แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะอันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านหาที่นั่งพักให้สบาย วันนี้อากาศดี มีแสงแดด ฝนไม่ตก ให้โอกาสแก่พวกเราทั้งหลายที่จะได้มาวัด ได้บำเพ็ญสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่จิตใจ ขอให้นั่งพักให้สบายๆ แล้วก็ตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟัง ตามสมควรแก่เวลา
วันนี้เป็นวันแรม ๑๔ ค่ำเดือน ๙ ก็เรียกว่าวันดับเพราะว่าพระจันทร์หมดดวง การนับวันเดือนปีของคนสมัยก่อนนับตามแบบการเดินของดวงจันทร์เรียกว่าจันทรคติ ไม่ได้นับแบบการเดินของดวงอาทิตย์ เพราะการเดินของดวงอาทิตย์นั้นมันหมายยาก ไม่รู้จะกำหนดหมายอย่างไร แต่ดวงจันทร์นั้นกำหนดได้ เวลาข้างขึ้นก็ค่อยๆ ขึ้น เพิ่มขึ้นๆ จนเต็มเดือนเป็นวันเพ็ญกลางเดือน แล้วค่อยขอดลงๆ จนกระทั่งดับหมดเรียกว่าวันดับ เขาจึงถือเอาดวงจันทร์เป็นเครื่องหมายสำหรับการกำหนดนับ ว่าขึ้นกี่ค่ำ แรมกี่ค่ำ เป็นการนับมาตั้งแต่โบราณ
พระเราก็ปฏิบัติตามหลักการนั้น เช่น วันเพ็ญกลางเดือนก็ต้องลงอุโบสถ วันดับก็ต้องลงอุโบสถ เพื่อฟังพระปาฏิโมกข์อันเป็นกฎเกณฑ์สำหรับพระสงฆ์ ฟังเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้เกิดความสำนึกในหน้าที่ ถ้าว่าใครทำผิดข้อใด เมื่อฟังแล้วก็ต้องแสดงอาบัติ รับว่าได้กระทำผิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ เป็นการเปิดเผยความเป็นอยู่ของตนให้คนอื่นได้รับรู้ รับทราบเป็นการสำรวมระวังไม่ให้กระทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีกในเรื่องต่างๆ ก็นับว่าเป็นเรื่องดี
สำหรับอุบาสก อุบาสิกาซึ่งเป็นพุทธบริษัทเมื่อถึงวันพระเราก็มาวัด สมาทานศีล ๘ เลื่อนชั้นตัวเองให้สูงขึ้นไปอีกหน่อย ตามปกตินั้นเราก็ถือศีล ๕ เป็นประจำอยู่แล้ว แต่พอถึงวันพระเราก็เลื่อนฐานะ ไปถือศีล ๘ ศีล ๘ นี้เป็นตัวพรหมจรรย์ พรหมจรรย์คือการครองชีวิตให้บริสุทธิ์ ไม่ให้ไปคิดถึงเรื่องกิจกรรมระหว่างเพศ ไม่ปล่อยตัว ปล่อยใจให้มัวเมาในเรื่องของวัตถุมีประการต่างๆ เป็นการชำระชะล้างจิตใจให้สะอาดปราศจากสิ่งเศร้าหมองวันหนึ่งคืนหนึ่ง ญาติโยมจึงมาวัดถือศีล ๘ เรียกว่ารักษาอุโบสถ คำว่าอุโบสถแปลว่าเข้าไปอยู่ อยู่ในระเบียบวินัย อยู่ในคำสอนที่เรานำมาเป็นคอกล้อมตัวเราเอง ไม่ให้ออกไปนอกคอกนอกวง ชีวิตจะได้เรียบร้อย
ส่วนมากก็ถืออุโบสถเฉพาะคนแก่ๆ ที่ไม่ต้องทำงานแล้ว เป็นผู้เกษียณอายุหาความสุขตอนแก่ชรา ความจริงการถืออุโบสถนั้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ แม้คนหนุ่มคนสาวก็ควรจะมาถืออุโบสถเสียบ้าง การมาถืออุโบสถนั้นก็คือการพักผ่อนทางใจแล้วพักผ่อนทางร่างกายด้วยเพราะว่าเรามาพักที่วัด มาหาความสงบใจ จิตของผู้อุโบสถนั้นก็ต้องพยายามมีสติมีปัญญา คอยดูแลความคิด การพูด การกระทำไม่ให้ผิดศีล ผิดธรรม ให้อยู่ในศีลทั้ง ๘ ข้อ
ก็ศีล ๘ ข้อนั้น ก็เพิ่มขึ้น ๓ ข้อจากศีล ๕ คือเพิ่มข้อที่ ๓ ที่เรารับว่า อพรหมจริยา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ แปลว่าข้าพเจ้าขอรับศีล คือตั้งใจงดเว้นไม่ประพฤติผิดพรหมจรรย์ พรหมจรรย์คือการครองชีวิตที่บริสุทธิ์ ผู้ปฏิบัติพรหมจรรย์ได้รับชื่อว่า พรหมจารี พรหมจารีบุคคลคือบุคคลผู้ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นผู้อยู่ด้วยสติด้วยปัญญา พิจารณาตัวเอง มีกำหนดรู้ ความคิด การพูด การกระทำ ไม่ให้ไหลเลื่อนไปในทางต่ำ ไม่ให้เกิดความยินดี ยินร้ายอย่างนี้เรียกว่าเรารักษาพรหมจรรย์ สภาพจิตจะบริสุทธ์ขึ้น คือสะอาดขึ้น สว่างขึ้น สงบขึ้น เป็นความสุขอย่างหนึ่งในชีวิต เป็นกิจที่ควรทำ
โดยเฉพาะคนที่อยู่ในวัยหนุ่มวัยฉกรรจ์ทั้งหญิงชาย ถ้าได้มารักษาอุโบสถกันเสียบ้างก็จะช่วยให้ชีวิตดีขึ้น เพราะอย่างน้อยๆ ๗ วันก็ได้มาตรวจสอบตัวเอง ได้รู้จักตัวเอง คำว่ารู้จักตัวเอง รู้ว่าเรานี้คือใคร เรามีหน้าที่อะไรและเราทำหน้าที่ถูกต้องหรือเปล่า ในรอบ ๗ วันที่ผ่านมานั้น เราคิดอะไร เราพูดอะไร เราทำอะไร เราคบหาสมาคมกับใคร แล้วสิ่งนั้นเป็นไปเพื่อกุศลหรือเป็นไปเพื่ออกุศล ทำให้เราเพิ่มความทุกข์หรือทำให้เราลดความทุกข์ลงไป เราจะได้พิจารณา จะได้รู้จักตัวเองมากขึ้น และได้รู้จักสิ่งที่มันเกิดขึ้นในตัวเราด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นในตัวเรานั้นคืออะไร ก็คือความคิด การพูด การกระทำ ว่าเป็นการถูกหรือการผิด ดีหรือชั่ว เป็นเหตุให้เกิดสุข เกิดทุกข์อย่างไร ให้เสื่อมให้เจริญอย่างไร เราก็จะได้พิจารณาตัวเรา คนเรานี่ไม่ค่อยมีเวลาพิจารณาตัวเอง ตักเตือนตัวเอง แก้ไขตัวเอง ทางศาสนาจึงบัญญัติไว้ให้มีการพักผ่อนหยุดงานหยุดการในวันพระแล้วก็มาอยู่วัด หรือว่าอยู่ที่บ้านก็อยู่ด้วยสติปัญญา อยู่ด้วยการเพ่งมองตัวเองเพื่อให้รู้จักตัวเองมากขึ้น จะช่วยให้ชีวิตของเราดีขึ้น
วันนี้เห็นเด็กนักเรียน มาจากโรงเรียนไหนไม่ได้สังเกตมากันหลายคน ครูคงจะสั่งเด็กเหล่านั้นให้มาวัด แต่ว่าไม่มีครูมาด้วย ให้เด็กมากันตามลำพัง ก็มานั่งคุยกันเป็นหย่อมๆ ด้วยเรื่องของเขา หลวงพ่อเดินมาพบเข้าก็ถามว่า พวกหนูมาทำอะไร บอกว่ามาทำกิจกรรมว่าอย่างนั้น กิจกรรมอะไรก็ไม่ได้ซักถามมากไปกว่านั้น ให้มาทำกิจกรรม จุดมุ่งหมายที่ให้เด็กมาวัด ก็เพื่อจะให้มาศึกษาเรื่องชีวิตที่ถูกต้อง แต่ว่าคงจะไม่อธิบายให้เด็กเข้าใจ ว่ามาทำไม มาเพื่ออะไร มาแล้วจะได้อะไร ทำอย่างไรจึงจะได้ เขาก็มากันอย่างนั้น มาตามเรื่องตามราว เวลาหลวงพ่อเข้าไปถาม ก็พูดอย่างนั้น ไม่ได้แสดงความเคารพ คารวะอะไร เพราะทางโรงเรียนก็ไม่ได้ฝึกมาก่อน ไม่ได้สอนมาก่อนว่าควรทำอย่างไร แล้วเขาก็เดินไป ป่านนี้ก็คงไปนั่งตรงใดตรงหนึ่งแล้วก็คุยอะไรกันตามเรื่อง คงจะไม่ได้ตั้งใจฟังเท่าใดเพราะไม่ได้มาอยู่เฉพาะหน้า ไปนั่งเป็นหย่อมๆ เด็กๆ ก็อย่างนั้นแหล่ะ นั่งรวมกันก็ซุบซิบๆ กันในเรื่องอะไรๆ ต่างๆ ความตั้งใจที่จะศึกษายังไม่มี อันนี้ไม่ถูกต้อง
เรามาวัด พาเด็กมาวัด อาจารย์ควรจะมาด้วย แล้วก็พามานั่งให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ณ ที่ใดที่หนึ่ง ให้ดีก็ควรจะมานั่งในที่ที่พระมองเห็น จะได้พูดกับเขา ตาได้มองเขา เขาจะได้เกิดความรู้สึกนึกคิดบางสิ่งบางอย่างอันจะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเขาต่อไป แล้วควรจะได้มีการชักจูงแนะนำให้เด็กมาประพฤติธรรมเสียบ้าง เช่น วันอาทิตย์นี่มาประพฤติธรรม บางแห่งก็มีการนำเด็กเข้าค่าย เข้าค่ายคุณธรรม เช่น ทำอยู่ที่เชียงใหม่ พระมหาจรรยาไปอยู่ที่นั่น ก็ทำงานกับเด็กบ้าง วันศุกร์ตอนเย็นเด็กมาวัด นอนวัด วันเสาร์อยู่วัด วันอาทิตย์อยู่วัด กลับบ้านตอนเย็น อยู่วัดก็อยู่กับพระ พระเอาเข้าห้องประชุม แล้วก็พาเดินไปตามในวัดอธิบายนั่นนี่ เดินในบริเวณป่า ไปนั่งพักตามใต้ต้นไม้ แล้วพระก็คุยเรื่องชีวิตให้เด็กฟัง เด็กก็ดีขึ้น เปลี่ยนพฤติกรรมไป พ่อแม่สบายใจ ครูก็สบายใจ อาตมาว่างๆ ก็ขึ้นไปเยี่ยมบ้าง ไปพูดกับเด็กบ้าง ไปพูดกับครูบ้าง เพราะบางคราวก็เอาครูมาเข้าค่ายจำนวนเท่านั้นเท่านี้ ได้ทำความเข้าใจกันในเรื่องวิถีชีวิต เรื่องงานการ เรื่องความเป็นอยู่ต่างๆ ให้เขาได้เกิดความคิดความริเริ่มในการสร้างสรรชีวิตให้ดีขึ้น อันนี้เป็นประโยชน์
แต่ที่กรุงเทพเรายังไม่ได้ทำถึงขนาดนั้น แต่ถ้าทำบ้างก็ดี เช่น พาเด็กมา อย่ามาวันอาทิตย์เลยเพราะว่าคนมากไม่มีโอกาสจะพูดกันเฉพาะเรื่องกับเด็ก ควรจะพาเด็กมาในวันเสาร์เพราะไม่มีคนมากเท่าใด มาวันเสาร์แล้วก็มาอยู่วัดทั้งวัน มาถึง ๙ โมงเช้าอยู่จน ๕ โมงเย็น จะได้อยู่กับพระ จะได้สนทนากับพระ ใช้เวลามากหน่อย และก็เปิดโอกาสให้เขาแสดงออก คือให้ถามได้ในเรื่องที่เขาสงสัย เด็กหน่ะมีเรื่องสงสัยเยอะ แต่ไม่ค่อยมีโอกาสได้สนทนาไต่ถาม เราก็นั่งล้อมวงกัน องค์นี้เอาไป ๑๐ คน ๒๐ คน แบ่งกันไป นั่งตรงไหนก็ได้ แล้วก็สนทนาพาทีกัน พูดให้เขาเข้าใจเรื่องชีวิต เรื่องหลักการในการดำเนินชีวิต อย่างนี้จะได้ประโยชน์ ดีกว่าให้มาเฉยๆ ถ้าว่ามีครูมาด้วย ได้ยินได้ฟังก็เอาปรึกษากับอาจารย์ใหญ่ แล้วก็ทำให้ถูกเป้าหมายเพื่อนำเด็กมาวัดให้ถูกเป้า อะไรๆ ก็จะดีขึ้น
เดี๋ยวนี้มีบุคคลกลุ่มหนึ่งเขาพยายามที่จะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย ความจริงมันก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรหรอก เพียงแต่เขียนเป็นตัวหนังสือไว้ สิ่งที่ควรทำมากกว่านั้น ก็คือว่าทำอย่างไรที่จะให้คนไทยที่เรียกตัวเองว่าชาวพุทธนี่ ได้เข้าใจหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนาถูกต้อง ให้ปฏิบัติถูกตรงตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะในปัจจุบันนี้ เรายังปฏิบัติไม่ค่อยถูก มีความเชื่อไม่ถูก มีความเห็นไม่ถูก แล้วมีการกระทำที่ไม่ถูกต้องอยู่มากมายทั้งพระทั้งชาวบ้าน ถ้าเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญก็เพียงสักแต่ว่าเขียนไว้ ทำให้คนคิดว่าเป็นศาสนาประจำชาติเลยไม่คิดทำอะไร มันก็ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร แต่ถ้าหากว่าเราช่วยกันชักจูงแนะนำคนให้เข้าถึงหลักธรรมะ ให้ทำพร้อมๆ กันทุกวัดวาอาราม ช่วยกันสอนพุทธธรรมให้คนได้รู้ได้เข้าใจ ใครมาวัดคนเดียวก็สอน ๒ คนก็สอน ๑๐ คน ๒๐ คนก็พยายามสอนให้เขาเข้าใจ สอนแบบสนทนาทำให้เขาเกิดความรู้ ความเข้าใจ
พระพุทธเจ้าของเราไม่ได้เทศน์กับคนมากเสมอไป ในพระสูตรต่างๆ นั้น บางทีก็สนทนากับคนเพียงคนเดียวแต่ยืดยาวเพื่อให้คนนั้นเข้าใจหลักพระพุทธศาสนา แล้วก็บันทึกไว้เป็นสูตรต่างๆ ไม่ได้พูดกับคนมากเสมอไป เช่น ธรรมจักรกัปปวัตนสูตร ก็พูดกับคน ๕ คนเท่านั้นเอง อนัตตลักขณสูตรก็พูดกับคน ๕ คน แต่พอถึงอาทิตตปริยายสูตร พูดกับคน ๑๐๐๐ คน เพราะชฏิล ๓ พี่น้องมีบริวาร ๕๐๐ ๓๐๐ ๒๐๐ ตามลำดับ รวมเป็น ๑๐๐๐ ท่านก็พูดอาทิตตปริยายสูตรให้ฟัง คนเหล่านั้นก็เข้าใจหลักการทางพุทธศาสนา ได้บรรลุมรรคผล ในขณะฟังเทศน์จบลงไปอย่างนี้ก็มีเป็นครั้งคราวที่พูดกับคนมาก แต่ส่วนมากพูดกับคนน้อยๆ สนทนากัน ซักถามกัน คุยกัน โต้ตอบกัน ให้เขาเกิดความรู้ ความเข้าใจด้วยตัวเขาเอง ปรากฎอยู่ในพระสูตรมากมาย เป็นบันทึกการสนทนากับคนเหล่านั้น
สมัยนี้เราไม่ค่อยจะได้ทำอย่างนั้น พระสงฆ์องค์เจ้าเราก็ไม่ค่อยมีเวลา มีเวลาแต่เรื่องฝ่ายบริหารการปกครองพระสงฆ์องค์เจ้า แต่ก็ทำไม่ได้จริงจังอะไร แค่การปกครองก็ยังไม่ค่อยจะเรียบร้อย ยังไม่ได้ส่งเสริมปัญญา ส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจกับพระสงฆ์เหล่านั้น จึงยังไม่ก้าวหน้าเท่าใด ไม่จำเป็นจะต้องเขียนไว้หรอก แต่ว่าเรามาช่วยกันทำ ช่วยปลุกใจคนให้ตื่นตัว ให้ก้าวหน้า ตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็จะดีขึ้นเป็นอย่างนี้ ให้คนได้ช่วยกันประพฤติธรรม ให้นำธรรมะไปใช้ในชีวิตประจำวันให้มากขึ้น ให้รู้จักช่วยตัวเอง ให้รู้จักพึ่งตัวเอง ด้วยการนำธรรมะมาเป็นหลักในการช่วยตัวเอง ในการพึ่งตนเอง นี่คือจุดหมาย อันนี้ถ้าเราดึงคนเข้ามาประพฤติพรหมจรรย์เป็นครั้งคราว จะได้มีโอกาสทบทวนทำความเข้าใจกับเด็กเหล่านั้นให้เกิดปัญญา เกิดความรู้ซาบซึ้งในหลักพระพุทธศาสนา ถ้าเขารู้ เขาเข้าใจแล้วเขาจะไม่ทิ้งศาสนา เขาจะอยู่กับพระพุทธเจ้า อยู่กับพระธรรม อยู่กับพระสงฆ์ เพราะเขาอยู่กับพระ เขาก็มีชีวิตดีขึ้น การเรียนดีขึ้น การทำงานก็ดีขึ้น อะไรก็ดีขึ้น เพราะมีธรรมะเข้าประกบชีวิต ชีวิตก็ไปในทางที่ถูก ไม่โอนเอียงไปตามอารมณ์ ตามสิ่งแวดล้อม อะไรก็จะดีขึ้น
ในการมารักษาอุโบสถนั้น มีศีลข้อที่ ๖ ว่าไม่รับทานอาหารหลังเที่ยง การไม่ให้รับทานอาหารหลังเที่ยง เพื่ออะไร เพื่อตัดความกังวลในเรื่องการกิน การอยู่ ตัดเรื่องความกังวลในเรื่องเกี่ยวกับอาหาร เพราะเรื่องอาหารนี่ยุ่งพอใช้นะ โยมสังเกตดูในครอบครัว คนที่เกี่ยวกับการครัว พอตื่นเช้า เอ้า ทำอาหารเช้า เสร็จอาหารเช้า เอ้า เตรียมอาหารกลางวัน เสร็จอาหารกลางวัน เตรียมอาหารเย็น ไม่ต้องทำอะไร ยุ่งอยู่แต่ในครัวนั่นแหล่ะ ไม่ได้ไปไหน เตรียมเรื่องอาหาร ใช้เงินใช้ทองมากมาย แต่ถ้าเราหยุดกินกันเสียบ้างเป็นครั้งคราว หยุดกินว่าเอ้าถึงวันพระ ไม่กิน ไม่มีการรับทานอาหารเย็น แม่ครัวก็ได้หยุดพัก ไม่ต้องจ่ายเงินค่าอาหาร ได้ประหยัดทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วก็ช่วยท้องให้มันดีขึ้นด้วยเพราะท้องทำงานหนัก กระเพาะอาหารทำงานหนักอยู่ตลอดเวลา ไม่ค่อยมีเวลาพักผ่อนเพราะต้องทำการย่อยอาหารเก็บอาหารไว้ในท้อง อันนี้เราหยุดเสียบ้าง หยุดกินอาหารเรียกว่าในรอบ ๗ วันนี่หยุดกันซักวันหนึ่ง ไม่รับทานอาหารมื้อเย็น สำหรับเด็กน้อยๆ ก็กินนมกินอะไรไป แต่ผู้ใหญ่ไม่รับทาน ถ้าเราลองทำอย่างนั้น สุขภาพกายจะดีขึ้น สุขภาพจิตก็จะดีขึ้น เงินทองก็จะเหลือใช้ เพราะตัดอาหารไปวันหนึ่ง
แล้วถ้าคนในประเทศไทย ๕๐ กว่าล้านนี่ หยุดกินอาหารมื้อเย็นมื้อนึง ข้าวสารเหลือเท่าไหร่ อะไรๆ เหลือเท่าไหร่ ไอ้ส่วนที่เหลือนั้นเอาไปช่วยคนยากคนจนที่ตกระกำลำบากหรือไปช่วยนักเรียนที่ขาดแคลนซึ่งมีอยู่มากเวลานี้ หรือว่ามีภัยจากธรรมชาติ เช่น อุทกภัยเกิดขึ้นในทางภาคเหนือของประเทศไทยหรือทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ น้ำที่ท่วมเมืองเชียงใหม่ปีนี้ไม่ใช่น้อยนะโยม ถ้าสมมติว่าไม่มีเขื่อนยันฮีนะ อีกเดือนหนึ่งน้ำจะมาถึงกรุงเทพ แล้วจะท่วมหมดกรุงเทพ ไม่ใช่ท่วมธรรมดา ท่วมขนาดเอาเรือไปวิ่งบนถนนได้ เหมือนกับที่ท่วมเมื่อปี ๒๔๘๕ สมัยสงครามญี่ปุ่น ท่วมขนาดไหน รถไฟเข้ากรุงเทพไม่ได้ต้องหยุดอยู่โน่น ภาชี ใครจะไปขึ้นรถต้องไปขึ้นภาชีโน่นแหน่ะ สายใต้ก็มาหยุดอยู่เพียงนครปฐม เข้ามาในกรุงเทพไม่ได้ เพราะน้ำมันท่วมสันรางรถไฟ ท่วมไปหมดทุกหนทุกแห่ง อาตมาอยู่วัดสามพระยา เอ้า วันแรกก็ท่วมเพียงครึ่งแข้ง ต่อมาถึงเข่า ต่อมาถึงกลางขา ต่อมาท่วมถึงเกือบถึงยอดอก ท่วมถึงนี่ ลงไปเดินในลานวัด น้ำถึงนี่ บิณฑบาตรไม่ได้ ไม่มีโอกาสไปหรอก รัฐบาลแจกข้าวสาร เอ้ามัด แล้วแจกปลาทูเค็มมาให้ ฉันอาหารคือข้าวกับปลาทูเค็มนี่ตั้งเดือนกว่า ไม่มีกับข้าวอื่นเพราะไม่รู้จะทำยังไง จะเอามาจากไหน กินพอไม่ให้มันตายเท่านั้นเอง อยู่ได้ นึกถึงภาพน้ำท่วมแล้ว โอ้ มากมายเหลือเกิน
แล้วพอเห็นน้ำท่วมเมืองเหนือตอนนี้ก็นึกถึงบุญคุณของเขื่อนภูมิพล นึกถึงหม่อมหลวงชูชาติ กำภู ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการสร้างเขื่อน วิ่งเต้นไปยืมเงินจากองค์การโลก จากเงินต่างๆ ที่เขาจะให้ยืมได้ เอามาสร้างจนสำเร็จเรียบร้อย น้ำจะท่วมเมืองเหนือซักเท่าไหร่ พอไหลหลงมาถึงเขื่อนยักษ์ยันฮีก็ติดอยู่นั่นแหล่ะ เขากักไว้ที่นั่น เมื่อฝนแล้ง ๒ ๓ ปี น้ำขอดลงไปมาก เหลืออยู่ไม่เท่าใด แต่คราวนี้น้ำเต็มเขื่อน ลงมาเต็ม แต่ยังไม่เต็มตามที่ต้องการ เพราะเขามีประตูพิเศษสำหรับระบายน้ำเมื่อมันจะล้นเขื่อน ท่านหม่อมบอกว่าไอ้ประตูนี้ ๑๐๐ ปีถึงจะใช้ คือไม่มีโอกาสได้ใช้ แต่ว่าเดี๋ยวนี้มันไม่ค่อยได้ใช้เพราะอะไร ป่ามันถูกทำลาย แล้วก็ฝนมันไม่ตกมาก แต่พอตกหนัก ก็น้ำท่วมบ้านท่วมเมือง ท่วมราชการใหญ่ อาตมาไปดูแล้ว โอ้ มันมากจริงๆ มากกว่าปีที่น้ำท่วมเมืองเชียงใหม่สมัยอาตมาอยู่ ท่วมมากกว่า อย่านึกว่า แหม น้ำเหล่านี้ ถ้าไม่มีเขื่อนปะทะแล้วกรุงเทพล่มจมเลย ท่วมไปหมดทุกหนทุกแห่ง แต่นี่ไม่เป็นไรเพราะเขื่อน
ไอ้พวกที่คัดค้านการสร้างเขื่อนนี่ น่าจะไปดูบ้าง ว่าเขื่อนมันรับน้ำไว้เท่าไหร่ ช่วยคนกรุงเทพไว้ได้เท่าไหร่ ถ้าไปดูแล้วก็จะเกิดเปลี่ยนความคิด เมื่อเห็นเขาจะสร้างเขื่อน เช่น แก่งเสือเต้น อะไรหลายแห่งนะ พวกนักคัดค้านนี่โอ้ยไม่มีอะไรจะทำ ต้องค้าน ใครจะทำอะไรที่ไหน ต้องไปค้าน ยุประชาชนให้ไปค้าน ไปเดินขบวน ไปขวางโลก ไปอยู่อย่างนั้นแหล่ะ ทำให้การพัฒนาชักช้าเสียเวลา เพราะเขาไม่ค่อยได้คิด ว่าอะไรมันจะเกิดขึ้น ควรจะเชิญพวกอนุรักษ์นิยมทั้งหลายให้ขึ้นไปเมืองเชียงใหม่ ไปเมืองแพร่ ไปเมืองลำปางไปดูว่าน้ำมันท่วมขนาดไหน แล้วมันลงมาติดอยู่ตรงไหน ที่มันไม่ไหลลงมาท่วมบ้านเมืองในกรุงเทพ ถ้าได้ลงมาดู จะได้หยุดสงบปากสงบคำลงไปในเรื่องคัดค้านในสิ่งที่ไม่ควรค้าน การทำอะไรก็จะดีขึ้น ประโยชน์
ถ้าเราช่วยกันประหยัดอาหารวันละมื้อนี่ จะได้อาหารมากมาย เมื่อเช้านี้ไปสถานีโทรทัศน์ ก็เห็นข้าวสารกอง แต่ว่ายังไม่มากเท่าใดเพราะว่ากองทัพเขาประกาศ แล้วก็อนุศาสนาจารย์บอกหลวงพ่อช่วยประกาศบ้าง ให้คนนำข้าวสารของแห้งมาช่วย ก็ประกาศให้ก็แล้ว ให้คนเอาไปให้ที่โน่น ไม่ต้องเอามาวัดชลประทาน เอาไปให้ที่โน่น เขามีรถมีรา เอาไปส่งสะดวก ถ้าเอามานี้ก็ต้องไปหารถกองทัพบกมาช่วย เลยบอกให้เอาไปให้ที่โน่น ไปช่วยเหลือคนที่ลำบาก แต่ว่าช้าไปหน่อยเพราะว่ามันท่วมหลายวันแล้ว ช่วยไม่ทันตอนนี้ มันต้องไปช่วยทันที ก็มันอดตั้งแต่วันแรก แล้วก็อดลำบากหลายวันแล้วไปช่วย มันก็ไม่ทันเหตุทันการณ์ มันต้องช่วยกันแบบทันท่วงที
เมื่อสมัยอยู่เชียงใหม่นี่เรียกว่าพอน้ำท่วมก็ออกไปดูเลย ดูเสร็จแล้วก็ประกาศทางวิทยุปปท. ให้คนมาช่วยเอาของมาให้ที่พุทธสถาน คนก็เอาของมาให้ตั้งแต่เช้าจรดเย็น เอามารวมไว้ โยมเช้าก็พาไปแจก ไปแจกถึงบ้านถึงช่อง เพราะเขาเดินไปไหนไม่ได้ ไม่มีแพ ไม่มีเรือ เพราะมันไม่เคยท่วมอย่างนั้น ก็พาเรือลำน้อยๆ ไปเที่ยวช่วยแจกทุกบ้าน ทุกช่อง ให้เขาได้มีข้าวสารกิน มีอาหารแห้ง จะได้สะดวกสบาย ทำอยู่หลายวัน จนถึงน้ำลดถึงหยุดไป นี่ได้ทำอย่างนั้น แต่ว่าเดี๋ยวนี้ไม่ได้อยู่โน่น แล้วก็ไม่ได้ทำทันท่วงที ราชการก็ทำอยู่เหมือนกันแหล่ะ แต่มันก็ช้าหน่อย ประชาชนยังไม่ได้ร่วมแรงอย่างจริงจัง ถ้าพระทำแล้ว คนช่วยมาก ไม่ว่าอะไรหรอก เพราะเขาไว้ใจพระว่าทำจริง ไม่ยักยอกข้าวของ ได้มาจ่ายไป ได้มาจ่ายไป ช่วยกัน
เราจึงควรคิดอย่างนี้คือว่า มีอะไรที่ควรช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในบางโอกาส เราก็ช่วยเหลือ เราประหยัดสิ่งนั้นไว้ แล้วเอาไปช่วยเหลือ คนไทยเรารับทานอาหารนี่ ยังรับทานแบบกินทิ้งกินขว้าง คือว่ากินเหลือมาก ตามภัตตาคารใหญ่ๆ หน่ะ เค้าไปประมูลเศษอาหารเพื่อเอาไปเลี้ยงสัตว์ ประมูลปีนึงราคาตั้ง ๒ ล้าน ภัตตาคารใหญ่ๆ นี่แสดงว่าคนไทยเรานี่กินอาหารทิ้งขว้างปีละ ๒ ล้าน ภัตตาคารใหญ่ๆ เขาไปประมูลซื้อนะ เรากินทิ้งกินขว้าง กินเหลือเบอะบะ เพราะมันเป็นเมืองที่สมบูรณ์ แล้วก็กินไม่นึกอะไร เหลือเยอะแยะ เอาไปทิ้งซะ ไม่ได้มีอะไร
แต่ถ้าไปเมืองอินเดีย นั่นเขาไม่ทิ้ง เขากินหมด มีอะไรกินหมด ไม่มีเหลือ ถ้าเราจะทิ้ง ก็ต้องมีคนมารับทันที เอาผ้ามากางแล้วก็รับ เรานั่งกินอาหารในรถไฟ พอยื่นจาน จะเททางหน้าต่าง มีคนมารับทันทีเลย เราเทให้เขา ปอกแอปเปิ้ลกิน เปลือกทิ้ง พอจะทิ้งนี่ คนมารับเลย รับเอาเปลือกไปกิน ไอ้เยื่ออะไรเรากิน แต่เปลือกเค้าเอากิน บ้านเมืองเค้าลำบากคนยากคนจนมาก ไม่มีอะไรทั้งสิ้น กินกันหมด
คนญี่ปุ่นกินอาหารกินหมดจาน หมดเลย เมื่อกินหมดแล้วเอาน้ำชาใส่ชามอาหาร ใส่แล้วเอาตะเกียบเขี่ยๆ กินน้ำล้างชามด้วย คนญี่ปุ่นมันเป็นเศรษฐีทางเศรษฐกิจเพราะมันกินน้ำล้างชามด้วย ไอ้เรานี่อย่าพูดถึงน้ำล้างชาม อาหารเหลือก็ไม่ค่อยทาน มาแล้วก็เหลือทิ้งขว้างๆ ควรหัดเด็กให้กินหมด อย่าให้เหลือ อาหารนี่ตักให้พอสมควร แล้วก็บอกเอ้ากินให้หมด บังคับ ทหารญี่ปุ่นมาอยู่เมืองไทย ไปเที่ยวกินก๋วยเตี๋ยวบ้าง กินอะไรบ้าง คนไปขาย ขายแล้ว มันกินข้าวไม่ได้ พอมาถึงกินข้าว เขาตักให้ชามนึง กินไม่หมด กินไม่หมด ผู้บังคับบัญชาเรียกไปตบหน้านะ ไปยืนตบหน้า ตบขวาตบซ้าย ตบฐานกินข้าวเหลือ แสดงว่าไปเที่ยวกินข้าวนอก ไม่มีวินัย เป็นทหารไปกินข้าวนอกไม่ได้เพราะคนอาจจะทำร้ายก็ได้ อาจจะใส่ยาพิษให้กินก็ได้เพราะงั้นกินไม่ได้ อันนี้เมื่อไปกินมา กินข้าวไม่ได้ กินข้าวเหลือ ถูกตบหน้า ถูกลงโทษเลย เขาให้กินให้หมด เพราะงั้นข้าวที่ตักให้ ต้องกินหมด กินไม่ให้เหลือ อย่างนี้เรียกว่าควบคุมได้ คนญี่ปุ่นมันถึงเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ เพราะนิสัยรู้จักใช้ของ
เมื่อคราวทำงานฉลองอายุ ท่านเจ้าคุณพุทธทาส ๘๐ ปี อาตมาไปอยู่ในฐานเป็นประธานจัดงาน ที่โรงครัวหน่ะ เขาทำอาหาร ๒ อย่าง อาหารผักกับอาหารธรรมดาเรียกว่าอาหารคาว เวลาคนไปกินก็มีแกงใส่ชาม กะละมังไว้ ๒ อย่าง ไม่มากหรอก ข้าวใส่กะละมังไว้ จานวางไว้ ทุกคนที่จะไปกิน ไปหยิบจาน หยิบช้อนมาตักข้าวใส่ ตักแกงราด แล้วก็ไปกิน กินให้อิ่ม พออิ่มแล้ว ต้องไปล้างจานด้วยตัวเอง ล้างน้ำหนึ่ง น้ำสอง น้ำสาม ไอ้น้ำสามหน่ะ เค้าใส่ยาฆ่าเชื้อไว้ด้วย เอาจุ่มลงไป แล้วไปปักไว้ ให้น้ำมันสะเด็ดไป ทำอย่างนั้น บริเวณครัวนี่สะอาดเรียบร้อย ไม่มีเศษอาหารเพ่นพ่าน ไม่ใช่พอกินเหลือทิ้งไป
นี่มาในวัดนี่ คนที่มากินอาหาร เวลาพระฉันเสร็จแล้วนะ กินแล้วบางทีก็มักง่าย กินแล้วเอาจานไปทิ้งไว้ในกอไม้ เอาแก้วน้ำไปทิ้งไว้ ช้อนนี่ทิ้งบ่อย ทีหลัง ต้องไปเที่ยวเก็บเอามาเพื่อใช้ต่อไปและกินแล้วไม่ล้าง เที่ยวทิ้งเที่ยวขว้างทำให้เสียหาย แล้วก็หยิบเอามากด้วย บางคนก็หยิบเอามาก เอาหลายห่อ เป็นการแสดงว่ายังไม่มีการควบคุมตัวเอง ยังไม่บังคับตัวเอง ให้รู้จักประมาณท้องของตัว หยิบเอา ๒ ห่อ ๓ ห่อ พูนจานเลย แล้วก็เอามากินไม่หมด ทิ้งๆ ขว้างๆ ขยะเห็นเพ่นพ่าน มีที่ให้ทิ้งบางทีก็ไม่ทิ้ง จะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ไม่รู้ เที่ยวทิ้งไปตามกอไม้ เที่ยวแอบไว้ตรงนั้นตรงนี้ ตอนบ่ายลงไปเดินดู ก็จะเห็นสิ่งเหล่านี้ อันนี้แสดงว่ายังไม่ได้ประพฤติธรรมในเรื่องการกินอาหาร
เราควรจะประพฤติธรรมในการกินอาหาร ก็คือว่า หยิบเอาแต่พอสมควร อย่าคิดว่าจะกินให้อร่อย ให้เพลิดเพลิน ให้สนุกสนานเลย เพราะว่าเรามาวัด กินง่ายๆ หยิบเอา ห่อใดอยู่บนหยิบเอา ข้าวห่อหนึ่ง แกงไปห่อหนึ่ง พอแล้ว เอาไปกิน อย่าหยิบหลายห่อ เพราะถ้าหยิบหลายห่อนี่ คนเห็นแล้วก็ แอ้ แหมแม่คนนี้โลภมาก เอาไปต้องหลายห่อ อย่างนี้มันก็เสียเหลี่ยมผู้ปฏิบัติธรรม ผู้ปฎิบัติธรรมไม่ไปเลือก หยิบวาง หยิบวาง จิกแล้วจิกอีกเหมือนกับไก่หน่ะ อย่างนี้มันก็ไม่ถูกต้อง เราหยิบตามลำดับ ไอ้ที่อยู่ข้างบนหยิบเอาไป พระพุทธเจ้าบอกพระให้ฉันอาหารในบาตรอย่างไร ฉันในบาตรขุดลง เที่ยวหาอาหารไม่ได้นะ เช่นว่า เอ้ บิณฑบาตรบ้านนั้น ได้ไก่มันอยู่ตรงไหน คุ้ยเพื่อเอาไข่ใบนั้น ไม่ได้ ผิดนะ ต้องฉันลงไปตามลำดับ เจอปลากินปลา เจอผักกินผัก เจอไก่กินไก่ ไม่ให้ไปเที่ยวค้น เที่ยวคุ้ย คุ้ยเหมือนกับจับปลาในหนอง เที่ยวคุ้ย (34.23) ไม่ได้ คือแสดงกิเลส แสดงความอยาก
เราต้องอยู่ด้วยการบังคับตัวเองไม่ให้กิเลสประเภทใดครอบงำ เพราะงั้นเวลาจะไปเอาอาหารนี่ต้องสำรวมจิตใจ ว่าเราจะไปหยิบอาหาร หยิบข้าวหยิบแกง เราจะไม่ต้องการว่าต้องแกงอย่างนั้น ต้องกับข้าวอย่างนั้น เลือกไม่ได้ ถ้าเลือกแล้วเกิดกิเลสแล้ว เห็นแก่ตัวแล้ว แล้วก็หยิบเอาตามที่ตัวอยาก แล้วคนอื่นอีกล่ะ เราอย่าไปเลือก หยิบพอดีๆ อย่าหยิบมากๆ เอาข้าวไปห่อหนึ่ง เอาแกงไปห่อหนึ่งก็พอแล้ว แก้ข้าวออกจากถุง เอาแกงราดลงไป แล้วก็รับทาน ก็พออยู่ได้ ไม่ได้กินเพื่อเอร็ดอร่อย เพื่อความเพลินเพลิน เพื่อความอ้วนพลีมีกำลังดั่งนักมวยปล้ำ ถ้าเรากินอย่างนี้ก็เรียบร้อย เป็นการกินเพื่อขูดเกลา ไม่ได้กินเพื่อพอกพูนกิเลส อันนี้ต้องระวังล่ะ มันเกิดไม่ทันรู้ตัว พอเห็นอะไรเข้า โอ๊ย มันเกิดไม่รู้ตัวหน่ะ
อันนี้เราตั้งใจไปว่า ชั้นจะหยิบอาหารข้างบน หยิบเอาเท่าที่มันมีอยู่ข้างบน หยิบเอาไปห่อหนึ่ง ข้าวห่อหนึ่งพอแล้ว ไม่ต้องมากมายอะไร ทานอาหารพออยู่ได้ เราทำอย่างนั้นบ่อยๆ สภาพชีวิตจะดีขึ้น คือจะกลายเป็นคนเลี้ยงง่าย (35.57) สุภลตฺตา มีคำบาลีคำหนึ่งว่า สุภลตฺตา แปลว่าเป็นคนเลี้ยงง่าย พระเรานี่ก็ต้องอยู่อย่างผู้เลี้ยงง่าย อาหารที่โยมให้ จะดี ไม่ดีอะไรก็ตามใจ ก็ต้องฉันตามที่เขาให้จะไปเลือกฉันก็ไม่ได้ นี่พระบวชใหม่คงยังไม่เข้าใจ โทรศัพท์ไปบอกโยมว่าอยากฉันนั่นอยากฉันนี่ โยม ก็มาเล่าให้หลวงพ่อฟัง หลวงพ่อเอ้า ไม่ได้นะ เดี๋ยวชั้นเทศน์ให้พระฟัง เลยไปพูดให้ฟังในโรงเรียนเลยตอนบ่าย บอกว่าไม่ได้นะ ไปขออะไรโยมอย่างนั้นไม่ได้ เรามันยังเป็นเด็กเกินไป เป็นพระอายุ ๒๐ กว่าแล้ว อย่าไปเที่ยวขอโยม อย่าไปรบกวนโยม อยากฉันนั่น อยากฉันนี่ อะไรต่างๆ มันไม่ได้ ขอไม่ได้ โยมก็จะเอาอะไรมาให้ก็ทำมาตามหน้าที่ ให้ไปตามเรื่อง ไม่ต้องคิดว่าต้องให้เอร็ดอร่อยอะไร แต่นั่นเป็นเรื่องของโยม ก็ทำไป แต่เรานี่ต้องบังคับตัวเอง ไม่ให้เกิดความมักมาก อยากได้ในสิ่งเหล่านั้น จะสำรวมลิ้น สำรวมใจไว้ในเรื่องกินอาหาร เป็นคนกินง่าย อยู่ง่าย
ที่ไชยานี่ ให้พระฉันมื้อเดียว บิณฑบาตรได้มาเท่าไหร่ มาเทหมด เทรวมหมด เรียกว่าไม่ใช่ของฉันแล้ว เอามารวมหมด ข้าวแพงนะ กับไม่ค่อยมี พวกไชยาเขาไม่ค่อยใส่กับข้าวในบาตร ใส่แต่ข้าว แต่ว่ามีแกง แกงนี่เขาใส่ปิ่นโตมา ใส่หม้อเอามาส่ง เปลี่ยนกันมา อันนี้ก็ตักข้าวมา ต้องรู้จักประมาณท้องว่าเท่าไหร่จึงจะพอดี ถ้าเอาน้อย หน่ะ ลงโทษตัวเอง ฉันไม่อิ่มตอนเย็นจะหิว เอามากฉันไม่หมด เอ้า เพื่อนมอง เจ้านี่องค์นี้โลภมาก เอามาก แต่กินไม่หมด ต้องเททิ้งเทขว้าง ก็ไม่ได้
วันแรกนี่อาจจะประมาณตัวไม่ถูก แต่ทำไปๆ ก็รู้จักประมาณไป ตักเอากี่ทัพพีข้าว แล้วก็ฉันอิ่ม ฉันหมดบาตร ไม่มีเหลือ ส่วนแกงนั้นใส่รถเข็น กระบะใส่เป็นกระบะยาวๆนี่ใส่ปิ่นโตตักผ่านมา มาที่ท่านเจ้าคุณก่อน สมัยก่อนท่านเจ้าคุณ ท่านลงฉันร่วมกับพระ แต่ตอนอายุมากนี่ ท่านไม่ได้ไปฉันนะ ท่านฉันตามสบาย ก็ไม่ได้ฉันมากมายอะไร ผ่านมาก็ตักเอา พอสมควรนะ ตักใส่บาตรแล้วก็ผ่านไป ไอ้รถขบวนนั้นผ่านมาแล้วมันไม่กลับมานะ ไปเลย ไปถึงปลายแถว ไปถึงสามเณรแล้วก็ไปถึงโยม ยกไปเลย ไม่กลับมาแล้ว เพราะงั้นจะต้องตักไว้แต่พอดีๆ ถ้าว่าไม่พอ ก็ลงโทษตัวเอง ถ้าเอาไว้มาก ฉันไม่หมดก็น่าขายหน้า บังคับอย่างนั้นให้รู้จักฉันอาหาร เรียกว่า โภชเน มตฺตญฺญุตา รู้จักประมาณในการฉันอาหาร พวกหนูๆ เดินไปไหนหน่ะ นั่งเสียบ้าง นั่งฟังคำเสียบ้าง อย่าไปเดินไปเดินมา ๕ คนหน่ะ เดินเล่นในวัด ไม่ได้เรื่องอะไร ไม่มีคนคุม อันนี้ก็การฉันเพื่อการขูดเกลา ชาวบ้านก็ให้กินอย่างนั้น
ที่วัดป่านานาชาติอุบลนี่ก็เหมือนกัน คือว่า ข้าวมาตักข้าว แกงมาก็ตักใส่ๆ เอาแต่พอดีๆ ไปจนถึงปลายแถว ลงไปถึงสามเณร เลยไปถึงอุบาสกนุ่งขาวห่มขาว แล้วก็เลยไปจนถึงชาวบ้านที่มาถวายอาหาร ทำไมกลับหลังอีกแล้ว ไม่ชวนมา ต้องตักเอาแต่พอดี ฉันแบบขูดเกลา อย่างนี้ก็สบายเหมือนกัน แบบขูดเกลาดี
แต่ที่วัดนี้ เวลาวันอาทิตย์นี่มันเหลือเฟือ โยมเอามาใส่ ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะโยมมามาก แต่เราก็ฉันแต่พอดี ส่วนที่เหลือก็ให้โยมไปทานกัน โยมที่ทานอาหารหลังจากพระฉันนี่ก็ต้องฝึกตัวเองเหมือนกัน ฝึกตัวเองว่าฉันจะหยิบอาหารเพียง ๒ ห่อ หยิบเอาผลไม้ซักชิ้นหนึ่ง ของหวาน พอมารสอาหาร รสเผ็ด รสอะไรต่างๆ ถ้าเรากินด้วยสติด้วยปัญญา จะเกิดความระมัดระวัง รู้จักควบคุมตัวเอง ไม่ให้ไหลไปตามอำนาจของความอยากที่เกิดขึ้น ไม่เป็นพวกโลกานุวัตร
สมัยนี้เค้าว่า ยุคโลกานุวัตร ยุคเป็นขี้ข้าวัตถุ แหม ไอ้โลกานุวัตรนี่ มันไม่ได้เรื่องอะไร ไอ้โลกานุวัตรนี่ ไอ้ยุคขี้ข้า เป็นทาสวัตถุ เป็นทาสรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หรืออะไรต่างๆ มันไม่ถูกต้องหรอก เราต้องอยู่เหนือโลกานุวัตร ต้องฝืนกระแสโลกไว้ อย่าให้มันไหลไป อย่าเป็นปลาตายให้อยู่เหมือนปลาเป็น ปลาเป็นมันว่ายทวนน้ำ ปลาตายหงายท้อง ลอยไปตามกระแสน้ำจนเน่าไปเลย หรือเป็นเหยื่อปลาอื่นต่อไป อย่างนี่ไม่ถูกต้อง นี่เรื่องเกี่ยวกับอาหาร จุดหมายเป็นอย่างนั้น โยมรักษาอุโบสถก็ทานแต่พอดีๆ แล้วมันจะช่วยให้อะไรดีขึ้น เวลาเราไปไหนไม่ต้องหอบอาหารไปมากมาย เอาไปเพียงซักห่อหนึ่ง ทั้งกับทั้งอะไรใส่ไปในนั้นเสร็จ ทานพออยู่ได้ ก็สบาย ไม่หนัก ไม่มีภาระกังวล อาหารเราไม่ต้องมุ่งเอร็ดอร่อยอะไร กินพอดีๆ ก็สบาย นี่ศีลข้อที่ ๖ วิกาลโภชนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
อันนี้ข้อต่อไปว่า นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสน มาลาคนฺธวิเลปนธารณ ไอ้ข้อนี้ยาว มันมีคำว่านัจจะ คีตะ วิสูกทัสสะนะ มาลาคันธะ วิเลปะนะ ไอ้เรื่องคือว่า ให้งดเว้นอะไรบ้าง ฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี ดีดสีตีเป่า แล้วก็ไม่ประดับประดาร่างกายด้วยดอกไม้ ของหอม เครื่องทาเครื่องย้อมผิวต่าง ๆ ในวันอุโบสถ เรียกว่าเป็นตัวเอง เป็นมนุษย์ธรรมดาเสียวันหนึ่ง ไม่มีการฉาบทาผิวหน้าหรืออะไรต่ออะไรในวันนั้น จะรู้สึกว่า เราเห็นสภาพที่แท้จริงของชีวิต ทำให้จึงห้ามสิ่งเหล่านี้ ห้ามการฟ้อน การขับเพลง การดนตรี เพราะสิ่งเหล่านี้มันเป็นที่ตั้งแห่งความสนุกสนานเพลิดเพลินทำให้เกิดราคะ ความกำหนัด โทสะ ความประทุษร้าย โมหะ ความหลงในสิ่งเหล่านั้น ยั่วให้เกิดความชั่วขึ้นในสังคมได้ มันเป็นอย่างนั้น
เดี๋ยวนี้โทรทัศน์ประกาศมากที่สุดเรื่องอะไร เรื่องผม เรื่องผิว ๒ อย่างนี้ ผมกับผิวนี่ ประกาศยี่ห้อนั้น รีจอยส์มั่ง อะไรหน่ะ เอามาใส่ผม ผมมันจะสวย จะมีน้ำหนักแล้วก็สะบัดผม สะบัด ผมมันงามอย่างนั้น เหมือนกับว่ามันจะไม่แก่ เอาประดับประดาตกแต่ง แล้วแพงนะโยมนะ อาตมาไม่เคยซื้อเพราะไม่ได้ใช้ แต่ถามโยมว่าราคาเท่าไหร่ ขวดหนึ่งราคาเท่าไหร่ หลอดหนึ่งราคาเท่าไหร่ แพง แพงมาก ของเหล่านี้แพง เรามาใช้ทาผม แต่งหน้า อะไรต่ออะไร หลายเรื่อง เรียกว่าเรื่องสิ้นเปลือง แต่ก็ต้องใช้บ้าง เวลาเข้าสังคมก็ต้องใช้ให้มันพอเข้ากับสังคมได้ แต่ว่าไม่ติด ไม่เพลิดเพลินในสิ่งเหล่านั้นก็สบาย
การฟัอนรำทำเพลง มีคนๆ หนึ่งเป็นศิลปิน นักร้อง นักรำ เข้าไปหาพระพุทธเจ้า แล้วถามว่าข้าพเจ้าเป็นศิลปิน นักร้อง นักรำ ทำคนให้สบายใจ เมื่อข้าพระองค์ตายแล้ว จะไปเกิดที่ไหน พระพุทธเจ้ายกมือห้ามถาม อย่าๆ อย่าถาม อย่าถาม เขาถามอีกเป็นครั้งที่ ๒ ถามเป็นครั้งที่ ๓ ตถาคตห้ามเธอ ๓ ครั้งแล้วนะ เธอยังถามอยู่อีก ฟังคำตอบ พระองค์ตอบว่า เธอตายแล้วจะไปตกนรก นรกขุมนั้นก็เรียกว่า หาสนรก แปลว่านรกแห่งความเพลิดเพลิน คือตกนรกขุมนั้นแล้วนั่งหัวเราะตลอดวัน ไอ้คนเราถ้านั่งหัวเราะตลอดวันอยู่จะเป็นอย่างไร ลองคิดดูดิ ไม่ได้พักเลย หัวเราะอ๊อกอ๊อก มันก็แย่นะ ไปตกนรกขุมนั้น เพราะว่าการกระทำของเธอนั้น ทำคนให้หลง ให้มัวเมา ให้ประมาท ชายคนนั้นก็เลยบอก โอ้ ถ้าอย่างนั้นข้าพระองค์จะไม่ทำต่อไป เลิก เลิกไม่เป็นศิลปินต่อไป
เดี๋ยวนี้นักศิลปินเยอะ ร้องเพลง เต้นโหยงเหยงๆ ไปตามเรื่องนั้น อาชีพเค้ามีรายได้พอสมควร ผู้ปฏิบัตินี้ไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น แล้วเราก็อย่าไปหลงใหลเพลิดเพลินกับสิ่งเหล่านั้น เวลาจัดงานจัดการเป็นบุญเป็นกุศลนี่ อย่าส่งเสริมความสนุกสนาน แต่ว่ายาก วัดต่างๆ มีงาน ประกาศป้ายโฆษณา ฝังลูกนิมิตร เดือนโน้น กุมภาศกหน้า แขวนยกป้ายตั้งแต่บัดนี้ (46.47) อ้อ เดือนกุมภา ตรงตรุษจีน ตรงตรุษจีน ทั้งนั้นแหล่ะ ก็จีนเที่ยว ติดทองลูกนิมิตรได้เงิน ในนั้นมีอะไรบ้าง มีมหรสพ มีวงดนตรี สมัยพุ่มพวงอยู่ ก็พุ่มพวง ดวงจันทร์ สายัณห์ สัญญา หน่ะ ว่าไปแหน่ะ ได้เงินแล้วก็มีเท่าไหร่ ๑๕ คืน แหม โว้ย วัดต้องเน่าเลย ๑๕ คืนนี่ วัดเน่าเลยนะโยมนะ เน่าเพราะอะไร เข้าไปวัดแล้วต้องปิดจมูก มันเหม็นไปหมดเลย เที่ยวถ่าย เที่ยวราดไว้เต็มไปหมดเลย
ไอ้วัดบ้านนอกหน่ะ ๑๕ วัน ๑๕ คืนนี่ วัดเน่าเลย แล้วได้เงินเท่าไหร่ หลวงพ่อไปศึกษามานะ ถาม ไปคุยถาม แหม งานใหญ่ดี คนคงจะเยอะนะครับ ได้เงินเท่าไหร่ ๑๕ วัน ๑๕ คืนได้เงินเท่าไหร่ ได้เงินตั้งล้าน โอ้ ได้มาก แต่ว่าจ่ายแล้ว เหลือเท่าไหร่ เหลือ ๒ แสน อ้า ไม่ชิบหายเหรอ ได้ล้านนึงเหลือสองแสน นี่ไม่ได้อะไร เหมือนกับไม่ได้ เพราะถ้าหัก (48.07) การภายในวัดจ้างคนงานคนการ หักหมด ไม่ได้อะไร วัดไม่ได้อะไร แต่ว่าเขาไม่ค่อยคิดบัญชีละเอียด คิดว่าได้ก็แล้วกัน ได้มา แต่ถ้าหักกลบลบไป ค่านั่นค่านี่ ค่าแรงงาน คนมาปฏิบัติงาน แล้วกระทบกระเทือนญาติโยมข้างวัด เพราะต้องเลี้ยงคนที่มาในงาน ญาติโยมรู้จักมักคุ้นก็มานอน นอนก็ต้องให้กิน เสียเวลาเท่าไหร่ แล้วคนที่สนุกกับงานไม่ได้ทำงาน กลางคืนสนุก กลางวันนอน
ถ้ามีงาน ๗ วัน นี่นอน ๗ วัน เศรษฐกิจตกต่ำเท่าไหร่ ไม่มีใครคิด ถ้าไปพูดเรื่องนี้ในเวลาประชุมพระสงฆ์องค์เจ้า ท่านไม่สนใจ พูดแล้ว ท่านนั่งคุยกันซะบ้าง อะไรบ้าง แสดงว่าไม่ค่อยชอบที่เราพูดอย่างนั้น พูดแก้นี่ไม่มีใครชอบ ถ้าพูดยุล่ะ โอ๊ะชอบใจ ยุให้ชิบหายแล้วก็ชอบ ถ้ายุให้ประหยัด ไม่ค่อยชอบ เป็นซะอย่างนั้น ลำบาก สิ้นเปลืองไม่ใช่น้อยเวลามีงานสนุกสนาน เท่ากับว่ามีงาน นี่หาเงินให้กับพวกดนตรีคืนละ ๕ หมื่นนะ ดนตรีนี่ไม่ใช่น้อยๆ ให้มัน ๕ หมื่น เอาเงินที่ไหนให้ ก็เงินที่โยมมาทำบุญนั่นแหล่ะ โยมอย่าไปทำบุญเลยว่า ถ้ามีงานประกาศมีดนตรีสนุกสนานอย่าไปทำ ค่อยไปทำเวลาเค้าเสร็จงานแล้วถ้าจะทำหน่ะ แต่ว่าไม่จำเป็นเพราะว่าเงินเหล่านั้นรั่วไปหมด ไปให้คณะดนตรี พวกหนัง พวกละคร พวกอะไรไปหมด แล้วใครไปหาวงดนตรีมา ทายิก ทายิกานั่นแหล่ะ ไอ้พวกไวยาวัจกรนั่นแหล่ะ ไปหากำไรจากพวกดนตรี ไปหามา เปอร์เซ็นต์เท่าไหร่ คุณไปแสดงที่วัดให้เปอร์เซ็นต์ผมเท่าไหร่ แหน่ะ เขาเรียกว่ากรรมการครึ่งนึง วัดครึ่งนึง ทุกแห่งแหล่ะโยมเหมือนกัน เพราะงั้นอย่าไปทำบุญ ถ้างานอย่างนั้นอย่าไป เพราะมันไม่ได้เรื่องอะไร ไปทำเวลาเขาไม่มีงานมีการ ถ้าเราจะช่วยเขาสร้างวัดสร้างวาก็ไปโดยไม่ต้องหักจ่าย ได้มาซักหมื่น ก็เป็นประโยชน์ทั้งหมื่น ดีกว่าได้ ๕ หมื่น หักไปหักมาเหลือ ๒ พันเท่านั้นเอง เหนื่อยไม่คุ้ม เที่ยวสืบเสาะมาหลายงานแล้ว ไปเที่ยวศึกษา ไปอะไร งานศพ งานอะไรเหมือนกัน
ไปไหนหลวงพ่อไม่ได้ไปอยู่เฉยๆ ต้องไปศึกษา ไต่ถาม ไม่ได้ถามเจ้าภาพ ไปถามลิเก โอ้ แหม ฉากสวย กลางคืนแสดงดีเนอะ คนคงจะชอบ นี่เค้าเวลาละเท่าไหร่ เผื่อฉันมีงานจะได้รับไปมั่ง มันบอกหมด เวลาเท่านั้น ค่าเป็นภาพเท่าไหร่ ค่าหนังจอใหญ่เท่าไหร่ ค่าไอ้เครื่องดอกไม้ไฟราคาเท่าไหร่ แล้วไปคุยกับพระว่าเอ๊ะ ว่าเคยสวดเค้าถวายเท่าไหร่ ไม่มาก ทำบุญน้อย ไม่มากเท่าไหร่หรอก อย่างดีก็เตียงละ ๔๐๐ พระ ๔ องค์ สวดองค์ละ ๑๐๐ ไม่มาก แต่ว่าถวายลิเกเวลาละ ๔ พัน ถวายพระ ๑๐๐ เรียกว่างานใหญ่ งานบุญนะ คิดไปคิดมาแล้ว ทำบุญได้ ๒ เปอร์เซ็นต์ นอกนั้น ๘ เปอร์เซ็นต์หน่ะ ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำหมดไปเปล่าๆ ไม่ได้เรื่องอะไร
นี่มันเป็นอย่างนี้ ความนิยมมันเป็นอย่างนั้น เราไม่แก้ ไม่เปลี่ยนแปลงค่านิยม ทำตามใจชาวบ้าน ชาวบ้านก็มากัน ติดทอง ติดกันจริงๆ แล้วราคาทองหน่ะเอาไปให้พวกขายทอง คนขายทองนี่พอเวลามีงานลูกนิมิตรก็มาติดต่อ ผมจะรับอาสา ส่งทอง ส่งธูป ส่งเทียน ส่งเข็ม ส่งสมุด ขายอย่างนั้น เอามาขาย เสร็จงานค่อยคิดเงินครับ เขาใจดีพวกนี้ ไปนั่งเฝ้าอยู่ตลอดงานนะ ไปช่วย ช่วยขายด้วย ช่วยจัดการ ช่วยโฆษณา พอเสร็จแล้ว ก็บัญชีค่าทอง สมภารเอามือตบอก ทำไมอย่างนี้ แต่ว่าเขาเอามาให้แล้ว มันต้องซื้อนะ เอาทองไปติดทิ้งๆ ขว้างๆ ไม่ได้สวยงามอะไร ก็ทำกันอยู่อย่างนั้น ทำให้เกิดความฟุ้งเฟ้อเอ่อเหิมในกิจการพระศาสนา
อ้าว เมื่อวันประชุมพระ หลวงพ่อไม่ไป รู้แล้วว่าเขาประชุมแล้ว ไปก็ไม่ได้เรื่อง ขี้เกียจไปนั่งด้วย เขาไปกัน ประชุมพระต้อง ๒๕๐ พระผู้ใหญ่ ดร. รุ่งแก้วแดงนี่แกเจตนาดี มีความคิดบริสุทธิ์ ก็พูดกับพระผู้ใหญ่ทั้งหลายที่ประชุม ให้ช่วยแก้ปัญหา วัดต่างๆ มีงานนี่สร้างความเสื่อมให้แก่สังคมมากมาย สิ้นเปลืองเงินทอง หลายเรื่องแกพูด โอ้ พระเคืองเอาเลย มีสมเด็จองค์นึงลุกขึ้นพูดดังเลย ที่ไหนเค้าทำกัน บอกวัดมา ดร.รุ่งแกบอกชื่อวัดไม่ได้ อ้า พูดเลื่อนลอย ไอ้ความจริงมันมีอยู่ทั่วไปนั้นแหล่ะ มีอยู่ทุกงานนั่นแหล่ะ แต่ว่าพระท่านเคืองว่าไปพูดในที่ประชุม ท่านก็คัดเคือง คัดค้านหน่ะ ความจริงก็ควรจะรับบ้างว่าเขาพูดอย่างไร มีเหตุผลควรจะหาทางช่วยปรับปรุงแก้ไข แต่ว่าไปคัดค้าน ทำให้เกิดความบาดหมางกันระหว่างราชการกับพระซึ่งมันไม่ถูกต้อง เราควรจะฟังๆ ไว้ แล้วก็มาปรึกษาหารือกัน ถือตามหลักพระพุทธเจ้าสอน
พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไร ภิกษุทั้งหลาย ถ้ามีใครชมเธอว่าดี เธออย่าไปดีใจกับคำชมนั้น ถ้ามีใครมาติเธอว่าไม่ดี อย่าไปเสียอกเสียใจเพราะคำตินั้น เพราะถ้าดีใจหรือเสียใจไม่เกิดปัญญาอะไร แต่เธอต้องพิจารณาตัวเอง เขาว่าดี แล้วเราดีหรือเปล่า ถ้าเราดี ก็ทำดีเพิ่มไป แต่ถ้าไม่ดีเหมือนเขาว่า ก็ควรจะทำตัวให้ดี ทีนี้ถ้าเขาติว่าไม่ดี ก็อย่าไปโกรธ แต่ต้องพิจารณาตัวเองว่า เออ เรามันไม่ดีจริงหรือไม่ ถ้าเห็นว่าไม่ดีก็แก้ไขเสีย อย่างนี้ก็สบาย มันไม่ยุ่ง เพราะว่าเราใช้หลักการของพระพุทธเจ้า เขาจะติ เขาจะชม เราไม่ยินดียินร้าย แต่เรารับมาพิจารณาตัวเราเอง ว่าดีเหมือนเขาชมรึเปล่า เสียเหมือนเขาติหรือเปล่า ถ้าเห็นด้วยตัวเอง ก็แก้มันซะก็หมดเรื่องไป
โยมก็เหมือนกันนะ ใครมาว่ามีคนบอกว่า แม่คนนั้นว่าว่าคุณอย่างนั้นอย่างนี้ คนบางคนก็โกรธ มันว่าอย่างนั้นดิ เดี๋ยวต้องไปจัดการหน่อย ได้อะไร ได้อะไรมั่งที่เราไปจัดการไปเถียงกับเขาไป มันได้อะไร เฉยๆ จะดีกว่า หรือว่าจะย้อนกลับว่าคุณได้ยินนะ คำนั้น ได้ยิน ได้ยินกับหู เออ ได้ยินแล้ว ก็ดีแล้วนะ ฉันไม่เอา คุณเอาไปก็แล้วกัน บอกให้แม่คนนั้นเอาไปเลย เขาว่าอย่างไร ด่าอย่างไร คุณเอาไปด้วย ทีหลังมันไม่มาบอกเราหรอกเพราะเราส่งคืนให้เขา
ไอ้นี่ก็พระพุทธเจ้าท่านก็สอนนะ พราหมณ์ด่าพระพุทธเจ้ามากมาย พระองค์ก็ยืนเฉย ไม่ว่าอะไร พอพราหมณ์หยุดด่า บอกพราหมณ์ถ้ามีแขกมาบ้านท่าน นี่ท่านทำอย่างไร ก็ต้องต้อนรับด้วยขนมนมเนยน้ำท่าให้เค้ากินเค้าดื่ม ถ้าของเหล่านั้นเอามาให้แขกกินดื่ม ถ้าแขกไม่กินนี่ ของนั้นจะเป็นของใคร ก็เป็นของเจ้าบ้าน เออ เหมือนกันแหล่ะ เมื่อตะกี้นี่ท่านต้อนรับเราด้วยวาจาผรุสวาทเราไม่เอานะ พอพระพุทธเจ้าว่าพราหมณ์นั่นรู้สึกตัว ตายแล้วกูไปด่าคนที่ไม่ควรด่าเข้าแล้ว เลยก้มลงกราบ ขอโทษ แล้วพระพุทธเจ้าก็แสดงเรื่องความเลวให้ฟัง วสลสูตร อยู่ในหนังสือสวดมนต์แปล ปราภวสูตร สูตรว่าด้วยความเสื่อมก็เพราะคนมาว่าพระองค์ พระองค์ก็สอนให้เค้าเข้าใจว่า ไอ้ความเลวเป็นอย่างไร ความเสื่อมมันเป็นอย่างไร พูดให้เขาเข้าใจ คนนั้นก็เลิกทำสิ่งชั่วร้ายต่อไป
อันนั้นถูกต้อง คือเราจะต้องเอาชนะด้วยความดี อย่าชนะกันด้วยความชั่ว อย่าโต้เถียงกันด้วยสิ่งชั่ว เขาเอาของสกปรกมาสาดใส่เรา เราอย่าเอาสาดตอบ เพราะถ้าสาดตอบ มันสกปรกคือมันเพิ่มขึ้นอีกคนหนึ่ง ไม่ได้เรื่องอะไร เราไปล้างมันเสีย อาบน้ำเสีย สงบเสีย เรื่องมันก็จบกันเท่านั้นเอง มีคนถามปัญหาบ่อยๆ วันนั้นมาในเรือบินมีคนนึงมานั่งถาม หลวงพ่อคิดอย่างไร เรื่องท่านพยอมกับอาจารย์ใจ๋ อ่อ อาตมาไม่คิด ไม่ใช่เรื่องที่ควรคิด อาตมาคิดเรื่องอื่นมากกว่า บอกว่าผมเป็นทนายท่านพยอมนะ งั้นซิ แล้วเป็นไง ผมจะต้องหาพยานมายืนยันในการสู้คดี เรื่องของคุณ คุณทำไปตามหน้าที่ ไม่ต้องมาบอกอาตมาก็ได้ ไม่เกี่ยว ไม่เกี่ยว ว่างั้น อาตมาไม่เกี่ยว คือมันเรื่องทะเลาะกัน คือพระเรานี่ไม่ควรทะเลาะ เมื่อฝ่ายหนึ่งชวนทะเลาะก็ไม่ทะเลาะ
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดี ตถาคตไม่ทะเลาะกับชาวโลก ไม่วิวาท ใช้คำว่าวิวาทะ คือไม่พูดขัดใจกันกับชาวโลก แต่ชาวโลกชอบมาว่าตถาคต ตถาคตไม่ได้ยึดถือในคำว่านั้น สบาย เราก็ควร เค้าว่าอย่างไรก็เฉยๆ เงียบๆ ซะ เรื่องมันก็จบ นี่ไม่จบ เรื่องยาว เป็นรามเกียรติแล้ว กว่าทศกัณฐ์จะตายนี่ โอ้ นานเหลือเกิน ฆ่ายักษ์ตายไปเยอะ พระรามจะได้กลับเมืองซักที กลับเมืองก็ไม่เป็นสุข พระราม ไม่ได้อยู่กับนางสีดา ปัญหาเยอะ พระศรอยู่ในตัวแล้ว มันไม่มีเรื่องอะไร เราควรจะระงับยับยั้ง เรียกว่าสงบเสีย แล้วก็สบาย แต่นี่ไม่สงบ เรื่องมันก็อยู่ มีบ่อยๆ เมื่อเรารู้ว่าเราถูกต้อง คนอื่นไม่รู้ช่างเขา แต่เราถูก เราสะอาด เราสงบอยู่ จะไปโต้กับชาวโลกทำไม ชาวโลกมีกิเลส เราจะไปโต้กับเขาทำไม
นั่งเฉยๆ สงบๆ เข้าป่า นั่งเงียบๆ เขียนป้าย ติดไว้หน้าวัดว่าอาตมาไม่พูดเวลา ๑ ปี ครบปีแล้วค่อยเขียนต่อ อีก ๑ ปีก็ไม่พูด สบายปิดประตูนอน คนไม่รบกวน ดีเหมือนกัน อย่างนี้ก็สบายใจ เราประพฤติธรรมแล้วมันสบายอย่างนี้ ใช้ธรรมะช่วยประกอบชีวิตแล้วสบาย แต่ถ้าไม่ใช้ธรรมะ แล้วมันยุ่ง โลกที่ยุ่งอยู่นี่เพราะอะไร เพราะไม่ใช้ธรรมะ ถือศาสนา แต่ไม่เอาธรรมะไปใช้ มันก็ยุ่ง ไม่จบ รบกัน ๑๐ ปี แล้วยังไม่เลิกเพราะไม่ได้ใช้ธรรมะ ไม่เข้าถึงธรรมะที่ตนนับถือ อย่างนี้มีปัญหา พูดมาก็พอสมควรเวลาแล้ว ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้