่ทำเรื่องผิด ไม่คบคนผิด ไม่ไปสู่สถานที่ผิดๆ เพราะเราเห็นตัวอย่างว่ามันเป็นอย่างนั้น อยู่ด้วยความระวัง เรียกว่า สังวร ภาษาพระเรียกว่าสังวร สังวรหมายความว่า สำรวม ระวัง ระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในใจของเรา หรือการเรียกว่าระวังไว้ และเมื่อมันเกิดขึ้นแล้วก็ต้องพยายามเอาออก ไม่ให้มันอยู่นาน พิจารณาให้เห็นทุกข์ เห็นโทษของสิ่งนั้น แล้วรีบแก้ไข รีบปรับปรุง ถ้าเราจะทำบาปก็ทำมันสักครั้ง เผลอไป ทำด้วยความเผลอ ไม่ได้ทำด้วยความตั้งใจที่จะทำ เมื่อรู้สึกว่า โอ้เผลอไปแล้ว ก็ระวังไม่ให้ทำอีก เท่ากับว่าละ ไม่ให้มันจับอยู่ในใจของเรา ถ้าเราไม่คิดละมันก็จะพอกขึ้นๆ เหมือนดินพอกหางหมู มากขึ้นทุกวันเวลา เราก็เสียผู้เสียคน
ทีนี้เราต้องรู้ รู้จักตัวเอง ท่านจึงสอนว่า จงดูตัวท่าน ให้รู้จักตัวของท่าน ให้รู้จักตัวเราเองว่าเราคือใคร เราคิดอย่างไร เราพูดอย่างไร เราทำอะไร สิ่งที่เราคิด เราพูด ทำนั้น มันเป็นบุญหรือเป็นบาป เป็นฝ่ายกุศล คือฝ่ายดี หรือเป็นอกุศล คือฝ่ายชั่ว คิดแล้วร้อนใจ หรือเย็นใจ สงบใจ วุ่นวายใจ ใจมืด ใจบอด ต้องพิจารณาให้เห็นด้วยตัวของเราเอง เมื่อเห็นว่ามันเป็นของไม่ดี ไม่ถูก ไม่ชอบ หยุด ไม่ทำต่อไป ทำเพียงเท่านั้น หรือจะผิดได้ก็ผิดเพียงครั้งเดียว จะเป็นบาป เป็นโทษก็ให้มันเป็นเพียงครั้งเดียว อย่าให้เป็นหลายครั้งหลายหน อย่างนี้ก็ปลอดภัย
แต่ว่าเรื่องชั่ว เรื่องบาปนี่มันเป็นสิ่งที่ยั่วยุเหมือนกันนะ ยั่วให้เพลิน ให้หลงไป คนเราจึงติด ติดสุราเพราะเพลินในรสสุรา ติดการพนัน เพราะเพลินในการเล่นการพนัน เมื่อวานนี้ไปโคราช เรือบินลำใหญ่ คนมาก เอ๊ะทำไมมันไปกันมากนักหนา ไปถามพระที่เมืองโคราชบอกว่า เอ๊ะวันเสาร์นี่ทำไมคนกรุงเทพมาโคราชกันมากมาย พระบอกว่าเขามีม้าแข่ง อยู่กรุงเทพอุตส่าห์นั่งเรือบินไปให้ม้าโคราชเตะอะไรอย่างนี้ คิดดูสิ ถ้าไม่เรียกว่าโง่แล้วจะเรียกว่ายังไง ไปให้ม้าเตะ แล้วตอนเย็นกลับขึ้นเรือบินก็เต็มอีกนะ อ้อ พวกชอบม้านี่นะ ไปให้ม้าโคราชเตะเล่น นั่นเรื่องอะไร นี่
มันมีสิ่งยั่วยุให้ติด ให้เพลินไป เมื่อยังไม่พบคนที่จะแนะนำพร่ำเตือนก็ยังเพลิน เพราะว่าคนที่ไปนั้นพวกอารมณ์เดียวกัน คุยกันสนุก เพลิดเพลินกันทั้งไปทั้งมา ไม่มีใครประท้วง หรือว่าสะกิดบอกว่ากำลังคิดผิดแล้ว กำลังหลงผิดแล้ว ท่านจะเดือดร้อนในภายหลัง ไม่มีใครบอก เพลินไป ขึ้นเรือบินก็สั่งเบียร์มาดื่ม สั่งเหล้ามาดื่ม ติดเหล้า ติดเบียร์ ติดการพนันแล้วไม่พอ ติดเหล้า ติดเบียร์อีก ติดสิ่งเสพติดเข้าไปอีกนี่ ชีวิตมันก็เดินลง ตกต่ำ ไปเรื่อยไป ไม่มีความหมาย เป็นอย่างนั้น คนเรามันติดเพราะความหลงนะนี่ เพลินไปกับสิ่งนั้น โดยไม่คิดว่าเอ๊ะมันอะไรกันนี่ สิ่งนี้คืออะไร ไม่ได้คิดอย่างนั้น ไม่ได้ใช้ปัญญา แต่มีโมหะครอบงำจิตใจ ตกอยู่ในอำนาจของโมหะ คือความหลง ความเพลิดเพลิน คนเรามันเสียคนเพราะเรื่องอย่างนี้ เพราะความหลง คิดไม่ได้ นึกไม่ได้ ก็ไหลเรื่อยไปจนตาย ไม่ได้เรื่อง
แต่ถ้าคิดได้มันก็หยุด คนกินน้ำดื่ม น้ำเมาคิดได้ว่าเป็นโทษ หยุด เล่นการพนันก็หยุด เที่ยวกลางคืนก็หยุด คบเพื่อนไม่ดีก็หยุด ก็เห็นว่าไม่ได้เรื่อง ขี้คร้านการงานไม่เกิดความเจริญแก่ชีวิตก็หยุด หยุดหมด หยุดได้แล้วมันก็ดี คนเรามันดีตรงที่หยุดได้ ยั้งใจได้ หยุดได้ ประเสริฐ ถ้ายับยั้งชั่งใจไม่ได้ หยุดไม่ได้ มันก็ไปเรื่อย ไหลเลื่อนเรื่อยไป เป็นพวกโลกานุวัตร สมัยนี้ชอบใช้ศัพท์นี้ ไม่เข้าเรื่อง โลกานุวัตรก็คือพวกไหลไปตามโลก ไหลไปตามอารมณ์ ไหลไปตามอำนาจของสิ่งแวดล้อม อยู่อย่างทาส ไม่ได้อยู่อย่างไท อยู่อย่างผู้แพ้ ไม่ได้อยู่อย่างผู้ชนะ ไม่ถูกต้องตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าสอนให้เราอยู่อย่างผู้ชนะ อย่าอยู่อย่างผู้แพ้ เพราะแพ้มันเป็นทุกข์ ชนะจึงจะเป็นสุข เราจึงต้องอยู่ด้วยการต่อสู้ ด้วยสติ ด้วยปัญญา ด้วยความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ไม่ยอมให้สิ่งชั่วร้ายครอบงำจิตใจ ถ้าเราเลิกได้ เราจะเห็นได้ว่าชีวิตมันดีขึ้น สมัยหนึ่งอยู่ในความมืด มองไม่เห็นอะไร หลงใหลมัวเมาอยู่ในความมืด เหมือนคางคกอยู่ใต้กะลาครอบ แต่พอเขายกกะลาขึ้นแล้วก็ โอ มันสว่างดี แล้วไปไหนได้ไกล มันกระโดดโลดเต้น ไปหาอาหารกินได้สะดวก มันก็รู้สึกว่าดีกว่า แปลกกว่า ชีวิตของคนคนเรานี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราตกอยู่อำนาจของฝ่ายต่ำ เราก็ไม่นึกถึงฝ่ายสูง อยู่ในที่มืดไม่ได้รู้จักแสงสว่างว่าเป็นอย่างไร แต่พอได้เห็นแสงสว่างน้อยๆ ก็ได้รู้ว่าโอ้ มันมีแสงสว่าง มันไม่ได้มืดอย่างนี้ มันยังมีดีอยู่ แล้วก็ขวนขวายแสวงหาแสงสว่างนั้นมาส่องใจ ใจเราก็สว่างมากขึ้น รู้จักผิดชอบชั่วดีมากขึ้น รู้จักยับยั้งชั่งใจมากขึ้น จะคิดอะไร จะพูดอะไร จะทำอะไร ก็ยึดหลักความเป็นธรรม หรือความถูกต้องไว้เป็นเครื่องวินิจฉัย วินิจฉัยด้วยความเป็นธรรม ถ้าเราวินิจฉัยอะไรโดยความเป็นธรรม เราก็ไม่ตกต่ำ ชีวิตเรียบร้อย ก้าวหน้าเป็นไปด้วยดี เวลานี้สังคมไทยเราต้องการสิ่งนี้ ต้องพูดจากันให้มันดังๆ ในเรื่องธรรมะ เรื่องความเข้าใจถูกต้อง เรื่องความละอายต่อความชั่ว เกลียดกลัวต่อความชั่ว เพื่อให้คนได้สำนึกในทางที่ถูกที่ชอบ จะได้หันหน้าเข้าหาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า จะได้ช่วยให้อะไรๆ ดีขึ้นในการต่อไป
เมื่อเช้านี้ก็มีพวกมาหา ถามว่ามีธุระอะไร มา เอาเอกสารมาให้หลวงพ่อ เอกสารอะไร เรื่องรณรงค์เพื่อให้เขียนไว้ในธรรมนูญว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ อาตมาบอกว่าแหมคุณนี่จะเหนื่อยเปล่า ไม่จำเป็นอะไรที่ต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญหรอก เราควรจะรณรงค์ให้คนไทยฉลาดในธรรมะดีกว่า ให้คนเข้าใจพุทธศาสนา ให้นำพุทธศาสนาไปใช้ในชีวิตประจำวัน แล้วศาสนาก็จะเป็นศาสนาประจำชาติไปเองโดยไม่ต้องเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร นี่เราเขียนไว้แต่คนมันยังโง่กันอยู่เยอะแยะ ยังนับถือสิ่งอะไรแบบไสยศาสตร์อยู่เยอะแยะ แล้วคนที่คิดก็มันหัวไสยศาสตร์ทั้งนั้น ไม่เห็นเป็นหัวพุทธศาสตร์กับเขาเลย ส่งเสริมแต่สิ่งที่เป็นไสยศาสตร์อยู่ตลอดเวลา แล้วจะไปเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญให้มันแตกแยกแตกร้าวทำไม
เมืองไทยมันไม่ใช่มีคนนับถือศาสนาเดียว มันมีศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ศาสนาฮินดู แล้วเราไปเขียนกีดกันไว้อย่างนั้น ก็ทำให้เกิดการแตกแยกแตกร้าว มันไม่สมควร ไม่จำเป็นอะไร ฉันไม่เห็นด้วย แล้วเขาก็ไม่ให้อ่าน ก็เอาไปเลย แสดงมา ก็พอสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้
- ปาฐกถาธรรม ประจำวันอาทิตย์ที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๓๗