แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
หมาน่ะ ชอบเอามาปล่อยวัด เต็มวัด ไม่รู้จะทำยังไง บอกให้เจ้าหน้าที่มาจัดการก็ไม่ค่อยมาเสียด้วย อ้าว บัดนี้ถึงเวลาของการฟัง ปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านหาที่นั่ง อย่ามัวเดินไปเดินมาอยู่ เพราะเวลานี้เป็นเวลาควรจะสงบ และก็นั่งให้เรียบร้อย ณ ที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งสามารถจะได้ยินเสียงชัดเจน แล้วตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์ อันเกิดขึ้นจากการมาวัด ตามสมควรแก่เวลา
วันนี้เป็นวันอาทิตย์แรกของฤดูกาลเข้าพรรษา เป็นวันที่ ๒๔ กรกฎาคม เราเข้าพรรษากันเมื่อวาน เมื่อเย็นวานนี้ พระสงฆ์ ได้ประชุมกันที่ใน อุโบสถ แล้วก็ได้ อธิฐานใจเข้าพรรษา ด้วยอธิฐานว่า “อิมัสมิง อาวาเส อิมัง เตมาสัง วัสสัง อุเปมิ” แปลว่า ข้าพเจ้า จะอยู่จำพรรษาในวิหาราวาสนี้เป็นเวลา ๓ เดือน ตามระเบียบที่พระผู้มีพระภาคทรงตั้งไว้ ว่าเมื่อถึงฤดูฝนให้พระหยุดอยู่กับที่ ไม่จาริกไปไหน ตลอดเวลาฤดูฝน พ้นฤดูฝนแล้วจึงจะออกจาริก เดินทางไปสั่งสอนประชาชนตามที่ต่างๆต่อไป
ในสมัยแรกเมื่อพระพุทธเจ้าเที่ยวเทศน์สอนใหม่ๆ แม้มีพระแต่ก็ไม่มีระเบียบว่าควรจะอยู่จำพรรษา แต่พอพระมากขึ้น เมื่อพระบางพวก แม้ฤดูฝนก็ยังเที่ยวเดินท่องเที่ยวไป สอนคนที่นั่นที่นี่ ไปเหยียบต้นข้าวกล้าในนาของชาวบ้านให้เสียหาย ชาวบ้านติเตียน
พระพุทธเจ้าเลยออกเป็นกฎขึ้นว่า ให้อยู่ หยุดอยู่กับที่ เรียกว่าจำพรรษาตลอด ๓ เดือนฤดูฝน ทิ้งท้ายฤดูฝนไว้เดือนหนึ่ง เพื่อเป็นฤดูสำหรับทำจีวร ซึ่งเรียกว่าทอดกฐินนั่นเอง พระสงฆ์ท่านก็ปฏิบัติตามพระวินัย ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติแต่งตั้งไว้ ทีนี้สำหรับญาติโยม อุบาสก อุบาสิกา ไม่มีระเบียบว่าต้องอยู่จำพรรษา แต่ว่าก็ควรจะได้ตั้งใจปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ให้มากขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อเอาชนะธรรมชาติฝ่ายต่ำ ที่มันมารบกวนจิตใจของเรา
เมื่อตะกี้นี้มีอุบาสกคนหนึ่งไปที่กุฏิ แล้วก็ไปบอกว่า มารับศีลจากหลวงพ่อ บอกว่ารับศีลอะไร รับศีลไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า ได้งดมา ๓ วันแล้ว แล้วก็มาขอพรจากหลวงพ่อเพื่อถือต่อไป อุบาสกผู้นี้ ลูกชายได้มาบวชในพระศาสนา เมื่อคราวทีนี้ เมื่อบวชแล้ว พ่อก็ได้ตัดสินใจบวชตามลูก คืองดเว้นจากการดูดบุหรี่ งดเว้นจากการดื่มสุราเมรัยอันเป็นสิ่งเสพติด อันนี้ก็เป็นการกระทำที่ถูกต้อง เป็นตัวอย่างของชีวิต ในฐานะที่เราเป็นพุทธมามะกะ คือผู้รับนับถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นของเรา เราก็เดินตามเส้นทางที่พระพุทธเจ้าชี้ไว้ให้เดิน ก็จะปลอดภัย ปลอดภัยจากสิ่งเป็นพิษแก่ร่างกาย และก็บอกให้ทราบว่าคนสูบบุหรี่จัดนี่ สูบบุหรี่จัด กินหมากจัดนี่ ตายด้วยโรคมะเร็งมาหลายคนแล้ว โดยเฉพาะพระนี่ตายมาหลายองค์แล้ว พระสังฆราชยังสิ้นพระชนม์ด้วยบุหรี่ เพราะสูบบุหรี่จัดก่อนเป็นสังฆราช พอเป็นสังฆราชก็ไปเช็คร่างกายก็บอก โอ้!พระเดชพระคุณเป็นโรคมะเร็งที่ขั้วปอดแล้ว ท่านก็หยุดสูบบุหรี่ แต่ว่าสายไปเสียแล้ว ได้เป็นสังฆราชปีเดียวก็สิ้นพระชนม์ด้วยโรคมะเร็งที่ขั้วปอด นี่โทษของบุหรี่
ญาติโยมก็ชอบเอาบุหรี่ไปถวายพระ ให้พระดูดควันพิษเข้าไปลงปอดตัวเอง ให้ตายไวๆ อันนี้ไม่เป็นบุญไม่เป็นกุศล เราอย่าเอายาพิษไปถวายพระ หมากก็ดี บุหรี่ก็ดี เป็นของเป็นพิษต่อร่างกาย ไม่ควรจะถวาย หลายรูปเสียชีวิตเพราะเรื่องอย่างนี้ เพื่อนของอาตมากำลังป่วยอยู่เวลานี้ ต้องไปมาไปมาจากสงขลา กรุงเทพ เพราะว่าสูบบุหรี่จัด กินหมากจัด ฉันหมากนี่มากกว่าฉันข้าว ประเดี๋ยวฉัน เดี๋ยวฉัน มีคนคอยตำหมากถวาย เพราะฟันไม่ดีแล้ว บอกให้ใส่ฟันก็ไม่ใส่ เพราะมันยังเหลืออยู่ ๒ ซี่ สงวนไว้ ไม่กล้าถอด กลัวว่าจะตาย มันไม่ตายเพราะถอนฟันน่ะ แต่ตายเพราะสูบบุหรี่ กินหมากมากกว่า วันนี้ก็กลับวัด วันที่ ๔ นี่ก็มาอีก มาให้หมอเช็คร่างกายต่อไป ห้ามไม่หยุด ว่า “อย่าสูบบุหรี่ อย่าฉันหมาก” ถึงกับตั้งรางวัลให้ บอกว่าถ้าหยุดได้แล้วจะถวาย ๕,000 บาท ก็ยังไม่ยอมรับของถวาย ไม่ไหว คงจะไปไม่กี่น้ำแล้ว คงจะสิ้นในกัน เรื่องมันเป็นอย่างนั้น ญาติโยมก็เหมือนกันนะ ถ้าใครเป็นนักสูบบุหรี่ ก็หยุดเสียในพรรษา หยุดฉันหมาก ทานหมากเสียด้วย คนโยมแก่ๆ บอกว่าไม่ไหว มันหาว มันหาวไม่กี่ทีมันก็หยุดหาวเอง แรกๆมันก็หาว เพราะความอยากนั้นเอง แต่ถ้าเราไม่ไปรับทานมันก็หายเอง แล้วก็สบายใจ ไปไหนเดินตัวเบาขึ้นเยอะ เราไม่ต้องเอาตะบันไปด้วย ไม่ต้องเอากระป๋องใส่น้ำหมากไปด้วย นี่! มันเบา ไปไหนเดินตัวเบาสบาย ไม่มีภาระหนัก ถ้าเลิกได้แล้วก็สบาย ชีวิตเรียบร้อยขึ้น ความเข้าใจผิดมันมีอยู่ คือพระบอกว่าเป็นเภสัช
คำว่าเภสัชเป็นคำบาลี แปลว่ายา เภสัชกร คือนักปรุงยา เรียนเภสัชจบแล้วเป็นนักปรุงยา รักษาคนไม่ได้ เพราะไม่ใช่หมอ แต่ปรุงยาให้หมอใช้ได้ เรียกว่า เภสัชกร อันนี้คำว่าเภสัชนั้นหมายถึงยา เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย เอามาให้แก้โรคได้ แต่ว่าบุหรี่ หมากนี่ ไม่ใช่ยา เหล้าก็ไม่ใช่ยา พวกของเมาทุกประเภทไม่ใช่ยา ไม่ใช่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย
เวลานี้ทางการก็รณรงค์อยู่เพื่อให้คนเลิกสูบบุหรี่ หมากนั้น คนรับทานน้อยลงไปทุกวันแล้ว คนสมัยใหม่นี่ไม่ค่อยรับทาน แต่ว่ายังสูบบุหรี่ ไปต่างประเทศ ฝรั่งนี่สูบบุหรี่มากกว่าเรา แล้วก็ทิ้งก้นบุหรี่ลงบนถนนเพ่นพ่าน ผู้หญิงก็สูบมาก เห็นผู้หญิงฝรั่งคนไหน เขาสูบบุหรี่ทุกที ขับรถก็สูบบุหรี่ นั่งคุยกันเดี๋ยวก็งัดบุหรี่มาสูบ เขายังไม่มีการรณรงค์เรื่องการสูบบุหรี่ บ้านเรารู้สึกพูดแล้วกรณรงค์ มีพวกหมอวิ่ง วิ่งให้งดสูบบุหรี่วิ่งจากเชียงใหม่ถึงกรุงเทพ เพื่อเที่ยวประกาศคนให้เลิกสูบบุหรี่ สมัยนั้นคนก็เลิกกันได้เยอะ
เดี๋ยวนี้เลิกกันมาก เวลาไปแสดงธรรมตามที่ต่างๆ ลองถามดูว่า “ใครไม่สูบบุหรี่บ้าง ยกมือ” ยกขึ้นเยอะเหมือนกัน แสดงว่าคนเห็นทุกข์เห็นโทษมากขึ้น แล้วก็เลิกกันไป แต่บางคนพูดว่า ของไม่ดีแล้วทำไมรัฐบาล จึงตั้งโรงงานยาสูบ อ้าว! รัฐบาลก็ต้องการขายสินค้า เพราะเห็นว่าคนยังสูบกันอยู่ ถึงรัฐบาลตั้งโรงงานยาสูบ ตั้งโรงานกลั่นเหล้า ถ้าเราไม่ดื่ม รัฐบาลก็เลิกเอง มันล้มเอง แต่นี่เราช่วยอุดหนุนสินค้าประเภทอย่างนั้น เลยไม่หยุดไม่หย่อนกัน ก็เป็นเหตุให้เสียหาย
ในฤดูกาลเข้าพรรษา ลองต่อสู้กับสิ่งนี้เพื่อเอาชนะให้ได้ คือฤดูกาลเข้าพรรษานี่เป็นฤดูกาลแห่งชัยชนะ เราต้องอยู่อย่างผู้ชนะ อย่าอยู่อย่างผู้แพ้ และถ้าชนะแล้วก็จงรักษาความชนะนั้นไว้ต่อไป อย่าให้กลับแพ้เสียเป็นอันขาด เพื่อทุกท่านจึงควรพิจารณาตัวเอง ว่าเราเป็นคนแพ้อะไรอยู่บ้าง แพ้สิ่งที่เป็นวัตถุ เช่นแพ้สุรา แพ้เมรัย แพ้บุหรี่ แพ้สิ่งเสพติด เราก็ต้องเอาชนะ เลิกให้ได้ เลิกได้แล้วสบาย ไม่ให้โทษอะไร แต่ถ้าเสพสิ่งนั้นต่อไป จะเกิดทุกข์เกิดโทษ และเมื่อเกิดโทษขึ้นแล้ว รักษาไม่ได้ ก็ถึงแก่กรรมไปตามๆกัน เพราะฉะนั้นรู้สึกตัวแล้วก็เลิก
ลูกหลานเราเติบโตขึ้นก็สอนให้ลูกหลานว่า อย่าสูบบุหรี่ อย่าดื่มเหล้า อย่าไปเที่ยวกลางคืน อย่าเล่นการพนัน ซึ่งเป็นสิ่งที่พระท่านห้ามไว้ สอนให้เขาเข้าใจ เพื่อให้หยุดจากสิ่งเหล่านั้น แต่ว่าการสอน ถ้าไม่ทำให้ดูเป็นตัวอย่างไม่ค่อยจะมีน้ำหนัก เพราะฉะนั้นเราจะต้องแสดงแบบให้เขาเห็น เรียกว่าสาธิตให้เขาดูด้วย สาธิตให้ดูก็แปลว่า เราไม่ทำเรื่องนั้นเป็นตัวอย่าง ไม่สูบบุหรี่ สอนลูกให้ไม่สูบบุหรี่ ไม่เล่นการพนัน สอนลูกไม่ให้เล่นการพนัน ไม่ประพฤติเหลวไหลเรื่องใด เราก็ทำเรื่องนั้น เด็กของเราก็เห็นเป็นตัวอย่าง แล้วก็เลยเลิกตามไปด้วย
เพราะผู้มีพระภาคท่านตรัสไว้ว่า “เราจะสอนผู้อื่นด้วยเรื่องใด จงทำเรื่องนั้นให้เกิดขึ้นแก่ตัวเราก่อน จะเป็นครูสอนที่ไม่ยุ่งเหยิง” ครูสอนที่ยุ่งเหยิง ก็คือครูที่ดีแต่สอน แต่ไม่ทำตามที่สอน อย่างนี้ก็เป็นครูยุ่งเหยิง ถ้าไม่อยากจะเป็นครูที่ยุ่งเหยิงอย่างนั้น แล้วก็สอนตัวเองก่อนให้ละสิ่งนั้น ให้เลิกสิ่งนั้น แล้วก็ไปสอนผู้อื่นต่อไป การสอนก็จะมีน้ำหนัก มีคนเคารพนับถือ แล้วก็ทำตาม เพราะผู้สอนได้ทำให้ดูเป็นตัวอย่างแล้ว
เวลาพระพุทธเจ้าจะส่งสาวก ไปประกาศธรรมะแก่ประชาชน พระองค์ก็สั่งว่า “เธอไปทำให้เขาดู ไปพูดให้เขาฟัง” การทำให้ดูนั้นคือ แสดงแบบ สาธิตแบบให้เขาดูว่า เป็นอยู่อย่างสงบนั้นเป็นอย่างไร ชนะตัวเองได้นั้นเป็นอย่างไร มีชีวิตสดชื่นผ่องใสอย่างไร ทำให้เขาดู แล้วก็พูดบรรยายให้เขาฟัง ถ้าทำสองอย่างนี้ก็เรียกว่า เป็นนักสอนที่สมบูรณ์ แต่ถ้าเราสอนผู้อื่นแต่เราไม่ทำตามที่สอน ก็ยังเป็นนักสอนที่ใช้ไม่ได้อยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้นผู้ใดที่เป็นผู้สอน เช่น พ่อแม่ ครูอาจารย์ หรือเป็นผู้นำคนในแง่ต่างๆ เราก็ต้องทำตนให้เป็นตัวอย่างแก่เขา เช่น หัวหน้าคน ต้องทำตนให้เป็นตัวอย่างแก่ผู้เดินตาม ถ้าเราไม่ได้ทำตนให้เป็นตัวอย่าง แม้จะพูดจะสอนสักเท่าใด คนฟังก็ยังนึกเย้ยอยู่ในใจว่า ก็ดีแต่สอนคนอื่น ตัวเองไม่เอาไหน เขาก็ไม่เชื่อไม่ฟัง แล้วก็ไม่ทำตาม มันเสียระเบียบวินัย แต่ถ้าเราทำให้ดูเป็นตัวอย่าง แม้ไม่พูด เขาก็เห็นอยู่ตลอดเวลาว่าเราเป็นอยู่อย่างไร เราประพฤติตนอย่างไร เข้มแข็งอย่างไร เอาชนะธรรมชาติฝ่ายต่ำได้อย่างไร ก็เรียกว่าเป็นผู้ชนะได้ เพราะเป็นตัวอย่างในการสอน อันนี้เป็นเรื่องสำคัญอยู่
เพราะฉะนั้น ในฤดูกาลเข้าพรรษา ญาติโยมก็จะต้องตั้งใจ เพื่อรบกับข้าศึกภายใน เรียกว่าทำสงครามกันละ ในฤดูกาลเข้าพรรษา นี่ เราต้องประกาศสงครามกับกิเลส กับความชั่ว ทั้งหลาย ที่มันเกิดขึ้นในใจของเรา เพื่อเอาชนะให้ได้ ทีนี้เรื่องกิเลส เรื่องความชั่วทั้งหลาย ที่อยู่ในใจของเรานั้น ขอให้เข้าใจเป็นพื้นฐานเบื้องต้นว่า มันไม่ได้มีอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้มีมาแต่ดั่งเดิม ไม่มีมาก่อน มันเพิ่งมีขึ้นทั้งนั้น เช่น ความโกรธนี่ เราไม่ได้มีอยู่ตลอดเวลา คนถ้าโกรธอยู่ตลอดเวลา ก็เป็นโรคสมองเสีย หรือว่าตาย ช็อคตาย เพราะโกรธทุกวัน ๆ เราไม่ได้มีความโกรธอย่างนั้น ไม่ได้มีความรู้อยู่ตลอดเวลา ไม่ได้มีความริษยาอาฆาต พยาบาทจองเวรกับใครๆ อยู่ตลอดเวลา สิ่งนั้นเกิดขึ้นเป็นครั้งๆ คราวๆ แล้วมันเกิดบ่อยๆ เมื่อเกิดบ่อย ๆ ก็เป็นนิสัย พอใจกับเรื่องนั้น เพราะทำบ่อยๆ เมื่อทำบ่อยๆ มันก็ชินกับเรื่องนั้น
คนโกรธบ่อยๆ ก็กลายเป็นขี้โกรธ
คนโลภบ่อยๆ ก็กลายเป็นคนโลภ
คนหลงใหลมัวเมาในเรื่องอะไร ก็เป็นไปอย่างนั้น
อันนี้เพราะความเคยชินที่ทำมันบ่อยๆ จนไม่รู้สึกตัวว่าเราทำอะไร ไม่รู้จักโทษของสิ่งนั้นว่าให้ทุกให้โทษแก่เราอย่างไร แล้วเราก็ทำซะจนชิน จนเป็นนิสัย ไม่คิดแก้ไขไม่คิดปรับปรุง เราก็ตกเป็นทาสของสิ่งนั้น เรียกว่า มีนิสัยอย่างนั้น มีสันดานอย่างนั้น นิสัย สันดานที่เราพูดกันนั้น ขอให้เข้าใจว่า ไม่ใช่ของเดิม ไม่ใช่สิ่งที่มีมาตั้งแต่ เกิดมาจากท้องแม่ แต่มันค่อยมีขึ้นโดยลำดับ เพราะสิ่งแวดล้อม พี่เลี้ยง คนที่อยู่ใกล้เด็กคนนั้น ทำอะไรให้เขาเห็นบ่อยๆ พูดอะไรให้เขาได้ยินบ่อยๆ แล้วเด็กนั้นมันก็คล้อยตามไปกับคำพูดของคนนั้น ตามกิริยาอาการของคนนั้น จึงได้เสียผู้เสียคน อันนี้ต้องเข้าใจเป็นพื้นฐานเบื้องต้น หรือพูดง่ายๆว่า ชาวพุทธเรานี้ ถ้าถือตามหลักการของพระพุทธเจ้า เราไม่มีบาปดั้งเดิม ติดตัวมา ไม่เหมือนศาสนาอื่น ศาสนาอื่นเขาถือว่า บาปดั่งเดิม
ไอ้บาปดั้งเดิมนั้น ก็ไม่ใช่อะไร คือความดื้อนั่นเอง ความดื้อ เพราะว่ามนุษย์นี่ พระผู้เป็นเจ้าสร้างขึ้นมา ๒ คน ตามนิยาย ไม่ใช่เรื่องจริงจังอะไร เรื่องนิยาย แล้วก็ขัดขืนคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า เพราะพระผู้เป็นเจ้าบอกว่า ของในสวนนี้เธอกินได้ทุกอย่าง เว้นแต่ต้นไม้ต้นเดียวนั้นอย่ากินเป็นอันขาด เป็นต้นไม้ที่หวงห้าม แต่ว่าทีหลังมา งูมาบอก บอกไอ้สองคนนั้นว่า “อย่าไปเชื่อพระเจ้า กินเข้าไปเถอะ ถ้ากินผลไม้นี้แล้วจะรู้ดีรู้ชั่วขึ้นมา จะมีอะไรเกิดขึ้นในใจ” ก็เลยกินเข้าไป พอกินเข้าไป ก็เรียกว่าเป็นบาป บาปตัวแรกของมนุษย์คือความดื้อนั่นเอง ไม่เชื่อฟังใคร นั่นแหละบาปตัวแรกนะ เราไม่ยอมรับคำสอนของใคร ไม่เอาอะไรของใครมาเป็นตัวอย่าง ไอ้นั่นแหละตัวบาปดั้งเดิม แต่มันก็ไม่ได้มีอยู่เดิมหรอก มันเกิดทีหลัง พุทธศาสนาสอนว่า จิตของคนเรานี้มีธรรมชาติผุดผ่อง คือสะอาดอยู่ตลอดเวลา มันเศร้าหมอง เมื่อมีอารมณ์มากระทบ อารมณ์ที่มากระทบน่ะ คือ มาจากภายนอก คือรูปเข้าทางตา เสียงเข้าทางหู กลิ่นเข้าทางจมูก รสผ่านลิ้น สัมผัสถูกต้องผ่านปลายประสาท แล้วใจก็รับไปปรุงไปแต่งให้เป็นที่ยินดีบ้าง ไม่ยินดีบ้าง พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง อะไรต่างๆ ก็เรียกว่า ถูกปรุงแต่งให้เป็นอย่างนั้น แล้วก็เกิดถ้าชอบก็ อยากได้ พอใจ ไม่ชอบก็โกรธขึ้ง รำคาญ ขวางหู ขวางตา บ่นน่ะ ไอ้นี่มันขวางหูขวางตาจริงเว้ย คือไม่ชอบใจ และทำอย่างนั้นบ่อยๆ ทำอย่างนั้นบ่อยๆ ก็ติดเป็นนิสัย มันมาตั้งรากฐานลงในใจของเรา เราก็มีนิสัยใจร้อน ใจเร็ว ขี้โกรธ หุนหันพลันแล่น อะไรกระทบนิดก็โกรธ กระทบหน่อยก็โกรธ ฝนตกก็โกรธ แดดออกก็โกรธ จราจรติดขัดก็หงุดหงิดงุ่นง่าน ใครมองหน้ามองตาก็โกรธ บอกมึงมองกูทำไม เดี๋ยวลงจากรถไปต่อยกัน เห็นไหม มันเกิดขึ้นโดยลำดับ มันเกิดขึ้นในใจเราโดยลำดับเราไม่รู้ เราไม่ได้ฝึกฝน ไม่ได้อบรม ธรรมะตัวหนึ่งให้เกิดขึ้นในใจ คือตัวสตินั่นเอง
สติแปลว่ารู้สึกตัวทันท่วงที ในเมื่อมีอะไรมากระทบรู้ตัวทันท่วงที พอรู้ตัวมันก็ไม่เกิด รู้กระทบตา เรามีความรู้สึกได้ มีสติมาทัน ก็หยุดอยู่เพียงนั้น เสียงกระทบหู กลิ่นกระทบจมูก รสกระทบลิ้น กายได้สัมผัสถูกต้องอะไร มันก็หยุดอยู่เพียงนั้น ไม่ลุกลามต่อไปเหมือนไฟลุกขึ้นจะไหม้บ้านของเรา แต่เราตื่นทันได้เห็นเปลวไฟลุกอยู่ตรงนั้น แล้วเราไม่ตกใจ ไม่กลัว มีสติมีปัญญา ก็จัดแจงเอาน้ำมาดับไฟเสีย คือเอาวัตถุทางเคมีมาพ่นลงไปที่ตรงนั้น ไฟมันก็ดับ มันไม่ไหม้บ้านเรือนของเราให้เสียหาย แต่ที่ไหม้บ้านไหม้เรือนเสียหายก็เพราะว่าเราตื่นขึ้นแล้วตกใจ โวยวายว่าไฟไหม้ ไม่มีสติปัญญาในขณะนั้น ไฟก็เผาผลาญบ้านเรือนเราเสียหายหมด ไม่ได้เผาผลาญแต่บ้านเรือนเรา แต่ไปเผาผลาญบ้านเรือนคนอื่นด้วย เสียหายไปฉันใด สิ่งที่เกิดขึ้นในใจเรานี่ก็เหมือนกัน เช่นเรารู้สึกไม่ชอบใจ แล้วโกรธ เพราะเราไม่รู้ทันท่วงที สติไม่มา ปัญญาไม่มีก็เกิดอย่างนั้นขึ้น พอเกิดแล้วมันก็ลุกลาม ลุกลามออกมาเป็นคำพูด เป็นกิริยาท่าทาง เดี๋ยวเกิดเรื่องเกิดราวกัน ไปทุบไปตีกัน สร้างปัญหาขึ้นแก่ชีวิต ก็เพราะว่าเราไม่ได้ฝึกปราบปรามสิ่งนั้น ไม่ได้เอาชนะสิ่งนั้น เราก็แพ้มันอยู่ตลอดเวลา จึงต้องมีการฝึกฝนอบรมสติปัญญาให้เกิดขึ้น คอยควบคุมตัวเอง ต้องมาฝึกเสียบ้าง มาฝึกอยู่ปฏิบัติ เรียกว่าทำสมาธิ เหมือนคนที่มาบวชชั่วคราว เช่นว่าอุบาสิกาก็ได้ อุบาสกก็ได้ มาอยู่วัดถือศีลอุโบสถ แล้วก็ฝึกฝนด้านภาวนา การฝึกฝนด้านภาวนา ก็ฝึกสติให้มันคล่องขึ้น ให้มันว่องไวที่จะต่อสู้กับสิ่งที่มากระทบ ให้รู้ทัน รู้เท่า ให้กำหนดอย่างนั้น เราทำไปก็กำหนดสติให้มันดีขึ้น สามารถเอาชนะข้าศึกภายนอกได้ และสามารถจะเอาชนะข้าศึกภายใน คือสิ่งไม่ดีที่เกิดขึ้น เช่นความโลภเกิดขึ้นเราก็รู้ทัน ความโกรธเกิดขึ้นก็รู้ทัน ความหลงเกิดขึ้นก็รู้ทัน ความริษยาเกิดขึ้นก็รู้ทัน พยาบาทเกิดขึ้นก็รู้ทัน หรือมีกิเลสตัวใดเกิดขึ้นรู้ทันทุกที เราก็เอาชนะสิ่งนั้นได้ สิ่งนั้นจะไม่ทำเราให้แพ้ เราก็ไม่เป็นทุกข์ เรื่องมันเป็นเช่นนั้น
เพราะฉะนั้น จะต้องพิจารณาตัวเอง คือดูตัวเราว่า เรามีอะไรเข้ามายึดครองอยู่บ้างมีข้าศึกตัวใดเข้ามายึดครอง อยู่ในใจของเรา ความโกรธเข้ามายึดครอง ความโลภเข้ามายึดครอง ความหลงเข้ามายึดครอง ความริษยาพยาบาทเข้ามายึดครองใจของเรา
คำว่า ยึดครอง หมายความว่า มันมาอยู่นานแล้ว อะไรกระทบก็ปึงปังขึ้นมา แปลว่าเราถูกยึดครอง เป็นทาสเขา เป็นทาสไม่เป็นไท ก็ไม่มีความสุข นึกถึงคำกลอนที่ว่า (24.45)
ใครมาเป็นเจ้าเข้าครอง (ก็ : ไม่มี; ตามพระราชนิพนธ์) คงจะต้องบังคับผลักใส เคี่ยวเข็ญ เย็นค่ำร่ำไป ตามวิสัยเชิงเช่นผู้เป็นนาย
(เขา : ตามพระราชนิพนธ์ ร. ๖ ; ต้นฉบับ) (ที่ : ตามหลวงพ่อพูดในไฟล์)จะเห็นแก่หน้า ค่าชื่อ จะนับถือพงพันธ์นั้นอย่าหมาย
ไม่มีอะไรนั้น มันก็บังคับเรา เคี่ยวเข็ญเรา ให้ทำตามที่เขาต้องการ ตามวิสัยเชิงเช่นผู้เป็นนาย เขาไม่เห็นหรอกว่า ไอ้นี่ นั่นไอ้นั่นนี่ ไม่นึกอ่ะ ใช้อย่างเดียว บังคับอย่างเดียวนั่นเป็นข้าศึกภายนอกที่เข้ามายึดครองบ้านเมือง ปกครองคนในประเทศนั้น ให้ตกอยู่ในอำนาจของเขา ทีนี้ข้าศึกภายใน คือความรู้ อยากได้ทรัพย์สมบัติของผู้อื่น ความโกรธ ใจร้อน ใจเลว แสดงอาการไม่ดีออกมาทางปาก ทางมือ ทางเท้า เรียกว่าเป็นความโกรธ ความโกรธก็เป็นไฟ แผดเผาจิตใจ ให้เร้าร้อนด้วยประการต่างๆ เกิดความหลงมืดไปหมด เหมือนไม่มีอาทิตย์ส่องแสง (26.07) …… ดูมืด ดูมัวไป เป็นความหลง เป็นความริษยา ไม่อยากเห็นใครได้ดิบได้ดี มั่งมีศรีสุข มีเกียรติมีชื่อเสียง ถ้าเห็นใครเป็นอย่างนั้น แล้วใจมันร้อนขึ้นมา มันคันที่ใจขึ้นมา อันนี้ก็ไม่เข้าท่าอย่างนั้นอย่างนี้ คอยทำลายกัน คอยเบียดเบียนกันด้วยประการต่างๆ ด้วยจิตใจที่ไม่เป็นไท แต่เป็นทาสของสิ่งที่มากระทบ ถูกกิเลสครอบงำอยู่ แล้วก็ต้องเป็นทุกข์เรื่อยไป เพราะมันเผาเราบ่อยๆ ความโลภเผาเรา ความโกรธเผาเรา ความหลงก็เผาเรา ความริษยา พยาบาทอะไรต่างๆ มันก็เผาจิตใจของเรา เผาให้ร้อนอยู่ตลอดเวลา ทำลายสภาพจิตใจ ให้ไม่ผ่องใส ให้ไม่สะอาด แต่ให้ขุ่นมัวเศร้าหมองอยู่ตลอดเวลา เราลองนึกถึงสภาพอย่างนั้น เวลาเราโกรธนี่เราสบายใจไหม เราผ่องใสภายในไหม เวลาเราโลภจัดนี่มันจิตใจผ่องใสไหม เวลาเราหลงนี่จิตใจผ่องใสไหม เราก็จะมองเห็นว่าไม่ผ่องใส หรือพูดสมัยใหม่ว่า ไม่โปร่งใส จิตที่ถูกครอบงำด้วยกิเลสประเภทต่างๆ นี่ไม่โปร่งใส ขุ่นมัว เศร้าหมอง มองอะไรไม่ชัด ไม่เข้าใจสิ่งต่างๆ ตามสภาพที่เป็นจริง ก็เป็นปัญหาให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนใจ เมื่อมีความทุกข์ มีความเดือดร้อนใจ นี่เราสบายใจไหม เราพอใจไหม สุขภาพจิตดีไหม สุขภาพทางร่างกายเป็นปกติไหม ไม่ได้เรื่อง ไม่ได้เรื่องเลยแม้แต่น้อย แล้วมากเข้ามากเข้า ก็เป็นโรคประสาท เป็นโรคประสาทประสาทหลอนไปต่างๆ นาๆ เกิดความเสียหายขึ้นแก่ชีวิตด้วยประการต่างๆ เพราะความถูกครอบงำด้วยสิ่งชั่วร้ายที่อยู่ในใจของเรา
พระผู้มีพระภาคจึงสอนให้ต่อสู้กับสิ่งเหล่านั้น ต่อสู้ด้วยสติปัญญา ต่อสู้ด้วยศีล ต่อสู้ด้วยสมาธิ ต่อสู้ด้วยปัญญา
คนมีศีล มีระเบียบ รักษาศีลก็ต้องรักษาด้วยสติ ด้วยปัญญา ไม่มีสติไม่มีปัญญา ศีลมันก็หายไป เดี๋ยวก็เกิดอารมณ์ร้ายขึ้นมา ศีลหายไป นี่เราเอาศีลมาคุ้มครอง ก็ต้องคอยควบคุมจิตใจให้มีศีล เช่น เราถือศีล ๕ เราก็คุมจิตใจของเราไม่ให้คิดร้าย ไม่ให้ประทุษร้ายต่อใครๆ ไม่ให้คิดไปจนถึงว่าจะไปทุบไปตีเขา จะไปทำร้ายร่างกายเขา นั่นมันออกมาข้างนอกแล้ว แต่ข้างในนั้นก็ต้องคุมไว้ คุมใจให้มี ความเมตตาปรานีต่อเพื่อนมนุษย์ อย่าให้เกลียดเขา อย่าให้โกรธเขา อย่าให้คิดอยากไปทำร้ายเขา ศีลข้อ ๑ มันก็อยู่กับเรา รักษาเราให้อยู่ในสภาพสงบ ไม่วุ่นวาย ไม่เบียดเบียนใคร ไม่ทำใครให้เดือดร้อน อันนี้ก็เป็นการใช้ได้
เราไปซื้อนก ซื้อเต่า ซื้ออะไรปล่อย เป็นการช่วยให้ศีลของเราดีขึ้นหรือไม่ ถ้าคิดเผินๆ ก็นึกว่าได้บุญ แต่ถ้าคิดให้ลึกแล้ว บุญมันไม่ถูกต้อง เพราะว่าเราไปซื้อนกปล่อย แล้วไอ้คนไปเที่ยวหานกก็ไปเที่ยวจับนกต่อไป เอาตาข่าย ไปเที่ยวดักนก เอายางไปติดเข้าให้นกมันมาติด แล้วก็เอานกมาใส่กรงขัง ทรมาน กว่าจะได้ขายนี่ไม่รู้สักกี่เดือน ไม่รู้สักกี่วันที่มันขังๆ ไว้นะ นกก็บินอยู่ในที่แคบๆ อึดอัดไม่ปลอดโปร่งไม่แจ่มใส ไอ้เราไปเห็นก็ซื้อ นึกว่าซื้อนกปล่อย แต่ว่าปล่อยนกตัวนี้ นกตัวอื่นถูกจับมาขังต่อไป แล้วก็จับมาขังต่อไป ก็เป็นการส่งเสริม การกักขังสัตว์ให้ทรมาน ไอ้เวลาจะปล่อยน่ะ มันเป็นกุศลนิดเดียว มีเมตตานกขึ้นมามันนิดเดียวเท่านั้นเอง แต่ว่าเมตตาตัวนั้นเป็นเหตุให้นกถูกจับเอามาขังอีกมากมาย เป็นเรื่องที่ไม่ควรจะไปซื้อนกปล่อย ไม่ควรไปซื้อเต่าปล่อย เพราะคนบอกว่า ปล่อยเต่าอายุจะได้ยืน แต่เต่าทั้งหลายถูกจับทรมาน กี่ร้อยตัวก็ไม่รู้ มันจับมาตั้งแต่ตัวเล็กๆ เอามาทรมานไว้ ไม่ได้อาบน้ำอาบท่า เอามาวางไว้บนถนน แดดก็ร้อน คนเดินไปเดินมาเต่ามันก็คงจะหนวกหูเหมือนกัน รำคาญ ไอ้คนเดินไปเดินมา แล้วก็ขี้ฝุ่นจากรถยนต์ จากอะไรต่ออะไร จากมลพิษเข้าไปในจมูกเต่า ซึ่งไม่เหมือนที่มันอยู่ในป่าโปร่ง แจ่มใส สบาย คนเขาอุตส่าห์ ไปดักไปจับเอามา เพื่อมาขายให้คนปล่อย คนปล่อยนั้นก็เรียกว่า ส่งเสริมการทรามานสัตว์ จับสัตว์มาขาย มันผิดศีล ผิดธรรมเหมือนกัน เพราะฉะนั้นอย่าไปซื้อนกมาปล่อย ข้างหน้าวัดน่ะ เมินซะเถอะ ฉันไม่ซื้อของเธอแล้วเพราะหลวงพ่อบอกว่ามันเป็นบาปเป็นโทษ เป็นเหตุให้นกทั้งหลายถูกจับมาขัง ไอ้พวกนี้มีอาชีพจับนกขาย ขายที่หน้าวัดพระแก้ว ขายที่เสาหลักเมือง ขายที่ไหนที่ไหน มันไปเที่ยวหาตามแถวอยุธยา บ้านภาชี ไปดักนกมาขายกัน ทำให้เกิดความเสียหาย แก่นกเหล่านั้น เราไม่สมควร
ไอ้พวกเลี้ยงนกเขานี่ก็เหมือนกัน ตามบ้านเล็กๆ สวยนะ บ้านนั้น ราคาตั้งหมื่นสองหมื่นน่ะ บ้านนกเขา ผ้าคลุม มีน้ำให้กิน มีข้าวให้กิน แต่ว่านกเขาตัวนั้น ไม่สามารถจะบินโผผินไปไหนได้เลย เพราะถูกอยู่ในกรงขัง แล้วว่างๆ มันก็เอาหัวแยง รูนั้น แยงรูนี้ แยงเรื่อยเลย แยงจนขนหัวร่วงหมด กลายเป็นนกหัวล้านไป คือมันแยงดูว่าจะออกได้ไหม หัวมันออกได้ ตัวมันออกไม่ได้ แต่มันก็พยายามดิ้นรน จะแยงออก แล้วก็ว่างมากก็รำคาญตัวเองก็ขันเสียหน่อย เจ้าของก็ชอบใจ เอ้อ! มันขันดี ไอ้นกนั้นถูกทรมาน ตัวเองเป็นบาป เรียกว่า ทรมานสัตว์ กักขังสัตว์ ให้มันเดือดร้อน เป็นการไม่สมควร ที่วัดชลประทานนี่ ไม่ต้องเอานกมาขัง มันขันทุกวัน นกบนต้นไม้ นกเขาขันทุกวัน ยังบอกโยมซิ ฟัง ฟังซิ นกมันขัน นกบนยอดไม้ ขันกุ๊กกรู กุ๊กกรู เราฟัง มันก็สบาย ขันยอดนี้ ไปยอดโน้น ไปยอดนั้น มันอิสรเสรี คนเรานี่ก็เหมือนกัน เขาเอาไปขังไว้ในกรง มีน้ำให้กิน มีข้าวให้กิน อะไรต่ออะไร ที่เราต้องการมีพร้อม ชอบไหม เราชอบใจไหม ถ้าเอาไปขังไว้อย่างนั้น ไปเที่ยวก็ไม่ได้ ไปหาเพื่อนก็ไม่ได้ ใครมาเยี่ยมก็ไม่ให้เข้า ยืนคุยกันคนละซีกซี่กรง เหมือนกับเป็นนักโทษในเรือนจำอย่างนั้นแหละ มันเป็นสุขที่ตรงไหน ถ้าเราคิดเปรียบเทียบว่า ตัวเรานี่ไม่ต้องการสภาพอย่างนั้น สัตว์ก็มันไม่ต้องการอย่างนั้น เอามันมากักขังไว้ทำไม
ฤดูกาลเข้าพรรษา ปล่อยนกปล่อยปลา คือปล่อยนกที่เรามาเลี้ยงทรมานเสียทีเถอะ อย่างนี้ก็จะดีกว่า นี่บางคนไปซื้อวัว ซื้อวัว ที่เขาซื้อมา จะเอาไปฆ่า ไปซื้อวัว เพื่อให้อายุยืน แต่ซื้อวัวอย่างนั้นมันก็ดีไปอย่าง เพราะว่าเขาเอาไปเลี้ยง เอาไปใช้งานต่อไป แต่ว่าจะไปจับวัวมาเพื่อขายให้คนซื้อน่ะ มันไม่มี ไม่เหมือนนก นกถูกทรมาน พวกซื้อวัว คราวก่อนซื้อมา ๒ ตัว ควายตัว วัวตัว มาปล่อยในวัดนี่ อาตมากลับมาว่า ใครเอา วัว ควายมาปล่อย เหยียบสนามเราเสียหายหมดล่ะ ก็บอกว่า คนเขาสะเคราะห์ เอาเคราะห์มาให้วัด สะเดาะเคราะห์จากตัวเอามาให้พระเดือดร้อน นี่ ไม่ได้ความนะ มาเที่ยวเหยียบต้นไม้ สีต้นไม้เสียหาย เลยไปเรียกคนหลังวัดมาว่า เอาไปเถอะ ฉันให้เปล่าๆ ไม่ต้องซื้อต้องแลกอะไร เอาไปไว้ใช้งานนะ อย่าเอาไปฆ่าก็แล้วกัน เอาไปไว้ใช้งาน เอาไปแล้วเราก็ไม่ได้ตามไปประเมินดู มันทำอะไร เรื่องของเขา เราไม่เกี่ยว ให้ออกไปนอกวัดก็แล้วกัน อืม อย่างนี้ก็พ้นไป เอามาปล่อย บางคนเอาไปปล่อยในป่า ในดง นี่เอามาปล่อยในวัดก็หาความรำคาญให้กับพระ ไม่มีอาหารจะกินนะที่วัดนี้สำหรับวัด คนยังพอเลี้ยงได้ อย่างนั้นมันไม่ถูกต้อง เสียหาย
เราถือศีลข้อ ๒ คือไม่ลัก ไม่ขโมยของใครเอามาเป็นของตัว ศีลข้อนี้ถ้าว่าคิดให้ลึกซึ้งให้ละเอียดนี่ คนที่กอบโกย เอาทรัพย์สมบัติธรรมชาติมาเป็นของตัวมากๆ นี่ มันก็ผิดศีลเหมือนกัน ผิดศีลข้อ ๒ เพราะเอามามากเกินไป ทำให้คนอื่นเสียประโยชน์ ทำให้คนอื่นไม่สามารถจะมีได้ เช่นไป เขาเอาไปรวบรวมที่ดินไว้ตั้งหมื่นไร่ ของคนๆเดียว มันไม่ถูกต้อง มันควรเฉลี่ยให้คนอื่นเขาได้อยู่กันบ้าง เพราะมนุษย์เกิดมามีสิทธิที่จะอยู่จะเป็นในพื้นแผ่นดินนี้ แต่เราไปครอบไว้ด้วยอำนาจของเรา ด้วยอิทธิพลของเรา เอานักเลงไปคุมที่เหล่านั้น ใครเข้ามาก็ฆ่ามันเลย อ่าว มันก็ตายกันบ่อยๆ เพราะเรื่องอย่างนี้น่ะ แต่ว่าเมื่อไปทำร้ายคนอื่นบ่อยๆ ไอ้คนก็รวมตัวกัน ทำร้ายผู้นั้นเหมือนกัน ผลที่สุดคนนั้นก็ตายเหมือนกัน นี่มันผิดศีล ผิดศีลข้อที่สอง การเอาของอะไรมาเป็นของตัวมากเกินไป มันก็ผิดศีล เราต้องเอามาพอกิน พอใช้ แบ่งให้คนอื่นบ้าง อย่าโลภ ทรัพย์สมบัติธรรมชาติ เอามาเป็นของตัวมากเกินไป ก็เป็นการถูกต้อง
ถ้าเราถือศีลข้อที่ ๓ ไม่ประพฤติผิดในเรื่องกามอารมณ์ คือรู้จักสำรวมจิตไม่ให้มัวเมาในเรื่องความสนุกสนานในทางเพศ ในทางกาม ให้รู้สึกพอใจในสิ่งที่ตนมี ตนได้ อย่าไปเที่ยวเหลวไหล ผู้ชายก็อย่าไปเที่ยวกลางคืน เลิกงานแล้วก็กลับบ้าน ภรรยาก็ทำงานก็รีบกลับบ้าน มาอยู่กันที่บ้าน ให้อยู่เย็นเป็นสุขกันต่อไป เคยดูละครที่แสดงเรื่องข้าวเปลือก ไม่ได้เรื่องเลย ละครเรื่องนี้ ดูแล้วมันเรื่องเหลวไหลทั้งนั้น สามีก็เหลวไหล ภรรยาก็เหลวไหล ลูกก็เหลวไหล มันแต่งละครล่อสังคม ให้เห็นว่าสังคมเวลานี้เต็มความด้วยความชั่วร้าย พ่อบ้านขี้เมา อะไรต่ออะไรอย่างนั้นน่ะ ดู ไอ้เรื่องข้าวเปลือก มันไม่ใช่ข้าวเปลือกหรอก มันแกลบ ควรจะตั้งชื่อละครเรื่องนั้นว่าเรื่องแกลบ มันเป็นแกลบไปแล้ว มันไม่มีข้าว แต่แกลบก็ยังเอาไปเผาอิฐได้นะ ยังมีค่าอยู่ แต่ว่าละครประเภทอย่างนั้น คนดูไม่เป็นก็ไม่ได้เรื่อง แต่ถ้าดูเป็นก็เห็นว่า โอ้ ไม่ได้เรื่องอะไร เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีที่ประพฤติกันในครอบครัว ในวงสังคม ในอะไรต่างๆ ลูกสาวโทรศัพท์ไปถึงเตี่ย เตี่ยไปนอนอยู่ที่โรงแรม แล้วก็ทำจุ๊บจับ อยู่กับผู้หญิง ลูกสาวก็ “เตี่ยอยู่ที่ไหนน่ะ เตี่ยทำอะไรเสียงจุ๊บจับ จุ๊บจับ น่ะ” ตลกไป ดูแล้วมันก็ไม่ได้เรื่อง มีแต่เรื่องเหลวไหล เตี่ยมันก็เหลวไหลน่ะ มีสตางค์ไง มีแต่สตางค์แต่ไม่มีคุณธรรมก็ไม่ได้เรื่อง คนเรา มีเงินแล้วไม่มีคุณธรรมด้วย มีศีลมีธรรมประจำจิตใจด้วย จึงจะใช้ได้ แต่มีเงินแล้วไม่มีคุณธรรม ก็ประพฤติเหลวไหล พลาดท่าเสียทีก็เดี๋ยวได้โรคเอดส์ลงโทษ ไปเท่านั้นเอง นี่มันเสียหาย ไม่อยู่ในศีล ก็ลำบาก ถ้าอยู่ในศีลบ้านเมืองสงบเรียบร้อย ไม่มีปัญหา ไม่มีเรื่องยุ่งยาก ข้าราชการอยู่ในศีล ก็เรียบร้อย ทำงานเรียบร้อย ถ้าขาดศีล ขาดธรรมก็ไม่เรียบร้อย เห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ สร้างปัญหาขึ้นในวงข้าราชการด้วยประการต่างๆ เสียเงินเสียทอง ในทางที่ไม่เป็นประโยชน์
ถือศีลข้อที่ ๔ ก็จุดมุ่งหมายเพื่อให้อยู่กันด้วยความซื่อสัตย์ สุจริตต่อกัน สามี ภรรยาซื่อตรงต่อกัน เพื่อนกับเพื่อนซื่อตรงต่อกัน คนทำงานค้าขายก็ซื่อตรงต่อลูกค้า ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน พวกนักเขียนก็อย่าเขียนให้มันเหลวไหล เลอะเทอะ อย่าไปสร้างข่าว ยุแหย่คนนั้นคนนี้ให้ทะเลาะกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสร้างข่าวเกี่ยวกับนักการเมือง เรื่องไม่จริงก็เอามาลงเป็นข่าว เขียนเป็นตุเป็นตะ ว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ทำให้เกิดความเสียหายแก่สังคม แก่บุคคล เช่นว่าข่าวคนท่านหนึ่ง หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งลงข่าวว่า ผู้แทนพัทลุง ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการศึกษา ให้สอบสวนหลวงพ่อคูณ ว่าทำเป็นพุทธพาณิชย์ไปแล้วเวลานี้ ทีนี้ก็ คนก็เกลียดนัก ผู้แทนคนนั้น ความจริงผู้แทนคนนั้นไม่ได้เขียนจดหมายสักหน่อย ไม่ได้ทำเรื่องอย่างนั้นสักหน่อย หนังสือพิมพ์มันลงเอาเอง ลงเพื่อกุข่าว แต่ว่า เป็นบาป ถูกฟ้อง เขาฟ้องศาล หาว่าทำให้เสียหาย เรียกเงินเรียกทองกันไปตามเรื่อง อย่างนี้น่ะ หนังสือพิมพ์บางคราวนี่ ลงข่าวไม่จริง อาตมาเคยจับได้คราวหนึ่ง หลวงปู่คำแสนที่วัดสวนดอกเชียงใหม่ มารภาพ หนังสือพิมพ์ก็พาดหัวตัวโตว่า “หลวงปู่ผู้มีชื่อเสียงทาง วิปัสสนา แห่งนครเชียงใหม่มรณภาพ” แล้วเขียนเป็นข่าวว่า คนไปรดน้ำศพหลายหมื่นคน รถไม่มีที่จอด หลวงพ่ออยู่ที่นั่น วันนั้นน่ะ ไปรดน้ำครูบาด้วย เพราะไปอยู่เชียงใหม่วันนั้น ไปรดน้ำ คนไม่ถึงร้อยคน รถก็ไม่กี่คันนี่ ที่มันยังว่างเยอะแต่พอมากรุงเทพอ่านหนังสือพิมพ์ เอ้อ ไอ้นี่มันเป็นนักฟุ้งเลยโว้ย เฮ้ย มันบอกว่าคนเป็นหลายหมื่นไปรบน้ำศพ ครูบาคำแสน ทำไมถึงกุกล่าวอย่างนั้นมันมี คนเขามีแผน คนอาจจะเป็นคนส่งข่าวก็ได้ หรือใครก็ได้ มีแผนว่า ครูบาคำแสนนี่มีคนนับถือมาก มีชื่อมีเสียง คนไปรดน้ำศพเป็นหมื่น รถไม่มีที่จอด ข้างในนั้น ความจริงไม่มีรถจะจอด ด้วยซ้ำไป เพราะมีไม่กี่คัน ทำให้มันเป็นข่าว แล้วต่อไปก็จะได้พิมพ์รูปหลวงพ่อขายต่อไป มันเรื่องรูปทั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องอะไร ไม่เข้าเรื่อง ทำข่าวให้มันคึกคัก แล้วก็จะได้กุข่าวต่อไป ถึง พระเครื่อง อะไรต่ออะไร เอาหลวงปู่นั้นไปหากินกันต่อไป อย่างนี้มีอยู่ เพราะฉะนั้นอ่านข่าวอะไร โยมอย่าไปตื่นเต้น ต้องฟังหูไว้หู อย่าไปเชื่อไปเสียทั้งหมด อาตมาไม่ค่อยได้อ่านเท่าไร หนังสือพิมพ์เดี๋ยวนี้ ไม่ค่อยได้เรื่อง แต่ดูตัวหน้านิดหน่อยว่ามันโกหกขนาดไหนเท่านั้นเอง นอกนั้นก็ไม่ค่อยได้อ่าน เพราะว่าไม่ค่อยเป็นธรรม ไม่ได้เขียนด้วยความสุจริต ด้วยจิตที่เป็นธรรม เขียนเพื่อให้ขายได้ อาศัยการออกรวงเพื่อขายข่าว ขายอะไรอะไรต่างๆกันอยู่ เป็นจำนวนมากพอสมควร บางฉบับก็ใช้ได้ แต่บางฉบับไม่ไหว มันเป็นอย่างนั้น เป็นเรื่องอย่างนั้น ก็มีเหมือนกัน นั่นเพราะว่าเราไม่ถือศีลข้อที่ ๔ ไม่รักษาศีล คือไม่พูดปด ไม่อยู่ในสัจจะ ในศีลธรรม พูดโกหกหลอกลวงกัน ปลิ้นปลอกกันด้วยประการต่างๆ ขาดศีลขาดธรรม ทำให้เกิดความเสียหาย แก่สังคมไม่ใช่น้อย
นี่เราถือศีลข้อที่ ๔ ต้องรักษาสัจจะ พูดคำจริง พูดคำอ่อนหวาน คำสมานสามัคคี คำที่มีประโยชน์ ถ้าว่าไม่สามารถจะพูดคำจริง คำอ่อนหวาน คำสามัคคี มีประโยชน์ได้ ปิดปากเสียเลย นั่งเฉยๆไม่พูด ไม่พูด มันก็เรียบร้อย เรื่องไม่พูดนี่ พวกนักการเมืองนี่ ความจริงต้องพูดน้อยๆ ไปให้สัมภาษณ์บ่อยๆนี่ไม่ได้นะ มันลงผิดลงถูก ทำให้เกิดความเสียหาย ถ้าเราไม่พูด ไม่โต้ตอบ เฉยๆ ถามอะไรก็เฉยไป มันขี้เกียจถามมันก็ไปเองอ่ะ พลเอกเปรม แกก็พูดน้อย คนไหน ถามหนักเข้า หนักเข้า ก็กลับบ้านเถอะลูก แกว่าสั่งให้ลูกกลับบ้านเสียที ก็ไม่ค่อยมีเรื่องไง เพราะว่าพูดน้อย แต่คนไหนเป็นคนช่างพูดน่ะ มันยุ่งน่ะ พูดจนเลยเถิดไปก็เสียหาย ต้องสำรวมปาก ไม่สำรวมล่ะก็เสียหาย เหมือนเต่าไม่สำรวมปาก กระดองแตกจนถึงบัดนี้ โยมเห็นกระดองเต่ามันร้าวอยู่ แตก เป็นรอย เพราะอะไร เพราะไม่สำรวมปาก เต่าตัวหนึ่งอยู่ในสระน้ำใหญ่ แล้วก็ปีนั้นฝนแล้งมาก น้ำขอดลงไป ขอดลงไป แต่มีเพื่อนเป็นหงส์ ๒ ตัว หงส์ก็มาเยี่ยมเต่า เต่าก็ปรารภว่า “ไม่ไหวแล้ว น้ำแห้งมาก เราว่ายน้ำอยู่ คนมันก็เห็น พรานไพรมันก็เห็นจะจับเราไปเผากินเนื้อเท่านั้นเอง เพื่อนช่วยเราได้บ้างไหม” หงส์บอกว่า “ช่วยได้ ช่วยได้ เพราะว่ามีหนองน้ำใหญ่กว่านี้ ลึกกว่านี้ ในป่าหิมพานต์ เราจะเอาท่านไปไว้ที่นั่น” “โอ้จะเอาไปอย่างไร ฉันคลานต้วมเตี้ยมไปกว่าจะ ถึงหนองนั้น มันก็ตายระหว่างทาง พวกนายพรานไพรมันจับไปเสียก่อน” “ไม่เป็นไร เรามีวิธี” เอาไม้มาอัน ให้หงส์สองตัวคาบหัวคาบท้าย ให้เต่าคาบตรงกลาง แล้วก่อนที่จะคาบไม้ พาเต่าบิน หงส์ก็บอกว่า ท่านต้องรักษานะ คุมปากนะ อย่าพูดนะ อย่าอ้าปากนะ ถ้าขืนอ้าปากก็หล่นกระดองแตกน่ะ เต่าว่าไม่เป็นไร ไม่เป็นไร แล้วก็คาบไป บินไปบินไป ผ่านเมืองสาวัตถี เด็กเลี้ยงวัวเลี้ยงควายมองก็ตะโกน โอ้! เต่าเหาะเว้ย เต่าเหาะ อ่า เต่าเหาะแข่งกับนกสองตัว เต่ามันรำคาญ ทนไม่ได้ ขาดสติ เต่านี่ ไม่มีสติ เพราะไม่ได้เจริญภาวนา และก็อ้าปากจะพูดว่า มันกงการอะไรของเอ็งวะ แต่มันไม่ทันออกคำนั้นเต็มประโยคหรอก อ่าว หล่นตุ๊บลงมาเลย เด็กก็ได้เห็น อ้าว เต่าร่วงลงมาแล้ว กระดองแตกเลย และก็แตกอยู่จนบัดนี้ กระดองเต่าไม่ค่อยจะเรียบร้อย เพราะไม่สำรวมปากนั่นเอง จึงเป็นอย่างนั้น คนไม่สำรวมปากนี่ขาดทุน เพราะฉะนั้น พูดจาต้องระมัดระวัง เราจะพูดอะไรกับใคร ยิ่งพูดจาเรื่องสัญญิง สัญญา นี่ต้องระวัง แม้เขาพิมพ์มาให้เราเซ็นนี่ต้องระวังนะ เดี๋ยวนี้ตัวหนังสือมันดิ้นได้ มันเขียนไว้อย่างนี้ มันดิ้นได้นะ
คนที่เก่งทางกฎหมายเขาเขียนให้ดิ้นไว้ พอมีเรื่องมีราวก็ตีความเป็นอย่างอื่นไป จะเซ็นอะไรต้องระวัง โยมที่มีสตุงสตางค์น่ะ จะเซ็นอะไรมันต้องระวัง นะโยมนะ อย่าไปเซ็นง่ายๆนะ เซ็นกันแล้วมีเรื่อง ก็แพ้เขา เพราะเซ็นแล้ว มอบอำนาจให้เขาแล้ว อย่างนี้เสียหาย เพราะฉะนั้นอย่าเซ็นง่ายๆ โฉนดที่ดินเรื่องอะไรต่ออะไร ใครจะมาขออะไรก็เซ็นไป โอ้ย นักกฎหมายแท้ๆ เรียนกฎหมาย ทำราชการจนเป็นชั้นพิเศษ ถูกเขาต้มเอาไป เสียท่า แต่ว่าดึงกลับมาได้ เพราะเพื่อนฝูงเป็นใหญ่ เป็นโตในวงราชการช่วยกัน จึงเอาดินผืนนั้นกลับมาได้ เสียท่า เพราะใจดีเกินไป อยู่ในโลกนี่ซื่อเกินไปก็ไม่ได้ มันต้องเรียกว่า ทันคน มีไหวพริบทันคน ถ้าไม่มีไหวพริบ ถูกต้มถูกหลอก นี่โยมผู้หญิงน่ะ ใจอ่อน เขามาพูดก็สงสาร ก็ให้มันไป ให้ไปแล้วมันไม่มาดูเลย ไม่ยุ่งเลย เอาไปเลย เอาไปขายซะด้วย อย่างนี้ก็เสียท่า ต้องระวังเหมือนกัน จะสัญญาอะไรกับใครต้องอ่านแล้วอ่านอีก ถ้าเราไม่รู้กฎหมาย ต้องให้ผู้รู้อ่าน ให้พิจารณา ให้ช่วยดูหน่อยว่ามันเป็นยังไง อย่าเซ็นง่ายๆ บางทีเอากระดาษเปล่ามาให้เซ็น คุณ คุณ น่า เซ็นนี่ไว้ ผมจะเอาไปจัดการเอง แล้วมันไปใส่อะไรเข้าก็ไม่รู้ มันหาว่าคุณ น่า กู้เงินมันตั้ง ๒ ล้าน เซ็นชื่อไปแล้วนี่ แกก็เสียท่า ไปขึ้นโรงขึ้นศาลเสียท่า เพราะลายเซ็นมันเป็นหลักฐาน น่ะ มันก็เสียท่า อยู่ในโลกต้องทันคน เพราะไม่มันคนแล้วเสียท่า เพราะคนที่จ้องจะต้มคนมันมีมากในโลกนี้ มันคอยจ้องจะต้มจะหลอกโดยวิธีการต่างๆ ถ้าเราไม่ทันเขาก็จะแพ้เขา เสียเปรียบเขา จึงต้องระวัง ใครจะมาหาจะทำอะไรก็ต้อง เออ! อย่าไว้ใจ ๑๐๐% ไว้ใจแค่ ๑๐% พอ อีก ๙๐ นี่ยังไม่ไว้ใจ ยังไม่ให้ ปฏิเสธไว้ก่อน ขอคิดดูก่อน เรื่องนี้เรื่องมันใหญ่โตนะ ฉันต้องคิดดูก่อน คิดดู คือไปปรึกษาผู้รู้ ปรึกษาคนที่ชำนาญในเรื่องอย่างนั้น อย่างนั้น แล้วเราก็เอาตัวรอดได้ เพราะเราเข้าใจอย่างนั้น ศีลธรรมมันคุ้มครองเรา ถ้าเราใช้ศีลธรรม แต่ถ้าเราไม่ใช้ศีลธรรม ศีลธรรมก็ไม่คุ้มครองเรา มันคุ้มครองเมื่อเราใช้ ร่มถ้าเรากางแล้วมันกันแดดกันฝนได้ แต่ถ้าหนีบรักแร้ มันกันอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องกาง ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า เราต้องหยิบมาใช้ ให้เหมาะแก่เวลา แก่บุคคล แก่เหตุการณ์ ที่เกิดขึ้น เราจึงจะอยู่อย่างผู้ชนะได้
ส่วนศีลข้อที่ ๕ นั้น ต้องการรักษาสติ ปัญญา สุขภาพกายให้สมบูรณ์ ก็ของมึนเมานั้น เป็นสิ่งทำลายทั้งนั้น สุราก็ทำลาย เมรัย สิ่งเสพติดทุกประเภทเป็นเรื่องทำลายสุขภาพกาย ทำลายสุขภาพจิต เป็นบ่อเกิดแห่งโรคภัย ไข้เจ็บในร่างกาย มากมายหลายเรื่อง หลายประการ ท่านจึงให้ถือศีลข้อนี้ เพื่อให้เป็นอยู่อย่างเรียบร้อย เราจะงด จึงควรจะงดเว้นสิ่งเสพติดทุกประเภท ไม่แตะต้องสิ่งเหล่านั้น เราก็จะปลอดภัย สิ่งนั้นจะทำร้ายเราไม่ได้ เพราะเรารู้ว่ามันเป็นพิษเป็นภัยแก่เรา ตั้งต้นในพรรษา เรียกว่า ฤดูกาลเข้าพรรษา เป็นฤดูแห่งการเริ่มต้นเดินทาง เดินไปตามเส้นทางที่พระพุทธเจ้าชี้ไว้ให้เราเดิน เดินไม่หยุด เดินด้วยสติ ด้วยปัญญา เดินไป เดินไป อาจจะมีเสียงเพลง เสียงขับร้อง อะไรต่ออะไรมายั่วยวน กวนใจ เดี๋ยวแวะดูหน่อย อ่าว มันหยุดซะแล้ว ไปเพลินอยู่กับไอ้สิ่งที่ สนุกสนานของโลก ซึ่งมีเยอะ เวลานี้ ถ้าเราไม่เพลิดเพลินต่อสิ่งนั้นเ รามีจุดหมายแน่วแน่ว่าจะเดินต่อไป จนไปถึงความบริสุทธิ์ทางด้านจิตใจ ไม่หยุดไม่แวะ มองเห็นสิ่งนั้น ว่าเป็นของไม่มีประโยชน์ ไม่เป็นคุณแก่การพ้นทุกข์ มันของสนุกชั่วคราว ยั่วยวน กวนใจ ให้หลงใหลมัวเมา เราไม่ต้องการสิ่งนั้น อ่า เราก็ตั้งหน้าตั้งตาเดินไป พระพุทธเจ้าบอกว่าเมื่อยังไม่ถึงปลายทาง เธอทั้งหลายจงเดินต่อไป ด้วยความอดทน ด้วยความเพียร ด้วยความตั้งใจมั่น เธอก็จะถึงจุดหมายได้สมความปรารถนา อ่าว แสดงมาก็พอสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้
- ปาฐกถาธรรม ประจำวันอาทิตย์ที่ ๒๔ กรกฎาคม ปีพุทธศักราช ๒๕๓๗